วันพุธ

โยคีผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์

โยคีผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์

ก็แหละ ในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วว่า เป็นผู้มีอัชฌาสัยอันสมบูรณ์และมีอธิมุติอันสมบูรณ์ ฉะนี้นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ อันโยคืบุคคลนั้น พึงเป็นผู้มีอัชฌาสัยอันสมบูรณ์ โดยอาการ ๖ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งธรรมมีอโลภะเป็นต้น

อรรถาธิบายของฎีกาจารย์

ในอธิการนี้ ท่านฎีกาจารย์ได้อรรถาธิบายไว้อย่างพิสดารดังนี้: ธรรมทั้งหลายมีอโลภะเป็นต้น มีอุปการะมากแก่สัตว์ทั้งหลายและแก่โยคีบุคคล โดยพิเศษ ทั้งนี้เพราะเป็นเหตุกำจัดเสียซึ่งโทษอย่างอนันต์ และเป็นเหตุนำมาซึ่งคุณอย่างมหันต์ เป็นความจริงอย่างนั้น ธรรมทั้งหลายมีอโลภะเป็นต้น ย่อมเป็นไปโดยความเป็นปฏิปักษ์แก่มลทินทั้งหลายมีมลทินคือความตระหนี่เป็นต้น สมจริงตามที่ท่านอรรถกถาจารย์แสดงไว้ในอรรถกถาแห่งอภิธรรม ดังต่อไปนี้

อโลภะ เป็นปฏิปักษ์แก่มลทินคือ ความตระหนี่  แต่เป็นเหตุแห่ง ทาน
อโทสะ เป็นปฏิปักษ์แก่มลทินคือ ความทุศีล แต่เป็นเหตุแห่ง ศีล
อโมหะ เป็นปฏิปักษ์แก่ การไม่ภาวนาในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่เป็นเหตุแห่ง ภาวนา

แหละใน ๓ เหตุนั้น บุคคลย่อมถืออย่างไม่ตึงเครียดด้วยอโลภะ เพราะคนที่โลภแล้วย่อมถืออย่างตึงเครียดบุคคลย่อมถืออย่างไม่หย่อนยานด้วยอโทสะ เพราะคนที่โกรธแล้วย่อมถืออย่างหย่อนยาน บุคคลย่อมถืออย่างไม่วิปริตผิดเพี้ยนด้วยอโมหะ เพราะคนที่หลงแล้วย่อมถืออย่างวิปริตผิดเพี้ยน

อีกอย่างหนึ่ง ใน ๓ เหตุนั้น บุคคลทรงจำโทษอันมีอยู่ไว้โดยความเป็นโทษและประพฤติเป็นไปในโทษนั้นด้วยอโลภะ เพราะคนที่โลภแล้วย่อมปกปิดโทษไว้ บุคคลทรงจำคุณอันมีอยู่ไว้โดยความเป็นคุณและประพฤติเป็นไปในคุณนั้นด้วยอโทสะ เพราะคนที่โกรธแล้วย่อมลบล้างคุณเสีย บุคคลทรงจำซึ่งสภาวะที่เป็นจริงโดยเป็นสภาวะที่เป็นจริงและประพฤติเป็นไปในสภาวะที่เป็นจริงนั้นด้วยอโมหะ เพราะคนหลงแล้วย่อมยึดถือสิ่งที่เปล่าว่าไม่เปล่าและสิ่งที่ไม่เปล่าว่าเปล่า

อนึ่ง ทุกข์เพราะพรากจากสิ่งที่รักย่อมไม่เกิดมีด้วยอโลภะเป็นเหตุ เพราะคนที่โลภแล้วเป็นแดนเกิดแห่งสิ่งเป็นที่รักด้วย เพราะอดกลั้นไว้ไม่ได้ต่อการพรากจากสิ่งที่รักด้วย ทุกข์เพราะประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักย่อมไม่เกิดมีด้วยอโทสะเป็นเหตุ เพราะคนโกรธแล้วเป็นแดนเกิดแห่งสิ่งไม่เป็นที่รักด้วย ทุกข์เพราะไม่ได้สมหวังย่อมไม่เกิดมีด้วยอโมหะเป็นเหตุ เพราะคนที่ไม่หลงเป็นแดนเกิดแห่งการใคร่ครวญพิจารณาว่าข้อนั้นจะพึงได้ ณ ที่นี้แต่ที่ไหนเล่า ?

อีกประการหนึ่ง ในเหตุ ๓ อย่างนั้น ชาติทุกข์ไม่มีด้วยอโลภะเป็นเหตุ เพราะอโลภะเป็นปฏิปักษ์แก่ตัณหา เพราะชาติทุกข์มีตัณหาเป็นมูลราก ชราทุกข์ไม่มีด้วยอโทสะเป็นเหตุ เพราะความโกรธอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้แก่เร็ว มรณทุกข์ไม่มีด้วยอโมหะเป็นเหตุ เพราะความหลงตายเป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์ และมรณทุกข์นั้นย่อมไม่มีแก่คนที่ไม่หลง อนึ่ง ความอยู่ร่วมกันอย่างสบายย่อมมีแก่คฤหัสถ์ทั้งหลายด้วยอโลภะเป็นเหตุ ความอยู่ร่วมกันอย่างสบายย่อมมีแก่บรรพชิตทั้งหลายด้วยอโมหะเป็นเหตุ ส่วนความอยู่ร่วมกันอย่างสบายสำหรับคนทุกเพศ ย่อมมีได้ด้วยอโทสะเป็นเหตุ

อีกประการหนึ่ง เมื่อว่าโดยพิเศษแล้ว ในเหตุ ๓ นั้น ด้วยอโลภเหตุ จึงไม่มีการบังเกิดในเปตติวิสัย จริงอยู่ ส่วนมากสัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าถึงเปตติวิสัยด้วยตัณหา และอโลภะก็เป็นปฏิปักษ์แก่ตัณหาด้วย ด้วยอโทสเหตุ จึงไม่มีการบังเกิดในนรก จริงอยู่สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าถึงนรกอันคล้ายกับโทสะด้วยโทสะเป็นเหตุเพราะเป็นผู้มีสันดานดุร้ายและอโทสะก็เป็นปฏิปักษ์แก่โทสะด้วย ด้วยอโมหเหตุ จึงไม่มีการบังเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าถึงกำเนิดดิรัจฉานอันหลงอยู่ตลอดกาลด้วยโมหะเป็นเหตุ และอโมหะก็เป็นปฏิปักษ์แก่โมหะด้วย อนึ่ง ใน ๓ เหตุนั้น อโลภเหตุทำให้ไม่มีการประจวบด้วยอำนาจราคะ อโทสเหตุทำให้ไม่มีการพลัดพรากด้วยอำนาจโทสะ อโมหเหตุทำให้ไม่มีความไม่เป็นกลางด้วยอำนาจโมหะ

อีกประการหนึ่ง สัญญา ๓ เหล่านี้ คือ เนกขัมมสัญญา สัญญาในการออกจากกาม ๑ อัพยาปาทสัญญา สัญญาในอันไม่พยาบาท ๑ อวิหิงสาสัญญา สัญญาในอันไม่เบียดเบียน ๑ และสัญญาอีก ๓ เหล่านี้ คือ อสุภสัญญา สัญญาในความไม่งาม ๑ อัปปมาณสัญญา สัญญาในอันไม่มีประมาณ ๑ ธาตุสัญญา สัญญาในความเป็นธาตุ ๑ ย่อมมีได้ด้วยเหตุแม้ทั้ง ๓ ประการนี้โดยลำดับ อนึ่ง

การงดเว้นซึ่งขอบทางคือกามสุขัลลิกานุโยค 
ย่อมมีได้ด้วย อโลภะ
การงดเว้นซึ่งขอบทางคืออัตตกิลมถานุโยค ย่อมมีได้ด้วย อโทสะ
การดำเนินไปสู่ข้อปฏิบัติอันเป็นกลาง ย่อมมีได้ด้วย อโมหะ

การทำลายอภิชฌากายคันถะ ย่อมมีได้ด้วย อโลภะ
การทำลายพยาบาทกายคันถะ ย่อมมีได้ด้วย อโทสะ
การทำลายสีลัพพตปรามาส และอิทังสัจจาภินิเวส ย่อมมีได้ด้วย อโมหะ

อนึ่ง สติปัฏฐาน ๒ ข้อต้น (กาย, เวทนา) ย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพของกุศลเหตุ ๒ ข้างต้น (อโลภะ, อโทสะ) สติปัฏฐาน ๒ ข้อหลัง (จิต, ธรรม) ย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพของกุศลเหตุข้อหลังข้อเดียว (อโมหะ)

อีกประการหนึ่ง ใน ๓ เหตุนั้น อโลภเหตุย่อมเป็นปัจจัยแก่ความไม่มีโรค จริงอยู่คนที่ไม่มีโลภย่อมไม่เสพอาหารอันไม่เป็นที่สบาย แม้ที่เร้าให้อยากกิน จึงเป็นผู้ไม่มีโรคด้วยเหตุนั้น อโทสเหตุย่อมเป็นปัจจัยแก่ความเป็นหนุ่ม จริงอยู่ คนที่ไม่โกรธ อันไฟคือความโกรธไม่เผาผลาญด้วยอำนาจทำหนังให้เที่ยวและทำผมให้หงอกย่อมเป็นหนุ่มอยู่ได้นาน ๆ อโมหเหตุย่อมเป็นปัจจัยแก่ความมีอายุยืน จริงอยู่คนที่ไม่หลง รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์แล้ว ละเว้นเสียซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ต้องเสพแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน

อีกประการหนึ่ง ใน ๓ เหตุนั้น อโลภะย่อมเป็นปัจจัยแก่โภคสมบัติ เพราะเหตุที่คนจะได้โภคสมบัติด้วยการบริจาค อโทสะเป็นปัจจัยแก่มิตตสมบัติ เพราะเหตุที่คนจะได้มิตรทั้งหลายด้วยเมตตา และเพราะไม่เสื่อมมิตรก็ด้วยเมตตา อโมหะเป็นปัจจัยแก่อัตตสมบัติ จริงอยู่ คนที่ไม่หลง ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนอย่างเดียว ย่อมทำตนให้สมบูรณ์ อนึ่ง อโลภะเป็นปัจจัยแก่การอยู่อย่างเทวดา อโทสะเป็นปัจจัยแก่การอยู่อย่างพรหม อโมหะเป็นปัจจัยแก่การอยู่อย่างพระอริยเจ้า

อีกประการหนึ่ง ใน ๓ เหตุนั้น บุคคลเป็นผู้ดับเสียได้ในสัตว์และสังขารทั้งหลายฝ่ายของตนด้วยอโลภะเป็นเหตุ เพราะทุกข์ซึ่งเป็นเหตุปรุงแต่งไม่มีเพราะสัตว์และสังขารเหล่านั้นพินาศไป บุคคลเป็นผู้ดับเสียได้ในสัตว์และสังขารทั้งหลายฝ่ายของคนอื่นด้วยอโทสะเป็นเหตุ เพราะความจองเวรแม้ในคนคู่เวรทั้งหลายไม่มีสำหรับคนที่ไม่โกรธ บุคคลเป็นผู้ดับเสียได้ในสัตว์และสังขารทั้งหลายฝ่ายเป็นกลาง ๆ ด้วยอโมหะเป็นเหตุ เพราะความปรุงแต่งทั้งปวงไม่มีสำหรับคนที่ไม่หลง

อีกอย่างหนึ่ง การเห็นอนิจจัง ย่อมมีได้ด้วยอโลภะ จริงอยู่ คนที่โลภแล้วย่อมไม่เห็นสังขารทั้งหลาย แม้ที่ไม่เที่ยงโดยความเป็นของไม่เที่ยง ด้วยหวังในการร้องเสพอยู่ การเห็นทุกขังย่อมมีได้ด้วยอโทสะ จริงอยู่ คนที่มีอัชฌาสัยไม่โกรธ เป็นผู้ปล่อยวางอาฆาตวัตถุแล้วย่อมเห็นสังขารทั้งหลายโดยความเป็นทุกข์ การเห็น อนัตตาย่อมมีได้ด้วยอโมหะ จริงอยู่ คนที่ไม่หลง เป็นผู้ฉลาดในการถือเอาตามความจริง ย่อมรู้แจ้งขันธ์ ๕ อันไม่ได้เป็นผู้นำ โดยความไม่ใช่ผู้นำ อนึ่ง ทรรศนะทั้งหลายมีการเห็นไม่เที่ยงเป็นต้น ย่อมมีได้ด้วยเหตุทั้งหลายมีอโลภะเป็นต้นเหล่านี้ ฉันใด แม้เหตุทั้งหลายมีอโลภะเป็นต้นเหล่านี้ ก็มีได้ด้วยทรรศนะทั้งหลายมีการเห็นอนิจจังเป็นต้น เช่นเดียวกัน จริงอยู่ อโลภะย่อมมีได้ด้วยการเห็นอนิจจัง อโทสะย่อมมีได้ด้วยเห็นทุกขัง อโมหะย่อมมีได้ด้วยการเห็นอนัตตา

ก็ใครเล่ารู้โดยถูกต้องว่าขันธ์ ๕ นี้เป็นทุกข์แล้ว จะพึงยังความรักให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ขันธ์ ๕ นั้น หรือรู้สังขารทั้งหลายว่าเป็นทุกข์แล้ว จะพึงยังทุกข์เพราะความโกรธอันคมกล้าที่สุดแม้อื่นอีกให้เกิดขึ้น และรู้ความว่างเปล่าจากตัวตนของสังขารทั้งหลายแล้ว จะพึงยังความหลงงมงายให้เกิดขึ้นอีกต่อไป ด้วยเหตุดังพรรณนามานี้ ท่านฎีกาจารย์จึงให้อรรถาธิบายคำว่าผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์ไว้ว่า อัชฌาสัยของบุคคลนี้สมบูรณ์แล้ว ด้วยอำนาจการยังศีลสมบัติเป็นต้น อันเป็นส่วนเบื้องต้นให้สำเร็จ และด้วยความเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่โลกุตตรธรรมทั้งหลาย เหตุนั้นบุคคลนี้จึงชื่อว่า สมุปนุนชุฌาสโย ผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์แล้ว ฉะนี้

🔅 อัชฌาสัย ๖ ประการ

มีความจริงอยู่ว่า โยคีบุคคลผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์เห็นปานฉะนี้ ย่อมจะบรรลุพระโพธิญาณ ๓ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง สมกับที่ท่านโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่าอัชฌาสัย ๖ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่แห่งโพธิญาณของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย คือ: -

๑. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยไม่โลภ เห็นโทษในความโลภ
๒. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยไม่โกรธ เห็นโทษในความโกรธ
๓. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยไม่หลง เห็นโทษในความหลง
๔. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยในการออกบวช เห็นโทษในฆราวาส
๕. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยชอบความสงัด เห็นโทษในการคลุกคลีกับหมู่คณะ
๖. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยในพระนิพพาน เห็นโทษในภพและคติทั้งปวง

ก็แหละ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระขีณาสพ พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายจำพวกใดจำพวกหนึ่ง ทั้งที่ล่วงไปแล้ว ทั้งที่จะมีมาในอนาคต ทั้งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ทั้งหมดนั้นได้บรรลุแล้วซึ่งคุณวิเศษอันตนและตนจึงบรรลุด้วยอาการทั้งหลาย ๖ ประการนี้นั่นเทียว เพราะฉะนั้นอันโยคีบุคคลพึงเป็นผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์ด้วยอาการ ๖ ประการ เหล่านี้

โยคีผู้มีอธิมุติสมบูรณ์

ก็แหละ อันโยคีบุคคลนั้น พึงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอธิมุติ ด้วยความเป็นผู้น้อมจิตไปเพื่อประโยชน์นั้น อธิบายว่า พึงเป็นผู้น้อมจิตไปในสมาธิ เป็นผู้หนักในสมาธิ เป็นผู้โน้มจิตไปในสมาธิ และพึงเป็นผู้น้อมจิตไปในนิพพาน เป็นผู้หนักในนิพพาน เป็นผู้โน้มจิตไปในนิพพาน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น