วันพฤหัสบดี

วิธีสอนกัมมัฏฐาน

วิธีสอนกัมมัฏฐาน

เมื่อโยคีบุคคลนั้นซึ่งมีอัชฌาสัยและอธิมุติสมบูรณ์ได้ที่แล้วดังพรรณนามาแล้ว ขอเอากัมมัฏฐานอันอาจารย์ผู้ใด้สำเร็จเจโตปริยญาณ พึงตรวจสอบวาระจิตให้ทราบจริยาเสียก่อน สำหรับอาจารย์ที่ไม่ได้สำเร็จเจโตปริยญาณนอกนี้ พึงทราบจริยาโดยสอบถามโยคีบุคคลโดยนัยมีอาทิว่า

เธอเป็นคนจริตอะไร หรือ ?
ธรรมอะไรบ้างรบกวนเธอมาก ?
เมื่อเธอพิจารณาถึงกัมมัฏฐานข้อไหน จึงมีความผาสุกสบาย ?
จิตของเธอน้อมไปในกัมมัฏฐานข้อไหน ?


ครั้นทราบจริยา อย่างนี้แล้วจึงสอนกัมมัฏฐานอันเหมาะสมแก่จริยาต่อไป

พึงสอนกัมมัฏฐานด้วย ๓ วิธี

ก็แหละ อันอาจารย์นั้น เมื่อจะสอนกัมมัฏฐานจึงสอนด้วยวิธี ๓ ประการ คือ สำหรับโยคีบุคคลผู้เรียนกัมมัฏฐานอยู่แล้วตามปกติ จึงให้สาธยายให้ฟังต่อหน้าสัก ๑ หรือ ๒ ที่นั่ง (๑-๒ จบ) แล้วจึงมอบให้ อย่างหนึ่ง สำหรับผู้ที่อยู่ประจำในสำนักจึงสอนให้ทุก ๆ ครั้งที่เธอมาหา อย่างหนึ่ง สำหรับผู้ที่เรียนเอาแล้วประสงค์จะไปปฏิบัติ ณ ที่อื่น จึงสอนอย่าให้ย่อเกินไป อย่าให้พิสดารเกินไป อย่างหนึ่ง


พึงสอนให้ทราบอาการ ๙ อย่าง

ในกัมมัฏฐานเหล่านั้น เมื่ออาจารย์จะสอนปฐวีกสิณกัมมัฏฐานเป็นประการแรกพึงสอนให้ทราบอาการ ๙ เหล่านี้ คือ
โทษแห่งกสิณ ๔ อย่าง ๑
วิธีทำดวงกสิณ ๑
วิธีภาวนาซึ่งกสิณที่ทำแล้ว ๑
นิมิต ๒ อย่าง ๑
สมาธิ ๒ อย่าง ๑
ธรรมะเป็นที่สบายและไม่เป็นที่สบาย ๒ อย่าง ๑
ความเป็นผู้ฉลาดในอัปปนา ๑๐ อย่าง ๑
การทำความเพียรให้สม่ำเสมอ ๑
วิธีแห่งอัปปนา ๑

แม้ในกัมมัฏฐานที่เหลือทั้งหลาย ก็พึงสอนอาการอันสมควรแก่กัมมัฏฐานนั้น ๆ อาการทั้งหมดนั้นจักแจ้งชัดในวิธีภาวนาของกัมมัฏฐานทั้งหลายเหล่านั้น

โยคีบุคคลต้องจำให้แม่นยำ

ก็แหละ เมื่ออาจารย์สอนกัมมัฏฐานให้อยู่ด้วยอาการอย่างนี้ อันโยคีบุคคลนั้นจึงตั้งใจฟัง จำเอานิมิตนั้นให้ได้ คือเอาอาการนั้น ๆ มาผูกไว้ในใจอย่างนี้ว่า นี้เป็นบทหลัง นี้เป็นบทหน้า นี้เป็นใจความของบทนั้น นี้เป็นอธิบายของบทนั้น และบทนี้ เป็นคำอุปมา

แหละ เมื่อโยคีบุคคลฟังอยู่โดยเคารพ จำเอานิมิตได้อย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นอันชื่อว่าเรียนเอากัมมัฏฐานด้วยดีแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ การบรรลุคุณวิเศษก็จะสำเร็จแก่เธอเพราะอาศัยการเรียนเอาด้วยดีแล้วนั้น แต่ย่อมจะไม่สำเร็จแก่โยคีบุคคลผู้ไม่ได้เรียนเอาด้วยดีนอกนี้ อรรถาธิบายความแห่งคำว่า "เรียน" นี้ ยุติเพียงเท่านี้ ด้วยอรรถาธิบายเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าบทอันเป็นหัวข้อสังเขปว่า พึงเข้าไปหากัลยาณมิตรแล้ว เรียนเอาพระกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาพระกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ อันเหมาะสมแก่จริตจริยาของตน ดังนี้ อันข้าพเจ้าได้อธิบายให้พิสดารแล้วโดยสิ้นเชิง ด้วยประการฉะนี้แล

จบ ปริจเฉทที่ ๓ ชื่อว่า กัมมัฏฐานคหณนิเทศ ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค อันข้าพเจ้ารจนาขึ้นเพื่อความปราโมชแห่งสาธุชน ดังนี้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น