วันศุกร์

เลือกหาวัดอันสมควรแก่ภาวนา

เลือกหาวัดอันสมควรแก่ภาวนา

บัดนี้จะอรรถาธิบายโดยพิสดารในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่าพึงออกจากวัดอันไม่สมควรแก่การภาวนาสมาธิ ไปอยู่ ณ ที่วัดอันสมควร ดังต่อไปนี้ : อันโยคีบุคคลนั้นจึงอยู่เจริญกัมมัฏฐานให้บริสุทธิ์ ณ ที่วัดเดียวกันกับอาจารย์นั่นแหละ ตราบเท่าที่ตนมีความผาสุกสบาย แต่ถ้าไม่มีความผาสุกสบาย ณ ที่วัดนั้น ก็พึ่งไปอยู่ ณ ที่วัดอื่นอันเป็นที่สบาย ในระยะทางห่างจากวัดพระอาจารย์ประมาณร้อยเส้นหรือสองร้อยเส้นหรือแม้ประมาณสี่ร้อยเส้นก็ได้ ก็แหละ ครั้นอยู่ห่างในระยะทางเท่านั้น เมื่อเกิดความสนเท่ห์สงสัยหรือเกิดความหลงลืม ในหัวข้อกัมมัฏฐานบางประการ จักได้ตื่นลุกขึ้นทำกิจวัตรในวัดให้เสร็จแต่เช้า แล้วออกจากวัดเที่ยวบิณฑบาตไปในระหว่างทาง พอเวลาฉันเสร็จแล้ว ก็ให้ถึงที่อยู่ของพระอาจารย์พอดี สอบถามชำระกัมมัฏฐานให้บริสุทธิ์สิ้นสงสัยในสำนักของพระอาจารย์เสียแต่ในวันนั้น พอวันที่สองก็มนัสการกราบลาพระอาจารย์ แล้วก็ออกเดินทางกลับแต่เช้า เที่ยวรับบิณฑบาตไปในระหว่างทาง ยังไม่ทันจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอะไร ก็จักมาถึงที่อยู่ของตนพอดี ส่วนโยคีบุคคลผู้ซึ่งไม่ได้ที่อยู่อันผาสุกสบาย แม้ในระยะทางประมาณสี่ร้อยเส้นนั้น จงตัดข้อขอดที่เข้าใจได้ยากในกัมมัฏฐานให้กระจ่างแจ้งทุกประการ ชำระกัมมัฏฐานให้บริสุทธิ์ด้วยดีขึ้นอยู่กับใจได้แล้ว จะพรากออกจากวัดอันไม่สมควรแก่การภาวนาสมาธิ ไปอยู่ ณ ที่วัดอันสมควร แม้ไกล ๆ กว่านั้นก็ได้

🔅 วัดที่ไม่สมควรแก่สมาธิภาวนา

ในวัดที่สมควรและไม่สมควรนั้น วัดที่ประกอบด้วยโทษ ๑๘ ประการอย่างใดอย่างหนึ่งชื่อว่า วัดไม่สมควร โทษ ๑๘ ประการ ในวัดนั้นดังนี้ คือ :
๑. มหตุตํ    วัดใหญ่
๒. นวตตํ    วัดสร้างใหม่
๓. ชิณฺณตตํ    วัดที่ชำรุด
๔. ปนุถนิสุสิตตฺตํ    วัดที่อิงทางหลวง
๕. โสณฺฑี    วัดมีสระน้ำ
๖. ปณฺณํ    วัดมีใบไม้ใช้เป็นผัก
๗. ปุปฺตํ    วัดมีไม้ดอก
๘. ผลํ    วัดมีไม้ผล
๙. ปตุถนียตา    วัดที่มีคนขึ้นมาก
๑๐. นครสนุนสุสิตตา    วัดที่อิงเมือง
๑๑. ทารุสนุนิสุสิตตา    วัดที่อิงป่าไม้
๑๒. เขตตสนุนิสุสิตตา    วัดที่อิงไร่นา
๑๓. วิสภาคานํ ปุคุคลานํ อตฺถิตา    วัดที่มีคนไม่ลงรอยกัน
๑๔. ปฏฏนสนุนสุสิตตา    วัดที่อิงท่า
๑๕. ปจจนุตสนุนสุสิตตา    วัดที่อิงบ้านป่าชายแดน
๑๖. รชุชสีมสนุนสุสิตตา    วัดที่อิงเขตแดนประเทศ
๑๗. อสปฺปายตา    วัดที่ไม่มีความสบาย
๑๘. กลยาณมิตฺตานํ อลาโภ    วัดที่หาอาจารย์ผู้กัลยาณมิตรไม่ได้

วัดที่ประกอบด้วยโทษ ๑๘ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้แล ชื่อว่าวัดที่ไม่สมควรแก่สมาธิภาวนา โยคีบุคคลไม่ควรไปอยู่ ณ วัดเช่นนั้น

วัดถ้ำดามบูลล่า ศรีลังกา

🔅 อธิบายวัดที่ประกอบด้วยโทษ ๑๘ ประการ

ถาม - เพราะเหตุไรหรือจึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดอันประกอบด้วยโทษ ๑๘ ประการนั้น ?
ตอบ - เพราะเหตุดังต่อไปนี้

๑. วัดใหญ่

ในวัดใหญ่ ๆ ย่อมมีภิกษุและสามเณรที่ต่างจิตต่างใจกันมารวมอยู่เป็นจำนวนมาก ภิกษุสามเณรเหล่านั้น ย่อมจะไม่ช่วยกันทำกิจวัตร เพราะต่างก็เกี่ยงซึ่งกันและกัน สถานที่ทั้งหลาย เช่น ลานพระศรีมหาโพธิ์เป็นต้น ก็ไม่ช่วยกันปัดกวาดให้สะอาดเกลี้ยงเกลา น้ำฉันน้ำใช้ก็ไม่ช่วยกันตัก โยคีบุคคลนี้อยู่ ณ วัดเช่นนั้นแล้ว ครั้นตระเตรียมว่าจักไปบิณฑบาตในโคจรคาม ถือบาตรและจีวรเดินออกไป ถ้าเห็นกิจวัตรยังไม่มีใครทำ หรือหม้อน้ำดื่มยังเปล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอก็จะต้องหยุดทำกิจวัตร ตักน้ำดื่มมาเตรียมไว้ เมื่อไม่ทำหรือก็จะต้องอาบัติทุกกฏในเพราะเหตุวัตรเภท คือทำลายกิจวัตร เมื่อเธอมัวทำกิจวัตรอยู่เล่าเวลากาลก็จะล่วงเลยสายไป ครั้นเธอเข้าไปในโคจรคามสายมาก ภิกษาหารหมดเสียแล้ว ก็จะไม่ได้ภิกษาหารอะไรแม้แต่น้อย

อนึ่ง ถึงโยคีบุคคลจะได้หลบไปอยู่ ณ ที่อันเร้นลับแล้วก็ตาม ก็จะฟุ้งซ่านด้วยเสียงเจี๊ยวจ๊าวของพวกภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลาย และด้วยการงานต่าง ๆ ของสงฆ์ แต่วัดใหญ่ใดมีภิกษุสามเณรช่วยกันทำกิจวัตรเรียบร้อยหมดทุกอย่าง และไม่มีความกระทบกระเทือนแม้อย่างอื่น ๆ แต่ประการใด ก็ควรอยู่ ณ ที่วัดใหญ่แม้เห็นปานนั้นได้

๒. วัดสร้างใหม่

ในวัดที่สร้างใหม่นั้น ย่อมจะมีนวกรรมคือการก่อสร้างมากอย่างหลายประการ เมื่อโยคีบุคคลไม่ช่วยทำ เขาก็จะติเตียนเอา แต่ในวัดใดภิกษุทั้งหลายพูดให้โอกาสว่า “นิมนต์คุณทำสมณธรรมตามสบายเถิด นวกรรมการก่อสร้างพวกเราจักช่วยกันกระทำเอง” ดังนี้ ก็ควรอยู่ ณ ที่วัดซึ่งสร้างใหม่เห็นปานนี้ได้


๓. วัดที่ชำรุด

แหละ ในวัดที่ชำรุดทรุดโทรมนั้น ย่อมจะต้องมีสิ่งที่จะพึงปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงมาก ชั้นที่สุดแม้มาตรว่าเสนาสนะของตนเอง เมื่อไม่ปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลง เขาจะพากันติเตียนเอา เมื่อมัวแต่ปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงอยู่ กัมมัฏฐานก็จะเสื่อมไป แต่ในวัดใดที่มีภิกษุทั้งหลายพูดให้โอกาสว่า “นิมนต์คุณจงทำสมณธรรมตามสบายเถิดพวกเราจักช่วยกันปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงเอง” ดังนี้ ก็ควรอยู่ ณ ที่วัดซึ่งชำรุดเห็นปานนี้ได้

๔. วัดที่อิงทางหลวง

ในวัดที่อิงทางหลวงนั้นย่อมจะมีพวกภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายมารวมทั้งกลางคืนและกลางวัน โยคีบุคคลจะต้องให้เสนาสนะของตนแก่พวกอาคันตุกะที่มาถึงในเวลาวิกาลมืด แล้วตนเองจะต้องไปอยู่ที่โคนต้นไม้ หรือพลาญหิน” แม้ในวันรุ่งขึ้นก็จะเป็นเช่นนี้นั่นเที่ยว ดังนั้นโอกาสย่อมจะไม่มีเพื่อกัมมัฏฐาน แต่ในวัดใดไม่มีการเบียดเบียนของพวกอาคันตุกะในทำนองนี้ โยคีบุคคลก็ควรอยู่ ณ ที่วัดซึ่งอิงทางหลวงเช่นนั้นได้

๕. วัดมีสระน้ำ

วัดมีสระน้ำนั้น ได้แก่วัดที่มีสระน้ำที่กรุด้วยหินถาวรมั่นคงเป็นหลักฐาน ในวัดเช่นนั้น ย่อมจะมีมหาชนพากันมาชุมนุมกันเพื่อต้องการน้ำ และพวกศิษย์ของพระเถระทั้งหลายผู้อาศัยราชตระกูลซึ่งอยู่ในเมือง ก็จะพากันมาซักย้อมผ้า เมื่อพวกลูกศิษย์เหล่านั้นมาถามหาภาชนะและฟื้นหรือรางย้อมผ้าเป็นต้น โยคีบุคคลก็จะต้องสาละวนคอยชี้บอกว่า อยู่ที่โน้น และ ที่โน้นแน่ เธอก็จะเป็นผู้กังวลเป็นนิจแม้ตลอดกาลทั้งปวง จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น ตามปกติภิกษุเจ้าของวัดจะต้องเคารพการปฏิสันถาร จึงต้องปฏิบัติเช่นนั้น

๖. วัดมีใบไม้ใช้เป็นผัก

ในวัดใดมีใบไม้ที่ใช้รับประทานได้นานาชนิดในวัดเช่นนั้น เมื่อโยคีบุคคลเรียนเอากัมมัฏฐานแล้วไปนั่งบำเพ็ญเพียรอยู่ ณ ที่อยู่สำหรับกลางวัน พวกสตรีที่เก็บผักก็จะพากันร้องเพลงไปพลาง เลือกเก็บผักไปพลางอยู่ ณ ที่ใกล้ ๆ จะทำให้เป็นอันตรายแก่กัมมัฏฐานด้วยความกระทบแห่งเสียงอันเป็นข้าศึก จึงไม่ควรอยู่ ณที่วัดเช่นนั้น

๗. วัดที่มีไม้ดอก

แหละ ในวัดใดมีกอไม้ดอกนานาชนิดแตกบานอยู่อย่างสะพรั่ง แม้ในวัดเช่นนั้นก็จะเป็นอันตรายแก่กัมมัฏฐานเช่นเดียวกันนั่นเทียว จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น

๘. วัดที่มีไม้ผล

ในวัดใดมีไม้ผลนานาชนิด เช่นมะม่วง, ชมพู่ และขนุนเป็นต้น ในวัดเช่นนั้นคนทั้งหลายที่ต้องการผลไม้จะพากันมาขอ เมื่อไม่ให้ เขาก็จะโกรธ หรือมิฉะนั้นก็จะพากันสอยเอาโดยพลการ ตกเวลาเย็น โยคีบุคคลมาเดินจงกรมในกลางวัดเห็นคนเหล่านั้นเข้า ก็จะต่อว่ากับเขาว่า “อุบาสกทั้งหลาย ทำไมจึงพากันทำอย่างนั้น” เขาก็จะพากันด่าเอาตามชอบใจ เขาจะพยายามแม้เพื่อที่จะไม่ให้เธออยู่ต่อไป จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น

๙. วัดที่มีคนขึ้นมาก

ก็แหละ โยคีบุคคลผู้อยู่ ณ ที่วัดซึ่งมีคนขึ้นมาก เช่น วัดทักขิณคีรี วัดหัตถิกุจฉ วัดเจติยคีรี วัดจิตตลบรรพต (วัดเหล่านี้อยู่ในประเทศลังกาทั้งนั้น สมัยรจนาหนังสือนี้เป็นวัดมีชื่อเสียงคนขึ้นมาก)  ซึ่งชาวโลกยกย่องว่าเป็นที่เร้นลับ มนุษย ทั้งหลายพากันนิยมสรรเสริญว่า ท่านผู้นี้เป็นพระอรหันต์ แล้วใคร่จะได้กราบไหว้บูชาจึงพากันหลั่งไหลมาหาโดยรอบทิศ ด้วยเหตุนั้น โยคีบุคคลนั้นก็จะไม่มีความผาสุขสบาย แต่ว่าวัดเช่นนั้นย่อมเป็นที่สบายแก่โยคีบุคคลใด เวลากลางวันเธอพึงหลบไปอยู่เสีย ณ ที่อื่น ครั้นตกเวลากลางคืนจึงค่อยมาอยู่

๑๐. วัดที่อิงเมือง
ในวัดที่อิงเมืองนั้น ย่อมมีอิฏฐารมณ์ทั้งหลายมาผ่านสายตามากมาย มีกระทั่งแม้พวกนางกุมภทาสี*ทั้งหลายพากันถือหม้อน้ำเดินเสียดสืบไป ไม่หลีกทางให้กัน ทั้งมีพวกมนุษย์ที่เป็นใหญ่พากันไปกางม่านนั่งอยู่ตามวัด จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น (*นางกุมภทาสี ได้แก่พวกหญิงรับจ้างตักน้ำด้วยหม้อ พวกแขกเป็นต้นใช้หม้อตักน้ำและทูนศีรษะ แม้ทุกวันนี้ก็ทำเช่นนั้น คนภาคใต้บางจังหวัดก็นิยมประพฤติกันอยู่)

๑๑. วัดที่อิงป่าไม้

ก็แหละ ในวัดที่อิงป่าไม้นั้น วัดใดมีพืชและต้นไม้ที่ใช้ประกอบเครื่องอุปกรณ์แก่ทัพสัมภาระบ้านเรือนได้ ในวัดเช่นนั้น พวกคนเก็บฟืนทั้งหลายย่อมจะพากันทำความไม่ผาสุกให้ เหมือนกับพวกสตรีที่เก็บผักและเก็บดอกไม้ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นและไม้ทั้งหลายที่มีอยู่ในวัด มนุษย์ทั้งหลายชวนกันว่า เราจักไปตัดไม้เหล่านั้นมาทำเรือนแล้วก็พากันมาตัดเอาไม้ไป ถ้าในเวลาเย็น ๆ โยคีบุคคลออกจากกุฎีที่ทำความเพียรไปเดินจงกรมอยู่กลางวัด เห็นเขาแล้วก็จะพูดเตือนเขาว่า “อุบาสกทั้งหลาย ทำไมจึงพากันมาทำเช่นนี้" เขาก็จะพากันต่าเอาตามใจ และเขาจะพยายามเพื่อไม่ให้เธออยู่ต่อไปอีก จึงไม่ควรอยู่ ณ วัดเช่นนั้น

๑๒. วัดที่อิงไร่นา

แหละ วัดใดเป็นวัดที่สร้างอิงไร่นา คือมีไร่นาทั้งหลายล้อมรอบวัด ในวัดเช่นนั้นจะมีพวกมนุษย์พากันไปทำลานข้าวกลางวัดนั่นเทียว แล้วนวดข้าว บ้างก็จะพากันไปนอนตามหน้ามุข ย่อมจะพากันทำความไม่ผาสุกแม้อย่างอื่น ๆ ให้เป็นอันมาก แม้วัดใดมีสมบัติสงฆ์มากพวกรักษาวัด ก็ปล่อยโคทั้งหลายไปกัดกินข้าวของตระกูลทั้งหลาย บ้างก็จะพากันไปปิดกั้นทางน้ำไหล มนุษย์ทั้งหลายจะถือเอารวงข้าวมาเป็นพยานแสดงให้สงฆ์ทราบว่า พระผู้เป็นเจ้าเห็นไหม กรรมของพวกคนรักษาวัดของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนั้น ๆ ภิกษุทั้งหลายก็จะต้องไปยังประตูพระราชวังหรือประตูบ้านของราชมหาอำมาตย์ทั้งหลาย แม้วัดที่มีสมบัติสงฆ์มากเช่นนี้ ท่านก็สงเคราะห์เข้ากับวัดที่สร้างอิงไร่นานั่นเทียว จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น

๑๓. วัดที่มีคนไม่ลงรอยกัน

วัดที่มีคนไม่ลงรอยกันนั้น ได้แก่วัดที่มีภิกษุทั้งหลายผู้เข้ากันไม่ได้ คือเป็นผู้จองเวรกันและกันอยู่อาศัย อธิบายว่า เป็นวัดที่มีพวกภิกษุทำความทะเลาะกันครั้นถูกโยคีบุคคลห้ามปรามว่า อย่าได้พากันทำอย่างนี้เลยท่าน ฉะนี้แล้ว ก็จะเกิดหาเรื่องขึ้นว่า พวกเราเกิดฉิบหายแล้ว นับแต่เวลาที่ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นปกติรูปนี้มาถึงทีเดียว จึงไม่ควรอยู่ ณ วัดเช่นนั้น

๑๔. วัดที่อิงท่า

แม้วัดใดที่สร้างอิงท่าน้ำ (เช่นท่าเรือ) หรือที่สร้างอิงท่าบก (เช่นที่พักเกวียนหรือที่พักต่าง หรือท่าอากาศยาน สถานีจอดรถ) ในวัดเช่นนั้น ย่อมจะมีมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งโดยสารมาด้วยเรือและพวกโคต่าง ๆ เป็นต้น พากันเบียดเบียนทำความไม่ผาสุกให้อยู่เนือง ๆ ว่า ขอได้โปรดให้โอกาสที่พักด้วย ขอได้โปรดให้น้ำดื่มด้วย ขอได้โปรด
ให้เกลือด้วย ดังนี้เป็นต้น จึงไม่ควรอยู่ ณ วัดเช่นนั้น) สมัยนี้ หมายความว่า พระภิกษุจะต้องขึ้นโรงขึ้นศาลบ้านเมืองเสมอ เพราะเหตุคนวัดก่อเรื่องขึ้นให้ ทั้งนี้เพราะวัดมีสมบัติมากเป็นเหตุ

๑๕. วัดอิงบ้านป่าชายแดน

ในวัดที่สร้างอิงบ้านป่าชายแดนนั้น ย่อมจะมีแต่พวกมนุษย์ที่ไม่เลื่อมใสศรัทธาในรัตนะทั้งหลาย มีพระพุทธรัตนะเป็นต้น ด้วยเหตุนั้น ความอยู่ผาสุกในวัดเช่นนั้นย่อมจะไม่มีแก่โยคีบุคคล

๑๖. วัดที่อิงเขตแดนประเทศ

ในวัดที่สร้างอิงเขตระหว่างประเทศนั้น ย่อมมีราชภัย จริงอยู่ พระราชาองค์หนึ่งย่อมจะทรงทำการรุกรบกับประเทศนั้น ด้วยทรงสำคัญว่า พระราชานี้ประพฤติเป็นไปในอำนาจของเรา แม้พระราชาอีกองค์หนึ่งนอกนี้ ก็จะทรงทำการรุกรบกับประเทศนอกนี้ด้วยสำคัญว่า พระราชานี้ไม่ประพฤติเป็นไปในอำนาจของเรา ภิกษุผู้โยคีบุคคลที่อยู่ในวัดเช่นนั้น บางครั้งก็จะเที่ยวไปในแว่นแคว้นแดนดินของพระราชาพระองค์นี้ บางครั้งก็จะเที่ยวไปในแว่นแคว้นแดนดินของพระราชาพระองค์นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกราชบุรุษทั้งหลายก็จะสำคัญผิดไปว่า ภิกษุนี้เป็นจารบุรุษ แล้วก็จะทำให้ถึงซึ่งความฉิบหายเสีย จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น

๑๗. วัดที่ไม่มีความสบาย

วัดที่ไม่มีความสบายนั้น ได้แก่วัดไม่เป็นที่สบาย เพราะเหตุเป็นที่มารอบแห่งอารมณ์ต่าง ๆ มีรูปอันเป็นข้าศึกคือรูปที่ยั่วเย้าเร้าหลอกเป็นต้น หรือเพราะเป็นวัดที่มีอมนุษย์ยึดครอง ในวัดที่มีอมนุษย์ยึดครองนั้น มีเรื่องตัวอย่างดังนี้:

มีเรื่องเล่าว่า พระเถระรูปหนึ่งอยู่ในวัดป่าแห่งหนึ่ง ครั้งนั้นมียักษิณีตนหนึ่งไปยืนขับร้องอยู่ที่ประตูบรรณศาลาของพระเถระนั้น พระเถระจึงได้ออกมายืนอยู่ที่ประตู ยักษิณีเลื่อนไปขับร้องอยู่ตรงศีรษะที่จงกรม พระเถระได้ตามไปยังที่ศีรษะที่จงกรมอีก ยักษิณีได้เลื่อนไปยืนขับร้องอยู่ที่ปากเหวซึ่งลึกร้อยชั่วบุรุษ ด้วยหมายว่า จักผลักพระเถระซึ่งตามมา ณ ที่นี้ด้วยเสียงเพลงขับ ให้ตกลงไปในเหวแล้วก็จักกิน แต่พระเถระได้กลับคืนเสีย ไม่ตามไป ในทันใดนั้น ยักษิณีได้วิ่งมาโดยเร็ว จับที่ก้านคอพระเถระพลางพูดว่าจะไปไหน แล้วได้เรียนพระเถระว่า “ท่านเจ้าขา บุคคลอย่างท่านพระผู้เป็นเจ้านี้ ดิฉันจับกินมามากแล้ว ไม่ใช่เพียงคนสองคนเท่านั้น” ฉะนี้

๑๘. วัดที่หากัลยาณมิตรไม่ได้

วัดที่หากัลยาณมิตรไม่ได้นั้น อธิบายว่า ในวัดใดโยคีบุคคลไม่อาจที่จะได้ซึ่งกัลยาณมิตรคือพระอาจารย์ หรือท่านผู้เสมอกับพระอาจารย์ก็ดี พระอุปัชฌาย์หรือท่านผู้เสมอกับพระอุปัชฌาย์ก็ดี การหาไม่ได้ซึ่งกัลยาณมิตรทั้งหลายเช่นนั้นในวัดนั้น นับเป็นโทษอันใหญ่หลวงที่เดียว

ด้วยประการฉะนี้ นักศึกษาพึงทราบว่า วัดที่ประกอบด้วยโทษ ๑๘ ประการอย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้ ชื่อว่าวัดอันไม่สมควรแก่สมาธิภาวนา ข้อนี้สมด้วยคาถาประพันธ์อันท่านอรรถกถาจารย์พรรณนาไว้ในอรรถกถาทั้งหลาย ดังนี้:
มหาวาสํ นวาวาสํ ชราวาสญฺจ ปนุถนี
โสณฺฑึ ปณุณญฺจ ปุปฺผญฺจํ ผลํ ปตฺถิตเมว จ
นครํ ทารุณา เขตฺตํ วิสภาเคน ปฏฺฏนํ
ปจุจนฺตสีมาสปฺปายํ ยตฺถ มิตฺโต น ลพุภติ
อฏฺฐารเสตานิ ฐานานิ อิติ วิญฺญาย ปณฺฑิโต
อารกา ปริวชุเชยุย มคุคํ สปฺปฏิภยํ ยถา

บัณฑิตทราบถึงสถานที่ ๑๘ ประการเหล่านี้ คือ วัดใหญ่ ๑ วัดสร้างใหม่ ๑ วัดที่ชำรุด ๑ วัดอิงทางหลวง ๑ วัดมีสระน้ำ ๑ วัดมีใบไม้ใช้เป็นผัก ๑ วัดมีไม้ดอก ๑ วัดมีไม้ผล ๑ วัดอิงไร่นา ๑ วัดที่มีคนขึ้นมาก ๑ วัดอิงเมือง ๑ วัดที่อิงป่าไม้ ๑ วัดมีคนไม่ลงรอยกัน ๑ วัดอิงท่า ๑ วัดอิงบ้านป่าชายแดน ๑ วัดอิงเขตแดนประเทศ ๑ วัดที่ไม่มีความสบาย ๑ และวัดที่หากัลยาณมิตรไม่ได้ ๑ ว่าเป็นวัดอันไม่สมควรแก่ภาวนาฉะนี้แล้ว พึงหลีกเว้นเสียให้ห่างไกลเหมือนพ่อค้าหลีกเว้นทางอันมีภัยเฉพาะหน้า ฉะนั้น

🔅 วัดที่สมควรแก่สมาธิภาวนา ๕ ประเภท

ก็แหละ วัดใดประกอบด้วยองคคุณ ๕ ประการ เช่นไม่ไกลไม่ใกล้นักแต่โคจรคาม เป็นต้น วัดเช่นนี้จัดเป็นวัดที่สมควรแก่ภาวนา สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า:-

ภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะที่ประกอบด้วยองคคุณ ๕ ประการ เป็นอย่างไร ?
อย่างนี้คือ
    ๑.  ภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะในศาสนานี้ ย่อมเป็นสถานที่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นักแต่โคจรคาม มีทางไปทางมาสะดวกสบาย ปลอดภัย
    ๒. กลางวันไม่พลุกพล่านด้วยผู้คนกลางคืนเงียบสงัดไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครม
    ๓. ไม่มีเหลือบยุงและสัตว์เลื้อยขบกัดไม่มีสัมผัสอันเกิดแต่ลมและแดดรบกวน
    ๔. แหละ ผู้ที่อยู่ในเสนาสนะนั้นไม่มีความฝืดเคืองด้วยปัจจัย ๔ คือจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยาแก้ไข้
    ๕. แหละ ในเสนาสนะนั้น มีภิกษุชั้นเถระ ผู้พหูสูต สำเร็จการศึกษาปริยัติธรรม ทรงธรรมทรงวินัยและทรงมาติกาคือหัวข้อแห่งธรรมวินัย ที่เข้าไปเรียนสอบสวนทวนถามตามกาลอันควรว่า ท่านขอรับ บทนี้เป็นไฉน มีอรรถาธิบายอย่างไรฉะนี้แล้ว ท่านเถระเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่เปิดเผย ย่อมทำให้ตื่นข้อที่ยังไม่ได้ทำให้ตื้น และช่วยบรรเทาความสงสัยเป็นอเนกประการ

ภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะย่อมประกอบด้วยองคคุณ ๕ ประการ ฉะนี้แล อรรถาธิบายพิสดารในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า จึงออกจากวัดอันไม่สมควรแก่สมาธิภาวนา ไปอยู่ ณ ที่วัดอันสมควร ยุติลงเพียงเท่านี้

🔅 ตัดเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ

ในหัวข้อสังเขปว่า พึงทำการตัดเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ เสีย นั้น มีอรรถาธิบายว่า อันโยคีบุคคลผู้อยู่ในวัดอันสมควรแก่ภาวนาอย่างนี้แล้ว เมื่อมีเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ แม้ชนิดใดอยู่ ก็พึงตัดเครื่องกังวลแม้ชนิดนั้นเสียก่อน

ทำอย่างไร ? ทำอย่างนี้คือ ผม เล็บและขนที่ยาวทิ้งโกนหรือตัดเสียให้เรียบร้อย จีวรที่เก่าชำรุด ก็พึงทำให้มั่นคงด้วยการปะหรือดามเป็นต้น หรือพึงชุนหรือถักเสียให้เรียบร้อย ถ้าที่บาตรเป็นสนิม ก็พึงระบมบาตรให้มีสี จึงชำระปัดกวาดเตียงและตั้งให้สะอาด อรรถาธิบายพิสดารในหัวข้อสังเขปว่า พึงทำการตัดเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ ยุติลงเพียงนี้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น