๓. นรกภูมิ

อบายภูมิ ๔ แดนเกิดของกรรมฝุายชั่ว อบายภูมิ คือ ภูมิอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ที่มีเจตนาฝ่ายอกุศลกรรมนำเกิด เป็นภูมิที่ขวางต่อนิพพาน มี ๔ ภูมิ ได้แก่
๑. นิรยะ แปลตามศัพท์ว่า ที่ที่ไร้ความเจริญ หรือเรียกว่า นรกภูมิ
๒. ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน ได้แก่ สัตว์ดิรัจฉานทุกประเภท หรือเรียกว่า ดิรัจฉานภูมิ
๓. เปตวิสย วิสัยเปรต ได้แก่ ภูมิภพของเปรต หมายถึง สัตว์จำพวกหนึ่งที่เกิดมาเพื่อรับผลกรรมที่เป็นเศษของกรรม เช่นเมื่อไปนรกแล้ว พ้นจากนรก แต่กรรมนั้นยังไม่หมด ยังมีเศษของกรรมเหลืออยู่ ก็ต้องไปเกิดเป็นเปรต ใช้เศษของกรรมไปจนหมดก่อน
๔. อสุรกายะ แปลว่า สัตว์ที่ได้รับทุกข์


นรกภูมิ

นรกภูมิ เป็นสถานที่เกิดของผู้ที่ทำบาปอกุศลไว้ เมื่อบุคคลผู้ทำบาปตายลง ถ้าบาปอกุศลนั้นส่งผลจะส่งผลนำเกิดในนรก ต้องเสวยผลของบาปที่ทำไว้ ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส แบ่งเป็นขุมได้ ๘ ขุม เรียกว่า “มหานรก ๘ ขุม” มหานรก มี ๘ ขุม
    ๑. สัญชีวนรก แปลว่า คืนชีวิตขึ้นเอง หมายถึงสัตว์นรกในขุมนี้ถูกตัดเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่แล้วก็กลับคืนชีวิตขึ้นมาเองอีก ได้รับการทรมานอยู่ร่่ำไป
    ๒. กาฬสุตตนรก แปลว่า เส้นด้ายดำ หมายถึงสัตว์นรกขุมนี้ที่ร่างกายถูกตีเส้นด้วยเส้นด้ายสีดำ เหมือนอย่างตีเส้นที่ต้นซุงเพื่อที่จะเลื่อย แล้วถูกผ่าด้วยขวานเป็น ๘ เสี่ยง ๑๖ เสี่ยง ได้รับทุกข์อย่างแสนสาหัส
    ๓. สังฆาตนรก แปลว่า กระทบกัน หมายถึงมีภูเขาเหล็กคราวละ ๒ ลูก จากทิศที่ตรงกันข้ามเลื่อนเข้ามากระทบกันเอง บดสัตว์นรกในระหว่างให้แหลกละเอียด จาก ๔ ทิศก็เป็นภูเขา ๔ ลูกเลื่อนเข้ามากระทบกันตลอดเวลา
    ๔. โรรุวนรก แปลว่า ร้องครวญคราง คือ มีเปลวไฟเข้าไปทางทวารทั้งเก้า เผาไหม้ในสรีระจึงร้องครวญครางเพราะเปลวไฟ บางพวกถูกหมอกควันด่าง(เป็นกรด) เข้าไปละลายสรีระจนละเอียดเหมือนแป้ง จึงร้องครวญครางเจ็บปวดเพราะหมอกควัน
    ๕. มหาโรรุวนรก แปลว่า ร้องครวญครางมาก คือเป็นทุกข์ทรมานยิ่งกว่าข้อที่ ๔
    ๖. ตาปนนรก แปลว่า ร้อน คือถูกให้นั่งเสียบตรึงไว้ด้วยหลาวเหล็กบนพื้นแผ่นดินเหล็กแดงลุกเป็นไฟร้อนแรง บ้างก็ถูกต้อนขึ้นไปบนภูเขาเหล็กที่มีไฟลุกโชน ถูกลมพัดตกลงมาถูกเสียบด้วยหลาวเหล็กที่โผล่ขึ้นมาจากพื้นแผ่นดินเหล็กแดงที่ลุกโชนด้วยเปลวเพลิง
    ๗. มหาตาปนนรก แปลว่า ร้อนสูงมาก คือเป็นที่ทุกข์ทรมานยิ่งกว่าข้อที่ ๖
    ๘. อวีจินรก แปลว่า ไม่มีระหว่าง คือไม่เว้นว่างจากทุกข์ บางทีเรียกว่า มหาอวีจิ แปลว่า อเวจีใหญ่ ภาษาไทยมักเรียกว่า นรกอเวจี นรกขุมนี้มีไฟลุกโพลงเต็มทั่วไปหมด ไม่มีระหว่างหรือเว้นว่าง สัตว์นรกขุมนี้ก็แน่นขนัดเหมือนยัดทะนาน ไม่มีระหว่างหรือเว้นว่าง แต่ก็ไม่เบียดเสียดกันอย่างวัตถุสิ่งของ เพราะสัตว์นรกต่างถูกไฟเผาหม้อยู่ในที่เฉพาะตนๆ ความทุกข์ทรมานของสัตว์นรกในขุมนี้เกิดขึ้นตลอดเวลาไม่มีว่างเว้น พระเทวทัตบังเกิดในอวีจินรก ยืนถูกทรมานอยู่บนพื้นเหล็กที่มีไฟลุกโชน เท้าทั้ง ๒ จมพื้นลงไปถึงข้อเท้า มือทั้ง ๒ จมฝาเหล็กถึงข้อมือ ศีรษะเข้าไปในเพดานโลหะถึงคิ้ว หลาวโลหะอันหนึ่งออกจากพื้นเบื้องล่างแทงร่างกายทะลุขึ้นไปในเพดาน หอกเล่มหนึ่งออกจากฝาทิศตะวันออกแทงทะลุหัวใจไปเข้าฝาทิศตะวันตก หอกอีกเล่มหนึ่งออกจากฝาทิศเหนือแทงทะลุซี่โครงไปเข้าฝาทิศใต้ ถูกตรึงแน่นขยับไม่ได้ ถูกเผาไหม้อยู่ในอวีจินรก เครื่องทรมานสัตว์นรก ในนรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุมนี้ มีเหล็ก เช่น พื้นแผ่นดินเหล็ก เครื่องอาวุธเหล็กต่างๆ มีไฟ คือ เหล็กนั่นแหละลุกเป็นไฟร้อนแรง มีภูเขาเหล็กที่กลิ้งมาบด และมีหมอกควันชนิดเป็นกรดหรือด่าง เป็นเครื่องทรมานสัตว์นรกทั้งหลาย

ในนรกขุมที่ ๑ และที่ ๒ มีนายนิรยบาล แปลว่า ผู้รักษานรก ไทยนิยมเรียกว่า ยมบาล เป็นผู้ทำการทรมานสัตว์นรก แต่นรกขุมที่ลึกลงไปกว่านั้น ในอรรถกถาสังกิจจชาดกไม่ได้กล่าวถึงนายนิรยบาล มีแต่ไฟ เหล็ก เครื่องอาวุธต่างๆเป็นต้น บังเกิดขึ้นเองเพื่อทรมานสัตว์นรกเอง

อุสสทนรก มี ๔ ขุม อายุของสัตว์นรกบางพวกมีอายุยืนยาวมาก แต่เมื่อสิ้นเวรจากนรกทั้ง ๘ ขุมแล้ว ถ้ายังไม่หมดกรรมก็จะต้องไปเกิดในนรกบริวารขุมเล็กๆ ที่อยู่รายรอบมหานรกอีก เพื่อรับทุกข์โทษจากเศษกรรมอีก ต่อไปจะศึกษาเรื่องนรกบริวารที่มีชื่อว่า อุสสทนรก

อุสสทนรก คือ นรกขุมเล็กนอกจากนรกขุมใหญ่ ๘ ขุมแล้ว ยังมีนรกขุมเล็กเป็นบริวารทั้ง ๔ ด้านๆ ละ ๔ ขุม รวมเป็น ๑๖ ขุม รวมนรกขุมเล็กที่เป็นบริวารของนรกขุมใหญ่ทั้ง ๘ ขุม ได้ ๑๒๘ ขุม รวมนรกใหญ่อีก ๘ ขุม เป็น ๑๓๖ ขุม ต่อไปเป็นรายละเอียดของอุสสทนรก ๔ ขุม
    ๑. คูถนรก นรกอุจจาระเน่า นรกขุมนี้จะเต็มไปด้วยอุจจาระที่เน่าเหม็น ตั้งอยู่ติดกับมหานรก สัตว์นรกจะมีปากแหลมเหมือนอย่างเข็มพากันเจาะไชผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก เจ็บปวด รวดร้าวยิ่งนัก แต่ก็ไม่ตาย สัตว์นรกเมื่อตายจากนรกขุมใหญ่แล้วก็มาเสวยกรรมในนรกขุมย่อยๆ นี้อีก
    ๒. กุกกุลรก นรกหลุมขี้เถ้าร้อน เมื่อสัตว์นรกพ้นจากนรกอุจจาระเน่าแล้ว และยังไม่หมดกรรมจะต้องมาเสวยทุกขเวทนาต่อที่นรกขุมนี้อีก ทุกข์ทรมานอยู่ในขี้เถ้าที่ร้อนระอุ แต่ก็ไม่ตาย
    ๓. สิมปลิวนนรก นรกป่างิ้ว เมื่อสัตว์นรกพ้นจากนรกขี้เถ้าร้อนแล้ว และยังไม่หมดกรรมจะต้องไปเสวยทุกขเวทนาในนรกป่างิ้วอีก งิ้วใหญ่แต่ละต้นสูงตั้งโยชน์ มีหนามยาว ๑๖ นิ้ว ร้อนโชน สัตว์นรกต้องปีนขึ้นปีนลงต้นงิ้ว ถูกหนามทิ่มแทงเจ็บปวด ร้อนแรง แต่ก็ไม่ตาย ในนรกขุมนี้ยังมีปุาใบไม้ดาบด้วย เรียกว่า อสิปัตตวนนรก เป็นนรกขุมเดียวกัน มีใบไม้คมดุจดาบ เมื่อลมพัดก็บาดร่างกายสัตว์นรกให้ได้รับทุกขเวทนา แต่ก็ไม่ตาย
    ๔. เวตตรณีนรก นรกน้ำเค็มน้ำกรด เป็นนรกที่เต็มไปด้วยหนามหวายอยู่ในน้ำเค็ม เมื่อสัตว์นรกพ้นจากนรกขุมต้นๆ แล้ว และยังไม่หมดกรรม จะต้องเสวยทุกข์ในนรกขุมนี้ต่อไปอีก สัตว์นรกตกลงไปลอยไปตามกระแสบ้าง ทวนกระแสบ้าง รีๆ ขวางๆ บ้าง เสวยทุกขเวทนา แต่ก็ไม่ตาย นายนิรยบาลเอาเบ็ดเกี่ยวขึ้นมาบนบก ถามว่าอยากอะไร เขาบอกว่าหิว นายนิรยบาลเอาขอเหล็กแดงงัดปาก ยัดก้อนเหล็กแดงเข้าไป ไหม้ริมฝีปาก ไหม้ปาก คอ อก พาเอาไส้ใหญ่ไส้น้อยออกมาทางเบื้องล่าง แต่ถ้าเขาบอกว่ากระหาย นายนิรยบาลจะงัดปากเอาทองแดงละลายกรอกเข้าปาก เผาอวัยวะที่กล่าวแล้วนำออกมาเบื้องล่าง เสวยทุกขเวทนาเผ็ดร้อน แต่ก็ไม่ตายต้องเสวยผลกรรมต่อไป

นรกภูมิ ที่มีมาในเนมิราชชาดก คัมภีร์ขุททกนิกาย ยังมีกล่าวไว้อีก สรุปดังนี้
เวตตรณีนรกสัตว์เหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลกเป็นผู้มีกำลังได้เบียดเบียน ด่า กระทบผู้หากำลังมิได้ ถ้ากรรมนี้ส่งผลเขาต้องไปตกแม่น้ำเวตตรณีนรกที่มีน้ำกรดทำให้แสบเผ็ดร้อนเดือดพล่าน เปรียบดั่งเปลวไฟ
นรกสุนัขด่าง สัตว์เหล่าใดเป็นผู้ตระหนี่เหนียวแน่น มักด่าบริภาษ ด่ากระทบสมณพราหมณ์ สัตว์เหล่านั้นมีกรรมหยาบช้าจึงถูกฝูงสุนัข ฝูงกา ฝูงแร้ง เคี้ยวกิน
นรกพื้นแผ่นดินเหล็ก สัตว์เหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลกเป็นผู้เบียดเบียน ด่ากระทบชายหญิงผู้มีธรรม สัตว์เหล่านั้น มีกรรมหยาบช้า จึงมีร่างกายถูกเผาลุกโพลงด้วยไฟ เดินเหยียบแผ่นดินเหล็กลุกเป็นไฟ ถูกนายนิรยบาลโบยด้วยท่อนเหล็กแดง(ด้วยไฟ)
นรกหลุมถ่านเพลิง สัตว์นรกเหล่านี้ได้ใช้จ่ายทรัพย์ตามชอบจ่าย โกงทรัพย์ของประชุมชน คือทำการเรี่ยไรทรัพย์ เพื่อนำไปทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ก็เอาทรัพย์ หรือใช้จ่ายทรัพย์ในโดยส่วนตัว กล่าวเท็จเพื่อเอาทรัพย์นั้นมาเป็นของตน เข้าในทำนองทำการหลอกลวงประชุมชม เพราะกรรมนี้จึงมาร้องไห้ดิ้นรนอยู่ในหลุมถ่านเพลิง
โลหกุมภีนรกที่ ๑ สัตว์เหล่าใดเป็นผู้มีบาปธรรม เบียดเบียนด่ากระทบสมณพราหมณ์ผู้มีศีล สัตว์เหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า จึงตกในหม้อโลหะใหญ่มีไฟติดทั่วลุกโพลงโชติช่วง
โลหกุมภีนรกที่ ๒ สัตว์เหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก จับนกมาฆ่า สัตว์เหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า จึงถูกนายนิรยบาลผูกคอด้วยเชือกเหล็กลุกโพลงแล้วตัดศีรษะโยนลงไปในน้ำร้อน
นรกแม่น้ำกลายเป็นแกลบไฟ สัตว์เหล่าใดมีการงานไม่บริสุทธิ์ ขายข้าวเปลือกแท้เจือด้วยข้าวลีบและแกลบแก่ผู้ซื้อ เขาจึงมาอยู่ในนรกนี้ นรกนี้มีน้ำมาก ไหลอยู่เสมอ มีตลิ่งไม่สูง มีท่าน้ำ สัตว์นรกเหล่านั้นเร่าร้อน เพราะความร้อนแห่งไฟ จะดื่มน้ำ น้ำจึงกลายเป็นแกลบถูกไฟเผา
นรกอาวุธต่างๆ สัตว์เหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก ถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้ คือ ธัญชาติ ทรัพย์ เงิน ทอง เป็นต้น มาเลี้ยงชีพ นายนิรยบาลใช้ลูกศร หอก โตมร(อาวุธสำหรับซัด,หอกซัด,สามง่ามที่มีปลอกรูปเป็นใบโพสวมอยู่) แทงทะลุข้างตัวให้ได้รับตวามทุกข์ทรมาน
นรกกองเนื้อ สัตว์นรกเคยเป็นผู้ฆ่าแพะ แกะ ไก่ สุกร วัว ควาย เป็นต้น แล้ววางไว้ในร้านที่ขายเนื้อ สัตว์นรกจึงถูกนายนิรยบาลผูกคอบ้าง ตัดทำให้เป็นชิ้นๆบ้าง
นรกอุจจารปัสสาวะ สัตว์เหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก ได้เบียดเบียนผู้อื่นทุกเมื่อ สัตว์เหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า เป็นพาล ประทุษร้ายมิตร จึงต้องตกลงในห้วงน้ำที่เต็มไปด้วยมูตรและคูถ มีกลิ่นเหม็นเน่า ฟุูงไป สัตว์นรกมีความหิวกระหายจึงกินมูตรและคูถนั้น
นรกเลือดหนอง สัตว์นรกเหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก ฆ่ามารดา บิดา และพระอรหันต์ชื่อว่าปาราชิกในคฤหัสถ์ สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า จึงมาตกอยู่ในนรกนี้ มีห้วงน้ำเต็มไปด้วยเลือดและหนอง มีกลิ่น เหม็นคลุ้งตลบ สัตว์นรกถูกความร้อนแผดเผา หิวกระหาย ก็กินเลือดและหนองนั้น
นรกเบ็ดเหล็ก สัตว์นรกเหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก อยู่ในตำแหน่งผู้ตีราคา ยังราคาซื้อให้เสื่อมเพราะเหตุโลภทรัพย์ ดุจคนเข้าไปใกล้ปลาเพื่อจะฆ่าเอาเหยื่อเกี่ยวเบ็ดปิดเบ็ดนั้นไว้ ฉะนั้น ด้วยกรรมนี้ จึงถูกนายนิรยบาลทรมานด้วยการเอาเบ็ดเกี่ยวลิ้น เกี่ยวหนัง
นรกภูเขาเหล็ก สัตว์นรกเหล่าใดเป็นกุลธิดา เมื่อยังอยู่ในมนุษยโลกมีงานอันไม่บริสุทธิ์ เป็นหญิงนักเลงละสามีไปคบชายอื่น ยังจิตของตนให้ยินดีในบุรุษอื่น ตายแล้วมาเกิดในนรกนี้ จึงถูกภูเขาเหล็กลุกเป็นเพลิงมาจาก ๔ ทิศ ผลัดกันบดร่างกายให้แตก มีแมลงวันตอม เปรอะเปื้อนด้วยเลือดและหนอง มีศีรษะขาดเหมือนฝูงโคที่ศีรษะขาด บนที่ฆ่าหญิงนรกเหล่านี้จมอยู่ในพื้นแค่สะเอวตลอดเวลา
นรกที่มีศีรษะทิ่มลง สัตว์นรกเหล่าใดเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก เป็นผู้ล่วงภรรยาแห่งบุรุษอื่นและลักขโมย จึงมาตกนรกนี้ มีศีรษะทิ่มลงเบื้องล่าง เพราะนายนิรยบาลได้จับสัตว์เหล่านั้นพุ่งให้มีศีรษะทิ่มลงไปในนรก
นรกป่าไม้งิ้ว สัตว์นรกเหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก เป็นผู้มีความเห็นผิดหลงทำกรรมจนเคยชินด้วยมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ และชักชวนผู้อื่นในทิฏฐินั้นคือกล่าวว่า ทานที่ให้ไม่มีผล การบูชาไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลของความดีความชั่วไม่มี มารดาบิดาไม่มี สมณพราหมณ์ไม่มี สัตว์ลอยมาเกิดไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี สัตว์เหล่านั้นมีทิฏฐิลามกจึงต้องเสวยทุกเวทนาอันกล้าแข็งเผ็ดร้อนใน นรกนี้

พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นผู้ที่คบคนผิด คือทรงคบกับพระเทวทัต เหตุนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูจึงทรงมีอภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ เกิดขึ้นจนถึงกับทำการปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดา ตามธรรมดาบุคคลผู้ฆ่าบิดามารดาต้องไปสู่นรกอเวจี แต่พระองค์ไม่ต้อง เพราะในสมัยที่พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้นได้ทรงเลิกคบกับพระเทวทัต หันมาประพฤติดีมีพระพุทธเจ้าพร้อมพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่ง ทรงเป็นผู้มีความเลื่อมใสสละจตุปัจจัยให้เป็นทาน จนถึงเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงการสังคายนา ฉะนั้นเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว จึงไม่ต้องไปสู่นรกอเวจี แต่ต้องไปเสวยทุกข์อยู่ในโลหกุมภี ที่เป็นบริวารของอวีจิมหานรกแทน การเสวยทุกข์ในโลหกุมภี คือค่อยๆจมลงไปทีละน้อยๆ จนถึงพื้นล่างของหม้อโลหะ นับเป็นเวลานานถึงสามหมื่นปีของนรกนี้ เมื่อจะโผล่ขึ้นมาจากพื้นล่างก็ค่อยๆโผล่ขึ้นมาทีละน้อยๆ นับเป็นเวลานานถึงสามหมื่นปีแห่งนรกนี้อีกเช่นกัน รวมเวลาเสวยทุกข์ของพระเจ้าอชาตศัตรูในโลหกุมภีกำหนดหกหมื่นปีจึงจะพ้นออกจากนรกนี้ ในอนาคตต่อไปได้สองอสงไขยแสนมหากัป จักได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้ามีนามว่าวิชิตาวี 
โลกันตนรก เป็นนรกขุมใหญ่พิเศษ ซึ่งตั้งอยู่ที่ระหว่างช่องว่างของขอบจักรวาลทั้ง ๓ ที่เชื่อมต่อกัน มีแต่ความมืดสนิท สัตว์ที่อุบัติในโลกันตนรกนี้จะมีร่างกายใหญ่โตมหึมามีเล็บเท้ายาวเกาะอยู่ตามขอบเชิงจักรวาลห้อยโหนตัวอยู่ตลอดกาล เมื่อไปพบพวกเดียวกันต่างก็คิดว่าเป็นอาหารจึงไล่ตะปบกัน จนตกลงมาในน้ำกรดที่เย็นยะเยือก สัตว์นั้นก็จะละลายเป็นจุณหายไป แล้วอุบัติเกิดขึ้นใหม่ที่ขอบจักรวาลนั้น ห้อยโหนตัวอยู่ไปมาและเมื่อ พบกันก็ตะปบกัน ต่อสู้กัน พลาดพลั้งก็ตกลงไปในน้ำกรด ร่างก็ละลาย เป็นเช่นนี้ไปตลอดกาล (นรกขุมนี้เป็นขุมพิเศษ เป็นที่อยู่ของพวกอสุรกายประเภท นิรยอสุรา) 

ทำบาปกรรมอะไรจึงเกิดในโลกันตนรก
๑. เป็นผู้ประทุษร้ายทรมานบิดามารดา ปราศจากความกตัญญูกตเวที
๒. เป็นมิจฉาทิฏฐิบุคคล คือ ไม่เชื่อบุญบาป ไม่เชื่อนรกสวรรค์ แล้วทำบาปอยู่เป็นนิจ
๓. ประทุษร้ายต่อผู้ทรงศีล ทรงธรรม หรือกระทำปาณาติบาตฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นประจำทุกวัน

ด้วยอำนาจของกรรมหนักเหล่านี้ จึงส่งผลให้เกิดในโลกันตนรกซึ่งมืดมิดอยู่เป็นนิตย์ตลอดกาลนาน ครั้นเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก จึงมีโอกาสเห็นแสงสว่างขึ้นแวบหนึ่งประมาณชั่วฟ้าแล่บ หรือชั่วลัดนิ้วมือเดียวเท่านั้น

อัธยาศัยจิตใจของบุคคลทั้งหลาย สรุปได้ ๔ คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้มีอัธยาศัยจิตใจชอบบำเพ็ญกุศลมาก
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้มีอัธยาศัยจิตใจชอบในการกุศลและอกุศลเท่าๆกัน
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้มีอัธยาศัยจิตใจชอบในอกุศลมากกว่ากุศล
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้มีอัธยาศัยจิตใจชอบในอกุศลฝุายเดียว

บุคคลประเภทที่ ๑ ในขณะใกล้ตายย่อมระลึกนึกถึงกุศลได้มาก ฉะนั้น บุคคลจำพวกนี้ย่อมพ้นจากการไปบังเกิดในอบายภูมิ
บุคคลประเภทที่ ๒ ในขณะใกล้ตายถ้าตัวเองพยายามระลึกถึงกุศลให้มากหรือญาติ บุคคลใกล้ชิดช่วยเตือนสติให้ระลึกถึงกุศล ก็สามารถช่วยให้พ้นจากการบังเกิดในอบายภูมิ
บุคคลประเภทที่ ๓ ในขณะใกล้ตายชีวิตที่ผ่านมาทำอกุศลมากกว่ากุศล ลำพังตัวเองจะนึกถึงกุศลนั้นย่อมนึกถึงไม่ได้ นอกจากจะได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่นเท่านั้น แต่ต้องเป็นการช่วยเหลืออย่างพิเศษจึงจะช่วยได้ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างพิเศษแล้วบุคคลจำพวกนี้ย่อมจะต้องไปสู่อบายแน่นอน
บุคคลประเภทที่ ๔ ในขณะใกล้ตายชีวิตย่อมไม่พ้นจากการไปสู่อบายได้เลย นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อัครสาวก มหาสาวกเท่านั้นที่จะช่วยเหลือได้ และการที่จะได้รับความช่วยเหลือจากท่านเหล่านี้ได้บุคคลผู้นั้นก็จะต้องมี กุศลอปราปริยเวทนียกรรม(กุศลในชาติก่อนๆ)ที่มีกำลังมาก(ตัวอย่าง"โจรเคราแดง"จะอยู่ในเรื่อง กฎแห่งกรรมหมวดที่ ๗) ฉะนั้นถ้าบุคคลจำพวกนี้ต้องไปสู่นรกแล้ว ก็ไปสู่นรกโดยตรง ไม่มีโอกาสที่จะได้พบกับพระยายมราช เฉพาะบุคคลประเภทที่ ๒ และ ๓ ถ้าต้องไปสู่นรกแล้วก็มีโอกาสได้พบกับพระยายมราชเพื่อทำการสอบถาม ๕ เรื่อง หรือเรียกว่า เทวทูต ๕ เสียก่อน แล้วจึงไปเสวยทุกข์ในนรกนั้นๆ ภายหลัง

คำถามของพระยายมราช มี ๕ เรื่อง 
๑. ความเกิด ได้แก่ ทารกที่แรกเกิด
๒. ความแก่ ได้แก่ คนชรา 
๓. พยาธิ ได้แก่ ผู้ป่วยไข้ 
๔. คนต้องราชทัณฑ์ ได้แก่ ผู้ที่ถูกลงโทษตามกฎหมาย 
๕. มรณะ ได้แก่ คนตาย 

พระยายมราชผู้มีจิตกรุณาจะไต่ถามว่า “นี่แน่ะเจ้า! เราจะถามเจ้าว่า เมื่อเจ้ายังอยู่ในมนุษย์โลกนั้นได้เคยเห็นเด็กแรกเกิดนอนเปื้อนมูตรคูถของตนเองบ้างไหม” ถ้าสัตว์นรกตอบว่า “ข้าพเจ้าเคยเห็น” พระยายมราชจะถามต่อไปว่า “ในขณะที่เจ้าเห็นเด็กแรกเกิดนั้น เจ้าเคยนึกถึงตนเองบ้างไหมว่า ตัวของเจ้าเองนี้จะต้องเกิดอีกเช่นเดียวกัน และได้เคยพยายามสร้างทาน ศีล ภาวนา เพื่อจะได้เป็นหนทางที่จะช่วยตัวเองให้พ้นไปจากความเกิดอันเป็นชาติทุกข์ บ้างไหม” สัตว์นรกได้ฟังคำถามของพระยายมราชแล้ว ถ้าระลึกถึงกุศลได้ในขณะนั้นก็จะพ้นจากนรกโดยทันที ได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ หรือเทวดา ถ้าระลึกถึงกุศลไม่ได้ในขณะนั้นก็จะกล่าวตอบว่า “ข้าพเจ้าเคยเห็นเด็กแรกเกิดก็จริง แต่ก็ไม่มีความนึกคิดอะไร คงมีแต่ความยินดี พอใจเพลิดเพลิน สนุกสนานไป ตามวิสัยของชาวโลกเท่านั้น” พระยายมราชจึงกล่าวต่อไปว่า “เจ้าเป็นผู้มีความประมาท ไม่ทำความดี ทางกายวาจาใจ ด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ความประมาท เพลิดเพลินสนุกสนานของเจ้าที่ได้กระทำไปแล้วล้วนแต่เป็นความประมาทที่เกิดขึ้นจากตัวของเจ้าทั้งนั้น ไม่ใช่บิดามารดา บุตร ภรรยา มิตรสหาย หรือ เทวดาทั้งหลายมากระทำให้เจ้า ฉะนั้นเจ้าก็ต้องได้รับผลที่เจ้าได้กระทำไว้แล้วนั้นด้วย ตนเองไม่มีผู้ใดจะมารับโทษแทนเจ้าได้” ต่อจากนั้นพระยายมราชจะถามปัญหาที่ ๒ ต่อไป

พระยายมราชผู้มีจิตกรุณาจะถามต่อไปว่า “เจ้าเคยเห็นคนแก่หลังโก่งงอ ผมหงอก หนังเหี่ยว ตกกระ บ้างไหม ในขณะที่เจ้าเห็นนั้น เจ้าเคยนึกถึงตนเองบ้างไหมว่าตัวของเจ้าเองนี้จะต้องแก่เช่นเดียวกัน และได้เคยพยายามสร้างทาน ศีล ภาวนา เพื่อจะได้เป็นหนทาง ที่จะช่วยตัวเองให้พ้นไปจากความแก่อันเป็นชราทุกข์บ้างไหม” สัตว์นรกได้ฟังคำถามของพระยายมราชแล้ว ถ้าระลึกถึงกุศลได้ในขณะนั้นก็จะพ้นจากนรกโดยทันที ได้เกิดเป็นมนุษย์ หรือเทวดา ถ้าระลึกถึงกุศลไม่ได้ในขณะนั้นก็จะกล่าวตอบว่า “ข้าพเจ้าเคยเห็นคนแก่ก็จริงแต่ไม่มีความนึกคิดอะไร คงมีแต่การใช้ชีวิตที่พอใจเพลิดเพลิน สนุกสนานไปตาม วิสัยของชาวโลกเท่านั้น” พระยายมราชกล่าวต่อไปว่า “เจ้าเป็นผู้ประมาท ฯลฯ ฉะนั้นเจ้าก็ต้องได้รับผลที่เจ้าได้ กระทำไว้แล้วนั้นด้วยตนเอง ไม่มีผู้ใดจะมารับโทษแทนเจ้าได้” ต่อจากนั้นพระยายมราชจะ ถามปัญหาที่ ๓ ต่อไป

พระยายมราชผู้มีจิตกรุณาจะถามต่อไปว่า “เจ้าเคยเห็นคนป่วยไข้ที่กำลังได้รับความทุกข์เวทนาบ้างหรือไม่ ในขณะที่เจ้าเห็น เจ้าเคยนึกถึงตนเองบ้างไหมว่า ตัวของเจ้าเองนี้จะต้องเจ็บป่วยเช่นเดียวกัน และได้เคยพยายามสร้างทาน ศีล ภาวนา เพื่อจะได้เป็นหนทางที่จะช่วยตัวเองให้พ้นไปจากความเจ็บป่วยอันเป็นพยาธิทุกข์บ้างไหม” สัตว์นรกได้ฟังแล้ว ถ้าระลึกถึงกุศลได้ในขณะนั้นก็จะพ้นจากนรกโดยทันที ฯลฯ ถ้าระลึกถึงกุศลไม่ได้ ฯลฯ พระยายมราชจึงกล่าวต่อไปว่า “เจ้า เป็นผู้ประมาท ฯลฯ ฉะนั้นเจ้าก็ต้องได้รับผลที่เจ้าได้กระทำไว้แล้วนั้นด้วยตนเอง ไม่มีผู้ใดจะมารับโทษแทนเจ้าได้” ต่อจากนั้นพระยายมราชจะถามปัญหา ที่ ๔ ต่อไป

พระยายมราชผู้มีจิตกรุณาจะถามต่อไปว่า “เจ้าเคยเห็นคนที่ถูกจองจำ เช่น โจร ผู้ร้าย ผู้กระทำผิด ซึ่งถูกลงโทษด้วยวิธีต่างๆ เช่น โบยด้วยแส้ หวาย ตีด้วยกระบอง ถูกตัดมือ เท้า หู จมูก ยิงเป้า แขวนคอบ้างหรือไม่ ในขณะที่เจ้าเห็นเจ้าเคยนึกถึงตนเองบ้างไหมว่าตัวของเจ้าเองนี้จะต้องเพียรเร่งสร้างความดี เพื่อจะได้เป็นหนทางที่จะช่วยตัวเองให้พ้นไปจากความทุกข์บ้างไหม? สัตว์นรกได้ฟังแล้ว ถ้าระลึกถึงกุศลได้ในขณะนั้นก็จะพ้นจากนรกโดยทันที ฯลฯ ถ้าระลึกถึงกุศลไม่ได้ ฯลฯ พระยายมราชกล่าวต่อไปว่า “เจ้าเป็นผู้ประมาท ฯลฯ ฉะนั้นเจ้าก็ต้องได้รับผลที่เจ้าได้กระทำไว้แล้วนั้นด้วยตนเอง ไม่มีผู้ใดจะมารับโทษแทนเจ้าได้ ” ต่อจากนั้นพระยายมราชจะถามปัญหาที่ ๕ ต่อไป

พระยายมราชผู้มีจิตกรุณาจะถามต่อไปว่า “เจ้าเคยเห็นคนตายบ้างหรือไม่ ในขณะที่เจ้าเห็นคนตายเจ้าเคยนึกถึงตนเองบ้างไหมว่าตัวของเจ้าเองนี้ จะต้องตายเช่นเดียวกัน และได้เคยพยายามสร้างทาน ศีล ภาวนา เพื่อจะได้เป็นหนทางที่จะช่วยตัวเองให้พ้นไปจากความตายอันเป็นมรณทุกข์บ้างไหม” สัตว์นรกได้ฟังแล้ว ถ้าระลึกถึงกุศลได้ในขณะนั้นก็จะพ้นจากนรกโดยทันที ฯลฯ ถ้าระลึกถึงกุศลไม่ได้ ฯลฯ พระยายมราชจึงกล่าวต่อไปว่า “เจ้าเป็นผู้ประมาท ฯลฯ ฉะนั้นเจ้าก็ต้องได้รับผลที่เจ้าได้กระทำไว้แล้วนั้นด้วยตนเอง ไม่มีผู้ใดจะมารับโทษแทนเจ้าได้”

เมื่อเป็นเช่นนี้ พระยายมราชก็พยายามช่วยระลึกให้ว่าสัตว์นรกผู้นี้ได้สร้างกุศลอะไรไว้บ้าง เพราะบุคคลบางคนเมื่อทำกุศลแล้วก็แผ่ส่วนกุศลให้แก่ พระยายมราช พระยายมราชผู้เคยได้รับส่วนกุศลก็จะพยายามช่วยให้สัตว์นรกนึกถึงกุศลที่เคยทำไว้ เมื่อระลึกถึงกุศลกรรมของตนได้เช่นนี้ ในขณะนั้น ก็พ้นไปจากนรกแต่ถ้าพระยายมราชช่วยแล้วก็ยังระลึกไม่ได้ก็จะนิ่งเสีย แล้ว นายนิรยบาลก็จะนำตัวไปลงโทษในนรกต่างๆ เสวยกรรมในนรกไปจนกว่าจะหมดกรรม พระยายมราชเป็นราชาแห่งเปรตที่มีวิมาน ในคราวหนึ่งเสวยทิพยสมบัติ ในคราวหนึ่งเป็นธรรมิกราชเสวยวิบากกรรม พระยายมราชเองก็ปรารถนาความเป็นมนุษย์และได้พบได้ฟังธรรม ได้รู้ธรรม ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หน้าที่ของพระยายมราช คือเป็นผู้ซักถามผู้ทำบาปที่ถูกนำตัวเข้าไปหลักซักถาม ๕ อย่างข้างต้น ถ้าพิจารณาดูตรงๆ ก็ยากที่จะเข้าใจว่าจะใช้ เป็นกฎเกณฑ์สำหรับวินิจฉัยได้อย่างไร แต่เมื่อพิจารณาโดยหลักธรรม ก็อาจจะเห็นความมุ่งหมายว่า คนที่ทำบาปทุจริตต่างๆ นั้น ก็เพราะมีความประมาท ไม่ได้คิดพิจารณาว่าเกิดมาแล้วจะต้องแก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา