๑. ความเป็นไปในสังสารวัฏ

การศึกษาเรื่องภพภูมิ จะทำให้เข้าใจถึงชีวิตการเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั้นเป็นอย่างไร และเป็นเช่นนั้นได้ เพราะเหตุใด มีผู้สร้างมีผู้กำหนดให้เป็นไปเช่นนั้นหรือไม่ และจะมีอะไรมาหยุดการเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั้นได้หรือไม่ คำตอบเรื่องเหล่านี้ มีอยู่ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา

ในยุคนี้แม้ว่าพระพุทธองค์ทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้ว อริยสาวกทั้งหลายก็ปรินิพพานไปแล้ว ถึงกระนั้นคำสอนในพระพุทธศาสนาเรื่องความเป็นไปในสังสารวัฏและการดับซึ่งสังสารวัฏนั้นยังมีอยู่ เมื่อยังมี การศึกษาตามคำสอนแล้วประพฤติตาม ก็ย่อมนำมาซึ่งการดับสังสารวัฏได้ เมื่อบุคคลได้ศึกษาเรื่องความเป็นไปในสังสารวัฏแล้วพึงพิจารณาให้เห็นความจริงในวัฏฏะ พึงพิจารณาให้เห็นหนทางแห่งการดับวัฏฏะ และเพียรเจริญภาวนาเพื่อยังมรรคมีองค์ ๘ ให้เกิดขึ้น ก็จะได้บรรลุแก่นแท้แห่งคำสอนในพระพุทธศาสนานี้ คือเพื่อความสิ้นไปแห่งวัฏฏทุกข์นี้เสียก่อนจะศึกษาเรื่องความเป็นไปในสังสารวัฏ ควรศึกษาความหมายของศัพท์ดังนี้


สงสาร หมายความว่า การเวียนว่ายตายเกิด คำว่าสงสารยังมีความหมายอีกนัยหนึ่งว่ารู้สึกเห็นใจในความเดือดร้อนหรือความทุกข์ของผู้อื่น รู้สึกห่วงใยด้วยเมตตา กรุณา เช่นเห็นเด็กๆ อดอยากก็รู้สึกสงสาร เห็นเขาประสบอัคคีภัยแล้วสงสาร

ในที่นี้คำว่าสงสารมุ่งหมายถึงความหมายโดยนัยแรก คือ การเวียนว่ายตายเกิด จะเห็นได้ว่าคำศัพท์ตามความหมายทางโลกกับทางธรรมนั้นแตกต่างกัน ฉะนั้นการศึกษาธรรมะจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจศัพท์ให้ถี่ถ้วน สงสารทุกข์ สังสารวัฏ หรือ วัฏสงสาร หมายความว่าทุกข์ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิด การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลายจะอยู่ในภพภูมิต่างๆ ด้วยกำลังของกิเลส กรรม วิบาก หมุนวนอยู่เช่นนั้นตราบเท่าที่ยังตัดกิเลส กรรม วิบาก ไม่ได้

กิเลส หมายความว่า เครื่องทำใจให้เศร้าหมองได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ตัณหา หมายความว่า ความทะยานอยาก
วัฏฏะ คือความวน หรือความเวียน ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา มี สามอย่างคือ
• กิเลสวัฏฏะ ความวน คือ กิเลส
• กรรมวัฏฏะ ความวน คือ กรรม
• วิปากวัฏฏะ ความวน คือ วิบากผลของกรรม
กิเลสก็เป็นเหตุให้ทำกรรม กิเลสจึงเป็นเหตุ กรรมจึงเป็นผลของกิเลส และ กรรมนั้นเองก็เป็นตัวเหตุให้เกิดวิบากคือผลกรรมจึงเป็นเหตุวิบากจึงเป็นผล และวิบากนั้นเองก็เป็นตัวเหตุ ก่อกิเลสขึ้นอีก เมื่อเป็นดังนี้ วิบากนั้นก็ เป็นเหตุ กิเลสก็เป็นผลของวิบาก


ฉะนั้น กิเลส กรรม วิบาก จึงวนอยู่ดังนี้ จึงทำให้ขันธ์ ๕ นี้ วนอยู่ใน กิเลส กรรม วิบาก แล้วก็กลับเป็นเหตุก่อกิเลส กรรม วิบากขึ้นอีก ขันธ์ ๕ เมื่อกล่าวโดยความเป็นสัตว์และบุคคลจึงวนเวียนอยู่ในกิเลส กรรม วิบาก แสดงให้เห็นว่า กิเลส กรรม วิบาก นี้เองเป็นวัฏฏะ กิเลส ตัณหา เป็นสิ่งที่แฝงติดอยู่ในใจ แล้วทำให้ใจเศร้าหมองขุ่นมัว ตัณหาเป็นต้นเหตุทำให้เกิดทุกข์ เมื่อดับตัณหาเสียได้ ก็เป็นอันว่าดับวัฏฏะ ดังกล่าวได้ ดับกิเลส ดับทุกข์ทางจิตใจในปัจจุบันได้ และถึงที่สุดคือเมื่อดับขันธ์ได้ไม่เกิดอีก ดับรอบสิ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวง การเวียนว่ายตายเกิด เมื่อว่าโดยสภาวธรรมแล้วไม่มีสัตว์บุคคลใดๆ เกิด ตาย มีแต่สภาวธรรมที่เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย คือ กิเลสตัณหา เมื่อเหตุ ปัจจัยยังมีอยู่ สภาวธรรมทั้งหลายก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ เมื่อหมดเหตุ ปัจจัยแล้วสภาวธรรมนั้นก็ดับไป

ทบทวน ชีวิตคืออะไร

ชีวิตความหมายตามนัยแห่งพระอภิธรรม มี ๒ อย่าง คือ
๑. ชีวิตรูป ชีวิตรูปเป็นรูปๆหนึ่ง ในจำนวนรูปที่เกิดจากกรรม (ได้แก่ จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กาย ปสาท อิตถีภาวะ ปุริสภาวะ หทยะ และชีวิตรูป) จะมีหน้าที่รักษารูปอื่นๆ ที่เกิดจากกรรมให้ดำรงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แล้วจะดับสลายไปพร้อมกับรูปทั้งหมดที่เกิดจากกรรมนั้น และมีการเกิดขึ้นใหม่สืบต่อกันเรื่อยๆไปไม่ขาดสายตลอดชีวิต ชีวิตรูปนี้จะหล่อเลี้ยงรักษารูปอื่นๆที่เกิดจากกรรมมิให้แตกสลายไปก่อนกำหนด เหมือนน้ำที่หล่อเลี้ยงดอกบัว

ชีวิตรูป หรือ รูปชีวิตของสัตว์บุคคลก็เนื่องด้วยกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่กระทำไว้แล้วนั่นเอง กุศลและอกุศลที่กระทำไว้ในอดีตชาติก็เป็นตัวส่งผลทำให้เกิดรูปนามนี้ขึ้นมา แล้วสมมติเรียกว่า คน สัตว์ เทวดา พรหม สุดแท้แต่จะเกิดขึ้นมาในภพภูมิใด การเกิดขึ้นของชีวิตก็เพื่อมารับผลของกุศลและอกุศลที่กระทำไว้ เมื่อกุศลส่งผลก็สมมติเรียกว่ากำลังเสวยสุข เมื่ออกุศลส่งผลก็สมมติเรียกว่ากำลังเสวยทุกข์ เหมือนกับการปลูกพืช ถ้าปลูกพืชที่ให้ผลเป็นรสเปรี้ยว ก็จะได้รับผลที่มีรสเปรี้ยว ถ้าปลูกพืชที่มีรสหวานก็จะได้รับผลที่มีรสหวาน ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อบุคคลทำกรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลมาแล้ว ผลที่ได้รับจึงมีทั้งความทุกข์บ้างสุขบ้างสลับกันไป สำหรับสิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น ต้นไม้ โต๊ะ เก้าอี้ บ้านเรือนฯลฯ เหล่านี้เป็น รูปธรรม เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่มีวิญญาณครอง (อนุปาทินนกสังขาร) บางคนเข้าใจว่าต้นไม้มีชีวิตจึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ต้นไม้นั้นมีอุตุเป็นสมุฏฐาน คือเป็นรูปที่เกิดจากอุตุ มีเพียงรูป ๘ เท่านั้น คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา ส่วนคน สัตว์ มีรูป ๒๘ รูป อันได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ เป็นต้น มนุษย์,สัตว์เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ คือ กรรม จิต อุตุ และอาหาร ต้นไม้เกิดจากสมุฏฐานเดียว คือ อุตุ ต้นไม้ไม่ได้ เกิดจากกรรม จึงไม่มีชีวิตรูปคอยอนุบาลรักษาเหมือนสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย

ชีวิตนามหรือ นามชีวิต คือ ชีวิตินทรีย์เจตสิกนั่นเอง จะเกิดพร้อมกับ นามธรรมอื่นๆ เช่น ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา มนสิการ เป็นต้น และทำหน้าที่รักษานามธรรมที่เกิดพร้อมกันกับตนให้ตั้งมั่นในอารมณ์แล้วดับไป เมื่อเข้าใจชีวิตแล้ว ต่อไปจะศึกษาสถานที่เกิดของสัตว์ทั้งหลาย มีอยู่ ๓๑ ภูมิ ไปตามลำดับ