RSS

๑.๒๖ ปริญญา

ปริญญา การทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ โดยครบถ้วนหรือรอบด้าน แบ่งเป็น ๓ ขั้น คือ

ขั้นที่ ๑. ญาตปริญญา : กำหนดรู้ขั้นรู้จัก รู้จักลักษณะของสิ่งนั้น กำหนดรู้ตามสภาวะลักษณะ (ลักษณะที่เป็นภาวะของมันเอง) เช่น เวทนา คือ สิ่งที่มีลักษณะเสวยอารมณ์, สัญญา คือ สิ่งที่มีลักษณะกำหนดได้หมายรู้ เป็นต้น

ขั้นที่ ๒. ตีรณปริญญา : กำหนดรู้ขั้นหยั่งถึงไตรลักษณ์ คือ รู้ด้วยปัญญาที่หยั่งลึกซึ้งไปถึงสามัญลักษณะ (ลักษณะร่วมที่เสมอเหมือนกับสิ่งอื่น) ได้แก่ รู้ถึงการที่สิ่งนั้นๆ เป็นไปตามกฎธรรมดา พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา รวมถึงเข้าใจว่าสังขารทั้งหลายมีสามัญลักษณะคือสภาวะที่มีที่เป็นตามเหตุปัจจัย

ขั้นที่ ๓ ปหานปริญญา : กำหนดรู้ถึงขั้นละได้, รู้ว่าจะทำอย่างไร คือ รู้ถึงขั้นที่ทำให้ถอนความยึดติด เป็นอิสระจากสิ่งนั้นๆได้ และปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆได้ถูกต้อง เช่น เมื่อรู้ว่าสิ่งนั้นๆเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ก็ละความยึดติดในสิ่งนั้นๆได้

พระโสดาบัน สามารถกำหนดรู้ในขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ และมีญาณกำหนดรู้ในขั้นที่ ๓ ได้บางส่วน เรียกว่า บรรลุมรรคผลในขั้นแรก ถัดจากนั้น ก็พิจารณามรรคผล พิจารณากิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่ยังเหลืออยู่ และพิจารณานิพพาน เพื่อพัฒนาตนเองในขั้นต่อๆไป นิพพานเป็นจุดหมายที่ทุกคนเข้าถึงได้ เมื่อมีฉันทะ เพียรพยายาม มีความพร้อมแล้ว ก็สามารถบรรลุนิพพานได้ ไม่มีข้อจำกัด ชาติชั้นวรรณะ ฐานะ เพศ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต

“เราไม่กล่าวว่ามีความแตกต่างอะไรเลย ระหว่างอุบาสกผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ กับภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วตลอดร้อยปี คือ วิมุตติ กับ วิมุตติ เหมือนกัน” (คิลายนสูตร)

กระบวนธรรมฝ่ายก่อทุกข์ อาจเรียกชื่อตามองค์ธรรมที่เป็นตัวการสำคัญว่า กระบวนธรรมฝ่ายอวิชชา-ตัณหา ส่วนกระบวนธรรมฝ่ายดับทุกข์ ก็อาจเรียกชื่อตามองค์ธรรมที่สำคัญว่า กระบวนธรรมฝ่าย วิชชา-วิมุตติ ถ้าเรียกอย่างง่ายๆ ฝ่ายแรก คือ ไม่รู้ จึงติด ฝ่ายหลังเป็น พอรู้ ก็หลุด ในฝ่ายอวิชชา-ตัณหา องค์ธรรมที่เป็นขั้วต่อ นำไปสู่ชาติภพ คือ อุปาทาน ส่วนในฝ่ายวิชชา-วิมุตติ องค์ธรรมที่เป็นขั้วต่อ ซึ่งพาออกไป หรือเป็นจุดแยกออกจากสังสารวัฏฏ์ ได้แก่ นิพพิทา แปลว่า ความหน่าย ความหมดใคร่ หายอยาก หายติด, ความปรีชาหยั่งเห็นสังขารตามความเป็นจริง จึงเกิดความหน่ายในสังขารทั้งปวงว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา, ความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งที่ทำให้เบื่อหน่ายในสังสารวัฏหรือกองทุกข์, ปรีชาคำนึงถึงสังขารด้วยความหน่าย เพราะมีแต่ทุกข์และโทษมากมาย แต่ไม่ใช่การอยากทำลายตนเองเพราะเบื่อสังขารด้วยวิภวตัณหา พึงแยกนิพพิทา กับ วิภวตัณหา ให้ชัดเจน

อุปาทาน เกิดสืบเนื่องมาจากอวิชชา ความไม่รู้สภาวะ ส่วนนิพพิทา เกิดจากความรู้เข้าใจตามเป็นจริง (มีศัพท์เฉพาะว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ, นิพพิทาญาณ) การที่นิพพิทาจะเกิดขึ้น หรือการที่จะถอนทำลายอุปาทานได้นั้น เป็นเรื่องที่เกิดจากความรู้ความเข้าใจ คือ เมื่อรู้เข้าใจสภาวะแล้ว นิพพิทาก็เกิดเอง อุปาทานก็หมดไปเอง (พร้อมๆกัน) เป็นเรื่องของกระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย หรือภาวะที่เป็นเองตามเหตุปัจจัยของมัน



  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

๑.๒๕ หลักการบรรลุนิพพาน

หลักการบรรลุนิพพาน หลักวิธี ๔ อย่าง

๑. สมถยาน : วิปัสสนามีสมถะนำหน้า

คือเจริญสมถะขึ้นก่อน (จะเป็นอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิก็ได้) จากนั้นจึงพิจารณาขันธ์ ๕ ในสมาธินั้น โดยความเป็นไตรลักษณ์ เพื่อละความยึดติดถือมั่น จนอริยมรรคเกิดขึ้น
“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุปฐมฌาน (หรือ ทุติยฌาน ฯลฯ), เธอพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในปฐมฌานนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังลูกศร เป็นอาพาธ เป็นของสูญ เป็นอนัตตา, เธอยังจิตให้ยั้งหยุด จางคลายหายติดจากธรรมเหล่านั้น ครั้นแล้วเธอย่อมน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า นั่นสงบ นั่นประณีต กล่าวคือ นิพพาน เธอดำรงอยู่ในปฐมฌานนั้น (หรือ ทุติยฌาน ฯลฯ) ย่อมบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย” (ฌานสูตร)

๒. วิปัสสนายาน : สมถะมีวิปัสสนานำหน้า

ผู้เริ่มปฏิบัติด้วยเจริญวิปัสสนาทีเดียว โดยไม่เคยฝึกหัดเจริญสมาธิใดๆมาก่อน คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์อธิบายว่า เบื้องแรกใช้ปัญญาพิจารณาเห็นสิ่งต่างๆ (ขันธ์ ๕) ตามสภาวะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (ไตรลักษณ์) ครั้นเห็นตามความเป็นจริงแล้วจิตเกิดความปล่อยวางธรรมทั้งหลายอันปรากฏในวิปัสสนานั้น ขณะนั้นสมาธิเกิดขึ้น โดยจิตมีภาวะปล่อยวางนั้นเองเป็นอารมณ์ กล่าวคือ เมื่อผู้ปฏิบัติใช้ปัญญาพิจารณาความจริงเกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายอย่างถูกทางแล้ว จิตก็จะสงบ เกิดมีสมาธิตามมาเอง จนในที่สุดเมื่อถึงขณะที่บรรลุมรรคผล สมาธินั้นก็จะแน่วแน่สนิทเป็นอัปปนาสมาธิ อย่างน้อยถึงระดับปฐมฌาน (อัปปนาสมาธิเช่นนี้ เกิดขึ้นแค่ช่วงมรรคจิต ผลจิตเท่านั้น) เมื่อปฏิบัติโดยวิธีนี้ อริยมรรคก็เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน

พึงเข้าใจว่าขณิกสมาธิ ซึ่งเป็นขั้นที่คนทั่วๆไปก็ได้กันมาบ้างแล้วในชีวิตประจำวัน จัดเป็นสมาธิอย่างน้อยที่สุดเท่าที่สามารถจะทำให้วิปัสสนาเริ่มต้นดำเนินไปได้ แต่ปราศจากขณิกสมาธิเสียแล้ว วิปัสสนาย่อมมีไม่ได้

๓. สมถะและวิปัสสนาเข้าคู่กัน

เข้าสมาบัติถึงไหนก็พิจารณาสังขารถึงนั่น กล่าวคือ เข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้วพิจารณาสังขาร เข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้วพิจารณาสังขาร เรื่อยไปตามสำดับ ดังเช่นพระสารีบุตร ซึ่งได้เจริญสมถะและวิปัสสนาเข้าคู่กันมา ตั้งแต่ปฐมฌานจนตลอดบรรลุมรรคผล

๔. วิธีปฏิบัติเมื่อจิตเขวเพราะธรรมุธัจจ์ (วิปัสสนูปกิเลส ๑๐)

เมื่อผู้ปฏิบัติกำลังพิจารณาขันธ์ ๕ อยู่โดยความเป็นไตรลักษณ์ เกิดมี โอภาส (แสงสว่าง) ญาณ ปีติ ปัสสัทธิ (ความสงบเย็น) สุข อธิโมกข์ (ศรัทธาแก่กล้า) ปัคคาหะ (ความเพียรที่พอดี) อุปัฏฐาน (สติชัด) อุเบกขา (จิตเป็นกลาง) นิกันติ (ความติดใจ) ขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งภาวะทั้ง ๑๐ นี้เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง และไม่เคยเกิดมี ไม่เคยประสบมาก่อน จึงชวนให้ผู้ปฏิบัตินึกเข้าใจสิ่งนั้นว่าเป็นมรรค ผล นิพพาน จนเกิดความฟุ้งซ่านไขว้เขว ก็จะไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งสภาพที่ปรากฏอยู่โดยภาวะเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เรียกว่ามีจิตถูกชักให้เขวไปด้วยธรรมุธัจจ์ แต่ครั้นมีเวลาเหมาะที่จิตตั้งแน่วสงบสนิทลงได้ในภายใน เด่นชัด เป็นสมาธิ มรรคก็เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัตินั้นได้

วิธีปฏิบัติที่จะให้จิตสงบเป็นสมาธิได้ ก็คือกำหนดด้วยปัญญา รู้เท่าทันฐานะทั้ง ๑๐ มีโอภาสเป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุให้จิตกวัดแกว่งหวั่นไหวเหล่านี้ ว่าเป็นของไม่เที่ยง เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งจะต้องเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา จนมองเห็นว่าไม่ใช่อัตตาตัวตน (ใช้พิจารณาความเป็นไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน) เมื่อรู้เท่าทันแล้วไม่ตื่นเต้นหวั่นไหว ไม่ลุ่มหลงคล้อยไป ก็จะเป็นผู้ฉลาดในธรรมุธัจจ์ จิตภาวนาก็จะไม่คลาด ไม่เสื่อมเสีย เป็นอันสางอุปกิเลสเสียได้ ดำเนินก้าวหน้าไปในมรรคาที่ถูกต้องต่อไป จนบรรลุมรรคผล

หลักวิธีทั้ง ๔ ที่กล่าวมานี้ ถ้าถือตามแนวอรรถกถาแล้ว มีวิธีที่เป็นหลักใหญ่เพียง ๒ อย่าง คือ สมถยานและวิปัสสนายาน ส่วนสองวิธีหลังเป็นส่วนเสริมขยาย จะเห็นว่า ไม่ว่าจะเจริญวิปัสสนาโดยมีสมถะนำหน้า (สมถยาน) หรือเจริญสมถะโดยมีวิปัสสนานำหน้าก็ตาม (วิปัสสนายาน) เมื่อถึงขณะที่อริยมรรคเกิดขึ้น ทั้งสมถะและวิปัสสนา จะต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปด้วยกันเสมอไป เพราะโดยหลักการแล้ว สมถะและวิปัสสนาก็คือองค์ของมรรคนั่นเอง วิปัสสนาได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ, สมถะ ได้แก่ องค์มรรคที่เหลืออีก ๖ ข้อ



  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

๑.๒๔ สำนวนแสดงความแตกต่างระหว่างพระอริยบุคคลแต่ละระดับ

ผู้ปฏิบัติเพื่อโสดาปัตติผล กับ พระโสดาบัน

“ภิกษุทั้งหลาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์, วิญญาณ ๖, สัมผัส ๖, เวทนา ๖, สัญญา ๖, สัญเจตนา ๖, ตัณหา ๖, ธาตุ ๖, ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นของปรวนแปร กลายเป็นอย่างอื่นได้, ผู้ใดเชื่อ น้อมใจดิ่ง ต่อธรรมเหล่านี้ตามที่มันเป็นจริง ผู้นี้เรียกว่าเป็นสัทธานุสารี (อริยบุคคลขั้น โสดาปัตติมรรค) เป็นผู้ก้าวลงแล้วสู่ภูมิแห่งสัตบุรุษ ล่วงเลยภูมิแห่งปุถุชนไปแล้ว เป็นผู้ไม่อาจกระทำกรรมชนิดที่กระทำแล้วจะพึงเข้าถึงนรก ดิรัจฉาน หรือเปรตวิสัย ไม่อาจจบชีวิตจนกว่าจะประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผล”

“สำหรับผู้ใด ธรรมเหล่านี้ ทนการเพ่งพิสูจน์ด้วยปัญญาอย่างนี้บ้างพอประมาณ, ผู้นี้เรียกว่าเป็นธัมมานุสารี (อริยบุคคลขั้น โสดาปัตติมรรค) ไม่อาจจบชีวิตจนกว่าจะประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผล”

“ส่วนผู้ใด รู้ชัดธรรมเหล่านี้, ผู้นี้เรียกว่า เป็นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้แน่นอนที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า” (โอกกันตสังยุก)

พระโสดาบัน กับ พระอรหันต์

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดอริยสาวก รู้ชัดซึ่งสมุทัย (เหตุให้เกิด) ความอัสดง (ความดับ) อัสสาทะ (คุณ) อาทีนพ (โทษ) และนิสสรณะ (ทางหลุดพ้น) แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามที่มันเป็นจริง, อริยสาวกนี้เรียกว่าโสดาบัน เป็นผู้มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา แน่นอนที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า"

“เมื่อใด ภิกษุ รู้ซึ่งสมุทัย ความอัสดง อัสสาทะ อาทีนพ และนิสสรณะ แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามที่มันเป็นจริงแล้ว เป็นผู้เข้าถึงและผู้หลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น ภิกษุนี้เรียกว่า อรหันตขีณาสพ เป็นผู้อยู่จบ เสร็จกิจ ปลงภาระลงได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตน หมดเครื่องผูกรัดไว้กับภพ เป็นผู้หลุดพ้น เพราะรู้ถูกถ้วน” (โสตาปันนสูตร; อรหันตสูตร)

สัจจกนิครนถ์ “ด้วยเหตุผลเพียงไรหนอ สาวกของท่านพระโคดมผู้เจริญ จึงจะชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสอน ปฏิบัติตรงต่อโอวาท ข้ามวิจิกิจฉา ปราศจากความเคลือบแคลงใจ ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอื่นในคำสอนของพระศาสดา” (คุณสมบัติของพระโสดาบัน)
พระพุทธเจ้า “สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ ย่อมมองเห็นรูปทั้งปวง ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต ไม่ว่าภายในหรือภายนอก ไม่ว่าไกลหรือใกล้ ด้วยสัมมาปัญญา ตามที่มันเป็นจริงว่า มิใช่ นั่นของเรา, มิใช่ เราเป็นนั่น, มิใช่ นั่นเป็นตัวตนของเรา, มองเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามที่มันเป็นจริง (อย่างเดียวกับรูป) ด้วยเหตุผลเท่านี้แล สาวกของเรา ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสอน ไม่ต้องอาศัยคนอื่น (คือไม่ต้องเชื่อคนอื่น) อยู่ในศาสนาของพระศาสดา”

สัจจกนิครนถ์ “ด้วยเหตุผลเพียงไรหนอ ภิกษุจึงจะชื่อว่า เป็นอรหันตขีณาสพ เป็นผู้หลุดพ้น เพราะรู้ถูกถ้วน”
พระพุทธเจ้า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มองเห็นรูปทั้งปวง ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด ด้วยสัมมาปัญญา ตามที่มันเป็นจริงว่า มิใช่ นั่นของเรา, มิใช่ เราเป็นนั่น, มิใช่ นั่นเป็นตัวตนของเรา, มองเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามที่มันเป็นจริง (อย่างเดียวกับรูป) ดังนี้แล้ว เป็นผู้หลุดพ้นด้วยไม่ถือมั่น ด้วยเหตุผลเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นอรหันตขีณาสพ หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้ถูกถ้วน” (จูฬสัจจกสูตร)

พระอนาคามี กับ พระอรหันต์

สังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๕ เป็นสิ่งที่พระอนาคามีละได้แล้วก็จริง แต่กระนั้น มานะว่า เรามี, อนุสัยว่า เรามี ที่ตามคลออยู่ (คืออย่างละเอียด) ในอุปาทานขันธ์ ๕ พระอนาคามีนั้นก็ยังละไม่ได้ ดังคำสนทนาของพระเขมกะ กับ พระเถระ

“ผมมิได้กล่าวว่ารูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เป็น เรามี, มิได้กล่าวว่าเรามีอยู่ นอกเหนือจากรูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) แต่กระนั้น ผมยังมีความรู้สึกถือติดอยู่ในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามีอยู่ ทั้งที่ผมก็มิได้เห็นคล้อยไปว่า เราเป็นอันนี้”
“เปรียบเหมือนกลิ่นปทุม ผู้ใดกล่าวว่ากลิ่นของกลีบ หรือว่ากลิ่นของสี หรือว่ากลิ่นของเกสร จะชื่อว่าพูดถูกต้องหรือ?”
“ไม่ถูกเลยท่าน”
“จะตอบให้ถูกว่าอย่างไรล่ะท่าน?”
“จะตอบให้ถูกก็ต้องว่ากลิ่นของดอกสิท่าน”
“ฉันนั้นเหมือนกันแล ผมก็ยังมีความรู้สึกถือติดอยู่ในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามีอยู่ ทั้งที่ผมก็มิได้เห็นคล้อยไปว่า เราเป็นอันนี้” (เขมกะสูตร)

พระอนาคามีแม้จะละสักกายทิฏฐิได้แล้ว แต่ก็ยังไม่หมดอัสมิมานะ และตัณหาที่ประณีตก็ยังหลงเหลืออยู่บ้าง พูดอย่างภาษาง่ายๆว่า แม้จะเลิกวาดภาพตัวเราแล้ว (ละสักกายทิฏฐิได้แล้ว) แต่ความรู้สึกที่ฝังลึกว่า นี่เรา นี่ของเรา (อันเป็นมานะอย่างละเอียด) ก็ยังล้างไม่หมด

สมัยต่อมา อริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นอยู่เนืองๆ ซึ่งความเกิดขึ้นและความเสื่อมสิ้นไปในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ว่า รูปดังนี้ สมุทัยแห่งรูปดังนี้ อัสดงแห่งรูปดังนี้  (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ทำนองเดียวกัน) เมื่ออริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมสิ้นไปในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เหล่านี้อยู่เสมอๆ มานะว่า เรามี, อนุสัยว่า เรามี  ที่ตามคลออยู่ในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ซึ่งท่านยังถอนไม่ได้นั้น ก็จะถึงซึ่งความขาดถอนไปสิ้น



  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

๑.๒๓ โสดาปัตติยังคะ ๔

โสดาปัตติยังคะ ๔ แสดงถึง องค์คุณของพระโสดาบัน, ใช้สำหรับสำรวจคุณสมบัติของบุคคลโสดาบัน บางแห่งเรียกว่า แว่นส่องธรรม ประกอบด้วย

๑. มีศรัทธาหยั่งลงมั่นด้วยปัญญาในพระพุทธเจ้า
๒. มีศรัทธาหยั่งลงมั่นด้วยปัญญาในพระธรรม
๓. มีศรัทธาหยั่งลงมั่นด้วยปัญญาในพระสงฆ์
๔. มีศีลสมบูรณ์

      ทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นคุณสมบัติประจำตัว ซึ่งการจะมีคุณสมบัติดังนี้ได้ ก็จะต้องมีคุณสมบัติอื่นที่เป็นเหตุเป็นผลกัน เช่น การที่ศรัทธาหยั่งรากลงมั่นย่อมเป็นผลจากปัญญาที่รู้เห็นประจักษ์แจ้งกับตัวเองแล้วบางส่วน จึงสิ้นสงสัยในธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และกิเลสที่เบาบางลงก็เป็นเหตุให้ความมีศีลสมบูรณ์นั้นเกิดขึ้นมาเองเป็นธรรมดา

ปัญญาวุฒิธรรม ๔

      ธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามแห่งปัญญาตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไปถึงพระอรหันต์ บางครั้งก็เรียก โสดาปัตติยังคะ ๔ แต่ไม่ใช่เป็นคุณสมบัติของพระโสดาบัน เป็นข้อปฏิบัติที่จะทำให้เป็นพระโสดาบันและเจริญในธรรมยิ่งขึ้นไป

๑. สัปปุริสังเสวะ (คบหาสัตบุรุษ, เสวนาท่านผู้รู้ผู้ทรงคุณ)
๒. สัทธัมมัสสวนะ (ฟังสัทธรรม, เอาใจใส่เล่าเรียน หาความรู้จริง)
๓. โยนิโสมนสิการ (ทำในใจโดยแยบคาย, คิดหาเหตุผลโดยถูกวิธี, การรู้จักคิดพิจารณาด้วยใจที่ปลอดโปร่งเป็นอิสระ ไม่เอนเอียง ไม่มีอคติ ไม่ยึดติดทั้งในทางชอบใจ ไม่ชอบใจ จึงทำให้สามารถมองเห็นและเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง)
๔. ธัมมานุธัมมปฏิบัติ (ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม, ปฏิบัติธรรมหลักน้อยคล้อยตามหลักใหญ่, ปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตามหลักคือให้สอดคล้องพอดีตามขอบเขตความหมายและวัตถุประสงค์ที่สัมพันธ์กับธรรมข้ออื่นๆ, นำสิ่งที่ได้เล่าเรียนและตริตรองเห็นแล้วไปใช้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลัก ตามความมุ่งหมายของสิ่งนั้นๆ)




  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

อ. เสถียร โพธินันทะ #๓


๖๑. สารพันปัญหา ๘
๖๒. สารพันปัญหา ๙
๖๓. สารพันปัญหา ๑๐
๖๔. สารพันปัญหา ๑๑
๖๕. ปปปป
๖๖. ปปปปป
๖๗. ปปปป
๖๘. ปปป
๖๙. ปปปป
๗๐. ปปปป
๖๑. ปปปปป
๖๒. ปปปป
๖๓. ปปป
๖๔. ปปปป
๖๕. ปปปป
๖๑. ปปปปป
๖๒. ปปปป
๖๓. ปปป
๖๔. ปปปป
๖๕. ปปปป
๖๑. ปปปปป
๖๒. ปปปป
๖๓. ปปป
๖๔. ปปปป
๖๕. ปปปป
๖๑. ปปปปป
๖๒. ปปปป
๖๓. ปปป
๖๔. ปปปป
๖๕. ปปปป


 <<<  หน้า ๑     หน้า ๒    หน้า ๓   >>> 


  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

๑.๒๒ พระอริยบุคคล ๗ (ทักขิไฌยบุคคล ๗)

พระอริยบุคคล ๗ (ทักขิไฌยบุคคล ๗)
เป็นการแสดงระดับขั้นของท่านผู้บรรลุธรรม โดยแยกตามอินทรีย์เด่น
บุคคลที่ ๑, ๒ ได้แก่พระอรหันต์
๑. อุภโตภาควิมุต : ผู้ได้สัมผัสด้วยกาย ซึ่งวิโมกข์อันละเอียด (คืออรูปฌานขึ้นไป บางท่านได้โลกียอภิญญา) และพัฒนาต่อด้วยปัญญาจนหลุดพ้น ในสมัยพุทธกาล พระอรหันต์อุภโตภาควิมุต มีจำนวนน้อยกว่าปัญญาวิมุต
๒. ปัญญาวิมุต : ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา ได้อาสวขยญาณอย่างเดียว ไม่ได้โลกิยอภิญญา, สมาธิไม่เกินกว่าขั้นรูปฌาน ๔, บางครั้งท่านแยกออกอีกเป็น ๒ พวกคือ ได้ฌานเฉพาะในขณะที่บรรลุอรหัตตผล เรียก สุกขวิปัสสก ได้รูปฌาน เรียก ปัญญาวิมุต

บุคคลที่ ๓, ๔, ๕ ได้แก่ ผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค
        - พระอนาคามี + ผู้ตั้งอยู่ในอนาคามีมรรค
        พระสกทาคามี + ผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามีมรรค
        พระโสดาบัน
๓. กายสักขี : ผู้เป็นพยานด้วยนามกาย และอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีสมาธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ (ได้สมาธิถึงขั้นอรูปฌาน)
๔. ทิฏฐิปปัตตะ : ผู้บรรลุสัมมาทิฏฐิ คือ ท่านที่เข้าใจอริยสัจจธรรมถูกต้องแล้วและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ
๕. สัทธาวิมุต : ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา คือ ท่านที่เข้าใจอริยสัจจธรรมถูกต้องแล้วและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ

บุคคลที่ ๖, ๗ ได้แก่ ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค
๖. ธัมมานุสารี : ผู้แล่นไปตามธรรม หรือผู้แล่นตามไปด้วยธรรม คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล ที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้า อบรมอริยมรรคโดยมีปัญญาเป็นตัวนำ ท่านผู้นี้ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นทิฏฐิปัตตะ
๗. สัทธานุสารี : ผู้แล่นไปตามศรัทธา หรือผู้แล่นตามไปด้วยศรัทธา คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผลที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้า อบรมอริยมรรคโดยมีศรัทธาเป็นตัวนำ ท่านผู้นี้ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นสัทธาวิมุต

พึงเข้าใจว่า ไม่ว่าผู้ใดจะมีอินทรีย์ใดแรงกล้า แต่ในเวลาตรัสรู้ ปัญญา ย่อมทำหน้าที่เป็นใหญ่ ไม่พึงสับสนกับ เจโตวิมุตติ : ความหลุดพ้นด้านจิต เป็นผลของสมถะ มีสมาธิในขั้นฌานขึ้นไปเป็นตัวนำ ปุถุชน ก็อาจมีเจโตวิมุตติได้ด้วยกำลังของสมาธิระดับฌานขึ้นไป แต่จะเสื่อมได้,

ปัญญาวิมุตติ : ความหลุดพ้นด้วยปัญญา เป็นผลของวิปัสสนา ซึ่งเป็นการกล่าวถึงภาวะและอาการ ผู้บรรลุอรหัตตผล จะต้องได้เจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตตินี้ ครบทั้งสองอย่างทุกบุคคล อย่างไรก็ตามถ้าจัดอย่างไม่เคร่งครัด หรือเน้นอินทรีย์ที่เด่นก็พอใช้เรียกได้ เช่น จัดให้พระสารีบุตรเป็นปัญญาวิมุต (แต่ท่านก็สำเร็จสมาบัติ ๘ และนิโรธสมาบัติ) จัดให้พระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ประเภทเจโตวิมุตติ จัดให้พระวักกลิเป็นพระอรหันต์ประเภทสัทธาวิมุตติ เป็นต้น

ผู้ปฏิบัติแม้ใช้วิธีเจริญวิปัสสนาล้วนๆ สมาธิก็พลอยได้รับการฝึกอบรมไปด้วย จนในที่สุดเมื่อถึงขณะบรรลุมรรคผล สมาธินั้นก็แน่วสนิทเป็นอัปปนาสมาธิ อย่างน้อยถึงระดับปฐมฌาน เป็นอันสอดคล้องกับหลักว่า ผู้บรรลุอริยภูมิ จะต้องมีทั้งสมถะและวิปัสสนาครบทั้งสองทั่วกันทุกบุคคล (ในผู้ที่ไม่ได้ฌานมาก่อน อัปปนาสมาธิเกิดแค่เฉพาะช่วงมรรคจิต ผลจิต เท่านั้น)

“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างนี้ คือ ธรรมที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดวิชชา ได้แก่ สมถะ และวิปัสสนา สมถะ เจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? จิตจะได้รับการเจริญ เมื่อจิตเจริญแล้ว จะละราคะได้ วิปัสสนา เจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? ปัญญาจะได้รับการเจริญ เมื่อปัญญาเจริญแล้ว จะละอวิชชาได้” (พาลวรรค)



  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

๑.๒๑ สังโยชน์ ๑๐

สังโยชน์ หมายถึง กิเลสอันผู้ใจสัตว์, อกุศลธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับวัฏฏะ หรือ ผูกกรรมไว้กับผล

โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ : สังโยชน์เบื้องต่ำ

๑. สักกายทิฏฐิ : ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน, ความเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวของตน เห็นว่ามีตนอยู่ในขันธ์ ๕ เช่น เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นสัญญา เห็นสังขาร เห็นวิญญาณเป็นตัวของตน มีตนอยู่ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ, ความเห็นที่ยังติดแน่นในสมมติว่าเป็นตัวตน เราเขา เป็นนั่นเป็นนี่ มองไม่เห็นสภาพความเป็นจริง ที่สัตว์บุคคลเป็นเพียงองค์ประกอบต่างๆมาประชุมกันเข้า ทำให้มีความเห็นแก่ตัวในขั้นหยาบ และความรู้สึกกระทบกระทั่งบีบคั้นเป็นทุกข์ได้รุนแรง

สักกายทิฏฐิ มีความหมายเหมือนกับ อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่ามีตัวตน) การละสักกายทิฏฐิ เป็นขั้นละมิจฉาทิฏฐิ ไปสู่สัมมาทิฏฐิ คือ ในขั้นนี้แม้จะเลิกเห็นว่าเป็นตัวตนแล้ว แต่ความยึดถือที่ฝังลึก (มานะ) ยังละออกไปได้ไม่หมด ทั้งนี้ครูอาจารย์บางท่านเตือนให้ระวังเข้าใจผิด เพราะความหมายใกล้กับคำว่า นิรัตตา คือ ความดับสูญ รวมถึง นัตถิกทิฏฐิ คือ ความเห็นผลบุญผลบาปว่าไม่มี ซึ่งเหล่านี้เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างยิ่ง

๒. วิจิกิจฉา : ความลังเล สงสัย เคลือบแคลงต่างๆ เช่น สงสัยในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในอริยสัจ ๔ ในสิกขา ในเรื่องที่มาที่ไปของชีวิต ในปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น ทำให้ไม่มั่นใจ ไม่เข้มแข็งแกล้วกล้าที่จะดำเนินชีวิตตามหลักธรรม ด้วยความมีเหตุผล และในการที่จะเดินหน้าแน่วดิ่งไปในอริยมรรคา

๓. สีลัพพตปรามาส : ความถือมั่นศีลและพรต จนเลยเถิด, ถือโดยสักว่าทำตามๆกันไปอย่างงมงาย ไม่เป็นไปตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของศีลและพรต เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและพรต หรือพิธีกรรมต่างๆ ในเรื่องของศีลพรต มีหลักการโดยสรุปว่า เมื่อบุคคลถือปฏิบัติศีลพรตใดแล้ว อกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ศีลพรตอย่างนั้นผิดพลาด ไร้ผล บุคคลถือปฏิบัติศีลพรตใดแล้ว กุศลธรรมเจริญ อกุศลธรรมเสื่อมถอย ศีลพรตอย่างนั้นถูกต้องมีผลดี

ตามหลักแล้ว ตราบใดยังเป็นปุถุชน สีลัพตปรามาสย่อมมีอยู่ไม่มากก็น้อย ต่อเมื่อใดเป็นพระโสดาบัน จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญบริบูรณ์ในศีล (ปรามาส แปลได้หลายความหมาย ๑. ลูบคลำ หยิบฉวย จับต้อง ๒. ยึดมั่นถือมั่นเลยเถิดจากวัตถุประสงค์ ๓. ดูถูก)

๔. กามราคะ (กามฉันทะ, อภิชฌา) : ความติดใคร่ในกามคุณทั้ง ๕, ความอยากได้ใฝ่หาในเรื่องรูป รส กลิ่น เสียง และโผฏฐัพพะ ที่ชอบใจ

๕. ปฏิฆะ (พยาบาท) : ความกระทบกระทั่งในใจ, ความหงุดหงิดขัดเคือง (ท่านว่าที่ใช้คำว่าปฏิฆะแทน โทสะ หรือ พยาบาท เพราะปฏิฆะใช้ในความหมายที่เบากว่า คือหมายถึง โทสะที่เป็นเพียงการขุ่นเคืองในจิตใจ ซึ่งไม่ถึงกับจะไปตีรันฟันแทงใครจริงๆ ส่วนโทสะ (และโลภะ) ในขั้นหยาบพระโสดาบันก็ละได้แล้ว)

อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ : สังโยชน์เบื้องสูง

๖. รูปราคะ : ความติดใจในรูปธรรม ติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน ติดใจปรารถนาในรูปภพ

๗. อรูปราคะ : ความติดใจในอรูปธรรม ติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน ติดใจปรารถนาในอรูปภพ

๘. มานะ : ความสำคัญตน ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่

๙. อุทธัจจะ : ความฟุ้งซ่าน จิตใจไม่สงบ ว้าวุ่น ซัดส่าย คิดพล่านไป

๑๐. อวิชชา : ความไม่รู้จริง, ไม่รู้เท่าทันสภาวะ ไม่เข้าใจกฎธรรมดาแห่งเหตุและผล ไม่รู้อริยสัจ (ในบรรดากิเลสทั้งหลายทั้งปวงที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองนั้น ตัวรากเหง้าที่สุดก็คือ โมหะ หรือ อวิชชา นี่เอง)



  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS