วันพฤหัสบดี

๑.๒๑ สังโยชน์ ๑๐

สังโยชน์ หมายถึง กิเลสอันผู้ใจสัตว์, อกุศลธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับวัฏฏะ หรือ ผูกกรรมไว้กับผล

โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ : สังโยชน์เบื้องต่ำ

๑. สักกายทิฏฐิ : ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน, ความเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวของตน เห็นว่ามีตนอยู่ในขันธ์ ๕ เช่น เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นสัญญา เห็นสังขาร เห็นวิญญาณเป็นตัวของตน มีตนอยู่ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ, ความเห็นที่ยังติดแน่นในสมมติว่าเป็นตัวตน เราเขา เป็นนั่นเป็นนี่ มองไม่เห็นสภาพความเป็นจริง ที่สัตว์บุคคลเป็นเพียงองค์ประกอบต่างๆมาประชุมกันเข้า ทำให้มีความเห็นแก่ตัวในขั้นหยาบ และความรู้สึกกระทบกระทั่งบีบคั้นเป็นทุกข์ได้รุนแรง

สักกายทิฏฐิ มีความหมายเหมือนกับ อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่ามีตัวตน) การละสักกายทิฏฐิ เป็นขั้นละมิจฉาทิฏฐิ ไปสู่สัมมาทิฏฐิ คือ ในขั้นนี้แม้จะเลิกเห็นว่าเป็นตัวตนแล้ว แต่ความยึดถือที่ฝังลึก (มานะ) ยังละออกไปได้ไม่หมด ทั้งนี้ครูอาจารย์บางท่านเตือนให้ระวังเข้าใจผิด เพราะความหมายใกล้กับคำว่า นิรัตตา คือ ความดับสูญ รวมถึง นัตถิกทิฏฐิ คือ ความเห็นผลบุญผลบาปว่าไม่มี ซึ่งเหล่านี้เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างยิ่ง

๒. วิจิกิจฉา : ความลังเล สงสัย เคลือบแคลงต่างๆ เช่น สงสัยในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในอริยสัจ ๔ ในสิกขา ในเรื่องที่มาที่ไปของชีวิต ในปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น ทำให้ไม่มั่นใจ ไม่เข้มแข็งแกล้วกล้าที่จะดำเนินชีวิตตามหลักธรรม ด้วยความมีเหตุผล และในการที่จะเดินหน้าแน่วดิ่งไปในอริยมรรคา

๓. สีลัพพตปรามาส : ความถือมั่นศีลและพรต จนเลยเถิด, ถือโดยสักว่าทำตามๆกันไปอย่างงมงาย ไม่เป็นไปตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของศีลและพรต เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและพรต หรือพิธีกรรมต่างๆ ในเรื่องของศีลพรต มีหลักการโดยสรุปว่า เมื่อบุคคลถือปฏิบัติศีลพรตใดแล้ว อกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ศีลพรตอย่างนั้นผิดพลาด ไร้ผล บุคคลถือปฏิบัติศีลพรตใดแล้ว กุศลธรรมเจริญ อกุศลธรรมเสื่อมถอย ศีลพรตอย่างนั้นถูกต้องมีผลดี

ตามหลักแล้ว ตราบใดยังเป็นปุถุชน สีลัพตปรามาสย่อมมีอยู่ไม่มากก็น้อย ต่อเมื่อใดเป็นพระโสดาบัน จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญบริบูรณ์ในศีล (ปรามาส แปลได้หลายความหมาย ๑. ลูบคลำ หยิบฉวย จับต้อง ๒. ยึดมั่นถือมั่นเลยเถิดจากวัตถุประสงค์ ๓. ดูถูก)

๔. กามราคะ (กามฉันทะ, อภิชฌา) : ความติดใคร่ในกามคุณทั้ง ๕, ความอยากได้ใฝ่หาในเรื่องรูป รส กลิ่น เสียง และโผฏฐัพพะ ที่ชอบใจ

๕. ปฏิฆะ (พยาบาท) : ความกระทบกระทั่งในใจ, ความหงุดหงิดขัดเคือง (ท่านว่าที่ใช้คำว่าปฏิฆะแทน โทสะ หรือ พยาบาท เพราะปฏิฆะใช้ในความหมายที่เบากว่า คือหมายถึง โทสะที่เป็นเพียงการขุ่นเคืองในจิตใจ ซึ่งไม่ถึงกับจะไปตีรันฟันแทงใครจริงๆ ส่วนโทสะ (และโลภะ) ในขั้นหยาบพระโสดาบันก็ละได้แล้ว)

อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ : สังโยชน์เบื้องสูง

๖. รูปราคะ : ความติดใจในรูปธรรม ติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน ติดใจปรารถนาในรูปภพ

๗. อรูปราคะ : ความติดใจในอรูปธรรม ติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน ติดใจปรารถนาในอรูปภพ

๘. มานะ : ความสำคัญตน ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่

๙. อุทธัจจะ : ความฟุ้งซ่าน จิตใจไม่สงบ ว้าวุ่น ซัดส่าย คิดพล่านไป

๑๐. อวิชชา : ความไม่รู้จริง, ไม่รู้เท่าทันสภาวะ ไม่เข้าใจกฎธรรมดาแห่งเหตุและผล ไม่รู้อริยสัจ (ในบรรดากิเลสทั้งหลายทั้งปวงที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองนั้น ตัวรากเหง้าที่สุดก็คือ โมหะ หรือ อวิชชา นี่เอง)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น