๑.๒๔ สำนวนแสดงความแตกต่างระหว่างพระอริยบุคคลแต่ละระดับ

ผู้ปฏิบัติเพื่อโสดาปัตติผล กับ พระโสดาบัน

“ภิกษุทั้งหลาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์, วิญญาณ ๖, สัมผัส ๖, เวทนา ๖, สัญญา ๖, สัญเจตนา ๖, ตัณหา ๖, ธาตุ ๖, ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นของปรวนแปร กลายเป็นอย่างอื่นได้, ผู้ใดเชื่อ น้อมใจดิ่ง ต่อธรรมเหล่านี้ตามที่มันเป็นจริง ผู้นี้เรียกว่าเป็นสัทธานุสารี (อริยบุคคลขั้น โสดาปัตติมรรค) เป็นผู้ก้าวลงแล้วสู่ภูมิแห่งสัตบุรุษ ล่วงเลยภูมิแห่งปุถุชนไปแล้ว เป็นผู้ไม่อาจกระทำกรรมชนิดที่กระทำแล้วจะพึงเข้าถึงนรก ดิรัจฉาน หรือเปรตวิสัย ไม่อาจจบชีวิตจนกว่าจะประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผล”

“สำหรับผู้ใด ธรรมเหล่านี้ ทนการเพ่งพิสูจน์ด้วยปัญญาอย่างนี้บ้างพอประมาณ, ผู้นี้เรียกว่าเป็นธัมมานุสารี (อริยบุคคลขั้น โสดาปัตติมรรค) ไม่อาจจบชีวิตจนกว่าจะประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผล”

“ส่วนผู้ใด รู้ชัดธรรมเหล่านี้, ผู้นี้เรียกว่า เป็นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้แน่นอนที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า” (โอกกันตสังยุก)

พระโสดาบัน กับ พระอรหันต์

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดอริยสาวก รู้ชัดซึ่งสมุทัย (เหตุให้เกิด) ความอัสดง (ความดับ) อัสสาทะ (คุณ) อาทีนพ (โทษ) และนิสสรณะ (ทางหลุดพ้น) แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามที่มันเป็นจริง, อริยสาวกนี้เรียกว่าโสดาบัน เป็นผู้มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา แน่นอนที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า"

“เมื่อใด ภิกษุ รู้ซึ่งสมุทัย ความอัสดง อัสสาทะ อาทีนพ และนิสสรณะ แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามที่มันเป็นจริงแล้ว เป็นผู้เข้าถึงและผู้หลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น ภิกษุนี้เรียกว่า อรหันตขีณาสพ เป็นผู้อยู่จบ เสร็จกิจ ปลงภาระลงได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตน หมดเครื่องผูกรัดไว้กับภพ เป็นผู้หลุดพ้น เพราะรู้ถูกถ้วน” (โสตาปันนสูตร; อรหันตสูตร)

สัจจกนิครนถ์ “ด้วยเหตุผลเพียงไรหนอ สาวกของท่านพระโคดมผู้เจริญ จึงจะชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสอน ปฏิบัติตรงต่อโอวาท ข้ามวิจิกิจฉา ปราศจากความเคลือบแคลงใจ ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอื่นในคำสอนของพระศาสดา” (คุณสมบัติของพระโสดาบัน)
พระพุทธเจ้า “สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ ย่อมมองเห็นรูปทั้งปวง ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต ไม่ว่าภายในหรือภายนอก ไม่ว่าไกลหรือใกล้ ด้วยสัมมาปัญญา ตามที่มันเป็นจริงว่า มิใช่ นั่นของเรา, มิใช่ เราเป็นนั่น, มิใช่ นั่นเป็นตัวตนของเรา, มองเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามที่มันเป็นจริง (อย่างเดียวกับรูป) ด้วยเหตุผลเท่านี้แล สาวกของเรา ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสอน ไม่ต้องอาศัยคนอื่น (คือไม่ต้องเชื่อคนอื่น) อยู่ในศาสนาของพระศาสดา”

สัจจกนิครนถ์ “ด้วยเหตุผลเพียงไรหนอ ภิกษุจึงจะชื่อว่า เป็นอรหันตขีณาสพ เป็นผู้หลุดพ้น เพราะรู้ถูกถ้วน”
พระพุทธเจ้า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มองเห็นรูปทั้งปวง ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด ด้วยสัมมาปัญญา ตามที่มันเป็นจริงว่า มิใช่ นั่นของเรา, มิใช่ เราเป็นนั่น, มิใช่ นั่นเป็นตัวตนของเรา, มองเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามที่มันเป็นจริง (อย่างเดียวกับรูป) ดังนี้แล้ว เป็นผู้หลุดพ้นด้วยไม่ถือมั่น ด้วยเหตุผลเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นอรหันตขีณาสพ หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้ถูกถ้วน” (จูฬสัจจกสูตร)

พระอนาคามี กับ พระอรหันต์

สังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๕ เป็นสิ่งที่พระอนาคามีละได้แล้วก็จริง แต่กระนั้น มานะว่า เรามี, อนุสัยว่า เรามี ที่ตามคลออยู่ (คืออย่างละเอียด) ในอุปาทานขันธ์ ๕ พระอนาคามีนั้นก็ยังละไม่ได้ ดังคำสนทนาของพระเขมกะ กับ พระเถระ

“ผมมิได้กล่าวว่ารูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เป็น เรามี, มิได้กล่าวว่าเรามีอยู่ นอกเหนือจากรูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) แต่กระนั้น ผมยังมีความรู้สึกถือติดอยู่ในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามีอยู่ ทั้งที่ผมก็มิได้เห็นคล้อยไปว่า เราเป็นอันนี้”
“เปรียบเหมือนกลิ่นปทุม ผู้ใดกล่าวว่ากลิ่นของกลีบ หรือว่ากลิ่นของสี หรือว่ากลิ่นของเกสร จะชื่อว่าพูดถูกต้องหรือ?”
“ไม่ถูกเลยท่าน”
“จะตอบให้ถูกว่าอย่างไรล่ะท่าน?”
“จะตอบให้ถูกก็ต้องว่ากลิ่นของดอกสิท่าน”
“ฉันนั้นเหมือนกันแล ผมก็ยังมีความรู้สึกถือติดอยู่ในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามีอยู่ ทั้งที่ผมก็มิได้เห็นคล้อยไปว่า เราเป็นอันนี้” (เขมกะสูตร)

พระอนาคามีแม้จะละสักกายทิฏฐิได้แล้ว แต่ก็ยังไม่หมดอัสมิมานะ และตัณหาที่ประณีตก็ยังหลงเหลืออยู่บ้าง พูดอย่างภาษาง่ายๆว่า แม้จะเลิกวาดภาพตัวเราแล้ว (ละสักกายทิฏฐิได้แล้ว) แต่ความรู้สึกที่ฝังลึกว่า นี่เรา นี่ของเรา (อันเป็นมานะอย่างละเอียด) ก็ยังล้างไม่หมด

สมัยต่อมา อริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นอยู่เนืองๆ ซึ่งความเกิดขึ้นและความเสื่อมสิ้นไปในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ว่า รูปดังนี้ สมุทัยแห่งรูปดังนี้ อัสดงแห่งรูปดังนี้  (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ทำนองเดียวกัน) เมื่ออริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมสิ้นไปในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เหล่านี้อยู่เสมอๆ มานะว่า เรามี, อนุสัยว่า เรามี  ที่ตามคลออยู่ในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ซึ่งท่านยังถอนไม่ได้นั้น ก็จะถึงซึ่งความขาดถอนไปสิ้น