วันศุกร์

๑.๒๕ หลักการบรรลุนิพพาน

หลักการบรรลุนิพพาน หลักวิธี ๔ อย่าง

๑. สมถยาน : วิปัสสนามีสมถะนำหน้า

คือเจริญสมถะขึ้นก่อน (จะเป็นอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิก็ได้) จากนั้นจึงพิจารณาขันธ์ ๕ ในสมาธินั้น โดยความเป็นไตรลักษณ์ เพื่อละความยึดติดถือมั่น จนอริยมรรคเกิดขึ้น
“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุปฐมฌาน (หรือ ทุติยฌาน ฯลฯ), เธอพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในปฐมฌานนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังลูกศร เป็นอาพาธ เป็นของสูญ เป็นอนัตตา, เธอยังจิตให้ยั้งหยุด จางคลายหายติดจากธรรมเหล่านั้น ครั้นแล้วเธอย่อมน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า นั่นสงบ นั่นประณีต กล่าวคือ นิพพาน เธอดำรงอยู่ในปฐมฌานนั้น (หรือ ทุติยฌาน ฯลฯ) ย่อมบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย” (ฌานสูตร)

๒. วิปัสสนายาน : สมถะมีวิปัสสนานำหน้า

ผู้เริ่มปฏิบัติด้วยเจริญวิปัสสนาทีเดียว โดยไม่เคยฝึกหัดเจริญสมาธิใดๆมาก่อน คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์อธิบายว่า เบื้องแรกใช้ปัญญาพิจารณาเห็นสิ่งต่างๆ (ขันธ์ ๕) ตามสภาวะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (ไตรลักษณ์) ครั้นเห็นตามความเป็นจริงแล้วจิตเกิดความปล่อยวางธรรมทั้งหลายอันปรากฏในวิปัสสนานั้น ขณะนั้นสมาธิเกิดขึ้น โดยจิตมีภาวะปล่อยวางนั้นเองเป็นอารมณ์ กล่าวคือ เมื่อผู้ปฏิบัติใช้ปัญญาพิจารณาความจริงเกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายอย่างถูกทางแล้ว จิตก็จะสงบ เกิดมีสมาธิตามมาเอง จนในที่สุดเมื่อถึงขณะที่บรรลุมรรคผล สมาธินั้นก็จะแน่วแน่สนิทเป็นอัปปนาสมาธิ อย่างน้อยถึงระดับปฐมฌาน (อัปปนาสมาธิเช่นนี้ เกิดขึ้นแค่ช่วงมรรคจิต ผลจิตเท่านั้น) เมื่อปฏิบัติโดยวิธีนี้ อริยมรรคก็เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน

พึงเข้าใจว่าขณิกสมาธิ ซึ่งเป็นขั้นที่คนทั่วๆไปก็ได้กันมาบ้างแล้วในชีวิตประจำวัน จัดเป็นสมาธิอย่างน้อยที่สุดเท่าที่สามารถจะทำให้วิปัสสนาเริ่มต้นดำเนินไปได้ แต่ปราศจากขณิกสมาธิเสียแล้ว วิปัสสนาย่อมมีไม่ได้

๓. สมถะและวิปัสสนาเข้าคู่กัน

เข้าสมาบัติถึงไหนก็พิจารณาสังขารถึงนั่น กล่าวคือ เข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้วพิจารณาสังขาร เข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้วพิจารณาสังขาร เรื่อยไปตามสำดับ ดังเช่นพระสารีบุตร ซึ่งได้เจริญสมถะและวิปัสสนาเข้าคู่กันมา ตั้งแต่ปฐมฌานจนตลอดบรรลุมรรคผล

๔. วิธีปฏิบัติเมื่อจิตเขวเพราะธรรมุธัจจ์ (วิปัสสนูปกิเลส ๑๐)

เมื่อผู้ปฏิบัติกำลังพิจารณาขันธ์ ๕ อยู่โดยความเป็นไตรลักษณ์ เกิดมี โอภาส (แสงสว่าง) ญาณ ปีติ ปัสสัทธิ (ความสงบเย็น) สุข อธิโมกข์ (ศรัทธาแก่กล้า) ปัคคาหะ (ความเพียรที่พอดี) อุปัฏฐาน (สติชัด) อุเบกขา (จิตเป็นกลาง) นิกันติ (ความติดใจ) ขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งภาวะทั้ง ๑๐ นี้เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง และไม่เคยเกิดมี ไม่เคยประสบมาก่อน จึงชวนให้ผู้ปฏิบัตินึกเข้าใจสิ่งนั้นว่าเป็นมรรค ผล นิพพาน จนเกิดความฟุ้งซ่านไขว้เขว ก็จะไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งสภาพที่ปรากฏอยู่โดยภาวะเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เรียกว่ามีจิตถูกชักให้เขวไปด้วยธรรมุธัจจ์ แต่ครั้นมีเวลาเหมาะที่จิตตั้งแน่วสงบสนิทลงได้ในภายใน เด่นชัด เป็นสมาธิ มรรคก็เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัตินั้นได้

วิธีปฏิบัติที่จะให้จิตสงบเป็นสมาธิได้ ก็คือกำหนดด้วยปัญญา รู้เท่าทันฐานะทั้ง ๑๐ มีโอภาสเป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุให้จิตกวัดแกว่งหวั่นไหวเหล่านี้ ว่าเป็นของไม่เที่ยง เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งจะต้องเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา จนมองเห็นว่าไม่ใช่อัตตาตัวตน (ใช้พิจารณาความเป็นไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน) เมื่อรู้เท่าทันแล้วไม่ตื่นเต้นหวั่นไหว ไม่ลุ่มหลงคล้อยไป ก็จะเป็นผู้ฉลาดในธรรมุธัจจ์ จิตภาวนาก็จะไม่คลาด ไม่เสื่อมเสีย เป็นอันสางอุปกิเลสเสียได้ ดำเนินก้าวหน้าไปในมรรคาที่ถูกต้องต่อไป จนบรรลุมรรคผล

หลักวิธีทั้ง ๔ ที่กล่าวมานี้ ถ้าถือตามแนวอรรถกถาแล้ว มีวิธีที่เป็นหลักใหญ่เพียง ๒ อย่าง คือ สมถยานและวิปัสสนายาน ส่วนสองวิธีหลังเป็นส่วนเสริมขยาย จะเห็นว่า ไม่ว่าจะเจริญวิปัสสนาโดยมีสมถะนำหน้า (สมถยาน) หรือเจริญสมถะโดยมีวิปัสสนานำหน้าก็ตาม (วิปัสสนายาน) เมื่อถึงขณะที่อริยมรรคเกิดขึ้น ทั้งสมถะและวิปัสสนา จะต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปด้วยกันเสมอไป เพราะโดยหลักการแล้ว สมถะและวิปัสสนาก็คือองค์ของมรรคนั่นเอง วิปัสสนาได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ, สมถะ ได้แก่ องค์มรรคที่เหลืออีก ๖ ข้อ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น