วันอังคาร

๑.๑๔ ภาวะแห่งนิพพาน

โดยพยัญชนะ นิพพาน มาจาก นิ (ไม่มี ออกไป) + วาน (พัดไป เครื่องร้อยรัด ลูกศร) อรรถกถาส่วนมากนิยมแปลว่า ไม่มีตัณหาเครื่องร้อยรัด หรือ ออกไปแล้วจากตัณหาที่เป็นเครื่องร้อยติดไว้กับภพ

นิพพานเป็นธรรมธาตุอันดำรงอยู่ตามสภาวะของมัน ที่ไม่เกิดจากปัจจัย มิใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไม่เป็นของใคร ไม่มีใครกำกับบังคับควบคุม ไม่มีตัวทำการที่จะดลบันดาลอะไรแก่ใครๆ ไม่มีลักษณะอาการเหมือนสิ่งใดที่ปุถุชนเคยรู้เคยเห็น อยู่นอกเหนือประสาทสัมผัสของมนุษย์ ถ้อยคำที่จะใช้บอกตรงๆ และสัญญาที่จะใช้กำหนดไม่มี ปุถุชนจึงไม่อาจนึกเห็นหรือคิดเข้าใจโดยชัดเจนได้ (ตรรกะหยั่งไม่ถึง) เหมือนกับคนตาดีไม่สามารถอธิบายลักษณะของสีต่างๆให้คนตาบอด ซึ่งรับรู้ได้แต่ รส กลิ่น เสียง สัมผัสได้โดยตรง บอกได้แต่เพียงโดยอ้อม หรือเทียบเคียง (โดยปริยาย) เท่านั้น (เช่น เอาสีแดงไปเทียบกับความรู้สึกร้อน สีน้ำเงินเทียบกับความรู้สึกเย็น) ตามปกติพระพุทธศาสนาพูดถึงนิพพานอย่างง่ายๆตรงๆว่า เป็นภาวะดับกิเลสได้ หายร้อน หลุดพ้น เป็นอิสระ ไร้ทุกข์ ผ่องใส เบิกบาน ไม่ถูกปรุงแต่ง ภาวะแห่งนิพพานเป็นอสังขตธาตุ ซึ่งไม่มีเชื้อคือปัจจัยปรุงแต่ง ส่วนพระอรหันต์ คือ ผู้บรรลุจุดหมายแห่งชีวิตประเสริฐ, ผู้เข้าถึงประโยชน์ตนแล้ว, ผู้ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว, ผู้ได้พัฒนาตนแล้ว


อย่างไรก็ตามอาจจัดแนวการอธิบายได้ดังนี้

๑. โดยนัยปฏิเสธ แสดงการเพิกถอนภาวะที่ไม่ดี เช่น ความสิ้นตัณหา, ที่จบสิ้นของทุกข์, ความดับแห่งภพ, ความไม่มีโรค, ไม่มีอะไรค้างใจ ไร้กังวล, ไม่แก่ไม่ตาย (อมตะธาตุ), ไม่เสื่อมคลาย ไม่กลับกลาย เป็นต้น

๒. โดยคุณภาพ แสดงความดีงามสูงสุด เช่น สงบ, ประณีต, บริสุทธิ์, แสนเกษมสำราญ, อิสรภาพ, บรมสุข, ยอดเยี่ยมไม่มีอะไรยิ่งกว่า, ประเสริฐสุด, ดีที่สุด เป็นต้น

๓. โดยอุปมา เช่น เหมือนคนข้ามมหาสมุทรที่มีอันตรายมากมาถึงฝากขึ้นยืนบนฝั่งแล้ว, จะว่าไปเกิดที่ไหน หรือจะว่าไม่เกิด ก็ไม่ถูกทั้งสิ้น เหมือนไฟดับไปเมื่อสิ้นเชื้อ (แต่ก็มีที่ท่านเปรียบเทียบนิพพานด้วยความไม่เกิดด้วย ควรเข้าใจไว้ว่าท่านพยายามแสดงสิ่งเดียวกัน เพียงแต่ต่างสำนวนกัน), ภูมิภาคอันราบเรียบน่ารื่นรมย์, ที่พ้นภัย, ความสมบูรณ์ไม่มีโรค เป็นต้น อนึ่ง ในคัมภีร์รุ่นต่อๆมา ที่เป็นสาวกภาษิต เปรียบเทียบนิพพานเป็นเมืองเช่น อุดมบุรี, นิพพานนคร, อมตมหานครนฤพาน เป็นต้น ไม่จัดเข้าในบรรดาถ้อยคำที่ยอมรับว่าใช้แสดงภาวะของนิพพานได้

บรรยายสภาวะโดยตรง นอกจากการแสดง ๓ แนวข้างต้นแล้ว ยังมีที่ท่านแสดงแบบบรรยายสภาวะโดยตรงด้วย ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพุทธพจน์หลายบท ดังนี้

“มีอยู่นะ ภิกษุทั้งหลาย อายตนะ ที่ไม่มีปฐวี ไม่มีอาโป ไม่มีเตโช ไม่มีวาโย ไม่มีอากาสานัญจายตนะ ไม่มีวิญญาณัญจายตนะ ไม่มีอากิญจัญญายตนะ ไม่มีเนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่มีโลกนี้ ไม่มีปรโลก ไม่มีดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เราไม่กล่าวอายตนะนั้นว่าเป็น การมา การไป การหยุดอยู่ การจุติ การอุบัติ อายตนะนั้น ไม่มีที่ตั้งอาศัย (แต่ก็) ไม่เป็นไป ทั้งไม่ต้องมีเครื่องยึดหน่วง นี้แลคือจุดจบของทุกข์” (ปาฏลิคามิยวรรค นิพพานสูตร)

พุทธพจน์นี้ เน้นย้ำว่าไม่ให้เข้าใจเอานิพพานเป็นดินแดนหรือสถานที่ใด ไปจนถึงภพใดๆรวมทั้งอรูปภพ

(อ.เสถียร โพธินันทะ) อายตนะในที่นี้ใช้ในความหมายว่า “สิ่งนั้น” คือใช้แทนนิพพานโดยตรง ไม่ใช้ในความหมายเหมือนอายตนะ ๖ โดยสรุปคือ สิ่งนั้นมีอยู่ แต่ไม่ใช่สิ่งใดๆที่มีในโลก … นิพพานไม่ใช่จิต เพราะถ้านิพพานเป็นจิต ก็เป็นวิญญาณขันธ์ซึ่งไม่เที่ยง จิตเป็นนามธรรมจึงไม่มีเทศะ (ไม่กินพื้นที่) แต่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกาละ (เวลา) จิตจึงไม่ใช่นิพพานเพราะนิพพานเป็นธรรมที่พ้นกาละพ้นเทศะ พ้นจากความเป็นรูปธรรมนามธรรม แต่นิพพานนั้นสามารถเป็นอารมณ์ของจิต (ธรรมารมณ์) อันผู้บรรลุแล้วพึงรู้ได้ เช่น การเข้าผลสมาบัติของพระอริยบุคคล

ในบรรดาคำที่ใช้เป็นคำแทน แสดงอรรถของนิพพานอยู่เสมอ เช่น วิมุตติ อสังขตะ เกษม นิโรธ วิราคะ สันติ วิชชา วิสุทธิ ปรมัตถ์ เหล่านี้เป็นไวพจน์ซึ่งแสดงลักษณะด้านต่างๆของนิพพาน วิมุตติ คือ ความหลุดพ้น เป็นคำหลัก (คำอื่นๆยังมีอีกมากโปรดดูที่ท่านประมวลไว้ในหนังสือพุทธธรรม)

“เมื่อพระอรหันต์ปรินิพพานเพราะความดับไปแห่งจิตดวงสุดท้ายในภพ (จริมจิต) ธรรมเหล่านี้ คือ ปัญญาและสติ นามและรูป ย่อมดับ คือสงบ ถึงความไม่ตั้งอยู่ ระงับไป ณ ที่นี้” (อชิตมาณวกปัญหานิสเทส)

“มีอยู่นะ ภิกษุทั้งหลาย ไม่เกิด ไม่เป็น ไม่ถูกสร้าง ไม่ถูกปรุงแต่ง, หากว่า ไม่เกิด ไม่เป็น ไม่ถูกสร้าง ไม่ถูกปรุงแต่ง จักมิได้มีแล้วไซร้ การรอดพ้นภาวะเกิดแล้ว เป็นแล้ว ถูกสร้าง ถูกปรุงแต่ง ก็จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้ได้เลย, แต่เพราะเหตุที่ มีไม่เกิด ไม่เป็น ไม่ถูกสร้าง ไม่ถูกปรุงแต่ง ฉะนั้น การรอดพ้นภาวะเกิดแล้ว เป็นแล้ว ถูกสร้าง ถูกปรุงแต่ง จึงปรากฏได้” (นิพพานสูตร)

“ยังอิงอยู่ จึงมีการไหว ไม่อิงแล้ว ก็ไม่มีการไหว, เมื่อการไหวไม่มี ก็นิ่งสนิท, เมื่อนิ่งสนิท ก็ไม่มีการโอนเอน, เมื่อไม่มีการโอนเอน ก็ไม่มีการมาการไป, เมื่อไม่มีการมาการไป ก็ไม่มีการจุติและอุบัติ, เมื่อไม่มีการจุติและอุบัติ ก็ไม่มีที่ภพนี้ ไม่มีที่ภพโน้น ไม่มีในระหว่างภพทั้งสอง, นั่นแหละคือที่จบสิ้นของทุกข์” (นิพพานสูตร)

ครั้งหนึ่งภิกษุเที่ยวไปทุกหนทุกแห่ง เพื่อหาผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับที่ที่ธาตุ ๔ ดับหมดไม่มีเหลือ จนถึงท้าวมหาพรหม ก็ไม่ได้คำตอบ ในที่สุดต้องกลับมาทูลถามพระพุทธเจ้า “ที่ไหนหนอ มหาภูต ๔ เหล่านี้ กล่าวคือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ย่อมดับไปไม่เหลือเลย” พระองค์ได้ตรัสตอบว่า “ไม่ควรถามว่า มหาภูติ ๔ ย่อมดับไม่เหลือ ณ ที่ใด แต่ควรถามว่า อาโป ปฐวี เตโช และวาโย ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ณ ที่ไหน, ยาว สั้น เล็ก ใหญ่ งาม ไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ณ ที่ไหน, นามและรูปย่อมดับหมดไม่มีเหลือ ณ ที่ไหน” และมีคำตอบว่าดังนี้ “ภาวะที่พึงรู้ได้ (นิพพาน) มองด้วยตาไม่เห็น เป็นอนันต์ เข้าถึงได้ทุกด้าน, ที่นี้ อาโป ปฐวี เตโช และวาโย ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้, ที่นี้ ยาว สั้น ละเอียด หยาบ งาม ไม่งาม ก็ตั้งอยู่ไม่ได้, ที่นี้ นามและรูปดับไปหมดไม่เหลือ, เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับที่นี้” (เกวัฏฏสูตร)

“ความสุขทางกามอันใดในโลก และความสุขอันเป็นทิพย์ ความสุขทั้งหมดนั้น ย่อมไม่ถึงเศษเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งความสุขที่ได้ เมื่อสิ้นตัณหา” (ราชสูตร)

“นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” (สุขวรรค)

พุทธพจน์สำนวนหนึ่งกล่าวว่า แม้ภิกษุจำนวนมากมายจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุจะปรากฏว่าพร่องหรือเต็มเพราะเหตุนั้นก็หามิได้ เรียกภาวะเช่นนี้ว่า ความพร้อมเพรียงกันไม่แสดงตนในภพ หรือ ความพร้อมใจกันไม่เกิด, อีกสำนวนหนึ่งท่านว่า พระพุทธเจ้าในอดีต ปัจจุบัน อนาคต มีจำนวนมากมายเหมือนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา

บางคนตั้งข้อสังเกตว่า นิพพาน ซึ่งเป็นอสังขตะธรรมนั้น น่าจะมีเหตุคือ มรรค ซึ่งก็จะกลายเป็นว่ายังเป็นไปด้วยเหตุปัจจัย ข้อนี้อธิบายว่า มรรคเป็นเหตุปัจจัยของการถึงนิพพานไม่ใช่ตัวนิพพาน เปรียบเหมือน การนั่งเครื่องบินเป็นเหตุปัจจัยของการถึงเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่ใช่เหตุปัจจัยของเมืองเชียงใหม่

นิพพาน สภาพที่ดับกิเลสและกองทุกข์แล้ว, ภาวะที่เป็นสุขสูงสุด เพราะไร้กิเลสไร้ทุกข์ เป็นอิสรภาพสมบูรณ์

สอุปาทิเสสนิพพาน : นิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังเสวยอารมณ์ ยังมีเบญจขันธ์, กิเลสปรินิพพาน
อนุปาทิเสสนิพพาน : นิพพานของพระอรหันต์ผู้ระงับการเสวยอารมณ์ทั้งปวงแล้ว, ขันธปรินิพพาน

“ภิกษุทั้งหลาย สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้ว มีสังโยชน์เครื่องผูกมัดไว้กับภพหมดสิ้นไปแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ, อินทรีย์ ๕ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ของเธอยังดำรงอยู่เทียวเพราะอินทรีย์ทั้งหลายยังไม่เสียหาย เธอย่อมได้เสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ ย่อมเสวยทั้งสุขและทุกข์ ; อันใดเป็นความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ ของเธอ, อันนี้เรียกว่าสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ”

“ภิกษุทั้งหลาย อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว … หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ, อารมณ์ที่ได้เสวยทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละของเธอ ซึ่งเธอไม่ติดใจเพลินแล้ว จักเป็นของเย็น, ข้อนี้เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ”

“นิพพานธาตุอย่างหนึ่ง เป็นทิฏฐธัมมิกะ (มีในปัจจุบัน) ชื่อว่า สอุปาทิเสส เพราะสิ้นตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ ; ส่วนนิพพานธาตุอีกอย่างหนึ่ง เป็นสัมปรายิกะ (มีในเบื้องหน้า) เป็นที่ภพทั้งหลายดับไปหมดสิ้น” (ธาตุสูตร)

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้ฟังข้อความที่แสดงภาวะของนิพพานมามากแล้ว แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้ปฏิบัติจนเข้าถึงและรู้เห็นด้วยตนเอง ก็พึงเตือนสติกันไว้ว่า ภาพความเข้าใจเกี่ยวกับนิพพานของผู้ศึกษาทุกคน ก็คงมีอาการที่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงไปบ้างเป็นธรรมดา จึงไม่ควรเอาแต่คิดสร้างภาพและถกเถียงกันจนเลยเถิดไป ทางที่ดีหรือทางที่ถูก ควรจะลงมือปฏิบัติให้เข้าถึง เพื่อรู้เห็นประจักษ์ชัดกับตนเอง หรืออาจใช้คำว่านึกไม่เห็น แต่ต้องปฏิบัติให้รู้เอง ในเบื้องต้นเพียงมองให้เห็นหลักใหญ่ๆในภาพรวมให้ถูกต้อง ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิไว้ก่อนเป็นสำคัญ (นิพพานนั้นไม่ใช่ของที่แตะต้องไม่ได้ หรือห้ามมิให้ตริตรึกนึกคิด เพราะการพิจารณาภาวะของนิพพานนั้น ก็เป็นการทำกิจในอริยสัจ ข้อนิโรธ นั่นเอง เพียงแต่ท่านแนะว่าไม่ควรเอาแต่คิดจนเลยเถิด)

“ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้มองเห็นนิพพานโดยความเป็นทุกข์ จักเป็นผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ ย่อมเป็นไปไม่ได้, ข้อที่ภิกษุผู้ไม่ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ จักบรรลุโสดาปัตติผล … ฯลฯ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ 

ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้มองเห็นนิพพานโดยความเป็นสุข จักเป็นผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้, ข้อที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ จักบรรลุโสดาปัตติผล … ฯลฯ ก็ย่อมเป็นไปได้”
(นิพพานสูตร)

ส่วนแทรกเสริมตามความเห็นของผู้บันทึก

การพิจารณาหลักการของผลสมาบัติ อาจช่วยทำให้ผู้ศึกษามองภาพของนิพพานได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น ในอรรถกถาญาณัตตยานิทเทส พระอรรถกถาจารย์ท่านอธิบายการเข้าอนิมิตสมาธิว่า “สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้พอใจความเป็นไปอันเป็นวิบากกล่าวคือสุคติ แต่พระโยคาวจรนี้ประสงค์จะเข้าผลสมาบัติ เห็นความเป็นไปแม้นั้นและสังขารทั้งปวงโดยความเป็นของไม่เที่ยง ครั้นเห็นอย่างนี้แล้วย่อมสามารถเข้าผลสมาบัติได้ … สมาบัติอันหานิมิตมิได้ ชื่อว่าอนิมิตสมาบัติ เพราะเห็นนิมิตโดยความเป็นภัยแล้วเข้าถึง” (ละความดำริถึงสังขตธรรมทั้งปวงแล้วเข้าถึง)



๑.๑๓ นิพพาน : ประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้จากชีวิตนี้

ปัญหาของมนุษย์มาจากการที่ชีวิตนั้นโดยธรรมชาติ เป็นที่ตั้งของปัญหา คือ ทุกข์ อันเป็นสภาวะด้านหนึ่งตามธรรมชาติของชีวิต ที่ขึ้นต่อเหตุปัจจัยหลากหลาย ไม่เที่ยง ไม่คงที่ แปรปรวนเรื่อยไป ไม่มีไม่เป็นตัวตนของมันเองอย่างแท้จริง จะให้คงอยู่หรือเป็นไปอย่างที่ใจปรารถนาไม่ได้ ต้องว่ากันไปตามเหตุปัจจัย ในเมื่อตามสภาวะ ชีวิตมีทุกข์เป็นธรรมชาติพื้นฐานของมันอยู่แล้ว การที่จะมีความสุขได้ คนก็ต้องมีจิตใจที่มั่นคงในการอยู่กับความจริง โดยมีปัญญาที่ทำให้จิตเป็นอิสระจากทุกข์พื้นฐานนั้น หรือให้ใจอยู่กับมันได้สบายๆ เผชิญหน้ายอมรับความจริงด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงนั้น เมื่อมนุษย์มีปัญญารู้เท่าทันความเป็นจริงตามสภาวะของมันแล้ว ทุกข์ที่เป็นสภาวะตามธรรมดาในธรรมชาติ ก็ไม่มีผลที่จะก่อปัญหาทำให้เกิดเป็นทุกข์ขึ้นในจิตใจ


พระพุทธเจ้าเมื่อทรงแสดงหลักปฏิจจสมุปบาทสมุทยวาร อันเป็นที่มาของปัญหาหรือความทุกข์แล้ว ก็มิได้ทรงหยุดอยู่เพียงนั้น แต่ได้ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทนิโรธวาร อันเป็นกระบวนธรรมฝ่ายดับทุกข์ หรือแก้ไขปัญหาต่อไปอีกด้วย เป็นการชี้ให้เห็นว่า ทุกข์หรือปัญหาของมนุษย์เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ ยิ่งกว่านั้น ยังทรงชี้ต่อไปถึงภาวะที่เลิศล้ำสมบูรณ์ ซึ่งมนุษย์สามารถมีชีวิตที่ดีงามและเป็นสุขแท้จริงได้ โดยไม่ต้องฝากตัวขึ้นต่อปัจจัยภายนอก ไม่ต้องเอาสุขทุกข์ของตนไปพิงไว้กับสิ่งทั้งหลาย ซึ่งสิ่งเหล่านั้นแม้แต่ตัวมันเองก็ทรงเอาไว้ไม่ได้

แสดงการตัดวงจรปฏิจจสมุปบาทที่ขั้วอวิชชา

อวิชชาดับ > สังขารดับ > วิญญาณดับ > นามรูปดับ > สฬายตนะดับ > ผัสสะดับ > เวทนาดับ > ตัณหาดับ > อุปาทานดับ > ภพดับ > ชาติดับ > ชรามรณะ + โสกะ ฯลฯ อุปายาสดับ = ทุกขนิโรธ

แสดงการตัดวงจรปฏิจจสมุปบาทที่ขั้วตัณหา

อวิชชา > สังขาร > วิญญาณ > นามรูป > สฬายตนะ > ผัสสะ > เวทนา > ตัณหาดับ > อุปาทานดับ > ภพดับ > ชาติดับ > ชรามรณะ + โสกะ ฯลฯ อุปายาสดับ = ทุกขนิโรธ

บ่อยครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกขนิโรธ โดยชูตัณหาเป็นตัวเด่น คือ เมื่อเสวยเวทนาแล้ว ไม่เกิดตัณหา ก็เพราะมีความรู้เท่าทันสภาวะสังขารของสิ่งที่เสพเสวย คือมีวิชชารองเป็นพื้นอยู่ เมื่อไม่มีอวิชชาสัมผัส เวทนาที่เกิดขึ้นก็ไม่นำไปสู่ตัณหา ดังนั้นที่ว่าตัณหาดับ จึงบ่งถึงอวิชชาดับอยู่แล้วในตัว การที่ทรงแสดงแบบนี้ ก็เพื่อให้เห็นภาพในทางปฏิบัติได้ง่ายขึ้น

พระอรหันต์ทั้งหลายเสวยอารมณ์ด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมชาติของมัน ไม่ถูกกิเลสครอบงำหรือชักจูง ไม่ถูกเผาลนด้วยตัณหา และไม่มืดมัวด้วยอวิชชา เป็นอยู่ด้วยจิตใจที่โปร่งโล่ง ผาสุข เป็นอิสระ เมื่อไม่มีกิเลสชักนำไปสู่ภพ กระบวนธรรมสังสารวัฏฏ์ก็สิ้นสุดลง เข้าสู่วิวัฏฏ์ (นิพพาน) บรรลุภาวะแห่งความดับทุกข์ เป็นผู้มีชัยต่อปัญหาชีวิต มีความสุขอย่างแท้จริง อันเป็นประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้ คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมามีชีวิต



วันจันทร์

๑.๑๒ แก้กรรม ด้วยปฏิกรรม

ปฏิกรรม เป็นคำสอนสำคัญส่วนหนึ่งของหลักกรรม แปลว่า การแก้ไข การทำให้กลับคืนดี หรือการกลับตัว ซึ่งเป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนให้ปฏิบัติ มีหลักสำคัญคล้ายกันทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ คือ เมื่อใดก็ตาม ถ้ามีการทำผิด ละเมิด ล่วงเกินต่อผู้อื่น ต่อมารู้ตัวแล้ว แสดงความยอมรับสำนึกผิด และถ้ามีโอกาสมาบอกขอให้เขายอมรับความสำนึกของตนเพื่อปฏิกรรม และสำรวมระวังต่อไปนั้น เป็นความเจริญงอกงามในวินัยของอารยชน เปรียบเทียบกับการขออโหสิกรรมในปัจจุบัน จะเห็นว่าสาระแท้จริงของปฏิกรรมนั้นอยู่ที่การเปลี่ยนการกระทำที่ผิดพลาดให้กลับเป็นดี ส่วนการขออโหสิกรรมนั้นไม่ค่อยมีการพูดเน้นถึงการพัฒนากรรม และถือเป็นความนิยมในยุคหลัง (ความหมายเดิม อโหสิกรรม คือ กรรมเลิกให้ผล ได้แก่กรรมที่ไม่ได้โอกาสที่จะให้ผลภายในเวลาที่จะออกผลได้)


“ผู้ใดเป็นพาล รู้ตัวว่าเป็นพาล ก็ยังนับว่าเป็นบัณฑิตได้บ้าง ส่วนผู้ใดเป็นพาล แต่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ผู้นั้นแล เรียกว่าเป็นพาลแท้ๆ” (คาถาธรรมบท พาลวรรค)

“ขุมกำลังของคนพาล คือการจ้องหาโทษของคนอื่น ขุมกำลังของบัณฑิต คือการไตร่ตรองโดยพินิจ” (พลสูตร)

“ผู้ไม่โกรธตอบคนโกรธ ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก” (พรหมทัตตเถระคาถา)

“ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมเป็นทุกข์ พระขีณาสพผู้สงบระงับ ละความชนะความแพ้ได้แล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข” (สุขวรรค)

“ผู้ใดเคยประมาทในตอนต้น ภายหลังเขาไม่ประมาท ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากเมฆหมอก” (องคุลิมาลเถระคาถา)



วันศุกร์

๑.๑๑ กรรม ๑๒

กรรม ๑๒ นี้ เป็นมติของอรรถกถาจารย์ มีข้อที่ได้ต้นเค้ามาจากพระไตรปิฎกคือ ๓ ข้อแรก โดยท่านจัดแบ่งกรรมไว้เป็น ๓ หมวด

หมวดที่๑ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล
กรรมให้ผลในชาติปัจจุบันนี้ : เจตนาที่เกิดในชวนจิตดวงที่ ๑ เป็นการปรุงแต่งแต่เริ่มต้น แต่ไม่ได้การเสพคุ้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาตินี้ ก็กลายเป็นอโหสิกรรม ท่านเปรียบเหมือน พรานเห็นเนื้อ หยิบลูกศรยิงไปทันที ถ้าถูกเนื้อก็ล้มที่นั่น ถ้าพลาดก็รอดไปเลย

กรรมให้ผลในที่จะไปเกิด : เจตนาที่เกิดในชวนจิตดวงที่ ๗ เป็นเจตนาที่ได้เสพคุ้นมาแล้ว แต่มีกำลังจำกัดเพราะเป็นจิตที่กำลังสิ้นสุดวิถี กรรมนี้ให้ผลเฉพาะในชาติถัดจากนี้ไปเท่านั้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาติหน้าก็กลายเป็นอโหสิกรรม

กรรมให้ผลในภพต่อๆไป : เจตนาที่เกิดในชวนจิตดวงที่ ๒-๖ กรรมนี้ให้ผลได้เรื่อยไปในอนาคต ไม่เป็นอโหสิกรรม เปรียบเหมือนสุนัขไล่เนื้อ ทันเมื่อใด ก็กัดเมื่อนั้น (จนกว่าผลของกรรมนั้นจะหมด)

อโหสิกรรม : กรรมเลิกให้ผล ได้แก่กรรมที่ไม่ได้โอกาสที่จะให้ผลภายในเวลาที่จะออกผลได้

 
หมวดที่ ๒ จำแนกตามการให้ผลตามหน้าที่
กรรมแต่งให้เกิด (ชนกกรรม) : กรรมที่เป็นตัวทำให้เกิดขันธ์ที่เป็นวิบาก ทั้งในขณะปฏิสนธิ และในเวลาที่ชีวิตเป็นไป

กรรมสนับสนุน (อุปัตถัมภกกรรม) : กรรมพวกเดียวกับชนกกรรม ซึ่งไม่สามารถให้เกิดวิบากได้เอง แต่เข้าช่วยสนับสนุน หรือซ้ำเติม ต่อจากชนกกรรม ทำให้สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ ซึ่งเป็นวิบากนั้น เป็นไปนาน

กรรมบีบคั้น (อุปปีฬกกรรม) : กรรมฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรม ทำให้สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ ซึ่งเป็นวิบากนั้น ไม่เป็นไปนาน

กรรมตัดรอน (อุปฆาตกรรม) : กรรมฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังแรง เข้าตัดรอนกรรมอื่นๆที่มีกำลังน้อยกว่าเสีย ห้ามวิบากของกรรมนั้นขาดไปเสียทีเดียว แล้วเปิดช่องแก่วิบากของตน เช่น ปิตุฆาตกรรมของพระเจ้าอชาตศัตรู ที่ตัดรอนกุศลกรรมของพระองค์เสีย เป็นต้น

      (อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ) คนที่ชนกกรรมคือกรรมดั้งเดิมแต่งมาให้ตกต่ำแล้ว ไม่ทอดอาลัยในความตกต่ำนั้น ทำความดีให้มากขึ้น ความดีนั้นก็จะเป็นอุปปีฬกกรรม คือกรรมที่เบียดกรรมดั้งเดิมได้ ควรจะตกต่ำมาก ก็ทำให้กลายเป็นตกต่ำแต่เล็กน้อย หรือทรงตัวอยู่ได้ ถ้าทำความดีมากถึงขนาด ความดีนั้นก็จะเป็นอุปัจเฉทกกรรม คือกรรมตัดรอนกรรมดั้งเดิม ควรจะตกต่ำล่มจม ก็กลายเป็นฟื้นตัวและเฟื่องฟูเจริญขึ้นได้ เข้าในลักษณะ “ตโมโชติปรายโน” เป็นผู้มืดมาแล้วสว่างไป, แต่ในเรื่องเช่นนี้ ไม่พึงเข้าใจว่ามีเฉพาะทางดี แม้ทางชั่วก็มีได้เหมือนกัน

จำแนกตามลำดับความแรงในการให้ผล
กรรมหนัก (ครุกรรม) : ในฝ่ายดี ได้แก่สมาบัติ ๘ ในฝ่ายชั่ว ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ (บางคัมภีร์รวมนิยตมิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นในทางปฏิเสธกรรมและผลแห่งกรรมด้วย) ย่อมให้ผลก่อน และครอบงำกรรมอื่นๆเสีย เปรียบเหมือนห้วงน้ำใหญ่ไหลบ่ามาท่วมทับน้ำน้อยไป

กรรมเคยชิน (อาจิณณกรรม) : กรรมที่ทำมาก สั่งสมเคยชินเป็นนิสัย เช่น เป็นคนมีศีลดี หรือคนทุศีล เป็นต้น กรรมไหนทำบ่อย ทำมาก มีกำลังกว่า ก็จะให้ผลก่อน กรรมต่อไปนี้ให้ผลต่อจากครุกรรม

กรรมใกล้ตาย (อาสันนกรรม) : กรรมที่กระทำหรือระลึกขึ้นมาในเวลาใกล้จะตาย ให้ผลหลังจากกรรม ๒ ข้อก่อน (แต่บางคัมภีร์ ก็ว่าให้ผลก่อนอาจิณณกรรม บ้างก็ว่าอาสันนกรรมโดยมากก็สืบมาแต่อาจิณกรรมนั่นเอง)

(อรรถกถาจารย์ขยายความว่า ขณะใกล้ตาย ถ้ามีอวิชชาเป็นกิเลสหลัก พร้อมด้วยมิจฉาทิฏฐิ จะนำไปสู่ทุคติภพ, ถ้ามีภวตัณหา (ความอยากมีอยากเป็น) เป็นกิเลสหลัก พร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิ จะนำไปสู่ สุคติภพ)

(ตามนัยพุทธพจน์ จะไปเกิดสุคติ หรือ ทุคติ ดูจากอาการสุข ทุกข์ ของจิตใจในขณะตายของผู้นั้นก็ได้เพราะจุติจิตนั้นเป็นเหตุของปฏิสนธิจิต ไม่มีระหว่างขั้น เปรียบเหมือนบุรุษโหนเถาวัลย์จากฟากหนึ่งไปอีกฟากหนึ่ง ตายด้วยจิตเป็นสุข สงบเย็นด้วยกุศลธรรม ย่อมหวังสุคติภพได้)

กรรมสักว่าทำ (กตัตตากรรม) : กรรมที่ทำด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นๆโดยตรง เป็นกรรมเบา ต่อเมื่อไม่มีกรรม ๓ ข้อก่อน กรรมนี้จึงให้ผล

นอกจากนี้คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ยังแสดงกรรมไว้อีกหมวดหนึ่ง คือ
จำแนกตามภพเป็นที่ให้ผล
อกุศลกรรม : (ยกเว้นอุทธัจจะ) เช่น ที่จำแนกเป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐ ย่อมให้กำเนิดในอบายภูมิ

กามาวจรกุศลกรรม : กรรมที่เป็นกุศลระดับกามาวจร เช่นที่จำแนกเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ย่อมให้กำเนิดในกามสุคติภพ ๗ (มนุษย์ และสวรรค์ ๖)

รูปาวจรกุศลกรรม : กรรมที่เป็นกุศลระดับรูปาวจร คือ รูปฌาน ๔ ของผู้ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ย่อมให้กำเนิดในรูปภพ

อรูปาวจรกุศลกรรม : กรรมที่เป็นกุศลระดับอรูปาวจร คือ อรูปฌาน ๔ ของผู้ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ย่อมให้กำเนิดในอรูปภพ

อธิบายเรื่องกรรมตามพระสูตร

ในสังสาระ (การเวียนว่ายตายเกิดที่กำหนดจุดเริ่มต้นมิได้) สัตว์ที่ไม่เคยเป็นมารดา ไม่เคยเป็นบิดา ไม่เคยเป็นบุตร ไม่เคยเป็นธิดากัน มิใช่หาได้ง่าย” (มาตุสูตร)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารวัฏนี้กำหนดที่สุด เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ เธอทั้งหลายเห็นทุคตบุรุษผู้มีมือและเท้าไม่สมประกอบ พึงลงสันนิษฐานในบุคคลนี้ว่า เราทั้งหลายก็เคยเสวยทุกข์เห็นปานนี้มาแล้ว โดยกาลนานนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารวัฏนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้” (ทุคคตสูตร)

ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยสังสารวัฏ ดูกรสารีบุตร ก็สังสารวัฏที่เราไม่เคยท่องเที่ยวไป โดยกาลยืดยาวนานนี้ เว้นแต่เทวโลกชั้นสุทธาวาส (ที่เกิดของพระอนาคามี) เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ง่ายนัก ดูกรสารีบุตร ถ้าเราพึงท่องเที่ยวไปในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้อีก” (มหาสีหนาทสูตร)

ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนห่วงหนึ่งอยู่ในมหาสมุทร ในมหาสมุทรนั้น มีเต่าตาบอดตัวหนึ่งล่วงไป ร้อยปีจะผุดขึ้นมาครั้งหนึ่ง, ข้อที่เต่าตาบอดตัวนั้น จะพึงยื่นคอเข้าไปในห่วงนั้น ยังจะเร็วเสียกว่าการที่คนพาลซึ่งเข้าถึงการเกิดเป็นวินิบาตแล้ว (นรก, อสุรกาย) จักได้ความเป็นมนุษย์สักครั้งหนึ่ง และเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ย่อมเกิดในสกุลต่ำ” (พาลบัณฑิตสูตร)

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงช้อนฝุ่นไว้ในปลายพระนขา (เล็บ) แล้วตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ฝุ่นเล็กน้อยที่เราช้อนไว้ในปลายเล็บกับแผ่นดินใหญ่นี้ ไหนจะมากกว่ากัน?” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่ ฝุ่นเล็กน้อยที่ปลายพระนขา ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่กลับมาเกิดในหมู่มนุษย์มีน้อย โดยที่แท้สัตว์ที่กลับมาเกิดนอกจากมนุษย์มีมากกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ฉะนั้นเธอทั้งหลาย พึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา” (อัญญตรสูตร)

 “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า, โอหนอ หลังจากตายไป ขอให้เราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งขัตติยมหาศาลเถิด (พระราชา), ดังนี้ เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อให้เธออุบัติในฐานะนั้น
 “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า, โอหนอ เราจักบรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน, ดังนี้ เธอก็บรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ย่อมไม่เกิดในที่ไหนๆ” (สังขารูปปัตติสูตร)



วันอังคาร

๑.๑๐ กรรม

หลักธรรมส่วนย่อยของปฏิจจสมุปบาท ที่นิยมอธิบายกันมากที่สุด ได้แก่ หลักกรรม เนื่องจากการอธิบายเรื่องกรรม อาจทำได้หลายระดับ คือ จะอธิบายอย่างง่ายๆในระดับผิวเผิน พอให้เห็นเหตุเห็นผลในสายตาของชาวบ้านก็ได้ หรือจะอธิบายลึกลงไปถึงกระบวนธรรมภายในจิต จนต้องใช้หลักปฏิจจสมุปบาทเต็มรูปก็ได้

ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับกรรม
กรรมในฐานะกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตามพึงเข้าใจว่า แม้กระทั่งความเชื่อที่ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะกรรมก็ถือว่าไม่ถูกต้องครบถ้วน เช่น เหงื่อออก อาจเป็นเพราะอากาศร้อนก็ได้ ความเครียดก็ได้ เป็นอาการของโรคบางอย่างก็ได้ เป็นต้น

ความหมายของกรรม
คือ การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา หรือ การกระทำที่เป็นไปด้วยความจงใจ ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนา ก็ไม่เรียกว่าเป็นกรรม

ประเภทของกรรม
ถ้ามี กุศลมูล เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตก็เป็น กุศลกรรม
ถ้ามี อกุศลมูล เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตก็เป็น อกุศลกรรม

กุศลมูล : อโลภะ อโทสะ อโมหะ
กุศลกรรม : กรรมดี กรรมอันเป็นกุศล ประกอบด้วยปัญญา เกิดจากกุศลมูล ตัดโรคหรือตัดสิ่งชั่วร้าย ไม่มีโทษ สะอาด ผ่องแผ้ว ฉลาด ทำให้มีความสุข มีสุขเป็นวิบาก ผ่อนคลาย บริสุทธิ์ผ่องใส ตั้งมั่น เป็นอิสระ เหมาะแก่การใช้งาน เป็นเครื่องชำระสันดาน ทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมไป
อกุศลมูล : โลภะ โทสะ โมหะ
อกุศลกรรม : กรรมชั่ว เกิดจากอกุศลมูล

(โดยความหมายอย่างกว้าง บุญมีความหมายเท่ากับ กุศล, บาปก็มีความหมายเท่ากับอกุศล)

กรรม จะให้ผลสำเร็จตามต้องการต้องมากับความเพียร (วิริยะ) และ ปัญญา ซึ่งทำให้เห็นธรรม รู้เหตุปัจจัย แล้วก็ทำกรรมได้ตรงที่จะให้เกิดผลดีที่พึงต้องการ เมื่อพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ กรรมก็ประณีตขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งพ้นกรรมไปเลย นี่คือหลักการใหญ่ๆของพระพุทธศาสนา

การนับถือสิ่งที่เรียกว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ถ้าตราบใดยังไม่เสียหลักกรรม ก็ยังไม่ตกจากพระพุทธศาสนา แต่ถ้าผิดหลักกรรมเมื่อไร ก็หลุดจากพระพุทธศาสนาทันที เพราะกรรมคือธรรมส่วนที่โยงมาหามนุษย์ ที่ว่าไม่เสียหลักกรรมอย่างไร คือ ถ้าเราไปเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว หวังผลจากการดลบันดาล อ้อนวอนนอนรอคอย ก็เป็นอันว่าพลาดหลักกรรมแล้ว ถ้าเชื่อถือแล้วทำให้มีความมั่นคงในการกระทำ ทำการเข้มแข็งยิ่งขึ้น เพียรพยายามกระทำการตามเหตุปัจจัย ก็ยังไม่หลุดไปจากหลักกรรม ฉะนั้นชาวพุทธ ในขั้นเบื้องต้น แม้จะนับถือพระรัตนตรัยแบบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็อนุโลมได้ (เฉพาะในขั้นต้น เพื่อนำไปสู่ปัญญา) ถ้ายังไม่หลุดจากหลักกรรม พระพุทธศาสนากล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก อย่าไปหลงติดพูดด้วนๆขาดห้วนใจความไปแค่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ จุดสำคัญที่ประเสริฐของมนุษย์ก็คือ การฝึกตัวเองได้ และฝึกได้จนประเสริฐเลิศที่สุด

มีพุทธพจน์หลายบทที่ท่านทรงตรัสถึงการให้ความสำคัญกับการกระทำอันเป็นกุศล แทนการถือเรื่องฤกษ์ยาม ความฝัน ฯลฯ เช่น “ผู้ใดไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถืออุกกาบาต ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะดีหรือชั่ว ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว” (มังคลชาดก)

“ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนเขลาผู้คอยนับฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้” (นักขัตตชาดก)

“ฤกษ์ดีสำเร็จทุกเมื่อแก่ผู้บริสุทธิ์” (วัตถูปมสูตร)

“บุคคลประพฤติชอบเวลาใด เวลานั้นได้ชื่อว่า เป็นฤกษ์ดี” (สุปุพพัณหสูตร)

ผลกรรมตามนัยแห่งพระไตรปิฎก ที่บรรยายในลักษณะสืบเนื่องไปถึงภพภายภาคหน้า (จูฬกัมมวิภังคสูตร) ผู้มักทำปาณาติบาต เป็นคนเหี้ยมโหด, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนมีอายุสั้น
ผู้มีนิสัยชอบเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนมีโรคมาก
ผู้เป็นคนมักโกรธ เคียดแค้นพยาบาท, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนมีลักษณะทราม ไม่สวยไม่งาม
ผู้มีใจริษยา, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนต่ำต้อยด้อยอำนาจ
ผู้ไม่บำเพ็ญทาน, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนมีโภคะน้อย
ผู้เป็นคนแข็งกระด้าง ไม่กราบไหว้ ไม่เคารพนับถือแก่ผู้ที่สมควรได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนมีตระกูลต่ำ
ผู้ไม่ศึกษาปฏิบัติ เพื่อพัฒนาปัญญา, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนทรามปัญญา

ส่วนผู้ที่ปฏิบัติในทางกุศล ซึ่งตรงข้ามกับสาระในแต่ละหัวข้อนั้น ก็จะได้รับผลดีที่ตรงข้ามกันนั้น

จะเห็นว่าในสูตรนี้ แม้จะกล่าวถึงผลที่ประสบในชีวิตข้างหน้า แต่ก็เน้นที่การกระทำในปัจจุบัน ที่อาศัยกรรมคือคุณภาพจิตใจและคุณภาพแห่งความประพฤติ ที่ตนมีอยู่ในปัจจุบันนี้เอง ที่เป็นปัจจัยโดยตรงแก่ผลจำเพาะแต่ละอย่าง ไม่ใช่เป็นอานิสงส์เฟ้อชนิดที่ว่าทำกรรมดีอะไรครั้งเดียว ก็มีผลมากมายไม่มีขอบเขต

ควรสังเกตว่า ท่านตรัสผลในภพภายภาคหน้า เช่น ผู้บำเพ็ญทาน เมื่อมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นผู้มีโภคะสมบัติมาก อาจกล่าวได้ว่าเป็นเหตุไกล-ผลไกล ส่วนถ้าหวังผลในปัจจุบัน ควรทำเหตุใกล้ ดังธรรมหมวดที่มีชื่อว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ บางแห่งนิยมเรียกว่า หัวใจเศรษฐี ๔ ประการ คือ ขยันหมั่นเพียร, รู้จักรักษาทรัพย์, คบคนดีไม่คบคนชั่ว, เลี้ยงชีวิตพอเหมาะ

หลักบุญกิริยาวัตถุ ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนา พูดอย่างกว้างๆท่านจัดว่าเป็นบุญที่มีผลมากกว่ากันตามลำดับ ซึ่งจะเห็นว่า ศีล และภาวนา นั้นไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองก็ทำได้

“บุคคลทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ กรรมนั้นแหละ เป็นของๆเขา และเขาย่อมพาเอากรรมนั้นติดตามไป เหมือนเงาติดตามตน ฉะนั้น บุคคลควรทำกรรมดี สั่งสมไว้สำหรับภพหน้า บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า” (ทุติยาปุตตกสูตร)

“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง กรรมใหม่ กรรมเก่า ความดับกรรม และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับกรรม, กรรมเก่าเป็นไฉน? ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า ซึ่งถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เกิดจากเจตจำนง เป็นที่เสวยเวทนา นี้เรียกว่า กรรมเก่า, กรรมใหม่เป็นไฉน? กรรมที่บุคคลกระทำด้วยกาย วาจา ใจ ในบัดนี้ เรียกว่า กรรมใหม่, ความดับกรรมเป็นไฉน? ภาวะที่สัมผัสวิมุตติ เพราะความดับไปแห่ง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เรียกว่า ความดับกรรม, ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับกรรมเป็นไฉน? ได้แก่ มรรคามีองค์ ๘ประการอันประเสริฐนี้เอง เรียกว่า ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับกรรม” (กรรมสูตร)

“ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการเหล่านี้ คือ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม กรรมใดที่ทำเพราะ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นเหตุ กรรมนั้นเป็นอกุศล มีโทษ มีทุกข์เป็นวิบาก, กรรมนั้นย่อมให้ผลในที่ที่อัตภาพของเขาบังเกิด หรือในลำดับต่อๆไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรม ไม่เป็นไปเพื่อความดับแห่งกรรม

ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการเหล่านี้ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม กรรมใดที่ทำเพราะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นต้นเหตุ กรรมนั้นเป็นกุศล ไม่มีโทษ มีสุขเป็นวิบาก, กรรมนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความดับกรรม ไม่เป็นไปเพื่อความเกิดกรรม” (นิทานสูตร)



วันศุกร์

อ. เสถียร โพธินันทะ #๒

๓๑. ไวยทิกวาทะ
๓๒. วิจัยเวสสันดรชาดก
๓๓. ปรปัจจัย
๓๔. ตอบปัญหาเรื่องพระเจ้า
๓๕. กำเนิดปรัชญามหายาน
๓๖. วิวัฒนาการปรัชญามหายาน
๓๗. หลักของสุญญาตา
๓๘. สุญญาตาในลัทธิมหายาน
๓๙. อภิธรรมฝ่ายมหายาน
๔๐. คัมภีร์มหายาน
๔๑. ปรัชญาชิน
๔๒. พระถังซำจั๋ง ๑
๔๓. พระถังซำจั๋ง ๒
๔๔. พุทธาคมกับไสยเวทย์
๔๕. พระอินทร์
๔๖. การเวียนว่ายตายเกิด
๔๗. อภินิหารธรรม
๔๘. โลกธุาต
๔๙. ตักกะวิทยา
๕๐. ปฐมเหตุของโลก
๕๑. วิจัยคัมภีร์กถาวัตถุ ๑
๕๒. วิจัยคัมภีร์กถาวัตถุ ๒
๕๓. วิจัยคัมภีร์กถาวัตถุ ๓
๕๔. สารพันปัญหา ๑
๕๕. สารพันปัญหา ๒
๕๖. สารพันปัญหา ๓
๕๗. สารพันปัญหา ๔
๕๘. สารพันปัญหา ๕
๕๙. สารพันปัญหา ๖
๖๐. สารพันปัญหา ๗
๖๑. สารพันปัญหา ๘
๖๒. สารพันปัญหา ๙
๖๓. สารพันปัญหา ๑๐
๖๔. สารพันปัญหา ๑๑


๑.๙ กิเลส

กิเลส แปลว่า สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง, สิ่งเกาะติด สิ่งเปรอะเปื้อน สิ่งสกปรก

จุดมุ่งหมายของการศึกษาเรื่องกิเลส คือ เพื่อให้มีความเข้าใจ รู้เท่าทัน ถึงคุณ โทษ ของกิเลส เพื่อเลือกที่จะใช้ประโยชน์จากกิเลสนั้น (ใช้กิเลสเป็นแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง อกุศล เปลี่ยนเป็น กุศล) หรือเลือกที่จะละกิเลสนั้นตามสมควร โดยไม่ถูกกิเลสทำให้จิตเศร้าหมอง เรียกว่า เป็นนายของกิเลส ซึ่งจะพัฒนาขึ้นตามระดับของปัญญา

อนึ่ง คำว่าละกิเลสนั้น ถ้าพูดในแง่ของผลสำเร็จเช่น พระอนาคามีละสังโยชน์ได้ ๕ ข้อ หมายถึงว่า เข้าถึงภาวะที่กิเลส ๕ ข้อนั้นไม่เกิดขึ้นอีก หรืออาจใช้คำว่า ปลอดกิเลส พระอรหันต์จึงได้ชื่อว่า ปลอดกิเลสโดยสมบูรณ์

กิเลสในชื่อต่างๆ
กิเลสทั้งหมดนั้นล้วนแต่รวมลงได้ใน ราคะ โทสะ โมหะ ทั้งสิ้น การที่แยกออกมาเป็นชื่อต่างๆ เพื่อจำแนกให้เห็นชัดในลักษณะอาการของกิเลสนั้นๆแต่ละแง่ด้าน เช่น อาสวะ อนุสัย ตัณหา อุปาทาน อวิชชา สังโยชน์ นิวรณ์ อุปกิเลส เป็นต้น

อาสวะ ๔  :สิ่งที่ไหลซ่านไปทั่ว, สิ่งที่หมักหมมหรือหมักดอง ไม่ว่าจะรับรู้อะไรทางอายตนะใด หรือจะคิดนึกสิ่งใด อาสวะเหล่านี้ก็เที่ยวกำซาบซ่านไปแสดงอิทธิพลอาบย้อมมอมมัวสิ่งที่รับรู้เข้ามาและความนึกคิดนั้นๆ ทำให้ไม่ได้ความรู้ความคิดที่บริสุทธิ์ และเป็นเหตุก่อทุกข์ก่อปัญหาเรื่อยไป อาสวะต่างๆเหล่านี้ จึงเป็นที่มาแห่งพฤติกรรมของมนุษย์ปุถุชนทุกคน
    กามาสวะ    : ความใฝ่ในการสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕
    ภวาสวะ    : ความใฝ่ในความมีอยู่คงอยู่ของตัว ตลอดจนการที่จะได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และดำรงอยู่ในภาวะที่อยากเป็นนั้นยั่งยืนตลอดไป
    ทิฏฐาสวะ    : ความเห็น ความเชื่อถือ แนวคิด ที่สั่งสมอบรมมา และยึดถือเชิดชูไว้ (หมายถึงมิจฉาทิฏฐิ)
    อวิชชาสวะ    : ความหลง ความไม่เข้าใจ สิ่งทั้งหลายตามสภาวะโดยธรรมชาติของมันเอง, ไม่รู้เห็นตามที่มันเป็น แต่รู้เห็นตามที่คิดว่ามันเป็น

อนุสัย ๗ :กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน บางอาจารย์ท่านว่ามุ่งแสดงถึงกิเลสประณีตที่ตกตะกอนนอนก้นอยู่ในจิตใจ ถ้าไม่ถูกกระตุ้นก็จะเหมือนกับว่าจะไม่ปรากฏโทษภัย แต่แท้จริงกิเลสยังคงนอนก้นอยู่ เช่น เด็กทารกกิเลสบางอย่างก็ยังไม่ฟุ้งขึ้น แต่ก็มีอนุสัยอยู่เป็นปกติ เหมือนไฟสุมภายในขอนไม้ ที่ยังไม่ลุกโพลงขึ้นมา
    กามราคะ    : ความกำหนัดในกาม
    ปฏิฆะ    : ความขัดใจ หงุดหงิดขัดเคือง คือ โทสะ
    ทิฏฐิ     : ความเห็นผิด
    วิจิกิจฉา     : ความลังเล สงสัย
    มานะ     : ความถือตัว
    ภวราคะ     : ความกำหนัดในภพ ความอยากเป็น อยากยิ่งใหญ่ อยากยั่งยืน
    อวิชชา     : ความไม่รู้จริง คือ โมหะ

อนุสัย ๗ นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังโยชน์ ๗



ตัณหา ๓
นุษย์มีความอยากที่เป็นพื้นฐานสำคัญคือ ความอยากมีอยู่เป็นอยู่ หรืออยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งหมายถึงความอยากให้ตัวตนในความรู้สึกนั้นคงอยู่ยั่งยืนต่อไป ความอยากเป็นอยู่นี้สัมพันธ์กับความอยากได้ คือ อยากอยู่เพื่อเสวยสิ่งที่จะให้สุขเวทนาสนองความต้องการของตนต่อไป จึงกล่าวได้ว่า ที่อยากเป็นอยู่ ก็เพราะอยากได้ เมื่ออยากได้ ความอยากเป็นอยู่ก็ยิ่งรุนแรงขึ้น
    กามตัณหา     : อยากได้สิ่งสนองความต้องการทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕
    ภวตัณหา     : อยากเป็นอยู่
    วิภวตัณหา     : อยากให้ดับสูญ
(ความอยากไม่ใช่เป็นตัณหาไปเสียทั้งหมด ความอยากที่เป็นกุศลก็มี เรียกว่า ฉันทะ)

อุปาทาน ๔
ความยึดติดถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส
    กามุปาทาน     : ความยึดมั่นในกาม, จะต้องเอาต้องเสพต้องครอบครองสิ่งนั้นให้ได้
    ทิฏฐุปาทาน     : ความยึดมั่นในทิฏฐิต่างๆ, ต้องอย่างนี้ถึงจะดี ได้อย่างนี้ถึงจะเป็นสุข
    สีลัพพตุปาทาน     : ความยึดติดถือมั่นในศีลและพรตอย่างผิดๆ, ประพฤติปฏิบัติศีลพรตในแง่ที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่อยากได้นั้น เช่น คุณวิเศษบางอย่าง โดยไม่เข้าใจความหมายและเหตุผลของศีลนั้น
    อัตตวาทุปาทาน     : ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา (เพราะอัตตาไม่มีจริง เมื่อพูดอย่างเคร่งครัดจึงต้องเติม วาทะ เข้าไป, ท่านจึงมักย้ำว่า การปฏิบัติเกี่ยวกับนิพพานก็ดี นิพพานก็ดี ไม่ใช่เรื่องของการดับอัตตา หรือทำลายอัตตา เพราะไม่มีอัตตาที่จะต้องไปดับหรือไปทำลาย สิ่งที่จะต้องดับหรือทำลาย คือความยึดมั่นในอัตตา วาทะว่ามีอัตตา ความเห็นว่ามีอัตตา หรือภาพอัตตาที่สร้างขึ้นมายึดถือไว้)

นิวรณ์ ๕
ธรรมที่ขวางกันการเจริญจิตเจริญปัญญา, สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในกุศลธรรม
    กามฉันทะ     ความพอใจติดใคร่กาม / เปรียบเหมือนคนเป็นหนี้
    พยาบาท     ความผูกใจโกรธ หงุดหงิด ขัดใจ / เปรียบเหมือนคนไข้หนัก
    ถีนมิทธะ     ถีน : ความหดหู่ , มิทธะ : ความง่วงซึม / เปรียบเหมือนคนติดในเรือนจำ
    อุทธัจจะกุกกุจจะ     อุธัจจะ : ความฟุ้งซ่าน, กุกกุจจะ : กระวนกระวายใจ / เปรียบเหมือนคนเป็นทาส
    วิจิกิจฉา     ความลังเลสงสัย คลางแคลงใจในกุศลธรรมทั้งหลาย / เปรียบเหมือนคนเดินทางกันดารมีภัยน่าหวาดเสียว)



วันพฤหัสบดี

ปฎิจจสมุปบาทนานาทัศนะ (หน้า๗)

สฬายตนะของท่านก็ยังมีอยู่ ผัสสะของท่านก็ยังมีอยู่ จักขุสัมผัสสชาสุขเวทนา จักขุสัมผัสสชาทุกขเวทนามีอยู่เหมือนกับคนธรรมดาทุกอย่าง เหมือนกันหมดมา แตกต่างจากปุถุชนอยู่ตรงที่ว่าปัจจุบันเหตุท่านไม่มีแล้ว ไม่ต่ออีกแล้ว ตัณหาอุปาทานกรรมภวะท่านไม่มีแล้ว แตกต่างกันตรงนี้ ห่างไกลวิบากธรรมนอกนั้นเหมือนกันหมด เพราะพระอรหันต์ในชาตินี้ท่านก็มีอวิชชาสังขารอันเป็นอดีตเหตุมาทุกองค์นั่นแหละ ถ้าไม่มี ท่านก็ไม่มาเกิดเป็นคนในชาตินี้ ท่านก็มีอวิชาสังขารเป็น อดีตเหตุมาแล้วทั้งนั้น ซึ่งส่งผลได้แก่วิบากในปัจจุบัน ได้แก่วิญญาณเอย นามรูปเอย สฬายตนะเอย ผัสสะเอย เวทนาเอย เหมือนกับปุถุชนทุกอย่างหมด แตกต่างกับปุถุชนตรงที่ว่า ท่านไม่ได้ก่อปัจจุบันเหตุเพื่อผลในอนาคต

ปัจจุบันเหตุที่ท่านไม่มีคืออะไร ? คือตัณหาอุปาทานกับกรรมภวะไม่มี ท่านไม่ได้ก่อขึ้น
ปัจจุบันเหตุ ๓ อันท่านไม่มี ส่วนปุถุชนมี ปุถุชนนั้นพอจักขุสัมผัสสชาสุขเวทนานั้น พอถึงแค่สุขเวทนา ไม่ถึงเพียงแค่นี้ แล่นปรี๊ดถึงตัณหาเลย พระอรหันต์พอกำหนดแค่เวทนาก็อยู่แค่เวทนาไม่ได้แล่นถึงตัณหา

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกว่าพระอรหันต์ทั้งหลายเสวยอารมณ์เหมือนกับปถุชนเสวยทุกอย่าง แต่ท่านมีชรังอุเบกขา ไม่หวั่นไหวกับอารมณ์ทั้งหลาย อุเบกขาที่เป็นไปในอารมณ์ทั้ง ๖ เรียกว่าชรังอุเบกขา อาการที่รู้เท่าทันความเป็นจริงไม่ให้เกิดนันทิราคะ เพราะเหตุนั้นความเพลินเพราะเหตุที่เสวยอิฏฐารมณ์หรือเกิดความดิ้นรนอยากจะให้พ้นไปเพื่อจะแยกเอาอารมณ์ดีใน ขณะที่เสวยอนิฏฐารมณ์ หรือเกิดความเมามัวตามไปเพราะเหตุที่เสวยมัฏชัฎตารมณ์ คืออุเบกขาเวทนาที่ได้รับเสวยมัฎชัฏตารมณ์เข้ามาท่านไม่มีสิ่งเหล่านั้น เพราะเหตุนั้นเวทนาที่เกิดกับพระอรหันต์เจ้าจึงไม่มีราคะเป็นอนุสัยตามนอนเนื่อง เมื่อไม่มีราคะเป็นอนุสัยตามนอนเนื่อง เวทนาอันเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาก็มีไม่ได้ มันหมดเพียงแค่นั้น และไม่เกิดปฏิคะความนอนเนื่องในทุกขเวทนา เหตุนั้นตัณหาก็เกิดขึ้นไม่ได้ ในการที่จะดิ้นรนเพื่อจะให้พ้นจากทุกขเวทนานั้น ไม่เกิดอวิชชาตามนอนเนื่องในขณะที่รับมัฏชัฎตารมณ์ เพราะเหตุนั้นตัณหาก็ไม่เกิดขึ้นในอารมณ์อันนั้น

เพราะเหตุที่พระอรหันต์ปัจจุบันเหตุ ๓ ไม่มี, ชาติ ชรา มรณะ โศกะ อันเป็นอนาคตผลของท่านจึงไม่เกิดกับท่าน ท่านจึงปฏิญาณตนได้ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์จบแล้ว กิจที่จะพึงทำสิ้นแล้ว ไม่มีอีกแล้ว นี้เป็นที่สุด ชาติ อื่น ๆ จากชาตินี้ของเราไม่มี ปฏิญาณได้อย่างนี้

คราวนี้อีกมติหนึ่งคือท่านผดันตะปรมะทัตตะ ท่านผดันตะปรมะทัตตะกล่าวว่าปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นไปได้ชั่วขณะ จิตดวงเดียวเป็นไปได้ทั้ง ๑๒ องค์ ชั่วขณะอารมณ์เดียว เป็นไปได้ครบทั้ง ๑๒ องค์ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ? ท่านให้ความอธิบายว่าเปรียบเหมือนเราเกิดโลภะในอารมณ์ โมหะมาคู่กับโลภะ โลภะนั้นมาเดี่ยวไม่ได้ ต้องมากับเพื่อนของเขาคือโมหะ เพราะฉะนั้นโมหะอันนั้นชื่อว่าอวิชาในขณะนั้น โลภะชื่อว่าตัณหาในขณะนั้น จิตในดวงที่เกิดโลภ โลภะมูลจิตดวงนั้นชื่อว่าวิญญาณ ขณะจิตดวงนั้นชื่อว่าวิญญาณ สังขาร ได้แก่เจตสิกที่สัมปยุตต์กับโลภะมูลจิตดวงนั้นชื่อว่าสังขาร ในขณะนั้น และนามรูป นามก็ได้แก่เวทนา สัญญาที่สัมปยุตค์กับโลภะมูลจิตดวงนั้นเองอีกนั่นแหละ

ชื่อว่านามรูปนั้นได้แก่วิญญัติรูปที่โลภะมูลจิตดวงนั้นเกิดขึ้น ชื่อว่ารูป สฬายตนะ ก็ได้แก่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ในขณะที่โลภะมูลจิตเป็นไปในขณะนั้น นี่เป็นสฬายตนะ ผัสสะก็ได้แก่ผัสสะในขณะนั้นอีกเหมือนกัน เพราะว่าในขณะจิตทุกดวงมีผัสสะเวทนาอีกเหมือนกัน ได้แก่สุขเวทนา ความพอใจรู้สึกว่าสบาย สุขเวทนาในขณะนั้น และตัณหาก็คือตัวโลภะนั่นเอง ที่ได้กล่าวมาแล้ว อุปาทานคือความยึดถือในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความโลภในขณะนั้น ภวะก็ได้แก่การ ประกอบกรรมบ้าง วจีกรรมบ้าง เช่น อาการเข้าไปลักอย่างนี้เป็นภวะ เข้าไปลักเพราะอำนาจโลภ ยื่นมือไปลักอย่างนี้

ในขณะนั้นก็เหมือนกันชราคืออาการที่ดวงจิตขณะนั้นแปรไปชื่อว่าชรา มรณะคือขณะจิตดวงนั้นดับไปชื่อว่ามรณะ เพราะฉะนั้นปฏิจจสมุปบาท ๑๒ เป็นไปได้ในอารมณ์เดียว ขณะเดียวครบทั้ง ๑๒ องค์ นี้อธิบายตามนัยของท่านผดันตะว่าอย่างนี้

แต่ว่าอาจารย์แห่งนิกายเสาตันติกะค้านว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าถ้าหากว่าปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ดวงจะพึงเป็นไปในดวงจิตดวงเดียวแล้ว เหตุกับผลก็มาอยู่ด้วยกัน ต้องมีขณะหนึ่งเป็นเหตุ ขณะหนึ่งเป็นผล ถ้าอย่างนั้นเหตุกับผลก็อันเดียวกันนะ เราจะเอาอะไรไปแยกว่าอันนี้เป็นเหตุอันนี้ผล อันนี้เป็นปฏิจจสมุปปาณธรรม อันนี้เป็นปฏิจจสมุปบณธรรมเล่า ? ธรรมดาเราจะรู้ว่าเหตุผลอย่างน้อยต้องมี ๒ ขณะ ขณะหนึ่งที่เป็นเหตุ ขณะหนึ่งที่เป็นผล ก็เมื่อกล่าวว่า ๑๒ ดวงจับกลุ่มอยู่ในขณะเดียวแล้ว อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล แยกไม่ออก เพราะฉะนั้นการที่กล่าวว่าปฏิจจสมุปบาทจึงเป็นไปได้ในอารมณ์เดียว

นิกายเสาตันติกะไม่เห็นด้วย จึงได้คัดค้านอย่างนี้ แต่โดยสรุปแล้วปฏิจจสมุปบาทท่านแสดงไว้ ดังมีพุทธภาษิตกล่าวว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดที่พวกเธอได้เห็นปฏิจจสมุปบาท
ด้วยปัญญาตามเป็นจริงชื่อว่าเห็นธรรม โย ธมมํ ปสฺสติ โส มํ ปสสติ"


คำว่า “ธมมํ” ในที่นี้ อีกนัยหนึ่งท่านหมายถึงอริยสัจจ์ อีกนัยหนึ่งท่านหมายถึงปฏิจจสมุปปาณธรรม เห็นปฏิจจสมุปบาทชื่อว่าเห็นธรรม เห็นธรรมก็ชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาทธรรม เห็นอันเดียวกันด้วยเป็นอย่างนั้น แล้วก็ตรัสไว้ว่า ปฏิจจสมุปบาทนี่แหละเป็นมัชฌิมาปฏิปทา

ที่กล่าวว่าปฏิจจสมุปบาทนี่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาคือเป็นอย่างไร ?
คือว่าคำว่า "ปฏิจจะ" ห้ามเสียซึ่งสสตะทิฏฐิ
คำว่า "อุปาทะ" ห้ามเสียซึ่งอุจเฉททิฏฐิ
คำว่า "ปฏิจจสมุปบาท" แปลว่าความเกิดขึ้นพร้อมกัน

ความที่ธรรมอันมีปัจจัยประชุมกันชื่อว่าปฏิจจะจึงดับเสียได้ซึ่งสสตะทิฎฐิ เพราะสสตะทิฏฐินั้นคือสสตะทิฏฐิที่เห็นว่าเที่ยงได้ก็เพราะมองไม่เห็นปัจจัยที่มาปรุงแต่งในภาวะนั้น จึงหลงผิดเอาว่าภาวะนี้เที่ยง แต่เมื่อใดเราเห็นว่าภาวะนี้มันก็สำเร็จมาจากปัจจัย ความรู้สึกว่าเที่ยงในภาวะนั้นก็ไม่มี สิ่งใดเกิดจากปัจจัย สิ่งนั้นก็ไม่มีสาระในตัวมันเอง สิ่งใดไม่มีสาระในตัวมันเอง สิ่งนั้นก็แปรผันได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าเพียงลำพังปฏิจจะอันเดียวดับได้ซึ่งสสตะทิฎฐิแล้ว

ส่วนอุปาทะดับซึ่งอุจเฉททิฏฐินั้นเพราะอุจเฉททิฏฐิมองแต่ข้างดับ ไม่เห็นข้างเกิด อุปาทะแปลว่าความเกิดขึ้น ความเกิดขึ้นชื่อว่าอุปาทะ การที่เกิดสสตะทิฎฐิเห็นแต่ข้างเกิด ไม่เห็นข้างดับ จึงเกิดสสตะทิฏฐิได้ เห็นแต่ข้างเกิดข้างเดียว ข้างดับมองไม่เห็นจึงเลยมองเห็นว่าเที่ยงแล้ว พรหมโลกนี้เที่ยง อาตมันเที่ยง ตัวตนเที่ยง เห็นแต่เกิดเรื่อยไปไม่เห็นดับ จึงได้เกิดสสตะทิฎฐิ

คนที่เกิดอุจเฉททิฏฐิก็เพราะเห็นแต่ตับ ไม่เห็นเกิด เห็นมันดับเรื่อยไป ๆ ก็หายไป ๆ ก็วูบไป ๆ ก็ว่างไป ๆ ก็หมด เกิดอุจเฉททิฎฐิขึ้นมา ขาดสูญอื่นทุกสิ่ง นี่เห็นแต่ข้างดับไม่เห็นข้างเกิด เพราะฉะนั้นอุปาทะจึงห้ามเสียซึ่งอุจเฉททิฏฐิ ปฏิจจสมุปปาณธรรมจึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทาตามนัยนี้ คือห้ามทั้งสสตะทิฏฐิกับอุจเฉททิฏฐิ แสดงธรรมเป็นท่ามกลางว่าเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มี อาการที่แสดงอย่างนี้แหละเป็นมัชฌิมาปฎิปทา

พระองค์ได้ตรัสในสังยุตตนิกายว่า
"ดูก่อนกัจจายนะ เมื่อใดแลมาพิจารณาเห็นโลกสมุทัย ความเกิดขึ้นของโลกย่อมมีปัจจัยอย่างนี้ ๆ เป็นลำดับไป เมื่อนั้นย่อมละได้ละเสียซึ่งอัตถิตาความมีอยู่ได้ คือสสตะทิฏฐิ เมื่อใดมามองเห็นว่าทุกสิ่งทั้งหลายย่อมดับไป เมื่อมีปัจจัยเกิดขึ้นก็ย่อมดับเสียได้ซึ่งนัตถิตา ความเห็นว่าขาดสูญ จะช่วยความมีอยู่อีกเป็นส่วนสุดข้างหนึ่ง ช่วยความไม่มีอยู่อีกเป็นส่วนสุดข้างหนึ่ง ตถาคตย่อมแสดงธรรมโดยท่ามกลาง"

แสดงโดยท่ามกลางเป็นไฉน ?
กล่าวคืออวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารโดยลำดับ นี้เป็นสายสมุทัยวาร แล้วประการตรงกันข้าม อวิชชาดับ สังขารดับ วิญญาณดับ นี้เป็นสายนิโรธวารเป็นลำดับ เมื่อเห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ทิฎฐิอันเป็นส่วนสุดทั้งสองคืออัตถิตากับนัตถิตาของผู้นั้นย่อมไม่เกิด นี้เป็นมัชฌิมาปฏิปทา

เพราะฉะนั้นมัชฌิมาปฏิปทามี ๒ นัย นัยหนึ่งหมายถึงมรรคมีองค์ ๘ มรรคมีองค์ ๘ หมายถึงภาเวตปะธรรม คือตัวที่จะต้องเข้าไปอบรมให้มีที่เดียว ส่วนมัชฌิมาปฏิปทาตามนัยปฏิจจสมุปบาทนั้นคล้ายกับว่าเป็นทางทฤษฎี 

มรรค ๘ ทางปฏิบัติกับทางทฤษฎีต่างกันอย่างนี้ ปฏิจจสมุปบาทเป็นมัชฌิมาปฏิปทาในทางทฤษฎี ส่วนมรรคมีองค์ ๘ เป็นมัชฌิมาปฏิปทาในทางปฏิบัติ นี่ฉีกให้เห็นข้อแตกต่างกันอย่างนี้ แล้วเราก็จะเข้าใจความหมาย ผู้ที่เห็นปฏิจจสมุปบาทนั้นชื่อว่าได้ธรรมฐิติญาณ ปุพเพ โช สุสิม ธมฺมฐิติญาน ภวา ปชฺชานิพพานาญาเนติ ตรัสว่า
"ดูก่อน สุสิมะ ธรรมฐีติญาณย่อมเกิด นิพพานญาณย่อมเกิดตามมาภายหลัง"
นี้ทรงแสดงไว้ในสังยุตตนิกาย ธรรมฐีติญาณ คือญาณความรู้ในปฏิจจสมุปบาทนี้แหละชื่อว่าธรรมฐีติญาณ เพราะถ้ารู้ปฏิจจสมุปบาทแล้ว ความรู้ในไตรลักษณ์ญาณก็ปรากฏ เมื่อเห็นทุกสิ่งว่าอวิชชาเป็นปัจจัยเป็นลำดับแล้ว เราก็เห็นว่า อ้อ ! นี่เป็น อนิจจัง นี่เป็นทุกขัง และเป็นอนัตตา ที่เป็นอนัตตาเพราะไม่มี หาสภาวะคงที่ไม่ได้ มองไปก็เป็นลูกโซ่ เพราะอันนี้มีอันนั้นจึงเกิด อันนี้ไม่มี อันนั้นก็ไม่มี อันนั้นดับเหตุ อันนี้จึงจะดับ เห็นเป็นอย่างนี้ไป เมื่อเห็นเป็นอย่างนี้ไปแล้ว อัตตานุทิฏฐิจะเกิดได้อย่างไร ? เกิดไม่ได้ !

วิปลาสธรรมคือความเป็นสุขวิปลาส ความเห็นว่างาม หรือความนิจวิปลาส ความเห็นว่าเที่ยงแท้จะมีได้อย่างไร ? เพราะเห็นว่าอันนี้จึงมี เกี่ยวพันกันอย่างนี้ วิปลาสคืออัตตวิปลาส ๑ สุขวิปลาส ๑ นิจวิปลาส ๑ เกิดขึ้นได้ก็เพราะว่าอาการที่เราไม่เห็นสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนั้นก็ไม่มีตาม ให้เห็นอย่างเดียวว่าอันนี้เกิดเรื่อย ๆ ไป เราจึงถือว่ามีแก่นสารใช่ไหม ? ถ้าเมื่อใดเรามาพิจารณาตามนัยปฏิจจสมุปบาทดังได้รู้อยู่แล้ว ความเป็นแก่นสารในสิ่งทั้งปวงนั้นก็หายวูบไปจากใจเรา เมื่อหายวูบไปจากใจเราอะไรเกิดขึ้นเล่า ? ก็ไตรลักษณ์ญาณ วิปัสสนาญาณ ความเป็นจริงได้ปรากฏขึ้นแล้วว่านี้เป็นอนิจจังจริง ทุกขังจริง อนัตตาจริง ความยึดถือก็ปล่อยไป เพราะฉะนั้นญาณกำหนดรู้ปฏิจจสมุปบาทจึงชื่อว่าธรรมฐิติญาณ เมื่อกำหนดรู้ธรรมฐีติญาณเกิดแล้ว นิพพานญาณจึงเกิด ญาณกำหนดรู้ในนิพพานจึงเกิดตามมา จึงได้นิพพานเป็นอารมณ์ได้

พูดง่ายๆ ว่าธรรมฐีติญาณนั้นคือวิปัสสนาญาณนั้นเอง วิปัสสนาญานใดก็คือญาณที่กำหนดในปฏิจจสมุปบาทนั้นเอง เป็นไปในปฏิจจสมุปบาท เพราะว่าทำอะไรๆ ก็ตามจะหนีพ้นจากปฏิจจสมุปบาทไม่มี ขันธ์ ๕ ก็อยู่ในปฏิจจสมุปบาท เราบอกว่ากำหนดขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นั่นแหละกำหนดในปฏิจจสมุปบาทละ กำหนดขันธ์ ๕ กำหนดอารมณ์นั้นแหละ กำหนดปฏิจจสมุปบาทอีก อะไรบ้างที่จะไม่กระทบปฏิจจสมุปบาทในโลกนี้ไม่มีเลย โลกคือปฏิจจาสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละคือโลก อันเดียวกันนั้นเอง

เรื่องปฏิจจสมุปบาทตามนัยนานาทัศนะก็จบลงโดยย่อเพียงเท่านี้

หน้า๑  หน้า๒  หน้า๓  หน้า๔  หน้า๕  หน้า๖  หน้า๗ 























วันพุธ

ปฎิจจสมุปบานานาทัศนะ(หน้า๖)

ตัณหาเป็นทุกข์เพราะต้องแสวงหาวิ่งพล่านเพื่อจะแสวงหาอารมณ์เหมือนกับโจรต้องการเที่ยวไขว่คว้าสมบัติจึงเรียกว่า มีอาการเที่ยวแสวงหาเป็นทุกข์เป็นมูล อุปาทานมีอาการเที่ยวตามอารักขาเป็นมูล ทุกข์เพราะอารักขาเป็นมูล เพราะว่าเมื่อไขว่คว้าได้สมบัติเช่นนั้นแล้วก็ยึดถือว่าสมบัติเช่นนั้นเป็นของข้า ใครอื่นจะมาแย่งชิงต่อไปไม่ได้ มีความหวงแหนปรากฏขึ้น

คำว่า "อุปะ" ในภาษาบาลีแปลว่า กระชั้นชิด หรือจวนแจ หรือแปลว่าใกล้ชิด หรือแปลว่ากระชับแน่น
คำว่า "อาทานะ" แปลว่าถือเอาไว้ เหนี่ยวเอาไว้ ยึดเอาไว้ สนธิเข้าไปเป็นอุปาทานะ คืออาการที่เข้าไปเหนี่ยวรั้งอย่างกระชั้นชิด เหนี่ยวรั้งอย่างแน่นแฟ้น ชื่อว่าอุปาทาน

ท่านจึงได้กล่าวว่าตัณหามีทุกข์เพราะแสวงหาเป็นมูล อุปาทานมีทุกข์เพราะตามอารักขาอารมณ์อันตัวได้มานั้นเป็นมูล ตัณหานั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อความมักน้อย อุปาทานนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อความสันโดษ เป็นปฏิปักขธรรมกัน ถ้าเราถามว่าอะไรเป็นธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตัณหา ? ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตัณหาคือความมักน้อย ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออุปาทานนั้นคือความสันโดษ องคธรรมทั้งสอง ความจริงก็เป็นโลภะอันเดียว แต่ท่านแยกให้เห็นว่าอันไหนอ่อน อันไหนแรง ตัณหาอ่อนกว่าอุปาทาน อุปาทานถึงกับเหนียวรั้งหวงแหนตัณหาเพียงแต่แส่เพื่อจะแสวงหาเท่านั้นเอง


ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ
ภพในที่นี้มี ๒ นัย
กรรมภพ ๑ อุปติภพ ๑ ในที่นี้กรรมภพท่านแก้ว่า ได้แก่กุศลเจตนา กุศลธรรม อกุศลธรรม คล้ายกับสังขารนั่นแหล่ะ คือแก้เป็น ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขารเหมือนกัน แต่ว่าเป็นการกระทำที่เจือไปด้วย คือไม่ใช่เพียงแต่ว่าเป็นมโนกรรมอย่างเดียว ยังเป็นทั้งวจีกรรม กายกรรมได้ด้วยประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่งท่านให้นัยว่า อวิชชากับสังขารนั้นเป็นอดีตเหตุ ส่วนกรรมภวะในที่นี้ได้แก่ปัจจุบันเหตุที่จะส่งผลให้เกิดอนาคตผล นี่ท่านแก้โดยแบ่งออกเป็น ๓ ว่า อวิชชาสังขารนั้นเป็นอดีตเหตุ ปัจจุบันผลคือวิญญาณ นาม รูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา ทั้งหมด นี้เกิดมาจากอวิชชากับสังขาร ถึงเวทนา แล้วกรรมภวะในปัจจุบันจะเป็นเหตุ เป็นกรรมที่เราทำใหม่ เป็นสังขารอันใหม่ที่เราทำขึ้นในชาตินี้เพื่อจะให้ได้รับผล กล่าวคือชาติชราโศกะปริเทวะในอนาคต ผลในภายภาคหน้าอันหนึ่ง นี้อธิบายตามนัยนี้โดยกาล ๓ คือ อดีตกาล ปัจจุบันกาล อนาคตกาล คือนัยนี้แท้แล้ว กรรมภวะในที่นี้ ก็แก้อย่างเดียวกับสังขารนั้นเอง แต่ว่าเราทำความเข้าใจเสียว่าสังขารที่ว่ามานั้นเป็นอดีต ส่วนกรรมภวะนี้เป็นปัจจุบัน ทำความเข้าใจอย่างนี้ก็แล้วกันว่า กรรมภวะนั้นได้แก่ปัจจุบันที่จะเป็นเหตุ ให้ได้ผลในอนาคตต่อไป

ส่วนอุปติภพนั้นมีนัย ๒ อย่างที่เราอาจไม่เข้าใจว่าอุปติภพชาติที่แตกต่างกันอย่างไร อุปติภพไม่เป็นปัจจัยให้แก่ชาติ เพราะฉะนั้นคำว่าภวะปัจจยาชาตินั้นต้องทำความเข้าใจว่ากรรมภวะเท่านั้นที่จะเป็นปัจจัยให้เป็นชาติได้ แต่อุปติภวะไม่เป็นปัจจัยให้เกิดชาติได้เลย ต้องแยกกัน ถ้าเหมาว่าทำกรรมภวะและอุปติภวะเป็นปัจจยาชาติแล้วผิด กรรมภวะเท่านั้นที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดชาติได้ อุปติภพไม่เป็นปัจจัยให้เกิดชาติเลยเพราะว่า อุปติภพนั้นเป็นวิบาก ไม่ใช่เป็นกิเลส กรรมภวะเป็นกิเลสสวัฏฏ

อวิชชา ๑ ภวตัณหา ๑ และกรรมภวะนี้อีก ๑ สังขารอีก ๑ เป็นพวกกิเลสวัฏฏ
อุปติภวะไม่เป็นกิเลสวัฏฏ เพราะเป็นหลักธรรม

อุปติภวะได้แก่อะไร ? ได้แก่ภพ ๙ มีกามภวะ ๑ รูปาภวะ ๑ อรูปาภวะ ๑ สัญญาภวะ ๑ อสัญญาภวะ ๑ เนวสัญญานาสัญญาภวะ ๑ เอกะโวการภวะ ๑ จตุโวการภวะ ๑ ปัญจโวการะภวะ ๑
สิริรวมเป็น ๙ ด้วยกัน

ท่านมีปัญหาว่า อุปติภพกับชาติแตกต่างกันอย่างไร ? ถ้าแก้ว่าอุปติภาพแปลว่าที่เกิดแล้วละก็กับอุปติชาติ นี้จะแตกต่างกันอย่างไร ? แตกต่างกันสิ่ ! แต่ว่าคล้ายกันนิดเดียวเท่านั้นเอง
"อุปติ" แปลว่า ที่เกิด "ชาติ" แปลว่าความเกิด ต่างกันแค่นี้ ที่เกิด กับ ความเกิด มันต่างกัน อุปติภพนั้นเป็นที่เกิด ชาติคือความเกิดขึ้น อาการที่ขันธ์ปรากฏขึ้นชื่อว่าชาติ อาการที่อัตตภาพปรากฏขึ้นแล้วชื่อว่าชาติเป็นอุปติ นั่นเป็นที่เกิด ต่างกันอย่างนี้

ท่านผู้ฟังบางท่านอาจมีความเข้าใจว่าอุปติภพ คือที่เกิด ชาติ คือความเกิด แล้วก็เห็นข้อแตกต่างกันระหว่างคำ อุปติ กับ ชาติ นั้นแตกต่างกันอย่างไร ? เมื่อมีชาติแล้ว ต้องมี ชรา มรณะ ตามมา

ชราคืออะไร ? คือความแปรปรวนไปแห่งอัตตภาพอันเกิดแต่ชาติ ชื่อว่า ชรา โศกะปริเทวะทุกข์ก็ตามมา
โศกะนั้นคืออะไร ? ธรรมชาติของโศกะคือความตรมเตรียมใจ เป็นไปในทางนามธรรม ไม่เป็นไปในทางรูปธรรม โศกะคือความตรมเตรียมใจ อาการที่ตรมเตรียมใจเพราะเหตุที่เสื่อมญาติบ้าง เสื่อมทรัพย์บ้าง เสื่อมยศฐาบรรดาศักดิบ้าง อาการตรมเตรียมใจชื่อว่าโศกะ
ปริเทวะเหล่านี้คืออะไร ? เพราะว่าเรามักจะพูดกันเสมอว่า โสกะปริเทวะ ปริเทวะคืออาการบ่นเพ้อแสดงมาทางวาจา โศกเศร้ากระทั้งบนเพ้อมาทางวาจา และบ่นเพ้อคร่ำครวญที่เดียวว่า "โธ ! เป็นทุกข์จริง ช้ำอกช้ำใจต้องลำบากลำบนจริง" อาการปนเพ้ออย่างนี้คือปริเทวะ ถ้าลำพัง เพียงว่าตรมเตรียมใจทุกข์ทนหม่นหมองอยู่เฉย ๆ ไม่แสดงอาการทางวาจา ก็ยังไม่เป็นปริเทวะ ต่อเมื่อไรบ่นเพ้อออกมา ถอนใจฮืดฮาดรำพึงรำพันออกมาเป็นปริเทวะ
อุปายาสคืออะไร ? คือความคับแค้นอย่างเหลือทน หนักกว่าโศกะ หนักกว่าปริเทวะ คับแค้นอย่างเหลือกลั้นเหลือทนที่เดียว อาการคับแค้นอย่างหนัก คนที่ฆ่าตัวตายได้ก็เพราะอำนาจอุปายาส ถ้าลำพังเพียงโศกะ ลำพังเพียงปริเทวะไม่ถึงกับฆ่าตัวตาย แต่ถ้าทุกข์ถึงขั้นอุปายาสแล้วอาจฆ่าตัวตายได้ อาจฆ่าผู้อื่นได้ ทุกขอุปายาสคับแค้นใจอย่างเหลือทน คล้าย ๆ ว่าทุกข์กระทั่งใจมันจะฟังออกมาข้างนอกอยู่แล้ว ถ้าไม่ทำอะไรเสียบ้างต้องอกแตกตายแน่ อาการอย่างนี้เป็นอุปายาส เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า โสกะปริเทวะทุกขโทมนัสอุปายาสตามมาเป็นพรวน ทุกขขันธสสะ ปรากฎออกมาที่เดียว อาการกองทุกข์กองเบ้อเร่อเต็มแปร้ออกมาที่เดียว เพราะเหตุที่ว่ามีอวิชชาเป็นปัจจัยตามลำดับ ดังที่แสดงมานี้ อาการอันนี้แปร้ออกมา นี่ว่ากันตามนัยแห่งพระบาลีทั้งอรรถกถาด้วย ที่ได้นำมาแสดงอย่างนี้

คราวนี้ในสมัยที่พระพุทธองค์ปรินิพพานไปแล้ว ความคิดความอ่านของบรรดาพระอาจารย์ทั้งหลายที่พยายามอรรถาธิบายพุทธมติให้แตกต่างกันออกไปตามนัยแห่งอาจารย์แต่ละสำนัก ๆ นั้น นัยของปฏิจจสมุปปาณธรรมก็มีผู้มีความหมายแตกต่างกัน ดังจะได้นำมาแสดงต่อไปนี้

ในนิกายสราวาสติวาท นิกายนี้เป็นนิกายสำคัญ เขามีอภิธรรม ๗ ปกรณ์เหมือนกัน แต่ว่าเรียกชื่อแตกต่างกับอภิธรรมฝ่ายบาลีและสารัตถะในอภิธรรมก็แตกต่างกันบ้าง คือมีอภิธรรมสารีปกตาธรรม ญาณะปรกะฐานะภิธรรมและปกรณะปกรณาภิธรรม ธรรมาสกันธาภิธรรม และสังมีติปรญายภิธรรม นิกายนี้ได้นิยามความหมายของปฏิจจสมุปปาณธรรมกับปฏิจจสมุปบัณ ธรรมคล้ายกันบ้าง ท่านผะดันตะสวาประเถระได้นิยามว่าอวิชชาเท่านั้นที่ควรจะเรียกว่าเป็นปฏิจจสมุปปาณธรรม ชรา มรณะ โศกะ ปริเทวะ ทุกข โทมนัส อุปายาส เรียกว่าปฏิจจสมุปบัณธรรม ส่วนอีก ๑๐ องค์ที่เหลือตั้งแต่วิญญาณ กระทั่งถึงชาติทั้งหมดเป็นทั้ง ปฏิจจสมุปปาณธรรมด้วย เป็นทั้งปฏิจจสมุปบัณธรรมด้วย นี้เป็น

มติที่ ๑ ของอาจารย์ผะดันตะสวาประเถระ
ท่านอาจารย์ผะดันตะสวาประเถระได้อรรถาธิบายตีความคำว่า ปฏิจจสมุปปาณธรรมกับปฏิจจสมุปบัณธรรมแตกต่างกันอย่างนี้ ปฏิจจสมุปปาณธรรมคืออวิชาอันเดียว ควรเรียกว่าปฏิจจสมุปปาณธรรม ส่วนชรามรณะโศกะปริเทวะทุกขโทมนัสอุปายาสนั้นเป็นปฏิจจสมุปบัณธรรม เพราะว่าชรามรณะโสกะปริเทวะทุกขโทมนัสอุปายาสนั้นเป็นวิบาก ตัววิบากจะเกณฑ์ให้เป็นปฏิจจสมุปบุณธรรมไม่ได้ ชราไม่ใช่เป็นเหตุให้เกิดอะไรขึ้นในอนาคตกาลข้างหน้า เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ โสกะไม่ใช่เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ ทุกขโทมนัสอุปายาสไม่ได้เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ แต่มันเองเป็นเพียงแต่ผลที่มาจากเหตุ มันจะเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลในอนาคตไม่ได้ เพราะฉะนั้นเหตุผลท่านก็น่าฟังที่กล่าวว่าเป็นปฏิจจสมุปบัณธรรมถ่ายเดียว ไม่เป็นปฏิจจสมุปบัณธรรม เป็นวิญญาณกระทั่งถึงชาติ, วิญญาณ นาม รูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปทาน ภวะ ชาติ ๑๐ อันนี้ เป็นทั้งปฏิจจสมุปปาณธรรม เป็นทั้งปฏิจจสมุปปาณธรรมด้วยเป็นอย่างนี้เพราะว่าวิญญาณเป็นทั้งปฏิจจสมุปปาณธรรม ในขณะเดียวกัน วิญญาณก็เป็นปฏิจจสมุปบัณธรรมของสังขาร แล้ววิญญาณก็เป็นปฏิจจสมุจจสมุปบัณธรรมของนามรูป ในขณะเดียวกันนามรูปก็เป็นปฏิจจสมุปบัณธรรมของวิญญาณ นามรูปเป็นปฏิจจสมุปบัณธรรมของสฬายตนะ ปฏิจจสมุปบัณธรรมของนามรูป สฬายตนะเป็น ปฏิจจสมุปบัณธรรมในขณะเดียวกัน ผัสสะก็เป็นปฏิจจสมุปบัณธรรมของสฬายตนะ

นี่แหละมันวนเวียนกันอย่างนี้ ตั้งแต่วิญญาณถึงชาติต่างเป็น ปฏิจจาสมุปปาณธรรมและปฏิจจสมุปบัณธรรมได้ เพราะเหตุนั้นท่านจึงแสดงว่า องค์ ๑๐ ที่อยู่ท่ามกลางนี้เป็นทั้งปฏิจจสมุปาณธรรมด้วย เป็นทั้งปฏิจจสมุปบัณธรรมด้วย ส่วนชรา โสกะ ปริเทวะ ทุกข โทมนัสอุปายาสนั้น เป็นผลถ่ายเดียว ไม่เป็นเหตุได้ จึงเป็นปฏิจจาสมุปบัณธรรม นี้เป็นมติที่ ๑ ว่าอย่างนั้น

มติที่ ๒ เป็นของท่านผดันตะศรีโฆษะ
ท่านผู้นี้ได้ให้ความหมายว่า อวิชชากับสังขารเป็นปฏิจจสมุปปาณธรรม ส่วนชาติกับชรามรณะนั้นเป็นปฏิจจสมุปบัณธรรม องค์ธรรมที่เหลือก็เป็นทั้งปฏิจจสมุปปาณธรรมด้วย เป็นทั้งปฏิจจสมุปปบัณธรรมอีกด้วย นี้เป็นมติที่แตกต่างจากมติแรก

แต่ถ้าเราจับเหตุว่าอดีตเหตุ คืออวิชชากับสังขารเป็นอดีต ปัจจุบันผลคือวิญญาณ นาม รูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา เป็นปัจจุบันผล ปัจจุบันเหตุ ๓ คือ ตัณหา อุปาทานกับกรรมภวะ เป็นปัจจุบันเหตุ ๓ อันจะให้เกิดผล กล่าวคือ ชรา โสกะ ปริเทวะ ทุกข โทมนัส เป็นอนาคต ผลอีกข้างหน้า ถ้าอย่างนี้แล้วก็เห็นได้ชัด เห็นได้ชัดอย่างไร ? เห็นได้ชัดในข้อที่ว่าวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ กับเวทนาเป็นปัจจุบันผล คือถ้าหากว่าไม่จัดเป็นปัจจุบันผลแล้ว พระอรหันต์ที่ท่านละอวิชชาได้ ท่านก็ยังมีวิญญาณปวัตติวิญญาณท่านยังเป็นไปอยู่ นามรูปท่านก็ยังมีอยู่ (อ่านหน้าต่อไป)

หน้า๑  หน้า๒  หน้า๓  หน้า๔  หน้า๕  หน้า๖  หน้า๗ 

วันอังคาร

ปฎิจจสมุปบาทนานาทัศนะ(หน้า๕)

ในปฏิจจสมุปปาณธรรมตามมติในนิกายเถรวาทเรานั้น มีภวะจักร อันเป็นตัวการอยู่ ๒ ตัวคือ อวิชชา ๑ ภวตัณหา ๑ ในภาเวตปธรรม ปหานตปธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ในอังคุตตรนิกาย จตุกนิบาตแสดงไว้ว่า ธรรมที่ควรกำหนดรู้ได้แก่อะไร ?
ควรกำหนดรู้ได้แก่นาม ๑ รูป ๑ เข้าไปกำหนดรู้เท่าทัน
ธรรมที่ควรละคืออะไร ? ปหานตัปกิจปหานตัปกิจคืออะไร ?
นามรูปนี้เป็นปริญเญยกิจ ควรเข้าไปกำหนดให้รู้เท่า ปหานตัปกิจได้แก่ อวิชชา ๑ ภวตัณหา ๑ ควรแก่การเข้าไปละเข้าไปประหาร
ธรรมที่เป็นสัมชิกาตัปปกิจควรเข้าไปทำให้แจ้งคืออะไร ?
ได้แก่นิพพาน
ธรรมที่ควรเข้าไปเจริญเป็นภาเวตปกิจอบรมให้มีขึ้นคืออะไร ?
คือมัคมีองค์ ๘ 

เพราะฉะนั้นในที่นี้เราจะเห็นว่า พระองค์ทรงแสดงปฏิจจสมุปปาณธรรม ฉะนั้น รวบรัดคือมุ่งเอาคำว่า อวิชชากับภวตัณหา อวิชชากับภวตัณหานี้ท่านว่าเป็นนปุพโกติ นปุพโกติแปลว่า เบื้องต้นไม่ปรากฏ เราจะสืบสาวราวเรื่องไปต้นตอว่า อวิชชากับภวตัณหา นั้นมีปฐมเหตุอะไร เบื้องต้นมาจากไหนไม่ปรากฏ ท่านใช้ศัพท์ว่านปุพโกติ

ทำไมถึงเอาอวิชชากับภวตัณหาเป็นในทางเช่นเดียวกัน ?
ความจริงก็เป็นอันเดียวกัน ภวตัณหาอันใดอวิชชาก็อันนั้น อวิชชาใด ภวตัณหาก็อันนั้น แต่ว่านี้แสดงถึง ๒ นัย คือว่าแสดงว่าสัตว์ที่จะพึงไปถือปฏิสนธิในทุกขคติภูมิ พระองค์ทรงแสดงโดยนัยแห่งอวิชชา
อำนาจแห่งอวิชชาพาสัตว์ไปปฏิสนธิในทุคติ ถ้าหากว่าสัตว์จะไปปฏิสนธิในคติภูมิ พระองค์ทรงแสดงโดยนัยแห่งภวตัณหา เพราะฉะนั้นอวิชชานำไปสู่ปฏิสนธิในภพน้อยภพใหญ่ "ภวาภวะ" ในภพน้อยภพใหญ่ แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามาคู่กับภวตัณหาแล้วอวิชชาในที่นี้ ท่านหมายมุ่งเอาว่าไปปฏิสนธิเป็นตัวนำของสัตว์ที่จะพาไปสู่ปฏิสนธิในทุคติภูมิ ส่วนภวตัณหานั้นมีหน้าที่นำสัตว์ไปปฏิสนธิในสุคติภูมิ เพราะเหตุว่าสัตว์ใดถึงซึ่งสสตทิฏฐิย่อมเจริญ ฌาณบ้าง เจริญศีลบ้าง เพื่อหวังความที่ตนเทียงในภพหน้าก็ดี เพื่อหวังเห็นว่าสวรรค์เป็นของเทียงก็ดี เห็นพรหมโลกเที่ยงก็ดี สัตว์นั้นย่อมสหรจรน์ด้วยภวตัณหาเป็นปัจจัยเป็นแม่นแท้ เมื่อภวตัณหาเป็นรากเหง้า เพราะภวตัณหานั้นในนิเทศนั้นท่านแก้ว่าได้แก่ตัวสสตทิฏฐนั้นเอง แต่ว่าภวตัณหาย่อมพาสัตว์ไปท่องเที่ยวในภพใหญ่น้อยเป็นลำดับไป นี้อันหนึ่ง


แต่ว่า อีกอย่างหนึ่งทรงแสดงด้วยอำนาจของอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารโดยลำดับนั้น แสดงแก่สัตว์ผู้มีทิฏฐิจริต สัตว์ใดซึ่งหนักในทิฏฐิจริต ทรงแสดงอวิชชาเป็นลำดับตามนัยปฏิจจสมุปปาณธรรมเป็นลำดับให้ฟัง แต่สัตว์ใดที่มีเชื้อตัณหาจริตเป็นมูล ก็ทรงแสดงภวตัณหาเป็นเหตุต้นเป็นลำดับให้ฟัง นี้เป็นการยักย้ายแตกต่างกันระหว่างภวจักร ๒ กล่าวคือ อวิชากับภวตัณหา ถ้ามาคู่กันก็ต้องแยกแยะอย่างนี้ แต่โดยปกติทั่วๆไปแล้ว ก็ทรงแสดงอวิชชานี่แหล่ะเป็นรากเหง้าต้นตอของวัฎฎะทั่วๆไป แต่โดยนัยพิเศษในกรณีที่ว่าถ้าพบพระพุทธพจน์ที่มีคำว่า อวิชชากับภวตัณหามาคู่กันแล้ว ก็ให้ทำความเข้าใจอย่างนี้ว่ามีอรรถาธิบายแตกต่างกันอย่างนี้ว่า อวิชชาเป็นเบื้องต้นนั้น ทรงแสดงแก่สัตว์ผู้หนักในทิฏฐิจริต ถ้าหากว่า ทรงแสดงปฏิจจสมุปปาณธรรมโดยนัยมีภวตัณหาเป็นเบื้องต้นนั้น ทรงแสดงแก่สัตวผู้หนักในภวตัณหา เพราะฉะนั้นสัตว์ผู้จะถือปฏิสนธิในทุคติภูมิ ทรงแสดงโดยรากเหง้าคืออวิชชา สัตว์ที่จะถือปฏิสนธิในสุคติภูมิ ทรงแสดงโดยรากเหง้าคือภวตัณหา ให้ทำความเข้าใจ ในข้อแตกต่างระหว่างคำว่า อวิชชากับภวตัณ หาที่มาคู่กันในนัยอันนี้ด้วย แต่โดยทั่วๆ ไปแสดงอวิชชาเป็นต้นตอใหญ่ ทั้งอวิชชากับภวตัณหาท่านใช้คำว่านปุพโกติ มีเบื้องต้นไม่ปรากฏ เราจะสืบสาวราวเรื่องอะไรเป็นต้นตอว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไร สืบสาวไม่ได้ เบื้องต้นไม่ปรากฏจริง ๆ เพราะว่ามันเป็นวงจรหมุนกันอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ท่านจึงกล่าวว่าเป็นภวจักร จักรคือวงกลมที่หมุนไปนั่นเอง อวิชชาโดยปกตินั้นท่านก็แสดงว่าได้แก่ความไม่รู้ในสัจจะ ๔ ความไม่รู้ในนามรูปโดยเที่ยง ความเป็นจริง พูดง่ายๆ ว่าความไม่รู้ในลักษณะญาณ รู้ว่านี่เป็น นี่ไม่เที่ยง นี่เป็นทุกข์ นี่ไม่ใช่ตัวตน อาการที่ไม่รู้อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นอวิชชาเหมือนกัน

ส่วนคำว่า "สังขาร" ในคำว่าอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร ในที่นี้คำว่าสังขาร ยังมีบางคนเข้าใจผิด คือว่าในอภิธรรมปิฎกวิภังคปกรณ์แก้ว่า ปุญญาภิสังขารโร อปุญญาภิสังขาโร อเนญชาภิสังขาโร กายะสังขาโร วจีสังขาโร สัญญาสังขาโร มโนสังขาโร บางอันใช้ว่าจิตตสังขาโร อยํ มุจติ สังขารา นี้แหละเรียกว่าสังขาร เพราะฉะนั้นในที่นี้เราก็มีปัญหาว่า ปุญญาภิสังขารหมายเอาคือใน อปุญญาภิสังขาร หมายเอาแค่ไหน อเนญชาภิสังขาร ท่านที่เคยเป็นนักศึกษาอภิธรรมมาแล้วก็คงเข้าใจ พูดทีเดียวก็เข้าใจเลย ในอรรถากถาสัมโมหะวิโมทนีปกรณ์ท่านพูดย่อๆ กุศลเจตนาที่เป็นกามาพจร รูปาวจร ๑๓ ดวง กุศลเจตนาที่เป็นไปในจิต ๑๓ ดวงนี้ด้วยปุญญาภิสังขาร กุศลเจตนาที่เป็นไปในจิตที่เป็นไปในกามาพจรกุศล รูปาวจรกุศล รวมทั้งหมด ๑๓ ดวงนี้ชื่อว่าปุญญาภิสังขาร

อปุญญาภิสังขารได้แก่อะไร ? ท่านก็แก้ว่าได้แก่เจตนาที่เป็นไปในอกุศลจิต ๑๒ ดวงนั้นเอง ชื่อว่าอปุญญาภิสังขาร ส่วนอเนญชาภิสังขารนั้นได้แก่เจตนาที่เป็นไปในอรูปาวจรกุศลจิต ๔ ดวง อันนั้นชื่อว่าอเนญชาภิสังขาร นี้ไม่มีปัญหา คือในศัพท์คำว่ากายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร มีปัญหาขึ้นมา บางท่านแก้ว่า กายสังขารเป็นไฉน ? แก้บอกว่าได้แก่อัสสาสะปัสสาสะ วจีสังขารเป็นไฉน ? ได้แก่วิตกวิจาร จิตสังขารเป็นไฉน ? ได้แก่สัญญากับเวทนา ถ้าแก้อย่างนี้ผิด ไม่ใช่นัยในลังขารในปฏิจจสมุปปาณธรรม

คำว่ากายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขารนั้นมี ๒ นัย นัยหนึ่งคือกายสังขาร ได้แก่วิตกวิจารที่ปรุงแต่งให้เกิดคำออกมา ให้เกิดวจีกรรม วจีเพศ ออกมา เพราะคนเราจะพูดต้องมีวิตกวิจารเสียก่อนต้องยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ที่ตัวจะพูดนั้นเสียก่อน และต้องไตร่ตรองในอารมณ์นั้นเสียก่อนจึงจะหลุดออกมาได้ เพราะฉะนั้นท่านกล่าวว่ากายสังขาร อัสสาสะปัสสาสะนั้นเป็นเครื่องที่ทำให้เรามีชีวิตยืนยาวอยู่ได้ วจีสังขาร คือวิตกวิจารที่ปรุงแต่งวาจาออกมา ส่วนจิตสังขารนั้นได้แก่สัญญากับเวทนาที่ปรุงแต่งจิต เป็นองค์ประกอบของจิต

กายสังขารคืออัสสาสะปัสสาสะ วจีสังขารคือวิตกวิจาร จิตสังขารนั้นคือสัญญากับเวทนา แต่ว่าสังขารในปฏิจจสมุปบาทนั้นไม่ใช่สังขาร ๓ นัยนี้ แม้ชื่อจะเหมือนกันว่า กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขารก็จริง แต่ไม่ใช่ตามนัย ๓ อันนี้ ถ้าเป็นนัย ๓ อันนี้จิตยังไม่มีเวทนา สัญญาจะมีได้อย่างไร ? มีไม่ได้ นามรูปยังไม่มี อัสสาสะปัสสาสะจะมีได้อย่างไร ? มีไม่ได้ นามรูปสฬายตนะยังไม่มีแล้ว วจีเพศจะมีได้อย่างไร ? เพราะฉะนั้นจะไปแก้ว่ากายสังขารวจีสังขารจิตสังขารตามนัยว่ากายสังขารคืออัสสาสะปัสสาสะไม่ถูก วจีสังขารเกิดไม่ได้ วิตก วิจารไม่ถูก หรือว่าจิตสังขารคือสัญญาเวทนาไม่ถูก ไม่ใช่อย่างนั้นนัย ๓ อันนี้ ถ้ากล่าวไว้ในเกี่ยวกับการเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ว่าผู้ที่เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัตินั้นย่อมดับสังขาร ๓ สังขาร ๓ คือ อัสสาสะปัสสาสะ วิตกวิจาร สัญญาเวทนา แต่ในปฏิจจสมุปบาทไม่ได้พูดเรื่องเกี่ยวกับสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ถ้าอย่างนั้นได้แก่อะไร?

กายสัญเจตนา วจีสัญเจตนา กับมโนสัญเจตนา กายสังขารเป็นไฉน ?
กายสัญเจตนานั้นเองที่เป็นไปในรูปาวจรกุศลบ้าง กามาพจรกุศลบ้าง ๑๓ ควงนั้นแหละที่เป็นไปตามนั้น วจีสังขารเป็นไฉน ? ก็ได้แก่วจสัญเจตนา เช่นว่าเรากล่าววจีกรรมเป็นคำสดุดีพุทธคุณก็ดี หรือกล่าวผรุสวาจาออกมา เจตนาใดอันสหจรพร้อมกับอกุศลจิตตุปบาทที่เกิดขึ้นพร้อมกับผรุสวาจา วจีสัญเจตนา เจตนาใดซึ่งสหจรกับกุศลจิตตุปบาทพร้อมกับที่เราเปล่งคำสดุดีพุทธคุณ อันนั้นเป็นกุศลเจตนา นี้เป็นเจตนาอย่างนี้ ส่วนจิตสังขารนั้นคือมโนสัญเจตนา พูดง่าย ๆ ว่าเจตนาที่เป็นไปในส่วนมโนกรรมที่เป็นไปทั้งฝ่ายกามาพจร รูปาวจร อรูปาวจร ชื่อว่าจิตสังขารในที่นี้ เพราะฉะนั้นคำว่าอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร เป็นปัจจัยให้เกิดอย่างนี้
สังขาร ๖ ดังที่อธิบายมานี้คือ
๑. ปัญญาภิสังขาร 
๒. อปุญญาภิสังขาร 
๓. อเนญชาภิสังขาร 
๔. กายสังขาร 
๕. วจีสังขาร 
๖. จิตสังขาร
เป็นอย่างนี้ที่ท่านแสดงโดยนัยนี้

สังขารเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณในที่นี้ก็ได้แก่วิบากจิต ๑๙ ดวง ที่เป็นไปด้วยอำนาจแห่งปฏิสนธิกาล ๓๒ ดวง ด้วยอำนาจแห่งปวัตติกาล ชื่อว่า วิญญาณในที่นี้ พูดง่าย ๆ ว่าสังขารนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ๒ ชนิด วิญญาณหนึ่งเรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณหรือปฏิสนธิจิต อีก อย่างหนึ่งเรียกว่าปวัตติวิญญาณ ปวัตติวิญญาณนับเอาตั้งแต่ปฐมภวังค์หลังจากปฏิสนธิขณะดับไปแล้วเป็นต้นไป ที่สุดในชาติหนึ่งภพหนึ่ง เป็นชื่อว่าปวัตติวิญญาณทั้งหมด จิตที่เกิดมาตั้งแต่ปฏิสนธิแล้วชื่อว่าปวัตติวิญญาณทั้งหมด เพราะฉะนั้นเป็นไปให้เกิดวิญญาณอย่างนี้ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนาม นามในที่นี้ท่านแก้ว่าได้แก่ขันธ์ ๓ คือเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ สังขารขันธ์ก็หมายความว่าเจตสิกธรรมนั่นเองที่เกิดขึ้นมา เพราะเมื่อมีจิตแล้วก็ต้องมีเจตสิกเกิดเป็นลำดับต่อมา และรูปในที่นี้ได้แก่กัมมัชรูปที่สหจรกับปฏิสนธิวิญญาณ ตั้งแต่ปฐมปฏิสนธิขณะหมายถึงตัวกัมมัชรูปโดยตรงในที่นี้เป็นต้นต้อโดยตรง ส่วนสฬายตนะ ผัสสะ อันนี้เข้าใจง่าย ซึ่งก็ได้แก่อายตนะ ๖ ผัสสะคือความกระทบกันระหว่าง อายตนะภายใน ภายนอกแล้วก็วิญญาณที่เกิดพร้อมในอายตนะทั้ง ๖ นั้นชื่อว่าผัสสะ เวทนาก็เหมือนกันเข้าใจง่าย ตัณหากับอุปาทาน อันนี้แตกต่างกัน แต่ความจริงองค์ธรรมอันเดียวคือเป็นนิโรธะ เป็นองค์ธรรมที่แตกต่างกันอย่างนี้ตัณหานั้น คือ สภาพใดที่ปรากฏในอารมณ์ที่ยังมาไม่ถึงชื่อว่าตัณหา เปรียบเหมือนกับโจรยื่นมือไปด้วยเจตนาจะลักของเขา แต่ยังไม่ถูกของนั้น เพียงแต่อาการที่ยื่นมือไปเพื่อจะลัก อาการอย่างนี้เป็นอาการของตัณหา อุปาทานได้แก่อาการที่โจรลักของนั้นแล้วก็ถือเอาว่าเป็นของของตน นี่เป็นอาการของอุปาทาน นี่เราจะเห็น ความแตกต่างของตัณหากับอุปาทาน ตัณหานั้นมีความทุกข์เพราะแสวงหาเป็นมูล อุปาทานมีความทุกข์เพราะอารักขาเป็นมูล (อ่านหน้าต่อไป)


แสงธรรมนำทาง...

ธรรมสุตตะ | ศึกษาพระธรรมคำสอนตามพระไตรปิฎก © 2008. Template by Dicas Blogger.

กลับขึ้นด้านบน