วันศุกร์

ปฎิจจสมุปบาทนานาทัศนะ(หน้า๑)

ปฎิจจสมุปบาทนานาทัศนะ 
โดย นายเสถียร โพธินันทะ

ก่อนที่จะพูดถึงปฏิจจสมุปบาทนี้ ได้โปรดทำความเข้าใจว่า หลักธรรมในพระพุทธศาสนามีจุดมุ่งหมายที่สูง และแตกต่างกับหลักปรัชญาของศาสนาพราหมณ์ ก็ตรงปฏิจจสมุปบาทนี้เอง เพราะว่าในนานาลัทธิของศาสนาพราหมณ์นั้นก็ดี หรือว่าในนานาลัทธิในภาคตะวันตกก็ดี หรือนานาลัทธิในภาคตะวันออกของโลกก็ดี ลัทธิเหล่านั้น ปรัชญาเหล่านั้นล้วนแต่มิได้สอนลักษณะธรรมะแบบปฏิจจสมุปบาทซึ่งพระพุทธเจ้าทรงสอนมาทั้งสิ้น

คือลัทธิเหล่านั้นอย่างเช่นศาสนาพราหมณ์เป็นต้น ศาสนาพราหมณ์นั้นถ้าเราตัดเรื่องพวกที่เป็นเปลือกออกเสียก็มีหลักปรัชญาที่สูงกว่า เช่น ในศาสนาพราหมณ์เขาก็สูงกว่าเช่นว่าปรัชญาที่เรียกกันว่าทัสสนะ ทัสสนะ ๖ ประการ อันประกอบด้วย วิมังสา เวดานตะ สังขยะ โยคะ ไวเสลีกะ นยายะ ทั้งลัทธิ ๖ ลัทธินี้เรียกว่าทัสสนะ หรือทัศนะ ๖ ประการ แต่ทั้ง ๖ ทัศนะนี้มีหลักใหญ่ใจความอันหนึ่งที่เหมือนกันก็คือสอนหลักสมบูรณภาพนิยม แม้ในปรัชญาทางตะวันตกก็เหมือนกัน เช่นว่า ปรัชญา ของยิวหรือของสปีโนชา พวกนี้ก็สอนหลักลัทธิสมบูรณภาพนิยมอีกเหมือนกัน หนีไม่พันหลักสมบูรณภาพนิยม

อะไรที่เรียกว่าสมบูรณภาพนิยม ?
ก็หมายความว่าสอนว่าสากลจักรวาฬมปทัฏฐานอยู่ในภาวะอันเป็นทิพย์ ภาวะอันเป็นทิพย์นี้ ถ้าพวกที่ชอบทางเทวนิยมก็บัญญัติเรียกว่าพระผู้เป็นเจ้า พวกที่ไม่ชอบทางเทวนิยมแต่ชอบหนักในทางจิตก็เรียกว่าเป็น Universal Mind (จิตสากล) หรือไม่ก็บัญญัติเรียกว่าเต๋าในทางตะวันออก เช่นลัทธิเต๋าของจีนเรียกภาวะสมบูรณภาพ นี้ว่าเต๋า หรือไม่ในอินเดียก็เรียกภาวะนี้ว่าพรหม อย่างนี้เป็นต้น แล้วแต่จะเรียก แต่ทั้งนั้นทั้งนี้เหมือนกันคือสอนว่า "สิ่งซึ่งเป็นของไม่จริงนั้นจะต้องมีปทัฏฐานจากสิ่งที่เป็นของจริงอันหนึ่ง" และเหมือนกันในข้อที่ว่า "สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่หยุดหย่อนนั้นจะต้องมีปทัฏฐานมาจากสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง" 

สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงนี้คืออะไร ? คือพรหม เต๋า จิตสากล แล้วแต่ลัทธิหรือแล้วแต่ปรัชญาแขนงนั้น ๆ จะเรียก แต่ว่าทั้งหมดเขาก็ยอมรับความเปลี่ยนแปลง เช่นว่าอย่างในศาสนาพรหมณ์สอนว่า ชีวิตนี้ไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกขัง เขารู้ในศาสนาพราหมณ์ก่อนหน้าพระพุทธเจ้าจะอุบัติ ฤาษีแต่ปางก่อนเช่นฤาษีก่อนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อย่างท่านอรกะศาสดา ท่านสุเนตรศาสดา แม้แต่พระพุทธองค์เมื่อเวลาแสดงธรรมก็ยังชักตัวอย่างฤาษีทั้งสององค์นี้มาเปรียบเทียบว่า
"ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตแต่ปางก่อนก็ยังเข้าถึงอนิจจสัญญา ทุกขสัญญา ยกตัวอย่างเช่นท่านอรกะศาสดา ท่านสุเนตรศาสดา" ศาสดาทั้งสองท่านนี้แม้ชีวิตจะยาวยืน คือคนในสมัยโบราณเขาถือว่ามีอายุยาวกว่าคนเราในสมัยนี้ คนในสมัยนั้นมีอายุตั้ง ๘ หมื่นปี แล้วแม้กระนั้นศาสดาทั้งสองก็ยังสอนให้มนสิการว่าชีวิตนี้เป็นของน้อยนิด เกิดขึ้น พักเดียวเหมือนหนึ่งน้ำค้างบนใบหญ้าพาลจะแห้งเหือดไป" เพราะฉะนั้นเท่าที่ทั้งสองท่านสอนถึงเรื่องอนิจจสัญญา ทุกขสัญญา แล้วนี้ก็ทำให้เราเห็นว่าหลักปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นของใหม่จริง ๆ ในโลกของศาสนาใหม่จริง ๆ ในโลกของปรัชญา


ก่อนหน้าที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติ ไม่เคยมีการรู้กันมาก่อนเลยว่า หลักปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นไฉน แม้จะมีบางลัทธิอย่าง ลัทธิสางขยะ อันเป็นลัทธิที่เก่าก่อนกว่าพุทธศาสนาของเรา ในลัทธิสางขยะนั้นมีลีลาคล้ายกับจะสอนปฏิจจสมุปบาทเหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่ แม้จะมีลีลาแสดงเรื่องตัดตระต่าง ๆ ที่เกิดการวิกาลแปรเปลี่ยนออกจากสิ่ง ๒ สิ่ง สิ่งหนึ่งเรียกว่าปุรุสะหรืออาตมัน อีกสิ่งหนึ่งเรียกว่าประกริตหรือในภาษาบาลีเรียกว่าปกติ สันสกฤต ก็ว่าเป็นประกริต ประกริตกับปรุสะมีความสัมพันธ์กัน แล้วก็เกิดความวิกาลออกมา เกิดเป็นวัฏฏสงสาร เกิดความเป็นไป ชีวิตก็วิวัฒนาการเกิดขึ้น ลักษณะอย่างนี้ยังไม่ใช่เป็น ปฏิจจสมุปบาท เพราะว่าลัทธิสางขยะยังยืนยันว่ามีของจริงอยู่ ๒ ชั้น คือปุรุสะกับประกริต เพราะยังเป็นสมบูรณภาพอยู่ หนีไม่พ้นสมบูรณภาพนิยม คือถือว่าของไม่เที่ยงต้องเกิดจากของเที่ยง ของไม่เที่ยงต้องมี
ปทัฏฐานแอบอิงคือของเที่ยง นี่หนีไม่พ้นสมบูรณภาพนิยม 

มาถึงพระพุทธเจ้าของเราทรงค้นพบหลักอนัตตาขึ้น อนัตตาอันใดปฏิจจสมุปบาทก็อันนั้น ถ้าเราเข้าใจหลักอนัตตาดี คือปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทอันใด อนัตตาก็อันนั้น เราไม่สามารถจะแยกอนัตตาออกจากปฏิจจสมุปบาทได้ เพราะว่าปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นคำอธิบายหลักอนัตตานั่นเอง อย่าง ยกตัวอย่างเช่นในอนัตตลักขณสูตรที่พระศาสดาตรัสถามเบญจวัคคีย์ว่ารูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ? เบญจวัคคีย์ก็ทูลว่าไม่เที่ยง รูปนี้ควรเห็นว่าเป็นตนหรือไม่เป็นตน? ก็ทูลว่าไม่ควรเห็นว่าเป็นตน เพราะถ้าหากว่ารูปนี้เป็นตนแล้วก็จะจึงเป็นไปตามใจเราปรารถนาได้ว่า อย่าให้แก่เลย อย่าให้เกิดเลย อย่าให้เจ็บเลย อย่าให้ตายเลย หลักการเพียงแค่นี้เป็นเพียงแต่หลักย่อ ถ้าหากว่าจะกระจายการแสดงหลักอนัตตาแล้วพระศาสดาจะยกหลักปฏิจจสมุปบาทขึ้นแสดง เราจะไม่สามารถซาบซึ้งหลักอนัตตาได้ดีพอ ถ้าเราไม่เคยผ่านปฏิจจสมุปบาทมา เพราะฉะนั้นพูดในประการเดียวกัน ถ้าเราซาบซึ่งหลักปฏิจจสมุปบาทดีพอแล้วนั่นคือเราเข้าถึงหลักอนัตตา อันเป็นแก่นสารสำคัญของพระพุทธศาสนา และเป็นธรรมะที่ทำให้พระพุทธศาสนาแตกต่างไปจากลัทธิสมบูรณภาพนิยม แตกต่างไปจากลัทธิทัสสนะทั้ง ๖ ซึ่งเป็นหลักปรัชญาชั้นสูงของอินเดียแล้ว เพราะเหตุนั้น พวก ศาสดาจารย์ ชาวฮินดูของเขา เมื่อศึกษาธรรมะแล้ว เขาตระหนักว่าหลักพระพุทธศาสนานี้มีข้อที่เหมือนกัน เช่นว่าหลักกฎแห่งกรรม รับรองเรื่องวัฏฏสงสาร ศาสนาฮินดูก็สอนให้เชื่อกรรม เชื่อการเวียนว่ายตายเกิด เขาก็สอนเรื่องอนิจจัง ถ้าไม่สอนเรื่องอนิจจังแล้วฤาษีชีไพรจะทิ้งลูกทิ้งเมียทิ้งทรัพย์สมบัติไปอยู่ป่า ทำไม ? นี่ก็เพราะเห็นความเป็นอนิจจัง เขาจึงไม่ต้องการ เขาเห็นทุกขัง เขาจึงเบื่อหน่ายใน ในวัฏฏะ ต้องการหาความสุขอันเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับทุกขัง เพราะเหตุนั้นสมบูรณภาพที่ เขาจะบรรลุ คือ พรหม ซึ่งมีลักษณะเป็น อาตมัน สุคัม สำคำ อาตมันเป็นตน, สุคำเป็นสุขอย่างยิ่ง, สำคา สงบระงับอย่างยิ่ง, นี่เป็นองคคุณสมบรณ์ของพราหมณ์ ถ้าต้องการจะบรรลุ 

แต่ว่าเขายอมแพ้พระพุทธเจ้าข้อหนึ่งว่าที่พระพุทธศาสนากลายเป็นศาสนาแหวกวงศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาฮินดูออกมาได้ ก็เพราะหลักอนัตตานี่แหละ หลักอนัตตานี้พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงในรูปของปฏิจจสมุปบาท คำว่า ปฏิจจสมุปบาทนั้น แปลว่าอะไร ? แปลกันอย่างง่าย ๆ อย่างภาษาชาวบ้าน ไม่ต้องอาศัยหลักไวยากรณ์ศัพท์แสงมากเป็นพิเศษ แปลกันว่าธรรมอันอิงอาศัยกันเกิดขึ้น ปฏิจจสมุปบาทแปล
ว่าธรรมซึ่งอิงอาศัยกันเกิด มีอีกคำหนึ่งคือ ปฏิจจสมุปปัณณธรรม ท่านทั้งหลาย มีอยู่ ๒ คำทำให้เราต้องศึกษา ๒ คำนี้ คำหนึ่งคือ ปฏิจจสมุปบาท อีกคำหนึ่งคือ ปฏิจจสมุปปาณธรรม
ฟังให้ดี ปฏิจจะ + อุปปาณะ เป็นปฏิจจสมุปปาณะ อันหนึ่งปฏิจจะ + อุปบัณณะ เป็น ปฏิจจะสมุปบัณ ณะ พระองค์แสดงเสมอว่า "ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยนั้นแล ปฏิจจสมุปปัณณธรรมคือสังขารจึงได้เกิดขึ้น" 
อวิชชา เป็นปฏิจจสมุปปาณธวรม สังขารเป็นปฏิจจสมุปบัณณธรรม 
สังขารเป็นปฏิจจสมุปปาณธรรม วิญญาณเป็นปฏิจจสมุปปัณณธรรม
ทั้งปฏิจจสมุปปาณธรรม และปฏิจจสมุปปัณณธรรมนั้นแอบอิงกัน ในอันหนึ่ง ๆ เป็นได้ทั้ง ๒ อัน (อ่านหน้าต่อไป)

หน้า๑  หน้า๒  หน้า๓  หน้า๔  หน้า๕  หน้า๖  หน้า๗ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น