วันจันทร์

ปฎิจจสมุปบาทนานาทัศนะ(หน้า๓)

ถ้าจะเปรียบในหลักปฏิจจสมุปบาทก็คล้ายกับไม้สามขาหย่าง ๓ อันผูกเข้าด้วยกัน แยกอันใดอันหนึ่งออกกตั้งเป็นขาหย่างไม่ได้ ต้องล้ม เพราะฉะนั้นปัจจัยแต่ละอัน ๆ ที่มาผูกด้วยกันแต่ละปัจจัยก็ยังอาศัยปัจจัยเกิดอีกเป็นชั้น ๆ ต่อไป ไม่ใช่ว่าอย่างอวิชชาสังขารตัณหาอุปาทานผูก อวิชชาก็ไม่ต้องเกิดจากปัจจัยชี ! อวิชชาก็เกิดจากปัจจัยเพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง แม้ธรรมที่ทำให้เกิดรูปก็ไม่เที่ยง" อย่านึกว่ารูปไม่เที่ยงแล้วธรรมที่จะทำให้เกิดรูปนั้นเที่ยงนะ ถ้าคิดอย่างนั้นเป็นสมบูรณภาพนิยม วิ่งเข้าหาลัทธิสมบูรณภาพนิยม ที่ถือว่าความไม่เที่ยงต้องมีรากฐานบนความเที่ยง ความไม่จริงต้องมีรากฐานบนความจริง ลัทธิคำสอนอย่างนี้เป็นสมบูรณภาพนิยม 

พระพุทธศาสนาสอนอย่างนี้ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนี้ไม่เที่ยง แม้ธรรมที่ให้เกิดรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็ไม่เที่ยงไปด้วย" ไม่ใช่ว่ารูปเวทนาสัญญาสังขารไม่เที่ยงแล้วธรรมที่ทำให้เกิดรูปเวทนาสัญญาสังขารนั้นมันจะเป็นอันติมะ มันจะเที่ยงถ้าอย่างนั้นเป็นสมบูรณภาพนิยม เพราะลัทธิสมบูรณภาพนิยมนั้นจะต้องพยายามคิดความไม่เที่ยงจากความเที่ยงเสมอ คือคิดว่าที่ว่าไม่ดี ๆ จะต้องมีความดีอยู่เป็นแก่น ที่ว่าไม่เที่ยงเป็นของเก๊ เป็นมายา จะต้องมีรากฐานบนของจริง เป็นของไม่เก๊ เป็นของไม่มายา ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว วิ่งเข้าหาสมบูรณภาพนิยม 

ท่านที่ชอบเทวะ พวกบูชาเทวนิยมก็ไปติดแก่พระเจ้า ว่าพระเจ้าเบื้องต้นไม่ปรากฏ ท่ามกลางไม่ปรากฏ เบื้องปลายไม่ปรากฏ พวกที่ไปติดจิตก็ไปติดจิตสากล ว่าจิตสากลนี่ไม่เกิดไม่ดับ กลายเป็นลัทธิจิตอมตะไปก็มี และพวกที่ถือวัตถุก็ไปติดปรมาณูว่าปรมาณนี้ชั้นสุดท้ายแล้วแยกไปอีกไม่ได้แล้ว นี่พวกวัตถุ พวกนี้ทั้งหมดเป็นสมบูรณภาพ ดังนั้นพระพุทธศาสนาค้านพวกนี้จึงได้สอนปฏิจจสมุปบาทให้ฟังว่า ที่นึกว่าธรรมที่สุด มันยังไม่ที่สุด มันยังแยกธาตุต่อไปอีกได้ ที่นึกว่าแยกไม่ได้ เพราะว่าญาณทัสสนะตามไม่ถึง เหมือนอย่างนักวิทยาศาสตร์สมัยก่อน ความรู้ตามไม่ถึงเลยนึกว่าปรมาณูเป็นอันติมะ มีธาตุแท้อยู่ในโลก แต่พอไอสไตน์เกิดขึ้นคิดทฤษฎีสัมพันธภาพ รู้เข้าแล้วปรมาณูอิเล็กตรอนโปรตรอนสลายตัวหมดเป็นพลังงาน

แล้วพลังงานเวลานี้อาจจะคิดอันต่อไปอีกว่า แม้พลังงานก็ไม่เที่ยงไม่ใช่อันติมะ มันก็ดับสลายตัวไปอีก เพราะฉนั้นความเจริญของวิทยาศาสตร์ จึงกลับมาพิสูจน์หลักปฏิจจสมุปบาทของพระพุทธเจ้าว่าเป็นของจริง นี้อันนี้เราเห็นกันได้ชัดเจนที่เดียว คราวนี้เมื่อเป็นปฎิจจสมุปบาทแล้ว ปฎิจจสมุปบัณณะคืออะไร?

คำว่าปฎิจจสมุปบัณณธรรมนั้นแปลว่าธรรมอันเกิดแต่เหตุที่แอบอิงอาศัยเกิด เรียกว่าปฎิจจสมุปปัณณธรรม ธรรมอันใดเป็นปฎิจจสมุป
ปาณธรรม ธรรมอันนั้นก็ย่อมเป็นปฏิจจสมุปบัณธรรมด้วย ธรรมอันใดเป็นปฏิจจสมุปบัณธรรม ธรรมอันนั้นก็ย่อมจะเป็นปฏิจจสมุปปาณธรรมด้วยทุกอัน ยกตัวอย่าง

อวิชชาเป็นปฏิจจสมุปปาณธรรม ใน
ขณะเดียวกันอวิชชาก็เป็นปฏิจจสมุปบัณธรรม
คืออะไร ? คืออาสวะ 
อาสวานัง สมุปาทา อวิชายะ ปวะตะติ เพราะความเกิดขึ้นแห่งอาสวะ อวิชชาจึงได้หมุนไป จึงได้ทัศนาขึ้น ปวัตติ เรียกว่าทัศนา ถ้าสมัยนี้เรียกว่าพัฒนานั้นเอง เพราะความอุบัติเกิดขึ้นแห่งอาสวะ อวิชชาจึงได้พัฒนาการขึ้นมาได้ จึงได้พัฒนาจากอาสวะขึ้นมา ไม่ใช่ว่าอวิชชาสุดโต่งกันแค่นั้น ไม่ใช่นะ ! ถ้าอย่างนั้นอวิชชาก็เป็นปฐมเหตุนะซิ ผิดกฎปฏิจจสมุปบาท

กฎปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นเรื่องของ
วงล้อหาเบื้องต้นที่สุดมิได้ หมุนเวียนไปเรื่อย(วัฏฏจักร) ถ้าหากถือว่าปฏิจจสมุปบาทเป็นเหตุอันติมะแล้ว ก็กลายวิ่งไปหาสมบูรณภาพนิยมอีก คือกลายเป็นว่าสิ่งใดเป็นเหตุ สิ่งนั้นเป็นเหตุวันยังค่ำ เป็นผลไม่ได้ แต่ตามหลักพุทธมตินั้น สิ่งใดเป็นเหตุ สิ่งนั้นต้องเป็นผลในตัวมันเอง สิ่งใดเป็นผล สิ่งนั้นก็ย่อมเป็นเหตุในตัวมันเอง สิ่งที่จะไม่เป็นเหตุไม่เป็นผลมีอันเดียวคือนิพพาน พันเหตุกับพันผล ถ้าตราบใดยังเป็นเหตุยังเป็นผลอยู่แล้ว ตราบนั้นในผลนั้นก็ต้องมีเหตุ ในเหตุก็เป็นผล อวิชชาเป็นเหตุของสังขาร แต่ในขณะเดียวกัน อวิชชาก็เป็นผลของอาสวะ อาสวะเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชาขึ้น และถ้าหากว่า ตั้งคำถามบอกว่าอาสวะล่ะมาจากอะไร ?
พระพุทธศาสนาไม่กล่าว
หาปฐมเหตุ แต่สอนเป็นวัฏฏจักร อาสวะก็มาจากอวิชชา หมุนเวียนกัน เพราะในอาสวะนั่นเองมีคำว่าอวิชชาสวะอยู่ด้วย มันเป็นวัฏฏจักร มนุษย์เราไม่อย่างนั้น ชอบค้นหาต้นเดิม ว่าต้นเดิมจริง ๆ ที่ไม่ต้องมาจากเหตุอะไรมีบ้างไหม ? ถ้าจะว่ามี ? โกหก ! เพราะว่ามันกลายเป็นว่าเหตุต้นเดิมที่เราว่าเป็นเหตุนั้นเกิดจากความไม่เข้าใจของเราเลยสำคัญว่าเหตุอันนั้นเป็นเหตุสุดท้าย ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่นฝนที่ตกลงมา เราบอกว่าฝนนี้เกิดจากน้ำ คนโบราณมีความรู้เพียงแค่นี้ ว่าฝนเกิดจากน้ำ หาต้นเหตุไปไม่ได้ก็บัญญัติว่าน้ำนี้เป็นปฐมเหตุ ไม่มีอะไรเป็นเหตุของน้ำนี้อีกแล้ว ต่อมาเมื่อวิทยาศาสตร์เจริญขึ้น ก็บอกว่าแม้แต่น้ำก็ไม่ใช่ตัวปฐมเหตุ เพราะน้ำเองก็เกิดจากไฮโดรเย่นกับออกซิเย่นประกอบกันเข้า และกว่าจะมาเป็นฝนนี้ต้องอาศัยแสงแดด อาศัยอากาศหลายอย่าง อาศัยความกดดันจึงได้เกิดเป็นเมล็ดฝนลงมาได้ เพราะฉะนั้นที่นึกว่าเป็นปฐมเหตุนั้นเป็นเพียงความโง่ช่วงหนึ่ง ที่ปัญญาญาณของเราตามไปไม่ถึง คือว่าเหตุผลเรานั้นไม่ได้มองตลอดไป ไปจับเอาช่วงใดช่วงหนึ่งแล้วไม่สามารถคิดทะลุต่อไป ก็เลยอับจนเพียงแค่นั้น



ปฐมเหตุ อย่างความเชื่อที่เรียกว่าพระผู้เป็นเจ้าสร้างโลกนี้ ความนึกอย่างนั้น เพราะว่าความคิดได้อับจน คือท่านผู้สร้าง นึกไม่ถึงว่าท่านผู้สร้างนี้มาจากใครอีกต่อหนึ่ง ไม่คิด นึกว่ามีเพียงแค่นี้แล้ว แต่ความจริงท่านผู้สร้างก็ต้องมีบิดามารดาให้กำเนิดมีกรรมเป็นสมุฏฐานมีอะไรเป็นสมุฏฐานมาก่อน คือถ้าเราถือว่าท่านผู้สร้างเป็นเทวดา กว่าจะเป็นเทวดาได้ก็ไม่ใช่เป็นลอย ๆ จะต้องอาศัยผลกรรมอะไรต่าง ๆ ปรุงแต่งให้มาเป็น และที่ว่าสร้างนั้นก็ไม่ใช่สร้างจริง เป็นเพียงแต่ความหลงผิด เพราะว่าในวรรณคดีบาลีเรามีแสดงไว้อยู่สูตรหนึ่งว่า

ท้าวมหาพรหมหลงผิดนึกว่าตัวเองเป็นคนสร้างสรรพสิ่ง 
หลงผิด ที่หลงผิดคืออย่างนี้ เพราะในสมัยหนึ่ง เมื่อเกิดไฟประลัยกัลปล้างโลกแล้ว แสนโกฏิจักรวาฬได้วินาศไป แล้วตั้งต้นจักรวาฬกันใหม่ ในขณะที่แสนโกฏิจักรวาพวินาศนั้น ฉกามาวจรสวรรค์ก็ถูกไหม้ไปด้วย โลกวินาศด้วยไฟไหม้ไปด้วย พรหมโลกยังไม่ไหม้ ท้าวมหาพรหมองค์สุดท้ายที่จะจากมา เห็นพรหมโลกองค์อื่นจุติเคลื่อนจากพรหมโลกลงมา อาจมาเกิดข้างล่างหมด มีองค์สุดท้ายอยองค์หนึ่งข้างบนนึกว่า เอ! เรานี่เป็นสิ่งเดียวอยู่ในนี้ พรหมมีอายุตั้งเป็นกัปป์ ๆ อยู่ๆ ไปก็ลืมหมด จับต้นชนปลายไม่ถูกว่า เอ! เรามาอยู่แต่เมื่อไรนี่ แต่เมื่อใช้ทิพยเนตรทิพยญาณสอดส่องดูแล้ว อ้าว ! เรานี่มีอายุเก่าแก่ก่อนพวกสัตว์ทั้งหลายในโลกธาตุนี้นี่นา

เอ! งั้นเราเป็นอภิธูแล้วสิ เป็นผู้สร้าง เป็นผู้รังสฤษดิ์ เป็นผู้บรรดาล ท้าวมหาพรหมก็หลงผิดด้วยอำนาจโมหะจริตครอบงำนึกว่าตัวเองเป็นผู้สร้างโลกนี้ ในวรรณคดีบาลีได้แสดงปฐมเหตุว่าทำไมพระเจ้าที่จะสร้างโลกจึงนึกว่าตัวเป็นผู้สร้างโลกขึ้นมาเพราะอะไร? เพราะเกิดจากอย่างนี้ในวรรณคดีบาลีมีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี ในพระสูตรสุตตันตปิฎกนี่แหละมี และในอัคคัญสูตร แสดงถึงความวิวัฒนาการของโลก บอกว่าพวกอาภัสสรพรหมเมื่อเกิดประลัยกัปป์ไหม้โลกแล้ว โลกปถพีก็ตั้งขึ้นใหม่ กลิ่นหอมของดินฟุ้งไปหลายแสนโกฏิ พวกอาภัสสรพรหมได้กลิ่นหอมของดินแล้วก็ลงมาจะกินง้วนดิน ทีนี้พวกอาภัสสรพรหมบางเหล่าเกิดความว้าเหว่ มีองค์หนึ่งเกิดความว้าเหว่ว่า

เอ! เราอยู่
คนเดียวเปลี่ยวกาย อยากจะหาเพื่อน พอคิดแค่นี้ พรหมจรรย์อื่นที่ชั้นสูงกว่าก็จุติลงมา ถือปฏิสนธิมาเกิดใหม่ ตัวก็นึกว่า เอ! เพียงลำพังความคิดของเรานี้ ชีวิตต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นเป็น ๒ เป็น ๓ เป็น ๔ เป็น ๕ เรานี้แล้วเป็นผู้สร้างของพวกนี้ขึ้นมา ถ้าเราไม่คิด ทำไมของพวกนี้จะมีได้เล่า

ความจริง
ตัวเองไม่มีญาณทัสสนะจะไปตามรู้ว่า พวกเหล่านี้เขามาจากชั้นสูงกว่าตัว ตัวไม่มีญาณทัสสนะจะไปพบสิ่งที่สูงยิ่งกว่าตัว ไม่รู้หรอก ! พวกนี้เขาอาจพ้นจากภพชั้นสูงแล้วลงมาอยู่ชั้นเดียวกับตัว แต่บังเอิญเวลานั้น แค่คิดขึ้นก่อนเท่านั้นเอง ตัวคิดอยากจะมีเพื่อนกินง้วนดิน กินคนเดียวมันเปล่าเปลี่ยว อยากจะหาคนคุยด้วย หาคนสนทนาด้วย เพียงคิดเท่านี้ก็ประสพเหมาะเข้ามาเกิดชั่วระยะความคิดตัวก็เลยหลงผิดว่าเราเป็นผู้สร้างเขากระมัง แล้วอำนาจจิตของเราเป็นผู้แต่งเขาขึ้นแล้ว เราเป็นผู้สร้างแล้ว เราเป็นผู้รังสฤษดิ์แล้ว เพราะฉะนั้น เราเป็นมหาบิดา คือเป็นพ่อใหญ่ของโลก นี่ตำนานในวรรณคดีบาลีเราได้แสดงไว้อย่างนี้ว่า พรหมพวกนี้เป็นสสตทิฏฐิทั้งนั้น เพราะสำคัญผิดนึกว่าตัวเที่ยง ตัวเป็นผู้รังสฤษดิ์ อันนี้เป็นต้นตอที่จะเปรียบเทียบให้เห็นว่า เพราะเหตุว่าไปจับช่วงระยะเหตุผลผิด คือว่าไปตันแค่เหตุแล้วไม่รู้ว่า เหตุอันนี้มาจากผลอีกอันหนึ่งไม่รู้หรอก ! คล้ายกับฝนมาจากน้ำแล้วไปต้นแค่นี้ว่าน้ำนี้เที่ยงแล้ว น้ำนี่แน่นอนแล้ว น้ำนี้นี่อันติมะแล้ว อื่นจากนี้ไม่มีอีกแล้ว เป็นประธานแห่งสรรพสิ่งแล้ว ไปตันแค่นี้

แต่พระพุทธเจ้าของเรา
ไม่ยอมตันเพียงแค่นี้ สอบต่อไปอีกว่าน้ำนี้มาจากไหน ไฮโดรเย่นกับออกซิเย่นมาจากไหน ไล่สอบไปกันเรื่อย ในที่สุดก็สอนหลักปฏิจจสมุปบาท สิ่งอันนี้เกิด อันนั้นจึงเกิด, อันนั้นดับ อันนี้จึงดับ, หลักปฏิจจสมุปบาทจึงได้ทำลายสัสสตทิฏฐิ ทำลายอุจเฉททิฏฐิ 

ทำลายอย่างไร ? คือว่าสัสสตทิฏฐิเห็นเที่ยงใช่ไหม? บอกว่าร่างกาย
ชีวิตจิตใจอาตมันเที่ยง พรหมเที่ยง พระเจ้าเที่ยง ผู้สร้างเที่ยง เหตุเที่ยง ความที่เห็นเที่ยงอันนี้เพราะไม่รู้ว่าความดับของสิ่งนั้นก็มี ไม่ใช่ไม่มี ไม่ใช่จะอยู่ได้เสมอไป อย่างเช่นสังขารเป็นต้น สังขาร ไม่ใช่ว่าจะอยู่ได้ตลอดไป มันก็ต้องดับเมื่อสิ้นปัจจัย (อ่านหน้าต่อไป)


หน้า๑  หน้า๒  หน้า๓  หน้า๔  หน้า๕  หน้า๖  หน้า๗ 

























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น