๑.๑๓ นิพพาน : ประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้จากชีวิตนี้

ปัญหาของมนุษย์มาจากการที่ชีวิตนั้นโดยธรรมชาติ เป็นที่ตั้งของปัญหา คือ ทุกข์ อันเป็นสภาวะด้านหนึ่งตามธรรมชาติของชีวิต ที่ขึ้นต่อเหตุปัจจัยหลากหลาย ไม่เที่ยง ไม่คงที่ แปรปรวนเรื่อยไป ไม่มีไม่เป็นตัวตนของมันเองอย่างแท้จริง จะให้คงอยู่หรือเป็นไปอย่างที่ใจปรารถนาไม่ได้ ต้องว่ากันไปตามเหตุปัจจัย ในเมื่อตามสภาวะ ชีวิตมีทุกข์เป็นธรรมชาติพื้นฐานของมันอยู่แล้ว การที่จะมีความสุขได้ คนก็ต้องมีจิตใจที่มั่นคงในการอยู่กับความจริง โดยมีปัญญาที่ทำให้จิตเป็นอิสระจากทุกข์พื้นฐานนั้น หรือให้ใจอยู่กับมันได้สบายๆ เผชิญหน้ายอมรับความจริงด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงนั้น เมื่อมนุษย์มีปัญญารู้เท่าทันความเป็นจริงตามสภาวะของมันแล้ว ทุกข์ที่เป็นสภาวะตามธรรมดาในธรรมชาติ ก็ไม่มีผลที่จะก่อปัญหาทำให้เกิดเป็นทุกข์ขึ้นในจิตใจ


พระพุทธเจ้าเมื่อทรงแสดงหลักปฏิจจสมุปบาทสมุทยวาร อันเป็นที่มาของปัญหาหรือความทุกข์แล้ว ก็มิได้ทรงหยุดอยู่เพียงนั้น แต่ได้ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทนิโรธวาร อันเป็นกระบวนธรรมฝ่ายดับทุกข์ หรือแก้ไขปัญหาต่อไปอีกด้วย เป็นการชี้ให้เห็นว่า ทุกข์หรือปัญหาของมนุษย์เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ ยิ่งกว่านั้น ยังทรงชี้ต่อไปถึงภาวะที่เลิศล้ำสมบูรณ์ ซึ่งมนุษย์สามารถมีชีวิตที่ดีงามและเป็นสุขแท้จริงได้ โดยไม่ต้องฝากตัวขึ้นต่อปัจจัยภายนอก ไม่ต้องเอาสุขทุกข์ของตนไปพิงไว้กับสิ่งทั้งหลาย ซึ่งสิ่งเหล่านั้นแม้แต่ตัวมันเองก็ทรงเอาไว้ไม่ได้

แสดงการตัดวงจรปฏิจจสมุปบาทที่ขั้วอวิชชา

อวิชชาดับ > สังขารดับ > วิญญาณดับ > นามรูปดับ > สฬายตนะดับ > ผัสสะดับ > เวทนาดับ > ตัณหาดับ > อุปาทานดับ > ภพดับ > ชาติดับ > ชรามรณะ + โสกะ ฯลฯ อุปายาสดับ = ทุกขนิโรธ

แสดงการตัดวงจรปฏิจจสมุปบาทที่ขั้วตัณหา

อวิชชา > สังขาร > วิญญาณ > นามรูป > สฬายตนะ > ผัสสะ > เวทนา > ตัณหาดับ > อุปาทานดับ > ภพดับ > ชาติดับ > ชรามรณะ + โสกะ ฯลฯ อุปายาสดับ = ทุกขนิโรธ

บ่อยครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกขนิโรธ โดยชูตัณหาเป็นตัวเด่น คือ เมื่อเสวยเวทนาแล้ว ไม่เกิดตัณหา ก็เพราะมีความรู้เท่าทันสภาวะสังขารของสิ่งที่เสพเสวย คือมีวิชชารองเป็นพื้นอยู่ เมื่อไม่มีอวิชชาสัมผัส เวทนาที่เกิดขึ้นก็ไม่นำไปสู่ตัณหา ดังนั้นที่ว่าตัณหาดับ จึงบ่งถึงอวิชชาดับอยู่แล้วในตัว การที่ทรงแสดงแบบนี้ ก็เพื่อให้เห็นภาพในทางปฏิบัติได้ง่ายขึ้น

พระอรหันต์ทั้งหลายเสวยอารมณ์ด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมชาติของมัน ไม่ถูกกิเลสครอบงำหรือชักจูง ไม่ถูกเผาลนด้วยตัณหา และไม่มืดมัวด้วยอวิชชา เป็นอยู่ด้วยจิตใจที่โปร่งโล่ง ผาสุข เป็นอิสระ เมื่อไม่มีกิเลสชักนำไปสู่ภพ กระบวนธรรมสังสารวัฏฏ์ก็สิ้นสุดลง เข้าสู่วิวัฏฏ์ (นิพพาน) บรรลุภาวะแห่งความดับทุกข์ เป็นผู้มีชัยต่อปัญหาชีวิต มีความสุขอย่างแท้จริง อันเป็นประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้ คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมามีชีวิต