วันอังคาร

๑.๑๔ ภาวะแห่งนิพพาน

โดยพยัญชนะ นิพพาน มาจาก นิ (ไม่มี ออกไป) + วาน (พัดไป เครื่องร้อยรัด ลูกศร) อรรถกถาส่วนมากนิยมแปลว่า ไม่มีตัณหาเครื่องร้อยรัด หรือ ออกไปแล้วจากตัณหาที่เป็นเครื่องร้อยติดไว้กับภพ

นิพพานเป็นธรรมธาตุอันดำรงอยู่ตามสภาวะของมัน ที่ไม่เกิดจากปัจจัย มิใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไม่เป็นของใคร ไม่มีใครกำกับบังคับควบคุม ไม่มีตัวทำการที่จะดลบันดาลอะไรแก่ใครๆ ไม่มีลักษณะอาการเหมือนสิ่งใดที่ปุถุชนเคยรู้เคยเห็น อยู่นอกเหนือประสาทสัมผัสของมนุษย์ ถ้อยคำที่จะใช้บอกตรงๆ และสัญญาที่จะใช้กำหนดไม่มี ปุถุชนจึงไม่อาจนึกเห็นหรือคิดเข้าใจโดยชัดเจนได้ (ตรรกะหยั่งไม่ถึง) เหมือนกับคนตาดีไม่สามารถอธิบายลักษณะของสีต่างๆให้คนตาบอด ซึ่งรับรู้ได้แต่ รส กลิ่น เสียง สัมผัสได้โดยตรง บอกได้แต่เพียงโดยอ้อม หรือเทียบเคียง (โดยปริยาย) เท่านั้น (เช่น เอาสีแดงไปเทียบกับความรู้สึกร้อน สีน้ำเงินเทียบกับความรู้สึกเย็น) ตามปกติพระพุทธศาสนาพูดถึงนิพพานอย่างง่ายๆตรงๆว่า เป็นภาวะดับกิเลสได้ หายร้อน หลุดพ้น เป็นอิสระ ไร้ทุกข์ ผ่องใส เบิกบาน ไม่ถูกปรุงแต่ง ภาวะแห่งนิพพานเป็นอสังขตธาตุ ซึ่งไม่มีเชื้อคือปัจจัยปรุงแต่ง ส่วนพระอรหันต์ คือ ผู้บรรลุจุดหมายแห่งชีวิตประเสริฐ, ผู้เข้าถึงประโยชน์ตนแล้ว, ผู้ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว, ผู้ได้พัฒนาตนแล้ว


อย่างไรก็ตามอาจจัดแนวการอธิบายได้ดังนี้

๑. โดยนัยปฏิเสธ แสดงการเพิกถอนภาวะที่ไม่ดี เช่น ความสิ้นตัณหา, ที่จบสิ้นของทุกข์, ความดับแห่งภพ, ความไม่มีโรค, ไม่มีอะไรค้างใจ ไร้กังวล, ไม่แก่ไม่ตาย (อมตะธาตุ), ไม่เสื่อมคลาย ไม่กลับกลาย เป็นต้น

๒. โดยคุณภาพ แสดงความดีงามสูงสุด เช่น สงบ, ประณีต, บริสุทธิ์, แสนเกษมสำราญ, อิสรภาพ, บรมสุข, ยอดเยี่ยมไม่มีอะไรยิ่งกว่า, ประเสริฐสุด, ดีที่สุด เป็นต้น

๓. โดยอุปมา เช่น เหมือนคนข้ามมหาสมุทรที่มีอันตรายมากมาถึงฝากขึ้นยืนบนฝั่งแล้ว, จะว่าไปเกิดที่ไหน หรือจะว่าไม่เกิด ก็ไม่ถูกทั้งสิ้น เหมือนไฟดับไปเมื่อสิ้นเชื้อ (แต่ก็มีที่ท่านเปรียบเทียบนิพพานด้วยความไม่เกิดด้วย ควรเข้าใจไว้ว่าท่านพยายามแสดงสิ่งเดียวกัน เพียงแต่ต่างสำนวนกัน), ภูมิภาคอันราบเรียบน่ารื่นรมย์, ที่พ้นภัย, ความสมบูรณ์ไม่มีโรค เป็นต้น อนึ่ง ในคัมภีร์รุ่นต่อๆมา ที่เป็นสาวกภาษิต เปรียบเทียบนิพพานเป็นเมืองเช่น อุดมบุรี, นิพพานนคร, อมตมหานครนฤพาน เป็นต้น ไม่จัดเข้าในบรรดาถ้อยคำที่ยอมรับว่าใช้แสดงภาวะของนิพพานได้

บรรยายสภาวะโดยตรง นอกจากการแสดง ๓ แนวข้างต้นแล้ว ยังมีที่ท่านแสดงแบบบรรยายสภาวะโดยตรงด้วย ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพุทธพจน์หลายบท ดังนี้

“มีอยู่นะ ภิกษุทั้งหลาย อายตนะ ที่ไม่มีปฐวี ไม่มีอาโป ไม่มีเตโช ไม่มีวาโย ไม่มีอากาสานัญจายตนะ ไม่มีวิญญาณัญจายตนะ ไม่มีอากิญจัญญายตนะ ไม่มีเนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่มีโลกนี้ ไม่มีปรโลก ไม่มีดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เราไม่กล่าวอายตนะนั้นว่าเป็น การมา การไป การหยุดอยู่ การจุติ การอุบัติ อายตนะนั้น ไม่มีที่ตั้งอาศัย (แต่ก็) ไม่เป็นไป ทั้งไม่ต้องมีเครื่องยึดหน่วง นี้แลคือจุดจบของทุกข์” (ปาฏลิคามิยวรรค นิพพานสูตร)

พุทธพจน์นี้ เน้นย้ำว่าไม่ให้เข้าใจเอานิพพานเป็นดินแดนหรือสถานที่ใด ไปจนถึงภพใดๆรวมทั้งอรูปภพ

(อ.เสถียร โพธินันทะ) อายตนะในที่นี้ใช้ในความหมายว่า “สิ่งนั้น” คือใช้แทนนิพพานโดยตรง ไม่ใช้ในความหมายเหมือนอายตนะ ๖ โดยสรุปคือ สิ่งนั้นมีอยู่ แต่ไม่ใช่สิ่งใดๆที่มีในโลก … นิพพานไม่ใช่จิต เพราะถ้านิพพานเป็นจิต ก็เป็นวิญญาณขันธ์ซึ่งไม่เที่ยง จิตเป็นนามธรรมจึงไม่มีเทศะ (ไม่กินพื้นที่) แต่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกาละ (เวลา) จิตจึงไม่ใช่นิพพานเพราะนิพพานเป็นธรรมที่พ้นกาละพ้นเทศะ พ้นจากความเป็นรูปธรรมนามธรรม แต่นิพพานนั้นสามารถเป็นอารมณ์ของจิต (ธรรมารมณ์) อันผู้บรรลุแล้วพึงรู้ได้ เช่น การเข้าผลสมาบัติของพระอริยบุคคล

ในบรรดาคำที่ใช้เป็นคำแทน แสดงอรรถของนิพพานอยู่เสมอ เช่น วิมุตติ อสังขตะ เกษม นิโรธ วิราคะ สันติ วิชชา วิสุทธิ ปรมัตถ์ เหล่านี้เป็นไวพจน์ซึ่งแสดงลักษณะด้านต่างๆของนิพพาน วิมุตติ คือ ความหลุดพ้น เป็นคำหลัก (คำอื่นๆยังมีอีกมากโปรดดูที่ท่านประมวลไว้ในหนังสือพุทธธรรม)

“เมื่อพระอรหันต์ปรินิพพานเพราะความดับไปแห่งจิตดวงสุดท้ายในภพ (จริมจิต) ธรรมเหล่านี้ คือ ปัญญาและสติ นามและรูป ย่อมดับ คือสงบ ถึงความไม่ตั้งอยู่ ระงับไป ณ ที่นี้” (อชิตมาณวกปัญหานิสเทส)

“มีอยู่นะ ภิกษุทั้งหลาย ไม่เกิด ไม่เป็น ไม่ถูกสร้าง ไม่ถูกปรุงแต่ง, หากว่า ไม่เกิด ไม่เป็น ไม่ถูกสร้าง ไม่ถูกปรุงแต่ง จักมิได้มีแล้วไซร้ การรอดพ้นภาวะเกิดแล้ว เป็นแล้ว ถูกสร้าง ถูกปรุงแต่ง ก็จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้ได้เลย, แต่เพราะเหตุที่ มีไม่เกิด ไม่เป็น ไม่ถูกสร้าง ไม่ถูกปรุงแต่ง ฉะนั้น การรอดพ้นภาวะเกิดแล้ว เป็นแล้ว ถูกสร้าง ถูกปรุงแต่ง จึงปรากฏได้” (นิพพานสูตร)

“ยังอิงอยู่ จึงมีการไหว ไม่อิงแล้ว ก็ไม่มีการไหว, เมื่อการไหวไม่มี ก็นิ่งสนิท, เมื่อนิ่งสนิท ก็ไม่มีการโอนเอน, เมื่อไม่มีการโอนเอน ก็ไม่มีการมาการไป, เมื่อไม่มีการมาการไป ก็ไม่มีการจุติและอุบัติ, เมื่อไม่มีการจุติและอุบัติ ก็ไม่มีที่ภพนี้ ไม่มีที่ภพโน้น ไม่มีในระหว่างภพทั้งสอง, นั่นแหละคือที่จบสิ้นของทุกข์” (นิพพานสูตร)

ครั้งหนึ่งภิกษุเที่ยวไปทุกหนทุกแห่ง เพื่อหาผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับที่ที่ธาตุ ๔ ดับหมดไม่มีเหลือ จนถึงท้าวมหาพรหม ก็ไม่ได้คำตอบ ในที่สุดต้องกลับมาทูลถามพระพุทธเจ้า “ที่ไหนหนอ มหาภูต ๔ เหล่านี้ กล่าวคือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ย่อมดับไปไม่เหลือเลย” พระองค์ได้ตรัสตอบว่า “ไม่ควรถามว่า มหาภูติ ๔ ย่อมดับไม่เหลือ ณ ที่ใด แต่ควรถามว่า อาโป ปฐวี เตโช และวาโย ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ณ ที่ไหน, ยาว สั้น เล็ก ใหญ่ งาม ไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ณ ที่ไหน, นามและรูปย่อมดับหมดไม่มีเหลือ ณ ที่ไหน” และมีคำตอบว่าดังนี้ “ภาวะที่พึงรู้ได้ (นิพพาน) มองด้วยตาไม่เห็น เป็นอนันต์ เข้าถึงได้ทุกด้าน, ที่นี้ อาโป ปฐวี เตโช และวาโย ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้, ที่นี้ ยาว สั้น ละเอียด หยาบ งาม ไม่งาม ก็ตั้งอยู่ไม่ได้, ที่นี้ นามและรูปดับไปหมดไม่เหลือ, เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับที่นี้” (เกวัฏฏสูตร)

“ความสุขทางกามอันใดในโลก และความสุขอันเป็นทิพย์ ความสุขทั้งหมดนั้น ย่อมไม่ถึงเศษเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งความสุขที่ได้ เมื่อสิ้นตัณหา” (ราชสูตร)

“นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” (สุขวรรค)

พุทธพจน์สำนวนหนึ่งกล่าวว่า แม้ภิกษุจำนวนมากมายจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุจะปรากฏว่าพร่องหรือเต็มเพราะเหตุนั้นก็หามิได้ เรียกภาวะเช่นนี้ว่า ความพร้อมเพรียงกันไม่แสดงตนในภพ หรือ ความพร้อมใจกันไม่เกิด, อีกสำนวนหนึ่งท่านว่า พระพุทธเจ้าในอดีต ปัจจุบัน อนาคต มีจำนวนมากมายเหมือนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา

บางคนตั้งข้อสังเกตว่า นิพพาน ซึ่งเป็นอสังขตะธรรมนั้น น่าจะมีเหตุคือ มรรค ซึ่งก็จะกลายเป็นว่ายังเป็นไปด้วยเหตุปัจจัย ข้อนี้อธิบายว่า มรรคเป็นเหตุปัจจัยของการถึงนิพพานไม่ใช่ตัวนิพพาน เปรียบเหมือน การนั่งเครื่องบินเป็นเหตุปัจจัยของการถึงเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่ใช่เหตุปัจจัยของเมืองเชียงใหม่

นิพพาน สภาพที่ดับกิเลสและกองทุกข์แล้ว, ภาวะที่เป็นสุขสูงสุด เพราะไร้กิเลสไร้ทุกข์ เป็นอิสรภาพสมบูรณ์

สอุปาทิเสสนิพพาน : นิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังเสวยอารมณ์ ยังมีเบญจขันธ์, กิเลสปรินิพพาน
อนุปาทิเสสนิพพาน : นิพพานของพระอรหันต์ผู้ระงับการเสวยอารมณ์ทั้งปวงแล้ว, ขันธปรินิพพาน

“ภิกษุทั้งหลาย สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้ว มีสังโยชน์เครื่องผูกมัดไว้กับภพหมดสิ้นไปแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ, อินทรีย์ ๕ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ของเธอยังดำรงอยู่เทียวเพราะอินทรีย์ทั้งหลายยังไม่เสียหาย เธอย่อมได้เสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ ย่อมเสวยทั้งสุขและทุกข์ ; อันใดเป็นความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ ของเธอ, อันนี้เรียกว่าสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ”

“ภิกษุทั้งหลาย อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว … หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ, อารมณ์ที่ได้เสวยทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละของเธอ ซึ่งเธอไม่ติดใจเพลินแล้ว จักเป็นของเย็น, ข้อนี้เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ”

“นิพพานธาตุอย่างหนึ่ง เป็นทิฏฐธัมมิกะ (มีในปัจจุบัน) ชื่อว่า สอุปาทิเสส เพราะสิ้นตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ ; ส่วนนิพพานธาตุอีกอย่างหนึ่ง เป็นสัมปรายิกะ (มีในเบื้องหน้า) เป็นที่ภพทั้งหลายดับไปหมดสิ้น” (ธาตุสูตร)

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้ฟังข้อความที่แสดงภาวะของนิพพานมามากแล้ว แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้ปฏิบัติจนเข้าถึงและรู้เห็นด้วยตนเอง ก็พึงเตือนสติกันไว้ว่า ภาพความเข้าใจเกี่ยวกับนิพพานของผู้ศึกษาทุกคน ก็คงมีอาการที่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงไปบ้างเป็นธรรมดา จึงไม่ควรเอาแต่คิดสร้างภาพและถกเถียงกันจนเลยเถิดไป ทางที่ดีหรือทางที่ถูก ควรจะลงมือปฏิบัติให้เข้าถึง เพื่อรู้เห็นประจักษ์ชัดกับตนเอง หรืออาจใช้คำว่านึกไม่เห็น แต่ต้องปฏิบัติให้รู้เอง ในเบื้องต้นเพียงมองให้เห็นหลักใหญ่ๆในภาพรวมให้ถูกต้อง ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิไว้ก่อนเป็นสำคัญ (นิพพานนั้นไม่ใช่ของที่แตะต้องไม่ได้ หรือห้ามมิให้ตริตรึกนึกคิด เพราะการพิจารณาภาวะของนิพพานนั้น ก็เป็นการทำกิจในอริยสัจ ข้อนิโรธ นั่นเอง เพียงแต่ท่านแนะว่าไม่ควรเอาแต่คิดจนเลยเถิด)

“ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้มองเห็นนิพพานโดยความเป็นทุกข์ จักเป็นผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ ย่อมเป็นไปไม่ได้, ข้อที่ภิกษุผู้ไม่ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ จักบรรลุโสดาปัตติผล … ฯลฯ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ 

ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้มองเห็นนิพพานโดยความเป็นสุข จักเป็นผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้, ข้อที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ จักบรรลุโสดาปัตติผล … ฯลฯ ก็ย่อมเป็นไปได้”
(นิพพานสูตร)

ส่วนแทรกเสริมตามความเห็นของผู้บันทึก

การพิจารณาหลักการของผลสมาบัติ อาจช่วยทำให้ผู้ศึกษามองภาพของนิพพานได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น ในอรรถกถาญาณัตตยานิทเทส พระอรรถกถาจารย์ท่านอธิบายการเข้าอนิมิตสมาธิว่า “สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้พอใจความเป็นไปอันเป็นวิบากกล่าวคือสุคติ แต่พระโยคาวจรนี้ประสงค์จะเข้าผลสมาบัติ เห็นความเป็นไปแม้นั้นและสังขารทั้งปวงโดยความเป็นของไม่เที่ยง ครั้นเห็นอย่างนี้แล้วย่อมสามารถเข้าผลสมาบัติได้ … สมาบัติอันหานิมิตมิได้ ชื่อว่าอนิมิตสมาบัติ เพราะเห็นนิมิตโดยความเป็นภัยแล้วเข้าถึง” (ละความดำริถึงสังขตธรรมทั้งปวงแล้วเข้าถึง)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น