วันพุธ

๑.๑๕ ลักษณะของพระอรหันต์ผู้เข้าถึงนิพพาน (ภาวิต ๔)

ลักษณะของพระอรหันต์ผู้เข้าถึงนิพพาน สรุปตามแนวหลัก ภาวิต ๔ คือ ผู้มีตนที่พัฒนาแล้ว, ท่านผู้ได้ทำภาวนา ๔ เสร็จแล้ว หลักนี้เป็นแนวเดียวกับ ไตรสิกขา ต่างกันที่สิ่งที่มุ่งหมายจะแสดง คือ ไตรสิกขามุ่งแสดงการฝึกหัดพัฒนา แต่ภาวิต ๔ มุ่งแสดงคุณสมบัติของผู้ที่ได้พัฒนาสำเร็จแล้ว

หลักภาวิต ๔ 
๑. ภาวิตกาย :
มีกายที่ได้พัฒนาแล้ว
พัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุสมบูรณ์แล้ว ใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆได้อย่างเหมาะสม โดยไม่เกิดโทษ หรือให้เกิดโทษน้อยที่สุด, เป็นผู้พร้อมที่จะทำให้สถานที่นั้นเป็นรมณีย์น่ารื่นรมณ์ เพราะบังคับสัญญาของตนได้ จึงสามารถหมายรู้ในของปฏิกูลเป็นไม่ปฏิกูล เช่น คนหน้าตาไม่ดี อาการไม่งาม มองด้วยเมตตา หรือของไม่สวย มองตามสภาวะของธาตุ ให้เห็นเป็นของสบายตา, หมายรู้ในของไม่ปฏิกูลเป็นปฏิกูล เช่น คนหรือของที่เห็นกันว่าสวยงาม มองด้วยอนิจจตา หรือตามสภาวะของธาตุก็กลายเป็นไม่สวยงาม หรือจะวางใจเป็นกลางก็ได้ตามต้องการ

ดังพุทธพจน์ “พระอรหันต์ได้พัฒนาอินทรีย์แล้ว เป็นอย่างไร? เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ ได้ยินเสียงด้วยหู … สภาพที่น่าชอบใจ หรือไม่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น เธอนั้นหากจำนงว่าจะหมายรู้สิ่งปฏิกูลว่าเป็นของไม่ปฏิกูล ก็ได้ หากจำนงว่าจะหมายรู้ในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าเป็นของปฏิกูลก็ได้ หากจำนงว่า เราจะเว้นคำนึงทั้งปฏิกูลและไม่ปฏิกูล มีอุเบกขาอยู่ก็ได้” (อินทริยภาวนาสูตร)

๒. ภาวิตศีล : มีศีลที่ได้พัฒนาแล้ว
พัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคมสมบูรณ์แล้ว พระอริยบุคคลย่อมเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ชั้นโสดาบัน การบรรลุอรหัตตผล เป็นภาวะที่ทำให้ความทุศีลหรือความประพฤติเสียหาย ไม่มีเหลืออีกต่อไป พระอรหันต์เป็นผู้ดับกรรม การกระทำของท่านไม่เป็นกรรมอีกต่อไป เรียกว่าเป็น กิริยา มีแรงจูงใจมาจากคุณธรรมเช่น ฉันทะ กรุณา เป็นต้น ไม่ได้มาจากตัณหา มีปัญญารู้แจ้งชัดตามเหตุผล คือ ไม่ทำการด้วยความยืดมั่นในความดีความชั่วที่เกี่ยวกับตัวเราของเรา ไม่มีความปรารถนาเพื่อตัวตนเคลือบแฝงอยู่ ทำไปตามวัตถุประสงค์ของกิจนั้นๆตามที่มันควรจะเป็นล้วนๆ จึงเป็นการกระทำขั้นที่ลอยพ้นเหนือกรรมดีขึ้นไปอีก ส่วนกรรมชั่วเป็นอันไม่ต้องพูดถึง เพราะหมด โลภะ โทสะ โมหะ ที่จะเป็นเหตุปัจจัยให้ทำความชั่วเสียแล้ว

โดยเฉพาะสำหรับท่านผู้ถึงนิพพานนั้น มีลักษณะเด่นเห็นชัดในแง่ที่ว่า เป็นผู้ปลอดโปร่งไร้ทุกข์ มีความสุขอย่างสมบูรณ์แล้ว เป็นผู้ทำประโยชน์ตนเสร็จสิ้นแล้ว จึงขับดันให้แรงฉันทะในข้อกรุณาแสดงออกมาเต็มที่ ดังที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายมีกรุณาเป็นพระคุณข้อสำคัญ

๓. ภาวิตจิต : มีจิตที่ได้พัฒนาแล้ว
จิตมีความเป็นอิสระหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลส ทำให้ไม่มีเรื่องติดใจกังวล ไม่หงุดหงิด ไม่หงอยเหงา ไม่มีความสะดุ้งสะท้านหวั่นไหว ไม่ต้องฝากชีวิตหรือความสุขของตนไว้กับความหวังเพราะเป็นคนบริบูรณ์เต็มอิ่ม ปลอดโปร่ง เกษม ผ่องใส เบิกบานใจ เป็นบรมสุขในตัว การไม่มีความกลัว ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่ตกใจไหวหวั่น เป็นลักษณะทางจิตที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระอรหันต์ ความหวาดเสียวสะดุ้งตกใจนี้ เกิดจากกิเลสแฝงลึก อย่างที่ในปัจจุบันเรียกกันว่าอยู่ในจิตไร้สำนึก เป็นของปกปิดได้ยาก จึงเป็นเครื่องฟ้องถึงกิเลสที่ยังแฝงอยู่ภายใน ยากที่จะเสแสร้งแก่ผู้อื่นและไม่อาจหลอกลวงตนเอง

“ผู้ถึงธรรม ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ฝันเพ้อถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง ดำรงอยู่ด้วยสิ่งที่เป็นปัจจุบัน” (อรัญญสูตร)

ข้อควรทำความเข้าใจเป็นพิเศษในเรื่องนี้คือ การไม่รำพึงหลัง ไม่หวังอนาคตนี้ จัดเป็นลักษณะของภาวะทางจิต ที่ปลอดโปร่งจากอดีตและอนาคต ไม่ใช่ลักษณะของภาวะทางปัญญา มิได้หมายความว่าพระอรหันต์ไม่ใช้ปัญญาพิจารณากิจการงานภายหน้า และไม่ใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ และความรู้เกี่ยวกับอดีต พระอรหันต์ บรรลุภาวะมีอำนาจเหนือจิต ประสงค์จะตริตรึกความคิดใด ก็ตริตรึกความคิดนั้น ไม่ประสงค์จะตริตรึกความคิดใด ก็ไม่ตริตรึกความคิดนั้น พระอรหันต์เสวยเวทนาทางกายอย่างไม่มีกิเลสร้อยรัด เป็นการเสวยเวทนาชั้นเดียว ไม่เสวยเวทนาทางจิต เมื่อเสวยเวทนาแล้วไม่มีกิเลสอาสวะตกค้าง (ปุถุชนเมื่อเสวยสุข ก็จะมีราคานุสัยตกค้าง เสวยทุกข์ ก็มีปฏิฆานุสัยตกค้าง เสวยอารมณ์เฉยๆ ก็มีอวิชชานุสัยตกค้าง)

“สัตว์ที่ยืนยันได้ว่าตนปราศจากโรคทางจิต แม้เพียงครู่หนึ่งนั้น หาได้ยาก ยกเว้นแต่พระขีณาสพ” (จตุตถปัณณาสก์ อินทรียวรรค)

มีความดับเย็นเป็นสุขภายใน ไม่ต้องอาศัยอามิส ท่านเรียกว่าเป็นนิรามิสสุขอย่างยิ่ง (ยิ่งกว่านิรามิสสุขในฌาน) เมื่อสุขของผู้ถึงนิพพานไม่ขึ้นต่อปัจจัยภายนอก ความผันแปรแห่งสังขารจึงไม่เป็นเหตุให้ท่านเกิดความทุกข์ อยู่เป็นสุขได้ตลอดเวลา ตรงข้ามกับปุถุชนผู้ยังมีกิเลสอันเป็นเหตุให้ต้องแสวงหาความสุขจากอารมณ์ทั้งหลายที่เป็นกามคุณ แม้จะได้ความสุขจากการหาอารมณ์มาสนองความอยากนั้น แต่ก็ถูกเชื้อความอยากต่างๆทั้งหลายเร้า ระคาย ให้เร่าร้อนทุรนทุราย กระสับกระส่าย เมื่อดำเนินชีวิตไปในแนวทางเช่นนี้ ความสุขความรื่นรมย์ที่มีอยู่ ก็วนอยู่แค่การปลุกเร้าเชื้อความอยากให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น แล้วก็หาสิ่งที่จะเอามาสนองระงับดับความกระวนกระวายนั้นลงไปคราวหนึ่งๆ อาจเปรียบเทียบได้ดังนี้
        ๑. เปรียบเหมือนผู้เป็นโรคเรื้อนย่อมได้รับความสุขเป็นครั้งคราวจากการเกาแผลโรคเรื้อนนั้น แต่ผู้ที่มีสุขภาพดีย่อมอยู่เป็นสุขทุกเมื่อ
        ๒. เปรียบเหมือนการโหมไฟขึ้นแล้วดับไฟลงชั่วคราวเพื่อได้รับความสุขเย็น ย่อมเทียบไม่ได้กับความสุขเย็นของไฟที่ดับลงอย่างถาวรแล้ว
        ๓. เปรียบเหมือนกับการเติบโตจากเด็กขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ของเล่นต่างๆที่เคยรักใคร่หวงแหนในสมัยเด็ก ครั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็จืดจาง วิธีการหาความสนุกสนานต่างๆตามแบบของเด็กๆก็กลายเป็นสิ่งไร้ความหมาย ข้อนี้ฉันใด ผู้ที่บรรลุนิพพาน เข้าถึงพัฒนาการที่สูงเลยขึ้นไปจากปุถุชน ย่อมมีท่าทีต่อโลกและชีวิต ต่อสิ่งที่ชื่นชมยินดี และต่อวิถีทางดำเนินชีวิตของปุถุชน เปลี่ยนแปลงไป ฉันนั้น

ลักษณะที่ควรกล่าวย้ำไว้ เพราะท่านกล่าวถึงอยู่บ่อยๆ คือความเป็นสุข มีทั้งคำแสดงภาวะของนิพพานว่าเป็นสุข คำกล่าวถึงผู้บรรลุนิพพานว่าเป็นสุข และคำกล่าวของผู้บรรลุเองว่าตนมีความสุข เช่น นิพพานเป็นบรมสุข, นิพพานเป็นสุขยิ่งหนอ, สุขยิ่งกว่านิพพานสุขไม่มี, นี่คือสุขที่ยอดเยี่ยม, พระอรหันต์ทั้งหลายมีความสุขจริงหนอ, ผู้ปรินิพพานแล้ว นอนเป็นสุขทุกเมื่อแล, ผู้ไร้กังวลเป็นผู้มีความสุขหนอ, พวกเราผู้ไม่มีอะไรให้กังวล เป็นสุขจริงหนอ แม้นิพพานจะเป็นสุข และผู้บรรลุนิพพานก็เป็นผู้มีความสุข แต่ผู้บรรลุนิพพานไม่ติดในความสุข ไม่ว่าชนิดใดๆ รวมทั้งไม่ติดเพลินนิพพานด้วย

๔. ภาวิตปัญญา : มีปัญญาที่ได้พัฒนาแล้ว
ลักษณะสำคัญที่เป็นพื้นฐานทางปัญญาของผู้บรรลุนิพพาน คือ การมองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นหรือเห็นตามเป็นจริง เข้าใจทั้งส่วนดีหรือส่วนที่น่าชื่นชม (อัสสาทะ) ส่วนเสียหรือส่วนที่เป็นโทษ (อาทีนวะ) และทางปลอดพ้น (นิสสรณะ) ของกาม ของโลก ที่ละกาม หายติดใจในโลก เลิกยึดขันธ์ ๕ เสีย ก็เพราะมองเป็นทางปลอดพ้นเป็นอิสระ (นิสสรณะ) ที่จะทำให้อยู่ดีมีสุขอย่างสมบูรณ์ได้โดยไม่ต้องขึ้นต่อส่วนดีและส่วนเสียเหล่านั้น อีกทั้งเป็นการอยู่ดีมีสุขที่ประเสริฐกว่า ประณีตกว่า อีกด้วย

“ภิกษุใดข้ามเปือกตมคือกามได้แล้ว ย่ำยีหนาม คือกามได้แล้ว ภิกษุนั้นบรรลุถึงความสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์” (นันทะสูตร)

ในพุทธพจน์ที่ตรัสเรียกพระอรหันต์ว่าเป็น “อัตตัญชโห” แปลแค่ตามรูปศัพท์ว่า “ผู้ละอัตตา” แต่ความหมายคือ “ผู้ละความยึดถืออัตตา” เพราะไม่มีอัตตาที่จะไปละ เมื่อละความยึดถืออัตตาได้ อัตตาที่ไม่มีอยู่แล้วก็หมดภาพที่สร้างใส่ให้ไว้แก่ชื่อของมัน ภาพอัตตาที่ยึดไว้ถือมาก็ลับตาหายไป ทั้งนี้ มีข้อพึงตระหนักว่า คุณลักษณะและคุณสมบัติต่อไปนี้ แม้จะจัดแยกไว้ต่างหากกันเป็นด้านนั้นด้านนี้ แต่แท้จริงแล้ว มิใช่แยกขาดจากกัน เพียงแต่จัดแยกออกไปตามด้านที่ปรากฏเด่น เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ส่วนในการพัฒนา คุณเหล่านี้เนื่องกัน พัฒนามาด้วยกัน โดยเฉพาะในด้านปัญญา

โดยสรุป คุณสมบัติของผู้บรรลุนิพพาน ไม่ว่าจะพูดพรรณนาในลักษณะใด รวมแล้วก็ตั้งอยู่บนฐานของธรรม ๓ ประการ คือ ปัญญาที่เรียกจำเพาะว่า วิชชา, ความหลุดพ้นเป็นอิสระที่เรียกว่า วิมุตติ และกรุณา ที่เป็นพลังแผ่ปรีชาญาณออกไปทำให้ผู้อื่นพลอยได้วิชชา และถึงวิมุตติด้วย เนื่องจาก ผู้บรรลุนิพพาน สำเร็จกิจประโยชน์ส่วนตนแล้ว จึงมุ่งบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ดังพุทธดำรัสอันตรัสเน้นอยู่เสมอ “เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขของพหูชน เพื่อเกื้อการุณย์แก่ชาวโลก” ภาวะของผู้บรรลุนิพพานจึงเป็นความบรรจบกันของความสุขของบุคคล ที่จะเป็นไปเพื่อความสุขของมวลชนทั้งโลก



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น