๑๑. โสสานิกังคกถา
โสสานิกังคกถา
โสสานิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ ต้องอยู่ ณ สุสานซึ่งมีการเผาศพประจำ, มีศพประจำและมีการร้องไห้เป็นเนืองนิจเท่านั้น
โสสานิกังคกถา
By ใบลานเปล่า - ตุลาคม 20, 2564 0 Comments
📚 บทความที่เกี่ยวข้อง 📚 :อัพโภกาสิกังคกถา
By ใบลานเปล่า - ตุลาคม 20, 2564 0 Comments
📚 บทความที่เกี่ยวข้อง 📚 :By ใบลานเปล่า - ตุลาคม 20, 2564 0 Comments
📚 บทความที่เกี่ยวข้อง 📚 :อารัญญิกังคกถา
การสมาทาน
แม้อารัญญิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ คามนฺตเสนาสนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธเสนาสนะภายในบ้าน ดังนี้อย่างหนึ่ง อารญฺฌิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในอารัญญิกกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้
กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกตินั้น ต้องออกจากเสนาสนะภายในบ้านไปทำให้อรุณตั้งขึ้นในป่า, ในเสนาสนะ ๒ อย่างนั้น บ้านพร้อมทั้งอุปจารแห่งบ้านนั่นเที่ยว ชื่อว่า เสนาสนะภายในบ้าน
อธิบายคำว่าบ้าน
ที่อยู่อาศัยอย่างใดอย่างหนึ่ง จะมีกระท่อมหลังเดียวหรือหลายหลังก็ตาม จะมีเครื่องล้อมหรือไม่มีเครื่องล้อมก็ตาม จะมีคนหรือไม่มีคนก็ตาม แม้ชั้นที่สุดหมู่เกวียนเหล่าใดเหล่าหนึ่งซึ่งจอดพักอยู่เกิน ๔ เดือน ชื่อว่า บ้าน
อธิบายคำว่าอุปจารบ้าน
สำหรับบ้านที่มีเครื่องล้อมเหมือนดังเมืองอนุราธปุรี ย่อมมีเขื่อนอยู่ ๒ ชั้น ชั่วเลฑฑุบาตหนึ่ง (ชั่วขว้างก้อนดินตก) ของบุรุษผู้มีกำลังปานกลาง ซึ่งยืนอยู่ที่เขื่อนด้านใน ชื่อว่า อุปจารบ้าน (บริเวณรอบ ๆ บ้าน) ท่านผู้ชำนาญพระวินัยอธิบายลักษณะของเลฑฑุบาตนั้นไว้ดังนี้ ที่ภายในแห่งก้อนดินตก ซึ่งบุรุษผู้มีกำลังปานกลางขว้างไปนั้น เหมือนอย่างพวกเด็กวัยหนุ่มเมื่อจะออกกำลังของตน จึงเหยียดแขนออกแล้วขว้างก้อนดินไป ฉะนั้น ส่วนท่านผู้ชำนาญพระสูตรอธิบายไว้ว่า ที่ภายในแห่งก้อนดินตก ซึ่งบุรุษขว้างไปด้วยหมายที่จะห้ามกา ชื่อว่า อุปจารบ้าน ในบ้านที่ไม่มีเครื่องล้อม มาตุคาม (สตรี) ยืนอยู่ที่ประตูเรือนหลังสุดท้ายแล้วสาดน้ำไปด้วยภาชนะ ภายในที่ตกแห่งน้ำนั้น ชื่อว่า อุปจารเรือน นับแต่อุปจารเรือนนั้นออกไปชั่วเลฑฑุบาตหนึ่งโดยนัยที่กล่าวมาแล้ว ยังนับเป็นบ้าน ชั่วเลฑฑุบาตที่สองจึงนับเป็น อุปจารบ้าน
อธิบายคำว่าป่า
ส่วนป่านั้น ประการแรก โดยปริยายแห่งพระวินัยท่านอธิบายไว้ว่า ยกเว้นบ้านและอุปจารบ้านเสีย ที่ทั้งหมดนั้นเรียกว่า ป่า โดยปริยายแห่งพระอภิธรรมท่าน อธิบายไว้ว่า ที่ภายนอกจากเขื่อนออกไปทั้งหมดนั้น เรียกว่า ป่า ส่วน ณ ที่นี้ โดยปริยายแห่งพระสูตรท่านอธิบายลักษณะไว้ดังนี้ เสนาสนะหลังสุดท้ายที่ตั้งอยู่ชั่วระยะ ๕๐๐ ชั่วธนู เรียกว่า เสนาสนะป่า” ลักษณะที่กล่าวมานี้ จึงกำหนดวัดด้วยคันธนูแบบที่ขึ้นแล้ว สำหรับบ้านที่มีเครื่องล้อมวัดตั้งแต่เสาเขื่อนไปจนจรด รั้ววัด (วิหาร) สำหรับบ้านที่ไม่มีเครื่องล้อม วัดตั้งแต่ชั่วเลฑฑุบาตแรกไปจนจรดรั้ววัด (วิหาร) พระอรรถกถาจารย์ อธิบายไว้ในอรรถกถาวินัยทั้งหลายว่า “แหละถ้าเป็นวัดที่ไม่มีรั้วล้อม ฟังวัดเอาเสนาสนะหลังแรกให้เป็นเครื่องกำหนด หรือฟังวัดเอาโรงครัวหรือที่ประชุมประจำ หรือต้นโพธิ์ หรือพระเจดีย์ แม้มีอยู่ในที่ห่างไกลไปจากเสนาสนะ ให้เป็นเครื่องกำหนดก็ได้” ส่วนในอรรถกถามัชฌิมนิกายท่านอธิบายไว้ว่า แม้อุปจารวัดก็เหมือนอุปจารบ้าน จึงออกมาวัดเอาตรงระหว่างเลฑฑบาตทั้งสองนั่นเถิด ข้อนี้นับเอาเป็นประมาณในการคำนวณนี้ได้
แม้หากว่ามีหมู่บ้านอยู่ในที่ใกล้กับวัด ภิกษุสามเณรซึ่งอยู่ในวัดก็ได้ยินเสียงของชาวบ้านอยู่ แต่ก็ไม่อาจจะเดินทางตรง ๆ ถึงกันได้ เพราะมีภูเขาและแม่น้ำเป็นต้นคั่นอยู่ในระหว่าง ทางใดอันเป็นทางเดินโดยปกติของวัดนั้น แม้หากจะพึงสัญจรไปมาด้วยเรือก็ตามพึงถือเอาเป็น ๕๐๐ ชั่วธนูด้วยทางนั้น แต่อารัญญิกภิกษุใดปิดกั้นทางเล็ก ๆ ในที่นั้น ๆ เสีย เพื่อประสงค์ที่จะให้สำเร็จเป็นองค์ของบ้านใกล้วัด อารัญญิกภิกษุนี้ ย่อมชื่อว่า โจรธุดงค์ก็แหละ ถ้าอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ของอารัญญิกภิกษุเกิดต้องอาพาธขึ้นมา เมื่อท่านไม่ได้ความสัปปายะในป่า จะพึงนำพาอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ไปอุปัฏฐากที่เสนาสนะภายในบ้านก็ได้ แต่ต้องรีบกลับออกไปให้ทันกาล ทำให้อรุณขึ้นในที่อันประกอบด้วยองค์แห่งป่าถ้าโรคของอุปัชฌาย์หรืออาจารย์กำเริบขึ้นในเวลาอรุณขึ้นพอดีก็พึงอยู่ทำกิจวัตรถวายแต่อุปัชฌาย์หรืออาจารย์นั่นเถิด ไม่ต้องห่วงทำธุดงค์ให้บริสุทธิ์ดอก ว่าด้วยกรรมวิธีในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้
ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้ภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกตินี้ ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
อารัญญิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ ย่อมทำให้อรุณขึ้นในป่าตลอดกาล (คืออยู่ในป่าเป็นนิจ)
อารัญญิกภิกษุชั้นกลาง ย่อมอยู่ในเสนาสนะภายในบ้านได้ตลอดกาล ๔ เดือน ในฤดูฝน
อารัญญิกภิกษุชั้นต่ำ ย่อมอยู่ในเสนาสนะภายในบ้านได้ตลอดกาล ๔ เดือนในฤดูหนาวด้วย (รวมเป็นเวลา ๘ เดือน)
ว่าด้วยประเภทในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้
ความแตก
ก็แหละ เมื่ออารัญญิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนั้น มาจากป่าแล้วฟังธรรมเทศนาอยู่ในเสนาสนะภายในบ้าน แม้ถึงอรุณจะขึ้นในกาลตามที่กำหนดไว้นั้น ธุดงค์ก็ไม่แตก ครั้นฟังธรรมแล้วกำลังเดินทางกลับไปอยู่ ถึงแม้อหุณจะตั้งขึ้นในระหว่างทาง ธุดงค์ก็ไม่แตก แต่ถ้าเมื่อพระธรรมกถึกลุกไปแล้ว อารัญญิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนั้นคิดว่า “จักพักนอนสักครู่หนึ่งแล้วจึงจักไป” ดังนี้ แล้วเลยหลับไปทำให้อรุณขึ้นในเสนาสนะภายในบ้าน หรือทำให้อรุณขึ้นในเสนาสนะภายในบ้านตามความชอบใจของตน ธุดงค์ย่อมแตก ว่าด้วยความแตกในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้
อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ อารัญญิกภิกษุผู้สนใจถึงซึ่งความสำคัญแห่งป่า เป็นผู้ควรที่จะได้บรรลุซึ่งสมาธิที่ยังมิได้บรรลุ หรือเป็นผู้ควรที่จะรักษาไว้ได้ซึ่งสมาธิที่ได้บรรลุแล้ว แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็ทรงพอพระหฤทัยต่อท่าน เหมือนดังที่ตรัสไว้ว่า “นาคิตภิกขุ ด้วยเหตุนั้น เราย่อมพอใจต่อภิกษุนั้นด้วยการอยู่ในป่า” ดังนี้ อนึ่ง สิ่งต่าง ๆ มีรูปอันไม่เป็นที่สัปปายะเป็นต้น ย่อมไม่รบกวนจิตของอารัญญิกภิกษุนั้นผู้อยู่ในเสนาสนะอันสงัด, ภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกติเป็นผู้สิ้น ความสะดุ้งหวาดเสียวแล้ว ละความพอใจอาลัยในชีวิตได้แล้ว ท่านย่อมได้เสวยรสแห่งความสุขอันเกิดแต่วิเวก, อนึ่ง ภาวะที่เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ เป็นต้น ย่อมเป็นภาวะที่เหมาะสมแก่ท่านอารัญญิกภิกษุนั้น อารัญญิกภิกษุผู้ชอบความสงบ ไม่คลุกคลี ยินดีในเสนาสนะอันสงัด เป็นผู้ยังพระมานัสของสมเด็จพระโลกนาถให้ทรงโปรดปรานได้ด้วยการอยู่ในป่า อารัญญิกภิกษุผู้สำรวม อยู่ในป่าแต่เดียวดาย ย่อมได้ประสบความสุขอันใด รสแห่งความสุขอันนั้น แม้แต่ทวยเทพกับพระอินทร์ ก็ไม่ได้ประสบ แหละอารัญญิกภิกษุนี้ เที่ยวสวมสอดผ้าบังสุกุลจีวรเป็นเสมือนกษัตริย์ทรงสวมสอดเกราะ เข้าสู่สงครามคือป่า มีธูตธรรมที่เหลือเป็นอาวุธ เป็นผู้สามารถที่จะได้ชัยชนะซึ่งพญามารพร้อมทั้งราชพาหนะ โดยไม่นานเท่าไรนักเลย เพราะเหตุฉะนั้น อันภิกษุผู้เป็นบัณฑิต พึงกระทำความยินดีในการอยู่ป่า นั่นเทอญ
ว่าด้วยอานิสงส์ในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ ในอารัญญิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้
By ใบลานเปล่า - ตุลาคม 19, 2564 0 Comments
📚 บทความที่เกี่ยวข้อง 📚 :ขลุปัจฉาภัตติทั้งคกถา
การสมาทาน
แม้ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ อติริตฺตโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธโภชนะอันล้นเหลือ ดังนี้อย่างหนึ่ง ขลุปจฺฉาภตฺติกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุมิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้
กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุมิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตเป็นปกตินั้น ครั้นห้ามโภชนะเสียแล้วไม่พึงให้ทำโภชนะให้เป็นกัปปิยะ (ให้เป็นของควรฉัน) แล้วฉันอีก ว่าด้วยกรรมวิธีในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้
ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุชั้นอุกฤษฏ ห้ามโภชนะแล้วด้วยอาการอย่างนี้ คือ ฉันบิณฑบาตครั้งแรกแล้ว ย่อมไม่ฉันบิณฑบาตครั้งที่สอง
ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุชั้นกลาง ตนห้ามแล้วในเพราะโภชนะใด ยังฉันโภชนะนั้นได้อยู่นั่นเที่ยว
ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุชั้นต่ำ ย่อมฉันบิณฑบาตได้ตลอดเวลาที่ตนยังไม่ลุกจากที่นั่ง
ว่าด้วยประเภทในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้
ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนี้ซึ่งห้ามโภชนะแล้ว ให้ทำโภชนะให้เป็นกัปปิยะแล้วฉันอีกนั่นเทียว ว่าด้วยความแตกในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้
อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ เป็นการห่างไกลจากอาบัติเพราะฉันโภชนะอันไม่เป็นเดน, ไม่มีการแน่นท้อง, เป็นการไม่สะสมอามิส, ไม่มีการแสวงหาอีก เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น โยคืบุคคลผู้ขลุปัจฉาภัตติกซึ่งเป็นบัณฑิตย่อมไม่เผชิญกับความลำบาก เพราะการแสวงหาอาหาร ย่อมไม่ทำการสะสมอามิส ย่อมหายจากความแน่นท้อง เพราะฉะนั้น อันโยคีบุคคลผู้ใคร่ที่จะกำจัดเสียซึ่งโทษทั้งหลาย พึงบำเพ็ญขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระสุคตเจ้าทรงสรรเสริญพระปฏิบัติศาสนาว่า เป็นที่เกิดแห่งความเจริญขึ้นแห่งคุณมีคุณคือความสันโดษเป็นต้นนั่นเทียว
ว่าด้วยอานิสงส์ในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ ในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้
By ใบลานเปล่า - ตุลาคม 19, 2564 0 Comments
📚 บทความที่เกี่ยวข้อง 📚 :By ใบลานเปล่า - ตุลาคม 18, 2564 0 Comments
📚 บทความที่เกี่ยวข้อง 📚 :ในภาพรวมจะแบ่งเป็น ๓ ขั้นตอน คือ ทำความเข้าใจหลักขันธ์ ๕ หลักไตรลักษณ์ และพิจารณาความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ ๕ ตามแนวของ🔎อนัตตลักขณสูตร ในขั้นแรก พึงทำความเข้าใจ🔎ขันธ์ ๕ ให้กระจ่างดีเสียก่อนว่า สิ่งที่สมมติว่าเป็นตัวเรานั้น ตามสภาวะแท้จริงประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบ ๕ อย่าง กล่าวโดยย่อดังนี้
(ส่วนรูปธรรม ๑)
รูป คือ องค์ประกอบส่วนรูปธรรมทั้งหมด
(ส่วนนามธรรม ๔)
เวทนา คือ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ
สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้
สังขาร คือ ความปรุงแต่งอารมณ์ให้ดีชั่วอันมีเจตนาเป็นแกน
วิญญาณ คือ ธาตุรู้ทางประสาทสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ทั้งนี้ ในการพิจารณาอย่าใช้วิธีนึกคิดตามตัวอักษรเพียงอย่างเดียว ให้พิจารณาแยกแยะองค์ประกอบทั้ง ๕ อย่างนี้ที่ตัวเราเองด้วย เพราะสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นกันไว้ด้วยกิเลสมากที่สุด ก็คือสิ่งที่สมมติว่าเป็นตัวเรานี้เอง และตัวเราดังกล่าวก็ไม่ได้มีองค์ประกอบอื่นใดนอกเหนือไปจากที่พระพุทธเจ้าทรงแจกแจงแสดงออกเป็นขันธ์ ๕ นี้ แม้ผู้อื่น หรือสิ่งอื่นใดในโลก ก็ไม่มีอะไรเกินเลยออกไปจากขันธ์ ๕ นี้เช่นเดียวกัน ในขั้นแรกพึงทำความเข้าใจดังนี้ ต่อมาพิจารณาหลัก🔎ไตรลักษณ์ กล่าวโดยย่นย่อ การทำความเข้าใจหลักไตรลักษณ์นั้น พึงพิจารณาจากหยาบไปหาละเอียด จากส่วนที่เห็นได้ง่ายปรากฎแก่สายตาไปหาส่วนที่ลึกซึ้งเข้าใจได้ยาก
เริ่มด้วยการพิจารณาว่าสิ่งทั้งปวงในโลกล้วนเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีสภาวะความเกิดดับไม่เที่ยง (อนิจจัง) > สิ่งใดเกิดดับไม่เที่ยง สิ่งนั้นย่อมถูกกดดันบีบคั้นด้วยความเกิดดับนั่นเอง (ทุกขัง) > เมื่อเกิดดับแปรปรวนไปตามเหตุปัจจัยและเป็นสภาวะกดดันบีบคั้น ไม่สามารถครอบครองควบคุมสั่งบังคับให้เป็นอย่างไรๆตามต้องการนอกเหนือเหตุปัจจัยได้ ย่อมไม่เป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา) สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลก (สังขตธรรม) มีสามัญลักษณะเสมอเหมือนกันเช่นนี้
วิปัสสนากรรมฐานไตรลักษณ์ขันธ์ ๕
เมื่อได้ทำความเข้าใจขันธ์ ๕ และไตรลักษณ์ดีแล้ว พึงพิจารณาความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ ๕ ตามแนวของ อนัตตลักขณสูตร
รูป เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ว่าผู้ใดจะได้รูปกายอันงดงามก็ย่อมเจ็บป่วยโทรมทรุดด้วยประการต่างๆเป็นธรรมดา (ทุกขัง) > เมื่อรูปไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่ารูปเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในรูปอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย
เวทนา เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ปรารถนาความสุขทั้งหลายให้ยั่งยืน ทุกข์ให้หมดสิ้นไป ก็มิได้ (ทุกขัง) > เมื่อเวทนาไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่าเวทนาเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในเวทนาอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย
สัญญา เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ปรารถนาให้จำเอาไว้แต่เรื่องราวอันเป็นสุข ลืมเรื่องทุกข์ทั้งหลายให้หมดสิ้น ก็มิได้ (ทุกขัง) > เมื่อสัญญาไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่าสัญญาเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในสัญญาอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย
สังขาร เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ปรารถนาจะให้มีเฉพาะเจตนาอันประกอบด้วยปัญญาและความเพียร ไม่ประกอบด้วยเจตนาอันจะก่อโทษให้เดือดร้อนใดๆ ก็มิได้ (ทุกขัง) > เมื่อสังขารไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่าสังขารเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในสังขารอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย
วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ปรารถนาจะรับรู้เฉพาะสิ่งที่ต้องการ ไม่รับรู้สิ่งที่ไม่ต้องการ ก็มิได้ (ทุกขัง) > เมื่อวิญญาณไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่าวิญญาณเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในวิญญาณอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย
ลองทบทวนสอบถามกับตัวเองตามแนวทางที่ท่านทรงแสดงไว้แล้วว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ตนเองและผู้อื่นคงที่เที่ยงแท้ หรือ เกิดดับไม่เที่ยง ? สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้น เหตุปัจจัยบีบคั้นเป็นทุกข์ หรือ คล่องสบายเป็นสุข ? ก็สิ่งใดเกิดดับไม่เที่ยง บีบคั้นเป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ไม่ใช่สิ่งที่จะควบคุมได้เหนือเหตุปัจจัย ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่าเป็นอัตตาตัวตนของเรา ? (ควรตอบตามความเห็นของตัวเองจริงๆไม่ใช่ตอบแบบท่องจำ เพื่อเป็นการประเมินความเห็นของตัวเองตามที่เป็นอยู่จริงในขณะนั้น) พิจารณาให้เห็นว่าขันธ์ ๕ นี้ เกิดดับแปรปรวนไปตามเหตุปัจจัยเสมอเหมือนกับสิ่งอื่นๆในโลก ไม่ใช่อัตตาตัวตนของเราที่ควรจะยึดติดถือมั่นไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายสมดังคำกล่าวที่ว่า ผู้ละความยึดติดถือมั่นทั้งปวงลงได้แล้ว ทุกข์ทางใจย่อมไม่มีที่ตั้งและที่ให้กระทบ เป็นผู้ไม่หวั่นไหวทั้งในสุขและทุกข์ มีจิตใจเบิกบานทุกเมื่อ ส่วนทุกข์ทางกาย ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติไป
ไม่มีอัตตาได้อย่างไร
อาจมีข้อสงสัยว่า มนุษย์หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็สามารถควบคุมความคิดและการกระทำของตัวเองให้เป็นอย่างที่ตนต้องการได้มิใช่หรือ? ถ้าไม่มีอัตตาแล้วเจตจำนงที่จะเลือกทำหรือไม่ทำสิ่งใดนั้นจะมาจากไหน? ความคิดเช่นนี้ถูกบางส่วนแต่ไม่ถูกทั้งหมด กล่าวคือ สิ่งมีชีวิตสามารถควบคุมความคิดและการกระทำของตัวเองได้ เพราะมีเจตนา (เจตนาทำหน้าที่เป็นแกนของสังขารขันธ์ พระอภิธรรมว่าเป็นสัพพสาธารณะเจตสิก คือเกิดกับจิตทุกดวง) เจตนานั้นทำหน้าที่เป็นผู้คิด ผู้ริเริ่ม ที่จะทำหรือไม่ทำสิ่งใด ที่ว่าเจตนาควบคุมได้นั้น มันเพียงเป็นไปตามหน้าที่ของมันซึ่งมีคุณสมบัติเป็นตัวริเริ่มทำการต่างๆ แต่ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยเช่นเดิม
กล่าวคือ การริเริ่มกระทำต่ออารมณ์เป็นหน้าที่หรือเป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติของเจตนา เหมือนกับที่ เวทนามีหน้าที่เสวยอารมณ์ สัญญามีหน้าที่ทรงจำอารมณ์ วิญญาณมีหน้าที่รู้อารมณ์ ต่างกันตรงที่สังขารขันธ์ซึ่งมีเจตนาเป็นแกนนั้นเป็นผู้กระทำต่ออารมณ์ (เป็นช่วงเหตุใน🔎ปฏิจจสมุปบาท) ส่วนขันธ์อื่นๆนั้นเป็นผู้รับอารมณ์ (เป็นช่วงผลในปฏิจจสมุปบาท) การที่สิ่งมีชีวิตมีความคิดริ่เริ่มเป็นของตนเอง จึงไม่ได้หมายความว่าสิ่งมีชีวิตนั้นมีอัตตาเป็นของตัวเอง
พิจารณาแนวของอนัตตลักขณสูตร
ถ้าความคิดริเริ่มหรือเจตนารมณ์ใดๆที่มีอยู่ในตนเป็นอัตตาแล้ว ย่อมบังคับควบคุมได้ว่าให้มีเฉพาะส่วนดี เช่น ย่อมเลือกได้ควบคุมบังคับได้ว่าจะทำสิ่งใดให้มีแต่เจตนาอันประกอบพร้อมด้วยปัญญาอย่าตกเป็นทาสหรือเผลอทำอะไรตามกิเลส, เจตนาพึงประกอบด้วยความเพียรอย่าย่อท้อไม่มีความตรอมตรมหมดอาลัยตายอยาก เป็นต้น เจตนาใดๆล้วนไม่เที่ยง เกิดดับแปรปรวนเรื่อยไป จึงไม่มีเหตุให้ยึดถือเป็นตัวตน การที่สิ่งมีชีวิตมีเจตนาสามารถกำหนดทิศทางของตัวเองได้ตามเหตุปัจจัย ทำให้ทุกชีวิตมีความหวังที่จะไปถึงจุดหมายที่ต้องการได้ด้วยความเพียรและสติปัญญา ดังที่เราจะพบพุทธพจน์ที่ตรัสเรื่องความเพียรอยู่มากมายในพระไตรปิฎกนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : 🔎สติปัฏฐาน ๔
By ใบลานเปล่า - ตุลาคม 14, 2564 0 Comments
Tags ปกิณกะธรรม
📚 บทความที่เกี่ยวข้อง 📚 :ธรรมสุตตะ | ศึกษาพระธรรมคำสอนตามพระไตรปิฎก © 2008. Template by Dicas Blogger.