๘. อารัญญิกังคกถา

อารัญญิกังคกถา

การสมาทาน
แม้อารัญญิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ คามนฺตเสนาสนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธเสนาสนะภายในบ้าน ดังนี้อย่างหนึ่ง อารญฺฌิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในอารัญญิกกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกตินั้น ต้องออกจากเสนาสนะภายในบ้านไปทำให้อรุณตั้งขึ้นในป่า, ในเสนาสนะ ๒ อย่างนั้น บ้านพร้อมทั้งอุปจารแห่งบ้านนั่นเที่ยว ชื่อว่า เสนาสนะภายในบ้าน

อธิบายคำว่าบ้าน
ที่อยู่อาศัยอย่างใดอย่างหนึ่ง จะมีกระท่อมหลังเดียวหรือหลายหลังก็ตาม จะมีเครื่องล้อมหรือไม่มีเครื่องล้อมก็ตาม จะมีคนหรือไม่มีคนก็ตาม แม้ชั้นที่สุดหมู่เกวียนเหล่าใดเหล่าหนึ่งซึ่งจอดพักอยู่เกิน ๔ เดือน ชื่อว่า บ้าน

อธิบายคำว่าอุปจารบ้าน
สำหรับบ้านที่มีเครื่องล้อมเหมือนดังเมืองอนุราธปุรี ย่อมมีเขื่อนอยู่ ๒ ชั้น ชั่วเลฑฑุบาตหนึ่ง (ชั่วขว้างก้อนดินตก) ของบุรุษผู้มีกำลังปานกลาง ซึ่งยืนอยู่ที่เขื่อนด้านใน ชื่อว่า อุปจารบ้าน (บริเวณรอบ ๆ บ้าน) ท่านผู้ชำนาญพระวินัยอธิบายลักษณะของเลฑฑุบาตนั้นไว้ดังนี้ ที่ภายในแห่งก้อนดินตก ซึ่งบุรุษผู้มีกำลังปานกลางขว้างไปนั้น เหมือนอย่างพวกเด็กวัยหนุ่มเมื่อจะออกกำลังของตน จึงเหยียดแขนออกแล้วขว้างก้อนดินไป ฉะนั้น ส่วนท่านผู้ชำนาญพระสูตรอธิบายไว้ว่า ที่ภายในแห่งก้อนดินตก ซึ่งบุรุษขว้างไปด้วยหมายที่จะห้ามกา ชื่อว่า อุปจารบ้าน ในบ้านที่ไม่มีเครื่องล้อม มาตุคาม (สตรี) ยืนอยู่ที่ประตูเรือนหลังสุดท้ายแล้วสาดน้ำไปด้วยภาชนะ ภายในที่ตกแห่งน้ำนั้น ชื่อว่า อุปจารเรือน นับแต่อุปจารเรือนนั้นออกไปชั่วเลฑฑุบาตหนึ่งโดยนัยที่กล่าวมาแล้ว ยังนับเป็นบ้าน ชั่วเลฑฑุบาตที่สองจึงนับเป็น อุปจารบ้าน

อธิบายคำว่าป่า
ส่วนป่านั้น ประการแรก โดยปริยายแห่งพระวินัยท่านอธิบายไว้ว่า ยกเว้นบ้านและอุปจารบ้านเสีย ที่ทั้งหมดนั้นเรียกว่า ป่า โดยปริยายแห่งพระอภิธรรมท่าน อธิบายไว้ว่า ที่ภายนอกจากเขื่อนออกไปทั้งหมดนั้น เรียกว่า ป่า ส่วน ณ ที่นี้ โดยปริยายแห่งพระสูตรท่านอธิบายลักษณะไว้ดังนี้ เสนาสนะหลังสุดท้ายที่ตั้งอยู่ชั่วระยะ ๕๐๐ ชั่วธนู เรียกว่า เสนาสนะป่า” ลักษณะที่กล่าวมานี้ จึงกำหนดวัดด้วยคันธนูแบบที่ขึ้นแล้ว สำหรับบ้านที่มีเครื่องล้อมวัดตั้งแต่เสาเขื่อนไปจนจรด รั้ววัด (วิหาร) สำหรับบ้านที่ไม่มีเครื่องล้อม วัดตั้งแต่ชั่วเลฑฑุบาตแรกไปจนจรดรั้ววัด (วิหาร) พระอรรถกถาจารย์ อธิบายไว้ในอรรถกถาวินัยทั้งหลายว่า “แหละถ้าเป็นวัดที่ไม่มีรั้วล้อม ฟังวัดเอาเสนาสนะหลังแรกให้เป็นเครื่องกำหนด หรือฟังวัดเอาโรงครัวหรือที่ประชุมประจำ หรือต้นโพธิ์ หรือพระเจดีย์ แม้มีอยู่ในที่ห่างไกลไปจากเสนาสนะ ให้เป็นเครื่องกำหนดก็ได้” ส่วนในอรรถกถามัชฌิมนิกายท่านอธิบายไว้ว่า แม้อุปจารวัดก็เหมือนอุปจารบ้าน จึงออกมาวัดเอาตรงระหว่างเลฑฑบาตทั้งสองนั่นเถิด ข้อนี้นับเอาเป็นประมาณในการคำนวณนี้ได้

แม้หากว่ามีหมู่บ้านอยู่ในที่ใกล้กับวัด ภิกษุสามเณรซึ่งอยู่ในวัดก็ได้ยินเสียงของชาวบ้านอยู่ แต่ก็ไม่อาจจะเดินทางตรง ๆ ถึงกันได้ เพราะมีภูเขาและแม่น้ำเป็นต้นคั่นอยู่ในระหว่าง ทางใดอันเป็นทางเดินโดยปกติของวัดนั้น แม้หากจะพึงสัญจรไปมาด้วยเรือก็ตามพึงถือเอาเป็น ๕๐๐ ชั่วธนูด้วยทางนั้น แต่อารัญญิกภิกษุใดปิดกั้นทางเล็ก ๆ ในที่นั้น ๆ เสีย เพื่อประสงค์ที่จะให้สำเร็จเป็นองค์ของบ้านใกล้วัด อารัญญิกภิกษุนี้ ย่อมชื่อว่า โจรธุดงค์ก็แหละ ถ้าอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ของอารัญญิกภิกษุเกิดต้องอาพาธขึ้นมา เมื่อท่านไม่ได้ความสัปปายะในป่า จะพึงนำพาอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ไปอุปัฏฐากที่เสนาสนะภายในบ้านก็ได้ แต่ต้องรีบกลับออกไปให้ทันกาล ทำให้อรุณขึ้นในที่อันประกอบด้วยองค์แห่งป่าถ้าโรคของอุปัชฌาย์หรืออาจารย์กำเริบขึ้นในเวลาอรุณขึ้นพอดีก็พึงอยู่ทำกิจวัตรถวายแต่อุปัชฌาย์หรืออาจารย์นั่นเถิด ไม่ต้องห่วงทำธุดงค์ให้บริสุทธิ์ดอก ว่าด้วยกรรมวิธีในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้ภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกตินี้ ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
อารัญญิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ ย่อมทำให้อรุณขึ้นในป่าตลอดกาล (คืออยู่ในป่าเป็นนิจ)
อารัญญิกภิกษุชั้นกลาง ย่อมอยู่ในเสนาสนะภายในบ้านได้ตลอดกาล ๔ เดือน ในฤดูฝน
อารัญญิกภิกษุชั้นต่ำ ย่อมอยู่ในเสนาสนะภายในบ้านได้ตลอดกาล ๔ เดือนในฤดูหนาวด้วย (รวมเป็นเวลา ๘ เดือน)
ว่าด้วยประเภทในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ เมื่ออารัญญิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนั้น มาจากป่าแล้วฟังธรรมเทศนาอยู่ในเสนาสนะภายในบ้าน แม้ถึงอรุณจะขึ้นในกาลตามที่กำหนดไว้นั้น ธุดงค์ก็ไม่แตก ครั้นฟังธรรมแล้วกำลังเดินทางกลับไปอยู่ ถึงแม้อหุณจะตั้งขึ้นในระหว่างทาง ธุดงค์ก็ไม่แตก แต่ถ้าเมื่อพระธรรมกถึกลุกไปแล้ว อารัญญิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนั้นคิดว่า “จักพักนอนสักครู่หนึ่งแล้วจึงจักไป” ดังนี้ แล้วเลยหลับไปทำให้อรุณขึ้นในเสนาสนะภายในบ้าน หรือทำให้อรุณขึ้นในเสนาสนะภายในบ้านตามความชอบใจของตน ธุดงค์ย่อมแตก ว่าด้วยความแตกในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ อารัญญิกภิกษุผู้สนใจถึงซึ่งความสำคัญแห่งป่า เป็นผู้ควรที่จะได้บรรลุซึ่งสมาธิที่ยังมิได้บรรลุ หรือเป็นผู้ควรที่จะรักษาไว้ได้ซึ่งสมาธิที่ได้บรรลุแล้ว แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็ทรงพอพระหฤทัยต่อท่าน เหมือนดังที่ตรัสไว้ว่า “นาคิตภิกขุ ด้วยเหตุนั้น เราย่อมพอใจต่อภิกษุนั้นด้วยการอยู่ในป่า” ดังนี้ อนึ่ง สิ่งต่าง ๆ มีรูปอันไม่เป็นที่สัปปายะเป็นต้น ย่อมไม่รบกวนจิตของอารัญญิกภิกษุนั้นผู้อยู่ในเสนาสนะอันสงัด, ภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกติเป็นผู้สิ้น ความสะดุ้งหวาดเสียวแล้ว ละความพอใจอาลัยในชีวิตได้แล้ว ท่านย่อมได้เสวยรสแห่งความสุขอันเกิดแต่วิเวก, อนึ่ง ภาวะที่เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ เป็นต้น ย่อมเป็นภาวะที่เหมาะสมแก่ท่านอารัญญิกภิกษุนั้น อารัญญิกภิกษุผู้ชอบความสงบ ไม่คลุกคลี ยินดีในเสนาสนะอันสงัด เป็นผู้ยังพระมานัสของสมเด็จพระโลกนาถให้ทรงโปรดปรานได้ด้วยการอยู่ในป่า อารัญญิกภิกษุผู้สำรวม อยู่ในป่าแต่เดียวดาย ย่อมได้ประสบความสุขอันใด รสแห่งความสุขอันนั้น แม้แต่ทวยเทพกับพระอินทร์ ก็ไม่ได้ประสบ แหละอารัญญิกภิกษุนี้ เที่ยวสวมสอดผ้าบังสุกุลจีวรเป็นเสมือนกษัตริย์ทรงสวมสอดเกราะ เข้าสู่สงครามคือป่า มีธูตธรรมที่เหลือเป็นอาวุธ เป็นผู้สามารถที่จะได้ชัยชนะซึ่งพญามารพร้อมทั้งราชพาหนะ โดยไม่นานเท่าไรนักเลย เพราะเหตุฉะนั้น อันภิกษุผู้เป็นบัณฑิต พึงกระทำความยินดีในการอยู่ป่า นั่นเทอญ

ว่าด้วยอานิสงส์ในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ ในอารัญญิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้