๙. รุกขมูลิกังคกถา

รุกขมูลิกังคกถา
การสมาทาน
แม้รุกขมูลิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่าง คือ ฉนฺนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธที่อยู่ที่มีหลังคา ดังนี้อย่างหนึ่ง รุกฺขมูลิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ที่โคนไม้เป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้อยู่โคนไม้เป็นปกตินั้น พึงยึดเอาต้นไม้ที่อยู่สุดเขตวัด โดยละเว้นต้นไม้เหล่านี้เสียคือ ต้นไม้อยู่ในระหว่างเขตรัฐสีมา ต้นไม้เป็นที่นับถือบูชา ต้นไม้มียาง ต้นไม้ผล ต้นไม้มีค้างคาว ต้นไม้มีโพรง และต้นไม้อยู่กลางวัด ว่าด้วยกรรมวิธีในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้รุกขมูลิกภิกษุนี้ ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
รุกขมูลิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ จะยึดถือเอาต้นไม้ตามชอบใจแล้วใช้คนอื่นให้ปัดกวาดไม่ได้ จึงใช้เท้าเขียใบไม้ที่ร่วงหล่นด้วยตนเองแล้วอยู่เถิด
รุกขมูลิกภิกษุชั้นกลาง จะใช้บรรดาผู้ที่บังเอิญมาถึง ณ ที่ตรงนั้นให้ช่วยปัดกวาดก็ได้
อันรุกขมูลิกภิกษุชั้นต่ำ จึงเรียกคนรักษาวัดหรือสามเณรมาแล้วใช้ให้ช่วยชำระปัดกวาดให้สะอาด ให้ช่วยปราบพื้นให้สม่ำเสมอ ให้ช่วยเกลี่ยทราย ให้ช่วยล้อมรั้ว ให้ช่วยประกอบประตูแล้วอยู่เถิด แต่ในวันงานมหกรรมฉลอง อันรุกขมูลิกภิกษุอย่านั่งอยู่ ณ ที่นั้น พึงหลบไปนั่ง ณ ที่กำบังแห่งอื่นเสีย
ว่าด้วยประเภทในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่รุกขมูลิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนี้ สำเร็จการอยู่ในที่อันมีหลังคานั่นเทียว ท่านผู้ชำนาญคัมภีร์อังคุตตรนิกาย อธิบายไว้ว่า ธุดงค์นี้ ย่อมแตกในขณะที่รุกขมูลิกภิกษุเหล่านั้นรู้แล้วทำอรุณให้ขึ้นในที่อยู่อันมีหลังคา ว่าด้วยความแตกในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ เป็นผู้มีข้อปฏิบัติสมควรแก่ปัจจัยเครื่องอาศัยตามพระพุทธวจนะข้อว่า การบวช อาศัยเสนาสนะคือโคนไม้, เป็นผู้มีปัจจัยอันพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญไว้มีอาทิ เช่นว่า ปัจจัยเหล่านั้นเป็นสิ่งเล็กน้อยด้วยหาได้ง่ายด้วย เป็นสิ่งที่หาโทษมิได้ด้วย เป็นการยังอนิจจสัญญาให้ปรากฏ ด้วยได้ เห็นความเปลี่ยนแปลงของใบไม้, ไม่มีความตระหนี่เสนาสนะและความหลงยินดีการงาน, เป็นผู้มีการอยู่ร่วมกับรุกขเทวดาทั้งหลาย เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความสันโดษเป็นต้น

ที่อยู่อาศัยของภิกษุผู้ชอบความสงัด อันพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงสรรเสริญและเชยชมแล้วว่าเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยที่จะเปรียบเสมอด้วยโคนไม้ จะมีแต่ที่ไหน จริงอยู่ ภิกษุผู้อาศัยอยู่ที่โคนไม้อันสงัด เป็นที่นำออกซึ่งความตระหนี่อาวาส อันเทวดาอภิบาลรักษา ย่อมเป็นผู้มีวัตรปฏิบัติอันดีงาม เมื่อรุกขมูลิกภิกษุได้เห็นใบไม้หลายชนิด คือชนิดที่แดงเข้มบ้าง ชนิดที่เขียวสดบ้าง ชนิดที่เหลืองซึ่งร่วงหล่นแล้วบ้าง ย่อมจะบรรเทานิจจสัญญาคือความหมายว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของเที่ยงเสียได้ เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุผู้เห็นแจ้ง อย่าได้พึงดูหมิ่นโคนไม้อันสงัด อันเป็นมรดกที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้และเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ยินดีแล้วในการภาวนา ว่าด้วยอานิสงส์ในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ในรุกขมูลกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้