วันพุธ

๑๐. อัพโภกาสิกังคกถา

อัพโภกาสิกังคกถา

การสมาทาน
แม้อัพโภกาสิกังคธุดงค์ ก็เป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ ฉนุนญฺจ รุกฺขมูลญฺจ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธที่อยู่อันมีหลังคาและโคนไม้ ดังนี้อย่างหนึ่ง อพฺโภกาสิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ ณ ที่กลางแจ้งเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันอัพโภกาสิกภิกษุนั้นจะเข้าไปยังโรงอุโบสถ เพื่อจะฟังธรรมเทศนาหรือเพื่อจะทำอุโบสถกรรมก็ได้ เมื่อเข้าไปแล้วฝนเกิดตกขึ้นมา ครั้นฝนกำลังตกอยู่ก็ไม่ต้องออก เมื่อฝนหายแล้วจึงค่อยออก จะเข้าไปโรงฉันหรือโรงไฟเพื่อทำกิจวัตรก็ได้ จะไปบอกอำลาภัตติกภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระในโรงฉันก็ได้เมื่อจะแสดงพระบาลีเอง หรือให้ผู้อื่นแสดงให้ฟัง จะเข้าไปยังที่อยู่อันมีหลังคาก็ได้ และจะเอาเตียงและทั่งเป็นต้นซึ่งทิ้งเกะกะอยู่ข้างนอกเข้าไปเก็บไว้ข้างในก็ได้ ถ้าเมื่อกำลังเดินทางถือเครื่องบริขารของพระเถระผู้ใหญ่ไปเมื่อฝนตกจะเข้าไปยังศาลาซึ่งอยู่กลางทางก็ได้ ถ้าไม่ได้ถืออะไร ๆ จะรีบเดินไปด้วยหมายใจว่าจะพักอยู่ในศาลาย่อมไม่สมควร แต่เมื่อเดินไปอย่างปกติเข้าไปในศาลาแล้วก็พึงอยู่จนกว่าฝนจะหายจึงค่อยไป ว่าด้วยกรรมวิธีในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้เพียงเท่านี้ แม้วิธีแห่งรุกขมูลิกภิกขุก็มีนัยนี้เหมือนกัน
ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้อัพโภกาสิกภิกษุนี้ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
อัพโภกาสิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ จะเข้าไปพะพิงอิงต้นไม้หรือภูเขาหรือเรือนอยู่ไม่ได้ ต้องทำกระท่อมผ้า (กางกลด) อยู่ ณ ที่กลางแจ้งเท่านั้น
อัพโภกาสิกภิกษุชั้นกลาง จะเข้าไปพะพิงอิงต้นไม้ภูเขาและบ้าน แต่ไม่เข้าไปอยู่ข้างในได้อยู่
อัพโภกาสิกภิกษุชั้นต่ำ เอื้อมเขาซึ่งมีขอบเขตมิได้มุงบังก็ดี ปะรำที่มุงบังด้วยกิ่งไม้ก็ดี ผ้ากลดหยาบ ๆ ก็ดี (ผ้าเต็นท์กระมัง) กระต๊อบซึ่งอยู่ตามที่นั้น ๆ ที่พวกคนเฝ้านาเป็นต้นทอดทิ้งแล้วก็ดี ใช้ได้ทั้งนั้น
ว่าด้วยประเภทในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่อัพโภกาสิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนี้ เข้าไปสู่ที่อยู่อันมีหลังคาหรือเข้าไปสู่โคนไม้เพื่อจะอยู่อาศัย ท่านผู้ชำนาญคัมภีร์อังคุตตรนิกายอธิบายไว้ว่า ธุดงค์นี้ย่อมแตกในขณะที่ อัพโภกาสิกภิกษุรู้แล้วทำอรุณให้ขึ้นในที่อยู่ซึ่งมีหลังคาหรือที่โคนไม้นั้นว่าด้วยความแตกในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ เป็นการตัดความกังวลในที่อยู่เสียได้, เป็นอุบายบรรเทาถีนมิทธะคือความง่วงเหงาหาวนอน, เป็นผู้สมควรแก่การที่จะสรรเสริญว่า “ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ไม่มีบ้าน ไม่ติดข้องเที่ยวไป มีอาการปานดังฝูงเนื้อฉะนั้น” เป็นผู้สิ้นความเกี่ยวเกาะ, เป็นผู้จาริกไปได้ในทิศทั้งเป็นผู้จาริกไปได้ในทิศทั้ง ๔, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น ภิกษุมีจิตใจเป็นดังจิตใจของเนื้อทราย อาศัยอยู่ ณ ที่กลางแจ้ง อันมีเพดานประดับด้วยแก้วมณีคือดวงดาวอันสว่างไสวด้วยดวงประทีปคือพระจันทร์ อันสมควรแก่ภาวะของท่านผู้ไม่มีเรือน ทั้งหาได้ไม่ยาก กำจัดความง่วงเหงาหาวนอนให้ส่างซาแล้ว อาศัยแล้วซึ่งความเป็นผู้ยินดีในภาวนา ไม่นานสักเท่าไร ย่อมจะได้ประสบซึ่งความยินดีในรสอันเกิดแต่ความสงัดเป็นแน่แท้ เพราะเหตุนั้นแหละ อันภิกษุผู้มีปัญญา พึงเป็นผู้ยินดีในที่กลางแจ้งนั่นเทอญ ว่าด้วยอานิสงส์ในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์
ในอัพโภกาสิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น