วันพุธ

๑๑. โสสานิกังคกถา

 โสสานิกังคกถา

การสมาทาน
แม้โสสานิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ น สุสานํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธที่อันมิใช่สุสาน ดังนี้อย่างหนึ่ง โสสานิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ในป่าช้าเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่งว่าด้วยการสมาทานในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละอันภิกษุผู้อยู่ในสุสานเป็นปกตินั้นไม่พึ่งอยู่ในสถานที่ที่พวกมนุษย์อาศัยบ้านอยู่แล้วกำหนดหมายเอาไว้ว่า ที่ตรงนี้ทำเป็นสุสาน เพราะเมื่อยังมิได้เผาศพสถานที่นั้นจะได้ชื่อว่าสุสานหาได้ไม่ แต่นับแต่เวลาที่เผาศพแล้วไป แม้เขาจะทอดทิ้งไปแล้วถึง ๑๒ ปี สถานที่นั้นก็ยังคงสภาพเป็นสุสานอยู่นั่นเอง แหละเมื่อโสสานิกภิกษุอยู่ในสุสานนั้น จะให้ปลูกสร้างสถานที่ เช่นปะรำสำหรับจงกรม จะให้จัดแจงเตียงและทั่ง จะให้ตั้งน้ำฉันและน้ำใช้ จะสอนธรรมหาเป็นการสมควรไม่ ก็ธุดงค์นี้เป็นภาระหนัก (บริหารได้ยาก) เพราะฉะนั้น เพื่อป้องกันอันตรายซึ่งอาจจะเกิดขึ้น อันโสสานิกภิกษุพึงกราบเรียนพระสังฆเถระ หรือบอกเจ้าหน้าที่ให้ทราบไว้ จึงอยู่อย่างไม่ประมาทนั่นเถิด เมื่อเดินจงกรม ก็พึงเดินชำเลืองตาดูสุสานไปพลาง ท่านผู้ชำนาญในคัมภีร์อังคุตตรนิกายพรรณนาไว้ว่า แม้เมื่อโสสานิกภิกษุจะไปสู่สุสานนั้น พึงหลบจากทางสายใหญ่ ๆ เสีย ลัดเลาะไปตามนอกเส้นทาง จึงกำหนดหมายอารมณ์ไว้เสียแต่ในกลางวันที่เดียว (เช่นหมายไว้ว่า ตรงนี้เป็นจอมปลวก ตรงนี้เป็นต้นไม้ ตรงนี้เป็นตอ) เพราะเมื่อกำหนดหมายไว้อย่างนี้ อารมณ์นั้นจักไม่ทำให้เกิดความหวาดกลัวแก่เธอในเวลากลางคืน แม้ถึงจะมีพวกอมนุษย์เที่ยวร่ำร้องอยู่ไปมาในเวลากลางคืน ก็อย่าขว้างปาด้วยวัตถุอะไร (เช่น ก้อนดินและก้อนหินเป็นต้น) อันโสสานิกภิกษุนั้นที่จะไม่ไปยังสุสานแม้เพียงวันเดียวหาได้ไม่ ต้องทำให้มัชฌิมยาม (๔ ทุ่ม ถึง ๘ ทุ่ม : ๒๒.๐๐-๐๒.๐๐ น.) หมดสิ้นไปอยู่ในสุสาน แล้วจึงกลับออกมาในเวลาปัจฉิมยาม (๙ ทุ่ม ถึง ๑๒ ทุ่ม : ๐๓.๐๐-๐๖.๐๐ น.) ของเคี้ยวของฉันอันเป็นที่ชอบใจของพวกอมนุษย์ เช่น แป้งผสมงา, ข้าวผสมถั่ว, ปลา, เนื้อ, นม, น้ำมันและน้ำอ้อยเป็นต้น ไม่ควรจะเสพ ไม่ควรเข้าไปสู่เรือนแห่งตระกูล ว่าด้วยกรรมวิธีในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้โสสานิกภิกษุนี้ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
โสสานิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ ต้องอยู่ ณ สุสานซึ่งมีการเผาศพประจำ, มีศพประจำและมีการร้องไห้เป็นเนืองนิจเท่านั้น
โสสานิกภิกษุชั้นกลาง ในองค์คุณแห่งสุสาน ๓ ชนิดนั้น แม้จะมีเพียงชนิดเดียว ก็สมควร
โสสานิกภิกษุชั้นต่ำ อยู่ในสุสานที่พอเข้าลักษณะแห่งสุสาน ตามนัยที่กล่าวแล้ว ก็เป็นการสมควร
ว่าด้วยประเภทในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ โดยที่โสสานิกภิกษุทั้งประเภทนี้ สำเร็จการอยู่ในสถานที่ซึ่งมิใช่สุสานนั่นเทียว ท่านผู้ชำนาญในคัมภีร์อังคุตตรนิกายอรรถาธิบายไว้ว่า ธุดงค์นี้ย่อมแตกในวันที่ไม่ไปสู่สุสาน ว่าด้วยความแตกในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ ได้มรณสติ, มีการอยู่อย่างไม่ประมาท ได้ประสบอสุภนิมิต, บรรเทาเสียได้ซึ่งความกำหนัดในกาม, ได้เห็นสภาวะแห่งกายเนื่อง ๆ, เป็นผู้มากด้วยความสังเวชสลดใจ, ละเสียใต้ซึ่งความเมาในความไม่มีโรคเป็นต้น, ครอบงำเสียได้ซึ่งภัยอันน่ากลัว, มีภาวะเป็นที่เคารพและเป็นที่น่าสรรเสริญของอมนุษย์ทั้งหลาย, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น ก็แหละ โทษเพราะประมาททั้งหลายย่อมไม่ถูกต้องพ้องพาน ซึ่งภิกษุผู้อยู่ในสุสานเป็นปกติแม้จะหลับอยู่ก็ตาม ทั้งนี้เพราะอำนาจแห่งมรณานุสสติภาวนา แหละเมื่อโสสานิกภิกษุนั้นเห็นศพอยู่อย่างมากมาย จิตของท่านไม่ตกไปสู่อานุภาพและอำนาจของกามเลย โสสานิกภิกษุย่อมประสบความสังเวชสลดใจอย่างไพศาลย่อมไม่เข้าถึงซึ่งความมัวเมา อนึ่ง ชื่อว่าพยายามแสวงหาอยู่ซึ่งพระนิพพานโดยชอบ

ด้วยประการฉะนี้ อันภิกษุผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีจิตน้อมเอียงไปหาพระนิพพาน จึงต้องเสพซึ่งโสสานิกังคธุดงค์เถิด เพราะเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งคุณเป็นอเนกประการ ว่าด้วยอานิสงส์ในโสสานิกังคธุดงค์นี้เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ในโสสานิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น