วันพุธ

๑๑. โสสานิกังคกถา

 โสสานิกังคกถา

การสมาทาน
แม้โสสานิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ น สุสานํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธที่อันมิใช่สุสาน ดังนี้อย่างหนึ่ง โสสานิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ในป่าช้าเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่งว่าด้วยการสมาทานในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละอันภิกษุผู้อยู่ในสุสานเป็นปกตินั้นไม่พึ่งอยู่ในสถานที่ที่พวกมนุษย์อาศัยบ้านอยู่แล้วกำหนดหมายเอาไว้ว่า ที่ตรงนี้ทำเป็นสุสาน เพราะเมื่อยังมิได้เผาศพสถานที่นั้นจะได้ชื่อว่าสุสานหาได้ไม่ แต่นับแต่เวลาที่เผาศพแล้วไป แม้เขาจะทอดทิ้งไปแล้วถึง ๑๒ ปี สถานที่นั้นก็ยังคงสภาพเป็นสุสานอยู่นั่นเอง แหละเมื่อโสสานิกภิกษุอยู่ในสุสานนั้น จะให้ปลูกสร้างสถานที่ เช่นปะรำสำหรับจงกรม จะให้จัดแจงเตียงและทั่ง จะให้ตั้งน้ำฉันและน้ำใช้ จะสอนธรรมหาเป็นการสมควรไม่ ก็ธุดงค์นี้เป็นภาระหนัก (บริหารได้ยาก) เพราะฉะนั้น เพื่อป้องกันอันตรายซึ่งอาจจะเกิดขึ้น อันโสสานิกภิกษุพึงกราบเรียนพระสังฆเถระ หรือบอกเจ้าหน้าที่ให้ทราบไว้ จึงอยู่อย่างไม่ประมาทนั่นเถิด เมื่อเดินจงกรม ก็พึงเดินชำเลืองตาดูสุสานไปพลาง ท่านผู้ชำนาญในคัมภีร์อังคุตตรนิกายพรรณนาไว้ว่า แม้เมื่อโสสานิกภิกษุจะไปสู่สุสานนั้น พึงหลบจากทางสายใหญ่ ๆ เสีย ลัดเลาะไปตามนอกเส้นทาง จึงกำหนดหมายอารมณ์ไว้เสียแต่ในกลางวันที่เดียว (เช่นหมายไว้ว่า ตรงนี้เป็นจอมปลวก ตรงนี้เป็นต้นไม้ ตรงนี้เป็นตอ) เพราะเมื่อกำหนดหมายไว้อย่างนี้ อารมณ์นั้นจักไม่ทำให้เกิดความหวาดกลัวแก่เธอในเวลากลางคืน แม้ถึงจะมีพวกอมนุษย์เที่ยวร่ำร้องอยู่ไปมาในเวลากลางคืน ก็อย่าขว้างปาด้วยวัตถุอะไร (เช่น ก้อนดินและก้อนหินเป็นต้น) อันโสสานิกภิกษุนั้นที่จะไม่ไปยังสุสานแม้เพียงวันเดียวหาได้ไม่ ต้องทำให้มัชฌิมยาม (๔ ทุ่ม ถึง ๘ ทุ่ม : ๒๒.๐๐-๐๒.๐๐ น.) หมดสิ้นไปอยู่ในสุสาน แล้วจึงกลับออกมาในเวลาปัจฉิมยาม (๙ ทุ่ม ถึง ๑๒ ทุ่ม : ๐๓.๐๐-๐๖.๐๐ น.) ของเคี้ยวของฉันอันเป็นที่ชอบใจของพวกอมนุษย์ เช่น แป้งผสมงา, ข้าวผสมถั่ว, ปลา, เนื้อ, นม, น้ำมันและน้ำอ้อยเป็นต้น ไม่ควรจะเสพ ไม่ควรเข้าไปสู่เรือนแห่งตระกูล ว่าด้วยกรรมวิธีในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้โสสานิกภิกษุนี้ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
โสสานิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ ต้องอยู่ ณ สุสานซึ่งมีการเผาศพประจำ, มีศพประจำและมีการร้องไห้เป็นเนืองนิจเท่านั้น
โสสานิกภิกษุชั้นกลาง ในองค์คุณแห่งสุสาน ๓ ชนิดนั้น แม้จะมีเพียงชนิดเดียว ก็สมควร
โสสานิกภิกษุชั้นต่ำ อยู่ในสุสานที่พอเข้าลักษณะแห่งสุสาน ตามนัยที่กล่าวแล้ว ก็เป็นการสมควร
ว่าด้วยประเภทในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ โดยที่โสสานิกภิกษุทั้งประเภทนี้ สำเร็จการอยู่ในสถานที่ซึ่งมิใช่สุสานนั่นเทียว ท่านผู้ชำนาญในคัมภีร์อังคุตตรนิกายอรรถาธิบายไว้ว่า ธุดงค์นี้ย่อมแตกในวันที่ไม่ไปสู่สุสาน ว่าด้วยความแตกในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ ได้มรณสติ, มีการอยู่อย่างไม่ประมาท ได้ประสบอสุภนิมิต, บรรเทาเสียได้ซึ่งความกำหนัดในกาม, ได้เห็นสภาวะแห่งกายเนื่อง ๆ, เป็นผู้มากด้วยความสังเวชสลดใจ, ละเสียใต้ซึ่งความเมาในความไม่มีโรคเป็นต้น, ครอบงำเสียได้ซึ่งภัยอันน่ากลัว, มีภาวะเป็นที่เคารพและเป็นที่น่าสรรเสริญของอมนุษย์ทั้งหลาย, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น ก็แหละ โทษเพราะประมาททั้งหลายย่อมไม่ถูกต้องพ้องพาน ซึ่งภิกษุผู้อยู่ในสุสานเป็นปกติแม้จะหลับอยู่ก็ตาม ทั้งนี้เพราะอำนาจแห่งมรณานุสสติภาวนา แหละเมื่อโสสานิกภิกษุนั้นเห็นศพอยู่อย่างมากมาย จิตของท่านไม่ตกไปสู่อานุภาพและอำนาจของกามเลย โสสานิกภิกษุย่อมประสบความสังเวชสลดใจอย่างไพศาลย่อมไม่เข้าถึงซึ่งความมัวเมา อนึ่ง ชื่อว่าพยายามแสวงหาอยู่ซึ่งพระนิพพานโดยชอบ

ด้วยประการฉะนี้ อันภิกษุผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีจิตน้อมเอียงไปหาพระนิพพาน จึงต้องเสพซึ่งโสสานิกังคธุดงค์เถิด เพราะเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งคุณเป็นอเนกประการ ว่าด้วยอานิสงส์ในโสสานิกังคธุดงค์นี้เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ในโสสานิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้



๑๐. อัพโภกาสิกังคกถา

อัพโภกาสิกังคกถา

การสมาทาน
แม้อัพโภกาสิกังคธุดงค์ ก็เป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ ฉนุนญฺจ รุกฺขมูลญฺจ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธที่อยู่อันมีหลังคาและโคนไม้ ดังนี้อย่างหนึ่ง อพฺโภกาสิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ ณ ที่กลางแจ้งเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันอัพโภกาสิกภิกษุนั้นจะเข้าไปยังโรงอุโบสถ เพื่อจะฟังธรรมเทศนาหรือเพื่อจะทำอุโบสถกรรมก็ได้ เมื่อเข้าไปแล้วฝนเกิดตกขึ้นมา ครั้นฝนกำลังตกอยู่ก็ไม่ต้องออก เมื่อฝนหายแล้วจึงค่อยออก จะเข้าไปโรงฉันหรือโรงไฟเพื่อทำกิจวัตรก็ได้ จะไปบอกอำลาภัตติกภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระในโรงฉันก็ได้เมื่อจะแสดงพระบาลีเอง หรือให้ผู้อื่นแสดงให้ฟัง จะเข้าไปยังที่อยู่อันมีหลังคาก็ได้ และจะเอาเตียงและทั่งเป็นต้นซึ่งทิ้งเกะกะอยู่ข้างนอกเข้าไปเก็บไว้ข้างในก็ได้ ถ้าเมื่อกำลังเดินทางถือเครื่องบริขารของพระเถระผู้ใหญ่ไปเมื่อฝนตกจะเข้าไปยังศาลาซึ่งอยู่กลางทางก็ได้ ถ้าไม่ได้ถืออะไร ๆ จะรีบเดินไปด้วยหมายใจว่าจะพักอยู่ในศาลาย่อมไม่สมควร แต่เมื่อเดินไปอย่างปกติเข้าไปในศาลาแล้วก็พึงอยู่จนกว่าฝนจะหายจึงค่อยไป ว่าด้วยกรรมวิธีในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้เพียงเท่านี้ แม้วิธีแห่งรุกขมูลิกภิกขุก็มีนัยนี้เหมือนกัน
ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้อัพโภกาสิกภิกษุนี้ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
อัพโภกาสิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ จะเข้าไปพะพิงอิงต้นไม้หรือภูเขาหรือเรือนอยู่ไม่ได้ ต้องทำกระท่อมผ้า (กางกลด) อยู่ ณ ที่กลางแจ้งเท่านั้น
อัพโภกาสิกภิกษุชั้นกลาง จะเข้าไปพะพิงอิงต้นไม้ภูเขาและบ้าน แต่ไม่เข้าไปอยู่ข้างในได้อยู่
อัพโภกาสิกภิกษุชั้นต่ำ เอื้อมเขาซึ่งมีขอบเขตมิได้มุงบังก็ดี ปะรำที่มุงบังด้วยกิ่งไม้ก็ดี ผ้ากลดหยาบ ๆ ก็ดี (ผ้าเต็นท์กระมัง) กระต๊อบซึ่งอยู่ตามที่นั้น ๆ ที่พวกคนเฝ้านาเป็นต้นทอดทิ้งแล้วก็ดี ใช้ได้ทั้งนั้น
ว่าด้วยประเภทในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่อัพโภกาสิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนี้ เข้าไปสู่ที่อยู่อันมีหลังคาหรือเข้าไปสู่โคนไม้เพื่อจะอยู่อาศัย ท่านผู้ชำนาญคัมภีร์อังคุตตรนิกายอธิบายไว้ว่า ธุดงค์นี้ย่อมแตกในขณะที่ อัพโภกาสิกภิกษุรู้แล้วทำอรุณให้ขึ้นในที่อยู่ซึ่งมีหลังคาหรือที่โคนไม้นั้นว่าด้วยความแตกในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ เป็นการตัดความกังวลในที่อยู่เสียได้, เป็นอุบายบรรเทาถีนมิทธะคือความง่วงเหงาหาวนอน, เป็นผู้สมควรแก่การที่จะสรรเสริญว่า “ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ไม่มีบ้าน ไม่ติดข้องเที่ยวไป มีอาการปานดังฝูงเนื้อฉะนั้น” เป็นผู้สิ้นความเกี่ยวเกาะ, เป็นผู้จาริกไปได้ในทิศทั้งเป็นผู้จาริกไปได้ในทิศทั้ง ๔, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น ภิกษุมีจิตใจเป็นดังจิตใจของเนื้อทราย อาศัยอยู่ ณ ที่กลางแจ้ง อันมีเพดานประดับด้วยแก้วมณีคือดวงดาวอันสว่างไสวด้วยดวงประทีปคือพระจันทร์ อันสมควรแก่ภาวะของท่านผู้ไม่มีเรือน ทั้งหาได้ไม่ยาก กำจัดความง่วงเหงาหาวนอนให้ส่างซาแล้ว อาศัยแล้วซึ่งความเป็นผู้ยินดีในภาวนา ไม่นานสักเท่าไร ย่อมจะได้ประสบซึ่งความยินดีในรสอันเกิดแต่ความสงัดเป็นแน่แท้ เพราะเหตุนั้นแหละ อันภิกษุผู้มีปัญญา พึงเป็นผู้ยินดีในที่กลางแจ้งนั่นเทอญ ว่าด้วยอานิสงส์ในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์
ในอัพโภกาสิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้





๙. รุกขมูลิกังคกถา

รุกขมูลิกังคกถา
การสมาทาน
แม้รุกขมูลิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่าง คือ ฉนฺนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธที่อยู่ที่มีหลังคา ดังนี้อย่างหนึ่ง รุกฺขมูลิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ที่โคนไม้เป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้อยู่โคนไม้เป็นปกตินั้น พึงยึดเอาต้นไม้ที่อยู่สุดเขตวัด โดยละเว้นต้นไม้เหล่านี้เสียคือ ต้นไม้อยู่ในระหว่างเขตรัฐสีมา ต้นไม้เป็นที่นับถือบูชา ต้นไม้มียาง ต้นไม้ผล ต้นไม้มีค้างคาว ต้นไม้มีโพรง และต้นไม้อยู่กลางวัด ว่าด้วยกรรมวิธีในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้รุกขมูลิกภิกษุนี้ ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
รุกขมูลิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ จะยึดถือเอาต้นไม้ตามชอบใจแล้วใช้คนอื่นให้ปัดกวาดไม่ได้ จึงใช้เท้าเขียใบไม้ที่ร่วงหล่นด้วยตนเองแล้วอยู่เถิด
รุกขมูลิกภิกษุชั้นกลาง จะใช้บรรดาผู้ที่บังเอิญมาถึง ณ ที่ตรงนั้นให้ช่วยปัดกวาดก็ได้
อันรุกขมูลิกภิกษุชั้นต่ำ จึงเรียกคนรักษาวัดหรือสามเณรมาแล้วใช้ให้ช่วยชำระปัดกวาดให้สะอาด ให้ช่วยปราบพื้นให้สม่ำเสมอ ให้ช่วยเกลี่ยทราย ให้ช่วยล้อมรั้ว ให้ช่วยประกอบประตูแล้วอยู่เถิด แต่ในวันงานมหกรรมฉลอง อันรุกขมูลิกภิกษุอย่านั่งอยู่ ณ ที่นั้น พึงหลบไปนั่ง ณ ที่กำบังแห่งอื่นเสีย
ว่าด้วยประเภทในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่รุกขมูลิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนี้ สำเร็จการอยู่ในที่อันมีหลังคานั่นเทียว ท่านผู้ชำนาญคัมภีร์อังคุตตรนิกาย อธิบายไว้ว่า ธุดงค์นี้ ย่อมแตกในขณะที่รุกขมูลิกภิกษุเหล่านั้นรู้แล้วทำอรุณให้ขึ้นในที่อยู่อันมีหลังคา ว่าด้วยความแตกในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ เป็นผู้มีข้อปฏิบัติสมควรแก่ปัจจัยเครื่องอาศัยตามพระพุทธวจนะข้อว่า การบวช อาศัยเสนาสนะคือโคนไม้, เป็นผู้มีปัจจัยอันพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญไว้มีอาทิ เช่นว่า ปัจจัยเหล่านั้นเป็นสิ่งเล็กน้อยด้วยหาได้ง่ายด้วย เป็นสิ่งที่หาโทษมิได้ด้วย เป็นการยังอนิจจสัญญาให้ปรากฏ ด้วยได้ เห็นความเปลี่ยนแปลงของใบไม้, ไม่มีความตระหนี่เสนาสนะและความหลงยินดีการงาน, เป็นผู้มีการอยู่ร่วมกับรุกขเทวดาทั้งหลาย เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความสันโดษเป็นต้น

ที่อยู่อาศัยของภิกษุผู้ชอบความสงัด อันพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงสรรเสริญและเชยชมแล้วว่าเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยที่จะเปรียบเสมอด้วยโคนไม้ จะมีแต่ที่ไหน จริงอยู่ ภิกษุผู้อาศัยอยู่ที่โคนไม้อันสงัด เป็นที่นำออกซึ่งความตระหนี่อาวาส อันเทวดาอภิบาลรักษา ย่อมเป็นผู้มีวัตรปฏิบัติอันดีงาม เมื่อรุกขมูลิกภิกษุได้เห็นใบไม้หลายชนิด คือชนิดที่แดงเข้มบ้าง ชนิดที่เขียวสดบ้าง ชนิดที่เหลืองซึ่งร่วงหล่นแล้วบ้าง ย่อมจะบรรเทานิจจสัญญาคือความหมายว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของเที่ยงเสียได้ เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุผู้เห็นแจ้ง อย่าได้พึงดูหมิ่นโคนไม้อันสงัด อันเป็นมรดกที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้และเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ยินดีแล้วในการภาวนา ว่าด้วยอานิสงส์ในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ในรุกขมูลกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้


วันอังคาร

๘. อารัญญิกังคกถา

อารัญญิกังคกถา

การสมาทาน
แม้อารัญญิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ คามนฺตเสนาสนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธเสนาสนะภายในบ้าน ดังนี้อย่างหนึ่ง อารญฺฌิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในอารัญญิกกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกตินั้น ต้องออกจากเสนาสนะภายในบ้านไปทำให้อรุณตั้งขึ้นในป่า, ในเสนาสนะ ๒ อย่างนั้น บ้านพร้อมทั้งอุปจารแห่งบ้านนั่นเที่ยว ชื่อว่า เสนาสนะภายในบ้าน

อธิบายคำว่าบ้าน
ที่อยู่อาศัยอย่างใดอย่างหนึ่ง จะมีกระท่อมหลังเดียวหรือหลายหลังก็ตาม จะมีเครื่องล้อมหรือไม่มีเครื่องล้อมก็ตาม จะมีคนหรือไม่มีคนก็ตาม แม้ชั้นที่สุดหมู่เกวียนเหล่าใดเหล่าหนึ่งซึ่งจอดพักอยู่เกิน ๔ เดือน ชื่อว่า บ้าน

อธิบายคำว่าอุปจารบ้าน
สำหรับบ้านที่มีเครื่องล้อมเหมือนดังเมืองอนุราธปุรี ย่อมมีเขื่อนอยู่ ๒ ชั้น ชั่วเลฑฑุบาตหนึ่ง (ชั่วขว้างก้อนดินตก) ของบุรุษผู้มีกำลังปานกลาง ซึ่งยืนอยู่ที่เขื่อนด้านใน ชื่อว่า อุปจารบ้าน (บริเวณรอบ ๆ บ้าน) ท่านผู้ชำนาญพระวินัยอธิบายลักษณะของเลฑฑุบาตนั้นไว้ดังนี้ ที่ภายในแห่งก้อนดินตก ซึ่งบุรุษผู้มีกำลังปานกลางขว้างไปนั้น เหมือนอย่างพวกเด็กวัยหนุ่มเมื่อจะออกกำลังของตน จึงเหยียดแขนออกแล้วขว้างก้อนดินไป ฉะนั้น ส่วนท่านผู้ชำนาญพระสูตรอธิบายไว้ว่า ที่ภายในแห่งก้อนดินตก ซึ่งบุรุษขว้างไปด้วยหมายที่จะห้ามกา ชื่อว่า อุปจารบ้าน ในบ้านที่ไม่มีเครื่องล้อม มาตุคาม (สตรี) ยืนอยู่ที่ประตูเรือนหลังสุดท้ายแล้วสาดน้ำไปด้วยภาชนะ ภายในที่ตกแห่งน้ำนั้น ชื่อว่า อุปจารเรือน นับแต่อุปจารเรือนนั้นออกไปชั่วเลฑฑุบาตหนึ่งโดยนัยที่กล่าวมาแล้ว ยังนับเป็นบ้าน ชั่วเลฑฑุบาตที่สองจึงนับเป็น อุปจารบ้าน

อธิบายคำว่าป่า
ส่วนป่านั้น ประการแรก โดยปริยายแห่งพระวินัยท่านอธิบายไว้ว่า ยกเว้นบ้านและอุปจารบ้านเสีย ที่ทั้งหมดนั้นเรียกว่า ป่า โดยปริยายแห่งพระอภิธรรมท่าน อธิบายไว้ว่า ที่ภายนอกจากเขื่อนออกไปทั้งหมดนั้น เรียกว่า ป่า ส่วน ณ ที่นี้ โดยปริยายแห่งพระสูตรท่านอธิบายลักษณะไว้ดังนี้ เสนาสนะหลังสุดท้ายที่ตั้งอยู่ชั่วระยะ ๕๐๐ ชั่วธนู เรียกว่า เสนาสนะป่า” ลักษณะที่กล่าวมานี้ จึงกำหนดวัดด้วยคันธนูแบบที่ขึ้นแล้ว สำหรับบ้านที่มีเครื่องล้อมวัดตั้งแต่เสาเขื่อนไปจนจรด รั้ววัด (วิหาร) สำหรับบ้านที่ไม่มีเครื่องล้อม วัดตั้งแต่ชั่วเลฑฑุบาตแรกไปจนจรดรั้ววัด (วิหาร) พระอรรถกถาจารย์ อธิบายไว้ในอรรถกถาวินัยทั้งหลายว่า “แหละถ้าเป็นวัดที่ไม่มีรั้วล้อม ฟังวัดเอาเสนาสนะหลังแรกให้เป็นเครื่องกำหนด หรือฟังวัดเอาโรงครัวหรือที่ประชุมประจำ หรือต้นโพธิ์ หรือพระเจดีย์ แม้มีอยู่ในที่ห่างไกลไปจากเสนาสนะ ให้เป็นเครื่องกำหนดก็ได้” ส่วนในอรรถกถามัชฌิมนิกายท่านอธิบายไว้ว่า แม้อุปจารวัดก็เหมือนอุปจารบ้าน จึงออกมาวัดเอาตรงระหว่างเลฑฑบาตทั้งสองนั่นเถิด ข้อนี้นับเอาเป็นประมาณในการคำนวณนี้ได้

แม้หากว่ามีหมู่บ้านอยู่ในที่ใกล้กับวัด ภิกษุสามเณรซึ่งอยู่ในวัดก็ได้ยินเสียงของชาวบ้านอยู่ แต่ก็ไม่อาจจะเดินทางตรง ๆ ถึงกันได้ เพราะมีภูเขาและแม่น้ำเป็นต้นคั่นอยู่ในระหว่าง ทางใดอันเป็นทางเดินโดยปกติของวัดนั้น แม้หากจะพึงสัญจรไปมาด้วยเรือก็ตามพึงถือเอาเป็น ๕๐๐ ชั่วธนูด้วยทางนั้น แต่อารัญญิกภิกษุใดปิดกั้นทางเล็ก ๆ ในที่นั้น ๆ เสีย เพื่อประสงค์ที่จะให้สำเร็จเป็นองค์ของบ้านใกล้วัด อารัญญิกภิกษุนี้ ย่อมชื่อว่า โจรธุดงค์ก็แหละ ถ้าอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ของอารัญญิกภิกษุเกิดต้องอาพาธขึ้นมา เมื่อท่านไม่ได้ความสัปปายะในป่า จะพึงนำพาอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ไปอุปัฏฐากที่เสนาสนะภายในบ้านก็ได้ แต่ต้องรีบกลับออกไปให้ทันกาล ทำให้อรุณขึ้นในที่อันประกอบด้วยองค์แห่งป่าถ้าโรคของอุปัชฌาย์หรืออาจารย์กำเริบขึ้นในเวลาอรุณขึ้นพอดีก็พึงอยู่ทำกิจวัตรถวายแต่อุปัชฌาย์หรืออาจารย์นั่นเถิด ไม่ต้องห่วงทำธุดงค์ให้บริสุทธิ์ดอก ว่าด้วยกรรมวิธีในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้ภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกตินี้ ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
อารัญญิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ ย่อมทำให้อรุณขึ้นในป่าตลอดกาล (คืออยู่ในป่าเป็นนิจ)
อารัญญิกภิกษุชั้นกลาง ย่อมอยู่ในเสนาสนะภายในบ้านได้ตลอดกาล ๔ เดือน ในฤดูฝน
อารัญญิกภิกษุชั้นต่ำ ย่อมอยู่ในเสนาสนะภายในบ้านได้ตลอดกาล ๔ เดือนในฤดูหนาวด้วย (รวมเป็นเวลา ๘ เดือน)
ว่าด้วยประเภทในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ เมื่ออารัญญิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนั้น มาจากป่าแล้วฟังธรรมเทศนาอยู่ในเสนาสนะภายในบ้าน แม้ถึงอรุณจะขึ้นในกาลตามที่กำหนดไว้นั้น ธุดงค์ก็ไม่แตก ครั้นฟังธรรมแล้วกำลังเดินทางกลับไปอยู่ ถึงแม้อหุณจะตั้งขึ้นในระหว่างทาง ธุดงค์ก็ไม่แตก แต่ถ้าเมื่อพระธรรมกถึกลุกไปแล้ว อารัญญิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนั้นคิดว่า “จักพักนอนสักครู่หนึ่งแล้วจึงจักไป” ดังนี้ แล้วเลยหลับไปทำให้อรุณขึ้นในเสนาสนะภายในบ้าน หรือทำให้อรุณขึ้นในเสนาสนะภายในบ้านตามความชอบใจของตน ธุดงค์ย่อมแตก ว่าด้วยความแตกในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ อารัญญิกภิกษุผู้สนใจถึงซึ่งความสำคัญแห่งป่า เป็นผู้ควรที่จะได้บรรลุซึ่งสมาธิที่ยังมิได้บรรลุ หรือเป็นผู้ควรที่จะรักษาไว้ได้ซึ่งสมาธิที่ได้บรรลุแล้ว แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็ทรงพอพระหฤทัยต่อท่าน เหมือนดังที่ตรัสไว้ว่า “นาคิตภิกขุ ด้วยเหตุนั้น เราย่อมพอใจต่อภิกษุนั้นด้วยการอยู่ในป่า” ดังนี้ อนึ่ง สิ่งต่าง ๆ มีรูปอันไม่เป็นที่สัปปายะเป็นต้น ย่อมไม่รบกวนจิตของอารัญญิกภิกษุนั้นผู้อยู่ในเสนาสนะอันสงัด, ภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกติเป็นผู้สิ้น ความสะดุ้งหวาดเสียวแล้ว ละความพอใจอาลัยในชีวิตได้แล้ว ท่านย่อมได้เสวยรสแห่งความสุขอันเกิดแต่วิเวก, อนึ่ง ภาวะที่เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ เป็นต้น ย่อมเป็นภาวะที่เหมาะสมแก่ท่านอารัญญิกภิกษุนั้น อารัญญิกภิกษุผู้ชอบความสงบ ไม่คลุกคลี ยินดีในเสนาสนะอันสงัด เป็นผู้ยังพระมานัสของสมเด็จพระโลกนาถให้ทรงโปรดปรานได้ด้วยการอยู่ในป่า อารัญญิกภิกษุผู้สำรวม อยู่ในป่าแต่เดียวดาย ย่อมได้ประสบความสุขอันใด รสแห่งความสุขอันนั้น แม้แต่ทวยเทพกับพระอินทร์ ก็ไม่ได้ประสบ แหละอารัญญิกภิกษุนี้ เที่ยวสวมสอดผ้าบังสุกุลจีวรเป็นเสมือนกษัตริย์ทรงสวมสอดเกราะ เข้าสู่สงครามคือป่า มีธูตธรรมที่เหลือเป็นอาวุธ เป็นผู้สามารถที่จะได้ชัยชนะซึ่งพญามารพร้อมทั้งราชพาหนะ โดยไม่นานเท่าไรนักเลย เพราะเหตุฉะนั้น อันภิกษุผู้เป็นบัณฑิต พึงกระทำความยินดีในการอยู่ป่า นั่นเทอญ

ว่าด้วยอานิสงส์ในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ ในอารัญญิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้



๗. ขลุปัจฉาภัตติทั้งคกถา

ขลุปัจฉาภัตติทั้งคกถา

การสมาทาน
แม้ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ อติริตฺตโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธโภชนะอันล้นเหลือ ดังนี้อย่างหนึ่ง ขลุปจฺฉาภตฺติกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุมิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุมิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตเป็นปกตินั้น ครั้นห้ามโภชนะเสียแล้วไม่พึงให้ทำโภชนะให้เป็นกัปปิยะ (ให้เป็นของควรฉัน) แล้วฉันอีก ว่าด้วยกรรมวิธีในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภทแล้ว ภิกษุมิใช่ผู้ฉันปัจฉาภัตเป็นปกตินี้มี ๓ ประเภท ดังนี้คือ โดยเหตุที่การห้ามโภชนะย่อมมีไม่ได้ในบิณฑบาตครั้งแรก แต่เมื่อบิณฑบาตครั้งแรกนั้น อันภิกษุผู้ขลุปัจฉาภัตติกะกำลังฉันอยู่ ย่อมเป็นอันปฏิเสธซึ่งบิณฑบาตอื่น ฉะนั้น ในขลุปัจฉาภัตติกภิกษุ ๓ ประเภทนั้น

ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุชั้นอุกฤษฏ ห้ามโภชนะแล้วด้วยอาการอย่างนี้ คือ ฉันบิณฑบาตครั้งแรกแล้ว ย่อมไม่ฉันบิณฑบาตครั้งที่สอง
ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุชั้นกลาง ตนห้ามแล้วในเพราะโภชนะใด ยังฉันโภชนะนั้นได้อยู่นั่นเที่ยว
ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุชั้นต่ำ ย่อมฉันบิณฑบาตได้ตลอดเวลาที่ตนยังไม่ลุกจากที่นั่ง
ว่าด้วยประเภทในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนี้ซึ่งห้ามโภชนะแล้ว ให้ทำโภชนะให้เป็นกัปปิยะแล้วฉันอีกนั่นเทียว ว่าด้วยความแตกในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ เป็นการห่างไกลจากอาบัติเพราะฉันโภชนะอันไม่เป็นเดน, ไม่มีการแน่นท้อง, เป็นการไม่สะสมอามิส, ไม่มีการแสวงหาอีก เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น โยคืบุคคลผู้ขลุปัจฉาภัตติกซึ่งเป็นบัณฑิตย่อมไม่เผชิญกับความลำบาก เพราะการแสวงหาอาหาร ย่อมไม่ทำการสะสมอามิส ย่อมหายจากความแน่นท้อง เพราะฉะนั้น อันโยคีบุคคลผู้ใคร่ที่จะกำจัดเสียซึ่งโทษทั้งหลาย พึงบำเพ็ญขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระสุคตเจ้าทรงสรรเสริญพระปฏิบัติศาสนาว่า เป็นที่เกิดแห่งความเจริญขึ้นแห่งคุณมีคุณคือความสันโดษเป็นต้นนั่นเทียว

ว่าด้วยอานิสงส์ในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ ในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้




วันจันทร์

๖. ปัตตปิณฑิกังคกถา

ปัตตปิณฑิกังคกถา
การสมาทาน
แม้ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาด้วยคำสมาทาน อย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ ทุติยกภาชน์ ปฏิกขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธภาชนะอันที่ ๒ ดังนี้อย่างหนึ่ง ปตฺตปิณฑิกงค์ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์ของภิกษุผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่งว่าด้วยการสมาทานในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกตินั้น ถึงเวลาจะดื่มข้าวยาคูเมื่อได้อาหารมาไว้ในภาชนะแล้ว พึงฉันอาหารก่อนหรือจะดื่มข้าวยาคูก่อนก็ได้ ก็ถ้าใส่อาหารลงในข้าวยาคู เมื่ออาหารที่ใส่ลงไปนั้นเป็นปลาเน่าเป็นต้น ข้าวยาคูก็จะเป็นสิ่งที่น่าเกลียด และควรทำข้าวยาคูให้หายน่าเกลียดเสียจึงค่อยฉัน เพราะฉะนั้น คำว่า พึงฉันอาหารก่อนก็ได้ นี้ ท่านกล่าวหมายเอาอาหารเช่นนั้น ส่วนอาหารใดย่อมไม่เป็นสิ่งที่น่าเกลียด เช่น น้ำผึ้ง และน้ำตาลกรวดเป็นต้น อาหารนั้นจึงใส่ลงในข้าวยาคูได้ แต่เมื่อจะหยิบเอาอาหารเช่นนั้น ก็พึงหยิบเอาแต่พอสมควรแก่ประมาณเท่านั้น ผักสดจะใช้มือจับกัดกินก็ได้ แต่เมื่อไม่ทำดังนั้นจึงใส่ลงในบาตรนั่นเทียว ส่วนภาชนะอย่างอื่นแม้จะเป็นใบไม้ก็ตามก็ไม่ควรใช้ เพราะได้ปฏิเสธภาชนะอันที่ ๒ ไว้แล้ว ว่าด้วยกรรมวิธีในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้ภิกษุผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกตินี้ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
ปัตตปิณฑิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ แม้จะคายกากอาหารทิ้งก็ไม่ควร ยกเว้นแต่เวลาฉันอ้อยขั้น (อ้อยลำ) แม้ก้อนข้าวสุก, ปลา, เนื้อและขนมจะใช้มือบิฉันก็ไม่ควร
ปัตตปิณฑิกภิกษุชั้นกลาง จะใช้มือข้างหนึ่งบิแล้วฉันก็ควร ปัตตปิณฑิกภิกษุนี้ ชื่อว่า หัตถโยคี (โยคีผู้ใช้มือ)
ปัตตปิณฑิกภิกษุชั้นต่ำ เป็นผู้ชื่อว่า ปัตตโยคี (โยคีผู้ใช้บาตร) คือ ของเคี้ยวของฉันสิ่งใดสามารถที่จะบรรจุเข้าไปในบาตรของท่านได้ จะบิของเคี้ยวของฉันนั้นด้วยมือหรือจะขบด้วยฟันแล้วฉันก็ควร 
ว่าด้วยประเภทในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์ของภิกษุผู้ปัตตปิณฑิกทั้ง ๓ ประเภทนี้ ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่ท่านเหล่านั้นยินดีต่อภาชนะอันที่ ๒ นั่นเทียว ว่าด้วยความแตกในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ เป็นการบรรเทาเสียซึ่งตัณหาในรสต่าง ๆ เป็นการเสียสละได้ซึ่งภาวะที่มีความอยากในรสในภาชนะนั้น ๆ, ความเป็นผู้เห็นประโยชน์ และประมาณในอาหาร, ไม่มีความลำบากเพราะการรักษาเครื่องใช้ เช่นถาดเป็นต้น, ไม่มีความเป็นผู้ฉันลอกแลก, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณ มีความมักน้อยเป็นต้น ภิกษุผู้มีวัตรปฏิบัติอันงดงาม เลิกละความลอกแลกในภาชนะนานาชนิดเสีย มีตาทอดลงแต่ในบาตร ย่อมเป็นเสมือนขุดอยู่ซึ่งรากเหง้าแห่งตัณหาในรส ภิกษุผู้มีใจงดงาม รักษาไว้ซึ่งความสันโดษเสมือนดังรูปร่างของตน พึงสามารถที่จะฉันอาหารเช่นนี้ได้ ภิกษุอื่นใครเล่าที่จะพึงเป็นผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกติ ว่าด้วยอานิสงส์ในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ ในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้






วันพฤหัสบดี

จากขันธ์ ๕ และไตรลักษณ์ สู่อนัตตลักขณสูตร

ตัวอย่างแนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
“จากขันธ์ ๕ และไตรลักษณ์ สู่อนัตตลักขณสูตร”

ในภาพรวมจะแบ่งเป็น ๓ ขั้นตอน คือ ทำความเข้าใจหลักขันธ์ ๕ หลักไตรลักษณ์ และพิจารณาความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ ๕ ตามแนวของ🔎อนัตตลักขณสูตร ในขั้นแรก พึงทำความเข้าใจ🔎ขันธ์ ๕ ให้กระจ่างดีเสียก่อนว่า สิ่งที่สมมติว่าเป็นตัวเรานั้น ตามสภาวะแท้จริงประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบ ๕ อย่าง กล่าวโดยย่อดังนี้

(ส่วนรูปธรรม ๑)
รูป คือ องค์ประกอบส่วนรูปธรรมทั้งหมด
(ส่วนนามธรรม ๔)
เวทนา คือ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ
สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้
สังขาร คือ ความปรุงแต่งอารมณ์ให้ดีชั่วอันมีเจตนาเป็นแกน
วิญญาณ คือ ธาตุรู้ทางประสาทสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ทั้งนี้ ในการพิจารณาอย่าใช้วิธีนึกคิดตามตัวอักษรเพียงอย่างเดียว ให้พิจารณาแยกแยะองค์ประกอบทั้ง ๕ อย่างนี้ที่ตัวเราเองด้วย เพราะสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นกันไว้ด้วยกิเลสมากที่สุด ก็คือสิ่งที่สมมติว่าเป็นตัวเรานี้เอง และตัวเราดังกล่าวก็ไม่ได้มีองค์ประกอบอื่นใดนอกเหนือไปจากที่พระพุทธเจ้าทรงแจกแจงแสดงออกเป็นขันธ์ ๕ นี้ แม้ผู้อื่น หรือสิ่งอื่นใดในโลก ก็ไม่มีอะไรเกินเลยออกไปจากขันธ์ ๕ นี้เช่นเดียวกัน ในขั้นแรกพึงทำความเข้าใจดังนี้ ต่อมาพิจารณาหลัก🔎ไตรลักษณ์ กล่าวโดยย่นย่อ การทำความเข้าใจหลักไตรลักษณ์นั้น พึงพิจารณาจากหยาบไปหาละเอียด จากส่วนที่เห็นได้ง่ายปรากฎแก่สายตาไปหาส่วนที่ลึกซึ้งเข้าใจได้ยาก

เริ่มด้วยการพิจารณาว่าสิ่งทั้งปวงในโลกล้วนเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีสภาวะความเกิดดับไม่เที่ยง (อนิจจัง) > สิ่งใดเกิดดับไม่เที่ยง สิ่งนั้นย่อมถูกกดดันบีบคั้นด้วยความเกิดดับนั่นเอง (ทุกขัง) > เมื่อเกิดดับแปรปรวนไปตามเหตุปัจจัยและเป็นสภาวะกดดันบีบคั้น ไม่สามารถครอบครองควบคุมสั่งบังคับให้เป็นอย่างไรๆตามต้องการนอกเหนือเหตุปัจจัยได้ ย่อมไม่เป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา) สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลก (สังขตธรรม) มีสามัญลักษณะเสมอเหมือนกันเช่นนี้

วิปัสสนากรรมฐานไตรลักษณ์ขันธ์ ๕
เมื่อได้ทำความเข้าใจขันธ์ ๕ และไตรลักษณ์ดีแล้ว พึงพิจารณาความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ ๕ ตามแนวของ อนัตตลักขณสูตร 

รูป เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ว่าผู้ใดจะได้รูปกายอันงดงามก็ย่อมเจ็บป่วยโทรมทรุดด้วยประการต่างๆเป็นธรรมดา (ทุกขัง) > เมื่อรูปไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่ารูปเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในรูปอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย

เวทนา เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ปรารถนาความสุขทั้งหลายให้ยั่งยืน ทุกข์ให้หมดสิ้นไป ก็มิได้ (ทุกขัง) > เมื่อเวทนาไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่าเวทนาเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในเวทนาอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย

สัญญา เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ปรารถนาให้จำเอาไว้แต่เรื่องราวอันเป็นสุข ลืมเรื่องทุกข์ทั้งหลายให้หมดสิ้น ก็มิได้ (ทุกขัง) > เมื่อสัญญาไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่าสัญญาเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในสัญญาอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย

สังขาร เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ปรารถนาจะให้มีเฉพาะเจตนาอันประกอบด้วยปัญญาและความเพียร ไม่ประกอบด้วยเจตนาอันจะก่อโทษให้เดือดร้อนใดๆ ก็มิได้ (ทุกขัง) > เมื่อสังขารไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่าสังขารเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในสังขารอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย

วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ปรารถนาจะรับรู้เฉพาะสิ่งที่ต้องการ ไม่รับรู้สิ่งที่ไม่ต้องการ ก็มิได้ (ทุกขัง) > เมื่อวิญญาณไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่าวิญญาณเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในวิญญาณอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย

ลองทบทวนสอบถามกับตัวเองตามแนวทางที่ท่านทรงแสดงไว้แล้วว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ตนเองและผู้อื่นคงที่เที่ยงแท้ หรือ เกิดดับไม่เที่ยง ? สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้น เหตุปัจจัยบีบคั้นเป็นทุกข์ หรือ คล่องสบายเป็นสุข ? ก็สิ่งใดเกิดดับไม่เที่ยง บีบคั้นเป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ไม่ใช่สิ่งที่จะควบคุมได้เหนือเหตุปัจจัย ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่าเป็นอัตตาตัวตนของเรา ? (ควรตอบตามความเห็นของตัวเองจริงๆไม่ใช่ตอบแบบท่องจำ เพื่อเป็นการประเมินความเห็นของตัวเองตามที่เป็นอยู่จริงในขณะนั้น) พิจารณาให้เห็นว่าขันธ์ ๕ นี้ เกิดดับแปรปรวนไปตามเหตุปัจจัยเสมอเหมือนกับสิ่งอื่นๆในโลก ไม่ใช่อัตตาตัวตนของเราที่ควรจะยึดติดถือมั่นไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายสมดังคำกล่าวที่ว่า ผู้ละความยึดติดถือมั่นทั้งปวงลงได้แล้ว ทุกข์ทางใจย่อมไม่มีที่ตั้งและที่ให้กระทบ เป็นผู้ไม่หวั่นไหวทั้งในสุขและทุกข์ มีจิตใจเบิกบานทุกเมื่อ ส่วนทุกข์ทางกาย ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติไป

ไม่มีอัตตาได้อย่างไร
อาจมีข้อสงสัยว่า มนุษย์หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็สามารถควบคุมความคิดและการกระทำของตัวเองให้เป็นอย่างที่ตนต้องการได้มิใช่หรือ? ถ้าไม่มีอัตตาแล้วเจตจำนงที่จะเลือกทำหรือไม่ทำสิ่งใดนั้นจะมาจากไหน? ความคิดเช่นนี้ถูกบางส่วนแต่ไม่ถูกทั้งหมด กล่าวคือ สิ่งมีชีวิตสามารถควบคุมความคิดและการกระทำของตัวเองได้ เพราะมีเจตนา (เจตนาทำหน้าที่เป็นแกนของสังขารขันธ์ พระอภิธรรมว่าเป็นสัพพสาธารณะเจตสิก คือเกิดกับจิตทุกดวง) เจตนานั้นทำหน้าที่เป็นผู้คิด ผู้ริเริ่ม ที่จะทำหรือไม่ทำสิ่งใด ที่ว่าเจตนาควบคุมได้นั้น มันเพียงเป็นไปตามหน้าที่ของมันซึ่งมีคุณสมบัติเป็นตัวริเริ่มทำการต่างๆ แต่ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยเช่นเดิม

กล่าวคือ การริเริ่มกระทำต่ออารมณ์เป็นหน้าที่หรือเป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติของเจตนา เหมือนกับที่ เวทนามีหน้าที่เสวยอารมณ์ สัญญามีหน้าที่ทรงจำอารมณ์ วิญญาณมีหน้าที่รู้อารมณ์ ต่างกันตรงที่สังขารขันธ์ซึ่งมีเจตนาเป็นแกนนั้นเป็นผู้กระทำต่ออารมณ์ (เป็นช่วงเหตุใน🔎ปฏิจจสมุปบาท) ส่วนขันธ์อื่นๆนั้นเป็นผู้รับอารมณ์ (เป็นช่วงผลในปฏิจจสมุปบาท) การที่สิ่งมีชีวิตมีความคิดริ่เริ่มเป็นของตนเอง จึงไม่ได้หมายความว่าสิ่งมีชีวิตนั้นมีอัตตาเป็นของตัวเอง

พิจารณาแนวของอนัตตลักขณสูตร
ถ้าความคิดริเริ่มหรือเจตนารมณ์ใดๆที่มีอยู่ในตนเป็นอัตตาแล้ว ย่อมบังคับควบคุมได้ว่าให้มีเฉพาะส่วนดี เช่น ย่อมเลือกได้ควบคุมบังคับได้ว่าจะทำสิ่งใดให้มีแต่เจตนาอันประกอบพร้อมด้วยปัญญาอย่าตกเป็นทาสหรือเผลอทำอะไรตามกิเลส, เจตนาพึงประกอบด้วยความเพียรอย่าย่อท้อไม่มีความตรอมตรมหมดอาลัยตายอยาก เป็นต้น เจตนาใดๆล้วนไม่เที่ยง เกิดดับแปรปรวนเรื่อยไป จึงไม่มีเหตุให้ยึดถือเป็นตัวตน การที่สิ่งมีชีวิตมีเจตนาสามารถกำหนดทิศทางของตัวเองได้ตามเหตุปัจจัย ทำให้ทุกชีวิตมีความหวังที่จะไปถึงจุดหมายที่ต้องการได้ด้วยความเพียรและสติปัญญา ดังที่เราจะพบพุทธพจน์ที่ตรัสเรื่องความเพียรอยู่มากมายในพระไตรปิฎกนั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง : 🔎สติปัฏฐาน ๔



แสงธรรมนำทาง...

ธรรมสุตตะ | ศึกษาพระธรรมคำสอนตามพระไตรปิฎก © 2008. Template by Dicas Blogger.

กลับขึ้นด้านบน