๑.๑๓ นิพพาน : ประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้จากชีวิตนี้

ปัญหาของมนุษย์มาจากการที่ชีวิตนั้นโดยธรรมชาติ เป็นที่ตั้งของปัญหา คือ ทุกข์ อันเป็นสภาวะด้านหนึ่งตามธรรมชาติของชีวิต ที่ขึ้นต่อเหตุปัจจัยหลากหลาย ไม่เที่ยง ไม่คงที่ แปรปรวนเรื่อยไป ไม่มีไม่เป็นตัวตนของมันเองอย่างแท้จริง จะให้คงอยู่หรือเป็นไปอย่างที่ใจปรารถนาไม่ได้ ต้องว่ากันไปตามเหตุปัจจัย ในเมื่อตามสภาวะ ชีวิตมีทุกข์เป็นธรรมชาติพื้นฐานของมันอยู่แล้ว การที่จะมีความสุขได้ คนก็ต้องมีจิตใจที่มั่นคงในการอยู่กับความจริง โดยมีปัญญาที่ทำให้จิตเป็นอิสระจากทุกข์พื้นฐานนั้น หรือให้ใจอยู่กับมันได้สบายๆ เผชิญหน้ายอมรับความจริงด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงนั้น เมื่อมนุษย์มีปัญญารู้เท่าทันความเป็นจริงตามสภาวะของมันแล้ว ทุกข์ที่เป็นสภาวะตามธรรมดาในธรรมชาติ ก็ไม่มีผลที่จะก่อปัญหาทำให้เกิดเป็นทุกข์ขึ้นในจิตใจ


พระพุทธเจ้าเมื่อทรงแสดงหลักปฏิจจสมุปบาทสมุทยวาร อันเป็นที่มาของปัญหาหรือความทุกข์แล้ว ก็มิได้ทรงหยุดอยู่เพียงนั้น แต่ได้ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทนิโรธวาร อันเป็นกระบวนธรรมฝ่ายดับทุกข์ หรือแก้ไขปัญหาต่อไปอีกด้วย เป็นการชี้ให้เห็นว่า ทุกข์หรือปัญหาของมนุษย์เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ ยิ่งกว่านั้น ยังทรงชี้ต่อไปถึงภาวะที่เลิศล้ำสมบูรณ์ ซึ่งมนุษย์สามารถมีชีวิตที่ดีงามและเป็นสุขแท้จริงได้ โดยไม่ต้องฝากตัวขึ้นต่อปัจจัยภายนอก ไม่ต้องเอาสุขทุกข์ของตนไปพิงไว้กับสิ่งทั้งหลาย ซึ่งสิ่งเหล่านั้นแม้แต่ตัวมันเองก็ทรงเอาไว้ไม่ได้

แสดงการตัดวงจรปฏิจจสมุปบาทที่ขั้วอวิชชา

อวิชชาดับ > สังขารดับ > วิญญาณดับ > นามรูปดับ > สฬายตนะดับ > ผัสสะดับ > เวทนาดับ > ตัณหาดับ > อุปาทานดับ > ภพดับ > ชาติดับ > ชรามรณะ + โสกะ ฯลฯ อุปายาสดับ = ทุกขนิโรธ

แสดงการตัดวงจรปฏิจจสมุปบาทที่ขั้วตัณหา

อวิชชา > สังขาร > วิญญาณ > นามรูป > สฬายตนะ > ผัสสะ > เวทนา > ตัณหาดับ > อุปาทานดับ > ภพดับ > ชาติดับ > ชรามรณะ + โสกะ ฯลฯ อุปายาสดับ = ทุกขนิโรธ

บ่อยครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกขนิโรธ โดยชูตัณหาเป็นตัวเด่น คือ เมื่อเสวยเวทนาแล้ว ไม่เกิดตัณหา ก็เพราะมีความรู้เท่าทันสภาวะสังขารของสิ่งที่เสพเสวย คือมีวิชชารองเป็นพื้นอยู่ เมื่อไม่มีอวิชชาสัมผัส เวทนาที่เกิดขึ้นก็ไม่นำไปสู่ตัณหา ดังนั้นที่ว่าตัณหาดับ จึงบ่งถึงอวิชชาดับอยู่แล้วในตัว การที่ทรงแสดงแบบนี้ ก็เพื่อให้เห็นภาพในทางปฏิบัติได้ง่ายขึ้น

พระอรหันต์ทั้งหลายเสวยอารมณ์ด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมชาติของมัน ไม่ถูกกิเลสครอบงำหรือชักจูง ไม่ถูกเผาลนด้วยตัณหา และไม่มืดมัวด้วยอวิชชา เป็นอยู่ด้วยจิตใจที่โปร่งโล่ง ผาสุข เป็นอิสระ เมื่อไม่มีกิเลสชักนำไปสู่ภพ กระบวนธรรมสังสารวัฏฏ์ก็สิ้นสุดลง เข้าสู่วิวัฏฏ์ (นิพพาน) บรรลุภาวะแห่งความดับทุกข์ เป็นผู้มีชัยต่อปัญหาชีวิต มีความสุขอย่างแท้จริง อันเป็นประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้ คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมามีชีวิต



๑.๑๒ แก้กรรม ด้วยปฏิกรรม

ปฏิกรรม เป็นคำสอนสำคัญส่วนหนึ่งของหลักกรรม แปลว่า การแก้ไข การทำให้กลับคืนดี หรือการกลับตัว ซึ่งเป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนให้ปฏิบัติ มีหลักสำคัญคล้ายกันทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ คือ เมื่อใดก็ตาม ถ้ามีการทำผิด ละเมิด ล่วงเกินต่อผู้อื่น ต่อมารู้ตัวแล้ว แสดงความยอมรับสำนึกผิด และถ้ามีโอกาสมาบอกขอให้เขายอมรับความสำนึกของตนเพื่อปฏิกรรม และสำรวมระวังต่อไปนั้น เป็นความเจริญงอกงามในวินัยของอารยชน เปรียบเทียบกับการขออโหสิกรรมในปัจจุบัน จะเห็นว่าสาระแท้จริงของปฏิกรรมนั้นอยู่ที่การเปลี่ยนการกระทำที่ผิดพลาดให้กลับเป็นดี ส่วนการขออโหสิกรรมนั้นไม่ค่อยมีการพูดเน้นถึงการพัฒนากรรม และถือเป็นความนิยมในยุคหลัง (ความหมายเดิม อโหสิกรรม คือ กรรมเลิกให้ผล ได้แก่กรรมที่ไม่ได้โอกาสที่จะให้ผลภายในเวลาที่จะออกผลได้)


“ผู้ใดเป็นพาล รู้ตัวว่าเป็นพาล ก็ยังนับว่าเป็นบัณฑิตได้บ้าง ส่วนผู้ใดเป็นพาล แต่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ผู้นั้นแล เรียกว่าเป็นพาลแท้ๆ” (คาถาธรรมบท พาลวรรค)

“ขุมกำลังของคนพาล คือการจ้องหาโทษของคนอื่น ขุมกำลังของบัณฑิต คือการไตร่ตรองโดยพินิจ” (พลสูตร)

“ผู้ไม่โกรธตอบคนโกรธ ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก” (พรหมทัตตเถระคาถา)

“ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมเป็นทุกข์ พระขีณาสพผู้สงบระงับ ละความชนะความแพ้ได้แล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข” (สุขวรรค)

“ผู้ใดเคยประมาทในตอนต้น ภายหลังเขาไม่ประมาท ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากเมฆหมอก” (องคุลิมาลเถระคาถา)



๑.๑๑ กรรม ๑๒

กรรม ๑๒ นี้ เป็นมติของอรรถกถาจารย์ มีข้อที่ได้ต้นเค้ามาจากพระไตรปิฎกคือ ๓ ข้อแรก โดยท่านจัดแบ่งกรรมไว้เป็น ๓ หมวด

หมวดที่๑ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล
กรรมให้ผลในชาติปัจจุบันนี้ : เจตนาที่เกิดในชวนจิตดวงที่ ๑ เป็นการปรุงแต่งแต่เริ่มต้น แต่ไม่ได้การเสพคุ้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาตินี้ ก็กลายเป็นอโหสิกรรม ท่านเปรียบเหมือน พรานเห็นเนื้อ หยิบลูกศรยิงไปทันที ถ้าถูกเนื้อก็ล้มที่นั่น ถ้าพลาดก็รอดไปเลย

กรรมให้ผลในที่จะไปเกิด : เจตนาที่เกิดในชวนจิตดวงที่ ๗ เป็นเจตนาที่ได้เสพคุ้นมาแล้ว แต่มีกำลังจำกัดเพราะเป็นจิตที่กำลังสิ้นสุดวิถี กรรมนี้ให้ผลเฉพาะในชาติถัดจากนี้ไปเท่านั้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาติหน้าก็กลายเป็นอโหสิกรรม

กรรมให้ผลในภพต่อๆไป : เจตนาที่เกิดในชวนจิตดวงที่ ๒-๖ กรรมนี้ให้ผลได้เรื่อยไปในอนาคต ไม่เป็นอโหสิกรรม เปรียบเหมือนสุนัขไล่เนื้อ ทันเมื่อใด ก็กัดเมื่อนั้น (จนกว่าผลของกรรมนั้นจะหมด)

อโหสิกรรม : กรรมเลิกให้ผล ได้แก่กรรมที่ไม่ได้โอกาสที่จะให้ผลภายในเวลาที่จะออกผลได้

 
หมวดที่ ๒ จำแนกตามการให้ผลตามหน้าที่
กรรมแต่งให้เกิด (ชนกกรรม) : กรรมที่เป็นตัวทำให้เกิดขันธ์ที่เป็นวิบาก ทั้งในขณะปฏิสนธิ และในเวลาที่ชีวิตเป็นไป

กรรมสนับสนุน (อุปัตถัมภกกรรม) : กรรมพวกเดียวกับชนกกรรม ซึ่งไม่สามารถให้เกิดวิบากได้เอง แต่เข้าช่วยสนับสนุน หรือซ้ำเติม ต่อจากชนกกรรม ทำให้สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ ซึ่งเป็นวิบากนั้น เป็นไปนาน

กรรมบีบคั้น (อุปปีฬกกรรม) : กรรมฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรม ทำให้สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ ซึ่งเป็นวิบากนั้น ไม่เป็นไปนาน

กรรมตัดรอน (อุปฆาตกรรม) : กรรมฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังแรง เข้าตัดรอนกรรมอื่นๆที่มีกำลังน้อยกว่าเสีย ห้ามวิบากของกรรมนั้นขาดไปเสียทีเดียว แล้วเปิดช่องแก่วิบากของตน เช่น ปิตุฆาตกรรมของพระเจ้าอชาตศัตรู ที่ตัดรอนกุศลกรรมของพระองค์เสีย เป็นต้น

      (อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ) คนที่ชนกกรรมคือกรรมดั้งเดิมแต่งมาให้ตกต่ำแล้ว ไม่ทอดอาลัยในความตกต่ำนั้น ทำความดีให้มากขึ้น ความดีนั้นก็จะเป็นอุปปีฬกกรรม คือกรรมที่เบียดกรรมดั้งเดิมได้ ควรจะตกต่ำมาก ก็ทำให้กลายเป็นตกต่ำแต่เล็กน้อย หรือทรงตัวอยู่ได้ ถ้าทำความดีมากถึงขนาด ความดีนั้นก็จะเป็นอุปัจเฉทกกรรม คือกรรมตัดรอนกรรมดั้งเดิม ควรจะตกต่ำล่มจม ก็กลายเป็นฟื้นตัวและเฟื่องฟูเจริญขึ้นได้ เข้าในลักษณะ “ตโมโชติปรายโน” เป็นผู้มืดมาแล้วสว่างไป, แต่ในเรื่องเช่นนี้ ไม่พึงเข้าใจว่ามีเฉพาะทางดี แม้ทางชั่วก็มีได้เหมือนกัน

จำแนกตามลำดับความแรงในการให้ผล
กรรมหนัก (ครุกรรม) : ในฝ่ายดี ได้แก่สมาบัติ ๘ ในฝ่ายชั่ว ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ (บางคัมภีร์รวมนิยตมิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นในทางปฏิเสธกรรมและผลแห่งกรรมด้วย) ย่อมให้ผลก่อน และครอบงำกรรมอื่นๆเสีย เปรียบเหมือนห้วงน้ำใหญ่ไหลบ่ามาท่วมทับน้ำน้อยไป

กรรมเคยชิน (อาจิณณกรรม) : กรรมที่ทำมาก สั่งสมเคยชินเป็นนิสัย เช่น เป็นคนมีศีลดี หรือคนทุศีล เป็นต้น กรรมไหนทำบ่อย ทำมาก มีกำลังกว่า ก็จะให้ผลก่อน กรรมต่อไปนี้ให้ผลต่อจากครุกรรม

กรรมใกล้ตาย (อาสันนกรรม) : กรรมที่กระทำหรือระลึกขึ้นมาในเวลาใกล้จะตาย ให้ผลหลังจากกรรม ๒ ข้อก่อน (แต่บางคัมภีร์ ก็ว่าให้ผลก่อนอาจิณณกรรม บ้างก็ว่าอาสันนกรรมโดยมากก็สืบมาแต่อาจิณกรรมนั่นเอง)

(อรรถกถาจารย์ขยายความว่า ขณะใกล้ตาย ถ้ามีอวิชชาเป็นกิเลสหลัก พร้อมด้วยมิจฉาทิฏฐิ จะนำไปสู่ทุคติภพ, ถ้ามีภวตัณหา (ความอยากมีอยากเป็น) เป็นกิเลสหลัก พร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิ จะนำไปสู่ สุคติภพ)

(ตามนัยพุทธพจน์ จะไปเกิดสุคติ หรือ ทุคติ ดูจากอาการสุข ทุกข์ ของจิตใจในขณะตายของผู้นั้นก็ได้เพราะจุติจิตนั้นเป็นเหตุของปฏิสนธิจิต ไม่มีระหว่างขั้น เปรียบเหมือนบุรุษโหนเถาวัลย์จากฟากหนึ่งไปอีกฟากหนึ่ง ตายด้วยจิตเป็นสุข สงบเย็นด้วยกุศลธรรม ย่อมหวังสุคติภพได้)

กรรมสักว่าทำ (กตัตตากรรม) : กรรมที่ทำด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นๆโดยตรง เป็นกรรมเบา ต่อเมื่อไม่มีกรรม ๓ ข้อก่อน กรรมนี้จึงให้ผล

นอกจากนี้คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ยังแสดงกรรมไว้อีกหมวดหนึ่ง คือ
จำแนกตามภพเป็นที่ให้ผล
อกุศลกรรม : (ยกเว้นอุทธัจจะ) เช่น ที่จำแนกเป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐ ย่อมให้กำเนิดในอบายภูมิ

กามาวจรกุศลกรรม : กรรมที่เป็นกุศลระดับกามาวจร เช่นที่จำแนกเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ย่อมให้กำเนิดในกามสุคติภพ ๗ (มนุษย์ และสวรรค์ ๖)

รูปาวจรกุศลกรรม : กรรมที่เป็นกุศลระดับรูปาวจร คือ รูปฌาน ๔ ของผู้ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ย่อมให้กำเนิดในรูปภพ

อรูปาวจรกุศลกรรม : กรรมที่เป็นกุศลระดับอรูปาวจร คือ อรูปฌาน ๔ ของผู้ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ย่อมให้กำเนิดในอรูปภพ

อธิบายเรื่องกรรมตามพระสูตร

ในสังสาระ (การเวียนว่ายตายเกิดที่กำหนดจุดเริ่มต้นมิได้) สัตว์ที่ไม่เคยเป็นมารดา ไม่เคยเป็นบิดา ไม่เคยเป็นบุตร ไม่เคยเป็นธิดากัน มิใช่หาได้ง่าย” (มาตุสูตร)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารวัฏนี้กำหนดที่สุด เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ เธอทั้งหลายเห็นทุคตบุรุษผู้มีมือและเท้าไม่สมประกอบ พึงลงสันนิษฐานในบุคคลนี้ว่า เราทั้งหลายก็เคยเสวยทุกข์เห็นปานนี้มาแล้ว โดยกาลนานนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารวัฏนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้” (ทุคคตสูตร)

ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยสังสารวัฏ ดูกรสารีบุตร ก็สังสารวัฏที่เราไม่เคยท่องเที่ยวไป โดยกาลยืดยาวนานนี้ เว้นแต่เทวโลกชั้นสุทธาวาส (ที่เกิดของพระอนาคามี) เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ง่ายนัก ดูกรสารีบุตร ถ้าเราพึงท่องเที่ยวไปในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้อีก” (มหาสีหนาทสูตร)

ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนห่วงหนึ่งอยู่ในมหาสมุทร ในมหาสมุทรนั้น มีเต่าตาบอดตัวหนึ่งล่วงไป ร้อยปีจะผุดขึ้นมาครั้งหนึ่ง, ข้อที่เต่าตาบอดตัวนั้น จะพึงยื่นคอเข้าไปในห่วงนั้น ยังจะเร็วเสียกว่าการที่คนพาลซึ่งเข้าถึงการเกิดเป็นวินิบาตแล้ว (นรก, อสุรกาย) จักได้ความเป็นมนุษย์สักครั้งหนึ่ง และเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ย่อมเกิดในสกุลต่ำ” (พาลบัณฑิตสูตร)

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงช้อนฝุ่นไว้ในปลายพระนขา (เล็บ) แล้วตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ฝุ่นเล็กน้อยที่เราช้อนไว้ในปลายเล็บกับแผ่นดินใหญ่นี้ ไหนจะมากกว่ากัน?” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่ ฝุ่นเล็กน้อยที่ปลายพระนขา ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่กลับมาเกิดในหมู่มนุษย์มีน้อย โดยที่แท้สัตว์ที่กลับมาเกิดนอกจากมนุษย์มีมากกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ฉะนั้นเธอทั้งหลาย พึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา” (อัญญตรสูตร)

 “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า, โอหนอ หลังจากตายไป ขอให้เราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งขัตติยมหาศาลเถิด (พระราชา), ดังนี้ เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อให้เธออุบัติในฐานะนั้น
 “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า, โอหนอ เราจักบรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน, ดังนี้ เธอก็บรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ย่อมไม่เกิดในที่ไหนๆ” (สังขารูปปัตติสูตร)



๑.๑๐ กรรม

หลักธรรมส่วนย่อยของปฏิจจสมุปบาท ที่นิยมอธิบายกันมากที่สุด ได้แก่ หลักกรรม เนื่องจากการอธิบายเรื่องกรรม อาจทำได้หลายระดับ คือ จะอธิบายอย่างง่ายๆในระดับผิวเผิน พอให้เห็นเหตุเห็นผลในสายตาของชาวบ้านก็ได้ หรือจะอธิบายลึกลงไปถึงกระบวนธรรมภายในจิต จนต้องใช้หลักปฏิจจสมุปบาทเต็มรูปก็ได้

ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับกรรม
กรรมในฐานะกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตามพึงเข้าใจว่า แม้กระทั่งความเชื่อที่ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะกรรมก็ถือว่าไม่ถูกต้องครบถ้วน เช่น เหงื่อออก อาจเป็นเพราะอากาศร้อนก็ได้ ความเครียดก็ได้ เป็นอาการของโรคบางอย่างก็ได้ เป็นต้น

ความหมายของกรรม
คือ การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา หรือ การกระทำที่เป็นไปด้วยความจงใจ ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนา ก็ไม่เรียกว่าเป็นกรรม

ประเภทของกรรม
ถ้ามี กุศลมูล เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตก็เป็น กุศลกรรม
ถ้ามี อกุศลมูล เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตก็เป็น อกุศลกรรม

กุศลมูล : อโลภะ อโทสะ อโมหะ
กุศลกรรม : กรรมดี กรรมอันเป็นกุศล ประกอบด้วยปัญญา เกิดจากกุศลมูล ตัดโรคหรือตัดสิ่งชั่วร้าย ไม่มีโทษ สะอาด ผ่องแผ้ว ฉลาด ทำให้มีความสุข มีสุขเป็นวิบาก ผ่อนคลาย บริสุทธิ์ผ่องใส ตั้งมั่น เป็นอิสระ เหมาะแก่การใช้งาน เป็นเครื่องชำระสันดาน ทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมไป
อกุศลมูล : โลภะ โทสะ โมหะ
อกุศลกรรม : กรรมชั่ว เกิดจากอกุศลมูล

(โดยความหมายอย่างกว้าง บุญมีความหมายเท่ากับ กุศล, บาปก็มีความหมายเท่ากับอกุศล)

กรรม จะให้ผลสำเร็จตามต้องการต้องมากับความเพียร (วิริยะ) และ ปัญญา ซึ่งทำให้เห็นธรรม รู้เหตุปัจจัย แล้วก็ทำกรรมได้ตรงที่จะให้เกิดผลดีที่พึงต้องการ เมื่อพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ กรรมก็ประณีตขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งพ้นกรรมไปเลย นี่คือหลักการใหญ่ๆของพระพุทธศาสนา

การนับถือสิ่งที่เรียกว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ถ้าตราบใดยังไม่เสียหลักกรรม ก็ยังไม่ตกจากพระพุทธศาสนา แต่ถ้าผิดหลักกรรมเมื่อไร ก็หลุดจากพระพุทธศาสนาทันที เพราะกรรมคือธรรมส่วนที่โยงมาหามนุษย์ ที่ว่าไม่เสียหลักกรรมอย่างไร คือ ถ้าเราไปเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว หวังผลจากการดลบันดาล อ้อนวอนนอนรอคอย ก็เป็นอันว่าพลาดหลักกรรมแล้ว ถ้าเชื่อถือแล้วทำให้มีความมั่นคงในการกระทำ ทำการเข้มแข็งยิ่งขึ้น เพียรพยายามกระทำการตามเหตุปัจจัย ก็ยังไม่หลุดไปจากหลักกรรม ฉะนั้นชาวพุทธ ในขั้นเบื้องต้น แม้จะนับถือพระรัตนตรัยแบบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็อนุโลมได้ (เฉพาะในขั้นต้น เพื่อนำไปสู่ปัญญา) ถ้ายังไม่หลุดจากหลักกรรม พระพุทธศาสนากล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก อย่าไปหลงติดพูดด้วนๆขาดห้วนใจความไปแค่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ จุดสำคัญที่ประเสริฐของมนุษย์ก็คือ การฝึกตัวเองได้ และฝึกได้จนประเสริฐเลิศที่สุด

มีพุทธพจน์หลายบทที่ท่านทรงตรัสถึงการให้ความสำคัญกับการกระทำอันเป็นกุศล แทนการถือเรื่องฤกษ์ยาม ความฝัน ฯลฯ เช่น “ผู้ใดไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถืออุกกาบาต ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะดีหรือชั่ว ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว” (มังคลชาดก)

“ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนเขลาผู้คอยนับฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้” (นักขัตตชาดก)

“ฤกษ์ดีสำเร็จทุกเมื่อแก่ผู้บริสุทธิ์” (วัตถูปมสูตร)

“บุคคลประพฤติชอบเวลาใด เวลานั้นได้ชื่อว่า เป็นฤกษ์ดี” (สุปุพพัณหสูตร)

ผลกรรมตามนัยแห่งพระไตรปิฎก ที่บรรยายในลักษณะสืบเนื่องไปถึงภพภายภาคหน้า (จูฬกัมมวิภังคสูตร) ผู้มักทำปาณาติบาต เป็นคนเหี้ยมโหด, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนมีอายุสั้น
ผู้มีนิสัยชอบเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนมีโรคมาก
ผู้เป็นคนมักโกรธ เคียดแค้นพยาบาท, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนมีลักษณะทราม ไม่สวยไม่งาม
ผู้มีใจริษยา, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนต่ำต้อยด้อยอำนาจ
ผู้ไม่บำเพ็ญทาน, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนมีโภคะน้อย
ผู้เป็นคนแข็งกระด้าง ไม่กราบไหว้ ไม่เคารพนับถือแก่ผู้ที่สมควรได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนมีตระกูลต่ำ
ผู้ไม่ศึกษาปฏิบัติ เพื่อพัฒนาปัญญา, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนทรามปัญญา

ส่วนผู้ที่ปฏิบัติในทางกุศล ซึ่งตรงข้ามกับสาระในแต่ละหัวข้อนั้น ก็จะได้รับผลดีที่ตรงข้ามกันนั้น

จะเห็นว่าในสูตรนี้ แม้จะกล่าวถึงผลที่ประสบในชีวิตข้างหน้า แต่ก็เน้นที่การกระทำในปัจจุบัน ที่อาศัยกรรมคือคุณภาพจิตใจและคุณภาพแห่งความประพฤติ ที่ตนมีอยู่ในปัจจุบันนี้เอง ที่เป็นปัจจัยโดยตรงแก่ผลจำเพาะแต่ละอย่าง ไม่ใช่เป็นอานิสงส์เฟ้อชนิดที่ว่าทำกรรมดีอะไรครั้งเดียว ก็มีผลมากมายไม่มีขอบเขต

ควรสังเกตว่า ท่านตรัสผลในภพภายภาคหน้า เช่น ผู้บำเพ็ญทาน เมื่อมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นผู้มีโภคะสมบัติมาก อาจกล่าวได้ว่าเป็นเหตุไกล-ผลไกล ส่วนถ้าหวังผลในปัจจุบัน ควรทำเหตุใกล้ ดังธรรมหมวดที่มีชื่อว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ บางแห่งนิยมเรียกว่า หัวใจเศรษฐี ๔ ประการ คือ ขยันหมั่นเพียร, รู้จักรักษาทรัพย์, คบคนดีไม่คบคนชั่ว, เลี้ยงชีวิตพอเหมาะ

หลักบุญกิริยาวัตถุ ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนา พูดอย่างกว้างๆท่านจัดว่าเป็นบุญที่มีผลมากกว่ากันตามลำดับ ซึ่งจะเห็นว่า ศีล และภาวนา นั้นไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองก็ทำได้

“บุคคลทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ กรรมนั้นแหละ เป็นของๆเขา และเขาย่อมพาเอากรรมนั้นติดตามไป เหมือนเงาติดตามตน ฉะนั้น บุคคลควรทำกรรมดี สั่งสมไว้สำหรับภพหน้า บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า” (ทุติยาปุตตกสูตร)

“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง กรรมใหม่ กรรมเก่า ความดับกรรม และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับกรรม, กรรมเก่าเป็นไฉน? ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า ซึ่งถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เกิดจากเจตจำนง เป็นที่เสวยเวทนา นี้เรียกว่า กรรมเก่า, กรรมใหม่เป็นไฉน? กรรมที่บุคคลกระทำด้วยกาย วาจา ใจ ในบัดนี้ เรียกว่า กรรมใหม่, ความดับกรรมเป็นไฉน? ภาวะที่สัมผัสวิมุตติ เพราะความดับไปแห่ง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เรียกว่า ความดับกรรม, ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับกรรมเป็นไฉน? ได้แก่ มรรคามีองค์ ๘ประการอันประเสริฐนี้เอง เรียกว่า ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับกรรม” (กรรมสูตร)

“ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการเหล่านี้ คือ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม กรรมใดที่ทำเพราะ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นเหตุ กรรมนั้นเป็นอกุศล มีโทษ มีทุกข์เป็นวิบาก, กรรมนั้นย่อมให้ผลในที่ที่อัตภาพของเขาบังเกิด หรือในลำดับต่อๆไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรม ไม่เป็นไปเพื่อความดับแห่งกรรม

ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการเหล่านี้ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม กรรมใดที่ทำเพราะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นต้นเหตุ กรรมนั้นเป็นกุศล ไม่มีโทษ มีสุขเป็นวิบาก, กรรมนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความดับกรรม ไม่เป็นไปเพื่อความเกิดกรรม” (นิทานสูตร)



อ. เสถียร โพธินันทะ #๒

๓๑. ไวยทิกวาทะ
๓๒. วิจัยเวสสันดรชาดก
๓๓. ปรปัจจัย
๓๔. ตอบปัญหาเรื่องพระเจ้า
๓๕. กำเนิดปรัชญามหายาน
๓๖. วิวัฒนาการปรัชญามหายาน
๓๗. หลักของสุญญาตา
๓๘. สุญญาตาในลัทธิมหายาน
๓๙. อภิธรรมฝ่ายมหายาน
๔๐. คัมภีร์มหายาน
๔๑. ปรัชญาชิน
๔๒. พระถังซำจั๋ง ๑
๔๓. พระถังซำจั๋ง ๒
๔๔. พุทธาคมกับไสยเวทย์
๔๕. พระอินทร์
๔๖. การเวียนว่ายตายเกิด
๔๗. อภินิหารธรรม
๔๘. โลกธุาต
๔๙. ตักกะวิทยา
๕๐. ปฐมเหตุของโลก
๕๑. วิจัยคัมภีร์กถาวัตถุ ๑
๕๒. วิจัยคัมภีร์กถาวัตถุ ๒
๕๓. วิจัยคัมภีร์กถาวัตถุ ๓
๕๔. สารพันปัญหา ๑
๕๕. สารพันปัญหา ๒
๕๖. สารพันปัญหา ๓
๕๗. สารพันปัญหา ๔
๕๘. สารพันปัญหา ๕
๕๙. สารพันปัญหา ๖
๖๐. สารพันปัญหา ๗
๖๑. สารพันปัญหา ๘
๖๒. สารพันปัญหา ๙
๖๓. สารพันปัญหา ๑๐
๖๔. สารพันปัญหา ๑๑


๑.๙ กิเลส

กิเลส แปลว่า สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง, สิ่งเกาะติด สิ่งเปรอะเปื้อน สิ่งสกปรก

จุดมุ่งหมายของการศึกษาเรื่องกิเลส คือ เพื่อให้มีความเข้าใจ รู้เท่าทัน ถึงคุณ โทษ ของกิเลส เพื่อเลือกที่จะใช้ประโยชน์จากกิเลสนั้น (ใช้กิเลสเป็นแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง อกุศล เปลี่ยนเป็น กุศล) หรือเลือกที่จะละกิเลสนั้นตามสมควร โดยไม่ถูกกิเลสทำให้จิตเศร้าหมอง เรียกว่า เป็นนายของกิเลส ซึ่งจะพัฒนาขึ้นตามระดับของปัญญา

อนึ่ง คำว่าละกิเลสนั้น ถ้าพูดในแง่ของผลสำเร็จเช่น พระอนาคามีละสังโยชน์ได้ ๕ ข้อ หมายถึงว่า เข้าถึงภาวะที่กิเลส ๕ ข้อนั้นไม่เกิดขึ้นอีก หรืออาจใช้คำว่า ปลอดกิเลส พระอรหันต์จึงได้ชื่อว่า ปลอดกิเลสโดยสมบูรณ์

กิเลสในชื่อต่างๆ
กิเลสทั้งหมดนั้นล้วนแต่รวมลงได้ใน ราคะ โทสะ โมหะ ทั้งสิ้น การที่แยกออกมาเป็นชื่อต่างๆ เพื่อจำแนกให้เห็นชัดในลักษณะอาการของกิเลสนั้นๆแต่ละแง่ด้าน เช่น อาสวะ อนุสัย ตัณหา อุปาทาน อวิชชา สังโยชน์ นิวรณ์ อุปกิเลส เป็นต้น

อาสวะ ๔  :สิ่งที่ไหลซ่านไปทั่ว, สิ่งที่หมักหมมหรือหมักดอง ไม่ว่าจะรับรู้อะไรทางอายตนะใด หรือจะคิดนึกสิ่งใด อาสวะเหล่านี้ก็เที่ยวกำซาบซ่านไปแสดงอิทธิพลอาบย้อมมอมมัวสิ่งที่รับรู้เข้ามาและความนึกคิดนั้นๆ ทำให้ไม่ได้ความรู้ความคิดที่บริสุทธิ์ และเป็นเหตุก่อทุกข์ก่อปัญหาเรื่อยไป อาสวะต่างๆเหล่านี้ จึงเป็นที่มาแห่งพฤติกรรมของมนุษย์ปุถุชนทุกคน
    กามาสวะ    : ความใฝ่ในการสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕
    ภวาสวะ    : ความใฝ่ในความมีอยู่คงอยู่ของตัว ตลอดจนการที่จะได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และดำรงอยู่ในภาวะที่อยากเป็นนั้นยั่งยืนตลอดไป
    ทิฏฐาสวะ    : ความเห็น ความเชื่อถือ แนวคิด ที่สั่งสมอบรมมา และยึดถือเชิดชูไว้ (หมายถึงมิจฉาทิฏฐิ)
    อวิชชาสวะ    : ความหลง ความไม่เข้าใจ สิ่งทั้งหลายตามสภาวะโดยธรรมชาติของมันเอง, ไม่รู้เห็นตามที่มันเป็น แต่รู้เห็นตามที่คิดว่ามันเป็น

อนุสัย ๗ :กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน บางอาจารย์ท่านว่ามุ่งแสดงถึงกิเลสประณีตที่ตกตะกอนนอนก้นอยู่ในจิตใจ ถ้าไม่ถูกกระตุ้นก็จะเหมือนกับว่าจะไม่ปรากฏโทษภัย แต่แท้จริงกิเลสยังคงนอนก้นอยู่ เช่น เด็กทารกกิเลสบางอย่างก็ยังไม่ฟุ้งขึ้น แต่ก็มีอนุสัยอยู่เป็นปกติ เหมือนไฟสุมภายในขอนไม้ ที่ยังไม่ลุกโพลงขึ้นมา
    กามราคะ    : ความกำหนัดในกาม
    ปฏิฆะ    : ความขัดใจ หงุดหงิดขัดเคือง คือ โทสะ
    ทิฏฐิ     : ความเห็นผิด
    วิจิกิจฉา     : ความลังเล สงสัย
    มานะ     : ความถือตัว
    ภวราคะ     : ความกำหนัดในภพ ความอยากเป็น อยากยิ่งใหญ่ อยากยั่งยืน
    อวิชชา     : ความไม่รู้จริง คือ โมหะ

อนุสัย ๗ นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังโยชน์ ๗



ตัณหา ๓
นุษย์มีความอยากที่เป็นพื้นฐานสำคัญคือ ความอยากมีอยู่เป็นอยู่ หรืออยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งหมายถึงความอยากให้ตัวตนในความรู้สึกนั้นคงอยู่ยั่งยืนต่อไป ความอยากเป็นอยู่นี้สัมพันธ์กับความอยากได้ คือ อยากอยู่เพื่อเสวยสิ่งที่จะให้สุขเวทนาสนองความต้องการของตนต่อไป จึงกล่าวได้ว่า ที่อยากเป็นอยู่ ก็เพราะอยากได้ เมื่ออยากได้ ความอยากเป็นอยู่ก็ยิ่งรุนแรงขึ้น
    กามตัณหา     : อยากได้สิ่งสนองความต้องการทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕
    ภวตัณหา     : อยากเป็นอยู่
    วิภวตัณหา     : อยากให้ดับสูญ
(ความอยากไม่ใช่เป็นตัณหาไปเสียทั้งหมด ความอยากที่เป็นกุศลก็มี เรียกว่า ฉันทะ)

อุปาทาน ๔
ความยึดติดถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส
    กามุปาทาน     : ความยึดมั่นในกาม, จะต้องเอาต้องเสพต้องครอบครองสิ่งนั้นให้ได้
    ทิฏฐุปาทาน     : ความยึดมั่นในทิฏฐิต่างๆ, ต้องอย่างนี้ถึงจะดี ได้อย่างนี้ถึงจะเป็นสุข
    สีลัพพตุปาทาน     : ความยึดติดถือมั่นในศีลและพรตอย่างผิดๆ, ประพฤติปฏิบัติศีลพรตในแง่ที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่อยากได้นั้น เช่น คุณวิเศษบางอย่าง โดยไม่เข้าใจความหมายและเหตุผลของศีลนั้น
    อัตตวาทุปาทาน     : ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา (เพราะอัตตาไม่มีจริง เมื่อพูดอย่างเคร่งครัดจึงต้องเติม วาทะ เข้าไป, ท่านจึงมักย้ำว่า การปฏิบัติเกี่ยวกับนิพพานก็ดี นิพพานก็ดี ไม่ใช่เรื่องของการดับอัตตา หรือทำลายอัตตา เพราะไม่มีอัตตาที่จะต้องไปดับหรือไปทำลาย สิ่งที่จะต้องดับหรือทำลาย คือความยึดมั่นในอัตตา วาทะว่ามีอัตตา ความเห็นว่ามีอัตตา หรือภาพอัตตาที่สร้างขึ้นมายึดถือไว้)

นิวรณ์ ๕
ธรรมที่ขวางกันการเจริญจิตเจริญปัญญา, สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในกุศลธรรม
    กามฉันทะ     ความพอใจติดใคร่กาม / เปรียบเหมือนคนเป็นหนี้
    พยาบาท     ความผูกใจโกรธ หงุดหงิด ขัดใจ / เปรียบเหมือนคนไข้หนัก
    ถีนมิทธะ     ถีน : ความหดหู่ , มิทธะ : ความง่วงซึม / เปรียบเหมือนคนติดในเรือนจำ
    อุทธัจจะกุกกุจจะ     อุธัจจะ : ความฟุ้งซ่าน, กุกกุจจะ : กระวนกระวายใจ / เปรียบเหมือนคนเป็นทาส
    วิจิกิจฉา     ความลังเลสงสัย คลางแคลงใจในกุศลธรรมทั้งหลาย / เปรียบเหมือนคนเดินทางกันดารมีภัยน่าหวาดเสียว)



ปฎิจจสมุปบาทนานาทัศนะ (หน้า๗)

สฬายตนะของท่านก็ยังมีอยู่ ผัสสะของท่านก็ยังมีอยู่ จักขุสัมผัสสชาสุขเวทนา จักขุสัมผัสสชาทุกขเวทนามีอยู่เหมือนกับคนธรรมดาทุกอย่าง เหมือนกันหมดมา แตกต่างจากปุถุชนอยู่ตรงที่ว่าปัจจุบันเหตุท่านไม่มีแล้ว ไม่ต่ออีกแล้ว ตัณหาอุปาทานกรรมภวะท่านไม่มีแล้ว แตกต่างกันตรงนี้ ห่างไกลวิบากธรรมนอกนั้นเหมือนกันหมด เพราะพระอรหันต์ในชาตินี้ท่านก็มีอวิชชาสังขารอันเป็นอดีตเหตุมาทุกองค์นั่นแหละ ถ้าไม่มี ท่านก็ไม่มาเกิดเป็นคนในชาตินี้ ท่านก็มีอวิชาสังขารเป็น อดีตเหตุมาแล้วทั้งนั้น ซึ่งส่งผลได้แก่วิบากในปัจจุบัน ได้แก่วิญญาณเอย นามรูปเอย สฬายตนะเอย ผัสสะเอย เวทนาเอย เหมือนกับปุถุชนทุกอย่างหมด แตกต่างกับปุถุชนตรงที่ว่า ท่านไม่ได้ก่อปัจจุบันเหตุเพื่อผลในอนาคต

ปัจจุบันเหตุที่ท่านไม่มีคืออะไร ? คือตัณหาอุปาทานกับกรรมภวะไม่มี ท่านไม่ได้ก่อขึ้น
ปัจจุบันเหตุ ๓ อันท่านไม่มี ส่วนปุถุชนมี ปุถุชนนั้นพอจักขุสัมผัสสชาสุขเวทนานั้น พอถึงแค่สุขเวทนา ไม่ถึงเพียงแค่นี้ แล่นปรี๊ดถึงตัณหาเลย พระอรหันต์พอกำหนดแค่เวทนาก็อยู่แค่เวทนาไม่ได้แล่นถึงตัณหา

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกว่าพระอรหันต์ทั้งหลายเสวยอารมณ์เหมือนกับปถุชนเสวยทุกอย่าง แต่ท่านมีชรังอุเบกขา ไม่หวั่นไหวกับอารมณ์ทั้งหลาย อุเบกขาที่เป็นไปในอารมณ์ทั้ง ๖ เรียกว่าชรังอุเบกขา อาการที่รู้เท่าทันความเป็นจริงไม่ให้เกิดนันทิราคะ เพราะเหตุนั้นความเพลินเพราะเหตุที่เสวยอิฏฐารมณ์หรือเกิดความดิ้นรนอยากจะให้พ้นไปเพื่อจะแยกเอาอารมณ์ดีใน ขณะที่เสวยอนิฏฐารมณ์ หรือเกิดความเมามัวตามไปเพราะเหตุที่เสวยมัฏชัฎตารมณ์ คืออุเบกขาเวทนาที่ได้รับเสวยมัฎชัฏตารมณ์เข้ามาท่านไม่มีสิ่งเหล่านั้น เพราะเหตุนั้นเวทนาที่เกิดกับพระอรหันต์เจ้าจึงไม่มีราคะเป็นอนุสัยตามนอนเนื่อง เมื่อไม่มีราคะเป็นอนุสัยตามนอนเนื่อง เวทนาอันเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาก็มีไม่ได้ มันหมดเพียงแค่นั้น และไม่เกิดปฏิคะความนอนเนื่องในทุกขเวทนา เหตุนั้นตัณหาก็เกิดขึ้นไม่ได้ ในการที่จะดิ้นรนเพื่อจะให้พ้นจากทุกขเวทนานั้น ไม่เกิดอวิชชาตามนอนเนื่องในขณะที่รับมัฏชัฎตารมณ์ เพราะเหตุนั้นตัณหาก็ไม่เกิดขึ้นในอารมณ์อันนั้น

เพราะเหตุที่พระอรหันต์ปัจจุบันเหตุ ๓ ไม่มี, ชาติ ชรา มรณะ โศกะ อันเป็นอนาคตผลของท่านจึงไม่เกิดกับท่าน ท่านจึงปฏิญาณตนได้ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์จบแล้ว กิจที่จะพึงทำสิ้นแล้ว ไม่มีอีกแล้ว นี้เป็นที่สุด ชาติ อื่น ๆ จากชาตินี้ของเราไม่มี ปฏิญาณได้อย่างนี้

คราวนี้อีกมติหนึ่งคือท่านผดันตะปรมะทัตตะ ท่านผดันตะปรมะทัตตะกล่าวว่าปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นไปได้ชั่วขณะ จิตดวงเดียวเป็นไปได้ทั้ง ๑๒ องค์ ชั่วขณะอารมณ์เดียว เป็นไปได้ครบทั้ง ๑๒ องค์ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ? ท่านให้ความอธิบายว่าเปรียบเหมือนเราเกิดโลภะในอารมณ์ โมหะมาคู่กับโลภะ โลภะนั้นมาเดี่ยวไม่ได้ ต้องมากับเพื่อนของเขาคือโมหะ เพราะฉะนั้นโมหะอันนั้นชื่อว่าอวิชาในขณะนั้น โลภะชื่อว่าตัณหาในขณะนั้น จิตในดวงที่เกิดโลภ โลภะมูลจิตดวงนั้นชื่อว่าวิญญาณ ขณะจิตดวงนั้นชื่อว่าวิญญาณ สังขาร ได้แก่เจตสิกที่สัมปยุตต์กับโลภะมูลจิตดวงนั้นชื่อว่าสังขาร ในขณะนั้น และนามรูป นามก็ได้แก่เวทนา สัญญาที่สัมปยุตค์กับโลภะมูลจิตดวงนั้นเองอีกนั่นแหละ

ชื่อว่านามรูปนั้นได้แก่วิญญัติรูปที่โลภะมูลจิตดวงนั้นเกิดขึ้น ชื่อว่ารูป สฬายตนะ ก็ได้แก่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ในขณะที่โลภะมูลจิตเป็นไปในขณะนั้น นี่เป็นสฬายตนะ ผัสสะก็ได้แก่ผัสสะในขณะนั้นอีกเหมือนกัน เพราะว่าในขณะจิตทุกดวงมีผัสสะเวทนาอีกเหมือนกัน ได้แก่สุขเวทนา ความพอใจรู้สึกว่าสบาย สุขเวทนาในขณะนั้น และตัณหาก็คือตัวโลภะนั่นเอง ที่ได้กล่าวมาแล้ว อุปาทานคือความยึดถือในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความโลภในขณะนั้น ภวะก็ได้แก่การ ประกอบกรรมบ้าง วจีกรรมบ้าง เช่น อาการเข้าไปลักอย่างนี้เป็นภวะ เข้าไปลักเพราะอำนาจโลภ ยื่นมือไปลักอย่างนี้

ในขณะนั้นก็เหมือนกันชราคืออาการที่ดวงจิตขณะนั้นแปรไปชื่อว่าชรา มรณะคือขณะจิตดวงนั้นดับไปชื่อว่ามรณะ เพราะฉะนั้นปฏิจจสมุปบาท ๑๒ เป็นไปได้ในอารมณ์เดียว ขณะเดียวครบทั้ง ๑๒ องค์ นี้อธิบายตามนัยของท่านผดันตะว่าอย่างนี้

แต่ว่าอาจารย์แห่งนิกายเสาตันติกะค้านว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าถ้าหากว่าปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ดวงจะพึงเป็นไปในดวงจิตดวงเดียวแล้ว เหตุกับผลก็มาอยู่ด้วยกัน ต้องมีขณะหนึ่งเป็นเหตุ ขณะหนึ่งเป็นผล ถ้าอย่างนั้นเหตุกับผลก็อันเดียวกันนะ เราจะเอาอะไรไปแยกว่าอันนี้เป็นเหตุอันนี้ผล อันนี้เป็นปฏิจจสมุปปาณธรรม อันนี้เป็นปฏิจจสมุปบณธรรมเล่า ? ธรรมดาเราจะรู้ว่าเหตุผลอย่างน้อยต้องมี ๒ ขณะ ขณะหนึ่งที่เป็นเหตุ ขณะหนึ่งที่เป็นผล ก็เมื่อกล่าวว่า ๑๒ ดวงจับกลุ่มอยู่ในขณะเดียวแล้ว อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล แยกไม่ออก เพราะฉะนั้นการที่กล่าวว่าปฏิจจสมุปบาทจึงเป็นไปได้ในอารมณ์เดียว

นิกายเสาตันติกะไม่เห็นด้วย จึงได้คัดค้านอย่างนี้ แต่โดยสรุปแล้วปฏิจจสมุปบาทท่านแสดงไว้ ดังมีพุทธภาษิตกล่าวว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดที่พวกเธอได้เห็นปฏิจจสมุปบาท
ด้วยปัญญาตามเป็นจริงชื่อว่าเห็นธรรม โย ธมมํ ปสฺสติ โส มํ ปสสติ"


คำว่า “ธมมํ” ในที่นี้ อีกนัยหนึ่งท่านหมายถึงอริยสัจจ์ อีกนัยหนึ่งท่านหมายถึงปฏิจจสมุปปาณธรรม เห็นปฏิจจสมุปบาทชื่อว่าเห็นธรรม เห็นธรรมก็ชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาทธรรม เห็นอันเดียวกันด้วยเป็นอย่างนั้น แล้วก็ตรัสไว้ว่า ปฏิจจสมุปบาทนี่แหละเป็นมัชฌิมาปฏิปทา

ที่กล่าวว่าปฏิจจสมุปบาทนี่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาคือเป็นอย่างไร ?
คือว่าคำว่า "ปฏิจจะ" ห้ามเสียซึ่งสสตะทิฏฐิ
คำว่า "อุปาทะ" ห้ามเสียซึ่งอุจเฉททิฏฐิ
คำว่า "ปฏิจจสมุปบาท" แปลว่าความเกิดขึ้นพร้อมกัน

ความที่ธรรมอันมีปัจจัยประชุมกันชื่อว่าปฏิจจะจึงดับเสียได้ซึ่งสสตะทิฎฐิ เพราะสสตะทิฏฐินั้นคือสสตะทิฏฐิที่เห็นว่าเที่ยงได้ก็เพราะมองไม่เห็นปัจจัยที่มาปรุงแต่งในภาวะนั้น จึงหลงผิดเอาว่าภาวะนี้เที่ยง แต่เมื่อใดเราเห็นว่าภาวะนี้มันก็สำเร็จมาจากปัจจัย ความรู้สึกว่าเที่ยงในภาวะนั้นก็ไม่มี สิ่งใดเกิดจากปัจจัย สิ่งนั้นก็ไม่มีสาระในตัวมันเอง สิ่งใดไม่มีสาระในตัวมันเอง สิ่งนั้นก็แปรผันได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าเพียงลำพังปฏิจจะอันเดียวดับได้ซึ่งสสตะทิฎฐิแล้ว

ส่วนอุปาทะดับซึ่งอุจเฉททิฏฐินั้นเพราะอุจเฉททิฏฐิมองแต่ข้างดับ ไม่เห็นข้างเกิด อุปาทะแปลว่าความเกิดขึ้น ความเกิดขึ้นชื่อว่าอุปาทะ การที่เกิดสสตะทิฎฐิเห็นแต่ข้างเกิด ไม่เห็นข้างดับ จึงเกิดสสตะทิฏฐิได้ เห็นแต่ข้างเกิดข้างเดียว ข้างดับมองไม่เห็นจึงเลยมองเห็นว่าเที่ยงแล้ว พรหมโลกนี้เที่ยง อาตมันเที่ยง ตัวตนเที่ยง เห็นแต่เกิดเรื่อยไปไม่เห็นดับ จึงได้เกิดสสตะทิฎฐิ

คนที่เกิดอุจเฉททิฏฐิก็เพราะเห็นแต่ตับ ไม่เห็นเกิด เห็นมันดับเรื่อยไป ๆ ก็หายไป ๆ ก็วูบไป ๆ ก็ว่างไป ๆ ก็หมด เกิดอุจเฉททิฎฐิขึ้นมา ขาดสูญอื่นทุกสิ่ง นี่เห็นแต่ข้างดับไม่เห็นข้างเกิด เพราะฉะนั้นอุปาทะจึงห้ามเสียซึ่งอุจเฉททิฏฐิ ปฏิจจสมุปปาณธรรมจึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทาตามนัยนี้ คือห้ามทั้งสสตะทิฏฐิกับอุจเฉททิฏฐิ แสดงธรรมเป็นท่ามกลางว่าเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มี อาการที่แสดงอย่างนี้แหละเป็นมัชฌิมาปฎิปทา

พระองค์ได้ตรัสในสังยุตตนิกายว่า
"ดูก่อนกัจจายนะ เมื่อใดแลมาพิจารณาเห็นโลกสมุทัย ความเกิดขึ้นของโลกย่อมมีปัจจัยอย่างนี้ ๆ เป็นลำดับไป เมื่อนั้นย่อมละได้ละเสียซึ่งอัตถิตาความมีอยู่ได้ คือสสตะทิฏฐิ เมื่อใดมามองเห็นว่าทุกสิ่งทั้งหลายย่อมดับไป เมื่อมีปัจจัยเกิดขึ้นก็ย่อมดับเสียได้ซึ่งนัตถิตา ความเห็นว่าขาดสูญ จะช่วยความมีอยู่อีกเป็นส่วนสุดข้างหนึ่ง ช่วยความไม่มีอยู่อีกเป็นส่วนสุดข้างหนึ่ง ตถาคตย่อมแสดงธรรมโดยท่ามกลาง"

แสดงโดยท่ามกลางเป็นไฉน ?
กล่าวคืออวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารโดยลำดับ นี้เป็นสายสมุทัยวาร แล้วประการตรงกันข้าม อวิชชาดับ สังขารดับ วิญญาณดับ นี้เป็นสายนิโรธวารเป็นลำดับ เมื่อเห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ทิฎฐิอันเป็นส่วนสุดทั้งสองคืออัตถิตากับนัตถิตาของผู้นั้นย่อมไม่เกิด นี้เป็นมัชฌิมาปฏิปทา

เพราะฉะนั้นมัชฌิมาปฏิปทามี ๒ นัย นัยหนึ่งหมายถึงมรรคมีองค์ ๘ มรรคมีองค์ ๘ หมายถึงภาเวตปะธรรม คือตัวที่จะต้องเข้าไปอบรมให้มีที่เดียว ส่วนมัชฌิมาปฏิปทาตามนัยปฏิจจสมุปบาทนั้นคล้ายกับว่าเป็นทางทฤษฎี 

มรรค ๘ ทางปฏิบัติกับทางทฤษฎีต่างกันอย่างนี้ ปฏิจจสมุปบาทเป็นมัชฌิมาปฏิปทาในทางทฤษฎี ส่วนมรรคมีองค์ ๘ เป็นมัชฌิมาปฏิปทาในทางปฏิบัติ นี่ฉีกให้เห็นข้อแตกต่างกันอย่างนี้ แล้วเราก็จะเข้าใจความหมาย ผู้ที่เห็นปฏิจจสมุปบาทนั้นชื่อว่าได้ธรรมฐิติญาณ ปุพเพ โช สุสิม ธมฺมฐิติญาน ภวา ปชฺชานิพพานาญาเนติ ตรัสว่า
"ดูก่อน สุสิมะ ธรรมฐีติญาณย่อมเกิด นิพพานญาณย่อมเกิดตามมาภายหลัง"
นี้ทรงแสดงไว้ในสังยุตตนิกาย ธรรมฐีติญาณ คือญาณความรู้ในปฏิจจสมุปบาทนี้แหละชื่อว่าธรรมฐีติญาณ เพราะถ้ารู้ปฏิจจสมุปบาทแล้ว ความรู้ในไตรลักษณ์ญาณก็ปรากฏ เมื่อเห็นทุกสิ่งว่าอวิชชาเป็นปัจจัยเป็นลำดับแล้ว เราก็เห็นว่า อ้อ ! นี่เป็น อนิจจัง นี่เป็นทุกขัง และเป็นอนัตตา ที่เป็นอนัตตาเพราะไม่มี หาสภาวะคงที่ไม่ได้ มองไปก็เป็นลูกโซ่ เพราะอันนี้มีอันนั้นจึงเกิด อันนี้ไม่มี อันนั้นก็ไม่มี อันนั้นดับเหตุ อันนี้จึงจะดับ เห็นเป็นอย่างนี้ไป เมื่อเห็นเป็นอย่างนี้ไปแล้ว อัตตานุทิฏฐิจะเกิดได้อย่างไร ? เกิดไม่ได้ !

วิปลาสธรรมคือความเป็นสุขวิปลาส ความเห็นว่างาม หรือความนิจวิปลาส ความเห็นว่าเที่ยงแท้จะมีได้อย่างไร ? เพราะเห็นว่าอันนี้จึงมี เกี่ยวพันกันอย่างนี้ วิปลาสคืออัตตวิปลาส ๑ สุขวิปลาส ๑ นิจวิปลาส ๑ เกิดขึ้นได้ก็เพราะว่าอาการที่เราไม่เห็นสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนั้นก็ไม่มีตาม ให้เห็นอย่างเดียวว่าอันนี้เกิดเรื่อย ๆ ไป เราจึงถือว่ามีแก่นสารใช่ไหม ? ถ้าเมื่อใดเรามาพิจารณาตามนัยปฏิจจสมุปบาทดังได้รู้อยู่แล้ว ความเป็นแก่นสารในสิ่งทั้งปวงนั้นก็หายวูบไปจากใจเรา เมื่อหายวูบไปจากใจเราอะไรเกิดขึ้นเล่า ? ก็ไตรลักษณ์ญาณ วิปัสสนาญาณ ความเป็นจริงได้ปรากฏขึ้นแล้วว่านี้เป็นอนิจจังจริง ทุกขังจริง อนัตตาจริง ความยึดถือก็ปล่อยไป เพราะฉะนั้นญาณกำหนดรู้ปฏิจจสมุปบาทจึงชื่อว่าธรรมฐิติญาณ เมื่อกำหนดรู้ธรรมฐีติญาณเกิดแล้ว นิพพานญาณจึงเกิด ญาณกำหนดรู้ในนิพพานจึงเกิดตามมา จึงได้นิพพานเป็นอารมณ์ได้

พูดง่ายๆ ว่าธรรมฐีติญาณนั้นคือวิปัสสนาญาณนั้นเอง วิปัสสนาญานใดก็คือญาณที่กำหนดในปฏิจจสมุปบาทนั้นเอง เป็นไปในปฏิจจสมุปบาท เพราะว่าทำอะไรๆ ก็ตามจะหนีพ้นจากปฏิจจสมุปบาทไม่มี ขันธ์ ๕ ก็อยู่ในปฏิจจสมุปบาท เราบอกว่ากำหนดขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นั่นแหละกำหนดในปฏิจจสมุปบาทละ กำหนดขันธ์ ๕ กำหนดอารมณ์นั้นแหละ กำหนดปฏิจจสมุปบาทอีก อะไรบ้างที่จะไม่กระทบปฏิจจสมุปบาทในโลกนี้ไม่มีเลย โลกคือปฏิจจาสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละคือโลก อันเดียวกันนั้นเอง

เรื่องปฏิจจสมุปบาทตามนัยนานาทัศนะก็จบลงโดยย่อเพียงเท่านี้

หน้า๑  หน้า๒  หน้า๓  หน้า๔  หน้า๕  หน้า๖  หน้า๗