ทรัพย์และอำนาจ สู่ความหมายและคุณค่าใหม่

ในที่นี้มีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือ คติเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อทรัพย์สินเงินทอง ดังต่อไปนี้

ตามปกติพระเจ้าอโศกนี้ ก็เช่นเดียวกับกษัตริย์สมัยโบราณจำนวนมาก ที่มุ่งจะแสวงหาความยิ่งใหญ่ให้แก่ตนเอง และต้องการบำรุงบำเรอความสุขส่วนตน อย่างที่เรียกว่าแสวงหาโภคะและอำนาจหรือแสวงหาทรัพย์และอำนาจ เพื่อบำรุงบำเรอตัวเอง และเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของตน ทรัพย์และอำนาจ โดยทั่วไปมักจะมีความหมายอย่างนี้ ทีนี้ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชหันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ทางธรรมสอนว่า ทรัพย์สินเงินทองและความยิ่งใหญ่ ทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่มีสาระที่แท้จริง ไม่ควรจะเอาชีวิตไปฝากไว้กับสิ่งเหล่านี้ ไม่ควรหวังความสุข หรือความประเสริฐจากทรัพย์สินเงินทองและอำนาจ ฉะนั้น ทรัพย์สินเงินทองก็ไม่มีความหมายที่แท้จริง เมื่อทรัพย์สินเงินทองไม่มีความหมายแล้ว มองในแง่หนึ่ง ก็จะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย เพราะว่าเมื่อมองเห็นทรัพย์สินเงินทองเป็นเพียงของนอกกาย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นอนิจจัง ไม่มีคุณค่าที่แท้จริง ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็ไม่ควรเอาใจใส่ นี่คือท่าทีอย่างหนึ่งต่อทรัพย์สมบัติ

ถ้าพระเจ้าอโศกทรงมองเห็นอย่างนั้น พระองค์ก็คงจะไม่เอาพระทัยใส่กับพระราชทรัพย์และอำนาจต่อไป ซึ่งก็จะต้องตั้งคำถามว่า จะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่ ปรากฏว่าพระเจ้าอโศกได้ทำสิ่งหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นแบบอย่างแก่ชาวพุทธที่สำคัญคือ พระเจ้าอโศกนั้นไม่ได้ทรงทิ้งทรัพย์และอำนาจ แต่ได้ทรงเปลี่ยนความหมายของทรัพย์และอำนาจเสียใหม่ อย่างที่ได้กล่าวไว้เมื่อกว่า ทรัพย์และอำนาจนั้น มีความหมายสำหรับปุถุชนจำนวนมาก คือเป็นเครื่องบำรุงบำเรอความสุขของตนและแสดงความยิ่งใหญ่ แต่พระเจ้าอโศกได้ทรงเปลี่ยนความหมายของทรัพย์และอำนาจใหม่เป็นว่า ทรัพย์และอำนาจนั้น สามารถใช้เป็นเครื่องมือของธรรมได้ คือใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ ทำความดีงาม และประโยชน์สุข ด้วยความคิดเช่นนี้ พระเจ้าอโศกก็ทรงนำเอาทรัพย์และอำนาจที่พระองค์เคยมีนั่นแหละมาใช้ แต่เปลี่ยนใหม่ คือแทนที่จะเอามาบำรุงบำเรอตนเอง ก็เอามาใช้สร้างสรรค์ความดีงามและประโยชน์สุขอย่างที่ว่า จึงได้ทรงสร้างโรงพยาบาลคน โรงพยาบาลสัตว์ ทั่วพระราชอาณาจักร สร้างถนนหนทางเชื่อมต่อให้กว้างขวางทั่วถึง ปลูกต้นไม้ ขุดบ่อน้ำ สร้างที่พักคนเดินทาง และสร้างอ่างเก็บน้ำ ให้การศึกษาแก่ประชาชน ทําศิลาจารึกประกาศธรรม แถลงเรื่องที่เป็นนโยบายของรัฐให้แก่ประชาชนในทางธรรม ที่จะให้ผู้บริหารปกครองท้องถิ่นนำไปสั่งสอนประชาชนตลอดจนอุปถัมภ์พระศาสนาอย่างมากมาย

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบว่า พระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามีทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็ได้ทรงสร้างวัดขึ้นทั้งหมด เรียกว่า “มหาวิหาร” จำนวน ๘๔,๐๐๐ วัด ทั่วมหาอาณาจักรของพระองค์ คือแคว้นมคธนี่แหละ แคว้นมคธเป็นศูนย์กลางของมหาอาณาจักรของพระเจ้าอโศก คือบริเวณแถบนี้ที่เรากำลังเดินทางกันอยู่ ในแคว้นมคธนี้ มีวัดจำนวนมากมาย วัด ภาษาบาลีเรียกว่า วิหาร มหาวิหารก็คือ วัดใหญ่ คำว่า “วิหาร” นี้ ถ้าแผลง ว. เป็น พ. ก็จะเป็น พิหาร เหมือนอย่างใoประเทศไทยเรานิยมแปลง ว. เป็น พ. เยอะแยะไป ในอินเดีย ว. เป็น พ. ก็แผลงกันได้ วิหารก็กลายเป็นพิหาร แปลว่า “วัด” ต่อมา เมื่ออาณาจักรของพระเจ้าอโศกมหาราชได้เสื่อมสลายลงไป ก็มีซากวัดวาอารามเหลืออยู่มากมาย เนื่องจากแคว้นมคธนี้เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยซากของวัด คือวิหาร หรือพิหาร ฉะนั้น ต่อมาก็เลยเรียกชื่อดินแดนแถบนี้ ตั้งชื่อเป็นแคว้นหรือรัฐว่า แคว้นพิหาร หรือรัฐวิหาร อย่างที่เรารู้จักกัน เป็นชื่อทางการในปัจจุบัน

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะมีวัดมากมายเหลือเกิน ซึ่งพระเจ้าอโศกสร้างไว้ ยังมีซากเหลืออยู่ พระเจ้าอโศกสร้างวิหารทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ แห่ง ทั่วราชอาณาจักร และวัดเหล่านั้นก็ได้เป็นศูนย์กลางทางการศึกษา บางแห่งได้เจริญเติบโตจนเป็นมหาวิทยาลัย เช่นที่เรากำลังจะไป คือ นาลันทา ซึ่งเดิมก็เป็นวิหารหนึ่ง แล้วได้ขยายเป็นมหาวิหาร คือ วัดใหญ่ โดยเกิดจากการรวมกันของวัดเล็กวัดน้อยที่เป็นศูนย์การศึกษา แล้วพัฒนาขึ้นมาจนเป็น มหาวิทยาลัยนาลันทา ชื่อในภาษาบาลี เรียกว่า นาลันทามหาวิหาร ก็คือวัดใหญ่นั่นเอง ซึ่งเราจะได้เห็นความยิ่งใหญ่ของวัดที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยนาลันทาเมื่อเดินทางกันต่อไป

นี้คือความเป็นมาในอดีต ซึ่งเกี่ยวข้องกับเมืองที่เรียกว่าปาตลีบุตรพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงให้ความหมายใหม่แก่ทรัพย์และอำนาจ แล้วก็ทรงจารึกไว้ในศิลาจารึกของพระองค์ ศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกแห่งหนึ่ง มีข้อความจารึกไว้ว่า ยศ คือความยิ่งใหญ่ของพระองค์นั้น จะไม่มีความหมายเลย ถ้าไม่เป็นไปเพื่อช่วยให้ประชาชนได้ประพฤติธรรม หมายความว่า พระเจ้าอโศกได้ทรงใช้ทรัพย์และอำนาจ เป็นเครื่องมือแห่งธรรม เพื่อเผยแพร่ธรรมหรือสร้างสรรค์ธรรม ทําให้ความดีงามหรือธรรมนี้แผ่ขยายไปในหมู่มนุษย์ เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สุขอันแท้จริง อันนี้เป็นคติที่สำคัญมาก ขอยกข้อความในศิลาจารึก คือ ธรรมโองการ ในจารึกศิลา ฉบับที่ ๑๐ มาให้ดู ดังนี้

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปิยทัสสี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ไม่ทรงถือว่า ยศหรือเกียรติจะเป็นสิ่งมีประโยชน์มาก เว้นแต่จะทรงปรารถนายศหรือเกียรติเพื่อความมุ่งหมายนี้ว่า ทั้งในบัดนี้และเบื้องหน้า ขอประชาชนทั้งหลายจงตั้งใจสดับฟังคําสอนธรรมของข้าฯ และจงปฏิบัติตามหลักความประพฤติทางธรรม”

คำว่า “ยศ” ในภาษาบาลีนั้น แปลง่ายๆ ว่า ความยิ่งใหญ่ มี ๓ อย่าง คือ
๑. เกียรติยศ ยศ คือเกียรติ ได้แก่ความมีชื่อเสียง มีเกียรติคุณ
๒. อิสสริยยศ ยศ คือ ความเป็นใหญ่
๓. บริวารยศ ยศ คือ บริวาร
คนที่มีความคิดดีๆ มีเจตนาดี มีสติปัญญาดี แต่ถ้าไม่มีทรัพย์ ไม่มีอำนาจ ไม่มียศ ก็ไม่สามารถสร้างสรรค์ความดีงามหรือประโยชน์สุขได้มาก เราคิดขึ้นมาว่าจะทำการที่ดีเป็นประโยชน์สักอย่าง แต่ไม่มีเงิน ไม่มีบริวาร ไม่มีอำนาจ จะทำได้แค่ไหน ทำได้นิดเดียวก็จบ แต่ถ้ามีทรัพย์ มีอำนาจ มีบริวาร มีความคิดดี มีสติปัญญาดี ก็สามารถออกผลกระจายขยายออกไปได้กว้างขวาง เหมือนดังพระเจ้าอโศกมหาราช

เรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชนี้ จึงเป็นคติเป็นแบบอย่างที่ดี ที่ให้หลักแก่เราในด้านการปฏิบัติต่อทรัพย์และอำนาจอย่างที่กล่าวมานี้ ชาวพุทธมีคติว่า เมื่อเราได้เรียนรู้ธรรมแล้วว่า ทรัพย์สินเงินทองและอำนาจนี้ เป็นของนอกกาย จึงไม่ควรยึดถือเป็นจุดหมายของชีวิต ข้อนี้หมายความว่า เราไม่ได้เห็นความหมายของทรัพย์และอำนาจในแง่ที่เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว หรือเป็นประโยชน์ส่วนตนและไม่ยึดติดตกเป็นทาสของมัน ให้เกิดก่อทุกข์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น แต่เรามองอย่างพระเจ้าอโศก คือ คิดที่จะใช้มันเป็นเครื่องมือของธรรมไม่ใช่หมายความว่า ทรัพย์และอำนาจเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็เลยไม่เอาใจใส่ ไม่บริหาร ไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องรู้จักเอามันมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามและประโยชน์สุข อันนี้ถือว่าเป็นวิธีปฏิบัติอย่างถูกต้องของชาวพุทธที่เป็นคฤหัสถ์ แต่ถ้าไม่อยากเกี่ยวข้องกับทรัพย์และอำนาจ ก็ออกบวชไปเลยจะได้ไปทําหน้าที่ทางธรรมอีกแบบหนึ่ง คือ นาธรรมที่เป็นตัวนามธรรม ได้แก่สติปัญญา ไปแจกจ่ายแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปดำเนินชีวิตให้ถูกต้องเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมของเขา

ฉะนั้น จึงมีคติ ๒ อย่าง คือ
• ถ้าอยู่เป็นคฤหัสถ์ ก็ให้ใช้ทรัพย์และอำนาจเป็นเครื่องมือของธรรม ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างสรรค์ความดีงาม หรือ
ถ้าอยู่เป็นภิกษุ เบื่อหน่ายไม่อยากเกี่ยวข้องกับทรัพย์และอำนาจ ก็ออกบวชไปเผยแพร่ธรรมให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

ถ้ามิฉะนั้น จะกลายเป็นคนครึ่งๆ กลางๆ มีทรัพย์มีอำนาจแล้วบอกว่าเบื่อหน่าย ไม่เอาเรื่องเอาราว จะทำอย่างไรก็ไม่ทำ ไม่รับผิดชอบทรัพย์และอำนาจนั้นเมื่อไม่ได้รับการบริหาร ไม่มีคนรับผิดชอบ หายหมด ไม่เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและสังคม และชีวิตของคนผู้นั้นเองก็ไม่ได้เจริญงอกงามอะไรขึ้นมา เรื่องพระเจ้าอโศก อย่างน้อยก็ให้คติแก่เราอย่างนี้ นอกจากนั้น ยังมีคติที่สำคัญอันเนื่องมาจากสถานที่นี้เอง

วัดอโศการาม ซึ่งเป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๓ เรื่องของการทําสังคายนานั้น คือ
• สังคายนาอะไร ทางพระท่านเรียกว่า สังคายนาพระธรรมวินัย
• ธรรมวินัย คืออะไร ก็คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
• สังคายนาเพื่ออะไร ก็เพื่อให้คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้คงอยู่เป็นหมวดเป็นหมู่ เป็นหลักเป็นฐาน คนรุ่นหลังจะได้รู้ว่าหลักคำสั่งสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าคืออะไร และจะได้ประพฤติปฏิบัติถูกต้อง เมื่อหลักธรรมวินัยเรียบร้อย บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว พระศาสนาก็จะเจริญมั่นคงและแพร่หลายต่อไป

มีข้อน่าสังเกตว่า วัตถุประสงค์ของการสังคายนานั้น ท่านแสดงไว้ว่า พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมปาย แปลว่า เพื่อประโยชน์สุขแก่คนจำนวนมาก เพื่อเกื้อกูลแก่ชาวโลก หมายความว่า ที่ทำสังคายนาอะไรต่างๆ เหล่านี้ และทำให้พระศาสนาเจริญมั่นคงนั้น วัตถุประสงค์ไม่ได้อยู่ที่ตัวพระศาสนาเอง พระศาสนาไม่ได้อยู่เพื่อตัวเอง พระศาสนานั้นมีอยู่เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมากและชาวโลก อันนี้เป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา เป็นอันว่า ในการปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน การที่เราทำนุบำรุงพระพุทธศาสนานี้ ก็เพื่อให้พระพุทธศาสนาอยู่ยั่งยืน จะได้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนจำนวนมาก และแก่ชาวโลก สืบต่อไปตลอดกาลนาน คติอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ตัวธรรมวินัยเอง ซึ่งประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ ธรรม และ วินัย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำความเข้าใจกันต่อไป ในตอนเริ่มต้นนี้ อาตมาแนะนำเกริ่นไว้ก่อน พอเป็นเครื่องเชื่อมเรื่องราวของสถานที่นี้กับความเป็นไปในพระพุทธศาสนา อย่างน้อยก็อยากให้โยมได้ภาพรวมของดินแดนพระพุทธศาสนาแห่งนี้ ก็เข้าใจว่าคงจะพอเห็นกันลางๆ แล้ว



มคธผ่านสู่ยุคอโศก

เมืองปาตลีบุตรได้เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธก่อนพระเจ้าอโศกตั้ง นาน คือหลังพุทธกาลไม่นาน แล้วก็เป็นสืบมา พระเจ้าอโศกนี้มิใช่อยู่ใน วงศ์ของพระเจ้าอชาตศัตรู หรือพระเจ้าพิมพิสาร แม้จะอยู่แคว้นมคธ และครองแคว้นมคธก็จริง แต่เป็นกษัตริย์วงศ์อื่น

เรื่องมีว่า กษัตริย์วงศ์พระเจ้าพิมพิสารที่ครองแคว้นมคธนั้น ลูกฆ่าพ่อตลอด พระเจ้าอชาตศัตรูฆ่าพระเจ้าพิมพิสาร ต่อมาโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรู ชื่ออุทัยภัทร ก็ฆ่าพระบิดาอีก ต่อมาโอรสของพระเจ้าอุทัยภัทรก็ฆ่าพระบิดาอีก ฆ่ากันมาหลายชั่วกษัตริย์ จนพวกอำมาตย์และราษฎรทนไม่ไหวก็เลยยืดอานาจ แล้วตั้งราชวงศ์ใหม่ขึ้น ราชวงศ์ใหม่ก็ปกครองกันมาขยายอำนาจกว้างขวางขึ้น ต่อมาในอินเดีย แคว้นต่างๆ ก็ค่อยๆ หมดอำนาจ จนเหลือแต่แคว้นมคธที่ยังยิ่งใหญ่ ระหว่างที่กษัตริย์ยุคหลังๆ ครองราชย์กันต่อมา ก็มีกษัตริย์วงศ์หนึ่ง ชื่อว่า วงศ์โมริยะ ซึ่งเป็นเจ้าเผ่าหนึ่ง ได้เรืองอำนาจขึ้น ในสมัยหลังพุทธกาลประมาณ ๑๐๐ กว่าปี เจ้าเผ่าโมริยะนี้ ว่ากันว่าเป็นสายพระญาติของพระพุทธเจ้า ซึ่งอาจจะเป็นได้ว่า ได้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าศากยะที่ถูกล้างเผ่า ถ้าพูดอย่างนี้อาจจะงง แต่เรื่องราวก็มีอยู่ ซึ่งต้องโยงเรื่องไปหาสมัยพุทธกาลว่า วงศ์ของพระพุทธเจ้าคือ วงศ์ศากยะ ซึ่งตอนท้ายได้ถูกกษัตริย์แคว้นโกศลยกทัพไปปราบทำลายหมด กษัตริย์แคว้นโกศลตอนนั้นชื่อว่า พระเจ้าวิฑูฑภะ เป็นโอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศล ตอนท้ายพุทธกาล พระเจ้าวิฑูฑภะยกทัพไปปราบแคว้นศากยะแล้วก็ทำลายแคว้นศากยะหมด กษัตริย์สายศากยะที่หลงเหลืออยู่ อาจหนีไปอยู่ตามเชิงเขาหิมาลัย ต่อมา ก็ได้ค่อยๆ รวบรวมพวกพ้องเผ่าพันธุ์จนมีกำลังมากขึ้น โมริยะนี้ก็เป็นศากยะสายหนึ่ง

จนกระทั่งประมาณ พ.ศ. ๑๖๑ ก็ได้มีคนสำคัญในวงศ์โมริยะเกิดขึ้นชื่อว่าจันทรคุปต์ ซึ่งได้พยายามที่จะรวบรวมอำนาจและชิงแคว้นมคธ เวลานั้นแคว้นมคธใหญ่มาก โมริยะเป็นเพียงชนเผ่าหนึ่งเท่านั้น พวกโมริยะ โดยจันทรคุปต์เป็นหัวหน้าได้พยายามเข้ามายึดอำนาจ พอดีถึงยุคที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช มีอำนาจขึ้นมาทางกรีก ต้องการแผ่อำนาจไปทั่วโลก ก็ได้กรีฑาทัพตีมาตลอด จนถึงชายแดนประเทศอินเดีย และคิดว่าต้องตีประเทศอินเดียด้วย จึงได้พักกําลังพลอยู่ชายแดนประเทศอินเดียที่เมืองตักศิลา (บาลีสันสกฤต = ตกฺษศิลา; ฝรั่งเขียนตามกรีก = Taxila) แคว้นมคธ แต่ก็ยังทำการไม่สำเร็จ

ตักศิลา เป็นชื่อเมืองอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถาน เป็นมหาวิทยาลัยและเป็นศูนย์กลางของศิลปวิชาการ ในอดีตของอินเดียตั้งแต่ก่อนพุทธกาล

ที่ตักศิลานั้น อเล็กซานเดอร์มหาราชเตรียมวางแผนที่จะทำสงครามกับชมพูทวีป คือแคว้นมคธนี้ ซึ่งกำลังเป็นแคว้นมหาอำนาจอยู่ พอดีประจวบเวลาเดียวกันกับปู่ของพระเจ้าอโศก คือพระเจ้าจันทรคุปต์ ก็กำลังพยายามจะเข้ายึดอำนาจแคว้นมคธ จึงมีความคิดเกิดขึ้นว่า ถ้าทั้งสองฝ่ายมารวมเป็นพันธมิตรกัน แล้วช่วยกันรบ ก็จะเอาชนะแคว้นมคธได้ ทั้งสองฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกัน พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก็คิดว่า ถ้าได้คนอินเดียเองมาช่วย การรบก็จะมีกำลังทําให้สําเร็จง่ายขึ้น ฝ่ายจันทรคุปต์ก็เช่นเดียวกัน คิดว่าถ้าได้อาศัยฝ่ายอเล็กซานเดอร์มาช่วย ก็จะสามารถรบชนะได้ เพราะตนมีกำลังไม่พอ ทั้งสองฝ่ายมีความคิดร่วมกันอย่างนี้ ก็นัดพบกัน พอพบกัน ก็เกิดมีปัญหาว่าใครจะเคารพใครก่อน ทั้งสองฝ่ายต่างก็ถือตัวไม่ยอมเคารพก่อน ฝ่ายจันทรคุปต์ (พวกกรีกเรียกว่า Sandrocotus หรือ Sandracottos) เข้าไปในเขตอำนาจของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ เพราะเข้าไปพบในค่ายของเขา เพราะเกี่ยงกันทำความเคารพพระเจ้าอเล็กซานเดอร์เลยสั่งจับเอาจันทรคุปต์เข้าคุกขังไว้ แต่มีเรื่องเล่าว่า ต่อมาจันทรคุปต์หนีออกไปได้ และมีนิยายอิงประวัติศาสตร์เล่าเรื่องที่จันทรคุปต์หนีออกมา

ส่วนทางฝ่ายพระเจ้าอเล็กซานเดอร์เอง คิดไปคิดมาอย่างไรไม่ทราบ ก็ยกทัพกลับ แล้วก็ไปสวรรคตกลางทาง ดินแดนที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เคยยึดได้ พระองค์ก็ทิ้งแม่ทัพนายกองไว้ให้ปกครอง แม่ทัพนายกองเหล่านั้นต่อมาก็ยกตัวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เกิดเป็นแคว้นต่างๆ หลายแคว้น แคว้นหนึ่งที่มีชื่อเสียงสืบต่อกันมาซึ่งชาวพุทธรู้จักกันมาก ก็คือ แคว้นโยนก ของพระเจ้าเมนานเดอร์ (Menander บางทีเขียนเป็น Minedra บ้าง Menadra บ้าง) เรียกเป็นภาษาบาลีว่า พระเจ้ามิลินท์ ซึ่งหันมานับถือพุทธศาสนาในสมัยพุทธศักราชประมาณ ๕๐๐ ปี (แต่นักประวัติศาสตร์ฝรั่งว่าประมาณ พ.ศ. ๔๐๐) พระเจ้ามิลินท์เป็นกษัตริย์เชื้อชาติกรีก ในราชวงศ์ที่สืบมาจากแม่ทัพกรีก ที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทิ้งไว้ ครองราชย์ที่เมืองสาคละ นักประวัติศาสตร์ว่าเป็นราชาแห่งประเทศแบกเตรีย (king of Bactria) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอาฟกานิสถาน ในคัมภีร์บาลีเรียกว่าแคว้นโยนก และถือกันว่าเป็นกษัตริย์อินเดียเชื้อสายกรีกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด (the greatest of the Indo-Greek kings Encycl. Britannica 1988, vol. 8, p.1) พญามิลินท์นี่ เป็นเรื่องสมัยหลังสืบมาอีกนาน คือยุคใกล้ พ.ศ. ๕๐๐ แต่เป็นเรื่องที่โยงถึงกัน ก็เลยเอามาพูดแทรกไว้หน่อย

ขอย้อนกลับไปเรื่องเมื่อกี้ สมัยก่อน พ.ศ. ๒๐๐ โน่น ที่เล่าค้างอยู่ กล่าวฝ่ายพระเจ้าจันทรคุปต์ เมื่อหนีออกมาจากเงื้อมมือของพระเจ้าอเลกซานเดอร์ได้แล้ว ก็ต้องมาหาวิธียึดอำนาจแคว้นมคธด้วยตนเองต่อไป และมีเรื่องมีราวมากมาย เช่น ครั้งหนึ่งเคยนึกว่าตัวเองมีกำลังมากพอแล้ว ก็ยกทัพเข้าตีแคว้นมคธ ปรากฏว่าพ่ายแพ้ จันทรคุปต์เองเอาชีวิตแทบไม่รอด แล้วก็หนีซอกซอนไปจนถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เมื่อเข้าไปในหมู่บ้านแห่งนั้น พอดีผ่านมาทางบ้านที่ยายคนหนึ่งกำลังทำขนมเบื้องให้หลานกิน ทีนี้พอเอาลงจากเตา เรียกว่าทอดเสร็จใหม่ๆ ก็หยิบส่งให้หลาน หลานรับมากำลังร้อนๆ กัดกร่วมลงไปตรงกลางก็ร้องไห้จ้าเพราะมันร้อนจัด ลวกเอาลิ้นเอาปากเข้า เมื่อหลานร้องขึ้นมา ยายก็เลยด่าเอาว่า “เอ็งมันโง่เหมือนเจ้าจันทรคุปต์ ไปกัดไปกินได้ยังไงตรงกลางยังร้อนจัด มันต้องและเล็มกินจากขอบข้างนอกเข้ามาก่อน” ขอบมันบาง ก็เย็นเร็วกว่า

พระเจ้าจันทรคุปต์ กำลังหนีซอกซอนมาในชนบทถึงหมู่บ้านนั้นพอดี เมื่อได้ยินเสียงยายด่าหลานอย่างนี้ ก็ได้ความคิดขึ้นมาทันที จึงเปลี่ยนแผนการรบใหม่ว่า จะไปรบโดยตรงบุกทะลวงเข้าไปคงไม่ไหว กำลังเราน้อยกว่า ต้องใช้วิธีแบบกินขนมเบื้อง คือเล็มจากขอบเข้ามา จึงค่อยๆ ไปซ่องสุมกำลังใหม่ โดยทำสัมพันธไมตรีกับเผ่าเล็กเผ่าน้อย รวมไพร่พลได้มากขึ้นแล้ว จึงเข้ามาที่อาณาจักรมคธ ด้วยวิธีล้อมเข้ามาจากรอบนอกตามลำดับ ในที่สุด พระเจ้าจันทรคุปต์ก็รบชนะแคว้นมคธ แล้วก็เข้าครอบครองแผ่นดินมคธ ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ คือราชวงศ์โมริยะ ในภาษาบาลี ส่วนในภาษาสันสกฤตเรียก เมารยะ และครองเมืองปาตลีบุตรนี้สืบมา

โอรสของพระเจ้าจันทรคุปต์นั้นมีพระนามว่าพินทุสาร โอรสของพระเจ้าพินทุสารมีนามว่าอโศก ก็คือพระเจ้าอโศกมหาราชนี่แหละ พระเจ้าอโศกมหาราช แต่แรกก็เป็นกษัตริย์ที่ดุร้ายมาก คือตอนเป็นเจ้าชาย ได้ไปเป็นอุปราชที่เมืองอุชเชนีที่บอกชื่อเมื่อกี้ ครั้นพระราชบิดา คือพระเจ้าพินทุสารสวรรคต เจ้าชายอโศกก็ได้ฆ่าพี่น้องหมดประมาณ ๑๐๐ องค์ เหลือไว้เฉพาะพระอนุชาร่วมมารดาองค์เดียว ด้วยความกระหายอำนาจ ก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ยิ่งใหญ่ผู้เดียว พอขึ้นเป็นกษัตริย์ของแคว้นมคธได้แล้วไม่พอ ไม่หยุดอยู่แค่นั้น ก็แสวงอำนาจต่อไป เมื่อพร้อมแล้วก็ยกทัพไปรุกรานที่ประเทศอื่น โดยหวังจะเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อไปในประวัติศาสตร์ หรือผู้เดียวในชมพูทวีป พระเจ้าอโศกได้ยกทัพตีลงไปจนกระทั่งถึงแคว้นกลิงคะ ซึ่งเป็นแคว้นที่ได้ชื่อว่ามีนักรบที่เก่งกาจ มีกองทัพที่เข้มแข็ง มีความสามารถอย่างยิ่ง ได้รบกันอยู่เป็นเวลานาน เกิดความเสียหายมากมายด้วยกันทั้งสองฝ่าย ในที่สุดพระเจ้าอโศกก็ชนะ แคว้นกลิงคะก็แตกไป แต่การรบครั้งนี้เป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงมาก คนตายกันเป็นแสน สูญหายเป็นแสน ถูกจับเป็นเชลยก็เป็นแสน ถึงตอนนี้นี่แหละที่พระเจ้าอโศกทรงสลดพระทัย แล้วหันมานับถือพระพุทธศาสนา นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญมาก ถึงขั้นเปลี่ยนประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

แผ่นจารึกธรรมและรัฐบัญญัติสมัยพระเจ้าอโศกที่เธาลีคีรี เมืองภุพเนศวร รัฐโอริสสา

เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาแล้วก็ได้เปลี่ยนนโยบายใหม่ จากการเอาชนะด้วยสงคราม มาสู่ธรรมวิชัยแปลว่าเอาชนะด้วยธรรม คือเอาชนะใจกันด้วยความดี ก็ได้สร้างสมความดีเป็นการใหญ่ มีการทํางานเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชนเป็นอันมาก

ถ้าไม่ประมาท ก็ไม่เสื่อม

ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงเตือนให้ไม่ประมาทอยู่เสมอ การที่ทรงแสดงอปริหานิยธรรม ก็เป็นการเตือนชาววัชชีว่า เธอทั้งหลาย จะต้องประพฤติปฏิบัติมั่นในธรรมเหล่านี้ ๗ ข้อ ซึ่งญาติโยมอาจรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง อาตมาขอพูดไว้เป็นตัวอย่าง อปริหานิยธรรม แปลว่า ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เช่นหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกัน ประชุมเมื่อเลิกประชุมก็พร้อมใจกันเลิก เมื่อมีกิจใดที่เป็นของส่วนรวมเกิดขึ้นก็ต้องลุกขึ้นมาช่วยกันจัดช่วยกันทำ ตลอดจนให้มีความเคารพนับถือสักการะอนุสาวรีย์ปูชนียสถาน ซึ่งเป็นหลักใจของบ้านเมือง หรือของสังคม พระพุทธเจ้าตรัสแสดงหลักการเหล่านี้ไว้ และทรงสรุปว่า “ถ้า ชาววัชชี คือกษัตริย์ลิจฉวีและประชาชนยึดมั่นในหลักธรรมเหล่านี้ไว้ ก็จะ ไม่มีความเสื่อม จะมีแต่ความเจริญอย่างเดียว” (ที.ม.๑๐/๖๘) นี่คือการที่พระองค์ตรัสเตือนอยู่เสมอว่า ให้พยายามตั้งตนอยู่ในธรรมเหล่านี้ แต่ในที่สุดความเสื่อมก็เข้ามา เพราะกษัตริย์ลิจฉวีไม่ได้ปฏิบัติตาม นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ตรัสในโอกาสอื่นอีก ให้เห็นว่า เท่าที่เป็นมา กษัตริย์ลิจฉวีนั้นเป็นผู้ที่แข็งแกร่ง มีความหมั่นขยันในการฝึกฝนตนเอง เป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่เห็นแก่ความสุขสำราญ จะนอนหมอนไม้และหมั่นฝึกการรบตลอดเวลา แต่พวกกษัตริย์ลิจฉวีเหล่านั้น เมื่ออาณาจักรของตนมั่นคงเข้มแข็งรุ่งเรืองขึ้น ก็จะเพลิดเพลินหลงมัวเมาในความสุขต่างๆ หาความสุขจากการเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือยหรูหรา ความเสื่อมก็ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาจนพ่ายแพ้แก่มคธถึงความพินาศในที่สุด

ในพระสูตรนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องนี้ไว้ เพื่อเป็นพระดำรัสเตือนพระภิกษุทั้งหลายให้ไม่ประมาท ครั้งนั้น พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นวัชชี พระองค์ได้ตรัสไว้ดังนี้ “ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้ กษัตริย์ลิจฉวทั้งหลาย ยังนอนหนุนหมอนไม้ ไม่ประมาท มีความเพียรในการฝึกซ้อม ศิลปะ พระเจ้าอชาตศัตรูเวเทหิบุตรราชาแห่งมคธ ย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้โอกาส แต่ในกาลข้างหน้า พวกกษัตริย์ลิจฉวี จะกลายเป็นผู้สำรวย อ่อนแอ เมือเท้าอ่อนนุ่ม นอนบนเตียงฟูกฟู หนุนหมอนใหญ่หนาอ่อนนุ่ม จนตะวันขึ้นแล้วพระเจ้าอชาตศัตรูเวเทหิบุตรราชาแห่งมคธ ก็จะได้ช่อง ได้โอกาส"

“ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้ เหล่าภิกษุยังนอนหนุนหมอนไม้ไม่ประมาท มีความขะมักเขม้นในการบำเพ็ญเพียร มาร ร้ายย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้โอกาส แต่ในกาลนานไกลข้างหน้า เหล่าภิกษุจะเป็นผู้สำรวย อ่อนแอ มีมือเท้าอ่อนนุ่ม นอนบนเตียงฟูกฟู หนุน หมอนใหญ่หนาอ่อนนุ่ม จนตะวันขึ้น มารร้ายก็จะได้ช่อง ได้โอกาส" “เพราะเหตุดังนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้หนุนหมอนไม้ ไม่ประมาท มีความขะมักเขม้นใน การบำเพ็ญเพียร ภิกษุทั้งหลาย เธอจึงศึกษาอย่างนี้" (สํ.นิ. ๑๖/๖๗๔-๖)

นี้คือเรื่องราวต่างๆ ที่น่าศึกษา ให้เข้าใจถึงความเสื่อมและความ เจริญของบ้านเมือง ตลอดจนสังคมต่างๆ เป็นคติสอนใจพุทธศาสนิกชน จากเรื่องราวที่เป็นมาในประวัติศาสตร์ คิดว่าจะไม่พูดยาว แต่ที่พูดมาก็มากแล้ว ทั้งนี้ต้องการจะให้เห็น ภาพกว้างๆ เกี่ยวกับความเป็นมาของอดีตว่า ดินแดนนี้มีความสำคัญอย่างไร เป็นอันว่า ปาตริคาม ที่พระเจ้าอชาตศัตรูได้เริ่มให้มหาอำมาตย์มาสร้างขึ้นในตอนท้ายพุทธกาลนั้น ได้เป็นเมืองหน้าด่าน และมีชื่อว่า เมืองปาตลีบุตร ต่อมาหลังพุทธกาล เมื่อสิ้นวงศ์ของพระเจ้าอชาตศัตรูแล้ว ก็มี การย้ายเมืองหลวงจากราชคฤห์ มาอยู่ที่ปาตลีบุตร ซึ่งตอนนั้นเป็นเวลาที่แคว้นวัชชีได้สิ้นอำนาจไปแล้ว แคว้นมคธก็เจริญสืบมาจนกระทั่งปาตลีบุตรได้มาเป็นเมืองหลวงของพระเจ้าอโศก


วัชซีสูญอำนาจ - มคธขึ้นเป็นศูนย์อำนาจ

เท่าที่พูดมานี้เป็นการเล่าอย่างคร่าวๆ แต่อาตมาอยากจะให้ข้อสังเกตอีกนิดหน่อย คือเรื่องความเจริญของแคว้นมคธที่เกี่ยวข้องกับแคว้นวัชชี เพราะมีความสัมพันธ์กับเรื่องของเมืองที่เราเดินทางมาถึงขณะนี้ คือเมือง ปัตนะ

เมืองปัตนะ นี้ ชื่อเดิมคือ เมืองปาตลีบุตร ซึ่งได้มาเป็นเมืองหลวงของพระเจ้าอโศกมหาราช และเป็นที่ตั้งของวัดอโศการามที่เรานั่งอยู่ ซึ่งเป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ดังได้กล่าวแล้ว เมือง ปาตลีบุตร (บางทีเขียน ปาฏลีบุตร) มีเรื่องที่น่าสนใจเชื่อมโยงกับพุทธกาลนิดหน่อย คือในสมัยพุทธกาลนั้น เมืองปาตลีบุตรเพิ่งจะ
เริ่มก่อสร้างในตอนที่พระพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพาน อาณาจักรมคธในสมัยพุทธกาลมีเมืองหลวงชื่อว่า เมืองราชคฤห์ซึ่งเราจะไปในวันสองวันนี้ ราชคฤห์เป็นเมืองหลวงเดิมของแคว้นมคธในสมัยที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ และพระพุทธเจ้าก็ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่เมืองราชคฤห์นั้น เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เมืองราชคฤห์ก็ได้เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนา เพราะเป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๑

สังคายนาครั้งที่ ๑ ทำที่ราชคฤห์ เมืองหลวงเก่า ต่อมาสังคายนาครั้งที่ ๓ ทำที่เมืองปาตลีบุตร เมืองหลวงใหม่แห่งนี้ จึงขอให้ลองเชื่อมโยงเรื่องราวดู เมืองราชคฤห์เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธในสมัยพุทธกาล ซึ่งเริ่มในสมัยของพระเจ้าพิมพิสาร ต่อมาพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร คือพระเจ้าอชาตศัตรู ได้ปลงพระชนม์พระราชบิดา แล้วขึ้นครองราชย์ที่เมืองราชคฤห์นั่นแหละ จนถึงปลายพุทธกาลจึงมีเรื่องราวของเมืองปาตลีบุตรนี้เกิดขึ้น ดังที่ท่านเล่าไว้ในมหาปรินิพพานสูตร

ตอนนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จพุทธดำเนินในหนทางที่จะไปสู่เมืองที่จะปรินิพพาน คือเมืองกุสินารา และตอนที่เสด็จผ่านมาที่นี่ เมืองปาตลีบุตรมีชื่อว่า ปาตลิคาม คือยังเป็นหมู่บ้านปาตลี ยังไม่ได้เป็นเมือง เวลานั้น พระเจ้าอชาตศัตรูกำลังต้องการจะรุกรานแคว้นวัชชีเนื่องจากพระองค์มีปัญหากับแคว้นวัชชี ก็ต้องสร้างความเข้มแข็งในชายแดน พระเจ้าอชาตศัตรูจึงได้ทรงดำเนินการสร้างปาตลีคาม คือหมู่บ้านแห่งนี้ขึ้น ให้เป็นเมืองป้อม หรือเมืองหน้าด่าน เพื่อจะสู้รบกับแคว้นวัชชี นี่คือกำเนิดของเมืองปาตลีบุตร

พระเจ้าอชาตศัตรูได้มอบหมายให้มหาอำมาตย์ ๒ ท่าน ชื่อ สุนธะ กับ วัสสการะ มาดำเนินการสร้างเมืองนี้ในช่วงระยะที่กำลังสร้างเมืองนี้อยู่ พระองค์ได้เสด็จผ่านไปในสถานที่ต่างๆ พระพุทธเจ้าก็เสด็จมา และเมื่อพระองค์เสด็จผ่านประตูเมือง เขาก็เรียกประตูเมืองนั้นว่า โคตมทวาร พระองค์เสด็จลงแม่น้ำที่ท่าใด เขาก็เรียกท่านั้นว่า โคตมติตถะ พระพุทธเจ้าได้ทรงทำนายไว้ว่า ปาตลีบุตรที่สร้างขึ้นใหม่เป็นเมืองหน้าด่านนี้ ต่อไปจะเจริญรุ่งเรือง แต่ก็จะมีความพินาศด้วยภัย ๓ ประการ คือ ภัยจากไฟ จากน้ำ และจากความแตกสามัคคี นี้เป็นเหตุการณ์ในพุทธกาลที่ต่อเนื่องมา ซึ่งทำให้เราได้เห็นกำเนิดของเมืองปาตลีบุตร

การที่พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธ มาสร้างเมืองหน้าด่านนี้ขึ้นเพื่อสู้กับวัชชี ก็เพราะถิ่นนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ และพวกวัชชีหรือ กษัตริย์ลิจฉวีก็มีปัญหากับแคว้นมคธ โดยเฉพาะพระเจ้าอชาตศัตรูมาตลอด มีเรื่องเล่ามาว่า บนฝั่งแม่น้ำคงคาซึ่งยาวออกไปไกล มีดินแดนอยู่ส่วนหนึ่งที่เคยเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างฝ่ายมคธกับฝ่ายวัชชี ที่ภูเขาหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำนี้ มีพืชอะไรชนิดหนึ่ง กล่าวกันว่า มีกลิ่นหอมมาก และเมื่อถึงวาระที่น้ำฝนชะลงมา ก็พาเอากลิ่นหอมนี้ลงมาในแม่น้ำ จึงเป็นที่ๆ มีชื่อเสียงอย่างมาก

ครั้งหนึ่ง พระเจ้าอชาตศัตรูเตรียมยกพลมา เพื่อจะเอาพืชที่มีกลิ่นหอมนี้ แต่พวกวัชชีก็มาชิงตัดหน้าเอาไปก่อน พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จมาอีกทีไร พวกวัชชีก็มาตัดหน้าเอาไปทุกที จึงเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูพิโรธโกรธแค้นมาก ความคิดที่อยากจะห้ำหั่นพวกวัชชีนั้นมีอยู่เรื่อยมา เป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจ และความหวาดกลัว เพราะพวกวัชชีนั้นเป็นระบบอำนาจแบบเก่า มีการปกครองแบบเดิม เมื่อมีความเข้มแข็ง ก็จะเป็นภัยคุกคามต่อมคธ เป็นธรรมดาที่ว่าคนที่หวังอำนาจก็จะต้องพยายามรุกรานหรือปราบปรามอีกฝ่ายหนึ่งลงไปให้ได้ เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของตน และบั่นทอนกำลังของฝ่ายตรงข้าม จึงเกิดเป็นสภาพเหตุการณ์ในสมัยก่อนจะสิ้นพุทธกาลและต่อจากสิ้นพุทธกาลใหม่ๆ

เรื่องการพิพาทกันระหว่างแคว้นวัชชีกับมคธปรากฏอยู่ในพุทธประวัติ ดังจะเห็นได้จากเรื่อง อปริหานิยธรรมพระเจ้าอชาตศัตรูเคยส่งวัสสการพราหมณ์ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าให้ลองไปหยั่งดูว่า ถ้าพระองค์จะยกทัพไปปราบวัชชี พระพุทธเจ้าจะตรัสว่าอย่างไร วัสสการพราหมณ์ได้เข้าไปทูลทำนองว่า พระเจ้าอชาตศัตรูทรงพระดำริจะยกทัพไปปราบแคว้นวัชชี พระพุทธเจ้าก็ไม่ตรัสอะไรโดยตรงแต่ตรัสให้รู้เป็นนัย โดยทรงหันไปถามพระอานนท์ว่า “อานนท์ สมัยหนึ่งเราได้แสดงหลักอปริหานิยธรรม ๗ ประการ ได้แก่เจ้าลิจฉวทั้งหลาย เวลานี้ พวกกษัตริย์ลิจฉวียังรักษาอุปริหานิยธรรมกันดีอยู่หรือ" พระอานนท์ทูลรับ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า "ตราบใดที่กษัตริย์ลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชียังประพฤติปฏิบัติมั่นอยู่ในอปริหานิยธรรม ๗ ประการ จะไม่มีใครเอาชนะได้" คล้ายกับจะทรงห้ามทัพไว้ก่อน เพราะถ้าขึ้นรบก็จะสูญเสียมากมายด้วยกันทั้งสองฝ่าย จึงทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูไม่กล้ายกทัพไป ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงพระดำริอีก ว่าทำอย่างไรจะเอาชนะวัชชีได้ แล้วก็ปรากฏว่า วัสสการพราหมณ์ได้ถวายแผนการจะไปทำลายความสามัคคีของแคว้นวัชชีเสีย และอาสาดำเนินการนี้ โดยทำอุบายเป็นว่าถูกลงโทษ และถูกขับถูกเนรเทศออกจากแคว้นมคธไป วัสสการพราหมณ์ทำเป็นว่าหนีภัยหนีอันตรายไป และด้วยความโกรธแค้นต่อกษัตริย์อชาตศัตรู ก็เลยไปอาสารับราชการแผ่นดินในวัชชี กษัตริย์วัชชีหลงกลก็วางใจ ต่อมา วัสสการพราหมณ์ก็ใช้กลอุบายเกลี้ยกล่อมยุแหย่ จนกระทั่งกษัตริย์ลิจฉวีแตกแยกกันหมด นำมาซึ่งความอ่อนแอของวัชชี แล้วในที่สุด พระเจ้าอชาตศัตรูก็ยกทัพมาตี ทำให้วัชชีแตกพินาศไป มคธก็หมดคู่แข่ง

มองผ่านๆ ข้ามพุทธกาล สู่ยุคอโศก

ย้อนทางเข้าสู่แดนพุทธภูมิ ณ อโศการาม เมืองปัตนะ อาทิตย์ที่ ๑๒ ก.พ. ๒๕๓๘ - ๑๑.๔๐ น.

ขอเจริญพรญาติโยมผู้มีศรัทธาทุกท่าน บัดนี้โยมก็ได้เดินทางเข้าสู่ประเทศอินเดียแล้ว เราได้เดินทางกัน มาเป็นระยะทางพอสมควร จนมาถึงถิ่นที่เรียกว่า เป็นดินแดนพระพุทธศาสนา สถานที่ซึ่งเรามาแวะชมอยู่นี้ เป็นที่สำคัญจุดหนึ่ง คือ เป็นที่ตั้ง ของวัดอโศการาม ซึ่งเป็นวัดที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงสร้างขึ้น วัดอโศการามนั้นมีความสำคัญ คือ เป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ที่พระ เถระ ๑,๐๐๐ รูป ประชุมกันทบทวนร้อยกรองพระธรรมวินัย โดยมีพระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภก เมื่อพุทธศักราชประมาณ ๒๓๔ หรือ ๒๓๕ ปี ตัวเลขอาจมีผู้ถกเถียงกันอยู่บ้าง แต่โดยทั่วไปก็ถือยุติประมาณนี้

วันนี้เรามาถึงเมืองปัตนะ และแวะนมัสการที่อโศการามนี้เป็นจุดแรก เมื่อมาถึงที่นี้แล้ว ก็ขอถือโอกาสพูดถึงเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับดินแดนพุทธศาสนาให้ได้ภาพรวมกว้างๆ ก่อน ขอให้โยมกำหนดไว้ในใจก่อนว่า ตอนนี้เรากำลังพูดกันถึงเรื่องราวหลังพุทธกาลในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งครองราชย์เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๑๘-๒๖๐ วัดอโศการาม คือที่ตรงนี้ มีความสำคัญมากต่อพระพุทธศาสนา คือ เมื่อเป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๓ มีการร้อยกรองพระธรรมวินัยเรียบร้อยแล้วก็ถือว่าพระพุทธศาสนามีความมั่นคง ครั้งนั้นพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงดำเนินงานก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง คือทรงอุปถัมภ์การส่งพระศาสนทูตไปประกาศพระศาสนาในดินแดนต่างๆ ซึ่งเราได้รับทราบมาตามตำนานว่า มี ๙ สายด้วยกัน

ในบรรดา ๙ สายนั้น สายหนึ่งได้เดินทางไปยังสุวรรณภูมิ ซึ่งเราเรียนกันมาว่าเป็นดินแดนแถบประเทศไทย คนไทยเราเชื่อกันว่า พระโสณะและพระอุตตระ ได้ไปขึ้นที่เมืองนครปฐมในสมัยที่ยังเป็นอาณาจักรทวาราวดี ส่วนพม่าก็อ้างว่าท่านไปขึ้นที่เมืองสะเทิมในดินแดนของพม่า เรื่องอย่างนี้หาหลักฐานมาพิสูจน์กันยาก พูดกว้างๆ ว่าเป็นดินแดนในย่านอาเซียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ข้อสำคัญก็คือว่า พระพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่ประเทศของเรา โดยเริ่มต้นจากจุดนี้นี่เอง สรุปว่า อโศการาม เป็นที่ทำสังคายนา และเป็นศูนย์กลางที่ได้ส่งพระศาสนทูตไปประกาศพระศาสนา ฉะนั้น จึงถือว่าประเทศไทยของ เรา ได้รับพระพุทธศาสนาไปจากที่นี้ สถานที่นี้จึงเป็นจุดสำคัญ เป็นที่เชื่อมต่อระหว่างพระพุทธ ศาสนาในอินเดีย กับพระพุทธศาสนาในประเทศไทย นับว่ามีความสำคัญมากทีเดียว ฉะนั้นการที่เรามาเริ่มต้นที่นี่ มองในแง่หนึ่งก็เป็นการดี เพราะเป็นจุดที่พระพุทธศาสนาจะเผยแพร่เข้าสู่ประเทศไทย เรามาจากประเทศไทยถึงจุดตั้งต้นแล้ว จากจุดนี้เราก็โยงเข้าสู่ประเทศอินเดีย เมื่อโยมมีความเข้าใจอย่างนี้แล้วก็มามองดูภาพรวมของประเทศอินเดีย หรือดินแดนชมพูทวีปกันอีกครั้งหนึ่ง มองผ่าน ๆ ข้ามพุทธกาลสู่ยุคอโศก ประเทศอินเดียหรือชมพูทวีปนี้ เราเรียนรู้ความเป็นมาโดยสัมพันธ์กับพุทธประวัติ คือประวัติของพระพุทธเจ้าโดยค่อยๆ ดำเนินตามเหตุการณ์เริ่มจากพุทธกาลเรื่อยมา แต่ที่เราพูดถึงพระเจ้าอโศกนี้ ก็ยังย้อนไปไม่ถึงพุทธกาล พระเจ้าอโศกมหาราช ประสูติหลังพุทธกาลตั้งเกือบ ๒๐๐ ปี เริ่มครอง ราชย์ประมาณ ๒๑๘ ปี หลังพุทธกาล ถ้าเราจะถึงยุคสมัยของพระพุทธเจ้าจริง ก็ต้องย้อนถอยหลังไปอีก

🔅ชมพูทวีปในพุทธกาล
เราย้อนกลับไปสมัยพุทธกาล เมื่อก่อนพุทธศักราช คือเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ตอนนั้นประเทศอินเดียเรียกว่า ชมพูทวีป ชมพูทวีปเป็นดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาล ในสมัยก่อนพุทธกาลและถึงพุทธกาลนั้น มีอาณาจักรหรือแว่นแคว้นมากมาย ท่านนับไว้ ๑๖ ประเทศ หรือ ๑๖ แว่นแคว้น ใช้คำในภาษาบาลีว่า มหาชนบท คือมีมหาชนบททั้งหมด ๑๖ ด้วยกัน คำว่า “ชนบท” นั้น ในภาษาบาลี ไม่ได้หมายความแค่ว่าบ้านนอก แต่คล้ายๆ กับคำว่า “country” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งใช้ได้ ๒ ความหมาย ในความหมายทั่วไป Country ก็คือประเทศ แต่ถ้าพูดว่า the country ก็หมายถึงบ้านนอก “ชนบท” ในภาษาบาลีก็คล้ายกัน โดยทั่วไปแปลว่าถิ่นที่อยู่ของ มนุษย์ คือ แว่นแคว้น หรือประเทศ แต่เมื่อใช้ในความแวดล้อมบางอย่าง ก็เป็นชนบทในความหมายแบบไทย คือ บ้านนอก ในสมัยพุทธกาลและก่อนนั้น ถือว่าอินเดียหรือชมพูทวีปนี้ มี แว่นแคว้นใหญ่อยู่ ๑๖ มหาชนบทด้วยกัน ตามหลักฐานในพระไตรปิฎกว่ามี อังคะ มคธ กาสี โกศล วัชชี มัลละ เจดี วังสะ กรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ และกัมโพชะ (เช่น องุติก,๒๐/๕๑๐) นี่คือชื่อดินแดนในชมพูทวีปทั้งหมด ๑๖ ประเทศด้วยกัน แว่นแคว้นดินแดนเหล่านี้ กล่าวได้ว่าเรียงจากตะวันออกไปตะวันตก



เริ่มด้วย อังคะ ซึ่งตั้งอยู่ในดินแดนที่ปัจจุบันนี้เป็นบังคลาเทศ หรือ ต่อจากบังคลาเทศ เทียบง่ายๆ ก็ไล่มาตั้งแต่ตะวันออกของเมืองกัลกัตตา ที่เครื่องบินเรามาลง นี่คือแคว้นที่ ๑ ต่อจากนั้นก็ถึงแคว้นมคธ คือที่เรามายืนอยู่ขณะนี้ แล้วก็ไปกาสี ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อพาราณสี เลยไปอีกก็ถึงเมืองสาวัตถีในแคว้นโกศล ส่วนวัชชี เราจะไม่ได้แวะเข้าไป นอกจากนั้น มัลละ เจตี เป็นต้น ก็ว่าเรื่อยไป จนถึงกุรุ ซึ่งอยู่แถวเมืองเดลี ต่อจากนั้น ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี ก็เอาเดลีเป็นจุดกําหนด ออกไปทางเหนือ ทางใต้ และข้างๆ ส่วนคันธาระ กัมโพชะ ก็โน่น แถวปากีสถาน จนถึงอาฟกานิสถาน เป็นอันว่าไล่คร่าวๆ ไปตั้งแต่ตะวันออกจนถึงตะวันตก นี้คือ อินเดียในสมัยโบราณ

เป็นธรรมดาเรื่องของการเมืองย่อมมีการแข่งขันแย่งชิงอำนาจซึ่งกันและกัน ประเทศที่มีอำนาจมากกว่าก็บุกรุกทำสงครามขยายดินแดนจนกระทั่งกว่าจะมาถึงยุคพุทธกาล ใน ๑๖ แว่นแคว้นนั้น บางประเทศก็หมดอำนาจไป หรือถูกยุบรวมเข้ากับแคว้นอื่น จึงปรากฏว่าในสมัยพุทธกาล ๑๖ แว่นแคว้นนั้นเหลือประเทศที่ ใหญ่โตอยู่จริงๆ ๔-๕ ประเทศเท่านั้น อย่างอังคะแถวบังคลาเทศก็เข้าไปอยู่ใต้อำนาจของมคธแล้ว มคธนี้กลายเป็นแคว้นที่ยิ่งใหญ่ ส่วนกาสีที่มีเมืองหลวงคือเมืองพาราณสีที่เรากำลังจะไป ก็ขึ้นอยู่ใต้อำนาจของแคว้นโกศลไปแล้ว กาสีนี้มีเรื่องมาในชาดกมากเหลือเกิน พอเริ่มเรื่องก็ว่า อตีเต พาราณสิยํ พฺรหฺมทตฺเต ครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติใน เมืองพาราณสี (ในแคว้นกาสี) แต่พอถึงสมัยพุทธกาล กาสีก็ได้ตกไปอยู่ใต้อำนาจของแคว้นโกศล แคว้นโกศลและวัชชี ก็เป็นแคว้นที่ใหญ่มาก และมีอำนาจมาก ในสมัยพุทธกาล

ต่อไปก็แคว้นวังสะ ซึ่งจะได้ยินชื่อมากในเรื่องวาสิฏฐี หรือกามนิต วังสะมีเมืองหลวงชื่อว่าโกสัมพี พอออกชื่อโกสัมพี โยมที่เรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษาสมัยก่อนก็นึกออก และอีกแคว้นหนึ่งคือ อวันตี ซึ่งมีเมือง อุชเชนีเป็นเมืองหลวง ก็คือถิ่นของกามนิต-วาสิฏฐีนี่แหละ แคว้นมหาอำนาจในตอนนั้นกล่าวได้ว่า ก็คือ มคธ วัชชี โกศล วังสะ และอวันตี อย่างไรก็ตาม แคว้นที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในยุค พุทธกาลจะอยู่ด้านนี้มาก ซึ่งเป็นด้านที่เรามาถึงก่อน คือด้านตะวันออก เฉียงเหนือของอินเดีย ได้แก่แคว้นมคธ แคว้นวัชชี และแคว้นโกศล ซึ่ง มีเสียงกล่าวถึงบ่อยที่สุด ส่วนแคว้นอื่นๆ ที่ว่าใหญ่ โดยเฉพาะแคว้นมคธมีชื่ออยู่ยั่งยืนที่สุด อยู่ในสมัยพุทธกาล พอถึงยุคหลังพุทธกาลก็ค่อยๆ หมดไป ในสมัยพุทธกาลนั้น จะเห็นว่าแคว้นมคธกับแคว้นวัชชีแข่งอำนาจกันมาก แคว้นโกศลก็รบกับแคว้นมคธนิดหน่อย แต่ต่อมาโกศลหายไป วัชชีก็หายไป โดยเฉพาะที่น่าสังเกตก็คือ แคว้นที่มีการปกครองต่างแบบกัน คือ แคว้นมคธกับแคว้นวัชชี เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แคว้นมคธเป็นแคว้นที่ปกครองแบบราชาธิปไตย อยู่ติดกันกับแคว้นวัชชี ซึ่งปกครองแบบสามัคคีธรรม ฝรั่งเรียกว่า ปกครองแบบ republic หรือ สาธารณรัฐ ในการปกครองแบบสามัคคีธรรมนั้น ไม่ใช่มีผู้ปกครองเด็ดขาดเพียงผู้เดียว แต่ใช้วิธีที่ว่ามีชนชั้นปกครองจำนวนหนึ่ง ซึ่งมากทีเดียว อาจถึง ๗,๗๐๗ องค์ หมุนเวียนกันขึ้นมาปกครอง เวลาจะบริหารราชการแผ่นดินก็ต้องมีการประชุมในสภา ซึ่งมีหอประชุมที่เขาเรียกว่า สัณฐาคาร (บางทีเขียน สันถาคาร) เมื่อมีเรื่องราวที่จะต้องตัดสินใจหรือวินิจฉัยกัน เช่นจะรบหรือไม่รบกับต่างประเทศ หรือเกิดเรื่องเกิดราวสำคัญขึ้น หรือมีราชการ อะไรที่สำคัญจะต้องตัดสินวินิจฉัย อย่างเช่น เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับ ชขันธปรินิพพาน กษัตริย์มัลละซึ่งปกครองแบบนี้ ก็ต้องมาประชุมกันในสัณฐาคารเพื่อพิจารณาว่าจะปฏิบัติอย่างไรในการปลงพระสรีระของพระพุทธเจ้า อย่างนี้เป็นต้น



แคว้นวัชชีนี้ก็ปกครองแบบสามัคคีธรรม ซึ่งต้องประชุมกันในสัณฐาคาร พวกกษัตริย์วัชชีมีชื่อเรียกกันว่า ลิจฉวี ถ้าใครเป็นนักเรียนสมัยก่อนก็จะได้ยินชื่อลิจฉวีในเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ กษัตริย์ลิจฉวี ก็อยู่ในแคว้นวัชชี ที่จริงในวัชชียังมีกษัตริย์พวกอื่นๆ อีก เช่น วิเทหา เป็นต้น แต่ที่มีชื่อมากปลายพุทธกาลก็มีลิจฉวีนี่แหละที่สําคัญ เป็นพวกที่เข้มแข็งมาก มีการปกครองอย่างเก่าแบบสามัคคีธรรม คือร่วมกันปกครอง อย่างไรก็ตาม คำว่า “การปกครองแบบสามัคคีธรรม” นี้ เป็น การจับเอาสาระมาเรียกกันภายหลัง แต่ในคัมภีร์ ท่านเรียกราชาที่ร่วมกันปกครองแบบนี้ว่า “คุณราช” (เช่น วินย.อ.๑/๒๔๗, ม.อ.๓/๑๓. ส.อ.๓/๑๐๒) แคว้นวัชชีนี้แข่งอำนาจกันกับแคว้นมคธอย่างยิ่งทีเดียว แต่ หลังพุทธกาลไม่นานก็ปรากฏว่าวัชชีได้สูญเสียอำนาจแก่แคว้นมคธ

ตอนต้นพุทธกาล มคธมีพระเจ้าแผ่นดินพระนามว่าพิมพิสาร ครั้นถึงปลายพุทธกาล พระเจ้าอชาตศัตรู ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร ได้ส่งอำมาตย์ชื่อวัสสการพราหมณ์เข้าไปยุแหย่ ทำให้กษัตริย์ลิจฉวีที่ปกครองแคว้นวัชชีนั้นแตกความสามัคคีกันหมด เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพไป พวกกษัตริย์วัชชี คือเจ้าลิจฉวี ทั้งหลายมีความอ่อนแอ ไม่พร้อมใจกัน ไม่พร้อมที่จะรบ ก็เลยพ่ายแพ้ อาณาจักรวัชชีก็เลยพินาศ สูญสิ้นอำนาจ และตกเป็นเมืองขึ้นของแคว้นมคธ นี้เป็นเหตุการณ์หลังพุทธกาลไม่นาน มคธจึงกลายเป็นแคว้นที่ยิ่งใหญ่ แม้แต่แคว้นโกศลก็ได้สูญเสียอำนาจไป จนในที่สุดเหลือมคธอยู่แคว้นเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อมาถึงยุคพระเจ้าอโศก ซึ่งเป็นเวลาหลังพุทธกาลนานตั้ง ๒๐๐ กว่าปี มคธก็ได้กลายเป็นแคว้นเดียวที่ใหญ่ที่สุดในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช อาณาจักรมคธของพระเจ้าอโศก ใหญ่กว้างยิ่งกว่าประเทศอินเดียในปัจจุบัน เป็นอินเดียยุคที่มีดินแดนกว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ แต่ก็ใหญ่ออกไปทางสอง ปีก คือทางทิศตะวันออก และทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ออกไปทาง ปากีสถาน และอาฟกานิสถาน ส่วนทางใต้ครอบคลุมไปไม่หมด เพราะพระเจ้าอโศกทรงหยุด แผ่ขยายอาณาจักรหลังจากทําสงครามชนะแคว้นกลิงคะ (บางทีเขียน กาลิงคะ) คือถึงถิ่นที่ปัจจุบันเรียกว่าแคว้นโอริสสา (Orissa) แล้วก็หยุด อยู่แค่นั้น เพราะทรงหันมายึดหลักพระพุทธศาสนา และได้ทรงเปลี่ยน นโยบายใหม่ จากสังคามวิชัย คือเอาชนะด้วยสงคราม มาเป็นธรรมวิชัย คือเอาชนะด้วยธรรม

🔔
การเอาชนะด้วยสงครามนี้ ในจารึก (พบในจารึกศิลา ฉบับที่ ๑๓) เรียกว่า สายวิชัย หรือ สรุสกวิชัย คือเป็น violent conquest หรือ military conquest แต่ยังมีการถกเถียงกัน เนื่องจากบางท่านเห็นว่า ศัพท์นั้นอาจแปลอย่างอื่นได้

๓. อนัตตตา ( พุทธพจน์เกี่ยวกับอนัตตา หน้า ๒)

👉กลับไปหน้าแรก 


 พุทธพจน์เกี่ยวกับอนัตตา 
ข. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ (ด้านทำจิตเป็นอิสระ และด้านทำกิจโดยไม่ประมาท อนิจจตาแห่งชีวิต และการเห็นคุณค่าของกาลเวลา)

“ผลไม้สุกแล้ว ก็มีภัยอยู่ตลอดเวลาจากการที่จะต้องร่วงหล่นไป ฉันใด, สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว ก็มีภัยอยู่ตลอดเวลาจากการที่จะต้องตาย ฉันนั้น, ภาชนะดินที่ช่างหม้อทำแล้วทั้งหมด ล้วนมีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด, ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็มีความตายเป็นที่สุด ฉันนั้น"

“ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนเขลา ทั้งคนฉลาด ล้วนไปสู่อำนาจของมฤตยู มีมฤตยูเป็นที่ไปเบื้องหน้าด้วยกันทั้งหมด"

“เมื่อเขาเหล่านั้น ถูกมฤตยูครอบงำแล้ว ต้องไปปรโลก, บิดาจะป้องกันบุตรไว้ก็ไม่ได้ ญาติทั้งหลายจะป้องกันเหล่าญาติไว้ก็ไม่ได้ ดูเถิด ทั้งที่หมู่ญาติกำลังมองดูพรำพันอยู่ด้วยประการต่างๆ จะต้องตายก็ถูกพาไปแต่ลำพังคนเดียว เหมือนโคที่เขาเอาไปฆ่า โลกถูกความแก่และความตายบดขยี้อย่างนี้เอง, ปราชญ์ทั้งหลายรู้เท่าทันกระบวนความเป็นไปของโลกแล้ว จึงไม่เศร้าโศก"

“ท่านไม่รู้ทาง ไม่ว่าของผู้มาหรือของผู้ไป, เมื่อมองไม่เห็นปลายสุดทั้งสองด้านจะคร่ำครวญไปก็ไร้ประโยชน์ ถ้าคนหลงใหลคร่ำครวญเบียดเบียนตนเองแล้ว จะทำประโยชน์อะไรให้เกิดขึ้นมาได้บ้างแล้วไซร้ ท่านผู้มีวิจารณญาณก็คงทำอย่างนั้นบ้าง"

“การร้องไห้หรือโศกเศร้า จะช่วยให้จิตใจสงบสบาย ก็หาไม่ มีแต่จะเกิดทุกข์ทบทวี ทั้งร่างกายก็จะพลอยทรุดโทรม จะเบียดเบียนตัวของตัวเอง จนกลายเป็นคนซูบผอม หมดผิวพรรณ, ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะอาศัยการร้องไห้คร่ำครวญนั้นเป็นเครื่องช่วยตัวเขา ก็ไม่ได้, การคร่ำครวญให้จึงได้ประโยชน์ คนที่สลัดความเศร้าโศกไม่ได้ มัวทอดถอนใจถึงคนที่ตายไปแล้ว ตกอยู่ในอำนาจความโศกเศร้า ก็มีแต่จะทุกข์หนักยิ่งขึ้น"

“ดูสิ ถึงคนอื่นๆ ที่กำลังเตรียมตัวจะเดินทางกันไปตามกรรม, ที่นี่ ประดาสัตว์เผชิญกับอำนาจของพญามัจจุราชเข้าแล้ว ต่างก็กำลังดิ้นรนกันอยู่ทั้งนั้น"

“คนทั้งหลายคิดหมายไว้อย่างใด ต่อมาการณ์ก็กลับกลายไปเป็นอย่างอื่น ความพลัดพรากจากกันก็เป็นอย่างนี้แหละ ดูเถิด กระบวนความเป็นไปของโลก แม้จะมีคนอยู่ได้ถึงร้อยปี หรือเกินกว่านั้น เขาก็ต้องพลัดพรากจากหมู่ญาติ ต้องทิ้งชีวิตไว้ในโลกนี้อยู่ดี"

“เพราะฉะนั้น สาธุชน สดับคำสอนของท่านผู้ไกลกิเลสแล้ว พึงระงับความคร่ำครวญรำพันเสีย เห็นคนล่วงลับจากไป ก็ทำใจได้ว่า ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เราจะขอให้เป็นอยู่อีก ย่อมไม่ได้, ธีรชน คนฉลาด มีปัญญา เป็นบัณฑิต พึงระงับความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นแล้วได้โดยฉับพลัน เหมือนเอาน้ำดับไฟที่ลุกลาม และเหมือนลมพัดปุยนุ่น"

“ผู้ปรารถนาสุขแก่ตน พึงระงับความคร่ำครวญรำพัน ความโหยหา และโทมนัสเสีย, จึงถอนลูกศรที่เสียบตัวทิ้งไป ผู้ที่ถอนลูกศรได้แล้ว เป็นอิสระ ก็จะพบความสงบใจ จะผ่านพ้นความโศกเศร้าไปได้หมด กลายเป็นผู้ไร้โศก เย็นใจทางธรรม"

“มนุษย์นี้ ตั้งแต่เริ่มเกิดอยู่ในครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน เมื่อเริ่มชีวิตขึ้นมาแล้ว ก็มีแต่จะบ่ายหน้าไป ไม่หวนหลังกลับคืน, คนทั้งหลาย ถึงจะพรั่งพร้อมด้วยกำลังพล จะต่อสู้ให้ไม่แก่ไม่ตาย ก็ไม่ได้"

“ราชาผู้เป็นรัฏฐาธิบดี อาจเอาชนะกองทัพ ซึ่งมีพลทั้งสี่เหล่า (ช้าง ม้า รถ ราบ) ที่น่าสะพรึงกลัวได้ แต่ไม่สามารถเอาชนะพญามัจจุราช"

“ราชาบางพวก แวดล้อมด้วยพลช้าง พลม้า พลรถ และพลราบแล้ว หลุดพ้นเงื้อมมือข้าศึกไปได้ แต่ไม่อาจหักให้พ้นพญามัจจุราช...ราชาทั้งหลายผู้แกล้วกล้า สามารถหักค่าย ทำลายข้าศึกมากมายได้ ด้วยพลช้าง พลม้า พลรถ และพลราบ แต่ไม่อาจพ้นพญามัจจุราช"

“มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมบวงสรวง ทำให้ยักษ์ ปีศาจ หรือเปรตทั้งหลาย แม้ที่เกรี้ยวกราดแล้ว ยอมสงบพิโรธได้ แต่จะทำให้พญามัจจุราชยินยอมหาได้ไม่ ฯลฯ" 

"ผู้ต้องหาทำผิดฐานประทุษร้ายต่อองค์ราชา หรือต่อราชสมบัติ ก็ดี ผู้ร้ายที่เบียดเบียนประชาชนก็ดี ยังมีทางขอให้พระราชาทรงผ่อนปรนพระราชทานอภัยโทษได้ แต่จะทำให้พญามัจจุราชผ่อนผันยอมตามหาได้ไม่"

“จะเป็นกษัตริย์ ก็ตาม พราหมณ์ ก็ตาม จะร่ำรวย มีกำลังอิทธิพล หรือมีเดชศักดาแค่ไหน พญามัจจุราชก็ไม่เห็นแก่ใครเลย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงมีความคิดว่า จะบำเพ็ญธรรม ฯลฯ"

“ธรรมนั่นแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม, ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรม ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ"

"ธรรมกับอธรรม สองอย่างนี้ จะมีผลเสมอกันก็หาไม่ อธรรมย่อมนำไปสู่นรกธรรมย่อมให้ถึงสุคติ"

“เปรียบเหมือนว่า ภูเขาใหญ่ศิลาล้วน สูงจดท้องฟ้า กลิ้งเข้ามารอบด้าน ทุกทิศ บดขยี้สัตว์ทั้งหลายเสีย ฉันใด ความแก่และความตาย ก็ครอบงำสัตว์ทั้งหลาย ฉันนั้น ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร ตลอดจนจัณฑาลและคนเก็บกวาดขยะ ชราและมรณะย่อมมีทั้งหมด ไม่ละเว้นใครเลย ณ ที่นั้น ไม่มียุทธภูมิสำหรับพลช้าง สำหรับพลรถ หรือสำหรับพลราบ จะใช้เวทมนต์ต่อสู้หรือเอาทรัพย์สินจ้าง ก็ไม่อาจเอาชนะได้"

“เพราะฉะนั้น คนฉลาด (บัณฑิต) เมื่อมองเห็นประโยชน์ (ที่แท้) แก่ตนพึงปลูกฝังศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์, ผู้ใดประพฤติธรรมด้วยกาย วาจา ใจ ผู้นั้นย่อมเป็นที่สรรเสริญในโลกนี้จากไปแล้ว ก็บันเทิงในสวรรค"

“ชาวโลกถูกมัจจุราชคอยประหัตประหารที่มแทง พล่านไปด้วยความปรารถนาตลอดทุกเวลา ถูกชราปิดล้อมไว้ ถูกลูกศรแห่งตัณหา"

“ความตาย ความเจ็บไข้ และความแก่ เป็นเหมือนไฟ กำลังที่จะรับมือได้ก็ไม่มี แรงเร็วที่จะวิ่งหนีก็ไม่พอ เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า จะน้อยหรือมากก็ให้ได้"

"อะไรบ้าง เพราะวันคืนล่วงไป ชีวิตของคนก็พร่องลงไปจากประโยชน์ที่จะทำ จะเดินอยู่ก็ตาม ยืนอยู่ก็ตาม นั่งหรือนอนอยู่ก็ตาม วาระสุดท้ายก็ใกล้เข้ามาๆ, ท่านจึงไม่
ควรประมาทเวลา"

“ข้าพเจ้าเห็นลูกชายของท่านทั้งหลาย เรียกขานว่าแม่พ่อ เป็นบุตรรักที่ได้มาโดยยาก แต่อยู่มาได้ยังไม่ทันเข้าวัยชรา ก็ตายก่อนเสียแล้ว ข้าพเจ้าเห็นลูกหญิงของท่านทั้งหลาย เป็นรุ่นสาว สวยงามน่าชม แต่ก็มาสิ้นชีวิตไปเสีย เหมือนหน่อไม้ไผ่ที่ยังอ่อน ถูกเขาถอนเอาไป แท้จริง ชายหรือหญิงก็ตาม ถึงยังหนุ่มยังสาว ก็ตายได้, ใครเล่าจะพึงวางใจในชีวิตว่า เรายังหนุ่มยังสาวอยู่ วันคืนเคลื่อนคล้อย อายุน้อยเข้าทุกที เหมือนอายุของฝูงปลาในที่น้ำงวด, ความเป็นหนุ่มเป็นสาวจะเป็นหลักอะไรได้ ฯลฯ"

"ชาวโลกถูกมัจจุราชประหัตประหาร ถูกชราปิดล้อมไว้ คืนวันไม่ผ่านไปเปล่า เมื่อเขาเอาด้ายมาทอผ้า เขาทอไปได้เท่าใด ส่วนที่จะต้องทอต่อไป ก็เหลือน้อยเข้าเท่านั้น นี้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น แม่น้ำเต็มฝั่ง ไม่ไหลทวนพื้นที่สูง ฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ก็ไม่เวียนกลับมาสู่วัยเด็กอีก ฉันนั้น แม่น้ำที่เต็มฝั่ง พัดพาเอาต้นไม้ที่เกิดอยู่ริมฝั่งให้หักโค่นไป ฉันใด ความแก่และความตายก็พัดพาประดาสัตว์ไป ฉันนั้น ฯลฯ"

“ผลไม้ที่สุกแล้ว ย่อมมีภัยอยู่ตลอดเวลา จากการที่จะต้องร่วงหล่นไป ฉันใดสัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว ก็มีภัยอยู่ตลอดเวลาจากการที่จะต้องตาย ฉันนั้น"

“ตอนเช้า ยังเห็นกันอยู่มากคน พอตกเย็น บางคนก็ไม่เห็น เมื่อเย็น ยังเห็นกันอยู่มากคน ถึงรุ่งเช้า บางคนก็ไม่เห็น ควรรีบทำความเพียรเสียแต่วันนี้ ใครเล่ารู้ว่าจะตายในวันพรุ่ง เพราะความผิดเพี้ยนกับพญามัจจุราชเจ้าทัพใหญ่นั้น ไม่มีเลย"

“บุตรของข้าพเจ้าทิ้งร่างไป เหมือนงูลอกคราบเก่าทิ้งเสีย เมื่อร่างกายใช้สอยไม่ได้ เขาก็ตายจากไปแล้ว... เขามาจากปรโลก ข้าพเจ้าก็มิได้เชื้อเชิญ เขาไปจากโลกนี้ ข้าพเจ้าก็มิได้อนุญาต เขามาอย่างใด ก็ไปอย่างนั้น การคร่ำครวญรำพันในการจากไปของเขานั้น จะมีประโยชน์อะไร... ถ้าร้องไห้ไป ร่างกายข้าพเจ้าก็จะผ่ายผอม การร้องไห้ของข้าพเจ้าจะมีผลดีอะไร, ญาติมิตรสหายทั้งหลายของข้าพเจ้า ก็จะยิ่งมีแต่ความไม่สบายใจ...ผู้ที่เศร้าโศกถึงคนตาย ก็เหมือนเด็กที่ร้องไห้ขอพระจันทร์ ซึ่งโคจรไปในอากาศ, คนตายถูกเผาอยู่ ย่อมไม่รู้ว่าญาติคร่ำครวญถึง เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศก เขาไปแล้วตามวิถีทางของเขา"

“ถ้าจะเศร้าโศกถึงคนที่ไม่มีอยู่แก่ตน ตนเอง ซึ่งตกอยู่ในอำนาจของพญามัจจุราชตลอดเวลาคือคนที่ตายไปแล้ว ก็ควรจะเศร้าโศกถึง"

“อายุสังขารใช้จะประมาทไปตามสัตว์ ผู้ยืน นั่ง นอน หรือเดินอยู่ ก็หาไม่วัยย่อมเสื่อมลงเรื่อยไป ทุกหลับตา ทุกลืมตา เมื่อวัยเสื่อมสิ้นไปอย่างนี้ ความพลัดพรากจากกัน ก็ต้องมี โดยไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังเหลืออยู่ ควรเมตตาเอื้อเอ็นดูต่อกัน ไม่ควรจะมัวเศร้าโศกถึงผู้ที่ตายไปแล้ว"

“ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ ประการเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือใครๆ ก็ตามในโลก ไม่อาจจะได้ ๕ ประการอะไรบ้าง? ได้แก่ข้อว่า ขอสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา จงอย่าแก่ ขอสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จงอย่าเจ็บไข้ ขอสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา จงอย่าตาย, ขอสิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา จงอย่าสิ้นไป, ขอสิ่งที่มีความพินาศเป็นธรรมดา จงอย่าพินาศ"

“สำหรับปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา ก็ย่อมแก่, สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ก็ย่อมเจ็บไข้, สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา ก็ย่อมตาย, สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดาก็ย่อมสิ้นไป, สิ่งที่มีความพินาศเป็นธรรมดา ก็ย่อมพินาศไป ปุถุชนนั้น.... (เมื่อสภาพเช่นนั้นเกิดขึ้น) ย่อมไม่พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิใช่เฉพาะแต่ของเราผู้เดียวเท่านั้น...(ที่เป็นไปเช่นนั้น) แท้จริงแล้ว ตราบใด สัตว์ทั้งหลายยังมีการมา การไป การจุติ การอุบัติกันอยู่ ตราบนั้น สำหรับสัตว์ทั้งหมดทั้งสิ้นทีเดียว สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา ก็ย่อมแก่ สิ่งที่มีความพินาศเป็นธรรมดา ก็ย่อมพินาศด้วยกันทั้งนั้น ก็เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา มาแก่ไป...เมื่อสิ่งที่มีความพินาศเป็นธรรมดา มาพินาศไป ถ้าเราจะเศร้าโศกหม่นหมอง ร้องไห้ ตอก คร่ำครวญ หลงใหลฟั่นเฟือนไป แม้อาหารก็จะไม่เป็นอันอยากรับประทาน ร่างกายก็จะซูบโทรม การงานก็จะไม่เป็นอันทำ พวกศัตรูก็จะพากันชอบใจ ฝ่ายมิตรสหายก็จะพลอยเสียใจ"

“ครั้นสภาพเช่นนั้นเกิดขึ้นจริง) เขาย่อมเศร้าโศก หม่นหมอง ร้องไห้ ตอก คร่ำครวญหลงใหลฟั่นเฟือนไป นี้เรียกว่า ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ถูกลูกศรคือความเศร้าโศกอันมีพิษ เสียบแทงแล้ว ทำตัวเองให้เดือดร้อน แต่สำหรับอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา ก็ย่อมแก่ สิ่งที่มีความพินาศเป็นธรรมดา ก็ย่อมพินาศไป อริยสาวกนั้น... เมื่อสภาพเช่นนั้นเกิดขึ้น) ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิใช่เฉพาะแต่ของเราผู้เดียวเท่านั้น...ที่เป็นไปเช่นนั้น) แท้จริงแล้ว ตราบใดสัตว์ทั้งหลาย ยังมีการมา การไป การจุติ การอุบัติ กันอยู่ ตราบนั้น สำหรับสัตว์ทั้งหมดทั้งสิ้นทีเดียว สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาก็ย่อมแก่ สิ่งที่มีความพินาศเป็นธรรมดา ก็ย่อมพินาศด้วยกันทั้งนั้น เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา มาแก่ไป...เมื่อสิ่งที่มีความพินาศเป็นธรรมดา มาพินาศไป ถ้าเราจะเศร้าโศกหม่นหมอง ร้องไห้ ตอก คร่ำครวญ หลงใหลฟันเฟือนไป แม้อาหารก็จะไม่เป็นอันอยากรับประทาน ร่างกายก็จะซูบโทรม การงานก็จะไม่เป็นอันทำ พวกศัตรูก็จะพากันชอบใจ ฝ่ายมิตรสหายก็จะพลอยเสียใจ...(คนสภาพเช่นนั้นเกิดขึ้นจริง) อริยสาวกนั้น ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่หม่นหมอง ไม่ร้องไห้ ไม่ตอก ไม่คร่ำครวญ ไม่หลงใหลฟั่นเฟือน นี้เรียกว่า อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ เขาถอนลูกศร คือความเศร้าโศก อันมีพิษ ที่เป็นเครื่องเสียบแทงปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ซึ่งได้แต่ทำตัวเองให้เดือนร้อนออกได้แล้ว อริยสาวกนั้น เป็นผู้ไม่มีความเศร้าโศก ปราศจากลูกศรที่เสียบแทง ย่อมดับทุกข์ร้อน ทำตนให้สุขเย็น"

“การโศกเศร้า การพิไรรำพัน จะช่วยให้ได้ประโยชน์อะไรสักนิดหน่อย ก็หาไม่ เหล่าคนที่มุ่งร้ายรู้ว่า เขาเศร้าโศก มีความทุกข์ ย่อมจะดีใจ ส่วนบัณฑิต ผู้ฉลาด ในการวินิจฉัยเหตุผล ย่อมไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ร้ายทั้งหลาย เมื่อมองเห็นหน้าของบัณฑิตนั้น เป็นเหมือนเดิมไม่ผิดแปลกไป พวกอมิตรทั้งหลายกลับกลายเป็นฝ่ายทุกข์"

“ประโยชน์ที่มุ่งหมาย ตนจะได้ในที่ใด ด้วยวิธีใด จะด้วยการเข้าไปพูดกันเฉพาะตัว ด้วยการปรึกษาท่านผู้รู้ ด้วยการรู้จักเจรจา ด้วยการจ่ายทรัพย์ หรือด้วยขนบธรรมเนียมอย่างใดก็ตาม ก็พึงพากเพียร ในที่นั้นๆ ด้วยวิธีการนั้นๆ หากรู้ชัดว่า ผลที่หมายนั้น เป็นสิ่งที่เราก็ตาม ผู้อื่นก็ตาม ไม่อาจจะได้ ก็ไม่พึงเศร้าโศก, จึงยับยั้งตั้งกำหนดใจอย่างมั่นคงว่า ทีนี้เราจะทำอย่างไรต่อไป จะตายก็ไปคนเดียว จะเกิดก็มาคนเดียว ความสัมพันธ์ของสัตว์ทั้งหลาย ก็แค่ได้มาพบปะเกี่ยวข้องกัน เพราะฉะนั้น สำหรับท่านผู้ได้เรียนรู้มามาก เป็นปราชญ์ มองเห็นโลกนี้โลกหน้า รู้ทั่วถึงธรรมแล้ว ความโศกเศร้าทั้งหลาย แม้ใหญ่หลวง ก็ไม่ทำให้ท่านเร่าร้อน"

“เรานั้นจะบริหารยศ ฐานะ และโภคทรัพย์ จะบำรุงเลี้ยงภรรยาและหมู่ญาติกับทั้งประสาชาวประชานอกนั้น นี้คือกิจหน้าที่ของท่านผู้รู้ คนเขลาย่อมคิดการแต่ว่า ฤดูฝน เราจะอยู่ที่นี้ ฤดูหนาว ฤดูร้อน เราจะอยู่ที่นี้ หาตระหนักถึงอันตรายไม่ เมื่อเขาหลงใหลอยู่กับลูกหลานและสัตว์เลี้ยง มีจิตติดข้องอยู่ในทรัพย์สินสิ่งของต่างๆ มัจจุราชก็มาพาเอาเขาไป เหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดพาชาวบ้านที่หลับใหลไป ฉะนั้น"

“เมื่อถูกพญามัจจุราชครอบงำ ไม่ว่าบุตร ไม่ว่าบิดา ไม่ว่าญาติพวกพ้อง ถึงจะมี ก็ช่วยต้านทานไม่ได้ จะหาที่ปกป้องในหมู่ญาติ เป็นอันไม่มี บัณฑิตสำรวมตนด้วยศีล ทราบเหตุผลดังนี้แล้ว จึงรีบชำระทางดำเนินนิพพานโดยเร็วพลัน"

“ชีวิตนี้น้อยจริงหนอ คนย่อมตาย ทั้งที่อายุยังไม่ถึงร้อยปี ถึงแม้อยู่ได้เกินกว่านั้น ก็ต้องตาย เพราะชราอย่างแน่นอน"

“ชนทั้งหลายย่อมเศร้าโศก เพราะสิ่งที่ตนยึดถือว่าเป็นของเรา แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่หวงแหนไว้ไม่มีอะไรเที่ยงแท้เลย ผู้ที่มองเห็นว่า ความพลัดพรากกันจะต้องมีแน่นอนดังนี้แล้ว ไม่ควรอยู่ครองเรือน, คนสำคัญหมายสิ่งใดว่า นี้ของเรา ก็ต้องละสิ่งนั้นไปเพราะความตาย, บัณฑิตพุทธมามกะทราบความข้อนี้แล้ว ไม่พึ่งโน้มเอียงไปในการที่จะยึดถืออะไรๆ ว่าเป็นของเรา"

“คนที่รักใคร่ ตายจากไปแล้ว ย่อมไม่ได้พบเห็นอีก เหมือนคนตื่นขึ้น ไม่เห็นสิ่งที่ได้พบในฝัน คนที่เขาเรียกว่าชื่อนั้น ชื่อนั้น ก็แค่ได้พบเห็นกันบ้าง ได้ยินถึงบ้าง คนที่ตายจากไปแล้ว ก็เหลือแต่ชื่อเท่านั้น ที่จะพึงกล่าวขวัญถึงได้ ผู้ที่ติดใครในสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ย่อมละความโศกเศร้าความคร่ำครวญและความตระหนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น มุนีทั้งหลาย ผู้มองเห็นความเกษม จึงละสิ่งที่เคยหวงแหนเที่ยวไป"

“บัณฑิตทั้งหลายกล่าวถึงท่านผู้ไม่แสดงตนในภพ (คือพระอรหันต์) ว่าเป็นบุคคลที่สอดคล้องเหมาะกัน สำหรับภิกษุผู้บำเพ็ญความหลีกเร้นถอนจิต (ได้แก่พระที่ยังศึกษาอยู่ คือเป็นเสขะ หรือกัลยาณปุถุชน) ซึ่งเสพเสนาสนะอันสงัด"

“มุนี ไม่ติดในสิ่งทั้งปวง ไม่ทำใครๆ อะไรๆ ให้เป็นที่รักให้เป็นที่ชัง, ความให้และความตระหนี่จึงไม่แปดเปื้อนมุนีนี้ เหมือนดั่งน้ำไม่เปียกใบบัว หยาดน้ำไม่ติดใบบัว วารีไม่ติดปทุม ฉันใด มุนีก็ไม่ติดในสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้สบทราบ ฉันนั้น ท่านผู้ทรงปัญญา (พระอรหันต์) ย่อมไม่สำคัญมั่นหมายด้วยสิ่งที่ได้เห็น ได้ยินหรือสบทราบ ย่อมไม่ปรารถนาความบริสุทธิ์ด้วยวิธีการอย่างอื่น ท่านไม่ติดใคร่ (อย่างพาลปุถุชน) และก็ไม่หน่ายแหนง (อย่างกัลยาณปุถุชนและพระเสขะ)"

“ทรัพย์สมบัติละทิ้งคนไปก่อน ก็มี, คนละทิ้งทรัพย์สมบัติไปก่อน ก็มี. ท่านผู้ใคร่กามารมณ์เอย ผู้ครองทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืนเลย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศก ในยามที่คนทั้งหลายพากันโศกเศร้า ดวงจันทร์อุทัยขึ้น เต็มดวง แล้วก็แรมลับ, ดวงอาทิตย์ ฉายแสงส่องโลกแล้วก็อัสดง, โลกธรรมทั้งหลายนั้น ข้าพเจ้ารู้เท่าทันแล้ว เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศก ในยามที่คนทั้งหลายพากันโศกเศร้า"

"ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์ เหล่านี้เป็นธรรมดาในหมู่มนุษย์ เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนไปได้เป็นธรรมดา"

“ผู้มีปัญญาดี มีสติ รู้จักสิ่งเหล่านี้แล้ว พิจารณาเห็นว่าเป็นของผันแปรไปได้เป็นธรรมดา, สิ่งน่าปรารถนา ก็ย่ำยีจิตของท่านไม่ได้ ถึงสิ่งไม่น่าปรารถนา ก็ไม่ทำให้ท่านคับแค้น ความยินดี ก็ตาม ความยินร้าย ก็ตาม ท่านกำจัดได้หมด หายลับ ไม่มีเหลือ ท่านทราบสภาวะที่ไร้โศก ไร้ธุลี มีสัมมาปัญญา เป็นผู้ลุถึงฟากฝั่งภพ”

"รูปกายของสัตว์ย่อมร่วงโรยไป แต่ชื่อและโคตรไม่เสื่อมสลาย กาลเวลาย่อมกลืนกินสัตว์ทั้งหลาย พร้อมกันไปกับตัวมันเอง วัยสิ้นไป ตามคืนและวัน กาลเวลาล่วงไป คืนวันผ่านพ้นไป วัยก็หมดไปทีละตอนตามลำดับ ผู้เล็งเห็นภัยในความตายดังนี้ หวังความสงบ จึงละเหยื่อล่อในโลกเสีย"

“ข้าพเจ้าไม่มีความชั่วซึ่งได้ทำไว้ ณ ที่ไหนๆ เลย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่หวั่นกลัวความตายที่จะมาถึงตั้งอยู่ในธรรมแล้ว ไม่ต้องกลัวปรโลก"

“อานนท์...สมัยนั้น เราเป็นพระเจ้ามหาสุทัศน์ พระนครแปดหมื่นสี่พัน อันมีกุสาวราชธานีเป็นประมุข เหล่านั้น ก็ของเรา, ปราสาทแปดหมื่นสี่พัน อันมีธรรมปราสาทเป็นประมุขเหล่านั้น ก็ของเรา ฯลฯ รถแปดหมื่นสี่พัน มีเครื่องอลังการแล้วด้วยทอง มีธงแล้วด้วยทองมีตาข่ายเครื่องปกคลุมแล้วด้วยทอง อันมีรถเวชยันต์เป็นประมุขเหล่านั้น ก็ของเรา ฯลฯ อานนท์ บรรดาพระนครแปดหมื่นสี่พัน พระนครที่เราอยู่ครอบครองสมัยนั้น ก็เพียงนครเดียวเท่านั้น คือ กุสาวราชธานี, บรรดาปราสาทแปดหมื่นสี่พัน ปราสาทที่เราอยู่ครอบครองสมัยนั้น ก็เพียงปราสาทเดียวเท่านั้น คือ ธรรมปราสาท, ฯลฯ บรรดารถแปดหมื่นสี่พัน รถที่เรานั่งสมัยนั้น ก็เพียงคนเดียวเท่านั้น คือรถเวชยันต์ ฯลฯ อานนท์ จงดูเถิด สังขารเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนเป็นอดีต ดับสิ้นไปแล้ว ผันแปรไปแล้ว สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงอย่างนี้แล, สังขารทั้งหลาย ไม่ยั่งยืนอย่างนี้แล, สังขารทั้งหลาย ให้ความโปร่งโล่งมั่นใจไม่ได้อย่างนี้แล, อานนท์ เพียงเท่านี้ ก็เพียงพอแล้วที่จะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายทั้งปวง เพียงพอที่จะเลิกติดใคร่ เพียงพอที่จะหลุดพ้นไปเสีย ฯลฯ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้ว ก็ดับไป ความสงบวางแห่งสังขารเหล่านั้น เป็นสุข"

“นครของเราชื่อว่ากบิลพัสดุ, พระราชา พุทธบิดา พระนามว่าสุทโธทนะ, พระมารดา ผู้ชนนี มีพระนามว่ามายาเทวี, เราครองอาคาริยวิสัยอยู่ ๒๙ พรรษา มีปราสาทเลิศ ๓ หลัง ชื่อว่า สุนันทะ โกกนุท และโกญจะ พร้อมด้วยสตรีสี่หมื่นนางเฝ้าแหนอลังการ ยอดนารีมีนามว่า ยโสธรา, โอรสนามว่าราหุล เราเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงออกบวชด้วยอัศวราชยาน, ได้บำเพ็ญเพียรประพฤติทุกรกิริยาอยู่ ๖ พรรษา, เราประกาศธรรมจักรที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันแขวงเมืองพาราณสี เราคือพระสัมพุทธเจ้า นามว่าโคตมะ เป็นสรณะของสรรพสัตว์ ฯลฯ อายุของเราในยุคสมัยบัดนี้ น้อยเพียงชั่วร้อยปี ถึงจะดำรงชีวีอยู่เพียงเท่านั้น เราก็ช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นวัฏฏะไปได้จํานวนมากมาย และได้ตั้งคบเพลิงธรรมไว้ปลุกประชาชนภายหลังให้เกิดปัญญาตื่นขึ้นมาตรัสรู้ต่อไป ไม่นานเลย เรา พร้อมทั้งหมู่สาวก ก็จักปรินิพพาน เหมือนไฟดับไปเพราะสิ้นเชื้อ, เรือนกายร่างนี้ที่ทรงไว้ซึ่งคุณสมบัติ วิจิตรด้วยวรลักษณ์ทั้ง ๓๒ ประการ มีเดชหาที่เทียบเทียมมิได้ กับทั้งทศพลและประดาฤทธิ์ ฉายประภาฉัพพรรณรังสี สว่างไสวทั่วทศทิศ ดุจดังดวงอาทิตย์สตรังสี ก็กลับตับหาย สังขารทั้งหมดทั้งหลายไร้แก่นสารล้วนว่างเปล่าดังนี้แหละหนอ"

“ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนพาล ทั้งบัณฑิต ทั้งคนมี ทั้งคนจน ล้วนเดินหน้าไปหาความตาย ทั้งนั้น ภาชนะดินที่ช่างหม้อทำแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งสุกและดิบ ล้วนมีความแตกทำลายเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็มีความตายเป็นที่สุด ฉันนั้น"

“วัยของเราหง่อมแล้ว, ชีวิตของเรายังอยู่เพียงเล็กน้อย เราจะจากพวกเธอไปเราได้ทำสรณะให้แก่ตนแล้ว ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีความประพฤติดีงาม มีความดำริมั่นคง จงตามรักษาจิตของตน. ผู้ใดในธรรมวินัยนี้จักเป็นอยู่อย่างไม่ประมาท, ผู้นั้นจะละชาติสงสาร กระทำความจบสิ้นทุกข์ได้"

“ภิกษุทั้งหลาย ปัจจุบันนี้ เมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง จึงกล่าวว่า ชีวิตของมนุษย์นั้นน้อย เป็นของนิดหน่อย พลันลับหาย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จึงตริตรองการด้วยความรู้คิด จึงทำความดีงาม (กุศล) จึงครองชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์), ผู้เกิดมาแล้ว ที่จะไม่ตาย เป็นไม่มี คนที่มีอายุอยู่ได้นาน ก็อยู่ได้เพียงร้อยปี หรือเกินกว่าเล็กน้อย ผู้ที่มีชีวิตอยู่ถึงร้อยปี ก็อยู่ได้เพียง ๓๐๐ ฤดู เท่านั้น ผู้ที่อยู่ครบ ๓๐๐ ฤดู ก็อยู่ได้เพียง ๑,๒๐๐ เดือน...ผู้ที่อยู่ครบ ๑,๒๐๐ เดือน ก็อยู่ได้เพียง ๒,๕๐๐ ปักษ์ ผู้ที่อยู่ครบ ๒,๕๐๐ ปักษ์ ก็อยู่ได้เพียง๓๖,๐๐๐ ราตรีผู้ที่อยู่ครบ ๓๖,๐๐๐ ราตรี ก็บริโภคอาหารเพียง ๒๒,๐๐๐ มื้อ คือฤดูหนาว ๒๔,๐๐๐ มื้อ ฤดูร้อน ๒๕,๐๐๐ มื้อ ฤดูฝน ๒๕,๐๐๐ มื้อ ทั้งนี้ นับรวมทั้งเวลาที่ดื่มนมมารดา และที่มีอันตราย (เหตุขัดข้อง) ต่อการบริโภคอาหารด้วย อันตรายต่อการบริโภคอาหารมีดังนี้ คือ โกรธแล้ว ไม่บริโภคอาหารเสียบ้าง มีความทุกข์แล้ว ไม่บริโภคเสียบ้าง เจ็บไข้ จึงไม่ได้บริโภคเสียบ้าง รักษาอุโบสถ จึงไม่ได้บริโภคเสียบ้าง ไม่ได้อาหาร จึงไม่ได้บริโภคเสียบ้าง ภิกษุทั้งหลาย อายุของมนุษย์ผู้เป็นอยู่ ๑๐๐ ปี เราได้คำนวณนับแล้ว ประมาณอายุก็นับแล้ว ฤดูปี เดือน คืน วัน มื้ออาหาร อันตรายต่อการบริโภคอาหาร ก็ได้รับแล้ว ฉะนี้แล"

“ภิกษุทั้งหลาย กิจใดที่ศาสดาผู้อนุเคราะห์ ผู้แสวงประโยชน์แก่สาวกทั้งหลาย จะพึงทำด้วยอาศัยน้ำใจเกื้อกูล, กิจนั้นเราได้กระทำแล้วแก่เธอทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง, เธอทั้งหลาย จงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าต้องเป็นผู้มีความเดือดร้อนใจในภายหลังเลย, นี้คืออนุศาสนีของเรา สำหรับเธอทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ตน (อัตตัตถะ) ก็ควรทีเดียว ที่จะยังประโยชน์ตนนั้นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ) ก็ควรทีเดียว ที่จะยังประโยชน์ผู้อื่นนั้นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท, เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (อุภยัตถะ) ก็ควรทีเดียว ที่จะยังประโยชน์ทั้งสองฝ่ายนั้นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท เร่งทำกิจ และเตรียมการเพื่ออนาคต"

“ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย, ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย, คนประมาทเหมือนคนตายแล้ว ฯลฯ ผู้ไม่ประมาท เพ่งพินิจอยู่ ย่อมประสบความสุขอันไพบูลย์ เพราะฉะนั้น ในชีวิตที่เหลืออยู่นี้ ทุกคนควรกระทำกิจหน้าที่ และไม่พึงประมาท"

“บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่ อย่าปล่อยโอกาสให้ผ่านเลยไปเสีย...พึงถอนลูกศรที่เสียบตัวออกเสีย ด้วยความไม่ประมาท และด้วยวิชชา รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์แก่ (ชีวิต) ตน ก็ควรรีบลงมือทำในเวลาที่ควรลุกขึ้นทำงาน ไม่ลุกขึ้นทำ ทั้งที่ยังหนุ่มแน่นมีกำลัง กลับเฉื่อยชา ปล่อยความคิดให้จมปลัก เกียจคร้าน มัวซึมเซาอยู่ ย่อมไม่ประสบทางแห่งปัญญา"

“คนที่เรียนรู้ (สุตะ) น้อยนี้ ย่อมแก่เหมือนโคถูก, เนื้อของเขาย่อมเจริญ(แต่) ปัญญาของเขาหาเจริญไม่ เมื่อยังหนุ่มสาว พรหมจรรย์ก็ไม่บำเพ็ญ ทรัพย์ก็ไม่หาเอาไว้ (ครั้นแก่เฒ่าลง) ก็ต้องนั่งซบเซา เหมือนนกกระเรียนแก่ เมื่อยังหนุ่มสาว พรหมจรรย์ก็ไม่ก็ไม่บำเพ็ญ ทรัพย์ก็ไม่หาเอาไว้ ครั้นแก่เฒ่า) ก็ได้แต่นอนทอดถอนถึงความหลัง เหมือนดังลูกศรที่เขายิงตกไปแล้ว (หมดพิษสง) ผลประโยชน์ทั้งปวง ตั้งอยู่ที่หลัก ๒ ประการ คือ การได้สิ่งที่ยังไม่ได้ และการรักษาสิ่งที่ได้แล้ว"

“ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลเหล่าหนึ่งเหล่าใดก็ตาม ที่ถึงความเป็นใหญ่ในโภคสมบัติ จะดำรงอยู่ได้ยืนนาน ด้วยเหตุ ๔ สถาน หรือสถานใดสถานหนึ่ง กล่าวคือ รู้จักแสวงหาสิ่งที่พินาศสูญหาย ปฏิสังขรณ์สิ่งที่ชำรุดทรุดโทรม รู้จักประมาณในการกินการใช้ และตั้งสตรีหรือบุรุษผู้มีศีลให้เป็นใหญ่"

“ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย, ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย, ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย, คนประมาทเหมือนคนตายแล้ว"

“จากความมัวเมา ก็เกิดความประมาท จากความประมาท ก็เกิดความเสื่อม จากความเสื่อม ก็เกิดโทษประดัง ผู้มีภาระปกครองรัฐ จงอย่าได้ประมาทเลย"

“กษัตริย์จำนวนมาก มีความประมาท ต้องสูญเสียประโยชน์ สูญเสียรัฐแม้แต่ชาวบ้าน ประมาท ก็สูญเสียบ้าน, ธนาคารกประมาท ก็สูญเสียความเป็นอนาคารก เมื่อผู้ครองแผ่นดินประมาท โภคทรัพย์ในรัฐย่อมพินาศทั้งหมด นี่แลเรียกว่า ทุกข์ภัยของผู้ครองแผ่นดิน"

“ความประมาทนี้ เป็นหลักอะไรไม่ได้ ผู้ครองแผ่นดินประมาทเกินขอบเขต โจรทั้งหลายก็กำจัดชนบทที่มั่งคั่งบริบูรณ์เสีย โอรสทั้งหลายก็จะไม่มีเหลือ เงินทองทรัพย์สินก็จะไม่มีเหลือ เมื่อรัฐถูกปล้น ก็จะเสื่อมจากโภคสมบัติทุกอย่าง ถึงจะเป็นขัตติยราช เมื่อโภคสมบัติย่อยยับหมดแล้ว ญาติมิตรสหายทั้งหลาย ก็ไม่นับถือในความคิดอ่าน, พลช้าง พลม้า พลรถ พลราบ ทั้งหลาย ที่อาศัยเลี้ยงชีพอยู่ก็ไม่นับถือในความคิดอ่าน"

“ผู้นำที่จัดการงานไม่ดี เขลา ด้วยความคิดอ่าน ทรามปัญญา ย่อมหมดศรีสง่าเหมือนคราบเก่าที่ทิ้งไปแล้ว ส่วนผู้นำที่จัดแจงการงานเป็นอย่างดี หมั่นขยันถูกกาล ไม่เฉื่อยชา ย่อมมีโภคสมบัติที่เจริญยิ่งขึ้นๆ ทุกด้าน เหมือนฝูงใดที่มีโคผู้นำ ฉะนั้น พระองค์จึงเสด็จเที่ยวสดับความเป็นอยู่เป็นไปในแว่นแคว้นแดนชนบท, ครั้นได้เห็นได้สดับแล้ว จึงดำเนินราชกิจนั้นๆ"

“เป็นคนควรหวังเรื่อยไป บัณฑิตไม่ควรท้อแท้ เราเห็นประจักษ์มากับตนเอง เราปรารถนาอย่างใด ก็ได้สมตามนั้น ภิกษุทั้งหลาย เราประจักษ์ (คุณค่า) ของธรรม ๒ ประการ คือ ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย และความไม่ระย่อในการบำเพ็ญเพียร ฯลฯ โพธิอันเรานั้นได้บรรลุด้วยความไม่ประมาท, ความโล่งโปร่งใจ (โยคเกษม) อย่างเยี่ยมยอด อันเรานั้นได้บรรลุด้วยความไม่ประมาท"

“ภิกษุ ยังไม่ถึงความสิ้นอาสสิ้นอาสวะ อย่าได้นอนใจ เพียงด้วยความมีศีลและวัตร ด้วยความเป็นผู้ได้เล่าเรียนศึกษามาก ด้วยการได้สมาธิ ด้วยการอยู่วิเวก หรือ (แม้แต่) ด้วยการประจักษ์ว่า เราได้สัมผัสเนกขัมมสุขที่พวกปุถุชนไม่เคยได้รู้จัก"

“เตรียมกิจสำหรับอนาคตให้พร้อมไว้ก่อน อย่าให้กิจนั้นบีบคั้นตัวเมื่อถึงเวลาต้องทำเฉพาะหน้า"

“พึงระแวงสิ่งที่ควรระแวง, พึงป้องกันภัยที่ยังไม่มาถึง, ธีรชนตรวจตราโลกทั้งสอง เพราะคำนึงภัยที่ยังไม่มาถึง"

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมองเห็นภัยที่ยังไม่มาถึง (อนาคตภัย) ๕ ประการต่อไปนี้ คือ ความชรา ความเจ็บไข้ ความขาดแคลน คราวบ้านเมืองไม่สงบ คราวสงฆ์แตกแยก (ที่อาจจะเกิดมีขึ้น) ย่อมควรแท้ ที่ภิกษุจะเป็นอยู่โดยเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศตัวเด็ดเดี่ยว เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อเข้าถึงธรรมที่ยังไม่เข้าถึง เพื่อประจักษ์แจ้งธรรมที่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง ภิกษุทั้งหลาย อนาคตภัย ๕ ประการเหล่านี้ คือ ภิกษุทั้งหลายที่มิได้อบรมพัฒนากาย ศีล จิต ปัญญา จะเป็นอุปัชฌายให้อุปสมบท จะเป็นอาจารย์ จะเป็นผู้กล่าวอภิธรรมกถา เวทัลลกถา จะไม่ตั้งใจฟังพระสูตรที่เป็นตถาคตภาษิต จะเป็นพระเถระผู้นำในทางย่อหย่อน ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นในบัดนี้ จักเกิดขึ้นในกาลต่อไป เธอทั้งหลายพึงตระหนักในการไว้ ครั้นตระหนักแล้ว จึงพยายามเพื่อป้องกันอนาคตภัยเหล่านั้น"

"ภิกษุทั้งหลาย อนาคตภัย ๕ ประการเหล่านี้ คือ ภิกษุทั้งหลาย จะมัวหมกมุ่นติดในเรื่องจีวรดีๆ อาหารดีๆ ที่อยู่อาศัยดีๆ แล้วทำการแสวงหาผิดวินัย จะอยู่คลุกคลีกับภิกษุณี สิกขมานาและสามเณร จะอยู่คลุกคลีกับคนวัด ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นในบัดนี้ จักเกิดขึ้นในกาลต่อไป เธอทั้งหลายพึงตระหนักล่วงหน้าไว้ ครั้นตระหนักแล้ว จึงพยายามเพื่อป้องกันอนาคตภัยเหล่านั้น"

“แน่ะสารีบุตร พระผู้มีพระภาคกกุสันธะ ก็ดี พระผู้มีพระภาคโกนาคมน์ ก็ดี พระผู้มีพระภาคกัสสปะ ก็ดี ไม่คร้านที่จะแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายโดยพิสดาร และสุตตะ เคยยะ ฯลฯ เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ก็มีมาก, สิกขาบท ท่านก็บัญญัติไว้แก่สาวกทั้งหลาย ปาฏิโมกข์ ท่านก็แสดงไว้ เมื่อพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า และเหล่าสาวกที่ตรัสรู้ตาม ลับล่วงไปแล้ว สาวกทั้งหลายรุ่นภายหลัง ซึ่งมีชื่อ โคตร ชาติตระกูลต่างๆ กัน ออกบวชแล้ว ก็ดำรงศาสนาไว้ได้ตลอดกาลยาวนาน เปรียบเหมือนดอกไม้นานาพรรณ ที่เขาวางไว้บนแผ่นไม้ แต่เอาด้ายร้อยไว้แล้วอย่างดี ลมกระพือพัดมา ก็พาให้กระจัดกระจายไม่ได้ ทั้งนี้เพราะถูกด้ายร้อยรวมกันไว้เป็นอย่างดี นี้คือเหตุปัจจัย ให้ศาสนาของพระผู้มีพระภาคกกุสันธะ พระผู้มีพระภาคโกนาคมน์ และพระผู้มีพระภาคกัสสปะ ดำรงอยู่ได้ยืนนาน"

“ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า ฯลฯ ท่านทั้งหลาย ธรรมนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ตรัสไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นเครื่องนำสู่ความหลุดพ้น เป็นไปเพื่อสันติ เป็นคำประกาศของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, ทุกท่านทีเดียว พึงสังคายนาในธรรมนั้น ไม่พึงวิวาทกัน อันจะช่วยให้พระศาสนา (พรหมจรรย์) ยั่งยืน ดำรงอยู่ตลอดกาลนาน เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลแก่คนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย"

“ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปะ กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า ฯลฯ ท่านทั้งหลาย ขอเชิญพวกเรามาสังคายนาธรรมและวินัยกันเถิด ก่อนที่อธรรมจะรุ่งเรือง ธรรมจะถูกขัดขวาง อวินัยจะรุ่งเรือง วินัยจะถูกขัดขวาง, ก่อนที่พวกอธรรมวาที่จะมีกำลัง ธรรมวาที่จะอ่อนกำลัง พวกอวินยวาทีจะมีกำลัง วินยวาที่จะอ่อนกำลัง"

“อานนท์ ตราบใดที่เจ้าวัชชีทั้งหลาย ยังจักประชุมกันเนืองนิตย์... ตราบใดที่พวกเจ้าวัชชียังจักพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจการหน้าที่ของชาววัชชี (ตราบนั้น) พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเลย... ภิกษุทั้งหลาย ตราบใดที่ภิกษุทั้งหลาย ยังจักประชุมกันเนืองนิตย์... ตราบใดที่ภิกษุทั้งหลาย ยังจักพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจการหน้าที่ของสงฆ์ (ตราบนั้น) ภิกษุทั้งหลายพึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเลย... ภิกษุทั้งหลาย ตราบใดที่ภิกษุทั้งหลาย ยังจักเป็นผู้มีศรัทธา มีหิริ... มีโอตตัปปะ เป็นผู้เล่าเรียนศึกษามาก (พหูสูต)... เป็นผู้ตั้งหน้าเพียร... เป็นผู้มีสติกำกับตัว... เป็นผู้มีปัญญา (ตราบนั้น) ภิกษุทั้งหลายพึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเลย"

ในการทำจิต ท่านสอนให้รู้เท่าทันว่า สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา แต่พุทธพจน์ชุดนี้กลับสอนว่า ถ้าทำกิจด้วยความไม่ประมาท ก็จะไม่มีความเสื่อมเลย มีแต่ความเจริญอย่างเดียว จึงศึกษาพุทธพจน์สองแบบนี้ให้ชัดเจน จะได้เข้าใจถูกต้อง และปฏิบัติไม่ผิดพลาด นอกจากนี้ พึงสังเกตด้วยว่า ความไม่ประมาทในการปรับปรุงพัฒนาตน ซึ่งเป็นกิจส่วนตัว จะต้องดำเนินเคียงคู่ไปด้วยกันกับความไม่ประมาทในการทำกิจที่เป็นความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา