วันอังคาร

มองผ่านๆ ข้ามพุทธกาล สู่ยุคอโศก

ย้อนทางเข้าสู่แดนพุทธภูมิ ณ อโศการาม เมืองปัตนะ อาทิตย์ที่ ๑๒ ก.พ. ๒๕๓๘ - ๑๑.๔๐ น.

ขอเจริญพรญาติโยมผู้มีศรัทธาทุกท่าน บัดนี้โยมก็ได้เดินทางเข้าสู่ประเทศอินเดียแล้ว เราได้เดินทางกัน มาเป็นระยะทางพอสมควร จนมาถึงถิ่นที่เรียกว่า เป็นดินแดนพระพุทธศาสนา สถานที่ซึ่งเรามาแวะชมอยู่นี้ เป็นที่สำคัญจุดหนึ่ง คือ เป็นที่ตั้ง ของวัดอโศการาม ซึ่งเป็นวัดที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงสร้างขึ้น วัดอโศการามนั้นมีความสำคัญ คือ เป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ที่พระ เถระ ๑,๐๐๐ รูป ประชุมกันทบทวนร้อยกรองพระธรรมวินัย โดยมีพระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภก เมื่อพุทธศักราชประมาณ ๒๓๔ หรือ ๒๓๕ ปี ตัวเลขอาจมีผู้ถกเถียงกันอยู่บ้าง แต่โดยทั่วไปก็ถือยุติประมาณนี้

วันนี้เรามาถึงเมืองปัตนะ และแวะนมัสการที่อโศการามนี้เป็นจุดแรก เมื่อมาถึงที่นี้แล้ว ก็ขอถือโอกาสพูดถึงเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับดินแดนพุทธศาสนาให้ได้ภาพรวมกว้างๆ ก่อน ขอให้โยมกำหนดไว้ในใจก่อนว่า ตอนนี้เรากำลังพูดกันถึงเรื่องราวหลังพุทธกาลในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งครองราชย์เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๑๘-๒๖๐ วัดอโศการาม คือที่ตรงนี้ มีความสำคัญมากต่อพระพุทธศาสนา คือ เมื่อเป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๓ มีการร้อยกรองพระธรรมวินัยเรียบร้อยแล้วก็ถือว่าพระพุทธศาสนามีความมั่นคง ครั้งนั้นพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงดำเนินงานก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง คือทรงอุปถัมภ์การส่งพระศาสนทูตไปประกาศพระศาสนาในดินแดนต่างๆ ซึ่งเราได้รับทราบมาตามตำนานว่า มี ๙ สายด้วยกัน

ในบรรดา ๙ สายนั้น สายหนึ่งได้เดินทางไปยังสุวรรณภูมิ ซึ่งเราเรียนกันมาว่าเป็นดินแดนแถบประเทศไทย คนไทยเราเชื่อกันว่า พระโสณะและพระอุตตระ ได้ไปขึ้นที่เมืองนครปฐมในสมัยที่ยังเป็นอาณาจักรทวาราวดี ส่วนพม่าก็อ้างว่าท่านไปขึ้นที่เมืองสะเทิมในดินแดนของพม่า เรื่องอย่างนี้หาหลักฐานมาพิสูจน์กันยาก พูดกว้างๆ ว่าเป็นดินแดนในย่านอาเซียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ข้อสำคัญก็คือว่า พระพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่ประเทศของเรา โดยเริ่มต้นจากจุดนี้นี่เอง สรุปว่า อโศการาม เป็นที่ทำสังคายนา และเป็นศูนย์กลางที่ได้ส่งพระศาสนทูตไปประกาศพระศาสนา ฉะนั้น จึงถือว่าประเทศไทยของ เรา ได้รับพระพุทธศาสนาไปจากที่นี้ สถานที่นี้จึงเป็นจุดสำคัญ เป็นที่เชื่อมต่อระหว่างพระพุทธ ศาสนาในอินเดีย กับพระพุทธศาสนาในประเทศไทย นับว่ามีความสำคัญมากทีเดียว ฉะนั้นการที่เรามาเริ่มต้นที่นี่ มองในแง่หนึ่งก็เป็นการดี เพราะเป็นจุดที่พระพุทธศาสนาจะเผยแพร่เข้าสู่ประเทศไทย เรามาจากประเทศไทยถึงจุดตั้งต้นแล้ว จากจุดนี้เราก็โยงเข้าสู่ประเทศอินเดีย เมื่อโยมมีความเข้าใจอย่างนี้แล้วก็มามองดูภาพรวมของประเทศอินเดีย หรือดินแดนชมพูทวีปกันอีกครั้งหนึ่ง มองผ่าน ๆ ข้ามพุทธกาลสู่ยุคอโศก ประเทศอินเดียหรือชมพูทวีปนี้ เราเรียนรู้ความเป็นมาโดยสัมพันธ์กับพุทธประวัติ คือประวัติของพระพุทธเจ้าโดยค่อยๆ ดำเนินตามเหตุการณ์เริ่มจากพุทธกาลเรื่อยมา แต่ที่เราพูดถึงพระเจ้าอโศกนี้ ก็ยังย้อนไปไม่ถึงพุทธกาล พระเจ้าอโศกมหาราช ประสูติหลังพุทธกาลตั้งเกือบ ๒๐๐ ปี เริ่มครอง ราชย์ประมาณ ๒๑๘ ปี หลังพุทธกาล ถ้าเราจะถึงยุคสมัยของพระพุทธเจ้าจริง ก็ต้องย้อนถอยหลังไปอีก

🔅ชมพูทวีปในพุทธกาล
เราย้อนกลับไปสมัยพุทธกาล เมื่อก่อนพุทธศักราช คือเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ตอนนั้นประเทศอินเดียเรียกว่า ชมพูทวีป ชมพูทวีปเป็นดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาล ในสมัยก่อนพุทธกาลและถึงพุทธกาลนั้น มีอาณาจักรหรือแว่นแคว้นมากมาย ท่านนับไว้ ๑๖ ประเทศ หรือ ๑๖ แว่นแคว้น ใช้คำในภาษาบาลีว่า มหาชนบท คือมีมหาชนบททั้งหมด ๑๖ ด้วยกัน คำว่า “ชนบท” นั้น ในภาษาบาลี ไม่ได้หมายความแค่ว่าบ้านนอก แต่คล้ายๆ กับคำว่า “country” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งใช้ได้ ๒ ความหมาย ในความหมายทั่วไป Country ก็คือประเทศ แต่ถ้าพูดว่า the country ก็หมายถึงบ้านนอก “ชนบท” ในภาษาบาลีก็คล้ายกัน โดยทั่วไปแปลว่าถิ่นที่อยู่ของ มนุษย์ คือ แว่นแคว้น หรือประเทศ แต่เมื่อใช้ในความแวดล้อมบางอย่าง ก็เป็นชนบทในความหมายแบบไทย คือ บ้านนอก ในสมัยพุทธกาลและก่อนนั้น ถือว่าอินเดียหรือชมพูทวีปนี้ มี แว่นแคว้นใหญ่อยู่ ๑๖ มหาชนบทด้วยกัน ตามหลักฐานในพระไตรปิฎกว่ามี อังคะ มคธ กาสี โกศล วัชชี มัลละ เจดี วังสะ กรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ และกัมโพชะ (เช่น องุติก,๒๐/๕๑๐) นี่คือชื่อดินแดนในชมพูทวีปทั้งหมด ๑๖ ประเทศด้วยกัน แว่นแคว้นดินแดนเหล่านี้ กล่าวได้ว่าเรียงจากตะวันออกไปตะวันตก



เริ่มด้วย อังคะ ซึ่งตั้งอยู่ในดินแดนที่ปัจจุบันนี้เป็นบังคลาเทศ หรือ ต่อจากบังคลาเทศ เทียบง่ายๆ ก็ไล่มาตั้งแต่ตะวันออกของเมืองกัลกัตตา ที่เครื่องบินเรามาลง นี่คือแคว้นที่ ๑ ต่อจากนั้นก็ถึงแคว้นมคธ คือที่เรามายืนอยู่ขณะนี้ แล้วก็ไปกาสี ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อพาราณสี เลยไปอีกก็ถึงเมืองสาวัตถีในแคว้นโกศล ส่วนวัชชี เราจะไม่ได้แวะเข้าไป นอกจากนั้น มัลละ เจตี เป็นต้น ก็ว่าเรื่อยไป จนถึงกุรุ ซึ่งอยู่แถวเมืองเดลี ต่อจากนั้น ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี ก็เอาเดลีเป็นจุดกําหนด ออกไปทางเหนือ ทางใต้ และข้างๆ ส่วนคันธาระ กัมโพชะ ก็โน่น แถวปากีสถาน จนถึงอาฟกานิสถาน เป็นอันว่าไล่คร่าวๆ ไปตั้งแต่ตะวันออกจนถึงตะวันตก นี้คือ อินเดียในสมัยโบราณ

เป็นธรรมดาเรื่องของการเมืองย่อมมีการแข่งขันแย่งชิงอำนาจซึ่งกันและกัน ประเทศที่มีอำนาจมากกว่าก็บุกรุกทำสงครามขยายดินแดนจนกระทั่งกว่าจะมาถึงยุคพุทธกาล ใน ๑๖ แว่นแคว้นนั้น บางประเทศก็หมดอำนาจไป หรือถูกยุบรวมเข้ากับแคว้นอื่น จึงปรากฏว่าในสมัยพุทธกาล ๑๖ แว่นแคว้นนั้นเหลือประเทศที่ ใหญ่โตอยู่จริงๆ ๔-๕ ประเทศเท่านั้น อย่างอังคะแถวบังคลาเทศก็เข้าไปอยู่ใต้อำนาจของมคธแล้ว มคธนี้กลายเป็นแคว้นที่ยิ่งใหญ่ ส่วนกาสีที่มีเมืองหลวงคือเมืองพาราณสีที่เรากำลังจะไป ก็ขึ้นอยู่ใต้อำนาจของแคว้นโกศลไปแล้ว กาสีนี้มีเรื่องมาในชาดกมากเหลือเกิน พอเริ่มเรื่องก็ว่า อตีเต พาราณสิยํ พฺรหฺมทตฺเต ครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติใน เมืองพาราณสี (ในแคว้นกาสี) แต่พอถึงสมัยพุทธกาล กาสีก็ได้ตกไปอยู่ใต้อำนาจของแคว้นโกศล แคว้นโกศลและวัชชี ก็เป็นแคว้นที่ใหญ่มาก และมีอำนาจมาก ในสมัยพุทธกาล

ต่อไปก็แคว้นวังสะ ซึ่งจะได้ยินชื่อมากในเรื่องวาสิฏฐี หรือกามนิต วังสะมีเมืองหลวงชื่อว่าโกสัมพี พอออกชื่อโกสัมพี โยมที่เรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษาสมัยก่อนก็นึกออก และอีกแคว้นหนึ่งคือ อวันตี ซึ่งมีเมือง อุชเชนีเป็นเมืองหลวง ก็คือถิ่นของกามนิต-วาสิฏฐีนี่แหละ แคว้นมหาอำนาจในตอนนั้นกล่าวได้ว่า ก็คือ มคธ วัชชี โกศล วังสะ และอวันตี อย่างไรก็ตาม แคว้นที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในยุค พุทธกาลจะอยู่ด้านนี้มาก ซึ่งเป็นด้านที่เรามาถึงก่อน คือด้านตะวันออก เฉียงเหนือของอินเดีย ได้แก่แคว้นมคธ แคว้นวัชชี และแคว้นโกศล ซึ่ง มีเสียงกล่าวถึงบ่อยที่สุด ส่วนแคว้นอื่นๆ ที่ว่าใหญ่ โดยเฉพาะแคว้นมคธมีชื่ออยู่ยั่งยืนที่สุด อยู่ในสมัยพุทธกาล พอถึงยุคหลังพุทธกาลก็ค่อยๆ หมดไป ในสมัยพุทธกาลนั้น จะเห็นว่าแคว้นมคธกับแคว้นวัชชีแข่งอำนาจกันมาก แคว้นโกศลก็รบกับแคว้นมคธนิดหน่อย แต่ต่อมาโกศลหายไป วัชชีก็หายไป โดยเฉพาะที่น่าสังเกตก็คือ แคว้นที่มีการปกครองต่างแบบกัน คือ แคว้นมคธกับแคว้นวัชชี เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แคว้นมคธเป็นแคว้นที่ปกครองแบบราชาธิปไตย อยู่ติดกันกับแคว้นวัชชี ซึ่งปกครองแบบสามัคคีธรรม ฝรั่งเรียกว่า ปกครองแบบ republic หรือ สาธารณรัฐ ในการปกครองแบบสามัคคีธรรมนั้น ไม่ใช่มีผู้ปกครองเด็ดขาดเพียงผู้เดียว แต่ใช้วิธีที่ว่ามีชนชั้นปกครองจำนวนหนึ่ง ซึ่งมากทีเดียว อาจถึง ๗,๗๐๗ องค์ หมุนเวียนกันขึ้นมาปกครอง เวลาจะบริหารราชการแผ่นดินก็ต้องมีการประชุมในสภา ซึ่งมีหอประชุมที่เขาเรียกว่า สัณฐาคาร (บางทีเขียน สันถาคาร) เมื่อมีเรื่องราวที่จะต้องตัดสินใจหรือวินิจฉัยกัน เช่นจะรบหรือไม่รบกับต่างประเทศ หรือเกิดเรื่องเกิดราวสำคัญขึ้น หรือมีราชการ อะไรที่สำคัญจะต้องตัดสินวินิจฉัย อย่างเช่น เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับ ชขันธปรินิพพาน กษัตริย์มัลละซึ่งปกครองแบบนี้ ก็ต้องมาประชุมกันในสัณฐาคารเพื่อพิจารณาว่าจะปฏิบัติอย่างไรในการปลงพระสรีระของพระพุทธเจ้า อย่างนี้เป็นต้น



แคว้นวัชชีนี้ก็ปกครองแบบสามัคคีธรรม ซึ่งต้องประชุมกันในสัณฐาคาร พวกกษัตริย์วัชชีมีชื่อเรียกกันว่า ลิจฉวี ถ้าใครเป็นนักเรียนสมัยก่อนก็จะได้ยินชื่อลิจฉวีในเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ กษัตริย์ลิจฉวี ก็อยู่ในแคว้นวัชชี ที่จริงในวัชชียังมีกษัตริย์พวกอื่นๆ อีก เช่น วิเทหา เป็นต้น แต่ที่มีชื่อมากปลายพุทธกาลก็มีลิจฉวีนี่แหละที่สําคัญ เป็นพวกที่เข้มแข็งมาก มีการปกครองอย่างเก่าแบบสามัคคีธรรม คือร่วมกันปกครอง อย่างไรก็ตาม คำว่า “การปกครองแบบสามัคคีธรรม” นี้ เป็น การจับเอาสาระมาเรียกกันภายหลัง แต่ในคัมภีร์ ท่านเรียกราชาที่ร่วมกันปกครองแบบนี้ว่า “คุณราช” (เช่น วินย.อ.๑/๒๔๗, ม.อ.๓/๑๓. ส.อ.๓/๑๐๒) แคว้นวัชชีนี้แข่งอำนาจกันกับแคว้นมคธอย่างยิ่งทีเดียว แต่ หลังพุทธกาลไม่นานก็ปรากฏว่าวัชชีได้สูญเสียอำนาจแก่แคว้นมคธ

ตอนต้นพุทธกาล มคธมีพระเจ้าแผ่นดินพระนามว่าพิมพิสาร ครั้นถึงปลายพุทธกาล พระเจ้าอชาตศัตรู ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร ได้ส่งอำมาตย์ชื่อวัสสการพราหมณ์เข้าไปยุแหย่ ทำให้กษัตริย์ลิจฉวีที่ปกครองแคว้นวัชชีนั้นแตกความสามัคคีกันหมด เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพไป พวกกษัตริย์วัชชี คือเจ้าลิจฉวี ทั้งหลายมีความอ่อนแอ ไม่พร้อมใจกัน ไม่พร้อมที่จะรบ ก็เลยพ่ายแพ้ อาณาจักรวัชชีก็เลยพินาศ สูญสิ้นอำนาจ และตกเป็นเมืองขึ้นของแคว้นมคธ นี้เป็นเหตุการณ์หลังพุทธกาลไม่นาน มคธจึงกลายเป็นแคว้นที่ยิ่งใหญ่ แม้แต่แคว้นโกศลก็ได้สูญเสียอำนาจไป จนในที่สุดเหลือมคธอยู่แคว้นเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อมาถึงยุคพระเจ้าอโศก ซึ่งเป็นเวลาหลังพุทธกาลนานตั้ง ๒๐๐ กว่าปี มคธก็ได้กลายเป็นแคว้นเดียวที่ใหญ่ที่สุดในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช อาณาจักรมคธของพระเจ้าอโศก ใหญ่กว้างยิ่งกว่าประเทศอินเดียในปัจจุบัน เป็นอินเดียยุคที่มีดินแดนกว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ แต่ก็ใหญ่ออกไปทางสอง ปีก คือทางทิศตะวันออก และทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ออกไปทาง ปากีสถาน และอาฟกานิสถาน ส่วนทางใต้ครอบคลุมไปไม่หมด เพราะพระเจ้าอโศกทรงหยุด แผ่ขยายอาณาจักรหลังจากทําสงครามชนะแคว้นกลิงคะ (บางทีเขียน กาลิงคะ) คือถึงถิ่นที่ปัจจุบันเรียกว่าแคว้นโอริสสา (Orissa) แล้วก็หยุด อยู่แค่นั้น เพราะทรงหันมายึดหลักพระพุทธศาสนา และได้ทรงเปลี่ยน นโยบายใหม่ จากสังคามวิชัย คือเอาชนะด้วยสงคราม มาเป็นธรรมวิชัย คือเอาชนะด้วยธรรม

🔔
การเอาชนะด้วยสงครามนี้ ในจารึก (พบในจารึกศิลา ฉบับที่ ๑๓) เรียกว่า สายวิชัย หรือ สรุสกวิชัย คือเป็น violent conquest หรือ military conquest แต่ยังมีการถกเถียงกัน เนื่องจากบางท่านเห็นว่า ศัพท์นั้นอาจแปลอย่างอื่นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น