วันพฤหัสบดี

๑.๒๓ โสดาปัตติยังคะ ๔

โสดาปัตติยังคะ ๔ แสดงถึง องค์คุณของพระโสดาบัน, ใช้สำหรับสำรวจคุณสมบัติของบุคคลโสดาบัน บางแห่งเรียกว่า แว่นส่องธรรม ประกอบด้วย

๑. มีศรัทธาหยั่งลงมั่นด้วยปัญญาในพระพุทธเจ้า
๒. มีศรัทธาหยั่งลงมั่นด้วยปัญญาในพระธรรม
๓. มีศรัทธาหยั่งลงมั่นด้วยปัญญาในพระสงฆ์
๔. มีศีลสมบูรณ์

      ทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นคุณสมบัติประจำตัว ซึ่งการจะมีคุณสมบัติดังนี้ได้ ก็จะต้องมีคุณสมบัติอื่นที่เป็นเหตุเป็นผลกัน เช่น การที่ศรัทธาหยั่งรากลงมั่นย่อมเป็นผลจากปัญญาที่รู้เห็นประจักษ์แจ้งกับตัวเองแล้วบางส่วน จึงสิ้นสงสัยในธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และกิเลสที่เบาบางลงก็เป็นเหตุให้ความมีศีลสมบูรณ์นั้นเกิดขึ้นมาเองเป็นธรรมดา

ปัญญาวุฒิธรรม ๔

      ธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามแห่งปัญญาตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไปถึงพระอรหันต์ บางครั้งก็เรียก โสดาปัตติยังคะ ๔ แต่ไม่ใช่เป็นคุณสมบัติของพระโสดาบัน เป็นข้อปฏิบัติที่จะทำให้เป็นพระโสดาบันและเจริญในธรรมยิ่งขึ้นไป

๑. สัปปุริสังเสวะ (คบหาสัตบุรุษ, เสวนาท่านผู้รู้ผู้ทรงคุณ)
๒. สัทธัมมัสสวนะ (ฟังสัทธรรม, เอาใจใส่เล่าเรียน หาความรู้จริง)
๓. โยนิโสมนสิการ (ทำในใจโดยแยบคาย, คิดหาเหตุผลโดยถูกวิธี, การรู้จักคิดพิจารณาด้วยใจที่ปลอดโปร่งเป็นอิสระ ไม่เอนเอียง ไม่มีอคติ ไม่ยึดติดทั้งในทางชอบใจ ไม่ชอบใจ จึงทำให้สามารถมองเห็นและเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง)
๔. ธัมมานุธัมมปฏิบัติ (ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม, ปฏิบัติธรรมหลักน้อยคล้อยตามหลักใหญ่, ปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตามหลักคือให้สอดคล้องพอดีตามขอบเขตความหมายและวัตถุประสงค์ที่สัมพันธ์กับธรรมข้ออื่นๆ, นำสิ่งที่ได้เล่าเรียนและตริตรองเห็นแล้วไปใช้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลัก ตามความมุ่งหมายของสิ่งนั้นๆ)




วันพุธ

อ. เสถียร โพธินันทะ #๓


๖๑. สารพันปัญหา ๘
๖๒. สารพันปัญหา ๙
๖๓. สารพันปัญหา ๑๐
๖๔. สารพันปัญหา ๑๑
๖๕. ปปปป
๖๖. ปปปปป
๖๗. ปปปป
๖๘. ปปป
๖๙. ปปปป
๗๐. ปปปป
๖๑. ปปปปป
๖๒. ปปปป
๖๓. ปปป
๖๔. ปปปป
๖๕. ปปปป
๖๑. ปปปปป
๖๒. ปปปป
๖๓. ปปป
๖๔. ปปปป
๖๕. ปปปป
๖๑. ปปปปป
๖๒. ปปปป
๖๓. ปปป
๖๔. ปปปป
๖๕. ปปปป
๖๑. ปปปปป
๖๒. ปปปป
๖๓. ปปป
๖๔. ปปปป
๖๕. ปปปป


 <<<  หน้า ๑     หน้า ๒    หน้า ๓   >>> 


๑.๒๒ พระอริยบุคคล ๗ (ทักขิไฌยบุคคล ๗)

พระอริยบุคคล ๗ (ทักขิไฌยบุคคล ๗)
เป็นการแสดงระดับขั้นของท่านผู้บรรลุธรรม โดยแยกตามอินทรีย์เด่น
บุคคลที่ ๑, ๒ ได้แก่พระอรหันต์
๑. อุภโตภาควิมุต : ผู้ได้สัมผัสด้วยกาย ซึ่งวิโมกข์อันละเอียด (คืออรูปฌานขึ้นไป บางท่านได้โลกียอภิญญา) และพัฒนาต่อด้วยปัญญาจนหลุดพ้น ในสมัยพุทธกาล พระอรหันต์อุภโตภาควิมุต มีจำนวนน้อยกว่าปัญญาวิมุต
๒. ปัญญาวิมุต : ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา ได้อาสวขยญาณอย่างเดียว ไม่ได้โลกิยอภิญญา, สมาธิไม่เกินกว่าขั้นรูปฌาน ๔, บางครั้งท่านแยกออกอีกเป็น ๒ พวกคือ ได้ฌานเฉพาะในขณะที่บรรลุอรหัตตผล เรียก สุกขวิปัสสก ได้รูปฌาน เรียก ปัญญาวิมุต

บุคคลที่ ๓, ๔, ๕ ได้แก่ ผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค
        - พระอนาคามี + ผู้ตั้งอยู่ในอนาคามีมรรค
        พระสกทาคามี + ผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามีมรรค
        พระโสดาบัน
๓. กายสักขี : ผู้เป็นพยานด้วยนามกาย และอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีสมาธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ (ได้สมาธิถึงขั้นอรูปฌาน)
๔. ทิฏฐิปปัตตะ : ผู้บรรลุสัมมาทิฏฐิ คือ ท่านที่เข้าใจอริยสัจจธรรมถูกต้องแล้วและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ
๕. สัทธาวิมุต : ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา คือ ท่านที่เข้าใจอริยสัจจธรรมถูกต้องแล้วและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ

บุคคลที่ ๖, ๗ ได้แก่ ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค
๖. ธัมมานุสารี : ผู้แล่นไปตามธรรม หรือผู้แล่นตามไปด้วยธรรม คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล ที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้า อบรมอริยมรรคโดยมีปัญญาเป็นตัวนำ ท่านผู้นี้ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นทิฏฐิปัตตะ
๗. สัทธานุสารี : ผู้แล่นไปตามศรัทธา หรือผู้แล่นตามไปด้วยศรัทธา คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผลที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้า อบรมอริยมรรคโดยมีศรัทธาเป็นตัวนำ ท่านผู้นี้ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นสัทธาวิมุต

พึงเข้าใจว่า ไม่ว่าผู้ใดจะมีอินทรีย์ใดแรงกล้า แต่ในเวลาตรัสรู้ ปัญญา ย่อมทำหน้าที่เป็นใหญ่ ไม่พึงสับสนกับ เจโตวิมุตติ : ความหลุดพ้นด้านจิต เป็นผลของสมถะ มีสมาธิในขั้นฌานขึ้นไปเป็นตัวนำ ปุถุชน ก็อาจมีเจโตวิมุตติได้ด้วยกำลังของสมาธิระดับฌานขึ้นไป แต่จะเสื่อมได้,

ปัญญาวิมุตติ : ความหลุดพ้นด้วยปัญญา เป็นผลของวิปัสสนา ซึ่งเป็นการกล่าวถึงภาวะและอาการ ผู้บรรลุอรหัตตผล จะต้องได้เจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตตินี้ ครบทั้งสองอย่างทุกบุคคล อย่างไรก็ตามถ้าจัดอย่างไม่เคร่งครัด หรือเน้นอินทรีย์ที่เด่นก็พอใช้เรียกได้ เช่น จัดให้พระสารีบุตรเป็นปัญญาวิมุต (แต่ท่านก็สำเร็จสมาบัติ ๘ และนิโรธสมาบัติ) จัดให้พระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ประเภทเจโตวิมุตติ จัดให้พระวักกลิเป็นพระอรหันต์ประเภทสัทธาวิมุตติ เป็นต้น

ผู้ปฏิบัติแม้ใช้วิธีเจริญวิปัสสนาล้วนๆ สมาธิก็พลอยได้รับการฝึกอบรมไปด้วย จนในที่สุดเมื่อถึงขณะบรรลุมรรคผล สมาธินั้นก็แน่วสนิทเป็นอัปปนาสมาธิ อย่างน้อยถึงระดับปฐมฌาน เป็นอันสอดคล้องกับหลักว่า ผู้บรรลุอริยภูมิ จะต้องมีทั้งสมถะและวิปัสสนาครบทั้งสองทั่วกันทุกบุคคล (ในผู้ที่ไม่ได้ฌานมาก่อน อัปปนาสมาธิเกิดแค่เฉพาะช่วงมรรคจิต ผลจิต เท่านั้น)

“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างนี้ คือ ธรรมที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดวิชชา ได้แก่ สมถะ และวิปัสสนา สมถะ เจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? จิตจะได้รับการเจริญ เมื่อจิตเจริญแล้ว จะละราคะได้ วิปัสสนา เจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? ปัญญาจะได้รับการเจริญ เมื่อปัญญาเจริญแล้ว จะละอวิชชาได้” (พาลวรรค)



วันพฤหัสบดี

๑.๒๑ สังโยชน์ ๑๐

สังโยชน์ หมายถึง กิเลสอันผู้ใจสัตว์, อกุศลธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับวัฏฏะ หรือ ผูกกรรมไว้กับผล

โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ : สังโยชน์เบื้องต่ำ

๑. สักกายทิฏฐิ : ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน, ความเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวของตน เห็นว่ามีตนอยู่ในขันธ์ ๕ เช่น เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นสัญญา เห็นสังขาร เห็นวิญญาณเป็นตัวของตน มีตนอยู่ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ, ความเห็นที่ยังติดแน่นในสมมติว่าเป็นตัวตน เราเขา เป็นนั่นเป็นนี่ มองไม่เห็นสภาพความเป็นจริง ที่สัตว์บุคคลเป็นเพียงองค์ประกอบต่างๆมาประชุมกันเข้า ทำให้มีความเห็นแก่ตัวในขั้นหยาบ และความรู้สึกกระทบกระทั่งบีบคั้นเป็นทุกข์ได้รุนแรง

สักกายทิฏฐิ มีความหมายเหมือนกับ อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่ามีตัวตน) การละสักกายทิฏฐิ เป็นขั้นละมิจฉาทิฏฐิ ไปสู่สัมมาทิฏฐิ คือ ในขั้นนี้แม้จะเลิกเห็นว่าเป็นตัวตนแล้ว แต่ความยึดถือที่ฝังลึก (มานะ) ยังละออกไปได้ไม่หมด ทั้งนี้ครูอาจารย์บางท่านเตือนให้ระวังเข้าใจผิด เพราะความหมายใกล้กับคำว่า นิรัตตา คือ ความดับสูญ รวมถึง นัตถิกทิฏฐิ คือ ความเห็นผลบุญผลบาปว่าไม่มี ซึ่งเหล่านี้เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างยิ่ง

๒. วิจิกิจฉา : ความลังเล สงสัย เคลือบแคลงต่างๆ เช่น สงสัยในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในอริยสัจ ๔ ในสิกขา ในเรื่องที่มาที่ไปของชีวิต ในปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น ทำให้ไม่มั่นใจ ไม่เข้มแข็งแกล้วกล้าที่จะดำเนินชีวิตตามหลักธรรม ด้วยความมีเหตุผล และในการที่จะเดินหน้าแน่วดิ่งไปในอริยมรรคา

๓. สีลัพพตปรามาส : ความถือมั่นศีลและพรต จนเลยเถิด, ถือโดยสักว่าทำตามๆกันไปอย่างงมงาย ไม่เป็นไปตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของศีลและพรต เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและพรต หรือพิธีกรรมต่างๆ ในเรื่องของศีลพรต มีหลักการโดยสรุปว่า เมื่อบุคคลถือปฏิบัติศีลพรตใดแล้ว อกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ศีลพรตอย่างนั้นผิดพลาด ไร้ผล บุคคลถือปฏิบัติศีลพรตใดแล้ว กุศลธรรมเจริญ อกุศลธรรมเสื่อมถอย ศีลพรตอย่างนั้นถูกต้องมีผลดี

ตามหลักแล้ว ตราบใดยังเป็นปุถุชน สีลัพตปรามาสย่อมมีอยู่ไม่มากก็น้อย ต่อเมื่อใดเป็นพระโสดาบัน จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญบริบูรณ์ในศีล (ปรามาส แปลได้หลายความหมาย ๑. ลูบคลำ หยิบฉวย จับต้อง ๒. ยึดมั่นถือมั่นเลยเถิดจากวัตถุประสงค์ ๓. ดูถูก)

๔. กามราคะ (กามฉันทะ, อภิชฌา) : ความติดใคร่ในกามคุณทั้ง ๕, ความอยากได้ใฝ่หาในเรื่องรูป รส กลิ่น เสียง และโผฏฐัพพะ ที่ชอบใจ

๕. ปฏิฆะ (พยาบาท) : ความกระทบกระทั่งในใจ, ความหงุดหงิดขัดเคือง (ท่านว่าที่ใช้คำว่าปฏิฆะแทน โทสะ หรือ พยาบาท เพราะปฏิฆะใช้ในความหมายที่เบากว่า คือหมายถึง โทสะที่เป็นเพียงการขุ่นเคืองในจิตใจ ซึ่งไม่ถึงกับจะไปตีรันฟันแทงใครจริงๆ ส่วนโทสะ (และโลภะ) ในขั้นหยาบพระโสดาบันก็ละได้แล้ว)

อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ : สังโยชน์เบื้องสูง

๖. รูปราคะ : ความติดใจในรูปธรรม ติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน ติดใจปรารถนาในรูปภพ

๗. อรูปราคะ : ความติดใจในอรูปธรรม ติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน ติดใจปรารถนาในอรูปภพ

๘. มานะ : ความสำคัญตน ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่

๙. อุทธัจจะ : ความฟุ้งซ่าน จิตใจไม่สงบ ว้าวุ่น ซัดส่าย คิดพล่านไป

๑๐. อวิชชา : ความไม่รู้จริง, ไม่รู้เท่าทันสภาวะ ไม่เข้าใจกฎธรรมดาแห่งเหตุและผล ไม่รู้อริยสัจ (ในบรรดากิเลสทั้งหลายทั้งปวงที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองนั้น ตัวรากเหง้าที่สุดก็คือ โมหะ หรือ อวิชชา นี่เอง)



๑.๒๐ พระอริยบุคคล

  พระอริยะบุคคล   

คือผู้ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงนิพพาน ที่ดำเนินก้าวหน้ามาในทางที่ถูกจนถึงขั้นมองเห็นจุดหมายอยู่เบื้องหน้าและจะต้องบรรลุจุดหมายนั้นอย่างแน่นอน ท่านจัดเข้าสังกัดในกลุ่มชนผู้เป็นสาวกที่แท้ของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า สาวกสงฆ์ หรือ อริยสงฆ์ มี ๔ ระดับ

๑. พระโสดาบัน

พระโสดาบันเป็นผู้ทำได้บริบูรณ์ในขั้นศีล ทำได้พอประมาณในสมาธิ และทำได้พอประมาณในปัญญา, โลกุตระปัญญาเจริญขึ้นแล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์ จึงต้องอาศัยปัญญาที่หนุนด้วยแรงศรัทธา พระโสดาบันได้เริ่มรู้จักความสงบสุขผ่องใส เป็นอิสระ ที่เป็นด้านโลกุตระ ซึ่งทำให้มองเห็นคุณค่าของธรรม จนเกิดฉันทะในธรรมอย่างจริงจัง จนไม่มีทางที่จะกลับมามัวเมาในการเสพแสวงสิ่งปรนเปรอทางวัตถุอีกต่อไป จึงมีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดาและเป็นผู้แน่นอนแล้วในการเดินหน้าสู่ความตรัสรู้

พระอริยบุคคลอีก ๓ ลำดับ เป็นการเจริญขึ้นในธรรมที่พระโสดาบันเห็นไว้ทั่วพร้อมแล้ว แต่ยังรู้แจ้งประจักษ์กับตัวเพียงบางส่วน คือ เดินทางถูกต้องตามอริยมรรคอย่างแท้จริงแล้ว เป็นผู้ที่จะเกิดในสุคติภพอีกไม่เกิน ๗ ชาติ

ในพระไตรปิฎกมีข้อความที่แสดงถึงคุณสมบัติของพระโสดาบันปรากฏอยู่มากมาย เช่น ผู้ถึงกระแส, ผู้อยู่ชิดประตูอมตะ, ผู้มีสัมมาทิฏฐิสมบูรณ์, ผู้รู้จักโลกแท้จริง, ผู้เห็น / มาถึงสัทธรรมนี้แล้ว

ภาวะและชีวิตของพระโสดาบัน ไม่ห่างไกลและไม่น่ากลัวเลยสำหรับปุถุชนทั้งหลายแม้ในสมัยปัจจุบัน กลับจะเป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งสำหรับสาธุชนด้วยซ้ำ พุทธสาวกโสดาบันจำนวนมากมายในครั้งพุทธกาลเป็นคฤหัสถ์ ดำเนินชีวิตที่ดีงามอยู่ท่ามกลางสังคมของชาวโลก มีชีวิตครอบครัวที่เป็นสุข บำเพ็ญประโยชน์แก่ชุมชน พระศาสนา และบ้านเมือง มีชีวประวัติที่น่ายึดถือเป็นแบบอย่าง พุทธสาวกโสดาบันที่พึงออกชื่อเป็นตัวอย่างแสดงหลักฐานไว้ ณ ที่นี้ เช่น พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ยิ่งใหญ่แห่งแคว้นมคธ, อนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้บำรุงพระสงฆ์และสงเคราะห์คนอนาถาอย่างไม่มีใครอื่นเทียบเท่า, นางวิสาขามหาอุบาสิกา ผู้แม้มีบุตรมากถึง ๒๐ คน แต่สามารถบำเพ็ญประโยชน์ส่วนรวมได้เป็นอย่างดี มีเกียรติคุณสูงเด่นในสังคมแคว้นโกศล, หมอชีวก โกมารภัจ แพทย์ใหญ่ประจำพระองค์ราชาแห่งมคธ ประจำพระองค์พระพุทธเจ้าและคณะสงฆ์, นกุลบิดาและนกุลมารดา คู่สามีภรรยาผู้ครองรักอันภักดีมั่นคงตราบชรา และยังปรารถนาเกิดพบกันทุกชาติไป เป็นต้น

คุณสมบัติของพระโสดาบัน

๑.๑ คุณสมบัติฝ่ายมี
๑) ด้านศรัทธา : มีความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่นด้วยปัญญา ในพระรัตนตรัย (บางสำนวนนิยมใช้ว่า “ตถาคตโพธิสัทธา” คือ ความเชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งความหมายก็ครอบคลุมถึงพระรัตนตรัยไปด้วยในตัว) เป็นศรัทธาซึ่งแน่วแน่ มั่นคง ไม่มีทางผันแปร เพราะเกิดจากญาณ คือ ความรู้ ความเข้าใจ ทำให้มีความมั่นคงในธรรมโดยสมบูรณ์ เป็นศรัทธาที่แท้ คือ ไม่ทำให้งมงายแต่เป็นศรัทธาที่ทำให้หายงมงาย หรือ ศรัทธาที่เอื้อต่อปัญญานั่นเอง แม้ประสบความไม่เกื้อกูลสักเท่าใด ความมั่นใจในคุณธรรมก็ไม่มีทางเสื่อมถอย กล่าวได้ว่าเป็นผู้มีศรัทธาในพระรัตนตรัยอย่างสมบูรณ์

๒) ด้านศีล : มีศีลที่เป็นไท เป็นอิสระไม่เป็นทาสของตัณหา ไม่ถูกถือมั่นหรือไม่ต้องยึดมั่น เป็นศีลที่เกิดจากคุณธรรมภายใน การรักษาศีลจึงจะเป็นไปเอง เพราะเป็นศีลอยู่ในตัว เป็นปกติธรรมดา ตรงตามหลัก ตามความมุ่งหมายที่แท้ ไม่หย่อน ไม่เขว ไม่เลยเถิดไป เนื่องจากไม่มีกิเลสอย่างหยาบอันเป็นเหตุให้ละเมิด โดยทั่วไปหมายถึงศีล ๕ ที่ประพฤติได้อย่างถูกต้อง จัดเป็นขั้นที่บำเพ็ญศีลได้บริบูรณ์

พระพุทธเจ้าตรัสแสดงว่า แม้แต่พระอรหันต์ก็ยังต้องอาบัติเล็กๆน้อยๆได้ แต่พระอริยะทั้งหลายจะไม่ต้องอาบัติที่เป็นหลักพื้นฐานของพรหมจรรย์ด้วยความจงใจเลย ส่วนปุถุชน ศีล ดำรงอยู่ได้ดีด้วยศรัทธา

๓) ด้านสุตะ : ได้เรียนรู้ นับว่าเป็นผู้มีการศึกษา (เน้นเฉพาะด้านทางธรรม)

๔) ด้านจาคะ : อยู่ด้วยใจที่ปราศจากความตระหนี่ มีน้ำใจเผื่อแผ่เสียสละ ยินดีในการให้ การเฉลี่ยเจือจานแบ่งปัน สิ่งของที่ควรให้เท่าที่ตนเองมี ดังคำที่ท่านบรรยายว่า สิ่งของที่ควรให้ได้ บุคคลโสดาบันเฉลี่ยแบ่งปันกับคนมีศีลมีกัลยาณธรรมได้ทั้งหมด

๕) ด้านปัญญา : มีปัญญาอย่างเสขะ คือ รู้ชัดในอริยสัจ ๔ มองเห็นปฏิจจสมุปบาท เข้าใจไตรลักษณ์ เป็นอย่างดี จนสลัดมิจฉาทิฏฐิทั้งหลายในรูปแบบต่างๆได้สิ้นเชิง มีสัมมาทิฏฐิเพียบพร้อม ทำให้หมดความสงสัยในอริยสัจทั้ง ๔ นั้น เรียกตามสำนวนธรรมว่า เป็นผู้รู้จักโลกแท้จริง

        👉๕ ข้อแรก รวมเรียกว่า อารยวัฒิ ๕ คือ ความเจริญอย่างอริยชน, ธรรมที่ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าอันมั่นคง ใช้วัดความเจริญก้าวหน้าในธรรม เป็นธรรมหมวดที่ถือได้ว่ามีความสำคัญมาก ท่านยกขึ้นมาตรัสสอนอยู่บ่อยครั้ง เช่น

“แม้ผู้ที่เป็นปุถุชน แต่มีธรรม ๕ อย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้เตรียมการสู่ชัยชนะในโลกหน้า” (อิฐโลกสูตร)
“ผู้ใดเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา, ผู้นั้นนับเป็นสัตบุรุษผู้ปรีชา (หรืออุบาสิกาผู้มีศีล) ย่อมถือเอาสาระในโลกนี้ไว้แก่ตนได้” (วัฑฒิสูตร)
“ภิกษุทั้งหลาย สำหรับมารดาและบิดา เราไม่กล่าวว่าจะกระทำการตอบแทนคุณได้ง่ายเลย, หากบุตรจะเอามารดาไว้บนบ่าข้างหนึ่ง เอาบิดาไว้บนบ่าข้างหนึ่ง ปรนนิบัติ ตลอดร้อยปี นั่นก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นอันได้ตอบแทนแก่มารดาบิดา, ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก เป็นผู้บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย  บุตรคนใดชักจูง ปลูกฝัง ให้มารดาบิดาเจริญขึ้นใน ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา, ด้วยการกระทำนี้ จึงชื่อว่าเป็นอันได้ทำคุณ ได้ตอบแทนแก่มารดาบิดา” (สมจิตตวรรค)


๖) มีทิฏฐิสามัญญตา : มีความเห็นชอบร่วมกับเพื่อนร่วมหมู่ในอารยทฤษฏี, เมื่อต้องอาบัติ (ละเมิดวินัย) ก็จะรีบเปิดเผยแสดงให้หมู่คณะที่เป็นวิญญูได้ทราบแล้วสังวรต่อไป, ทั้งช่วยส่วนรวม ทั้งคอยฝึกตนให้ก้าวต่อไปในมรรคา

๗) ด้านความสุข : เริ่มรู้จักโลกุตรสุข ที่ประณีตลึกซึ้ง ซึ่งไม่ต้องอาศัยอามิส (เพราะได้บรรลุอริยวิมุตติแล้วตามระดับภูมิธรรม) ความสุขนี้เป็นทั้งผล และเป็นทั้งปัจจัยพันเนื่องอยู่ด้วยกันกับคุณธรรมที่ประพฤติ จึงเป็นหลักยืนยันถึงความไม่ไหลเวียนกลับลงต่ำอีกต่อไป มีแต่จะช่วยค้ำชูส่งเสริมให้ก้าวสูงขึ้นไปในเบื้องหน้า


๑.๒ คุณสมบัติฝ่ายหมด หรือฝ่ายละ

๑) ละสังโยชน์ได้ ๓ ข้อแรก (สังโยชน์ ๑๐ ดูบทถัดไป)

๒) ละมัจฉริยะ : ความตระหนี่ ความใจคับแคบ หวงแหน คอยกีดกันผู้อื่นทั้ง ๕ อย่าง คือ หวงถิ่นที่อยู่, หวงตระกูล เล่นพรรคเล่นพวก, หวงลาภ คิดกีดกันไม่ให้คนอื่นได้, หวงกิตติคุณ ไม่พอใจให้ใครมาแข่งดีกับตน ไม่พอใจเมื่อคนอื่นได้ดี, หวงธรรม หวงวิชาความรู้

๓) ละอคติ : ความลำเอียง ทั้ง ๔ อย่าง คือ ลำเอียงเพราะชอบ, ลำเอียงเพราะชัง, ลำเอียงเพราะกลัว, ลำเอียงเพราะหลงหรือเขลา

๔) ละราคะ โทสะ โมหะ ขั้นหยาบหรือรุนแรง ที่จะทำให้ถึงอบาย, ไม่ทำชั่วขั้นร้ายแรงที่จะเป็นเหตุให้ไปอบาย

๕) ระงับทุกข์ทางใจต่างๆ ที่จะพึงเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามศีล ๕ : เป็นผู้พ้นจากอบายสิ้นเชิง ความทุกข์ในจิตใจส่วนใหญ่หมดสิ้นไปแล้ว ที่เหลืออยู่อีกเพียงเล็กน้อย

* คุณสมบัติฝ่ายหมดและฝ่ายมีนี้ ว่าโดยสาระสำคัญ ก็เป็นอย่างเดียวกัน กล่าวคือ จะละสักกายทิฏฐิได้ ก็เพราะมีปัญญาหยั่งรู้สภาวธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง

* เมื่อเกิดปัญญาเข้าใจชัดขึ้นอย่างนี้ วิจิกิจฉา คือ ความสงสัยคลางแคลงใจก็หมดไป ศรัทธาที่อาศัยปัญญาก็แน่นแฟ้น

* พร้อมกันนั้น ก็จะรักษาศีลได้ถูกต้องตามหลักการ ตามความมุ่งหมาย สีลัพตปรามาสก็มลายสิ้นไป

* เมื่อจาคะเจริญขึ้น มัจฉริยะก็หมดไป

* เมื่อราคะ โทสะ โมหะ เบาบางลง ก็ไม่ตกไปในอำนาจของอคติ และไม่มีเหตุจูงใจให้ทำชั่วร้ายแรง

* ราคะ โทสะ โมหะ เบาบางลง ก็เพราะปัญญาที่มองเห็นความจริงของโลกและชีวิต ทำให้คลายความยึดติด เมื่อยึดติดถือมั่นน้อยลง ความทุกข์ก็ผ่อนคลาย และรู้จักความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้น

พระโสดาบันได้พบกับความสุขที่ประณีตล้ำลึก อันประจักษ์เฉพาะตนว่าเป็นสิ่งมีคุณค่าสูงล้ำ ซึ่งแม้ตนจะยังเสวยกามสุขหรือโลกิยสุขอื่นๆอยู่ ก็จะไม่ยอมให้ความสุขที่หยาบกว่าเหล่านั้นเป็นเหตุบั่นรอนความสุขที่ประณีต คือ จะไม่ยอมสละโลกุตรสุข เพื่อมาเติมขยายให้แก่โลกิยสุข พูดอีกนัยหนึ่งว่า โลกิยสุขถูกทำให้สมดุลด้วยโลกุตรสุขอันประณีต

ความเป็นโสดาบัน เป็นชีวิตระดับที่ยอมรับได้ว่าน่าพอใจ และวางใจได้ ทั้งในด้านคุณธรรมและความสุข พระพุทธเจ้าได้ตรัสเน้นถึงคุณค่าและความสำคัญของความเป็นโสดาบันอย่างมากมาย ดังจะทรงสนับสนุนให้เวไนยชน หันมาสนใจภูมิธรรม หรือระดับชีวิตขั้นนี้ อย่างจริงจัง และยึดเอาเป็นเป้าหมายของการดำรงอยู่ในโลก ดังพุทธพจน์สำคัญตอนหนึ่งว่า

“เลิศล้ำ เหนือกว่าความเป็นจักรพรรดิ ยิ่งกว่าการได้ไปสวรรค์ ประเสริฐกว่าสิ่งใดในโลก คือ การบรรลุโสดาปัตติผล” (คาถาธรรมบท โลกวรรค)

หากยังรู้สึกว่านิพพานห่างไกลและยากเกินไปที่จะเข้าใจ ถ้าพูดถึงนิพพานแล้ว ยังให้เกิดความรู้สึกอ้างว้างโหวงเหวง ก็พึงยึดเอาภาวะโสดาบันนี่แหละเป็นสะพานทอดไปสู่ความเข้าใจนิพพาน เพราะความเป็นโสดาบันเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงความรู้สึกและเข้าใจได้ง่ายกว่าสำหรับคนสมัยปัจจุบัน ในเวลาเดียวกันก็เกี่ยวข้องกับนิพพาน โดยฐานเป็นการเข้าถึงกระแสสู่นิพพาน หรือที่อรรถกถาเรียกว่าเป็น “ปฐมทัศน์แห่งนิพพาน” นับว่าได้ผลทั้งสองด้าน และยังถูกต้องตามหลักการที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ด้วย

พุทธพจน์ “ทุกข์ส่วนที่หมดไปแล้วของพระโสดาบันเปรียบเหมือนกับขุนเขาสิเนรุ ส่วนทุกข์ที่ยังเหลือเปรียบเหมือนก้อนหินขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว ๗ ก้อน” (สิเนรุสูตร)

“ดูกรคฤหบดี เมื่อใด อริยสาวกมีภัยเวร ๕ ประการ (การผิดศีล ๕) ระงับแล้ว เป็นผู้ประกอบด้วยโสดาปัตติยังคะ 4๔ ประการ, และได้เห็นได้เข้าใจปรุโปร่งเป็นอย่างดีด้วยปัญญา ซึ่งอริยญายธรรม (ปฏิจจสมุปบาท), อริยสาวกนั้น เมื่อประสงค์ ก็พึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตัวเองว่า เราเป็นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้แน่นอนแล้ว ที่จะเดินหน้าสู่การตรัสรู้” (เวรสูตร)

๒. พระสกทาคามี

ผู้กลับมาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียวก็จะกำจัดทุกข์ได้สิ้น (เกิดในกามาวจรสุคติภูมิอีกครั้งเดียวก็ถึงพระนิพพาน) เป็นผู้ทำได้บริบูรณ์ในขั้นศีล ทำได้พอประมาณในสมาธิ และทำได้พอประมาณในปัญญา นอกจากละสังโยชน์ ๓ ข้อต้นได้แล้ว ยังทำราคะ โทสะ และโมหะ ให้เบาบางลงไปอีกต่อจากขั้นของพระโสดาบัน

๓. พระอนาคามี

ผู้จะปรินิพพานในที่ผุดเกิดขึ้น (ชั้นสุทธาวาส) ไม่เวียนกลับมาอีก ทำได้บริบูรณ์ในขั้นศีล ทำได้บริบูรณ์ในสมาธิ และทำได้พอประมาณในปัญญา ละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ครบ 5 ข้อ แม้ไม่ได้ฌานสมาบัติ แต่ก็เป็นสมาธิที่สมบูรณ์ในตัว ยั่งยืนคงระดับ เพราะไม่มีกิเลส (กามราคะ, ปฏิฆะ) ที่จะทำให้เสื่อมถอยหรือรบกวน

๔. พระอรหันต์

ผู้ควรแก่ทักขิณา ผู้หักกำแห่งสังสารจักรได้แล้ว เป็นผู้สิ้นอาสวะ เป็นผู้ทำได้บริบูรณ์ในสิกขาทั้งสาม คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ละสังโยชน์ได้หมดทั้ง ๑๐ ข้อ ไม่มีภูมิธรรมสูงกว่านั้นที่จะต้องขวนขวายบรรลุอีก

พระอริยบุคคล ๓ ระดับต้น เรียกว่า พระเสขะ แปลว่า ผู้ยังต้องศึกษา (ขั้นรู้ชัดด้วยปัญญา อันยังต้องประกอบด้วยศรัทธา) ส่วนพระอรหันต์ เรียกว่า พระอเสขะ แปลว่า ผู้ไม่ต้องศึกษา เพราะศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว (เข้าถึง หลุดพ้น โดยประจักษ์แจ้งกับตัว ไม่จำเป็นต้องอาศัยศรัทธา)

พระอรหันต์ทั้งหลายเสวยอารมณ์ด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมชาติของมัน ไม่ถูกกิเลสครอบงำหรือชักจูง ไม่ถูกเผาลนด้วยตัณหา และไม่มืดมัวด้วยอวิชชา เป็นอยู่ด้วยจิตใจที่โปร่งโล่ง ผาสุข เป็นอิสระ เมื่อไม่มีกิเลสชักนำไปสู่ภพ กระบวนธรรมสังสารวัฏฏ์ก็สิ้นสุดลง เข้าสู่วิวัฏฏ์ (นิพพาน) บรรลุภาวะแห่งความดับทุกข์ เป็นผู้มีชัยต่อปัญหาชีวิต มีความสุขอย่างแท้จริง อันเป็นประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้ คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมามีชีวิต

อริยชน กับ ปุถุชน ต่างกันในข้อสำคัญ คือ อริยชนมีความสุขไร้ทุกข์ เป็นพื้นประจำตัว ส่วนปุถุชนต้องทะยานหาความสุข เพราะมีความขาดสุข หรือมีทุกข์คอยเร้า ยืนพื้นอยู่เป็นประจำ




วันศุกร์

๑.๑๙ นิพพาน มีอัตตาไหม เป็นอัตตาไหม?

บรรดาสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ใช้คำเรียกให้สั้นที่สุดว่าธรรม ยืดออกไปหน่อยว่าสภาวะ หรือสภาวธรรม ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า สิ่งทั้งหลายนั้นมีอยู่เป็นอยู่ตามภาวะของมัน ตามธรรมดาของมัน ถ้าเป็นสังขารหรือสังขตธรรม ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เมื่อพูดถึงนิพพาน ที่เป็นวิสังขาร หรืออสังขตธรรม นิพพานก็มีอยู่เป็นอยู่ตามภาวะของนิพพาน เช่นว่าเป็นภาวะบริสุทธิ์ ไม่ขึ้นต่ออะไรๆ เป็นต้น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้แล้วมากมาย เมื่อนิพพานมีภาวะของนิพพานอย่างนั้น เป็นธรรมดาเช่นนั้นอยู่แล้ว จะมีอัตตามาแทรกมาซ้อนมาครอบมาครอง มาสั่งบังคับบัญชานิพพานอย่างนั้นอย่างนี้อีก ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้  ขอให้ดูตัวอย่างในพุทธภาษิตที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งของตน” นี่เป็นการใช้ในภาษาสมมติ (สมมติสัจจะ) ในความจริงแท้ (ปรมัตถสัจจะ) เราก็เรียนรู้กันว่าตัวเราแท้ๆนั้นไม่มีจริง ยอมรับกันแค่ตามสมมติ

นิพพานจะเป็นอัตตา จะเป็นตัวเราได้ ก็คือมีความยึดถือ ได้แก่อุปาทาน นี่ก็ขัดกับสภาวธรรมเอง เพราะจะประจักษ์แจ้งนิพพานได้ ต้องหมดสิ้นอุปาทานแล้ว พระอรหันต์จึงไม่มีความสำคัญหมายว่านิพพานของเรา

หลักพระพุทธศาสนาบอกชัดเจนว่าการถือว่ามีว่าเป็นอัตตา เป็นกิเลสที่เรียกว่า “อัตตวาทุปาทาน” หมายถึง การยึดวาทะถ้อยคำที่ส่อแสดงความคิดความเข้าใจว่ามีว่าเป็นอัตตา ขอให้สังเกตว่าประกอบด้วยศัพท์คำว่า “อัตตา+วาทะ+อุปาทาน” เพราะเมื่ออัตตาไม่มีจริง จะไปยึดอัตตาที่ไหน ก็เป็นแต่เพียงการยึดในวาทะว่ามีอัตตาเท่านั้น เป็นคำศัพท์ที่เรียกได้ว่าเคร่งครัด การปฏิบัติเกี่ยวกับนิพพานก็ดี นิพพานก็ดี ไม่ใช่เรื่องของการดับอัตตา เพราะไม่มีอัตตาที่จะต้องไปดับหรือไปทำลาย สิ่งที่จะต้องดับหรือทำลาย คือความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา ทิฏฐิว่ามีอัตตา ถ้ายังยึดว่าอะไรเป็นอัตตา ก็คือยืนยันว่ายังไม่รู้จักนิพพาน

สรุปด้วยพุทธพจน์ว่า “เรามองไม่เห็นความยึดถือวาทะว่ามีว่าเป็นอัตตา อย่างใด ที่เมื่อยึดติดถือมั่นเข้าแล้ว จะไม่ก่อให้เกิด โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส” (อลคัททูปมสูตร)


๑.๑๘ ความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับนิพพาน

มีความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับนิพพานซึ่งควรกล่าวถึง คือ ความเชื่อว่านิพพานคือภาวะที่เข้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับบรมสภาวะ พระผู้เป็นเจ้า ปรมาตมัน เป็นต้น

ตามปกตินั้น พระพุทธศาสนาชอบพูดอย่างง่ายๆตรงๆ เมื่อกล่าวถึงนิพพานก็ว่า เป็นภาวะดับกิเลสได้ หายร้อน หลุดพ้น เป็นอิสระ ไร้ทุกข์ ผ่องใส เบิกบาน ไม่ติดข้อง ไม่ถูกครอบงำรัดรึง พูดทำนองนี้จบแล้ว ก็พอกัน ไม่ต้องไปรวมไปกลืนหายเข้าในอะไรๆอีก พระอรหันต์ท่านหลุดโล่งโปร่งสบาย จิตใจไร้เขตแดน เป็นอิสระเสรีโดยสมบูรณ์แล้ว ไม่ปรากฏว่าท่านเคยคิดจะรวมเข้ากับอะไรๆอีก หรือว่าได้เข้ารวมกลมกลืนไปในอะไรๆแล้ว มีแต่ปุถุชนพยายามจะคิดให้ท่าน

การบรรลุนิพพาน ทำให้กิเลสและความทุกข์นั้นสูญสิ้นไปโดยเด็ดขาด เพราะขุดหรือถอนทิ้งด้วยปัญญา และสิ่งที่ดับไปในการประจักษ์แจ้งนิพพานนั้น ก็เป็นการดับเฉพาะสิ่งที่ชั่วร้าย และเหตุให้วุ่นวายเดือดร้อนต่างๆ เช่น ดับโลภะ โทสะ โมหะ ดับตัณหา ดับภพ ดับทุกข์ ดับอวิชชา มิได้ดับอะไรที่เป็นสิ่งดีงามเลย ยิ่งกว่านั้น เมื่อดับสิ่งชั่วร้ายแล้ว ก็กลับมีคุณลักษณะที่ดีเด่นขึ้นมาแทน อย่างชนิดเป็นไปเองตามธรรมดา นอกเหนือจากความสุข คือ การดำเนินชีวิตด้วยปัญญา และการบำเพ็ญกิจด้วยกรุณา



© 2008. Template by Dicas Blogger.

TOPO