วันเสาร์

วิปัสสนูปกิเลส ๑๐

วิปัสสนูปกิเลส มี ๑๐ คือ
๑. โอภาส คือ แสงสว่าง หมายถึงแสงสว่างในวิปัสสนา สำหรับผู้ปฏิบัติแต่ละท่านจะมีกำลังของแสงสว่างไม่เท่ากัน บางท่านส่องสว่างเพียงที่นั่ง ส่องสว่างตลอดภายในห้อง ส่องสว่างภายนอกห้องด้วย ส่องสว่างไปทั่ววิหารทั้งหมด เป็นต้น ส่องสว่างไปไกลเป็นโยชน์ๆ (แต่ของพระพุทธเจ้าส่องสว่างไปตลอด ๑๐,๐๐๐ โลกธาตุ) เมื่อเกิดขึ้นอย่างนี้ผู้ปฏิบัติก็คิดว่า “ แสงสว่างเช่นนี้ไม่เคยปรากฏแก่ตัวเราเลยเราคงบรรลุมรรคผลแน่แล้ว ” เมื่อเข้าใจผิดเช่นนี้ก็ยึดถือเอาแสงสว่างนั้นเองว่าเป็นมรรคผล จึงเป็นเหตุให้วิปัสสนาญาณออกไปนอกทาง เพราะผู้ปฏิบัติจะละทิ้งอารมณ์วิปัสสนาเดิมแล้วกลับไปนั่งชื่นชมแสงสว่างนั้นอยู่ด้วยอำนาจของตัณหา มานะ และทิฏฐิ โดยส่วนมากวิปัสสนูปกิเลสนี้มักเกิดแก่ผู้ที่เจริญวิปัสสนาภาวนา แบบสมถวิปัสสนา คือ เจริญสมถะมาก่อนแล้วจึงเจริญวิปัสสนาภายหลัง เมื่อเกิดโอภาสแสงสว่าง และกิเลสทั้งหลายก็ไม่เกิดขึ้นกับเราเลย เพราะว่ากิเลสที่ถูกข่มไว้ด้วยอำนาจของสมาธิไม่สามารถกำเริบได้ จึงทำให้ผู้ที่ได้สมถวิปัสสนานั้นเกิดความคิดว่า “ ได้เป็นพระอรหันต์

๒. ญาณ หมายถึง วิปัสสนาญาณ ในขณะที่ผู้ปฏิบัติกำลังเทียบเคียงไตร่ตรองรูป และนามทั้งหลายอยู่นั้นญาณซึ่งมีกระแสอันปราดเปรียวแหลมคม แก่กล้าชัดแจ้งก็บังเกิดขึ้น ประดุจดังวชิระของพระอินทร์ที่ทรงซัดออกไป ก็ทำให้ผู้ปฏิบัติหลงติดอยู่ในปัญญานั้นและทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเราบรรลุแล้วหนอ เพราะปัญญาอันแก่กล้าเช่นนี้ที่ไม่เคยเกิดได้เกิดขึ้นแก่เรา ทำให้ละทิ้งอารมณ์กรรมฐานที่ควรเจริญไปเสีย

๓. ปีติ หมายถึง ความเอิบอิ่มที่ประกอบด้วยวิปัสสนา ปีติที่เกิดขึ้นในระยะนี้มี ๕ อย่าง คือ
    ๑. ขุททกาปีติ ความเอิบอิ่มเล็กน้อย
    ๒. ขณิกาปีติ ความเอิบอิ่มที่เกิดขึ้นชั่วขณะ
    ๓. โอกกันติกาปีติ ความเอิบอิ่มที่เกิดเป็นระลอกๆ
    ๔. อุพเพงคาปีติ ความเอิบอิ่มโลดแล่น
    ๕. ผรณาปีติ ความเอิบอิ่มซาบซ่านแผ่ไปทั่วกาย

๔. ปัสสัทธิ หมายถึง ความสงบในวิปัสสนา ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนากำลังนั่งอยู่ในที่พักกลางคืนหรือกลางวันก็ตาม ในขณะนั้นทั้งกายและใจของผู้ปฏิบัติจะปราศจากสิ่งรบกวนทั้งหลาย เช่น ความกระวนกระวาย ความหนัก ความแข็งกระด้างความไม่ควรแก่การงาน ความเจ็บไข้ แต่กายและใจของผู้ปฏิบัติจะประกอบไปด้วย ความสงบ ความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงาน ความผ่องใส ความเที่ยงตรง บุคคลที่ประกอบไปด้วยปัสสัทธิเช่นนี้แล้วก็จะมีความเพลิดเพลินยินดีอยู่อย่างนั้น ทำให้ ทิ้งอารมณ์กรรมฐาน ไม่สามารถทำให้ญาณปัญญาในขั้นสูงเกิดขึ้นเพราะติดอยู่ในปัสสัทธิ

๕. สุข หมายถึง ความสุขที่ประกอบด้วยวิปัสสนา คือในขณะที่ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญวิปัสสนาอยู่นั้น ความสุขอันประณีตยิ่งก็จะเกิดขึ้นมาก ชนิดท่วมท้นไปทั่วสรีระ เป็นสุขชนิดที่ท่วมท้นหัวใจ ไม่สามารถที่จะบรรยายได้ เพราะเป็นสุขที่มีรสอันล้ำลึก เป็นสุขที่ประเสริฐกว่าความสุขธรรมดาที่มนุษย์พบเห็น สรุปว่า บรรดาความสุขทั้งหลาย อะไรจะมาสุขเท่าสุขในวิปัสสนาไม่มี ฉะนั้นถ้าพิจารณาในสุขอย่างนี้ไม่รอบคอบจะทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจผิดยึดว่าสุขนี้เป็นมรรค เป็นผล

๖. อธิโมกข์ หมายถึง ความเชื่อ หรือ ศรัทธาที่ประกอบด้วยวิปัสสนา อธิโมกข์ที่เป็นวิปัสสนูปกิเลสนี้ จะมีลักษณะความผ่องใสอย่างยิ่งของจิตและเจตสิกเป็นศรัทธาที่มีกำลังมาก เพราะจิตและเจตสิกผ่องใสเป็นอย่างยิ่ง ด้วยอำนาจศรัทธากล้า พาให้นึกคิดไปใหญ่โต เช่นคิดถึงคนทั้งหลายอยากให้เขาได้เข้ากรรมฐานอย่างตนบ้าง นึกถึงบุญคุณของพระพุทธศาสนา บุญคุณของอาจารย์ผู้สอน เป็นต้น เมื่อคิดเพลิดเพลินไปด้วยศรัทธาอันแรงกล้าทำให้ผู้ปฏิบัติลืมอารมณ์กรรมฐาน ละเลยอารมณ์กรรมฐาน ทำให้เสียเวลาในการปฏิบัติวิปัสสนา ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะมีตัณหา มานะ ทิฏฐิ เข้ามาผสมกับศรัทธานี้ก็ยิ่งทำให้การบำเพ็ญไม่มั่นคง ไม่ก้าวหน้า

๗. ปัคคาหะ หมายถึง ความเพียรที่ประกอบด้วยปัญญาซึ่งเป็นความเพียรที่ไม่หย่อนเกินไป ไม่ตึงเกินไปประคับประคองไว้เป็นอย่างดี พยายามในการปฏิบัติวิปัสสนาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่ก่อนแม้อาจารย์จะคอยเตือนให้พยายามทำความเพียรก็รู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลีย หมดความเพียร แต่บัดนี้ความคิดเช่นนั้นหายไปสิ้น เกิดความขยันขึ้นเป็นพิเศษจนทำให้ตนเองแปลกใจว่า เหตุใดตนจึงมีวิริยะมากไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการปฏิบัติเช่นนี้ และเมื่อพิจารณาไม่ดี ใส่ใจไม่ถูกก็จะเข้าใจผิดไปว่าได้มรรคผลแล้ว

๘. อุปัฏฐานะ หมายถึง สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนา ซึ่งเป็นสติที่เข้าไปตั้งอยู่อย่างดีมั่นคงฝังลึกไม่หวั่นไหวประดุจภูเขาหลวง สติที่เป็นชนิดอุปัฏฐานะนี้ เมื่อเกิดแก่ผู้ปฏิบัติแล้ว ถ้ารำพึงหรือนึกถึงอารมณ์ใดอารมณ์นั้นก็ปรากฏชัดเจนมากที่สุด ชนิดว่าไม่เคยเกิดกับตนเช่นนี้มาก่อน ทำให้ผู้ปฏิบัติหลงเข้าใจผิดว่าตนนั้นเป็นผู้วิเศษแล้ว แต่ที่จริงแล้วยังถูกครอบงำด้วย ตัณหา มานะ ทิฏฐิ

๙. อุเบกขา หมายถึง วิปัสสนูเปกขา และ อาวัชชนูเปกขา วิปัสสนูเปกขา ได้แก่ ความเป็นกลางในสังขารทั้งปวง ส่วนอาวัชชนูเปกขา ได้แก่ ความเป็นกลางที่เกิดขึ้นในมโนทวารนั่นเอง อุเบกขาทั้งสองนี้เกิดขึ้นแก่โยคีบุคคลผู้ซึ่งเริ่มต้นบำเพ็ญวิปัสสนา เมื่ออุเบกขากำลังดำเนินไปอย่างนี้ ผู้ปฏิบัติรำพึงถึงอารมณ์ใด อุเบกขานั้นก็จะดำเนินไปอย่างแก่กล้าแหลมคม ไม่ยินดียินร้ายต่อทุกสิ่งเหมือนคนไม่มีกิเลสวางเฉยได้ทุกประการ จนตนเองก็แปลกใจในภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้เป็นยิ่งนัก ถ้าเข้าใจผิดก็จะคิดไปว่าตนเป็นพระอรหันต์แล้วเพราะวางเฉยได้เป็นอย่างดีแล้ว

๑๐. นิกันติ หมายถึง ความยินดีพอใจในวิปัสสนา นิกันตินี้เป็นสภาพที่มีอาการสุขุม และเมื่อเกิดแก่ผู้ปฏิบัติแล้ว ย่อมทำความติดใจหรืออาลัยต่อวิปัสสนูปกิเลส ได้แก่โอภาสเป็นต้น นิกันติในวิปัสสนานี้เป็นความยินดีพอใจที่ใครๆ ไม่สามารถกำหนดรู้ได้ว่าเป็นกิเลส เพราะเป็นสภาพของกิเลสที่ละเอียดมาก

การที่ธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้จัดเป็นกิเลสของวิปัสสนาก็เพราะว่าเมื่อธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นจะทำให้ติดอยู่ในอารมณ์นั้นแล้วจะทำให้รู้สึกว่าเป็นสุข เป็นเหตุให้เกิดความพอใจ เมื่อความพอใจเกิดขึ้น การพิจารณารูปนามว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น จิตจะละเลยการปฏิบัติทำให้ไม่สามารถพิจารณาธรรมให้เห็นถึงไตรลักษณ์ จึงเป็นเหตุให้ไม่บรรลุมรรคผลได้เลย

วิปัสสนูปกิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้ ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติทุกคนที่เป็นปุถุชน เมื่อบรรลุถึง อุทยัพพยญาณอย่างอ่อน ฉะนั้นเมื่อวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นก็ให้พิจารณาให้ดีและให้มีสติ อย่าหลงอยู่ในวิปัสสนูปกิเลสเหล่านี้เป็นอันขาด เพราะจะทำให้การปฏิบัติหยุดชะงักไม่ก้าวหน้าถึงญาณเบื้องสูง

วิปัสสนูปกิเลสจะไม่เกิดกับบุคคล ๔ พวก คือ
๑. พระอริยสาวกผู้บรรลุปฏิเวธแล้ว
๒. ผู้ปฏิบัติผิดเริ่มตั้งแต่ศีลวิบัติ เครื่องมือวัดว่าปฏิบัติถูกทางหรือไม่ ก็คือวิปัสสนูปกิเลสนี้เอง
๓. ผู้ละทิ้งกรรมฐาน
๔. ไม่มีแก่ผู้เกียจคร้าน แม้จะปฏิบัติถูกต้องมาตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อวิริยะความเพียรน้อยก็ทำให้มีกำลังสมาธิอ่อน เพราะว่าอารมณ์ในวิปัสสนูปกิเลสนั้นเกิดขึ้นจากกำลังสมาธิ

ผู้ปฏิบัติเมื่อประสบกับวิปัสสนูปกิเลสแล้วควรทำอย่างไร
เมื่อผู้ปฏิบัติเป็นผู้มีสติอย่างดีเฉียบแหลม ผู้นั้นก็จะผ่านกับดักคือวิปัสสนูปกิเลสไปได้โดยการใคร่ครวญด้วยสติปัญญา ดังนี้

๑. โอภาสนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว แต่สภาวะของโอภาสนั้นไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา
๒. ถ้าโอภาสนี้เป็นอัตตาแล้ว การยึดถือโอภาสว่าเป็นอัตตาก็สมควร แต่โอภาสนี้มิใช่อัตตา แต่เป็นอนัตตา เพราะว่าไม่เป็นไปในอำนาจ เป็นอนิจจัง เพราะว่ามีแล้วก็ไม่มี เป็นทุกขัง เพราะว่ามีการเบียดเบียน

เมื่อผู้ปฏิบัติที่ชาญฉลาดใคร่ครวญดังนี้แล้วก็จะเห็นเนืองๆ ในโอภาสว่า “ โอภาสนี้มิใช่ของเรา เรามิใช่โอภาส โอภาสนี้มิใช่อัตตาของเรา ” (การพิจารณา ญาณ ปีติ เป็นต้นก็เป็นไปทำนองเดียวกัน) เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นอย่างนี้อยู่เสมอเนืองๆ ก็จะสามารถผ่านพ้นวิปัสสนูปกิเลสทั้งหลายได้



1 ความคิดเห็น:

  1. ปลายปี ๒๕๖๓ ผมออกปลีกวิเวกที่สังขละบุรี(2020/12/blog-post_29.html) อารมณ์กรรมฐานที่ได้ เดิมทีผมเข้าใจว่าเข้าถึงการบรรลุอะไรบางอย่าง แต่มันไม่ใช่ นั่นคือความหลงสุขในอารมณ์ของวิปัสนูปกิเลส ปัจจุบันอารมณ์นั้นไม่มีผลแล้ว ก็แค่รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้นนี่เอง ผู้ปฎิบัติควรทราบเอาไว้ว่ากิเลสในวิปัสนามีความละเอียดกว่ากิเลสหยาบๆแบบทางโลกเยอะมาก ละเอียดปราณีตจนบางครั้งเราแทบไม่รู้ตัวเลยว่านี้คือความหลงกิเลส

    ตอบลบ