วันศุกร์

จิตตสังคหวิภาค


ปริเฉจที่ ๑
จิตปรมัตถ์


🔅 จิต คืออะไร?

จิตเป็นธรรมชาติรู้อารมณ์ คือ ได้รับอารมณ์อยู่เสมอ จึงเรียกว่า รู้อารมณ์ ดังพระบาลีที่ว่า อารมณํ จินฺเตตีติ - จิตฺตํ ธรรมชาติใด ย่อมรู้อารมณ์อยู่เสมอธรรมชาตินั้น ชื่อว่า "จิต"

อารมณ์ เป็นธรรมชาติที่ถูกจิตรู้ มี ๖ อย่าง คือ : -

๑. รูปารมณ์ ได้แก่รูปสี ถูกจิตรู้ด้วยการ เห็น
๒. สัททารมณ์ ได้แก่เสียง ถูกจิตรู้ด้วยการ ได้ยิน
๓. คันธารมณ์  ได้แก่กลิ่น ถูกจิตรู้ด้วยการ รู้กลิ่น
๔. รสารมณ์ ได้แก่รส ถูกจิตรู้ด้วยการ รู้รส
๕. โผฏฐัพพารมณ์  ได้แก่ แข็ง-อ่อน, เย็น-ร้อน, หย่อน-ตึง ถูกจิตรู้ด้วยการ รู้สัมผัส
๖. ธรรมารมณ์ ได้แก่จิต-เจตสิก, ปสาทรูป, สุขุมรูป, นิพพาน, บัญญัติ ถูกจิตรู้ด้วยการ คิดนึก

การรู้อารมณ์ มี ๓ แบบ คือ : -

๑. การรู้แบบสัญญารู้ คือ การรู้โดยอาศัยการกำหนดจดจำเอาไว้ เช่น จำได้ว่าสีขาว สีดำ ผู้หญิง ผู้ชาย เป็นต้น
๒. การรู้แบบปัญญารู้ คือ การรู้เหตุผลตามความเป็นจริง เช่น รู้บาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ หรือรู้รูปนามตามความเป็นจริงเป็นการรู้เพื่อทำลายกิเลส มีความเห็นผิด เป็นต้น เรียกว่า "ปัญญารู้"
๓. การรู้แบบวิญญาณ คือ รู้ว่า ได้มีการรับอารมณ์อยู่เสมอตามทวารต่างๆ ได้แก่ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รส รู้สึกถูกต้อง และรู้คิดนึก

การรู้อารมณ์ของจิต จึงเป็นการรู้แบบวิญญาณรู้นั่นเอง เพราะคำว่า “จิต” หรือ “วิญญาณ” มีความหมายเป็นอย่างเดียวกันในปฏิสัมภิทาพระบาลีมหาวรรคได้แสดงไว้ว่าจิตมีชื่อต่าง ๆ ที่ใช้เรียกขานกันถึง ๑๐ ชื่อ ดังแสดงว่า

ยํ จิตฺตํ มโน หทยํ มานสํ ปณฺฑรํ มนายตนํ มนินฺทฺรียํ วิญญาณํ วิญญาณกฺขนฺโธ ตชฺชา มโนวิญญาณธาตุ อิทํ จิตฺตํ อัฏฐสาลินีอรรถกถาธิบายไว้ว่า

ธรรมชาติใดย่อมคิด ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า “จิต”
ธรรมชาติใดย่อมน้อมไปหาอารมณ์ ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า “มโน”
จิตที่รวบรวมไว้ภายในนั่นแหละ ชื่อว่า “หทัย”
ธรรมชาติฉันทะ คือความพอใจที่มีอยู่ในใจนั้น ชื่อว่า “มานัส”
จิตเป็นธรรมชาติที่ผ่องใส จึงชื่อว่า “ปัณฑระ”
มนะที่เป็นอายตนะ คือเครื่องต่อ จึงชื่อว่า “มนายตนะ”
มนะที่เป็นอินทรีย์ คือครองความเป็นใหญ่ จึงชื่อว่า “มนินทรีย์”
ธรรมชาติใดที่รู้อารมณ์ ธรรมชาตินั้น ชื่อ “วิญญาณ”
วิญญาณที่เป็นขันธ์ จึงชื่อว่า “วิญญาณขันธ์”
มนะที่เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งรู้อารมณ์ จึงชื่อว่า “มโนวิญญาณธาตุ”


🔅 สามัญลักษณะของจิต

จิตเป็นสังขตธรรม คือ เป็นธรรมชาติที่ถูกปรุงแต่งโดยอำนาจแห่งปัจจัยมี อารัมณปัจจัย อนันตรปัจจัย เป็นต้น จิตจึงมีสภาวะที่เป็นสามัญลักษณะ หรือไตรลักษณะคือ: -

อนิจจลักษณะ คือ สภาพความไม่เที่ยง แปรปรวน
ทุกขลักษณะ คือ สภาพความทนอยู่ไม่ได้ เพราะถูกบีบคั้นเบียดเบียน
อนัตตลักษณะ คือ สภาพความไม่ใช่ตัวตน ไม่เป็นแก่นสารที่เหนืออำนาจการบังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างใด ๆ ได้

เพราะจิตมีสภาพที่เป็นไตรลักษณ์ดังกล่าวนี้ จิตจึงมีอาการเกิด-ดับ สืบต่อเนื่องกันไปเป็นสาย และการเกิด-ดับสืบต่อนี้รวดเร็วมาก มีอนุมานว่า ชั่วลัดนิ้วมือเดียว จิตเกิด-ดับถึงแสนโกฏิขณะ

สังขตธรรมอื่น คือ เจตสิกและรูป ก็มีสามัญลักษณะเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจสภาวะลักษณะอันแท้จริงของจิตนั้นได้จะต้องพิจารณาจากวิเสสลักษณะ คือ ลักษณะพิเศษประจำตัวของจิต ๔ ประการ ที่เรียกว่า ลักขณาทิจตุกะของจิต คือ : -

วิชานนลกขณํ มีการรู้อารมณ์ เป็นลักษณะ
ปุพฺพงฺคมรสํ มีการเป็นประธานในธรรมทั้งปวง เป็นกิจ
สนธานปัจจุปัฏฐาน มีการเกิดสืบเนื่องกันไม่ขาดสาย เป็นอาการปรากฏ
นามรูปปทฏฐานํ มีนามรูป เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

ในธรรมบท ภาค ๒ ได้แสดงถึงสภาพของจิตไว้ ดังนี้

ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คุหาสยํ เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา แปลว่า ชนทั้งหลายใดจักระวังจิต ซึ่งไปไกล ไปเดี่ยว ไม่มีสรีระ มีคูหา เป็นที่อาศัยไว้ได้ ชนทั้งหลายนั้นจะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร

จากคาถาธรรมบทนี้ แสดงสภาพของจิตให้ได้ทราบไว้หลายนัย คือ : -

จิต ธรรมชาติรู้อารมณ์ ไปได้ไกล (ทูรงฺคมํ) หมายถึง จิตสามารถน้อมเอาอารมณ์ที่อยู่ไกลแสนไกล ที่เคยพบเห็นมาแล้ว เอามาคิดนึกได้ ไม่ใช่จิตออกจากร่างไปท่องเที่ยวได้ไกล

จิต เป็นธรรมชาติไปเดี่ยว หรือไปดวงเดียว (เอกจร) หมายถึง จิตรู้อารมณ์ได้ทีละอย่าง จิตขณะหนึ่งจะรู้อารมณ์หลายอย่างพร้อมกันไม่ได้ จิตขณะหนึ่งรู้อารมณ์ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เนื่องจากจิตเกิด-ดับรวดเร็วมาก จึงเหมือนกับสามารถรู้อารมณ์ได้หลายอย่างในคราวเดียวกันได้จิตขณะหนึ่ง ๆ ย่อมรู้อารมณ์ได้อย่างเดียวเท่านั้น

จิต เป็นนามธรรมไม่มีรูปร่างสัณฐานให้รู้ได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ต้องรู้ได้ด้วยใจเท่านั้น มีสภาวะเป็นอรูปธรรม จึงไม่อาจแสดงรูปร่างสัณฐานให้ปรากฏได้ (อสรีรํ)

จิต เป็นธรรมชาติที่ต้องมีวัตถุเป็นที่เกิดและที่อาศัย (คหาสนํ) สำหรับสัตว์ที่เกิดในปัญจโวการภูมิ คือ ภูมิที่มีรูปนามขันธ์ ๕ วัตถุที่อาศัยของจิตมี ๖ แห่ง ได้แก่ จักขุวัตถุ, โสตวัตถุ, ฆานวัตถุ, ชิวหาวัตถุ, กายวัตถุ, และหทัยวัตถุ โดยสภาวปรมัตถธรรมได้แก่ ปสาทรูป ๕ และหทัยวัตถุรูป ๑ จิตจะล่องลอยออกไปนอกวัตถุที่อาศัยไม่ได้ แม้เวลาตาย จิตก็ดับลงพร้อมกับความดับของหทัยวัตถุรูป นั่นเอง

จิตของสัตว์ทั้งหลาย นอกจากจิตของพระอรหันต์ ย่อมถูกอาสวกิเลสผูกพันอยู่เป็นประจำ ทำให้ไม่รู้ความจริงของรูปนาม คือทุกขสัจจะ จึงเกิดความสำคัญผิดว่ารูปนามขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวเรา ปรารถนาความสวย ความสุข ความเที่ยง วิปลาสไปจากความเป็นจริงอยู่เสมอ เพราะเหตุนั้นพระพุทธองค์จึงให้ระวังรักษาจิตให้พ้นจากเครื่องผูกของมาร (กิเลส) โดยจะต้องเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นทางเดียว ที่จะทำให้หมดจดจากกิเลส, แจ้งพระนิพพาน และพ้นจากสังสารทุกข์ได้ ฉะนั้น จึงไม่มีจิตของใครที่เกิดมาพร้อมความบริสุทธิ์ได้ ต้องถูกกิเลสมารผูกพันไว้อยู่ทั่วหน้ากัน จำเป็นต้องฟังธรรม และปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์เท่านั้น จึงจะสามารถหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องผูกของมารได้

🔅 อำนาจจิต

จิต นอกจากจะมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะแล้ว ยังมีกิจหรือหน้าที่เป็นประธานในธรรมทั้งปวง คือ ทำให้สำเร็จการงานทั้งหลาย ทางกาย วาจา ใจ ดังในธรรมบทกล่าวว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฎฐา มโนมยา มนสา เจ ปทุฏฺเฐน ภาสติ วา กโรติ วา ตโตนํ ทุกฺขมเนฺวติ จกฺกํว วหโต ปทํ ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าบุคคลใด มีใจชั่วแล้ว พูดอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม เพราะความชั่วนั้น ทุกข์ย่อมตามบุคคลนั้นไปดุจล้อหมุนตามรอยเท้าแห่งโค ที่นำแอกไปอยู่ ฉะนั้น

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา มนสา เจ ปสนฺเนน ภาสติ วา กโรติ วา ตโตนํ สุขมเนฺวติ ฉายาว อนุปายินี ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าบุคคลใด มีใจดีแล้ว พูดอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม เพราะความดีนั้น สุขย่อมตามบุคคลนั้นไปดุจเงาติดตามตน ฉะนั้น

แสดงว่า การงานต่าง ๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำบาป ทำบุญอย่างไรก็ตาม ล้วนสำเร็จได้ด้วยจิตใจทั้งสิ้น ถ้าไม่มีจิตแล้วก็ไม่อาจทำกรรมอะไรได้เลย จิตจึงมีอำนาจกระทำความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลายให้วิจิตรต่าง ๆ ดังวจนะว่า :-

จิตฺตึกโรตีติ = จิตฺตํ แปลความว่า ธรรมชาติใด ทำความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายให้วิจิตร ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า จิต ฉะนั้น จิตจึงมีอำนาจทำให้ธรรมชาติทั้งหลายเป็นไปโดยวิจิตร ประมวลความวิจิตรของจิตไว้ ๖ ประการ คือ : -

  • ๑. วิจิตรโดยการกระทำ หมายความว่า วัตถุสิ่งของทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในโลกและความประพฤติเป็นไปของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นย่อมมีทั้งงดงามแปลกประหลาดน่าพิศวง และน่าสยดสยองนั้น ล้วนสำเร็จได้ด้วย จิต
  • ๒. วิจิตรด้วยตนเอง หมายถึง สภาพของจิตนั่นเอง มีความเป็นไปอย่างน่าพิศวงนานาประการ มีทั้งจิตที่เป็นอกุศล กุศล, วิบาก, อภิญญาและกิริยา เช่น จิตที่มีราคะ, จิตมีโทสะ และจิตที่มีศรัทธา, อภิญญา, ปัญญา และจิตที่สงบ เป็นต้น
  • ๓. วิจิตรในการสั่งสมกรรม และ กิเลส หมายถึง กรรม คือ การกระทำและกิเลสเครื่องทำให้จิตใจเศร้าหมอง ที่ปรากฏขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลายอยู่เป็นประจำนั้น เพราะมีการสั่งสมไว้ในจิตมาแล้วแต่อดีต ครั้นมาได้รับอารมณ์ใหม่ในปัจจุบัน ก็สนับสนุนกรรมและกิเลสให้ปรากฏขึ้นมาใหม่ และจะเก็บสั่งสมไว้ต่อไปอีก
  • ๔. วิจิตรในการรักษาวิบากที่กรรมและกิเลสได้สั่งสมไว้ หมายถึง กรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่จิตก่อให้เกิดขึ้น ผลของกรรมคือวิบาก ย่อมไม่สูญหายไปไหน แม้กรรมนั้นจะเล็กน้อย หรือได้กระทำมาแล้วช้านานปานใดก็ตามผลแห่งกรรม คือวิบากนั้น จะติดตามไปให้ต้องได้รับผล เมื่อถึงโอกาส
  • ๕. วิจิตรในการสั่งสมสันดานตนเอง หมายถึง จิตที่ก่อให้เกิดการกระทำอย่างใดขึ้นก็ตามเมื่อได้กระทำอยู่เสมอๆ เป็นนิตย์แล้วย่อมจะติดเป็นนิสัยเป็นสันดาน ทำให้เกิดความชำนาญในการกระทำอย่างนั้นเรื่อยๆ ไป ทั้งนี้ เพราะเมื่อจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป และทำให้จิตดวงใหม่เกิดสืบต่ออยู่เรื่อย ๆ ไป จิตดวงเก่าที่ดับไปนั้น ย่อมส่งมอบกิจการงานให้จิตดวงใหม่โดยไม่ขาดสาย ในลักษณะที่เป็นอนันตรปัจจัย และอาเสวนปัจจัย เป็นต้น
  • ๖. วิจิตรด้วยอารมณ์ต่าง ๆ หมายถึง จิตย่อมรับอารมณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ คือ ประเดี๋ยวเห็น, ประเดี๋ยวได้ยิน ได้กลิ่น, รู้รส เป็นต้น สับเปลี่ยนเวียนวนอยู่ในอารมณ์ทั้ง ๖ มีรูปารมณ์บ้าง สัททารมณ์บ้าง คันธารมณ์บ้าง เป็นต้น


ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า 
สิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหมดที่วิจิตรพิสดารนั้น เพราะอำนาจแห่งจิต คือ มีจิตเป็นผู้กระทำให้วิจิตร ในสิ่งที่ไม่มีชีวิต ก็ได้แก่วัตถุสิ่งของทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในโลก และในสิ่งที่มีชีวิต ก็ได้แก่สัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่วิจิตรนั้น เพราะกำเนิดวิจิตร, กำเนิดวิจิตร เพราะการกระทำ (อกุศลกุศล) วิจิตร, การกระทำวิจิตร เพราะตัณหา คือ ความยินดีติดใจวิจิตร, ตัณหาวิจิตร เพราะสัญญาวิจิตร, สัญญาวิจิตร เพราะจิตสั่งสมวิจิตร ดังบาลีในปรมัตถทีปนีฎีกาแสดงว่า

จิตฺตวิจิตฺตตาย สญฺญาวิจิตฺตตา, สญฺญาวิจิตตตาย ตณฺหาวิจิตฺตตา, ตณฺหาวิจิตฺตตาย กมฺมานิ วิจิตฺตานิ กมฺมวิจิตตฺตา โยนิโย วิจิตฺตตา, โยนิวิจิตฺตตาย เตสํ ติรจฺฉานคตานํ วิจิตฺตตา เวทิตพฺพา แปลว่า ความวิจิตรของสัตว์ทั้งหลายนั้น เพราะกำเนิดวิจิตร, กำเนิดวิจิตรเพราะการกระทำทางกาย วาจา ใจ วิจิตร, การกระทำทางกาย วาจา ใจ วิจิตร เพราะตัณหา คือ ความพอใจวิจิตร, ตัณหาวิจิตรก็เพราะสัญญา คือ ความจำเรื่องราวต่างๆ วิจิตร, สัญญาวิจิตรก็เพราะจิตวิจิตร รวมความแล้ว จิต ทำให้วิจิตรทั้งภายในและภายนอกสันดานของตน คือ ทำให้สัตว์ทั้งหลายวิจิตร และทำให้วัตถุภายนอกวิจิตร

🔅 จํานวนจิต

เมื่อกล่าวตามสภาวลักษณะของจิตแล้ว จิตมีจำนวนเพียง ๑ เท่านั้น เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ขณะใดจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นการรู้อารมณ์ก็เกิดขึ้น จะห้ามการรู้อารมณ์ไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ สภาวลักษณะของจิตเมื่อกล่าวโดยทั่วไป จึงเป็นการรู้อารมณ์อย่างเดียว เมื่อนับจำนวนโดยสภาวลักษณะแล้ว จึงมีเพียง ๑ แต่จะกล่าวถึงลักษณะที่รู้อารมณ์พิเศษของจิตแล้ว จิตจะมีความสามารถในการรู้อารมณ์ไม่เหมือนกัน โดยอำนาจการปรุงแต่งของเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีที่อาศัยและมีอารมณ์อันเดียวกันกับจิต จึงทำให้จิตมีความสามารถในการรู้อารมณ์พิเศษแตกต่างกันออกไป เช่น รู้ในเรื่องที่เป็นบุญ เป็นบาป รู้ในการสงบระงับจากกาม คือ รู้ในเรื่องรูปฌาน อรูปฌาน และรู้อารมณ์นิพพาน เพราะฉะนั้น เมื่อจะศึกษากันถึงความพิสดารของจิตแล้ว จะต้องศึกษาประเภทต่าง ๆ ของจิตที่รับอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ต่อไป ซึ่งจำแนกจิตออกไปทั้งหมดได้อย่างย่อ ๘๙ และอย่างพิสดารได้ ๑๒๑


🔅 จําแนกประเภทจิตโดยนัยต่าง ๆ

จิตจำนวน ๘๙ หรือ ๑๒๑ นั้น จำแนกเป็นนัยต่างๆ ได้ ๙ นัย คือ: -

  • ๑. ชาติเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตโดยชาติ มี ๔ ชาติ ได้แก่ อกุศลชาติ กุศลชาติ วิปากชาติ และกิริยาชาติ   
  • ๒. ภูมิเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตโดยภูมิ มี ๔ ภูมิ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ และโลกุตรภูมิ 
  • ๓. โสภณเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตที่ดีงามประเภทหนึ่ง เรียกว่า “โสภณจิต” และประเภทจิตที่เหลือนอกนั้น เรียกว่า “อโสภณจิต” 
  • ๔. โลกเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตที่เป็นอยู่ในโลกทั้ง ๓ มี กามโลก รูปโลก และอรูปโลก เรียกว่า “โลกียจิต” กับจิตที่พ้นจากความเป็นไปในโลกทั้งที่เรียกว่า “โลกุตรจิต”
  • ๕. เหตุเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ที่เรียกว่า “สเหตุกจิต” และที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ที่เรียกว่า “อเหตุกจิต
  • ๖. ฌานเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตที่สามารถกระทำฌานเรียกว่า "ฌานจิต" และที่ไม่สามารถกระทำฌาน เรียกว่า "อฌานจิต"
  • ๗. เวทนาเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตโดยการเสวยอารมณ์ ได้แก่จิตที่เกิดพร้อมด้วย สุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสสเวทนา โทมนัสสเวทนา และอุเบกขาเวทนา
  • ๘. สัมปโยคเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตโดยสัมปยุตและวิปปยุต
  • ๙. สังขารเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตโดยสภาพมีกำลังแก่กล้าเรียกว่า “อสังขาริก” และสภาพที่มีกำลังอ่อนกว่า เรียกว่า “สสังขาริก

การอธิบายจิตต่อไปนี้ พระอนุรุทธาจารย์ แสดงจิตโดยภูมิเภทนัยก่อนเพราะเป็นการแสดงความเป็นไปของจิตที่ท่องเที่ยวไปในภูมิต่างๆ มีกามภูมิ เป็นต้น อย่างที่เราท่านทั้งหลายกำลังประสบอยู่นี้ ย่อมเข้าใจง่ายกว่าการแสดงจิตในประเภทอื่นๆ


🔅 
จำแนกจิตโดยภูมิ

ตตฺถ จิตตํ ตาว จตุพฺพิธํ โหติ กามาวจรํ รูปาวจรํ อรูปาวจรํ โลกุตฺตรญฺเจติ จิตปรมัตถ์ที่แสดงภูมิไว้เป็นอันดับแรกนี้ มี ๔ ประเภท คือ กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต และโลกุตรจิต

ในจำนวนจิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ นั้น เมื่อจำแนกโดยภูมิแล้วได้ ๔ ประเภทคือ 
๑. กามาวจรจิต ๕๔ ดวง
๒. รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
๓. อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง
๔. โลกุตรจิต ๘ ดวง หรือ ๔๐

🔅 กามาวจรจิต ๕๔

คำว่า กามาวจรจิต เมื่อแยกบทแล้วได้ ๓ บท คือ กาม + อวจร + จิต = กามาวจรจิต 
กาม” หมายถึง ความยินดีติดใจในอารมณ์ ๖ มีรูป, เสียง, กลิ่น รส โผฏฐัพพะและเรื่องราวที่คิดนึก หรือหมายถึงสิ่งใดอันเป็นที่ชอบใจ สิ่งนั้นก็ได้ชื่อว่า "กาม" 

ดังมีวจนัตถะว่า กาเมตีติ = กาโมกามียตีติ

กาโม ซึ่งแปลว่า “ธรรมชาติใด
ย่อมมีความต้องการกามอารมณ์ ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า “กาม” ได้แก่ กิเลสกาม คือ กามตัณหา หรือ “ธรรมชาติใดเป็นที่ชอบของกามตัณหา ธรรมชาตินั้นก็ชื่อว่า "กาม" ได้แก่ วัตถุกาม คือ กามจิต เจตสิก รูป ที่เป็นอารมณ์ของกามตัณหา

กิเลสกาม หมายถึง สภาพที่เป็น ตัวปรารถนา ตัวใคร่ ตัวกำหนัดยินดีเพลิดเพลินในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่เป็นกามธรรม

วัตถุกาม หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ให้กามตัณหาเข้าไปยึดหน่วงไว้ได้แก่ กามอารมณ์ คือ กามจิต กับ เจตสิกที่ประกอบและรูปธรรม

“อวจร” แปลว่า “ท่องเที่ยวไป” หรือ “ซึ่งอาศัยอยู่” ฉะนั้น “กามาวจรจิตจึงหมายถึง จิตที่ท่องเที่ยว หรืออาศัยอยู่ในภูมิ อันเป็นที่เกิดของกิเลสกามและวัตถุกามรวมความว่า กามาวจรจิต หรือเรียกสั้นๆ ว่า กามจิตนั้น มีความหมายเป็น ๓ นัย คือ: -

๑. หมายถึง จิตที่รับกามอารมณ์โดยมาก
๒. หมายถึง จิตที่เกิดอยู่ในกามภูมิ ๑๑ โดยมาก
๓. หมายถึง จิตที่ข้องอยู่ในกามคุณอารมณ์

มีวจนัตถะว่า กาเม อวจรตีติ = กามาวจรํ แปลว่า "จิตเหล่าใดท่องเที่ยวอยู่ในกามอารมณ์หรือกามภูมิโดยมาก จิตเหล่านั้น ชื่อว่า กามาวจร"

กามาวจรจิตหรือกามจิต ซึ่งมีจำนวน ๕๔ ดวงนั้น จำแนกได้ ๓ ชนิด คือ

  • อกุศลจิต ๑๒
  • อเหตุกจิต ๑๘
  • กามาวจรโสภณจิต ๒๔

ในกามาวจรจิต ๕๔ ดวงนี้ พระอนุรุทธาจารย์ ได้แสดงอกุศลจิตก่อนเพราะอกุศลจิตนี้ เมื่อเกิดขึ้นแก่ผู้ใด ก็ย่อมให้โทษแก่ผู้นั้น จึงสมควรที่จะได้รู้สภาพของจิตที่ก่อให้เกิดโทษภัยแก่ชีวิตก่อน เป็นเบื้องต้น

🔅 อกุศลจิต ๑๒

อกุศลจิต เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งาม เป็นจิตที่หยาบ ที่ต่ำทราม หรือเป็นจิตที่ประกอบด้วยอกุศลเจตสิก ที่เป็นโทษ มีโทษ และให้ผลเป็นความทุกข์

คาถาสังคหะ
อฏฐิธา โลภมลานิ โทสมูลานิ จ ทฺวิธา โมหมูลานิ จ เทฺวติ ทฺวาทสากุสลา สิยุํฯ
แปลความว่า “โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ รวม ๑๒ ดวงนี้เป็น อกุศลจิต

อธิบายอกุศลจิต ๑๒ ดวงนี้ จำแนกออกเป็น ๓ ชนิด คือ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ และโมหมูลจิต ๒

โลภมูลจิต หมายความว่า จิตที่เกิดขึ้น โดยมีอกุศลเจตสิกประกอบ และมีโลภเจตสิก เป็นประธาน
โทสมูลจิต หมายความว่า จิตที่เกิดขึ้น โดยมีอกุศลเจตสิกประกอบ และมีโทสเจตสิก เป็นประธาน
โมหมูลจิต หมายความว่า จิตที่เกิดขึ้น โดยมีอกุศลเจตสิกประกอบ และมีโมหเจตสิก เป็นประธาน

แสดงการจําแนกอกุศลจิตเป็น ๓ ชนิด

อกุศลจิต ๑๒

  • โลภมูลจิต ๘
  • โทสมูลจิต ๒
  • โมหมูลจิต ๒

ผังภาพอกุศลจิต ๓ ชนิดโดยพิสดาร


วันพฤหัสบดี

แผนผังปรมัตถธรรม


วันพุธ

ความเบื้องต้น

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และได้ทรงสอนมนุษย์ เทพยดา และพรหมเป็นเวลา ๕ พรรษาแล้ว ก็ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ใต้ต้นมะม่วง ชื่อว่า คัณฑามพฤกษ์ ใกล้นครสาวัตถี เพื่อประสงค์จะทรมานบรรดาเดียรถีย์ทั้งหลาย เมื่อเสร็จการแสดงยกมปาฏิหาริย์แล้ว ทรงพิจารณาว่าพระพุทธเจ้าในอดีตเมื่อสิ้นสุดยมกปฏิหาริย์แล้วเสด็จไปไหน ก็ทรงเห็นว่าเสด็จไปดาวดึงส์พิภพ จึงเหยียบยืนบนพื้นปฐพีด้วยพระบาทข้างหนึ่งวางพระบาทที่สองลงบนยอดเขายุคันธร แล้วยกพระบาทแรกก้าวไปเหยียบยอดเขาสิเนรุ ทรงประทับนั่งบนพระแท่นบัณฑุกัมพลแล้วทรงแสดงอภิธรรมกถาตั้งแต่ต้นพรรษา แก่เทพยดาในหมื่นจักรวาลที่มาประชุมกัน

ในเวลาภิกขาจาร (การเที่ยวบิณฑบาต) ทรงนิมิตพุทธนิมิตขึ้นแสดงธรรมแทน ทรงชำระพระทนต์ และชำระพระโอษฐ์ที่สระอโนดาต รับบิณฑบาตในหมู่ชนชาวอุตรกุรุแล้วกลับมาเสวยที่ริมสระอโนดาต พระสารีบุตรเถระขึ้นไปเฝ้าทุกวัน พระองค์โปรดประทานอภิธรรมกถา สังเขปนียแต่ทรงแสดงแก่เทพยดาและพรหมโดยวิตถารนัย ตลอดสมัย ๓ เดือน ธรรมาภิสมัยได้มีแก่เทวดาถึง ๘๐ โกฏิ ด้วยประการฉะนี้

อภิธรรมกถา มีการแสดง ๓ นัย คือ

๑. พระพุทธองค์แสดงแก่เทวดาและพรหมในดาวดึงส์ด้วยวิตถารนัย คือ นัยพิศดาร
๒. พระพุทธองค์ แสดงแก่ พระสารีบุตร ที่ริมสระอโนดาต ด้วยสังเขปนัยโดยย่อ
๓. พระสารีบุตร แสดงแก่สานุศิษย์ ๕๐๐ ที่เคยเกิดเป็นค้างคาวด้วยนาติวิตถารนาสังเขปนัย (กึ่งย่อถึงพิสดาร)

พระอานนท์ทรงจํามาแสดง ปรากฏอยู่ในพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ เป็นนาติวิตถารนาสังเขปนัย ที่รวบรวมไว้ในพระอภิธรรมปิฎกนั้นเอง ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๙๐๐ เศษ มีเถระผู้มีความรู้ความสามารถแตกฉานในพระไตรปิฎกท่านหนึ่ง มีนามว่า พระอนุรุทธเถระ เป็นชาวเมืองกาวิลกัญจ์ แขวงเมืองมัทราช ทางทิศใต้ของประเทศอินเดีย ท่านได้มาศึกษาพระอภิธรรมอยู่ที่เมืองอนุราธปุรี สำนักวัดตุมูลโสมาราม ประเทศลังกา มีความสันทัดจัดเจนแตกฉานมาก นามของท่านปรากฏโดยทั่วไป ท่านได้อาศัยบาลี อรรถกถา ฎีกาและอนุฎีกา อันเป็นหลักสำคัญแล้วรวบรวมร้อยกรอง ย่อความมาจากพระอภิธรรมปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์ที่สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนามีเนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องสภาวธรรมอันลึกซึ้ง ละเอียดลออพิสดารเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยากแก่การศึกษา และยากที่จะอธิบายให้บังเกิดความเข้าใจ ท่านได้อุตส่าห์พยายามย่อคัมภีร์อันแสนที่จะลุ่มลึก โดยแยกแยะลำดับเรื่องออกมาให้ง่ายแก่การศึกษาและจดจํา ชื่อว่า “อภิธัมมัตถสังคหะ” เพื่อหวังประโยชน์อันไพศาลที่จะให้ประชาชนเกิดปัญญาทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยดวงจิตที่เต็มไปด้วยความกรุณา

เป็นการยากยิ่ง ที่ผู้ใดจะศึกษาโดยตรงจากคัมภีร์พระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ ให้บังเกิดความเข้าใจโดยมิต้องอาศัยพระอภิธัมมัตถสังคหะ ซึ่งรจนาขึ้นโดยพระอนุรุทธาจารย์ให้เป็นพื้นฐานรองรับเสียก่อน เริ่มตั้งแต่ปริจเฉทที่ ๑ ไปจนถึงปริจเฉทที่ ๔ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับความนับถือ ในฐานะเป็นพระคันถรจนาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์พระอภิธัมมัตถสังคหะ อันท่านผู้ศึกษาที่มีความเข้าใจได้เหตุผลจะเว้นกราบไหว้ระลึกถึงพระคุณของท่านด้วยความซาบซึ้งเสียมิได้ การที่ท่านได้รจนาอภิธัมมัตถสังคหะ จากคัมภีร์พระอภิธรรมปิฎกทั้ง ๗ คัมภีร์ออกมาเป็นอีกคัมภีร์หนึ่ง เพื่อให้ผู้ศึกษาบังเกิดความเข้าใจไม่สับสน โดยเรียงลำดับจากง่ายๆ ขึ้นไปนี้เอง ได้เป็นเหตุให้บางท่านที่มิได้เคยศึกษาพระอภิธรรมมาก่อน ทั้งอ่านอภิธัมมัตถสังคหะด้วยตนเองก็ยังไม่อาจเข้าใจ จึงได้กล่าวหาว่าอภิธัมมัตถสังคหะนั้นมิใช่เป็นพุทธพจน์ เพราะเป็นการแต่งขึ้นโดยพระอนุรุทธาจารย์ในภายหลัง เมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี่เอง

ความจริง ผู้บรรยายอภิธรรมส่วนมาก และผู้ศึกษาอภิธรรมที่มีความเข้าใจพอสมควร ย่อมประจักษ์แก่ใจตนเองว่า พระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ กับพระอภิธัมมัตถสังคหะ ที่ท่านอุรุทธาจารย์รจนาขึ้นนั้น มิได้มีเนื้อความใดแตกต่างกันเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นองค์ธรรม หรือตัวเลขมากมาย ที่บังคับควบคุมเอาไว้ไม่ให้กระจัดกระจายนั้น ก็มิได้ขัดแย้งกันเลย ทั้งเมื่อท่านจะแต่งคัมภีร์นี้ท่านก็ยังได้สรรเสริญพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียก่อน พร้อมด้วยแสดงความเคารพตั้งแต่เริ่มต้นปริจเฉทที่ ๑


อย่างไรก็ดี ท่านผู้ศึกษาก็ย่อมเป็นผู้มีความคิดพิจารณา เป็นผู้มีเหตุผลของตนเอง เมื่อท่านได้ศึกษาไปไม่ต้องจบปริจเฉทที่ ๑ ท่านก็จะทราบได้ด้วยตนเองว่า พระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์นั้น ไม่มีผู้ใดในโลกจะแต่งขึ้นมาเองได้ เว้นไว้แต่จะต้องอาศัยพระสัพพัญญุตญานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น แล้วท่านก็จะทราบได้ด้วยตนเองอีกว่า ผู้กล่าวหาว่า พระอภิธรรมมิใช่พุทธพจน์นั้น เพราะไม่เคยได้ศึกษา จึงไม่มีความเข้าใจในพระอภิธรรมเลย พระอภิธรรมจะเกิดขึ้นในโลกได้นั้น จะต้องอาศัยพระสัพพัญญุตญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ดังมีสาธกบาลี ที่ได้แสดงไว้ในปิฎกปริวารพระบาลีว่า "พุทฺธจนฺเท อนุปฺปนฺเน พุทฺธาทิจฺเจ อนุคฺคเต เตสํ สภาวธมุมานํ นามมตฺตํ น นายติ" แปลว่า พระจันทร์ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่อุบัติขึ้น พระอาทิตย์คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ปรากฏขึ้น ใครๆ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ เพียงแต่ชื่อของสภาวธรรมเหล่านั้นได้เลย

ท่านพระอรรถกถาจารย์ แสดงไว้ในอัฏฐสาลินีอรรถกถาว่า “อภิธมฺโม นาม น อญฺเญสํ วิสโย สพฺพญฺญุตตพุทธานํ เยววิสโย เตสํ วเสน เทเสตพฺพเทสนา" แปลว่า ที่ชื่อว่า พระอภิธรรม เพราะไม่ใช่เป็นวิสัยของผู้อื่น เป็นวิสัยแห่งพระสัพพัญญูของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น และการแสดงพระอภิธรรมที่ปรากฏขึ้นได้โดยอำนาจแห่งพระสัมพัญญูของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายนั่นเอง

ท่านพระอนุรุทธาจาร รจนาพระอภิธัมมัตถสังคหะนั้น ท่านได้แบ่งออกเป็น ๙ ปริจเฉทด้วยกัน คือ

ปริจเฉทที่ ๑ แสดงเรื่องจิตปรมัตถ์ ชื่อ จิตตสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๒ แสดงเรื่องเจตสิกปรมัตถ์ ชื่อ เจตสิกสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๓ แสดงการรวบรวมธรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับจิต และเจตสิก คือ เวทนา เหตุกิจ ทวาร อารมณ์ และวัตถุ ชื่อว่า ปกิณณกสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๔ แสดงเรื่องการงานของจิต คือวิถีจิต ชื่อ วิถีสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๕ แสดงเรื่องจิตที่พ้นวิถี ตลอดจนธรรมที่สัมพันธ์กัน ชื่อ วิถีมุตตสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๖ แสดงเรื่องรูปปรมัตถ์และนิพพาน ชื่อ รูปสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๗ แสดงธรรมที่สงเคราะห์เข้าเป็นหมวดหมู่ รวมกันได้ ชื่อว่า สมุจจยสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๘ แสดงปรมัตถธรรมที่เป็นปัจจัยอุปการะกันตลอดจนบัญญัติธรรม ชื่อ ปัจจยสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๙ แสดงการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา ชื่อว่า กัมมัฏฐานสังคหวิภาค


การเข้าถึงพระพุทธศาสนามี ๓ ประการ

๑. ปริยัติศาสนา
ได้แก่ การศึกษาค้าสอนให้เกิดความเข้าใจ เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติ โดยย่อแล้ว ปริยัติศาสนา ได้แก่ การศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกให้เข้าใจ นั่นเอง
๒. ปฏิบัติศาสนา ได้แก่ การปฏิบัติธรรม ตามที่ได้ศึกษามาจากปริยัติมีอยู่ ๓ อย่าง คือ ปฏิบัติด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา
๓. ปฏิเวธศาสนา ได้แก่ ผลที่เกิดขึ้นจากปริยัติ และปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ นวโลกุตรธรรม ๙ ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนในเรื่องอะไร? ตลอดเวลา ๔๕ พรรษา นับตั้งแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็ได้แสดงธรรมโปรดแก่เวไนยสัตว์ เพื่อให้พ้นจากทุกข์ด้วยความหมดจรดจากกิเลส ซึ่งเมื่อรวมคำสอนทั้งสิ้นแล้ว ก็ได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์สงเคราะห์ไว้เป็นปิฎก แบ่งออกเป็น ๓ ปิฏกด้วยกัน เรียกว่า พระไตรปิฎก ได้แก่

๑. พระวินัยปิฎก มี ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
๒. พระสุตตันตปิฎก มี ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
๓. พระอภิธรรมปิฎก มี ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

พระวินัยปิฎก แสดงเรื่องอะไร? พระวินัยปิฎก เป็นธรรมที่แสดงถึงเรื่องระเบียบ หรือข้อบังคับ วางหลักให้ประพฤติปฏิบัติเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม เหมือนดอกไม้ที่เขานํามาร้อย เอาไว้มิให้กระจัดกระจาย ผู้ที่มิได้ประพฤติตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับ หรือล่วงละเมิด ย่อมถูกลงโทษตามสมควร พระวินัยปิฎกนี้ มีอยู่ ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แยกออกเป็น ๕ คัมภีร์ด้วยกัน คือ: -

๑. คัมภีร์อาทิกัมมิกะ
๒. คัมภีร์ปาจิตติยะ
๓. คัมภีร์มหาวรรค
๔. คัมภีร์จุลวรรค
๕. คัมภีร์ปริวาร

คัมภีร์ทั้ง ๕ นี้ มีชื่อย่อ เพื่อให้จําง่ายๆ โดยเอาพยางค์หน้ามาตั้งชื่อว่า อา, ปา, มะ, จุ, ปะ

พระสุตตันตปิฎก แสดงเรื่องอะไร? พระสุตตันตปิฎก เป็นธรรมที่แสดงถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสมมุติสัจจะ อันเป็นความจริงส่วนหนึ่งสำหรับชาวโลก เป็นธรรมที่ยกสัตว์บุคคลขึ้นมาตั้ง เพื่อสรรสร้างให้บังเกิดความประพฤติที่ดีงาม อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความเรียบร้อยมีอยู่ ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎกนี้ บางทีก็เรียกกันอย่างสั้นๆ ว่า พระสูตร ซึ่งจำแนกออกเป็น ๕ นิกายด้วยกัน คือ: -

๑. ทีฆนิกาย
๒. มัชฌิมนิกาย
๓. สังยุตตนิกาย
๔. อังคุตตรนิกาย
๕. ขุททกนิกาย

นิกายทั้ง ๕ นี้ มีชื่อย่อ เพื่อให้จําง่าย ๆ โดยเอาพยางค์หน้ามาตั้งว่า ที, มะ, สัง, อัง, ขุ

พระอภิธรรมปิฎก แสดงเรื่องอะไร? พระอภิธรรมปิฎก เป็นธรรมที่แสดงปรมัตถสัจจะ ปฏิเสธสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา เป็นเนื้อความที่จริงแท้แน่นอน ไม่มีการแปรปรวนกลับกลอก ไม่ว่าเวลาไหน หรือในที่ใด คล้ายวิชาวิทยาศาสตร์ที่เราศึกษาถึงความร้อน แสงเสียง แม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยเรื่องของสภาวธรรมที่เป็นความจริง เมื่อรู้แล้วทำให้เกิดปัญญา สามารถละกิเลส นำตนให้พ้นทุกข์ได้ มีอยู่ ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์มากเท่ากับพระวินัย และพระสูตร รวมกัน พระอภิธรรมปิฎก ในจํานวน ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แยกออกเป็น ๗ คัมภีร์

๑. ธัมมสังคนี ว่าด้วย หมวดหมู่แห่งปรมัตถธรรม
๒. วิภังค์ ว่าด้วย การแยกปรมัตถธรรมออกเป็นส่วนๆ
๓. ธาตุกถา ว่าด้วย เรื่องของธาตุแห่งปรมัตถธรรม
๔. บุคคลบัญญัติ ว่าด้วย บัญญัติ บุคคล และปรมัตถ์
๕. กถาวัตถุ ว่าด้วย คําถาม-คําตอบในปรมัตถ์
๖. ยมก ว่าด้วย การแสดงปรมัตถ์เป็นคู่ๆ
๗. มหาปัฏฐาน ว่าด้วย เหตุปัจจัยของปรมัตถ์

คัมภีร์ทั้ง ๗ นี้ มีชื่อให้เรียกสําหรับให้จำได้ง่ายกว่า สัง, วิ, ธา, ปู, กะ, ยะ, ปะ

พระอภิธัมมัตถสังคหะ คืออะไร? อภิธัมมัตถสังคหะ แยกออกเป็น อภิธัมมะ-อรรถะ-สังคหะ

อภิ - อันประเสริฐยิ่ง
ธัมมะ - ธรรมชาติที่ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่ชีวิต หรือธรรมชาติที่ทรงสภาพไว้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
อัตถะ - เนื้อความ
สัง - โดยย่อ
คหะ - รวบรวม

อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นชื่อคัมภีร์อรรถกถา ที่ได้ประมวลเนื้อความจาก พระอภิธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทั้ง ๗ คัมภีร์เข้าไว้โดยย่อ เมื่อย่อคัมภีร์พระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ลงไปให้สั้นที่สุดแล้ว ก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน บัญญัติ

พระบาลี คืออะไร? บาลี หมายถึง ถ้อยคําที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาโปรดแก่เวไนยสัตว์ซึ่งได้แก่ พระพุทธพจน์โดยตรง

อรรถกถา ได้แก่อะไร? อัตถะ - เนื้อความ กถา - กล่าวหรือถ้อยคํา รวมกันเข้าแล้วก็แปลว่า กล่าวเนื้อความนั้น คือกล่าวเนื้อความตามบาลีนั้นอีกทีหนึ่ง ผู้ขยายความตามบาลีนั้น เรียกว่า อรรถกถาจารย์ ท่านได้ขยายความจากบาลีออกมา เพื่อจะให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ให้แจ่มแจ้งขึ้น เพื่อสะดวกแก่การศึกษาเล่าเรียน อรรถกถาจารย์ได้รับความยกย่องจากบรรดาผู้ศึกษาทั้งหลาย เพราะเป็นผู้มีความรู้แตกฉาน โดยมากเป็นพระอริยบุคคล และทรงพระไตรปิฎก

ฎีกา ได้แก่อะไร? เมื่ออรรถกถาอธิบายขยายความออกมาแล้ว ผู้ศึกษาก็ยังเข้าใจไม่ได้อยู่อีก ท่านฎีกาจารย์จึงเป็นผู้ขยายความอรรถกถานั้นอีกชั้นหนึ่ง ต่อจากนี้ ก็มีอนุฎีกาจารย์ และเกจิอาจารย์ เป็นผู้ขยายความในข้อธรรมทั้งหลายที่ฎีกาจารย์ได้ทำไว้เพื่อให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้นอีกเป็นชั้น ๆ ไป

พระอภิธรรม แสดงถึงอะไร? พระอภิธรรมนั้น เป็นธรรมที่แสดงถึงความจริง ๒ ประเภท คือ ปรมัตถธรรม กับ บัญญัติธรรม
๑. ปรมัตถธรรม หรือ ปรมัตถสัจจะ คือ ธรรมชาติอันประเสริฐ ที่เป็นความจริง ซึ่งปฏิเสธสัตว์และชีวิต ได้แก่ ธรรมชาติที่เป็นความจริง ที่ไม่มีการแปรปรวน หรือไม่มีความวิปริตด้วยประการใด ๆ มีอยู่ ๔ ประการ ได้แก่ จิต, เจตสิก, รูป, นิพพาน การรู้ปรมัตถธรรม มีประโยชน์อย่างยิ่ง คือทำให้พ้นทุกข์ได้แน่นอน
๒. บัญญัติธรรม หรือ สมมุติสัจจะ เป็นสิ่งที่บัญญัติแต่งตั้งขึ้น แล้วเป็นที่ยอมรับของหมู่ชน จึงได้เป็นสิ่งสมมุติขึ้นมาว่า เป็นความจริง เพื่อจะได้ใช้เรียกชื่อได้ถูกต้อง ตามความนิยมของคนหมู่หนึ่ง หรือประเทศหนึ่ง

ปรมัตถธรรม มีลักษณะอย่างไร? ปรมัตถธรรม มีลักษณะปฏิเสธสัตว์ และ ชีวิต (นิสสฤต นิชชีวสมม) เป็นสภาวธรรมที่มีจริงเป็นจริง มีลักษณะประจำอยู่ ๒ ลักษณะ คือ

๑. สามัญลักษณะ เป็นธรรมชาติที่มีลักษณะสามัญทั่วๆ ไป หรือมีลักษณะปกติธรรมดา ที่เหมือนกันของรูปธรรม และนามธรรม ในสามัญลักษณะ ที่ว่าเป็นตามธรรมดา หรือเป็นไปตามธรรมชาตินั้นเป็นไปใน ๓ ลักษณะเหล่านี้ คือ: -
        ก. อนิจจลักษณะ เป็นลักษณะที่มีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีความไม่มั่นคงต้องเปลี่ยนแปลงไปมาอยู่เสมอ
        ข. ทุกขลักษณะ เป็นลักษณะที่ทนไม่ได้ หรืออยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องเสื่อมสลาย
        ค. อนัตตลักษณะ เป็นลักษณะที่ว่างเปล่าจากตัวตน คือไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่สิ่งของ ทั้งไม่อยู่ในอำนาจการบังคับบัญชาของใคร

ปรมัตถธรรมโดยย่อนั้น มีอยู่ ๔ ประการ คือ จิต, เจตสิก, รูป, และนิพพาน จิต, เจตสิก, รูป ทั้ง ๓ นี้ มีสามัญลักษณะ เพราะประกอบไปด้วย อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะ ที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ ส่วน พระนิพพานนั้น ไม่ได้อยู่ในลักษณะครบทั้ง ๓ ประการ มีสามัญลักษณะเพียงประการเดียว คือ อนัตตลักษณะ เท่านั้น สําหรับบัญญัติธรรม ไม่ประกอบด้วยไตรลักษณ์ หรือสามัญลักษณะทั้ง ๓ เลย เพราะเป็นเพียงบัญญัติหรือสมมุติขึ้น เพื่อให้เข้าใจกันเท่านั้น หาได้มีจริงๆ ไม่

๒. วิเสสลักษณะ เป็นธรรมชาติพิเศษที่มีประจำตัว ปรมัตถธรรมแต่ละอย่างก็มีลักษณะพิเศษเฉพาะ ๆ ของตน ที่ไม่เหมือนกันเลย วิเสสลักษณะมี ๔ ประการ คือ ลักษณะ, รส, ปัจจุปัฏฐาน และ ปทัฏฐาน
        ก. ลักษณะ ได้แก่ เครื่องแสดงออก หรือคุณสมบัติที่มีประจำตัวโดยเฉพาะ 
        ข. รสะ ได้แก่ หน้าที่การงานที่กระทำ หรือความสำเร็จที่มีอยู่ในตัวของปรมัตถธรรมทั้งหลาย รสะ จึงแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ: 
                ๑) กิจรสะ ได้แก่ หน้าที่การงานของปรมัตถธรรมทั้งหลาย เช่น จิต มีหน้าที่การงานที่เป็นกิจรสะ ก็คือ เป็นประธานในสัมปยุตธรรมทั้งปวง หรือกิจรสะของเตโชธาตุ คือ ธาตุไฟ ย่อมมีหน้าที่การงานในการเผาไหม้ และกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้สุกได้ เป็นหน้าที่ของไฟ
                ๒) สัมปัตติรสะ ได้แก่คุณสมบัติที่มีอยู่ประจำของปรมัตถธรรมทั้งหลาย เช่น จิต มีคุณสมบัติอยู่ประจำที่เป็นสัมปัตติรสะ ก็คือ มีเจตสิก ประกอบ เป็นสัมปยุตธรรมด้วย สัมปัตติรสะของพระนิพพาน คือ มีสภาพไม่เปลี่ยนแปลงเป็นนิจจัง หรือสัมปัตติรสะของเตโชธาตุ คือ ความร้อน ย่อมยังแสงสว่างให้สำเร็จเป็นคุณสมบัติ เป็นต้น

        ค. ปัจจุปัฏฐาน ได้แก่ ผลที่เกิดขึ้นจากรสะนั่นเอง หรือเป็นความปรากฏขึ้นจากกิจการนั้นๆ
        ง. ปทัฏฐาน ได้แก่ เหตุใกล้ที่เป็นเหตุให้ธรรมนั้นๆ ปรากฏขึ้น

วิเสสลักษณะ ๔ ประการดังกล่าวนี้ ชื่อว่า ลักขณาจตุกะ ซึ่งมีความหมายว่า ธรรมที่มีองค์ ๔ ประการ มีลักษณะ เป็นต้น

จิต เจตสิก รูป มีวิเสสลักษณะ ๔ ประการ ครบบริบูรณ์
นิพพาน มีวิเสสลักษณะ ๓ ประการเท่านั้น คือ มีลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน แต่ไม่มีปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิดด้วยเหตุว่า พระนิพพานนั้น เป็นธรรมที่พ้นไปจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง

สำหรับบัญญัติธรรมนั้น ไม่มีวิเสสลักษณะเลย




วันจันทร์

พระพุทธดำรัส (๑๗)

🙏 พระพุทธดำรัส 🙏

🔅 อาสวะไม่สิ้นไปเป็นรายวัน
ปัญหา ในขณะบำเพ็ญเพียร ผู้บำเพ็ญจะมีทางรู้ได้หรือไม่ว่าในแต่ละวัน อาสวะสิ้นไปวันละเท่าใด?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รอยนิ้วมือย่อมปรากฏ หรือรอยนิ้วหัวแม่มือย่อมปรากฏที่ด้ามมีดของนายช่างไม้ หรือลูกมือของนายช่างไม้แต่นายช่างไม้ หารู้ไม่ว่า วันนี้ด้ามมีดของเขาสึกหรอไปประมาณเท่านี้ วานนี้สึกไปประมาณเท่านี้ วันก่อนๆ สึกไปประมาณเท่านี้ นายช่างไม้... มีความรู้แต่ว่ามันสึกไปแล้ว ๆ แม้ฉันใด “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุประกอบความเพียรในภาวนาอยู่ หารู้ไม่ว่า วันนี้อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นไปแล้วประมาณเท่านี้ วานนี้สิ้นไปประมาณเท่านี้ วันก่อนๆ สิ้นไปประมาณเท่านี้ ถึงอย่างนั้นเมื่ออาสวะสิ้นไปแล้ว เธอก็มีความรู้แต่ว่าสิ้นไปแล้ว ๆ ฉันนั้นเหมือนกันแล”

นาวาสูตร


🔅 

ควรเจริญอนิจจสัญญา
ปัญหา การเจริญอนิจสัญญา (ความหมายรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอนิจจัง) ก่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างไร? มีอุปมาด้วยอะไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนิจจสัญญาอันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมครอบงำกามราคะทั้งปวง.... รูปราคะทั้งปวง...ภวราคะทั้งปวง.... อวิชชาทั้งปวงได้ ย่อมถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้ เปรียบเหมือนในถูดูใบไม้ร่วง ชาวนาไถนาด้วยไถคันใหญ่ ย่อมไถทำลายความสืบต่อแห่งราก....เหมือนคนเกี่ยวหญ้ามุงกระต่าย เกี่ยวแล้วจับปลายเขย่า ฟาดสลัดออก เหมือนเมื่อพวงมะม่วงหลุดจากขั้ว มะม่วงทั้งหมดที่ติดอยู่กับขั้ว ย่อมหยุดไปตามขั้วนั้น เหมือนไม้กลอนแห่งเรือนยอดทุกอันชี้ไปสู่ยอด ทอดไปสู่ยอดประชุมลงที่ยอด เหมือนไม้กระลำพัก ชนทั้งหลายกล่าวว่าเลิศกว่าไม้มีกลิ่นที่รากใด ๆ เหมือนไม้จันทน์แดง ชนทั้งหลายกล่าวว่าเลิศกว่าไม้มีกลิ่นมีกลิ่นที่แก่นใคร ๆ เหมือนมะลิ ชนทั้งหลายกล่าวว่าเลิศกว่าไม้มีกลิ่นที่ดอกใด ๆ เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิ เลิศกว่าแสงดาวทั้งปวง เหมือนแสงพระจันทร์ เลิศกว่าแสงดาวทั้งปวง เหมือนในฤดูใบไม้ร่วงท้องฝ้าบริสุทธิ์ปราศจากเมฆ พระอาทิตย์ขึ้นสู่ท้องฟ้าย่อมส่องแสงและเปล่งแสงไพโรจน์กำจัดความมืดในอากาศทั่วไป....”

สัญญาสูตร


🔅 อวิชชาคือไม่รู้อะไร
ปัญหา อวิชชา ความไม่รู้นั้น หมายถึงไม่รู้อะไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ในโลกนี้ ไม่รู้ชัดซึ่งรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ไม่รู้ชัดซึ่งเหตุเกิดแห่งรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ไม่รู้ชัดซึ่งความดับแห่งรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ไม่รู้ชัดซึ่งหนทางให้ถึงความดับรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณนี้เรียกว่าอวิชชา”

อวิชชาสูตร


🔅 พระธรรมกถึกแท้
ปัญหา พระภิกษุที่เรียกว่าพระธรรมกถึก (ผู้สอนธรรม) นั้นคืออย่างไร ? ทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม? ทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าผู้ถึงนิพพานในปัจจุบัน ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุแสดงธรรมเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ รูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ควรจะเรียกว่าพระธรรมกถึก

“หากภิกษุ ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ รูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ควรจะเรียกว่าผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

“หากภิกษุ เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะเบื่อหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ไซร้ ควรจะเรียกว่า ผู้บรรลุนิพพานในปัจจุบัน”

ธรรมกถึกสูตร


🔅 คนแก่ตายในเรือนจำ
ปัญหา คนเช่นไรชื่อว่าแก่และตายในที่จองจำ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ย่อมเห็นรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ เป็นตน เห็นตนมีรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ เห็นรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณในตนหรือเห็นตนในรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณนี้เรียกว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้เรียนรู้แล้ว เป็นผู้ถูกจองจำคือ รูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณผูกมัดไว้ ถูกเครื่องผูกมัดทั้งภายในภายนอกจองจำไว้ เป็นผู้มองไม่เห็นฝั่งนี้ มองไม่เห็นฝั่งโน้น ย่อมแก่ทั้ง ๆ ถูกจองจำ ย่อมตายทั้งๆ ถูกจองจำ ย่อมไปจากโลกนี้สู่โลกหน้า ทั้งๆ ถูกจองจำ”

พันธนสูตร


🔅 ขันธ์ ๕ เป็นฐานสังโยชน์-อุปาทาน

ปัญหา สังโยชน์และธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ คืออะไร อุปาทานและธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน คืออะไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ชื่อว่าธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ความกำหนัดยินดีในรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ชื่อว่าสังโยชน์.....

“รูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ชื่อว่าธรรม เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ความกำหนัดยินดีในรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณนั้นชื่อว่าอุปาทาน”

สังโยชน์สูตร, อุปาทานสูตร 




🔅 เลื่อนฐานะด้วยการพิจารณาอุปาทานขันธ์ ๕
ปัญหา ภิกษุผู้มีศีลก็ดี พระโสดาบันก็ดี พระสกทาคามีก็ดี พระอนาคามีก็ดี พระอรหันต์ก็ดี ควรพิจารณาธรรมอะไรอย่างรอบคอบและพิจารณาอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนท่านโกฏฐิตะ ภิกษุผู้มีศีล ภิกษุผู้เป็นโสดาบัน ภิกษุผู้เป็นสกทาคามี ภิกษุผู้เป็นอนาคามี และแม้ภิกษุผู้เป็นอรหันต์ ควรพิจารณาอุปาทานขันธ์ ๕ โดยรอบคอบ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังโรค เป็นดังฝี เป็นดังลูกศร เป็นความคับแค้น เป็นอาพาธ เป็นของแปรปรวน เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็นของไม่ใช่ตัวตน...

“ภิกษุผู้มีศีล (เมื่อทำได้ดังนี้) พึงกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ภิกษุผู้เป็นโสดาบัน พึงทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล ภิกษุผู้เป็นสกทาคามี พึงทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล ภิกษุผู้เป็นอนาคามี พึงทำให้แจ้งซึ่งอรหันตตผล ภิกษุผู้เป็นอรหันต์ และธรรมเหล่านี้ ที่ภิกษุผู้เป็นอรหันต์เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วก็เป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัปชัญญะ”

สีลสูตร


🔅 ขันธ์ ๕ คือมาร
ปัญหา ขันธ์ ๕ คือมาร อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนราธะ เมื่อ รูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ มีอยู่ จึงมีมาร มีผู้ฆ่าให้ตาย มีผู้ตาย เพราะเหตุนั้น เธอจงพิจารณาให้เห็น รูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ว่าเป็นมาร เป็นผู้ฆ่าให้ตาย เป็นผู้ตาย เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความทุกข์ เป็นตัวทุกข์ บุคคลเหล่าใดพิจารณาเห็นอย่างนี้ บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าย่อมเห็นชอบ....”

มารสูตร


🔅 พระพุทธเจ้ากับปัญหาทางอภิปรัชญา
ปัญหา ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงนิยมตอบโต้กับใครในปัญหาทางอภิปรัชญา อันลึกซึ้งที่ไม่มีประโยชน์ทางปฏิบัติโดยตรงเป็นความจริงหรือไม่ ?

พระราธะทูลถาม “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเห็นชอบมีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า?”
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนราธะ ความเห็นชอบมีประโยชน์ให้เบื่อหน่าย
พระราธะ “ความเบื่อหน่ายมีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า”
พุทธดำรัส “ดูก่อนราธะ ความเบื่อหน่ายมีประโยชน์ให้คลาย กำหนัด”
พระราธะ “ความคลายกำหนัดมีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า”
พุทธดำรัส “ดูก่อนราธะ ความคลายกำหนัดมีประโยชน์ให้หลุดพ้น”
พระราธะ “ความหลุดพ้นเล่า มีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า”
พุทธดำรัส “ดูก่อนราธะ เธอถามปัญหาเลยขอบเขตไปเสียแล้ว เธอไม่สามารถจะเอาที่สุดของปัญหาได้ ดูก่อนราธะ พรหมจรรย์เป็นคุณชาติ หยั่งลงสู่นิพพาน มีพระนิพพานเป็นที่สุด...”

มารสูตร


🔅 ทำไมจึงเรียกว่า "สัตว์"
ปัญหา คำว่า “สัตว์” ในทางพุทธศาสนาหมายถึงอะไร? เพราะเหตุไรจึงเรียกว่า “สัตว์”?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนราธะ เพราะเหตุที่มี ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากในรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ เป็นผู้ข้องอยู่ในรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ เป็นผู้ติดพันอยู่ในรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณนั้น ฉะนั้นจึงเรียกว่า "สัตว์"

“ดูก่อนราธะ เปรียบเหมือนพวกเด็กชายเด็กหญิงที่เล่นอยู่กับเรือนน้อยทำด้วยดิน ตราบใดที่พวกเขายังไม่สิ้นความยินดี ยังไม่สิ้นความพอใจ ยังไม่สิ้นความรัก ยังไม่สิ้นความกระหาย ยังไม่สิ้นความดิ้นรน ยังไม่สิ้นความทะยานอยากในเรือนน้อยทำด้วยดิน ตราบนั้นพวกเขาย่อมอาลัย ย่อมมัวเล่นย่อมหวงแหน ย่อมยึดถือเรือนน้อยทำด้วยดิน แต่ว่าเมื่อใดพวกเด็กชายเด็กหญิงเหล่านั้นสิ้นความยินดี สิ้นความพอใจ ในเรือนน้อยทำด้วยดินเหล่านั้นเมื่อนั้นแลพวกเขาย่อมรื้อ ย่อมยื้อแย่ง ย่อมกำจัด เรือนน้อยทำด้วยเหล่านั้นด้วยมือและเท้า

“ดูก่อนราธะ แม้เธอทั้งหลายก็จงรื้อ จงยื้อแย่ง จงกำจัด จงทำให้เป็นของเล่นไม่ได้ ซึ่งรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา ฉันนั้นเหมือนกันแล...”

สัตตสูตร


🔅 เหตุเกิดความเห็นว่าทุกสิ่งนิ่งอยู่กับที่
ปัญหา ในสมัยพุทธกาล สมณพราหมณ์บางพวกมีความเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างตั้งอยู่มั่นคงตรงแน่ว ดุจเสาระเนียด ไม่มีอะไรเคลื่อนไหว ลมก็ไม่พัด แม่น้ำก็ไม่ไหล สตรีมีครรภ์ก็ไม่คลอด พระจันทร์ พระอาทิตย์ก็ไม่ขึ้นไม่ตก ความเห็นเช่นนั้นเกิดขึ้นมาได้เพราะอาศัยอะไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ มีอยู่ เพราะถือมั่นยึดมั่นในรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ จึงเกิดความเห็นขึ้นมาว่าลมย่อมไม่พัด แม่น้ำย่อมไม่ไหล เป็นของตั้งมั่นคงดุจเสาระเนียด “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ และแม้สิ่งที่บุคคลเห็นแล้ว ฟังแล้วทราบแล้ว รู้แจ้งแล้วถึงแล้ว แสวงหาแล้ว ใคร่ครวญแล้วด้วยใจ เป็นของเที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
“ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุขหรือทุกข์เล่า”
“เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะไม่ยึดมั่นในสิ่งนั้น ความเห็นอย่างนี้ว่า ลมย่อมพัด เป็นของตั้งมั่นคงดุจเสาระเนียดจะพึงเกิดขึ้นได้หรือ ?
“ไม่พึงเกิดความเห็นเช่นนั้นได้เลย พระเจ้าข้า”
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดและพระอริยสาวก ละความสงสัยในฐานะทั้ง๖ เหล่านี้ได้ ชื่อว่าเป็นอันละความสงสัยในทุกข์ ในเหตุเกิดแห่งทุกข์ ในความดับทุกข์ และแม้ในทางปฏิบัติก็เพื่อความดับทุกข์ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นเราเรียกว่า พระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา จะได้ตรัสรู้ในเบื้องหน้าอย่างแน่นอน....”

ทิฏฐิสังยุต โสดาปัตติวรรค ที่ ๑



🔅 คำสอนของอชิตะ เกสกัมพล
ปัญหา ศาสดาอชิตะ เกสกัมพล มีแนวคำสอนว่าอย่างไร? และแนวคำสอนเช่นนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “อชิตะ เกสกัมพล มีความเห็นว่า ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาบิดาไม่มี สัตว์ที่เกิดผุดขึ้น (โอปปาติกะ) ไม่มี สมณะพราหมณ์ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ รู้แจ้งชัดโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งไม่มีในโลก คนเราเป็นแต่เพียงที่ประชุมของมหาภูตรูป ๔ เมื่อใดทำกาลกิริยา(ตาย) เมื่อนั้นธาตุดินก็ไปตามธาตุดิน ธาตุน้ำก็ไปตามธาตุน้ำ ธาตุไฟก็ไปตามธาตุไฟ ธาตุลมก็ไปตามธาตุลม อินทรีย์ทั้งหลายย่อมเลื่อนลอยไปในอากาศ บุรุษ ๔ คน รวมเป็น ๕ ทั้งที่วางศพ หามเอาคนตายไป เสียงบทสวดสรรเสริญเขามีไปจนถึงป่าช้า กระดูกทั้งหลายกลายเป็นสีเทาดุจสีนกพิราบ เครื่องเซ่นสังเวยทั้งหลายสิ้นสุดลงด้วยเถ้า ท่านนี้เคนเขลาบัญญัติไว้ คนเหล่าใดประกาศลัทธิอัตติกวาท คำของคนเหล่านั้นเป็นคำไร้ประโยชน์ เป็นคำเท็จ เป็นคำบ่นเพ้อเมื่อร่างกายแตกสลายทั้งพาลและบัณฑิตย่อมขาดสูญพินาศไป หลังจากความตายไม่มีอะไรเลย...

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ มีอยู่เพราะถือมั่นยึดมั่นรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ความเห็นอย่างนี้จึงเกิดขึ้นมา”

ทิฏฐิสังยุต โสดาปัตติวรรค ที่ ๑



🔅 คำสอนของปุราณกัสสปะ
ปัญหา ท่านศาสดาปุราณกัสสปะมีแนวคิดอย่างไร? และแนวคิดนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “ปุราณกัสสปะ มีความเห็นว่า เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เดือดร้อนเอง ทำให้ผู้อื่นเดือนร้อน เศร้าโศกเอง ทำให้ผู้อื่นเศร้าโศก ลำบากเอง ทำให้ผู้อื่นลำบาก ดิ้นรนเอง ทำให้ผู้อื่นดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ตัดช่อง ปล้นไม่ให้เหลือ ทำโจรกรรมในเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ที่ทางเปลี่ยว ทำชู้กับภรรยาของเขา พูดเท็จ ผู้ทำเชื่อว่าไม่ได้ทำบาป แม้หากผู้ใดจะให้จักรซึ่งมีคมโดยรอบเหมือนมีดโกนสังหารเหล่าสัตว์ในปฐพีนี้ ให้เป็นลานเป็นกองเนื้อเดียวกัน บาปเพราะการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคาฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำคงคาให้ทานเอง ใช้ผู้อื่นให้ ให้บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชาบุญเพราะการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา บุญที่เนื่องด้วยการให้ทาน การทรมานอินทรีย์ ความสำรวม การกล่าวคำสัตย์ไม่มีแก่เขา....

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ มีอยู่เพราะถือมั่นยึดมั่นรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ความเห็นอย่างนี้จึงเกิดขึ้นมา”

ทิฏฐิสังยุต โสดาปัตติวรรค ที่ ๑



🔅 คำสอนของมักขลิ โคสาล
ปัญหา ท่านศาสดามักขลิ โคสาล มีแนวคิดอย่างไร? และแนวคิดนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “มักขลิ โคสาล มีความเห็นว่า ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เพื่อความเศร้าหมองแห่งสัตว์ทั้งหมาย สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ย่อมเศร้าหมองเอง ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ย่อมบริสุทธิ์เอง ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ไม่มีเรี่ยวแรงของบุรุษ ไม่มีความบากบั่นของบุรุษ สัตว์ทั้งปวง ปาณะทั้งปวง ภูตทั้งปวง ชีวะทั้งปวง ล้วนไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไมมีความเพียร แปรไปตามภาวะแห่งความแน่นอนและความไม่แน่นอน ย่อมเสวยสุขเสวยทุกข์ในอภิชาติ ทั้ง ๖ เท่านั้น....

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ มีอยู่เพราะถือมั่นยึดมั่นรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ความเห็นอย่างนี้จึงเกิดขึ้นมา”

ทิฏฐิสังยุต โสดาปัตติวรรค ที่ ๑



🔅 คำสอนของปกุทธะ กัจจายนะ
ปัญหา ท่านศาสดาปกุทธะ กัจจายนะ มีแนวคิดอย่างไร? และแนวคิดนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “ปกุทธะ กัจจายนะ มีความเห็นว่า มีความเห็นว่า สภาวะ ๗ กองนี้ไม่มีใครทำ ไม่มีใครเป็นเหตุให้ทำ ไม่มีใครเนรมิต ไม่มีใครเป็นเหตุให้เนรมิต เป็นภพไม่มีผล ตั้งอยู่มั่นคงดุจยอด ดุจเสาระเนียด ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่กระทบกระทั่งกันและกัน ไม่อาจให้เกิดสุขหรือทุกข์แก่กันและกัน

“สภาวะ ๗ กองนั้น คืออะไร? คือ กองดิน กองน้ำ กองลม กองไฟ กองสุข กองทุกข์ กองชีวะ.... แม้ผู้ใดจะเอาศาสตราอันคมตัดศีรษะกัน ไม่ชื่อว่าใครปลงชีวิตใคร เป็นแต่ศาสตราสอดเข้าไปตามช่องระหว่างสภาพวะ ๗ กองเท่านั้น

“อนึ่ง มีกำเนิดที่เป็นใหญ่ ๑,๔๐๖,๖๐๐ มีกรรม ๕๐๐ กรรม ๕ กรรม ๓กรรม ๑ และกรรมกึ่ง มีทางดำเนิน ๖๒ มีอันตรกัลป์ ๖๒ มีอภิชาติ ๖ ปุริสภูมิ ๘ มีอาชีวะ ๔,๙๐๐ ปริพพาชก ๔,๙๐๐ นาควาส ๔,๙๐๐ อินทรีย์ ๒,๐๐๐ นรก ๓,๐๐๐ รโชธาต ๓๖ สัญญีครรภ์ ๗ อสัญญีครรภ ๗ นิคัณฐครรภ์ ๗ สภาวทิพย์ ๗ มนุษย์ ๗ ปิศาจ ๗ สวะ ๗ ปมใหญ่ ๗ ปมเล็ก ๗๐๐ เหวใหญ่ ๗ เหวเล็ก ๗ ฝันใหญ่ ๗ ฝันเล็ก ๗๐๐ มีมหากัลป์ ๘,๔๐๐,๐๐๐

“ทั้งคนพาลและบัณฑิตท่องเที่ยวเร่ร่อนไปแล้ว จักทำที่สุดทุกข์ได้ ในการท่องเที่ยวนั้น จะหวังว่าเราจักบ่มกรรมที่ยังไม่สุกงอมให้สุกงอมด้วยศีล ด้วยพรต ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์ หรือว่าเราจักผลักดันกรรมที่สุกงอมแล้วกระทำให้หมดสิ้นไปเสียดังนี้ไม่ได้เลย ในการท่องเที่ยวไปนั้น ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ที่อาจทำให้สิ้นสุดได้ เหมือนตวงของให้หมดด้วยทะนาน ไม่มีความเสมอและความเจริญ ไม่มีการเพิ่มขึ้นและลดลง พาลและบัณฑิตเร่ร่อนไปเสวยสุขและทุกข์เองเหมือนกลุ่มด้ายที่บุคคลขว้างไป ย่อมคลี่ออกไปเอง...

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ มีอยู่เพราะถือมั่นยึดมั่นรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ความเห็นอย่างนี้จึงเกิดขึ้นมา”

ทิฏฐิสังยุต โสดาปัตติวรรค ที่ ๑


🔅 พระโสดาบัน ๒ ประเภท
ปัญหา พระโสดาบัน ประเภทสัทธานุสารี และ ธัมมานุสารี มีคุณสมบัติอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ... รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ..จักขุวิญญาณ... โสตวิญญาณ... ฆานวิญญาณ.... ชิวหาวิญญาณ... กายวิญญาณ... มโนวิญญาณ...จักขุสัมผัส... โสตสัมผัส...ฆานสัมผัส... ชิวหาสัมผัส... กายสัมผัส... มโนสัมผัส...เวทนาเกิด แต่จักขุสัมผัส... แต่โสตสัมผัส... แต่ฆานสัมผัส... แต่ชิวหาสัมผัส... แต่กายสัมผัส... แต่มโนสัมผัส...รูปสัญญา... สัททสัญญา... คันธสัญญา... รสสัญญา... โผฏฐัพพะสัญญา... ธัมมสัญญา...รูปเจตนา.... สัททเจตนา... คันธเจตนา... รสเจตนา... โผฏฐัพพะเจตนา... ธัมมเจตนา...รูปตัณหา.... สัททตัณหา... คันธตัณหา... รสตัณหา... โผฏฐัพพะตัณหา... ธัมมตัณหา...ปฐวีธาตุ... อาโปธาตุ... เตโชธาตุ... วาโยธาตุ... อากาศธาตุ... วิญญาณธาตุ...รูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดเชื่อมั่นไม่หวั่นไหว ซึ่งธรรมเหล่านี้ อย่างนี้เราเรียกบุคคลผู้นี้ว่า สัทธานุสารี (ผู้ดำเนินไปในศรัทธา) ก้าวลงสู่สัมมัตนิยาม (แนวทางอันมั่นคงแห่งความเป็นมนุษย์สมบูรณ์) ก้าวลงสู่ภูมิแห่งสัปบุรุษล่วงภูมิแห่งปุถุชน ไม่มีทางจะทำกรรมที่จะนำไปสู่นรก กำเนิดเดียรัจฉาน วิสัยแห่งเปรต จักไม่ทำกาละ (ตาย) ตราบเท่าที่ยังไม่ได้ทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง...

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลมีใดธรรมเหล่านี้ที่ทนทานต่อการพิจารณาด้วยปัญญาได้ตามสมควร เราเรียกบุคคลนี้ว่า ธัมมานุสารี (ผู้ดำเนินไปในธรรม) ผู้ได้รู้เห็นธรรมเหล่านี้อย่างนี้ เรากล่าวผู้นี้ว่า เป็นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า....”

โอกกันตสังยุต



🔅 พระอรหันต์กับการเข้าฌาน
ปัญหา ในการปฏิบัติสมาธิจนถึงขั้นฌาน พระอรหันต์ท่านเข้าฌาน อยู่ในฌาน และออกจากฌานหรือไม่? เพราะเหตุใด?

พระสารีบุตรตอบ “ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ผมไม่ได้คิดอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้เข้าปฐมฌานอยู่ หรือว่าเข้าปฐมฌานแล้ว หรือว่าออกจากปฐมฌานแล้ว เนื่องจากว่าพระสารีบุตรมีอายุถอนอหังการ มมังการ มานะได้นานแล้ว”

สารีปุตตสังยุต



🔅 การเลี้ยงชีพของสมณะ
ปัญหา การเลี้ยงชีพอย่างไม่ถูกต้อง และถูกต้องของสมณะคืออย่างไร ?

พระสารีบุตรตอบ “ดูก่อนน้องหญิง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งเลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ ด้วยดิรัจฉานวิชา คือวิชาทำนายทายทัก สมณพราหมณ์นี้เรียกว่าก้มหน้าบริโภค
“สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เลี้ยงชีพด้วยดิรัจฉานวิชา คือวิชาดูฤกษ์ยาม สมณพราหมณ์นี้เรียกว่าแหงนหน้าบริโภค
“สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เลี้ยงชีพด้วยการประกอบกิจการส่งข่าวสารและรับใช้ สมณพราหมณ์นี้เรียกว่ามองดูทิศใหญ่บริโภค
“สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งเลี้ยงชีพ ด้วยมิจฉาชีพ ด้วยดิรัจฉานวิชา คือวิชาทำนายทายทัก สมณพราหมณ์นี้เรียกว่าดูทิศน้อยบริโภค
“ดูก่อนน้องหญิง ส่วนเรานั้นมิได้เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ เราแสวงหาภิกษาโดยชอบธรรม แล้วจึงบริโภค...”

สูจิมุขีสูตร ขันธ


🔅 อายตนะกับไตรลักษณ์
ปัญหา อายตนะภายในและภายนอกเกี่ยวข้องกับไตรลักษณ์อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...เป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา....
“ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...เป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา....
“ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...เป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา ท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา....
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ เป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา....
“รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ เป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา....
“รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ เป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า มันไม่ใช่ของเรา....
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...ที่เป็นอดีตและอนาคต เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะกล่าวไปไยถึง ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...ที่เป็นปัจจุบันเล่า อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้วเห็นอยู่อย่างนี้ย่อมไม่มีเยื่อใยในตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...ที่เป็นอดีตย่อมไม่เพลิดเพลินตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...ที่เป็นอนาคตย่อมปฏิบัติเพื่อดับตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ... ที่เป็นปัจจุบัน

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ที่เป็นอดีตและอนาคต เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะกล่าวไปไยถึง รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ที่เป็นปัจจุบัน อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้วเห็นอยู่อย่างนี้ย่อมไม่มีเยื่อใยในรูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ที่เป็นอนาคตย่อมปฏิบัติเพื่อดับรูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ที่เป็นปัจจุบัน...”

อนิจจวรรคที่ ๑


🔅 คุณโทษของอายตนะ
ปัญหา อายตนะภายในและภายนอกมีโทษอย่างเดียวหรือว่ามีคุณด้วย ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความสุขความยินดีเกิดขึ้นเพราะอาศัย ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...นี้เป็นคุณแห่ง ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษ การกำจัด การละความยินดีพอใจใน ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...นี้เป็นความสลัดออก

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความสุขความยินดีเกิดขึ้นเพราะอาศัย รูป... เสียง... กลิ่น... รส...โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ นี้เป็นคุณแห่ง (อายตนะภายนอก ๖) รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่ง (อายตนะภายนอก ๖) การกำจัด การละความยินดีใน รูปฯ เสียงฯ นี้เป็นการสลัดออกแห่ง (อายตนะภายนอก ๖)

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเที่ยวแสวงหาคุณแห่ง ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...ได้พบคุณแห่ง ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ... ได้เห็นอย่างดีแล้วด้วยปัญญา เราได้เที่ยวแสวงหาโทษแห่ง ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ... ได้พบแห่ง (อายตนะภายใน ๖) แล้ว ได้เห็นอย่างดีแล้วด้วยปัญญา ได้เที่ยวแสวงหาวิธีสลัดออกแห่ง (อายตนะภายใน ๖) ได้พบทางสลัดออกแห่ง (อายตนะภายใน ๖) แล้วเห็นด้วยดีแล้วด้วยปัญญา.....

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเที่ยวแสวงหาคุณแห่ง รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ได้พบคุณแห่ง (อายตนะภายนอก ๖) แล้ว เราได้เที่ยวแสวงหาโทษแห่ง (อายตนะภายนอก ๖) ได้พบโทษแห่ง (อายตนะภายนอก ๖) แล้ว เราได้แสวงหาวิธีสลัดออกแห่ง (อายตนะภายนอก ๖) ได้พบวิธีสลัดออกแล้ว.....

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าคุณแห่ง (อายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖) จักไม่มีแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่พึงกำหนัดยินดีใน (อายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖) ถ้าโทษแห่ง (อายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖) จักไม่มีแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่เบื่อหน่ายใน (อายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖) ถ้ามีวิธีสลัดออกซึ่ง (อายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖) จักไม่มีแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่พึงสลัดออกจาก (อายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖) 

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายยังไม่รู้ตามความเป็นจริง ซึ่งคุณแห่งอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ ว่า เป็นคนซึ่งโทษแห่งอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ ว่าเป็นโทษ ซึ่งความสลัดออกว่าเป็นความสลัดออกเพียงใด สัตว์ทั้งหลายเห็นยังไม่เป็นผู้ออกไปจากไป หลุดพ้นจากโลก พร้อมทั้งกาลโลก มารโลก พรหมโลก จากหมู่สัตว์ มีใจหาเขตแดนมิได้อยู่เพียงนั้น...”

ยมกวรรคที่ ๑


🔅 เพลินอายตนะ ไม่พ้นทุกข์
ปัญหา คนเช่นใด มีโอกาสที่จะพ้นทุกข์มากกว่าคนอื่นๆ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดยังเพลิดเพลิน ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าย่อมเพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดเพลิดเพลินทุกข์

เรากล่าวว่าผู้นั้นยังไม่พ้นไปจากทุกข์

“ส่วนผู้ใดไม่เพลิดเพลินตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ผู้นั้นชื่อว่าไม่เพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดไม่เพลิดเพลินทุกข์ เรากล่าวว่าผู้นั้นพ้นไปจากทุกข์

อภินันทนสูตรที่ ๑-๒



🔅 อายตนะกับทุกข์
ปัญหา อายตนะกับทุกข์เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่ง ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ นี้เป็นความเกิดแห่งทุกข์ เป็นความตั้งอยู่แห่งโรค เป็นความปรากฏแห่งชราและมรณะ

“ส่วน ความดับ ความสงบ ความไม่มีแห่ง (อายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖) นี้เป็นความเกิดแห่งทุกข์ เป็นความสงบแห่งโรค เป็นความไม่มีแห่งชราและมรณะ....”

อุปปาทสูตรที่ ๑-๒


🔅 อะไรคือสิ่งทั้งปวง
ปัญหา ตามหลักพุทธศาสนา อะไรคือสิ่งทั้งปวง? และควรจะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งปวงนั้นอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรคือสิ่งทั้งปวง จักษุกับรูปหูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ ใจกับธรรมารมณ์ อันนี้เรากล่าวว่าสิ่งทั้งปวง ... ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักบอกปฏิเสธทั้งปวง แล้วบัญญัติสิ่งอื่นแทน วาจาของผู้นั้นพึงเป็นแต่คำกล่าวพล่อย ๆ เท่านั้นแต่ครั้นถูกถามเข้า ก็คงไม่ปริปากได้ และยิ่งจะอึดอัดลำบากใจนั้นเป็นเพราะอะไร เพราะนั่นไม่ใช่วิสัยที่จะเป็นไปได้

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุรูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นสิ่งควรละ

“หู เสียง โสตวิญญาณ...โสตสัมผัส...สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดเพราะโสตสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นสิ่งควรละ

“จมูก กลิ่น ฆานวิญญาณ....ฆานสัมผัส... สุขเวทนา ทุขกเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดเพราะฆานสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นสิ่งควรละ

“ลิ้น รส ชิวหาวิญญาณ...ชิวหาสัมผัส...สุขเวทนา ทุขกเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นสิ่งควรละ

“กาย โผฏฐัพพะ กายวิญญาณ... กายสัมผัส...สุขเวทนา ทุขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดเพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นสิ่งควรละ

“มโน ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ... มโนสัมผัส... สุขเวทนา ทุขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นสิ่งควรละ....”

สัพพวรรคที่ ๓



🔅 อะไรคือของร้อน
ปัญหา อะไรเป็นของร้อน? ร้อนเพราะอะไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุรูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส สุขเวทนา ทุขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร เรากล่าวว่า ร้อนเพราะไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ร้อนเพราะ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส

“โสต เสียง โสตวิญญาณ...โสตสัมผัสเป็นของร้อน แม้สุขเวทนา ทุขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดเพราะโสตสัมผัสเป็นปัจจัย ที่เป็นของร้อน.....

“ฆานะ กลิ่น ฆานวิญญาณ....ฆานสัมผัสเป็นของร้อน แม้สุขเวทนา ทุขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดเพราะฆานสัมผัสเป็นปัจจัย ที่เป็นของร้อน.....

“ชิวหา รส ชิวหาวิญญาณ...ชิวหาสัมผัส เป็นของร้อน แม้สุขเวทนา ทุขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัย ที่เป็นของร้อน.....

“กาย โผฏฐัพพะ กายวิญญาณ... กายสัมผัส เป็นของร้อน แม้สุขเวทนา ทุขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดเพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัย ที่เป็นของร้อน.....

“ใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ... มโนสัมผัส เป็นของร้อน แม้สุขเวทนา ทุขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ที่เป็นของร้อน.....ร้อนเพราะไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ร้อนเพราะ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส”

อาทิตตปริยายสูตร



🔅 ผู้ไม่สำคัญหมายย่อมไม่ถือมั่น
ปัญหา ข้อปฏิบัติอันเหมาะสมแก่การกำจัดความถือตนเกี่ยวกับสิ่งทั้งปวงด้วยอำนาจ ตัณหา มานะทิฏฐิ คืออะไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระศาสนานี้ย่อมไม่สำคัญหมาย ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...ย่อมไม่สำคัญหมายในตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ... ย่อมไม่สำคัญหมายจากตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ... ย่อมไม่สำคัญหมายว่าตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ... เป็นของเราย่อมไม่สำคัญหมาย รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ย่อมไม่สำคัญหมายในรูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ย่อมไม่สำคัญหมายแต่รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ย่อมไม่สำคัญหมายว่า รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ เป็นของเรา ย่อมไม่สำคัญ จักขุวิญญาณ... โสตวิญญาณ... ฆานวิญญาณ.... ชิวหาวิญญาณ... กายวิญญาณ... มโนวิญญาณ... ย่อมไม่สำคัญหมายใน (วิญญาณทั้ง ๖ นั้น) เป็นของเรา ย่อมไม่สำคัญหมายจักขุวิญญาณ... โสตวิญญาณ... ฆานวิญญาณ.... ชิวหาวิญญาณ... กายวิญญาณ... มโนวิญญาณ... ย่อมไม่สำคัญหมายใจ (สัมผัสทั้ง ๖ นั้น) ย่อมไม่สำคัญหมายแต่ (สัมผัสทั้ง ๖ นั้น) ย่อมไม่สำคัญหมายว่า (สัมผัสทั้ง ๖ นั้น) เป็นของเรา ย่อมไม่สำคัญหมายสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา อันมี (สัมผัสทั้ง ๖ นั้น) เป็นปัจจัย ย่อมไม่สำคัญหมายใน (เวทนาทั้ง ๓ นั้น) ย่อมไม่สำคัญหมายแต่ (เวทนาทั้ง ๓ นั้น) ย่อมไม่สำคัญหมายว่า เวทนาทั้ง ๓ นั้นเป็นของเรา

“ย่อมไม่สำคัญหมายสิ่งทั้งปวง ในสิ่งทั้งปวง แต่สิ่งทั้งปวง ย่อมไม่สำคัญ หมายว่าสิ่งทั้งปวงเป็นเของเรา บุคคลผู้ไม่สำคัญหมายอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไปถือมั่นย่อมไม่สะดุ้งกลัว เมื่อไม่สะดุ้งกลัวย่อมดับทุกข์เย็นสนิทเฉพาะตน....”

สารูปสูตร

© 2008. Template by Dicas Blogger.

TOPO