วันศุกร์

จิตตสังคหวิภาค


ปริเฉจที่ ๑
จิตปรมัตถ์


🔅 จิต คืออะไร?

จิตเป็นธรรมชาติรู้อารมณ์ คือ ได้รับอารมณ์อยู่เสมอ จึงเรียกว่า รู้อารมณ์ ดังพระบาลีที่ว่า อารมณํ จินฺเตตีติ - จิตฺตํ ธรรมชาติใด ย่อมรู้อารมณ์อยู่เสมอธรรมชาตินั้น ชื่อว่า "จิต"

อารมณ์ เป็นธรรมชาติที่ถูกจิตรู้ มี ๖ อย่าง คือ : -

๑. รูปารมณ์ ได้แก่รูปสี ถูกจิตรู้ด้วยการ เห็น
๒. สัททารมณ์ ได้แก่เสียง ถูกจิตรู้ด้วยการ ได้ยิน
๓. คันธารมณ์  ได้แก่กลิ่น ถูกจิตรู้ด้วยการ รู้กลิ่น
๔. รสารมณ์ ได้แก่รส ถูกจิตรู้ด้วยการ รู้รส
๕. โผฏฐัพพารมณ์  ได้แก่ แข็ง-อ่อน, เย็น-ร้อน, หย่อน-ตึง ถูกจิตรู้ด้วยการ รู้สัมผัส
๖. ธรรมารมณ์ ได้แก่จิต-เจตสิก, ปสาทรูป, สุขุมรูป, นิพพาน, บัญญัติ ถูกจิตรู้ด้วยการ คิดนึก

การรู้อารมณ์ มี ๓ แบบ คือ : -

๑. การรู้แบบสัญญารู้ คือ การรู้โดยอาศัยการกำหนดจดจำเอาไว้ เช่น จำได้ว่าสีขาว สีดำ ผู้หญิง ผู้ชาย เป็นต้น
๒. การรู้แบบปัญญารู้ คือ การรู้เหตุผลตามความเป็นจริง เช่น รู้บาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ หรือรู้รูปนามตามความเป็นจริงเป็นการรู้เพื่อทำลายกิเลส มีความเห็นผิด เป็นต้น เรียกว่า "ปัญญารู้"
๓. การรู้แบบวิญญาณ คือ รู้ว่า ได้มีการรับอารมณ์อยู่เสมอตามทวารต่างๆ ได้แก่ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รส รู้สึกถูกต้อง และรู้คิดนึก

การรู้อารมณ์ของจิต จึงเป็นการรู้แบบวิญญาณรู้นั่นเอง เพราะคำว่า “จิต” หรือ “วิญญาณ” มีความหมายเป็นอย่างเดียวกันในปฏิสัมภิทาพระบาลีมหาวรรคได้แสดงไว้ว่าจิตมีชื่อต่าง ๆ ที่ใช้เรียกขานกันถึง ๑๐ ชื่อ ดังแสดงว่า

ยํ จิตฺตํ มโน หทยํ มานสํ ปณฺฑรํ มนายตนํ มนินฺทฺรียํ วิญญาณํ วิญญาณกฺขนฺโธ ตชฺชา มโนวิญญาณธาตุ อิทํ จิตฺตํ อัฏฐสาลินีอรรถกถาธิบายไว้ว่า

ธรรมชาติใดย่อมคิด ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า “จิต”
ธรรมชาติใดย่อมน้อมไปหาอารมณ์ ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า “มโน”
จิตที่รวบรวมไว้ภายในนั่นแหละ ชื่อว่า “หทัย”
ธรรมชาติฉันทะ คือความพอใจที่มีอยู่ในใจนั้น ชื่อว่า “มานัส”
จิตเป็นธรรมชาติที่ผ่องใส จึงชื่อว่า “ปัณฑระ”
มนะที่เป็นอายตนะ คือเครื่องต่อ จึงชื่อว่า “มนายตนะ”
มนะที่เป็นอินทรีย์ คือครองความเป็นใหญ่ จึงชื่อว่า “มนินทรีย์”
ธรรมชาติใดที่รู้อารมณ์ ธรรมชาตินั้น ชื่อ “วิญญาณ”
วิญญาณที่เป็นขันธ์ จึงชื่อว่า “วิญญาณขันธ์”
มนะที่เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งรู้อารมณ์ จึงชื่อว่า “มโนวิญญาณธาตุ”


🔅 สามัญลักษณะของจิต

จิตเป็นสังขตธรรม คือ เป็นธรรมชาติที่ถูกปรุงแต่งโดยอำนาจแห่งปัจจัยมี อารัมณปัจจัย อนันตรปัจจัย เป็นต้น จิตจึงมีสภาวะที่เป็นสามัญลักษณะ หรือไตรลักษณะคือ: -

อนิจจลักษณะ คือ สภาพความไม่เที่ยง แปรปรวน
ทุกขลักษณะ คือ สภาพความทนอยู่ไม่ได้ เพราะถูกบีบคั้นเบียดเบียน
อนัตตลักษณะ คือ สภาพความไม่ใช่ตัวตน ไม่เป็นแก่นสารที่เหนืออำนาจการบังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างใด ๆ ได้

เพราะจิตมีสภาพที่เป็นไตรลักษณ์ดังกล่าวนี้ จิตจึงมีอาการเกิด-ดับ สืบต่อเนื่องกันไปเป็นสาย และการเกิด-ดับสืบต่อนี้รวดเร็วมาก มีอนุมานว่า ชั่วลัดนิ้วมือเดียว จิตเกิด-ดับถึงแสนโกฏิขณะ

สังขตธรรมอื่น คือ เจตสิกและรูป ก็มีสามัญลักษณะเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจสภาวะลักษณะอันแท้จริงของจิตนั้นได้จะต้องพิจารณาจากวิเสสลักษณะ คือ ลักษณะพิเศษประจำตัวของจิต ๔ ประการ ที่เรียกว่า ลักขณาทิจตุกะของจิต คือ : -

วิชานนลกขณํ มีการรู้อารมณ์ เป็นลักษณะ
ปุพฺพงฺคมรสํ มีการเป็นประธานในธรรมทั้งปวง เป็นกิจ
สนธานปัจจุปัฏฐาน มีการเกิดสืบเนื่องกันไม่ขาดสาย เป็นอาการปรากฏ
นามรูปปทฏฐานํ มีนามรูป เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

ในธรรมบท ภาค ๒ ได้แสดงถึงสภาพของจิตไว้ ดังนี้

ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คุหาสยํ เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา แปลว่า ชนทั้งหลายใดจักระวังจิต ซึ่งไปไกล ไปเดี่ยว ไม่มีสรีระ มีคูหา เป็นที่อาศัยไว้ได้ ชนทั้งหลายนั้นจะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร

จากคาถาธรรมบทนี้ แสดงสภาพของจิตให้ได้ทราบไว้หลายนัย คือ : -

จิต ธรรมชาติรู้อารมณ์ ไปได้ไกล (ทูรงฺคมํ) หมายถึง จิตสามารถน้อมเอาอารมณ์ที่อยู่ไกลแสนไกล ที่เคยพบเห็นมาแล้ว เอามาคิดนึกได้ ไม่ใช่จิตออกจากร่างไปท่องเที่ยวได้ไกล

จิต เป็นธรรมชาติไปเดี่ยว หรือไปดวงเดียว (เอกจร) หมายถึง จิตรู้อารมณ์ได้ทีละอย่าง จิตขณะหนึ่งจะรู้อารมณ์หลายอย่างพร้อมกันไม่ได้ จิตขณะหนึ่งรู้อารมณ์ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เนื่องจากจิตเกิด-ดับรวดเร็วมาก จึงเหมือนกับสามารถรู้อารมณ์ได้หลายอย่างในคราวเดียวกันได้จิตขณะหนึ่ง ๆ ย่อมรู้อารมณ์ได้อย่างเดียวเท่านั้น

จิต เป็นนามธรรมไม่มีรูปร่างสัณฐานให้รู้ได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ต้องรู้ได้ด้วยใจเท่านั้น มีสภาวะเป็นอรูปธรรม จึงไม่อาจแสดงรูปร่างสัณฐานให้ปรากฏได้ (อสรีรํ)

จิต เป็นธรรมชาติที่ต้องมีวัตถุเป็นที่เกิดและที่อาศัย (คหาสนํ) สำหรับสัตว์ที่เกิดในปัญจโวการภูมิ คือ ภูมิที่มีรูปนามขันธ์ ๕ วัตถุที่อาศัยของจิตมี ๖ แห่ง ได้แก่ จักขุวัตถุ, โสตวัตถุ, ฆานวัตถุ, ชิวหาวัตถุ, กายวัตถุ, และหทัยวัตถุ โดยสภาวปรมัตถธรรมได้แก่ ปสาทรูป ๕ และหทัยวัตถุรูป ๑ จิตจะล่องลอยออกไปนอกวัตถุที่อาศัยไม่ได้ แม้เวลาตาย จิตก็ดับลงพร้อมกับความดับของหทัยวัตถุรูป นั่นเอง

จิตของสัตว์ทั้งหลาย นอกจากจิตของพระอรหันต์ ย่อมถูกอาสวกิเลสผูกพันอยู่เป็นประจำ ทำให้ไม่รู้ความจริงของรูปนาม คือทุกขสัจจะ จึงเกิดความสำคัญผิดว่ารูปนามขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวเรา ปรารถนาความสวย ความสุข ความเที่ยง วิปลาสไปจากความเป็นจริงอยู่เสมอ เพราะเหตุนั้นพระพุทธองค์จึงให้ระวังรักษาจิตให้พ้นจากเครื่องผูกของมาร (กิเลส) โดยจะต้องเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นทางเดียว ที่จะทำให้หมดจดจากกิเลส, แจ้งพระนิพพาน และพ้นจากสังสารทุกข์ได้ ฉะนั้น จึงไม่มีจิตของใครที่เกิดมาพร้อมความบริสุทธิ์ได้ ต้องถูกกิเลสมารผูกพันไว้อยู่ทั่วหน้ากัน จำเป็นต้องฟังธรรม และปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์เท่านั้น จึงจะสามารถหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องผูกของมารได้

🔅 อำนาจจิต

จิต นอกจากจะมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะแล้ว ยังมีกิจหรือหน้าที่เป็นประธานในธรรมทั้งปวง คือ ทำให้สำเร็จการงานทั้งหลาย ทางกาย วาจา ใจ ดังในธรรมบทกล่าวว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฎฐา มโนมยา มนสา เจ ปทุฏฺเฐน ภาสติ วา กโรติ วา ตโตนํ ทุกฺขมเนฺวติ จกฺกํว วหโต ปทํ ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าบุคคลใด มีใจชั่วแล้ว พูดอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม เพราะความชั่วนั้น ทุกข์ย่อมตามบุคคลนั้นไปดุจล้อหมุนตามรอยเท้าแห่งโค ที่นำแอกไปอยู่ ฉะนั้น

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา มนสา เจ ปสนฺเนน ภาสติ วา กโรติ วา ตโตนํ สุขมเนฺวติ ฉายาว อนุปายินี ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าบุคคลใด มีใจดีแล้ว พูดอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม เพราะความดีนั้น สุขย่อมตามบุคคลนั้นไปดุจเงาติดตามตน ฉะนั้น

แสดงว่า การงานต่าง ๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำบาป ทำบุญอย่างไรก็ตาม ล้วนสำเร็จได้ด้วยจิตใจทั้งสิ้น ถ้าไม่มีจิตแล้วก็ไม่อาจทำกรรมอะไรได้เลย จิตจึงมีอำนาจกระทำความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลายให้วิจิตรต่าง ๆ ดังวจนะว่า :-

จิตฺตึกโรตีติ = จิตฺตํ แปลความว่า ธรรมชาติใด ทำความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายให้วิจิตร ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า จิต ฉะนั้น จิตจึงมีอำนาจทำให้ธรรมชาติทั้งหลายเป็นไปโดยวิจิตร ประมวลความวิจิตรของจิตไว้ ๖ ประการ คือ : -

  • ๑. วิจิตรโดยการกระทำ หมายความว่า วัตถุสิ่งของทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในโลกและความประพฤติเป็นไปของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นย่อมมีทั้งงดงามแปลกประหลาดน่าพิศวง และน่าสยดสยองนั้น ล้วนสำเร็จได้ด้วย จิต
  • ๒. วิจิตรด้วยตนเอง หมายถึง สภาพของจิตนั่นเอง มีความเป็นไปอย่างน่าพิศวงนานาประการ มีทั้งจิตที่เป็นอกุศล กุศล, วิบาก, อภิญญาและกิริยา เช่น จิตที่มีราคะ, จิตมีโทสะ และจิตที่มีศรัทธา, อภิญญา, ปัญญา และจิตที่สงบ เป็นต้น
  • ๓. วิจิตรในการสั่งสมกรรม และ กิเลส หมายถึง กรรม คือ การกระทำและกิเลสเครื่องทำให้จิตใจเศร้าหมอง ที่ปรากฏขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลายอยู่เป็นประจำนั้น เพราะมีการสั่งสมไว้ในจิตมาแล้วแต่อดีต ครั้นมาได้รับอารมณ์ใหม่ในปัจจุบัน ก็สนับสนุนกรรมและกิเลสให้ปรากฏขึ้นมาใหม่ และจะเก็บสั่งสมไว้ต่อไปอีก
  • ๔. วิจิตรในการรักษาวิบากที่กรรมและกิเลสได้สั่งสมไว้ หมายถึง กรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่จิตก่อให้เกิดขึ้น ผลของกรรมคือวิบาก ย่อมไม่สูญหายไปไหน แม้กรรมนั้นจะเล็กน้อย หรือได้กระทำมาแล้วช้านานปานใดก็ตามผลแห่งกรรม คือวิบากนั้น จะติดตามไปให้ต้องได้รับผล เมื่อถึงโอกาส
  • ๕. วิจิตรในการสั่งสมสันดานตนเอง หมายถึง จิตที่ก่อให้เกิดการกระทำอย่างใดขึ้นก็ตามเมื่อได้กระทำอยู่เสมอๆ เป็นนิตย์แล้วย่อมจะติดเป็นนิสัยเป็นสันดาน ทำให้เกิดความชำนาญในการกระทำอย่างนั้นเรื่อยๆ ไป ทั้งนี้ เพราะเมื่อจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป และทำให้จิตดวงใหม่เกิดสืบต่ออยู่เรื่อย ๆ ไป จิตดวงเก่าที่ดับไปนั้น ย่อมส่งมอบกิจการงานให้จิตดวงใหม่โดยไม่ขาดสาย ในลักษณะที่เป็นอนันตรปัจจัย และอาเสวนปัจจัย เป็นต้น
  • ๖. วิจิตรด้วยอารมณ์ต่าง ๆ หมายถึง จิตย่อมรับอารมณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ คือ ประเดี๋ยวเห็น, ประเดี๋ยวได้ยิน ได้กลิ่น, รู้รส เป็นต้น สับเปลี่ยนเวียนวนอยู่ในอารมณ์ทั้ง ๖ มีรูปารมณ์บ้าง สัททารมณ์บ้าง คันธารมณ์บ้าง เป็นต้น


ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า 
สิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหมดที่วิจิตรพิสดารนั้น เพราะอำนาจแห่งจิต คือ มีจิตเป็นผู้กระทำให้วิจิตร ในสิ่งที่ไม่มีชีวิต ก็ได้แก่วัตถุสิ่งของทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในโลก และในสิ่งที่มีชีวิต ก็ได้แก่สัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่วิจิตรนั้น เพราะกำเนิดวิจิตร, กำเนิดวิจิตร เพราะการกระทำ (อกุศลกุศล) วิจิตร, การกระทำวิจิตร เพราะตัณหา คือ ความยินดีติดใจวิจิตร, ตัณหาวิจิตร เพราะสัญญาวิจิตร, สัญญาวิจิตร เพราะจิตสั่งสมวิจิตร ดังบาลีในปรมัตถทีปนีฎีกาแสดงว่า

จิตฺตวิจิตฺตตาย สญฺญาวิจิตฺตตา, สญฺญาวิจิตตตาย ตณฺหาวิจิตฺตตา, ตณฺหาวิจิตฺตตาย กมฺมานิ วิจิตฺตานิ กมฺมวิจิตตฺตา โยนิโย วิจิตฺตตา, โยนิวิจิตฺตตาย เตสํ ติรจฺฉานคตานํ วิจิตฺตตา เวทิตพฺพา แปลว่า ความวิจิตรของสัตว์ทั้งหลายนั้น เพราะกำเนิดวิจิตร, กำเนิดวิจิตรเพราะการกระทำทางกาย วาจา ใจ วิจิตร, การกระทำทางกาย วาจา ใจ วิจิตร เพราะตัณหา คือ ความพอใจวิจิตร, ตัณหาวิจิตรก็เพราะสัญญา คือ ความจำเรื่องราวต่างๆ วิจิตร, สัญญาวิจิตรก็เพราะจิตวิจิตร รวมความแล้ว จิต ทำให้วิจิตรทั้งภายในและภายนอกสันดานของตน คือ ทำให้สัตว์ทั้งหลายวิจิตร และทำให้วัตถุภายนอกวิจิตร

🔅 จํานวนจิต

เมื่อกล่าวตามสภาวลักษณะของจิตแล้ว จิตมีจำนวนเพียง ๑ เท่านั้น เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ขณะใดจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นการรู้อารมณ์ก็เกิดขึ้น จะห้ามการรู้อารมณ์ไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ สภาวลักษณะของจิตเมื่อกล่าวโดยทั่วไป จึงเป็นการรู้อารมณ์อย่างเดียว เมื่อนับจำนวนโดยสภาวลักษณะแล้ว จึงมีเพียง ๑ แต่จะกล่าวถึงลักษณะที่รู้อารมณ์พิเศษของจิตแล้ว จิตจะมีความสามารถในการรู้อารมณ์ไม่เหมือนกัน โดยอำนาจการปรุงแต่งของเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีที่อาศัยและมีอารมณ์อันเดียวกันกับจิต จึงทำให้จิตมีความสามารถในการรู้อารมณ์พิเศษแตกต่างกันออกไป เช่น รู้ในเรื่องที่เป็นบุญ เป็นบาป รู้ในการสงบระงับจากกาม คือ รู้ในเรื่องรูปฌาน อรูปฌาน และรู้อารมณ์นิพพาน เพราะฉะนั้น เมื่อจะศึกษากันถึงความพิสดารของจิตแล้ว จะต้องศึกษาประเภทต่าง ๆ ของจิตที่รับอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ต่อไป ซึ่งจำแนกจิตออกไปทั้งหมดได้อย่างย่อ ๘๙ และอย่างพิสดารได้ ๑๒๑


🔅 จําแนกประเภทจิตโดยนัยต่าง ๆ

จิตจำนวน ๘๙ หรือ ๑๒๑ นั้น จำแนกเป็นนัยต่างๆ ได้ ๙ นัย คือ: -

  • ๑. ชาติเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตโดยชาติ มี ๔ ชาติ ได้แก่ อกุศลชาติ กุศลชาติ วิปากชาติ และกิริยาชาติ   
  • ๒. ภูมิเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตโดยภูมิ มี ๔ ภูมิ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ และโลกุตรภูมิ 
  • ๓. โสภณเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตที่ดีงามประเภทหนึ่ง เรียกว่า “โสภณจิต” และประเภทจิตที่เหลือนอกนั้น เรียกว่า “อโสภณจิต” 
  • ๔. โลกเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตที่เป็นอยู่ในโลกทั้ง ๓ มี กามโลก รูปโลก และอรูปโลก เรียกว่า “โลกียจิต” กับจิตที่พ้นจากความเป็นไปในโลกทั้งที่เรียกว่า “โลกุตรจิต”
  • ๕. เหตุเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ที่เรียกว่า “สเหตุกจิต” และที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ที่เรียกว่า “อเหตุกจิต
  • ๖. ฌานเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตที่สามารถกระทำฌานเรียกว่า "ฌานจิต" และที่ไม่สามารถกระทำฌาน เรียกว่า "อฌานจิต"
  • ๗. เวทนาเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตโดยการเสวยอารมณ์ ได้แก่จิตที่เกิดพร้อมด้วย สุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสสเวทนา โทมนัสสเวทนา และอุเบกขาเวทนา
  • ๘. สัมปโยคเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตโดยสัมปยุตและวิปปยุต
  • ๙. สังขารเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตโดยสภาพมีกำลังแก่กล้าเรียกว่า “อสังขาริก” และสภาพที่มีกำลังอ่อนกว่า เรียกว่า “สสังขาริก

การอธิบายจิตต่อไปนี้ พระอนุรุทธาจารย์ แสดงจิตโดยภูมิเภทนัยก่อนเพราะเป็นการแสดงความเป็นไปของจิตที่ท่องเที่ยวไปในภูมิต่างๆ มีกามภูมิ เป็นต้น อย่างที่เราท่านทั้งหลายกำลังประสบอยู่นี้ ย่อมเข้าใจง่ายกว่าการแสดงจิตในประเภทอื่นๆ


🔅 
จำแนกจิตโดยภูมิ

ตตฺถ จิตตํ ตาว จตุพฺพิธํ โหติ กามาวจรํ รูปาวจรํ อรูปาวจรํ โลกุตฺตรญฺเจติ จิตปรมัตถ์ที่แสดงภูมิไว้เป็นอันดับแรกนี้ มี ๔ ประเภท คือ กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต และโลกุตรจิต

ในจำนวนจิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ นั้น เมื่อจำแนกโดยภูมิแล้วได้ ๔ ประเภทคือ 
๑. กามาวจรจิต ๕๔ ดวง
๒. รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
๓. อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง
๔. โลกุตรจิต ๘ ดวง หรือ ๔๐

🔅 กามาวจรจิต ๕๔

คำว่า กามาวจรจิต เมื่อแยกบทแล้วได้ ๓ บท คือ กาม + อวจร + จิต = กามาวจรจิต 
กาม” หมายถึง ความยินดีติดใจในอารมณ์ ๖ มีรูป, เสียง, กลิ่น รส โผฏฐัพพะและเรื่องราวที่คิดนึก หรือหมายถึงสิ่งใดอันเป็นที่ชอบใจ สิ่งนั้นก็ได้ชื่อว่า "กาม" 

ดังมีวจนัตถะว่า กาเมตีติ = กาโมกามียตีติ

กาโม ซึ่งแปลว่า “ธรรมชาติใด
ย่อมมีความต้องการกามอารมณ์ ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า “กาม” ได้แก่ กิเลสกาม คือ กามตัณหา หรือ “ธรรมชาติใดเป็นที่ชอบของกามตัณหา ธรรมชาตินั้นก็ชื่อว่า "กาม" ได้แก่ วัตถุกาม คือ กามจิต เจตสิก รูป ที่เป็นอารมณ์ของกามตัณหา

กิเลสกาม หมายถึง สภาพที่เป็น ตัวปรารถนา ตัวใคร่ ตัวกำหนัดยินดีเพลิดเพลินในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่เป็นกามธรรม

วัตถุกาม หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ให้กามตัณหาเข้าไปยึดหน่วงไว้ได้แก่ กามอารมณ์ คือ กามจิต กับ เจตสิกที่ประกอบและรูปธรรม

“อวจร” แปลว่า “ท่องเที่ยวไป” หรือ “ซึ่งอาศัยอยู่” ฉะนั้น “กามาวจรจิตจึงหมายถึง จิตที่ท่องเที่ยว หรืออาศัยอยู่ในภูมิ อันเป็นที่เกิดของกิเลสกามและวัตถุกามรวมความว่า กามาวจรจิต หรือเรียกสั้นๆ ว่า กามจิตนั้น มีความหมายเป็น ๓ นัย คือ: -

๑. หมายถึง จิตที่รับกามอารมณ์โดยมาก
๒. หมายถึง จิตที่เกิดอยู่ในกามภูมิ ๑๑ โดยมาก
๓. หมายถึง จิตที่ข้องอยู่ในกามคุณอารมณ์

มีวจนัตถะว่า กาเม อวจรตีติ = กามาวจรํ แปลว่า "จิตเหล่าใดท่องเที่ยวอยู่ในกามอารมณ์หรือกามภูมิโดยมาก จิตเหล่านั้น ชื่อว่า กามาวจร"

กามาวจรจิตหรือกามจิต ซึ่งมีจำนวน ๕๔ ดวงนั้น จำแนกได้ ๓ ชนิด คือ

  • อกุศลจิต ๑๒
  • อเหตุกจิต ๑๘
  • กามาวจรโสภณจิต ๒๔

ในกามาวจรจิต ๕๔ ดวงนี้ พระอนุรุทธาจารย์ ได้แสดงอกุศลจิตก่อนเพราะอกุศลจิตนี้ เมื่อเกิดขึ้นแก่ผู้ใด ก็ย่อมให้โทษแก่ผู้นั้น จึงสมควรที่จะได้รู้สภาพของจิตที่ก่อให้เกิดโทษภัยแก่ชีวิตก่อน เป็นเบื้องต้น

🔅 อกุศลจิต ๑๒

อกุศลจิต เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งาม เป็นจิตที่หยาบ ที่ต่ำทราม หรือเป็นจิตที่ประกอบด้วยอกุศลเจตสิก ที่เป็นโทษ มีโทษ และให้ผลเป็นความทุกข์

คาถาสังคหะ
อฏฐิธา โลภมลานิ โทสมูลานิ จ ทฺวิธา โมหมูลานิ จ เทฺวติ ทฺวาทสากุสลา สิยุํฯ
แปลความว่า “โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ รวม ๑๒ ดวงนี้เป็น อกุศลจิต

อธิบายอกุศลจิต ๑๒ ดวงนี้ จำแนกออกเป็น ๓ ชนิด คือ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ และโมหมูลจิต ๒

โลภมูลจิต หมายความว่า จิตที่เกิดขึ้น โดยมีอกุศลเจตสิกประกอบ และมีโลภเจตสิก เป็นประธาน
โทสมูลจิต หมายความว่า จิตที่เกิดขึ้น โดยมีอกุศลเจตสิกประกอบ และมีโทสเจตสิก เป็นประธาน
โมหมูลจิต หมายความว่า จิตที่เกิดขึ้น โดยมีอกุศลเจตสิกประกอบ และมีโมหเจตสิก เป็นประธาน

แสดงการจําแนกอกุศลจิตเป็น ๓ ชนิด

อกุศลจิต ๑๒

  • โลภมูลจิต ๘
  • โทสมูลจิต ๒
  • โมหมูลจิต ๒

ผังภาพอกุศลจิต ๓ ชนิดโดยพิสดาร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น