ความเบื้องต้น

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และได้ทรงสอนมนุษย์ เทพยดา และพรหมเป็นเวลา ๕ พรรษาแล้ว ก็ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ใต้ต้นมะม่วง ชื่อว่า คัณฑามพฤกษ์ ใกล้นครสาวัตถี เพื่อประสงค์จะทรมานบรรดาเดียรถีย์ทั้งหลาย เมื่อเสร็จการแสดงยกมปาฏิหาริย์แล้ว ทรงพิจารณาว่าพระพุทธเจ้าในอดีตเมื่อสิ้นสุดยมกปฏิหาริย์แล้วเสด็จไปไหน ก็ทรงเห็นว่าเสด็จไปดาวดึงส์พิภพ จึงเหยียบยืนบนพื้นปฐพีด้วยพระบาทข้างหนึ่งวางพระบาทที่สองลงบนยอดเขายุคันธร แล้วยกพระบาทแรกก้าวไปเหยียบยอดเขาสิเนรุ ทรงประทับนั่งบนพระแท่นบัณฑุกัมพลแล้วทรงแสดงอภิธรรมกถาตั้งแต่ต้นพรรษา แก่เทพยดาในหมื่นจักรวาลที่มาประชุมกัน

ในเวลาภิกขาจาร (การเที่ยวบิณฑบาต) ทรงนิมิตพุทธนิมิตขึ้นแสดงธรรมแทน ทรงชำระพระทนต์ และชำระพระโอษฐ์ที่สระอโนดาต รับบิณฑบาตในหมู่ชนชาวอุตรกุรุแล้วกลับมาเสวยที่ริมสระอโนดาต พระสารีบุตรเถระขึ้นไปเฝ้าทุกวัน พระองค์โปรดประทานอภิธรรมกถา สังเขปนียแต่ทรงแสดงแก่เทพยดาและพรหมโดยวิตถารนัย ตลอดสมัย ๓ เดือน ธรรมาภิสมัยได้มีแก่เทวดาถึง ๘๐ โกฏิ ด้วยประการฉะนี้

อภิธรรมกถา มีการแสดง ๓ นัย คือ

๑. พระพุทธองค์แสดงแก่เทวดาและพรหมในดาวดึงส์ด้วยวิตถารนัย คือ นัยพิศดาร
๒. พระพุทธองค์ แสดงแก่ พระสารีบุตร ที่ริมสระอโนดาต ด้วยสังเขปนัยโดยย่อ
๓. พระสารีบุตร แสดงแก่สานุศิษย์ ๕๐๐ ที่เคยเกิดเป็นค้างคาวด้วยนาติวิตถารนาสังเขปนัย (กึ่งย่อถึงพิสดาร)

พระอานนท์ทรงจํามาแสดง ปรากฏอยู่ในพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ เป็นนาติวิตถารนาสังเขปนัย ที่รวบรวมไว้ในพระอภิธรรมปิฎกนั้นเอง ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๙๐๐ เศษ มีเถระผู้มีความรู้ความสามารถแตกฉานในพระไตรปิฎกท่านหนึ่ง มีนามว่า พระอนุรุทธเถระ เป็นชาวเมืองกาวิลกัญจ์ แขวงเมืองมัทราช ทางทิศใต้ของประเทศอินเดีย ท่านได้มาศึกษาพระอภิธรรมอยู่ที่เมืองอนุราธปุรี สำนักวัดตุมูลโสมาราม ประเทศลังกา มีความสันทัดจัดเจนแตกฉานมาก นามของท่านปรากฏโดยทั่วไป ท่านได้อาศัยบาลี อรรถกถา ฎีกาและอนุฎีกา อันเป็นหลักสำคัญแล้วรวบรวมร้อยกรอง ย่อความมาจากพระอภิธรรมปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์ที่สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนามีเนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องสภาวธรรมอันลึกซึ้ง ละเอียดลออพิสดารเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยากแก่การศึกษา และยากที่จะอธิบายให้บังเกิดความเข้าใจ ท่านได้อุตส่าห์พยายามย่อคัมภีร์อันแสนที่จะลุ่มลึก โดยแยกแยะลำดับเรื่องออกมาให้ง่ายแก่การศึกษาและจดจํา ชื่อว่า “อภิธัมมัตถสังคหะ” เพื่อหวังประโยชน์อันไพศาลที่จะให้ประชาชนเกิดปัญญาทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยดวงจิตที่เต็มไปด้วยความกรุณา

เป็นการยากยิ่ง ที่ผู้ใดจะศึกษาโดยตรงจากคัมภีร์พระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ ให้บังเกิดความเข้าใจโดยมิต้องอาศัยพระอภิธัมมัตถสังคหะ ซึ่งรจนาขึ้นโดยพระอนุรุทธาจารย์ให้เป็นพื้นฐานรองรับเสียก่อน เริ่มตั้งแต่ปริจเฉทที่ ๑ ไปจนถึงปริจเฉทที่ ๔ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับความนับถือ ในฐานะเป็นพระคันถรจนาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์พระอภิธัมมัตถสังคหะ อันท่านผู้ศึกษาที่มีความเข้าใจได้เหตุผลจะเว้นกราบไหว้ระลึกถึงพระคุณของท่านด้วยความซาบซึ้งเสียมิได้ การที่ท่านได้รจนาอภิธัมมัตถสังคหะ จากคัมภีร์พระอภิธรรมปิฎกทั้ง ๗ คัมภีร์ออกมาเป็นอีกคัมภีร์หนึ่ง เพื่อให้ผู้ศึกษาบังเกิดความเข้าใจไม่สับสน โดยเรียงลำดับจากง่ายๆ ขึ้นไปนี้เอง ได้เป็นเหตุให้บางท่านที่มิได้เคยศึกษาพระอภิธรรมมาก่อน ทั้งอ่านอภิธัมมัตถสังคหะด้วยตนเองก็ยังไม่อาจเข้าใจ จึงได้กล่าวหาว่าอภิธัมมัตถสังคหะนั้นมิใช่เป็นพุทธพจน์ เพราะเป็นการแต่งขึ้นโดยพระอนุรุทธาจารย์ในภายหลัง เมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี่เอง

ความจริง ผู้บรรยายอภิธรรมส่วนมาก และผู้ศึกษาอภิธรรมที่มีความเข้าใจพอสมควร ย่อมประจักษ์แก่ใจตนเองว่า พระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ กับพระอภิธัมมัตถสังคหะ ที่ท่านอุรุทธาจารย์รจนาขึ้นนั้น มิได้มีเนื้อความใดแตกต่างกันเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นองค์ธรรม หรือตัวเลขมากมาย ที่บังคับควบคุมเอาไว้ไม่ให้กระจัดกระจายนั้น ก็มิได้ขัดแย้งกันเลย ทั้งเมื่อท่านจะแต่งคัมภีร์นี้ท่านก็ยังได้สรรเสริญพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียก่อน พร้อมด้วยแสดงความเคารพตั้งแต่เริ่มต้นปริจเฉทที่ ๑


อย่างไรก็ดี ท่านผู้ศึกษาก็ย่อมเป็นผู้มีความคิดพิจารณา เป็นผู้มีเหตุผลของตนเอง เมื่อท่านได้ศึกษาไปไม่ต้องจบปริจเฉทที่ ๑ ท่านก็จะทราบได้ด้วยตนเองว่า พระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์นั้น ไม่มีผู้ใดในโลกจะแต่งขึ้นมาเองได้ เว้นไว้แต่จะต้องอาศัยพระสัพพัญญุตญานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น แล้วท่านก็จะทราบได้ด้วยตนเองอีกว่า ผู้กล่าวหาว่า พระอภิธรรมมิใช่พุทธพจน์นั้น เพราะไม่เคยได้ศึกษา จึงไม่มีความเข้าใจในพระอภิธรรมเลย พระอภิธรรมจะเกิดขึ้นในโลกได้นั้น จะต้องอาศัยพระสัพพัญญุตญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ดังมีสาธกบาลี ที่ได้แสดงไว้ในปิฎกปริวารพระบาลีว่า "พุทฺธจนฺเท อนุปฺปนฺเน พุทฺธาทิจฺเจ อนุคฺคเต เตสํ สภาวธมุมานํ นามมตฺตํ น นายติ" แปลว่า พระจันทร์ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่อุบัติขึ้น พระอาทิตย์คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ปรากฏขึ้น ใครๆ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ เพียงแต่ชื่อของสภาวธรรมเหล่านั้นได้เลย

ท่านพระอรรถกถาจารย์ แสดงไว้ในอัฏฐสาลินีอรรถกถาว่า “อภิธมฺโม นาม น อญฺเญสํ วิสโย สพฺพญฺญุตตพุทธานํ เยววิสโย เตสํ วเสน เทเสตพฺพเทสนา" แปลว่า ที่ชื่อว่า พระอภิธรรม เพราะไม่ใช่เป็นวิสัยของผู้อื่น เป็นวิสัยแห่งพระสัพพัญญูของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น และการแสดงพระอภิธรรมที่ปรากฏขึ้นได้โดยอำนาจแห่งพระสัมพัญญูของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายนั่นเอง

ท่านพระอนุรุทธาจาร รจนาพระอภิธัมมัตถสังคหะนั้น ท่านได้แบ่งออกเป็น ๙ ปริจเฉทด้วยกัน คือ

ปริจเฉทที่ ๑ แสดงเรื่องจิตปรมัตถ์ ชื่อ จิตตสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๒ แสดงเรื่องเจตสิกปรมัตถ์ ชื่อ เจตสิกสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๓ แสดงการรวบรวมธรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับจิต และเจตสิก คือ เวทนา เหตุกิจ ทวาร อารมณ์ และวัตถุ ชื่อว่า ปกิณณกสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๔ แสดงเรื่องการงานของจิต คือวิถีจิต ชื่อ วิถีสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๕ แสดงเรื่องจิตที่พ้นวิถี ตลอดจนธรรมที่สัมพันธ์กัน ชื่อ วิถีมุตตสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๖ แสดงเรื่องรูปปรมัตถ์และนิพพาน ชื่อ รูปสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๗ แสดงธรรมที่สงเคราะห์เข้าเป็นหมวดหมู่ รวมกันได้ ชื่อว่า สมุจจยสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๘ แสดงปรมัตถธรรมที่เป็นปัจจัยอุปการะกันตลอดจนบัญญัติธรรม ชื่อ ปัจจยสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๙ แสดงการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา ชื่อว่า กัมมัฏฐานสังคหวิภาค


การเข้าถึงพระพุทธศาสนามี ๓ ประการ

๑. ปริยัติศาสนา
ได้แก่ การศึกษาค้าสอนให้เกิดความเข้าใจ เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติ โดยย่อแล้ว ปริยัติศาสนา ได้แก่ การศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกให้เข้าใจ นั่นเอง
๒. ปฏิบัติศาสนา ได้แก่ การปฏิบัติธรรม ตามที่ได้ศึกษามาจากปริยัติมีอยู่ ๓ อย่าง คือ ปฏิบัติด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา
๓. ปฏิเวธศาสนา ได้แก่ ผลที่เกิดขึ้นจากปริยัติ และปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ นวโลกุตรธรรม ๙ ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนในเรื่องอะไร? ตลอดเวลา ๔๕ พรรษา นับตั้งแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็ได้แสดงธรรมโปรดแก่เวไนยสัตว์ เพื่อให้พ้นจากทุกข์ด้วยความหมดจรดจากกิเลส ซึ่งเมื่อรวมคำสอนทั้งสิ้นแล้ว ก็ได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์สงเคราะห์ไว้เป็นปิฎก แบ่งออกเป็น ๓ ปิฏกด้วยกัน เรียกว่า พระไตรปิฎก ได้แก่

๑. พระวินัยปิฎก มี ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
๒. พระสุตตันตปิฎก มี ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
๓. พระอภิธรรมปิฎก มี ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

พระวินัยปิฎก แสดงเรื่องอะไร? พระวินัยปิฎก เป็นธรรมที่แสดงถึงเรื่องระเบียบ หรือข้อบังคับ วางหลักให้ประพฤติปฏิบัติเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม เหมือนดอกไม้ที่เขานํามาร้อย เอาไว้มิให้กระจัดกระจาย ผู้ที่มิได้ประพฤติตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับ หรือล่วงละเมิด ย่อมถูกลงโทษตามสมควร พระวินัยปิฎกนี้ มีอยู่ ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แยกออกเป็น ๕ คัมภีร์ด้วยกัน คือ: -

๑. คัมภีร์อาทิกัมมิกะ
๒. คัมภีร์ปาจิตติยะ
๓. คัมภีร์มหาวรรค
๔. คัมภีร์จุลวรรค
๕. คัมภีร์ปริวาร

คัมภีร์ทั้ง ๕ นี้ มีชื่อย่อ เพื่อให้จําง่ายๆ โดยเอาพยางค์หน้ามาตั้งชื่อว่า อา, ปา, มะ, จุ, ปะ

พระสุตตันตปิฎก แสดงเรื่องอะไร? พระสุตตันตปิฎก เป็นธรรมที่แสดงถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสมมุติสัจจะ อันเป็นความจริงส่วนหนึ่งสำหรับชาวโลก เป็นธรรมที่ยกสัตว์บุคคลขึ้นมาตั้ง เพื่อสรรสร้างให้บังเกิดความประพฤติที่ดีงาม อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความเรียบร้อยมีอยู่ ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎกนี้ บางทีก็เรียกกันอย่างสั้นๆ ว่า พระสูตร ซึ่งจำแนกออกเป็น ๕ นิกายด้วยกัน คือ: -

๑. ทีฆนิกาย
๒. มัชฌิมนิกาย
๓. สังยุตตนิกาย
๔. อังคุตตรนิกาย
๕. ขุททกนิกาย

นิกายทั้ง ๕ นี้ มีชื่อย่อ เพื่อให้จําง่าย ๆ โดยเอาพยางค์หน้ามาตั้งว่า ที, มะ, สัง, อัง, ขุ

พระอภิธรรมปิฎก แสดงเรื่องอะไร? พระอภิธรรมปิฎก เป็นธรรมที่แสดงปรมัตถสัจจะ ปฏิเสธสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา เป็นเนื้อความที่จริงแท้แน่นอน ไม่มีการแปรปรวนกลับกลอก ไม่ว่าเวลาไหน หรือในที่ใด คล้ายวิชาวิทยาศาสตร์ที่เราศึกษาถึงความร้อน แสงเสียง แม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยเรื่องของสภาวธรรมที่เป็นความจริง เมื่อรู้แล้วทำให้เกิดปัญญา สามารถละกิเลส นำตนให้พ้นทุกข์ได้ มีอยู่ ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์มากเท่ากับพระวินัย และพระสูตร รวมกัน พระอภิธรรมปิฎก ในจํานวน ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แยกออกเป็น ๗ คัมภีร์

๑. ธัมมสังคนี ว่าด้วย หมวดหมู่แห่งปรมัตถธรรม
๒. วิภังค์ ว่าด้วย การแยกปรมัตถธรรมออกเป็นส่วนๆ
๓. ธาตุกถา ว่าด้วย เรื่องของธาตุแห่งปรมัตถธรรม
๔. บุคคลบัญญัติ ว่าด้วย บัญญัติ บุคคล และปรมัตถ์
๕. กถาวัตถุ ว่าด้วย คําถาม-คําตอบในปรมัตถ์
๖. ยมก ว่าด้วย การแสดงปรมัตถ์เป็นคู่ๆ
๗. มหาปัฏฐาน ว่าด้วย เหตุปัจจัยของปรมัตถ์

คัมภีร์ทั้ง ๗ นี้ มีชื่อให้เรียกสําหรับให้จำได้ง่ายกว่า สัง, วิ, ธา, ปู, กะ, ยะ, ปะ

พระอภิธัมมัตถสังคหะ คืออะไร? อภิธัมมัตถสังคหะ แยกออกเป็น อภิธัมมะ-อรรถะ-สังคหะ

อภิ - อันประเสริฐยิ่ง
ธัมมะ - ธรรมชาติที่ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่ชีวิต หรือธรรมชาติที่ทรงสภาพไว้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
อัตถะ - เนื้อความ
สัง - โดยย่อ
คหะ - รวบรวม

อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นชื่อคัมภีร์อรรถกถา ที่ได้ประมวลเนื้อความจาก พระอภิธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทั้ง ๗ คัมภีร์เข้าไว้โดยย่อ เมื่อย่อคัมภีร์พระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ลงไปให้สั้นที่สุดแล้ว ก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน บัญญัติ

พระบาลี คืออะไร? บาลี หมายถึง ถ้อยคําที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาโปรดแก่เวไนยสัตว์ซึ่งได้แก่ พระพุทธพจน์โดยตรง

อรรถกถา ได้แก่อะไร? อัตถะ - เนื้อความ กถา - กล่าวหรือถ้อยคํา รวมกันเข้าแล้วก็แปลว่า กล่าวเนื้อความนั้น คือกล่าวเนื้อความตามบาลีนั้นอีกทีหนึ่ง ผู้ขยายความตามบาลีนั้น เรียกว่า อรรถกถาจารย์ ท่านได้ขยายความจากบาลีออกมา เพื่อจะให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ให้แจ่มแจ้งขึ้น เพื่อสะดวกแก่การศึกษาเล่าเรียน อรรถกถาจารย์ได้รับความยกย่องจากบรรดาผู้ศึกษาทั้งหลาย เพราะเป็นผู้มีความรู้แตกฉาน โดยมากเป็นพระอริยบุคคล และทรงพระไตรปิฎก

ฎีกา ได้แก่อะไร? เมื่ออรรถกถาอธิบายขยายความออกมาแล้ว ผู้ศึกษาก็ยังเข้าใจไม่ได้อยู่อีก ท่านฎีกาจารย์จึงเป็นผู้ขยายความอรรถกถานั้นอีกชั้นหนึ่ง ต่อจากนี้ ก็มีอนุฎีกาจารย์ และเกจิอาจารย์ เป็นผู้ขยายความในข้อธรรมทั้งหลายที่ฎีกาจารย์ได้ทำไว้เพื่อให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้นอีกเป็นชั้น ๆ ไป

พระอภิธรรม แสดงถึงอะไร? พระอภิธรรมนั้น เป็นธรรมที่แสดงถึงความจริง ๒ ประเภท คือ ปรมัตถธรรม กับ บัญญัติธรรม
๑. ปรมัตถธรรม หรือ ปรมัตถสัจจะ คือ ธรรมชาติอันประเสริฐ ที่เป็นความจริง ซึ่งปฏิเสธสัตว์และชีวิต ได้แก่ ธรรมชาติที่เป็นความจริง ที่ไม่มีการแปรปรวน หรือไม่มีความวิปริตด้วยประการใด ๆ มีอยู่ ๔ ประการ ได้แก่ จิต, เจตสิก, รูป, นิพพาน การรู้ปรมัตถธรรม มีประโยชน์อย่างยิ่ง คือทำให้พ้นทุกข์ได้แน่นอน
๒. บัญญัติธรรม หรือ สมมุติสัจจะ เป็นสิ่งที่บัญญัติแต่งตั้งขึ้น แล้วเป็นที่ยอมรับของหมู่ชน จึงได้เป็นสิ่งสมมุติขึ้นมาว่า เป็นความจริง เพื่อจะได้ใช้เรียกชื่อได้ถูกต้อง ตามความนิยมของคนหมู่หนึ่ง หรือประเทศหนึ่ง

ปรมัตถธรรม มีลักษณะอย่างไร? ปรมัตถธรรม มีลักษณะปฏิเสธสัตว์ และ ชีวิต (นิสสฤต นิชชีวสมม) เป็นสภาวธรรมที่มีจริงเป็นจริง มีลักษณะประจำอยู่ ๒ ลักษณะ คือ

๑. สามัญลักษณะ เป็นธรรมชาติที่มีลักษณะสามัญทั่วๆ ไป หรือมีลักษณะปกติธรรมดา ที่เหมือนกันของรูปธรรม และนามธรรม ในสามัญลักษณะ ที่ว่าเป็นตามธรรมดา หรือเป็นไปตามธรรมชาตินั้นเป็นไปใน ๓ ลักษณะเหล่านี้ คือ: -
        ก. อนิจจลักษณะ เป็นลักษณะที่มีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีความไม่มั่นคงต้องเปลี่ยนแปลงไปมาอยู่เสมอ
        ข. ทุกขลักษณะ เป็นลักษณะที่ทนไม่ได้ หรืออยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องเสื่อมสลาย
        ค. อนัตตลักษณะ เป็นลักษณะที่ว่างเปล่าจากตัวตน คือไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่สิ่งของ ทั้งไม่อยู่ในอำนาจการบังคับบัญชาของใคร

ปรมัตถธรรมโดยย่อนั้น มีอยู่ ๔ ประการ คือ จิต, เจตสิก, รูป, และนิพพาน จิต, เจตสิก, รูป ทั้ง ๓ นี้ มีสามัญลักษณะ เพราะประกอบไปด้วย อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะ ที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ ส่วน พระนิพพานนั้น ไม่ได้อยู่ในลักษณะครบทั้ง ๓ ประการ มีสามัญลักษณะเพียงประการเดียว คือ อนัตตลักษณะ เท่านั้น สําหรับบัญญัติธรรม ไม่ประกอบด้วยไตรลักษณ์ หรือสามัญลักษณะทั้ง ๓ เลย เพราะเป็นเพียงบัญญัติหรือสมมุติขึ้น เพื่อให้เข้าใจกันเท่านั้น หาได้มีจริงๆ ไม่

๒. วิเสสลักษณะ เป็นธรรมชาติพิเศษที่มีประจำตัว ปรมัตถธรรมแต่ละอย่างก็มีลักษณะพิเศษเฉพาะ ๆ ของตน ที่ไม่เหมือนกันเลย วิเสสลักษณะมี ๔ ประการ คือ ลักษณะ, รส, ปัจจุปัฏฐาน และ ปทัฏฐาน
        ก. ลักษณะ ได้แก่ เครื่องแสดงออก หรือคุณสมบัติที่มีประจำตัวโดยเฉพาะ 
        ข. รสะ ได้แก่ หน้าที่การงานที่กระทำ หรือความสำเร็จที่มีอยู่ในตัวของปรมัตถธรรมทั้งหลาย รสะ จึงแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ: 
                ๑) กิจรสะ ได้แก่ หน้าที่การงานของปรมัตถธรรมทั้งหลาย เช่น จิต มีหน้าที่การงานที่เป็นกิจรสะ ก็คือ เป็นประธานในสัมปยุตธรรมทั้งปวง หรือกิจรสะของเตโชธาตุ คือ ธาตุไฟ ย่อมมีหน้าที่การงานในการเผาไหม้ และกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้สุกได้ เป็นหน้าที่ของไฟ
                ๒) สัมปัตติรสะ ได้แก่คุณสมบัติที่มีอยู่ประจำของปรมัตถธรรมทั้งหลาย เช่น จิต มีคุณสมบัติอยู่ประจำที่เป็นสัมปัตติรสะ ก็คือ มีเจตสิก ประกอบ เป็นสัมปยุตธรรมด้วย สัมปัตติรสะของพระนิพพาน คือ มีสภาพไม่เปลี่ยนแปลงเป็นนิจจัง หรือสัมปัตติรสะของเตโชธาตุ คือ ความร้อน ย่อมยังแสงสว่างให้สำเร็จเป็นคุณสมบัติ เป็นต้น

        ค. ปัจจุปัฏฐาน ได้แก่ ผลที่เกิดขึ้นจากรสะนั่นเอง หรือเป็นความปรากฏขึ้นจากกิจการนั้นๆ
        ง. ปทัฏฐาน ได้แก่ เหตุใกล้ที่เป็นเหตุให้ธรรมนั้นๆ ปรากฏขึ้น

วิเสสลักษณะ ๔ ประการดังกล่าวนี้ ชื่อว่า ลักขณาจตุกะ ซึ่งมีความหมายว่า ธรรมที่มีองค์ ๔ ประการ มีลักษณะ เป็นต้น

จิต เจตสิก รูป มีวิเสสลักษณะ ๔ ประการ ครบบริบูรณ์
นิพพาน มีวิเสสลักษณะ ๓ ประการเท่านั้น คือ มีลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน แต่ไม่มีปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิดด้วยเหตุว่า พระนิพพานนั้น เป็นธรรมที่พ้นไปจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง

สำหรับบัญญัติธรรมนั้น ไม่มีวิเสสลักษณะเลย