แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เจตสิกสังคหวิภาค แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เจตสิกสังคหวิภาค แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธ

อกุศลเจตสิก

อกุศลเจตสิก เป็นเจตสิกฝ่ายชั่ว, ที่หยาบ, ที่บาป, ไม่ดีงาม และไม่ฉลาด เมื่อประกอบกับจิตแล้ว ย่อมทำให้จิตเศร้าหมองเร่าร้อน ตกเป็นอกุศลจิตไปด้วย อกุศลเจตสิกนี้ จึงประกอบได้เฉพาะอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านั้น จะประกอบกับจิตประเภทอื่น (อเหตุกจิต ๑๘ หรือ โสภณจิต ๕๙) ไม่ได้เลย

















อกุศลเจตสิกมี ๑๔ ดวง แบ่งออกเป็น ๕ นัย คือ
    ก. โมจตุกเจตสิก ๔ ดวง
    ข. โลติกเจตสิก
    ค. โทจตุกเจตสิก
    ง. ถีทุกเจตสิก
    จ. วิจิกิจฉาเจตสิก

อธิบาย

🔅 ก. โมจตุกเจตสิก
หมายถึง กลุ่มเจตสิกที่มีโมหเจตสิกเป็น
ประธาน มีอยู่ด้วยกัน ๔ ดวงคือ โมหเจตสิก, อหิริกเจตสิก, อโนตตัปปเจตสิก และอุทธัจจเจตสิก 

โมจตุกเจตสิกนี้ ประกอบกับอกุศลจิตได้ทั้ง ๑๒ ดวง จึงมีชื่อเรียก
อีกอย่างหนึ่งว่า “สัพพากุสลสาธารณเจตสิก” ซึ่งหมายความว่า เป็นเจตสิกที่ประกอบทั่วไปในอกุศลจิตทั้งหมด

โมหเจตสิก

โมหเจตสิก คือความหลงใหลในอารมณ์ ได้แก่ หลงจากรูปนามเพราะความไม่รู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อญาณ ลกฺขโณ มีความไม่รู้ความจริงของสภาวธรรม เป็นลักษณะ
    อารมฺมณ สภาวจฺฉาทน รโส มีการปกปิดสภาวะแห่งอารมณ์ เป็นกิจ
    อนฺธการ ปจฺจุปฏฐาโน มีความมืดมน เป็นผลปรากฏ
    อโยนิโสมนสิการ ปทฏฺฐาโน มีการใส่ใจต่ออารมณ์โดยไม่แยบคาย เป็นเหตุใกล้

อรรถ ๔ ประการ ของโมหเจตสิก อีกนัยหนึ่ง

    จิตฺตสฺส อนฺธภาว ลกฺขโณ มีความมืดบอดแห่งจิต เป็นลักษณะ
    อสมฺปฏิเวธ รโส มีความไม่แทงตลอดในสภาวธรรม เป็นกิจ
    อสมฺมาปฏิปตฺติ ปจฺจุปฏฐาโน มีการปฏิบัติผิด เป็นผลปรากฏ
    อโยนิโสมนสิการ ปทฏฺฐาโน มีการใส่ใจในอารมณ์โดยไม่แยบคาย เป็นเหตุใกล้

โมหเจตสิกนี้เป็นองค์ธรรมของอวิชชา ซึ่งแปลว่า “ไม่รู้” หรือธรรมชาติที่ตรงข้ามกับปัญญา ฉะนั้น การไม่รู้ของโมหเจตสิก จึงไม่ได้หมายถึงการไม่รู้อะไรๆ เอาเสียเลย แต่หมายถึงการไม่รู้ธรรม ตามความเป็นจริงที่ควรรู้คือ รู้แต่สิ่งที่ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง หรือที่เรียกว่าความหลงจากรูปนามที่เป็นความจริงนั่นเอง การไม่รู้ตามความเป็นจริงที่ควรรู้ของอวิชชาหรือโมหะนี้ จึงมี ความหมายจำกัดเฉพาะความไม่รู้ในธรรม ๘ ประการ คือ

๑. ทุกฺเข อญาณํ ไม่รู้ในทุกข์
๒. ทุกขสมุทเย อญาณํ ไม่รู้เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
๓. ทุกฺขนิโรธ อญาณํ ไม่รู้ธรรม อันเป็นที่ดับแห่งทุกข์
๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาย อญาณํ ไม่รู้ทางปฏิบัติที่จะเข้าถึงความดับทุกข์
๕. ปุพฺพนฺเต อญาณํ ไม่รู้ในขันธ์, อายตนะ, ธาตุ ที่เป็นอดีต
๖. อปรนฺเต อญาณํ ไม่รู้ในขันธ์, อายตนะ, ธาตุ ที่เป็นอนาคต
๗. ปุพฺพนฺตา ปรนฺเต อญาณํ ไม่รู้ในขันธ์, อายตนะ, ธาตุ ทั้งที่เป็นอดีต และอนาคต
๘. อิทปฺปจฺจยตา ปฏิจฺจสมุปฺปนฺเนสุ ธมฺเมสุ อญาณํ ความไม่รู้ในธรรมที่มีเหตุให้เกิดผลต่อเนื่องกัน ตามนัยปฏิจจสมุปบาท

โมหเจตสิกนี้ เป็นมูล เป็นรากเหง้าแห่งอกุศลธรรมทั้งปวง

อหิริกเจตสิก

อหิริกเจตสิก คือความไม่ละอายต่อบาปธรรมได้แก่ สภาพที่ไม่มีความละอายต่ออกุศลทุจริตต่างๆ มีกายทุจริต เป็นต้น มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    กายทุจฺจริตาทีหิ อชิคุจฺฉน ลกฺขณํ(วา) มีความไม่เกลียดกายทุจริต เป็นต้น (หรือ) อลชฺชา ลกขณํ มีความไม่ละอายกายทุจริต เป็นต้น เป็นลักษณะ
    ปาปานํ กรณรสํ มีการกระทำบาป เป็นกิจ
    อสงฺโกจน ปจฺจุปฏฺฐานํ มีความไม่ท้อถอยต่อบาปธรรม เป็นผล
    อตฺตอคารว ปทฏฐานํ มีความไม่เคารพตน เป็นเหตุใกล้


อโนตตัปปเจตสิก

อโนตตัปปเจตสิกคือ ความไม่สะดุ้งกลัวต่อบาปกรรม ได้แก่ สภาพที่ไม่มีความสะดุ้งกลัวต่ออกุศลทุจริตต่างๆ มีกายทุจริต เป็นต้น มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    กายทุจฺจริตาทีหิ อสารชฺช ลกฺขณํ (วา) มีความไม่กลัวกายทุจริต เป็นต้น  (หรือ) อนุตฺตาส ลกฺขณํ มีความไม่หวาดเสียวกายทุจริต เป็นต้น เป็นลักษณะ
    ปาปานํ กรณรสํ มีการกระทำบาป เป็นกิจ
    อสงฺโกจน ปจฺจุปฏฺฐานํ มีความไม่ท้อถอยต่อบาปธรรม เป็นผล
    ปรอคารว ปทฏฺฐานํ มีความไม่เคารพผู้อื่น เป็นเหตุใกล้

สภาพของอโนตตัปปะนี้ เป็นความไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อการกระทำอกุศลกรรม เกิดขึ้นโดยอาศัยความไม่เคารพต่อผู้อื่นคือ ไม่เกรงกลัวว่าใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งนอกจากตนเองจะรู้เห็นการกระทำอกุศลกรรมของตนเองนั้นแต่อย่างใด

อหิริกเจตสิก และอโนตตัปปเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ ดูลักษณะแล้วคล้ายคลึงกันคือ ทำให้กล้าทำอกุศลกรรมด้วยกัน แต่เมื่อกล่าวโดยอรรถแล้วย่อมมีความต่างกันคือ อหิริกะ ภาวะแห่งบุคคลที่ไม่มีความละอาย หรือไม่เกลียดต่อบาปธรรม ส่วนอโนตตัปปะนี้ หมายถึง ภาวะแห่งบุคคลที่ไม่เกรงกลัวต่อบาปธรรม ในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา เปรียบเทียบไว้ว่า บุคคลผู้ไม่มีหิริ ย่อมไม่เกลียดบาป เหมือนสุกรไม่เกลียดคูถ บุคคลผู้ไม่มีโอตตัปปะ ย่อมไม่กลัวบาปดุจตั๊กแตนไม่กลัวไฟ ฉะนั้น"

อหิริกะ และอโนตตัปปะ ทั้งสองประการนี้ เป็นเหตุ เป็นพละกำลังในการทําทุจริตทั้งปวง

อุทธัจจเจตสิก

อุทธัจจเจตสิก คือความฟุ้งซ่านในอารมณ์ต่างๆ ได้แก่ สภาพจิตที่รับอารมณ์ไม่มั่นคง มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :

    อวูปสม ลกฺขณํ มีความไม่สงบ เป็นลักษณะ
    อนวตฺถาน รสํ มีความไม่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว เป็นกิจ
    ภนฺตตฺต ปจฺจุปฏฺฐานํ มีความพล่านไปในอารมณ์ เป็นผล
    อโยนิโสมนสิการ ปทฏฺฐานํ มีความใส่ใจอันไม่แยบคายในอารมณ์ เป็นเหตุใกล้

ความหมายของอุทธัจจะโดยปริยายอื่น ตามอัฏฐสาลินีอรรถกถาได้แสดงไว้ดังนี้ คือ :-

    จิตฺตสฺส อุทฺธจฺจํ ความฟุ้งซ่านแห่งจิต
    อวูปสโม ความไม่สงบแห่งจิต
    เจตโสวิกฺเขโป ความวุ่นวายใจ
    ภนฺตตฺตํ จิตฺตสฺส ความพล่านแห่งจิต

อกุศลเจตสิกที่กล่าวแล้ว ๔ ดวง คือ โมหะ, อหิริกะ, อโนตตัปปะ และอุทธัจจะ ชื่อว่า “โมจตุกเจตสิก” โดยยกโมหเจตสิกเป็นประธาน และโมจตุกเจตสิกนี้เป็นอกุศลสาธารณเจตสิก ย่อมประกอบในอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง เป็นที่น่าสังเกตว่า เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาวะที่ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว และสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ย่อมประกอบในจิตทั้งหมด ฉะนั้นเมื่ออกุศลจิตเกิด สภาพของเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ย่อมต้องประกอบกับอกุศลจิตพร้อมกัน แต่เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้มีสภาวะลักษณะที่ตรงกันข้าม ไม่น่าที่จะประกอบในจิตดวงเดียวกันได้ แก้ว่า เพราะสภาพของจิตนั้นเกิดดับรวดเร็วมาก จิตเกิดขึ้นดวงหนึ่งก็รับอารมณ์ได้อย่างเดียวเท่านั้น เอกัคคตาเจตสิกทำหน้าที่ปรุงแต่งจิตให้รับอารมณ์เดียวนั้นอยู่ได้นานเท่าที่กำลังสามารถของเอกัคคตาเจตสิกจะกระทำได้แต่ละในขณะจิต ส่วนอุทธัจจเจตสิกเป็นสภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ฟุ้งซ่านรับอารมณ์ไม่มั่นคง เมื่อจิตดวงหนึ่งดับไปแล้ว จิตดวงหลังก็เกิดขึ้นอุทธัจจะก็จะปรุงแต่งให้รับอารมณ์อื่นต่อไป อกุศลจิตที่เกิดขึ้นทุกดวงนั้น จึงมีเจตสิกทั้ง ๒ ดวงประกอบพร้อมกันได้ในลักษณะดังกล่าวนั้น อารมณ์ของอกุศลจิตแต่ละดวงจะตั้งมั่นหรือฟุ้งซ่าน ย่อมแล้วแต่กำลังอำนาจของเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ว่าฝ่ายใดจะมีกำลังยิ่งหย่อนกว่ากัน ตามธรรมดาแล้วกำลังอำนาจของเอกัคคตาเจตสิกในอกุศลจิต ย่อมมีกำลังอ่อนกว่ากำลังอำนาจของอุทธัจจเจตสิกเอกัคคตาเจตสิกจะมีกำลังมาก ก็ต่อเมื่อประกอบกับกุศลจิต ยิ่งกุศลจิตขึ้นสู่อัปปนาชวนะแล้ว เอกัคคตาเจตสิกก็ยิ่งสามารถทำให้จิตรับอารมณ์เดียวได้มั่นคงยิ่งขึ้น เพราะอุทธัจจเจตสิกฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อื่น หรือปรุงแต่งจิตให้เปลี่ยนรับอารมณ์อื่นอยู่เสมอเช่นนี้ กำลังอำนาจของอุทธัจจเจตสิก จึงขวนขวายประมวลกรรมไว้ได้อ่อนลง ฉะนั้นในอุทธัจจสัมปยุตแห่งอกุศลจิตนั้นจึงมีกำลังอำนาจน้อย ไม่อาจนำปฏิสนธิในอบายภูมิได้เหมือนอย่างอกุศลจิตอื่น ๑๑ ดวง ที่นอกจากอกุศลจิตที่สัมปยุตด้วยอุทธัจจะ


🔆 ข. โลติกเจตสิก
หมายถึง กลุ่มเจตสิกที่มีโลภเจตสิกเป็นประธาน มี
อยู่ด้วยกัน ๓ ดวงคือ โลภเจตสิก, ทิฏฐิเจตสิก และมานเจตสิก โลติกเจตสิกนี้ ย่อมประกอบในอกุศลจิต ที่เป็นโลภมูลจิต ๘ ดวงตามสมควรเท่านั้น จะประกอบในอกุศลจิตประเภทอื่น เช่น โทสมูลจิตและโมหมูลจิตไม่ได้เลย ต่อไปนี้ จะได้แสดงสภาวธรรมของโลติกเจตสิกตามลำดับ

โลภเจตสิก

โลภเจตสิก คือธรรมชาติที่เป็นความยินดีติดใจอยู่ในอารมณ์ ได้แก่สภาพความปรารถนา ความอยากได้ และความติดใจอยู่ในอารมณ์ทั้ง ๖ มี อรรถ ๔ ประการโดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :

    อารมฺมณคฺคหณ ลกฺขโณ มีความยึดอารมณ์ เป็นลักษณะ
    อภิสงฺค รโส มีความข้องติดอยู่ในอารมณ์ เป็นกิจ
    อปริจาค ปจฺจุปฏฺฐาโน มีความไม่ยอมละ เป็นผล
    สํโยชนิยธมฺเมสุ อสฺสาททสฺสน ปทฏฺฐาโน มีการเห็นความสำราญในสังโยชนธรรม เป็นเหตุใกล้

ในอัฏฐสาลินีอรรถกถา ได้อุปมาสภาพของโลภเจตสิกว่า

    มีความยึดอารมณ์ เป็นลักษณะ ดุจลิงติดตัง
    มีความข้องติดอยู่ในอารมณ์ เป็นกิจ ดุจชิ้นเนื้อที่ซัดไปบนกระเบื้องอันร้อนจัด
    มีความไม่ยอมละไป ดุจการติดสีที่อาบน้ำมัน

ความหมายของโลภะโดยปริยายอื่น ในปรมัตถทีปนีฎีกาได้แสดงเววจนะธรรม คือ ธรรมที่ใช้แทนกันได้ไว้ ๑๐ ประการ คือ :

๑) ตัณหา ได้แก่ ความต้องการ
๒) ราคะได้แก่ ความกำหนัด
๓) กามะ ได้แก่ ความใคร่
๔) นันทิ ได้แก่ ความเพลิดเพลิน
๕) อภิชฌา ได้แก่ ความเพ่งเฉพาะ
๖) ชเนตติ ได้แก่ ความก่อกิเลส
๗) โปโนพภวิกะ ได้แก่ ความนำให้เกิดในภพใหม่.
๘) อิจฉา ได้แก่ ความปรารถนา
๙) อาสา ได้แก่ ความหวัง
๑๐) สังโยชน์ ได้แก่ ความผูกพันเกี่ยวรัดไว้

ความหมายต่างๆ ของโลภะดังกล่าวข้างต้นนั้น คำว่า “ตัณหา” ย่อมเป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง แต่ความเข้าใจของคนส่วนมากนั้น เข้าใจคำว่า “ตัณหา” เป็นความยินดีในทางเพศไป ที่แท้จริง “ตัณหา” นั้นหมายถึงความติดใจในอารมณ์ทุกชนิด ดังพระบาลี “ปริตสฺสตีติ = ตณฺหา” ความต้องการอารมณ์ชื่อว่า “ตัณหา

กาโม จโส ตณฺหาจาติ = กามตณฺหา สภาวธรรมที่ต้องการกามารมณ์ทั้ง ๖ ด้วย ติดอยู่ในอารมณ์นั้นด้วย สภาวธรรมนั้นชื่อว่า กามตัณหา

สสฺสตทิฏฺฐิ สหคโต หิราโค ภวตณฺหาติ วุจฺจติ ฯ ตัณหาที่เกิดพร้อมด้วยสัสสตทิฏฐิชื่อว่า ภวตัณหา

อุจฺเฉททิฏฐิ สหคโต หิราโค วิภวตณฺหา วุจฺจติ ฯ ตัณหาที่เกิดพร้อมด้วยอุจเฉททิฏฐิ ชื่อว่า วิภวตัณหา

ฉะนั้น ความหมายของคำว่า “ตัณหา” คือความต้องการอารมณ์นั้นจึงเป็นความหมายที่กว้างขวาง แม้เป็นความต้องการ หรือความยินดีติดใจในการเจริญกรรมฐาน ก็ชื่อว่าเป็นตัณหา คือเป็นธรรมราคะ ธรรมนันทิ หรือ ธรรมตัณหา แต่ตัณหาประเภทที่กล่าวนี้ หามีโทษถึงทุคติไม่ เพราะความต้องการกุศลธรรมเช่น อยากทำสมถกรรมฐาน จิตจะได้สงบ หรืออยากได้ฌานนั้น ฌานนี้ ความอยากเกิดขึ้นด้วยอำนาจโลภมูลจิตก็จริง แต่ขณะกระทำกรรมฐานเพื่อสนองความอยากนั้น ทำด้วยจิตอื่นไม่ใช่โลภมูลจิต จะต้องกระทำด้วยมหากุศลจิตเป็นเบื้องต้น จนถึงฌานกุศลจิตเป็นที่สุด แม้การอยากทำวิปัสสนากรรมฐานก็เช่นเดียวกัน วิบากจิตที่เป็นผลนั้น ย่อมต่างกัน ฉะนั้นความอยากหรือความต้องการในกุศลธรรม จึงไม่มีโทษแต่กลับเป็นคุณประโยชน์

ทิฏฐิเจตสิก

ทิฏฐิเจตสิก คือความเห็นผิด ได้แก่ความเห็นที่มิใช่ตามความเป็นจริงหรือความเห็นที่คลาดเคลื่อน เพราะเชื่อมั่นอย่างผิดๆ ว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า สภาพของทิฏฐิ มีสภาพต่างกันอย่างตรงกันข้ามกับปัญญาคือ ปัญญารู้อารมณ์ได้ตามสภาพที่เป็นจริง แต่ทิฏฐินั้นละสภาพที่เป็นจริงเสีย และกลับไปยึดถือเอาโดยสภาพที่ไม่เป็นจริง ทิฏฐิเจตสิกมีอรรถ ๔ ประการโดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อโยนิโสอภินิเวส ลกฺขณา มีความยึดมั่นโดยหาปัญญามิได้ เป็นลักษณะ
    ปรามาส รสา มีความถือผิดจากสภาวธรรม เป็นกิจ
    มิจฉาภินิเวส ปจฺจุปฏฺฐานา มีการยึดถือความเห็นที่ผิด เป็นผล
    อริยานํ อทสฺสนกามตาทิ ปทฏฐานา มีการไม่อยากเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นต้น เป็นเหตุใกล้

คำว่า “ทิฏฐิ แปลตามศัพท์ว่า “ความเห็น” หมายถึง “มิจฉา” แต่ “ทิฏฐิเจตสิก” ตามความหมายในอภิธรรมแล้ว ทิฏฐิ” คือความเห็นผิด ฉะนั้น เมื่อพบคำว่า “ทิฏฐิ” แล้วจึงเข้าใจว่าเป็นความเห็นผิด แต่ถ้าจะแสดงความหมายถึงความเห็นถูกแล้ว จะต้องใช้คำว่าสัมมาทิฏฐิ โดยเฉพาะ ทิฏฐิเจตสิก ความเห็นผิดจากความเป็นจริงนั้น อาจจำแนกได้เป็น ๒ ประการคือ :- ทิฏฐิสามัญ และทิฏฐิพิเศษ

ทิฏฐิสามัญ คือ ความเห็นผิดที่เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน, เราเขาที่เรียกว่า สักกายทิฏฐิ จัดเป็นทิฏฐิสามัญ เพราะมีอยู่ประจำทั่วทุกตัวคนและสัตว์ เป็นปกติวิสัย เว้นไว้แต่พระอริยบุคคลเท่านั้น จึงจะละความเห็นผิดชนิดนี้ได้

ทิฏฐิพิเศษ คือ ความเห็นผิดที่เป็น นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ ได้แก่ อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นที่ไม่เชื่อในเหตุ, นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นที่ไม่เชื่อในผล, อกิริยทิฏฐิ ความเห็นที่ไม่เชื่อในเหตุและผลของกรรม และ สัสสตทิฏฐิ มีความเห็นว่าเที่ยง, อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ ตลอดทั้งความเห็นผิดในทิฏฐิ ๖๒ ประการ ที่นอกจากสักกายทิฏฐิ ทิฏฐิพิเศษนี้ปรากฏได้เฉพาะในบุคคลบางคน และบางโอกาสเท่านั้น ไม่ได้เกิดเป็นประจำในบุคคลอื่นทั่วไป เป็นปกติวิสัยอย่างทิฏฐิสามัญ

ธรรมชาติที่ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะเห็นผิดโดยไม่มีการถือเอาตามความเป็นจริง มิจฉาทิฏฐินั้นมีความวิปริตเช่นเห็นว่า ทานที่บุคคลให้แล้วย่อมไม่มีผลเป็นลักษณะ มิจฉาทิฏฐิ ที่เป็นมโนทุจริต มีองค์ ๒ คือ :-

๑. วตฺถุโน จ คหิตาการวิปริตตา มีเรื่องที่วิปริตจากอาการที่เป็นจริงยึดถือไว้
๒. ยถา จ ตํ คณฺหาติ ตถาภาเวน ตสฺสูปฏฐานํ ความปรากฏแห่งเรื่องนั้น ไม่เป็นอย่างที่ยึดถือ

บรรดามิจฉาทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมถึงกรรมบถเป็นมโนทุจริตด้วย นัตถิกทิฏฐิ, อเหตุกทิฏฐิ และอกิริยทิฏฐิเท่านั้น หาถึงเพราะทิฏฐิเหล่าอื่นไม่ มิจฉาทิฏฐินี้ถ้ายึดดิ่ง ก็มีโทษมาก ไม่ยึดดิ่ง ก็มีโทษน้อย ในสามัญผลสูตร แสดงความไม่เชื่อในผล คือ นัตถิกทิฏฐิ ๑๐ ประการ ได้แก่
    ๑. นตฺถิ ทินฺนํ 
เห็นว่า การให้ทาน ไม่มีผล
    ๒. นตฺถิ ยิฏฐํ เห็นว่า การบูชาต่างๆ ไม่มีผล
    ๓. นตฺถิ หุตํ เห็นว่า การต้อนรับปฏิสันถาร ไม่มีผล
    ๔. นตฺถิ สุกต ทุกฺกตานํ กมฺมานํ ผลํ วิปาโก เห็นว่า การทำดี ทำชั่วไม่มีผล
    ๕. นตฺถิ อยํ โลโก เห็นว่า ภพนี้ไม่มี
    ๖. นตฺถิ ปโร โลโก เห็นว่า ภพอื่นไม่มี
    ๗. นตฺถิ มาตา เห็นว่า คุณของมารดา ไม่มี
    ๘. นตฺถิ ปิตา เห็นว่า คุณของบิดา ไม่มี
    ๙. นตฺถิ โอปฺปาติกา เห็นว่า สัตว์ผุดเกิดเติบโตขึ้นทันที ไม่มี (เช่น สัตว์นรก, เปรต, เทวดา)
    ๑๐. นตฺถิโลเก สมณพฺรหฺมณา สมคฺคตา สมฺมา ปฏิปนฺนา เย อิมญฺจโลกํ ปรญฺจ โลกํ อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา ปเวเทนฺติ เห็นว่า สมณพราหมณ์ที่รู้แจ้งโลกนี้ และโลกหน้า ด้วยตนเอง และสามารถชี้แจงสมณพราหมณ์ให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบนั้น ไม่มี

ผู้มีนัตถิกทิฏฐินี้ ปฏิเสธผล เท่ากับปฏิเสธเหตุแห่งกุศล และอกุศลกรรมด้วย นับเป็นทิฏฐิพิเศษ ย่อมเกิดกับบุคคลผู้มิได้สดับพระสัทธรรม


มานเจตสิก

มานเจตสิก คือ ความถือตัว ความทะนงตน ได้แก่ สภาพความถือตัวว่าเราสำคัญกว่าคนอื่น มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อุนฺนติ ลกฺขโณ มีการทะนงตน เป็นลักษณะ
    สมฺปคฺคห รโส มีการยกย่อง (ตนและสัมปยุตตธรรม) เป็นกิจ
    เกตุกมฺยตา ปจฺจุปฏฺฐาโน มีความปรารถนาสูงเหมือนธง เป็นผล
    ทิฏฐิวิปปยุตฺตโลภ ปทฏฺฐาโน มีความโลภที่ปราศจากทิฏฐิ เป็นเหตุใกล้

มานะ คือ ความถือตัวนี้ จำแนกเป็นประเภทใหญ่ได้ ๒ ประการคือ :-

๑. อยาถาวมาน ความถือตัวที่ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง
๒. ยาถาวมาน ความถือตัวที่เป็นไปตามความเป็นจริง

ความถือตัวทั้ง ๒ ประการนี้ อาจแยกย่อยได้อีก ๙ ประการคือ :-

อยาถาวมาน ถือตัวที่ไม่เป็นความจริง ๖ ประการ
    ตัวเป็นคนชั้นสูง ถือตัวว่า เป็นคนชั้นกลาง
    ตัวเป็นคนชั้นสูง ถือตัวว่า เป็นคนชั้นต่ำ
    ตัวเป็นคนชั้นกลาง ถือตัวว่า ตัวเป็นคนชั้นสูง
    ตัวเป็นคนชั้นกลาง ถือตัวว่า ตัวเป็นคนชั้นต่ำ
    ตัวเป็นคนชั้นต่ำ ถือตัวว่า เป็นคนชั้นสูง
    ตัวเป็นคนชั้นต่ำ ถือตัวว่า เป็นคนชั้นกลาง

ยาถาวมาน ถือตัวที่เป็นไปตามความจริง ๓ ประการ
    ตัวเป็นคนชั้นสูง ถือตัวว่า เป็นคนชั้นสูง
    ตัวเป็นคนชั้นกลาง ถือตัวว่า เป็นคนชั้นกลาง
    ตัวเป็นคนชั้นต่ำ ถือตัวว่า เป็นคนชั้นต่ำ

รวมมานะความถือตัวทั้งสิ้น ๙ ประการ

อยาถาวมาน ความถือตัวที่ไม่ตรงความจริง ละได้ด้วย โสดาปัตติมรรค
ยาถาวมาน ความถือตัวที่ตรงความจริง ละได้ด้วย อรหัตตมรรค

ความถือตัวนี้ แม้จะถือว่า ตนเป็นคนชั้นสูง-กลาง-ต่ำ อย่างไรก็ตามและการถือตัวนั้น จะเป็นไปตามความจริงหรือไม่ก็ตาม ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เห็นว่าตนเป็นคนสำคัญกว่าผู้อื่น ไม่ยินดีคบหาสมาคมกับใคร ไม่ต้อนรับใคร และไม่ยอมอ่อนน้อมแก่ใคร อติมานะ ดูหมิ่นท่าน, สารัมภะ แข่งดี, ถัมภะ หัวดื้อ, สาเลยยะ โอ้อวด เหล่านี้จัดเป็นมานะทั้งสิ้น อนึ่ง ถ้ามีการเปรียบเทียบ ระหว่างเรากับเขาขึ้นเมื่อใด และไม่ว่าการเปรียบเทียบนั้น เปรียบด้วยโคตร, สกุล, รูป, สมบัติ, ทรัพย์, ศิลปวิทยา การงาน ก็เป็นมานะทั้งสิ้น

เจตสิก ๓ ดวงที่กล่าวมาแล้วนี้ ชื่อว่าโลกเจตสิก เพราะมีโลภเจตสิกเป็นประธาน และเป็นเจตสิกที่ประกอบเฉพาะในโลภมูลจิต ๘ ดวงตามสมควรเท่านั้น


🔆 ค. โทจตุกเจตสิก
หมายถึง กลุ่มเจตสิกที่มีโทสเจตสิกเป็นประธาน

มีอยู่ด้วยกัน ๔ ดวงคือ โทสเจตสิก, อิสสาเจตสิก, มัจฉริยเจตสิก และ กุกกุจจเจตสิก

โทจตุกเจตสิกนี้ ย่อมประกอบในอกุศลจิตที่เป็นโทสมูลจิต ๒ ดวง ตามสมควรเท่านั้น จะประกอบในอกุศลจิตประเภทอื่นเช่น โลภมูลจิตหรือโมหมูลจิตไม่ได้ ต่อไปนี้ จะได้แสดงสภาวธรรมของโทจตุกเจตสิกตามลำดับ

โทสเจตสิก

โทสเจตสิก คือความโกรธ ความไม่ชอบใจ ความประทุษร้าย ได้แก่ สภาพธรรมที่ประทุษร้ายในอารมณ์ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    จณฺฑิกลกฺขโณ มีความดุร้ายหยาบกระด้าง เป็นลักษณะ
    อตฺตโน นิสฺสยทหนรโส (วา) มีการเผาที่อาศัยของตนเอง เป็นกิจ(หรือ) วิสปฺปนรโส มีความกระสับกระส่าย พลุ่งพล่าน เป็นกิจ
    ทุสฺสน ปจฺจุปฏฐาโน มีประทุษร้ายตน และผู้อื่น เป็นผล
    อาฆาตวตฺถุปทฏฺฐาโน มีวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความอาฆาต เป็นเหตุใกล้

โทสเจตสิกนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีสภาพดุร้าย เหมือนอสรพิษที่ถูกตี มีความกระสับกระส่ายเหมือนถูกวางยาพิษ หรือมีการเผาที่อาศัยของตนเหมือนไฟไหม้ป่า มีการประทุษร้ายตนเหมือนศัตรูที่ได้โอกาส และโทสะนี้ย่อมอาศัยวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความอาฆาตก่อให้เกิด 

อาฆาตวัตถุ อันเป็นเหตุใกล้ ก่อให้เกิดโทสะนั้น มี ๑๐ ประการคือ :-
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขาได้เคยทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขากำลังทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขาจะทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขาได้เคยทำความเสื่อมเสียให้แก่ผู้ที่เรารัก
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขากำลังทำความเสื่อมเสียให้แก่ผู้ที่เรารัก
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขาจะทำความเสื่อมเสียให้แก่ผู้ที่เรารัก
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขาได้เคยทำคุณประโยชน์ให้แก่ผู้ที่เราเกลียด
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขากำลังทำคุณประโยชน์ให้แก่ผู้ที่เราเกลียด
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขาจะทำคุณประโยชน์ให้แก่ผู้ที่เราเกลียด
    อาฆาตที่เกิดขึ้น นอกจากฐานะทั้ง ๙ ประการดังกล่าวแล้ว (เช่น โทสะเกิดเมื่อเดินสะดุด หรือเหยียบหนาม เป็นต้น)

อาฆาตวัตถุ ๑๐ ประการ ดังกล่าวมาแล้วนี้ เป็นเหตุใกล้ให้โทสะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า โทสจิตตุปบาท ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ประกอบด้วยโทมนัสในอารมณ์ทั้ง ๖ และโทมนัสที่เกิดขึ้นในอารมณ์ทั้ง ๖ นั้น ย่อมแสดงว่าจิตกระทบกับอารมณ์ทั้ง ๖ นั้นโดยสภาวะที่ไม่พอใจ การกระทบอารมณ์โดยสภาวะที่ไม่พอใจนี้ชื่อว่า “ปฏิฆะ” โทสมูลจิตจึงชื่อว่า “ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ” เพราะอรรถว่า ประกอบด้วยปฏิฆะ คือประกอบกับโทสเจตสิก เพราะกระทบอารมณ์อันไม่พอใจ โทสมูลจิตหมายรวมถึงจิตที่มีความไม่ชอบใจ เสียใจ กลุ้มใจ หงุดหงิดรำคาญใจ โกรธ เกลียด กลัว เป็นต้นด้วย เมื่อ โทสะ เกิดแล้ว พยาบาท ย่อมเกิด ดังในกรรมบถที่เป็นมูลทั้งหลาย พระพุทธองค์ตรัสว่า “โทโสโหติ” โทสะย่อมเกิด “พยาปาโทโหติ” พยาบาทนี้ย่อมเกิด

ย่อมแสดงให้เห็นว่า โทสะย่อมเป็นมูลให้เกิดพยาปาทะ ที่ชื่อว่า
พยาปาทะ เพราะอรรถว่า เป็นเหตุให้ถึงความฉิบหาย คือเข้าถึงความเสียแห่งจิต หรือเพราะอรรถว่า ทำให้ระเบียบกิริยามารยาท อวัยวะร่างกายและประโยชน์เป็นต้น ให้ถึงความพินาศไป แต่โดยเนื้อความแล้ว พยาปาทะก็คือโทสะนั่นเอง ฉะนั้นโทสะจึงมีชื่อเรียกว่า “ปฏิฆะ” หรือ “พยาปาทะ” ก็ได้

อิสสาเจตสิก

อิสสาเจตสิก คือสภาพที่ไม่พอใจในสมบัติ หรือคุณความดีของผู้อื่นมีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    ปรสมฺปตฺตีนํ อุสฺสูยนลกฺขณา มีความริษยาสมบัติของผู้อื่น เป็นลักษณะ
    ตตฺเถว อนภิรติรสา มีความไม่ยินดีในสมบัติผู้อื่น เป็นกิจ
    ตโตวิมุขภาว ปจฺจุปฏฐานา มีการเบือนหน้าหนีจากสมบัติผู้อื่น เป็นผล
    ปรสมฺปตฺติ ปทฏฺฐานา มีสมบัติของผู้อื่น เป็นเหตุใกล้

ความไม่พอใจในสมบัติ หรือคุณความดีของผู้อื่น ถ้าเป็นเพียงความไม่พอใจด้วยเห็นว่าไม่ใช่ของตนแล้ว ก็ไม่มีโทษ แต่ถ้าไม่พอใจด้วยเห็นว่าผู้อื่นนั้นไม่ควรจะมีแล้วย่อมชื่อว่า “ริษยา” จึงจะมีโทษ และเป็นสภาพของอิสสา จึงเห็นว่าสภาพของอิสสานี้เป็นภาวะที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของสัตว์จึงย่อมจะผูกพันสัตว์ไว้ในภพน้อยใหญ่ ซึ่งเรียกสภาพธรรมที่ผูกสัตว์นั้นว่า “สังโยชน์” อันได้แก่ “อิสสาสังโยชน์”


มัจฉริยเจตสิก

มัจฉริยเจตสิก คือความตระหนี่ ได้แก่ สภาพความหวงแหนทรัพย์สมบัติ หรือคุณงามความดีของตน มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อตฺตโนสมฺปตฺตีนํ นิคูหนลกฺขณํ มีความหวงแหนสมบัติของตน เป็นลักษณะ
    เตสํ เยว ปเรหิ สาธารณภาวอกฺขมนรสํ มีการไม่ชอบให้สมบัติของตนเป็นสาธารณะแก่ผู้อื่น เป็นกิจ
    สงฺโกจน ปจฺจุปฏฐานํ (วา) มีการบูดเบี้ยวหน้า เป็นผล (หรือ) กฎกญฺจุกตา ปจฺจุปัฏฐานํ มีความเหนียวแน่น เป็นผล
    อตฺตสมฺปตฺติ ปทฏฺฐานํ มีสมบัติของตน เป็นเหตุใกล้

มัจฉริยะ หรือ ความตระหนี่ มี ๕ ประการ คือ :-
๑. อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ ที่อยู่อาศัย
๒. กุลมัจฉริยะ ตระหนี่ ตระกูล
๓. ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ ลาภ
๔. วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่ วรรณะ หรือความงาม
๕. ธัมมมัจฉริยะ ตระหนี่ ความรู้ธรรม

อธิบาย อาวาสมัจฉริยะ คือตระหนี่ที่อยู่อาศัยนั้น นอกจากจะหวงแหนที่อยู่อาศัย อันได้แก่ อาคารบ้านเรือน กุฏิวิหารแล้ว แม้หวงที่นั่ง, ที่นอน, ที่ยืน, ที่เดิน ก็ชื่อว่าอาวาสมัจฉริยะ

กุลมัจฉริยะ คือ ตระหนี่ตระกูล ได้แก่ การที่ภิกษุหวงตระกูลอุปัฏฐากไม่ยินดีให้ภิกษุอื่นไปรู้จักคุ้นเคยกับอุปัฏฐากของตน และสำหรับฆราวาสการกีดกันพวกพ้องวงศ์ตระกูลของตน ไม่ให้เกลือกกลั้วพัวพันกับตระกูลอื่นก็ชื่อว่ากุลมัจฉริยะ แต่ถ้าการกีดกันนั้นเพราะเห็นว่า บุคคลตระกูลอื่นนั้นเป็นอันธพาลชน ก็ไม่เป็นกุลมัจฉริยะ

ลาภมัจฉริยะ คือตระหนี่ลาภ ได้แก่การหวงแหนวัตถุสิ่งของอันเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค เมื่อผู้อื่นมาขอ ก็มีความหวงแหน ไม่ให้ปันตามสมควรชื่อว่าลาภมัจฉริยะ แต่ถ้าผู้มาขอวัตถุสิ่งของอันเป็นลาภนั้น เป็นอันธพาลชนผู้ไม่ให้ลาภ ก็ไม่ชื่อว่าเป็นลาภมัจฉริยะ

วัณณมัจฉริยะ คือ ตระหนี่วรรณะ วรรณะมี ๒ อย่าง คือ สรีรวัณณะ และคุณวัณณะ
    (๑) สรีรวัณณมัจฉริยะ หมายถึง ความอยากให้มีรูปร่างสวยงามเฉพาะตนผู้เดียว ไม่ยินดีในความสวยของผู้อื่น แม้ได้ยินใครกล่าวคำยกย่องความสวยงามของผู้อื่น ก็ไม่พอใจฟัง ดังนี้ชื่อว่า สรีรวัณณมัจฉริยะ
    (๒) คุณวัณณมัจฉริยะ หมายถึง หวงแหนคุณงามความดีไว้เฉพาะตน แม้มีผู้สรรเสริญคุณงามความดีของผู้อื่น ก็ไม่พอใจฟัง ดังนี้ชื่อว่า คุณวัณณมัจฉริยะ ธัมมมัจฉริยะ คือตระหนี่ธรรม ได้แก่ ความหวงแหนปริยัติธรรมมีการศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกาต่างๆ ไม่ต้องการให้ผู้อื่นรู้ตามที่ตนรู้ ชื่อว่า ธัมมปัจฉริยะ

กุกกุจจเจตสิก

กุกกุจจเจตสิก คือสภาพความเดือดร้อนใจ ได้แก่ ความรำคาญใจในทุจริตที่ได้ทำไปแล้ว และในสุจริตที่ยังไม่ได้ทำ มีอรรถ ๔ ประการโดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    ปจฺฉานุตาปลกฺขณํ มีความเดือดร้อนใจในภายหลัง เป็นลักษณะ
    กตากตานุโสจน รสํ มีความเศร้าโศกเนืองๆในกรรมที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ เป็นกิจ
    วิปฺปฏิสาร ปญฺจุปัฏฐานํ มีความร้อนใจ เป็นผล
    กตากต ปทฏฺฐานํ มีอกุศลกรรมที่ทำแล้วและกุศลกรรมที่ยังไม่ได้ทำ เป็นเหตุใกล้

ความสำคัญว่า ควรในของที่ไม่ควร หรือสำคัญว่า ไม่ควรในของที่ควร เป็นมูลแก่กุกกุจจะ



🔆 ง. ทุกเจตสิก
หมายถึง เจตสิก ๒ ดวง ได้แก่ ถีนเจตสิก และ 
มิทธเจตสิก ชื่อว่า ถีทุกะ โดยยกถีนเจตสิกเป็นประธาน เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ ถ้าจะเกิดขึ้นประกอบกับอกุศลสสังขาริกจิต ๕ ดวง ก็เกิดพร้อมกันทั้ง ๒ ถ้าไม่เกิดก็ไม่เกิดด้วยกัน

ถีนเจตสิก

ถีนเจตสิก คือ ธรรมชาติที่ทำให้จิตหดหู่ท้อถอยจากอารมณ์ สภาพที่จิตคลายลงจากอำนาจความขะมักเขม้นต่ออารมณ์ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อนุสฺสาห ลกฺขณํ มีการไม่อุตสาหะ เป็นลักษณะ
    วิริยวิโนทน รสํ มีการทำลายความเพียร เป็นกิจ
    สํสีทน ปจฺจุปฏฐานํ มีความท้อถอย เป็นผล
    อโยนิโสมนสิการ ปทฏฺฐานํ มีการกระทำในใจต่ออารมณ์ไม่แยบคาย เป็นเหตุใกล้

มิทธเจตสิก

มิทธเจตสิก คือ ความโงกง่วง ได้แก่ สภาพที่ทำให้เจตสิกเซื่องซึมท้อถอยจากอารมณ์ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อกมฺมญฺญตา ลักขณํ มีความไม่ควรแก่การงาน เป็นลักษณะ
    โอนหน รสํ มีการกั้นกำบังสัมปยุตธรรม เป็นกิจ
    ลีนตา ปจฺจุปฏฺฐานํ (วา) มีความท้อถอย เป็นผล (หรือ) จปลายิกานิทฺทา ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการโงกง่วงเป็นผล
    อโยนิโสมนสิการ ปทฏฐานํ มีการกระทำในใจต่ออารมณ์ไม่แยบคาย เป็นเหตุใกล้


ข้อสังเกต

ถีนเจตสิก มีหน้าที่ทำให้จิตที่เกิดพร้อมกับตน ท้อถอยจากอารมณ์ 
มิทธเจตสิก มีหน้าที่ทำให้เจตสิกอื่นที่เกิดพร้อมตนท้อถอยจากอารมณ์ อุปมา ถีนะ เหมือนดวงไฟ มิทธะเหมือนแสงสว่างจากดวงไฟ เมื่อดวงไฟหรี่ แสงสว่างก็จะลดน้อยลงพร้อมๆ กันด้วย ถีนมิทธเจตสิกนี้ ละได้ด้วยอรหัตตมรรค จึงแสดงว่า พระอรหันต์ทั้งหลายไม่ได้หลับนอนด้วยกิเลส แต่หลับนอนด้วยความอ่อนเพลียของกรัชกาย

🔆 จ. วิจิกิจฉาเจตสิก
เป็นธรรมชาติที่มีความเคลือบแคลงสงสัยใน
อารมณ์ เจตสิกดวงนี้จะเกิดขึ้นประกอบกับโมหมูลจิตที่เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตได้ดวงเดียวเท่านั้น

วิจิกิจฉาเจตสิก

วิจิกิจฉาเจตสิก คือสภาพที่มีความสงสัย ไม่อาจแก้ไขเยียวยาด้วยญาณปัญญาของตนได้ จึงสงสัยในคุณแห่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นต้น มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    สํสย ลกฺขณา มีความสงสัย เป็นลักษณะ
    กมฺปน รสา มีความหวั่นไหวในอารมณ์ เป็นกิจ
    อนิจฺฉย ปจฺจุปัฏฐานา มีความไม่สามารถตัดสินใจได้ ป็นผล
    อโยนิโสมนสิการ ปทฏฺฐานา มีการกระทำในใจต่ออารมณ์ไม่แยบคาย เป็นเหตุใกล้

ความสงสัยในความหมายของวิจิกิจฉานั้น ไม่ใช่เป็นความสงสัยในวิชาการต่างๆ หรือบัญญัติธรรมอื่นๆ แต่หมายเฉพาะความสงสัยในลักษณะ ๘ ประการ ดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ :-

๑. สงสัยในพระพุทธเจ้า ได้แก่ สงสัยในพระสรีระ หรือสงสัยในพระพุทธคุณ ๙ ประการ
๒. สงสัยในพระธรรม ได้แก่ สงสัยในมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ และพระไตรปิฎกว่า เป็นธรรมที่จะนำออกจากวัฏฏทุกข์ได้โดยเด็ดขาดจริงหรือ?
๓. สงสัยในพระสงฆ์ ได้แก่ สงสัยว่า พระอริยสงฆ์นั้นมีจริงหรือ? พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติตรง จนบรรลุมรรค ผล นิพพาน มีหรือ? ผลแห่งทานที่ถวายแก่พระสงฆ์นั้น มีจริงหรือ?
๔. สงสัยในสิกขา ๓ ได้แก่ สงสัยว่า ศีล สมาธิ ปัญญาดีจริงหรือ? และผลานิสงส์แห่งการปฏิบัติในสิกขา ๓ นั้นมีจริงหรือ?
๕. สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เป็นส่วนอดีต ได้แก่ สงสัยสภาพตัวตน คน สัตว์ ว่าชาติก่อนนั้น มีหรือ?
๖. สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เป็นอนาคต ได้แก่ สงสัยสภาพตัวตน คน สัตว์ ว่าชาติหน้าจะ มีอีกจริงหรือ?
๗. สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ทั้งที่เป็นส่วนอดีตและอนาคต ได้แก่สงสัยในสภาพตัวตน คน สัตว์ว่า ทั้งอดีตและอนาคตชาติหน้านั้น จะมีจริงหรือ?
๘. สงสัยในปฏิจจสมุปบาทธรรม ได้แก่ สงสัยในสภาพธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล อาศัยกันเกิดขึ้น เกี่ยวเนื่องกันไปไม่ขาดสายเลยนั้น มีจริงหรือ?

ความสงสัยประการอื่น ที่นอกจากสงสัยในสภาพธรรม ๘ ประการนี้ เช่น สงสัยในวิชาการต่างๆ อันเป็นเรื่องสมมุติบัญญัตินั้น เพราะสัญญายังอ่อน ไม่ใช่สภาพของวิจิกิจฉาเจตสิก ที่ประกอบด้วยอกุศลจิต ชนิดที่เป็นโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุต ความสงสัยประเภทนี้ชื่อว่า “ปฏิรูปกวิจิกิจฉา” ซึ่งไม่จัดว่าเป็นกิเลสที่ประกอบในโมหมูลจิต อาจสงเคราะห์ในอุทธัจจสัมปยุตจิตได้



วันอังคาร

อัญญสมานาเจตสิก ๑๓

คำว่า “อัญญสมาน” นี้ เมื่อแยกศัพท์แล้วได้ ๒ ศัพท์ คือ :-

อัญญ หมายถึง ธรรมอื่น
สมาน หมายถึง เหมือนกัน

อัญญสมาน จึงหมายถึง เหมือนธรรมอื่น ธรรมอื่นในที่นี้ หมายถึง เจตสิกธรรม ที่เป็นทั้งโสภณเจตสิกและอกุศลจิต ฉะนั้น อัญญสมานาเจตสิก จึงหมายถึงเจตสิกที่มีสภาพเหมือนธรรมอื่น กล่าวคืออัญญสมานาเจตสิก ย่อมประกอบกับโสภณเจตสิก และอกุศลเจตสิกได้ทั้ง ๒ พวก

ส่วนโสภณเจตสิก ซึ่งไม่เหมือนกับอกุศลเจตสิก หรืออกุศลเจตสิกซึ่งไม่เหมือนโสภณเจตสิก ทั้ง ๒ พวกนี้ จึงไม่อาจประกอบกันได้ เหมือนอย่างอัญญสมานาเจตสิก

อัญญสมานาเจตสิก ๑๓

แผนผังอัญญสมานาเจตสิก


อัญญสมานาเจตสิกนี้ มีอยู่ ๒ นัย คือ

🔆 นัยที่ ๑. สัพพจิตตสาธารณเจตสิก 
สัพพจิตสาธารณเจตสิก เมื่อแยกศัพท์ออกแล้วได้ ๓ ศัพท์ คือ สพฺพ + จิตฺต + สาธารณ
        สัพฺพ หมายถึง ทั้งหมด
        จิตฺต หมายถึง จิต
        สาธารณ หมายถึง ทั่วไป
สัพพจิตตสาธารณเจตสิก จึงหมายถึง เจตสิกที่ประกอบได้ทั่วไปแก่จิตทั้งหมด เจตสิกประเภทนี้มี ๗ ดวงคือ

๑. ผัสสเจตสิก

ผัสสเจตสิก เป็นธรรมชาติที่กระทบถูกต้องอารมณ์ ลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของผัสสเจตสิก มีอยู่ ๔ ประการ ที่เรียกว่า ลักขณาทิจตุกะ คือ :

    ผุสฺสนลกฺขโณ มีการกระทบอารมณ์ เป็นลักษณะ
    สงฺฆฏฺฏนรโส มีการประสาน(อารมณ์-ทวาร วิญญาณ) เป็นกิจ
    สนฺนิปาตปัจจุปัฏฐาโน มีการประชุมพร้อมกัน เป็นผลปรากฏ
    อาปาตคตวิสัยปทุฏฐาโน มีอารมณ์ที่ปรากฏเฉพาะหน้า เป็นเหตุใกล้

ผัสสเจตสิกที่มีการกระทบอารมณ์เป็นลักษณะนั้น เพราะผัสสะนั้นมีอรรถว่า กระทบถูกต้อง ผัสสะนี้เป็นอรูปธรรม การกระทบนั้นจึงเป็นไปโดยการกระทบอารมณ์นั้น เหมือนคนที่เห็นผู้อื่นรับประทานของเปรี้ยว แล้วเกิดน้ำลายไหล คล้ายกับว่า ตนเองกำลังกระทบกับของเปรี้ยว ที่เป็นเช่นนี้ก็เป็นไปโดยอาการที่ผัสสะกระทบกับอารมณ์นั่นเอง แม้ผัสสะ ซึ่งเป็นอรูปธรรม จะเป็นตัวกระทบอารมณ์เป็นลักษณะ และเมื่อกระทบแล้ว ย่อมดับไป ไม่มีอะไรเหลือเป็นส่วนติดค้างอยู่ก็จริง แต่ผัสสะนั้นก็เป็นตัวประสานจิตกับอารมณ์ให้เกิดรู้ขึ้นมา เหมือนประสานรูปกับตาให้เห็น ประสานเสียงกับหูให้ได้ยิน เป็นต้น จึงชื่อว่าผัสสะ มีการประสานจิตกับอารมณ์เป็นกิจ เมื่อผัสสะเป็นสิ่งประสานจิตกับอารมณ์แล้วสภาพธรรมอันเป็นผลของผัสสะนั้น จึงเกิดขึ้น ๓ ประการคือ อารมณ์ ๑ ทวาร ๑ และวิญญาณ ๑

กล่าวคือ เกิดการประชุมพร้อมกันแห่งสภาวธรรม ประการดังกล่าวแล้วนั้นจึงชื่อว่า ผัสสะ มีการประชุมพร้อมกันแห่งสภาวธรรม ๓ ประการเป็นผลปรากฏ ผัสสะ ย่อมมีอารมณ์เป็นเหตุใกล้ กล่าวคือ เมื่อมีอารมณ์มาครอง(ทวาร) ประกอบด้วยการเอาใจใส่ที่เหมาะสม อันอินทรีย์ปรุงแต่งดีแล้ว ย่อมเป็นเหตุใกล้ให้ผัสสะเกิดขึ้น โดยไม่มีอะไรขัดขวาง

๒. เวทนาเจตสิก

เวทนาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ ธรรมชาติที่ชื่อว่า เวทนานั้นมีอรรถว่า รับรู้ คือเสวยรสแห่งอารมณ์ จริงอยู่แม้สัมปยุตธรรมอื่นนอกจากนี้ ก็ย่อมมีการเสวยอารมณ์ได้ด้วยเหมือนกัน แต่เป็นการเสวยอารมณ์เพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น ผัสสะ มีการเสวยอารมณ์ชั่วขณะกระทบถูกต้อง สัญญาก็มีการเสวยเพียงจำเก็บอารมณ์เท่านั้น เจตนาก็เพียงการตั้งใจต่ออารมณ์เท่านั้น มิได้มีการเสวยโดยลิ้มรสของอารมณ์ โดยตรงเหมือนอย่างเวทนา เพราะฉะนั้นเวทนาจึงนับว่าเป็นเจ้าของ เป็นใหญ่ มีอำนาจในการเสวยอารมณ์โดยตรง ในอัฏฐสาลินีอรรถกถาเปรียบเวทนาเหมือนพระราชา สัมปยุตธรรมนอกจากนี้เหมือนพ่อครัวผู้ปรุงโภชนะที่มีรสดีต่างๆ แล้วเก็บใส่ภาชนะประทับตรา นำเข้าถวายพระราชา พระองค์ทรงเป็นเจ้าของ เป็นใหญ่ มีอำนาจเสวยได้ตามพระราชประสงค์ ส่วนสัมปยุตธรรมนอกนั้นเสวยรสอารมณ์ได้เพียงบางส่วน เหมือนพ่อครัวหรือต้นเครื่อง เพียงแต่ดมกลิ่น ชิมทดลองพระกระยาหารแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า เวทนา เป็นธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ทั้งหมด โดยตรงและแน่นอน

ลักษณะของเวทนา ตามนัยของปฏิจจสมุปบาท

    อนุภวนลกฺขณา มีการเสวยอารมณ์ เป็นลักษณะ
    วิสยรสสมฺโภครสา มีการเสวยรสของอารมณ์ เป็นกิจ
    สุขทุกฺขปจฺจุปฏฺฐานา มีสุข และมีทุกข์ เป็นผลปรากฏ
    ผสฺสปทฏฺฐานา มีผัสสะ เป็นเหตุใกล้

การรับรู้หรือการเสวยอารมณ์ของเวทนานั้น ถ้าจะจำแนกความรู้สึกในการเสวยอารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์, อนิฏฐารมณ์ และมัชฌัตตารมณ์แล้ว ได้ความรู้สึกสุขสบายเรียกว่า สุขเวทนา, ความรู้สึกเป็นทุกข์ไม่สบายเรียกว่าทุกขเวทนา, ความรู้สึกเฉยๆ คือไม่ทุกข์ไม่สุข เรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา การจำแนกเวทนาเป็น ๓ ประเภท ตามความรู้สึกในการเสวยอารมณ์นี้เรียกว่า จำแนกโดย อารัมมณานุภวนลักขณนัย แต่ถ้าจำแนกโดยความเป็นใหญ่ในการรับอารมณ์คือ การเสวยอารมณ์ที่เกี่ยวกับกายและเกี่ยวกับใจแล้ว ก็จำแนกออกเป็น ๕ ประเภทคือ :-

ทางกาย มี ๒ ได้แก่
ความรู้สึกสบายกาย เรียกว่า สุขเวทนา
ความรู้สึกไม่สบายกาย เรียกว่า ทุกขเวทนา

ทางใจ มี ๓ ได้แก่
ความรู้สึกสบายใจ เรียกว่า โสมนัสเวทนา
ความรู้สึกไม่สบายใจ เรียกว่า โทมนัสเวทนา
ความรู้สึกเฉยๆ เรียกว่า อุเบกขาเวทนา

การจำแนกเวทนาโดยความเป็นใหญ่ในการเสวยอารมณ์ออกเป็น ๕ ประเภทนี้ เรียกว่า จำแนกโดย อินทริยเภทนัย จะได้แสดงลักษณะพิเศษเฉพาะตนของเวทนาทั้ง ๕ ประการ ตามนัยดังกล่าวนี้ คือ :-
    

  • ๑. สุขเวทนาเจตสิก คือ ธรรมชาติที่เสวยอารมณ์สบายทางกาย มีลักขณาทิจตุกะ แสดงว่า
    อิฏฐโผฏฺฐพฺพานุภวนลกฺขณา มีการสัมผัสกับโผฏฐัพพารมณ์ที่ดี เป็นลักษณะ
    สมปยุตฺตานํ พยุหนรสา มีการทำให้สัมปยุตธรรมเจริญ เป็นกิจ
    กายิกอสฺสาทปจฺจุปฏฺฐานา มึความยินดีทางกาย เป็นผล
    กายินฺทริยปทฏฺฐานา มีกายปสาท เป็นเหตุใกล้
  • ๒. ทุกขเวทนาเจตสิก คือธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ไม่สบายทางกาย มีลักขณาทิจตุกะ คือ :-
    อนิฏฐโผฏฐพฺพานุภวนลกขณา มีการสัมผัสกับโผฏฐัพพารมณ์ที่ไม่ดี เป็นลักษณะ
    สมฺปยุตฺตานํ มิลาปนรสา มีการทำสัมปยุตธรรมให้เศร้าหมอง เป็นกิจ
    กายิกาพาธ ปจฺจุปฏฺฐานา  มีความอาพาธทางกาย เป็นผล
    กายินฺทริยปทฏฺฐานา มีกายปสาท เป็นเหตุใกล้
  • ๓. โสมนัสเวทนาเจตสิก คือ ธรรมชาติที่เสวยอารมณ์สบายใจ มีลักขณาทิจตุกะ คือ :-
    อิฏฐารมุมณานุภวนลกฺขณา มีการเสวยอารมณ์ที่ดี เป็นลักษณะ
    อิฏฐาการสมฺโภครสา มีการประจวบกับอาการที่น่าปรารถนา เป็นกิจ
    เจตสิกอสฺสาทปจฺจุปฏฺฐานา มีความแช่มชื่นยินดีทางใจ เป็นผล
    ปสฺสทฺธิปทฏฺฐานา มีความสงบกายใจ เป็นเหตุใกล้
  • ๔. โทมนัสเวทนาเจตสิก คือ ธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ไม่สบายใจ มีลักขณาทิจตุกะ คือ :-
    อนิฏฐารมุมณานุภวนลกฺขณา มีการเสวยอารมณ์ที่ไม่ดี เป็นลักษณะ
    อนิฏฐาการสมฺโภครสา มีการประจวบกับอาการที่ไม่น่าปรารถนา เป็นกิจ
    เจตสิกาพาธปัจจุปฏฺฐานา มีความอาพาธทางใจ เป็นผล
    หทยวตฺถุปทฏฺฐานา มีหทัยวัตถุ เป็นเหตุใกล้
  • ๕. อุเบกขาเวทนาเจตสิก คือธรรมชาติที่เสวยอารมณ์เฉยๆ ทางใจ ไม่โทมนัสและไม่โสมนัส มีลักขณาทิจตุกะ คือ :
    มชฺฌตฺต เวทยิตลกฺขณา มีการเสวยอารมณ์ปานกลาง เป็นลักษณะ
    สมปยุตฺตานํ นาติอุปพยูหน มิลาปนรสา มีการรักษาสัมปยุตธรรม ไม่ให้เจริญและไม่ให้เศร้าหมอง เป็นกิจ
    สนฺตภาวปจฺจุปฏฺฐานา มีความสงบ เป็นผล
    นิปฺปีติกจิตฺตปทฏฺฐานา มีจิตที่ไม่มีความปีติยินดี เป็นเหตุใกล้

อย่างไรก็ตาม สุข ทุกข์, โสมนัส, โทมนัส หรืออุเบกขา ก็ล้วนแต่ อาการเสวยรสแห่งอารมณ์ด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้น เวทนาเจตสิก จึงกล่าวได้ว่าเป็นธรรมชาติที่เสวยอารมณ์

๓. สัญญาเจตสิก

สัญญาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่จำอารมณ์ เช่น จำอารมณ์นี้ว่า เป็นสีเขียว, สีแดง หรือยาว, สั้น, กลม, แบน หรือเหลี่ยมเป็นต้น มีลักขณาทิจตุกะดังนี้คือ :-

  • สัญชานน ลักฺขณา มีความจํา เป็นลักษณะ
  • ปุนสญฺชานน ปจฺจยนิมิตุตกรณรสา มีการทำเครื่องหมายเพื่อให้รู้ต่อไป เป็นกิจ
  • ยภาคหิต นิมิตฺตัวเสน อภินิเวสกรณ์ปัจจุปฏฺฐานา มีความจำเครื่องหมายที่กำหนดให้ไว้ เป็นผล
  • ยถาอุปฏจิตวิสยปทฏฺฐานา มีอารมณ์ที่ปรากฏ เป็นเหตุใกล้

๔. เจตนาเจตสิก

เจตนาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่จัดแจงเอาธรรมที่สัมปยุตกับตนไว้ในอารมณ์คือ มีภาวะที่กระตุ้นเตือนให้สัมปยุตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนนั้น ตั้งใจทำกิจของตนๆ มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ คือ :-

  • เจตนาภาวลกฺขณา มีความตั้งใจ เป็นลักษณะ
  • อายูหนรสา มีการประมวลมา เป็นกิจ
  • สวิธานปจฺจุปฏฺฐานา มีการจัดแจง เป็นผล
  • เลสขนฺธตฺตยปทฏฐานา มีนามขันธ์ที่เหลือทั้ง ๓ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, วิญญาณขันธ์) เป็นเหตุใกล้

มีความตั้งใจเป็นลักษณะนั้น ก็คือ ความมุ่งหวัง เพื่อให้ธรรมที่สัมปยุตด้วยตนเป็นไปในอารมณ์ มีการประมวลมาเป็นกิจ มุ่งหมายถึงมีหน้าที่ประมวลมาซึ่ง กรรม มีกุศลกรรม และอกุศลกรรมเป็นกิจ มีความจัดแจงเป็นผล หมายถึงความขวนขวายในการปรุงแต่งธรรมที่เป็นสังขตะ จึงจำแนกไว้ในประเภท สังขารขันธ์ เพราะอรรถว่าปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตธรรม เป็นผล

มีนามขันธ์ที่เหลือทั้ง ๓ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์ และวิญญาณขันธ์) เป็นเหตุใกล้ คือนามขันธ์ ๔ นั้น เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกัน และช่วยอุดหนุนซึ่งกันและกัน ฉะนั้น เมื่อเจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นสังขารขันธ์เกิดขึ้น นามขันธ์ที่เหลือทั้ง ๓ จึงเป็นเหตุใกล้ให้เกิด

๕. เอกัคคตาเจตสิก

เอกัคคตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่สงบ และทำให้สัมปยุตธรรมตั้งอยู่ในอารมณ์เดียว มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ คือ :-

  • อวิกฺเขปลกฺขณา มีการไม่ฟุ้งซ่าน เป็นลักษณะ
  • สหชาตานํ สมฺปิณฺฑนรสา มีการรวบรวมสหชาติธรรม เป็นกิจ
  • อุปสมปจฺจุปฏฺฐานา มีความสงบ เป็นผล
  • สุขปทฏฺฐานา มีสุขเวทนา เป็นเหตุใกล้

๖. ชีวิตินทรียเจตสิก

ชีวิตินทรียเจตสิก เป็นธรรมชาติที่รักษาสัมปยุตธรรม ที่ชื่อว่า “ชีวิต” เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องดำรงอยู่แห่งสัมปยุตธรรมทั้งหลาย และชื่อว่า “อินทรีย์” เพราะประกอบด้วยความเป็นใหญ่ในการอนุบาลธรรมที่เกิดร่วมกัน เพราะเป็นเครื่องดำรงอยู่ และเป็นใหญ่ในการอนุบาลสัมปยุตธรรม จึงชื่อว่า ชีวิตินทรียเจตสิก มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ คือ :-

  • สหชาตานํ อนุปาลนลกขณํ มีการรักษาสหชาติธรรม เป็นลักษณะ
  • เตสํ ปวตฺตนรสํ มีความตั้งอยู่ และเป็นไปได้แห่งสัมปยุตธรรม เป็นกิจ
  • เตสญฺเญ ถปนปจจุปฏฺฐานํ มีการดำรงอยู่ได้แห่งสหชาตธรรม เป็นผล
  • เสสขนฺธตฺตยปทฏฺฐานํ มีนามขันธ์ที่เหลือทั้ง ๓ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, วิญญาณขันธ์) เป็นเหตุใกล้

ชีวิตินทรียเจตสิก ที่มีการอนุบาลสัมปยุตธรรมที่เกิดร่วมกันนั้น เหมือนน้ำที่หล่อเลี้ยงดอกบัวให้ดำรงความสดอยู่ ฉะนั้น

๗. มนสิการเจตสิก

การกระทำ ชื่อว่า “การะ” การกระทำไว้ในใจ ชื่อว่า “มนสิการ” มนสิการเจตสิก เป็นธรรมชาติที่เหนี่ยวนำสัมปยุตธรรม เข้าสู่อารมณ์อยู่เสมอ เช่น เมื่อรูปารมณ์มากระทบจักขุปสาทแล้ว จักขุวิญญาณจิตก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยมนสิการเจตสิก ขณะเดียวกันนั้นเอง มนสิการเจตสิกก็เป็นผู้นำให้จิตและเจตสิกดวงอื่นๆ ที่เกิดพร้อมกับตนนั้น มุ่งเข้าสู่รูปารมณ์ ในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ได้อุปมามนสิการเจตสิกนี้ เป็นเหมือนนายสารถีที่ชักม้าไปสู่ทิศทางที่ตนต้องการ คือให้มุ่งหน้าตรงต่ออารมณ์นั้นเอง มนสิการเจตสิก มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ คือ :-

  • สารณลกฺขโณ มีการทำให้สัมปยุตธรรมแล่นไปในอารมณ์ เป็นลักษณะ
  • สมฺปยุตฺตานํ อารมุมเณ สโยชนรโส มีการประกอบสัมปยุตธรรมไว้กับอารมณ์ เป็นกิจ
  • อารมุมณภิมุขีภาวปจฺจุปฏฺฐาโน มีการทำสัมปยุตธรรมให้มุ่งตรงอารมณ์เสมอ เป็นผล
  • อารมฺมณปทฏฺฐาโน มีอารมณ์ (อดีต ปัจจุบัน อนาคต และกาลวิมุตติ) เป็นเหตุใกล้

มนสิการ แปลว่า การกระทำในใจ คือ ความใส่ใจว่าโดยทั่วไปแล้ว มนสิการ มี ๓ อย่าง คือ :-

๑. วิถีปฏิปาทกมนสิการ คือมนสิการที่ทำให้วิถีจิตเกิดทางปัญจทวาร ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่เริ่มรับอารมณ์ใหม่เข้า มากระทบทวารทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย ทำให้จักขุทวารวิถี เป็นต้นเกิดขึ้น จึงชื่อว่า วิถีปฏิปาทกมนสิการ คือเป็นผู้นำจิตให้ขึ้นสู่วิถี
๒. ชวนปฏิปาทกมนสิการ คือมนสิการ ที่ทำให้ชวนจิตเกิดขึ้นเสพอารมณ์ โดยความเป็นกุศล, อกุศล หรือกิริยาชวนจิต ตามธรรมดา ปัญจทวารวิถี หรือมโนทวารวิถี ที่มีชวนจิตเกิดขึ้นได้นั้น เพราะอาศัยมโนทวาราวัชชนจิตเป็นเหตุ ถ้าไม่มีมโนทวาราวัชชนจิตแล้ว ชวนจิตก็เกิดขึ้นไม่ได้ เหตุนี้ มโนทวาราวัชชนจิตจึงชื่อว่า ชวนปฏิปาทกมนสิการ คือเป็นผู้นำจิตให้ขึ้นสู่ชวนะ
๓. อารัมมณปฏิปาทกมนสิการ คือ มนสิการที่ทำให้สัมปยุตธรรมคือ จิต, เจตสิก แล่นไปในอารมณ์ องค์ธรรม ได้แก่ มนสิการเจตสิก มนสิการที่เป็นเจตสิกปรมัตถ์นั้น มุ่งหมายเอาอารัมมณปฏิปาทกมนสิการ นั่นเอง


🔆 นัยที่ ๒ ปกิณณกเจตสิก

คำว่า ปกิณณก นั้น เมื่อแยกศัพท์ออกแล้วได้ ๓ ศัพท์ คือ :-

    ป แปลว่า โดยทั่วไป
    กิณฺณ แปลว่า กระจัดกระจายไป
    ก ไม่มีคำแปลโดยเฉพาะ

ฉะนั้น คำว่า “ปกิณฺณก” จึงแปลว่า กระจัดกระจายอยู่โดยทั่วไป “ปกิณณกเจตสิก” จึงหมายความว่า เจตสิกที่กระจัดกระจายอยู่โดยทั่วๆไป คือปกิณณกเจตสิกบางดวงประกอบกับอกุศลจิตบ้าง, กุศลจิตบ้าง, วิบากจิตหรือกิริยาจิตบ้าง เป็นการประกอบได้ทั่วไป ทั้งฝ่าย อโสภณะ และโสภณะ หรือทั้งโลกียะ และโลกุตตระ แต่การประกอบของปกิณณกเจตสิกนี้ ประกอบได้แต่เพียงบางดวงเท่านั้น ไม่ใช่ประกอบได้กับจิตทั้งหมด เหมือนอย่างสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ซึ่งประกอบกับจิตทั่วไป และประกอบได้ทั้งหมด ปกิณณกเจตสิกนี้ มีจำนวน ๖ ดวง คือ :-

๑. วิตกเจตสิก

วิตกเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ยกจิตเข้าไว้ในอารมณ์ คือ ยกเอาสัมปยุตธรรมที่เกิดร่วมกันนั้นมาจดจ่อที่อารมณ์ กล่าวโดยทั่วไปแล้ว วิตก คือการตรึกอยู่ในอารมณ์ ซึ่งมีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ คือ :-

  • อารมุมเณจิตฺตสฺส อภินิโรปนลกฺขโณ มีการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ เป็นลักษณะ
  • อาหนปฺปริยาหนรโส มีการกระทำให้จิตกระทบอารมณ์บ่อยๆ เป็นกิจ
  • อารมุมเณจิตฺตสฺส อานยน ปัจจุปัฏฺฐาโน มีจิตที่นำเข้าไว้ในอารมณ์ เป็นผล
  • อารมุมณปทฏฺฐาโน(วา) มีอารมณ์ (หรือ) เลสขนฺธตฺตยปทุฏฐาโน มีนามขันธ์ ๓ ที่เหลือ เป็นเหตุใกล้

สภาพของวิตกเจตสิกนั้น เป็นเหมือนนำสัมปยุตธรรมเหล่านั้นบรรจุเข้าไว้ในอารมณ์ อุปมาเหมือนคนบางคนที่อาศัยญาติ หรือมิตรสหาย ซึ่งเป็นข้าราชบริพารพาเข้าสู่ราชมณเฑียรได้ ฉันใด จิตก็เช่นเดียวกัน ย่อมต้องอาศัยวิตกเจตสิก จึงขึ้นสู่อารมณ์ได้ฉันนั้น

ความแตกต่างระหว่าง เจตนา, มนสิการ และวิตกเจตสิก

สภาวะของเจตสิกธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ มีลักษณะและกิจหน้าที่คล้ายคลึงกันอยู่มาก จึงสมควรที่จะได้ทราบความต่างกัน ดังต่อไปนี้ คือ :

- ลักษณะและกิจของเจตนาเจตสิก ก็คือ การกระตุ้นเตือนสัมปยุธรรมที่เกิดพร้อมกับตนให้เข้าจับอารมณ์นั้น เป็นลักษณะ และพยายามให้สัมปยุตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนนั้น ให้ติดต่อกับอารมณ์นั้นๆ เป็นกิจ หมายความว่า หน้าที่ของ เจตนา ทำให้จิตและเจตสิก สำเร็จการงานเป็นกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม

- ลักษณะและกิจของมนสิการเจตสิก ก็คือ การทำให้สัมปยุตธรรมมุ่งตรงสู่อารมณ์อยู่เสมอ เป็นลักษณะ และทำให้สัมปยุตธรรมประกอบในอารมณ์เป็นกิจ หมายความว่า หน้าที่ของ มนสิการ ทำให้จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนนั้น ให้มุ่งตรงสู่อารมณ์อยู่เสมอ ไม่ให้หันเหไปทางอื่น

- ลักษณะและกิจของวิตกเจตสิกก็คือ ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ เป็นลักษณะมีการตั้งต้นกระทบในอารมณ์นั้นบ่อยๆเป็นกิจ หมายความว่า หน้าที่ของ วิตก ทำให้จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนนั้น ให้ก้าวขึ้นสู่อารมณ์อยู่เสมอ ไม่ให้ย่อท้อถอยหลัง

อุปมา เจตนา, มนสิการ และวิตก เหมือนกับเรือแข่ง ซึ่งมีฝีพายอยู่ ๓ คน คนหนึ่งพายหัว, คนหนึ่งพายกลาง และอีกคนหนึ่งถือท้าย จริงอยู่แม้จะทำงานพายเรืออย่างเดียวกัน แต่คนหัวกับคนท้าย จะต้องมีหน้าที่พิเศษเพิ่มขึ้น โดยคนหัวมีความมุ่งให้เรือถึงหลักชัย และเมื่อถึงแล้ว ต้องพยายามคว้าธงเอามาให้ได้ด้วย คนหัวนี้จึงเปรียบได้กับ เจตนา ที่พยายามทำให้สำเร็จการงานต่างๆ คนพายกลางมีหน้าที่แต่เร่งฝีพายให้เรือถึงหลักชัยอย่างเดียว ซึ่งเปรียบได้กับ วิตก ซึ่งทำหน้าที่ให้จิตและเจตสิกก้าวขึ้นสู่อารมณ์ ส่วนคนถือท้ายมุ่งให้เรือตรงเข้าสู่หลักชัย ซึ่งเปรียบได้กับมนสิการ ซึ่งทำหน้าที่ให้สัมปยุตธรรมเข้าประกอบในอารมณ์ ความต่างกันของเจตนา มนสิการ และวิตก จึงมีดังกล่าวนี้

๒. วิจารเจตสิก

วิจารเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ประคองสัมปยุตธรรมให้อยู่กับอารมณ์ เพราะวิจารนั้น มีการเคล้าคลึงอารมณ์ เป็นลักษณะ และเมื่อเจตสิกธรรมนี้ปรากฏขึ้น จึงทำให้สัมปยุตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนนั้น เคล้าเคลียอยู่ในอารมณ์นั้นๆ ไม่ปล่อยไปด้วย มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ คือ :-

  • อารมุมณานุมุชชนลกฺขโณ มีการเคล้าคลึงอารมณ์ เป็นลักษณะ
  • ตตฺถ สหชาตานุโยชนรโส มีการประกอบสหชาตธรรมไว้ในอารมณ์นั้น เป็นกิจ
  • จิตฺตอนุปฺปพนฺธปจจุปฏฺฐาโน มีการตามผูกพันจิตไว้ในอารมณ์ เป็นผล
  • อารมุมณปทฏฐาโน (วา) มีอารมณ์เป็นเหตุใกล้ (หรือ) เสสขนฺธตฺตยปทฏฐาโน มีนามขันธ์ ๓ ที่เหลือเป็นเหตุใกล้

สภาพธรรมของวิตกและวิจารนี้ใกล้ชิดติดกัน คือ การยกจิตไว้ในอารมณ์ครั้งแรกชื่อว่า “วิตก” การตามผูกพันจิตไว้ในอารมณ์ชื่อว่า “วิจาร” อุปมาเหมือนการเคาะระฆัง เสียงระฆังที่ดังปรากฏขึ้นครั้งแรกเปรียบได้กับวิตก เสียงระฆังที่ดังกังวานสืบต่อไปเปรียบได้กับ วิจาร หรืออุปมาเหมือน นกเขาใหญ่ที่บินไปในอากาศ เมื่อกระพือปีกโผขึ้นสู่อากาศครั้งแรกเปรียบเหมือน วิตก เมื่อบินติดลมแล้ว ก็กางปีกร่อนไปในอากาศ เปรียบเหมือน วิจาร ดังนั้น จึงเห็นว่าวิจารเจตสิกนี้ รับอารมณ์ได้สุขุมกว่าวิตก และแม้จะเกิดพร้อมกัน ก็ปฏิบัติหน้าที่ตามหลังวิตก ความต่างกันของเจตสิกทั้งสองนี้ จะปรากฏชัดเจนในองค์แห่งปฐมฌาน และทุติยฌาน ของฌานลาภีบุคคล

๓. อธิโมกขเจตสิก

อธิโมกขเจตสิก เป็นธรรมชาติที่มีสภาพทำลายจิตที่รวนเร เป็นสองฝักสองฝ่ายในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ มีการตัดสินอารมณ์เด็ดขาด ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม จะตัดสินถูกหรือผิดก็ตามและไม่ว่าการงานที่สุจริตหรือทุจริตก็ตาม ที่ได้ตัดสินใจสำเร็จลงได้นั้น ก็ด้วยอำนาจของอธิโมกขเจตสิก ฉะนั้น ลักขณาทิจตุกะของอธิโมกขเจตสิก คือ :-

  • สนฺนิฏฐานลกฺขโณ มีการตัดสินใจเด็ดขาด เป็นลักษณะ
  • อสํสปฺปนรโส มีการตั้งมั่นไม่รวนเรในอารมณ์ เป็นกิจ
  • วินิจฺฉยปจฺจุปฏฐาโน มีการตัดสิน เป็นผล
  • สนฺนิฎเฐยยธมฺมปทฏฐาโน มีธรรม (อารมณ์) ที่จะต้องตัดสินใจ เป็นเหตุใกล้

ในอัฏฐสาลินี แสดงไว้ว่า ความน้อมใจเชื่อ ชื่อว่า อธิโมกข์, และอรรถของอธิโมกข์ก็คือ มีความตกลงใจ เป็นลักษณะ, มีการไม่แส่ไป เป็นรส, มีการตัดสินใจ เป็นปัจจุปัฏฐาน, มีธรรมที่จะต้องตกลงใจ เป็นปทัฏฐาน อธิโมกข์นั้นจึงเข้าใจว่าเหมือนเสาเขื่อน เพราะไม่หวั่นไหวในอารมณ์ อธิโมกข์นี้ เป็นปฏิปักษ์ต่อวิจิกิจฉา เพราะวิจิกิจฉาเป็นสภาพที่ลังเลสงสัยในอารมณ์ แต่อธิโมกข์ มีหน้าที่ทำลายความลังเลสงสัย

๔. วิริยเจตสิก

วิริยเจตสิก เป็นธรรมชาติเพียรพยายามต่ออารมณ์ คือ อดทนต่อสู้กับความยากลำบาก ที่เกี่ยวกับการงานต่างๆ ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี และไม่ว่างานนั้นจะยากลำบากมากน้อยสักเพียงใดก็ตาม ถ้าไม่ประกอบด้วยวิริยะแล้วย่อมสำเร็จไม่ได้ วิริยะจึงชื่อว่า ความเพียร อันได้แก่ความอุตสาหะซึ่งมีความหมายว่า สามารถอดทนต่อความยากลำบากที่กำลังได้รับอยู่ ดังวจนัตถะว่า “อุทุกขลาเภสหนํ อุสฺสาโห” ความสามารถอดทน เมื่อได้รับความลำบากชื่อว่า อุตสาหะ ได้แก่ วิริยเจตสิก มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

  • อุสฺสาหนลกฺขณํ มีความอดทนต่อสู้กับความลำบาก เป็นลักษณะ
  • สหชาตานํ อุปตฺถมฺภนรสํ มีการอุดหนุนธรรมที่เกิดพร้อมกับตนไม่ให้ถอยหลัง เป็นกิจ
  • อสีสํทนปจจุปฏฐานํ มีการไม่ท้อถอย เป็นผลปรากฏ
  • สํเวควตฺถุ ปทุฏฐานํ (วา) มีความสลดคือ สังเวควัตถุ ๘ เป็นเหตุใกล้ หรือ วิริยารมฺภ วตฺถุ ปทฏฺฺฐานํ (หรือ) มีวิริยารัมภวัตถุ ๘ เป็นเหตุใกล้

อธิบาย บรรดาสัมปยุตธรรมทั้งหลายคือ จิตและเจตสิก ที่เกิดพร้อมกับวิริยเจตสิกนี้ ย่อมมีอุตสาหะ พากเพียร ไม่ท้อถอย เพราะอำนาจของวิริยะนั้นเองที่ช่วยอุดหนุนไว้ อุปมาเหมือนบ้านเก่าที่จวนจะพัง เอาเสาปักค้ำจุนไว้ให้ตั้งมั่นทานลมอยู่ได้ ฉะนั้น ส่วนการที่วิริยะจะเกิดขึ้นได้นั้นย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยเหตุที่มีสังเวควัตถุ ๘ ประการ คือ :-

๑. ชาติทุกข์
๒. ชราทุกข์
๓. พยาธิทุกข์
๔. มรณทุกข์
๕. อบายทุกข์
๖. วัฏฏมูลกในอดีต
๗. วัฏฏมูลกในอนาคต
๘. อาหารปริเยฏฐมูลกในปัจจุบัน

สังเวควัตถุ ๘ ที่เป็นเหตุให้วิริยะเกิดได้นั้น ย่อมมุ่งหมายถึงวิริยะที่เป็นฝ่ายดีคือ โสภณะเท่านั้น หมายถึงเมื่อพิจารณาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย และสัตว์ทั้งหลายต้องเสวยทุกข์ในอบายภูมิ บางพวกเกิดเบื่อหน่ายที่จะต้องเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏฏ ก็พยายามสร้างกุศลให้พ้นจากวัฏฏะ บางพวกก็กลัวภัยในอบายภูมิ ๔ ก็เพียรพยายามสร้างกุศลที่สามารถทำให้พ้นจากอบายได้ บางพวกเห็นโทษภัยของการเกิดในปัจจุบัน ต้องแสวงหาอาหารอยู่เป็นนิตย์ ก็เพียร สร้างกุศล ให้พ้นจากการเกิด สังเวควัตถุจึงเป็นเหตุใกล้ให้วิริยะฝ่ายดีเกิดขึ้น ฉะนั้นสภาวะที่เป็นตัวสังเวคนี้ จึงได้แก่ปัญญา ที่เกิดพร้อมด้วย โอตตัปปะ เป็นประธาน

วิริยารัมภวัตถุ ๘ ได้แก่

๑. กมุม เกี่ยวกับการงานเป็นอารมณ์ให้วิริยะเกิด มี ๒ คือ :-
    ก. การงานที่ทำสำเร็จแล้ว
    ข. การงานที่จะลงมือทำ
๒. มคฺค เกี่ยวกับการเดินทางเป็นอารมณ์ให้วิริยะเกิด มี ๒ คือ :
    ก. การเดินทางที่เพิ่งมาถึง
    ข. การเตรียมจะเดินทางไป
๓. เคลญฺญ เกี่ยวกับสุขภาพเป็นอารมณ์ให้วิริยะเกิด มี ๒ คือ :-
    ก. มีร่างกายที่เริ่มสบายขึ้น
    ข. มีร่างกายที่เริ่มไม่สบาย
๔. ปิณฺฑ เกี่ยวกับอาหารเป็นอารมณ์ให้วิริยะเกิด มี ๒ คือ :-
    ก. มีอาหารไม่สมบูรณ์
    ข. มีอาหารบริบูรณ์

วิริยารัมภวัตถุ ๘ ที่เป็นเหตุใกล้ให้วิริยะเกิดได้นั้น มุ่งหมายเอาวิริยะทั่วไปที่สัมปยุตกับจิตทั้งฝ่ายดี และไม่ดีก็ได้ ฉะนั้น ถ้าผู้มีอโยนิโสมนสิการและมีโกสัชชะมาก วิริยารัมภวัตถุ ๘ อย่างนี้ จะกลับกลายเป็นกุสิตวัตถุ คือ วัตถุที่เป็นเหตุให้เกิดความเกียจคร้านขึ้นได้คือ เมื่อคิดถึงเรื่องต่างๆ ดังกล่าวแล้วนั้นก็เกิดความท้อแท้เบี่ยงบ่ายไปตามอำนาจของกิเลสได้ จิตที่ไม่มีวิริยเจตสิกประกอบเรียกว่า “อวิริยจิต” มี ๑๖ ดวง ได้แก่

ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐
สัมปฏิจฉนจิต ๒
สันตีรณจิต ๓
ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑

๕. ปีติเจตสิก

ปีติเจตสิก เป็นธรรมชาติที่มีความปลาบปลื้มใจในอารมณ์ ได้แก่สภาพที่แช่มชื่น อิ่มเอิบใจ เมื่อได้รับอารมณ์นั้นๆ มีลักขณาทิจตุกะดังนี้คือ :

  • สมฺปิยายนลักฺขณา มีความแช่มชื่นใจในอารมณ์ เป็นลักษณะ
  • กายจิตฺตปินฺนรสา (วา) มีการทำให้อิ่มกายอิ่มใจ หรือ ผรณรสา มีการทำให้ซาบซ่านทั่วร่างกาย เป็นกิจ
  • โอคยุยปัจจุปัฏฐานา มีความฟูใจ เป็นผล
  • เสสขนฺธตฺตยปทุฏฐานา มีนามขันธ์ ๓ ที่เหลือ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, วิญญาณขันธ์) เป็นเหตุใกล้

อธิบาย ธรรมชาติของปีตินี้ เมื่อเกิดขึ้นกับใคร ย่อมทำให้ผู้นั้นรู้สึกปลาบปลื้มใจมีหน้าตา และกาย วาจา ชื่นบาน แจ่มใส เป็นพิเศษ บางทีก็ทำให้รู้สึกซาบซ่านในร่างกายนั่นเอง และทำให้จิตใจของผู้นั้นแช่มชื่น เข้มแข็งไม่รู้สึกเหนื่อยหน่ายต่ออารมณ์ อาการปรากฏของปีตินี้คือ การทำจิตใจฟูเอิบอิ่มขึ้นมา ส่วนปีติที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ย่อมต้องอาศัยนามขันธ์ ๓ คือ เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์ และวิญญาณขันธ์ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด เวทนาขันธ์ที่เป็นเหตุใกล้ให้ปิติเกิดขึ้นย่อมอาศัย สุขเวทนา เท่านั้นเป็นเหตุให้ปิติเกิด ด้วยเหตุนี้เอง บางทีเราเข้าใจว่า ปีติ และ สุข นั้น เป็นอันเดียวกันแยกจากกันไม่ได้ ซึ่งความจริงนั้น เป็นสภาวะที่ต่างกันคือ ปีติ เป็นธรรมชาติที่มีความยินดีเพราะได้ประสบอิฏฐารมณ์ “ปีติในที่ใด สุขก็มีในที่นั้น แต่สุขในที่ใด ปีติอาจจะไม่มีในที่นั้นก็ได้” ปีติ เป็น สังขารขันธ์ แต่ สุข เป็น เวทนาขันธ์

อุปมา ปีติเหมือนบุรุษเดินทางไกลไปในที่กันดาร มีเหงื่อโทรมกายกระหายน้ำ ครั้นเห็นบุรุษอีกคนหนึ่งเดินมา ก็ถามว่า มีน้ำดื่มที่ไหนบ้าง บุรุษผู้นั้นตอบว่า พอพ้นดงก็พบสระน้ำ ท่านไปที่นั้นก็จะได้น้ำดื่ม บุรุษผู้เดินทางไกลนั้นตั้งแต่ได้ยินว่า มีสระน้ำจนกระทั่งได้เห็นสระน้ำนั้น ก็จะเกิดปีติมีอาการแช่มชื่นเบิกบานในอารมณ์ที่ได้ยินว่า มีสระน้ำ หรือได้เห็นสระน้ำนั้น นี้เป็นธรรมชาติของปีติ แต่ถ้าบุรุษนั้นได้ดื่มน้ำหรือได้อาบน้ำ ก็จะรู้สึกว่าสุขสบายดีจริง ฉะนั้น สุขจึงดำรงอยู่ด้วยการเสวยรสแห่งอารมณ์ เราจึงเห็นความต่างกันของปีติและสุขได้ชัดเจนว่า ปีติเกิดจากความปลาบปลื้มใจในอารมณ์ ส่วนสุขเกิดจากการตามเสวยอารมณ์ที่ดี

เมื่อปีติเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นทางใจเช่นนี้ จึงมีลักษณะใกล้เคียงกับโสมนัสเวทนาขึ้นมา แต่ถึงกระนั้นปีติก็ไม่ใช่โสมนัสอยู่นั่นเอง เพราะโสมนัสเป็นเวทนาขันธ์ เกิดได้ในจิต ๖๒ ดวง ปีติเป็นสังขารขันธ์เกิดกับจิตได้เพียง ๕๑ ดวง จตุตถฌานลาภีบุคคล ย่อมเห็นความต่างกันแห่งโสมนัสและปีตินี้ได้ชัดเจน

ปีติเจตสิก ธรรมชาติที่ปลาบปลื้มอิ่มเอิบใจนั้นมี ๕ ประการคือ :-
๑. ขุททกาปีติ ปลาบปลื้มเพียงเล็กน้อย พอรู้สึกขนลุก
๒. ขณิกาปีติ ปลาบปลื้มชั่วขณะเหมือนสายฟ้าแลบ เกิดขึ้นและก็หายไป แต่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ
๓. โอกนฺติกาปีติ ปลาบปลื้มเป็นพักๆ และมีการไหวเอนโยกโคลงเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง
๔. อุพฺเพงฺคาปีติ ปลาบปลื้มจนตัวลอย
๕. ผรณาปีติ ปลาบปลื้มชนิดอิ่มเอม ซาบซ่านไปทั่วร่างกายเกิดในอัปปนาจิต และตั้งอยู่ได้นาน ดังเช่น รูปพรหมทั้งหมด ไม่ต้องกินอาหาร อยู่ได้ด้วยผรณาปีติ

อนึ่ง อาการรู้สึกขนลุกอาจเกิดจากการประสบอารมณ์ที่น่ากลัว เช่นกลัวผีก็รู้สึกขนลุกเหมือนกัน แต่เป็นไปด้วยอำนาจโทสะ ชนิดปฏิกกมโทสะ คือ โทสะชนิดถอยหลัง ไม่ใช่ขุททกาปีติ

๖. ฉันทเจตสิก

ฉันทเจตสิก เป็นธรรมชาติที่มีความพอใจในอารมณ์ ได้แก่ สภาพที่มีความพอใจในอารมณ์ที่ต้องการ มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ คือ

  • กตฺตุกมฺยตาลกฺขโณ มีความปรารถนาเพื่อจะรู้อารมณ์ เป็นลักษณะ
  • อารมฺมณปริเยสนรโส มีการแสวงหาอารมณ์ เป็นกิจ
  • อารมฺมเณน อตฺถิกตา ปัจฺจุปัฏฺฐาโน มีความปรารถนาอารมณ์ เป็นผล
  • อารมฺมณปทุฏฐาโน มีอารมณ์ เป็นเหตุใกล้

อธิบาย ฉันทเจตสิก ที่มีความปรารถนาเพื่อจะกระทำเป็นลักษณะนั้นหมายถึงมีความปรารถนารูปารมณ์ เพื่อจะเห็น, ปรารถนาสัททารมณ์เพื่อจะได้ยิน, ปรารถนาคันธารมณ์ เพื่อจะได้กลิ่น เป็นต้น รวมความแล้วความต้องการเห็น, ได้ยิน ได้กลิ่น, รส, ถูกต้องสัมผัส, คิด อารมณ์นี้เองเป็นลักษณะของฉันทะ เมื่อมีความต้องการอารมณ์ต่างๆ เป็นลักษณะแล้ว ก็ต้องมีการแสวงหาอารมณ์ที่ต้องการต่างๆ นั้น มาสนองความต้องการ การแสวงหาอารมณ์ต่างๆ นี้ จึงเป็นกิจของฉันทะ เมื่อพิจารณาอาการของฉันทะนั้น ก็จะได้รู้ด้วยปัญญาว่า ฉันทะมีความปรารถนาอารมณ์เป็นผลปรากฏ และอารมณ์นั้นเองที่เป็นเหตุใกล้ให้ฉันทะเกิดขึ้น

ข้อสังเกต ฉันทะกับโลภะนั้น มีลักษณะที่ใกล้เคียงกันมาก คือ มีความต้องการอารมณ์ด้วยกัน แต่ความต้องการอารมณ์ที่เป็นฉันทะนั้น ไม่เหมือนกับความต้องการอารมณ์ที่เป็นโลภะ กล่าวคือ ความต้องการอารมณ์ที่เป็นโลภะนั้น ย่อมยึดและติดใจอยู่ในอารมณ์นั้น ส่วนความต้องการอารมณ์ที่เป็นฉันทะนั้น ไม่ยึดและไม่ติดใจอยู่ในอารมณ์นั้น อุปมาเหมือนบุคคลที่ต้องการรับประทานขนม กับบุคคลที่ต้องการรับประทานยา ความต้องการขนมนั้น เป็นความต้องการที่เป็นโลภะ เพราะเป็นความต้องการที่ยึดติดอยู่ในรสารมณ์ ส่วนความต้องการยานั้นเป็นความต้องการชนิดที่เป็นฉันทะ เพราะไม่ยึดติดอยู่ในรสารมณ์ เมื่อหายป่วยแล้ว ก็ไม่มีความต้องการรับประทานยาอีก