วันศุกร์

๑.๑๗ วิมุตติ ๕

๑. วิขัมภนวิมุตติ : ความหลุดพ้นด้วยอำนาจสมาธิ ข่มกิเลสไว้ ได้แก่สมาบัติ ๘ แต่บางครั้งท่านผ่อนลงมาถึงอุปจารสมาธิด้วย
๒. ตทังควิมุตติ : ความหลุดพ้นด้วยองค์ธรรมจำเพาะ คือ พ้นจากความเห็นผิดด้วยอาศัยวิปัสสนาญาณที่เป็นคู่ปรับกัน เช่น พิจารณาความไม่เที่ยงทำให้พ้นจากความสำคัญหมายว่าเป็นของเที่ยง ตามความหมายที่ผ่อนลงมาใช้ได้กับความดีความชั่วทั่วๆไป เช่น น้อมใจไปทางทาน ทำให้พ้นจากความโลภ, น้อมใจไปทางเมตตา ทำให้พ้นจากพยาบาท เป็นต้น
๓. สมุจเฉทวิมุตติ : ความหลุดพ้นเด็ดขาด คือการทำลายกิเลสที่ผูกรัดไว้ ได้แก่ วิมุตติในความหมายที่เป็นมรรค
๔. ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ : ความหลุดพ้นด้วยสงบระงับราบคาบไป ได้แก่ วิมุตติในความหมายที่เป็นผล
๕. นิสสรณวิมุตติ : ความหลุดพ้นที่เป็นภาวะหลุดรอดปลอดโปร่ง ได้แก่ วิมุตติในความหมายที่เป็นนิพพาน

วิมุตติ ๒ อย่างแรกเป็นโลกิยวิมุตติ (ชั่วคราว), วิมุตติ ๓ อย่างหลังเป็นโลกุตรวิมุตติ (ถาวร) ว่าโดยสาระแท้ๆ วิมุตติ ๕ นี้ก็คือ สมถะ วิปัสสนา มรรค ผล และนิพพาน ตามลำดับ


วันพุธ

๑.๑๖ ความพร้อมที่จะมีความสุข

ความสุขเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นยิ่งในทางจริยธรรม และพระพุทธศาสนาก็สนับสนุนให้ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงภาวะที่จะเสวยความสุขได้ในระดับต่างๆมากมายหลายระดับ โดยเฉพาะเน้นให้พยายามบรรลุความสุขประณีตด้านใน ที่ไม่ต้องอิงอาศัยอามิส ซึ่งมีประโยชน์ในทางจริยธรรมมาก (กามสุขไม่จำเป็นต้องสนับสนุนเพราะคนคอยแต่จะหมกมุ่นกันเกินพออยู่แล้ว) แต่กระนั้นก็ไม่สนับสนุนให้ติดพันในความสุขชนิดใดๆเลย (แม้กระทั่งไม่ติดเพลินนิพพาน, ไม่มีความสำคัญหมายว่านิพพานของเรา) ยิ่งกว่านั้น พระพุทธศาสนาสนใจการสร้างความพร้อมที่จะมีความสุข หรือการทำตนให้พร้อมที่จะมีความสุขมากยิ่งกว่าการสร้างภาวะแห่งการเสวยสุขต่างระดับต่างประเภทนั้นเสียอีก ภาวะพร้อมที่จะมีความสุขนี้ เมื่อบรรลุถึงแล้ว ผู้บรรลุสามารถเลือกเสวยความสุขระดับต่างๆที่ตนเองสร้างไว้ก่อนแล้วได้ตามที่พอใจ


อนึ่ง ภาวะพร้อมที่จะเสวยสุขนี้ เป็นความสุขเองด้วยในตัว และเป็นความสุขที่เหนือกว่าสุขอื่นทั้งหมด ทั้งนี้ เพราะมันไม่มีสิ่งที่เป็นเชื้อมูลของความทุกข์เหลือติดอยู่เลย และเพราะการที่ไม่มีเชื้อทุกข์เหลืออยู่นี้เอง จึงกลับทำให้ผู้บรรลุ สามารถเสวยความสุขอย่างอื่นได้อย่างดีโดยสมบูรณ์ คือทำให้ความสุขเหล่านั้นไม่เป็นทางก่อโทษก่อทุกข์แก่ผู้เสวยมันหรือผู้ใดอื่นได้อีก ภาวะพร้อมที่จะเสวยสุข ซึ่งเป็นความสุขด้วยในตัวของมันเองนี้ คือลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของนิพพาน



๑.๑๕ ลักษณะของพระอรหันต์ผู้เข้าถึงนิพพาน (ภาวิต ๔)

ลักษณะของพระอรหันต์ผู้เข้าถึงนิพพาน สรุปตามแนวหลัก ภาวิต ๔ คือ ผู้มีตนที่พัฒนาแล้ว, ท่านผู้ได้ทำภาวนา ๔ เสร็จแล้ว หลักนี้เป็นแนวเดียวกับ ไตรสิกขา ต่างกันที่สิ่งที่มุ่งหมายจะแสดง คือ ไตรสิกขามุ่งแสดงการฝึกหัดพัฒนา แต่ภาวิต ๔ มุ่งแสดงคุณสมบัติของผู้ที่ได้พัฒนาสำเร็จแล้ว

หลักภาวิต ๔ 
๑. ภาวิตกาย :
มีกายที่ได้พัฒนาแล้ว
พัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุสมบูรณ์แล้ว ใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆได้อย่างเหมาะสม โดยไม่เกิดโทษ หรือให้เกิดโทษน้อยที่สุด, เป็นผู้พร้อมที่จะทำให้สถานที่นั้นเป็นรมณีย์น่ารื่นรมณ์ เพราะบังคับสัญญาของตนได้ จึงสามารถหมายรู้ในของปฏิกูลเป็นไม่ปฏิกูล เช่น คนหน้าตาไม่ดี อาการไม่งาม มองด้วยเมตตา หรือของไม่สวย มองตามสภาวะของธาตุ ให้เห็นเป็นของสบายตา, หมายรู้ในของไม่ปฏิกูลเป็นปฏิกูล เช่น คนหรือของที่เห็นกันว่าสวยงาม มองด้วยอนิจจตา หรือตามสภาวะของธาตุก็กลายเป็นไม่สวยงาม หรือจะวางใจเป็นกลางก็ได้ตามต้องการ

ดังพุทธพจน์ “พระอรหันต์ได้พัฒนาอินทรีย์แล้ว เป็นอย่างไร? เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ ได้ยินเสียงด้วยหู … สภาพที่น่าชอบใจ หรือไม่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น เธอนั้นหากจำนงว่าจะหมายรู้สิ่งปฏิกูลว่าเป็นของไม่ปฏิกูล ก็ได้ หากจำนงว่าจะหมายรู้ในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าเป็นของปฏิกูลก็ได้ หากจำนงว่า เราจะเว้นคำนึงทั้งปฏิกูลและไม่ปฏิกูล มีอุเบกขาอยู่ก็ได้” (อินทริยภาวนาสูตร)

๒. ภาวิตศีล : มีศีลที่ได้พัฒนาแล้ว
พัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคมสมบูรณ์แล้ว พระอริยบุคคลย่อมเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ชั้นโสดาบัน การบรรลุอรหัตตผล เป็นภาวะที่ทำให้ความทุศีลหรือความประพฤติเสียหาย ไม่มีเหลืออีกต่อไป พระอรหันต์เป็นผู้ดับกรรม การกระทำของท่านไม่เป็นกรรมอีกต่อไป เรียกว่าเป็น กิริยา มีแรงจูงใจมาจากคุณธรรมเช่น ฉันทะ กรุณา เป็นต้น ไม่ได้มาจากตัณหา มีปัญญารู้แจ้งชัดตามเหตุผล คือ ไม่ทำการด้วยความยืดมั่นในความดีความชั่วที่เกี่ยวกับตัวเราของเรา ไม่มีความปรารถนาเพื่อตัวตนเคลือบแฝงอยู่ ทำไปตามวัตถุประสงค์ของกิจนั้นๆตามที่มันควรจะเป็นล้วนๆ จึงเป็นการกระทำขั้นที่ลอยพ้นเหนือกรรมดีขึ้นไปอีก ส่วนกรรมชั่วเป็นอันไม่ต้องพูดถึง เพราะหมด โลภะ โทสะ โมหะ ที่จะเป็นเหตุปัจจัยให้ทำความชั่วเสียแล้ว

โดยเฉพาะสำหรับท่านผู้ถึงนิพพานนั้น มีลักษณะเด่นเห็นชัดในแง่ที่ว่า เป็นผู้ปลอดโปร่งไร้ทุกข์ มีความสุขอย่างสมบูรณ์แล้ว เป็นผู้ทำประโยชน์ตนเสร็จสิ้นแล้ว จึงขับดันให้แรงฉันทะในข้อกรุณาแสดงออกมาเต็มที่ ดังที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายมีกรุณาเป็นพระคุณข้อสำคัญ

๓. ภาวิตจิต : มีจิตที่ได้พัฒนาแล้ว
จิตมีความเป็นอิสระหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลส ทำให้ไม่มีเรื่องติดใจกังวล ไม่หงุดหงิด ไม่หงอยเหงา ไม่มีความสะดุ้งสะท้านหวั่นไหว ไม่ต้องฝากชีวิตหรือความสุขของตนไว้กับความหวังเพราะเป็นคนบริบูรณ์เต็มอิ่ม ปลอดโปร่ง เกษม ผ่องใส เบิกบานใจ เป็นบรมสุขในตัว การไม่มีความกลัว ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่ตกใจไหวหวั่น เป็นลักษณะทางจิตที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระอรหันต์ ความหวาดเสียวสะดุ้งตกใจนี้ เกิดจากกิเลสแฝงลึก อย่างที่ในปัจจุบันเรียกกันว่าอยู่ในจิตไร้สำนึก เป็นของปกปิดได้ยาก จึงเป็นเครื่องฟ้องถึงกิเลสที่ยังแฝงอยู่ภายใน ยากที่จะเสแสร้งแก่ผู้อื่นและไม่อาจหลอกลวงตนเอง

“ผู้ถึงธรรม ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ฝันเพ้อถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง ดำรงอยู่ด้วยสิ่งที่เป็นปัจจุบัน” (อรัญญสูตร)

ข้อควรทำความเข้าใจเป็นพิเศษในเรื่องนี้คือ การไม่รำพึงหลัง ไม่หวังอนาคตนี้ จัดเป็นลักษณะของภาวะทางจิต ที่ปลอดโปร่งจากอดีตและอนาคต ไม่ใช่ลักษณะของภาวะทางปัญญา มิได้หมายความว่าพระอรหันต์ไม่ใช้ปัญญาพิจารณากิจการงานภายหน้า และไม่ใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ และความรู้เกี่ยวกับอดีต พระอรหันต์ บรรลุภาวะมีอำนาจเหนือจิต ประสงค์จะตริตรึกความคิดใด ก็ตริตรึกความคิดนั้น ไม่ประสงค์จะตริตรึกความคิดใด ก็ไม่ตริตรึกความคิดนั้น พระอรหันต์เสวยเวทนาทางกายอย่างไม่มีกิเลสร้อยรัด เป็นการเสวยเวทนาชั้นเดียว ไม่เสวยเวทนาทางจิต เมื่อเสวยเวทนาแล้วไม่มีกิเลสอาสวะตกค้าง (ปุถุชนเมื่อเสวยสุข ก็จะมีราคานุสัยตกค้าง เสวยทุกข์ ก็มีปฏิฆานุสัยตกค้าง เสวยอารมณ์เฉยๆ ก็มีอวิชชานุสัยตกค้าง)

“สัตว์ที่ยืนยันได้ว่าตนปราศจากโรคทางจิต แม้เพียงครู่หนึ่งนั้น หาได้ยาก ยกเว้นแต่พระขีณาสพ” (จตุตถปัณณาสก์ อินทรียวรรค)

มีความดับเย็นเป็นสุขภายใน ไม่ต้องอาศัยอามิส ท่านเรียกว่าเป็นนิรามิสสุขอย่างยิ่ง (ยิ่งกว่านิรามิสสุขในฌาน) เมื่อสุขของผู้ถึงนิพพานไม่ขึ้นต่อปัจจัยภายนอก ความผันแปรแห่งสังขารจึงไม่เป็นเหตุให้ท่านเกิดความทุกข์ อยู่เป็นสุขได้ตลอดเวลา ตรงข้ามกับปุถุชนผู้ยังมีกิเลสอันเป็นเหตุให้ต้องแสวงหาความสุขจากอารมณ์ทั้งหลายที่เป็นกามคุณ แม้จะได้ความสุขจากการหาอารมณ์มาสนองความอยากนั้น แต่ก็ถูกเชื้อความอยากต่างๆทั้งหลายเร้า ระคาย ให้เร่าร้อนทุรนทุราย กระสับกระส่าย เมื่อดำเนินชีวิตไปในแนวทางเช่นนี้ ความสุขความรื่นรมย์ที่มีอยู่ ก็วนอยู่แค่การปลุกเร้าเชื้อความอยากให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น แล้วก็หาสิ่งที่จะเอามาสนองระงับดับความกระวนกระวายนั้นลงไปคราวหนึ่งๆ อาจเปรียบเทียบได้ดังนี้
        ๑. เปรียบเหมือนผู้เป็นโรคเรื้อนย่อมได้รับความสุขเป็นครั้งคราวจากการเกาแผลโรคเรื้อนนั้น แต่ผู้ที่มีสุขภาพดีย่อมอยู่เป็นสุขทุกเมื่อ
        ๒. เปรียบเหมือนการโหมไฟขึ้นแล้วดับไฟลงชั่วคราวเพื่อได้รับความสุขเย็น ย่อมเทียบไม่ได้กับความสุขเย็นของไฟที่ดับลงอย่างถาวรแล้ว
        ๓. เปรียบเหมือนกับการเติบโตจากเด็กขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ของเล่นต่างๆที่เคยรักใคร่หวงแหนในสมัยเด็ก ครั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็จืดจาง วิธีการหาความสนุกสนานต่างๆตามแบบของเด็กๆก็กลายเป็นสิ่งไร้ความหมาย ข้อนี้ฉันใด ผู้ที่บรรลุนิพพาน เข้าถึงพัฒนาการที่สูงเลยขึ้นไปจากปุถุชน ย่อมมีท่าทีต่อโลกและชีวิต ต่อสิ่งที่ชื่นชมยินดี และต่อวิถีทางดำเนินชีวิตของปุถุชน เปลี่ยนแปลงไป ฉันนั้น

ลักษณะที่ควรกล่าวย้ำไว้ เพราะท่านกล่าวถึงอยู่บ่อยๆ คือความเป็นสุข มีทั้งคำแสดงภาวะของนิพพานว่าเป็นสุข คำกล่าวถึงผู้บรรลุนิพพานว่าเป็นสุข และคำกล่าวของผู้บรรลุเองว่าตนมีความสุข เช่น นิพพานเป็นบรมสุข, นิพพานเป็นสุขยิ่งหนอ, สุขยิ่งกว่านิพพานสุขไม่มี, นี่คือสุขที่ยอดเยี่ยม, พระอรหันต์ทั้งหลายมีความสุขจริงหนอ, ผู้ปรินิพพานแล้ว นอนเป็นสุขทุกเมื่อแล, ผู้ไร้กังวลเป็นผู้มีความสุขหนอ, พวกเราผู้ไม่มีอะไรให้กังวล เป็นสุขจริงหนอ แม้นิพพานจะเป็นสุข และผู้บรรลุนิพพานก็เป็นผู้มีความสุข แต่ผู้บรรลุนิพพานไม่ติดในความสุข ไม่ว่าชนิดใดๆ รวมทั้งไม่ติดเพลินนิพพานด้วย

๔. ภาวิตปัญญา : มีปัญญาที่ได้พัฒนาแล้ว
ลักษณะสำคัญที่เป็นพื้นฐานทางปัญญาของผู้บรรลุนิพพาน คือ การมองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นหรือเห็นตามเป็นจริง เข้าใจทั้งส่วนดีหรือส่วนที่น่าชื่นชม (อัสสาทะ) ส่วนเสียหรือส่วนที่เป็นโทษ (อาทีนวะ) และทางปลอดพ้น (นิสสรณะ) ของกาม ของโลก ที่ละกาม หายติดใจในโลก เลิกยึดขันธ์ ๕ เสีย ก็เพราะมองเป็นทางปลอดพ้นเป็นอิสระ (นิสสรณะ) ที่จะทำให้อยู่ดีมีสุขอย่างสมบูรณ์ได้โดยไม่ต้องขึ้นต่อส่วนดีและส่วนเสียเหล่านั้น อีกทั้งเป็นการอยู่ดีมีสุขที่ประเสริฐกว่า ประณีตกว่า อีกด้วย

“ภิกษุใดข้ามเปือกตมคือกามได้แล้ว ย่ำยีหนาม คือกามได้แล้ว ภิกษุนั้นบรรลุถึงความสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์” (นันทะสูตร)

ในพุทธพจน์ที่ตรัสเรียกพระอรหันต์ว่าเป็น “อัตตัญชโห” แปลแค่ตามรูปศัพท์ว่า “ผู้ละอัตตา” แต่ความหมายคือ “ผู้ละความยึดถืออัตตา” เพราะไม่มีอัตตาที่จะไปละ เมื่อละความยึดถืออัตตาได้ อัตตาที่ไม่มีอยู่แล้วก็หมดภาพที่สร้างใส่ให้ไว้แก่ชื่อของมัน ภาพอัตตาที่ยึดไว้ถือมาก็ลับตาหายไป ทั้งนี้ มีข้อพึงตระหนักว่า คุณลักษณะและคุณสมบัติต่อไปนี้ แม้จะจัดแยกไว้ต่างหากกันเป็นด้านนั้นด้านนี้ แต่แท้จริงแล้ว มิใช่แยกขาดจากกัน เพียงแต่จัดแยกออกไปตามด้านที่ปรากฏเด่น เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ส่วนในการพัฒนา คุณเหล่านี้เนื่องกัน พัฒนามาด้วยกัน โดยเฉพาะในด้านปัญญา

โดยสรุป คุณสมบัติของผู้บรรลุนิพพาน ไม่ว่าจะพูดพรรณนาในลักษณะใด รวมแล้วก็ตั้งอยู่บนฐานของธรรม ๓ ประการ คือ ปัญญาที่เรียกจำเพาะว่า วิชชา, ความหลุดพ้นเป็นอิสระที่เรียกว่า วิมุตติ และกรุณา ที่เป็นพลังแผ่ปรีชาญาณออกไปทำให้ผู้อื่นพลอยได้วิชชา และถึงวิมุตติด้วย เนื่องจาก ผู้บรรลุนิพพาน สำเร็จกิจประโยชน์ส่วนตนแล้ว จึงมุ่งบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ดังพุทธดำรัสอันตรัสเน้นอยู่เสมอ “เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขของพหูชน เพื่อเกื้อการุณย์แก่ชาวโลก” ภาวะของผู้บรรลุนิพพานจึงเป็นความบรรจบกันของความสุขของบุคคล ที่จะเป็นไปเพื่อความสุขของมวลชนทั้งโลก



วันอังคาร

๑.๑๔ ภาวะแห่งนิพพาน

โดยพยัญชนะ นิพพาน มาจาก นิ (ไม่มี ออกไป) + วาน (พัดไป เครื่องร้อยรัด ลูกศร) อรรถกถาส่วนมากนิยมแปลว่า ไม่มีตัณหาเครื่องร้อยรัด หรือ ออกไปแล้วจากตัณหาที่เป็นเครื่องร้อยติดไว้กับภพ

นิพพานเป็นธรรมธาตุอันดำรงอยู่ตามสภาวะของมัน ที่ไม่เกิดจากปัจจัย มิใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไม่เป็นของใคร ไม่มีใครกำกับบังคับควบคุม ไม่มีตัวทำการที่จะดลบันดาลอะไรแก่ใครๆ ไม่มีลักษณะอาการเหมือนสิ่งใดที่ปุถุชนเคยรู้เคยเห็น อยู่นอกเหนือประสาทสัมผัสของมนุษย์ ถ้อยคำที่จะใช้บอกตรงๆ และสัญญาที่จะใช้กำหนดไม่มี ปุถุชนจึงไม่อาจนึกเห็นหรือคิดเข้าใจโดยชัดเจนได้ (ตรรกะหยั่งไม่ถึง) เหมือนกับคนตาดีไม่สามารถอธิบายลักษณะของสีต่างๆให้คนตาบอด ซึ่งรับรู้ได้แต่ รส กลิ่น เสียง สัมผัสได้โดยตรง บอกได้แต่เพียงโดยอ้อม หรือเทียบเคียง (โดยปริยาย) เท่านั้น (เช่น เอาสีแดงไปเทียบกับความรู้สึกร้อน สีน้ำเงินเทียบกับความรู้สึกเย็น) ตามปกติพระพุทธศาสนาพูดถึงนิพพานอย่างง่ายๆตรงๆว่า เป็นภาวะดับกิเลสได้ หายร้อน หลุดพ้น เป็นอิสระ ไร้ทุกข์ ผ่องใส เบิกบาน ไม่ถูกปรุงแต่ง ภาวะแห่งนิพพานเป็นอสังขตธาตุ ซึ่งไม่มีเชื้อคือปัจจัยปรุงแต่ง ส่วนพระอรหันต์ คือ ผู้บรรลุจุดหมายแห่งชีวิตประเสริฐ, ผู้เข้าถึงประโยชน์ตนแล้ว, ผู้ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว, ผู้ได้พัฒนาตนแล้ว


อย่างไรก็ตามอาจจัดแนวการอธิบายได้ดังนี้

๑. โดยนัยปฏิเสธ แสดงการเพิกถอนภาวะที่ไม่ดี เช่น ความสิ้นตัณหา, ที่จบสิ้นของทุกข์, ความดับแห่งภพ, ความไม่มีโรค, ไม่มีอะไรค้างใจ ไร้กังวล, ไม่แก่ไม่ตาย (อมตะธาตุ), ไม่เสื่อมคลาย ไม่กลับกลาย เป็นต้น

๒. โดยคุณภาพ แสดงความดีงามสูงสุด เช่น สงบ, ประณีต, บริสุทธิ์, แสนเกษมสำราญ, อิสรภาพ, บรมสุข, ยอดเยี่ยมไม่มีอะไรยิ่งกว่า, ประเสริฐสุด, ดีที่สุด เป็นต้น

๓. โดยอุปมา เช่น เหมือนคนข้ามมหาสมุทรที่มีอันตรายมากมาถึงฝากขึ้นยืนบนฝั่งแล้ว, จะว่าไปเกิดที่ไหน หรือจะว่าไม่เกิด ก็ไม่ถูกทั้งสิ้น เหมือนไฟดับไปเมื่อสิ้นเชื้อ (แต่ก็มีที่ท่านเปรียบเทียบนิพพานด้วยความไม่เกิดด้วย ควรเข้าใจไว้ว่าท่านพยายามแสดงสิ่งเดียวกัน เพียงแต่ต่างสำนวนกัน), ภูมิภาคอันราบเรียบน่ารื่นรมย์, ที่พ้นภัย, ความสมบูรณ์ไม่มีโรค เป็นต้น อนึ่ง ในคัมภีร์รุ่นต่อๆมา ที่เป็นสาวกภาษิต เปรียบเทียบนิพพานเป็นเมืองเช่น อุดมบุรี, นิพพานนคร, อมตมหานครนฤพาน เป็นต้น ไม่จัดเข้าในบรรดาถ้อยคำที่ยอมรับว่าใช้แสดงภาวะของนิพพานได้

บรรยายสภาวะโดยตรง นอกจากการแสดง ๓ แนวข้างต้นแล้ว ยังมีที่ท่านแสดงแบบบรรยายสภาวะโดยตรงด้วย ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพุทธพจน์หลายบท ดังนี้

“มีอยู่นะ ภิกษุทั้งหลาย อายตนะ ที่ไม่มีปฐวี ไม่มีอาโป ไม่มีเตโช ไม่มีวาโย ไม่มีอากาสานัญจายตนะ ไม่มีวิญญาณัญจายตนะ ไม่มีอากิญจัญญายตนะ ไม่มีเนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่มีโลกนี้ ไม่มีปรโลก ไม่มีดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เราไม่กล่าวอายตนะนั้นว่าเป็น การมา การไป การหยุดอยู่ การจุติ การอุบัติ อายตนะนั้น ไม่มีที่ตั้งอาศัย (แต่ก็) ไม่เป็นไป ทั้งไม่ต้องมีเครื่องยึดหน่วง นี้แลคือจุดจบของทุกข์” (ปาฏลิคามิยวรรค นิพพานสูตร)

พุทธพจน์นี้ เน้นย้ำว่าไม่ให้เข้าใจเอานิพพานเป็นดินแดนหรือสถานที่ใด ไปจนถึงภพใดๆรวมทั้งอรูปภพ

(อ.เสถียร โพธินันทะ) อายตนะในที่นี้ใช้ในความหมายว่า “สิ่งนั้น” คือใช้แทนนิพพานโดยตรง ไม่ใช้ในความหมายเหมือนอายตนะ ๖ โดยสรุปคือ สิ่งนั้นมีอยู่ แต่ไม่ใช่สิ่งใดๆที่มีในโลก … นิพพานไม่ใช่จิต เพราะถ้านิพพานเป็นจิต ก็เป็นวิญญาณขันธ์ซึ่งไม่เที่ยง จิตเป็นนามธรรมจึงไม่มีเทศะ (ไม่กินพื้นที่) แต่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกาละ (เวลา) จิตจึงไม่ใช่นิพพานเพราะนิพพานเป็นธรรมที่พ้นกาละพ้นเทศะ พ้นจากความเป็นรูปธรรมนามธรรม แต่นิพพานนั้นสามารถเป็นอารมณ์ของจิต (ธรรมารมณ์) อันผู้บรรลุแล้วพึงรู้ได้ เช่น การเข้าผลสมาบัติของพระอริยบุคคล

ในบรรดาคำที่ใช้เป็นคำแทน แสดงอรรถของนิพพานอยู่เสมอ เช่น วิมุตติ อสังขตะ เกษม นิโรธ วิราคะ สันติ วิชชา วิสุทธิ ปรมัตถ์ เหล่านี้เป็นไวพจน์ซึ่งแสดงลักษณะด้านต่างๆของนิพพาน วิมุตติ คือ ความหลุดพ้น เป็นคำหลัก (คำอื่นๆยังมีอีกมากโปรดดูที่ท่านประมวลไว้ในหนังสือพุทธธรรม)

“เมื่อพระอรหันต์ปรินิพพานเพราะความดับไปแห่งจิตดวงสุดท้ายในภพ (จริมจิต) ธรรมเหล่านี้ คือ ปัญญาและสติ นามและรูป ย่อมดับ คือสงบ ถึงความไม่ตั้งอยู่ ระงับไป ณ ที่นี้” (อชิตมาณวกปัญหานิสเทส)

“มีอยู่นะ ภิกษุทั้งหลาย ไม่เกิด ไม่เป็น ไม่ถูกสร้าง ไม่ถูกปรุงแต่ง, หากว่า ไม่เกิด ไม่เป็น ไม่ถูกสร้าง ไม่ถูกปรุงแต่ง จักมิได้มีแล้วไซร้ การรอดพ้นภาวะเกิดแล้ว เป็นแล้ว ถูกสร้าง ถูกปรุงแต่ง ก็จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้ได้เลย, แต่เพราะเหตุที่ มีไม่เกิด ไม่เป็น ไม่ถูกสร้าง ไม่ถูกปรุงแต่ง ฉะนั้น การรอดพ้นภาวะเกิดแล้ว เป็นแล้ว ถูกสร้าง ถูกปรุงแต่ง จึงปรากฏได้” (นิพพานสูตร)

“ยังอิงอยู่ จึงมีการไหว ไม่อิงแล้ว ก็ไม่มีการไหว, เมื่อการไหวไม่มี ก็นิ่งสนิท, เมื่อนิ่งสนิท ก็ไม่มีการโอนเอน, เมื่อไม่มีการโอนเอน ก็ไม่มีการมาการไป, เมื่อไม่มีการมาการไป ก็ไม่มีการจุติและอุบัติ, เมื่อไม่มีการจุติและอุบัติ ก็ไม่มีที่ภพนี้ ไม่มีที่ภพโน้น ไม่มีในระหว่างภพทั้งสอง, นั่นแหละคือที่จบสิ้นของทุกข์” (นิพพานสูตร)

ครั้งหนึ่งภิกษุเที่ยวไปทุกหนทุกแห่ง เพื่อหาผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับที่ที่ธาตุ ๔ ดับหมดไม่มีเหลือ จนถึงท้าวมหาพรหม ก็ไม่ได้คำตอบ ในที่สุดต้องกลับมาทูลถามพระพุทธเจ้า “ที่ไหนหนอ มหาภูต ๔ เหล่านี้ กล่าวคือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ย่อมดับไปไม่เหลือเลย” พระองค์ได้ตรัสตอบว่า “ไม่ควรถามว่า มหาภูติ ๔ ย่อมดับไม่เหลือ ณ ที่ใด แต่ควรถามว่า อาโป ปฐวี เตโช และวาโย ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ณ ที่ไหน, ยาว สั้น เล็ก ใหญ่ งาม ไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ณ ที่ไหน, นามและรูปย่อมดับหมดไม่มีเหลือ ณ ที่ไหน” และมีคำตอบว่าดังนี้ “ภาวะที่พึงรู้ได้ (นิพพาน) มองด้วยตาไม่เห็น เป็นอนันต์ เข้าถึงได้ทุกด้าน, ที่นี้ อาโป ปฐวี เตโช และวาโย ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้, ที่นี้ ยาว สั้น ละเอียด หยาบ งาม ไม่งาม ก็ตั้งอยู่ไม่ได้, ที่นี้ นามและรูปดับไปหมดไม่เหลือ, เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับที่นี้” (เกวัฏฏสูตร)

“ความสุขทางกามอันใดในโลก และความสุขอันเป็นทิพย์ ความสุขทั้งหมดนั้น ย่อมไม่ถึงเศษเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งความสุขที่ได้ เมื่อสิ้นตัณหา” (ราชสูตร)

“นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” (สุขวรรค)

พุทธพจน์สำนวนหนึ่งกล่าวว่า แม้ภิกษุจำนวนมากมายจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุจะปรากฏว่าพร่องหรือเต็มเพราะเหตุนั้นก็หามิได้ เรียกภาวะเช่นนี้ว่า ความพร้อมเพรียงกันไม่แสดงตนในภพ หรือ ความพร้อมใจกันไม่เกิด, อีกสำนวนหนึ่งท่านว่า พระพุทธเจ้าในอดีต ปัจจุบัน อนาคต มีจำนวนมากมายเหมือนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา

บางคนตั้งข้อสังเกตว่า นิพพาน ซึ่งเป็นอสังขตะธรรมนั้น น่าจะมีเหตุคือ มรรค ซึ่งก็จะกลายเป็นว่ายังเป็นไปด้วยเหตุปัจจัย ข้อนี้อธิบายว่า มรรคเป็นเหตุปัจจัยของการถึงนิพพานไม่ใช่ตัวนิพพาน เปรียบเหมือน การนั่งเครื่องบินเป็นเหตุปัจจัยของการถึงเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่ใช่เหตุปัจจัยของเมืองเชียงใหม่

นิพพาน สภาพที่ดับกิเลสและกองทุกข์แล้ว, ภาวะที่เป็นสุขสูงสุด เพราะไร้กิเลสไร้ทุกข์ เป็นอิสรภาพสมบูรณ์

สอุปาทิเสสนิพพาน : นิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังเสวยอารมณ์ ยังมีเบญจขันธ์, กิเลสปรินิพพาน
อนุปาทิเสสนิพพาน : นิพพานของพระอรหันต์ผู้ระงับการเสวยอารมณ์ทั้งปวงแล้ว, ขันธปรินิพพาน

“ภิกษุทั้งหลาย สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้ว มีสังโยชน์เครื่องผูกมัดไว้กับภพหมดสิ้นไปแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ, อินทรีย์ ๕ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ของเธอยังดำรงอยู่เทียวเพราะอินทรีย์ทั้งหลายยังไม่เสียหาย เธอย่อมได้เสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ ย่อมเสวยทั้งสุขและทุกข์ ; อันใดเป็นความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ ของเธอ, อันนี้เรียกว่าสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ”

“ภิกษุทั้งหลาย อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว … หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ, อารมณ์ที่ได้เสวยทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละของเธอ ซึ่งเธอไม่ติดใจเพลินแล้ว จักเป็นของเย็น, ข้อนี้เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ”

“นิพพานธาตุอย่างหนึ่ง เป็นทิฏฐธัมมิกะ (มีในปัจจุบัน) ชื่อว่า สอุปาทิเสส เพราะสิ้นตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ ; ส่วนนิพพานธาตุอีกอย่างหนึ่ง เป็นสัมปรายิกะ (มีในเบื้องหน้า) เป็นที่ภพทั้งหลายดับไปหมดสิ้น” (ธาตุสูตร)

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้ฟังข้อความที่แสดงภาวะของนิพพานมามากแล้ว แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้ปฏิบัติจนเข้าถึงและรู้เห็นด้วยตนเอง ก็พึงเตือนสติกันไว้ว่า ภาพความเข้าใจเกี่ยวกับนิพพานของผู้ศึกษาทุกคน ก็คงมีอาการที่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงไปบ้างเป็นธรรมดา จึงไม่ควรเอาแต่คิดสร้างภาพและถกเถียงกันจนเลยเถิดไป ทางที่ดีหรือทางที่ถูก ควรจะลงมือปฏิบัติให้เข้าถึง เพื่อรู้เห็นประจักษ์ชัดกับตนเอง หรืออาจใช้คำว่านึกไม่เห็น แต่ต้องปฏิบัติให้รู้เอง ในเบื้องต้นเพียงมองให้เห็นหลักใหญ่ๆในภาพรวมให้ถูกต้อง ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิไว้ก่อนเป็นสำคัญ (นิพพานนั้นไม่ใช่ของที่แตะต้องไม่ได้ หรือห้ามมิให้ตริตรึกนึกคิด เพราะการพิจารณาภาวะของนิพพานนั้น ก็เป็นการทำกิจในอริยสัจ ข้อนิโรธ นั่นเอง เพียงแต่ท่านแนะว่าไม่ควรเอาแต่คิดจนเลยเถิด)

“ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้มองเห็นนิพพานโดยความเป็นทุกข์ จักเป็นผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ ย่อมเป็นไปไม่ได้, ข้อที่ภิกษุผู้ไม่ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ จักบรรลุโสดาปัตติผล … ฯลฯ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ 

ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้มองเห็นนิพพานโดยความเป็นสุข จักเป็นผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้, ข้อที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ จักบรรลุโสดาปัตติผล … ฯลฯ ก็ย่อมเป็นไปได้”
(นิพพานสูตร)

ส่วนแทรกเสริมตามความเห็นของผู้บันทึก

การพิจารณาหลักการของผลสมาบัติ อาจช่วยทำให้ผู้ศึกษามองภาพของนิพพานได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น ในอรรถกถาญาณัตตยานิทเทส พระอรรถกถาจารย์ท่านอธิบายการเข้าอนิมิตสมาธิว่า “สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้พอใจความเป็นไปอันเป็นวิบากกล่าวคือสุคติ แต่พระโยคาวจรนี้ประสงค์จะเข้าผลสมาบัติ เห็นความเป็นไปแม้นั้นและสังขารทั้งปวงโดยความเป็นของไม่เที่ยง ครั้นเห็นอย่างนี้แล้วย่อมสามารถเข้าผลสมาบัติได้ … สมาบัติอันหานิมิตมิได้ ชื่อว่าอนิมิตสมาบัติ เพราะเห็นนิมิตโดยความเป็นภัยแล้วเข้าถึง” (ละความดำริถึงสังขตธรรมทั้งปวงแล้วเข้าถึง)



๑.๑๓ นิพพาน : ประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้จากชีวิตนี้

ปัญหาของมนุษย์มาจากการที่ชีวิตนั้นโดยธรรมชาติ เป็นที่ตั้งของปัญหา คือ ทุกข์ อันเป็นสภาวะด้านหนึ่งตามธรรมชาติของชีวิต ที่ขึ้นต่อเหตุปัจจัยหลากหลาย ไม่เที่ยง ไม่คงที่ แปรปรวนเรื่อยไป ไม่มีไม่เป็นตัวตนของมันเองอย่างแท้จริง จะให้คงอยู่หรือเป็นไปอย่างที่ใจปรารถนาไม่ได้ ต้องว่ากันไปตามเหตุปัจจัย ในเมื่อตามสภาวะ ชีวิตมีทุกข์เป็นธรรมชาติพื้นฐานของมันอยู่แล้ว การที่จะมีความสุขได้ คนก็ต้องมีจิตใจที่มั่นคงในการอยู่กับความจริง โดยมีปัญญาที่ทำให้จิตเป็นอิสระจากทุกข์พื้นฐานนั้น หรือให้ใจอยู่กับมันได้สบายๆ เผชิญหน้ายอมรับความจริงด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงนั้น เมื่อมนุษย์มีปัญญารู้เท่าทันความเป็นจริงตามสภาวะของมันแล้ว ทุกข์ที่เป็นสภาวะตามธรรมดาในธรรมชาติ ก็ไม่มีผลที่จะก่อปัญหาทำให้เกิดเป็นทุกข์ขึ้นในจิตใจ


พระพุทธเจ้าเมื่อทรงแสดงหลักปฏิจจสมุปบาทสมุทยวาร อันเป็นที่มาของปัญหาหรือความทุกข์แล้ว ก็มิได้ทรงหยุดอยู่เพียงนั้น แต่ได้ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทนิโรธวาร อันเป็นกระบวนธรรมฝ่ายดับทุกข์ หรือแก้ไขปัญหาต่อไปอีกด้วย เป็นการชี้ให้เห็นว่า ทุกข์หรือปัญหาของมนุษย์เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ ยิ่งกว่านั้น ยังทรงชี้ต่อไปถึงภาวะที่เลิศล้ำสมบูรณ์ ซึ่งมนุษย์สามารถมีชีวิตที่ดีงามและเป็นสุขแท้จริงได้ โดยไม่ต้องฝากตัวขึ้นต่อปัจจัยภายนอก ไม่ต้องเอาสุขทุกข์ของตนไปพิงไว้กับสิ่งทั้งหลาย ซึ่งสิ่งเหล่านั้นแม้แต่ตัวมันเองก็ทรงเอาไว้ไม่ได้

แสดงการตัดวงจรปฏิจจสมุปบาทที่ขั้วอวิชชา

อวิชชาดับ > สังขารดับ > วิญญาณดับ > นามรูปดับ > สฬายตนะดับ > ผัสสะดับ > เวทนาดับ > ตัณหาดับ > อุปาทานดับ > ภพดับ > ชาติดับ > ชรามรณะ + โสกะ ฯลฯ อุปายาสดับ = ทุกขนิโรธ

แสดงการตัดวงจรปฏิจจสมุปบาทที่ขั้วตัณหา

อวิชชา > สังขาร > วิญญาณ > นามรูป > สฬายตนะ > ผัสสะ > เวทนา > ตัณหาดับ > อุปาทานดับ > ภพดับ > ชาติดับ > ชรามรณะ + โสกะ ฯลฯ อุปายาสดับ = ทุกขนิโรธ

บ่อยครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกขนิโรธ โดยชูตัณหาเป็นตัวเด่น คือ เมื่อเสวยเวทนาแล้ว ไม่เกิดตัณหา ก็เพราะมีความรู้เท่าทันสภาวะสังขารของสิ่งที่เสพเสวย คือมีวิชชารองเป็นพื้นอยู่ เมื่อไม่มีอวิชชาสัมผัส เวทนาที่เกิดขึ้นก็ไม่นำไปสู่ตัณหา ดังนั้นที่ว่าตัณหาดับ จึงบ่งถึงอวิชชาดับอยู่แล้วในตัว การที่ทรงแสดงแบบนี้ ก็เพื่อให้เห็นภาพในทางปฏิบัติได้ง่ายขึ้น

พระอรหันต์ทั้งหลายเสวยอารมณ์ด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมชาติของมัน ไม่ถูกกิเลสครอบงำหรือชักจูง ไม่ถูกเผาลนด้วยตัณหา และไม่มืดมัวด้วยอวิชชา เป็นอยู่ด้วยจิตใจที่โปร่งโล่ง ผาสุข เป็นอิสระ เมื่อไม่มีกิเลสชักนำไปสู่ภพ กระบวนธรรมสังสารวัฏฏ์ก็สิ้นสุดลง เข้าสู่วิวัฏฏ์ (นิพพาน) บรรลุภาวะแห่งความดับทุกข์ เป็นผู้มีชัยต่อปัญหาชีวิต มีความสุขอย่างแท้จริง อันเป็นประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้ คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมามีชีวิต



วันจันทร์

๑.๑๒ แก้กรรม ด้วยปฏิกรรม

ปฏิกรรม เป็นคำสอนสำคัญส่วนหนึ่งของหลักกรรม แปลว่า การแก้ไข การทำให้กลับคืนดี หรือการกลับตัว ซึ่งเป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนให้ปฏิบัติ มีหลักสำคัญคล้ายกันทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ คือ เมื่อใดก็ตาม ถ้ามีการทำผิด ละเมิด ล่วงเกินต่อผู้อื่น ต่อมารู้ตัวแล้ว แสดงความยอมรับสำนึกผิด และถ้ามีโอกาสมาบอกขอให้เขายอมรับความสำนึกของตนเพื่อปฏิกรรม และสำรวมระวังต่อไปนั้น เป็นความเจริญงอกงามในวินัยของอารยชน เปรียบเทียบกับการขออโหสิกรรมในปัจจุบัน จะเห็นว่าสาระแท้จริงของปฏิกรรมนั้นอยู่ที่การเปลี่ยนการกระทำที่ผิดพลาดให้กลับเป็นดี ส่วนการขออโหสิกรรมนั้นไม่ค่อยมีการพูดเน้นถึงการพัฒนากรรม และถือเป็นความนิยมในยุคหลัง (ความหมายเดิม อโหสิกรรม คือ กรรมเลิกให้ผล ได้แก่กรรมที่ไม่ได้โอกาสที่จะให้ผลภายในเวลาที่จะออกผลได้)


“ผู้ใดเป็นพาล รู้ตัวว่าเป็นพาล ก็ยังนับว่าเป็นบัณฑิตได้บ้าง ส่วนผู้ใดเป็นพาล แต่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ผู้นั้นแล เรียกว่าเป็นพาลแท้ๆ” (คาถาธรรมบท พาลวรรค)

“ขุมกำลังของคนพาล คือการจ้องหาโทษของคนอื่น ขุมกำลังของบัณฑิต คือการไตร่ตรองโดยพินิจ” (พลสูตร)

“ผู้ไม่โกรธตอบคนโกรธ ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก” (พรหมทัตตเถระคาถา)

“ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมเป็นทุกข์ พระขีณาสพผู้สงบระงับ ละความชนะความแพ้ได้แล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข” (สุขวรรค)

“ผู้ใดเคยประมาทในตอนต้น ภายหลังเขาไม่ประมาท ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากเมฆหมอก” (องคุลิมาลเถระคาถา)



วันศุกร์

๑.๑๑ กรรม ๑๒

กรรม ๑๒ นี้ เป็นมติของอรรถกถาจารย์ มีข้อที่ได้ต้นเค้ามาจากพระไตรปิฎกคือ ๓ ข้อแรก โดยท่านจัดแบ่งกรรมไว้เป็น ๓ หมวด

หมวดที่๑ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล
กรรมให้ผลในชาติปัจจุบันนี้ : เจตนาที่เกิดในชวนจิตดวงที่ ๑ เป็นการปรุงแต่งแต่เริ่มต้น แต่ไม่ได้การเสพคุ้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาตินี้ ก็กลายเป็นอโหสิกรรม ท่านเปรียบเหมือน พรานเห็นเนื้อ หยิบลูกศรยิงไปทันที ถ้าถูกเนื้อก็ล้มที่นั่น ถ้าพลาดก็รอดไปเลย

กรรมให้ผลในที่จะไปเกิด : เจตนาที่เกิดในชวนจิตดวงที่ ๗ เป็นเจตนาที่ได้เสพคุ้นมาแล้ว แต่มีกำลังจำกัดเพราะเป็นจิตที่กำลังสิ้นสุดวิถี กรรมนี้ให้ผลเฉพาะในชาติถัดจากนี้ไปเท่านั้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาติหน้าก็กลายเป็นอโหสิกรรม

กรรมให้ผลในภพต่อๆไป : เจตนาที่เกิดในชวนจิตดวงที่ ๒-๖ กรรมนี้ให้ผลได้เรื่อยไปในอนาคต ไม่เป็นอโหสิกรรม เปรียบเหมือนสุนัขไล่เนื้อ ทันเมื่อใด ก็กัดเมื่อนั้น (จนกว่าผลของกรรมนั้นจะหมด)

อโหสิกรรม : กรรมเลิกให้ผล ได้แก่กรรมที่ไม่ได้โอกาสที่จะให้ผลภายในเวลาที่จะออกผลได้

 
หมวดที่ ๒ จำแนกตามการให้ผลตามหน้าที่
กรรมแต่งให้เกิด (ชนกกรรม) : กรรมที่เป็นตัวทำให้เกิดขันธ์ที่เป็นวิบาก ทั้งในขณะปฏิสนธิ และในเวลาที่ชีวิตเป็นไป

กรรมสนับสนุน (อุปัตถัมภกกรรม) : กรรมพวกเดียวกับชนกกรรม ซึ่งไม่สามารถให้เกิดวิบากได้เอง แต่เข้าช่วยสนับสนุน หรือซ้ำเติม ต่อจากชนกกรรม ทำให้สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ ซึ่งเป็นวิบากนั้น เป็นไปนาน

กรรมบีบคั้น (อุปปีฬกกรรม) : กรรมฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรม ทำให้สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ ซึ่งเป็นวิบากนั้น ไม่เป็นไปนาน

กรรมตัดรอน (อุปฆาตกรรม) : กรรมฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังแรง เข้าตัดรอนกรรมอื่นๆที่มีกำลังน้อยกว่าเสีย ห้ามวิบากของกรรมนั้นขาดไปเสียทีเดียว แล้วเปิดช่องแก่วิบากของตน เช่น ปิตุฆาตกรรมของพระเจ้าอชาตศัตรู ที่ตัดรอนกุศลกรรมของพระองค์เสีย เป็นต้น

      (อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ) คนที่ชนกกรรมคือกรรมดั้งเดิมแต่งมาให้ตกต่ำแล้ว ไม่ทอดอาลัยในความตกต่ำนั้น ทำความดีให้มากขึ้น ความดีนั้นก็จะเป็นอุปปีฬกกรรม คือกรรมที่เบียดกรรมดั้งเดิมได้ ควรจะตกต่ำมาก ก็ทำให้กลายเป็นตกต่ำแต่เล็กน้อย หรือทรงตัวอยู่ได้ ถ้าทำความดีมากถึงขนาด ความดีนั้นก็จะเป็นอุปัจเฉทกกรรม คือกรรมตัดรอนกรรมดั้งเดิม ควรจะตกต่ำล่มจม ก็กลายเป็นฟื้นตัวและเฟื่องฟูเจริญขึ้นได้ เข้าในลักษณะ “ตโมโชติปรายโน” เป็นผู้มืดมาแล้วสว่างไป, แต่ในเรื่องเช่นนี้ ไม่พึงเข้าใจว่ามีเฉพาะทางดี แม้ทางชั่วก็มีได้เหมือนกัน

จำแนกตามลำดับความแรงในการให้ผล
กรรมหนัก (ครุกรรม) : ในฝ่ายดี ได้แก่สมาบัติ ๘ ในฝ่ายชั่ว ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ (บางคัมภีร์รวมนิยตมิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นในทางปฏิเสธกรรมและผลแห่งกรรมด้วย) ย่อมให้ผลก่อน และครอบงำกรรมอื่นๆเสีย เปรียบเหมือนห้วงน้ำใหญ่ไหลบ่ามาท่วมทับน้ำน้อยไป

กรรมเคยชิน (อาจิณณกรรม) : กรรมที่ทำมาก สั่งสมเคยชินเป็นนิสัย เช่น เป็นคนมีศีลดี หรือคนทุศีล เป็นต้น กรรมไหนทำบ่อย ทำมาก มีกำลังกว่า ก็จะให้ผลก่อน กรรมต่อไปนี้ให้ผลต่อจากครุกรรม

กรรมใกล้ตาย (อาสันนกรรม) : กรรมที่กระทำหรือระลึกขึ้นมาในเวลาใกล้จะตาย ให้ผลหลังจากกรรม ๒ ข้อก่อน (แต่บางคัมภีร์ ก็ว่าให้ผลก่อนอาจิณณกรรม บ้างก็ว่าอาสันนกรรมโดยมากก็สืบมาแต่อาจิณกรรมนั่นเอง)

(อรรถกถาจารย์ขยายความว่า ขณะใกล้ตาย ถ้ามีอวิชชาเป็นกิเลสหลัก พร้อมด้วยมิจฉาทิฏฐิ จะนำไปสู่ทุคติภพ, ถ้ามีภวตัณหา (ความอยากมีอยากเป็น) เป็นกิเลสหลัก พร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิ จะนำไปสู่ สุคติภพ)

(ตามนัยพุทธพจน์ จะไปเกิดสุคติ หรือ ทุคติ ดูจากอาการสุข ทุกข์ ของจิตใจในขณะตายของผู้นั้นก็ได้เพราะจุติจิตนั้นเป็นเหตุของปฏิสนธิจิต ไม่มีระหว่างขั้น เปรียบเหมือนบุรุษโหนเถาวัลย์จากฟากหนึ่งไปอีกฟากหนึ่ง ตายด้วยจิตเป็นสุข สงบเย็นด้วยกุศลธรรม ย่อมหวังสุคติภพได้)

กรรมสักว่าทำ (กตัตตากรรม) : กรรมที่ทำด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นๆโดยตรง เป็นกรรมเบา ต่อเมื่อไม่มีกรรม ๓ ข้อก่อน กรรมนี้จึงให้ผล

นอกจากนี้คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ยังแสดงกรรมไว้อีกหมวดหนึ่ง คือ
จำแนกตามภพเป็นที่ให้ผล
อกุศลกรรม : (ยกเว้นอุทธัจจะ) เช่น ที่จำแนกเป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐ ย่อมให้กำเนิดในอบายภูมิ

กามาวจรกุศลกรรม : กรรมที่เป็นกุศลระดับกามาวจร เช่นที่จำแนกเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ย่อมให้กำเนิดในกามสุคติภพ ๗ (มนุษย์ และสวรรค์ ๖)

รูปาวจรกุศลกรรม : กรรมที่เป็นกุศลระดับรูปาวจร คือ รูปฌาน ๔ ของผู้ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ย่อมให้กำเนิดในรูปภพ

อรูปาวจรกุศลกรรม : กรรมที่เป็นกุศลระดับอรูปาวจร คือ อรูปฌาน ๔ ของผู้ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ย่อมให้กำเนิดในอรูปภพ

อธิบายเรื่องกรรมตามพระสูตร

ในสังสาระ (การเวียนว่ายตายเกิดที่กำหนดจุดเริ่มต้นมิได้) สัตว์ที่ไม่เคยเป็นมารดา ไม่เคยเป็นบิดา ไม่เคยเป็นบุตร ไม่เคยเป็นธิดากัน มิใช่หาได้ง่าย” (มาตุสูตร)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารวัฏนี้กำหนดที่สุด เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ เธอทั้งหลายเห็นทุคตบุรุษผู้มีมือและเท้าไม่สมประกอบ พึงลงสันนิษฐานในบุคคลนี้ว่า เราทั้งหลายก็เคยเสวยทุกข์เห็นปานนี้มาแล้ว โดยกาลนานนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารวัฏนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้” (ทุคคตสูตร)

ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยสังสารวัฏ ดูกรสารีบุตร ก็สังสารวัฏที่เราไม่เคยท่องเที่ยวไป โดยกาลยืดยาวนานนี้ เว้นแต่เทวโลกชั้นสุทธาวาส (ที่เกิดของพระอนาคามี) เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ง่ายนัก ดูกรสารีบุตร ถ้าเราพึงท่องเที่ยวไปในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้อีก” (มหาสีหนาทสูตร)

ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนห่วงหนึ่งอยู่ในมหาสมุทร ในมหาสมุทรนั้น มีเต่าตาบอดตัวหนึ่งล่วงไป ร้อยปีจะผุดขึ้นมาครั้งหนึ่ง, ข้อที่เต่าตาบอดตัวนั้น จะพึงยื่นคอเข้าไปในห่วงนั้น ยังจะเร็วเสียกว่าการที่คนพาลซึ่งเข้าถึงการเกิดเป็นวินิบาตแล้ว (นรก, อสุรกาย) จักได้ความเป็นมนุษย์สักครั้งหนึ่ง และเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ย่อมเกิดในสกุลต่ำ” (พาลบัณฑิตสูตร)

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงช้อนฝุ่นไว้ในปลายพระนขา (เล็บ) แล้วตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ฝุ่นเล็กน้อยที่เราช้อนไว้ในปลายเล็บกับแผ่นดินใหญ่นี้ ไหนจะมากกว่ากัน?” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่ ฝุ่นเล็กน้อยที่ปลายพระนขา ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่กลับมาเกิดในหมู่มนุษย์มีน้อย โดยที่แท้สัตว์ที่กลับมาเกิดนอกจากมนุษย์มีมากกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ฉะนั้นเธอทั้งหลาย พึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา” (อัญญตรสูตร)

 “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า, โอหนอ หลังจากตายไป ขอให้เราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งขัตติยมหาศาลเถิด (พระราชา), ดังนี้ เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อให้เธออุบัติในฐานะนั้น
 “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า, โอหนอ เราจักบรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน, ดังนี้ เธอก็บรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ย่อมไม่เกิดในที่ไหนๆ” (สังขารูปปัตติสูตร)



© 2008. Template by Dicas Blogger.

TOPO