วันเสาร์

โพธิปักขิยสังคหะ หน้า ๒

 💬 กลับไป โพธิปักขิยสังคหะ หน้าแรก


หมวดที่ ๕ พละ ๕

พละ คือ กำลัง หมายถึงธรรมที่เป็นกำลังที่เป็นเครื่องต่อต้านอกุศลธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ เพราะว่าเมื่อใดที่กำลังคือพละ เกิดขึ้นในใจเมื่อนั้นอกุศลธรรมฝ่ายปฏิปักษ์ก็จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะธรรมที่เป็นกำลังนี้จะต้านทานไว้ ป้องกันไว้อย่างมั่นคนและแข็งแรง ไม่หวั่นไหว มิให้อกุศลธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ครอบงำได้

พละ ในหมวดของมิสสกสังคหะ ได้แสดงพละไว้ ๙ ประการ แต่พละในหมวดของโพธิปักขิยธรรมแสดงพละ ๕ ประการ คือ


๑. สัทธาพละ สัทธาเป็นความเชื่อ ความเลื่อมใ สในกุศลธรรมเป็นกำลัง ไม่หวั่นไหว ย่ำยีอกุศลธรรม คือ ตัณหา อันเป็นข้าศึกให้พินาศไป องค์ธรรมได้แก่ สัทธาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

๒. วิริยพละ วิริยะที่เป็นความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า ไม่หวั่นไหวและทำลายโกสัชชธรรม คือ ความเกียจคร้าน อันเป็นข้าศึกให้พินาศไป องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

๓. สติพละ สติที่เป็นความระลึกในอารมณ์สติปัฏฐาน มีกำลังตั้งมั่นไม่หวั่นไหวและทำลายความ
หลงลืมสติ อันเป็นข้าศึกให้พินาศไป องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

๔. สมาธิพละ สมาธิที่เป็นความตั้งใจมั่น ไม่หวั่นไหวในความฟุ้งซ่านอัน เป็นข้าศึกต่ออารมณ์กรรมฐาน องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

๕. ปัญญาพละ ปัญญาที่กำหนดรู้อารมณ์กรรมฐานตามความเป็นจริงไม่หวั่นไหว และทำลายความมืดมน ความหลงงมงาย อันเป็นข้าศึกให้พินาศไป องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต ๔ อัปปนาชวนะ ๒๖

พละธรรมทั้ง ๕ นี้ เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ เพื่อความรู้แจ้ง เพื่อการประหาณกิเลส เป็นกำลังภายใน ที่ทำให้ผู้นั้นมีกำลังใจเข้มแข็งไม่อ่อนแอ ไม่ย่อมให้ความไม่ศรัทธา ความเกียจคร้าน ความประมาท ความโง่ และความหลง ครอบงำย่ำยีจิตใจได้


หมวดที่ ๖ โพชฌงค์ ๗

โพชฌงค์ แปลว่า ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ เป็นเหตุแห่งการตรัสรู้อริยสัจ ๔ เป็นเหตุให้เกิดความรู้ยิ่ง โพชฌงค์นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์ แบ่งเป็น ๗ อย่าง คือ


๑. สติสัมโพชฌงค์ สติที่มีความเจริญ คือ ตั้งอยู่ได้ติดต่อกันในอารมณ์ของสติปัฏฐานทั้ง ๔ ด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาภาวนา แล้วทำลายความประมาท และทำให้สัมโพธิญาณ คือ มรรคทั้ง ๔ เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ และ อัปปนาชวนะ ๒๖

๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ปัญญาที่มีความเจริญ คือ รู้อยู่ในรูป นาม ขันธ์ ๕ และเห็นความเกิด ดับ ของรูปนาม ด้วยอำนาจวิปัสสนาภาวนา ทำลายโมหะ และทำให้สัมโพธิญาณ คือ มรรค ทั้ง ๔ เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต ๔ อัปปนาชวนะ ๒๖

๓. วิริยสัมโพชฌงค์ วิริยะที่มีความเจริญ คือ มีความพยายามอย่างแรงกล้าในการละอกุศล การป้องกันระวังไม่ให้อกุศลเกิด การทำให้กุศลใหม่เกิด การทำให้กุศลตั้งมั่นและเจริญขึ้น ด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาภาวนา แล้วทำลายโกสัชชะ คือความเกียจคร้านได้แล้วทำให้สัมโพธิญาณ คือ มรรคทั้ง ๔ เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่วิริยเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

๔. ปีติสัมโพชฌงค์ ปีติที่มีความเจริญ คือ มีความชื่นใจในอารมณ์ของวิปัสสนาภาวนา แล้วทำลายอรติ คือ ความไม่ยินดี และทำให้สัมโพธิญาณ คือ มรรคทั้ง ๔ เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่ ปีติเจตสิก ที่ประกอบในมหากุศลโสมนัส ๔ มหากิริยาโสมนัส ๔ สัปปีติกอัปปนาชวนะ ๓๐

๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือความสงบกายสงบใจ ในการเจริญสติปัฏฐานอยู่ในอารมณ์ของรูปนามด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ความสงบนี้เกิดขึ้นด้วยอำนาจของวิปัสสนาภาวนา สามารถทำลายความหยาบกระด้างทางกาย และทำลายความเร่าร้อนทางใจลงได้ ทำให้เข้าถึงสัมโพธิญาณ คือ มรรคทั้ง ๔ เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่ กายปัสสัทธิ และ จิตตปัสสัทธิที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ คือ สมาธิที่มีความเจริญ คือตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ของสติปัฏฐาน ด้วยอำนาจของการเจริญวิปัสสนาภาวนา จนสามารถทำลายความฟุ้งซ่าน และทำให้สัมโพธิญาณ คือ มรรคทั้ง ๔ เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่มีความเจริญ คือ ไม่ตกไปในอภิชฌาและโทมนัส ขณะที่วิปัสสนาญาณมีความเจริญมาก สามารถกระทำให้องค์ธรรมแห่งการตรัสรู้อริยสัจ ๔ ทำหน้าที่ของตน ๆ อย่างสม่ำเสมอ องค์ธรรมได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

เหตุเกิดโพชฌงค์ ๗
พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบว่า “ กายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร เมื่อไม่มีอาหารก็ดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด โพชฌงค์ ๗ ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร เมื่อไม่มีอาหารก็ดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหาร(เหตุ)ให้สติสัมโพชฌงค์ (ตลอดจน ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์………..อุเบกขาสัมโพชฌงค์) ที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้นหรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์ ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเป็นที่เหตุแห่งสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้สติสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์

จากพระพุทธพจน์ แสดงให้เห็นว่า “โยนิโสมนสิการ” ทำให้โพชฌงค์ทั้ง ๗ เกิดขึ้นได้ “โยนิโสมนสิการ” คือ การพิจารณาใส่ใจในอารมณ์ต่างๆ ที่มาปรากฏด้วยความแยบคาย พิจารณาไปตามลำดับไม่ละทิ้ง พิจารณาอยู่เนืองๆ พิจารณาอย่างจดจ้อง พิจารณาอย่างพิเศษ เพื่อให้สติเกิดขึ้น เพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ไปบังคับให้รู้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งโดยการไปกระทำขึ้นมาเอง เป็นสติที่กำหนดรู้อยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ ที่เป็นไปตามธรรมชาตินั่นเอง เช่น ไม่เดินแบบช้ามาก เพื่อให้สติระลึกรู้ได้ทัน อย่างนี้ไม่ถูกต้อง แต่ต้องเป็นโยนิโสมสิการ คือ การมีสติที่มีการกำหนดรู้อารมณ์ต่างๆ ที่มาปรากฏให้เห็นตามอาการสภาพปกติจึงจะเหมาะสม


หมวดที่ ๗ มรรคมีองค์ ๘

มรรค แปลว่า ทาง ในที่นี้หมายถึงทางปฏิบัติ หรือ ข้อปฏิบัติที่ทำให้เข้าถึงพระนิพพาน คือ ธรรมที่เป็นเครื่องดับทุกข์ เรียกอีกอย่างว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง อันหมายถึงข้อปฏิบัติที่ไม่สุดโต่ง กล่าวคือ ไม่ย่อหย่อนเกินไป และไม่เคร่งในทางที่ผิด มรรค แบ่งเป็น ๘ อย่าง คือ


๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ หมายถึงการเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ โดยกิจ ๔ 
เห็นแจ้งใน ทุกขสัจจะ โดย ปริญญากิจ (กำหนดรู้ ทุกขสัจ)
เห็นแจ้งใน สมุทยสัจจะ โดย ปหานกิจ (การละ สมุทัย)
เห็นแจ้งใน นิโรธสัจจะ โดย สัจฉิกรณกิจ (การรู้แจ้ง นิโรธ)
เห็นแจ้งใน มัคคสัจจะ โดย ภาวนากิจ (การเจริญมรรค)
องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต ๔ อัปปนาชวนะ ๒๖

๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ หมายถึง ความตรึกอยู่ในเรื่องราวที่เป็นกุศล องค์ธรรมได้แก่ วิตกเจตสิก ที่ประกอบในมหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ ปฐมฌานชวนะ ๑๐

๓. สัมมาวาจา การกล่าววาจาชอบ หมายถึง การเว้นจากวจีทุจริต ๔ ที่ไม่เกี่ยวกับอาชีพ คือ เว้นจากการพูดปด พูดส่อเสียด พูดหยาบคาย พูดเพ้อเจ้อ องค์ธรรมได้แก่ สัมมาวาจาเจตสิก ที่ประกอบในมหากุศลจิต ๘ โลกุตตรจิต ๘

๔. สัมมากัมมันตะ การทำการงานชอบ หมายถึง การเว้นจากกายทุจริต ๓ ที่ไม่เกี่ยวกับอาชีพคือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม องค์ธรรมได้แก่ สัมมากัมมันตเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ โลกุตตรจิต ๘

๕. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ หมายถึง ความเพียรพยายามในอารมณ์กรรมฐานตั้งแต่การเจริญสติปัฏฐานดำเนินไปตามสัมมัปปธาน ๔ และ การงดเว้นจาก กายทุจริต ๓ ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ องค์ธรรมได้แก่สัมมาอาชีวเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ โลกุตตรจิต ๘

๖. สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ หมายถึง ความเพียรพยายามในอารมณ์กรรมฐาน องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

๗. สัมมาสติ ความระลึกชอบ หมายถึง สติระลึกรู้อยู่แต่เฉพาะอารมณ์ของสติปัฏฐาน ๔ จนถึงมรรค ผล เป็นที่สุดเท่านั้น องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

๘. สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ หมายถึง ความตั้งใจมั่นในอารมณ์วิปัสสนากรรมฐาน องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

มิตรดีกับการเจริญอริยมรรค
การมีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี และผู้ปฏิบัติมีความเพียรอย่างดี ก็จะพากันขวนขวาย ชักชวนกันในการปฏิบัติ ซึ่งก็จะเป็นหนทางแห่งการเจริญอริยมรรคได้ ในปัจจุบันมิตรดีที่สุดก็ยังมีอยู่ มิตรนั้นก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มีอยู่ในพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม คำสอนนั้น ๆ เมื่อได้ศึกษาและปฏิบัติตามก็เป็นหนทางสู่ความดับทุกข์ได้ 

อริยมรรคมีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น
คำสอนเรื่องการพ้นทุกข์ ออกไปจากทุกข์ ออกไปจากการเวียนตายเวียนเกิด ออกไปจากสงสารวัฏ ออกไปจากวัฏฏะ มีอยู่เพียงในพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น มรรคมีองค์ ๘ เป็นหนทาง เป็นเส้นทางไปสู่ความดับทั้งหลาย ฉะนั้น เมื่อเราเป็นชาวพุทธได้พบพระพุทธศาสนา เป็นผู้สนใจในคำสอนของพระพุทธองค์ จงรีบขวนขวายในการศึกษาเล่าเรียนหลักคำสอนจากพระไตรปิฎก รีบขวนขวายปฏิบัติธรรม แม้ชีวิตปุถุชนอย่างเรา ๆ จะเต็มไปด้วยหนทางแห่งกิเลส แต่ถ้าเรายึดหลักข้อรักษากาย ประคองใจ ที่กล่าวไว้แล้วในโพธิปักขิยธรรมนี้ จะเป็นหนทางไปสู่เส้นทางสายนิพพานได้

ธรรมที่เป็นอุปการะมากเพื่อความเกิดขึ้นแห่งอริยมรรค ได้แก่
๑. กัลยาณมิตร ความเป็นผู้มีมิตรดี ดังที่ได้กล่าวแล้วในข้อมิตรดี
๒. ศีล ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เพราะว่าศีลเป็นบาทฐานแห่งสมาธิและปัญญา ศีลนั้นจะรักษากาย วาจาของผู้ปฏิบัติให้บริสุทธิ์ ก็เป็นเหตุให้จิตใจเบาสบาย เหมาะแก่การประพฤติธรรม
๓. ฉันทะ ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยฉันทะ คือการเป็นผู้มีความพอใจ ชอบใจ มุ่งหมายในเรื่องการเจริญมรรค
๔. มีตนถึงพร้อม ไม่บกพร่องเรื่องสุขภาพร่างกาย เมื่อกายพร้อมไม่เจ็บป่วยก็จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม
๕. มีความเห็นถูกต้อง การมีความเห็นถูกเป็นหนทางให้ถึงพระนิพพาน เพราะเมื่อมีความเห็นถูก การปฏิบัติก็จะปฏิบัติได้ถูกทาง ถ้ามีความเห็นผิดเสียแล้ว ก็อย่าหวังความสำเร็จในเรื่องการปฏิบัติธรรม เพราะเมื่อมีความเห็นผิดการปฏิบัติก็ผิดทาง ทำให้กลายเป็นมิจฉามรรค ความเห็นผิดอย่างนี้จะพาไปสู่นรกได้
๖. ไม่ประมาท คือไม่ประมาทในวัยว่ายังเด็กอยู่ ยังหนุ่มยังสาวอยู่ หรือประมาทโดยการผัดวันประกันพรุ่งอยู่เรื่อยไปไม่เร่งขวนขวายในการปฏิบัติ

บทสรุป สติปัฏฐาน ๔ สัมปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ ทั้งหมดนี้ คือ ธรรมเครื่องตรัสรู้รวมเป็น ๓๗ เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ธรรมแต่ละประการก็มีหน้าที่มีความสำคัญต่างกันไป แต่ทุกประการก็เอื้ออำนวยแก่การตรัสรู้ธรรมทั้งสิ้น 

วันพฤหัสบดี

๓. โพธิปักขิยสังคหะ (ธรรมที่จะทําให้เข้าถึงมรรคผล)

เรามักจะได้ยินคำกล่าวของผู้รู้อยู่เสมอว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความรู้” ซึ่งหมายความว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นโดยการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสนาที่เป็นบ่อเกิดแห่งความรู้ และตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความรู้ ถ้ากล่าวโดยเฉพาะคำสอนที่เป็นหลักสำคัญส่วนหนึ่งซึ่งจะทำให้เกิดความรู้นั้น ก็มีธรรมที่สำคัญ คือ โพธิปักขิยธรรม” ซึ่งแปลว่าธรรมฝ่ายให้เกิดความรู้ หรือ ธรรมที่สนับสนุนให้เกิดความรู้ และเป็นความรู้ที่ตรงด้วยพระพุทธประสงค์นั้น ได้แก่ ความรู้อริยสัจ เพราะความรู้นี้เป็นความรู้ที่สามารถทำลายกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้อย่างแท้จริง โดยเหตุนี้ โพธิปักขิยธรรม จึงเรียกได้ว่าเป็นธรรมที่เป็นอิสระจากกิเลส เป็นธรรมที่ไม่เป็นทาสของกิเลส และบุคคลผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมนี้ ก็ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่อิสระจากกิเลส ไม่เป็นทาสของกิเลส ผู้ประสงค์จะมีความรู้ ต้องการทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง จึงควรศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพุทธองค์ และโดยเฉพาะในหมวดโพธิปักขิยธรรมนี้

โพธิปักขิยสังคหะแบ่งเป็น ๗ หมวด มี ๓๗ ประการ  ดังนี้


หมวดที่ ๑ สติปัฏฐาน ๔

สติ แปลว่า ความระลึกได้ สตินั้น มีลักษณะเตือนใจให้ระลึกได้ ช่วยให้ไม่หลงลืม มีการคุ้มครองรักษาใจหรือทำใจให้จดจ้องอยู่กับอารมณ์ ฝ่ายดีกล่าวคือนามกับรูป อันเป็นที่ตั้งแห่งสติ ๔ ประการ คือ กาย เวทนา จิต และธรรม สติเป็นประดุจนายประตู เพราะคอยเฝ้ารักษาทวาร (ประตูทั้ง ๖ มี ตา หู เป็นต้น ) ทำให้ระลึกทันต่อรูปนามขันธ์ ๕ และสามารถละความเห็นผิดในรูปและนามว่า รูปเป็นของงาม เวทนาเป็นสุข จิตนี้เที่ยง และสภาพธรรมต่าง ๆ เป็นตัวตนได้ อันเป็นฐานที่จะก้าวไปสู่พระนิพพาน

สติเป็นธรรมที่มีคุณมาก สมดังที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า สติเป็นยอดแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะความไม่ประมาทนั้น ได้แก่ความไม่ปราศจากสติ สติปัฏฐานเป็นชื่อของสติที่มั่นคงอยู่เป็นนิจนั่นเอง สติเป็นกุศลเจตสิกที่เข้าประกอบกับกุศลจิต เป็นคุณธรรมสำคัญยิ่งช่วยให้สำเร็จประโยชน์ในทุกกรณี เพราะสติช่วยทำให้ระลึกสิ่งที่ทำ คำที่พูดไว้ แม้เป็นเวลานานได้ ช่วยให้มีความยับยั้งชั่งคิด ควบคุมการกระทำ การพูด การคิดให้เป็นระเบียบ สติยังช่วยปิดกั้นกระแสกิเลสตัณหาไม่ให้เกิดขึ้นเป็นสนิมในใจได้ และเป็นเครื่องปิดประตูบาปไว้มิให้บาปผ่านเข้าไปในจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเจริญสติปัฏฐาน ต้องมีสติเข้ากำกับทุกขณะ เพื่อให้จิตใจจดจ่ออยู่กับอารมณ์กรรมฐาน การที่จะให้มีสติเกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษาลักษณะของสติให้เข้าใจจึงจะทำให้สติเกิดขึ้นได้

ลักษณะของสติมี ๔ ประการ คือ

    ๑. มีความระลึกได้ในอารมณ์เนือง ๆ คือ มีความไม่ประมาท เป็นลักษณะ
    ๒. มีการไม่หลงลืม เป็นกิจ
    ๓. มีการรักษาอารมณ์ เป็นผล
    ๔. มีความจำอันมั่นคง เป็นเหตุใกล้

สตินั้นเป็นประดุจเชือกผูกจิตให้ติดอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน การเจริญสติอย่างย่อที่สุดก็คือ เมื่อมีสติก็ให้รู้ว่ากำลังมีสติ เมื่อหลงลืมสติก็ให้รู้ว่าหลงลืมสติ อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้กำลังเจริญสติปัฏฐานอยู่

สติปัฏฐานแบ่งเป็น ๔ อย่าง คือ

    ๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การมีสติตั้งมั่นอยู่ในการพิจารณาเนืองๆ ซึ่งกายอันเป็นรูปขันธ์มีลมหายใจเข้าออก อิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อย เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖ (คือ มหัคคกุศลจิต ๙ มหัคคกิริยาจิต ๙ โลกุตตรจิต ๘)
    ๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การมีสติตั้งมั่นในการพิจารณาเนืองๆ ซึ่งเวทนาอันเป็นเวทนาขันธ์มีสุข ทุกข์เฉย ๆ องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖
    ๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การมีสติตั้งมั่นในการพิจารณาเนือง ๆ ซึ่งจิตอันเป็นวิญญาณขันธ์ มีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบในมหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖
    ๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การมีสติตั้งมั่นในการพิจารณาเนือง ๆ ในนิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ โพชฌงค์ ๗ อริยสัจ ๔ โดยเป็นไปตามอาการของสภาวธรรมแต่ละอย่าง ๆ อันปราศจากตัวตน องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การมีสติตั้งมั่นในการพิจารณากายอันเป็นรูปขันธ์ เช่น ลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ เพราะว่าจิตเมื่อมีโลภะ โทสะ โมหะ ก็ทำให้มีลมหายใจเกิดขึ้นได้ เวลาที่จิตมีสติก็ทำให้มีลมหายใจเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นการเจริญกายานุปัสสนา จะต้องให้มีสติไปรู้ลมหายใจเข้า-ออกนั้น ในขณะที่มีสติไปกำกับในหายใจนั้น อย่างนี้ยังเป็นเพียงการเจริญสมถะ ยังไม่ใช่วิปัสสนา ต่อเมื่อพิจารณาเห็นการเกิด-ดับของลมหายใจ หรือเห็นไตรลักษณ์ของลมหายใจว่าลมหายใจนี้เป็นเพียงเป็นที่อาศัยระลึกของสติเท่านั้น ลมหายใจนี้เป็นเพียงรูป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตน และสติที่เข้าไปกำหนดรู้ลมหายใจนั้นก็เป็นเพียงนาม คือ สติเป็นเพียงสังขารขันธ์ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตน ถ้าพิจารณาได้อย่างนี้ จึงเป็นวิปัสสนา 

การที่พระพุทธองค์ทรงแสดงสติปัฏฐาน โดยจำแนกตามอารมณ์เป็น ๔ อย่างนั้น ก็เพื่อจะให้ผู้ปฏิบัติละวิปัลลาส คือความเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือความเข้าใจผิด ๔ อย่าง คือ

๑. สุภวิปัลลาส ความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าสวยว่างาม เพราะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความจริง ซึ่งความจริงนั้นร่างกายทุกส่วนไม่มีความสวยงาม เต็มไปด้วยสิ่งสกปรกทั้งสิ้น
๒. สุขวิปัลลาส ความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นสุข เมื่อเห็นว่าสุขเวทนาเป็นสุขที่แท้จริง ชื่อว่าสุขวิปัลลาส เพราะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความจริง ซึ่งความจริงนั้น เวทนาเป็นทุกข์ แม้สุขเวทนาก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะต้องแปรเปลี่ยนไป
๓. นิจจวิปัลลาส ความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นของเที่ยง ความเข้าใจว่าจิตใจเป็นของเที่ยง หรือวิญญาณเป็นของเที่ยงไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง
๔. อัตตวิปัลลาส ความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นอัตตา เข้าใจว่าธรรมทั้งหลาย(ขันธ์ ๕) เป็นอัตตา คือ เห็นไปว่า ขันธ์ ๕ เป็นตัวเป็นตนอย่างแท้จริง ชื่อว่าอัตตวิปัลลาส เพราะเป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความจริง ซึ่งความจริงนั้น ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา ที่เรียกกันว่าเป็นคนนั้นคนนี้เป็นเพียงสิ่งสมมติเท่านั้น

วิปัลลาส นั้น แต่ละอย่างยังแบ่งออกไปอีกอย่างละ ๓ ประเภท คือ สัญญาวิปัลลาส ความจำคลาดเคลื่อน จิตตวิปัลลาส ความคิดคลาดเคลื่อน ทิฏฐิวิปัลลาส ความเห็นคลาดเคลื่อนคือเห็นผิด จึงรวมเป็นวิปัลลาสทั้งสิ้นได้ ๑๒ อย่าง

สติปัฏฐานละวิปัลลาสธรรม ดังนี้
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขจัดสุภวิปัลลาส
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขจัดสุขวิปัลลาส
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขจัดนิจจวิปัลลาส
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขจัดอัตตวิปัลลาส


หมวดที่ ๒ สัมมัปปธาน ๔

สัมมัปปธาน แปลว่า ความเพียรกล้าแข็งโดยชอบ หมายความว่า เป็นความเพียรต่อกุศลธรรมอย่างแรงกล้า

สัมมัปปธาน แบ่งเป็น ๔ อย่าง คือ


๑. สังวรปธาน คือ เพียรพยายามป้องกันอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่วิริยเจตสิก ที่ประกอบในกุศลจิต ๒๑
๒. ปหาณปธาน คือ เพียรพยายามในการละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบในกุศลจิต ๒๑
๓. ภาวนาปธาน คือ เพียรพยายามสร้างกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบในกุศลจิต ๒๑
๔. อนุรักขณาปธาน คือ เพียรพยายามรักษาให้กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญยิ่งขึ้นไป องค์ธรรมได้แก่วิริยเจตสิก ที่ประกอบในกุศลจิต ๒๑

การที่จะไม่ให้กิเลสอกุศลทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ต้องรู้วิธี คือ ถ้าอยู่ในการทำวัตรต่าง ๆ เช่น สวดมนต์ กวาดลานวัด ช่วงนี้กิเลสก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย ในขณะกำลังศึกษาเล่าเรียนพระอภิธรรม พระไตรปิฎก พระบาลี อรรถกถา ในขณะนั้นกิเลสก็มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยหรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลย ในขณะที่เจริญสมถะวิปัสสนาที่เป็นข้อปฏิบัติที่ถูกต้องตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ในขณะนั้นกิเลสก็อาจจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น

การที่จะปลูกฝังสัมมัปปธานทั้ง ๔ ประการ มีข้อปฏิบัติดังนี้
๑. ปลูกฉันทะ คือ สร้างความพอใจในการทำกุศล
๒. พยายาม คือ ขะมักเขม้น ตั้งหน้าตั้งตาทำความเพียรในการเจริญกุศลต่าง ๆ
๓. ปรารภความเพียร คือ ต้องเริ่มลงมือปฏิบัติจริง ๆ เพียรทำอย่างมากไม่ท้อถอย
๔. ประคองจิต คือ ต้องประคับประคองใจ ค้ำชูใจไว้ในการทำความเพียรนั้น
๕. ตั้งความเพียรไว้ คือ ตั้งความอุตสาหะ ความบากบั่นไว้ให้มั่นคง
๖. ระลึกอยู่เสมอว่า คนจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร
๗. ระลึกอยู่เสมอว่า คนเกียจคร้านจะพ้นทุกข์ไม่ได้

สรุปว่า สัมมัปปธาน เป็นความเพียรชนิดเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ ชนิดเอาชีวิตเข้าแลก ความเพียรนั้นว่าโดยสภาวะก็เป็นเจตสิกธรรมประเภทปกิณณกะ ซึ่งเกิดประกอบกับจิตทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลได้ องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก อย่างเดียว แต่ความเพียรที่เป็นสัมมัปปธานที่จะเป็นบาทฐานแห่งการพ้นทุกข์ได้นั้น มุ่งเฉพาะความเพียรที่เป็นกุศลอย่างเดียวเท่านั้น


หมวดที่ ๓ อิทธิบาท ๔

อิทธิบาท แปลว่า ธรรมที่ทำให้สำเร็จความประสงค์ หมายความว่า เมื่อประสงค์สิ่งใด ถ้าได้อาศัยปฏิบัติตามอิทธบาทแล้ว ความประสงค์นั้นจะต้องสำเร็จอย่างแน่นอน

ธรรมที่เป็นอธิบดีที่ศึกษาผ่านไปแล้วกับธรรมที่เป็นอิทธิบาท องค์ธรรมเหมือนกัน แต่ธรรมที่เป็นอิทธิบาทจะเป็นธรรมมุ่งเพื่อมรรคผลนิพพานอย่างเดียว ฉะนั้นการมีความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า เช่น การเรียน การเล่นกีฬา การอ่านหนังสือ จัดเป็นอธิบดีเท่านั้น ไม่เป็นอิทธิบาท

อิทธิบาท แบ่งเป็น ๔ อย่าง คือ

๑. ฉันทิทธิบาท คือ ความพอใจอย่างแรงกล้า เป็นบาทเบื้องต้นแห่งความสำเร็จ ฌาน มรรค ผล องค์ธรรมได้แก่ฉันทเจตสิก ที่ประกอบในกุศลจิต ๒๑ ฉันทิทธิบาท ต้องมีความพอใจในกุศล ต้องชอบใจในการทำกุศล ต้องเป็นความพอใจชนิดที่ว่า ต้องส้องเสพ เจริญ ทำให้มาก จึงจะเป็นฉันทิทธิบาท ไม่ใช่ว่าพอใจในตอนแรก พอนานวันเข้าก็ละทิ้งเบื่อหน่ายท้อถอย อย่างนี้ไม่จัดเป็นฉันทิทธิบาท ฉะนั้น ฉันทะ คือความพอใจชนิดที่จะเป็นฉันทิทธิบาท จึงหมายเอาเฉพาะความพอใจชนิดที่เป็นบาทฐานแห่งการสำเร็จในฌาน มรรค ผล
๒. วิริยิทธิบาท คือ ความพยายามอย่างแรงกล้า เป็นบาทเบื้องต้นแห่ง ความสำเร็จฌาน มรรค ผล องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบในกุศลจิต ๒๑ วิริยะ ได้แก่ ความปรารภอย่างแรงกล้า ความเพียรทางใจ มีความพยายามอย่างแรงกล้าที่จะทำกุศล ต้องส้องเสพ เจริญ ทำให้มาก จึงจะเป็นอิทธิบาท
๓. จิตติทธิบาท คือ ความตั้งใจอย่างแรงกล้า เป็นบาทเบื้องต้นแห่งความสำเร็จ ฌาน มรรค ผล องค์ธรรมได้แก่ กุศลจิต ๒๑ จิตตะ ได้แก่ สิ่งที่รู้จักนึก รู้จักคิด นั่นก็คือใจ ซึ่งเป็นมโนวิญญาณธาตุ เป็นการนึก คิด ที่จะเจริญธรรมที่เป็นกุศลอย่างชนิดแรงกล้า ต้องส้องเสพ เจริญ ทำให้มาก จึงจะเป็นอิทธิบาท
๔. วีมังสิทธิบาท คือ ปัญญาอย่างแรงกล้า เป็นบาทเบื้องต้นแห่งความสำเร็จ ฌาน มรรค ผล องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ประกอบในกุศลญาณสัมปยุตตจิต ๑๗ วีมังสา ได้แก่ ปัญญา ต้องเป็นปัญญาชนิดที่เป็นความรู้ชัด ไม่หลง ซึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิ ปัญญานี้ก็จัดเป็นองค์มรรคด้วย เมื่อปัญญาเกิดขึ้นในการทำกุศลชนิดที่มีความแรงกล้า ก็จัดได้ว่าได้เจริญองค์มรรคด้วย


หมวดที่ ๔ อินทรีย์ ๕

อินทรีย์ แปลว่า ความเป็นใหญ่ ความมีอำนาจ ได้แก่ คุณธรรมที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ในการปราบปรามอกุศลธรรมที่เป็นปฏิปักษ์แก่ตน นั่นคือ เมื่ออบรมอินทรีย์ให้แก่กล้าแล้ว อินทรีย์ก็จะมีอำนาจปราบปรามขจัดอกุศลธรรมให้พินาศไป อกุศลธรรมที่เป็นปฏิปักษ์แก่อินทรีย์นั้น ได้แก่ ความไม่มีศรัทธา เช่น ไม่เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น ความเกียจคร้านในการปฏิบัติธรรมหรือประกอบการงาน ความประมาทเลินเล่อ เผลอสติ ความฟุ้งซ่านแห่งจิตใจ ตลอดจนความหลง ความโง่ ถ้ามีการอบรมอินทรีย์อย่างแก่กล้าแล้ว ย่อมสามารถปราบปรามอกุศลธรรมเหล่านี้ได้ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า อินทรีย์นี้ เป็นธรรมปกครองจิตใจ ทำให้จิตใจมีอำนาจเหนือกิเลสได้ ฉะนั้น จึงเรียกว่า อินทรีย์ คือ คุณธรรมที่มีอำนาจยิ่งใหญ่

๑. สัทธินทรีย์ ศรัทธาเป็นผู้ปกครองในความเลื่อมใสต่อสิ่งที่ควรเลื่อมใส ได้แก่ ความเลื่อมใสในสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา มีการปฏิบัติที่จะดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ องค์ธรรมได้แก่ สัทธาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖ สัทธินทรีย์ คือ ความเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เชื่อว่าพระพุทธองค์เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว ผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกคนชั้นยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ กล่าวโดยรวม สัทธินทรีย์ อินทรีย์คือศรัทธา (ความเชื่อ)
๒. วิริยินทรีย์ วิริยะเป็นผู้ปกครองในความพยายามต่ออารมณ์ในการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาอย่างแรงกล้า องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖ วิริยินทรีย์ คือ ความเป็นผู้มีความเพียร เป็นผู้มีความเข้มแข็ง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลายเพื่อเลิกละอกุศลธรรม เพื่อทำให้กุศลธรรมทั้งหลายได้เกิดขึ้น บุคคลที่ทำให้ฉันทะเกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งความเพียรไว้ เพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ตลอดจนเพื่อให้กุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น อย่างนี้เป็นความเพียรพยายามให้กุศลธรรมทั้งหลายเจริญบริบูรณ์ อย่างนี้เรียกว่า วิริยินทรีย์ อินทรีย์คือวิริยะ (ความเพียร)
๓. สตินทรีย์ สติเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการระลึกถึงอารมณ์กรรมฐาน ได้แก่ รูป นาม ขันธ์ ๕ องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖
๔. สมาธินทรีย์ สมาธิเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการกระทำจิตให้ตั้งมั่นในอารมณ์กรรมฐาน องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖ สมาธินทรีย์ คือ ความแน่วแน่แห่งจิต ผู้เจริญสมาธิจนบรรลุผลของสมาธิ จะทำให้จิตเป็นหนึ่ง แน่วแน่ในอารมณ์ ทำให้บรรลุฌานขั้นต่าง ๆ ได้ และสำหรับผู้เจริญวิปัสสนา สมาธิก็เป็นบาทฐานของผู้ที่จะเจริญปัญญาให้เกิดขึ้น เพราะสมาธิเป็นเหตุใกล้ของปัญญา
๕. ปัญญินทรีย์ ปัญญาเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรู้ตามความเป็นจริงของอารมณ์กรรมฐาน ได้แก่ รูปนาม ขันธ์ ๕ เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต ๔ อัปปนาชวนะ ๒๖ ปัญญินทรีย์ คือ ความกำหนดรู้ความเป็นจริง รู้ความเกิดขึ้นและความดับไปของรูปและนาม อันเป็นปัญญาขั้นอริยะ เป็นปัญญาเครื่องทำลายกิเลส เป็นปัญญาให้ถึงความสิ้นทุกข์ เมื่อปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้น ผู้นั้นย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้สมุทัย ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้นิโรธ ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่านี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ (มรรค) นี้เรียกว่า ปัญญินทรีย์

อินทรีย์ทั้ง ๕ พระพุทธองค์ทรงแสดงสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมระดับสูง คือระดับพระอริยบุคคล

สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมระดับต้นและผู้ประกอบกิจการอื่น ๆ ก็ขอให้พยายามปฏิบัติไป ผู้ที่ประสงค์จะปราบปรามอกุศลธรรม เช่น ความไม่มีศรัทธา ความเกียจคร้าน เป็นต้น ก็ต้องพยายามอบรมอินทรีย์ให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่ออกุศลธรรมทั้งหลายถูกปราบปรามแล้ว การเจริญกุศลก็จะทำได้ดีต่อเนื่อง สำหรับผู้ที่เจริญกุศลธรรม เมื่อมีศรัทธาแล้วย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดคุณธรรมอื่น ๆ ได้ แต่ศรัทธานั้นต้องเป็นศรัทธาที่มีเหตุผล ไม่ใช่ศรัทธาแบบเชื่องมงาย

ศรัทธาที่มีเหตุผลมี ๔ อย่าง คือ
๑. กัมมสัทธา เชื่อกรรม
๒. วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม
๓. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์โลกมีกรรมเป็นของตน
๔. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

    ๑. กัมมสัทธา เป็นความเชื่อว่า คนเราเกิดมามีสุขมีทุกข์ ย่อมเนื่องมาจากเหตุปัจจัย มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาเฉย ๆ โดยไม่มีเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยในที่นี้ได้แก่กรรม คือการกระทำทางกาย วาจา ใจ หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เมื่อพบผลแล้ว เชื่อว่ามาจากเหตุคือกรรม ในเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อกรรมและเชื่อผลของกรรม คือ บางคนอาจจะเข้าใจดิ่งลงไปว่าการที่ได้รับทุกข์ ถูกกดขี่ข่มเหง ถูกเบียดเบียนหรือประหัตประหารนั้นเป็นเพราะกรรมของตนอย่างเดียว กรรมของคนอื่นไม่มี และบางคนอาจจะเชื่อดิ่งลงไปในทางตรงกันข้ามกับคนประเภทแรก โดยเชื่อว่า กรรมของคนอื่นต่างหากที่ทำให้ตนเองเดือดร้อน เพราะคนเรารักตนจะทำให้ตนเดือดร้อนได้อย่างไร คนที่เชื่อดิ่งลงไปฝ่ายเดียวจัดเป็นพวกที่มีความคิดเห็นคลาดเคลื่อน อันที่ถูกนั้นจะต้องถือว่าชีวิตของคนต้องเป็นไปตามกรรม อาจเป็นกรรมของตนเองโดยเฉพาะก็ได้ เป็นเพราะกรรมของคนอื่นก็ได้ หรือเป็นเพราะกรรมทั้งของตนเองและของผู้อื่นก็ได้ ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงจำแนกบุคคลในโลกไว้เป็น ๔ จำพวก ตามลักษณะที่ประกอบกรรมต่าง ๆ กัน คือ
๑. ผู้ประกอบกรรม ที่ทำให้ตนเดือดร้อน
๒. ผู้ประกอบกรรม ที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
๓. ผู้ประกอบกรรม ที่ทำให้ตนเองและคนอื่นเดือดร้อน
๔. ผู้ประกอบกรรม ที่ไม่ทำให้ตนเองและคนอื่นเดือดร้อน

    ๒. วิปากสัทธา เป็นความเชื่อว่าสิ่งที่เราทำ คำพูดที่เราพูด และสิ่งที่เราคิดทุกอย่างเป็นกรรม คือเป็นกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม และเชื่อว่ากรรมนั้นจะต้องให้ผลแก่ผู้ทำอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว สุดแท้แต่แรงกรรม ทำกรรมไว้อย่างไร จะต้องได้รับผลเป็นอย่างนั้น ทำกรรมดี ต้องได้รับผลดี ทำกรรมชั่ว ต้องได้รับผลชั่ว เหมือนหว่านพืชอย่างใด ปลูกพืชชนิดใด ก็ต้องได้รับผลอย่างนั้น ความเชื่อว่าผลของกรรมมีจริง จะทำให้เข้าใจความจริงที่เกิดขึ้นว่าทุกข์ที่เกิดขึ้น ลาภ ยศ สักการะ ชื่อเสียงอะไรต่าง ๆ มันเป็นผลเกิดขึ้นมาจากกรรม คือ การกระทำ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจมาดลบันดาล ไม่ใช่เรื่องอำนาจของดวงดาวต่าง ๆ อำนาจลี้ลับต่าง ๆ คือเชื่อมั่นว่า ความสุข ความทุกข์ต่าง ๆ นี้ เกิดมาจากกรรมอย่างแน่นอน การเห็น การได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส เป็นวิบาก คือเป็นผลของกรรมทั้งนั้น

เรื่องหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องของเหตุของผล ไม่มีคำว่าบังเอิญ ไม่มีการเกิดขึ้นลอย ๆ โดยการขาดเหตุขาดปัจจัย ต้องมีเหตุทั้งนั้น ฉะนั้น เราก็อนุมานเอาได้ว่า เมื่อผลเป็นอย่างไร เหตุก็ต้องสอดคล้องกับผลอย่างนั้น ในเมื่อเราได้ยินเสียงด่า เขาด่าว่ามา เราก็รู้แล้วว่านี้เป็นผลของบาป แสดงว่าเราคงด่าเขาไว้ ตอนนี้เป็นผลของบาปเกิดขึ้น ก็จะทำให้ไม่ต้องโกรธใคร รู้ว่ากำลังใช้หนี้อยู่ การทำใจให้ยอมรับวิบากที่เกิดขึ้นนี้จะช่วยลดความโกรธลงไป เมื่อได้รับอารมณ์ที่ดี ก็ให้รู้ว่านี้เป็นผลบุญ ได้ฟังเสียงไพเราะ ได้กลิ่นหอม ได้อาหารอร่อย ได้สัมผัสดี ก็รู้ว่านี้เป็นผลบุญ การทำใจให้เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม จะทำให้ลดความโลภ ความโกรธ ความหลง ลงได้บ้าง

    ๓. กัมมัสสกตาสัทธา เป็นความเชื่อว่าทั้งกรรมทั้งผลของกรรมนั้น จะต้องเป็นของผู้กระทำเชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน เชื่อว่าเมื่อทำสิ่งใดไปแล้วจะปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ พูดไปแล้วจะปฏิเสธว่าไม่ได้พูด คิดไปแล้วจะปฏิเสธว่าไม่ได้คิดไม่ได้ ปฏิเสธเมื่อใดก็เป็นการโกหกเมื่อนั้น เพราะเป็นการปฏิเสธความจริงและเมื่อกรรมนั้นให้ผลก็จะต้องรับผลกรรมนั้นอย่างแน่นอน จะหลีกเลี่ยงไม่ได้

    ๔. ตถาคตโพธิสัทธา เป็นความเชื่อว่าพระพุทธองค์ ทรงเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ พระปัญญาของพระพุทธองค์ประเสริฐยิ่งกว่าปัญญาของใครๆ ในพื้นพิภพ คำสอนของพระพุทธองค์เป็นคำสอนที่เป็นหนทางไปสู่ความดับทุกข์ได้จริง

การเกิดขึ้นของอินทรีย์ ๕
อินทรีย์ ๕ นั้น เกิดขึ้นได้ ดังนี้
๑. สัทธินทรีย์ ปรากฏที่ องค์คุณของพระโสดาบัน ๔
๒. วิริยินทรีย์ ปรากฏที่ สัมมัปปธาน ๔
๓. สตินทรีย์ ปรากฏที่ สติปัฏฐาน ๔
๔. สมาธินทรีย์ ปรากฏที่ ฌาน ๔
๕. ปัญญินทรีย์ ปรากฏที่ อริยสัจ ๔

    ๑. ศรัทธา จะปรากฏชัด คือความเชื่อสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อเป็นศรัทธาของพระโสดาบัน ซึ่งมีองค์คุณ ๔ ประการ คือ
        ๑.๑ เลื่อมใสในพระพุทธรัตนะ อย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหว
        ๑.๒ เลื่อมใสในพระธรรมรัตนะ อย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหว
        ๑.๓ เลื่อมใสในพระสังฆรัตนะ อย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหว
        ๑.๔ มีศีลบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่ด่าง ไม่พร้อย
    ๒. วิริยะ จะปรากฏชัด เมื่อปรารภสัมมัปปธาน ๔ กล่าวคือ เมื่อใช้ความเพียรตามหลักของสัมมัปปธาน ๔
    ๓. สติ จะปรากฏชัด เมื่อใช้กำหนดสติปัฏฐาน ๔ กล่าวคือ สติที่เกิดขึ้นเพราะปรารภสติปัฏฐาน ๔ ย่อมเป็นสติที่ปรากฏชัด
    ๔. สมาธิ จะปรากฏชัด เมื่อได้บรรลุฌาน ๔ กล่าวคือ สมาธิที่เกิดขึ้นเพราะได้บรรลุฌาน ๔ ย่อมเป็นสมาธิที่ปรากฏชัด
    ๕. ปัญญา จะปรากฏชัด เมื่อเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ กล่าวคือ เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ เมื่อใด ปัญญาก็ปรากฏชัดเมื่อนั้น

อินทรีย์ทั้ง ๕ ควรมีเสมอกันหรือไม่
อินทรีย์ ๕ เป็นคุณธรรมที่สำคัญในการประคองใจ เพื่อให้ใจมีอำนาจเหนืออกุศลธรรม มีความไม่เชื่อ ความไม่มีศรัทธา เป็นต้น อินทรีย์ ๕ จะมีประสิทธิภาพสูงในการปราบปรามอกุศลกรรม ก็จะต้องมีความสมดุลกัน ฉะนั้นจึงต้องปรับอินทรีย์ให้สม่ำเสมอกันสมดุลกัน ดังนี้

    สัทธินทรีย์ กับ ปัญญินทรีย์ ควรมีกำลังเสมอกัน
    สมาธินทรีย์ กับ วิริยินทรีย์ ควรมีกำลังเสมอกัน

บุคคลที่มีสัทธินทรีย์มีกำลังกล้า อินทรีย์อีก ๔ อย่างมีกำลังอ่อนกว่า อินทรีย์ ๔ ที่เหลือ ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนให้สำเร็จได้ กล่าวคือ วิริยินทรีย์ จะไม่สามารถทำหน้าที่ประคองใจให้ขะมักเขม้นได้ สตินทรีย์ ก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ควบคุมใจให้จดจ้องอยู่กับอารมณ์ได้ สมาธินทรีย์ ก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ระงับใจไม่ให้ฟุ้งซ่านได้ และ ปัญญินทรีย์ ก็จะไม่สามารถทำหน้าที่เห็นสภาพธรรมโดยแจ่มแจ้งได้

เพราะฉะนั้น เมื่อสัทธินทรีย์มีกำลังแก่กล้ากว่าอินทรีย์อื่น ๆ เช่นนี้ จึงควรปรับสัทธินทรีย์ให้อ่อนลงเสมอกับอินทรีย์อื่น ๆ โดยพิจารณาสภาวธรรมตามความจริง หรือโดยไม่เอาใจใส่กับอารมณ์ที่จะเป็นเหตุให้สัทธินทรีย์มีกำลังแก่กล้ากว่า

บุคคลที่มีศรัทธามากแต่ปัญญาน้อย ก็จะกลายเป็นคนหลงงมงายได้ง่าย มักจะเลื่อมใสในสิ่งต่าง ๆและเป็นเหตุให้เลื่อมใสในสิ่งที่ไม่ควรเลื่อมใสได้ ส่วนบุคคลที่มีปัญญามากแต่ศรัทธาน้อย ก็มักจะเป็นคน เกเรดื้อรั้น ยากที่จะแก้ไขได้ คนที่มีปัญญามาก เมื่อคิดเลยเถิดไปว่า บุญกุศลย่อมมีได้ ด้วยเหตุเพียงคิดขึ้นในใจเท่านั้น จึงไม่กระทำบุญ เช่นการบริจาคทานเป็นต้น เหล่านี้จะเป็นเหตุให้การทำกุศลไม่ถึงพร้อม แต่ถ้าสัทธินทรีย์กับปัญญินทรีย์สม่ำเสมอกันทั้งสองอย่าง บุคคลจึงจะเลื่อมใสในสิ่งที่ควรเลื่อมใส เจริญกุศลทุกอย่างได้อย่างดียิ่ง สมบูรณ์ ดีพร้อม ฉะนั้น จึงควรปรับสัทธินทรีย์กับปัญญินทรีย์ให้สม่ำเสมอกัน

สมาธิและความเพียร ก็ควรมีกำลังเสมอกัน เพราะบุคคลใดมีสมาธิมากแต่มีความเพียรน้อย จะทำให้ง่วงเหงาหาวนอน เกิดความเซื่องซึมได้ ส่วนบุคคลใดมีความเพียรมากแต่มีสมาธิน้อยจะทำให้ฟุ้งซ่านได้ฉะนั้นจึงควรปรับสมาธินทรีย์กับวิริยินทรีย์ให้สม่ำเสมอกัน ส่วนสตินทรีย์นั้นมีมากเท่าใดยิ่งดี ไม่ต้องปรับลดแต่ควรมีให้มากเพราะจะทำให้จิตรู้เท่าทันตลอดเวลาไม่หลงลืม


💬 อ่านต่อ โพธิปักขิยสังคหะ หน้าต่อไป




วันพุธ

มิสสกสังคหะ หน้า ๒

💬ย้อนกลับ มิสสกสังคหะ  (ธรรมที่เป็นเหตุของการทำบุญ, ทำบาป, อพยากตะ) หน้าแรก

อินทรีย์ ๒๒

อินทรีย์หมายถึง ความเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครอง ธรรมใดที่เกิดขึ้นพร้อมกับตน ต้องเป็นไปตามอำนาจปกครองของตน ในการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส และการรู้ถูกต้องสัมผัสนั้น มีธรรมที่เป็นอินทรีย์ อยู่หลายประการ

เช่น การเห็น มี จักขุปสาทรูปเป็นอินทรีย์ เรียกว่า จักขุนทรีย์ เพราะเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรับรูปารมณ์ ถ้าไม่มีจักขุปสาทรูปแล้ว รูปอื่น ๆ จะไม่สามารถรับรูปารมณ์ได้เลย นอกจากจักขุนทรีย์แล้ว รูปชีวิตินทรีย์ ยังเป็นผู้ปกครองรักษา กัมมชรูป รวมทั้งจักขุปสาทรูปที่เกิดพร้อมกับตนด้วย แล้ว มนินทรีย์ คือ จักขุวิญญาณ เป็นผู้ปกครองในการเห็นรูปารมณ์ ดังนี้เป็นต้น นี่คือตัวอย่างในการเห็น โดยมีธรรมที่เป็นอินทรีย์เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันได้

หลายอินทรีย์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีแบ่งหน้าที่ โดยมีหัวหน้าเป็นผู้ปกครองนั่นเองในการได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้ถูกต้องสัมผัส นึกคิดอารมณ์ ก็ล้วนแต่มีอินทรีย์เกิดขึ้นในทำนองเดียวกันนี้ ซึ่งทุก ๆ อินทรีย์ก็มีหน้าปกครอง หรือกระทำสภาวธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับตนให้เป็นไปตามอำนาจของตนด้วย

    ๑)จักขุนทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรับ รูปารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ จักขุปสาทรูป
    ๒) โสตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรับ สัททารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ โสตปสาทรูป
    ๓) ฆานินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรับ คันธารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ ฆานปสาทรูป
    ๔) ชิวหินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรับ รสารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ ชิวหาปสาทรูป
    ๕) กายินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรับ โผฏฐัพพารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ กายปสาทรูป
    ๖)อิตถินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน ความเป็นหญิง องค์ธรรมได้แก่ อิตถีภาวรูป
    ๗) ปุริสินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน ความเป็นชาย องค์ธรรมได้แก่ ปุริสภาวรูป
    ๘) ชีวิตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การรักษารูป-นาม องค์ธรรมได้แก่ ชีวิตรูป และ ชีวิตินทรีย์เจตสิก
    ๙) มนินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การรู้อารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ จิตทั้งหมด
    ๑๐) สุขินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การเสวยความสุขกาย องค์ธรรมได้แก่ เวทนาเจตสิก ที่ในสุขสหคตกายวิญญาณจิต ๑
    ๑๑) ทุกขินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การเสวยความทุกข์กาย องค์ธรรมได้แก่ เวทนาเจตสิก ที่ในทุกขสหคตกายวิญญาณจิต ๑
    ๑๒) โสมนัสสินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การเสวยความสุขใจ องค์ธรรมได้แก่ เวทนาเจตสิก ที่ในโสมนัสสหคตจิต ๖๒
    ๑๓) โทมนัสสินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การเสวยความทุกข์ใจ องค์ธรรมได้แก่ เวทนาเจตสิก ที่ในโทมนัสสหคตจิต ๒
    ๑๔) อุเปกขินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การเสวยอารมณ์เป็นกลาง องค์ธรรมได้แก่ เวทนาเจตสิก ที่ในอุเบกขาสหคตจิต ๕๕
    ๑๕) สัทธินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน ความเชื่อต่อสิ่งที่ควรเชื่อ องค์ธรรมได้แก่ สัทธาเจตสิก
    ๑๖) วิริยินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน ความเพียรต่ออารมณ์ องค์ธรรมได้แก่วิริยเจตสิก ที่ในวิริยสัมปยุตตจิต ๑๐๕
    ๑๗) สตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การระลึกชอบ องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๙๑
    ๑๘) สมาธินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การตั้งใจมั่นในอารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ในจิต ๗๒ (เว้นอวิริยจิต ๑๖)
    ๑๙) ปัญญินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในญาณสัมปยุตตจิต ๔๗ หรือ ๗๙
    ๒๐) อนัญญาตัญญัสสามิตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ที่ตนยังไม่เคยรู้ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในโสดาปัตติมัคคจิต ๑
    ๒๑ )อัญญินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ที่ตนเคยรู้ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในมรรคจิตเบื้องบน ๓ และผลจิตเบื้องต่ำ ๓
    ๒๒)อัญญาตาวินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ สิ้นสุดแล้ว องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในอรหัตตผลจิต ๑ 


พละ ๙

พละ คือ กำลัง หมายถึง ธรรมที่มีกำลัง ไม่หวั่นไหวต่อปฏิปักษ์ธรรม ธรรมที่เป็นอกุศลย่อมเป็นปฏิปักษ์กับธรรมที่เป็นกุศล ฉะนั้น เมื่อกุศลธรรมเกิดขึ้น ย่อมไม่หวั่นไหวในการที่จะทำหน้าที่ทำลายอกุศลธรรม เช่น เมื่อสัทธาพละ เกิดขึ้น ก็จะทำลาย อสัทธิยะ ให้หายสิ้นไป เมื่อ หิริกพละ คือความละอายต่อบาปทุจริตกรรม เกิดขึ้นก็จะทำลาย อหิริกะพละ คือ ความไม่ละอายต่อบาปอกุศลกรรมให้หมดสิ้นไปเช่นกัน

พละ มี๙ ประการ 



๑) สัทธาพละ
ความเชื่อความเลื่อมใสต่อสิ่งที่ควรเชื่อ หมายถึง เชื่อในการทำกุศลความดี เลื่อมใสในคุณ
ของพระพุทธเจ้า เลื่อมใสในข้อประพฤติปฏิบัติที่เป็นหนทางสู่ความดับทุกข์ องค์ธรรมได้แก่ สัทธาเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑
๒)วิริยพละ ความเพียรพยายามเป็นกำลัง หมายถึง ความเพียรกระทำการงานต่าง ๆ เพียรในการเจริญวิปัสสนา องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ในวิริยสัมปยุตตจิต ๑๐๕
๓) สติพละ ความระลึกได้ในอารมณ์ที่เป็นฝ่ายดีเป็นกำลัง หมายถึงการมีสติระลึกในอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งแห่งกุศลทั้งปวง องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑
๔) สมาธิพละ ความตั้งใจมั่นในอารมณ์เดียวเป็นกำลัง องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ในจิต๑๐๔ (เว้นอวิริยจิต ๑๖ และวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต๑)
๕) ปัญญาพละ ความรู้ที่ถูกต้องตามสภาวธรรมเป็นกำลัง องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในญาณสัมปยุตตจิต ๗๙
๖) หิริพละ ความละอายต่อบาปเป็นกำลัง องค์ธรรมได้แก่ หิริเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๙๑
๗) โอตตัปปพละ ความสะดุ้งกลัวต่อทุจริตเป็นกำลัง องค์ธรรมได้แก่ โอตตัปปเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๙๑
๘)อหิริกพละ ความไม่ละอายต่อทุจริตเป็นกำลัง องค์ธรรมได้แก่ อหิริกเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒
๙)อโนตตัปปพละ ความไม่สะดุ้งกลัวต่อทุจริตเป็นกำลัง องค์ธรรมได้แก่ อโนตตัปปเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒


อธิบดี ๔

อธิบดี คือ ธรรมที่เป็นใหญ่เป็นผู้นำที่ทำให้เกิดความสำเร็จ หมายถึง ธรรมที่เป็นใหญ่กว่าธรรมที่ร่วมกันกับตน ธรรมที่เป็นใหญ่ที่ทำให้เกิดความสำเร็จ มี๒ อย่าง คือ ความเป็นใหญ่โดยความเป็นอินทรีย์ กับ ความเป็นใหญ่โดยความเป็นอธิบดี

ความเป็นใหญ่ทั้ง ๒ นี้มีความต่างกัน กล่าวคือ ความเป็นใหญ่โดย อินทรีย์ นั้น ในขณะเกิดขึ้นย่อมเกิดพร้อม ๆ กันได้หลายอินทรีย์ โดยไม่ขัดกัน เพราะธรรมชาติของอินทรีย์ย่อมเป็นใหญ่ ปกครองเฉพาะในหน้าที่ของตน ไม่ก้าวก่ายขัดแย้งกับอินทรีย์อื่นใด ส่วนความเป็นใหญ่โดย อธิบดี มีสภาพเป็นใหญ่ยิ่งกว่าธรรมที่เกิดพร้อมกับตน ฉะนั้นเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดเป็นอธิบดีได้เพียงอย่างเดียว เช่น ในขณะที่ ฉันทะ เป็นอธิบดี คือมีความพอใจอย่างแรงกล้าเกิดขึ้นแล้ว วิริยะ จิต และปัญญา ก็ต้องคล้อยตาม ฉันทะ ไปในอารมณ์เดียวกันด้วย ดังนั้น ความเป็นใหญ่โดยความเป็น อินทรีย์ เกิดขึ้นในคราวเดียวกันได้หลาย ๆ อินทรีย์อย่างไม่ขัดกัน ส่วนความเป็นใหญ่โดยความเป็น อธิบดี นั้น ในคราวหนึ่ง ๆ เป็นอธิบดีได้อย่างเดียว อย่างอื่นเป็นอธิบดีไม่ได้

    ๑) ฉันทาธิปติ หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน ความพอใจ คือ ความพอใจเพื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ เช่น พอใจในการอ่านหนังสือ พอใจในการเล่นกีฬา พอใจในการทำบุญใส่บาตร พอใจในการเจริญวิปัสสนา เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ ฉันทเจตสิก ที่ในทวิเหตุกชวนะ ๑๘ และ ติเหตุกชวนะ ๓๔ รวมเรียกว่า สาธิปติชวนจิต ๕๒
    ๒)วิริยาธิปติ หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน ความเพียร คือ ความเพียรมุ่งเพื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จตามที่ตั้งใจ เช่น มีความเพียรในการเรียน มีความเพียรในการเจริญวิปัสสนา เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิกที่ในทวิเหตุกชวนะ ๑๘ และ ติเหตุกชวนะ ๓๔ รวมเรียกว่า สาธิปติชวนจิต ๕๒
    ๓) จิตตาธิปติ หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การรับอารมณ์ เป็นการจดจ่อต่ออารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่สนใจ ทำให้ไม่หวั่นไหวไปในอารมณ์อื่น ๆ เช่น มีความสนใจที่จะฟังเสียงเพลง มีความสนใจที่จะฟังเสียงธรรมะ เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ ทวิเหตุกชวนจิต ๑๘ และ ติเหตุกชวนจิต ๓๔ รวมเรียกว่า สาธิปติชวนจิต ๕๒
    ๔) วีมังสาธิปติ หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การรู้แจ้งตามความเป็นจริง เป็นสภาพของปัญญาที่เกิดขึ้นเพื่อการรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในติเหตุกชวนจิต ๓๔

🔰 ธรรมที่เป็นอธิบดีนั้นต้องเป็นชวนจิต*
ซึ่งเป็นเฉพาะชวนจิตที่มีเหตุ ๒ กับชวนจิตที่มีเหตุ ๓ รวม
เรียกว่า สาธิปติชวนจิต (ชวนจิตมีทั้งหมด ๕๕ เว้นอเหตุกชวนจิต และ เอกชวนจิต ไม่เป็นอธิบดี) มีรายละเอียดดังนี้


จากองค์ธรรมของ สาธิปติชวนะ ทำให้ทราบได้ว่าความเป็นอธิบดีนั้น เป็นได้ทั้งใน กุศลและอกุศล ฉะนั้น 
บางครั้งบุคคลอาจมีอกุศลเป็นธรรมชาติให้เป็นอธิบดี ทำให้เกิดฉันทะ ในการกระทำอกุศลให้สำเร็จอย่างดีก็เป็นได้


 อาหาร ๔ 

อาหาร เป็นเหตุธรรมที่อุดหนุนให้ผลเกิดขึ้นและช่วยให้ธรรมอื่นเกิดขึ้น คำว่า อาหาร มีความหมายกว้างขวางออกไปหลายนัย ในพระบาลีให้ความหมายของคำว่า อาหาร ไว้ว่า “ธรรมใด นำมาซึ่งรูปอันเกิดจากโอชา นำมาซึ่งเวทนา นำมาซึ่งปฏิสนธิวิญญาณ และนำมาซึ่งเจตสิกกับกัมมชรูป ธรรมนั้นชื่อว่า อาหาร


    ๑) กพฬีการาหาร (นำมาซึ่งรูปที่เกิดจากโอชา) กพฬีการาหาร ได้แก่ โอชา สารอาหารหรือวิตามิน ที่ได้จาก ข้าว น้ำ พืชผักต่าง ๆ ตลอดจนทุกสิ่งที่เรากลืนกินเข้าไป สารอาหารนี้จะเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายให้ดำรงอยู่ได้ องค์ธรรมได้แก่โอชาที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ
    ๒) ผัสสาหาร (นำมาซึ่งเวทนา) ผัสสาหาร นำมาซึ่งเวทนา คือการเสวยอารมณ์ทุกข์บ้างสุขบ้าง หรือไม่ทุกข์ไม่สุขให้เกิดขึ้น เวทนาทั้งหลายนี้ ถ้าไม่มีผัสสะแล้ว ก็จะเกิดไม่ได้เลย เพราะผัสสะนี้เป็นเหตุให้เกิดเวทนา จึงชื่อว่าผัสสะเป็นอาหารของเวทนา (หรือผัสสะนำมาซึ่งการเกิดเวทนา) องค์ธรรมได้แก่ ผัสสเจตสิก ที่ในจิตทั้งหมด
    ๓) มโนสัญเจตนาหาร (นำมาซึ่งวิปาก) มโนสัญเจตนาหาร ก็คือเจตนาในการทำกุศล อกุศล เจตนานี้เป็นเหตุนำมาให้เกิดผล คือกุศลวิบากจิตและอกุศลวิบากจิต ทั้งในขณะปฏิสนธิกาลและปวัตติกาล ในขณะปฏิสนธิกาลก็นำมาซึ่งปฏิสนธิวิญญาณ คือการเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม หรืออบายสัตว์ ในขณะปวัตติกาลก็นำมาซึ่งวิบากต่าง ๆ เช่น ทำให้เห็นรูปารมณ์ที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ เจตนาเจตสิก ที่ในจิตทั้งหมด
    ๔) วิญญาณาหาร (นำมาซึ่งเจตสิกและกัมมชรูป) วิญญาณาหาร นำมาซึ่งเจตสิกและกัมมชรูป ในปฏิสนธิกาล ปฏิสนธิวิญญาณย่อมเป็นผู้นำให้เจตสิกและกัมมชรูปเกิดขึ้นได้ ในปวัตติกาล จิตย่อมนำให้เจตสิกเกิดขึ้นอย่างเดียว ไม่ได้นำให้กัมมชรูปเกิดขึ้นด้วยเพราะกัมมชรูปไม่ใช่รูปที่เกิดจากสมุฏฐานของจิต แต่เป็นรูปที่เกิดจากสมุฏฐานของกรรม แต่อย่างไรก็ตามกัมมชรูปก็อาศัยเกิดมาจากอดีตกรรม ที่เรียกว่า กัมมวิญญาณ คืออกุศลจิตและโลกียกุศลจิตในภพก่อน ๆ ซึ่งก็ชื่อว่าวิญญาณเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ จิตทั้งหมดจึงชื่อว่า วิญญาณาหาร องค์ธรรมได้แก่ จิตทั้งหมด




วันอาทิตย์

๒. มิสสกสังคหะ

มิสสกสังคหะ ซึ่งเป็นการรวบรวมธรรมที่คละปนกันทั้งกุศล อกุศล และอพยากฤต จำแนกเป็น ๗ คือ

๑. เหตุ ๖ เป็นธรรมที่ทำให้ผลเกิดขึ้น
๒. ฌานังคะ ๗ เป็นธรรมที่กระทำให้จิตจดจ่อต่ออารมณ์ หรือการเพ่งอารมณ์
๓. มัคคังคะ ๑๒ เป็นหนทางที่นำไปสู่ที่หมาย คือ สุคติภูมิ ทุคติภูมิ และนิพพาน
๔. อินทรีย์ ๒๒ ธรรมที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองธรรมอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่ร่วมกันกับตน
๕. พละ ๕ ธรรมที่ทำให้ไม่หวั่นไหวต่อปฏิปักษ์ธรรม
๖. อธิบดี ๔ ธรรมที่เป็นใหญ่เป็นผู้นำให้สำเร็จ
๗. อาหาร ๔ ธรรมที่เป็นเหตุธรรมที่อุดหนุนให้ผลเกิดขึ้นและช่วยให้ธรรมอื่นเกิดขึ้น


 เหตุ ๖ 

เหตุ เป็นธรรมที่ทำให้ผลเกิดขึ้น ธรรมทั้งหลายที่ได้อุปการะจากเหตุ คือมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นปัจจัยแล้ว ย่อมทำให้มีสภาพมั่นคงในอารมณ์ เช่นมั่นคงในความอยากได้ในรูปารมณ์เป็นต้น เหมือนต้นไม้ที่มีรากงอกงามแผ่ขยายกว้างขวางออกไป

เหตุ มี ๖ ประการ ได้แก่
    ๑) โลภเหตุ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตใจให้เกิดความอยากได้ ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย ตลอดจนความคิดนึกติดใจในเรื่องราวต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าเมื่อมีความอยากเกิดขึ้นคราวใด ก็จะเกิดความร้อนใจเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการและจะกระทำไปตามความอยากที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อได้สิ่งนั้นมาแล้วก็เป็นทุกข์กับการดูแลรักษา ห่วงแหน หรือถ้าไม่ได้อย่างที่ต้องการก็เป็นทุกข์อีก
องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก ที่ในโลภมูลจิต ๘

    ๒) โทสเหตุ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตใจทำให้เกิดความไม่พอใจ ไม่ปรารถนาที่จะได้พบเรื่องราวต่าง ๆ เหมือนกับการเห็นศัตรูหรืออสรพิษ ย่อมเกิดความไม่พอใจ หรือหวาดกลัวขึ้นมาทันที
องค์ธรรมได้แก่ โทสเจตสิก ที่ในโทสมูลจิต ๒

    ๓) โมหเหตุ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตใจให้โง่ หลง งมงาย ไม่รู้ในสัจจะตามที่เป็นจริง เมื่อรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือความคิดนึกในเรื่องราวต่าง ๆ ปรากฏขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ก็ไม่เข้าใจสภาวะความเป็นจริง ว่าเป็นเพียงนาม เป็นเพียงรูป แต่กลับไปคิดยึดติดว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเขาเป็นเรา
องค์ธรรมได้แก่ โมหเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒

    ๔) อโลภเหตุ มีความหมายตรงกันข้ามกับโลภเหตุ คือความไม่อยากได้ใน รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่มาสัมผัสทางกาย และความคิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ ทางใจ
องค์ธรรมได้แก่ อโลภเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑

    ๕) อโทสเหตุ มีความหมายตรงกันข้ามกับโทสเหตุ คือเมื่อได้ประสบกับอารมณ์ที่พอใจ (อิฏฐารมณ์) หรืออารมณ์ที่ไม่พอใจ (อนิฏฐารมณ์) จิตใจก็จะไม่เกิดความโกรธ หรือความไม่พอใจในอารมณ์นั้น ๆ
องค์ธรรมได้แก่ 
อโทสเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑

    ๖) อโมหเหตุ มีความหมายตรงกันข้ามกับโมหเหตุ คือมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา 
ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ ว่าเป็นแต่เพียงรูปธรรมนามธรรมเท่านั้น มิใช่เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็นเพียงสภาวะที่ปรากฏเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง
องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในญาณสัมปยุตต
จิต ๔๗ หรือ ๗๙

สรุปความได้ว่า ** โลภเจตสิก โทสเจตสิก และ โมหเจตสิก เมื่อเกิดขึ้นกับจิตใจของบุคคลใดแล้ว ก็เป็นเหตุให้บุคคลนั้นทำบาปอกุศล เจตสิกทั้ง ๓ นี้ เรียกว่า เหตุบาป ๓ คือเป็นต้นเหตุให้บุคคลทำอกุศล 

** อโลภเจตสิก, อโทสเจตสิก และ อโมหเจตสิก เมื่อเกิดขึ้นกับจิตใจของบุคคลใดแล้ว ก็เป็นเหตุให้บุคคลนั้นทำบุญกุศล เจตสิกทั้ง ๓ นี้ เรียกว่า เหตุบุญ ๓ คือ เป็นต้นเหตุให้บุคคลทำกุศล โดยที่กุศลขั้นกามาวจรนั้น เมื่อตายลงบุญจะนำไปสู่สุคติภูมิ คือ มนุษยภูมิและเทวภูมิ ถ้าเป็นกุศลขั้นรูปาวจรและอรูปาวจร เมื่อตายลง บุญจะนำไปสู่รูปภูมิและอรูปภูมิ แต่ถ้าเป็นมรรคกุศล ก็จะส่งผลให้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคล หมดสิ้นจากกิเลสทั้งปวงและพ้นจากวัฏฏทุกข์ได้ในที่สุด


 ฌานังคะ ๗  

ฌานังคะ เป็นธรรมชาติที่ทำให้จิตจดจ่อต่ออารมณ์ หรือเพ่งอารมณ์ มีกสิณ เป็นต้น ในฌานังคะ มีองค์ฌาน ๗ ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ เอกัคคตา โสมนัส โทมนัส และอุเบกขา แต่เรามักคุ้นเคยกับองค์ฌาน ๕

คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา ทั้งนี้เพราะเนื้อหาที่ศึกษาในหมวดมิสสกะนี้ มุ่งแสดงธรรมที่คละเคล้ากันไปทั้งที่เป็นอกุศล กุศล และอพยากฤต จึงนับเอาเวทนา ๓ คือ โสมนัส โทมนัส และ อุเบกขา รวมเข้ากับสุขนั่นเอง


** ในฌานังคะทั้ง ๗ นี้ โทมนัส* เกิดได้เฉพาะในอกุศลจิตอย่างเดียว ทำหน้าที่เผาหทยวัตถุให้เหือดแห้งไป

ส่วนที่เหลืออีก ๖ นั้นเกิดได้ทั้งในจิตที่เป็นอกุศล กุศล และอพยากฤต

คำว่า ฌาน หมายถึง การเพ่งอารมณ์ทั้งหลาย (มีรูปารมณ์เป็นต้น) อย่างแน่วแน่ โดยมีวิตก วิจาร ปีติ เวทนา และเอกัคคตา เป็นหัวหน้า ชักจูงให้จิตและเจตสิกทำหน้าที่เพ่งอารมณ์นั้น ๆ ตามไปด้วย ที่เรียกว่า ฌาน นั้นก็ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ เวทนา เอกัคคตา ซึ่งทั้ง ๕ อย่างนี้เป็นองค์ธรรมของฌานนั่นเอง

องค์ฌานทั้ง ๕ นี้ กระทำหน้าที่ต่างกัน แต่เป็นไปในกิจการงานอันเดียวกัน คือการเพ่งจับจ้องอยู่ในอารมณ์อันเดียวกันนั่นเอง ว่าโดยเป็นองค์ธรรม ก็ได้แก่องค์ฌานทั้ง ๕ ดังกล่าวมานี้ แต่หากจำแนกออกไปโดยประเภทแล้วมีด้วยกัน ๗ ประการ เรียกว่า ฌานังคะ ๗ คือ วิตก วิจาร ปีติ เอกัคคตา โสมนัส โทมนัส อุเบกขา

คำว่า ฌาน หมายถึงการเข้าไปเพ่งซึ่งอารมณ์นั้น มีด้วยกัน ๒ อย่าง คือ

🔰 การเข้าไปเพ่งอารมณ์ที่เป็นการเจริญสมถภาวนา มีการเพ่งกสิณเป็นต้น เรียกว่า อารัมมณุปนิชฌาน

🔰 การเข้าไปเพ่งอารมณ์ที่เป็นการเจริญวิปัสสนา คือ เพ่งอารมณ์ที่เป็นไตรลักษณ์ เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน

การที่ฌานจิตจะเกิดขึ้นได้ ต้องกำจัดธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตน ซึ่งเป็นเครื่องขวางกั้นการทำความดี ที่เรียกว่า นิวรณ์ธรรม โดยทำหน้าที่กำจัดนิวรณ์ทั้ง ๕ ดังนี้ คือ 

** ในการเจริญสมถกรรมฐาน หรือการทำสมาธิ องค์ฌานจะเกิดขึ้นเพื่อกำจัดนิวรณ์ธรรม ๕ เช่นในขณะที่เพ่ง กสิณ อยู่นั้น

🔘 ถ้าง่วงเหงาหาวนอน (ถีนมิทธะ) เกิดขึ้น สมาธิก็เกิดไม่ได้ ต้องยกจิต (วิตก) ขึ้นสู่การเพ่งกสิณอยู่เรื่อย ๆ

🔘 ถ้าเกิดความลังเลสงสัย (วิจิกิจฉา) เกิดขึ้น สมาธิก็เกิดไม่ได้ ต้องพินิจพิจารณาคำสอนของพระพุทธเจ้า (วิจาร)

🔘 ถ้ามีโทสะ พยาบาท (พยาปาทะ) เกิดขึ้น สมาธิก็เกิดไม่ได้ ต้องแผ่เมตตาทำจิตใจให้อิ่มเอิบอยู่ในอารมณ์ (ปีติ)

🔘 ถ้าจิตฟุ้งซ่าน (อุทธัจจกุกกุจจะ) เกิดขึ้น สมาธิก็เกิดไม่ได้ ต้องทำจิตให้ยึดเหนี่ยวอยู่ในอารมณ์ที่ดีงาม (สุข)

🔘 ถ้าจิตปรารถนากามคุณ (กามฉันทะ) เกิดขึ้น สมาธิก็เกิดไม่ได้ ต้องทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่เฉพาะในกสิณ (เอกัคคตา) โดยไม่ส่งจิตไปในเรื่องอื่น ๆ


 มัคคังคะ ๑๒ 

มรรค หรือ ทาง แบ่งออกเป็น ๒ สาย คือ


๑.) สัมมามรรค คือ หนทางที่ประกอบด้วยองค์มรรค ๘ ประการ
๒.) มิจฉามรรค คือ หนทางที่ประกอบด้วยองค์มรรคที่เหลืออีก ๔ ประการ 

๑.) สัมมามรรค มี ๘ ประการ คือ

    ๑. สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูก อันประกอบด้วยความรู้ที่ถูกต้องในอริยสัจจ์ ๔ การมีความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องของกุศลและอกุศล หรือมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำดีทำชั่วว่าย่อมมีผล เป็นทางให้เข้าถึงสุคติและนิพพาน
องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในติเหตุกจิต ๔๗ หรือ ๗๙

ในเรื่องการทำดีทำชั่วนี้ มีบุคคลเป็นจำนวนมากอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป ทั้งนี้เป็นเพราะว่ายังไม่เข้าใจความหมายของคำว่าทำดีได้ดี จึงพากันตีความในเรื่องการทำดีไปในรูปของการได้มาซึ่งวัตถุ ถ้าหากทำสิ่งใดแล้วได้ผลมากก็เรียกการกระทำนั้นว่า ได้ดี อันเป็นความหมายที่ทางโลก (โลกียธรรม) เข้าใจกันเอาเอง แต่แท้จริงแล้วทำดี ได้ดี ในความหมายที่ถูกทางธรรมะ คือ การได้มาซึ่งความสงบเย็นภายในจิตใจ จากการกระทำที่มิได้หวังผลใด ๆ ตอบแทน โดยกระทำไปเพราะเป็นสิ่งที่ถูกต้องอันควร และเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ถือเป็นหน้าที่ที่มนุษย์จะพึงปฏิบัติต่อกัน เช่น การให้ทาน การให้ความสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังสามารถ โดยมิได้มีจิตมุ่งหวังผลตอบแทนทั้งในทางวัตถุและทางจิตใจ

ดังที่กล่าวมานี้ ผู้ที่ได้รับการอบรมจนมีความเข้าใจถูกต้องในเรื่องการทำดีทำชั่วตามที่เป็นจริง จึงไม่ปรารถนาทำความชั่วใด ๆ เลย เพราะละอายต่อการทำบาปทั้งปวง และจะกระทำความดีอย่างบริสุทธิ์โดยไม่มุ่งหวังผลตอบแทน นอกจากความรู้ที่ถูกต้องดังที่กล่าวมานี้แล้ว ยังรวมถึงการมีความรู้ที่ถูกต้องหรือเห็นแจ้งในหลักไตรลักษณ์และปฏิจจสมุปบาทด้วย

โดยสรุปแล้ว ความคิดที่ถูกต้องก็คือการเห็นที่ตรงตามสภาวะ เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามความเป็นจริง ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ทำให้เราเป็นผู้มีความคิดเป็นระเบียบระบบ ไม่มองสิ่งต่าง ๆ อย่างผิวเผิน แต่จะมองอย่างวิเคราะห์แยกแยะ ตลอดจนสนใจในการค้นหาต้นเค้าของเหตุปัจจัยของสิ่งหรือเรื่องนั้น ๆ ทำให้ไม่ถูกหลอกลวงหรือถูกปลุกปั่นได้โดยง่าย เพราะเป็นผู้มีอิสระในการคิดที่เป็นตัวของตัวเอง มีสติสัมปชัญญะในการตัดสินใจ ทั้งนี้โดยมีสัมมาทิฏฐิ หรือการมีความคิดถูกต้องเป็นรากฐาน สัมมาทิฎฐิจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของมรรคในฐานะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรม และเป็นธรรมะที่ต้องพัฒนาให้บริสุทธิ์ เป็นอิสระมากขึ้นตามลำดับจนถึงการตรัสรู้ได้ในที่สุด

    ๒. สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริถูก หรือความนึกคิดในทางที่ถูกต้อง เป็นทางให้เข้าถึงสุคติ และนิพพาน
องค์ธรรมได้แก่ วิตกเจตสิก ที่ในกามาวจรโสภณจิต ๒๔ และปฐมฌานจิต ๑๑

โดยทั่วไปแล้ว บุคคลทั้งหลายก็มีความดำริที่เป็นไปตามกามกิเลสเป็นปกติ กล่าวคือเมื่อปุถุชนรับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะโดยการเห็น ได้ยิน ได้สัมผัส เป็นต้น ย่อมจะเกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๒ อย่าง คือ ถ้าถูกใจในอารมณ์นั้นก็ชอบ ติดใจ อยากได้ พัวพัน คล้อยตาม แต่ถ้าไม่ถูกใจก็ไม่ชอบ ขัดเคืองใจ เกลียดชัง ผลักออก เป็นปฏิปักษ์ จากนั้นความดำริคิดนึกต่าง ๆ ก็จะดำเนินไปตามแนวทางหรือแรงผลักดันของความชอบและไม่ชอบที่เกิดขึ้นนั้น

ด้วยเหตุนี้ ความนึกคิดของปุถุชนโดยปกติ จึงมักเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งเสมอ โดยมีความพอใจและไม่พอใจของตนเข้าไปเคลือบแฝงและคอยชักจูงให้เป็นไป ทำให้ไม่เข้าใจถึงสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง เพราะถูกความชอบใจ จนเกิดความติดใคร่ พัวพัน จึงเอียงเข้าหาความนึกคิดนั้น ซึ่งเป็นทัศนคติ (หรือเจตคติ) ต่อสิ่งต่างๆ อย่างไม่ถูกต้อง

ความดำริหรือความนึกคิดที่เอนเอียง ทัศนคติที่บิดเบือนและถูกเคลือบแฝงเช่นนี้ เกิดขึ้นก็เพราะการขาดโยนิโสมนสิการ คือการมอง พิจารณาสิ่งต่าง ๆ โดยแยบคาย จึงมองสิ่งต่าง ๆ อย่างผิวเผิน รับรู้อารมณ์เข้ามาทั้งดุ้นโดยขาดสติสัมปชัญญะ แล้วปล่อยใจให้นึกคิดให้แล่นไปตามความรู้สึก หรือตามเหตุผลที่มีความชอบใจ ไม่ชอบใจเป็นตัวนำ ไม่ได้ใช้ความคิดวิเคราะห์แยกแยะส่วนประกอบและความคิดสืบสาวสอบค้นเหตุปัจจัย ตามหลักโยนิโสมนสิการ

ในทางตรงข้าม การที่จะมองเห็นสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามที่มันเป็นของมันเองได้ โยนิโสมนสิการเป็นธรรมะที่ขาดไม่ได้เลย การมีโยนิโสมนสิการ ทำให้ผู้นั้นมีสัมมาทิฏฐิ คือมองเห็นและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง เมื่อมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง จึงมีสัมมาสังกัปปะ คือดำริ นึกคิด และตั้งทัศนคติต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างถูกต้อง ไม่เอนเอียง ยึดติด ขัดเคือง ผลักใส หรือเป็นปฏิปักษ์ เมื่อมีความดำรินึกคิดที่เป็นอิสระจากความชอบใจ ไม่ชอบใจ จึงทำให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง เสริมสร้างสัมมาทิฏฐิให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น จากนั้นองค์ประกอบทั้งสองก็สนับสนุนซึ่งกันและกันหมุนเวียนต่อไป

    ๓. สัมมาวาจา คือ การกล่าววาจาถูก หมายถึง การมีคำพูดที่ถูกต้อง เว้นจากวจีทุจริต ๔ คือ มุสาวาท การกล่าวคำเท็จ, ปิสุณาวาจา การส่อเสียดนินทาผู้อื่น, ผรุสวาจา การพูดคำหยาบ และ สัมผัปปลาปะ การพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ตลอดจนการพูดที่ไม่ก่อให้เกิดการปรุงแต่งกามกิเลสขึ้นมาด้วย
องค์ธรรมได้แก่
สัมมาวาจาเจตสิก ที่ในมหากุศลจิต ๘ โลกุตตรกุศลจิต ๘ หรือ ๔๐

สัมมาวาจา หรือคำพูดที่ดีนั้นต้องมีประโยชน์ พูดถูกกาลเทศะ ไม่ทำร้ายจิตใจผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด และพูดในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม

    ๔. สัมมากัมมันตะ คือ การงานถูก หมายถึง การกระทำในด้านร่างกายที่ถูกต้อง ซึ่งในที่นี้หมายถึงการเว้นจากกายทุจริต ๓ คือ ปาณาติปาต การฆ่าสัตว์, อทินนาทาน การขโมย ฉ้อฉลของผู้อื่น หรือทำลายของสาธารณประโยชน์ และ กาเมสุมิจฉาจาร การประพฤติผิดในกาม
องค์ธรรมได้แก่ สัมมากัมมันต
เจตสิก ที่ในมหากุศลจิต ๘ โลกุตตรกุศลจิต ๘ หรือ ๔๐

    ๕. สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพถูก หมายถึง การมีสัมมาอาชีวะหรือการเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง ไม่เบียดเบียนผู้ใดจนทำให้เขาได้รับความเดือดร้อนหรือเสียประโยชน์
องค์ธรรมได้แก่ สัมมาอาชีวเจตสิก ที่ใน
มหากุศลจิต ๘ โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐

การประกอบอาชีพที่ไม่ควรประกอบที่เรียกว่ามิจฉาวณิชชา ๕ มีดังนี้ ๑) ค้าขายอาวุธ
๒) 
ค้าขายมนุษย์
๓) ค้าขายเนื้อสัตว์
๔) ค้าขายน้ำเมา
๕) ค้าขายยาพิษ

    ๖. สัมมาวายามะ คือ ความเพียรถูก หมายถึง ความพยายามในทางที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความเห็นแจ้งชัดในความจริง และจะได้พบกับความสงบเย็นภายในจิตใจอันเป็นเป้าหมายสุดท้ายของชีวิตที่สมบูรณ์ เช่น ความเพียรพยายามในการฝึกฝนอบรมทางกาย วาจา และเพียรอบรมจิตให้ตั้งมั่นแน่วแน่ ไม่หวั่นไหวไปกับความยั่วยวนของกิเลสและความอยาก 
องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑

    ๗. สัมมาสติ คือ การระลึกถูก หมายถึง ความรำลึกประจำใจที่ถูกต้อง คือ มีการตื่นตัวอยู่เสมอ เราต้องรู้ตัวในทุก ๆ อิริยาบถอยู่เสมอ มีความตื่นตัวต่อหน้าที่ พร้อมเสมอที่จะรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่มาเกี่ยวข้อง เมื่อดีใจ เสียใจ หรือเฉย ๆ ก็ให้รู้ตัวว่ากำลังดีใจ เสียใจ หรือเฉย ๆ การระลึกแต่ในเรื่องการทำบุญทำกุศล ระลึกถึงทาน ศีล ภาวนา ที่เคยได้ทำมาแล้วหรือตั้งใจว่าจะทำอีก
องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ 
หรือ ๙๑

สติ นอกจากจะหมายถึง ระลึกได้ จำได้แล้ว ยังหมายถึง ความไม่เผลอ ไม่ประมาทเลินเล่อ ไม่ฟั่นเฟือนเลื่อนลอยด้วย สติจึงเป็นธรรมสำคัญ เพราะเป็นตัวควบคุม เร้า เตือน การปฏิบัติหน้าที่ และคอยป้องกันยับยั้งตนเองที่จะไม่ให้หลงเพลินไปตามความชั่ว หรือไม่ให้ความชั่วเล็ดลอดเข้ามาในจิตใจได้ เตือนตนเองในการทำความดี และไม่เปิดโอกาสแก่ความชั่ว หรือเรียกในทางธรรมว่าเป็น อัปปมาทธรรม

อัปปมาทธรรม เป็นหลักธรรมสำคัญยิ่งสำหรับความก้าวหน้า การเป็นอยู่โดยไม่ขาดสติ ซึ่งขยายความได้ว่า การระมัดระวังอยู่เสมอ ไม่ยอมถลำลงไปในทางเสื่อม และไม่ยอมพลาดโอกาสสำหรับความเจริญก้าวหน้า ตระหนักดีถึงสิ่งที่จะต้องทำ และต้องไม่ทำ ใส่ใจสำนึกอยู่เสมอในหน้าที่ ไม่ปล่อยปละละเลย กระทำการด้วยความจริงจัง และพยายามก้าวรุดหน้าอยู่ตลอดเวลา มีคำเปรียบเทียบว่า สติ เหมือนเสาหลัก เพราะปักแน่นในอารมณ์ หรือเหมือนนายประตู เพราะเฝ้าอายตนะต่าง ๆ ที่เป็นทางรับอารมณ์ ตรวจดูอารมณ์ที่ผ่านเข้ามา เพื่อพิจารณาจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป

    ๘. สัมมาสมาธิ คือ การตั้งมั่นถูก หมายถึง การตั้งมั่นแห่งจิต ภาวะที่จิตแน่วแน่ต่ออารมณ์ หรือสิ่งที่กำหนดซึ่งปราศจากโทษ เพื่อให้จิตได้ยึดไว้
องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑

คำจำกัดความของสมาธิที่พบอยู่เสมอ คือ คำว่า เอกัคคตา ซึ่งแปลว่า ภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ การที่จิตกำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่านหรือส่ายไป

สมาธิแบ่งได้เป็น ๓ ระดับ คือ

๑. ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถนำมาใช้ประโยชน์ ในการปฏิบัติหน้าที่กิจการงาน ในชีวิตประจำวัน ให้ได้ผลดี
๒. อุปจารสมาธิ สมาธิเฉียด ๆ หรือจวนจะแน่วแน่
๓. อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แน่วแน่ แนบสนิท เป็นการเจริญสมาธิในขั้นฌาน (ทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป) ถือว่าเป็นความสำเร็จสูงสุดของการเจริญสมาธิ

ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถเจริญวิปัสสนาได้โดยใช้สมาธิเพียงขั้นต้น ๆ ที่เรียกว่า วิปัสสนาสมาธิ ซึ่งเป็นสมาธิในระดับเดียวกับขณิกสมาธิ และอุปจารสมาธิ

ประโยชน์ของสมาธิ

๑. ทำให้จิตเหมาะแก่การงาน เพื่อเป็นฐานให้ปัญญาปฏิบัติการอย่างได้ผลดีที่สุด สมาธิที่ใช้เพื่อการนี้ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นสูงสุด ในทางตรงข้าม ลำพังสมาธิอย่างเดียว แม้จะเจริญถึงขั้นฌานสูงสุด แต่หากไม่ก้าวไปสู่ขั้นการใช้ปัญญาแล้ว ย่อมไม่สามารถทำให้ถึงจุดหมายของสูงสุด คือบรรลุมรรคผลนิพพานได

๒. ภาวะของการได้ฌาน เป็นการหลุดพ้นเพียงชั่วคราว เพราะกิเลสทั้งหลายไม่ได้ถูกทำลายอย่างราบคาบ เป็นเพียงระงับไว้ได้ด้วยกำลังของฌาน เปรียบเหมือนเอาแผ่นหินทับหญ้า ยกแผ่นหินออกเมื่อใด หญ้าย่อมกลับงอกงามขึ้นได้ใหม่

๓. ประโยชน์ที่แท้ของสมาธิก็คือ การใช้สมาธิเพื่อประโยชน์ทางปัญญา หรือเป็นบาทฐานของวิปัสสนาโดยตรง เพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุด คือความหลุดพ้นสิ้นอาสวะ

สัมมามรรคทั้ง ๘ ประการนี้ ยังสามารถนำมาจัดเป็นระบบได้ ๓ อย่าง เรียกว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา โดยเทียบได้ดังนี้ คือ


🔘 ศีล (อธิศีลสิกขา) คือความปกติ เป็นการตั้งใจรักษาความปกติของตนนั่นเอง ศีลนั้นเป็นหลักแห่งการประพฤติดีที่ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน จำแนกไว้เป็นศีล ๕ ศีล ๘ และศีล ๑๐ เป็นต้น เพื่อความสงบเรียบร้อยปราศจากโทษชั้นต้น ๆ ทางกายและวาจา หรือเกี่ยวกับสิ่งของต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่การเป็นอยู่ของตนและที่เกี่ยวกับ สังคม ศีล จึงจัดอยู่ในระดับศีลธรรมอันเป็นมูลฐานที่จะนำไปสู่ความสงบของจิตใจ

🔘 สมาธิ (อธิจิตตสิกขา) เป็นการฝึกอบรมทางด้านจิตหรือกระบวนการทำสมาธิ จิตที่เกิดจากสัมมาสมาธิจะเป็นจิตที่นำไปสู่ความไม่เศร้าหมอง ไม่ฟุ้งซ่าน และอยู่ในสภาพที่จะปฏิบัติหน้าที่ของมันจนฝึกฝนจิตได้ถึงที่สุด มีผลเกิดขึ้นเป็นความตั้งมั่นของจิตที่เรียกว่า สมาธิ

🔘 ปัญญา (อธิปัญญาสิกขา) เป็นการฝึกฝนอบรมทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องและสมบูรณ์ถึงที่สุดในบรรดาสิ่งทั้งปวงตามที่มันเป็นจริง ปัญญาสิกขานี้มีความเกี่ยวเนื่องกับสมาธิสิกขา เพราะเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วก็มีลักษณะพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ สามารถน้อมจิตไปสู่การพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้ตามที่มันเป็นจริงจนมีความเห็นแจ้ง มีผลให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายสลดสังเวช ถอนตนออกจากสิ่งทั้งปวงที่ตนเคยรักเคยยึดถือ เกิดความบริสุทธิ์สะอาด สว่าง และสงบเย็น ดังนั้นคำว่า ปัญญา ในทางพุทธศาสนาจึงหมายถึง การถอนตนออกมาจากสิ่งทั้งปวงโดยทำลายความยึดมั่น ถือมั่น ให้หมดสิ้นไป อันเป็นการปลดเปลื้องจิตใจให้พ้นจากความเป็นทาสหรือไม่อยู่ใต้อำนาจของสิ่งใด ๆ

๒.) มิจฉามรรค มี ๔ ประการ คือ

    ๙. มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด ซึ่งเป็นความเห็นผิดที่เกี่ยวกับสุขทุกข์และความเป็นไปในชีวิตของมนุษย์
องค์ธรรมได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔
อาจสรุปได้ ๓ ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้ คือ
        ๑.) ปุพเพกเหตุวาท การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงในปัจจุบันเป็นเพราะกรรมเก่าเท่านั้น จะยอมรับเฉพาะการได้รับสุขหรือทุกข์อยู่นี้เพราะเกิดจากวิปาก(คือผลของกรรมในอดีตภพอย่างเดียว) เช่น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโรคไว้ ๘ อย่างเหล่านี้ คืออาพาธมีน้ำดี (กำเริบ) เป็นสมุฏฐาน ๑ อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน ๑ อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน ๑ อาพาธที่เกิดจากโรคดี โรคเสมหะ โรคลม มาประชุมกัน ๑ อาพาธที่เกิดจากเปลี่ยนฤดู ๑ อาพาธที่เกิดจากการบริหาร(ร่างกาย)ไม่ถูกต้อง ๑ อาพาธที่เกิดจากการพยายาม (ทำให้เกิดขึ้น) ๑ อาพาธที่เกิดจากวิบากกรรม ๑ ในสมุฏฐานโรคทั้ง ๘ อย่างนั้น มิจฉาทิฏฐิกบุคคลปฏิเสธโรค ๗ อย่างข้างต้นแล้วยอมรับแต่เฉพาะโรคชนิดที่ ๘ เท่านั้น
        ๒.) อิสสรนิมมานเหตุวาท การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงเป็นเพราะการบันดาลของเทพผู้เป็นใหญ่เท่านั้น เช่นเหตุแห่งการเกิดโรค ๘ อย่างที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้แล้ว บุคคลผู้มีมิจฉาทิฏฐินี้จะปฏิเสธทั้งหมดและเชื่อว่าโรคที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการบันดาลของเทพเจ้าเท่านั้น
        ๓.) อเหตุกปัจจยวาท การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่าง ๒ ข้อข้างต้น แต่สุขทุกข์เกิดขึ้นเอง

    ๑๐. มิจฉาสังกัปปะ คือ ความดำริผิด
องค์ธรรมได้แก่ วิตกเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒
ที่เรียกว่า
มิจฉาสังกัปปะ เพราะมีความดำริไปใน ๓ ประการ คือ

        ๑.) กามสังกัปปะ หรือ กามวิตก คือ ความดำริที่เกี่ยวข้องกับกาม ความนึกคิดในทางที่จะแสวงหาสิ่งเสพ ความคิดอยากได้หรือหมกมุ่นพัวพัน ติดข้องอยู่กับสิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕ หรือสิ่งสนองตัณหา อุปาทานต่าง ๆ ความคิดในทางเห็นแก่ตัวนั้นจึงเป็นความนึกคิดในฝ่ายราคะหรือโลภะ
        ๒.) พยาบาทสังกัปปะ หรือ พยาบาทวิตก คือ ความดำริที่ประกอบด้วยความขัดเคือง ไม่พอใจ เคียดแค้น ชิงชัง คิดเห็นในแง่ร้ายต่าง ๆ ความขาดเมตตา เป็นความนึกคิดในฝ่ายโทสะแง่ถูกกระทบ
        ๓.) วิหิงสาสังกัปปะ หรือ วิหิงสาวิตก คือ ความดำริในทางที่จะเบียดเบียนทำร้าย การคิดที่จะข่มเหงรังแก ต้องการก่อทุกข์ ทำให้คนและสัตว์ทั้งหลายเดือดร้อน ขาดความกรุณา เป็นความนึกคิดในฝ่ายโทสะ

ความโดยละเอียดในแง่ของความดำริผิดได้อธิบายโดยรวมไว้แล้วในหัวข้อสัมมาสังกัปปะ ในที่นี้จึงแสดงให้ทราบถึงหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับมิจฉาสังกัปปะเท่านั้น

        ๑๑. มิจฉาวายามะ คือ ความเพียรผิด เป็นความเพียรในข้อปฏิบัติที่ผิดทาง เช่น เพียรปฏิบัติตนเยี่ยงโค เยี่ยงสุนัข ปฏิบัติแบบไม่นุ่งผ้า นั่งหรือนอนบนของมีคมเพื่อทรมานตน เป็นต้น
องค์ธรรม ได้แก่
วิริยเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒

        ๑๒. มิจฉาสมาธิ คือ ความตั้งมั่นผิด มีความตั้งมั่นในอารมณ์ที่ผิด ซึ่งอารมณ์นั้นไม่นำไปสู่การเจริญทั้งสมถและวิปัสสนา มีนัยตรงกันข้ามกับสัมมาสมาธิดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
องค์ธรรม ได้แก่ เอกัคคตา
เจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๑ (เว้นวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต ๑)


💬อ่านต่อ มิสสกสังคหะ หน้าต่อไป