วันเสาร์

นวโกวาท (ฉบับประชาชน)

 คำนำ (พิมพ์ครั้งที่ ๕/๒๔๔๒)

หนังสือเล่มนี้เรียงย่อโดยประมาณดังนี้ สำหรับภิกษุสามเณรบวชใหม่, เพราะผู้บวชใหม่ย่อมบวชเพียงพรรษาเดียว คือสี่เดือนเป็นพื้น อุปัชฌาอาจารย์ผู้หวังความรู้แก่สัทธิวิหารกและอันเตวาสิกต้องหาอุบายสั่งสอนให้เขาได้ความรู้มากที่สุดตามแต่จะเป็นได้ ถ้าใช้แบบสอนที่พิสดาร เรียนรู้ยังไม่ถึงไหนก็ถึงเวลาสึก จะต้องใช้แบบย่อให้จุข้อความที่ควรจะศึกษา นี้เป็นเหตุผลเริ่มเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้น หนังสือนี้ถือเป็นแบบย่อ ถ้าเข้าใจวิธีสอน ก็ทำให้ภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่เข้าใจกว้างขวางได้เหมือนกัน ข้าพเจ้าได้ใช้ฝึกศิษย์ด้วยวิธีดังจะกล่าวต่อไปนี้

ให้ผู้ศึกษากำหนดจำหัวข้อในหนังสือเล่มนี้ให้ได้ตลอด เอาแต่ใจความ ไม่ต้องจำถึงพยัญชนะ, แต่คนอ่านแล้วถอดใจความไว้ในใจไม่ได้ ยังต้องท่องเหมือนท่องสวดมนต์ กำหนดระยะให้ ๓ เดือน (ยกเดือนต้นไว้สำหรับบุรพกิจอย่างอื่น) เดือนที่ ๒ วินัยบัญญัติ เดือนที่ ๓ ธรรมวิภาค เดือนท้ายเมื่อจวนสึก คิหิปฏิบัติ ผู้ประกอบด้วยสติปัญญา อุตสาหะกล้าก็ได้เร็วกว่ากำหนด ปานกลางก็พอทันกำหนด ทรามก็ไม่ทันกำหนด

ในระหว่างที่ศึกษาอยู่นั้น ในขั้นต้น เมื่อถึงกถาอะไร ได้สอบถามให้เล่าหัวข้อเหล่านั้นให้ฟังจนเห็นว่าขึ้นใจแล้ว ส่วนวินัยได้ผูกเป็นปัญหาให้ตัดสิน ปัญหานั้นให้ตัดสินได้ด้วยเทียบตามแบบ เช่น " ภิกษุพยาบาลไข้ วางยาผิด คนไข้ตาย จะต้องปาราชิกหรือไม่? " ผู้ตอบต้องใคร่ครวญดูเจตนาของผู้วางยาว่า เหมือนกับเจตนาของผู้ที่กล่าวไว้ในแบบหรือไม่? เท่านี้ก็ตัดสินได้

ถึง ธรรมวิภาคและ คิหิปฏิบัติ ก็มีปัญหาถามเหมือนกัน เช่น "อย่างไร ความคบสัตบุรุษ เป็นต้น จึงจะเป็นเครื่องเจริญของมนุษย์? " ในที่นี้ผู้ตอบต้องอธิบายตามความเห็นของตนให้สมแก่รู้ปัญหา อีกข้างหนึ่ง " ทรัพย์ที่จับจ่ายด้วยประการไร จึงได้ชื่อว่าเป็นประโยชน์? " ในที่นี้ต้องเอากระทู้ความในหมวดที่ว่าด้วยประโยชน์เกิดแต่การถือเอาโภคทรัพย์ มาอธิบายแก้ให้สมรูปปัญหา เมื่อถึงกำหนด ได้มีการสอนความรู้ใน ๓ อย่างนั้น เพื่อเป็นอุบายให้เอาใจใส่ดีขึ้น

ยังมีวิธีที่ช่วยทำให้ผู้บวชใหม่ ได้ความรู้กว้างขวางออกไปกว่านี้อีก ส่วนวินัย ถามปัญหาให้เทียบตามแบบไม่ได้ เช่น " ภิกษุตีเด็ก ต้องอาบัติอะไร ? " ในแบบมีแต่ว่าตีภิกษุต้องปาจิตตีย์ เช่นนี้ทำให้ค้นคว้าในสิกขาเล่มใหญ่ พอพบแล้วก็จำได้ทันที ส่วนธรรมวิภาคนั้นได้แจกกระทู้พุทธภาษิต เช่น " คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร, ได้ชื่อเสียงเพราะความสัตย์ " วันละข้อ แจกให้อย่างเดียวกันหมด ให้ไปแต่งแก้แล้วนำมาอ่านในที่ประชุมในกำหนด ผู้แต่งต้องตริตรองด้วยน้ำใจให้เห็นเองก่อนว่า " ความเพียรเป็นเหตุ, ความล่วงทุกข์เป็นผล ความสัตย์เป็นเหตุ, ชื่อเสียงเป็นผล " จึงจะเรียงแต่งมาอ่านได้ในเวลาที่อ่าน ต่างก็ต่างมุ่งฟังของกันและกัน เมื่อใครอธิบายดีก็จำไว้ และที่สุดได้รับวินิจฉัยว่าถูกหรือผิด ข้อนี้เป็นเหตุผลให้ค้นคว้าข้อความในหนังสือธรรมมาอธิบาย ได้ความรู้กว้างขวางและตริตรองให้เห็นความดี เห็นความชั่วด้วยน้ำใจเอง

หนังสือเล่มนี้ แต่งขึ้นสำหรับสอนภิกษุสามเณรบวชใหม่ให้พอควรแก่เวลาจะศึกษาได้ จึงตั้งชื่อว่า นวโกวาท และมีข้อความแต่งโดยย่อเพียงเท่านี้


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส 
วัดบวรนิเวศวิหาร วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๘


ทุกะ คือ หมวด ๒

ธรรมมีอุปการะมาก ๒ อย่าง
๑. สติ ความระลึกได้
๒. สัมปชัญญะ ความรู้ตัว

ธรรมคุ้มครองโลก ๒ อย่าง
๑. หิริ ความละอายแก่ใจ
๒. โอตตัปปะ ความเกรงกลัว

ธรรมอันทำให้งาม ๒ อย่าง
๑. ขันติ ความอดทน
๒. โสรัจจะ ความเสงี่ยม

บุคคลหาได้ยาก ๒ อย่าง
๑. บุพพการีบุคคลผู้ทำอุปการะก่อน
๒. กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว และตอบแทน

ติกะ คือ หมวด ๓

รัตนะ ๓ อย่าง
๑. ท่านผู้สอนให้ประชุมชนประพฤติชอบด้วย กาย วงจา ใจ ตามพระธรรมวินัยชื่อพระพุทธเจ้า
๒. พระธรรมวินัยที่เป็นคำสั่งสอนของท่าน ชื่อ พระธรรม
๓. หมู่ชนที่ฟังคำสอนของท่านแล้ว ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ชื่อ พระสงฆ์

คุณของรัตนะ ๓ อย่าง
๑. พระพุทธเจ้ารู้ดีรู้ชอบด้วยพระองค์เองก่อนแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตามด้วย
๒. พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว
๓. พระสงฆ์ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว สอนผู้อื่นให้กระทำตามด้วย

อาการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน 3 อย่าง
๑. ทรงสั่งสอนเพื่อจะให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น
๒. ทรงสั่งสอนมีเหตุผลที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้
๓. ทรงสั่งสอนเป็นอัศจรรย์ คือผู้ปฏิบัติตามย่อมได้ประโยชน์ โดยสมควรแก่ความปฏิบัติ

โอวาทของพระพุทธเจ้า ๓ อย่าง
๑. เว้นจากทุจริต คือประพฤติชั่ว ด้วยกาย วาจา ใจ
๒. ประกอบสุจริต คือประพฤติชอบ ด้วยกาย วาจา ใจ
๓. ทำใจของตนให้หมดจดจากเรื่องเศร้าหมองใจ มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น

ทุจริต ๓ อย่าง
๑. ประพฤติชั่วด้วยกาย เรียก กายทุจริต
๒. ประพฤติชั่วด้วยวาจา เรียก วจีทุจริต
๓. ประพฤติชั่วด้วยใจ เรียกว่า มโนทุจริต

กายทุจริต ๓ อย่าง
ฆ่าสัตว์ ๑ ลักฉ้อ ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑
วจีทุจริต ๔ อย่าง 
พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อ ๑
มโนทุจริต ๓ อย่าง
โลภอยากได้ของเขา ๑ พยาบาทปองร้ายเขา ๑ เห็นผิดจากครองธรรม ๑

ทุจริต ๓ อย่างนี้เป็นกิจไม่ควรทำ ควรละเสีย

สุจริต ๓ อย่าง
๑. ประพฤติชอบด้วยกาย เรียกว่ากายสุจริต
๒. ประพฤติชอบด้วยวาจา เรียกวจีสุจริต
๓. ประพฤติชอบด้วยใจ เรียกมโนสุจริต

กายสุจริต ๓ อย่าง
เว้นจากฆ่าสัตว์ ๑ เว้นจากลักฉ้อ ๑ เว้นจากประพฤติผิดในกาม ๑
วจีสุจริต ๔ อย่าง
เว้นจากพูดเท็จ ๑ เว้นจากพูดส่อเสียด ๑ เว้นจากพูดคำหยาบ ๑ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ ๑
มโนสุจริต ๓ อย่าง
ไม่โลภอยากได้ของเขา ๑ ไม่พยาบาทปองร้ายเขา ๑ เห็นชอบตามคลองธรรม ๑

สุจริต ๓ อย่างนี้ เป็นกิจควรทำ ควรประพฤติ

อกุศลมูล ๓ อย่าง
รากเง่าของอกุศล เรียกอกุศลมูล มี ๓ อย่าง คือ
๑. โลภะ อยากได้
๒. โทสะ คิดประทุษร้ายเขา
๓. โมหะ หลงไม่รู้จริง

เมื่ออกุศลมูลเหล่านี้ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ดี มีอยู่แล้ว อกุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้น เหตุนั้นควรละเสีย

กุศลมูล ๓ อย่าง
รากเง่าของกุศล เรียกกุศลมูล มี ๓ อย่าง คือ ๑. อโลภะ ไม่อยากได้
๒. อโทสะ ไม่คิดประทุษร้ายเขา
๓. อโมหะ ไม่หลง

เมื่อกุศลมูลเหล่านี้ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ก็ดี มีอยู่แล้ว กุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้น เหตุนั้นควรให้เกิดมีในสันดาน

สัปปุริสบัญญัติ ๓ อย่าง
๑. ทาน สละสิ่งของๆ ตนเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
๒. ปัพพัชชา ถือบวช เป็นอุบายเว้นจากเบียดเบียนกันและกัน
๓. มาตาปิตุอุปัฏฐาน ปฏิบัติมารดาบิดาของตนให้เป็นสุข

อปัณณกปฏิปทา คือปฏิบัติใม่ผิด ๓ อย่าง
๑. อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ยินดียินร้ายเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ
๒. โภชเน มัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการกินอาหารแต่พอควร ไม่มากไม่น้อย
๓. ชาคริยานุโยค ประกอบความเพียรเพื่อชำระใจให้หมดจด ไม่เห็นแก่นอนมากนัก

บุญกิริยาวัตถุ ๓ อย่าง
สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ เรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ โดยย่อมี ๓ ย่าง
๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
๒. ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓. ภวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา

สามัญลักษณะ ๓ อย่าง
ลักษณะที่เสมอกันแก่สังขารทั้งปวง เรียกสามัญลักษณะ ไตรลักษณะก็เรียก แจกเป็น ๓ อย่าง
๑. อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง
๒. ทุกขตา ความเป็นทุกข์
๓. อนัตตตา ความเป็นของไม่ใช่ตน

จตุกกะ คือ หมวด ๔

วุฑฒิ คือธรรมเป็นเครื่องเจริญ ๔ อย่าง
๑. สัปปุริสสังเสวะ คบท่านผู้ประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจ ที่เรียกว่าสัตบุรุษ
๒. สัทธัมมัสสวนะ ฟังคำสอนของท่านโดยเคารพ
๓. โยนิโสมนสิการ ตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีหรือชั่วโดยอุบายที่ชอบ
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมซึ่งได้ตรองเห็นแล้ว

จักร ๔
๑. ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในประเทศอันสมควร
๒. สัปปุริสูปัสสยะ คบสัตบุรุษ
๓. อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ
๔. ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ในปางก่อน

ธรรม ๔ อย่างนี้ ดุจล้อรถนำไปสู่ความเจริญ

อคติ ๔
๑. ลำเอียงเพราะรักใคร่กัน เรียก ฉันทาคติ
๒. ลำเอียงเพราะไม่ชอบกัน เรียก โทสาคติ
๓. ลำเอียงเพราะเขลา เรียก โมหาคติ
๔. ลำเอียงเพราะกลัว เรียก ภยาคติ

อคติ ๔ ประการนี้ ไม่ควรประพฤติ

อันตรายของภิกษุผู้บวชใหม่ ๔ อย่าง
๑. อดทนต่อคำสอนไม่ได้ คือเบื่อต่อคำสั่งสอนขี้เกียจทำตาม
๒. เป็นคนเห็นแก่ปากแก่ท้อง ทนความอดอยากไม่ได้
๓. เพลิดเพลินในกามคุณ ทะยานอยากได้สุขยิ่งๆ ขึ้นไป
๔. รักผู้หญิง

ภิกษุสามเณรผู้หวังความเจริญแก่ตน ควรระวังอย่าให้อันตราย ๔ อย่างนี้ย่ำยีได้

ปธาน คือความเพียร ๔ อย่าง
๑. สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน
๒. ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน
๔. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม

ความเพียร ๔ อย่างนี้ เป็นความเพียรชอบควรประกอบให้มีในตน

อธิษฐานธรรม คือธรรมที่ความตั้งไว้ในใจ ๔ อย่าง
๑. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้
๒. สัจจะ ความจริงใจ คือประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง
๓. จาคะ สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ
๔. อุปสมะ สงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ

อิทธิบาท คือคุณเครื่องให้สำเร็จความประสงค์ ๔ อย่าง
๑. ฉันทะ พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
๒. วิริยะ เพียรประกอบสิ่งนั้น
๓. จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ไม่วางธุระ
๔. วิมังสา หมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น

คุณ ๔ อย่างนี้ มีบริบูรณ์แล้ว จะชักนำบุคคลให้ถึงสิ่งที่ต้องประสงค์ซึ่งไม่เหลือวิสัย

ควรทำความไม่ประมาทในที่ ๔ สถาน
๑. ในการละกายทุจริต ประพฤติกายสุจริต
๒. ในการละวจีทุจริต ประพฤติวจีสุจริต
๓. ในการละมโนทุจริต ประพฤติมโนสุจริต
๔. ในการละความเห็นผิด ทำความเห็นให้ถูก

อีกอย่างหนึ่ง

๑. ระวังใจไม่ให้กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
๒. ระวังใจไม่ให้ขัดเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง
๓. ระวังใจไม่ให้หลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง
๔. ระวังใจไม่ให้มัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา

ปาริสุทธิศึล ๔
๑. ปาติโมกขสังวร สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำข้อที่พระองค์อนุญาต
๒. อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ปาก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ
๓. อาชีวปาริสุทธิ เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบ ไม่หลอกลวงเขาเลี้ยงชีวิต
๔. ปัจจยปัจจเวกขณะ พิจารณาเสียก่อนจึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช ไม่บริโภคด้วยตัณหา

อารักขกัมมัฏฐาน ๔
๑. พุทธานุสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ที่มีในพระองค์และทรงเกื้อกูลแก้ผู้อื่น
๒. เมตตา แผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า
๓. อสุภะ พิจารณาร่างกายตนและผู้อื่นให้เห็นเป็นไม่งาม
๔. มรณัสสติ นึกถึงความตายอันจะมีแก่ตน

กัมมัฏฐาน ๔ อย่างนี้ ควรเจริญเป็นนิตย์

พรหมวิหาร ๔
๑. เมตตาความรักใคร่ ปรารถนาจะให้เป็นสุข
๒. กรุณาความสงสาร คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์
๓. มุทิตาความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี
๔. อุเบกขาความวางเฉย ไม่ดีใจไม่เสียใจ เมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ

๔ อย่างนี้ เป็นเครื่องอยู่ของท่านผู้ใหญ่

สติปัฏฐาน ๔
๑. กายานุปัสสนา 
๒. เวทนานุปัสสนา
๓. จิตตานุปัสสนา 
๔. ธัมมานุปัสสนา

สติกำหนดพิจารณากายเป็นอารมณ์ว่า กายนี้ก็สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียก กายานุปัสสนา

สติกำหนดพิจารณาเวทนา คือ สุข ทุกข์ และไม่ทุกข์ไม่สุขเป็นอารมณ์ว่า เวทนานี้ก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียก เวทนานุปัสสนา

สติกำหนดพิจารณาใจที่เศร้าหมอง หรือผ่องแผ้วเป็นอารมณ์ว่า ใจนี้สักว่าใจ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียก จิตตานุปัสสนา

สติกำหนดพิจารณาธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล ที่บังเกิดกับใจเป็นอารมณ์ว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียก ธัมมานุปัสสนา

ธาตุกัมมัฏฐาน ๔ 
ธาตุ ๔ คือ
ธาตุดิน เรียก ปฐวีธาตุ
ธาตุน้ำ เรียก อาโปธาตุ
ธาตุไฟ เรียก เตโชธาตุ
ธาตุลม เรียก วาโยธาตุ

ธาตุอันใดมีลักษณะแข้นแข็ง ธาตุนั้นเป็นปฐวีธาตุ ปฐวีธาตุนั้นที่เป็นภายใน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า

ธาตุอันมีลักษณะเอิบอาบ ธาตุนั้นเป็นอาโปธาตุ อาโปธาตุนั้น ที่เป็นภายใน คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร

ธาตุอันมีลักษณะร้อน ธาตุนั้นเป็นเตโชธาตุ เตโชธาตุนั้น ที่เป็นภายใน คือ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย ไฟที่เผาอาหารให้ย่อย

ธาตุอันใดมีลักษณะพัดไปมา ธาตุนั้นเป็นวาโยธาตุ วาโยธาตุนั้น ที่เป็นภายใน คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัด ไปตามตัว ลมหายใจ

ความกำหนดพิจารณากายนี้ ให้เห็นว่าเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันอยู่ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เรียกว่า ธาตุกัมมัฏฐาน

อริยสัจ ๔
๑. ทุกข์ คือความทนอยู่ไม่ได้
๒. สมุทัย คือเหตุให้ทุกข์เกิด
๓. นิโรธ คือความดับทุกข์
๔. มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ได้ชื่อว่า ทุกข์ เพราะเป็นของทนได้ยาก

ตันหาคือความทะยานอยาก ได้ชื่อว่า สมุทัย เพราะเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด

ตันหานั้น มีประเภทเป็น ๓ คือตัณหาความอยากในอารมณ์ที่น่ารักใคร่ เรียกว่า กามตัณหา อย่าง ๑ ตัณหาความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ เรียกว่า ภวตัณหา อย่าง ๑ ตัณหาความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ เรียกว่า วิภวตัณหา อย่าง ๑

ความดับตัณหาได้สิ้นเชิง ทุกข์ดับไปหมดได้ชื่อว่า นิโรธ เพราะเป็นความดับทุกข์

ปัญญาอันเห็นชอบว่าสิ่งนี้ทุกข์ สิ่งนี้เหตุให้ทุกข์เกิด สิ่งนี้ทางให้ถึงความดับทุกข์ ได้ชื่อว่า มรรค เพราะเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

มรรคนั้นมีองค์ ๘ ประการ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ ทำการงานชอบ ๑ เลี้ยงชีพชอบ ๑ ทำความเพียรชอบ ๑ ตั้งสติชอบ ๑ ตั้งใจชอบ ๑

ปัญจกะ คือ หมวด ๕

อนันตริยกรรม ๕
๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป
๕. สังฆเภท ยังสงฆ์ให้แตกจากกัน

กรรม ๕ อย่างนี้ เป็นบาปอันหนักที่สุดห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน ตั้งอยู่ในฐานปาราชิกของผู้ถือพระพุทธศาสนา ห้ามไม่ให้ทำเป็นเด็ดขาด

อภิณหปัจจเวกขณ์ ๕
๑. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
๒. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้
๓. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
๔. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
๕. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว

เวสารัชชกรณธรรม คือ ธรรมทำความกล้าหาญ ๕ อย่าง
๑. สัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ
๒. สีล รักษากายวาจาให้เรียบร้อย
๓. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ศึกษามาก
๔. วิริยารัมภะ ปรารภความเพียร
๕. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้

องค์แห่งภิกษุใหม่ ๕ อย่าง
๑. สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต
๒. สำรวมอินทรีย์ คือ ระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้ายครอบงำได้ ในเวลาที่เห็นรูปด้วยนัยน์ตาเป็นต้น
๓. ความเป็นคนไม่เอิกเกริกเฮฮา
๔. อยู่ในเสนาเสนะอันสงัด
๕. มีความเห็นชอบ

ภิกษุใหม่ควรตั้งอยู่ในธรรม ๕ อย่างนี้

องค์แห่งธรรมกถึก คือ นักเทศก์ ๕ อย่าง
๑. แสดงธรรมโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ
๒. อ้างเหตุผลแนะนำให้ผู้ฟังเข้าใจ
๓. ตั้งจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง
๔. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ
๕. ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น คือว่า ไม่ยกตนเสียดสีผู้อื่น

ภิกษุผู้ได้ธรรมกถึก พึงตั้งองค์ ๕ อย่างนี้ไว้ในตน

ธัมมัสสวนานิสงส์ คือ อานิสงส์แห่งการฟังธรรม ๕ อย่าง
๑. ผู้ฟังธรรมย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๒. สิ่งใดได้เคยฟังแล้ว แต่ไม่เข้าใจชัดย่อมเข้าใจสิ่งนั้นชัด
๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้
๔. ทำความเห็นให้ถูกต้องได้
๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส

พละ คือ ธรรมเป็นกำลัง ๕ อย่าง
๑. สัทธา ความเชื่อ
๒. วิริยะ ความเพียร
๓. สติ ความระลึกได้
๔. สมาธิ ความตั้งใจมั่น
๕. ปัญญา ความรอบรู้

อินทรีย์ ๕ ก็เรียก เพราะเป็นใหญ่ในกิจของตน

นิวรณ์ ๕
๑. พอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจมีรู้เป็นต้น เรียก กามฉันท์
๒. ปองร้ายผู้อื่น เรียก พยาบาท
๓. ความที่จิตใจหดหู่และเคลิบเคลิ้ม เรียก ถีนมิทธะ
๔. ฟุ้งซ่านและรำคาญ เรียก อุทธัจจกุกุจจะ
๕. ลังเลไม่ตกลงได้ เรียก วิจิกิจฉา

๕ อย่างนี้ เป็นสิ่งอันกั้นจิตไม่ให้บรรลุธรรม 

ขันธ์ ๕
๑. รูป 
๒. เวทนา 
๓. สัญญา 
๔. สังขาร 
๕. วิญญาณ

กายกับใจนี้ แบ่งออกเป็น ๕ กอง เรียกว่า ขันธ์ ๕
รูป คือธาตุ ๔  ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันเป็นกายนี้

ความรู้สึกอารมณ์ว่า เป็นสุข คือ สบายกาย สบายใจ หรือเป็นทุกข์ คือไม่สบายกาย ไม่สบายใจ หรือเฉยๆ คือไม่ทุกข์ไม่สุข เรียกว่า เวทนา

ความจำได้หมายรู้ คือ จำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อารมณ์ที่เกิดกับใจได้ เรียก สัญญา

เจตสิกธรรม คือ อารมณ์ที่เกิดกับใจ เป็นส่วนดี เรียก กุศล เป็นส่วนชั่ว เรียก อกุศล เป็นส่วนกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เรียก อัพยากฤต เรียกว่า สังขาร

ความรู้อารมณ์ในเวลาเมื่อรู้มากระทบตา เป็นต้น เรียกว่า วิญญาณ

ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ ย่นเรียกว่า นามรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมเข้าเป็นนาม รูปคงเป็นรูป

ฉักกะ คือ หมวด ๖

คารวะ ๖ อย่าง
๑. ในพระพุทธเจ้า 
๒. ในพระธรรม 
๓. ในพระสงฆ์ 
๔. ในความศึกษา 
๕. ในความไม่ประมาท 
๖. ในปฏิสันถาร คือต้อนรับปราศรัย 

คาราวะคือ 
การเคารพนับถือในสิ่งสำคัญ ภิกษุควรทำคารวะ ๖ ประการนี้ 

สาราณิยธรรม ๖ อย่าง
ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง เรียกสาราณิยธรรม มี ๖ อย่าง คือ
๑. เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยขวนขวายกิจธุระของเพื่อนกันด้วยกาย มีพยาบาลภิกษุไข้เป็นต้น ด้วยจิตเมตตา
๒. เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยขวนขวายในกิจธุระของเพื่อนกันด้วยวาจา เข่นกล่าวคำสั่งสอนเป็นต้น ด้วยจิตเมตตา
๓. เข้าไปตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนกัน
๔. แบ่งปันลาภที่ตนได้มาแล้วโดยชอบธรรมให้แก่เพื่อนภิกษุสามเณร ไม่หวงไว้บริโภคจำเพาะผู้เดียว
๕. รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนภิกษุสามเณรอื่นๆ ไม่ทำตนให้เป็นที่รังเกียจของผู้อื่น
๖. มีความเห็นร่วมกันกับภิกษุสามเณรอื่นๆ ไม่วิวาทกับใครๆ เพราะมีความเห็นผิดกัน

ธรรม ๖ อย่างนี้ ทำผู้ประพฤติให้เป็นที่รักที่เคารพของผู้อื่น เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กันและกัน เป็นไปเพื่อความไม่วิวาทกันและกัน เป็นไปเพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

อายตนะภายใน ๖
๑. ตา 
๒. หู 
๓. จมูก 
๔. ลิ้น 
๕. กาย 
๖. ใจ 
อายตนะภายใน ๖ หรือจะเรียกว่า อินทรีย์ ๖ ก็ได้

อายตนะภายนอก ๖
๑. รูป 
๒. เสียง 
๓. กลิ่น 
๔. รส 
๕. โผฏฐัพพะ คือ อารมณ์ที่มาถูกต้องกาย 
๖. ธรรมารมณ์ คืออารมณ์เกิดกับใจ 
อายตนะภายนอก ๖ หรือจะเรียกว่า อารมณ์ ๖ ก็ได้

วิญญาณ ๖
๑. จักขุวิญญาณ อาศัยรูปกระทบตา เกิดความรับรู้ขึ้น
๒. โสตวิญญาณ อาศัยเสียงกระทบหู เกิดความรับรู้ขึ้น
๓. ฆานวิญญาณ อาศัยกลิ่นกระทบจมูก เกิดความรับรู้ขึ้น
๔. ชิวหาวิญญาณ อาศัยรสกระทบลิ้น เกิดความรับรู้ขึ้น
๕. กายวิญญาณ อาศัยโผฏฐัพพะกระทบกาย เกิดความรับรู้ขึ้น 
๖. มโนวิญญาณ อาศัยอารมณ์กระทบกับใจ เกิดความรับรู้ขึ้น 

สัมผัส ๖
อายตนะภายในมีตาเป็นต้น อายตนะภายนอกมีรูปเป็นต้น วิญญาณมีจักขุวิญญาณเป็นต้น กระทบกันเรียกสัมผัส มีชื่อตามอายตนะภายใน เป็น ๖ คือ
๑. จักขุ 
๒. โสต 
๓. ฆาน 
๔. ชิวหา 
๕. กาย 
๖. มโน

เวทนา ๖
สัมผัสนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เป็นสุขบ้างทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง มีชื่อตามอายตนะภายในเป็น ๖ คือ
๑. จักขุ
๒. โสต 
๓. ฆาน 
๔. ชิวหา 
๕. กาย 
๖. มโน

ธาตุ ๖
๑. ปฐวีธาตุ คือ ธาตุดิน
๒. อาโปธาตุ คือ ธาตุน้ำ
๓. เตโชธาตุ คือ ธาตุไฟ
๔. วาโยธาตุ คือ ธาตุลม
๕. อากาสธาตุ คือ ช่องว่างมีในกาย
๖. วิญญาณธาตุ คือ ความรู้อะไรก็ได้

สัตตกะ คือ หมวด ๗

อปริหานิยธรรม ๗ อย่าง
ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว ชื่อว่า อปรหานิยธรรม มี ๗ อย่าง
๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
๒. เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิก และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ
๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติขึ้น ไม่ถอนสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้แล้ว สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบทตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้
๔. ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่เป็นประธานในสงฆ์ เคารพนับถือภิกษุเหล่านั้น เชื่อฟังถ้อยคำของท่าน
๕. ไม่ลุอำนาจแก่ความอยากที่เกิดขึ้น
๖. ยินดีในเสนาสนะป่า
๗. ตั้งใจอยู่ว่า เพื่อนภิกษุสามเณรซึ่งเป็นผู้มีศีล ซึ่งยังไม่มาสู่อาวาส ขอให้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข

ธรรม ๗ อย่างนี้ ตั้งอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นไม่มีความเสื่อมเลย มีแต่ความเจริญฝ่ายเดียว

อริยทรัพย์ ๗
๑. สัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ
๒. สีล รักษา กาย วาจา ให้เรียบร้อย
๓. หิริ ความละอายต่อบาปทุจริต
๔. โอตตัปปะ สะดุ้งกลัวต่อบาป
๕. พาหุสัจจะ ความเป็นคนเคยได้ยินได้ฟังมาก คือ จำทรงธรรมและรู้ศิลปวิทยามาก
๖. จาคะ สละให้ปันสิ่งของของตนให้แก่คนที่ควรให้ปัน
๗. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์
ทรัพย์ทั้ง ๗อย่างนี้ คือคุณความดีที่มีอยู่ในสันดาน ประเสริฐกว่าทรัพย์ใดๆในโลก

สัปปุริสธรรม ๗ อย่าง
ธรรมของสัตบุรุษ เรียกว่า สัปปุริสธรรม มี ๗ อย่าง
๑. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่น รู้จักว่า สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์
๒. อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล เช่นรู้จักว่า สุขเป็นผลแห่งเหตุอันใด ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันใด
๓. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตนว่า เราว่าโดยชาติตระกูล ยศศักดิ์สมบัติบริวารความรู้และคุณธรรมเพียงเท่านี้ๆ แล้วประพฤติตนให้สมควรแก่ที่เป็นอยู่อย่างไร
๔. มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้ประมาณ ในการแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีวิต แต่โดยทางที่ชอบ และรู้จักประมาณในการบริโภคแต่พอควร
๕. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาอันสมควรในอันประกอบกิจนั้นๆ
๖. ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชนและกริยาที่ต้องประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่าหมู่นี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกริยาอย่างนี้ จะต้องพูดแบบนี้ เป็นต้น
๗. ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคลว่า ผู้นี้เป็นผู้ดี ควรคบ ผู้นี้เป็นคนไม่ดี ไม่ควรคบ เป็นต้น

สัปปุริสธรรมอีก ๗ อย่าง
๑. สัตบุรุษประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ คือ มีศรัทธา มีความละอายต่อบาป มีความกลัวบาป เป็นคนได้ยินได้ฟังมาก เป็นคนมีความเพียร เป็นคนมีสติมั่นคง เป็นคนมีปัญญา
๒. จะปรึกษาสิ่งใดกับใครๆ ก็ไม่ปรึกษาเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๓. จะคิดสิ่งใดก็ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๔. จะพูดสิ่งใดก็พูดเพื่อไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น
๕. จะทำสิ่งใดก็ไม่ทำเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๖. มีความเห็นชอบ มีเห็นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
๗. ให้ทานโดยเคารพ คือเอื้อเฟื้อแก่ของที่ตัวเองให้ และผู้รับทานนั้น ไม่ทำอาการดุจทิ้งเสีย

โพชฌงค์ ๗
๑. สติ ความระลึกได้
๒. ธัมมวิจยะ ความสอดส่องธรรม
๓. วิริยะ ความเพียร
๔. ปีติ ความอิ่มใจ
๕. ปัสสัทธิ ความสงบใจและอารมณ์
๖. สมาธิ ความตั้งใจมั่น
๗. อุเปกขา ความวางเฉย
รียกตามประเภทว่า สติสัมโพชฌงค์ไปโดยลำดับจนถึงอุเปกขาสัมโพชฌงค์

อัฏฐกะ คือ หมวด ๘

โลกธรรม ๘
ธรรมที่ครอบงำสัตว์โลกอยู่ และสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามธรรมนั้น เรียกว่าโลกธรรม โลกธรรมนั้นมี ๘ อย่าง คือ
๑. มีลาภ
๒. เสื่อมลาภ
๓. มียศ
๔. เสื่อมยศ
๕. ถูก
สรรเสริญ
๖. ถูกนินทา
๗. มีสุข
๘. มีทุกข์
ในโลกธรรม ๘ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ควรพิจารณาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรรู้ตามที่เป็นจริง อย่าให้มันครอบงำจิตได้ คืออย่ายินดีในส่วนที่ปรารถนา อย่ายินร้ายในส่วนที่ไม่ปรารถนา

ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการ
๑. ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ
๒. เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์
๓. เป็นไปเพื่อความไม่สละกองกิเลส
๔. เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่
๕. เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษยินดีด้วยของมีอยู่ คือ มีนี่แล้วอยากได้นั่น
๖. เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
๗. เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
๘. เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก
ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่า ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา

๑. ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด
๒. เป็นไปเพื่อความปราศจากทุกข์
๓. เป็นไปเพื่อความสละกองกิเลส
๔. เป็นไปเพื่อความไม่อยากได้อยากเป็น
๕. เป็นไปเพื่อความสันโดษยินดีด้วยของมีอยู่
๖. เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่
๗. เป็นไปเพื่อความเพียร
๘. เป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย
ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่า เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา

มรรคมีองค์ ๘
๑. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ คือเห็น อริยสัจ ๔
๒. สัมมาสังกัปปะดำริชอบ คือ ดำริจะออกจากกาม ๑ ดำริในอันไม่พยาบาท ๑ ดำริในอันไม่เบียดเบียน ๑
๓. สัมมาวาจาเจรจาชอบ คือเว้นจากวจีทุจริต ๔
๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ คือเว้นจากกายทุจริต ๓
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือเว้นจากความเลี้ยงชีวิตโดยทางที่ผิด
๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือเพียรในที่ ๔ สถาน
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือระลึกในสติปัฏฐานทั้ง ๔
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจไว้ชอบ คือเจริญฌานทั้ง ๔
ในองค์มรรคทั้ง ๘ นั้น เห็นชอบ ดำริชอบ สงเคราะห์เข้าใน ปัญญาสิกขา วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ สงเคราะห์เข้าใน สีลสิกขา เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจไว้ชอบ สงเคราะห์เข้าใน จิตตสิกขา


นวกะ คือ หมวด ๙ 

มละ ๙

คือ มลทิน ๙ อย่าง
๑. โกรธ
๒. ลบหลู่คุณท่าน
๓. ริษยา
๔. ตระหนี่
๕. มายา
๖. มักอวด
๗. พูดปด
๘. มีความปรารถนาลามก
๙. เห็นผิด

ทสกะ คือ หมวด ๑๐

อกุศลกรรมบถ ๑๐
กรรมทั้ง ๑๐ อย่างที่เป็นทางบาป ไม่ควรดำเนิน
จัดเป็นกายกรรม คือทำด้วยกาย ๓ อย่าง
๑. ปาณาติบาต ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง คือฆ่าสัตว์
๒. อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย
๓. กาเมสุ มิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม

จัดเป็นวจีกรรม คือทำด้วยวาจา ๔ อย่าง
๔. มุสาวาท พูดเท็จ
๕. ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด
๖. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ
๗. สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ

จัดเป็นมโนกรรม คือทำด้วยใจ ๓ อย่าง
๘. อภิชฌา โลภอยากได้ของเขา
๙. พยาบาท ปองร้ายเขา
๑๐. มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากคลองธรรม

กุศลกรรมบถ ๑๐
กรรม ๑๐ อย่างที่เป็นทางบุญ ควรดำเนิน
จัดเป็นกายกรรม คือทำด้วยกาย ๓ อย่าง
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง
๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย
๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม

จัดเป็นวจีกรรม คือทำด้วยวาจา ๔ อย่าง
๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ
๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดส่อเสียด
๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดคำหยาบ
๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ

จัดเป็นมโนกรรม คือทำด้วยใจ ๓ อย่าง
๘. อภิชฌา ไม่โลภอยากได้ของเขา
๙. พยาบาท ไม่พยาบาทปองร้ายเขา
๑๐. มิจฉาทิฏฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่าง
๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติถ่อมตนแก่ผู้ใหญ่
๕. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายในกิจที่ชอบ
๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ
๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ
๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม
๙. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม
๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง

ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ๑๐ อย่าง
๑. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ
๒. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า ความเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย
๓. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า อาการ กาย วาจาอย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้
๔. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า ตัวของเราเองติเตียนตัวของเราเองโดยศีลได้หรือไม่
๕. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า ผู้รู้ใคร่ครวญแล้ว ติเตียนเราโดยศีลได้หรือไม่
๖. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น
๗. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว
๘. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
๙. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรายินดีที่สงัดหรือไม่
๑๐. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า คุณวิเศษของเรามีอยู่หรือไม่ ที่จะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขินในเวลาเพื่อนบรรพชิตถามในกาลภายหลัง

นาถกรณธรรม คือ ธรรมที่พึ่ง ๑๐ อย่าง
๑. ศีล รักษากายวาจาให้เรียบร้อย
๒. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้สดับตรับฟังมาก
๓. กัลยาณมิตตตา ความเป็นผู้มีเพื่อนดีงาม
๔. โสวจัสสตา ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย
๕. กิงกรณีเยสุ ทักขตา ความขยันช่วยเอาใจใส่ในกิจธุระของเพื่อนภิกษุสามเณร
๖. ธัมกามตา ความใคร่ในธรรมที่ชอบ
๗. วิริยะ เพียรเพื่อจะละความชั่ว ประพฤติความดี
๘. สันโดษ ยินดีด้วยผ้านุ่งผ้าห่ม อาหาร ที่นอนที่นั่งและยา ตามมีตามได้
๙. สติ จำการที่ได้ทำและคำที่พูดแล้วแม้นานได้
๑๐. ปัญญา รอบรู้ในกองสังขารตามเป็นจริงอย่างไร

กถาวัตถุคือถ้อยคำที่ควรพูด ๑๐ อย่าง
๑. อัปปิจฉกถา ถ้อยคำที่ชัดนำให้มีความปรารถนาน้อย
๒. สันตุฏฐิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีสันโดษ ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
๓. ปวิเวกกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้สงัดกายสงัดใจ
๔. อสังสัคคกถา ถ้อยคำที่ชักนำไม่ให้ระคนด้วยหมู่
๕. วิริยารัมภกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ปรารภความเพียร
๖. สีลกถา ถ้อยคำที่ชัดนำให้ตั้งอยู่ในศีล
๗. สมาธิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้สงบ
๘. ปัญญากถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดปัญญา
๙. วิมุตติกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้พ้นจากกิเลส
๑๐. วิมุตติญาณทัสสนกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดความรู้ความเห็นในความที่ใจพ้นจากกิเลส

อนุสสติ คือ อารมณ์ควรระลึก ๑๐ ประการ
๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า
๒. ธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม
๓. สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์
๔. สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของตน
๕. จาคานุสสติ ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว
๖. เทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดา
๗. มรณัสสติ ระลึกถึงความตายที่จะมาถึงตน
๘. กายคตาสติ ระลึกทั่วไปในกาย ให้เห็นว่า ไม่งาม น่าเกลียด โสโครก
๙. อานาปานสติ ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
๑๐. อุปสมานุสสติ ระลึกถึงพระคุณพระนิพพาน ซึ่งเป็นที่ระงับกิเลสและกองทุกข์

ปกิณณกะ คือ หมวดเบ็ดเตล็ด

อุปกิเลส ๑๖
คือ โทษเครื่องเศร้าหมอง ๑๖ อย่าง
๑. อภิชฌาวิสมโลภะ ละโมบไม่สม่ำเสมอ
๒. โทสะ ร้ายกาจ
๓. โกธะ โกรธ
๔. อุปนาหะ ผูกโกรธไว้
๕. มักขะ ลบหลู่คุณท่าน
๖. ปลาสะ ตีเสมอ คือยกตัว
๗. อิสสา ริษยา คือเห็นเขาได้ดี ทนอยู่ไม่ได้
๘. มัจฉริยะ ตระหนี่
๙. มายา มารยา คือเจ้าเล่ห์
๑๐. สาเถยยะโอ้อวด
๑๑. ถัมภะ หัวดื้อ
๑๒. สารัมภะ แข่งดี
๑๓. มานะ ถือตัว
๑๔. อติมานะ ดูหมิ่นท่าน
๑๕. มทะ มัวเมา
๑๖. ปมาทะ เลินเล่อ

โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ 
สติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔
อินทรีย์ ๕
พละ ๕
โพชฌงค์ ๗
มรรคมีองค์ ๘
ทั้ง ๓๗ นี้คือองค์แห่งการตรัสรู้

กรรมกิเลส คือ กรรมเครื่องเศร้าหมอง ๔ อย่าง
๑. ปาณาติบาต ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง
๒. อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย
๓. กาเมสุ มิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม
๔. มุสาวาท พูดเท็จ
กรรม ๔ อย่างนี้ นักปราชญ์ไม่สรรเสริญเลย

อบายมุข คือ เหตุเครื่องฉิบหาย ๔ อย่าง
๑. ความเป็นนักเลงหญิง
๒. ความเป็นนักเลงสุรา
๓. ความเป็นนักเลงเล่นการพนัน
๔. ความคบคนชั่วเป็นมิตร
โทษ ๔ ประการนี้ไม่ควรประกอบ

ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน ๔ อย่าง
๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่นในการประกอบกิจเครื่องเลี้ยงชีวิตก็ดี ในการศึกษาเล่าเรียนก็ดี ในการทำธุระหน้าที่ของตนก็ดี
๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือรักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ด้วยความหมั่น ไม่ให้เป็นอันตรายก็ดี รักษาการงานของตัว ไม่ให้เสื่อมเสียไปก็ดี
๓. กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดีไม่คบคนชั่ว
๔. สมชีวิตา ความเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่ให้ฟูมฟายนัก

สัมปรายิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ภายหน้า ๔ อย่าง
๑. สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ เช่นเชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเป็นต้น
๒. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล คือรักษากายวาจาเรียบร้อยดี ไม่มีโทษ
๓. จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน เป็นการเฉลี่ยสุขให้แก่ผู้อื่น
๔. ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา รูจัก บาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น

มิตตปฏิรูป คือ คนเทียมมิตร ๔ จำพวก
๑. คนปอกลอก
๒. คนดีแต่พูด
๓. คนหัวประจบ
๔. คนชักชวนในทางฉิบหาย
คน ๔ จำพวกนี้ ไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร ไม่ควรคบ

คนปอกลอก มีลักษณะ ๔
๑. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
๒. เสียให้น้อยคิดเอาให้ได้มาก
๓. เมื่อมีภัยแก่ตัว จึงรับเอากิจของเพื่อน
๔. คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว

คนดีแต่พูด มีลักษณะ ๔
๑. เก็บเอาของล่วงแล้วมาปราศรัย
๒. อ้างเอาของที่ยังไม่มีมาปราศรัย
๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้
๔. ออกปากพึ่งมิได้

คนหัวประจบ มีลักษณะ ๔
๑. จะทำชั่วก็คล้อยตาม
๒. จะทำดีก็คล้อยตาม
๓. ต่อหน้าว่าสรรเสริญ
๔. ลับหลังตั้งนินทา

คนชักนำในทางฉิบหาย มีลักษณะ ๔
๑. ชักชวนดื่มน้ำเมา
๒. ชักชวนเที่ยวกลางคืน
๓. ชักชวนให้มัวเมาในการเล่น
๔. ชักชวนเล่นการพนัน

มิตรแท้ ๔ จำพวก
๑. มิตรมีอุปการะ
๒. มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข
๓. มิตรแนะนำประโยชน์
๔. มิตรมีความรักใคร่
มิตร ๔ จำพวกนี้เป็นมิตรแท้ ควรคบ

มิตรมีอุปการะ มีลักษณะ ๔
๑. ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
๒. ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
๓. เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้
๔. เมื่อมีธุระ ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก

มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข มีลักษณะ ๔
๑. ขยายความลับของตนแก่เพื่อน
๒. ปิดความลับของเพื่อนไม่ให้แพร่งพราย
๓. ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ
๔. แม้ชีวิตก็อาจสละแทนได้

มิตรแนะนำประโยชน์ มีลักษณะ ๔
๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
๒. แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๔. บอกทางสวรรค์ให้

มิตรมีความรักใคร่ มีลักษณะ ๔
๑. ทุกข์ ๆ ด้วย
๒. สุข ๆ ด้วย
๓. โต้เถียงคนอื่นที่ติเตียนเพื่อน
๔. รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน

สังคหวัตถุ ๔ อย่าง
๑. ทาน ให้ปันสิ่งของ ๆ ตนแก่ผู้อื่นที่ควรให้ปัน
๒. ปิยวาจา เจรจาวาจาที่อ่อนหวาน
๓. อัตถจริยา ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
๔. สมานัตตตา ความเป็นคนมีตนเสมอไม่ถือตัว
คุณทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของผู้อื่นไว้ได้

สุขของคฤหัสถ์ ๔ อย่าง
๑. สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์
๒. สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค
๓. สุขเกิดแต่ความไม่ต้องเป็นหนี้
๔. สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ

ความปรารถนาของบุคคลในโลกที่ได้สมหมายด้วยยาก ๔ อย่าง
๑. ขอสมบัติจงเกิดแก่เราโดยทางชอบ
๒. ขอยศจงเกิดแก่เรากับญาติพวกพ้อง
๓. ขอเราจงรักษาอายุให้ยืนนาน
๔. เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ขอเราจงไปบังเกิดในสวรรค์

ธรรมเป็นเหตุให้สมหมายมีอยู่ ๔ อย่าง
๑. สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา
๒. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล
๓. จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยบริจาคทาน
๔. ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา

ตระกูลอันมั่นคงจะตั้งอยู่นานไม่ได้เพราะสถาน ๔
๑. ไม่แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว
๒. ไม่บูรณะพัสดุที่คร่ำคร่า
๓. ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคสมบัติ
๔. ตั้งสตรีให้บุรุษทุศีลให้เป็นแม่เรือนพ่อเรือน
ผู้หวังจะดำรงตระกูลควรเว้นสถาน ๔ ประการนี้เสีย

ธรรมของฆราวาส ๔
๑. สัจจะ สัตย์ซื่อแก่กัน
๒. ทมะ รู้จักข่มจิตของตน
๓. ขันติ อดทน
๔. จาคะ สละให้ปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่นที่ควรให้ปัน

ปัญจกะ
ประโยชน์เกิดแต่การถือโภคทรัพย์ ๕ อย่าง
แสวงหาโภคทรัพย์ได้ในทางที่ชอบแล้ว
๑. เลี้ยงตัว มารดา บิดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ ให้เป็นสุข
๒. เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข
๓. บำบัดอันตรายที่เกิดแต่เหตุต่างๆ
๔. ทำพลี ๕ อย่าง คือ

ก. ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ
ข. อติถิพลี ต้อนรับแขก
ค. ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย
ง. ราชพลี ถวายเป็นหลวง มีภาษีอากร เป็นต้น
จ. เทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา

ศีล ๕
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป
๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย
๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม
๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ
๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เว้นจากดื่มน้ำเมา คือสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ศีล ๕ ประการนี้ คฤหัสถ์ควรรักษาเป็นนิตย์

มิจฉาวณิชชา คือการค้าขายไม่ชอบธรรม ๕ อย่าง
๑. ค้าขายเครื่องประหาร
๒. ค้าขายมนุษย์
๓. ค้าขายสัตว์เป็น สำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร
๔. ค้าขายน้ำเมา
๕. ค้าขายยาพิษ
การค้าขาย ๕ อย่างนี้ เป็นข้อห้ามอุบาสกไม่ให้ประกอบ

สมบัติของอุบาสก ๕ ประการ
๑. ประกอบด้วยศรัทธา
๒. มีศีลบริสุทธิ์
๓. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือเชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล
๔. ไม่แสวงหาเขตบุญนอกพุทธศาสนา
๕. บำเพ็ญบุญแต่ในพุทธศาสนา
อุบาสกพึ่งตั้งอยู่ในสมบัติ ๕ ประการ และเว้นจากสมบัติ ๕ ประการ ซึ่งวิปริตจากสมบัตินั้น

ทิศ ๖
๑. ปุรัตถิมทิส คือทิศเบื้องหน้า มารดา บิดา
๒. ทักขิณทิส คือทิศเบื้องขวา อาจารย์
๓. ปัจฉิมทิส คือทิศเบื้องหลัง บุตร ภรรยา
๔. อุตตรทิส คือทิศเบื้องซ้าย มิตร
๕. เหฏฐิมทิส คือทิศเบื้องต่ำ บ่าว
๖. อุปริมทิส คือทิศเบื้องบน สมณพราหมณ์

ปุรัตถิมทิส คือทิศเบื้องหน้า มารดา บิดา บุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕
๑.ท่านได้เลี้ยงมาแล้วเลี้ยงท่านตอบ
๒. ทำกิจของท่าน
๓. ดำรงวงศ์สกุล
๔. ประพฤติตนให้เป็นคนควรรับทรัพย์มรดก
๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

มารดาบิดาได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕
๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
๔. หาภรรยาที่สมควรให้
๕. มอบทรัพย์ให้ในสมัย

ทักขิณทิส คือทิศเบื้องขวา อาจารย์ ศิษย์พึงบำรุงด้วยสถาน ๕
๑. ด้วยลุกขึ้นยืนรับ
๒. ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้
๓. ด้วยเชื่อฟัง
๔. ด้วยอุปัฏฐาก
๕. ด้วยศิลปวิทยาโดยเคารพ

อาจารย์ได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยสถาน ๕
๑. แนะนำดี
๒. ให้เรียนดี
๓. บอกศิลปให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง
๔. ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง
๕. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย (คือจะไปทิศไหนก็ไม่อดอยาก)

ปัจฉิมทิส คือทิศเบื้องหลัง ภรรยา สามีพึงบำรุงด้วยสถาน ๕
๑. ด้วยยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา
๒. ด้วยไม่ดูหมิ่น
๓. ด้วยไม่ประพฤติล่วงใจ
๔. ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้
๕. ด้วยให้เครื่องแต่งตัว

ภรรยาได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕
๑. จัดการงานดี
๒. สงเคราะห์คนข้างเคียงของผัวดี
๓. ไม่ประพฤติล่วงใจผัว
๔. รักษาทรัพย์ที่ผัวหามาได้ไว้
๕. ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง

อุตตรทิส คือทิศเบื้องซ้าย มิตร กุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕
๑. ด้วยให้ปัน
๒. ด้วยเจรจาถ้อยคำไพเราะ
๓. ด้วยประพฤติประโยชน์
๔. ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ
๕. ด้วยไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความเป็นจริง

มิตรได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๕
๑. รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว
๒. รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว
๓. เมื่อมีภัยเอาเป็นที่พึ่งพำนักได้
๔. ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ
๕. นับถือตลอดถึงวงศ์มิตร

เหฏฐิมทิส คือทิศเบื้องต่ำ บ่าว นายพึงบำรุงด้วยสถาน ๕
๑. ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง
๒. ด้วยให้อาหารและรางวัล
๓. ด้วยรักษาพยาบาลในเวลาเจ็บป่วย
๔. ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน
๕. ด้วยปล่อยให้สมัย

บ่าวได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕
๑. ลุกขึ้นทำการงานก่อนนาย
๒. เลิกการงานทีหลังนาย
๓. ถือเอาแต่ของที่นายให้
๔. ทำการงานให้ดีขึ้น
๕. นำคุณของนายไปสรรเสริญในที่นั้นๆ

อุปริมทิส คือทิศเบื้องบนสมณพราหมณ์ กุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕
๑. ด้วยกายกรรม คือทำอะไรๆ ประกอบด้วยเมตตา
๒. ด้วยวจีกรรม คือพูดอะไรๆ ประกอบด้วยเมตตา
๓. ด้วยมโนกรรม คือคิดอะไรๆ ประกอบด้วยเมตตา
๔. ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู คือมิได้ห้ามเข้าบ้านเรือน
๕. ด้วยให้อามิสทาน

สมณพราหมณ์ได้รับบำรุงฉะนี้ ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๖
๑. ห้ามไม่ให้กระทำความชั่ว
๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม
๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๕. ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่ม
๖. บอกทางสวรรค์ให้

อบายมุข คือเหตุเครื่องฉิบหาย ๖
๑. ดื่มน้ำเมา
๒. เที่ยวกลางคืน
๓. เที่ยวดูการเล่น
๔. เล่นการพนัน
๕. คบคนชั่วเป็นมิตร
๖. เกียจคร้านทำการงาน

ดื่มน้ำเมา มีโทษ ๖
๑. เสียทรัพย์
๒. ก่อการทะเลาะวิวาท
๓. เกิดโรค
๔. ต้องติเตียน
๕. ไม่รู้จักอาย
๖. ทอนกำลังปัญญา

เที่ยวกลางคืน มีโทษ ๖
๑. ชื่อว่าไม่รักษาตัว
๒. ชื่อว่าไม่รักษาลูกเมีย
๓. ชื่อว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติ
๔. เป็นที่ระแวงของคนทั้งหลาย
๕. มักถูกใส่ความ
๖. ได้ความลำบากมาก

เที่ยวดูการเล่น มีโทษตามวัตถุที่ไปดู ๖
๑. รำที่ไหนไปที่นั่น
๒. ขับร้องที่ไหนไปที่นั่น
๓. ดีดสีตีเป่าที่ไหนไปที่นั่น
๔. เสภาที่ไหนไปที่นั่น
๕. เพลงที่ไหนไปที่นั่น
๖. เถิดเทิงที่ไหนไปที่นั่น

เล่นการพนัน มีโทษ ๖
๑. เมื่อชนะย่อมก่อเวร
๒. เมื่อแพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป
๓. ทรัพย์ย่อมฉิบหาย
๔. ไม่มีใครเชื่อถือถ้อยคำ
๕. เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อน
๖. ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย

คบคนชั่วเป็นมิตร มีโทษตามบุคคลที่คบ ๖
๑. นำให้เป็นนักเลงการพนัน
๒. นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้
๓. นำให้เป็นนักเลงเหล้า
๔. นำให้เป็นคนลวงเขาด้วยของปลอม
๕. นำให้เป็นคนลวงเขาซึ่งหน้า
๖. นำให้เป็นคนหัวไม้

เกียจคร้านการทำงาน มีโทษ ๖
๑. มักอ้างว่า หนาวนัก แล้วไม่ทำการงาน
๒. มักอ้างว่า ร้อนนัก แล้วไม่ทำการงาน
๓. มักอ้างว่า เวลาเย็นแล้ว แล้วไม่ทำการงาน
๔. มักอ้างว่า ยังเช้าอยู่ แล้วไม่ทำการงาน
๕. มักอ้างว่า หิวนัก แล้วไม่ทำการงาน
๖. มักอ้างว่า กระหายนัก แล้วไม่ทำการงาน

ผู้หวังความเจริญด้วยโภคทรัพย์ พึงเว้นเหตุเครื่องฉิบหาย ๖ ประการนี้เสีย




ที่มาการแบ่งนิกายของพุทธ

ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้มีพระมหาเถระได้นิพพานก่อนไปแล้วหลายองค์ เช่น พระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย พระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวา พระอัญญาโกณฑัญญะ พระอุรุเวลกัสสปะ เป็นต้น ฝ่ายคฤหัสถ์หลายท่านก็ได้สวรรคตไปก่อน เช่น พระเจ้าสุทโธทนะ พระเจ้าปัสเสนทิโกศล พระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น ส่วนพระมหาเถระที่ยังเหลืออยู่เป็นกำลังสำคัญต่อมาคือ พระมหากัสสปะ พระอานนท์ พระอนุรุทธะ เป็นต้น

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพานแล้ว โทณพราหมณ์ก็ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนแล้วมอบให้แก่เมืองต่าง ๆ ที่ส่งตัวแทนมาขอ เหตุการณ์อันเป็นรอยร้าวของคณะสงฆ์ก็เริ่มเกิดขึ้นจากบุคคล ๒ คน คือ พระสุภัททะบรรพชิตผู้เฒ่าและพระปุราณกับพวก อันนำไปสู่การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก

การสังคายนาครั้งที่ ๑
 

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว และเมื่อข่าวนี้กระจายออกไปทั่วชมพูทวีปทั้งหมด พุทธศาสนิกชนต่างร่ำให้โศกาดูร พระสาวกที่เป็นปุถุชนก็เช่นกัน ต่างร่ำไห้ถึงการจากไปของพระพุทธองค์ ต่างคร่ำครวญว่าพวกเรายังเป็นปุถุชนอยู่ยังไม่ถึงฝั่ง พระพุทธองค์ก็มาเสด็จจากไปเสียแล้ว แล้วใครจะเป็นที่พึ่งให้เราได้ เมื่อพระองค์ไม่อยู่ ใครเล่าจะเป็นที่พึ่งให้เรา

แต่หลังจากพุทธปรินิพพานได้ ๗ วันก็ปรากฏว่ามีพระแก่รูปหนึ่งนามว่าสุภัททะ ได้กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัยและแสดงอาการปีติ กล่าวว่าท่านทั้งหลายจะมามัวร้องไห้รำพันอยู่ทำไม พระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานก็ดีแล้ว เพราะเมื่อพระองค์ทรงอยู่ทรงสอนโน้น สอนนี้ ทรงห้ามโน้น ห้ามนี้ บัดนี้เราหมดพันธะแล้ว เป็นอิสระแล้วเป็นต้น

ในขณะที่มหากัสสปะเถระเจ้ากำลังพำนักอยู่ ณ เมืองปาวา ใกล้เมืองกุสินาราแดนปรินิพพานเมื่อได้ทราบข่าวจากพระสงฆ์ว่า พระสุภัททะพูดเช่นนั้น จึงเกิดธรรมสังเวชในใจว่าพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานไม่นานนักเพียง ๗ วันเท่านั้น ก็มีภิกษุ อลัชชีไม่มียางอายจ้วงจาบพระธรรมวินัยในท่ามกลางสงฆ์เช่นนี้ ต่อไปภายภาคหน้าจะมียิ่งไปกว่านี้อีกหรือ อย่ากระนั้นเลย เราควรเรียกประชุมสงฆ์เพื่อหาทางป้องกันและกำจัดอลัชชีให้หมดไป

เมื่อถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธองค์เสร็จเรียบร้อยแล้ว พระมหากัสสปเถระเจ้าจึงเรียกประชุมสงฆ์ ยกวาทะของพระสุภัททะมากล่าวอ้าง ที่ประชุมจึงเห็นควรให้มีการสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยเป็นหมวดหมู่และคัดเลือกพระอรหันต์ และภายหลังจึงได้บรรลุก่อนการทำสังคายนา


เมืองราชคฤห์เป็นที่ประชุม 

เมืองราชคฤห์ มีหลายชื่อ เช่นเมืองวสุมติ เมืองภารหะธรถะปุระ คิริวราชา กุสากระปุระ และราชคฤิหะ (Rajgriha) คำว่า วสุมติ พบในคัมภีร์รามายณะ โดยมีพระเจ้าวสุเป็นผู้ก่อตั้งเมืองราชคฤห์เป็นองค์แรก พระเจ้าวสุเป็นโอรสของพระพรหม ได้รับคำสั่งให้สร้างเมืองนี้ขึ้น คำว่า เมืองภารหะธรถะปุระ พบในคัมภีร์มหาภารตะ และคัมภีร์ปุราณะ ตั้งตามชื่อกษัตริย์ พฤหัสธรถะ ปู่ของพระเจ้าชราสันธะที่เคยเสด็จมาที่นี่ คำว่าคิริวราชา เพราะเมืองนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา ๕ ลูกล้อมรอบทุกด้าน ภูเขาทั้ง ๕ คือ

๑. เวภาระ
๒. ปัณฑวะ
๓. เวปุลละ
๔. อิสิคิริ
๕. คิชฌกูฏ

ในคัมภีร์มหาภารตะเรียกชื่อภูเขาทั้ง ๕ ต่างกับคัมภีร์ บาลี คือ

๑. ไวภาระ
๒. วลาหะ
๓. วฤศภะ
๔. ฤาษีคิริ
๕. ไชยยากะ

ปัจจุบันชาวอินเดียเรียกดังนี้
๑. ไวภาระ
๒. วิปุลละ
๓. รัตนะ
๔ .ฉหัตถะ
๕. ไสละ

ถ้ำสัตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต สถานที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๑

คำว่า กุสากระปุระ พบในจดหมายเหตุที่พระถังซัมจั๋งกล่าวไว้ นอกจากนั้นยังเจอในวรรณกรรมของศาสนาเชน แปลว่า เมืองที่รายรอบด้วยหญ้ากุสะ และคำว่า ราชคฤห์ ภาษาบาลีคือราชคหะ แปลว่าเมืองหรือพระราชวังของพระราชา หลังพุทธปรินิพพาน ปกครองโดยพระเจ้าอชาตศัตรู พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร

จากสถานที่ประชุมเพลิงศพของพระพุทธองค์ คือ เมืองกุสินาราเป็นระยะที่ไกลมาก พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายน่าจะทำสังคายนาที่เมืองกุสินารา แต่ที่ท่านเลือกเมืองราชคฤห์เป็นที่ทำสังคายนา เพราะเหตุว่า

๑. ราชคฤห์เป็นเมืองที่เหมาะสม ชัยภูมิที่สะดวก
๒. ปัจจัย ๔ หาได้สะดวกเพราะเป็นเมืองใหญ่
๓. พระเจ้าแผ่นดินคือพระเจ้าอชาตศัตรูทรงมีความเลื่อมใสพุทธศาสนา
๔. แคว้นมคธเป็นแคว้นใหญ่เป็นรัฐมหาอำนาจ และภาษามคธก็เป็นภาษาราชการ

เมื่อตกลงเป็นที่เรียบร้อย แล้ว พระมหาเถระเจ้าทั้งหลายจึงออกเดินทางจากเมืองกุสินาราสู่เมืองราชคฤห์ เมื่อไปถึงแล้วจึงแจ้งเรื่องให้พระเจ้าอชาตศัตรูทราบ พระองค์ทรงยินดีให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ พระองค์รับสั่งให้ปราบหน้าถ้ำสัตตบัณณคูหาให้สะอาด และรับสั่งให้ปูลาดอาสนะทำซุ้มปะรำ ถวายภัตตาหารตลอดการประชุม

สังคายนาครั้งนี้ได้เกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน โดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธานและเป็นองค์ปุจฉา พระอุบาลีเป็นองค์วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์เป็นองค์วิสัชนาพระสูตร

ปรับอาบัติพระอานนท์

ในการประชุมสังคายนาครั้งนี้ พระมหาเถระเจ้าทั้งหลายได้มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับอาบัติพระอานนท์ แม้ว่าท่านจะบรรลุพระอรหันต์แล้วก็ตามเพราะเหตุว่า

๑. ไม่ได้ทูลถามว่าสิกขาบทเล็กน้อยที่ให้ถอนได้หมายเอาสิกขาบทใด
๒. ข้อที่เหยียบผ้าวัสสิกสาฏกของพระพุทธองค์
๓. ปล่อยให้สตรีถวายบังคมพระพุทธสรีระก่อน และนางร้องไห้จนน้ำตาเปียกพระสรีระ
๔. ไม่อ้อนวอนพระศาสดาให้ทรงอยู่ตลอดกัปป์แม้ทรงจะมีนิมิตโอภาส
๕. ช่วยเหลือให้สตรีบวชในพุทธศาสนา

พระอานนท์กล่าวแก้ข้อกล่าวหาทั้ง ๕ ข้อดังต่อไปนี้

๑. ไม่ทูลถามสิกขาบท เพราะไม่ได้ระลึกถึง
๒. ที่เหยียบเพราะพลั้งเผลอ ไม่ใช่เพราะไม่คารวะ
๓. ให้สตรีถวายบังคมก่อน เพราะค่ำมืดเป็นเวลาวิกาล
๔. ไม่ทรงอ้อนวอนพระศาสดา เพราะถูกมารดลใจจึงไม่ได้อ้อนวอน
๕. เพราะเห็นว่าพระนางประชาปดีโคตมีนี้ เป็นพระมารดาเลี้ยงถวายขีโรทก (น้ำนม) แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าในวัยเยาว์จึงขวนขวายให้สตรีบวช

แม้พระอานนท์จะทราบว่าตัวเองไม่ผิด แต่เมื่อสงฆ์พิจารณาลงโทษ ปรับอาบัติท่านก็ยอมรับ ไม่ได้ขัดขืนแต่อย่างใด เพราะความเป็นนักประชาธิปไตยของท่าน

พระปุราณะคัดค้านการประชุม

การสังคายนาครั้งนี้ได้กระทำขึ้นโดยสงฆ์ฝ่ายที่นับถือพระมหากัสสปเถระ แต่ยังมีสงฆ์ฝ่ายพระปุราณะที่ไม่ยอมรับการประชุมครั้งนี้ จึงได้พาบริวาร ๕๐๐ รูป เดินทางจากทักขิณาคิริชนบทมาสู่เวฬุวัน เมืองราชคฤห์ พระสงฆ์ฝ่ายที่สังคายนาเสร็จแล้วได้แจ้งให้พระปุราณะทราบ แต่ท่านกลับตอบว่า "พวกท่านทำสังคายนาก็ดีแล้ว แต่พวกผมได้ฟัง ได้รู้มาอย่างไรก็จะทำอย่างนั้น" ความจริงพระปุราณะยอมรับการสังคายนาทั้งหมด แต่มีสิกขาบท ๘ อย่างที่ยังไม่ยอมรับคือ

๑. อันโตวุตถะ ของอยู่ภายในที่อยู่
๒. อันโตปักกะ ให้สุกภายในที่อยู่
๓. สามปักกะ ให้สุกเอง
๔. อุคคหิตะ หยิบของที่ยังไม่ได้รับประเคน
๕. ตโตนีหฏะ ของที่ได้มาจากการนิมนต์
๖. ปุเรภัตตะ ของรับประเคน ในเวลาก่อนภัตร
๗. นวัฏฐะ ของอยู่ในป่า
๘. โปกขรฏฐะ ของอยู่ในสระ

พระปุราณะกล่าวว่าพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ปฏิบัติได้ แต่พระมหากัสสปะแย้งว่าทรงอนุญาตจริง แต่ในเวลาข้าวยากหมากแพงเท่านั้นเมื่อพ้นสมัยแล้วทรงให้ยกเลิก แต่พระปุราณะก็ไม่เชื่อเพราะไม่ได้ยิน แล้วพาคณะไปทำสังคายนาใหม่ แต่ไม่มีหลักฐานว่าทำที่ไหน เมื่อไหร่ ใช้ภิกษุกี่รูป นี้เป็นรอยแยกครั้งแรกในสังฆมณฑลหลังพุทธปรินิพพาน

ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ

พระฉันนะเป็นข้าราชบริพารของพระเจ้าสุทโธทนะ และเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะออกบวช นายฉันนะก็ได้ตามเสด็จจนถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที แล้วจึงกลับ เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้และสั่งสอนเวไนยสัตว์จนพุทธศาสนา แผ่ไปกว้างไกล ฉันนะจึงพร้อมด้วยเจ้าศากยะหลายองค์ตามออกบวช เมื่อบวชแล้วกลับมีความหยิ่งจองหอง ดูหมิ่นเหยียดหยามภิกษุอื่น เพราะถือว่าตัวเองใกล้ชิดพระพุทธองค์และตามเสด็จออกบวชด้วย และด่าบริภาษภิกษุอื่นว่าตอนที่พระองค์เสด็จออกบวชไม่เห็นมีใคร แต่พอเป็นพระศาสดาแล้วกลับอ้างว่า คนนี้คือสารีบุตร คนนี้คือโมคคัลลานะ คนนี้คือพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก เป็นต้น

แม้จะถูกพระพุทธองค์ตรัสห้ามก็หาได้ยุติไม่ พระองค์จึงให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ คือประกาศมิให้ภิกษุรูปอื่นตักเตือนว่ากล่าว ห้ามพูดคุย ห้ามช่วยเหลือ เป็นต้น ในภายหลังสำนึกตัว และแสดงโทษต่อคณะสงฆ์ ต่อมาขวนขวายประพฤติธรรมจนสามารถบรรลุพระอรหันต์

บทสรุปการสังคายนาครั้งที่ ๑

๑. ทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา บนภูเขาเวภาระ กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
๒. พระมหากัสสปะเป็นประธาน และเป็นองค์ปุจฉา พระอุบาลีเถระเป็นองค์วิสัชนาพระวินัย ส่วนพระอานนท์เป็นองค์วิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรม
๓. พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์ศาสนูปถัมภ์
๔. พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์เข้าร่วมประชุม
๕. ปรับอาบัติพระอานนท์
๖. ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ
๗. พระปุราณะคัดค้านการประชุม และแยกตัวไปทำสังคายนาใหม่
๘. วัตถุประสงค์เพื่อร้อยกรองพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่
๙. เริ่มทำเมื่อหลังพุทธปรินิพพานได้ ๓ เดือน
๑๐. ใช้เวลา ๗ เดือน จึงสำเร็จ
๑๑. มีการฉลองถึง ๖ สัปดาห์

เมื่อการสังคายนาสำเร็จลงแล้ว สถานการณ์ในสังฆมณฑล ก็สงบลงพอสมควร แต่ก็ยังมีคณะสงฆ์อีกฝ่ายที่ไม่ยอมรับการสังคายนา แล้วไปทำต่างหากคือคณะของพระปุราณะ อย่างไรก็ตามผลสำเร็จของการสังคายนาครั้งนี้ที่เห็นชัดเจนในครั้งนี้คือ

๑. ทำให้การร้อยกรองพระไตรปิฎกเป็นหมวดหมู่ขึ้นเป็นครั้งแรก
๒. ทำให้พุทธศาสนากระจายไปสู่ถิ่นอื่นอย่างรวดเร็ว
๓. ทำให้พุทธศาสนามั่นคงและสืบทอดมาจนทุกวันนี้
๔. การปฏิบัติของพระอานนท์และการลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะเป็นแบบอย่างที่ดีในหลักประชาธิปไตยและ ธรรมาธิปไตยอย่างชัดเจน
๕. แสดงถึงความสามัคคีของภิกษุที่ได้พรั่งพร้อมทำสังคายนาเพื่อรักษาพุทธศาสนา

พระเจ้าอชาตศัตรูย้ายเมือง

เมื่อพระพุทธองค์ได้ปรินิพพานได้ ๑๗ ปี พระเจ้าอชาตศัตรูได้ย้ายราชธานี จากภายในหุบเขาเมืองราชคฤห์ ออกมาข้างนอก และย้ายต่อไปอยู่ฝั่งแม่น้ำคงคา เรียกเมืองใหม่ว่า ปาฏลีบุตร (Patariputra) (ปัจจุบันเรียกว่า ปัฏนะ Patna เมืองหลวงของรัฐพิหารปัจจุบัน) สาเหตุที่ย้ายนครเพราะเหตุผลทางด้านการเมือง เพราะพระองค์กำลังเตรียมพร้อมทำสงครามกับรัฐอื่นอยู่ ในสมัยพุทธกาลนี้มคธกลายเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งที่สุดกว่าทุกอาณาจักร และไม่เคยล่มสลายเหมือนเมืองอื่น จนกระทั้งถึงราชวงศ์ปาละ พ.ศ.๑๖๐๐ ปี แม้ว่าเมืองเวสาลี (Vishali) จะได้ถูกพระองค์ยึดมาอยู่ในพระราชอาณาจักรแล้วก็ตาม แต่เพราะเมืองราชคฤห์อยู่ในหุบเขายากต่อการขายเมือง อีกทั้งเมืองใหม่อยู่ข้างแม่น้ำคงคาสะดวกต่อการคมนาคม

พระเจ้าอชาตศัตรูพระองค์มีพระมเหสีที่สำคัญคือ พระนางปัทมาวดี (Patmavati) มีพระโอรสที่สำคัญคือ เจ้าชายอุทัยภัทร หรือในตำราเชนเรียกว่า อะทายีภัททะ (Udayibadda) ปกครองปาฏลีบุตรนครใหม่ของพระองค์จนถึง พ.ศ. ๒๔ ก็ถูกพระราชโอรสยึดอำนาจ ปลงพระองค์เสียจากชีวิต รวมปกครองนครราชคฤห์และปาฏลีบุตรได้ ๓๒ ปี

พ.ศ. ๒๔ พระเจ้าอุทัยภัทร (Udayabdhra) พระโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรู ยึดอำนาจโดยการปรงพระชนม์พระบิดา แล้วขึ้นครองราชสมบัติต่อ ณ นครปาฏลีบุตร ต่อมาทรงสร้างเมืองใหม่ไม่ไกลจากปาฏลีบุตรมากนัก นั่นคือ กุสุมานคร หรือบุปผาบุรี เป็นเมืองคู่แฝดของปาฏลีบุตร

พระอุบาลีมหาเถระ ผู้เป็นองค์วิสัชนาพระวินัยในคราวสังคายนาครั้งที่ ๑ ได้นิพพานในสมัยพระเจ้าอุทัยภัทรนี้ นำความโศกเศร้ามายังพุทธศาสนิกชนชาวมคธและใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ได้จัดให้ทำฌาปนกิจพระมหาเถระอย่างสมเกียรติ

ส่วนพระมหากัสสปเถระและพระอานนท์ยังมีชีวิตอยู่ พระอานนท์เถระเจ้ามีพรรษา ๑๐๔ ปีแล้วนับว่าชรามาก แต่ก็สามารถทำศาสนกิจ โปรดพุทธศาสนิกชนเป็นตัวแทนพระศาสดาโดยอัตโนมัติ เพราะเมื่อคราวพระบรมศาสดามีพระชนม์อยู่ เมื่อเห็นพระศาสดาที่ใด ย่อมได้เห็นพระอานนท์ที่นั้นดุจเงาตามตัว

แม้มาถึงสมัยนี้จะไม่ได้เห็นพระศาสดาแล้ว แต่พุทธศาสนิกชนก็ยังอุ่นใจเพราะยังได้เห็นพระอานนท์เป็นตัวแทนอยู่บางตำรากล่าวว่าทุกที่ที่ย่างไป พระอานนท์ยังได้นำบาตรของพระพุทธองค์ไปด้วยเสมอ
พระเจ้าอุทัยภัทร มีพระโอรสที่ปรากฏพระนาม ๑ พระองค์ คือ เจ้ายชายอนุรุทธะพระองค์สวรรคตเมื่อ พ.ศ.๔๐ รวมครองราชย์ ๑๖ ปี

พ.ศ. ๔๐ เจ้าชายอนุรุทธะ (Anuruddha) ตัดสินใจเป็นกบฏยึดอำนาจจากพระบิดา จับพระเจ้าอุทัยภัทรสำเร็จโทษแล้ว พระองค์ก็ครองนครปาฏลีบุตร

ต่อมา พระอานนท์มหาเถระก็ได้นิพพานในสมัยนี้ สร้างความเศร้าสลดให้กับพุทธบริษัทเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าคราวที่พระบรมศาสดาปรินิพพาน เพราะพระอานนท์เปรียบเหมือนตัวแทนของพระศาสดา จาริกโปรดพุทธบริษัทไปทุกหนแห่ง แม้ไม่เห็นพระศาสดาก็ยังได้เห็นพระอานนท์ซึ่งเป็นดุจเงาของพระบรมศาสดา เมื่อมานิพพานเสียแล้วจึงยังความโศกเศร้าให้กับพุทธบริษัทเป็นยิ่งนัก แม้กระทั่งพระราชาเอง พระเจ้าอนุรุทธะมีราชโอรสที่ปรากฏพระนาม ๑ พระองค์คือ เจ้าชายมุณฑกะ พระองค์ครองราชสมบัติได้ไม่นานแค่ ๔ ปี จนถึง พ.ศ.๔๔ ก็สวรรคตเพราะถูกพระโอรสยึดอำนาจรวมครองราชสมบัติ ๔ ปี

พ.ศ. ๔๔ เจ้าชายมุณฑกะ (Mundaka) หลังยึดอำนาจพระบิดาได้แล้ว ทรงปลงพระชนม์พระบิดาเช่นกัน นับเป็นราชวงศ์ปิตุฆาตโดยแท้ นับจากพระเจ้าอชาตศัตรูยึดอำนาจจากพระเจ้าพิมพิสารมา
พระเจ้ามุณฑกะมีพระโอรส ๑ พระองค์คือเจ้าชายนาคทาสกะ ครองราชย์อยู่ไม่นานเช่นกันเพียง ๔ ปีที่ครองราชย์ก็ถูกยึดอำนาจ รวมครองราชสมบัติ ๔ ปี

ต่อมา พ.ศ. ๔๘ เจ้าชายนาคทาสกะ (Nagadasaka) โดยการสนับสนุนของอำนาตย์ ราชบริพารบางคนยึดอำนาจจากพระบิดาสำเร็จ แล้วปกครองนครปาฏลีบุตรสืบมา ในช่วงปลายราชการบ้านเมืองเกิดจลาจล หลายฝ่ายมองว่าราชวงศ์นี้เป็นวงศ์ปิตุฆาตมาโดยตลอด ปกครองไปจะนำความอับจนความเป็นเสนียดมาสู่ราชอาณาจักรจึงสนับสนุนอำมาตย์สุสูนาคเป็นกบฏและยึดอำนาจสำเร็จ พระเจ้านาคทาสกะครองราชบัลลังก์มาได้ ๒๔ ปี จนถึง พ.ศ. ๗๒ ก็สวรรคต

ในด้านสังฆมณฑล กษัตริย์ราชวงศ์พระเจ้าพิมพิสารทั้ง ๖ พระองค์ด่างสนับสนุนอุปถัมภ์ค้ำชูพุทธศาสนาเป็นอย่างดี จนกระจายไปสู่หลายแคว้น ที่พุทธศาสนาไปไม่ถึง สังฆมณฑลโดยทั่วไปก็ยังไม่เรียบร้อยนักเพราะมีความเห็นผิดหลายประการ โดยเฉพาะมติของพระปุราณะ จนทำให้สังฆมณฑลแยกออกเป็น ๒ ฝ่ายอย่างกลาย ๆ แต่เหตุการณ์ยังไม่รุนแรง เพราะในยุคนั้นพระอรหันตสาวกมีมากจึงยังไม่มีปัญหามากนัก

พ.ศ. ๗๒ อำมาตย์สุสูนาค เป็นกบฏและยึดอำนาจจากพระเจ้านาคทาสกะสำเร็จ ปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นกษัตรย์ ปกครองราชบัลลังก์ปาฏลีบุตรสืบมา

พระเจ้าสุสูนาคไม่ใช่ราชวงศ์พระเจ้าพิมพิสาร แต่เป็นสายเจ้าลิจฉวี แห่งเมืองเวสาลี มีพระมารดาเป็นหญิงงามเมืองที่เมืองเวสาลี

สมัยนั้นเมืองเวสาลี เป็นที่ขึ้นชื่อเกี่ยวกับความสวยของสตรี และปรากฏว่า มีโสเภณีหลายคน รวมทั้งพระมารดาของพระเจ้าสุสูนาคด้วย ที่มีชื่อเสียงในสมัยพุทกาล คือ นางสาลวดีเป็นผู้มีความสวยงามเป็นเลิศ จึงถูกแต่งตั้งให้เป็นโสเภณี พระเจ้าสุสูนาคมีพระโอรส (เท่าที่ปรากฏ) ๑ พระองค์คือเจ้าชายกาฬาโศก พระองค์ปกครองแคว้นมคธจนถึง พ.ศ. ๙๐ ก็สวรรคต

พ.ศ. ๙๐ หลังจากพระบิดาสวรรคตแล้วเจ้าชายกาฬาโศกก็ขึ้นครองราชสมบัติต่อมา ตำราบางเล่มโยงพระเจ้ากาฬาโศกกับพระเจ้าอโศกเป็นองค์เดียวกัน สร้างความสับสนให้ประวัติศาสตร์ยุคนี้พอสมควร แต่ส่วนมากยังเชื่อว่าเป็นคนละองค์เพราะมีหลักฐานยืนยันหลายเล่ม และระยะเวลาก็ห่างไกลกันมาก

ในสมัยนี้สังฆมณฑลเริ่มเกิดความยุ่งยาก เพราะมีคณะภิกษุกลุ่มหนึ่งละเมิดพระธรรมวินัยที่เมืองเวสาลี ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ภายใต้จักรวรรดิมคธ จึงเป็นที่มาของการสังคายนาครั้งที่ ๒

ความวิบัติแห่งสีลสามัญญตา

พ.ศ. ๑๐๐ หรือพุทธปรินิพพานได้ ๑๐๐ ปี พระภิกษุเมืองเวสาลี (สันสกฤตเรียกว่า ไวศาลี หรือ ไพศาลี Vishali) ได้แตกเป็น ๒ ฝ่าย ด้วยความเห็นขัดแย้งกันในวัตถุ ๑๐ ประการ และเกิดการโต้เถียงกันอย่างรุนแรง วัตถุ ๑๐ ประการนี้ พระพุทธองค์เคยห้ามไว้ แต่พระวัชชีบุตรกล่าวว่าสมควรทำได้

วัตถุ ๑๐ ประการเหล่านี้คือ

๑. สิงคโลณกัปปะ พระภิกษุสั่งสมเกลือในกลักเขาเป็นต้น แล้วนำไปผสมอาหารอื่น ฉันได้ไม่เป็นอาบัติ ซึ่งผิดพุทธบัญญัติว่า ภิกษุสั่งสมของเคี้ยวของฉัน เป็นอาบัติปาจิตตีย์
๒. ทวังคุลกัปปะ ภิกษุฉันอาหารเวลาตะวันบ่ายล่วงไปแล้ว ๒ องคุลีได้ไม่เป็นอาบัติ ซึ่งขัดกับพระบัญญัติที่ห้ามภิกษุฉันอาหารในยามวิกาล ถ้าฉันเป็นอาบัติปาจิตตีย์
๓. คามันตรกัปปะ ภิกษุฉันจากวัด แล้วเข้าไปในบ้าน เขาถวายอาหารก็ฉันได้อีกในเวลาเดียวกัน แม้ไม่ได้ทำวินัยกรรมมาก่อนซึ่งขัดกับพระบัญญัติที่ห้ามภิกษุฉันอดิเรก ถ้าฉันต้องอาบัติปาจิตตีย์
๔. อาวาสกัปปะ อาวาสใหญ่มีสีมาใหญ่ ทำอุโบสถแยกกันได้ ในพระวินัยห้ามการทำอุโบสถแยกกัน ถ้าแยกกันเป็นอาบัติปาจิตตีย์
๕. อนุมติกัปปะ ถ้ามีภิกษุที่ควรนำฉันทะมามีอยู่ แต่มิได้นำมาจะทำอุโบสถก่อนก็ได้ แต่พระวินัยห้ามไม่ให้กระทำเช่นนั้น
๖. อาจิณกัปปะ ข้อปฏิบัติอันใดที่เคยปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครูบาอาจารย์ แม้ประพฤติผิดก็ควร
๗. อมัตถิกกัปปะ ภิกษุฉันอาหารแล้วไม่ได้ทำวินัยกรรมก่อน ฉันนมสดที่ไม่ได้แปลเป็นนมส้มไม่ควร แต่วัชชีบุตรว่าควร
๘. ชโลคิง ปาตุง เหล้าอ่อนที่ไม่ได้เป็นสุราน้ำเมาฉันได้ ซึ่งขัดพระวินัยที่ห้ามดื่มน้ำเมา
๙. อทศกัง นิสีทนัง ภิกษุใช้ผ้านิสีทนะที่ไม่มีชายก็ควร
๑๐. ชาตรูปรชตัง ภิกษุรับเงินและทองก็ได้

แต่คัมภีร์พุทธศาสนามหายานจารึกด้วยภาษาสันสกฤต ที่มีชื่อว่า เภทธรรมติจักรศาสตร์ กล่าวว่าสังคายนาครั้งนี้ไม่ใช่สาเหตุมาจากวัตถุ ๑๐ ประการ แต่มาจากมติ ๕ ข้อของพระมหาเทวะ สาเหตุที่แท้จริงมาจากมติเหล่านี้คือ

๑. พระอรหันต์อาจถูกมารยั่วยวนได้ด้วยความฝัน
๒. บุคคลเป็นพระอรหันต์ได้โดยไม่รู้ตัวต้องให้ผู้อื่นพยากรณ์
๓. พระอรหันต์ยังมีความสงสัยของพระพุทธเจ้า
๔. บุคคลจะบรรลุพระอรหันต์ได้โดยไม่มีพระพุทธเจ้าไม่ได้
๕. บุคคลจะบรรลุพระอรหันต์ได้ด้วยการเปล่งว่า ทุกข์หนอ ๆ

ประวัติพระมหาเทวะ

สำหรับพระมหาเทวะ ผู้มีมติ ๕ ประการนั้น เดิมเป็นบุตรนายพาณิชย์แห่งแคว้นมถุรา ปรากฏว่าเป็นผู้มีรูปงาม เป็นที่ต้องใจของเพศตรงกันข้าม เมื่อบิดาได้ไปขายสินค้าต่างแดน ได้ลักลอบเป็นชู้กับแม่ของตนเอง เมื่อบิดากลับจากค้าขายก็กลัวความลับแตกจึงลอบฆ่าบิดาเสีย แล้วพามารดาไปเมืองปาฏลีบุตรอยู่กินกันที่นั้น

ต่อมาได้รู้จักพระเถระที่เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งที่ตนสนิทคุ้นเคย เพราะกลัวความลับจะแตกจึงได้ลอบฆ่าท่านเสีย เมื่อมารดาแอบไปมีชู้จึงฆ่ามารดาตัวเองเสีย เกิดความกระวนกระวายใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำอนันตริยกรรมทั้งฆ่าพระอรหันต์ ฆ่าบิดา ฆ่ามารดาตัวเอง แล้วไปขออุปสมบทที่กุกกฏาราม คณะสงฆ์ไม่ทราบเรื่องที่ได้ก่อ จึงให้อุปสมบทเป็นภิกษุ เมื่อบวชแล้วกลับเป็นผู้มีความจำดี มีเสียงไพเราะ มีรูปร่างดี จึงมีชื่อเสียงทั่วกรุงปาฏลีบุตร

ต่อมาคืนหนึ่งได้ฝันถึงกามวิตกทำให้อสุจิเคลื่อน เมื่อให้ศิษย์ไปซักให้ตอนเช้า เมื่อศิษย์เห็นจึงกล่าวว่า ผู้เป็นอรหันต์ยังมีสิ่งเหล่านี้อยู่หรือ ท่านกล่าวว่า พระอรหันต์อาจถูกมารกวนในความฝันได้

ต่อมาพระมหาเทวะต้องการยกย่องลูกศิษย์ จึงกล่าวว่าคนนี้เป็นโสดาบัน คนนี้เป็นพระอรหันต์ เมื่อศิษย์ (ผู้ที่ได้รับการพยากรณ์ว่าตนเป็นพระอรหันต์) ถามว่าคนที่เป็นพระอรหันต์ย่อมมีความรอบรู้ในทุกสิ่งมิใช่หรือ เหตุใดตนจึงไม่ทราบอะไร พระมหาเทวะจึงตอบว่า พระอรหันต์อาจจะไม่รู้ได้บางเรื่องต้องให้คนอื่นพยากรณ์จึงจะทราบ เมื่อศิษย์ถามต่อว่า ธรรมดาพระอรหันต์ย่อมไม่กังขาในธรรม แต่เหตุใดข้าพเจ้าจึงไม่แจ่มแจ้งในธรรม

พระมหาเทวะตอบว่า ธรรมดาพระอรหันต์ย่อมมีความกังขาได้ ต่อมาศิษย์ถามต่อว่า ธรรมดาพระอรหันต์ทั้งหลายย่อมรู้แจ้งด้วยตนเองว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่ครบแล้ว แต่เหตุใดข้าพเจ้าต้องให้อาจารย์พยากรณ์ให้

พระมหาเทวะตอบว่า พระอรหันต์ต้องให้คนอื่นพยากรณ์ เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะก็อาศัยพระพุทธองค์พยากรณ์ และต้องอาศัยพระพุทธเจ้า เมื่อท่านทำกรรมมาก ๆ เข้าจึงเกิดความทุกข์ร้อนรนในใจจึงเปล่งอุทานว่า ทุกข์หนอ ๆ เมื่อศิษย์ได้ยินและถามว่า เมื่อเป็นพระอรหันต์เหตุใดจึงมีทุกข์ พระมหาเทวะตอบว่า ผู้จะบรรลุธรรมได้ต้องอุทานว่าทุกข์หนอ ๆ เป็นเพราะท่านเป็นพระธรรมกถึกมีลูกศิษย์มากจึงรวบรวมพรรคพวกได้มาก และนี้คือสาเหตุการทำสังคายนาครั้งที่ ๒ ตามนัยคัมภีร์เภทธรรมติจักรศาสตร์ ของพระวสุมิตร แต่หลักฐานยังไม่เป็นที่เชื่อถือมากนัก ส่วนมากยังถือว่าเหตุสังคายนามาจากวัตถุ ๑๐ ประการของภิกษุวัชชีบุตรซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

ต่อมาพระยสเถระ ซึ่งเป็นบุตรของกากัณฑพราหมณ์ ได้เดินทางมาจากเมืองโกสัมพีมายังเมืองเวสาลี และเมื่อทราบเหตุเหล่านี้จึงเข้าไปห้ามปราม แต่ภิกษุเหล่านั้นหาเชื่อฟังไม่

นอกจากนั้นพวกภิกษุ ได้นำถาดทองสัมฤทธิ์ใส่น้ำเต็มเปี่ยมไปตั้งไว้ในโรงอุโบสถ ให้ทายกทายิกาใส่เงินลงไปในถาดนั้น เพื่อถวายภิกษุแล้วนำไปแจกและได้แบ่งส่วนให้พระยสะด้วย แต่พระยสะไม่ยอมรับทั้งได้กล่าวติเตียนภิกษุชาววัชชี ว่าการกระทำนี้ขัดต่อพุทธบัญญัติ เป็นความผิดทั้งผู้รับ ทั้งผู้ถวาย พวกภิกษุวัชชีบุตรไม่พอใจ

จึงประกาศลงปฏิสาราณิยกรรมแก่พระยสะ โดยให้ท่านไปขอขมาโทษทายกเสีย แทนที่จะไปขอขมาโทษตามคำแนะนำของภิกษุชาววัชชี แต่พระยสะกลับชี้แจงแก่ทายก จนทายกเข้าใจและเป็นพวกกับพระเถระ ทายกส่วนมากเข้าใจดีว่าการที่พวกเขาทำไปเช่นนั้นเป็นการชอบด้วยธรรมวินัยแล้ว และการกระทำของภิกษุชาววัชชีเป็นการผิด

เมื่อพระยสะปรับความเข้าใจแก่ทายกเช่นนี้แล้ว ก็มีคนเลื่อมใสในพระยสะเป็นอันมาก ภิกษุชาววัชชีเมื่อได้รับข่าวทราบนั้นก็พากันแสดงความโกรธ ให้ลงโทษพระยสะ คือประกาศจะทำอุกเขปนียกรรม ถึงกับได้พากันห้อมล้อมกุฏิของพระยสะ แต่ท่านทราบเสียก่อน จึงได้หลบหนีไปยังเมืองโกสัมพี เมื่อไปถึงเมืองโกสัมพีแล้ว พระยสะได้ส่งข่าวไปให้ภิกษุชาวเมืองปาวาและภิกษุชาวเมืองอวันตีทราบ นิมนต์เหล่านั้นมาประชุมเพื่อตัดสินปัญหาธรรมวินัยและเพื่อป้องกันรักษาพระวินัย จากนั้นพระยสะได้เดินทางไปหาพระสัมภูเถระ ที่อโหคังคบรรพต เพื่อชี้แจงพฤติการณ์ของภิกษุชาววัชชีทั้งหลายให้ท่านทราบ

ต่อมามีภิกษุเดินทางมาจากเมืองปาวา ๖๐ องค์ และจากเมืองอวันตี ๘๐ องค์ มาร่วมประชุมที่อโหคังคบรรพต ทุกท่านล้วนเป็นพระขีณาสพ ภิกษุทั้งหลายที่ได้เดินทางมาร่วมกัน ณ สถานที่แห่งนั้นได้จัดการประชุมกันขึ้น ที่ประชุมได้มีมติว่าควรนิมนต์ท่านเรวตเถระเข้าร่วมประชุมด้วย เพราะท่านเป็นขีณาสพ เป็นลูกศิษย์ของพระอานนท์ เป็นผู้มีพรรษายุกาลมาก ทั้งยังแตกฉานในพระธรรมวินัย เป็นที่เลื่อมใสของภิกษุหมู่ใหญ่ จึงได้จัดส่งพระภิกษุไปนิมนต์ท่าน ที่เมืองโสเรยยะ ใกล้เมืองตักสิลา แต่ไม่พบท่าน ทราบว่าท่านเดินทางไปยังสหชาตินครในแคว้นเจตี พระภิกษุเหล่านั้นได้ติดตามท่านไปยังเมืองสหชาตินคร

ฝ่ายภิกษุชาวเมืองวัชชี เมื่อได้ทราบข่าวว่าภิกษุที่เป็นฝักฝ่ายของพระยสะที่เดินทางมาจากปาวาและอวันตี กำลังร่วมชุมนุมกันเพื่อตัดสินอธิกรณ์ของพวกตนจึงได้จัดพระภิกษุไปนิมนต์ท่านเรวตเถระ ที่สหชาตินครเพื่อมาเป็นฝักฝ่ายของตน ได้ส่งสมณบริขาร เป็นต้นว่าบาตร จีวร กล่องเข็มผ้านิสีทนะและผ้ากรองน้ำไปถวายพระเรวตเถระ ภิกษุชาววัชชีเหล่านั้นได้ลงเรือจากเมืองเวสาลีไปยังเมืองสหชาตินคร เมื่อไปถึงแล้วได้ให้พระอุตตระซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระเรวตเถระ นำเข้าถวายบริขารและกราบเรียนพฤติการณ์ทั้งหลายให้ท่านทราบตลอดทั้งได้ขอร้องให้ท่านเข้ามาเป็นฝักฝ่ายของตนด้วย

พระเรวตเถระไม่เห็นดีด้วย เพราะท่านเห็นว่าวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนั้นไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัย จึงทำให้พระภิกษุชาววัชชีผิดหวัง เสียใจมากเพราะได้ขาดแรงสนับสนุนที่สำคัญไปจึงเดินทางกลับไปยังเมืองเวสาลี ได้ขอความช่วยเหลือจากบ้านเมือง ฝ่ายพระเจ้ากาลาโศกได้ถวายความอุปถัมภ์และคุ้มครอง ป้องกันภิกษุชาววัชชี มิให้ภิกษุสงฆ์ฝ่ายตรงข้ามเข้ามาเบียดเบียนได้

ครั้งต่อมา มีนางภิกษุณีองค์หนึ่งชื่อว่า นันทาเถรี ซึ่งได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว เป็นพระญาติองค์หนึ่งของพระเจ้ากาลาโศกทราบข่าวการแตกสามัคคีของพระสงฆ์ จึงได้เข้าไปห้ามมิให้พระเจ้ากาลาโศกหลงเชื่อคำของภิกษุของชาววัชชี ซึ่งพระเจ้ากาลาโศกได้ทรงนิมนต์พระสงฆ์ทั้งสองฝ่ายมาร่วมประชุม และเมื่อทรงทราบความเป็นไปโดยละเอียดของสงฆ์ทั้งสองฝ่ายแล้ว พระองค์ทรงกลับพระทัยมาบำรุงอุปถัมภ์ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายของพระยสะหรือภิกษุฝ่ายวินัยวาที

ฝ่ายภิกษุฝ่ายวินัยวาที ครั้งแรกก็ได้ตั้งใจว่าจะพิจารณาหาทางระงับอธิกรณ์เสียที่สหชาตินครนั้น แต่พระเรวตเถระไม่เห็นด้วยที่จะทำกันในที่นั้น โดยให้เหตุผลว่าควรไปทำที่เมืองเวสาลี เพราะเหตุเกิดที่เมืองไหนควรไประงับที่เมืองนั้น ที่ประชุมเห็นด้วย จึงได้เดินทางไปเมืองเวสาลีเพื่อประชุมสังคายนา

สังคายนาครั้งที่ ๒

แล้วคณะสงฆ์โดยการนำของพระสัพพกามีจึงจัดให้มีการประชุมสังคายนาครั้งที่ ๒ กันขึ้น ที่ว่าลุการาม (อารามดินทราย) เมืองเวสาลีในการประชุมครั้งนี้ มีพระอรหันต์เข้าร่วมประชุมถึง ๗๐๐ รูป ทำให้การประชุมไม่ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เพราะเนื่องจากมีผู้เข้าร่วมประชุมมากไป ต้องใช้เวลาถกเถียงกันเป็นเวลานาน ที่ประชุมจึงได้ตกลงเลือกเอาพระขีณาสพที่มาจากประเทศตะวันออก ๔ รูป คือ

๑. พระสัพพกามี
๒. พระสาฬหะ
๓. พระกุชชโสภิตะ
๔. พระวาสภคามิกะ

ทำหน้าที่วินิจฉัยอธิกรณ์ที่เกิดขึ้นและจากประเทศ ตะวันตก (เมืองปาวา) อีก ๔ รูป คือ

๑. พระเรวตะ
๒. พระสาณสัมภูตะ
๓. พระยศกากัณฑบุตร
๔. พระสุมนะ

มีหน้าที่เป็นตัวแทนฝ่ายสงฆ์ธรรมวาที มีหน้าที่เสนออธิกรณ์ต่อสงฆ์ รวมทั้งหมด ๘ รูป เป็นผู้ทำการสาธยาย พระธรรมวินัยและนำอธิกรณ์เข้าสู่สงฆ์เพื่อระงับ และในจำนวน ๘ รูปนี้ ๖ รูป เป็นลูกศิษย์ของพระอานนท์ คือ พระสัพพกามี, พระเรวตะ, พระกุชชโสภิตะ, พระสาณสัมภูตะ และ พระยศกากัณฑบุตร อีก ๒ รูป คือ พระวาสคามิกะ และพระสุมนะ เป็นลูกศิษย์ของพระอนุรุทธะ ที่ประชุมได้ตกลงแต่งตั้งให้ พระอชิตะ เป็นผู้จัดสถานที่ ประชุมสังคายนา พระสัพพกามี เป็นประธานในที่ประชุม

พระอรหันต์ทั้ง ๗๐๐ องค์ เริ่มทำสังคายนา ครั้งที่ ๒ ที่เวลุการาม นครไวศาลี สาเหตุที่คณะสงฆ์เลือกเอาพระสัพพกามีเป็นประธานในที่ประชุมนั้นเพราะท่านเป็นผู้มีพรรษายุกาลมาก คือ มีพรรษา ๑๒๐ ปี แก่กว่าพระภิกษุทั้งหลายในที่ประชุม ทั้งเป็นผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก ตั้งอยู่ในฐานะควรเคารพสักการะของภิกษุและประชาชนทั่วไป

การประชุมครั้งสุดท้ายนี้ มีพระขีณาสพเข้าร่วมเพียง ๘ รูปเท่านั้น และได้ตัดสินเป็นเอกฉันท์ว่า การปฏิบัติของภิกษุชาววัชชีไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัยได้ประชุมกันที่วาฬุการามนอกเมืองเวสาลี พระเจ้ากาฬาโศกอุปถัมภ์ ๘ เดือน จึงสำเร็จ

ฝ่ายพระวัชชีบุตรเมื่อไม่ได้การอุปถัมภ์จึงเสียใจ แล้วพร้อมใจกันไปทำสังคายนา ต่างหากที่เมืองปาฏลีบุตรมีผู้เข้าร่วมถึง ๑๐,๐๐๐ รูป เรียกตนเองว่ามหาสังคีติ เพราะมีพวกมาก เป็นอันว่าพุทธศาสนามหายานเริ่มมีเค้าเกิดขึ้นในสมัยนี้เองเพราะเหตุแห่งความขัดแย้งนี้

บทสรุปการสังคายนาครั้งที่ ๒

๑. ทำที่วาลิการาม (หรือวาลุการาม) เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี
๒. พระสัพพกามีมหาเถระเป็นประธาน
๓. พระอชิตะเป็นผู้จัดสถานที่การประชุม
๔. พระเจ้ากาฬาโศกเป็นองค์ศาสนูปถัมภ์
๕. พระอรหันต์ ๗๐๐ รูปเข้าร่วมประชุม
๖. ได้ยกวัตถุ ๑๐ ประการมาเป็นเหตุสังคายนา
๗. ใช้เวลาทำ ๘ เดือนจึงสำเร็จ
๘. ทำเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานได้ ๑๐๐ ปี

สรุปว่า การแตกนิกายในสังคายนาครั้งนี้มีเพียง ๒ นิกายเท่านั้น คือ ฝ่ายพระสัพพกามีเถระ และภิกษุชาววัชชีที่เรียกตนเองว่ามหาสังคีติ กาลต่อมา จึงแตกออกเป็น ๑๘ นิกายคือ

แยกออกจากเถรวาทดั้งเดิม ๑๑ นิกาย
แยกออกจากมหาสังฆิกะ (มหายาน) ๗ นิกาย

และ ๗ นิกายที่แตกจากมหาสังฆิกะ เกิดเมื่อ พ.ศ. ๑๐๐

ส่วน ๑๑ นิกายที่แตกจากเถรวาท เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๐๐ เป็นต้นมา

พ.ศ. ๑๑๘ พระเจ้ากาฬาโศก ผู้อุปถัมภ์สังคายนาครั้งที่ ๒ ก็ เสด็จสวรรคต รวมครองราชสมบัติ ณ กรุงปาฏลีบุตรได้ ๒๘ ปี ในหนังสือชินกาลมาลินีกล่าวว่า พระองค์มีพระโอรส ๑๐ ประองค์คือ

๑. เจ้าชายภัทรเสน
๒. เจ้าชายโกรัณฑวรรณ
๓. เจ้าชายมังกร
๔. เจ้าชายสัพพัญชหะ
๕. เจ้าชายชาลิกะ
๖. เจ้าชายสัญชัย
๗. เจ้าชายอุภคะ
๘. เจ้าชาโกรพยะ
๙. เจ้าชายนันทิวัฒนะ
๑๐. เจ้าชายปัญจมตะ

ต่อมาเจ้าชายภัทรเสนและพระอนุชาช่วยกันปกครองปาฏลีบุตรแบบคณะ จนมาถึง พ.ศ. ๑๔๐ ปีก็ถูกโจรนันทะยึดอำนาจสำเร็จ ราชวงศ์สุสูนาคจึงสิ้นสุดลงแค่นี้ รวมเวลาที่พระเจ้าภัทรเสนปกครอง ๒๒ ปี

ต่อมา พ.ศ. ๑๔๐ มหาโจรนันทะ ซ่องสุมผู้คนได้เป็นจำนวนมากแล้วเข้ายึดปาฏลีบุตรจากพระเจ้าภัทรเสนสำเร็จ ตั้งราชวงศ์นันทะขึ้นปราบดาภิเษกตนเองเป็นกษัตริย์ ปกครองแคว้นมคธต่อมา

พระเจ้านันทะ มีพระโอรส ๙ พระองค์คือ

๑. เจ้าชายอุคคเสนนันทะ
๒. เจ้าชายยกนกนันทะ
๓. เจ้าชายจันคุติกนันทะ
๔. เจ้าชายภูติปาละนันทะ
๕. เจ้าชายรัฐปาลนันทะ
๖. เจ้าชายโควิสาณกนันทะ
๗. เจ้าชายทศสิทธิกนันทะ
๘. เจ้าชายเกวัฏฏนันทะ
๙. เจ้าชายธนนันทะ

พระเจ้านันทะปกครองปาฏลีบุตรนานพอสมควรก็สวรรคต เจ้าชายธนนันทะปกครองต่อมา

ในยุคนี้ ที่ชายแดนด้านตะวันตก อาณาจักรมาเซโดเนียของกรีก เริ่มเรืองอำนาจ สามารถยึดอาณาจักรหลายแห่งให้อยู่ในอำนาจได้ ต่อมาพระเจ้าธนนันทะ ก็ถูกจันทรคุปตะซ่องสุมผู้คนเป็นกบฏ ครั้งแรกพระองค์ปราบปรามสำเร็จ แต่ครั้งที่สองก็พ่ายแพ้ต้องสิ้นประชนม์ในสนามรบ รวมราชวงศ์นันทะปกครองมคธ ๒๒ ปี

พุทธศาสนา ๑๘ นิกาย (The eighteen sects)

ร่องรอยแห่งการแบ่งแยกในวงการพุทธศาสนา ได้มีมาตั้งแต่หลังพุทธปรินิพพาน กล่าวคือพระปุราณะไม่ยอมรับการสังคายนาที่จัดโดยพระมหากัสสปะ ณ เมืองราชคฤห์ จึงได้นำคณะสงฆ์อีกกลุ่มหนึ่งไปทำสังคายนาต่างหาก เรียกคณะตัวเองว่ามหาสังคีติ จึงเป็นเหตุให้คณะสงฆ์เริ่มแตกแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย แต่ที่ชัดเจนเริ่มเมื่อ พ.ศ.๑๐๐ เป็นต้นมา หลักฐานที่เขียนเหตุการณ์แตกแยกเป็น ๑๘ นิกายมีปรากฏในคัมภีร์มหาวงส์ และทีปวงส์ของลังกากถาวัตถุ

ในอินเดีย จดหมายเหตุพระถังซัมจังก็กล่าวถึงเช่นกัน และการสังคายนาครั้งที่ ๔ ที่กัศมีร์หรือ ชาลันธร ได้จัดขึ้นก็เพื่อขจัดความขัดแย้งของ ๑๘ นิกายเป็นสำคัญ

นิกายทั้ง ๑๘ นั้นยังแบ่งออกไปอีก ๔ รวมเป็น ๒๒ นิกาย มีโครงสร้างดังนี้



นิกายเหล่านี้ยังแตกออกเป็น ๕ นิกาย คือ
๑๙. อปรเสลิยะ
๒๐. นิกายอุตตรเสลิยะ
๒๑. นิกายอุตตรปถะ
๒๒. นิกายวิภัชชวาทิน
๒๓. นิกายเวตุลลวาท
โดยฝ่ายเถรวาทได้แบ่งออกเป็น ๑๒ นิกายหลังจากพุทธปรินิพพานราว ๒๐๐ ปี ส่วนมหาสังฆิกะนั้นได้เริ่มแบ่งแยกออกเป็นนิกายย่อยราวพุทธปรินิพพาน ๑๐๐ปี
ในยุคปัจจุบัน มีนิกายหลักๆ ๒ นิกาย คือ เถรวาท และ มหายาน นอกจากนั้นยังมีนิกายย่อยอีกจำนวนมากตามแต่ละประเทศพอสังเขป ดังนี้
เถรวาทในบังกลาเทศ
๑)สังฆราชนิกาย
๒)มหาสถพีรนิกาย
เถรวาทในพม่า
๑)สุธัมมนิกาย
๒)ชเวจินนิกาย
๓)ทวารนิกาย

เถรวาทในศรีลังกา
๑)สยามนิกาย
๒)มัลวัตตะ
๓)อัสคิริยะ
๔)วาทุลวิลา หรือ มหาวิหารวังศิกศยาโมปาลีวนาวาสนิกาย
๕)อมรปุรนิกาย
๖)ธรรมรักษิต
๗)คันดุโบดา หรือ ชเวจินนิกาย
๘)ตโปวนะ หรือ กัลยาณวงศ์
๙)รามัญนิกาย
๑๐)กัลดุวา หรือ ศรีกัลยาณีโยคาศรม สังสถา
๑๑)เดลดูวา

เถรวาทในไทย, กัมพูชา
๑)มหานิกาย
๒)ธรรมยุติกนิกาย

มหายานในอินเดีย
๑)นิกายมัธยมกะ
๒)นิกายโยคาจาร
๓)นิกายจิตอมตวาท
๔)นิกายตันตระ

มหายานในจีน
๑)นิกายโกศะ หรือจวี้เส่อจง
๒)นิกายสัตยสิทธิ หรือเฉิงซื่อจง
๓)นิกายตรีศาสตร์ หรือซานหลุ่นจง
๔)นิกายทศภูมิกะ หรือตี้หลุ่นจง
๕)นิกายนิพพาน หรือเนี่ยผ่านจง
๖)นิกายสังปริคระศาสตร์ หรือเซ่อหลุ่นจง
๗)นิกายสุขาวดี หรือจิ้งถู่
๘)นิกายฌาน หรือฉานจง หรือเซน
๙)นิกายสัทธรรมปุณฑรีกะ หรือเทียนไถ
๑๐)นิกายซันเฉีย หรือซันเจียเจี้ยว
๑๑)นิกายอวตังสกะ หรือ หัวเหยียน
๑๒)นิกายธรรมลักษณะ หรือ นิกายฝ่าเซียง
๑๓)นิกายวินัย หรือลวื้อจง
๑๔)นิกายเจิ้นเหยียน หรือมนตรยาน หรือวัชรยาน

มหายานในเกาหลี
๑)นิกายซัมนอน หรือนิกายตรีศาสตร์
๒)นิกายเกยูล หรือนิกายวินัย
๓)นิกายยอนพัล หรือนิกายนิพพาน
๔)นิกายฮวาออม หรือนิกายอวตังสกะ
๕)นิกายชอนแท หรือนิกายสัทธรรมปุณฑรีกะ
๖)นิกายซอน หรือนิกายเซน
๗)นิกายแทโก
๘)นิกายโชเก

มหายานในญี่ปุ่น
๑)นิกายเทนได
๒)นิกายชินกอน หรือชินงอน
๓)นิกายโจโด
๔)นิกายเซน
๕)นิกายนิชิเรน
๖)นิกายซานรอน
๗)นิกายฮอสโส
๘)นิกายเคงอน
๙)นิกายริตสุ
๑๐)นิกายกุชา
๑๑)นิกายโจจิตสึ

มหายานในเวียดนาม
๑)นิกายจุ๊กลัม

มหายานในทิเบต
๑)นิกายนิงมะ
๒)นิกายกาจู
๓)นิกายสักยะ
๔)นิกายเกลุก

มหายานในเนปาล
๑)นิกายไอศวาริก
๒)นิกายสวาภาวิก
๓)นิกายการมิก
๔)นิกายยาตริก



วันศุกร์

๐๙. พุทธกิจ ๔๕ พรรษา

พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เป็นหนังสือที่พรรณนาเหตุการณ์เกี่ยวกับพุทธประวัติในครั้งพุทธกาล ตั้งแต่เริ่มประกาศพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา พร้อมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ ตลอดเวลาที่พระองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ 

พรรษาที่ ๑ จำพรรษาที่อิสิปตนมฤคทายวัน 

•โปรดปัญจวัคคีย์ สังฆรัตนะ เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก 
•โปรดพระยสะ และสหาย ๕๔ คน
ออกพรรษา 
•ให้สาวกมีอำนาจบวชกุลบุตร ได้โดยวิธีให้รับไตรสรณคมน์ 
•โปรดภัททวัคคีย์ ๓๐ รูป
•โปรดชฎิลสามพี่น้อง บวชเป็นเอหิภิกขุ ๑,๐๐๐ รูป แสดงอาทิตตปริยายสูตรสำเร็จพระอรหันต์หมด 
•ไปราชคฤห์โปรดชาวเมืองและพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบัน 
•ถวายวัดเวฬุวันเป็นวัดแรก
•ให้สงฆ์สาวกรับอารามที่มีผู้ถวายได้ 
•พระอัญญาโกณฑัญญะบวชปุณณมันตานีบุตร (ลูกน้องสาว) บรรลุอรหันต์
•ได้ ๒ อัครสาวก อุปติสสะและโกลิตะบวชบรรลุเป็นพระอรหันต์ 
•บวชพระมหากัสสปะโดยรับโอวาท ๓ ข้อ 


พรรษาที่ ๒-๔ จำพรรษาที่เวฬุวัน
ออกพรรษา 
•เสด็จเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี 
•สอนพระอานนท์ให้สาธ ยายรัตนสูตร บรรเทาภัยของชาวเมือง 
•พระอานนท์ฟังกถาวัตถุ ๑๐ ประการ (ของพระปุณณมันตาณีบุตร) เป็นพระโสดาบัน 

พรรษาที่ ๓ จำพรรษาที่เวฬุวัน 
•ราชคฤหเศรษฐี ขอสร้างเสนาสนะถวายสงฆ์ เป็นที่พำนักถาวร 
•อนุญาตเภสัช ๕ ชนิด และภัตฯ ประเภทต่างๆ
•อนุญาตการอุปสมบทโดยวิธีญัตติจตุตถกรรม 
•พระสารีบุตรบวชให้ราธะพราหมณ์เป็นรูปแรก
•อนุญาตวันประชุมสงฆ์ และแสดงธรรมใน ๑๔ คํ่า ๑๕ คํ่า และ ๘ คํ่า ของข้างขึ้นและข้างแรม 

พรรษาที่ ๔ จำพรรษาที่เวฬุวัน
•โปรดหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นพระโสดาบัน 
•ถวายชีวกอัมพวันอนุญาตผ้าไตรจีวร ๓ ผืน, ผ้าจีวร ๖ ชนิด 
ออกพรรษา 
•เทศน์โปรดพุทธบิดา สำเร็จพระอรหันต์และนิพพาน และจุดเพลิงพระบรมศพ 


พรรษาที่ ๕ จำพรรษาที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน นอกเมืองเวสาลี 
•พระนางประชาบดี ยอมรับคุรุธรรม ๘ ประการ บวชเป็นภิกษุณีองค์แรก แล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ 
•พระนางยโสธราบวชในสำนักพระนางประชาบดีเถรี บรรลุเป็นพระอรหันต์
•นางรูปนันทา บวชตามหมู่ญาติ ทรงแสดงฤทธิ์โปรด สำเร็จเป็นพระอรหันต์ 
ออกพรรษา 
•เสด็จไปภัททิยนคร แคว้นอังคะ โปรดเมณฑกะเศรษฐี ธนัญชัยเศรษฐี นางวิสาขาและหมู่ญาติ เป็นพระโสดาบัน 
•ทรงอนุญาตโครสทั้ง ๕ ทรงอนุญาตนํ้าผลไม้ทุกชนิด (เว้นนํ้ากับเมล็ดนํ้าข้าวเปลือก) นํ้าใบไม้ทุกชนิด (เว้นนํ้าผักดอง) นํ้าดอกไม้ทุกชนิด (เว้นนํ้าดอกมะซาง) นํ้าอ้อยสด ทรงอนุญาตให้ฉันผักสดทุกชนิด และของขบฉันที่ทำด้วยแป้ง ให้ฉันผลไม้ได้ทุกชนิด 
•แสดงมหาปเทส ๔ สิ่งที่ควรและไม่ควรสำหรับสงฆ์

พรรษาที่ ๖ จำพรรษาที่มกุลบรรพต แคว้นมคธ
•ห้ามพระภิกษุแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ 
•ปรารภจะแสดงยมกปาฏิหาริย์เอง 
ออกพรรษา 
•เดียรถีย์สร้างสำนักหลังวัดเชตวัน พระเจ้าปเสนทิโกศล เปลี่ยนเป็นสร้างอารามสำหรับภิกษุณี เรียกราชการาม 
•เพ็ญเดือน ๘ แสดงยมกปาฏิหาริย์ นอกเมืองสาวัตถี



พรรษาที่ ๗ จำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ 
•แสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดาตลอดไตรมาสจนบรรลุเป็นพระโสดาบัน
•เรื่องอังกุรเทพบุตรและอินทกเทพบุตร 
•ลงจากชั้นดาวดึงส์ ที่ประตูเมืองสังกัสสะ 
ออกพรรษา 
•เสด็จกรุงสาวัตถี 
•ปรารภเรื่องนางปฏิปูชิกา ภรรยาของมาลาภารีเทพบุตร 
•นางจิญจมาณวิกาใส่ความพระพุทธเจ้า ถูกธรณีสูบลงอเวจีมหานรก 


รรษาที่ ๘ จำพรรษาที่เภสกฬาวัน ภัคคชนบท 
•บิดาของสิงคาลกมานพบวช บรรลุพระอรหันต์
ออกพรรษา 
•บัญญัติสิกขาบทเรื่องการผิงไฟของภิกษุ 
•โปรดมาคันทิยาพราหมณ์และภรรยา จนขอบวชทั้ง ๒ คนแล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ 
•นางมาคันทิยาผู้เป็นธิดาผูกจิตอาฆาตในพระศาสดา 
•เศรษฐีโกสัมพี ๓ คนตามไปฟังธรรมที่วัดเชตวันเมืองสาวัตถีบรรลุเป็นพระโสดาบันและได้สร้าง โฆสิตาราม ปาวาริการาม และกุกกุฏาราม ถวายที่โกสัมพี

 
พรรษาที่ ๙ จำพรรษาที่โกสัมพี 
•เรื่องนางสามาวดี ได้เป็นมเหสีพระเจ้าอุเทน ถูกนางมาคันทิยาวางแผนเผาทั้งปราสาทจนตาย 
ออกพรรษา 
•สงฆ์ที่โฆสิตาราม โกสัมพี แตกความสามัคคี 


พรรษาที่ ๑๐ จำพรรษาที่รักขิตวัน (ป่าปาริเลยยกะ) อยู่ระหว่างกรุงโกสัมพีกับกรุงสาวัตถี 
•ช้างปาริเลยยกะและวานรถวายอุปัฏฐากพระพุมธองค์
ออกพรรษา 
•หมู่สงฆ์ชาวโกสัมพีมาขอขมาต่อพระองค์ทำให้สังฆสามัคคี 


พรรษาที่ ๑๑ จำพรรษาที่หมู่บ้านพราหมณ์ เอกนาลา ใต้เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ 
ออกพรรษา (ไม่ปรากฏหลักฐาน) 


พรรษาที่ ๑๒ จำพรรษาที่ควงไม้สะเดาเมืองเวรัญชา 
•ทรงไม่อนุญาตให้มีการบัญญัติสิกขาบท 
ออกพรรษา 
•เรื่องเอรกปัตตนาคราช
•พระนางปชาบดีเถรี ทูลลานิพพาน ประชุมเพลิง 
•การอุปสมบท ๘ วิธี 


รรษาที่ ๑๓ จำพรรษา ที่จาลิกบรรพต เมืองจาลิกา
•เรื่องพระเมฆิยะ 
ออกพรรษา 
•แสดงมงคลสูตร ๓๘ ประการ 
•แสดงกรณีเมตตาสูตร 
•เรื่องพระพาหิยะทารุจิริยะ 
•พระอัญญาโกณฑัญญะทูลลานิพพาน 


พรรษาที่ ๑๔ จำพรรษา ที่วัดเชตวัน สาวัตถี 
•สามเณรราหุลอุปสมบท
•ตรัสภัทเทกรัตตคาถา 
•แสดงนิธิกัณฑสูตร 
ออกพรรษา 
•บัญญัติวิธีกรานกฐิน
•อนุญาตสงฆ์ รับการปวารณาปัจจัยเภสัชเป็นนิตย์  


พรรษาที่ ๑๕ จำพรรษาที่นิโคธาราม กรุงกบิลพัสดุ์
•เจ้าศากายะถวายสัณฐาคาร 
•แสดงสัปปุริสธรรม ๗ ประการ 
•เรื่องพระเจ้าสุปปพุทธะถูกธรณีสูบลงอเวจี 
ออกพรรษา (ไม่ปรากฏหลักฐาน)

พรรษาที่ ๑๗ จำพรรษาที่วัดเวฬุวัน
•พระทัพพมัลลบุตรทูลลานิพพาน
ออกพรรษา
•เรื่องพระวักกลิ

พรรษาที่ ๑๘ จำพรรษาที่จาลิกบรรพต เมืองจาลิกา ออกพรรษา
•เสด็จเมืองอาฬาวี ครั้งที่ ๒
•โปรดธิดาช่างหูกบรรลุโสดาปัตติผล
•ช่างหูกผู้เป็นบิดาขอบวชสำเร็จอรหัตตผล
•ตรัสอริยทรัพย์ ๗ ประการ

พรรษาที่ ๑๙ จำพรรษาที่จาลิกบรรพต เขตเมืองจาลิกา
ออกพรรษา
•เรื่องโปรดโจร องคุลีมาล
•เรื่องสันตติมหาอำมาตย์บรรลุอรหัตตผลแล้วนิพพาน

พรรษาที่ ๒๐ จำพรรษาที่เวฬุวัน เมืองราชคฤห์
•พระอานนท์ได้เป็นอุปัฏฐากประจำพระองค์
•พระอานนท์ทูลขอพร ๘ ประการ

พรรษาที่ ๒๑-๔๕ จำพรรษาที่วัดเชตวัน หรือ วัดบุพพาราม สลับกันไป
ออกพรรษา จาริกไปตามตำบลต่างๆ เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ ประมาณพรรษาที่๒๑ จำวัดที่บุพพารามสาวัตถี
•พระองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโทกข์ในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ครั้งแรก ประมาณพรรษาที่๒๖
•พระราหุลนิพพาน

พรรษาที่๓๗ เทวทัตคิดปกครองสงฆ์
•วางแผนปลงพระชนม์พระศาสดา
•ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร
•พระเทวทัตถูกธรณีสูบ

พรรษาที่๓๘ แสดงสามัญญผลสูตรแก่อชาตศัตรู
•อชาตศัตรูแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
•กรุงสาวัตถี อำมาตย์ก่อการขบถ
•พระเจ้าปเสนทิโกศลสิ้นพระชนม์
•พระเจ้าวิฑูฑภะฆ่าล้างวงศ์ศากยะ
•พระเจ้าวิฑูฑภะสิ้นพระชนม์

พรรษาที่๔๓
พระยโสธราเถรีนิพพาน

พรรษาที่๔๔ แสดงธรรมที่วัดเชตวัน
•ตอบปัญหาเทวดา
ออกพรรษา
•พระสารีบุตรทูลลานิพพาน
•พระสารีบุตรโปรดมารดาจนบรรลุโสดาปัตติผลพระสารีบุตรนิพพาน
•พระโมคคัลลานะถูกโจรที่เดียรถีย์จ้างมาทำร้าย
•พระโมคคัลลานะนิพพาน
•นางอัมพปาลีถวายอาราม นางอัมพปาลีบรรลุธรรม

พรรษาที่๔๕ ภิกษุจำพรรษารอบกรุงเวสาลี
•ตรัสอานุภาพอิทธิบาท ๔
•ทรงปลงอายุสังขาร ตรัสโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ
•นายจุลทะถวายสุกรมัททวะ
•ตรัสถึงสังเวชนียสถาน ๔แห่ง
•วิธีปฏิบัติกับพุทธสรีระปัจฉิมโอวาทแก่ภิกษุ
•เสด็จปรินิพพาน

วันพุธ

คุณแห่งการฉันทอาหารหนเดียว

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภัททาลิสูตร คุณแห่งการฉันอาหารหนเดียว

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว เมื่อเราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว ย่อมรู้สึกคุณ คือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายจงมา จงฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวเถิด ด้วยว่า เมื่อเธอทั้งหลายฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จักรู้สึกคุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ

พระภัททาลิฉันอาหารหนเดียวไม่ได้ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระภัททาลิได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สามารถจะฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวได้ เพราะเมื่อข้าพระองค์ฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จะพึงมีความรำคาญ ความเดือดร้อน

ดูกรภัททาลิ ถ้าอย่างนั้น เธอรับนิมนต์ ณ ที่ใดแล้ว พึงฉัน ณ ที่นั้นเสียส่วนหนึ่งแล้ว นำส่วนหนึ่งมาฉันอีกก็ได้ เมื่อเธอฉันได้ แม้อย่างนี้ ก็จักยังชีวิตให้เป็นไปได้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สามารถจะฉันแม้ด้วยอาการอย่างนั้นได้ เพราะเมื่อข้าพระองค์ฉันแม้ด้วยอาการอย่างนั้น จะพึงมีความรำคาญ ความเดือดร้อน

ครั้งนั้นแล ท่านพระภัททาลิประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังจะทรงบัญญัติสิกขาบทในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ครั้งนั้นแล ท่านพระภัททาลิไม่ได้ให้ตนประสบพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคตลอดไตรมาสนั้นทั้งหมดเหมือนภิกษุอื่น ผู้ไม่ทำความบริบูรณ์ในสิกขาในพระศาสนาของพระศาสดาฉะนั้นฯลฯ

อาการฉันทอาหารของพระพุทธเจ้า
๑) ไม่ติดในรส พระพุทธเจ้าแม้พระองค์จะอุบัติขึ้นในโลก แต่พระองค์ก็ไม่ทรงติดโลก ในเรื่องอาหารก็เช่นเดียวกันพระองค์เสวยอาหารแต่พระองค์ก็ไม่ทรงยึดติดในรสอาหารทุกชนิด โดยที่พระองค์ไม่ยินดียินร้ายกับรสอาหารว่าอร่อยหรือไม่อร่อย แต่ทรงมุ่งประโยชน์หรือคุณค่าแท้เป็นหลักใหญ่ของการบริโภค พระองค์ทรงวางท่าทีต่อการเสวยพระกระยาหารโดยไม่ทำความยินดียินร้ายในอาหารทำให้ทรงเห็นเป็นเพียงธาตุ

ในพรหมายุสูตร ได้กล่าวถึงการไม่ติดในรสของพระองค์ไว้ว่า เมื่อทรงรับข้าวสุกก็ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงยื่นบาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรคอยรับ ทรงรับข้าวสุกไม่น้อยนักไม่มากนัก ทรงรับกับข้าว เสวยพระกระยาหารพอประมาณกับข้าว ไม่ทรงทำกับข้าวให้เกินกว่าคำข้าวทรงเคี้ยวคำข้าวข้างในพระโอษฐ์สองสามครั้งแล้วทรงกลืน ข้าวยังไม่ละเอียด ไม่ทรงกลืนลงไป ไม่มีข้าวเหลืออยู่ในพระโอษฐ์จึงน้อมคำข้าวอีกคำหนึ่งเข้าไป ทรงมีปกติกำหนดรสอาหารแล้วเสวยอาหาร แต่ไม่ทรงติดในรส แต่พระองค์ทรงเสวยพระกระยาหารด้วยความมีสติพิจารณาและมีเป้าหมาย ดังความในพระสูตรเดียวกันว่า ท่านพระโคดมพระองค์นั้นเสวยพระกระยาหารประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ
    ๑. ไม่เสวยเพื่อเล่น
    ๒. ไม่เสวยเพื่อมัวเมา
    ๓. ไม่เสวยเพื่อประดับ
    ๔. ไม่เสวยเพื่อตกแต่ง
    ๕. เสวยเพื่อดำรงพระวรกายนี้ไว้
    ๖. เสวยเพื่อยังพระชนม์ให้เป็นไปได้
    ๗. เสวยเพื่อป้องกันความลำบาก
    ๘. เสวยเพื่อทรงอนุเคราะห์พรหมจรรย์
พระองค์ทรงเน้นย้ำให้เห็นการเข้าใจความจริงของการบริโภคเพื่อการพัฒนาจิตใจและ ปัญญาของผู้บริโภคให้สูงกว่าการติดอยู่แค่รสอาหารที่บริโภค ไม่ให้หลงใหลในความอร่อยความน่า ปรารถนาที่ยั่วยวน ซึ่งจะเป็นตัวชนวนนำไปสู่การไม่ได้ใช้ปัญญา
      
๒) ไม่ตำหนิอาหาร พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เป็นผู้วางใจเป็นกลางในอาหารที่จะได้รับ ไม่ทรงติหรือชมอาหารที่เขาน้อมมาถวาย แม้ว่ากันโดยชาติกำเนิดพระองค์กำเนิดในตระกูลกษัตริย์พระกระยาหารที่เสวยก็ เป็นอาหารของชาววัง ซึ่งมีความพิเศษกว่าอาหารของชาวบ้านธรรมดาแทบเทียบกันไม่ได้ แต่เมื่อ พระองค์ออกบวชแล้วพระองค์ก็ไม่ทรงรังเกียจอาหารที่ชาวบ้านนำมาถวาย จะเป็นคนรวยหรือคนจน เข็ญใจ พระองค์มิได้ทรงเลือกรับเฉพาะที่ดีหรือเลิศ แต่พระองค์ทรงรับด้วยความอนุเคราะห์ประการ หนึ่ง อีกประการหนึ่งเพราะพระองค์ไม่ตำหนิอาหารไม่ทำศรัทธาของทายกให้ตกไป เห็นได้จากตัวอย่างที่พระองค์ไม่ทรงตำหนิอาหารของคนจน และอนุเคราะห์คนจน เช่น ชายยากจนเข็ญใจคนหนึ่ง มีความประสงค์จะเลี้ยงพระภิกษุสักรูปหนึ่ง

เมื่อได้รับการชักชวนทั้งที่ตนก็ทำงานรับจ้าง จะได้กินอิ่มแต่ละวันยังยาก แต่ก็รับที่จะเลี้ยงพระภิกษุสักรูปหนึ่ง แต่เจ้าหน้าที่ลืมจัดพระภิกษุให้แก่เขา เหลือเพียงพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเขาจึงเข้าไปทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าพระองค์ก็รับอาราธนาไปฉัน ที่บ้านคนเข็ญใจนั้น

พระพุทธองค์ทรงแสดงเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ปรินิพพานในปัจจุบันว่า รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่พาใจให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่เชยชม ไม่ยึดติดรสนั้นอยู่ เมื่อเธอไม่เพลิดเพลิน ไม่เชยชม ไม่ยึดติดรสนั้น วิญญาณที่อาศัยตัณหานั้นก็ไม่มีความยึดมั่นตัณหานั้นก็ไม่มีภิกษุผู้ไม่มีอุปาทานย่อมปรินิพพาน

การไม่ติชมอาหารของพระพุทธองค์ด้วยอาศัยอาหารของชาวบ้านเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ แม้พระองค์จะอาศัยภัตที่เป็นเดนที่ผู้อื่นให้แล้ว พระองค์ก็ทรงสรรเสริญการให้ทานของทายก อาหารที่เขาถวายเป็นของควรแก่สมณะ การไม่เลือกอาหารว่าดีเลิศหรือเลวทราม เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นข้อว่าพระองค์ไม่ได้บริโภคอาหารด้วยความยึดติดและทำพระองค์เป็นผู้เลี้ยงง่าย บนพื้นฐานของความเรียบง่าย ไม่ยุ่งยากกับการเลี้ยงดู แต่ให้ความสำคัญทางด้านการพัฒนาจิตใจและปัญญามากกว่าการยินดีด้วยรสที่สนองการเสพ

๓) การฉันอาหารมื้อเดียว การออกบวชของพระพุทธองค์ทรงวางเป้าหมายไว้ คือ การแสวงหาโมกขธรรมทางดับทุกข์ด้วยวิธีการที่พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าพระองค์ไม่ได้เสียเวลาอยู่กับการบริโภคอาหาร เพื่อประหยัดเวลาที่ผ่านไปในแต่ละวันไม่ให้สูญเสียไปกับเรื่องที่เกี่ยวเนื่องด้วยอาหารและการขบฉันของพระภิกษุ พระองค์จึงทรงประพฤติเป็นแบบอย่างโดยการบริโภคอาหารวันละมื้อ และแนะนำชักชวนพระภิกษุทั้งหลายให้ประพฤติตาม พระองค์ได้ทรงแสดงข้อดีของการฉันมื้อเดียวว่า ภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารมื้อเดียว เราเมื่อฉันอาหารมื้อเดียว ย่อมรู้สึกว่าสุขภาพดีมี โรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์อยู่สำราญ โดยธรรมดาของคนทั่วไปการบริโภคอาหารสามารถบริโภคได้ทั้งวัน แต่คิดจากการบริโภค อาหารตามปกติวันละ ๓ มื้อ นับเวลาที่ต้องเสียไปกับการเตรียมอาหารที่จะบริโภค เวลาในการ บริโภค เมื่อบริโภคแล้วต้องเสียเวลาในการจัดเก็บทำความสะอาดภาชนะและสถานที่ รวมกันแล้ว ต้องเสียเวลาไปกับการที่บริโภคนี้มาก ยิ่งบริโภคมากก็ยิ่งเสียเวลามาก ซึ่งเป้าหมายของผู้ออกบวช คือการทำที่สุดทุกข์ให้แจ้ง คือเป็นผู้พ้นจากความทุกข์วิมุตติถ้ายุ่งอยู่กับเรื่องการบริโภคมากเกินไป ก็จะไม่มุ่งมั่นต่อการปฏิบัติธรรมเป้าหมายก็อาจจะคลาดเคลื่อนไป หรือไปไม่ถึงเป้าหมายของการ ออกบวชได้

การฉันมื้อเดียวของพระภิกษุมีคุณต่อผู้ออกบวชอย่างยิ่ง พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงคุณ ของการไม่บริโภคอาหารกลางคืนไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เราไม่ฉันโภชนะในราตรีเลย เราเมื่อไม่ฉันโภชนะในราตรีก็รู้สึกว่าสุขภาพดีมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์อยู่สำราญ