ความหมายปรมัตถธรรมและบัญญัติธรรม

ปรมัตถธรรม คือ ธรรมชาติที่เป็นความจริงแท้แน่นอน ที่ดำรงลักษณะเฉพาะของตนไว้โดยไม่ผันแปรเปลี่ยนแปลง เป็นธรรมที่ปฏิเสธ ความเป็นสัตว์ ความเป็นบุคคล ความเป็นตัวตนโดยสิ้นเชิง มี ๔ ประการ คือ จิต เจตสิก รูป และ นิพพาน ซึ่งมีความหมายโดยย่อดังนี้
จิต คือธรรมชาติที่ทำหน้าที่เห็น, ได้ยิน, รับกลิ่น, รับรส, รู้สัมผัส ถูกต้อง ตลอดจนธรรมชาติที่ทำให้เกิดการคิด นึก สภาวะของจิตมีทั้งหมด ๘๙ หรือ ๑๒๑ อย่าง (โดยพิสดาร) แต่เมื่อกล่าวโดยลักษณะแล้วมีเพียง ๑ เท่านั้น คือ รู้อารมณ์ (อารมณ์ในที่นี้หมายถึง รูป,เสียง,กลิ่น,รส,สิ่งต่างๆ และเรื่องราว ต่างๆ ที่จิตไปรับรู้) จิตเป็นนามธรรมและมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น วิญญาณ,มโน,มนัส,มนินทรีย์,มโนธาตุ,มโนวิญญาณธาตุ และ มนายตนะ เป็นต้น
เจตสิก คือ ธรรมชาติที่ประกอบกับจิต ปรุงแต่งจิต ทำให้เกิดความ รู้สึก นึก คิด ที่แตกต่างกัน ทั้งทางที่ดีและไม่ดี มีทั้งหมด ๕๒ ลักษณะ เจตสิกเป็นนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิต คือเกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และอาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต สภาพของจิตเป็นเพียงประธานในการรู้ อารมณ์ แต่การที่จิตโกรธ หรือจิตโลภ เป็นเพราะมีเจตสิกเข้าประกอบปรุงแต่งให้เกิดความโกรธหรือความโลภนั่นเอง จิต เปรียบเสมือนเม็ดยา เจตสิก เปรียบเสมือนตัวยาที่อยู่ในเม็ดยา จิตเกิดโดย ไม่มีเจตสิกไม่ได้ และเจตสิกเกิด โดยไม่มีจิตก็ไม่ได้เช่นกัน เนื่องจาก จิต และ เจตสิก เป็นสิ่งที่ต้องเกิดร่วมกันตลอดเวลา ดังนั้น พึงให้ระลึกไว้อยู่เสมอว่าจิตและเจตสิกนั้นเป็นธรรมชาติที่ต้องเกิดร่วมกัน ต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกันและไม่สามารถแยกออกจากกันได้
รูป คือ ธรรมชาติที่แตกดับ ย่อยยับ สลายไปด้วยความเย็นและความร้อน ในร่างกายของคนเราและสัตว์ทั้งหลายนั้นมีรูปประชุมกันอยู่ทั้งหมด ๒๘ ชนิด และรูปที่ประชุมกันอยู่นี้แต่ละรูปต่างก็แตกดับย่อยยับ สลายไปตลอดเวลา หาความเที่ยงแท้ถาวรไม่ได้เลย
นิพพาน เป็นธรรมชาติที่พ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัด พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด นิพพานโดยปริยายมี ๒ ลักษณะคือ

๑. สอุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ยังเป็นไปกับขันธ์ ๕ หมายถึง การที่ ประหาณกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว (กิเลสนิพพาน) แต่ขันธ์ ๕ ยังมีการเกิดดับสืบต่ออยู่ (ยังมีชีวิตอยู่)
๒. อนุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ปราศจากขันธ์ ๕ ได้แก่นิพพานของพระอรหันต์ (ผู้หมดจดจากกิเลส) และสิ้นชีวิตไปแล้ว (คือ กิเลสก็ไม่เหลือ ขันธ์ ๕ ก็ไม่เหลือ) หรือที่เรียกว่า ปรินิพพาน (ปริ = ทั้งหมด) เมื่อปรินิพพานแล้ว จิต+เจตสิกและรูปจะหยุดการสืบต่อและดับลงโดยสิ้นเชิง (คือเมื่อปรินิพพานไปแล้วก็จะไม่มีการเกิดอีกหรือไม่มีภพชาติต่อไปอีก) นิพพาน เป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะต้องพยายามเข้าถึงให้จงได้จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธสาวก เป็นอริยบุคคลและเป็นทายาทผู้รับมรดกธรรมในพุทธศาสนานี้
บัญญัติธรรม  ความหมายของบัญญัติธรรม บัญญัติธรรม คือ สิ่งที่มนุษย์บัญญัติขึ้นเพื่อสื่อสารให้เข้าใจความหมายซึ่งกันและกัน เช่น ชื่อ นายมี นางมา สีเขียว สีแดง ทิศเหนือ ทิศใต้ วันจันทร์ วันอังคาร เดือน ๘ เดือน ๑๐ ปีชวด ปีฉลู เวลาเช้า เวลาเย็น เวลา ๒๔.๐๐ น. พลเอก อธิบดี รัฐมนตรี เหรียญ ๕๐ สตางค์ ธนบัตร ๑๐๐ บาท ระยะทาง ๑ กิโลเมตร น้ำหนัก ๑ กิโลกรัม เนื้อที่ ๑ ไร่ ล้วนเป็นสิ่งสมมุติทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ท่านเรียกว่า “บัญญัติธรรม” เปรียบเสมือนทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงสิ่งสมมุติที่ตั้งชื่อขึ้นมา แม้แต่ ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หนังสือ ปากกา นาฬิกา บ้าน โต๊ะ เก้าอี้ แก้วน้ำ ช้อน ชาม พัดลม วิทยุ เกวียน เรือ รถยนต์ คน และสัตว์ทั้งหลาย ฯลฯ ก็จัดเป็นบัญญัติธรรม เช่นเดียวกัน

ปรมัตถธรรมเป็นธรรมที่อยู่เหนือสมมุติบัญญัติหากไม่มีมนุษย์เกิดขึ้นในโลกนี้ ความหมายของสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์บัญญัติขึ้นว่าเป็นนั่นเป็นนี่ มีชื่อเรียกอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ย่อมไม่เกิดขึ้นเช่นกัน แม้แต่ ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ พื้นดิน ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ฯลฯ ก็เป็นเพียงธรรมชาติ ที่ปราศจากความหมาย ปราศจากชื่อ คือเป็นแต่เพียงสภาวะที่เกิดจากการประชุมกันของมหาภูตรูปทั้ง ๔๔ อันเป็นรูปธรรม (รูป) ที่ปราศจากนามธรรม(จิต+เจตสิก) ซึ่งเป็นสภาวะปรมัตถ์ (ปรมัตถธรรม) ที่พ้นจากสมมุติบัญญัติโดยสิ้นเชิง

ส่วนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายนั้น หากกล่าวในแง่ปรมัตถธรรมแล้ว ถือว่าไม่มีตัวตน ไม่มี นายมี ไม่มี นางมา มีแต่รูปธรรม (รูป) และนามธรรม (จิต+ เจตสิก) มาประชุมกันเท่านั้น ดังนั้นไม่ว่าตัวเราหรือผู้อื่นซึ่งรวมถึงสัตว์ทั้งหลายด้วยนั้น เมื่อกล่าวในแง่ปรมัตถธรรมหรือธาตุแท้ตามธรรมชาติแล้ว จะมีส่วนประกอบอยู่ ๓ ส่วน เท่านั้นคือ
๑.จิต คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์
๒.เจตสิก คือ ธรรมชาติที่ประกอบปรุงแต่งจิตมี ๕๒ ลักษณะ
๓.รูป คือ องค์ประกอบ ๒๘ ชนิดที่รวมกันขึ้นเป็นกาย

จะเห็นได้ว่า คนเราทุกคนและสัตว์ทั้งหลายนั้น มีส่วนประกอบเหมือนกัน คือ
เราก็มี จิต เจตสิก รูป
เขาก็มี จิต เจตสิก รูป
สัตว์ทั้งหลายก็มี จิต เจตสิก
จะมีความแตกต่างกันก็ตรงที่รูปร่างหน้าตาผิวพรรณ ซึ่งถูกจำแนกให้แตกต่างกันด้วยอำนาจของกรรมที่กระทำไว้ในอดีต จิต+เจตสิก และรูป มีลักษณะสามัญตามธรรมชาติ (สามัญลักษณะ) อยู่ ๓ ประการคือ
๑. อนิจจลักษณะ คือมีลักษณะที่ไม่เที่ยงไม่คงที่ ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
๒. ทุกขลักษณะ คือมีลักษณะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วต้องดับไปอยู่ตลอดเวลา
๓. อนัตตลักษณะ คือมีลักษณะที่มิใช่ตัว มิใช่ตน ไม่สามารถบังคับบัญชาได้

สามัญลักษณะทั้ง ๓ นี้ เป็นสิ่งจริงแท้แน่นอน เป็นกฎธรรมชาติ เรียกว่า “ไตรลักษณ์"

โดยสรุปแล้ว จิต+เจตสิก และรูป ที่ประกอบขึ้นเป็นบุคคลหรือเป็นสัตว์ใดๆก็ตามนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้มีแก่นสารอะไรเลย เป็นเพียงการประชุมกันของส่วนประกอบที่มีความไม่เที่ยง เกิดดับ เกิดดับสืบต่อกัน อย่าง รวดเร็ว (ชั่วลัดนิ้วมือ จิตมีการเกิดดับแสนโกฏิขณะ หรือหนึ่งล้านล้านครั้ง) เป็นสภาพที่หาเจ้าของมิได้ ไม่เป็นของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของผู้ใด ว่างเปล่าจากความเป็นคนนั้นคนนี้ ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน ว่างเปล่าจากความเป็นนั่นเป็นนี่ตามที่สมมุติกันขึ้นมา แต่เป็นสภาวธรรมอันเป็นไปตาม เหตุ ตามปัจจัย ขึ้นกับเหตุ ขึ้นกับปัจจัย พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ปรมัตถธรรมเหล่านี้ก็คงมีอยู่ตามธรรมชาติ พระพุทธองค์เป็นแต่เพียงผู้ทรงค้นพบ และนำมาเปิดเผยให้เราทั้งหลายได้ทราบเท่านั้น (หากต้องการทราบเนื้อหาอันลึกซึ้งของปรมัตถธรรมทั้ง ๔ ก็ต้องศึกษา พระอภิธรรมโดยละเอียดต่อไป)