เทียบกันแล้ว ควรสรุปได้

จากหลักฐานและเรื่องราวที่ยกมาดูกันนี้ จะเห็นว่า โดยทั่วไปพระเจ้าอโศกทรงสอนธรรม แบบไม่ออกชื่อของหลักธรรมหรือของหัวข้อธรรม (ถ้าทรงเรียกชื่อหัวข้อธรรมออกมา ราษฎรที่อยู่กระจายห่างกันไปทั่ว ส่วนใหญ่ก็คงไม่รู้เรื่องหรือสื่อกันยาก)

พระองค์ตรัสออกชื่อธรรมเพียงไม่กี่อย่าง เมื่อจะเน้นออกมาเฉพาะที่เป็นคำที่รู้ๆ กัน หรือง่ายๆ แต่ที่ทรงสอนเอาจริงเอาจังและตรัสอยู่เสมอ ก็คือธรรมที่เป็นการปฏิบัติต่อกันระหว่างคนในหมู่ชน ทำนองเดียวกับพระสูตรในพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนคฤหัสถ์ กลายเป็นว่า พระเจ้าอโศกนั่นแหละทรงแม่นยำว่า ในฐานะพุทธมามกะ เมื่อเป็นราชาปกครองบ้านเมืองจะสอนธรรมส่วนไหนอย่างไร และคนที่ไม่เข้าใจเพราะจับจุดจับหลักไม่ได้ ก็คือท่านผู้รู้ทั้งชาวอินเดียและฝรั่งนั่นเอง คงต้องพูดว่า พระเจ้าอโศกมิใช่จะทรงริเริ่มจัดตั้งหลักธรรมสากลหรือศาสนาสากล ที่ใช้ภาษาอังกฤษว่า universal religion แต่อย่างใด ที่แท้นั้นพระองค์ทรงตั้งพระทัยไว้ในความเป็น universal ruler หรือ universal monarch ตามคติจักกวัตติ/จักรวรรดิราชา  (Cakkavatti/Cakravartin) ดังที่ได้ทรงประกาศหลักธรรมวิชัย ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความเป็นจักรพรรดิราช คำศัพท์ในวงเล็บทั้งหมดนี้ พึงทราบว่า ไม่ใช่รูปเดิมในศิลาจารึก แต่เป็นการถอดรูปออกมา และเขียนเทียบเป็นคำภาษาบาลี เพื่อให้ได้ประโยชน์ในการศึกษามากขึ้น เช่น ข้อ ๒ ที่ถอดเป็น “อัคคบริกา” นั้น คำในจารึกเป็น "อคาย ปลีขาย) แต่ที่นี่มิใช่โอกาสที่จะอธิบายมากกว่านี้


ตามความในพระสูตรทั้งหลายนั้นความจริง พระพุทธศาสนาถือว่าธรรมเป็นสากลในตัวของมันเองอยู่แล้ว ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ตถาคตจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ธรรมก็มีก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ตถาคตเพียงมาค้นพบธรรมนั้น แล้วนำมาบอกเล่าประกาศให้รู้กัน" จึงไม่มีปัญหาที่จะต้องมาพูดในเรื่องนี้ เวลามีคนมาซักถามพระพุทธเจ้า บางทีเขาทูลว่า อาจารย์คนโน้นเก่งอย่างนั้น คนนั้นเก่งอย่างนี้ คนนี้สอนว่าอย่างนั้น คนนั้นสอนว่าอย่างเขาเถียงกันนัก แล้วพระองค์ว่าใครผิดใครถูก พระพุทธเจ้าจะตรัสทำนองนี้ว่า “เอาละ ท่านพราหมณ์ เรื่องที่คน ๒ ฝ่าย พูดอ้างความรู้กัน มีวาทะขัดแย้งกัน ใครจริง ใครเท็จนั้น พักไว้เถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน" (นวก. ๒๓/๒๔๒) แล้วตรัสไปตามหลักตามสภาวะให้เขาพิจารณาเอาเอง

ทีนี้ก็มาถึงคำถามว่า ทำไมในพระสูตรที่แสดงแก่คฤหัสถ์ทั่วๆ ไป พระพุทธเจ้าจึงไม่ตรัสออกชื่อหลักธรรมหรือชื่อหัวข้อธรรมสำคัญๆ เช่น อริยสัจ และปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น แล้วก็เช่นเดียวกัน ทำไมพระจักรพรรดิธรรมราชา เมื่อทรงสอนธรรมแก่ประชาชนทั่วไป จึงไม่ตรัสออกชื่อหลักธรรมสำคัญเหล่านั้น คำถามนี้ส่วนหนึ่งได้ตอบไปแล้ว ในแง่ที่ว่าชื่อนั้นเขาใช้สื่อกับคนที่รู้อยู่บ้างแล้ว เป็นต้น ตอนนี้จะตอบเน้นในแง่การทำหน้าที่ของพระจักรพรรดิราช พระราชาทรงปกครองคนทั้งแผ่นดิน คนเหล่านั้นมีระดับการพัฒนาต่างๆ กัน แต่คนส่วนใหญ่ต้องถือว่าเป็นระดับพื้นฐาน คนเหล่านั้นยังไม่ได้คิดมุ่งคิดหมายที่จะเดินหน้าไปในธรรม (คือในการที่จะศึกษาพัฒนาตนหรือแสวงหาคุณค่าที่สูงขึ้นไปแก่ชีวิต) มิใช่เป็นอย่างคนที่จะมาบวช ซึ่งมีเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะเดินหน้ามาแล้ว

งานของผู้ปกครองที่มองอย่างครอบคลุมก่อน ก็คือ จะทำให้คนทั่วไปที่เป็นมวลรวมนี้ อยู่กันดีมีสุขสงบเรียบร้อยในความหมายเพียงระดับพื้นฐาน ที่จะไม่เบียดเบียนกันหรือเขาออกไปนอกลู่นอกทาง ให้เป็นความพร้อมขั้นต้นของสังคม แล้วพร้อมกันนั้น ท่านผู้ปกครองก็จัดสรรสภาพและระบบการต่างๆ ที่จะเอื้ออำนวยบริการเป็นต้น เพื่อสนองความต้องการของคนที่จะพัฒนาสูงขึ้นไป ถึงขั้นตอนนี้แหละ อย่างในมหาอาณาจักรของพระเจ้าอโศกมหาราช วิหารคือวัดมากมาย พระองค์ก็ได้สร้างไว้ และทรงอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ทั้งหลาย แถมยังทรงเกื้อหนุนไปถึงนักบวชในลัทธิอื่นๆ ด้วย วัดและพระสงฆ์เป็นต้นนี้ มองในแง่นี้ ก็เหมือนเป็นบริการของระบบแห่งสังคมที่ดี ที่จะมากระตุ้นและมาสนองความต้องการของคนหลากหลาย ที่จะก้าวขึ้นไปสู่การพัฒนาชีวิตในระดับที่ประณีตสูงต่อๆ กันตามลำดับไป พูดง่ายๆ ว่า รัฐจัดสภาพเอื้อพื้นฐานไว้ให้แล้ว วัดก็มาพบมาดูและรับปรึกษาว่าใครจะรับธรรมขั้นไหนอย่างใดได้ ตอนนี้ก็พระแหละ ที่จะดูในแต่ละกรณีหรือสถานการณ์ว่าจะพูดจะเอ่ยถึงธรรมชื่อใดๆ ตามที่เขาต้องการ หรือที่จะเหมาะสมเป็นประโยชน์แก่เขา เหมือนกับแบ่งหน้าที่และขั้นตอนการทำงานกันระหว่างรัฐกับวัด

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า แม้แต่ในพุทธกาล ถึงพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ตามปกติจะไม่ได้สอนข้อธรรมลึกๆ แก่คฤหัสถ์ทั่วไปเหมือนอย่างที่สอนแก่พระสงฆ์ที่มุ่งเข้ามาศึกษาโดยตรง แต่ในหมู่มหาชนนอกภิกขุสังฆะนั้น ก็มีบางคนบางส่วนที่สนใจและก้าวไปมากในการศึกษาอย่างเป็นเรื่องเฉพาะตัวเฉพาะกลุ่มที่จะแสวงหาดังที่บางท่าน อย่างจิตรคฤหบดีผู้เป็นอนาคามี ก็มีภูมิธรรมสูงได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะด้านเป็นอุบาสกธรรมกถึก สามารถอธิบายช่วยแก้ความติดขัดในธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายแม้แต่ที่เป็นเถระได้ (อง เอก ๒๐/๑๕๑ ส.ส.๑๘/๕๓๙-๕๔๐) หรืออย่างอุบาสิกาขุชชุตตรา พระพุทธเจ้าก็ทรงยกย่องเป็นเอตทัคคะด้านเป็นพหูสูต (อ.เอก ๒๐/๑๕๒)

แต่เมื่อพูดกว้างๆ ทั่วๆ ไป ในสังคมคฤหัสถ์โดยรวม ธรรมที่สอนตามปกติก็เป็นดังที่พูดมาแล้ว หลักฐานยืนยันที่ชัดเจนมาก ไม่ต้องหาที่ไหนไกล ขนาดอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ได้อุปถัมภ์พระศาสนากล่าวได้ว่ามากที่สุด และเป็นโสดาบัน กว่าจะได้ฟังธรรมหลักใหญ่อย่างที่ออกชื่อกันมานั้น ก็ตอนเจ็บหนักนอนอยู่บนเตียงจวนจะสิ้นชีพเรื่องมีว่า คราวนั้น พระสารีบุตร พร้อมด้วยพระอานนท์ติดตาม (เรียกว่าเป็นปัจฉาสมณะ) ได้ไปเยี่ยมอนาถบิณฑิกเศรษฐี และได้ให้โอวาทแก่ท่านเศรษฐี โดยมีสาระสำคัญว่าไม่ควรเอาอุปาทานไปยึดติดถือมั่นต่อสิ่งทั้งหลาย ดังคำสรุปท้ายโอวาทว่า "ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า อารมณ์ใดก็ตาม ที่เราได้เห็น ได้ยิน ได้ทราบ ได้แจ้งแก่ใจ ได้แสวงหา ได้อุ่นใจ เราจักไม่ยึดติดถือมั่นอารมณ์นั้น และ วิญญาณที่อาศัยอารมณ์นั้นจักไม่มีแก่เรา ดูกรคฤหบดี ท่านจึงศึกษาอย่างนี้เถิด"

อนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังโอวาทจบแล้ว ถึงกับร่ำไห้ และได้กล่าวว่า "กระผมได้เข้ามาใกล้ชิดองค์พระศาสดาและพระภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่เจริญใจมาเป็นเวลายาวนาน แต่กระนั้นก็ไม่เคยได้สดับธรรมีกถาอย่างนี้เลย" พระอานนท์ตอบชี้แจงว่า "ดูกรคฤหบดี ธรรมกถาอย่างนี้ ไม่สำแดงแก่คนนุ่งขาวชาวคฤหัสถ์ จะสำแดงแต่แก่บรรพชิต" อนาถบิณฑิกเศรษฐีทราบอย่างนั้นแล้ว ได้กล่าวขอร้องว่า "ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ขอธรรมกถาอย่างนี้ จงสำแดงแก่คนนุ่งขาวชาวคฤหัสถ์บ้างเถิด เพราะว่า กุลบุตรจำพวกมีกิเลสธุลีในดวงตาน้อยก็มีอยู่ (แต่) เพราะมิได้สดับธรรม ก็จะเสื่อมไป คนที่จะรู้เข้าใจธรรม จักมี" (ม.อุ.๑๔/๗๒๐-๗๔๐) หลังจากพระสารีบุตรและพระอานนท์กลับออกมาไม่นาน ท่านเศรษฐีก็ถึงแก่กรรม และเข้าถึงดุสิตภพ

หันกลับมาพูดถึงบทบาทของรัฐกับบทบาทของวัด ในการสอนธรรมให้การศึกษาแก่ประชาชน อย่างที่ว่าแล้ว รัฐจะเน้นการทำหน้าที่ขั้นพื้นฐาน เพื่อให้คนทั่วไปในสังคมมีความพร้อมที่จะก้าวสู่การพัฒนาชีวิตของตน พร้อมทั้งจัดสรรโอกาสและจัดการให้คนเข้าถึงโอกาสนั้นด้วยการ ประสานเสรีภาพ เข้ากับระบบแห่งบริการ ในสังคมชมพูทวีปแต่ยุคโบราณมา เท่าที่พอทราบกัน คนถึงจะนับถือต่างกัน แต่การเป็นอยู่ก็ไม่ค่อยได้แบ่งแยกกัน มีประเพณีทางปัญญาที่จะรับฟังคำสอนของลัทธิศาสนาต่างๆ นับได้ว่าเสรีในศิลาจารึกอโศกก็เน้นเรื่องนี้ไว้ด้วย ดังความในจารึกศิลาฉบับที่ ๓๒ ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ย่อมทรงยกย่องนับถือศาสนิกชนแห่งลัทธิศาสนาทั้งปวง ทั้งที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ ด้วยการพระราชทานสิ่งของ และการแสดงความยกย่องนับถืออย่างอื่นๆ แต่พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ย่อมไม่ทรงพิจารณาเห็น ทานหรือการบูชาอันใด ที่จะเทียบได้กับสิ่งนี้เลย สิ่งนี้คืออะไร? สิ่งนั้นก็คือการที่จะพึงมีความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมในลัทธิศาสนาทั้งปวง ก็ความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมนี้ มีอยู่มากมายหลายประการ แต่ส่วนที่เป็นรากฐานแห่งความเจริญงอกงามนั้น ได้แก่สิ่งนี้คือ การสำรวมระวังวาจา (วคุปติ์) ระวังอย่างไร? คือไม่พึงมีการยกย่องลัทธิศาสนาของตนและการตำหนิลัทธิศาสนาของผู้อื่น ในเมื่อมิใช่โอกาสอันควร...

การสังสรรค์กลมเกลียวกันนั่นแล เป็นสิ่งดีงามแท้ จะทำอย่างไร? คือ จะต้องรับฟัง และยินดีรับฟังธรรมของกันและกัน จริงดังนั้น พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงมีความปรารถนาว่าเหล่าศาสนิกชนในลัทธิศาสนาทั้งปวง ซึ่งเป็นผู้มีความรอบรู้ (เป็นพหูสูต) และมีหลักศาสนธรรมที่ดีงาม (กัลยาณาคม) ชนเหล่าใดก็ตาม ซึ่งมีศรัทธาเลื่อมใสในลัทธิศาสนาต่างๆ กัน ชนเหล่านั้นจึงกล่าวให้รู้กันทั่วไปว่า พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ไม่ทรงถือว่าทานหรือการบูชาอันใดจะทัดเทียมกับสิ่งนี้เลย สิ่งนี้คืออะไร? สิ่งนี้ได้แก่การที่จะพึงมีความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมในลัทธิศาสนาทั้งปวง และความเจริญงอกงาม พึงมีเป็นอันมากด้วยธรรม นี้คือเสรีภาพทางศาสนาที่แท้จริง ที่จะเอื้อต่อการพัฒนาจิตปัญญาอย่างสูง ซึ่งมนุษย์ยุคปัจจุบัน ที่ว่ามีอารยธรรมกันนัก และพูด กันนักถึง tolerance แต่ก็ยังขึ้นไม่ค่อยจะถึง

เมื่อว่าให้ถูกตามนี้ ถ้ามนุษย์พัฒนาถึงขั้นเป็นอารยะจริง ศาสนาไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัว อย่างที่ฝรั่งติดตันกลืนไม่เข้าแล้วคายออกมาได้แค่นั้น แต่เป็นเรื่องที่ควรเอามาพูดจาศึกษาเอื้อปัญญาแก่กัน ศาสนาจะเป็นเรื่องส่วนตัว ก็เฉพาะในขั้นที่ว่าใครก้าวไปถึงไหน ก็เป็นส่วนของคนนั้น




ขันติบารมี

"ท่านจงอดทนต่อคำยกย่อง และคำดูหมิ่นทั้งปวง เปรียบเหมือน.. แผ่นดินอดทนต่อสิ่งที่เขาทิ้งลงทุกอย่าง ทั้งสะอาดและไม่สะอาดไม่แสดงความยินดียินร้าย บำเพ้ญขันติบารมี จักบรรลุสัมโพธิญาณได้"

ความอดทนเป็นอาวุธที่ทรงพลังในการต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะต้องอดทนต่อความลำบาก ตรากตรำ อดทนต่อทุกขเวทนาเจ็บไข้ได้ป่วย อดทนต่อการกระทบกระทั่งกัน ซึ่งเราอาจอดทนต่อถ้อยคำของคนที่เป็นใหญ่กว่าได้เพราะกลัว อดทนต่อถ้อยคำของคนเสมอกันเพราะอาศัยการแข่งดี ส่วนการอดทนต่อถ้อยคำของผู้ต่ำกว่าได้ ถือเป็นความอดทนสูงสุด ที่สำคัญต้องอดทนต่อกิเลสเย้ายวนใจ แล้วในที่สุดความอดทนที่สั่งสมมาดีจะกลายเป็นตบะธรรม แก่กล้าเผาผลาญทรมานกิเลสภายในใจให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

ในอดีตกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ มีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฏิ ชื่อว่า "กุณฑลกุมาร" ท่านศึกษาเล่าเรียนจนแตกฉานในศิลปะทุกอย่าง พอบิดามารดาละโลกไปแล้ว ท่านก็ได้พิจารณาดูกองมรดก จึงเห็นว่าสมบัติที่พ่อแม่และหมู่ญาติหามาได้ ก็ใช้ได้เฉพาะในภพชาตินี้เท่านั้น ไม่มีใครนำติดตัวไปในปรโลกได้เลย และแล้วท่านจึงตัดสินใจเปิดคลังสมบัติทั้งหมดบริจาคมหาทานตลอด ๗ วัน จากนั้นก็เข้าป่าหิมพานต์ เพื่อไปบวชเป็นฤๅษี พอบวชแล้วได้ชื่อใหม่ว่า "ขันติวาทีดาบส" บำเพ็ญตบะอยู่ตามลำพังวันหนึ่งท่านออกจากป่าเข้าไปเที่ยวภิกขาจารในกรุงพาราณสี เสนาบดีท่านหนึ่งเห็นกิริยาอาการของท่านแล้ว บังเกิดความเลื่อมใส จึงน้อมถวายภัตตาหารด้วยความเคารพ และถือโอกาสอาราธนาท่านให้พักอยู่ในพระราชอุทยาน

อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้ากลาปุทรงดื่มน้ำจัณฑ์จนมึนเมาในพระราชอุทยาน แล้วทรงบรรทมบนตักของสนมคนโปรดนางหนึ่ง ส่วนพวกหญิงนักฟ้อนคนอื่น ๆ ก็พากันขับร้องให้พระองค์บันเทิงสำราญพระทัย พอพระเจ้ากลาปุบรรทมหลับไป พวกหญิงนักฟ้อนก็ชวนกันไปเดินเล่นในสวน เผอิญได้พบฤาษีโพธิสัตว์ จึงชักชวนกันไปฟังธรรม ในขณะที่พวกนางกำลังฟังธรรมอยู่นั้น พระราชาก็ทรงตื่นบรรทม เพราะนางสนมคนโปรดที่ทรงหนุนตักขยับตัว เมื่อทรงตื่นแล้วไม่เห็นนางสนมเหล่านั้น ก็ทรงพิโรธมาก ทรงถือพระขรรค์เสด็จไปหาพระดาบสด้วยความโกรธ หมายจะตัดหัว เมื่อไปถึงก็ตรัสถามว่า ท่านดาบส ท่านมีปกติสรรเสริญคุณธรรมอะไร พระดาบสทูลว่า มหาบพิตร อาตมาเป็นขันติวาทะ กล่าวยกย่องขันติธรรม พระราชาตรัสถามต่อว่า ที่ชื่อว่าขันตินั้นคืออะไร พระดาบสตอบว่า "ขันติก็คือความไม่โกรธ ไม่ผูกพยาบาท แม้มีใครมาประทุษร้ายก็รักษาจิตให้สงบ ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่มากระทบ" พระราชาได้ฟังดังนั้น จึงตรัสว่า ประเดี๋ยวเถอะ เราจะได้เห็นขันติของท่าน แล้วรับสั่งให้เรียกเพชฌฆาตมาเพชฌฆาตเดินถือขวาน แซ่หนาม และสวมพวงมาลัยแดง เมื่อมาถึง พระราชาตรัสรับสั่งว่า เจ้าจงจับดาบสนี้ให้นอนคว่ำลงกับพื้น แล้วเอาแซ่หนาม เฆี่ยนตามตัว ๒,๐๐๐ ครั้ง เพชฌฆาตก็ทำตามรับสั่ง พระดาบสมิได้คิดประทุษร้ายต่อเพชฌฆาตเลย เพราะท่านหวังจะเพิ่มขันติบารมี เนื้อหนังของพระโพธิสัตว์ ขาดแหว่งไปทั่ว โลหิตไหลเนืองนอง เจ็บปวดทรมาน แสนสาหัส แต่ท่านก็ไม่ปริปากโอดครวญ

พระราชาตรัสถามซํ้าอีกว่า ท่านดาบส ท่านยังยกย่องอะไรอีก พระโพธิสัตว์ก็ทูลยืนยันตามเดิมว่ามหาบพิตร อาตมายกย่องขันติธรรม ขันติไม่ได้อยู่ที่ผิวหนังหรอก ขันติของอาตมาอยู่ภายในใจ แม้พระองค์ก็ไม่อาจแลเห็นได้ พระราชาทรงกริ้วมาก จึงรับสั่งให้เพชฌฆาตตัดมือทั้งสองข้างของดาบส เพชฌฆาตก็ใช้ขวานตัดมือทั้งสองข้าง จากนั้นก็ตัดที่ข้อเท้าทั้งสอง โลหิตสด ๆ ไหลออกจากปลาย ข้อมือและข้อเท้าเหมือนสายน้ำที่รั่วไหลออกจากท่อ พระราชาตรัสถามอีกว่า "ขันติท่านอยู่ตรงไหน" พระโพธิสัตว์ก็ยังทูลเหมือนเดิมว่า "ขันติอยู่ที่ใจ แต่ พระองค์สำคัญว่าขันติมีอยู่ที่ปลายมือปลายเท้าของอาตมา ขันติไม่ได้อยู่ตรงนี้ เพราะขันติของอาตมาตั้งอยู่ภายในใจ ที่ลึกซึ้งเกินกว่าพระองค์จะเข้าพระทัยได้" จากนั้นพระราชาตรัสสั่งให้เพชฌฆาตตัดหูและจมูกพระโพธิสัตว์ ทำให้ทั่วทั้งร่างกายมีแต่โลหิต ไหลเจิ่งนองไม่หยุด แม้จะได้รับทุกข์ทรมานปางตาย แต่พระดาบสก็ไม่ยอมโต้ตอบ เพราะปรารถนาจะเพิ่มพูนขันติบารมี ฝ่ายพระราชาเมื่อไม่สาแก่พระทัย จึงตรัสประชดประชันว่า ท่านผู้เดียวจงยกย่องเชิดชู ขันติธรรมต่อไปเถอะ แล้วเอาพระบาทกระทืบยอดอกพระดาบส แล้วเสด็จจากไปอย่างไม่ไยดี

เมื่อพระราชาเสด็จไปแล้ว ท่านเสนาบดีเกรงว่า พระดาบสผู้มีฤทธานุภาพจะโกรธ และอาจบันดาลให้เมืองทั้งเมืองพังพินาศไปได้ จึงรีบเข้ามาเช็ดเลือด และประคองร่างของพระโพธิสัตว์ เก็บรวบรวมอวัยวะ ต่าง ๆ แล้วขอให้ท่านได้อดโทษต่อพระราชาและ ทุก ๆ คน พระโพธิสัตว์ผู้มีมหากรุณาอยู่แล้วจึงบอกว่า "พระราชาพระองค์ใดรับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของเรา ขอพระองค์จงทรงพระชนม์ยั่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญยิ่ง ๆ ขึ้นไป อาตมภาพ ไม่มีความโกรธเคืองในพระราชาแม้เพียงเล็กน้อย ขอพระองค์ทรงพระเจริญเถิด" ฝ่ายพระราชาเมื่อเสด็จไปลับตาพระโพธิสัตว์เท่านั้น มหาปฐพีซึ่งหนา ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ ก็ไม่สามารถจะรองรับกรรมหนักของพระราชาได้ จึงแยกตัวออก เปลวไฟจากอเวจีมหานรกก็แลบออกมา เผาไหม้พระองค์ และทรงถูกธรณีสูบลงไปเสวยวิบากกรรมในอเวจีมหานรกทันที ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิตในวันนั้นเอง ขันติของท่านในครั้งนั้น เป็น ขันติปรมัตถบารมี เพราะแม้ ถูกเบียดเบียนถึงชีวิต ก็อดทนไม่โกรธตอบ

เราจะเห็นว่า กว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าเพื่อนำตนและสรรพสัตว์ไปสู่ฝั่งนิพพาน ต้องอาศัยขันติธรรมเป็นอย่างมาก คำว่า ขันติ ต้องเป็นความ อดทนด้วยจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น เช่น แม้ถูกเบียดเบียน ก็ไม่โกรธ ไม่ทำร้ายตอบ แต่รักษาใจเป็นปกติ ไม่ขุ่นเคือง และมีเมตตา ส่วนการนิ่งเงียบ ไม่โต้ตอบ แต่ภายในใจแค้นเคืองลุกเป็นไฟเพื่อรอตอบโต้ภายหลัง อย่างนี้ไม่จัดเป็นขันติ เพราะถือว่าจิตยังเจือด้วยอกุศลอยู่ ขันติความอดทนเป็นเครื่องเผากิเลส เมื่อความโลภหรือราคะบังเกิดขึ้น ต้องอดใจหนักแน่น ไม่หวั่นไหว ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจ หรือหากความโกรธ เกิดขึ้น ก็ต้องหยุดมันให้ได้ อดทนอดกลั้นไว้ หากความอดทนมีกำลังแรงกว่า ก็จะทำให้กิเลสดับหายไปได้ เหมือนถูกไฟเผามอดไป ขันติจึงถูกเรียกว่า ตบะ เครื่องดับเผากิเลสนั่นเอง อดทน..เมื่อถูก ประทุษร้าย อดใจ..เมื่อถูกกิเลสเย้ายวน พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทรงสรรเสริญ ขันติธรรมว่าเป็นเลิศ เป็นพื้นฐานให้เกิดคุณธรรม คือ ศีล สมาธิ กุศลธรรมทุกอย่างจะเจริญขึ้นมาได้ ก็เพราะอาศัยขันติ ผู้มีขันติธรรมได้ชื่อว่าเป็นผู้ย่างขึ้นสู่หนทางสวรรค์และนิพพาน และพระพุทธองค์ยังทรงสรรเสริญอีกว่า ยกเว้นปัญญาแล้ว เราตถาคต สรรเสริญว่าขันติเป็นเลิศ ดังนั้นเมื่อทราบอย่างนี้แล้ว เราจะต้องสั่งสมขันติบารมีให้มากเข้าไว้ เพื่อเป็นตบะ เผาผลาญทรมานกิเลสภายในตัว จนกว่ากิเลสจะดับ มอดจนสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษให้จงได้

 "ผู้มีขันติชื่อว่านำประโยชน์มาให้ทั้งแก่ตนและผู้อื่น ผู้มีขันติชื่อว่าเป็นผู้ขึ้นสู่ทางไปสู่สวรรค์ และนิพพาน" (พุทธพจน์)

หากพิจารณาบารมี ๑๐ ให้ดีเราจะทราบว่า ๕ บารมีแรกนั้น ล้วนเป็นการบำเพ็ญเพื่อให้ได้มาซึ่งปัญญาทั้งสิ้น ตั้งแต่ทานบารมี เพื่อเก็บเสบียงไว้ใช้ในการแสวงหาปัญญาได้สะดวก ศีลบารมี เพื่อให้เกิดมาได้อัตภาพเป็นมนุษย์ ซึ่งจะทำให้ได้โอกาสในการสร้างปัญญายิ่งๆ ขึ้นไป เนกขัมมบารมี บำเพ็ญเพื่อไม่ให้ตนเองต้องติดอยู่ในคุกทางใจ มีอิสระในการเพิ่มพูนปัญญาได้มากขึ้น ส่วนปัญญาบารมีนั้นชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว วิริยบารมีเป็นการสร้างปัญญาอันยิ่ง คือ ทำปัญญาชนิดรู้แจ้งให้เกิดขึ้น ดังนั้น บารมีทั้ง ๕ ก็มีเป้าหมายอยู่ที่ปัญญานั่นเอง แต่เนื่องจากระหว่างสร้างบารมีเราต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม ซึ่งอาจมีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจถึงเป้าหมายของเรา จึงจำเป็นต้องสร้างบารมีอื่นที่ยิ่งไปกว่านี้ด้วย บารมีอันดับต่อมาที่สุเมธดาบสบรมโพธิสัตว์ตรวจดูด้วยญาณทัสสนะอันเป็นทิพย์ พบว่าบารมีที่ต้องสร้าง ต้องบำเพ็ญ ต้องกระทำอย่างยิ่งยวด นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีอีก นั่นคือ ขันติบารมี เพราะท่านเล็งเห็นว่า อุปสรรคสำคัญที่เป็นเครื่องขัดขวางการตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประการต่อมา คือ ความหวั่นไหว ความมีใจไม่มั่นคงต่อสิ่งที่มากระทบนั่นเอง ดังแสดงไว้ใน ขุททกนิกาย อปทาน ว่า

ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสนั้นคิดว่าพุทธการกธรรมทั้งหลายจะไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีก ก็ได้เห็นขันติบารมีข้อที่ ๖ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญแม้ขันติบารมีให้บริบูรณ์ ท่านพึงเป็นผู้อดทนทั้งในการยกย่องนับถือและในการดูถูกดูหมิ่น เหมือนอย่างว่า คนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง ลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็มิได้กระทำความ รักและความขัดเคืองเพราะการกระทำอันนั้น ย่อมอด ย่อมทน ย่อมกลั้นไว้ได้ ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้อดทนได้ทั้งในการนับถือ ทั้งในการดูหมิ่น จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐาน ขันติบารมีข้อที่ ๖ กระทำให้มั่นแล้ว ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า “ก็พุทธธรรมทั้งหลายจักไม่มีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือกเฟ้นธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ ในคราวนั้นเราเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นขันติบารมีข้อที่ ๖ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ชั้นก่อนๆ ถือปฏิบัติเป็นประจำ ท่านจงสมาทานขันติบารมีข้อที่ ๖ นี้ กระทำให้มั่นก่อน มีใจไม่ลังเลในขันติบารมีนั้น จักบรรลุพระสัมโพธิญาณ ธรรมดาแผ่นดินย่อมอดกลั้นสิ่งทั้งปวงที่เขาทิ้งลง สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง ไม่กระทำการขัดเคืองเพราะการกระทำนั้น แม้ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้อดทนต่อการนับถือและการดูหมิ่นของคนทั้งปวง ถึงความเป็นขันติบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้ ''

ขันติคืออะไร

ขันติ
แปลว่า ความทน, ความอดทน, ความอดกลั้น
ขันติ หมายถึง การรักษาปกติภาวะของตนไว้ได้ ไม่ว่าจะถูกกระทบกระทั่งด้วยสิ่งอันเป็นที่พึงปรารถนา หรือไม่พึงปรารถนาก็ตาม มีความมั่นคงหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ซึ่งไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะมีคนเทของเสีย ของสกปรกหรือของหอมลงไปก็ตาม

บารมี แปลว่าธรรมอันเลิศ ๑๐ ประการ ที่เมื่อปฏิบัติอย่างจริงจังชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้วก่อให้เกิดบุญที่มีคุณภาพพิเศษที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติดีแล้วบรรลุพระโพธิญาณ ขันติบารมี หมายถึง การอดทนอดกลั้นเพื่อให้ได้ทำความดี โดยมีพระนิพพานเป็นเป้าหมาย ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใดๆ ที่มาขัดขวาง แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต งานทุกชิ้นในโลก ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กงานใหญ่ที่สำเร็จขึ้นมาได้ นอกจากจะอาศัยปัญญาเป็นตัวนำแล้ว ยังต้องอาศัยคุณธรรมข้อหนึ่งเป็นพื้นฐานจึงสำเร็จได้ คุณธรรมนั้น คือ ขันติ ถ้าขาดขันติเสียแล้ว จะไม่มีงานชิ้นใดสำเร็จได้เลย เพราะขันติเป็นคุณธรรมสำหรับทั้งต่อต้านความท้อถอยหดหู ขับเคลื่อนเร่งเร้าให้เกิดความขยัน และทำให้เห็นอุปสรรคต่างๆ เป็นเครื่องท้าทายความสามารถ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของงานทุกชิ้นทั้งทางโลกและทางธรรม คือ อนุสาวรีย์ของขันติทั้งสิ้น

ความอดทนเป็นหัวใจของการทำความดี เป็นพื้นฐานของการสร้างบารมีทุกอย่างการละเว้นจากความชั่วต้องอาศัยความอดทน การทำความดีให้ได้ตลอดรอดฝั่งต้องอาศัยความอดทน และ การรักษาใจไว้ให้ผ่องใสอยู่เนืองนิตย์ ก็ต้องอาศัยความอดทน ยิ่งไปกว่านั้น การที่จะบรรลุพระนิพพานได้ก็ต้องอาศัยความอดทน ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ว่า “ขนฺติ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ความอดทน คือ ความอดกลั้น เป็นตบะเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง" จะเห็นได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเรื่องของความอดทนเป็นอันดับแรก เพราะชีวิตนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์เพราะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพิไรรำพัน ความพลัดพราก ความลำบากกาย และความทุกข์อื่นๆ อีกมากมาย ความอดทนเท่านั้น จึงจะสามารถบรรเทาความทุกข์เหล่านี้ลงได้ แต่การที่จะไปถึงพระนิพพานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องต่อสู้กับสิ่งที่มากระทบ ทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ทั้งเรื่องที่ดีและเรื่องไม่ดี ทั้งต่อผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย การที่จะเอาชนะสิ่งที่เป็นอุปสรรคเหล่านี้ได้ก็ต้องอดทน หากไม่อดทนเสียแล้ว การจะไปนิพพานนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้น ความอดทนจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า “ผู้อดทน ชื่อว่าเป็นผู้ย่างขึ้นสู่หนทางสวรรค์และนิพพาน”

ลักษณะของขันติ

ผู้ที่มีขันติอยู่ในใจ จะมีลักษณะดังต่อไปนี้
๑. เมื่อถูกกระทบด้วยถ้อยคำ ทำเหมือนไม่ได้ยิน (หูไปนา)
๒. เมื่อเห็นอาการยั่วยุ ทำเหมือนไม่ได้เห็น (ตาไปไร่)
๓. ใส่ใจ สนใจแต่จะทำความเจริญ (กุศลธรรม) ให้ตนเอง
๔. ข่มความโกรธเสียได้
๕. เข้าไปสงบบาปธรรมเสียได้
๖. ไม่ดุร้าย หยาบคาย
๗. ไม่ก่อทุกข์ให้ใคร
๘. มีใจเบิกบานแจ่มใสอยู่เป็นนิตย์

ลักษณะของขันติหรือความอดทนดังกล่าว เป็นลักษณะของความอดทนที่ถูกต้อง คือ เมื่ออดทนไปแล้วได้บุญได้บารมี อดทนแล้วไม่เสียเปล่า ซึ่งสามารถขยายความได้ดังต่อไปนี้

👉 มีความอดกลั้น คือ เมื่อถูกคนพาลด่าก็ทำราวกับว่าไม่ได้ยิน ทำหูเหมือนหูกระทะ เมื่อเห็นอาการยั่วยุก็ทำราวกับว่าไม่ได้เห็น ทำตาเหมือนตาไม้ไผ่ ไม่สนใจใยดี ไม่ปล่อยใจให้เศร้าหมองไปด้วย ใส่ใจ สนใจแต่ในเรื่องที่จะทำความเจริญให้แก่ตนเอง เช่น เจริญศีล สมาธิ ปัญญา ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

👉 เป็นผู้ไม่ดุร้าย คือ สามารถข่มความโกรธไว้ได้ ไม่โกรธ ไม่ทำร้าย ไม่ทำอันตรายด้วยอำนาจแห่งความโกรธนั้น ผู้ที่โกรธง่ายแสดงว่ายังขาดความอดทนอยู่มาก ไม่ปลูกน้ำตาให้แก่ใครๆ คือ ไม่ก่อทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือเจ็บแค้นใจจนน้ำตาไหล ด้วยอำนาจความเกรี้ยวกราดของเรา มีใจเบิกบานแจ่มใสอยู่เป็นนิตย์ คือ มีปีติอิ่มเอิบใจเสมอๆ ไม่พยาบาท ไม่โทษฟ้า โทษฝน โทษเทวดา โทษโชคชะตา หรือโทษใครๆ ทั้งนั้น พยายามอดทนทำการงานทุกอย่างด้วยใจเบิกบาน

ลักษณะของความอดทนนั้น โบราณท่านสอนลูกหลานไว้ย่อๆ ว่า “ปิดหูซ้ายขวา ปิดตาสองข้าง ปิดปากเสียบ้าง นอนนั่งสบาย” คนบางคนขี้เกียจทำงาน บางคนขี้เกียจเรียนหนังสือ บางคนเกะกะเกเร พอมีผู้ว่ากล่าว ตักเตือนก็เฉยเสีย แล้วบอกว่าตนเองกำลังบำเพ็ญขันติบารมี อย่างนี้เป็นการเข้าใจผิด ตีความหมายของขันติผิดไป ขันติไม่ได้หมายถึงการตกอยู่ในสภาพใดก็ทนอยู่อย่างนั้น ลักษณะที่สำคัญยิ่งของขันติ คือ ตลอดเวลาที่อดทนอยู่นั้น จะต้องมีใจผ่องใส ไม่เศร้าหมอง เมื่อสรุปลักษณะเด่นของขันติโดยย่อแล้ว มีอยู่ ๓ ประการ คือ
๑. อดทนถอนตัวหรือหลีกเลี่ยงจากความชั่วให้ได้
๒. อดทนทำความดีต่อไป
๓. อดทนรักษาใจให้ผ่องใส ไม่เศร้าหมอง

ประเภทของขันติ

ความอดทนแบ่งตามเหตุที่มากระทบได้ ๔ ประเภท ดังนี้
๑. อดทนต่อความลำบากตรากตรำ
เป็นการอดทนต่อสภาพธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศความหนาว ความร้อน ฝนตก แดดออก ฯลฯ แม้สภาพแวดล้อมจะไม่เอื้ออำนวย ก็อดทนทำงานเรื่อยไปไม่โทษเทวดาฟ้าดิน หรืออ้างเหตุเหล่านี้แล้วเกียจคร้านไม่ยอมทำงาน
๒. อดทนต่อทุกขเวทนา
เป็นการอดทนต่อการเจ็บไข้ได้ป่วย ความไม่สบายกายของเราเองความปวด ความเมื่อย ผู้ที่ขาดความอดทนประเภทนี้ เวลาเจ็บป่วยจะร้องครวญคราง พร่ำเพ้อรำพันหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย ผู้รักษาพยาบาลทำอะไรไม่ทันใจหรือไม่ถูกใจก็โกรธง่าย พวกนี้จึงต้องป่วยเป็น ๒ เท่า คือ นอกจากจะป่วยกายที่เป็นอยู่แล้ว ยังต้องป่วยใจเข้าไปอีก ทำตัวเป็นที่เบื่อหน่ายแก่ชนทั้งหลาย ความอดทนต่อทุกขเวทนานี้เป็นความอดทนที่สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
๓. อดทนต่อความเจ็บใจ
เป็นการอดทนต่อความโกรธ ความไม่พอใจ ความขัดใจ อันเกิดจากคำพูดที่ไม่ชอบใจ กิริยามารยาทที่ไม่งาม การบีบคั้นทั้งจากผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงานและลูกน้องความอยุติธรรมต่างๆ ในสังคม ระบบงานต่างๆ ที่ไม่คล่องตัว ฯลฯ คนทั้งหลายในโลกแตกต่างกันมากโดยอัธยาศัยใจคอ โอกาสที่จะได้อย่างใจเรานั้นอย่าพึ่งคิด เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มเข้าหมู่คนหรือมีคนตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ให้เตรียมขันติไว้ต่อต้านความเจ็บใจ ความอดทนในระดับนี้ ถือว่าทำได้ยากกว่าความอดทนที่กล่าวมาแล้วทั้งสองข้อ
๔. อดทนต่ออำนาจกิเลส
เป็นการอดทนต่ออารมณ์อันน่าใคร่ น่าเพลิดเพลินใจ อดทนต่อสิ่งที่เราอยากทำแต่ไม่สมควรทำ เช่น อดทนไม่เที่ยวเตร่ ไม่เล่นการพนัน ไม่เสพสิ่งเสพติด ไม่รับสินบนไม่คอร์รัปชั่น ไม่ผิดลูกเขาภรรยาเขา ไม่เหลิงยศ ไม่ลุแก่อำนาจ ไม่ขี้โอ่ ไม่ขี้อวด เป็นต้น การอดทนข้อนี้ทำได้ยากที่สุด โบราณท่านจึงกล่าวเปรียบไว้ว่า “เขาด่าแล้วไม่โกรธว่ายากแล้ว เขาชมแล้วไม่ยิ้มยากยิ่งกว่า”

เมื่อเราได้ทราบความสำคัญของความอดทนแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องทำให้เกิดมีขึ้นมาให้ได้ มิใช่เป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์เท่านั้น แม้เราเองก็ต้องทำและต้องทำแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพันด้วย เพราะมิเช่นนั้นแล้ว การไปถึงเป้าหมาย คือ บรรลุมรรคผลนิพพานหรือกระทั่งการสร้างบารมีเพื่อไปให้ถึง ที่สุดแห่งธรรม ย่อมเป็นไปไม่ได้

วิธีการฝึกให้มีความอดทน

การที่จะมีความอดทนได้นั้นมีวิธีการฝึกดังต่อไปนี้
๑. ต้องคำนึงถึงหิริโอตตัปปะให้มาก
เพราะเมื่อไม่อดทนเผลอไปทำบาปในชาตินี้ย่อมต้องประสบความเดือดร้อนใจ ต้องพบกับความทุกข์ใหญ่หลวง หาความสุขมิได้ ในชาติต่อไปต้องตกไปสู่อบายรับทุกขเวทนาแสนสาหัส เมื่อมีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปอย่างเต็มที่อย่างนี้แล้ว ความอดทนย่อมจะเกิดขึ้น
๒. ฝึกใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา
ปัญหาส่วนใหญ่ของการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ หนีไม่พ้นการกระทบกระทั่ง หากการกระทบกระทั่งเกิดจากผู้ที่มีฐานะสูงกว่าเรา เราอาจทนได้ เพราะเกรงต่ออำนาจหรือผู้ที่เสมอกันก็อาจจะพอทนกันได้ แต่หากเกิดจากผู้ที่ต่ำกว่าเราทั้งด้านอายุ ฐานะ หรือศักดิ์ศรีนี้แหละเป็นสิ่งที่เราจะอดทนได้ยาก แต่สิ่งที่เราต้องกระทำ คือ การพิจารณาถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นว่าเพราะเหตุ ใด ต้องอดทนฝึกชี้แจงเหตุผล ชี้แจงความเป็นจริง แรกๆ อาจต้องฝืนอยู่บ้าง แต่หากทำเป็นประจำแล้วเราจะไม่ต้องฝืนเลย เพราะส่วนใหญ่ปัญหามักมีความเข้าใจผิดเป็นสาเหตุ เมื่อเข้าใจถูกเรื่องก็จบ แต่หากใช้อารมณ์แทนเหตุผล เรื่องจะยาวและไม่จบ การหมั่นใช้เหตุผลนอกจากจะได้ฝึกความอดทนแล้ว ยังเป็นการฝึกใช้ปัญญา ฝึกโยนิโสมนสิการได้เพิ่มพูนปัญญาบารมีอีกด้วย เมื่อเราสามารถอดทนต่อผู้ที่ต่ำกว่าได้แล้ว ต่อไปเรื่องการอดทนต่อผู้ที่เสมอกัน หรือผู้ที่สูงกว่าก็สามารถทำได้อย่างไม่ยากเย็นเลย
๓. ต้องฝึกสมาธิมากๆ เพราะทั้งขันติและสมาธิเป็นคุณธรรมที่เกื้อหนุนกัน ขันติจะหนักแน่นก็ต้องมีสมาธิมารองรับ สมาธิจะก้าวหน้าก็ต้องมีขันติเป็นพื้นฐาน ขันติอุปมาเหมือนมือซ้าย สมาธิ อุปมาเหมือนมือขวา เมื่อจะล้างมือ มือทั้งสองข้างจะต้องช่วยกันล้างจึงจะสะอาดดี



อานิสงส์ของความอดทน

เมื่อเราได้ฝึกความอดทนตามอย่างพระโพธิสัตว์มาเป็นอย่างดีแล้ว ผลดีหรืออานิสงส์ที่จะเกิดขึ้นกับเรานั้นมีมากมาย ขอกล่าวเพียงสังเขปดังต่อไปนี้
๑. ป้องกันตนเองมิให้กระทำบาปอกุศล ทั้งยังป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกด้วย
๒. ทำให้กุศลธรรมทุกชนิดเจริญขึ้นได้
๓. ทำให้เป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่รักของคนทั้งหลาย
๔. ตัดรากเหง้าแห่งความชั่วทั้งปวง
๕. ทำให้อยู่เย็นเป็นสุขทุกอิริยาบถ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจในภายหลัง
๖. ทำให้ศีลและสมาธิตั้งมั่นไม่คลอนแคลน
๗. เมื่อละโลก ย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
๘. ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย

สรุป การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ เพื่อบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณต้องมีความอดทน อย่างหาที่สุดมิได้ เพราะหากอดทนไม่ได้แล้วก็อย่าหวังที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เลย ฉะนั้น ความอดทนนี้เอง จึงเป็นคุณธรรมที่ช่วยประคับประคองให้นักสร้างบารมีทั้งหลายประสบผลสำเร็จ ได้เข้าถึงความสมบูรณ์ที่สุดของชีวิตตน



ดูพุทธพจน์แล้ว อ่านธรรมโองการเทียบ

 เห็นได้ชัดว่า ธรรมในศิลาจารึกอโศก ส่วนใหญ่ และที่กล่าวถึงบ่อย เป็นเรื่องของการปฏิบัติชอบต่อกัน หรือต่อบุคคลประเภทต่างๆ ที่แต่ละคนควรดูแลรับผิดชอบหรือช่วยเหลือกัน ซึ่งใกล้เคียงกันมากกับพระสูตรที่ยกมาให้ดูแล้ว จึงขอยกข้อความในศิลาจารึกนั้นมาให้ดูบ้าง ขอเริ่มด้วยจารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๒ ซึ่งตรัสเล่าความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการทำศิลาจารึกประกาศธรรมไว้ด้วย อันเป็นเรื่องที่น่ารู้

๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ตลอดกาลยาวนานล่วงมาแล้ว ได้มีพระราชาหลายองค์ทรงปรารถนาว่า ทำไฉนประชาชนทั้งหลายจะพึงเจริญก้าวหน้าด้วยความเจริญทางธรรม แต่ประชาชนก็หาได้เจริญก้าวหน้าขึ้นด้วยความเจริญทางธรรมตามสมควรไม่...ก็แลด้วยอุบายวิธีอันใดหนอประชาชนทั้งหลายจะพึงประพฤติปฏิบัติตาม ...

๓. ในเรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ดังนี้ :- ข้าฯ ได้เกิดมีความคิดขึ้นว่า ข้าฯ จักจัดให้มีการประกาศธรรม ข้าฯ จักจัดให้มีการอบรมสั่งสอนธรรมประชาชนทั้งหลาย ครั้นได้สดับธรรมนี้แล้ว ก็จักพากันประพฤติปฏิบัติตาม จักยกระดับตนเองสูงขึ้น และจักมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นด้วยความเจริญทางธรรมอย่างมั่นคง เพื่อประโยชน์นี้ ข้าฯ จึงจัดให้มีการประกาศธรรม และสั่งให้มีการอบรมสั่งสอนธรรมขึ้นเป็นหลายแบบหลายอย่าง เพื่อให้ข้าราชการทั้งหลาย ที่ข้าฯ ได้แต่งตั้งไว้ดูแลประชาชนจำนวนมาก จักได้ช่วยกันแนะนำสั่งสอนบ้าง ช่วยอธิบายขยายความให้แจ่มแจ้งออกไปบ้าง แม้เจ้าหน้าที่รัชชูกะ ข้าฯ ก็ได้แต่งตั้งไว้ดูแลชีวิตหลายแสนชีวิต เจ้าหน้าที่รัชชูกะเหล่านั้น ก็ได้รับคำสั่งจากข้าฯ ว่า ท่านทั้งหลายจงอบรมสั่งสอนประชาชนให้เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมอย่างนี้ๆ

๔. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ว่า :- เมื่อได้พิจารณาใคร่ครวญในเรื่องนี้ โดยถ่องแท้แล้วนั่นแล ข้าฯ จึงให้ประดิษฐานหลักศิลาจารึกธรรมขึ้นไว้ แต่งตั้งธรรมมหาอำมาตย์ขึ้นไว้ และจัดให้มีการประกาศธรรม

๕. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- แม้ตามถนนหนทาง ข้าฯ ก็ได้ให้ปลูกต้นไทรขึ้นไว้ เพื่อจักได้เป็นร่มเงาให้แก่สัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ให้ปลูกสวนมะม่วง ให้ขุดบ่อน้ำไว้ทุกระยะกึ่งโกรศะ ( ๑ โกรศะ = ๑ กิโลเมตร) ให้สร้างที่พักคนเดินทางขึ้นไว้ และให้สร้างอ่างเก็บน้ำจำนวนมากมายขึ้นไว้ในที่ต่างๆ เพื่อการใช้สอยแห่งสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย แต่การใช้ประโยชน์เช่นนี้ยังจัดว่าเป็นสิ่งเล็กน้อย พระราชาทั้งหลายในกาลก่อนก็ดี ตัวข้าฯ ก็ดี ต่างก็ได้บำรุงประชาชนทั้งหลายให้มีความสุขด้วยวิธีการบำรุงสุขประการต่างๆ แต่ที่ข้าฯ ได้กระทำการเช่นนี้ ก็ด้วยความมุ่งหมายข้อนี้ คือ เพื่อให้ประชาชนทั้งหลายประพฤติปฏิบัติตามธรรม...

๘. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- กรรมดีใดๆ ก็ตาม ที่ข้าฯ ได้กระทำแล้ว ประชาชนทั้งหลายก็ได้พากันประพฤติปฏิบัติกรรมดีนั้นๆ ตามอย่างแล้ว และยังคงดำเนินตามกรรมดีนั้นๆ อยู่ต่อไป ด้วยการกระทำเช่นนั้น ประชาชนทั้งหลายก็ได้มีความเจริญงอกงามขึ้นแล้ว และยังรักเจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ด้วย

- การเชื่อฟังมารดาบิดา
- การเชื่อฟังครูทั้งหลาย
- การปฏิบัติชอบต่อท่านผู้เฒ่าชรา
- การปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์และสมณะ
- (การปฏิบัติชอบ) ต่อคนยากจน และคนตกทุกข์
- ตลอดถึงคนรับใช้ และคนงานทั้งหลาย



จารึกศิลา ฉบับที่ ๓ ระบุธรรมที่พึงเผยแพร่ ดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ข้าฯ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๑๒ ปี ได้สั่งประกาศความข้อนี้ไว้ว่า ทุกหนทุกแห่งในแว่นแคว้นของข้าฯ เจ้าหน้าที่ยุกตะ เจ้าหน้าที่รัชชูกะ และเจ้าหน้าที่ปราเทศกะ จึงออกเดินทาง (ตรวจตรา) ทุกๆ ๕ ปี เพื่อประโยชน์อันนี้ คือเพื่อการสั่งสอนธรรมนี้ พร้อมไปกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างอื่น (เจ้าหน้าที่เหล่านั้นจึงสั่งสอน) ว่า

- การเชื่อฟังมารดาบิดา เป็นความดี
- การให้ปันแก่มิตรสหาย ญาติ แก่พราหมณ์และสมณะเป็นความดี
- การไม่ฆ่าสัตว์ เป็นความดี
- การประหยัดใช้จ่ายแต่น้อย การสะสมแต่น้อย (เลี้ยงชีวิตแต่พอดี?) เป็นความดี

จารึกศิลา ฉบับที่ ๙ กล่าวถึงธรรมที่พึงปฏิบัติดังนี้  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสว่า :- ประชาชนทั้งหลาย ย่อมประกอบพิธีมงคลต่างๆ เป็นอันมาก... อันเป็นเรื่องหยุมหยิมไร้สาระ และไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยนัยตรงข้าม ยังมีพิธีกรรมที่เรียกว่าธรรมมงคลซึ่งเป็นพิธีกรรมมีผลมาก ในธรรมมงคลนั้น ย่อมมีกิจต่อไปนี้ คือ

-การปฏิบัติชอบต่อคนรับใช้และคนงาน
- การแสดงความเคารพนับถือต่อครูอาจารย์
- การสำรวมตนต่อสัตว์ทั้งหลาย
- การถวายทานแก่สมณพราหมณ์

ในจารึกศิลา ฉบับที่ ๑๑  นอกจากธรรมปฏิบัติที่คล้ายกับในจารึกอื่นแล้ว มีข้อพึงสังเกตพิเศษ คือเรื่องธรรมทาน และการบูชายัญ ที่จะพูดถึงเพิ่มเติมอีกข้างหน้า ดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ไม่มีทานใดเสมอด้วยการให้ธรรม (ธรรมทาน) การแจกจ่ายธรรม (ธรรมสังวิภาค) และความสัมพันธ์กันโดยธรรม (ธรรมสัมพันธ์) อาศัยธรรม (ธรรมทานเป็นต้น) นี้ ย่อมบังเกิดมีสิ่งต่อไปนี้ คือ

- การปฏิบัติชอบต่อคนรับใช้และคนงาน
- การเชื่อฟังมารดาบิดา
- การเผื่อแผ่แบ่งปันแก่มิตร คนคุ้นเคย ญาติ และแก่สมณพราหมณ์
- การไม่ฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ

บิดาก็ดี บุตรก็ดี พี่น้องชายก็ดี นาย (หรือสามี) ก็ดี มิตรและคนคุ้นเคยก็ดี ตลอดถึงเพื่อนบ้าน จึงกล่าวคำนี้ (แก่กัน) ว่า "นี่เป็นสิ่งดีงามแท้ นี่เป็นกิจควรทำ บุคคลผู้ปฏิบัติเช่นนี้ ย่อมทำความสุขในโลกนี้ให้สำเร็จด้วย และในโลกเบื้องหน้า ย่อมประสพบุญหาที่สุดมิได้เพราะอาศัยธรรมทานนั้นด้วย" ธรรมแบบที่เป็นหัวข้อนามธรรม คือเป็นตัวคุณธรรม พบในจารึกเพียง ๒ แห่ง คือ จารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๒ ดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ธรรมเป็นสิ่งดีงาม สิ่งใดเล่าชื่อว่าธรรม ธรรมนั้นได้แก่สิ่งต่อไปนี้ คือ

- การมีความเสียหายน้อย (อัปปาทีนวะ?) (คำที่ถอดออกมาจากศิลาจารึกว่า “อปาสินเว” และได้แปลกันไปต่างๆ สุดแต่จะโยงไปสู่คำศัพท์ใดเช่น บางท่านคิดว่าคงเป็น อัปปาสวะ ก็แปลว่ามีอาสวะกิเลสน้อย ในที่นี้ เมื่อเทียบกับ“พหุกัลยาณะ” เห็นว่าน่าจะเป็น “อัปปาทีนวะ” จึงแปลอย่างนี้)
- การมีความดีมาก (พหุกัลยาณะ)
- ความเมตตากรุณา (ทยา)
- การเผื่อแผ่แบ่งปัน (ทาน)
- ความสัตย์ (สัจจะ)
- ความสะอาด (โสไจย)

อีกแห่งหนึ่งที่พบธรรมแบบที่เป็นหัวข้อนามธรรม คือเป็นตัวคุณธรรม ได้แก่ จารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๗ ดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ และพวกอื่นๆ อีกจำนวนมากได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ทำการจำแนกแจกทาน ทั้งในนามของข้าฯ เอง และในนามแห่งพระราชเทวีทั้งหลาย ทั่วทุกฝ่ายในของข้าฯ เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ สามารถจัดดำเนินการในกิจต่างๆ ที่มุ่งหมาย จนเป็นที่น่าพอใจได้ ด้วยวิธีการมากหลายทั้งใน (พระนครหลวง) นี้ และในส่วนต่างๆ (ของประเทศ) อนึ่ง ในส่วนแห่งโอรสของข้าฯ และเจ้าชายอื่นๆประสูติแต่พระราชเทวีทั้งหลาย ข้าฯ ก็ได้สั่งให้กระทำการ (จําแนกแจกทาน) เช่นนี้ โอรสของข้าฯ เหล่านี้ จักเป็นผู้ฝักใฝ่ในการจำแนกแจกทาน อันจะเป็นการช่วยส่งเสริมหลักการทางธรรม และการประพฤติปฏิบัติตามธรรม หลักการทางธรรมและการประพฤติปฏิบัติตามธรรมเหล่านี้ กล่าวคือ

- ความเมตตากรุณา (ทยา)
- การเผื่อแผ่แบ่งปัน (ทาน)
- ความสัตย์ (สัจจะ)
- ความสะอาด (โสไทย)
- ความสุภาพอ่อนโยน (มัททวะ)
- ความเป็นสาธุชน (สาวะ)

จะพึงเจริญเพิ่มพูนขึ้นในหมู่ประชาชน ส่วนอีกแห่งหนึ่ง ไม่ใช่เป็นหัวข้อธรรมหรือคุณธรรมที่จะสอบโดยตรง แต่กระตุ้นเตือนให้ตระหนักว่า การที่จะทำให้สำเร็จตามจุดหมายที่ตั้งไว้นั้น จะต้องทำตัวหรือปฏิบัติตนอย่างไร ได้แก่ จารึกหลักศิลาฉบับที่ ๑ ซึ่งมีข้อความดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ธรรมโองการนี้ ข้าฯ ได้ให้จารึกขึ้นไว้ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๒๖ พรรษา ประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้า เป็นสิ่งที่จะพึงปฏิบัติให้สำเร็จได้โดยยาก หากปราศจาก

- ความเป็นผู้ใคร่ธรรมอย่างยิ่งยวด (อัคคธัมมกามตา)
- การใช้ปัญญาไตร่ตรองอย่างยิ่งยวด (อัคค-ปรึกษา)
- การตั้งใจฟังคำสั่งสอนอย่างยิ่งยวด (อัคค-สุสสา)
- ความเกรงกลัว (ต่อบาป) อย่างยิ่งยวด (อัคค-รายะ)
- ความอุตสาหะอย่างยิ่งยวด (อัคค-อุตสาหะ)

บัดนี้ ด้วยอาศัยคําสั่งสอนของข้าฯ ความมุ่งหวังทางธรรมและความฝักใฝ่ใคร่ธรรม ได้เจริญงอกงามขึ้นแล้วทุกๆ วัน และจักเจริญงอกงามยิ่งขึ้นเรื่อยไป