แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พระพุทธดำรัส แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พระพุทธดำรัส แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธ

พระพุทธดำรัส (๘)

 🙏 พระพุทธดำรัส 🙏



🔅 รักตนให้ถูกทาง
ปัญหา คนทุกคนย่อมรักตนยิ่งกว่าคนอื่นสิ่งอื่น แต่ส่วนมากรักตนแล้วไม่รู้ว่าจะปฏิบัติต่อตนอย่างไร พระผู้มีพระภาคทรงแนะวิธีปฏิบัติอย่างไรในเรื่องนี้?

พุทธดำรัสตอบ “.....ถูกแล้วๆ มหาบพิตร เพราะว่าชนบางพวกย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนเหล่านั้นไม่ชื่อว่ารักตน ถึงแม้พวกเขาจะกล่าวอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายมีความรักตน ถึงเช่นนั้นพวกเขาก็ชื่อว่าไม่มีความรักตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ไม่รักใคร่กันย่อมทำความเสียหายให้แก่ผู้ไม่รักใคร่กันได้โดยประการใด พวกเขาเหล่านั้นย่อมทำความเสียหายแก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น พวกเขาเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักตน

“ส่วนว่าชนบางพวกย่อมประพฤติสุจริต ด้วยกาย วาจา ใจ พวกเหล่านั้นชื่อว่ารักตน ถึงแม้พวกเขาจะกล่าวอย่างนี้วา เราไม่รักตน ถึงเช่นนั้นพวกเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักตน ข้อนั้นเป็นเหตุอะไร ก็เพราะเหตุว่าชนผู้ที่รักใคร่กันย่อมทำความดีความเจริญให้แก่ชนผู้ที่รักใคร่กันได้โดยประการใด พวกเหล่านั้นย่อมทำความดีความเจริญแก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น ฉะนั้นพวกเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักตน”

ปิยสูตร


🔅 วิธีล่วงรู้คุณสมบัติผู้อื่น 
ปัญหา จะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้ใดมีศีล มีกำลังใจ หรือมีปัญญาหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนมหาบพิตร ศีลถึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน ก็ศีลนั้นจะพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้ “ดูก่อนมหาบพิตร กำลังใจพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย ก็กำลังใจนั้น จะพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้ “ดูก่อนมหาบพิตร ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา ก็ปัญญานั้น จะพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้ “คนผู้เกิดมาดี ไม่ควรไว้วางใจ เพราะผิวพรรณและรูปร่างไม่ควรไว้วางใจ เพราะการเห็นกันชั่วครู่เดียว เพราะว่านักบวชผู้ไม่สำรวมทั้งหลาย ย่อมเที่ยวไปในโลกนี้ ด้วยเครื่องบริขารของเหล่านักบวชผู้สำรวมดีแล้ว ประดุจกุณฑลดินและมาสกโลหะ หุ้มด้วยทองคำปลอมไว้ คนทั้งหลายไม่บริสุทธิ์ในภายใน งามแต่ภายนอก แวดล้อมด้วยบริวาร ท่องเที่ยงอยู่ในโลก”

ชฏิลสูตร


🔅 ยาอายุวัฒนะ
ปัญหา จะมีวิธีบริหารกายอย่างไร จึงจะทำให้อายุยืน?

พุทธดำรัสตอบ “มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้มา ย่อมมีเวทนาเบาบาง เขาย่อมแก่ช้า ครองอายุได้ยืนนาน”

โทณปากสูตร



🔅 อย่าดูหมิ่นสตรี 
ปัญหา เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่ง ขณะที่พระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังประทับนั่งเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ ราชบุรุษได้เข้ามาทูลว่า พระราชินีประสูติพระราชธิดาออกมา พระราชาทรงผิดหวังมาก เพราะพระองค์ต้องการโอรส เช่นเดียวกับชาวอินเดียทั้งหลาย ที่อยากได้บุตรชายมากว่าบุตรหญิง?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนมหาบพิตร ผู้เป็นใหญ่ยิ่งกว่าปวงชน แท้จริงแม้สตรีบางคนก็เป็นผู้ประเสริฐ พระองค์จงชุบเลี้ยงไว้ สตรีที่มีปัญญา มีศีลปฏิบัติพ่อผัว แม่ผัวดังเทวดา จงรักสามี ฯ “บุรุษที่เกิดจากสตรีนั้น ย่อมเป็นคนแกล้วกล้า เป็นเจ้าแห่งทิศได้บุตรของภริยาที่ดีเช่นนั้น แม้ราชสมบัติก็ครอบครองได้”

ธีตุสูตร

🔅 ประหยัดให้ถูกทาง
ปัญหา พระพุทธองค์ทรงส่งเสริมการประหยัดทรัพย์ แต่จะประหยัดอย่างไรจึงจะเป็นการถูกต้อง ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนมหาบพิตร อสัตบุรุษได้โภคะอันโอฬารแล้วไม่ยังตนให้ได้รับความสุข ให้ได้รับความอิ่มหนำเลย ไม่ยังมารดาบิดาให้ได้รับความสุข..... ความอิ่มหนำ ไม่ยังบุตรและภริยาให้ได้รับความสุข..... ความอิ่มหนำ ไม่ยังมิตรและอำมาตย์ให้ได้รับความสุข..... ความอิ่มหนำ ไม่ยังทาสกรรมกรให้ได้รับความสุข..... ความอิ่มหนำ ไม่ยังทักษิณา อันมีผลในเบื้องบน มีอารมณ์ดี มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ ให้ตั้งอยู่ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย โภคะเหล่านั้นของเขา ที่มิได้ใช้สอยโดยชอบอย่างนี้พระราชาทั้งหลายย่อมนำไปบ้าง โจรทั้งหลายย่อมนำไปบ้าง ไฟย่อมไหม้เสียบ้าง น้ำย่อมพัดไปเสียบ้าง ทายาททั้งหลายผู้ไม่เป็นที่รักย่อมนำไปบ้างฯ

“ดูก่อนมหาบพิตร เมื่อเป็นเช่นนี้ โภคะที่มิได้ใช้สอยโดยชอบของเขาเหล่านั้น ย่อมถึงความหมดสิ้นไป โดยมิได้รับการบริโภค

ปฐมาปุตตกสูตร


🔅 ทานที่มีผลมาก
ปัญหา ควรให้ทานแก่บุคคลเช่นไร จึงจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนมหาบพิตร แม้หากว่า กุลบุตรออกจากเรือนตระกูลไรๆ เป็นผู้บวชหาเรือนมิได้ และกุลบุตรนั้น เป็นผู้มีองค์ ๕ อันละได้แล้วเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ทานที่ให้แล้วในกุลบุตรนั้น ย่อมเป็นทานมีผลมากองค์ ๕ อันกุลบุตรนั้นละได้แล้วเป็นไฉน กามฉันทะอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว พยาบาทอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว ถีนมิทธะอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว อุทธัจจกุกกุจจะอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว วิจิกิจฉาอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว องค์ ๕ เหล่านี้อันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว”

“กุลบุตรนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นไฉน กุลบุตรนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ เป็นผู้ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นของพระอเสขะเป็นผู้ประกอบด้วยวิมุติขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ เป็นผู้ประกอบด้วยวิมุติญาณทัสสนะขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ กุลบุตรนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ ทานที่ให้แล้วในกุลบุตรผู้มีองค์ ๕ อันละได้แล้ว ผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ดังนี้ ย่อมมีผลมาก...”

“ศิลปะการยิงแม่น กำลังเข้มแข็ง และความกล้าหาญมีอยู่ในชายหนุ่มใด พระราชาผู้มีพระประสงค์ด้วยการยุทธ์ พึงทรงชุบเลี้ยงชายหนุ่มเช่นนั้น ไม่พึงทรงชุบเลี้ยงชายหนุ่มผู้ไม่กล้าหาญ เพราะเหตุแห่งชาติฉันใด ธรรมคือขันติและโสรัจจะตั้งอยู่แล้วในบุคคลใด บุคคลพึงบูชาบุคคลนั้น ผู้มีปัญญา มีความประพฤติเยี่ยงพระอริยะ แม้มีชาติทรามฉันนั้นเหมือนกัน”

พึงสร้างอาศรมอันเป็นที่รื่นรมย์ ยังผู้พหูสูตร ทั้งหลายให้พำนักอยู่ ณ ที่นั้น พึงสร้างบ่อน้ำไว้ในป่าที่กันดารน้ำ และสะพานในที่เป็นหล่ม พึงถวายข้าวน้ำ ของเคี้ยว ผ้า และเสนาสนะในท่านผู้ซื่อตรงทั้งหลาย ด้วยน้ำใจอันผ่องใส เมฆมีสายฟ้าแลบแปลบปลาบ มียอดตั้งร้อย กระหึ่มอยู่ยังแผ่นดินให้ชุ่มโชกแล้ว ย่อมยังที่ดอนและที่ลุ่มให้เต็มฉันใด ทายกผู้มีศรัทธาเป็นบัณฑิตได้ฟังแล้ว ย่อมจัดหาโภชนาหารมาเลี้ยงวณิพก ด้วยข้าวน้ำให้อิ่มหนำ... ธารแห่งบุญอันไพบูลย์นั้น ย่อมยังทายกผู้ให้ ให้ชุ่มชื่น”

อิสสัตถสูตร


🔅 ใครเป็นผู้สร้าง
ปัญหา (มารเป็นผู้ถาม) รูปนี้ใครเป็นผู้สร้าง ผู้สร้างรูปอยู่ที่ไหน รูปบังเกิดในที่ไหน รูปดับไปในที่ไหน?

เสลาภิกษุณีตอบ “รูปนี้ไม่มีใครสร้าง อัตตภาพนี้ไม่มีใครก่อ รูปเกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุ ดับไปเพราะเหตุดับ

“พืชชนิดใดที่บุคคลหว่านลงในนา ย่อมงอกขึ้นเพราะอาศัยเหตุ ๒ ประการ คือ รสในแผ่นดิน และยางในพืช ฉันใด ขันธ์ ธาตุ และอายตนะ ๖ เหล่านี้ ก็เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุ ดับไปเพราะเหตุดับฉันนั้น”

เสลาสูตร


🔅 ทุกข์ทั้งนั้น
ปัญหา (มารเป็นผู้ถาม) สัตว์นี้ใครเป็นผู้สร้าง ผู้สร้างสัตว์อยู่ที่ไหน สัตว์บังเกิดในที่ไหน สัตว์ดับไปในที่ไหน?

วชิราภิกษุณีตอบ “ดูก่อนมาร เพราะเหตุไรหนอ ความเห็นของท่านจึงหวนกลับมาว่าสัตว์ ในกองสังขารล้วนนี้ ย่อมไม่ได้นามว่าสัตว์ เหมือนอย่างว่าเพราะคุมส่วนทั้งหลายเข้า เสียงว่ารถย่อมมีฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่ การสมมติว่าสัตว์ย่อมมีฉันนั้น ความจริงทุกข์เท่านั้นย่อมเกิด ทุกข์ย่อมตั้งอยู่ และเสื่อมสิ้นไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ”

วชิราสูตร

🔅 อายุของพรหม
ปัญหา ตามศาสนาฮินดู พรหมเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้สร้างสิ่งทั้งปวง มีอยู่ชั่วนิรันดร พระผู้มีพระภาคทรงเห็นอย่างไรในเรื่องนี้ ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนพะกะพรหม ท่านสำคัญอายุใดว่ายาว ก็อายุนั้นสั้น ไม่ยาวเลย ดูก่อนพรหม เรารู้อายุหนึ่งแสนนิรัพพุท (คือเลข ๑ ตามด้วยเลขศูนย์ ๖๘ ตัว) ของท่านได้ดี”

พกสูตร


🔅 พระพุทธเจ้าทรงเคารพอะไร
ปัญหา พระพุทธเจ้าจัดว่าเป้นพระบรมศาสดาของโลก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ทรงเคารพใคร? หรือว่าไม่ทรงเคารพใครเลย ?

พุทธดำรัสตอบ “.... บุคคลผู้ไม่มีที่เคารพ ที่ยำเกรง ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เราจะพึงสักการะเคารพอาศัยสมณะ หรือพราหมณ์ใครผู้ใดอยู่หนอ ?

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริว่า “เราควรสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์อื่นแล้วอาศัยอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งศีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่ว่า เรายังไม่เห็นสมณหรือพราหมณ์อื่นที่ถึงพร้อมด้วยศีลยิ่งกว่าตนในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ซึ่งเราควรสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่

“เราควรสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์อื่นแล้วอาศัยอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งสมาธิที่ยังไม่บริบูรณ์.... เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์.... เพื่อความบริบูรณ์แห่งวิมุติขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์.... เพื่อความบริบูรณ์ แห่งวิมุติญาณทัสสนะขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่ว่าเรายังไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่น ที่ถึงพร้อมด้วยสมาธิ.... ที่ถึงพร้อมด้วยปัญญา.... ที่ถึงพร้อมด้วยวิมุติ..... ที่ถึงพร้อมด้วยวิมุติญาณทัสสนะยิ่งกว่าตนในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ซึ่งเราควรสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่

“อย่างกระนั้นเลย เราควรสักการะเคารพธรรมที่เราตรัสรู้นั่นแหละ แล้วอาศัยอยู่”

คารวสูตร


🔅 กระบวนการปรินิพพาน
ปัญหา ในขณะที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงลำดับการปฏิบัติทางจิตส่วนพระองค์อย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ “ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตตุถฌาน ออกจากจตุตถฌาน ทรงเข้าอากาสานัญจายตนฌาน.... ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน..... ทรงเข้าอากิญจัญญายตนฌาน....ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน....ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ.... ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน..... ทรงเข้าอากาสานัญจายตนฌาน.... ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน..... ทรงเข้าอากาสานัญจายตนฌาน.... ทรงเข้าจตตุถฌาน ทรงเข้าตติยฌาน..... ทรงเข้าปฐมฌาน..... ทรงออกปฐมฌาน.... แล้วทรงเข้าทุติฌาน.... ทรงเข้าตติยฌาน.... ทรงเข้าจตตุถฌาน พระผู้มีพระภาคออกจากจตตุถฌาน แล้ว เสด็จปรินิพพานในลำดับนั้น”

ปรินิพพานสูตร


🔅 ฆ่าได้แล้วเป็นสุข
ปัญหา (พราหมณ์ภารทวาชโคตรทูลถาม) บุคคลฆ่าอะไรได้ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าอะไรได้ย่อมไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ย่อมชอบใจการฆ่า ธรรมอะไร เป็นธรรมอันเอก?

พุทธดำรัสตอบ “ บุคคลฆ่าความโกรธได้ ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าความโกรธได้ย่อมไม่เศร้าโศก ดูก่อนพราหมณ์ พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญการฆ่าความโกรธอันมีมูลเป็นพิษ มีปลายหวาน เพราะว่าบุคคลฆ่าความโกรธนั้นได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก”

ธนัญชานีสูตร


🔅 เมื่อถูกด่าควรทำอย่างไร
ปัญหา เมื่อเราถูกโกรธก็ดี ถูกด่าก็ดี เราควรทำอย่างไร ควรจะโกรธตอบ ด่าตอบ หรือควรจะเฉยเสีย?

พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนพราหมณ์..... ท่านด่าเราผู้ไม่ด่าอยู่ ท่านโกรธเราผู้ไม่โกรธอยู่ ท่านหมายมั่นเราผู้ไม่หมายมั่นอยู่ เราไม่รับรู้เรื่องมีการด่าเป็นต้นของท่านนั้น ดูก่อนพราหมณ์ เรื่องมีการด่าของท่านผู้เดียว ดูก่อนพราหมณ์.... ผู้ใดด่าตอบบุคคลผู้ด่าอยู่ โกรธตอบบุคคลผู้โกรธอยู่ หมายมั่นตอบบุคคลผู้หมายมั่นอยู่.... ผู้นี้ เรากล่าวว่า ย่อมบริโภคร่วมกัน ย่อมกระทำตอบกัน เรานั้นไม่บริโภคร่วม ไม่กระทำตอบด้วยท่านเป็นอันขาด ดูก่อนพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้น เป็นของท่านผู้เดียว”

อักโกสกสูตร


🔅 ผู้ชนะที่แท้จริง
ปัญหา อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ ได้ทราบว่าพราหมณ์ผู้ร่วมนามสกุลภารทวาชหลายคน ได้จากเรือนไปบวชในสำนักของพระพุทธเจ้าก็โกรธ จึงตรงไปด่าบริภาษพระผู้มีพระภาคถึงพระเวฬุวัน แต่พระผู้มีพระภาคทรงนิ่งเสีย ไม่ได้โต้ตอบ ฝ่ายพราหมณ์เมื่อเป็นพระผู้มีพระภาคทรงนิ่ง ก็ดีใจประกาศว่าเราชนะท่านแล้ว เราชนะท่านแล้ว?


พุทธดำรัสตอบ “ชนพาลกล่าวคำหยาบด้วยวาจา ย่อมสำคัญว่าชนะทีเดียว แต่ความอดกลั้นได้ เป็นความชนะของบัณฑิตผู้รู้แจ้งอยู่ ผู้ใดโกรธ ตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็นผู้ลามกกว่าบุคคลผู้โกรธแล้ว เพราะการโกรธตอบนั้น บุคคลไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ย่อมชื่อว่าชนะสงครามอันบุคคลชนะได้โดยยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติ สงบอยู่ได้ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ แก่ตนและแก่ผู้อื่น เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือของตนและของผู้อื่น ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่า เป็นคนเขลา ดังนี้”

อสุรินทกสูตร


🔅 ชาติไม่สำคัญ
ปัญหา สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ บูชาไฟที่ฝั่งแม่น้ำสุนทริกาแล้ว นำข้าวปายาสที่เหลือจากการบูชาไฟ มุ่งจะให้เป็นทานแก่คนบางคน เขาเหลือบไปเห็นพระพุทธองค์ นั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่งจึงเข้าไปเฝ้า แล้วทูลถามถึงชาติของพระองค์ว่าเป็นชาติอะไร?

พุทธดำรัสตอบ “ ท่านอย่าถามถึงชาติ แต่จงถามถึงความประพฤติเถิดไฟย่อมเกิดจากไม้แล บุคคลแม้เกิดในตระกูลต่ำ เป็นมุนี มีความเพียร เป็นผู้รู้ทั่วถึงเหตุ ห้ามโทษเสียด้วยหิริ ฝึกตนแล้วด้วยสัจจะ ประกอบด้วยการปราบปราม พึงที่สุดแห่งเวทนา มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว ผู้ใดมียัญอันน้อมเข้าไปแล้วบูชาพราหมณ์ผู้นั้น ผู้นั้นย่อมชื่อว่าบูชาพระทักขิเณยยบุคคลโดยกาล”

สุนทริกสูตร


🔅 การบูชายัญอันประเสริฐ
ปัญหา พราหมณ์ในสมัยพุทธกาลนิยมบูชายัญด้วยการเผาไม้หอม อาหาร เสื้อผ้า ขนม เนย แม้กระทั่งสัตว์ในกองไฟพิธี ถือว่าได้บุญมาก พระผู้มีพระภาคทรงมีทรรศนะในเรื่องนี้อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนพราหมณ์ ท่านเผาไม้อยู่ อย่างคาดหมายว่าจะบริสุทธิ์ ก็การเผาไม้นี้เป็นของภายนอก ผู้ฉลาดทั้งหลายย่อมกล่าวความบริสุทธิ์ด้วยการเผาไม้นั้น

“ ดูก่อนพราหมณ์ เราละการเผาไม้ ซึ่งบุคคลพึงปรารถนาความบริสุทธิ์ ด้วยการเผาไม้อันเป็นของภายนอก แล้วยังไฟคือญาณให้โพลงภายในตนทีเดียว เราเป็นพระอรหันต์ มีไฟอันโพลงแล้วเป็นนิตย์ มีจิตตั้งไว้ชอบแล้วเป็นนิตย์ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่

“ ดูก่อนพราหมณ์ มานะแลเป็นดุจภาระคือหาบของท่าน ความโกรธเป็นดุจควัน มุสาวาทเป็นดุจเถ้า ลิ้นเป็นดุจภาชนะเครื่องบูชา หทัยเป็นที่ตั้งกองกูณฑ์ ตนที่ฝึกดีแล้วเป็นความรุ่งเรืองของบุรุษ

“ ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลผู้ถึงเวททั้งหลายนั่นแล อาบในห้วงน้ำคือธรรมของบุรุษทั้งหลาย มีท่าคือศีลไม่ขุ่นมัว อันบัณฑิตทั้งหลายสรรเสริญแล้วมีตัวไม่เปียกแล้ว ย่อมข้ามถึงฝั่ง....”

สุนทริกสูตร

วันจันทร์

พระพุทธดำรัส (๗)

  🙏 พระพุทธดำรัส 🙏

🔅 วิธีพิจารณาธาตุ ๖
ปัญหา ภิกษุควรจะพิจารณาธาตุ ๖ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย อากาศ และวิญญาณอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุ ก็ปฐวีธาตุเป็นไฉน คือ ปฐวีธาตุภายใน (กายเรา) ก็มี ภายนอกก็มี ก็ปฐวีธาตุทั้งภายในภายนอกนี้แล เป็นปฐวีธาตุทั้งนั้น พึงเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายปฐวีธาตุและจะให้จิตคลายกำหนัดปฐวีธาตุได้

“ดูก่อนภิกษุ ก็อาโปธาตุเป็นไฉน คือ อาโปธาตุภายใน (กายของเรา) ก็มี ภายนอกก็มี เป็นอาโปธาตุทั้งนั้น พึงเห็นอาโปธาตุนั้นว่า..... นั่นไม่ใช่ของเรา ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายอาโปธาตุ.....

“ดูก่อนภิกษุ ก็วาโยธาตุเป็นไฉน คือ เตโชธาตุภายใน (กายของเรา) ก็มี ภายนอกก็มี..... เป็นวาโยธาตุทั้งนั้น พึงเห็นวาโยธาตุนั้นว่า..... นั่นไม่ใช่ของเรา..... ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายเตโชธาตุ.....

“ดูก่อนภิกษุ ก็เตโชธาตุเป็นไฉน คือ เตโชธาตุภายใน (กายของเรา) ก็มี ภายนอกก็มี..... เป็นเตโชธาตุทั้งนั้น พึงเห็นเตโชธาตุนั้นว่า..... นั่นไม่ใช่ของเรา..... ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายวาโยธาตุ.....

“ดูก่อนภิกษุ ก็อากาศธาตุเป็นไฉน คือ อากาศธาตุภายใน (กายของเรา) ก็มี ภายนอกก็มี..... เป็นอากาศธาตุทั้งนั้น พึงเห็นอากาศธาตุนั้นว่า..... นั่นไม่ใช่ของเรา..... ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายอากาศธาตุ.....

“ต่อจากนั้น สิ่งที่เหลืออยู่อีก ก็คือ วิญญาณอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง บุคคลย่อมรู้อะไรๆ ได้ด้วยวิญญาณนั้น คือ รู้ชัดว่า สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง ดูก่อนภิกษุ เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมเกินสุขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยสุขเวทนาย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยสุขเวทนาอยู่เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือ ตัวสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุข .....บุคคลนั้นเมื่อเสวยทุกข์....บุคคลนั้นเมื่อเสวยอทุกขมสุข.......ย่อมดับย่อมเข้าไปสงบ

“ดูก่อนภิกษุ เปรียบเหมือนเกิดความร้อน เกิดไฟได้ เพราะไม้สองท่อนประชุมสีกัน ความร้อนที่เกิดแต่ไม้สองท่อนนั้น ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ เพราะไม้สองท่อนนั้นเอง แยกกันไปเสียคนละทาง....”

ธาตุวิภังคสูตร


🔅 ฆ่าตัวตายไม่ควรตำหนิเสมอไป
ปัญหา เรื่องมีอยู่ว่า พระฉันนะอาพาธหนัก และคิดจะฆ่าตัวตายด้วยศาสตรา พระสารีบุตรได้เทศนาสั่งสอนและห้ามปรามไว้ แต่ในที่สุดพระฉันนะก็ฆ่าตัวตายจนได้ และได้รับคำตำหนิติเตียนจากญาติมิตรและคนเป็นอันมาก พระสารีบุตรจึงทูลถามพระพุทธเจ้าถึงเรื่องนี้ พระพุทธองค์ทรงมีทรรศนะว่าอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนสารีบุตร พระฉันนะยังมีสกุลมิตร สกุลสหายและสกุลที่คอยตำหนิอยู่ก็จริง แต่เราหาเรียกบุคคลว่า ควรถูกตำหนิด้วยเหตุเพียงเท่านี้ไม่...... บุคคลใดแลทิ้งกายนี้และยึดมั่นกายอื่น บุคคลนั้นเราเรียกว่า ควรถูกตำหนิ ฉันนะภิกษุหามีลักษณะนี้ไม่ ฉันนะภิกษุหาศาสตรามาฆ่าตัว อย่างไม่ควรถูกตำหนิ (สมสีสีบุคคล)”

ฉันโนวาทสูตร

🔅 ข้อปฏิบัติเมื่อถูกทำร้าย
ปัญหา เมื่อถูกทำร้าย ด้วยวาจาก็ดี ด้วยกายก็ดี พุทธศาสนิกชนที่แท้จริง ควรจะปฏิบัติอย่างไร?

พระปุณณะ (ทูลตอบพระพุทธเจ้า) “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักด่าจักบริภาษข้าพระองค์ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยฝ่ามือ.....

“ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยฝ่ามือ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยก้อนดิน.....

“ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยก้อนดิน ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยท่อนไม้.....

“ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตขึ้น จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยท่อนไม้ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยศาสตรา.....

“ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยศาสตรา ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยศาสตราอันคม....

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักปลิดชีพข้าพระองค์ด้วยศาสตราอันคม ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่ามีเหล่าสาวกของพระผู้มีพระภาค ที่อึดอัดเกลียดชังร่างกายและชีวิต พากันแสวงหาศาสตราสังหารชีพอยู่แล เราไม่ต้องแสวงหาสิ่งดังนั้นเลย ก็ได้ศาสตราสังหารชีพแล้ว....”

ปุณโณวาทสูตร


🔅 สมณพราหมณ์ที่ไม่ควรไหว้
ปัญหา ขึ้นชื่อวาเป็นสมณพราหมณ์ ครองเพศบรรพชิตแล้ว เราควรเคารพกราบไหว้บูชาทั้งนั้นหรือ ? หรือว่ามีสมณพราหมณ์ประเภทใดบ้างที่ไม่ควรเคารพกราบไหว้ ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย สมณพราหมณ์ เหล่าใดยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลงในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ..... ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต.... ในกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ... ในรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา.... ในโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย.... ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน ไม่ไปปราศแล้ว ยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังมีความประพฤติลุ่ม ๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ อยู่สมณพราหมณ์ เช่นนี้ ไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นั่นเพราะเหตุไร เพราะว่าแม้พวกเราก็ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลงในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ.... ธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน ไม่ไปปราศแล้วยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่มๆ ดอน ๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ก็เมื่อเราทั้งหลายไม่เห็น แม้ความประพฤติสงบของสมณพราหมณ์ พวกนั้นที่ยิ่งขึ้นไป ดังนั้น ฉะนั้นท่านสมณพราหมณ์ เหล่านั้นจึงไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา....”

นครวินเทยยสูตร


🔅 วิธีสังเกตสมณพราหมณ์แท้
ปัญหา เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าสมณพราหมณ์ พวกไหนเป็นผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย ถ้าปริพาชกเจ้าลัทธิอื่น ถามท่านทั้งหลายอย่างนี้ว่า ก็อาการและความเป็นไปของท่านผู้มีอายุทั้งหลายเช่นไร จึงเป็นเหตุให้พวกท่านกล่าวพึงท่านผู้มีอายุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น เป็นผู้ปราศจากราคะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ เป็นผู้ปราศจากโทสะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ เป็นผู้ปราศจากโมหะแล้ว หรือเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อจัดโมหะ ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่าความจริงท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ย่อมเสพเฉพาะเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าดงเป็นที่ไม่มีรูปอันรู้ได้ด้วยจักษุ ซึ่งคนทั้งหลายฟังแล้ว ๆ จะพึงยินดีเช่นนั้นเลย เป็นที่ไม่มีกลิ่นอันรู้ได้ด้วยฆานะ ซึ่งคนทั้งหลายฟังแล้วๆ จะพึงยินดีเช่นนั้นเลย เป็นที่ไม่มีโผฏฐัพพะอันรู้ได้ด้วยกาย ซึ่งคนทั้งหลายสัมผัสแล้วๆ จะพึงยินดีเช่นนั้นเลย

“นี้แล อาการและความเป็นไปของท่านผู้มีอายุทั้งหลายของพวกข้าพเจ้า ซึ่งเป็นเหตุให้พวกข้าพเจ้ากล่าวถึงท่านผู้มีอายุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านั้นเป็นผู้ปราศจากราคะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะแน่ เป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะแน่ เป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะแน่....”

นครวินเทยยสูตร

🔅 การเจริญอินทรีย์ในพระพุทธศาสนา
ปัญหา ได้ทราบว่า ลัทธิอื่นบางลัทธิ เช่น ลัทธิของปาราสิริยพราหมณ์ สอนให้สำรวมอินทรีย์อย่างเคร่งครัด คือไม่ให้เห็นรูปด้วยจักษุ ไม่ให้ฟังเสียงด้วยโสต เป็นต้น ในเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคทรงมีทรรศนะอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนอุตตระ เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่เจริญอินทรีย์แล้ว ตามคำของปาราสิริยพราหมณ์ต้องเป็นคนตาบอด ต้องเป็นคนหูหนวก เพราะคนตาบอดไม่เห็นรูปด้วยจักษุ คนหูหนวกไม่ได้ยินเสียงด้วยโสต.....

“.....ดูก่อนอานนท์ ก็การเจริญอินทรีย์ อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะเป็นอย่างไร ? ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดความชอบใจความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจขึ้น เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ.... เพราะได้ยินเสียงด้วยโสต.... เพราะได้ดมกลิ่นด้วยฆานะ... เพราะได้ลิ้มรสด้วยชิวหา.... เพราได้สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย.... เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่าเธอเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจขึ้นแล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นและเป็นสังขตะ หยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียดประณีต นั่นคืออุเบกขา เธอจึงดับความชอบใจความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสียอุเบกขาจึงดำรงมั่น

“.....ดูก่อนอานนท์ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ได้เร็วพลันทันทีโดยไม่ลำบาก เหมือนอย่างบุรุษมีตาดีกะพริบตาฉะนั้น อุเบกขาย่อมดำรงมั่น

“.....ดูก่อนอานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ ในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ.... ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต..... ในกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ.... ในรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา.... ในโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย.... ในธรรมารมณ์ ที่รู้ได้ด้วยมโน อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่า ในวินัยของพระอริยะ...”

อินทริยภาวนาสูตร


🔅 ทำไมคนจึงตายช้า-เร็วต่างกัน
ปัญหา เพราะเหตุไร คนบางคนเกิดมาในโลกนี้จึงมีอายุสั้น ตายตั้งแต่เยาว์วัยเพราะเหตุไร บางคนจึงอายุยืน ตายต่อเมื่อแก่หง่อมเต็มที่แล้ว?

พุทธดำรัสตอบ “..... บุคคลบางคนเป็นสตรี หรือบุรุษในโลกนี้ ย่อมเป็นผู้ฆ่าสัตว์มีชีวิต ใจดุร้าย ชอบใจในการฆ่าฟัน ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย ครั้นตายไปย่อมเกิดในอบายทุคตินรก ด้วยกรรมนั้น..... ถ้าตายไปไม่เกิดในอบายทุคตินรก มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ จะเป็นผู้มีอายุสั้น

“.....บางคนย่อมเป็นผู้ละเว้นจากปาณาติบาต มีท่อนไม้แลศัสตราอันวางแล้วมีความละอาย มีความเอ็นดู อนุเคราะห์เพื่อความเกื้อกูลในสัตว์ทั้งปวง ครั้นตายไป ย่อมเกิดในสุขคติโลกสวรรค์ ด้วยกรรมนั้น..... ถ้าตายไปไม่เกิดในสุคติโลกสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ จะเป็นผู้มีอายุยืน....”

👇 มีต่อ

🔅 ทำไมจึงเป็นคนขี้โรค

ปัญหา เพราะเหตุไรบางคนเกิดมาแล้ว จึงมักจะถูกโรคภัยเบียดเบียน แม้จะมีทรัพย์มากและรักษาความสะอาดเท่าไร ก็ไม่พ้นเป็นคนขี้โรค เพราะเหตุไรบางคนจึงมีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์ ทั้งๆ ที่ยากจนแลไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย ?

พุทธดำรัสตอบ “..... คนบางคนย่อมเป็นผู้เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยมือ หรือก้อนดิน ท่อนไม้ ศัสตรา ครั้นตายไปย่อมเกิดในอบายทุคตินรกด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในอบายทุคตินรก มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ จะเป็นผู้มีโรคมาก

.... คนบางคนย่อมเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ด้วยมือหรือก้อนดิน ท่อนไม้ ศัสตรา ครั้นตายไป ย่อมเกิดในสุคติโลกสวรรค์ด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในสุคติโลกสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ จะเป็นผู้มีโรคน้อย

👇 มีต่อ

🔅 ทำอย่างไรจึงจะมีรูปงาม
ปัญหา เพราะเหตุไรบางคนจึงมีรูปร่างขี้ริ้วขี้เหร่ ทั้ง ๆ ที่มารดาบิดามีรูปงาม เพราะเหตุไรคนบางคนจึงมีรูปร่างสวย มีผิวพรรณงาม ทั้งๆ ที่มารดาบิดามีรูปร่างไม่สวย?

พุทธดำรัสตอบ “..... บุคคลบางคนย่อมเป็นผู้มักโกรธแค้นมาก ถูกว่าแม้น้อยย่อมขัดใจโกรธ พยาบาทคิดแก้แค้น ทำความโกรธ ความดุร้ายแลความขึ้งเคียดให้ปรากฏ ครั้นตายไปย่อมเกิดในอบายทุคตินรกด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในอบายทุคตินรก มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ จะเป็นผู้มีผิวพรรณน่าชัง

“.... บุคคลบางคนย่อมเป็นผู้ไม่มักโกรธแค้นมาก ถูกว่าแม้มากย่อมทำความโกรธ ความดุร้ายและความขึ้งเคียดไม่ให้ปรากฏ ครั้นตายไปย่อมเกิดในสุคติโลกสวรรค์ด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในสุคติโลกสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ ในที่ใด ๆ จะเป็นผู้มีผิวพรรณน่าชม"

👇 มีต่อ

🔅 ทำอย่างไรจึงจะมีอำนาจมาก
ปัญหา เพราะเหตุไรบางคนจึงมียศ มีอำนาจ มีศักดามาก เพราะเหตุไรคนบางคนจึงมียศ มีอำนาจมีศักดาน้อย?

พุทธดำรัสตอบ “..... บุคคลบางคนย่อมเป็นผู้มีใจประกอบด้วยความอิจฉาริษยา ย่อมริษยา คิดร้าย ผูกริษยาในลาภสักการะ ในการทำความเคารพในความนับถือกราบไหว้และการบูชาของผู้อื่นทั้งหลาย ครั้นตายไปย่อมเกิดในอบายทุคตินรกด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในอบายทุคตินรก มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ จะเป็นผู้มีศักดาน้อย

“.... บุคคลบางคนย่อมเป็นผู้มีน้ำใจไม่ริษยา.... ในลาภสักการะ ในการทำความเคารพ ในความนับถือ กราบไหว้ และการบูชาของผู้อื่นทั้งหลาย ครั้นตายไปย่อมเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในสุขคติโลกสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ จะเป็นผู้มีศักดาใหญ่”

👇 มีต่อ

🔅 ทำอย่างไรจึงจะรวย
ปัญหา เพราะเหตุไรบางคนจึงยากจนเข็ญใจไร้ทรัพย์ ทั้งๆ ที่ทำงานหนัก เพราะเหตุไร คนบางคนจึงร่ำรวยด้วยทรัพย์สมบัติ ทั้งๆ ที่ไม่ต้องทำงานหนักเกินไป ?

พุทธดำรัสตอบ “..... บุคคลบางคนย่อมไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องทา ที่นอน ที่อยู่ เครื่องตามประทีป แก่สมณพราหมณ์ ครั้นตายไปย่อมเกิดในอบายทุคตินรกด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในอบายทุคตินรก มาเกิดในมนุษย์ในที่ใดๆ จะเป็นผู้มีสมบัติน้อย

“..... บุคคลบางคนย่อมเป็นผู้ให้ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องทา ที่นอน ที่อยู่ เครื่องตามประทีป แก่สมณพราหมณ์ ครั้นตายไปย่อมเกิดในอบายสุคติโลกสวรรค์ ด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในสุคติโลกสวรรค์ มาเกิดในมนุษย์ในที่ใด ๆ จะเป็นผู้มีสมบัติมาก”

👇 มีต่อ

🔅 ทำอย่างไรจึงจะได้เป็นดอกฟ้า
ปัญหา ทำไมคนบางคนจึงเกิดในตระกูลสูง คนบางคนจึงเกิดในตระกูลต่ำ ?

พุทธดำรัสตอบ “..... บุคคลบางคนย่อมเป็นผู้ดื้อดึง เย่อหยิ่ง ไม่กราบไหว้ ผู้ที่ควรกราบไหว้ ไม่ต้อนรับผู้ที่ควรต้อนรับ ไม่ให้ที่นั่งแก่ผู้ที่ควรได้ที่นั่ง ไม่ให้ทางแก่ผู้ควรได้ทาง ไม่สักการะแก่ผู้ควรสักการะ ไม่ทำความเคารพแก่ผู้ควรทำความเคารพ ไม่นับถือผู้ควรนับถือ ไม่บูชาผู้ที่ควรบูชา ครั้นตายไปย่อมเกิดในอบายทุคตินรกด้วยกรรมนั้น ถ้าตายไปไม่เกิดในอบายทุคตินรก มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ จะเป็นผู้มีตระกูลต่ำ

“บุคคลบางคนย่อมไม่เป็นผู้ดื้อดึงเย่อหยิ่ง กราบไหว้ผู้ที่ควรกราบไหว้ ต้อนรับผู้ที่ควรต้อนรับ ให้ที่นั่งแก่ผู้ควรได้ที่นั่ง..... บูชาผู้ที่ควรบูชา ครั้นตายไปย่อมเกิดในอบายทุคตินรกด้วยกรรมนั้น ถ้าตายไปไม่เกิดในสุคติโลกสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ จะเป็นผู้มีตระกูลสูง

👇 มีต่อ

🔅 ทำอย่างไรจึงจะฉลาด
ปัญหา เพราะเหตุไร คนบางคนเกิดมาจึงมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เพราะเหตุไร คนบางคน เกิดมาจึงโง่ทึบ?

พุทธดำรัสตอบ “บุคคลบางคนย่อมไม่เข้าไปหาสมณพราหมณ์ไต่ถามว่าสิ่งไรเป็นกุศล สิ่งไรเป็นอกุศล สิ่งไรมีโทษ สิ่งไรไม่มีโทษ สิ่งไรควรเสพ สิ่งไรไม่ควรเสพ สิ่งใดที่ข้าพเจ้าทำจะไม่เกื้อกูล จะเป็นทุกข์แก่ข้าพเจ้าสิ้นกาลนาน ก็หรือสิ่งไรที่ข้าพเจ้าทำจะเกื้อกูล จะเป็นสุขแก่ข้าพเจ้าชั่วกาลนาน ดังนี้ครั้นตายไป ย่อมเกิดในอบายทุคตินรกด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในอบายทุคตินรก มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ จะเป็นผู้โง่เขลา

“บุคคลบางคนย่อมเข้าไปหาสมณพราหมณ์ ไต่ถามว่าสิ่งไรเป็นกุศล สิ่งไรเป็นอกุศล สิ่งไรมีโทษ สิ่งไรไม่มีโทษ..... ดังนี้ครั้นตายไป ย่อมเกิดในสุคติโลกสวรรค์ด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในสุคติโลกสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ จะเป็นผู้เฉลียวฉลาด

“สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาท (คือผู้รับผล) แห่งกรรมมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลาย เพื่อความเป็นผู้ต่ำช้าแลประณีตฉะนี้แล”

จุฬกัมมวิภังคสูตร


🔅 ทุกข์เพราะความมี
ปัญหา (เทวดากล่าวเป็นเชิงแสดงทรรศนะของตน) คนมีบุตรย่อมยินดีเพราะบุตรทั้งหลาย คนมีโค ย่อมยินดีเพราะโคทั้งหลายเหมือนกันฉันนั้น เพราะอุปธิ (อรรถกถาว่า หมายถึง ขันธ์ กาม กิเลส กรรม) เป็นความดีของตน บุคคลนั้นไม่มีอุปธิ บุคคลนั้นไม่มีความยินดีเลย?

พุทธดำรัสตอบ “บุคคลผู้มีบุตร ย่อมเศร้าโศกเพราะบุตรทั้งหลายบุคคลมีโคย่อมเศร้าโศกเพราะโคทั้งหลายเหมือนกันฉันนั้น เพราะอุปธิเป็นความเศร้าโศกของคน บุคคลใดไม่มีอุปธิ บุคคลนั้นไม่เศร้าโศกเลย”

นันทิสูตรที่ ๑ นันทวรรคที่ ๒


🔅 ยอดของความรัก
ปัญหา (เทวดากล่าวเป็นเชิงแสดงทรรศนะของตน) ความรักเสมอด้วยความรักบุตรไม่มี ทรัพย์เสมอด้วยโคไม่มี แสงสว่างเสมอด้วยดวงอาทิตย์ย่อมไม่มี สระทั้งหลายมีทะเลเป็นยอด?

พุทธดำรัสตอบ “ความรักเสมอด้วยความรักตนไม่มี ทรัพย์เสมอด้วยข้าวเปลือกย่อมไม่มี แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาย่อมไม่มี ฝนต่างหากเป็นสระยอดเยี่ยม”

นันถิปุตตสมสูตร


🔅 ยอดของภรรยา
ปัญหา (เทวดากล่าวเป็นเชิงแสดงทรรศนะ) กษัตริย์ประเสริฐสุดกว่าสัตว์สองเท้า โคประเสริฐสุดกว่าสัตว์สี่เท้า ภรรยาที่เป็นนางกุมารีประเสริฐสุดกว่าภรรยาทั้งหลาย บุตรใดเป็นผู้เกิดก่อน บุตรนั้นประเสริฐสุดกว่าบุตรทั้งหลาย ?

พุทธดำรัสตอบ “พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐสุดกว่าสัตว์สองเท้า “สัตว์อาชาไนยประเสริฐสุกกว่าสัตว์สี่เท้า “ภรรยาที่ปรนนิบัติดีประเสริฐสุดกว่าภรรยาทั้งหลาย “บุตรใดเป็นผู้เชื่อฟัง บุตรนั้นประเสริฐสุดกว่าบุตรทั้งหลาย”

ขันติยสูตร


🔅 พระอรหันต์กับภาษาสามัญ
ปัญหา พระอรหันต์ที่พ้นจากการสมมติและบัญญัติแล้ว เวลาพูดกับสามัญชนใช้ภาษาอะไรพูด ?

พุทธดำรัสตอบ “ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่น พูดกะเราดังนี้บ้าง ภิกษุนั้นฉลาดทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตามสมมติที่พูดกัน”

อรหันตสูตรที่ ๕


🔅 ลักษณะพระนิพพาน
ปัญหา จงแสดงลักษณะของพระนิพพานว่ามีอย่างไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “ดิน น้ำ ลม ไฟ ย่อมไม่ตั้งอยู่ในที่ใด สงสารทั้งหลายย่อมกลับแต่ที่นี้ วัฏฏะย่อมไม่เป็นไปในที่นี้ นามก็ดี รูปก็ดี ย่อมดับหมดในที่นี้”

สรสูตรที่ ๗


🔅 สิ่งที่ไม่รู้จักตาย
ปัญหา สังขารร่างกายย่อมตายหายสูญไปเป็นธรรมดา มีอะไรบ้างที่ไม่ตายไปตามสังขารร่างกาย ?

เทวดาตอบ (พระบรมศาสนาทรงรับรอง)

“ชนทั้งหลายเหล่าใด เมื่อของมีน้อยก็แบ่งให้เหมือนพวกเดินทางไกล ก็แบ่งของให้แก่พวกที่เดินทางร่วมกัน ชนทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อบุคคลทั้งหลายเหล่าอื่นตายแล้ว ก็ชื่อว่าย่อมตาย ธรรมนี้เป็นของบัญฑิตแต่ปางก่อน....”

มัจฉริยสูตรที่ ๒


🔅 ฆ่าแล้วทำบุญ
ปัญหา บางคนฆ่าสัตว์แล้วนำมาให้ทาน ผลทานของเขาจะเป็นอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “บุคคลเหล่าหนึ่ง ตั้งอยู่ในกรรมปราศจากความสงบ โบยเขา ฆ่าเขา ทำให้เขาเศร้าโศก แล้วให้ทาน ทานนั้นจัดว่า ทานมีหน้านองด้วยน้ำตา จัดว่าทานเป็นไปกับด้วยอาชญา จึงย่อมไม่เท่าพึงส่วนแห่งทานที่ให้ด้วยความสงบ....”

มัจฉริยสูตรที่ ๒

🔅 ยอดของทาน
ปัญหา (เทวดาทูลถาม) บุคคลให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้กำลัง ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้วรรณะ ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้ความสุข ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้จักษุ และบุคคลเช่นไรชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง?

พุทธดำรัสตอบ “บุคคลให้อาหารชื้อว่าให้กำลัง ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข ให้ป ระทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุ และผู้ที่ให้ที่พักพาอาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนผู้ที่พร่ำสอนธรรมชื่อว่าให้อมฤตธรรม”

กินททสูตรที่ ๒

🔅 การพัฒนาชนบท
ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงยกย่องสรรเสริญการพัฒนาชนบทไว้อย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ “ชนเหล่าใดสร้างอาราม (สวนไม้ดอกไม้) ปลูกหมู่ไม้สร้างสะพาน และชนเหล่าใดให้โรงน้ำเป็นทาน และบ่อน้ำทั้งบ้านที่พักอาศัยชนเหล่านั้นย่อมมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์”

วนโรปสูตรที่ ๑ 


🔅 ยอดของมิตร
ปัญหา (เทวดาทูลถาม) อะไรหนอเป็นมิตรของคนเดินทาง อะไรหนอเป็นมิตรในเรือนของตน อะไรเป็นมิตรของคนมีธุระเกิดขึ้น อะไรเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า ?

พุทธดำรัสตอบ “พวกเกวียน พวกโคต่างเป็นมิตรของคนเดินทาง มารดาเป็นมิตรในเรือนของตน สหายเป็นมิตรของผู้มีธุระเกิดขึ้นเนือง ๆ บุญที่ตนทำเองเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า”

มิตรสูตรที่ ๓


🔅 ภัยใหญ่ของมนุษย์
ปัญหา (เทวดาทูลถาม) อะไรหนอยังคนให้เกิด อะไรของเขาหนอย่อมวิ่งพล่าน อะไรของเขาหนอเวียนว่ายไปยังสงสาร อะไรหนอเป็นภัยใหญ่ของเขา ?

พุทธดำรัสตอบ “ตัณหายังคนให้เกิด จิตของเขาย่อมวิ่งพล่าน สัตว์เวียนว่ายไปยังสงสาร ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของเขา”

ปฐมชนสูตรที่ ๕

🔅 อำนาจจิต

ปัญหา (เทวดาทูลถาม) โลกอันอะไรย่อมนำไป อันอะไรหนอเสือกไสไปได้ โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไร?

พุทธดำรัสตอบ “โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกใสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือ จิต ”

จิตตสูตรที่ ๒


🔅 สง่าราศีของสตรี
ปัญหา (เทวดาทูลถาม) อะไรหนอเป็นสง่าของรถ อะไรหนอเป็นเครื่องปรากฏของไฟ อะไรหนอเป็นสง่าของแว่นแคว้น อะไรหนอเป็นสง่าของสตรี?

พุทธดำรัสตอบ “ธงเป็นสง่าของรถ ควันเป็นเครื่องปรากฏของไฟพระราชาเป็นสง่าของแว่นแคว้น สามีเป็นสง่าของสตรี”

รถสูตรที่ ๒


🔅 ชีวิตประเสริฐ
ปัญหา (เทวดาทูลถาม) อะไรหนอเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรหนอที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ อะไรหนอเป็นรสดีกว่าบรรดารสทั้งหลาย คนมีชีวิตเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์ ทั้งหลายกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ ?

พุทธดำรัสตอบ “ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐของคนในโลกนี้ ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว นำความสุขมาให้ ความจริงเท่านั้นเป็นรสที่ดียิ่งกว่ารสทั้งหลาย คนที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ”

วิตตสูตรที่ ๓

🔅 ความเพลิดเพลินและทุกข์
ปัญหา (เทวดาทูลถาม) ข้าแต่ภิกษุ ทำไมพระองค์จึงไม่มีทุกข์ ทำไมความเพลิดเพลินจึงไม่มี ทำไมความเบื่อหน่ายจึงไม่ครอบงำพระองค์ผู้นั่งแต่ผู้เดียว ?

พุทธดำรัสตอบ “ผู้มีทุกข์นั่นแหละจึงมีความเพลิดเพลิน ผู้มีความเพลิดเพลินนั่นแหละจึงมีทุกข์ ภิกษุย่อมเป็นผู้ไม่มีความเพลิดเพลิน ไม่มีทุกข์....”

กกุธสูตรที่ ๘

,
🔅 สิ่งที่ไม่ควรดูหมิ่น
ปัญหา มีอะไรบ้าง ที่คนไม่ควรดูหมิ่น แม้จะดูเป็นของเล็กน้อยไม่สำคัญก็ตาม ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนมหาบพิตร ของ ๔ อย่างเหล่านี้ ไม่ควรดูหมิ่นว่าเล็กน้อย... คือ
๑. กษัตริย์ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่ายังทรงพระเยาว์
๒. งู ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าตัวเล็ก
๓. ไฟ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อย
๔. ภิกษุ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่ายังหนุ่ม”

ทหรสูตรที่ ๑

วันพุธ

พระพุทธดำรัส (๖)

 🙏 พระพุทธดำรัส 🙏


🔅 วิธีพิสูจน์พระอรหันต์
ปัญหา เราจะมีวิธีพิสูจน์ได้อย่างไร ว่าภิกษุรูปใดเป็นพระอรหันต์ หรือไม่ เพราะเราไม่อาจจะทราบได้ด้วยเครื่องหมายภายนอกใด ๆ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพยากรณ์อรหัตตผลว่า ข้าพเจ้ารู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จ แล้วกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่างเพิ่งยินดี อย่าเพิ่งคัดค้าน คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พึงถามปัญหาเธอว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ โวหารอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ตรัสไว้ชอบนี้มี ๔ ประการ คือ คำกล่าวว่าเห็นอารมณ์ที่ตนเห็นแล้ว ได้ยินในอารมณ์ที่ตนฟังแล้ว ทราบในอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว รู้ชัดในอารมณ์ที่ตนรู้ชัดแล้ว ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่เห็นอยู่อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ นี้?

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว พ้นกิเลสแล้วเพราะรู้ชอบจึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพันพ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้เห็น มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้ยิน พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้ทราบ พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้ารู้ชัด จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ นี้

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้นพวกเธอควรชื่นชมอนุโมทนาสาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุอุปาทานขันธ์อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ตรัสไว้ชอบ มี ๕ ประการ แล คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์ ก็จิตของท่านผู้มีอายุผู้รู้อยู่เห็นอยู่ เห็นอยู่อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้?

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว พ้นกิเลสแล้วเพราะรู้ชอบจึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้ารู้แจ้งรูปแล้วแลว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก มิใช่เป็นที่ตั้งแห่งความชื่นใจ จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในรูป และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในรูปได้ ข้าพเจ้ารู้แจ้งเวทนา รู้แจ้งสัญญา รู้แจ้งสังขาร รู้แจ้งวิญญาณแล้วแลว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว ดูก่อนท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้า ผู้รู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ธาตุอันพระผู้มีพระภาคนั้น ตรัสไว้ชอบมี ๖ ประการ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่เห็นอยู่อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในธาตุ ๖ นี้

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว พ้นกิเลสแล้วเพราะรู้ชอบจึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า ข้าพเจ้าครองปฐวีธาตุโดยความเป็นอนัตตา มิใช่ครองอัตตาอาศัยปฐวีธาตุเลย ข้าพเจ้าครองอาโปธาตุ โดยความเป็นอนัตตา ครองเตโชธาตุโดยความเป็นอนัตตา ครองวาโยธาตุโดยความเป็นอนัตตา มิใช่ครองอัตตาอาศัยวิญญาณธาตุเลย จึงทราบชัดว่าจิตของเราพ้นแล้ว จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะไม่ยึดมั่นในธาตุ ๖ นี้

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ก็อายตนะภายในอายตนะภายนอก อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ตรัสไว้ชอบนี้ มีอย่างละ ๖ แล คือจักษุและรูป โสตและเสียง ฆานะและกลิ่นชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะ มโนและธรรมารมณ์ ก็จิตของท่านผู้มีอายุรู้อยู่เห็นอยู่อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ก็อายตนะภายในอายตนะภายนอก อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ตรัสไว้ชอบนี้ มีอย่างละ ๖ แล คือจักษุและรูป โสตและเสียง ฆานะและกลิ่นชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะ มโนและธรรมารมณ์ ก็จิตของท่านผู้มีอายุรู้อยู่เห็นอยู่อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ?

“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว พ้นกิเลสแล้วเพราะรู้ชอบจึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้นสำรอก ดับสละ และสลัดคืนซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ตัณหา อุปาทาน ที่ยึดมั่นและอนุสัยคือความตั้งใจ และความปักใจมั่น
ในจักษุ ในรูป ในจักษุวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณ
ในโสต ในเสียง ในโสตวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยโสตวิญญาณ
ในฆาน ในกลิ่น ในฆานวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยฆานวิญญาณ
ในชิวหา ในรส ในชิวหาวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหาวิญญาณ
ในกาย ในโผฏฐัพพะ ในกายวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยกายวิญญาณ
ในมโน ในธรรมารมณ์ ในมโนวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณ
จิตของข้าพเจ้ารู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอายตนะทั้งภายในทั้งภายนอกอย่างละ ๖ เหล่านี้”

ฉวิโสธนสูตร


🔅 หญิงที่ไม่ควรละเมิด
ปัญหา ในฝ่ายหญิงนั้น หญิงมีลักษณะเช่นไรบ้างที่ชายไม่พึงละเมิด ถ้าละเมิด จะเป็นการล่วงละเมิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร?

พุทธดำรัสตอบ “ไม่เป็นผู้ละเมิดจารีตในหญิงที่มารดารักษาบ้าง หญิงที่บิดารักษาบ้าง หญิงที่ทั้งมารดาทั้งบิดารักษาบ้าง หญิงที่พี่ชายรักษาบ้างหญิงที่พี่สาวรักษาบ้าง หญิงที่ญาติรักษาบ้าง หญิงที่ยังมีสามีอยู่บ้าง หญิงที่มีสินไหมติดตัวอยู่บ้าง ที่สุดแม้หญิงที่ชายคล้องพวงดอกไม้หมั้นไว้....ฯ”

เสวิตัพพาเสวิตัพพ


🔅 สัมมาทิฐิเป็นประธาน
ปัญหา ในบรรดาองค์ ๘ ประการของมรรค ๘ นั้น องค์ไหนจัดว่าสำคัญที่สุด ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๘ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือเ
มื่อมีสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะจึงพอเหมาะได้
เมื่อสัมมาญาณะ สัมมาวิมุติจึงพอเหมาะได้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้แล พระเสขะผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ จึงเป็นพระอรหันต์ประกอบด้วยองค์ ๑๐”

มหาจัตตารีสกสูตร


🔅 ความสัมพันธ์ของโพชฌงค์ ๗
ปัญหา ธรรมอันเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ๗ ประการที่เรียกว่าโพชฌงค์ ๗ นั้น มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นภายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัวมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอเข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้าไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้าไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้นธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญธรรม วิจยสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ เมื่อเธอค้นคว้าไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุ ปรารภแล้ว ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ปีติปราศจากอามิสย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุ ปรารภแล้ว ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ปีติปราศจากอามิสย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุ ปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติระงับได้ ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว ย่อมมีจิตตั้งมั่น

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุขย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉย จิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้”

อานาปานสติสูตร

🔅 พระอริยะกับคนธรรมดา
ปัญหา คฤหัสถ์บางคนไม่เชื่อว่า ภิกษุที่ออกบรรพชาอุสมบทประพฤติพรหมจรรย์จะได้รู้ได้เห็น ได้เสวยธรรมวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เห็นคุณค่าของการประพฤติพรหมจรรย์ ในเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคทรงเห็นอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ข้อที่ความข้อนั้นเขา (สมณะ) รู้ เขาเห็น เขาบรรลุ เขาทำให้แจ้งกันได้ด้วยเนกขัมมะ แต่พระราชกุมารชยเสนะยังอยู่ท่ามกลางกาม ยังบริโภคกาม ถูกกามวิตกกิน ถูกความเร่าร้อนเพราะกามเผา ยังขวนขวายในการแสวงหากาม จักทรงรู้ หรือจักทรง หรือจักทรงเห็น หรือจักทรงทำให้แจ้ง ความข้อนั้นได้ นั้นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้

“ดูก่อนอัคคิเวสสนะ เปรียบเหมือนภูเขาใหญ่ไม่ห่างไกลบ้านหรือนิคมสหายสองคนออกจากบ้านหรือนิคมนั้น ไปยังภูเขาลูกนั้นแล้ว สหายคนหนึ่งยืนที่เชิงภูเขาเบื้องล่าง อีกคนหนึ่งขึ้นไปข้างบนภูเขา สหายที่ยืนตรงเชิงภูเขาข้างล่าง เอ่ยถามสหายผู้ยืนบนภูเขานั้นอย่างนี้ว่า แนะเพื่อน เท่าที่เพื่อนยืนบนภูเขานั้น เพื่อนเห็นอะไร สหายคนนั้นตอบอย่างนี้ว่า เพื่อนเอ๋ย เรายืนบนภูเขาแล้ว เห็นสวนป่าไม้ภูมิภาคและสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์

“สหายข้างล่างกล่าวอย่างนี้ว่า แนะเพื่อน ข้อที่เพื่อนยืนบนภูเขาแล้ว เห็น สวน ป่าไม้ ภูมิภาค และสระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ นั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาสเลย

“สหายที่ยืนบนภูเขาจึงลงมายังเชิงเขาข้างล่าง แล้วจูงแขนสหายคนนั้นให้ขึ้นไปบนภูเขาลูกนั้น ให้สบายใจครู่หนึ่งแล้ว เอ่ยถามสหายนั้นว่า แนะเพื่อน เท่าที่เพื่อนยืนบนภูเขาแล้ว เพื่อนเห็นอะไร?

“สหายคนนั้นตอบอย่างนี้ว่า แนะเพื่อ เรายืนบนภูเขาแล้ว แลเห็นสวน ป่าไม้ ภูมิภาค และสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์.....”

ทันตภูมิสูตร

🔅 ทำดีด้วยความหวังและไม่หวัง
ปัญหา บางคนกล่าวว่าในการทำความดีไม่ควรตั้งความหวังไว้ จึงจะได้ผล แต่อีกคนหนึ่งกล่าวว่าควรตั้งความหวังไว้จึงจะได้ผล พระผู้มีพระภาคทรงเห็นอย่างไรในเรื่องนี้?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภูมิชะ ก็สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ที่มีทิฐิผิด มีสังกัปปะผิด มีวาจาผิด มีกัมมันตะผิด มีอาชีวะผิด มีวายามะผิด มีสติผิด มีสมาธิผิด ถ้าแม้ทำความหวังแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล ถ้าแม้ไม่ทำความหวังแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถสามารถจะบรรลุมรรคผล ถ้าแม้ทำความหวังและไม่ทำความหวังประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุมรรคผล..... นั่นเพราะอะไร ดูก่อนภูมิชะ เพราะเขาไม่สามารถจะบรรลุผลได้โดยอุบายไม่แยบคาย

“ดูก่อนภูมิชะ เปรียบเหมือนบุรุษต้องการน้ำมัน เกลี่ยทรายลงในรางแล้วคั้นไป เอาน้ำพรมไปๆ ถ้าแม้ทำความหวัง เขาก็ไม่สามารถจะได้น้ำมัน ถ้าแม้ไม่ทำความหวัง เขาก็ไม่สามารถจะได้น้ำมัน

“ดูก่อนภูมิชะ ส่วนสมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ที่มีทิฐิชอบมีสังกัปปะชอบ มีวาจาชอบ มีกัมมันตะชอบ มีอาชีวะชอบ มีวายามะชอบมีสติชอบ มีสมาธิชอบ ถ้าแม้ทำความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็สามารถบรรลุผล ถ้าแม้ไม่ทำความหวังประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็สามารถบรรลุผล

“ดูก่อนภูมิชะ เปรียบเหมือนบุรุษต้องการน้ำมัน เกลี่ยงาป่นลงในรางแล้วคั้นไป ถ้าแม้ทำความหวัง เขาก็สามารถได้น้ำมัน ถ้าแม้ไม่ทำความหวัง เขาก็สามารถได้น้ำมัน.....”

ภูมิชสูตร


🔅 อันตรายของสมาธิ
ปัญหา ในการเจริญสมาธิ บางครั้งเกิดนิมิตเห็นรูปแล้ว หรือเกิดโอภาสแสงสว่างแล้ว แต่ในไม่ช้าก็หายไป ทั้งนี้เพราะเหตุไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนอนุรุท เมื่อก่อนตรัสรู้ ยังไม่รู้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ เราย่อมรู้สึกแสงสว่างและการเห็นรูปเหมือนกัน แต่ไม่ช้าเท่าไร แสงสว่างและการเห็นรูปอันนั้นของเรา ย่อมหายไปได้ เราจึงมีความดำริดังนี้ว่า อะไรหนอแลเป็นเหตุเห็นปัจจัยได้แสงสว่างและการเห็นรูปของเราหายไปได้ ดูก่อนอนุรุธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่าวิจิกิจฉา (ความสงสัยลังเล) แลเกิดขึ้นแล้วแก่เราก็วิจิกิจฉาเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้วิจิกิจฉาไม่เกิดขึ้นแก่เราได้อีก

“.....ดูก่อนอนุรุธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่าอมนสิการ (การไม่ใส่ใจ) แลเกิดขึ้นแล้วแก่เราก็อมนสิการ เป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน ถีนมิทธะ (ความง่วงงุน) แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ความหวาดเสียว...... แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ความตื่นเต้น แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ความชั่วหยาบ แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ความเพียรที่ปรารภเกินไป แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ความเพียรที่หย่อนเกินไป แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ตัณหาที่คอยกระซิบ แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ความสำคัญสภาวะว่าต่างกัน แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไป แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้วิจิกิจฉาอมนสิการ ถีนมิทธะความหวาดเสียว ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ ความเพียรที่ปรารภเกินไป ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ตัณหาที่คอยกระซิบ ความสำคัญสภาวะว่าต่างกัน และลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปขึ้นแก่เราได้อีก.....

อุปักกิเลสสูตร

🔅 นรกมีจริงหรือ
ปัญหา มีบางคนยืนยันว่า นรกสวรรค์ไม่มี พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้ในพระไตรปิฎก ดังนี้ ข้อนี้เป็นความจริงเพียงใด?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแลประพฤติทุจริต ทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก......

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทุกข์โทมนัสที่บุรุษถูกแทงด้วยหอกสามร้อยเล่มเป็นเหตุ กำลังเสวยอยู่นั้นเปรียบเทียบทุกข์ของนรก ยังไม่ถึงแม้ความคณนา ยังไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ยังไม่ถึงแม้การเทียบกันได้

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะให้คนพาลนั้นกระทำเหตุชื่อการจำ ๕ ประการคือ ตรึงตะปูเหล็กแดงที่มือข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ ที่เท้าข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ และที่ทรวงอกตรงกลาง คนพาลนั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด.....

“เหล่านายนิรยบาล จะจับคนพาลนั้นขึงพืดแล้วเอาผึ่งถาก คนพาลนั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า....

“.....เหล่านายนิรยบาล จะจับคนพาลนั้น เอาเท้าขึ้นข้างบน เอาหัวลงข้างล่าง แล้วถากด้วยพร้า คนพาลนั้นจะเสวยเทวทนาอันเป็นทุกข์กล้า......

“.....เหล่านายนิรยบาล จะเอาพาลนั้นเทียมรถ แล้วให้วิ่งกลับไปกลับมาบนแผ่นดินที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง คนพาลนั้นจะเสวยเทวทนาอันเป็นทุกข์กล้า......

“.....เหล่านายนิรยบาล จะให้คนพาลนั้นปีนขึ้นปีนลง ซึ่งภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ ที่มีไฟติดทั่วลุกโพลง โชติช่วง คนพาลนั้นจะเสวยเทวทนาอันเป็นทุกข์กล้า......

“.....เหล่านายนิรยบาล จะจับคนพาลนั้น เอาเท้าขึ้นข้างบน เอาหัวลงข้างล่าง แล้วพุ่งลงไปในหม้อทองแดงที่ร้อน มีไฟติดทั่ง ลุกโพลง โชติช่วง คนพาลนั้นจะเดือนเป็นฟองอยู่ในหม้อทองแดงนั้น เมื่อเขาเดือดเป็นฟองอยู่ จะพล่านขึ้นข้างบนครั้งหนึ่งบ้าง พล่านลงข้างล่างครั้งหนึ่งบ้าง พล่านไปด้านขวาครั้งหนึ่งบ้าง พล่านลงข้างล่างครั้งหนึ่งบ้าง จะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในหม้อทองแดงนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาล จะจับโยนคนพาลนั้นเข้าไปในมหานรก ก็มหานรกนั่นแล มีสี่มุมสี่ประตู แบ่งไว้โดยส่วนเท่ากัน มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ ครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก พื้นของนรกใหญ่นั้น ล้วนแล้วด้วยเหล็ก ลุกโพลง ประกอบด้วยไฟแผ่ไปตลอดร้อยโยชน์รอบด้น ประดิษฐานอยู่ทุกเมื่อ”

พาลปัณฑิตสูตร

🔅 คนเกิดเป็นสัตว์ได้
ปัญหา มีพระพุทธพจน์ที่ไหนบ้าง ที่ยืนยันไว้อย่างแน่นอนว่าคนเราอาจจะไปเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานแม้ชั้นต่ำ ๆ เช่นไส้เดือนได้?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกมีหญ้าเป็นภักษา คือ ม้า โค ลา แพะ เนื้อ หรือแม้จำพวกอื่นๆ ไม่ว่าชนิดไร ๆ คนพาลนั่นแล ผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสเบื้องต้นในโลกนี้ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกที่มีหญ้าเป็นภักษาเหล่านั้น

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกมีคูถเป็นภักษา สัตว์เดียรัจฉานเหล่านั้นได้กลิ่นคูถแต่ไกร แล้วย่อมวิ่งไปด้วยหวังว่า จักกินตรงนี้ จักกินตรงนั้น คือ ไก่ สุกร สุนัขบ้าน สุนัขป่า หรือแม้จำพวกอื่นๆ ไม่ว่าชนิดไรๆ ที่มีคูถเป็นภักษา คนพาลนั่นแล ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกที่มีมีคูถเป็นภักษา เหล่านั้น

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกเกิด แก่ ตาย ในที่มืด คือ ตั๊กแตน มอด ไส้เดือน หรือแม้จำพวกอื่น ๆ ไม่ว่าชนิดไรๆ คนพาลนั้นนั่นแล ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกเกิด แก่ ตายในที่มืด

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกเกิด แก่ ตายในน้ำ คือ ปลา เต่า จระเข้ หรือแม้จำพวกอื่นๆ ไม่ว่าชนิดไรๆ คนพาลนั้นแล เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกที่ เกิด แก่ ตายในน้ำ

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกเกิด แก่ ตายในของโสโครก คือ เกิด แก่ ตายในปลาเน่าก็มี ในศพเน่าก็มี ในขนมกุมมาสเน่าก็มี ในน้ำครำก็มี ในหลุมโสโครกก็มี หรือแม้จำพวกอื่น ๆ ไม่ว่าชนิดไรๆ คนพาลนั้นแล เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าพึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกเกิด แก่ ตายในของโสโครก ”

พาลปัณฑิตสูตร


🔅 คนพาลเกิดเป็นมนุษย์ได้ยาก
ปัญหา ได้ทราบว่า คนเกิดมาเป็นมนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่ได้โดยง่าย ยิ่งเป็นคนพาลสันดานชั่วด้วยแล้ว ยิ่งมีโอกาสเกิดเป็นมนุษย์อีกน้อย ในเรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษโยนทุ่นมีบ่วงตาเดียวไปในมหาสมุทร ทุนนั้นถูกลมตะวันออกพัดไปทางทิศตะวันตก ถูกลมตะวันตกพัดไปทางทิศตะวันออก ถูกลมเหนือพัดไปทางทิศใต้ ถูกลมใต้พัดไปทางทิศเหนือ มีเต่าตาบอดอยู่ในมหาสมุทรนั้น ล่วงไปร้อยปีจึงจะผุดขึ้นครั้งหนึ่ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? เต่าตาบอดตัวนั้น จะพึงเอาคอสวมเข้าที่ทุ่นมีบ่วงตาเดียวโน้นได้บ้างไหมหนอ ?

“ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้เลยพระพุทธเจ้าข้า ถ้าจะเป็นไปได้ในบางครั้งบางคราว ก็โดยล่วงระยะกาลนานแน่นอน

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เต่าตาบอดตัวนั้นจะพึงเอาคอสวมเข้าที่ทุ่นมีบ่วงตาเดียวโน้นได้ ยังจะเร็วกว่า เรากล่าวความเป็นมนุษย์ที่คนพาลผู้ไปสู่วินิบาต คราวหนึ่งแล้วจะพึงได้ ยังยากกว่านี้ นั่นเพราะเหตุไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะในตัวคนพาลนี้ ไม่มีความประพฤติธรรม ความประพฤติสงบ การทำกุศล การทำบุญ มีแต่การกินกันเอง การเบียดเบียนคนอ่อนแอ......

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นแลถ้าจะมาสู่ความเป็นมนุษย์ในบางครั้งบางคราว ไม่ว่ากาลไหนๆ โดยล่วงระยะกาลนานย่อมเกิดในสกุลต่ำ คือ สกุลคนจัณฑาล หรือสกุลพรานเนื้อ หรือสกุลคนจักสาน หรือสกุลช่างรถ หรือสกุลคนเทขยะเห็นปานนั้นในบั้นปลาย.......”

พาลปัณฑิตสูตร

🔅 ทำดีไปนรก-ทำชั่วไปสวรรค์
ปัญหา บุคคลกระทำบาปด้วยกาย วาจา ใจ แล้วจะได้ไปเกิดในทุคติเสมอไปหรือ ? และบุคคลกระทำบุญด้วย กาย วาจา ใจ ตายแล้วจะเข้าถึงสุคติสมอไปหรือ ? ถ้าไม่ เพราะเหตุไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนอานนท์ เราไม่เห็นด้วยกับวาทะของสมณะ หรือพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ ท่านผู้เจริญเป็นอันว่า กรรมดีไม่มีวิบากของสุจริตไม่มี แต่วาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท สุราเมรัย มีความเห็นชอบในโลกนี้ และผู้นั้นตายไปแล้ว เข้าพึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ข้าพเจ้าก็เห็น นี้เราเห็นด้วย

“ส่วนวาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่าผู้ใดเว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบ ผู้นั้นทุกคนตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้เรายังไม่เห็นด้วย

“แม้วาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด นี้เราก็ยังไม่เห็นด้วย

“แม้วาทะของเขาที่พูดปักลงไป ถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง นั้นแหละ ในที่นั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่านี้เราก็ยังไม่เห็นด้วย......

“.....ดูก่อนอานนท์ บุคคลที่เว้นขาดจากปาณาติบาต อทินนาทาน ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้ ตายไปแล้ว เข้าถึงอุบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้เป็นเพราะว่า เขาทำกรรมชั่วที่ให้ผลเป็นทุกข์ไว้ในกาลก่อน ๆ หรือในกาลภายหลัง หรือว่าในเวลาจะตาย มีมิจฉาทิฐิพรั่งพร้อมสมาทานแล้ว เพราะฉะนั้น เขาตายไป จึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก......”

มหากัมมวิภังคสูตร

🔅 การตำหนิและการยกยอ
ปัญหา พระพุทธองค์ทรงแสดงหลักในการตำหนิ หรือให้การยกยอบุคคลอื่นไว้อย่างไรหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ “ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงรู้การยกยอและการตำหนิ ครั้นรู้แล้ว ไม่พึงยกยอ ไม่พึงตำหนิ พึงแสดงแต่ธรรมเท่านั้น นั่นเราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว?

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร เป็นการยกยอ เป็นการตำหนิ และไม่เป็นการแสดงธรรม? คือเมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใด กระทำการประกอบเนือง ๆ ซึ่งโสมนัส ของคนที่มีความสุขสืบเนื่องมาแต่กามอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด ดังนี้ชื่อว่าตำหนิชนพวกหนึ่ง

“เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใด ไม่กระทำการประกอบเนืองๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขสืบเนื่องมาแต่กามอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบดังนี้ ชื่อว่ายกยอคนพวกหนึ่ง

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลเป็นการยกยอ เป็นการตำหนิ และไม่เป็นการแสดงธรรม

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ไม่เป็นการยกยอ ไม่เป็นการตำหนิ เป็นการแสดงธรรมแท้? คือ ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดกระทำการประกอบเนือง ๆ ซึ่งโสมนัส...... ชนเหล่านั้นทั้งหมดมีทุกข์...... กล่าวอยู่ว่า อันความตามประกอบนี้แล เป็นธรรมมีทุกข์..... ดังนี้ เชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น

“ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดไม่กระทำการตามประกอบเนือง ๆ ซึ่งโสมนัส ของคนที่มีความสุขสืบเนื่องมาแต่กาม..... ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อนใจ เป็นผู้ปฏิบัติชอบ..... อย่างนี้แล ไม่เป็นการยกยอ ไม่เป็นการตำหนิ เป็นการแสดงธรรมแท้.....”

อรณวิภังคสูตร


🔅 นินทา-ว่าร้าย
ปัญหา ตามปกติ การนินทาลับหลังก็ดี การว่าร้ายต่อหน้าก็ดี ถือกันว่าเป็นสิ่งไม่ควรกระทำ พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำในเรื่องนี้ไว้อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่ถึงกล่าววาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในประการแรกนั้น พึงทราบว่า วาทะลับหลังใด ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าววาทะลับหลังนั้นเป็นอันขาด แม้ทราบว่าวาทะลับหลังใด จริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็พึงสำเนียกเพื่อจะไม่กล่าววาทะลับหลังนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาลเพื่อจะกล่าววาทะลับหลังนั้น

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในประการหลังนั้น พึงทราบว่า คำล่วงเกินต่อหน้าใด ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้นเป็นอันขาด แม้ทราบว่าคำล่วงเกินต่อหน้าใดจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึงสำเนียกเพื่อจะไม่กล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้นและทราบว่า คำล่วงกินต่อหน้าใดจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาล เพื่อจะกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น....”

อรณวิภังคสูตร

🔅 ไม่ควรพูดรีบร้อน
ปัญหา ในการพูด พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำเกี่ยวกับการพูดเร็วหรือช้าไว้อย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ “ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงเป็นผู้ไม่รีบด่วนพูด อย่าพูดรีบด่วนนั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในประการแรก นั้น เมื่อรีบด่วนพูด กายก็ลำบาก จิตก็แกว่ง เสียงก็พร่า คอก็เครือ แม้คำพูดของผู้ที่รีบด่วนพูด ก็ไม่สละสลวย ไม่พึงรู้ชัดได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายในประการหลังนั้น เมื่อไม่รีบด่วนพูด กายก็ไม่ลำบาก จิตก็ไม่แกว่ง เสียงก็ไม่พร่า คอก็ไม่เครือ แม้คำพูดของผู้ที่ไม่รีบด่วนพูด ก็สละสลวย พึงรู้ชัดได้.....”

อรณวิภังคสูตร

🔅 ภาษาท้องถิ่น
ปัญหา ภาษาท้องถิ่นย่อมแตกต่างกันไป ทั้งคำพูดและสำเนียง ก่อให้เกิดความลำบากในการประกาศพระศาสนา พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำให้พระสาวกปฏิบัติต่อภาษาท้องถิ่นอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงปรักปรำภาษาชนบท ไม่พึงล่วงเลยคำพูดสามัญเสียนั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลายก็อย่างไรเล่าเป็นการปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการล่วงเลยคำพูดสามัญ?

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภาชนะนั้นและในโลกนี้ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่าปาตี ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า ปัตตะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่าปิฏฐะในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า สระวะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า หโลสะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่า โปณะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า หนะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า ปิปิละ ภิกษุพูดปรักปรำ โดยประการที่ชนทั้งหลาย หมายรู้เรื่องภาชนะนั้นกันดังนี้ ในชนบทนั้นๆ โดยกำลังและความแน่ใจว่านี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า อย่างนี้แลชื่อว่าเป็นการปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการล่วงเลยคำพูดสามัญ.....”

อรณวิภังคสูตร

พระพุทธดำรัส (๔)

 🙏 พระพุทธดำรัส 🙏


🔅 คุณของการกินแต่น้อย
ปัญหา พระภิกษุในพระพุทธศาสนาได้รับอนุญาตให้บริโภคอาหารเพียงวันละ ๑ หรือ ๒ ครั้งเท่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงเป็นประโยชน์อย่างไร จึงทรงบัญญัติให้ภิกษุบริโภคอาหารน้อย?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว เมื่อเราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว ย่อมรู้สึกคุณคือ ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายจงมา จงฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวเถิด ด้วยว่าเมื่อเธอทั้งหลายฉันอาหาร ในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จักรู้สึกคุณคือ ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบามีกำลัง และอยู่สำราญ”

ภัททาลิสูตร

🔅 การฉันวันละ ๒ ครั้ง
ปัญหา มีภิกษุบางรูปฉันอาหารวันละ ๒ ครั้ง พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้ที่ไหน อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภัททาลิ ถ้าอย่างนั้น (ถ้าเธอฉันหนเดียวไม่ได้) เธอรับนิมนต์ ณ ที่ใดแล้ว พึงฉัน ณ ที่นั้นส่วนหนึ่ง แล้วนำส่วนหนึ่งมาฉันอีกก็ได้ เมื่อเธอฉันได้แม้อย่างนี้ ก็จักยังชีวิตให้เป็นไปได้”

ภัททาลิสูตร

🔅 ทำผิดแล้วยอมรับผิด
ปัญหา การกระทำความผิดแล้วยอมรับผิด ผู้กระทำความผิดจะได้รับอภัยโทษหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภัททาลิ เราขอเตือน โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความอุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อเรากำลังบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กำลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา แต่เพราะเธอไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรมเราจึงรับโทษของเธอนั้น ข้อที่บุคคลเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไปนี้ เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ”

ภัททาลิสูตร

🔅 เหตุให้พระธรรมวินัยเสื่อม
ปัญหา มีบางคนกล่าวว่า การมีกฎหมายหรือระเบียบกฎเกณฑ์ มาก ๆ นั้น แสดงว่าศีลธรรมของชุมนุมชนนั้นเสื่อมลง จริงหรือไม่ ? พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภัททาลิ ข้อนี้เป็นจริงอย่างนั้น เมื่อสัตว์ทั้งหลายกำลังเสื่อม พระสัทธรรมกำลังอันตรธาน สิกขาบทมีอยู่มากมาย แต่ภิกษุดำรงอยู่ในอรหัตตผลน้อยนัก พระศาสดายังไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย ตราบเท่าที่อาสวัฏฐานิยธรรม (ธรรมอันก่อให้เกิดอาสวะ) บางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ในธรรมวินัยนี้ ต่อเมื่อใดอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าปรากฏขึ้นในสงฆ์ในธรรมวินัยนี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น อาสวัฏฐานิยธรรมธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ในพระธรรมวินัยนี้ ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเห็นหมู่ใหญ่  อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ในพระธรรมวินัยนี้ ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ  ยังไม่ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ ยังไม่ถึงความเป็นพหูสูตร ยังไม่ถึงความเป็นรัตตัญญู (มีประสบการณ์มาก) ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นรัตตัญญู เมื่อนั้นอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าจึงปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ ครั้งนั้นพระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น ฯ ”

ภัททาลิสูตร 


🔅 คุณธรรมสำหรับพระสงฆ์
ปัญหา พระสังฆรัตนะพุทธศาสนิกชนควรถือเป็นสรณะที่พึ่งนั้นต้องประกอบด้วยคุณธรรมกี่ประการ ? อะไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภัททาลิ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรมเป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่าธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน? ดูก่อนภัททาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ อันเป็นของพระอเสขะ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ นี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ ”

ภัททาลิสูตร


🔅 พุทธทำนาย
ปัญหา ตามเรื่องในพระคัมภีร์ มีปรากฏอยู่เสมอว่า เมื่อภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรือ อุบาสิกา คนใดคนหนึ่งตายลง พระผู้มีพระภาคมักจะตรัสว่า เขาได้ไปเกิดใหม่ในภพนั้นๆ การที่พระพุทธองค์ทรงทำนายเช่นนี้ มีพระพุทธประสงค์อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนอนุรุทธะ ตถาคตย่อมพยากรณ์สาวกทั้งหลายผู้ทำกาละไปแล้ว ในภพที่เกิดทั้งหลายว่า สาวกชื่อโน้นเกิดแล้วในภพโน้นสาวกชื่อโน้นเกิดแล้วในภพโน้นดังนี้ เพื่อให้คนพิศวงก็หามิได้ เพื่อเกลี้ยกล่อมคนก็หามิได้ เพื่ออานิสงส์ คือลาภสักการะและความสรรเสริญก็หามิได้ ด้วยความประสงค์ว่าคนจงรู้จักเรานี้ก็หามิได้ ดูก่อนอนุรุทธะ กุลบุตรทั้งหลายผู้มีศรัทธา มีความยินดีมาก มีปราโมทย์มากมีอยู่ กุลบุตรเหล่านั้นได้ฟังคำพยากรณ์นั้นแล้ว จะน้อมจิตไปเพื่อความเป็นอย่างนั้นบ้าง ข้อนั้นย่อมมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่กุลบุตรเหล่านั้น สิ้นกาลนาน”

นฬกปานสูตร

🔅 ความหมายของสัพพัญญู
ปัญหา คำว่า “สัพพัญญู” ผู้รู้สิ่งทั้งปวง ซึ่งเป็นพระนามประการหนึ่งของพระพุทธเจ้านั้นหมายความว่า พระองค์ทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในสากลจักรวาลทั้งเวลาหลับและเวลาตื่น หรือหมายความแค่ไหนแน่?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนวัจฉะ ชนที่กล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมเป็นสัพพัญญู มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง ทรงปฏิญาณญาณทัสสนะไม่มีส่วนเหลือว่า เมื่อเราเดินไปก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับก็ดี ตื่นก็ดี ญาณทัสสนะปรากฏแล้วเสมอติดต่อกันไปดังนี้ ไม่เป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้วและชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำที่ไม่มี ไม่เป็นจริง “ดูก่อนวัจฉะ เมื่อบุคคลพยากรณ์ว่า พระสมณโคดมเป็นเตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา ๓ ) ดังนี้แล เป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว ชื่อว่าไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่เป็นจริง ชื่อว่าพยากรณ์ถูกสมควรแก่ธรรม

“ดูก่อนวัจฉะ ก็เราเพียงต้องการเท่านั้น ย่อมจะระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง..... ตลอดสังวัฎวิวัฎกัปเป็นอันมาก ในภพโน้นเรามีชื่อย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น... เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศด้วยประการฉะนี้

“ดูก่อนวัจฉะ ก็เราเพียงต้องการเท่านั้น ย่อมจะเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติกำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดีตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ซึ่งเป็นไปตามกรรมว่าสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียน พระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิฉาทิฐิ เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมทิฐิ..... เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์

“ดูก่อนวัจฉะ เมื่อบุคคลพยากรณ์ว่า พระสมณโคดมเป็นเตวิชชะ เป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว ชื่อว่าไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่เป็นจริง...”

จูฬวัจฉโคคตสูตร 


🔅 พระอรหันต์นิพพานแล้วไปไหน
ปัญหา คนธรรมดาตายแล้วย่อมเกิดในภพต่างๆ ตามกรรม ส่วนพระอรหันต์ผู้สิ้นกรรมแล้ว จะไปเกิดที่ไหน?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนวัจฉะ คำว่า จะเกิดดังนี้ไม่ควรเลย คำว่า ไม่เกิดดังนี้ก็ไม่ควร คำว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ดังนี้ก็ไม่ควร คำว่าเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ ดังนี้ก็ไม่ควร ธรรมนี้เป็นธรรมลุ่มลึก ยากที่จะเป็น ยากที่จะรู้ สงบระงับประณีตไม่ใช่ธรรมที่จะหลั่งถึงได้ด้วยความตรึกละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ ธรรมนั้นอันท่านผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น มีความพอใจเป็นอย่างอื่น มีความชอบใจเป็นอย่างอื่น มีความเพียรในทางอื่น อยู่ในสำนักของอาจารย์อื่น รู้ได้โดยยาก ดูก่อนวัจฉะ เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ถ้าไฟลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่านท่านจะพึงรู้หรือไม่ว่าไฟนี้ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรา”

วัจฉะ “ข้าพเจ้าพึงรู้ว่า ไฟนี้ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรา”

พุทธะ “ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่านนี้อาศัยอะไรจึงลุกเล่า ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร?

วัจฉะ “.ข้าพเจ้าถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรานี้ อาศัยเชื้อคือหญ้าและไม้จึงลุกอยู่”

พุทธะ “ถ้าไฟนั้นพึงดับไปต่อหน้าท่าน ท่านพึงรู้หรือว่า ไฟนี้จะดับไปต่อหน้าเราแล้ว?”

วัจฉะ “ข้าพเจ้าพึงรู้ว่าไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว”

พุทธะ “ไฟที่ดับไปต่อหน้าท่านแล้วนั้นไปยังทิศไหนจากทิศนี้ ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร?”

วัจฉะ “ข้อนั้นไม่สมควร เพราะไฟนั้นอาศัยเชื้อคือหญ้าและไม้จึงลุกแต่เพราะเชื้อนั้นสิ้นไป และเพราะไม่มีของอื่นเป็นเชื้อ ไฟนั้นจึงถึงความนับว่า ไม่มีเชื้อ ดับไปแล้ว”

พุทธะ “ ฉันนั้นเหมือนกัน วัจฉะ บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะรูปใด  เพราะเวทนาใด เพราะสัญญาใด เพราะสังขารใด เพราะวิญญาณใด รูป เวทนา  สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เห็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความมี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่ารูป เวทนา สัญญา  สังขาร วิญญาณ มีคุณอันลึกอันใคร ๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มีไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้”

อัคคิวัจฉโคตตสูตร

🔅 บุคคลผู้ที่ไม่เถียงกับใครๆ
ปัญหา คนเราที่ไม่รู้ความจริงแท้ ย่อมมีความเห็นแตกต่างกันและทะเลาะวิวาททุ่มเถียงกัน มีคนประเภทใดบ้างที่ไม่ทุ่มเถียงกับใครๆ?

พุทธดำรัสตอบ “อัคคิเวสสนะ เวทนา ๓ อย่างนี้คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ อัคคิเวสสนะ สมัยใดได้เสวยสุขเวทนาในสมัยนั้นไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น ในสมัยใดได้เสวยทุกขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่ทุกขเวทนาเท่านั้น ในสมัยใดได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ได้เสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาเท่านั้น

“อัคคิเวสสนะ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ไม่เที่ยงอันปัจจัยปรุงแต่งขึ้นอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คล้ายไปดับไปเป็นธรรมดา “อัคคิเวสสนะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายทั้งในสุขเวทนา ทั้งทุกขเวทนา ทั้งอทุกขมสุขเวทนา เมื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี อัคคิเวสสนะ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แล ย่อมไม่วิวาทแก่งแย่งกับใคร ๆ โวหารใดที่ชาวโลกพูดกันก็พูดไปตามโวหารนั้น แต่ไม่ยึดมั่นด้วยทิฐิ”

ทีฆมขสูตร


🔅 ทำไมพระสาวกจึงเคารพพระศาสดา
ปัญหา เพราะเหตุไร บรรดาพระสาวกของพระพุทธเจ้า จึงมีความเคารพยำเกรงในพระพุทธองค์อย่างสูง นับว่าขณะที่พระองค์กำลังทรงแสดงธรรม ภิกษุแม้รูปเดียวจะไอหรือจามก็ไม่กล้า ?

พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราแล้ว พึ่งเราอยู่ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงเป็นผู้มีอาหารน้อย และทรงสรรเสริญความเป็นผู้มีอาหารน้อย อุทายี แต่สาวกทั้งหลายของเรามีอาหารเพียงเท่าโกสะ (จุในผลกระเบา) หนึ่งก็มี เพียงกึ่งโกสะก็มี เพียงเท่าเวลุวะ (จุในผลมะตูม) หนึ่งก็มี เพียงกึ่งเวลุวะก็มี ส่วนเราและ บางครั้งบริโภคอาหารเสมอขอบปากบาตรนี้ก็มี ยิ่งกว่าก็มี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะเคารพ เรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงมีอาหารน้อย บรรดาสาวกของเราผู้มีอาหารเพียงเท่าโกสะหนึ่งบ้าง เพียงกึ่งเวลุวะบ้าง ก็จะไม่เคารพสักการะเรา

“ ดูก่อนอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงเคารพ สักการะเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ อุทายี แต่สาวกทั้งหลาย ของเราเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุล ทรงจีวรเศร้าหมอง เธอเหล่านั้นเลือกเก็บเอาผ้าเก่าแต่ป่าช้าบ้าง แต่กองหยากเยื่อบ้าง แต่ที่เขาทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ บ้าง มาทำเป็นสังฆาฎิ ส่วนเราแล บางคราวก็ใช้คหบดีจีวรที่เนื้อแน่น ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะเคารพเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ บรรดาสาวกของเราที่ทรงผ้าบังสุกุลก็จะไม่เคารพสักการะเรา

“ ดูก่อนอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงเคารพ สักการะเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ แต่สาวกทั้งหลาย ของเราเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร คือเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร เธอเหล่านั้น เมื่อเข้าไปถึงละแวกบ้านแล้ว ถึงใครจะนิมนต์ด้วยอาสนะก็ไม่ยินดีมีอยู่ ส่วนเราแล บางครั้งก็ฉันในที่นิมนต์ แต่ล้วนเป็นข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่เขาเก็บเมล็ดดำออกแล้ว มีแกงกับหลายอย่าง ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะเคารพเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ บรรดาสาวกของเราที่ถือบิณฑบาตเป็นวัตรก็จะไม่เคารพสักการะเรา

“ ดูก่อนอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงเคารพ สักการะเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ แต่สาวกทั้งหลาย ของเราเป็นผู้ถืออยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร ถืออยู่กลางแจ้งเป็นวัตร เธอเหล่านั้น ไม่เข้าสู่ที่มุงตลอดแปดเดือนมีอยู่ ส่วนเราแล บางครั้งอยู่ในเรือนยอดที่ฉาบทาทั้งข้างในข้างนอก ลมเข้าไม่ได้ มีลิ่มชิดสนิท มีหน้าต่างเปิดปิดได้ ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะเคารพเรา เพราะเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ บรรดาสาวกของเราที่ถือโคนต้นไม้เป็นวัตรก็จะไม่เคารพสักการะเรา

“ ดูก่อนอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงเคารพ สักการะเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นผู้สงัดและทรงสรรเสริญความเป็นผู้สงัด แต่สาวกทั้งหลาย ของเราเป็นผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือเสนาสนะอันสงัด ถือป่าชัฏอยู่ เธอเหล่านั้นย่อมมาประชุมในท่ามกลางสงฆ์ เฉพาะเวลาสวดปฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือนมีอยู่ ส่วนเราแล บางครั้งก็อยู่เกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะเคารพเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นผู้สงัดและทรงสรรเสริญความเป็นผู้สงัด บรรดาสาวกของเราที่ถืออยู่ป่าเป็นวัตรก็จะไม่เคารพสักการะเรา

“ ดูก่อนอุทายี มีธรรม ๕ ประการอย่างอื่นอันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะเคารพเรา ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน?

“ ดูก่อนอุทายี สาวกทั้งหลายของเราในธรรมวินัยนี้ ย่อมสรรเสริญในพระอธิศีลว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มีศีล ประกอบด้วยศีลขันธ์อย่างยิ่ง

“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง สาวกทั้งหลายของเรา ย่อมสรรเสริญในเพราะความรู้ความเห็นที่แท้จริงว่า พระสมณโคดมเมื่อทรงรู้เองก็ตรัสว่ารู้ เมื่อทรงเห็นเองก็ตรัสว่าเห็น ทรงแสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง มิใช่ทรงแสดงธรรมเพื่อความไม่รู้ยิ่ง ทรงแสดงธรรมมีเหตุ มิใช่ทรงแสดงไม่มีเหตุ ทรงแสดงธรรมมีความอัศจรรย์ มิใช่ทรงแสดงไม่มีความอัศจรรย์ สาวกทั้งหลายของเรา

“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง สาวกทั้งหลายของเรา
ย่อมสรรเสริญในพระปัญญาอันยิ่งว่า พระสมณโคดมทรงมีพระปัญญา ทรงประกอบด้วยปัญญาขันธ์อย่างยิ่ง 

“ ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง สาวกทั้งหลายของเราผู้อันทุกข์ท่วมทับแล้ว อันทุกข์ครอบงำแล้ว เพราะทุกข์ใด เธอเหล่านั้นเข้ามาหาเราแล้ว ถามถึงทุกขอริยสัจ เราอันเธอเหล่านั้น ถามถึงทุกขอริยสัจแล้วก็พยากรณ์ให้ยังจิตของเธอเหล่านั้นให้ยินดี ด้วยการพยากรณ์ปัญหา เธอเหล่านั้นเข้ามาหาเรา แล้วถามถึงทุกขอริยสัจ ถามถึงทุกขสมุทัยอริยสัจ ถามถึงทุกขนิโรธอริยสัจ ถามถึงทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราอันเธอเหล่านั้นถามถึงก็พยากรณ์ให้ยังจิตของเธอเหล่านั้นให้ยินดี ด้วยการพยากรณ์ปัญหา

“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้วสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญสติปัฏฐาน ๔, สัมมัปปธาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗, อริยมรรคมีองค์ ๘, วิโมกข์ ๘, อภิภายตนะ ๘, กสิณายตนะ ๑๐, ณาน ๔

“ ดูก่อนอุทายี ธรรมห้าประการนี้แล เป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้วพึ่งเราอยู่”

มหาสกุลุทายิสูตร