วันพุธ

พระพุทธดำรัส (๘)

 🙏 พระพุทธดำรัส 🙏



🔅 รักตนให้ถูกทาง
ปัญหา คนทุกคนย่อมรักตนยิ่งกว่าคนอื่นสิ่งอื่น แต่ส่วนมากรักตนแล้วไม่รู้ว่าจะปฏิบัติต่อตนอย่างไร พระผู้มีพระภาคทรงแนะวิธีปฏิบัติอย่างไรในเรื่องนี้?

พุทธดำรัสตอบ “.....ถูกแล้วๆ มหาบพิตร เพราะว่าชนบางพวกย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนเหล่านั้นไม่ชื่อว่ารักตน ถึงแม้พวกเขาจะกล่าวอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายมีความรักตน ถึงเช่นนั้นพวกเขาก็ชื่อว่าไม่มีความรักตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ไม่รักใคร่กันย่อมทำความเสียหายให้แก่ผู้ไม่รักใคร่กันได้โดยประการใด พวกเขาเหล่านั้นย่อมทำความเสียหายแก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น พวกเขาเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักตน

“ส่วนว่าชนบางพวกย่อมประพฤติสุจริต ด้วยกาย วาจา ใจ พวกเหล่านั้นชื่อว่ารักตน ถึงแม้พวกเขาจะกล่าวอย่างนี้วา เราไม่รักตน ถึงเช่นนั้นพวกเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักตน ข้อนั้นเป็นเหตุอะไร ก็เพราะเหตุว่าชนผู้ที่รักใคร่กันย่อมทำความดีความเจริญให้แก่ชนผู้ที่รักใคร่กันได้โดยประการใด พวกเหล่านั้นย่อมทำความดีความเจริญแก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น ฉะนั้นพวกเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักตน”

ปิยสูตร


🔅 วิธีล่วงรู้คุณสมบัติผู้อื่น 
ปัญหา จะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้ใดมีศีล มีกำลังใจ หรือมีปัญญาหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนมหาบพิตร ศีลถึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน ก็ศีลนั้นจะพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้ “ดูก่อนมหาบพิตร กำลังใจพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย ก็กำลังใจนั้น จะพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้ “ดูก่อนมหาบพิตร ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา ก็ปัญญานั้น จะพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้ “คนผู้เกิดมาดี ไม่ควรไว้วางใจ เพราะผิวพรรณและรูปร่างไม่ควรไว้วางใจ เพราะการเห็นกันชั่วครู่เดียว เพราะว่านักบวชผู้ไม่สำรวมทั้งหลาย ย่อมเที่ยวไปในโลกนี้ ด้วยเครื่องบริขารของเหล่านักบวชผู้สำรวมดีแล้ว ประดุจกุณฑลดินและมาสกโลหะ หุ้มด้วยทองคำปลอมไว้ คนทั้งหลายไม่บริสุทธิ์ในภายใน งามแต่ภายนอก แวดล้อมด้วยบริวาร ท่องเที่ยงอยู่ในโลก”

ชฏิลสูตร


🔅 ยาอายุวัฒนะ
ปัญหา จะมีวิธีบริหารกายอย่างไร จึงจะทำให้อายุยืน?

พุทธดำรัสตอบ “มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้มา ย่อมมีเวทนาเบาบาง เขาย่อมแก่ช้า ครองอายุได้ยืนนาน”

โทณปากสูตร



🔅 อย่าดูหมิ่นสตรี 
ปัญหา เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่ง ขณะที่พระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังประทับนั่งเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ ราชบุรุษได้เข้ามาทูลว่า พระราชินีประสูติพระราชธิดาออกมา พระราชาทรงผิดหวังมาก เพราะพระองค์ต้องการโอรส เช่นเดียวกับชาวอินเดียทั้งหลาย ที่อยากได้บุตรชายมากว่าบุตรหญิง?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนมหาบพิตร ผู้เป็นใหญ่ยิ่งกว่าปวงชน แท้จริงแม้สตรีบางคนก็เป็นผู้ประเสริฐ พระองค์จงชุบเลี้ยงไว้ สตรีที่มีปัญญา มีศีลปฏิบัติพ่อผัว แม่ผัวดังเทวดา จงรักสามี ฯ “บุรุษที่เกิดจากสตรีนั้น ย่อมเป็นคนแกล้วกล้า เป็นเจ้าแห่งทิศได้บุตรของภริยาที่ดีเช่นนั้น แม้ราชสมบัติก็ครอบครองได้”

ธีตุสูตร

🔅 ประหยัดให้ถูกทาง
ปัญหา พระพุทธองค์ทรงส่งเสริมการประหยัดทรัพย์ แต่จะประหยัดอย่างไรจึงจะเป็นการถูกต้อง ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนมหาบพิตร อสัตบุรุษได้โภคะอันโอฬารแล้วไม่ยังตนให้ได้รับความสุข ให้ได้รับความอิ่มหนำเลย ไม่ยังมารดาบิดาให้ได้รับความสุข..... ความอิ่มหนำ ไม่ยังบุตรและภริยาให้ได้รับความสุข..... ความอิ่มหนำ ไม่ยังมิตรและอำมาตย์ให้ได้รับความสุข..... ความอิ่มหนำ ไม่ยังทาสกรรมกรให้ได้รับความสุข..... ความอิ่มหนำ ไม่ยังทักษิณา อันมีผลในเบื้องบน มีอารมณ์ดี มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ ให้ตั้งอยู่ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย โภคะเหล่านั้นของเขา ที่มิได้ใช้สอยโดยชอบอย่างนี้พระราชาทั้งหลายย่อมนำไปบ้าง โจรทั้งหลายย่อมนำไปบ้าง ไฟย่อมไหม้เสียบ้าง น้ำย่อมพัดไปเสียบ้าง ทายาททั้งหลายผู้ไม่เป็นที่รักย่อมนำไปบ้างฯ

“ดูก่อนมหาบพิตร เมื่อเป็นเช่นนี้ โภคะที่มิได้ใช้สอยโดยชอบของเขาเหล่านั้น ย่อมถึงความหมดสิ้นไป โดยมิได้รับการบริโภค

ปฐมาปุตตกสูตร


🔅 ทานที่มีผลมาก
ปัญหา ควรให้ทานแก่บุคคลเช่นไร จึงจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนมหาบพิตร แม้หากว่า กุลบุตรออกจากเรือนตระกูลไรๆ เป็นผู้บวชหาเรือนมิได้ และกุลบุตรนั้น เป็นผู้มีองค์ ๕ อันละได้แล้วเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ทานที่ให้แล้วในกุลบุตรนั้น ย่อมเป็นทานมีผลมากองค์ ๕ อันกุลบุตรนั้นละได้แล้วเป็นไฉน กามฉันทะอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว พยาบาทอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว ถีนมิทธะอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว อุทธัจจกุกกุจจะอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว วิจิกิจฉาอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว องค์ ๕ เหล่านี้อันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว”

“กุลบุตรนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นไฉน กุลบุตรนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ เป็นผู้ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นของพระอเสขะเป็นผู้ประกอบด้วยวิมุติขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ เป็นผู้ประกอบด้วยวิมุติญาณทัสสนะขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ กุลบุตรนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ ทานที่ให้แล้วในกุลบุตรผู้มีองค์ ๕ อันละได้แล้ว ผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ดังนี้ ย่อมมีผลมาก...”

“ศิลปะการยิงแม่น กำลังเข้มแข็ง และความกล้าหาญมีอยู่ในชายหนุ่มใด พระราชาผู้มีพระประสงค์ด้วยการยุทธ์ พึงทรงชุบเลี้ยงชายหนุ่มเช่นนั้น ไม่พึงทรงชุบเลี้ยงชายหนุ่มผู้ไม่กล้าหาญ เพราะเหตุแห่งชาติฉันใด ธรรมคือขันติและโสรัจจะตั้งอยู่แล้วในบุคคลใด บุคคลพึงบูชาบุคคลนั้น ผู้มีปัญญา มีความประพฤติเยี่ยงพระอริยะ แม้มีชาติทรามฉันนั้นเหมือนกัน”

พึงสร้างอาศรมอันเป็นที่รื่นรมย์ ยังผู้พหูสูตร ทั้งหลายให้พำนักอยู่ ณ ที่นั้น พึงสร้างบ่อน้ำไว้ในป่าที่กันดารน้ำ และสะพานในที่เป็นหล่ม พึงถวายข้าวน้ำ ของเคี้ยว ผ้า และเสนาสนะในท่านผู้ซื่อตรงทั้งหลาย ด้วยน้ำใจอันผ่องใส เมฆมีสายฟ้าแลบแปลบปลาบ มียอดตั้งร้อย กระหึ่มอยู่ยังแผ่นดินให้ชุ่มโชกแล้ว ย่อมยังที่ดอนและที่ลุ่มให้เต็มฉันใด ทายกผู้มีศรัทธาเป็นบัณฑิตได้ฟังแล้ว ย่อมจัดหาโภชนาหารมาเลี้ยงวณิพก ด้วยข้าวน้ำให้อิ่มหนำ... ธารแห่งบุญอันไพบูลย์นั้น ย่อมยังทายกผู้ให้ ให้ชุ่มชื่น”

อิสสัตถสูตร


🔅 ใครเป็นผู้สร้าง
ปัญหา (มารเป็นผู้ถาม) รูปนี้ใครเป็นผู้สร้าง ผู้สร้างรูปอยู่ที่ไหน รูปบังเกิดในที่ไหน รูปดับไปในที่ไหน?

เสลาภิกษุณีตอบ “รูปนี้ไม่มีใครสร้าง อัตตภาพนี้ไม่มีใครก่อ รูปเกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุ ดับไปเพราะเหตุดับ

“พืชชนิดใดที่บุคคลหว่านลงในนา ย่อมงอกขึ้นเพราะอาศัยเหตุ ๒ ประการ คือ รสในแผ่นดิน และยางในพืช ฉันใด ขันธ์ ธาตุ และอายตนะ ๖ เหล่านี้ ก็เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุ ดับไปเพราะเหตุดับฉันนั้น”

เสลาสูตร


🔅 ทุกข์ทั้งนั้น
ปัญหา (มารเป็นผู้ถาม) สัตว์นี้ใครเป็นผู้สร้าง ผู้สร้างสัตว์อยู่ที่ไหน สัตว์บังเกิดในที่ไหน สัตว์ดับไปในที่ไหน?

วชิราภิกษุณีตอบ “ดูก่อนมาร เพราะเหตุไรหนอ ความเห็นของท่านจึงหวนกลับมาว่าสัตว์ ในกองสังขารล้วนนี้ ย่อมไม่ได้นามว่าสัตว์ เหมือนอย่างว่าเพราะคุมส่วนทั้งหลายเข้า เสียงว่ารถย่อมมีฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่ การสมมติว่าสัตว์ย่อมมีฉันนั้น ความจริงทุกข์เท่านั้นย่อมเกิด ทุกข์ย่อมตั้งอยู่ และเสื่อมสิ้นไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ”

วชิราสูตร

🔅 อายุของพรหม
ปัญหา ตามศาสนาฮินดู พรหมเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้สร้างสิ่งทั้งปวง มีอยู่ชั่วนิรันดร พระผู้มีพระภาคทรงเห็นอย่างไรในเรื่องนี้ ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนพะกะพรหม ท่านสำคัญอายุใดว่ายาว ก็อายุนั้นสั้น ไม่ยาวเลย ดูก่อนพรหม เรารู้อายุหนึ่งแสนนิรัพพุท (คือเลข ๑ ตามด้วยเลขศูนย์ ๖๘ ตัว) ของท่านได้ดี”

พกสูตร


🔅 พระพุทธเจ้าทรงเคารพอะไร
ปัญหา พระพุทธเจ้าจัดว่าเป้นพระบรมศาสดาของโลก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ทรงเคารพใคร? หรือว่าไม่ทรงเคารพใครเลย ?

พุทธดำรัสตอบ “.... บุคคลผู้ไม่มีที่เคารพ ที่ยำเกรง ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เราจะพึงสักการะเคารพอาศัยสมณะ หรือพราหมณ์ใครผู้ใดอยู่หนอ ?

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริว่า “เราควรสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์อื่นแล้วอาศัยอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งศีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่ว่า เรายังไม่เห็นสมณหรือพราหมณ์อื่นที่ถึงพร้อมด้วยศีลยิ่งกว่าตนในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ซึ่งเราควรสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่

“เราควรสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์อื่นแล้วอาศัยอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งสมาธิที่ยังไม่บริบูรณ์.... เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์.... เพื่อความบริบูรณ์แห่งวิมุติขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์.... เพื่อความบริบูรณ์ แห่งวิมุติญาณทัสสนะขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่ว่าเรายังไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่น ที่ถึงพร้อมด้วยสมาธิ.... ที่ถึงพร้อมด้วยปัญญา.... ที่ถึงพร้อมด้วยวิมุติ..... ที่ถึงพร้อมด้วยวิมุติญาณทัสสนะยิ่งกว่าตนในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ซึ่งเราควรสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่

“อย่างกระนั้นเลย เราควรสักการะเคารพธรรมที่เราตรัสรู้นั่นแหละ แล้วอาศัยอยู่”

คารวสูตร


🔅 กระบวนการปรินิพพาน
ปัญหา ในขณะที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงลำดับการปฏิบัติทางจิตส่วนพระองค์อย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ “ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตตุถฌาน ออกจากจตุตถฌาน ทรงเข้าอากาสานัญจายตนฌาน.... ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน..... ทรงเข้าอากิญจัญญายตนฌาน....ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน....ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ.... ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน..... ทรงเข้าอากาสานัญจายตนฌาน.... ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน..... ทรงเข้าอากาสานัญจายตนฌาน.... ทรงเข้าจตตุถฌาน ทรงเข้าตติยฌาน..... ทรงเข้าปฐมฌาน..... ทรงออกปฐมฌาน.... แล้วทรงเข้าทุติฌาน.... ทรงเข้าตติยฌาน.... ทรงเข้าจตตุถฌาน พระผู้มีพระภาคออกจากจตตุถฌาน แล้ว เสด็จปรินิพพานในลำดับนั้น”

ปรินิพพานสูตร


🔅 ฆ่าได้แล้วเป็นสุข
ปัญหา (พราหมณ์ภารทวาชโคตรทูลถาม) บุคคลฆ่าอะไรได้ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าอะไรได้ย่อมไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ย่อมชอบใจการฆ่า ธรรมอะไร เป็นธรรมอันเอก?

พุทธดำรัสตอบ “ บุคคลฆ่าความโกรธได้ ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าความโกรธได้ย่อมไม่เศร้าโศก ดูก่อนพราหมณ์ พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญการฆ่าความโกรธอันมีมูลเป็นพิษ มีปลายหวาน เพราะว่าบุคคลฆ่าความโกรธนั้นได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก”

ธนัญชานีสูตร


🔅 เมื่อถูกด่าควรทำอย่างไร
ปัญหา เมื่อเราถูกโกรธก็ดี ถูกด่าก็ดี เราควรทำอย่างไร ควรจะโกรธตอบ ด่าตอบ หรือควรจะเฉยเสีย?

พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนพราหมณ์..... ท่านด่าเราผู้ไม่ด่าอยู่ ท่านโกรธเราผู้ไม่โกรธอยู่ ท่านหมายมั่นเราผู้ไม่หมายมั่นอยู่ เราไม่รับรู้เรื่องมีการด่าเป็นต้นของท่านนั้น ดูก่อนพราหมณ์ เรื่องมีการด่าของท่านผู้เดียว ดูก่อนพราหมณ์.... ผู้ใดด่าตอบบุคคลผู้ด่าอยู่ โกรธตอบบุคคลผู้โกรธอยู่ หมายมั่นตอบบุคคลผู้หมายมั่นอยู่.... ผู้นี้ เรากล่าวว่า ย่อมบริโภคร่วมกัน ย่อมกระทำตอบกัน เรานั้นไม่บริโภคร่วม ไม่กระทำตอบด้วยท่านเป็นอันขาด ดูก่อนพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้น เป็นของท่านผู้เดียว”

อักโกสกสูตร


🔅 ผู้ชนะที่แท้จริง
ปัญหา อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ ได้ทราบว่าพราหมณ์ผู้ร่วมนามสกุลภารทวาชหลายคน ได้จากเรือนไปบวชในสำนักของพระพุทธเจ้าก็โกรธ จึงตรงไปด่าบริภาษพระผู้มีพระภาคถึงพระเวฬุวัน แต่พระผู้มีพระภาคทรงนิ่งเสีย ไม่ได้โต้ตอบ ฝ่ายพราหมณ์เมื่อเป็นพระผู้มีพระภาคทรงนิ่ง ก็ดีใจประกาศว่าเราชนะท่านแล้ว เราชนะท่านแล้ว?


พุทธดำรัสตอบ “ชนพาลกล่าวคำหยาบด้วยวาจา ย่อมสำคัญว่าชนะทีเดียว แต่ความอดกลั้นได้ เป็นความชนะของบัณฑิตผู้รู้แจ้งอยู่ ผู้ใดโกรธ ตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็นผู้ลามกกว่าบุคคลผู้โกรธแล้ว เพราะการโกรธตอบนั้น บุคคลไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ย่อมชื่อว่าชนะสงครามอันบุคคลชนะได้โดยยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติ สงบอยู่ได้ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ แก่ตนและแก่ผู้อื่น เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือของตนและของผู้อื่น ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่า เป็นคนเขลา ดังนี้”

อสุรินทกสูตร


🔅 ชาติไม่สำคัญ
ปัญหา สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ บูชาไฟที่ฝั่งแม่น้ำสุนทริกาแล้ว นำข้าวปายาสที่เหลือจากการบูชาไฟ มุ่งจะให้เป็นทานแก่คนบางคน เขาเหลือบไปเห็นพระพุทธองค์ นั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่งจึงเข้าไปเฝ้า แล้วทูลถามถึงชาติของพระองค์ว่าเป็นชาติอะไร?

พุทธดำรัสตอบ “ ท่านอย่าถามถึงชาติ แต่จงถามถึงความประพฤติเถิดไฟย่อมเกิดจากไม้แล บุคคลแม้เกิดในตระกูลต่ำ เป็นมุนี มีความเพียร เป็นผู้รู้ทั่วถึงเหตุ ห้ามโทษเสียด้วยหิริ ฝึกตนแล้วด้วยสัจจะ ประกอบด้วยการปราบปราม พึงที่สุดแห่งเวทนา มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว ผู้ใดมียัญอันน้อมเข้าไปแล้วบูชาพราหมณ์ผู้นั้น ผู้นั้นย่อมชื่อว่าบูชาพระทักขิเณยยบุคคลโดยกาล”

สุนทริกสูตร


🔅 การบูชายัญอันประเสริฐ
ปัญหา พราหมณ์ในสมัยพุทธกาลนิยมบูชายัญด้วยการเผาไม้หอม อาหาร เสื้อผ้า ขนม เนย แม้กระทั่งสัตว์ในกองไฟพิธี ถือว่าได้บุญมาก พระผู้มีพระภาคทรงมีทรรศนะในเรื่องนี้อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนพราหมณ์ ท่านเผาไม้อยู่ อย่างคาดหมายว่าจะบริสุทธิ์ ก็การเผาไม้นี้เป็นของภายนอก ผู้ฉลาดทั้งหลายย่อมกล่าวความบริสุทธิ์ด้วยการเผาไม้นั้น

“ ดูก่อนพราหมณ์ เราละการเผาไม้ ซึ่งบุคคลพึงปรารถนาความบริสุทธิ์ ด้วยการเผาไม้อันเป็นของภายนอก แล้วยังไฟคือญาณให้โพลงภายในตนทีเดียว เราเป็นพระอรหันต์ มีไฟอันโพลงแล้วเป็นนิตย์ มีจิตตั้งไว้ชอบแล้วเป็นนิตย์ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่

“ ดูก่อนพราหมณ์ มานะแลเป็นดุจภาระคือหาบของท่าน ความโกรธเป็นดุจควัน มุสาวาทเป็นดุจเถ้า ลิ้นเป็นดุจภาชนะเครื่องบูชา หทัยเป็นที่ตั้งกองกูณฑ์ ตนที่ฝึกดีแล้วเป็นความรุ่งเรืองของบุรุษ

“ ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลผู้ถึงเวททั้งหลายนั่นแล อาบในห้วงน้ำคือธรรมของบุรุษทั้งหลาย มีท่าคือศีลไม่ขุ่นมัว อันบัณฑิตทั้งหลายสรรเสริญแล้วมีตัวไม่เปียกแล้ว ย่อมข้ามถึงฝั่ง....”

สุนทริกสูตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น