แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หมวดที่ ๑๐ วิปัสสนากรรมฐาน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หมวดที่ ๑๐ วิปัสสนากรรมฐาน แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์

๑. สติปัฏฐาน

สติปัฏฐาน หมายความว่า อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งสติ เรียกว่าสติปัฏฐาน เช่น กายเป็นที่ตั้งของสติ และสตินั้นก็เป็นที่ตั้งได้ด้วยและเป็นตัวสติด้วย คำว่า สติ คือการระลึกได้ ฉะนั้น สติปัฏฐานจึงมุ่งหมายถึง สติที่มีการระลึกได้ใน กาย เวทนา จิต ธรรม

เหตุที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ อย่าง ก็เพราะทรงเกื้อกูลแก่เวไนยสัตว์ที่มีจริตต่างกัน คือ

๑. ตัณหาจริตอย่างอ่อน มีกายานุปัสนาสติปัฏฐาน ซึ่งมีอารมณ์ที่หยาบจะเป็นหนทางแห่งการปฏิบัติแล้วเกิดผลได้ และในการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในหมวดที่มีนิมิตเกิดขึ้นได้ไม่ยากนักก็เหมาะสมกับพวกสมถยานิกะประเภทยังอ่อน (พวกที่ปฏิบัติสมถะ)

๒. ตัณหาจริตอย่างกล้า มีเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ละเอียดจะเป็นหนทางแห่งการปฏิบัติแล้วเกิดผลได้ และเหมาะสมกับพวกสมถยานิกะประเภทแก่กล้า

๓. ทิฏฐิจริตอย่างอ่อน มีจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งมีอารมณ์ละเอียดแต่ก็แยกรายละเอียดออกไปไม่มากนัก จะเป็นหนทางแห่งการปฏิบัติแล้วเกิดผลได้ และเหมาะสมกับผู้ที่เป็นวิปัสสนายานิกบุคคลประเภทยังอ่อน

๔. ทิฏฐิจริตแก่กล้า มีธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งมีอารมณ์อันละเอียดลึกซึ้งแยกประเภทออกไปมาก จะเป็นหนทางแห่งการปฏิบัติแล้วเกิดผลได้ และเหมาะสมกับผู้ที่เป็นวิปัสสนายานิกบุคคลประเภทแก่กล้า

สติปัฏฐาน ๔ เป็นข้อปฏิบัติเพื่อละสุภวิปัลลาส สุขวิปัลลาส นิจจวิปัลลาส และอัตตวิปัลลาส เป็นทางสายเอกที่จะนำเหล่าเวไนยสัตว์ให้เข้าถึงความบริสุทธิ์ ข้ามพ้นโสกะปริเทวะ ดับทุกข์ โทมนัส บรรลุเญยยธรรม แจ่มแจ้งในพระนิพพาน


ข้อเปรียบเทียบพระนิพพานเหมือนพระนคร
โลกุตตรมรรคประ
กอบด้วยองค์ ๘ เหมือนประตูพระนคร
ผู้ปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔ ต้อง
ปฏิบัติด้วยการระลึก เช่น การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยวิธี ๑๔อย่างแล้ว (มีอานาปานบรรพ อิริยาบถบรรพ เป็นต้น) ก็จะไปรวมลงสู่ที่เดียวกัน คือ พระนิพพานนั่นเอง ด้วยอริยมรรคที่เกิดขึ้นด้วยอานุภาพของกายานุปัสสนา เหมือนคนทั้งหลายเดินทางมาจากทิศตะวันออกถือเอาสิ่งของที่มีในทิศตะวันออก ก็เข้าพระนครได้ ฉะนั้น

สติปัฏฐาน มี ๔ คือ
๑. 🔎กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หลักการใช้สติพิจารณากาย เป็นกรรมฐานที่ภิกษุในธรรมวินัย จะต้องเป็นผู้มีความเพียร มีสติ สัมปชัญญะ  พิจารณากายเป็นอารมณ์กรรมฐานจึงจะสามารถกำจัดอภิชฌา (คือ โลภะ ความยินดีพอใจ) และโทมนัส (คือ โทสะ ความไม่ยินดีไม่พอใจ) ที่เกิดเพราะกายเป็นเหตุได้

๒. 🔎เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หลักการใช้สติพิจารณาเวทนา เป็นกรรมฐานที่ภิกษุในธรรมวินัย จะต้องเป็นผู้มีความเพียร มีสติ สัมปชัญญะ พิจารณาเวทนาเป็นอารมณ์กรรมฐาน จึงจะสามารถกำจัดอภิชฌาและโทมนัสที่เกิดเพราะเวทนาเป็นเหตุได้


๓. 
🔎จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หลักการใช้สติพิจารณาจิต เป็นกรรมฐานที่ภิกษุในธรรมวินัย จะต้องเป็นผู้มีความเพียร มีสติ สัมปชัญญะพิจารณาจิตเป็นอารมณ์กรรมฐาน จึงจะสามารถกำจัดอภิชฌาและโทมนัสที่เกิดเพราะจิตเป็นเหตุได้

๔. 🔎ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หลักการใช้สติพิจารณาสภาวธรรมเป็นกรรมฐานที่ภิกษุในธรรมวินัย จะต้องเป็นผู้มีความเพียร มีสติ สัมปชัญญะ พิจารณาสภาวธรรมเป็นอารมณ์กรรมฐาน จึงจะสามารถกำจัดอภิชฌาและโทมนัสที่เกิดเพราะสภาวธรรมเป็นเหตุได้