แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หมวดที่ ๘ สมุจจยสังคหะ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หมวดที่ ๘ สมุจจยสังคหะ แสดงบทความทั้งหมด

วันเสาร์

๔. สัพพสังคหะ

ในสัพพสังคหะนี้พระอนุรุทธาจารย์ได้สงเคราะห์ปรมัตถธรรม ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน โดยความเป็น ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ เป็นการสงเคราะห์สภาวธรรมให้เข้าเป็นหมวดหมู่ สิ่งที่จะได้รับจากการศึกษาโดยการจัดสงเคราะห์เป็นหมวดหมู่ คือโดยสัพพสังคหะนี้ จะเป็นประโยชน์มากในด้านการศึกษา เพื่อให้เกิดความรู้ที่ถูกต้อง เป็นจริง มีแสดงไว้อย่างละเอียดโดยนัยต่างๆ ดังนี้


หมวดที่ ๑ ขันธ์ ๕

คำว่า ขันธ์ ใช้ในความหมายหลายอย่าง คือ ใช้ในความหมายว่า กอง หรือ ส่วน เช่น อุทกขันธ์ แปลว่า กองน้ำ พลขันธ์ แปลว่า กองพล บุญขันธ์ แปลว่า กองบุญ ศีลขันธ์ แปลว่า คุณคือศีล สมาธิขันธ์ แปลว่า คุณคือสมาธิ แต่ในที่นี้มุ่งในความหมายว่า “กอง”

ในสัพพสังคหะนี้ “ขันธ์”จึงมีความหมายว่า เป็นกลุ่ม เป็นกอง หมายถึงกลุ่ม กอง ของธรรมที่ต่างกันออกไป มี ๕ ประเภท ๑๑ อย่าง

ธรรมที่จัดโดยความเป็นขันธ์ได้ ต้องมี ลักษณะดังนี้
ประเภทที่ ๑ ธรรมใดที่เป็นทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ได้ รวมเป็น ๓ อย่าง
ประเภทที่ ๒ ธรรมใดที่เป็นทั้งภายใน ภายนอก ได้ รวมเป็น ๒ อย่าง
ประเภทที่ ๓ ธรรมใดที่มีความหยาบ ละเอียด ได้ รวมเป็น ๒ อย่าง
ประเภทที่ ๔ ธรรมใดที่มีความต่ำ ประณีต ได้ รวมเป็น ๒ อย่าง
ประเภทที่ ๕ ธรรมใดที่เป็นไปในที่ใกล้ ไกล ได้ รวมเป็น ๒ อย่าง

รวมทั้งหมดเป็น ๕ ประเภท ๑๑ อย่าง
ประเภทที่ ๑ ธรรมที่เป็น อดีต ปัจจุบัน อนาคต 
ธรรมที่ชื่อว่า ขันธ์ จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๓ ประการ คือ มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป กล่าวคือ ธรรมนั้นต้องมีสภาพเป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต นั่นเอง ธรรมที่มีสภาพ ๓ อย่างนี้ ก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูป

ประเภทที่ ๒ ธรรมที่เป็น ภายใน ภายนอก
ธรรมที่ชื่อว่า ขันธ์ คือ ธรรมที่ปรากฏภายในตนเองได้ และเป็นธรรมที่เกิดภายนอกตนได้ หมายถึง ธรรมที่เกิดในคนอื่นหรือสัตว์อื่น ที่ไม่ใช่ตัวเราก็จัดว่าเป็นธรรมที่เกิดภายนอก ธรรมที่มีสภาพ ๒ อย่างนี้ ก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูป

ประเภทที่ ๓ ธรรมที่ หยาบ ละเอียด
ธรรมที่ชื่อว่าขันธ์ คือ ธรรมที่มีส่วนที่เป็นธรรมหยาบ และละเอียดได้ เช่น วิญญาณขันธ์ หมายถึง จิตทั้งหมด ๘๙ ดวง จิตที่เป็นธรรมหยาบ ธรรมละเอียด เช่น
    อกุศลจิต หยาบกว่า กุศลจิต
    กุศลญาณวิปปยุตจิต 
หยาบกว่า กุศลญาณสัมปยุตจิต
    กามาวจรกุศลจิต หยาบกว่า รูปาวจรกุศลจิต
    รูปาวจรกุศลจิต หยาบ
กว่า อรูปกุศลจิต
    จิตที่มีทุกขเวทนา หยาบกว่า จิตที่มีสุขเวทนา
    จิตที่มีโทมนัสเวทนา หยาบกว่า จิตที่มีโสมนัส
เวทนา
    จิตในทุคติภูมิ หยาบกว่า จิตในสุขคติภูมิ
    จิตในกามภูมิ หยาบกว่า จิตในรูปภูมิ เป็นต้น

ส่วนรูปขันธ์ที่เป็น
ธรรมหยาบได้แก่ โอฬาริกรูป ๑๒ คือ ปสาทรูป ๕ วิสยรูป ๗ จัดเป็นรูปหยาบ ส่วนสุขุมรูป ๑๖ จัดเป็นรูปละเอียด เป็นต้น ธรรมที่มีสภาพ ๒ อย่างนี้ ก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูป

ประเภทที่ ๔ ธรรมที่ต่ำ ประณีต
ธรรมที่ชื่อว่าขันธ์ คือ ธรรมที่อยู่ในฐานต่ำทราม และธรรมอันประณีต เป็นไปในทำนองเดียวกับประเภทที่ ๓

ประเภทที่ ๕ ธรรมที่ใกล้ ไกล
ธรรมที่ชื่อว่าขันธ์ คือ ธรรมที่ปรากฏได้ทั้งใกล้และไกล ธรรมที่เป็นปัจจุบันจัดเป็นธรรมที่ใกล้ ธรรมที่เกิดในอนาคตจัดเป็นธรรมที่ไกล ธรรมที่มีสภาพ ๒ อย่างนี้ ก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูป

ธรรมที่สงเคราะห์ได้ทั้ง ๕ ประเภทนี้ คือ ธรรมทั้งปวง ได้แก่ จิต เจตสิก และรูป เท่านั้น ไม่รวมถึงพระนิพพาน เพราะพระนิพพานมีคุณสมบัติไม่ครบทั้ง ๕ ประเภท ๑๑ อย่าง กล่าวคือ

๑. พระนิพพาน ไม่มีประเภท แห่ง ปัจจุบัน อดีต อนาคต มีแต่กาลวิมุตติอย่างเดียว
๒. พระนิพพาน ที่เป็นธรรมภายในนั้นไม่มี เป็นธรรมภายนอกอย่างเดียว
๓. พระนิพพาน ที่เป็นธรรมหยาบไม่มี เป็นธรรมละเอียดอย่างเดียว
๔. พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่ต่ำทราม แต่เป็นธรรมที่ประณีตยิ่ง
๕. พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่ใกล้ แต่เป็นธรรมที่ไกล

ดังนั้น พระนิพพาน จึงพ้นจากความเป็นขันธ์ พระนิพพานจึงเรียกว่า ขันธวิมุตติ (และเป็นกาลวิมุตติด้วย) 

ขันธ์ ๕ คือ
๑. รูปขันธ์ หมายถึง กองรูป รูปมีทั้งหมด ๒๘ ดังนั้น รูปทั้ง ๒๘ เป็นรูปขันธ์
๒. เวทนาขันธ์ หมายถึง กองเวทนา เวทนา คือ เวทนาเจตสิกดวงเดียว เป็นเวทนาขันธ์
๓. สัญญาขันธ์ หมายถึง กองสัญญา สัญญา คือ สัญญาเจตสิกดวงเดียว เป็นสัญญาขันธ์
๔. สังขารขันธ์ หมายถึง กองสังขาร สังขาร คือ เจตสิกอีก ๕๐ ที่เหลือ เป็นสังขารขันธ์
๕. วิญญาณขันธ์ หมายถึง กองจิต วิญญาณ คือ จิตทั้งหมด ๘๙ เป็นวิญญาณขันธ์

กองแห่งขันธ์ทั้ง ๕ เกี่ยวข้องกันอย่างไร
๑. ขันธ์ทั้ง ๕ ถูกครอบงำด้วยทุกข์ 
ธรรมทั้งหลายที่ถูกทุกข์ต่างๆ ครอบงำอยู่ เป็นไปได้ด้วยความทุกข์ ธรรมนั้นชื่อว่า ขันธ์ ซึ่งก็หมายถึง ขันธ์ทั้ง ๕ นั่นเอง ขันธ์ ๕ ถูกครอบงำจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเกิด นั้นเป็นการนำมาซึ่งขบวนการเกิดทุกข์ทั้งหลายไม่จบไม่สิ้น เมื่อเกิดแล้วก็ได้รับทุกข์ภัยต่าง ๆ ในชาติกำเนิดของตน ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็ทุกข์แบบมนุษย์ มีการดิ้นรนแสวงหาปัจจัยทั้งหลายเพื่อการบริโภค เพื่อการสะสม เพื่อการกอบโกย แสวงหาด้วยสุจริตก็ทุกข์ แสวงหาด้วยทุจริตก็ทุกข์ ฉะนั้นความเกิดจึงทุกข์ คือทุกข์ในการเกิด ทุกข์ในการแก่ ทุกข์ในการเจ็บ ทุกข์ในการตาย

๒. ขันธ์ทั้ง ๕ ว่างเปล่าจากตัวตน
ขันธ์ทั้ง ๕ แสดงความว่างเปล่าจากตัวตนอยู่แล้ว แต่ที่เราไม่เห็นความจริงนี้ก็เพราะว่า ธรรมดาคนทั้งหลายในโลก มักมีความเข้าใจว่า ความเป็นอยู่ต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นแก่ตน เช่น การทำ การพูด การคิดความสุขสบาย หรือไม่สบาย ความดีใจ ความเสียใจ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เป็นต้น เหล่านั้นล้วนเป็นตัวเราเป็นของเราแทบทั้งสิ้น อันเป็นสภาพของสักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดที่ยึดติดแน่นอยู่ในรูปนามขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา จึงมักมีความเข้าใจผิดคิดไปว่า เราทำ เราพูด เราคิด เราสบาย ไม่สบาย เราดีใจ เสียใจ เราเด็ก เราสาว เป็นต้น อาการเหล่านั้นถ้าปรากฏแก่ผู้อื่น เราก็ยึดถือว่า เป็นเขา ผู้นั้นผู้นี้ ทำ คิด พูด สบาย ไม่สบาย ดีใจ เสียใจ เป็นต้น

รวมความแล้ว ความเข้าใจของปุถุชน จะเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ มีเรา มีเขา และ มีของเรา มีของเขา ซึ่งล้วนแต่เป็นความเข้าใจผิดไปจากสภาพธรรม เป็นอัตตทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดคิดว่ามีตัวตน แท้จริงแล้ว ความเป็นไปต่างๆ เหล่านั้น หาใช่เป็นตัวเรา ตัวเขาไม่ แต่เป็นอาการเป็นไปของรูปนามขันธ์ ๕ เท่านั้น

๓. ขันธ์ทั้ง ๕ มีอาการเฉพาะๆ ของตน
รูปขันธ์ ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของร่างกายที่เกิดขึ้น เช่น ผมหงอก หนังเหี่ยว ฟันหัก สายตาเสื่อม หรือการเปลี่ยนแปลงโดยการเคลื่อนไหวกาย การเดิน การยืน การนั่ง การนอน การพูด เป็นต้น เหล่านี้ จัดเป็นอาการของรูปขันธ์ การเดินจึงเป็นเพียงอาการของรูป การยืนก็เป็นเพียงอาการของรูป เมื่อเข้าใจได้ถูกต้องจึงไม่ไปคิดว่า เราเดิน เรายืน และไม่เข้าใจผิดไปว่า รูปเดิน รูปยืน เป็นต้น แต่รู้ด้วยความเป็นจริงว่า ไม่มีเราเดิน ไม่มีรูปเดิน แต่เพราะการเดิน เป็นเพียงอาการของรูปเท่านั้น (คำว่ารูปก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ เป็นต้น)

เวทนาขันธ์ ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของความรู้สึก บางครั้งก็รู้สึกสบาย ไม่สบาย รู้สึกเฉยๆ รู้สึกเบื่อบ้าน ทั้งๆ เมื่อก่อนนี้ก็รักบ้าน รู้สึกเบื่อรถทั้งที่เมื่อก่อนก็รักทะนุถนอมอย่างดี เป็นต้น ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสภาพของ เวทนาขันธ์ เมื่อเข้าใจความเป็นจริงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงลักษณะอาการของเวทนาขันธ์เท่านั้น จะได้ไม่เข้าใจผิดไปว่าเป็นเราชอบ เราไม่ชอบ

สัญญาขันธ์ 
การจำเรื่องราวต่างๆ จำรูป จำสี จำกลิ่น จำรส จำสัมผัส ทั้งที่ชอบและไม่ชอบ เหล่านี้เป็นสภาพของสัญญาขันธ์

สังขารขันธ์ สังขาร คือ การปรุงแต่ง เมื่อรับอารมณ์มาแล้ว มีการนึกคิดเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับอารมณ์นั้นๆ ก็เป็นการปรุงแต่งไป การดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เราทุกคนก็จะมีความรู้สึกว่ามีความอยากได้ ไม่อยากได้ มีความศรัทธา มีความเลื่อมใส มีความเพียรพยายาม เป็นต้น เหล่านี้เป็นสภาพของสังขารขันธ์

วิญญาณขันธ์ การรู้อารมณ์ต่างๆ มีการเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัสถูกต้อง รู้คิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้จัดเป็นสภาพของวิญญาณขันธ์

ประเภทของปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป มีความเป็นขันธ์ ๕ ประการเท่านั้น ไม่มากไปกว่านี้ กล่าวคือ เพราะอาศัยส่วนธรรมที่สงเคราะห์เข้ากันได้ คือ รูปทั้งหมด เป็น รูปขันธ์ เวทนา คือ ความรู้สึกในการเสวยอารมณ์ต่างๆ โดยความสุข ความทุกข์ ความเสียใจ ความเฉย ๆ เหล่านี้เป็น เวทนาขันธ์ ความจำได้ในสิ่งต่างๆ เรื่องราวต่างๆ เป็น สัญญาขันธ์ ส่วนเจตสิกธรรมอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากเวทนาและสัญญา เป็น สังขารขันธ์ จิตหรือวิญญาณ เป็นธรรมชาติรู้อารมณ์ เป็น วิญญาณขันธ์ 

หมวดที่ ๒ อุปาทานักขันธ์ ๕

อุปาทานักขันธ์ หมายถึง ขันธ์ทั้งหลายที่ตัณหาและทิฏฐิเข้าไปยึดไว้ โดยความเห็นผิด คือ ยึดมั่นเป็นตัวตน เราเขา ความยึดมั่นนี้คือ การยึดมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ นั่นเอง

อุปาทานักขันธ์ ๕ คือ
๑. รูปูปาทานักขันธ์ คือ กองรูป ที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน ได้แก่รูปทั้งหมด คือ รูป ๒๘
๒. เวทนูปาทานักขันธ์ คือ กองเวทนา ที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน องค์ธรรมได้แก่เวทนาเจตสิก ที่ในโลกียจิต ๘๑
๓. สัญญูปาทานักขันธ์ คือ กองสัญญา ที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน องค์ธรรมได้แก่สัญญาเจตสิก ที่ในโลกียจิต ๘๑
๔. สังขารูปาทานักขันธ์ คือ กองสังขาร ที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน องค์ธรรมได้แก่เจตสิก ๕๐ (เว้นเวทนา และสัญญา) ที่ในโลกียจิต ๘๑
๕. วิญญาณูปาทานักขันธ์ คือ กองจิต ที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน องค์ธรรมได้แก่ โลกียจิต ๘๑

พระพุทธองค์ทรงแสดงขันธ์ ๕ แล้วยังทรงแสดงอุปาทานขันธ์ซ้ำอีก ทั้งๆ ที่มีจำนวนขันธ์ ๕ ประการเท่ากัน แต่เพื่อแสดงความแตกต่างกัน คือ ที่กล่าวในแง่ของขันธ์ ๕ กล่าวโดยความเป็นวิสุทธิขันธ์ คือเป็น ขันธ์ ๕ ล้วนๆ ไม่ปะปนกันกับอาสวะ คือกิเลส และก็ไม่เป็นอารมณ์แก่อุปาทาน ซึ่งได้แก่ ขันธ์ ๕ ของพระอรหันต์ทั้งหลายที่เป็นไปตามสภาพของขันธ์ ๕ แท้ๆ ไม่เป็นอารมณ์ให้กิเลสและตัณหายึดไว้ได้ เช่น พระอรหันต์ยังได้รับสุขทุกข์ต่างๆ ทั้งทางกายและทางใจ แต่ความสุขทุกข์นั้นไม่เป็นอารมณ์ให้กิเลสตัณหาเกิดขึ้น 

ที่กล่าวในแง่ของอุปาทานขันธ์ คือ การกล่าวถึงขันธ์ ๕ ที่เป็นอารมณ์ให้กิเลสและตัณหายึดไว้ได้ เช่น ขันธ์ 
๕ ของปุถุชน และของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ย่อมเป็นไปกับอาสวะ คือ กิเลส และเป็นที่ตั้งของอุปาทานได้ตามสมควรแก่บุคคลนั้นๆ

รู้จักเหตุเกิดแห่งอุปาทาน

อุปาทานเกิดขึ้นเพราะตัณหาเกิดขึ้น ตัณหาจึงเป็นเหตุให้เกิดอุปาทาน จะดับอุปาทานได้อย่างไร ? อุปาทานจะดับได้ก็ด้วยการดับตัณหา จะมีวิธีการดับตัณหาได้อย่างไร ? หนทางปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับตัณหาและอุปาทาน ก็คือ การปฏิบัติที่ทำให้มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น เจริญขึ้น และวิธีการจะละตัณหาก็ด้วยการปฏิบัติในอริยสัจ ๔ คือ กำหนดรู้ว่าขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นทุกข์สัจ ตัณหา คือความยินดีพอใจทั้งหมด ควรละ เป็นสมุทยสัจ นิโรธ คือ พระนิพพาน นั้นควรทำให้แจ้งปรากฏ มรรค ควรเจริญให้มาก พระพุทธองค์ทรงแสดงอุปาทานักขันธ์ ๕ เพื่อเป็นประโยชน์แก่การเจริญวิปัสสนาเพื่อละกิเลส  เพราะผู้เจริญวิปัสสนาต้องรู้จักรูปนามขันธ์ ๕ อันเป็นที่อาศัยของกิเลสทั้งหลาย ให้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของรูปนาม ขันธ์ ๕ จะได้ไม่ตกเป็นอารมณ์ของตัณหาอุปาทานได้

อุปาทานมี ๔ คือ
๑. กามุปาทาน
๒. ทิฏฐุปาทาน
๓. สีลัพพตุปาทาน
๔. อัตตวาทุปาทาน

อธิบาย
๑. กามุปาทาน
กามุปาทาน คือ ความยึดถือกาม กามนั้นได้แก่ วัตถุกาม กับ กิเลสกาม วัตถุกาม คือ ธรรมใดที่เป็นที่ชอบใจของกามตัณหา ชื่อว่า วัตถุกาม ได้แก่ กามจิต ๕๔ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ หรือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันที่เป็นที่ชอบใจ

กิเลสกาม คือ ธรรมชาติที่มีความต้องการ ธรรมชาติที่เข้าไปยึดในอารมณ์ทั้ง ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ ธัมมารมณ์ ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า กิเลสกาม ได้แก่ ตัณหา นั่นเอง ฉะนั้น กามุปาทาน คือ การยึดถือวัตถุกามด้วยกิเลสกามนั่นเอง คือ ยึดถือ รูป เสียง ฯลฯ ที่น่ารักใคร่ ปรารถนาพอใจนั้นเป็นเรา เป็นของเรา ยึดไว้ไม่ยอมปล่อย ยึดถือไว้ด้วยอำนาจของกิเลสกาม

สำหรับพระอรหันต์ ไม่มีกิเลสกามแล้ว เมื่อเห็นรูปแล้ว แม้นรูปนั้นจะน่ารักใคร่น่าปรารถนา ท่านก็ไม่เกิดความยินดีในการเห็นนั้น เพราะไม่มีกิเลสกามแล้ว

๒. ทิฏฐุปาทาน
ทิฏฐุปาทาน คือ ความยึดถือด้วยอำนาจของความเห็นผิด ได้แก่ นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ และ อันตัคคาหิกทิฏฐิ ๑๐ ทิฏฐิ ๖๒ (ในสามัญญผลสูตร)
    ๒.๑ นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ ประการ คือ
    ก. นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นผิดคิดว่าไม่มีผลแห่งกรรมที่ทำไว้ เป็นการปฏิเสธผล ผู้ที่มีความเห็นชนิดนัตถิกทิฏฐิย่อมมีอุจเฉททิฏฐิด้วย คือเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วก็สูญไม่มีการเกิดอีก มีความเห็นว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า สมมติสัจจะ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าคติธรรมดา หรือคลองธรรมตามเหตุและผล ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสมมติสัจจะ เช่น ไม่มีมารดาบิดา สัตว์บุคคลเกิดสืบเชื้อสายกันมาตามเรื่องตามราวเท่านั้น จึงไม่มีใครที่จะต้องนับถือว่าเป็นบิดามารดา แม้ที่นับถือว่าเป็นสมณะ พราหมณ์ ภิกษุ สามเณร ก็ไม่มีเป็นต้น ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าคติธรรมดา หรือที่เป็นไปตามคลองธรรม เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อย่างนี้ก็ไม่มี

    ข. อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นผิดคิดว่าไม่มีเหตุ เป็นการปฏิเสธเหตุ คือ เมื่อได้รับผลดีผลร้ายต่างๆ ก็เห็นว่าเป็นไปตามคราว คราวที่มีโชคดีก็ได้รับผลดี คราวที่มีโชคร้ายก็ได้รับผลไม่ดี ไม่มีเหตุอะไรที่จะมาทำให้ได้ผลดีผลร้าย ปฏิเสธเหตุในการทำดี ทำชั่ว ของบุคคลทั้งหลายที่กระทำกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่เชื่อว่าการกระทำต่างๆเป็นเหตุที่จะก่อให้เกิดผลได้ ฉะนั้นการปฏิเสธเหตุนี้ก็เท่ากับว่าปฏิเสธผลไปด้วย

    ค. อกิริยทิฏฐิ ความเห็นผิดคิดว่าการทำบุญทำบาปก็เท่ากับไม่ได้ทำ เป็นการปฏิเสธทั้งเหตุ และผลแห่งกรรม คือ มีความเห็นว่าบุคคลทั้งหลายที่ทำดีก็ตามทำชั่วก็ตามไม่เป็นบาปไม่เป็นบุญ

     ๒.๒ อันตัคคาหิกทิฏฐิ ๑๐ ประการ คือ
    ๑) เห็นว่า โลกเที่ยง
    ๒) เห็นว่า โลกไม่เที่ยง
    ๓) เห็นว่า โลกไม่มีที่สิ้นสุด
    ๔) เห็นว่า โลกไม่มีที่สิ้นสุด
    ๕) เห็นว่า ชีวะและสรีระ เป็นอันเดียวกัน
    ๖) เห็นว่าชีวะและสรีระ เป็นคนละอัน
    ๗) เห็นว่าสัตว์นั้นหลังจากตายแล้วเกิดต่อไปอีก
    ๘) เห็นว่าสัตว์นั้นหลังจากตายแล้วไม่เกิดต่อไปอีก
    ๙) เห็นว่าสัตว์นั้นเบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี
    ๑๐) เห็นว่าสัตว์นั้นเบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้

     ๒.๓ ทิฏฐิ ๖๒ 
ในทิฏฐิ ๖๒ มีรายละเอียดมาก ในที่นี้จะนำมากล่าวเพียง ๒ ประการที่สำคัญให้ทราบดังนี้ 
    ก) สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง คือ เห็นว่าตายแล้วเกิดกันเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุดในอัตตาภาพเดิม ทุกภพทุกชาติ เวียนเกิดเวียนตายไม่มีที่สิ้นสุดในภพชาติของตน คือ เกิดเป็นคน ตายแล้วก็ต้องเกิดเป็นคนไปตลอด เกิดเป็นแมว ตายแล้วก็ต้องเกิดเป็นแมวไปตลอด
    ข) อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ คือ เห็นว่าตายแล้วสูญไม่กลับมาเกิดอีก

โทษของมิจฉาทิฏฐิ
นิยตมิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดอย่างร้ายแรง ซึ่งเมื่อมีความยึดถือในทิฏฐิอย่างมากจนดิ่ง ทำให้ไม่รับรองกรรมที่เป็นบุญเป็นบาป ไม่รับรองผลต่างๆ ว่าเกิดจากเหตุ ไม่รับรองสมมติสัจจะ ผู้ที่มีความเห็นเช่นนี้อย่างเหนียวแน่น ก็เพราะมีอุปาทานความยึดถืออยู่อย่างแรงกล้า ยิ่งจะส่งผลให้ตกนรกได้

ฉะนั้น ความเห็นผิดในข้อนี้จึงให้โทษอย่างมหันต์ ผู้ที่นับถือพุทธศาสนา กล่าวได้ว่า ย่อมละความเห็นผิดอันมีโทษมหันต์อันร้ายแรงนี้ได้ ถ้ายังละไม่ได้ก็ย่อมจะไม่นับถือพุทธศาสนา

๓. สีลัพพตุปาทาน
สีลัพพตุปาทาน คือการยึดถือข้อปฏิบัติที่ผิด ยึดถือในศีลและวัตรที่ผิดศีลวัตร ศีล ได้แก่ ความประพฤติหรือข้อที่ประพฤติ วัตร ได้แก่ ข้อปฏิบัติ ศีล คือ ความประพฤติหรือข้อที่ประพฤติ ศีลในทางพุทธศาสนา แสดงเป็นข้อที่พึงเว้น เช่น ศีล ๕ คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นต้น ส่วนปาฏิโมกข์สังวรศีล คือ ศีลในพระปาฆิโมกข์สำหรับภิกษุ มีทั้งข้อห้ามและข้ออนุญาต ข้อห้าม คือ ข้อที่บัญญัติห้ามมิให้กระทำ เมื่อไปล่วงละเมิดกระทำก็ต้องอาบัติ หนัก ปานกลาง หรือเบาตามพระบัญญัตินั้นๆ และมีข้อที่ทรงอนุญาตให้ทำวัตร คือ การประพฤติปฏิบัติ เช่น ธุดงควัตร การปฏิบัติ ธุดงค์ อุปัชฌายวัตร การปฏิบัติต่ออุปัชฌาย์ ครู อาจารย์

ศีลและวัตรภายนอกพุทธศาสนา
ศีลและวัตรภายนอกพุทธศาสนา มีแก่บุคคลผู้ยึดถืออยู่ในศีลและวัตรทั้งหลายตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เช่น ศีลและวัตรของฤษีดาบส เมื่อถือลัทธิบูชาไฟก็ทำการบูชาไฟ ฤษีดาบสก็มีศีล คือข้อประพฤติ ที่งดเว้นจากการกระทำบางอย่าง และมีวัตร คือข้อที่พึงปฏิบัติบางอย่าง เช่น การบูชาไฟดังกล่าวนั้น นอกจากนี้ยังมีศีลและวัตรของศาสดาภายนอกพระพุทธศาสนา เช่นที่แสดงไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนา กล่าวถึงศาสดา ๖ จำพวก ซึ่งต่างก็ได้สั่งสอนศีลและวัตรแก่สาวกของตนในทางต่าง ๆ กัน

นอกจากนี้ก็ยังมีผู้ที่ยึดถือปฏิบัติในศีลวัตรที่แปลก ๆ เรียกว่า โควัตร สุนัขวัตร คือมีความประพฤติความเป็นอยู่ เยี่ยงโค เยี่ยงสุนัข เช่น เดิน ๔ ขา แบบสุนัขแบบโค ทำกิริยาอาการ ทำเสียงและบริโภคแบบสุนัขแบบโค ในครั้งพุทธกาลการถือศีลและวัตรแบบนี้ยังมี และก็มีแสดงไว้ว่าคนที่ถือโควัตร สุนัขวัตร บางคนไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า เมื่อปฏิบัติแบบนี้แล้วสิ้นชีวิตไปจะไปเกิดเป็นอะไร ? พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบว่า (มีใจความโดยสรุปว่า) “ก็ไปเกิดเป็นสุนัขไปเกิดเป็นโค” ดังนี้ เหล่านี้เป็นศีลและวัตรภายนอกพุทธศาสนา

๔. อัตตวาทุปาทาน
คำว่า อัตตา แปลว่า ตน ในทางพุทธศาสนาได้แสดงไว้เป็น ๒ ระดับ คือ ระดับแรก พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้รักษาตน คุ้มครองตน ฝึกตน และตรัสสอนว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ระดับที่สอง ตรัสสอนว่า มิใช่ตน ดังเช่นที่ตรัสสอนว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมเรียกว่า ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตามิใช่อัตตา ตัวตน หรือได้ตรัสสอนยกเอาอายตนะภายในภายนอก ภายในคือ ตา หู เป็นต้น ภายนอก คือ รูป เสียง เป็นต้น และธรรมคือเรื่องราว เป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ภายนอกคือสิ่งทั้งหลายที่อยู่ภายนอกตน นั้นก็หมายถึงสภาพธรรมต่าง ๆ ที่เกิดกับคนอื่นสัตว์อื่น และได้ตรัสสอนไว้ว่าสังขารทั้งปวงเป็น อนิจจะ คือไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็น ทุกขะ คือเป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาคือมิใช่อัตตาตัวตน และในธรรมทั้งปวงนี้แสดงอธิบายว่า ทั้งสังขตธรรม คือ ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งอันเรียกว่าสังขาร ทั้งอสังขตธรรม ธรรมะที่ปัจจัยไม่ได้ปรุงแต่งอันเรียกว่าวิสังขาร ทั้งหมดเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน

    ๔.๑ รู้สมมติสัจจะ และ ปรมัตถสัจจะ
    ก) สมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ เป็นความจริงตามมติร่วมกัน หรือ หมายรู้ร่วมกัน เป็นเครื่องมือสื่อสาร พอให้สำเร็จประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่นคน สัตว์ โต๊ะ เก้าอี้
    ข) ปรมัตถสัจจะ คือ ธรรมชาติอันประเสริฐ ที่เป็นความจริงซึ่งปฏิเสธสัตว์และชีวิต ได้แก่ธรรมชาติที่เป็นความจริง ที่ไม่มีการแปรปรวน หรือไม่มีความวิปริตด้วยประการใด ๆ มี ๔ ประการ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน การรู้ปรมัตถธรรมมีประโยชน์อย่างยิ่ง คือ ทำให้พ้นทุกข์ได้แน่นอน ปรมัตถสัจจะมี ๒ ประการ คือ
🙏 สภาวสัจจะ ธรรมที่เป็นจริงตามสภาวะลักษณะ ได้แก่ กุศลธรรม อกุศลธรรมเป็นต้น
🙏 อริยสัจจะ ธรรมที่เป็นจริงโดยเฉพาะอริยบุคคลทั้งหลาย ได้แก่ อริยสัจ ๔มีทุกขสัจจะ เป็นต้น

ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมที่จะให้รู้ถึงปรมัตถสัจจะ คือ ความจริงโดยปรมัตถ์ จึงจะต้องหัดพิจารณาดูที่ตั้งของบัญญัติทั้งหลาย เช่น รถ เมื่อเอาส่วนประกอบต่าง ๆ เช่นล้อ เพลา และส่วนประกอบอื่น ๆ มาประกอบกันเข้า เสียงเรียกว่ารถจึงมี แต่ความจริงแล้ว รถจริงๆ นั้นไม่มี คำว่ารถเป็นบัญญัติเรียกขึ้นเท่านั้น เมื่อถอดแยกส่วนประกอบต่างๆ ออกไป เสียงเรียกว่ารถก็หายไป

    ๔.๒ ทรงตรัสสอนให้พิจารณาแยกสังขาร
ในอัตตภาพนี้ก็ประกอบขึ้นด้วยขันธ์ ๕ ทรงตรัสชี้ให้รู้จักว่าสิ่งที่มาประกอบนั้นมีอะไรบ้างส่วนที่แข็งคือ ปถวีธาตุ เป็นธาตุดิน ร่างกายนี้ซึ่งประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้ง ๔ อาการ ๓๒ เป็นกองรูป กองรูปนี้เองเรียกแยกออกเป็นศีรษะ เป็นแขน เป็นขา ฯลฯ มากองกันอยู่ เป็นกองรูป ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์หรือเฉย ๆ เป็นกองเวทนา ความจำได้หมายรู้ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เรื่องราวต่าง ๆ เป็นกองสัญญา ความคิดปรุงแต่งต่างๆ เป็นกองสังขาร และกองวิญญาณ คือ รู้ในอารมณ์ที่มากระทบ เช่น ตาเห็นรูป ก็เกิดความรู้สึก เรียกว่า จักขุวิญญาณ เป็นต้น

ฉะนั้น เพราะขันธ์ ๕ เหล่านี้มาประกอบกัน ซึ่งเมื่อย่อแล้ว รูปก็คงเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็น นาม เหล่านี้ทั้งหมดเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งเป็นที่ตั้งแห่งบัญญัติว่าเป็นเรา เป็นเขา ก็เกิดขึ้น แต่เมื่อมาพิจารณาด้วยปัญญาเห็นโดยความเป็นรูปเป็นนาม ก็จะถอนอัตตาตัวตนหมด หมดความเป็นเราเป็นเขา คงเหลือแต่สภาวะ รูปนาม เท่านั้น

    ๔.๓ ก่าหนดรู้ตามความเป็นจริงโดยไตรลักษณ์
เมื่อพิจารณาขันธ์ ๕ โดยความเป็นจริงด้วยวิปัสสนา รู้แจ้งเห็นจริงรู้จักว่า นี่รูป นี่เวทนา นี่สัญญา นี่สังขาร นี่วิญญาณ มีชาติ คือ ความเกิดเป็นเบื้องต้น มีชรา คือ ความแปรปรวน เปลี่ยนแปลงพร้อมทั้งพยาธิในท่ามกลาง มีมรณะเป็นที่สุด เพราะฉะนั้น จึงเป็น อนิจจะ คือ ไม่เที่ยงต้องเกิดต้องดับ เป็น ทุกขะ คือ ทนอยู่คงที่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เป็น อนัตตะ คือ บังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้

เมื่อพิจารณาขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริงโดยไตรลักษณ์อย่างนี้แล้ว จึงจะสามารถถอนอัตตวาทุปาทาน คือ การยึดถือเป็นตัวตน โดยความเป็นเราเป็นเขา ก็จะทำให้ไม่หลงไม่ยึดถือ ถ้าไม่พิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงก็ย่อมจะต้อมมีความหลง ความยึดถืออยู่ อันเป็นอัตตาทุปาทาน


หมวดที่ ๓ อายตนะ ๑๒
อายตนะ มีความหมาย ๕ ประการ คือ
๑. เป็นที่เกิด หมายความว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นอายตนะภายในนี้ เพราะเป็นที่เกิดของจิตอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าบุญหรือบาป จะเกิดได้ก็ต้องอาศัยอายตนะเหล่านี้
๒. เป็นที่อยู่ หมายความว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นอายตนะภายในนี้ เป็นที่อาศัยให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้ คล้ายกับเป็นที่อยู่อาศัยของวิถีจิต จึงเรียกว่าอายตนะ ซึ่งเป็นการกล่าวโดยอ้อม วิถีจิตไม่ได้อยู่ในอายตนะ แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมแล้ว วิถีจิตเหล่านั้นก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ได้ เหมือนระฆังกับเสียงระฆัง ย่อมกล่าวไม่ได้ว่า มีเสียงระฆังอยู่ในตัวระฆัง แต่เมื่อมีคนตีระฆังแล้วเสียงก็ปรากฏขึ้นและกังวานอยู่ได้ คล้ายกับว่าเสียงนั้นอยู่ในระฆัง ฉันใด วิถีจิตกับอายตนะภายในก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีเหตุปัจจัยบริบูรณ์แล้ว ก็เสมือนกับว่าวิถีจิตเหล่านั้น ตั้งอยู่ในอายตนะนั้น
๓. การเกิด หมายความว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับสัตว์ทั้งหลาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเกิดขึ้นมีอยู่ในสัตว์บุคคล เกิดขึ้นกับทุกเพศ ทุกภูมิไม่ว่าจะเป็น อบายภูมิ มนุษย์ภูมิ มีอายตนะครบ รูปภูมิ (เว้นอสัญญสัตตพรหมภูมิ) มีจักขายตนะ โสตายตนะและมนายตนะ อรูปภูมิ มีมนายตนะ อย่างเดียว
๔. เป็นที่ประชุม หมายความว่า อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกมาประชุมกัน คือ รูปายตนะ(รูป) ซึ่งเป็นอายตนะภายนอก ย่อมต้องมาประชุมกันที่ตา สัททายตนะ(เสียง) ซึ่งเป็นอายตนะภายนอก ย่อมต้องมาประชุมกันที่หู เป็นต้น เสมือนเป็นที่ประชุมแห่งวิถีจิตทั้งหลายด้วย ถ้าอายตนะไม่มาประชุมกัน วิถีจิตทางจักขุทวารวิถี เป็นต้น ก็ไม่เกิดขึ้น
๕. เป็นเหตุให้เกิด หมายความว่า ถ้าไม่มีอายตนะภายในและภายนอกแล้ว วิถีจิตทั้งหลายก็เกิดไม่ได้ เพราะธรรมดาวิถีจิตจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยอายตนะภายในและภายนอกเป็นเหตุให้เกิดขึ้น

จากความหมายทั้ง ๕ ประการข้างต้น ยังมีความหมายของคำว่าอายตนะในที่อื่น ๆ ได้กล่าวไว้ว่า
ที่ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นที่ขวนขวาย ตาก็ขวนขวายที่จะแสวงหาดูสิ่งต่างๆ ทั้งที่ดีและไม่ดี
ที่ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นตัวนำไปสู่สังสารทุกข์อันยืดเยื้อมาแล้ว หมายความว่า อายตนะเหล่านี้นำไป คือ พาไปสู่สังสารทุกข์อันยืดเยื้อมาแต่อดีต และก็ยังจะพาไปสู่สังสารทุกข์อันยืดเยื้อต่อไปในอนาคตอันหาเงื่อนต้นเงื่อนปลายมิได้อยู่ตลอดเวลา การเวียนเกิดเวียนตายของสัตว์ทั้งหลาย แท้จริงแล้วก็คือการพาไปของ อายตนะ ในสังสารทุกข์อันยืดเยื้อนั่นเอง

อายตนะมี ๑๒ คือ
๑. จักขายตนะ จักขุ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้จักขุวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น
องค์ธรรมได้แก่ จักขุปสาทรูป (ตา)
๒. โสตายตนะ โสตะ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้โสตวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น 
องค์ธรรมได้แก่ โสตปสาทรูป (หู)
๓. ฆานายตนะ ฆานะ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้ฆานวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น 
องค์ธรรมได้แก่ ฆานปสาทรูป (จมูก)
๔. ชิวหายตนะ ชิวหา ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้ชิวหาวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น 
องค์ธรรมได้แก่ ชิวหาปสาทรูป (ลิ้น)
๕. กายายตนะ กายะ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้กายวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น 
องค์ธรรมได้แก่ กายปสาทรูป (กาย)
๖. รูปายตนะ รูปารมณ์ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้จักขุวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น
องค์ธรรมได้แก่ วัณณรูป ได้แก่ สีต่างๆ
๗. สัททายตนะ สัททารมณ์ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้โสตวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น
องค์ธรรมได้แก่ สัททรูป ได้แก่ เสียงต่างๆ
๘. คันธายตนะ คันธารมณ์ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้ฆานวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น
องค์ธรรมได้แก่ คันธรูป ได้แก่ กลิ่นต่างๆ
๙. รสายตนะ รสารมณ์ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้ชิวหาวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น
องค์ธรรมได้แก่ รสรูป รสชาติต่างๆ
๑๐. โผฏฐัพพายตนะ โผฏฐัพพารมณ์ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้กายวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น
องค์ธรรมได้แก่ ปฐวี, เตโช, วาโย
 สัมผัสต่างๆ
๑๑. มนายตนะ จิต ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้น 
องค์ธรรมได้แก่ จิตทั้งหมด
๑๒. ธัมมายตนะ สภาพธรรมต่าง ๆ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้น 
องค์ธรรมได้แก่ เจตสิก ๕๒ สุขุมรูป ๑๖ และนิพพาน

อายตนะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ ๑๒ อย่าง เพราะทรงกำหนดถึงทวารอันเป็นที่เกิด และอารมณ์ อันเป็นที่รู้แห่งวิญญาณ ๖ เมื่อจำแนกออกเป็นอายตนะภายในและอายตนะภายนอกแล้ว ได้อย่างละ ๖ ดังนี้

อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖
จักขายตนะ ได้แก่ จักขุปสาท รูปายตนะ ได้แก่ รูปารมณ์
โสตายตนะ ได้แก่ โสตปสาท สัททายตนะ ได้แก่ สัททารมณ์
ฆานายตนะ ได้แก่ ฆานปสาท คันธายตนะ ได้แก่ คันธารมณ์
ชิวหายตนะ ได้แก่ ชิวหาปสาท รสายตนะ ได้แก่ รสารมณ์
กายายตนะ ได้แก่ กายปสาท โผฏฐัพพายตนะ ได้แก่ ปถวี เตโช วาโย
มนายตนะ ได้แก่ จิตทั้งหมด ธัมมายตนะ ได้แก่ เจตสิก ๕๒ สุขุมรูป ๑๖ นิพพาน

เมื่อธรรมะ คือ อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกมาประชุมกันแล้ว จิตเจตสิกก็เป็นไป อาจเป็น กุศลบ้าง อกุศลบ้าง ผู้ปฏิบัติพึงมีโยนิโสมนสิการในการพิจารณาถึงเหตุปัจจัยของการประชุมกัน ระหว่างอายตนะภายในกับอายตนะภายนอก เพื่อป้องกันอกุศลธรรมที่จะเกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ


หมวดที่ ๔ 
ธาตุ ๑๘
ธาตุ หมายความว่า ธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่งสภาพของตน โดยไม่วิปริตผันแปร ธาตุทั้งหลายที่เรารู้จักอาจจะรู้จักโดยชื่อว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุเหล็ก ธาตุทองแดง ซึ่งแต่ละธาตุก็มีลักษณะเฉพาะของตนเอง คือ ธาตุไฟ ก็ร้อน เป็นต้น แต่โดยความหมายของคำว่า ธาตุ ในทางพระอภิธรรมนั้นมีความหมายที่ละเอียดลึกซึ้งมากกว่านั้น

ธาตุ หมายถึง “อันสัตว์ทรงไว้” คือ ธาตุทั้งหลาย อันสัตว์ทั้งปวงต้องทรงไว้ หรือรับรองไว้ เหมือน
สัมภาระที่ถูกคนแบกหามรองรับไว้ ฉะนั้นธาตุ หมายถึง “เป็นการจัดแจง” คือ ธาตุทั้งหลายเป็นเพียงการจัดแจงทุกข์ไว้เท่านั้น หรือ เป็นตัวเหตุ อันกระทำให้สัตว์เป็นไปในสังสารทุกข์ต่าง ๆ เสมอ

ธาตุ หมายถึง “เป็นที่ตั้งแห่งสังสารทุกข์” ซึ่งสัตว์ได้กระทำไว้ต่าง ๆ รวมความแล้ว ที่ชื่อว่า ธาตุ เพราะเป็นธรรมชาติที่ทรงสภาวลักษณะของตน ๆ โดยไม่ผันแปรเปลี่ยนแปลง หรือ ธรรมชาติอันทรงไว้ หรือจัดแจงไว้ ธาตุที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรมแสดงธาตุไว้ ๑๘ คือ
    ๑. จักขุธาตุ จักขุ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งความใสที่รับกระทบรูปารมณ์ได้ 
องค์ธรรมได้แก่ จักขุปสาทรูป (ตา)
    ๒. โสตธาตุ โสตะ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งความใสที่รับกระทบ สัททารมณ์ได้ 
องค์ธรรมได้แก่ โสตปสาทรูป (หู)
    ๓. ฆานธาตุ ฆานะ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งความใสที่รับกระทบ คันธารมณ์ได้ 
องค์ธรรมได้แก่ ฆานปสาทรูป (จมูก)
    ๔. ชิวหาธาตุ ชิวหา ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งความใสที่รับกระทบ รสารมณ์ได้ 
องค์ธรรมได้แก่ ชิวหาปสาทรูป (ลิ้น)
    ๕. กายธาตุ กายะ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งความใสที่รับกระทบ โผฏฐัพพารมณ์ได้
องค์ธรรมได้แก่ กายปสาทรูป (กาย)
    ๖. รูปธาตุ รูปารมณ์ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งการกระทบกับจักขุปสาทรูปได้ 
องค์ธรรมได้แก่ วัณณรูป คือ สีต่างๆ
    ๗. สัททธาตุ สัททารมณ์ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งการกระทบกับโสตปสาทรูปได้ 
องค์ธรรมได้แก่ สัททรูป คือ เสียงต่างๆ
    ๘. คันธธาตุ คันธารมณ์ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งการกระทบกับฆานปสาทรูปได้ 
องค์ธรรมได้แก่ คันธรูป คือ กลิ่นต่างๆ
    ๙. รสธาตุ รสารมณ์ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งการกระทบกับชิวหาปสาทรูปได้ 
องค์ธรรมได้แก่ รสรูป คือ รสต่างๆ
    ๑๐.โผฏฐัพพธาตุ โผฏฐัพพารมณ์ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งการกระทบกับกายปสาทรูปได้
องค์ธรรมได้แก่ ปถวี เตโช วาโย คือ รับสัมผัสได้
    ๑๑.จักขุวิญญาณธาตุ จักขุวิญญาณ ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ เห็นรูปารมณ์ได้ 
องค์ธรรมได้แก่ จักขุวิญญาณจิต ๒
    ๑๒. โสตวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณ ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ ได้ยินเสียงได้  
องค์ธรรมได้แก่ โสตวิญญาณจิต ๒
    ๑๓. ฆานวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณ ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ รับรู้กลิ่นได้ 
องค์ธรรมได้แก่ ฆานวิญญาณจิต ๒
    ๑๔. ชิวหาวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณ ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ รับรู้รสได้
 
องค์ธรรมได้แก่ ชิวหาวิญญาณจิต ๒
    ๑๕. กายวิญญาณธาตุ กายวิญญาณ ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ รับรู้การถูกต้องสัมผัสได้
องค์ธรรมได้แก่ กายวิญญาณจิต ๒
    ๑๖. มโนธาตุ จิต ๓ ดวง ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ รู้ปัญจารมณ์ คือ รับรู้อารมณ์ทั้ง ๕ ได้
องค์ธรรมได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ 
สัมปฏิจฉนจิต ๒
    ๑๗. มโนวิญญาณธาตุ จิต ๗๖ ดวง ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ การรับรู้อารมณ์ 
องค์ธรรมได้แก่ จิต ๗๖ ดวง (เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ และมโนธาตุ ๓)
    ๑๘. ธัมมธาตุ สภาพธรรม ๖๙ ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะของตน ๆ 
องค์ธรรมได้แก่ เจตสิก ๕๒ สุขุมรูป ๑๖ นิพพาน

หมวดที่ ๕ อริยสัจจะ ๔
อริยสัจจะ คือ ธรรมที่เป็นความจริงของพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ย่อมรู้แจ้งแทงตลอดในสัจจะธรรม พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกสัจจะธรรมว่า “อริยสัจจะ” คือ ธรรมที่เป็นความจริงของพระอริยะ เป็นสัจจะอันแท้จริง ไม่ผิดพลาด ไม่คลาดเคลื่อน สัจธรรมเหล่านั้น ปุถุชนทั้งหลายรู้ไม่ได้ คือ เข้าไม่ถึงความลึกซึ้งของสัจจะธรรมนั้น ฉะนั้น จึงแสดงว่าใครก็ตามที่เข้าถึงสัจจะธรรมนั้น ย่อมสำเร็จความเป็นพระอริยะ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลายตถาคตผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ชาวโลก เรียกว่า “พระอริยะ” เพราะเป็นผู้ตรัสรู้อริยสัจนี้แลตามความเป็นจริง”

อริยสัจจะ มี ๔ คือ

๑. ทุกขสัจจะ คือ ธรรมที่เป็นทุกข์ ตามความเป็นจริงของพระอริยเจ้าทั้งหลาย องค์ธรรมได้แก่ โลกียจิต ๘๑เจตสิก ๕๑ (เว้นโลภะ) รูป ๒๘
๒. สมุทยสัจจะ คือ ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ตามความเป็นจริงของพระอริยเจ้าทั้งหลาย องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก
๓. นิโรธสัจจะ คือ ธรรมที่เป็นเครื่องดับทุกข์ ตามความเป็นจริงของพระอริยเจ้าทั้งหลาย องค์ธรรมได้แก่ นิพพาน
๔. มัคคสัจจะ คือ ธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงความดับทุกข์ ตามความเป็นจริงของพระอริยเจ้าทั้งหลาย องค์ธรรมได้แก่ องค์มรรค ๘ ที่ในมัคคจิต ๔

ขยายความอริยสัจจะ
๑. ทุกขสัจจะ มีลักษณะ ๔ ประการ คือ
    ๑.๑ ธรรมที่เป็นทุกข์ตามความเป็นจริง คือ สภาพธรรมนั้นๆ ถูกเบียดเบียนอยู่เป็นนิตย์ มีตาก็ถูกเบียดเบียนด้วยรูปารมณ์ทั้งที่ชอบและไม่ชอบ ถูกเบียดเบียนด้วยโรคตา เป็นต้น
    ๑.๒ ธรรมที่เป็นทุกข์ตามความเป็นจริง คือ สภาพธรรมนั้นๆ ต้องได้รับการบำรุงปรุงแต่งอยู่เนืองๆ
    ๑.๓ ธรรมที่เป็นทุกข์ตามความเป็นจริง คือ สภาพธรรมนั้นๆ มีความเร่าร้อนอยู่ไม่ว่างเว้น เร่าร้อนในอารมณ์ ทำให้เกิดทุกข์ต่างๆ มากมาย เพราะเพียงแค่ได้เห็น หรือเพียงแค่ได้ยิน เป็นต้น
    ๑.๔ ธรรมที่เป็นทุกข์ตามความเป็นจริง คือ สภาพธรรมนั้นๆ มีความไม่คงที่แปรปรวน เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอมิได้ว่างเว้น

เมื่อกล่าวโดยย่อแล้ว ทุกขสัจจะ คือ รูปกับนาม ทั้งกายและใจที่เป็นไปในภูมิ ๓ คือ กามภูมิ รูปภูมิ 
อรูปภูมิ เป็นความจริงของทุกขสัจจะ

การจะละทุกขสัจจะได้ ต้องละด้วยปริญญากิจ คือ เป็นกิจที่ต้องกำหนดรู้ หมายถึง ทุกขสัจจะนั้นมีประจำอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้กำหนดรู้ ฉะนั้น การจะละทุกข์ได้ก็ต้องด้วยการกำหนดรู้ คือ รู้นามและรูป ตามความจริง 

๒. สมุทยสัจจะ คือ ธรรมที่ทำให้ทุกข์เกิดขึ้น เป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ ทำให้ประกอบไว้ซึ่งทุกข์ ทำให้ไม่พ้นไปจากสังสารทุกข์ ทำให้กังวลอยู่แต่ในกองทุกข์ โดยพระสูตรได้แสดงเหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา ๓ คือ
    (๑.) กามตัณหา คือ ความปรารถนาในกามภพ มีความยินดีติดใจในกามคุณทั้ง ๕ พระอนาคามีเท่านั้นที่ละได้เด็ดขาด
    (๒.) ภวตัณหา คือ ความปรารถนารูปภพ อรูปภพ คือ ยินดีในรูปฌาน อรูปฌาน พระอรหันต์เท่านั้นที่ละได้เด็ดขาด ภวตัณหา ใจความสูงสุดหมายถึงความกำหนัดยินดีในรูปภพและอรูปภพ คือความพอใจติดใจในฌานด้วยความปรารถนาภพ อันเป็นความยินดีที่ประกอบด้วยสัสสตทิฐิ คือความเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเช่นเบญจขันธ์เป็นของเที่ยงแท้ ยั่งยืน มีติดต่อกันไปไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวคืออยากเกิดอยากเป็นเช่นที่เป็นอยู่ตลอดไป
    (๓.) วิภวตัณหา หมายถึงความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น คืออยากจะพ้นจากภาวะที่ตนไม่ต้องการไม่อยากได้ เช่น อยากพ้นจากความยากจนจากความเจ็บไข้ พ้นจากความยากจน หรือ ไม่อยากเจอหน้าคนที่เราไม่ชอบใจ เป็นต้น วิภวตัณหา อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง ความคิดที่ผิด (อุจเฉททิฐิ) คือ เห็นว่าภพชาติไม่มี อันเป็นความความเห็นผิดที่ทำให้ไม่คำนึงถึงบาปบุญคุณโทษ เพราะความเห็นชนิดนี้เชื่อว่าชาติหน้าไม่มี คนเราตายแล้วสูญ จึงทำให้ปฏิบัติตนไปตามใจปรารถนาด้วยอำนาจของตัณหา โดยไม่กังวลถึงผลที่จะตามมาภายหลัง

ตัณหาในภพทั้ง ๓ นี้ คือ ธรรมที่เป็นเหตุแห่งทุกขสัจจะ เรียกว่า สมุทยสัจจะ เมื่อกล่าวโดยนัยแห่งพระอภิธรรมแล้ว สมุทยสัจจะ ได้แก่ โลภเจตสิก

๓. นิโรธสัจจะ เป็นชื่อของธรรมที่ดับทุกข์ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทุกขนิโรธ คำว่า “นิ” หมายถึง พ้น , ออก “โรธ” หมายถึง การท่องเที่ยวไป ฉะนั้น “นิโรธ” หมายถึงไม่มีการท่องเที่ยวไป “ทุกขนิโรธ” จึงหมายความว่า “ไม่มีการท่องเที่ยวไปในทุกข์” หรือ การไม่ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏฏ์ เพราะเป็นสัจจะที่ว่างจากคติ คือการเวียนเกิดเวียนตายในภพภูมิทั้งปวง องค์ธรรมของทุกขนิโรธสัจจะ ได้แก่ พระนิพพาน

๔. มัคคสัจจะ หมายถึง สภาวะที่นำออกจากสังสารวัฏฏ์ สภาวะที่เป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน สภาวะที่เห็นพระนิพพาน สภาวะที่เป็นใหญ่ในการเห็นพระนิพพาน มัคคสัจจะ เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้เข้าถึงพระนิพพาน จึงมีชื่อเรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นปฏิปทาเพื่อบรรลุความดับทุกข์นั่นเอง

มรรค ได้แก่ อัฏฐังคิกมรรค คือ องค์มรรค ๘ ที่มีหน้าที่ทั้งประหาณกิเลส จนบรรลุถึงพระนิพพาน
ด้วย องค์มรรค ๘ ได้แก่
    ๑) สัมมาทิฏฐิ
    ๒) สัมมาสังกัปปะ
    ๓) สัมมาวาจา
    ๔) สัมมากัมมันตะ
    ๕) สัมมาอาชีวะ
    ๖) สัมมาวายามะ
    ๗) สัมมาสติ
    ๘) สัมมาสมาธิ

หน้าที่ของอริยสัจทั้ง ๔ ประการ คือ
๑. ทุกขสัจจะ เป็นปริญเญยยกิจ คือ กิจที่ควรกำหนดรู้ หมายความว่า รูปนามขันธ์ ๕ โดย สภาวธรรม ๑๖๐ ประการ (คือ โลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ (เว้นโลภเจตสิก) รูป ๒๘

รวมเป็น ๑๖๐ ประการ) เป็นทุกขสัจ ที่จะต้องกำหนดรู้ เพราะธรรมทั้ง ๑๖๐ ประการนี้ เป็นผลที่เกิดจากเหตุ คือ สมุทัย

 ๒. สมุทยสัจจะ เป็นปหาณกิจ คือ กิจที่จะต้องละให้หมดไป หมายความว่า ตัณหา ๓ โดยสภาวะ ได้แก่ โลภเจตสิกนั้น เพียงแต่กำหนดรู้เท่านั้นไม่ได้ เพราะเป็นตัวเหตุให้เกิดทุกขสัจจะ ฉะนั้นจะต้องทำให้หมดสิ้นไป เมื่อสามารถทำให้หมดไปได้มากเท่าใด ทุกขสัจจะอันเป็นผลก็จะหมดสิ้นไปเท่านั้น

๓. นิโรธสัจจะ เป็นสัจฉิกิริยากิจ คือ เป็นธรรมที่ต้องทำให้แจ้ง ได้แก่ พระนิพพาน เป็นธรรมที่
ดับทุกข์ และดับตัณหานั้น มีหน้าที่จะต้องทำให้แจ้ง คือ เมื่อละตัณหาอันเป็นธรรมที่ควรละ จนตัณหาหมดไป จึงจะถึงพระนิพพาน

๔. มัคคสัจจะ เป็นภาวนากิจ คือ กิจที่จะต้องเจริญให้ยิ่งขึ้น มัคคสัจนี้เป็นผู้ทำงาน ไม่ใช่เป็นตัวอารมณ์กัมมัฏฐาน เพียงแต่จะกำหนดรู้เท่านั้นไม่ได้ เป็นเหมือนผู้เดินทางทีจะต้องเดินทางไปให้ถึงจุดหมาย คือ นิโรธสัจจะ ด้วยเหตุนี้ กิจของมัคคสัจจะจึงต้องปฏิบัติให้เกิดขึ้น ตามนัยแห่งพระสูตรสงเคราะห์ด้วยการปฏิบัติ สมถะและวิปัสสนา โดยนัยแห่งมหาสติปัฏฐานสงเคราะห์ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔

ฉะนั้น ภาวนากิจที่จะต้องทำให้เจริญขึ้นนั้น อาจเจริญสมถะกัมมัฏฐานให้ได้ฌานเสียก่อน แล้วมาเจริญวิปัสสนาภายหลังก็ได้ หรือจะเริ่มต้นจากการเจริญสติปัฏฐาน พิจารณา นามและรูป ให้วิปัสสนาญาณเกิดโดยตรงก็ได้ นี่คือการทำงาน หรือปฏิปทาในภาวนากิจของมัคคสัจ

ในอริยสัจ ๔ นี้ พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นธรรมที่เป็นไปเพื่อทุกข์ คือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วย ทุกขสัจจะกับสมุทยสัจจะ และ ธรรมที่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ คือ พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย คือ มัคคสัจจะและนิโรธสัจจะ

หนทางในการท่าให้เกิดปัญญาเพื่อให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์ มี ๒ ทาง คือ
๑. การศึกษาปริยัติศาสนา ให้เข้าใจทุกข์และสมุทัย ตลอดถึงขันธ์ อายตนะ ธาตุ และต้องเรียนรู้ ถึงนิโรธสัจจะและมัคคสัจจะว่าพระนิพพานมีสภาพอย่างไร และการแสวงหาพระนิพพานนั้น จะต้องอาศัยปฏิปทาอย่างไร ตลอดจนรู้นามรูปด้วยวิปัสสนาปัญญา

๒. ปัญญาที่เกิดพร้อมกับอริยมรรค ทำกิจในการประหาณกิเลส และให้รอบรู้อริยสัจจะทั้ง ๔ ประการทันที อันที่จริงปฏิเวธญาณ คือ ปัญญาที่เข้าไปแจ้งอริยสัจ ๔ นั้น จะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะ โลกุตตรปฏิเวธญาณเท่านั้น แต่โดยโวหารเทศนาก็สงเคราะห์เอาโลกียปฏิเวธ คือ เมื่อเรียนรู้ให้เข้าใจดีเสียก่อนแล้ว ก็ช่วยอุปการะแก่การปฏิบัติเพื่อแสวงหาโลกุตตรปฏิเวธญาณได้สะดวกยิ่งขึ้น ถ้าปราศจากการเรียนรู้ปริยัติศาสนาแล้ว ก็จะไม่รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ เป็นทุกข์อย่างไร อะไรเป็นผู้ทำให้เกิดทุกข์ และจะละเหตุให้เกิดทุกข์นั้นได้อย่างไร และความดับทุกข์จะมีสภาพอย่างไร ตลอดจนการบรรลุนิพพานเป็นอย่างไร




โพธิปักขิยสังคหะ หน้า ๒

 💬 กลับไป โพธิปักขิยสังคหะ หน้าแรก


หมวดที่ ๕ พละ ๕

พละ คือ กำลัง หมายถึงธรรมที่เป็นกำลังที่เป็นเครื่องต่อต้านอกุศลธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ เพราะว่าเมื่อใดที่กำลังคือพละ เกิดขึ้นในใจเมื่อนั้นอกุศลธรรมฝ่ายปฏิปักษ์ก็จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะธรรมที่เป็นกำลังนี้จะต้านทานไว้ ป้องกันไว้อย่างมั่นคนและแข็งแรง ไม่หวั่นไหว มิให้อกุศลธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ครอบงำได้

พละ ในหมวดของมิสสกสังคหะ ได้แสดงพละไว้ ๙ ประการ แต่พละในหมวดของโพธิปักขิยธรรมแสดงพละ ๕ ประการ คือ


๑. สัทธาพละ สัทธาเป็นความเชื่อ ความเลื่อมใ สในกุศลธรรมเป็นกำลัง ไม่หวั่นไหว ย่ำยีอกุศลธรรม คือ ตัณหา อันเป็นข้าศึกให้พินาศไป องค์ธรรมได้แก่ สัทธาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

๒. วิริยพละ วิริยะที่เป็นความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า ไม่หวั่นไหวและทำลายโกสัชชธรรม คือ ความเกียจคร้าน อันเป็นข้าศึกให้พินาศไป องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

๓. สติพละ สติที่เป็นความระลึกในอารมณ์สติปัฏฐาน มีกำลังตั้งมั่นไม่หวั่นไหวและทำลายความ
หลงลืมสติ อันเป็นข้าศึกให้พินาศไป องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

๔. สมาธิพละ สมาธิที่เป็นความตั้งใจมั่น ไม่หวั่นไหวในความฟุ้งซ่านอัน เป็นข้าศึกต่ออารมณ์กรรมฐาน องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

๕. ปัญญาพละ ปัญญาที่กำหนดรู้อารมณ์กรรมฐานตามความเป็นจริงไม่หวั่นไหว และทำลายความมืดมน ความหลงงมงาย อันเป็นข้าศึกให้พินาศไป องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต ๔ อัปปนาชวนะ ๒๖

พละธรรมทั้ง ๕ นี้ เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ เพื่อความรู้แจ้ง เพื่อการประหาณกิเลส เป็นกำลังภายใน ที่ทำให้ผู้นั้นมีกำลังใจเข้มแข็งไม่อ่อนแอ ไม่ย่อมให้ความไม่ศรัทธา ความเกียจคร้าน ความประมาท ความโง่ และความหลง ครอบงำย่ำยีจิตใจได้


หมวดที่ ๖ โพชฌงค์ ๗

โพชฌงค์ แปลว่า ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ เป็นเหตุแห่งการตรัสรู้อริยสัจ ๔ เป็นเหตุให้เกิดความรู้ยิ่ง โพชฌงค์นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์ แบ่งเป็น ๗ อย่าง คือ


๑. สติสัมโพชฌงค์ สติที่มีความเจริญ คือ ตั้งอยู่ได้ติดต่อกันในอารมณ์ของสติปัฏฐานทั้ง ๔ ด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาภาวนา แล้วทำลายความประมาท และทำให้สัมโพธิญาณ คือ มรรคทั้ง ๔ เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ และ อัปปนาชวนะ ๒๖

๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ปัญญาที่มีความเจริญ คือ รู้อยู่ในรูป นาม ขันธ์ ๕ และเห็นความเกิด ดับ ของรูปนาม ด้วยอำนาจวิปัสสนาภาวนา ทำลายโมหะ และทำให้สัมโพธิญาณ คือ มรรค ทั้ง ๔ เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต ๔ อัปปนาชวนะ ๒๖

๓. วิริยสัมโพชฌงค์ วิริยะที่มีความเจริญ คือ มีความพยายามอย่างแรงกล้าในการละอกุศล การป้องกันระวังไม่ให้อกุศลเกิด การทำให้กุศลใหม่เกิด การทำให้กุศลตั้งมั่นและเจริญขึ้น ด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาภาวนา แล้วทำลายโกสัชชะ คือความเกียจคร้านได้แล้วทำให้สัมโพธิญาณ คือ มรรคทั้ง ๔ เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่วิริยเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

๔. ปีติสัมโพชฌงค์ ปีติที่มีความเจริญ คือ มีความชื่นใจในอารมณ์ของวิปัสสนาภาวนา แล้วทำลายอรติ คือ ความไม่ยินดี และทำให้สัมโพธิญาณ คือ มรรคทั้ง ๔ เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่ ปีติเจตสิก ที่ประกอบในมหากุศลโสมนัส ๔ มหากิริยาโสมนัส ๔ สัปปีติกอัปปนาชวนะ ๓๐

๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือความสงบกายสงบใจ ในการเจริญสติปัฏฐานอยู่ในอารมณ์ของรูปนามด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ความสงบนี้เกิดขึ้นด้วยอำนาจของวิปัสสนาภาวนา สามารถทำลายความหยาบกระด้างทางกาย และทำลายความเร่าร้อนทางใจลงได้ ทำให้เข้าถึงสัมโพธิญาณ คือ มรรคทั้ง ๔ เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่ กายปัสสัทธิ และ จิตตปัสสัทธิที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ คือ สมาธิที่มีความเจริญ คือตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ของสติปัฏฐาน ด้วยอำนาจของการเจริญวิปัสสนาภาวนา จนสามารถทำลายความฟุ้งซ่าน และทำให้สัมโพธิญาณ คือ มรรคทั้ง ๔ เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่มีความเจริญ คือ ไม่ตกไปในอภิชฌาและโทมนัส ขณะที่วิปัสสนาญาณมีความเจริญมาก สามารถกระทำให้องค์ธรรมแห่งการตรัสรู้อริยสัจ ๔ ทำหน้าที่ของตน ๆ อย่างสม่ำเสมอ องค์ธรรมได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

เหตุเกิดโพชฌงค์ ๗
พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบว่า “ กายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร เมื่อไม่มีอาหารก็ดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด โพชฌงค์ ๗ ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร เมื่อไม่มีอาหารก็ดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหาร(เหตุ)ให้สติสัมโพชฌงค์ (ตลอดจน ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์………..อุเบกขาสัมโพชฌงค์) ที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้นหรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์ ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเป็นที่เหตุแห่งสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้สติสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์

จากพระพุทธพจน์ แสดงให้เห็นว่า “โยนิโสมนสิการ” ทำให้โพชฌงค์ทั้ง ๗ เกิดขึ้นได้ “โยนิโสมนสิการ” คือ การพิจารณาใส่ใจในอารมณ์ต่างๆ ที่มาปรากฏด้วยความแยบคาย พิจารณาไปตามลำดับไม่ละทิ้ง พิจารณาอยู่เนืองๆ พิจารณาอย่างจดจ้อง พิจารณาอย่างพิเศษ เพื่อให้สติเกิดขึ้น เพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ไปบังคับให้รู้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งโดยการไปกระทำขึ้นมาเอง เป็นสติที่กำหนดรู้อยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ ที่เป็นไปตามธรรมชาตินั่นเอง เช่น ไม่เดินแบบช้ามาก เพื่อให้สติระลึกรู้ได้ทัน อย่างนี้ไม่ถูกต้อง แต่ต้องเป็นโยนิโสมสิการ คือ การมีสติที่มีการกำหนดรู้อารมณ์ต่างๆ ที่มาปรากฏให้เห็นตามอาการสภาพปกติจึงจะเหมาะสม


หมวดที่ ๗ มรรคมีองค์ ๘

มรรค แปลว่า ทาง ในที่นี้หมายถึงทางปฏิบัติ หรือ ข้อปฏิบัติที่ทำให้เข้าถึงพระนิพพาน คือ ธรรมที่เป็นเครื่องดับทุกข์ เรียกอีกอย่างว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง อันหมายถึงข้อปฏิบัติที่ไม่สุดโต่ง กล่าวคือ ไม่ย่อหย่อนเกินไป และไม่เคร่งในทางที่ผิด มรรค แบ่งเป็น ๘ อย่าง คือ


๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ หมายถึงการเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ โดยกิจ ๔ 
เห็นแจ้งใน ทุกขสัจจะ โดย ปริญญากิจ (กำหนดรู้ ทุกขสัจ)
เห็นแจ้งใน สมุทยสัจจะ โดย ปหานกิจ (การละ สมุทัย)
เห็นแจ้งใน นิโรธสัจจะ โดย สัจฉิกรณกิจ (การรู้แจ้ง นิโรธ)
เห็นแจ้งใน มัคคสัจจะ โดย ภาวนากิจ (การเจริญมรรค)
องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต ๔ อัปปนาชวนะ ๒๖

๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ หมายถึง ความตรึกอยู่ในเรื่องราวที่เป็นกุศล องค์ธรรมได้แก่ วิตกเจตสิก ที่ประกอบในมหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ ปฐมฌานชวนะ ๑๐

๓. สัมมาวาจา การกล่าววาจาชอบ หมายถึง การเว้นจากวจีทุจริต ๔ ที่ไม่เกี่ยวกับอาชีพ คือ เว้นจากการพูดปด พูดส่อเสียด พูดหยาบคาย พูดเพ้อเจ้อ องค์ธรรมได้แก่ สัมมาวาจาเจตสิก ที่ประกอบในมหากุศลจิต ๘ โลกุตตรจิต ๘

๔. สัมมากัมมันตะ การทำการงานชอบ หมายถึง การเว้นจากกายทุจริต ๓ ที่ไม่เกี่ยวกับอาชีพคือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม องค์ธรรมได้แก่ สัมมากัมมันตเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ โลกุตตรจิต ๘

๕. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ หมายถึง ความเพียรพยายามในอารมณ์กรรมฐานตั้งแต่การเจริญสติปัฏฐานดำเนินไปตามสัมมัปปธาน ๔ และ การงดเว้นจาก กายทุจริต ๓ ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ องค์ธรรมได้แก่สัมมาอาชีวเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ โลกุตตรจิต ๘

๖. สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ หมายถึง ความเพียรพยายามในอารมณ์กรรมฐาน องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

๗. สัมมาสติ ความระลึกชอบ หมายถึง สติระลึกรู้อยู่แต่เฉพาะอารมณ์ของสติปัฏฐาน ๔ จนถึงมรรค ผล เป็นที่สุดเท่านั้น องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

๘. สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ หมายถึง ความตั้งใจมั่นในอารมณ์วิปัสสนากรรมฐาน องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

มิตรดีกับการเจริญอริยมรรค
การมีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี และผู้ปฏิบัติมีความเพียรอย่างดี ก็จะพากันขวนขวาย ชักชวนกันในการปฏิบัติ ซึ่งก็จะเป็นหนทางแห่งการเจริญอริยมรรคได้ ในปัจจุบันมิตรดีที่สุดก็ยังมีอยู่ มิตรนั้นก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มีอยู่ในพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม คำสอนนั้น ๆ เมื่อได้ศึกษาและปฏิบัติตามก็เป็นหนทางสู่ความดับทุกข์ได้ 

อริยมรรคมีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น
คำสอนเรื่องการพ้นทุกข์ ออกไปจากทุกข์ ออกไปจากการเวียนตายเวียนเกิด ออกไปจากสงสารวัฏ ออกไปจากวัฏฏะ มีอยู่เพียงในพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น มรรคมีองค์ ๘ เป็นหนทาง เป็นเส้นทางไปสู่ความดับทั้งหลาย ฉะนั้น เมื่อเราเป็นชาวพุทธได้พบพระพุทธศาสนา เป็นผู้สนใจในคำสอนของพระพุทธองค์ จงรีบขวนขวายในการศึกษาเล่าเรียนหลักคำสอนจากพระไตรปิฎก รีบขวนขวายปฏิบัติธรรม แม้ชีวิตปุถุชนอย่างเรา ๆ จะเต็มไปด้วยหนทางแห่งกิเลส แต่ถ้าเรายึดหลักข้อรักษากาย ประคองใจ ที่กล่าวไว้แล้วในโพธิปักขิยธรรมนี้ จะเป็นหนทางไปสู่เส้นทางสายนิพพานได้

ธรรมที่เป็นอุปการะมากเพื่อความเกิดขึ้นแห่งอริยมรรค ได้แก่
๑. กัลยาณมิตร ความเป็นผู้มีมิตรดี ดังที่ได้กล่าวแล้วในข้อมิตรดี
๒. ศีล ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เพราะว่าศีลเป็นบาทฐานแห่งสมาธิและปัญญา ศีลนั้นจะรักษากาย วาจาของผู้ปฏิบัติให้บริสุทธิ์ ก็เป็นเหตุให้จิตใจเบาสบาย เหมาะแก่การประพฤติธรรม
๓. ฉันทะ ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยฉันทะ คือการเป็นผู้มีความพอใจ ชอบใจ มุ่งหมายในเรื่องการเจริญมรรค
๔. มีตนถึงพร้อม ไม่บกพร่องเรื่องสุขภาพร่างกาย เมื่อกายพร้อมไม่เจ็บป่วยก็จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม
๕. มีความเห็นถูกต้อง การมีความเห็นถูกเป็นหนทางให้ถึงพระนิพพาน เพราะเมื่อมีความเห็นถูก การปฏิบัติก็จะปฏิบัติได้ถูกทาง ถ้ามีความเห็นผิดเสียแล้ว ก็อย่าหวังความสำเร็จในเรื่องการปฏิบัติธรรม เพราะเมื่อมีความเห็นผิดการปฏิบัติก็ผิดทาง ทำให้กลายเป็นมิจฉามรรค ความเห็นผิดอย่างนี้จะพาไปสู่นรกได้
๖. ไม่ประมาท คือไม่ประมาทในวัยว่ายังเด็กอยู่ ยังหนุ่มยังสาวอยู่ หรือประมาทโดยการผัดวันประกันพรุ่งอยู่เรื่อยไปไม่เร่งขวนขวายในการปฏิบัติ

บทสรุป สติปัฏฐาน ๔ สัมปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ ทั้งหมดนี้ คือ ธรรมเครื่องตรัสรู้รวมเป็น ๓๗ เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ธรรมแต่ละประการก็มีหน้าที่มีความสำคัญต่างกันไป แต่ทุกประการก็เอื้ออำนวยแก่การตรัสรู้ธรรมทั้งสิ้น 

วันพฤหัสบดี

๓. โพธิปักขิยสังคหะ (ธรรมที่จะทําให้เข้าถึงมรรคผล)

เรามักจะได้ยินคำกล่าวของผู้รู้อยู่เสมอว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความรู้” ซึ่งหมายความว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นโดยการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสนาที่เป็นบ่อเกิดแห่งความรู้ และตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความรู้ ถ้ากล่าวโดยเฉพาะคำสอนที่เป็นหลักสำคัญส่วนหนึ่งซึ่งจะทำให้เกิดความรู้นั้น ก็มีธรรมที่สำคัญ คือ โพธิปักขิยธรรม” ซึ่งแปลว่าธรรมฝ่ายให้เกิดความรู้ หรือ ธรรมที่สนับสนุนให้เกิดความรู้ และเป็นความรู้ที่ตรงด้วยพระพุทธประสงค์นั้น ได้แก่ ความรู้อริยสัจ เพราะความรู้นี้เป็นความรู้ที่สามารถทำลายกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้อย่างแท้จริง โดยเหตุนี้ โพธิปักขิยธรรม จึงเรียกได้ว่าเป็นธรรมที่เป็นอิสระจากกิเลส เป็นธรรมที่ไม่เป็นทาสของกิเลส และบุคคลผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมนี้ ก็ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่อิสระจากกิเลส ไม่เป็นทาสของกิเลส ผู้ประสงค์จะมีความรู้ ต้องการทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง จึงควรศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพุทธองค์ และโดยเฉพาะในหมวดโพธิปักขิยธรรมนี้

โพธิปักขิยสังคหะแบ่งเป็น ๗ หมวด มี ๓๗ ประการ  ดังนี้


หมวดที่ ๑ สติปัฏฐาน ๔

สติ แปลว่า ความระลึกได้ สตินั้น มีลักษณะเตือนใจให้ระลึกได้ ช่วยให้ไม่หลงลืม มีการคุ้มครองรักษาใจหรือทำใจให้จดจ้องอยู่กับอารมณ์ ฝ่ายดีกล่าวคือนามกับรูป อันเป็นที่ตั้งแห่งสติ ๔ ประการ คือ กาย เวทนา จิต และธรรม สติเป็นประดุจนายประตู เพราะคอยเฝ้ารักษาทวาร (ประตูทั้ง ๖ มี ตา หู เป็นต้น ) ทำให้ระลึกทันต่อรูปนามขันธ์ ๕ และสามารถละความเห็นผิดในรูปและนามว่า รูปเป็นของงาม เวทนาเป็นสุข จิตนี้เที่ยง และสภาพธรรมต่าง ๆ เป็นตัวตนได้ อันเป็นฐานที่จะก้าวไปสู่พระนิพพาน

สติเป็นธรรมที่มีคุณมาก สมดังที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า สติเป็นยอดแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะความไม่ประมาทนั้น ได้แก่ความไม่ปราศจากสติ สติปัฏฐานเป็นชื่อของสติที่มั่นคงอยู่เป็นนิจนั่นเอง สติเป็นกุศลเจตสิกที่เข้าประกอบกับกุศลจิต เป็นคุณธรรมสำคัญยิ่งช่วยให้สำเร็จประโยชน์ในทุกกรณี เพราะสติช่วยทำให้ระลึกสิ่งที่ทำ คำที่พูดไว้ แม้เป็นเวลานานได้ ช่วยให้มีความยับยั้งชั่งคิด ควบคุมการกระทำ การพูด การคิดให้เป็นระเบียบ สติยังช่วยปิดกั้นกระแสกิเลสตัณหาไม่ให้เกิดขึ้นเป็นสนิมในใจได้ และเป็นเครื่องปิดประตูบาปไว้มิให้บาปผ่านเข้าไปในจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเจริญสติปัฏฐาน ต้องมีสติเข้ากำกับทุกขณะ เพื่อให้จิตใจจดจ่ออยู่กับอารมณ์กรรมฐาน การที่จะให้มีสติเกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษาลักษณะของสติให้เข้าใจจึงจะทำให้สติเกิดขึ้นได้

ลักษณะของสติมี ๔ ประการ คือ

    ๑. มีความระลึกได้ในอารมณ์เนือง ๆ คือ มีความไม่ประมาท เป็นลักษณะ
    ๒. มีการไม่หลงลืม เป็นกิจ
    ๓. มีการรักษาอารมณ์ เป็นผล
    ๔. มีความจำอันมั่นคง เป็นเหตุใกล้

สตินั้นเป็นประดุจเชือกผูกจิตให้ติดอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน การเจริญสติอย่างย่อที่สุดก็คือ เมื่อมีสติก็ให้รู้ว่ากำลังมีสติ เมื่อหลงลืมสติก็ให้รู้ว่าหลงลืมสติ อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้กำลังเจริญสติปัฏฐานอยู่

สติปัฏฐานแบ่งเป็น ๔ อย่าง คือ

    ๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การมีสติตั้งมั่นอยู่ในการพิจารณาเนืองๆ ซึ่งกายอันเป็นรูปขันธ์มีลมหายใจเข้าออก อิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อย เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖ (คือ มหัคคกุศลจิต ๙ มหัคคกิริยาจิต ๙ โลกุตตรจิต ๘)
    ๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การมีสติตั้งมั่นในการพิจารณาเนืองๆ ซึ่งเวทนาอันเป็นเวทนาขันธ์มีสุข ทุกข์เฉย ๆ องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖
    ๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การมีสติตั้งมั่นในการพิจารณาเนือง ๆ ซึ่งจิตอันเป็นวิญญาณขันธ์ มีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบในมหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖
    ๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การมีสติตั้งมั่นในการพิจารณาเนือง ๆ ในนิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ โพชฌงค์ ๗ อริยสัจ ๔ โดยเป็นไปตามอาการของสภาวธรรมแต่ละอย่าง ๆ อันปราศจากตัวตน องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การมีสติตั้งมั่นในการพิจารณากายอันเป็นรูปขันธ์ เช่น ลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ เพราะว่าจิตเมื่อมีโลภะ โทสะ โมหะ ก็ทำให้มีลมหายใจเกิดขึ้นได้ เวลาที่จิตมีสติก็ทำให้มีลมหายใจเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นการเจริญกายานุปัสสนา จะต้องให้มีสติไปรู้ลมหายใจเข้า-ออกนั้น ในขณะที่มีสติไปกำกับในหายใจนั้น อย่างนี้ยังเป็นเพียงการเจริญสมถะ ยังไม่ใช่วิปัสสนา ต่อเมื่อพิจารณาเห็นการเกิด-ดับของลมหายใจ หรือเห็นไตรลักษณ์ของลมหายใจว่าลมหายใจนี้เป็นเพียงเป็นที่อาศัยระลึกของสติเท่านั้น ลมหายใจนี้เป็นเพียงรูป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตน และสติที่เข้าไปกำหนดรู้ลมหายใจนั้นก็เป็นเพียงนาม คือ สติเป็นเพียงสังขารขันธ์ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตน ถ้าพิจารณาได้อย่างนี้ จึงเป็นวิปัสสนา 

การที่พระพุทธองค์ทรงแสดงสติปัฏฐาน โดยจำแนกตามอารมณ์เป็น ๔ อย่างนั้น ก็เพื่อจะให้ผู้ปฏิบัติละวิปัลลาส คือความเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือความเข้าใจผิด ๔ อย่าง คือ

๑. สุภวิปัลลาส ความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าสวยว่างาม เพราะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความจริง ซึ่งความจริงนั้นร่างกายทุกส่วนไม่มีความสวยงาม เต็มไปด้วยสิ่งสกปรกทั้งสิ้น
๒. สุขวิปัลลาส ความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นสุข เมื่อเห็นว่าสุขเวทนาเป็นสุขที่แท้จริง ชื่อว่าสุขวิปัลลาส เพราะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความจริง ซึ่งความจริงนั้น เวทนาเป็นทุกข์ แม้สุขเวทนาก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะต้องแปรเปลี่ยนไป
๓. นิจจวิปัลลาส ความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นของเที่ยง ความเข้าใจว่าจิตใจเป็นของเที่ยง หรือวิญญาณเป็นของเที่ยงไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง
๔. อัตตวิปัลลาส ความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นอัตตา เข้าใจว่าธรรมทั้งหลาย(ขันธ์ ๕) เป็นอัตตา คือ เห็นไปว่า ขันธ์ ๕ เป็นตัวเป็นตนอย่างแท้จริง ชื่อว่าอัตตวิปัลลาส เพราะเป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความจริง ซึ่งความจริงนั้น ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา ที่เรียกกันว่าเป็นคนนั้นคนนี้เป็นเพียงสิ่งสมมติเท่านั้น

วิปัลลาส นั้น แต่ละอย่างยังแบ่งออกไปอีกอย่างละ ๓ ประเภท คือ สัญญาวิปัลลาส ความจำคลาดเคลื่อน จิตตวิปัลลาส ความคิดคลาดเคลื่อน ทิฏฐิวิปัลลาส ความเห็นคลาดเคลื่อนคือเห็นผิด จึงรวมเป็นวิปัลลาสทั้งสิ้นได้ ๑๒ อย่าง

สติปัฏฐานละวิปัลลาสธรรม ดังนี้
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขจัดสุภวิปัลลาส
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขจัดสุขวิปัลลาส
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขจัดนิจจวิปัลลาส
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขจัดอัตตวิปัลลาส


หมวดที่ ๒ สัมมัปปธาน ๔

สัมมัปปธาน แปลว่า ความเพียรกล้าแข็งโดยชอบ หมายความว่า เป็นความเพียรต่อกุศลธรรมอย่างแรงกล้า

สัมมัปปธาน แบ่งเป็น ๔ อย่าง คือ


๑. สังวรปธาน คือ เพียรพยายามป้องกันอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่วิริยเจตสิก ที่ประกอบในกุศลจิต ๒๑
๒. ปหาณปธาน คือ เพียรพยายามในการละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบในกุศลจิต ๒๑
๓. ภาวนาปธาน คือ เพียรพยายามสร้างกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบในกุศลจิต ๒๑
๔. อนุรักขณาปธาน คือ เพียรพยายามรักษาให้กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญยิ่งขึ้นไป องค์ธรรมได้แก่วิริยเจตสิก ที่ประกอบในกุศลจิต ๒๑

การที่จะไม่ให้กิเลสอกุศลทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ต้องรู้วิธี คือ ถ้าอยู่ในการทำวัตรต่าง ๆ เช่น สวดมนต์ กวาดลานวัด ช่วงนี้กิเลสก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย ในขณะกำลังศึกษาเล่าเรียนพระอภิธรรม พระไตรปิฎก พระบาลี อรรถกถา ในขณะนั้นกิเลสก็มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยหรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลย ในขณะที่เจริญสมถะวิปัสสนาที่เป็นข้อปฏิบัติที่ถูกต้องตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ในขณะนั้นกิเลสก็อาจจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น

การที่จะปลูกฝังสัมมัปปธานทั้ง ๔ ประการ มีข้อปฏิบัติดังนี้
๑. ปลูกฉันทะ คือ สร้างความพอใจในการทำกุศล
๒. พยายาม คือ ขะมักเขม้น ตั้งหน้าตั้งตาทำความเพียรในการเจริญกุศลต่าง ๆ
๓. ปรารภความเพียร คือ ต้องเริ่มลงมือปฏิบัติจริง ๆ เพียรทำอย่างมากไม่ท้อถอย
๔. ประคองจิต คือ ต้องประคับประคองใจ ค้ำชูใจไว้ในการทำความเพียรนั้น
๕. ตั้งความเพียรไว้ คือ ตั้งความอุตสาหะ ความบากบั่นไว้ให้มั่นคง
๖. ระลึกอยู่เสมอว่า คนจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร
๗. ระลึกอยู่เสมอว่า คนเกียจคร้านจะพ้นทุกข์ไม่ได้

สรุปว่า สัมมัปปธาน เป็นความเพียรชนิดเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ ชนิดเอาชีวิตเข้าแลก ความเพียรนั้นว่าโดยสภาวะก็เป็นเจตสิกธรรมประเภทปกิณณกะ ซึ่งเกิดประกอบกับจิตทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลได้ องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก อย่างเดียว แต่ความเพียรที่เป็นสัมมัปปธานที่จะเป็นบาทฐานแห่งการพ้นทุกข์ได้นั้น มุ่งเฉพาะความเพียรที่เป็นกุศลอย่างเดียวเท่านั้น


หมวดที่ ๓ อิทธิบาท ๔

อิทธิบาท แปลว่า ธรรมที่ทำให้สำเร็จความประสงค์ หมายความว่า เมื่อประสงค์สิ่งใด ถ้าได้อาศัยปฏิบัติตามอิทธบาทแล้ว ความประสงค์นั้นจะต้องสำเร็จอย่างแน่นอน

ธรรมที่เป็นอธิบดีที่ศึกษาผ่านไปแล้วกับธรรมที่เป็นอิทธิบาท องค์ธรรมเหมือนกัน แต่ธรรมที่เป็นอิทธิบาทจะเป็นธรรมมุ่งเพื่อมรรคผลนิพพานอย่างเดียว ฉะนั้นการมีความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า เช่น การเรียน การเล่นกีฬา การอ่านหนังสือ จัดเป็นอธิบดีเท่านั้น ไม่เป็นอิทธิบาท

อิทธิบาท แบ่งเป็น ๔ อย่าง คือ

๑. ฉันทิทธิบาท คือ ความพอใจอย่างแรงกล้า เป็นบาทเบื้องต้นแห่งความสำเร็จ ฌาน มรรค ผล องค์ธรรมได้แก่ฉันทเจตสิก ที่ประกอบในกุศลจิต ๒๑ ฉันทิทธิบาท ต้องมีความพอใจในกุศล ต้องชอบใจในการทำกุศล ต้องเป็นความพอใจชนิดที่ว่า ต้องส้องเสพ เจริญ ทำให้มาก จึงจะเป็นฉันทิทธิบาท ไม่ใช่ว่าพอใจในตอนแรก พอนานวันเข้าก็ละทิ้งเบื่อหน่ายท้อถอย อย่างนี้ไม่จัดเป็นฉันทิทธิบาท ฉะนั้น ฉันทะ คือความพอใจชนิดที่จะเป็นฉันทิทธิบาท จึงหมายเอาเฉพาะความพอใจชนิดที่เป็นบาทฐานแห่งการสำเร็จในฌาน มรรค ผล
๒. วิริยิทธิบาท คือ ความพยายามอย่างแรงกล้า เป็นบาทเบื้องต้นแห่ง ความสำเร็จฌาน มรรค ผล องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบในกุศลจิต ๒๑ วิริยะ ได้แก่ ความปรารภอย่างแรงกล้า ความเพียรทางใจ มีความพยายามอย่างแรงกล้าที่จะทำกุศล ต้องส้องเสพ เจริญ ทำให้มาก จึงจะเป็นอิทธิบาท
๓. จิตติทธิบาท คือ ความตั้งใจอย่างแรงกล้า เป็นบาทเบื้องต้นแห่งความสำเร็จ ฌาน มรรค ผล องค์ธรรมได้แก่ กุศลจิต ๒๑ จิตตะ ได้แก่ สิ่งที่รู้จักนึก รู้จักคิด นั่นก็คือใจ ซึ่งเป็นมโนวิญญาณธาตุ เป็นการนึก คิด ที่จะเจริญธรรมที่เป็นกุศลอย่างชนิดแรงกล้า ต้องส้องเสพ เจริญ ทำให้มาก จึงจะเป็นอิทธิบาท
๔. วีมังสิทธิบาท คือ ปัญญาอย่างแรงกล้า เป็นบาทเบื้องต้นแห่งความสำเร็จ ฌาน มรรค ผล องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ประกอบในกุศลญาณสัมปยุตตจิต ๑๗ วีมังสา ได้แก่ ปัญญา ต้องเป็นปัญญาชนิดที่เป็นความรู้ชัด ไม่หลง ซึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิ ปัญญานี้ก็จัดเป็นองค์มรรคด้วย เมื่อปัญญาเกิดขึ้นในการทำกุศลชนิดที่มีความแรงกล้า ก็จัดได้ว่าได้เจริญองค์มรรคด้วย


หมวดที่ ๔ อินทรีย์ ๕

อินทรีย์ แปลว่า ความเป็นใหญ่ ความมีอำนาจ ได้แก่ คุณธรรมที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ในการปราบปรามอกุศลธรรมที่เป็นปฏิปักษ์แก่ตน นั่นคือ เมื่ออบรมอินทรีย์ให้แก่กล้าแล้ว อินทรีย์ก็จะมีอำนาจปราบปรามขจัดอกุศลธรรมให้พินาศไป อกุศลธรรมที่เป็นปฏิปักษ์แก่อินทรีย์นั้น ได้แก่ ความไม่มีศรัทธา เช่น ไม่เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น ความเกียจคร้านในการปฏิบัติธรรมหรือประกอบการงาน ความประมาทเลินเล่อ เผลอสติ ความฟุ้งซ่านแห่งจิตใจ ตลอดจนความหลง ความโง่ ถ้ามีการอบรมอินทรีย์อย่างแก่กล้าแล้ว ย่อมสามารถปราบปรามอกุศลธรรมเหล่านี้ได้ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า อินทรีย์นี้ เป็นธรรมปกครองจิตใจ ทำให้จิตใจมีอำนาจเหนือกิเลสได้ ฉะนั้น จึงเรียกว่า อินทรีย์ คือ คุณธรรมที่มีอำนาจยิ่งใหญ่

๑. สัทธินทรีย์ ศรัทธาเป็นผู้ปกครองในความเลื่อมใสต่อสิ่งที่ควรเลื่อมใส ได้แก่ ความเลื่อมใสในสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา มีการปฏิบัติที่จะดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ องค์ธรรมได้แก่ สัทธาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖ สัทธินทรีย์ คือ ความเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เชื่อว่าพระพุทธองค์เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว ผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกคนชั้นยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ กล่าวโดยรวม สัทธินทรีย์ อินทรีย์คือศรัทธา (ความเชื่อ)
๒. วิริยินทรีย์ วิริยะเป็นผู้ปกครองในความพยายามต่ออารมณ์ในการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาอย่างแรงกล้า องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖ วิริยินทรีย์ คือ ความเป็นผู้มีความเพียร เป็นผู้มีความเข้มแข็ง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลายเพื่อเลิกละอกุศลธรรม เพื่อทำให้กุศลธรรมทั้งหลายได้เกิดขึ้น บุคคลที่ทำให้ฉันทะเกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งความเพียรไว้ เพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ตลอดจนเพื่อให้กุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น อย่างนี้เป็นความเพียรพยายามให้กุศลธรรมทั้งหลายเจริญบริบูรณ์ อย่างนี้เรียกว่า วิริยินทรีย์ อินทรีย์คือวิริยะ (ความเพียร)
๓. สตินทรีย์ สติเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการระลึกถึงอารมณ์กรรมฐาน ได้แก่ รูป นาม ขันธ์ ๕ องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖
๔. สมาธินทรีย์ สมาธิเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการกระทำจิตให้ตั้งมั่นในอารมณ์กรรมฐาน องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖ สมาธินทรีย์ คือ ความแน่วแน่แห่งจิต ผู้เจริญสมาธิจนบรรลุผลของสมาธิ จะทำให้จิตเป็นหนึ่ง แน่วแน่ในอารมณ์ ทำให้บรรลุฌานขั้นต่าง ๆ ได้ และสำหรับผู้เจริญวิปัสสนา สมาธิก็เป็นบาทฐานของผู้ที่จะเจริญปัญญาให้เกิดขึ้น เพราะสมาธิเป็นเหตุใกล้ของปัญญา
๕. ปัญญินทรีย์ ปัญญาเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรู้ตามความเป็นจริงของอารมณ์กรรมฐาน ได้แก่ รูปนาม ขันธ์ ๕ เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต ๔ อัปปนาชวนะ ๒๖ ปัญญินทรีย์ คือ ความกำหนดรู้ความเป็นจริง รู้ความเกิดขึ้นและความดับไปของรูปและนาม อันเป็นปัญญาขั้นอริยะ เป็นปัญญาเครื่องทำลายกิเลส เป็นปัญญาให้ถึงความสิ้นทุกข์ เมื่อปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้น ผู้นั้นย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้สมุทัย ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้นิโรธ ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่านี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ (มรรค) นี้เรียกว่า ปัญญินทรีย์

อินทรีย์ทั้ง ๕ พระพุทธองค์ทรงแสดงสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมระดับสูง คือระดับพระอริยบุคคล

สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมระดับต้นและผู้ประกอบกิจการอื่น ๆ ก็ขอให้พยายามปฏิบัติไป ผู้ที่ประสงค์จะปราบปรามอกุศลธรรม เช่น ความไม่มีศรัทธา ความเกียจคร้าน เป็นต้น ก็ต้องพยายามอบรมอินทรีย์ให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่ออกุศลธรรมทั้งหลายถูกปราบปรามแล้ว การเจริญกุศลก็จะทำได้ดีต่อเนื่อง สำหรับผู้ที่เจริญกุศลธรรม เมื่อมีศรัทธาแล้วย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดคุณธรรมอื่น ๆ ได้ แต่ศรัทธานั้นต้องเป็นศรัทธาที่มีเหตุผล ไม่ใช่ศรัทธาแบบเชื่องมงาย

ศรัทธาที่มีเหตุผลมี ๔ อย่าง คือ
๑. กัมมสัทธา เชื่อกรรม
๒. วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม
๓. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์โลกมีกรรมเป็นของตน
๔. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

    ๑. กัมมสัทธา เป็นความเชื่อว่า คนเราเกิดมามีสุขมีทุกข์ ย่อมเนื่องมาจากเหตุปัจจัย มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาเฉย ๆ โดยไม่มีเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยในที่นี้ได้แก่กรรม คือการกระทำทางกาย วาจา ใจ หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เมื่อพบผลแล้ว เชื่อว่ามาจากเหตุคือกรรม ในเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อกรรมและเชื่อผลของกรรม คือ บางคนอาจจะเข้าใจดิ่งลงไปว่าการที่ได้รับทุกข์ ถูกกดขี่ข่มเหง ถูกเบียดเบียนหรือประหัตประหารนั้นเป็นเพราะกรรมของตนอย่างเดียว กรรมของคนอื่นไม่มี และบางคนอาจจะเชื่อดิ่งลงไปในทางตรงกันข้ามกับคนประเภทแรก โดยเชื่อว่า กรรมของคนอื่นต่างหากที่ทำให้ตนเองเดือดร้อน เพราะคนเรารักตนจะทำให้ตนเดือดร้อนได้อย่างไร คนที่เชื่อดิ่งลงไปฝ่ายเดียวจัดเป็นพวกที่มีความคิดเห็นคลาดเคลื่อน อันที่ถูกนั้นจะต้องถือว่าชีวิตของคนต้องเป็นไปตามกรรม อาจเป็นกรรมของตนเองโดยเฉพาะก็ได้ เป็นเพราะกรรมของคนอื่นก็ได้ หรือเป็นเพราะกรรมทั้งของตนเองและของผู้อื่นก็ได้ ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงจำแนกบุคคลในโลกไว้เป็น ๔ จำพวก ตามลักษณะที่ประกอบกรรมต่าง ๆ กัน คือ
๑. ผู้ประกอบกรรม ที่ทำให้ตนเดือดร้อน
๒. ผู้ประกอบกรรม ที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
๓. ผู้ประกอบกรรม ที่ทำให้ตนเองและคนอื่นเดือดร้อน
๔. ผู้ประกอบกรรม ที่ไม่ทำให้ตนเองและคนอื่นเดือดร้อน

    ๒. วิปากสัทธา เป็นความเชื่อว่าสิ่งที่เราทำ คำพูดที่เราพูด และสิ่งที่เราคิดทุกอย่างเป็นกรรม คือเป็นกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม และเชื่อว่ากรรมนั้นจะต้องให้ผลแก่ผู้ทำอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว สุดแท้แต่แรงกรรม ทำกรรมไว้อย่างไร จะต้องได้รับผลเป็นอย่างนั้น ทำกรรมดี ต้องได้รับผลดี ทำกรรมชั่ว ต้องได้รับผลชั่ว เหมือนหว่านพืชอย่างใด ปลูกพืชชนิดใด ก็ต้องได้รับผลอย่างนั้น ความเชื่อว่าผลของกรรมมีจริง จะทำให้เข้าใจความจริงที่เกิดขึ้นว่าทุกข์ที่เกิดขึ้น ลาภ ยศ สักการะ ชื่อเสียงอะไรต่าง ๆ มันเป็นผลเกิดขึ้นมาจากกรรม คือ การกระทำ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจมาดลบันดาล ไม่ใช่เรื่องอำนาจของดวงดาวต่าง ๆ อำนาจลี้ลับต่าง ๆ คือเชื่อมั่นว่า ความสุข ความทุกข์ต่าง ๆ นี้ เกิดมาจากกรรมอย่างแน่นอน การเห็น การได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส เป็นวิบาก คือเป็นผลของกรรมทั้งนั้น

เรื่องหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องของเหตุของผล ไม่มีคำว่าบังเอิญ ไม่มีการเกิดขึ้นลอย ๆ โดยการขาดเหตุขาดปัจจัย ต้องมีเหตุทั้งนั้น ฉะนั้น เราก็อนุมานเอาได้ว่า เมื่อผลเป็นอย่างไร เหตุก็ต้องสอดคล้องกับผลอย่างนั้น ในเมื่อเราได้ยินเสียงด่า เขาด่าว่ามา เราก็รู้แล้วว่านี้เป็นผลของบาป แสดงว่าเราคงด่าเขาไว้ ตอนนี้เป็นผลของบาปเกิดขึ้น ก็จะทำให้ไม่ต้องโกรธใคร รู้ว่ากำลังใช้หนี้อยู่ การทำใจให้ยอมรับวิบากที่เกิดขึ้นนี้จะช่วยลดความโกรธลงไป เมื่อได้รับอารมณ์ที่ดี ก็ให้รู้ว่านี้เป็นผลบุญ ได้ฟังเสียงไพเราะ ได้กลิ่นหอม ได้อาหารอร่อย ได้สัมผัสดี ก็รู้ว่านี้เป็นผลบุญ การทำใจให้เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม จะทำให้ลดความโลภ ความโกรธ ความหลง ลงได้บ้าง

    ๓. กัมมัสสกตาสัทธา เป็นความเชื่อว่าทั้งกรรมทั้งผลของกรรมนั้น จะต้องเป็นของผู้กระทำเชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน เชื่อว่าเมื่อทำสิ่งใดไปแล้วจะปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ พูดไปแล้วจะปฏิเสธว่าไม่ได้พูด คิดไปแล้วจะปฏิเสธว่าไม่ได้คิดไม่ได้ ปฏิเสธเมื่อใดก็เป็นการโกหกเมื่อนั้น เพราะเป็นการปฏิเสธความจริงและเมื่อกรรมนั้นให้ผลก็จะต้องรับผลกรรมนั้นอย่างแน่นอน จะหลีกเลี่ยงไม่ได้

    ๔. ตถาคตโพธิสัทธา เป็นความเชื่อว่าพระพุทธองค์ ทรงเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ พระปัญญาของพระพุทธองค์ประเสริฐยิ่งกว่าปัญญาของใครๆ ในพื้นพิภพ คำสอนของพระพุทธองค์เป็นคำสอนที่เป็นหนทางไปสู่ความดับทุกข์ได้จริง

การเกิดขึ้นของอินทรีย์ ๕
อินทรีย์ ๕ นั้น เกิดขึ้นได้ ดังนี้
๑. สัทธินทรีย์ ปรากฏที่ องค์คุณของพระโสดาบัน ๔
๒. วิริยินทรีย์ ปรากฏที่ สัมมัปปธาน ๔
๓. สตินทรีย์ ปรากฏที่ สติปัฏฐาน ๔
๔. สมาธินทรีย์ ปรากฏที่ ฌาน ๔
๕. ปัญญินทรีย์ ปรากฏที่ อริยสัจ ๔

    ๑. ศรัทธา จะปรากฏชัด คือความเชื่อสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อเป็นศรัทธาของพระโสดาบัน ซึ่งมีองค์คุณ ๔ ประการ คือ
        ๑.๑ เลื่อมใสในพระพุทธรัตนะ อย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหว
        ๑.๒ เลื่อมใสในพระธรรมรัตนะ อย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหว
        ๑.๓ เลื่อมใสในพระสังฆรัตนะ อย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหว
        ๑.๔ มีศีลบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่ด่าง ไม่พร้อย
    ๒. วิริยะ จะปรากฏชัด เมื่อปรารภสัมมัปปธาน ๔ กล่าวคือ เมื่อใช้ความเพียรตามหลักของสัมมัปปธาน ๔
    ๓. สติ จะปรากฏชัด เมื่อใช้กำหนดสติปัฏฐาน ๔ กล่าวคือ สติที่เกิดขึ้นเพราะปรารภสติปัฏฐาน ๔ ย่อมเป็นสติที่ปรากฏชัด
    ๔. สมาธิ จะปรากฏชัด เมื่อได้บรรลุฌาน ๔ กล่าวคือ สมาธิที่เกิดขึ้นเพราะได้บรรลุฌาน ๔ ย่อมเป็นสมาธิที่ปรากฏชัด
    ๕. ปัญญา จะปรากฏชัด เมื่อเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ กล่าวคือ เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ เมื่อใด ปัญญาก็ปรากฏชัดเมื่อนั้น

อินทรีย์ทั้ง ๕ ควรมีเสมอกันหรือไม่
อินทรีย์ ๕ เป็นคุณธรรมที่สำคัญในการประคองใจ เพื่อให้ใจมีอำนาจเหนืออกุศลธรรม มีความไม่เชื่อ ความไม่มีศรัทธา เป็นต้น อินทรีย์ ๕ จะมีประสิทธิภาพสูงในการปราบปรามอกุศลกรรม ก็จะต้องมีความสมดุลกัน ฉะนั้นจึงต้องปรับอินทรีย์ให้สม่ำเสมอกันสมดุลกัน ดังนี้

    สัทธินทรีย์ กับ ปัญญินทรีย์ ควรมีกำลังเสมอกัน
    สมาธินทรีย์ กับ วิริยินทรีย์ ควรมีกำลังเสมอกัน

บุคคลที่มีสัทธินทรีย์มีกำลังกล้า อินทรีย์อีก ๔ อย่างมีกำลังอ่อนกว่า อินทรีย์ ๔ ที่เหลือ ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนให้สำเร็จได้ กล่าวคือ วิริยินทรีย์ จะไม่สามารถทำหน้าที่ประคองใจให้ขะมักเขม้นได้ สตินทรีย์ ก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ควบคุมใจให้จดจ้องอยู่กับอารมณ์ได้ สมาธินทรีย์ ก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ระงับใจไม่ให้ฟุ้งซ่านได้ และ ปัญญินทรีย์ ก็จะไม่สามารถทำหน้าที่เห็นสภาพธรรมโดยแจ่มแจ้งได้

เพราะฉะนั้น เมื่อสัทธินทรีย์มีกำลังแก่กล้ากว่าอินทรีย์อื่น ๆ เช่นนี้ จึงควรปรับสัทธินทรีย์ให้อ่อนลงเสมอกับอินทรีย์อื่น ๆ โดยพิจารณาสภาวธรรมตามความจริง หรือโดยไม่เอาใจใส่กับอารมณ์ที่จะเป็นเหตุให้สัทธินทรีย์มีกำลังแก่กล้ากว่า

บุคคลที่มีศรัทธามากแต่ปัญญาน้อย ก็จะกลายเป็นคนหลงงมงายได้ง่าย มักจะเลื่อมใสในสิ่งต่าง ๆและเป็นเหตุให้เลื่อมใสในสิ่งที่ไม่ควรเลื่อมใสได้ ส่วนบุคคลที่มีปัญญามากแต่ศรัทธาน้อย ก็มักจะเป็นคน เกเรดื้อรั้น ยากที่จะแก้ไขได้ คนที่มีปัญญามาก เมื่อคิดเลยเถิดไปว่า บุญกุศลย่อมมีได้ ด้วยเหตุเพียงคิดขึ้นในใจเท่านั้น จึงไม่กระทำบุญ เช่นการบริจาคทานเป็นต้น เหล่านี้จะเป็นเหตุให้การทำกุศลไม่ถึงพร้อม แต่ถ้าสัทธินทรีย์กับปัญญินทรีย์สม่ำเสมอกันทั้งสองอย่าง บุคคลจึงจะเลื่อมใสในสิ่งที่ควรเลื่อมใส เจริญกุศลทุกอย่างได้อย่างดียิ่ง สมบูรณ์ ดีพร้อม ฉะนั้น จึงควรปรับสัทธินทรีย์กับปัญญินทรีย์ให้สม่ำเสมอกัน

สมาธิและความเพียร ก็ควรมีกำลังเสมอกัน เพราะบุคคลใดมีสมาธิมากแต่มีความเพียรน้อย จะทำให้ง่วงเหงาหาวนอน เกิดความเซื่องซึมได้ ส่วนบุคคลใดมีความเพียรมากแต่มีสมาธิน้อยจะทำให้ฟุ้งซ่านได้ฉะนั้นจึงควรปรับสมาธินทรีย์กับวิริยินทรีย์ให้สม่ำเสมอกัน ส่วนสตินทรีย์นั้นมีมากเท่าใดยิ่งดี ไม่ต้องปรับลดแต่ควรมีให้มากเพราะจะทำให้จิตรู้เท่าทันตลอดเวลาไม่หลงลืม


💬 อ่านต่อ โพธิปักขิยสังคหะ หน้าต่อไป