แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หมวดที่ ๘ สมุจจยสังคหะ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หมวดที่ ๘ สมุจจยสังคหะ แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธ

มิสสกสังคหะ หน้า ๒

💬ย้อนกลับ มิสสกสังคหะ  (ธรรมที่เป็นเหตุของการทำบุญ, ทำบาป, อพยากตะ) หน้าแรก

อินทรีย์ ๒๒

อินทรีย์หมายถึง ความเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครอง ธรรมใดที่เกิดขึ้นพร้อมกับตน ต้องเป็นไปตามอำนาจปกครองของตน ในการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส และการรู้ถูกต้องสัมผัสนั้น มีธรรมที่เป็นอินทรีย์ อยู่หลายประการ

เช่น การเห็น มี จักขุปสาทรูปเป็นอินทรีย์ เรียกว่า จักขุนทรีย์ เพราะเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรับรูปารมณ์ ถ้าไม่มีจักขุปสาทรูปแล้ว รูปอื่น ๆ จะไม่สามารถรับรูปารมณ์ได้เลย นอกจากจักขุนทรีย์แล้ว รูปชีวิตินทรีย์ ยังเป็นผู้ปกครองรักษา กัมมชรูป รวมทั้งจักขุปสาทรูปที่เกิดพร้อมกับตนด้วย แล้ว มนินทรีย์ คือ จักขุวิญญาณ เป็นผู้ปกครองในการเห็นรูปารมณ์ ดังนี้เป็นต้น นี่คือตัวอย่างในการเห็น โดยมีธรรมที่เป็นอินทรีย์เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันได้

หลายอินทรีย์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีแบ่งหน้าที่ โดยมีหัวหน้าเป็นผู้ปกครองนั่นเองในการได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้ถูกต้องสัมผัส นึกคิดอารมณ์ ก็ล้วนแต่มีอินทรีย์เกิดขึ้นในทำนองเดียวกันนี้ ซึ่งทุก ๆ อินทรีย์ก็มีหน้าปกครอง หรือกระทำสภาวธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับตนให้เป็นไปตามอำนาจของตนด้วย

    ๑)จักขุนทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรับ รูปารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ จักขุปสาทรูป
    ๒) โสตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรับ สัททารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ โสตปสาทรูป
    ๓) ฆานินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรับ คันธารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ ฆานปสาทรูป
    ๔) ชิวหินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรับ รสารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ ชิวหาปสาทรูป
    ๕) กายินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรับ โผฏฐัพพารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ กายปสาทรูป
    ๖)อิตถินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน ความเป็นหญิง องค์ธรรมได้แก่ อิตถีภาวรูป
    ๗) ปุริสินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน ความเป็นชาย องค์ธรรมได้แก่ ปุริสภาวรูป
    ๘) ชีวิตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การรักษารูป-นาม องค์ธรรมได้แก่ ชีวิตรูป และ ชีวิตินทรีย์เจตสิก
    ๙) มนินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การรู้อารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ จิตทั้งหมด
    ๑๐) สุขินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การเสวยความสุขกาย องค์ธรรมได้แก่ เวทนาเจตสิก ที่ในสุขสหคตกายวิญญาณจิต ๑
    ๑๑) ทุกขินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การเสวยความทุกข์กาย องค์ธรรมได้แก่ เวทนาเจตสิก ที่ในทุกขสหคตกายวิญญาณจิต ๑
    ๑๒) โสมนัสสินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การเสวยความสุขใจ องค์ธรรมได้แก่ เวทนาเจตสิก ที่ในโสมนัสสหคตจิต ๖๒
    ๑๓) โทมนัสสินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การเสวยความทุกข์ใจ องค์ธรรมได้แก่ เวทนาเจตสิก ที่ในโทมนัสสหคตจิต ๒
    ๑๔) อุเปกขินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การเสวยอารมณ์เป็นกลาง องค์ธรรมได้แก่ เวทนาเจตสิก ที่ในอุเบกขาสหคตจิต ๕๕
    ๑๕) สัทธินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน ความเชื่อต่อสิ่งที่ควรเชื่อ องค์ธรรมได้แก่ สัทธาเจตสิก
    ๑๖) วิริยินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน ความเพียรต่ออารมณ์ องค์ธรรมได้แก่วิริยเจตสิก ที่ในวิริยสัมปยุตตจิต ๑๐๕
    ๑๗) สตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การระลึกชอบ องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๙๑
    ๑๘) สมาธินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การตั้งใจมั่นในอารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ในจิต ๗๒ (เว้นอวิริยจิต ๑๖)
    ๑๙) ปัญญินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในญาณสัมปยุตตจิต ๔๗ หรือ ๗๙
    ๒๐) อนัญญาตัญญัสสามิตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ที่ตนยังไม่เคยรู้ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในโสดาปัตติมัคคจิต ๑
    ๒๑ )อัญญินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ที่ตนเคยรู้ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในมรรคจิตเบื้องบน ๓ และผลจิตเบื้องต่ำ ๓
    ๒๒)อัญญาตาวินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ สิ้นสุดแล้ว องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในอรหัตตผลจิต ๑ 


พละ ๙

พละ คือ กำลัง หมายถึง ธรรมที่มีกำลัง ไม่หวั่นไหวต่อปฏิปักษ์ธรรม ธรรมที่เป็นอกุศลย่อมเป็นปฏิปักษ์กับธรรมที่เป็นกุศล ฉะนั้น เมื่อกุศลธรรมเกิดขึ้น ย่อมไม่หวั่นไหวในการที่จะทำหน้าที่ทำลายอกุศลธรรม เช่น เมื่อสัทธาพละ เกิดขึ้น ก็จะทำลาย อสัทธิยะ ให้หายสิ้นไป เมื่อ หิริกพละ คือความละอายต่อบาปทุจริตกรรม เกิดขึ้นก็จะทำลาย อหิริกะพละ คือ ความไม่ละอายต่อบาปอกุศลกรรมให้หมดสิ้นไปเช่นกัน

พละ มี๙ ประการ 



๑) สัทธาพละ
ความเชื่อความเลื่อมใสต่อสิ่งที่ควรเชื่อ หมายถึง เชื่อในการทำกุศลความดี เลื่อมใสในคุณ
ของพระพุทธเจ้า เลื่อมใสในข้อประพฤติปฏิบัติที่เป็นหนทางสู่ความดับทุกข์ องค์ธรรมได้แก่ สัทธาเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑
๒)วิริยพละ ความเพียรพยายามเป็นกำลัง หมายถึง ความเพียรกระทำการงานต่าง ๆ เพียรในการเจริญวิปัสสนา องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ในวิริยสัมปยุตตจิต ๑๐๕
๓) สติพละ ความระลึกได้ในอารมณ์ที่เป็นฝ่ายดีเป็นกำลัง หมายถึงการมีสติระลึกในอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งแห่งกุศลทั้งปวง องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑
๔) สมาธิพละ ความตั้งใจมั่นในอารมณ์เดียวเป็นกำลัง องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ในจิต๑๐๔ (เว้นอวิริยจิต ๑๖ และวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต๑)
๕) ปัญญาพละ ความรู้ที่ถูกต้องตามสภาวธรรมเป็นกำลัง องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในญาณสัมปยุตตจิต ๗๙
๖) หิริพละ ความละอายต่อบาปเป็นกำลัง องค์ธรรมได้แก่ หิริเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๙๑
๗) โอตตัปปพละ ความสะดุ้งกลัวต่อทุจริตเป็นกำลัง องค์ธรรมได้แก่ โอตตัปปเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๙๑
๘)อหิริกพละ ความไม่ละอายต่อทุจริตเป็นกำลัง องค์ธรรมได้แก่ อหิริกเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒
๙)อโนตตัปปพละ ความไม่สะดุ้งกลัวต่อทุจริตเป็นกำลัง องค์ธรรมได้แก่ อโนตตัปปเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒


อธิบดี ๔

อธิบดี คือ ธรรมที่เป็นใหญ่เป็นผู้นำที่ทำให้เกิดความสำเร็จ หมายถึง ธรรมที่เป็นใหญ่กว่าธรรมที่ร่วมกันกับตน ธรรมที่เป็นใหญ่ที่ทำให้เกิดความสำเร็จ มี๒ อย่าง คือ ความเป็นใหญ่โดยความเป็นอินทรีย์ กับ ความเป็นใหญ่โดยความเป็นอธิบดี

ความเป็นใหญ่ทั้ง ๒ นี้มีความต่างกัน กล่าวคือ ความเป็นใหญ่โดย อินทรีย์ นั้น ในขณะเกิดขึ้นย่อมเกิดพร้อม ๆ กันได้หลายอินทรีย์ โดยไม่ขัดกัน เพราะธรรมชาติของอินทรีย์ย่อมเป็นใหญ่ ปกครองเฉพาะในหน้าที่ของตน ไม่ก้าวก่ายขัดแย้งกับอินทรีย์อื่นใด ส่วนความเป็นใหญ่โดย อธิบดี มีสภาพเป็นใหญ่ยิ่งกว่าธรรมที่เกิดพร้อมกับตน ฉะนั้นเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดเป็นอธิบดีได้เพียงอย่างเดียว เช่น ในขณะที่ ฉันทะ เป็นอธิบดี คือมีความพอใจอย่างแรงกล้าเกิดขึ้นแล้ว วิริยะ จิต และปัญญา ก็ต้องคล้อยตาม ฉันทะ ไปในอารมณ์เดียวกันด้วย ดังนั้น ความเป็นใหญ่โดยความเป็น อินทรีย์ เกิดขึ้นในคราวเดียวกันได้หลาย ๆ อินทรีย์อย่างไม่ขัดกัน ส่วนความเป็นใหญ่โดยความเป็น อธิบดี นั้น ในคราวหนึ่ง ๆ เป็นอธิบดีได้อย่างเดียว อย่างอื่นเป็นอธิบดีไม่ได้

    ๑) ฉันทาธิปติ หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน ความพอใจ คือ ความพอใจเพื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ เช่น พอใจในการอ่านหนังสือ พอใจในการเล่นกีฬา พอใจในการทำบุญใส่บาตร พอใจในการเจริญวิปัสสนา เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ ฉันทเจตสิก ที่ในทวิเหตุกชวนะ ๑๘ และ ติเหตุกชวนะ ๓๔ รวมเรียกว่า สาธิปติชวนจิต ๕๒
    ๒)วิริยาธิปติ หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน ความเพียร คือ ความเพียรมุ่งเพื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จตามที่ตั้งใจ เช่น มีความเพียรในการเรียน มีความเพียรในการเจริญวิปัสสนา เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิกที่ในทวิเหตุกชวนะ ๑๘ และ ติเหตุกชวนะ ๓๔ รวมเรียกว่า สาธิปติชวนจิต ๕๒
    ๓) จิตตาธิปติ หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การรับอารมณ์ เป็นการจดจ่อต่ออารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่สนใจ ทำให้ไม่หวั่นไหวไปในอารมณ์อื่น ๆ เช่น มีความสนใจที่จะฟังเสียงเพลง มีความสนใจที่จะฟังเสียงธรรมะ เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ ทวิเหตุกชวนจิต ๑๘ และ ติเหตุกชวนจิต ๓๔ รวมเรียกว่า สาธิปติชวนจิต ๕๒
    ๔) วีมังสาธิปติ หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การรู้แจ้งตามความเป็นจริง เป็นสภาพของปัญญาที่เกิดขึ้นเพื่อการรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในติเหตุกชวนจิต ๓๔

🔰 ธรรมที่เป็นอธิบดีนั้นต้องเป็นชวนจิต*
ซึ่งเป็นเฉพาะชวนจิตที่มีเหตุ ๒ กับชวนจิตที่มีเหตุ ๓ รวม
เรียกว่า สาธิปติชวนจิต (ชวนจิตมีทั้งหมด ๕๕ เว้นอเหตุกชวนจิต และ เอกชวนจิต ไม่เป็นอธิบดี) มีรายละเอียดดังนี้


จากองค์ธรรมของ สาธิปติชวนะ ทำให้ทราบได้ว่าความเป็นอธิบดีนั้น เป็นได้ทั้งใน กุศลและอกุศล ฉะนั้น 
บางครั้งบุคคลอาจมีอกุศลเป็นธรรมชาติให้เป็นอธิบดี ทำให้เกิดฉันทะ ในการกระทำอกุศลให้สำเร็จอย่างดีก็เป็นได้


 อาหาร ๔ 

อาหาร เป็นเหตุธรรมที่อุดหนุนให้ผลเกิดขึ้นและช่วยให้ธรรมอื่นเกิดขึ้น คำว่า อาหาร มีความหมายกว้างขวางออกไปหลายนัย ในพระบาลีให้ความหมายของคำว่า อาหาร ไว้ว่า “ธรรมใด นำมาซึ่งรูปอันเกิดจากโอชา นำมาซึ่งเวทนา นำมาซึ่งปฏิสนธิวิญญาณ และนำมาซึ่งเจตสิกกับกัมมชรูป ธรรมนั้นชื่อว่า อาหาร


    ๑) กพฬีการาหาร (นำมาซึ่งรูปที่เกิดจากโอชา) กพฬีการาหาร ได้แก่ โอชา สารอาหารหรือวิตามิน ที่ได้จาก ข้าว น้ำ พืชผักต่าง ๆ ตลอดจนทุกสิ่งที่เรากลืนกินเข้าไป สารอาหารนี้จะเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายให้ดำรงอยู่ได้ องค์ธรรมได้แก่โอชาที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ
    ๒) ผัสสาหาร (นำมาซึ่งเวทนา) ผัสสาหาร นำมาซึ่งเวทนา คือการเสวยอารมณ์ทุกข์บ้างสุขบ้าง หรือไม่ทุกข์ไม่สุขให้เกิดขึ้น เวทนาทั้งหลายนี้ ถ้าไม่มีผัสสะแล้ว ก็จะเกิดไม่ได้เลย เพราะผัสสะนี้เป็นเหตุให้เกิดเวทนา จึงชื่อว่าผัสสะเป็นอาหารของเวทนา (หรือผัสสะนำมาซึ่งการเกิดเวทนา) องค์ธรรมได้แก่ ผัสสเจตสิก ที่ในจิตทั้งหมด
    ๓) มโนสัญเจตนาหาร (นำมาซึ่งวิปาก) มโนสัญเจตนาหาร ก็คือเจตนาในการทำกุศล อกุศล เจตนานี้เป็นเหตุนำมาให้เกิดผล คือกุศลวิบากจิตและอกุศลวิบากจิต ทั้งในขณะปฏิสนธิกาลและปวัตติกาล ในขณะปฏิสนธิกาลก็นำมาซึ่งปฏิสนธิวิญญาณ คือการเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม หรืออบายสัตว์ ในขณะปวัตติกาลก็นำมาซึ่งวิบากต่าง ๆ เช่น ทำให้เห็นรูปารมณ์ที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ เจตนาเจตสิก ที่ในจิตทั้งหมด
    ๔) วิญญาณาหาร (นำมาซึ่งเจตสิกและกัมมชรูป) วิญญาณาหาร นำมาซึ่งเจตสิกและกัมมชรูป ในปฏิสนธิกาล ปฏิสนธิวิญญาณย่อมเป็นผู้นำให้เจตสิกและกัมมชรูปเกิดขึ้นได้ ในปวัตติกาล จิตย่อมนำให้เจตสิกเกิดขึ้นอย่างเดียว ไม่ได้นำให้กัมมชรูปเกิดขึ้นด้วยเพราะกัมมชรูปไม่ใช่รูปที่เกิดจากสมุฏฐานของจิต แต่เป็นรูปที่เกิดจากสมุฏฐานของกรรม แต่อย่างไรก็ตามกัมมชรูปก็อาศัยเกิดมาจากอดีตกรรม ที่เรียกว่า กัมมวิญญาณ คืออกุศลจิตและโลกียกุศลจิตในภพก่อน ๆ ซึ่งก็ชื่อว่าวิญญาณเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ จิตทั้งหมดจึงชื่อว่า วิญญาณาหาร องค์ธรรมได้แก่ จิตทั้งหมด




วันอาทิตย์

๒. มิสสกสังคหะ

มิสสกสังคหะ ซึ่งเป็นการรวบรวมธรรมที่คละปนกันทั้งกุศล อกุศล และอพยากฤต จำแนกเป็น ๗ คือ

๑. เหตุ ๖ เป็นธรรมที่ทำให้ผลเกิดขึ้น
๒. ฌานังคะ ๗ เป็นธรรมที่กระทำให้จิตจดจ่อต่ออารมณ์ หรือการเพ่งอารมณ์
๓. มัคคังคะ ๑๒ เป็นหนทางที่นำไปสู่ที่หมาย คือ สุคติภูมิ ทุคติภูมิ และนิพพาน
๔. อินทรีย์ ๒๒ ธรรมที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองธรรมอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่ร่วมกันกับตน
๕. พละ ๕ ธรรมที่ทำให้ไม่หวั่นไหวต่อปฏิปักษ์ธรรม
๖. อธิบดี ๔ ธรรมที่เป็นใหญ่เป็นผู้นำให้สำเร็จ
๗. อาหาร ๔ ธรรมที่เป็นเหตุธรรมที่อุดหนุนให้ผลเกิดขึ้นและช่วยให้ธรรมอื่นเกิดขึ้น


 เหตุ ๖ 

เหตุ เป็นธรรมที่ทำให้ผลเกิดขึ้น ธรรมทั้งหลายที่ได้อุปการะจากเหตุ คือมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นปัจจัยแล้ว ย่อมทำให้มีสภาพมั่นคงในอารมณ์ เช่นมั่นคงในความอยากได้ในรูปารมณ์เป็นต้น เหมือนต้นไม้ที่มีรากงอกงามแผ่ขยายกว้างขวางออกไป

เหตุ มี ๖ ประการ ได้แก่
    ๑) โลภเหตุ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตใจให้เกิดความอยากได้ ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย ตลอดจนความคิดนึกติดใจในเรื่องราวต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าเมื่อมีความอยากเกิดขึ้นคราวใด ก็จะเกิดความร้อนใจเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการและจะกระทำไปตามความอยากที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อได้สิ่งนั้นมาแล้วก็เป็นทุกข์กับการดูแลรักษา ห่วงแหน หรือถ้าไม่ได้อย่างที่ต้องการก็เป็นทุกข์อีก
องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก ที่ในโลภมูลจิต ๘

    ๒) โทสเหตุ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตใจทำให้เกิดความไม่พอใจ ไม่ปรารถนาที่จะได้พบเรื่องราวต่าง ๆ เหมือนกับการเห็นศัตรูหรืออสรพิษ ย่อมเกิดความไม่พอใจ หรือหวาดกลัวขึ้นมาทันที
องค์ธรรมได้แก่ โทสเจตสิก ที่ในโทสมูลจิต ๒

    ๓) โมหเหตุ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตใจให้โง่ หลง งมงาย ไม่รู้ในสัจจะตามที่เป็นจริง เมื่อรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือความคิดนึกในเรื่องราวต่าง ๆ ปรากฏขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ก็ไม่เข้าใจสภาวะความเป็นจริง ว่าเป็นเพียงนาม เป็นเพียงรูป แต่กลับไปคิดยึดติดว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเขาเป็นเรา
องค์ธรรมได้แก่ โมหเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒

    ๔) อโลภเหตุ มีความหมายตรงกันข้ามกับโลภเหตุ คือความไม่อยากได้ใน รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่มาสัมผัสทางกาย และความคิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ ทางใจ
องค์ธรรมได้แก่ อโลภเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑

    ๕) อโทสเหตุ มีความหมายตรงกันข้ามกับโทสเหตุ คือเมื่อได้ประสบกับอารมณ์ที่พอใจ (อิฏฐารมณ์) หรืออารมณ์ที่ไม่พอใจ (อนิฏฐารมณ์) จิตใจก็จะไม่เกิดความโกรธ หรือความไม่พอใจในอารมณ์นั้น ๆ
องค์ธรรมได้แก่ 
อโทสเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑

    ๖) อโมหเหตุ มีความหมายตรงกันข้ามกับโมหเหตุ คือมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา 
ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ ว่าเป็นแต่เพียงรูปธรรมนามธรรมเท่านั้น มิใช่เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็นเพียงสภาวะที่ปรากฏเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง
องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในญาณสัมปยุตต
จิต ๔๗ หรือ ๗๙

สรุปความได้ว่า ** โลภเจตสิก โทสเจตสิก และ โมหเจตสิก เมื่อเกิดขึ้นกับจิตใจของบุคคลใดแล้ว ก็เป็นเหตุให้บุคคลนั้นทำบาปอกุศล เจตสิกทั้ง ๓ นี้ เรียกว่า เหตุบาป ๓ คือเป็นต้นเหตุให้บุคคลทำอกุศล 

** อโลภเจตสิก, อโทสเจตสิก และ อโมหเจตสิก เมื่อเกิดขึ้นกับจิตใจของบุคคลใดแล้ว ก็เป็นเหตุให้บุคคลนั้นทำบุญกุศล เจตสิกทั้ง ๓ นี้ เรียกว่า เหตุบุญ ๓ คือ เป็นต้นเหตุให้บุคคลทำกุศล โดยที่กุศลขั้นกามาวจรนั้น เมื่อตายลงบุญจะนำไปสู่สุคติภูมิ คือ มนุษยภูมิและเทวภูมิ ถ้าเป็นกุศลขั้นรูปาวจรและอรูปาวจร เมื่อตายลง บุญจะนำไปสู่รูปภูมิและอรูปภูมิ แต่ถ้าเป็นมรรคกุศล ก็จะส่งผลให้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคล หมดสิ้นจากกิเลสทั้งปวงและพ้นจากวัฏฏทุกข์ได้ในที่สุด


 ฌานังคะ ๗  

ฌานังคะ เป็นธรรมชาติที่ทำให้จิตจดจ่อต่ออารมณ์ หรือเพ่งอารมณ์ มีกสิณ เป็นต้น ในฌานังคะ มีองค์ฌาน ๗ ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ เอกัคคตา โสมนัส โทมนัส และอุเบกขา แต่เรามักคุ้นเคยกับองค์ฌาน ๕

คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา ทั้งนี้เพราะเนื้อหาที่ศึกษาในหมวดมิสสกะนี้ มุ่งแสดงธรรมที่คละเคล้ากันไปทั้งที่เป็นอกุศล กุศล และอพยากฤต จึงนับเอาเวทนา ๓ คือ โสมนัส โทมนัส และ อุเบกขา รวมเข้ากับสุขนั่นเอง


** ในฌานังคะทั้ง ๗ นี้ โทมนัส* เกิดได้เฉพาะในอกุศลจิตอย่างเดียว ทำหน้าที่เผาหทยวัตถุให้เหือดแห้งไป

ส่วนที่เหลืออีก ๖ นั้นเกิดได้ทั้งในจิตที่เป็นอกุศล กุศล และอพยากฤต

คำว่า ฌาน หมายถึง การเพ่งอารมณ์ทั้งหลาย (มีรูปารมณ์เป็นต้น) อย่างแน่วแน่ โดยมีวิตก วิจาร ปีติ เวทนา และเอกัคคตา เป็นหัวหน้า ชักจูงให้จิตและเจตสิกทำหน้าที่เพ่งอารมณ์นั้น ๆ ตามไปด้วย ที่เรียกว่า ฌาน นั้นก็ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ เวทนา เอกัคคตา ซึ่งทั้ง ๕ อย่างนี้เป็นองค์ธรรมของฌานนั่นเอง

องค์ฌานทั้ง ๕ นี้ กระทำหน้าที่ต่างกัน แต่เป็นไปในกิจการงานอันเดียวกัน คือการเพ่งจับจ้องอยู่ในอารมณ์อันเดียวกันนั่นเอง ว่าโดยเป็นองค์ธรรม ก็ได้แก่องค์ฌานทั้ง ๕ ดังกล่าวมานี้ แต่หากจำแนกออกไปโดยประเภทแล้วมีด้วยกัน ๗ ประการ เรียกว่า ฌานังคะ ๗ คือ วิตก วิจาร ปีติ เอกัคคตา โสมนัส โทมนัส อุเบกขา

คำว่า ฌาน หมายถึงการเข้าไปเพ่งซึ่งอารมณ์นั้น มีด้วยกัน ๒ อย่าง คือ

🔰 การเข้าไปเพ่งอารมณ์ที่เป็นการเจริญสมถภาวนา มีการเพ่งกสิณเป็นต้น เรียกว่า อารัมมณุปนิชฌาน

🔰 การเข้าไปเพ่งอารมณ์ที่เป็นการเจริญวิปัสสนา คือ เพ่งอารมณ์ที่เป็นไตรลักษณ์ เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน

การที่ฌานจิตจะเกิดขึ้นได้ ต้องกำจัดธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตน ซึ่งเป็นเครื่องขวางกั้นการทำความดี ที่เรียกว่า นิวรณ์ธรรม โดยทำหน้าที่กำจัดนิวรณ์ทั้ง ๕ ดังนี้ คือ 

** ในการเจริญสมถกรรมฐาน หรือการทำสมาธิ องค์ฌานจะเกิดขึ้นเพื่อกำจัดนิวรณ์ธรรม ๕ เช่นในขณะที่เพ่ง กสิณ อยู่นั้น

🔘 ถ้าง่วงเหงาหาวนอน (ถีนมิทธะ) เกิดขึ้น สมาธิก็เกิดไม่ได้ ต้องยกจิต (วิตก) ขึ้นสู่การเพ่งกสิณอยู่เรื่อย ๆ

🔘 ถ้าเกิดความลังเลสงสัย (วิจิกิจฉา) เกิดขึ้น สมาธิก็เกิดไม่ได้ ต้องพินิจพิจารณาคำสอนของพระพุทธเจ้า (วิจาร)

🔘 ถ้ามีโทสะ พยาบาท (พยาปาทะ) เกิดขึ้น สมาธิก็เกิดไม่ได้ ต้องแผ่เมตตาทำจิตใจให้อิ่มเอิบอยู่ในอารมณ์ (ปีติ)

🔘 ถ้าจิตฟุ้งซ่าน (อุทธัจจกุกกุจจะ) เกิดขึ้น สมาธิก็เกิดไม่ได้ ต้องทำจิตให้ยึดเหนี่ยวอยู่ในอารมณ์ที่ดีงาม (สุข)

🔘 ถ้าจิตปรารถนากามคุณ (กามฉันทะ) เกิดขึ้น สมาธิก็เกิดไม่ได้ ต้องทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่เฉพาะในกสิณ (เอกัคคตา) โดยไม่ส่งจิตไปในเรื่องอื่น ๆ


 มัคคังคะ ๑๒ 

มรรค หรือ ทาง แบ่งออกเป็น ๒ สาย คือ


๑.) สัมมามรรค คือ หนทางที่ประกอบด้วยองค์มรรค ๘ ประการ
๒.) มิจฉามรรค คือ หนทางที่ประกอบด้วยองค์มรรคที่เหลืออีก ๔ ประการ 

๑.) สัมมามรรค มี ๘ ประการ คือ

    ๑. สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูก อันประกอบด้วยความรู้ที่ถูกต้องในอริยสัจจ์ ๔ การมีความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องของกุศลและอกุศล หรือมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำดีทำชั่วว่าย่อมมีผล เป็นทางให้เข้าถึงสุคติและนิพพาน
องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในติเหตุกจิต ๔๗ หรือ ๗๙

ในเรื่องการทำดีทำชั่วนี้ มีบุคคลเป็นจำนวนมากอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป ทั้งนี้เป็นเพราะว่ายังไม่เข้าใจความหมายของคำว่าทำดีได้ดี จึงพากันตีความในเรื่องการทำดีไปในรูปของการได้มาซึ่งวัตถุ ถ้าหากทำสิ่งใดแล้วได้ผลมากก็เรียกการกระทำนั้นว่า ได้ดี อันเป็นความหมายที่ทางโลก (โลกียธรรม) เข้าใจกันเอาเอง แต่แท้จริงแล้วทำดี ได้ดี ในความหมายที่ถูกทางธรรมะ คือ การได้มาซึ่งความสงบเย็นภายในจิตใจ จากการกระทำที่มิได้หวังผลใด ๆ ตอบแทน โดยกระทำไปเพราะเป็นสิ่งที่ถูกต้องอันควร และเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ถือเป็นหน้าที่ที่มนุษย์จะพึงปฏิบัติต่อกัน เช่น การให้ทาน การให้ความสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังสามารถ โดยมิได้มีจิตมุ่งหวังผลตอบแทนทั้งในทางวัตถุและทางจิตใจ

ดังที่กล่าวมานี้ ผู้ที่ได้รับการอบรมจนมีความเข้าใจถูกต้องในเรื่องการทำดีทำชั่วตามที่เป็นจริง จึงไม่ปรารถนาทำความชั่วใด ๆ เลย เพราะละอายต่อการทำบาปทั้งปวง และจะกระทำความดีอย่างบริสุทธิ์โดยไม่มุ่งหวังผลตอบแทน นอกจากความรู้ที่ถูกต้องดังที่กล่าวมานี้แล้ว ยังรวมถึงการมีความรู้ที่ถูกต้องหรือเห็นแจ้งในหลักไตรลักษณ์และปฏิจจสมุปบาทด้วย

โดยสรุปแล้ว ความคิดที่ถูกต้องก็คือการเห็นที่ตรงตามสภาวะ เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามความเป็นจริง ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ทำให้เราเป็นผู้มีความคิดเป็นระเบียบระบบ ไม่มองสิ่งต่าง ๆ อย่างผิวเผิน แต่จะมองอย่างวิเคราะห์แยกแยะ ตลอดจนสนใจในการค้นหาต้นเค้าของเหตุปัจจัยของสิ่งหรือเรื่องนั้น ๆ ทำให้ไม่ถูกหลอกลวงหรือถูกปลุกปั่นได้โดยง่าย เพราะเป็นผู้มีอิสระในการคิดที่เป็นตัวของตัวเอง มีสติสัมปชัญญะในการตัดสินใจ ทั้งนี้โดยมีสัมมาทิฏฐิ หรือการมีความคิดถูกต้องเป็นรากฐาน สัมมาทิฎฐิจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของมรรคในฐานะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรม และเป็นธรรมะที่ต้องพัฒนาให้บริสุทธิ์ เป็นอิสระมากขึ้นตามลำดับจนถึงการตรัสรู้ได้ในที่สุด

    ๒. สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริถูก หรือความนึกคิดในทางที่ถูกต้อง เป็นทางให้เข้าถึงสุคติ และนิพพาน
องค์ธรรมได้แก่ วิตกเจตสิก ที่ในกามาวจรโสภณจิต ๒๔ และปฐมฌานจิต ๑๑

โดยทั่วไปแล้ว บุคคลทั้งหลายก็มีความดำริที่เป็นไปตามกามกิเลสเป็นปกติ กล่าวคือเมื่อปุถุชนรับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะโดยการเห็น ได้ยิน ได้สัมผัส เป็นต้น ย่อมจะเกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๒ อย่าง คือ ถ้าถูกใจในอารมณ์นั้นก็ชอบ ติดใจ อยากได้ พัวพัน คล้อยตาม แต่ถ้าไม่ถูกใจก็ไม่ชอบ ขัดเคืองใจ เกลียดชัง ผลักออก เป็นปฏิปักษ์ จากนั้นความดำริคิดนึกต่าง ๆ ก็จะดำเนินไปตามแนวทางหรือแรงผลักดันของความชอบและไม่ชอบที่เกิดขึ้นนั้น

ด้วยเหตุนี้ ความนึกคิดของปุถุชนโดยปกติ จึงมักเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งเสมอ โดยมีความพอใจและไม่พอใจของตนเข้าไปเคลือบแฝงและคอยชักจูงให้เป็นไป ทำให้ไม่เข้าใจถึงสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง เพราะถูกความชอบใจ จนเกิดความติดใคร่ พัวพัน จึงเอียงเข้าหาความนึกคิดนั้น ซึ่งเป็นทัศนคติ (หรือเจตคติ) ต่อสิ่งต่างๆ อย่างไม่ถูกต้อง

ความดำริหรือความนึกคิดที่เอนเอียง ทัศนคติที่บิดเบือนและถูกเคลือบแฝงเช่นนี้ เกิดขึ้นก็เพราะการขาดโยนิโสมนสิการ คือการมอง พิจารณาสิ่งต่าง ๆ โดยแยบคาย จึงมองสิ่งต่าง ๆ อย่างผิวเผิน รับรู้อารมณ์เข้ามาทั้งดุ้นโดยขาดสติสัมปชัญญะ แล้วปล่อยใจให้นึกคิดให้แล่นไปตามความรู้สึก หรือตามเหตุผลที่มีความชอบใจ ไม่ชอบใจเป็นตัวนำ ไม่ได้ใช้ความคิดวิเคราะห์แยกแยะส่วนประกอบและความคิดสืบสาวสอบค้นเหตุปัจจัย ตามหลักโยนิโสมนสิการ

ในทางตรงข้าม การที่จะมองเห็นสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามที่มันเป็นของมันเองได้ โยนิโสมนสิการเป็นธรรมะที่ขาดไม่ได้เลย การมีโยนิโสมนสิการ ทำให้ผู้นั้นมีสัมมาทิฏฐิ คือมองเห็นและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง เมื่อมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง จึงมีสัมมาสังกัปปะ คือดำริ นึกคิด และตั้งทัศนคติต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างถูกต้อง ไม่เอนเอียง ยึดติด ขัดเคือง ผลักใส หรือเป็นปฏิปักษ์ เมื่อมีความดำรินึกคิดที่เป็นอิสระจากความชอบใจ ไม่ชอบใจ จึงทำให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง เสริมสร้างสัมมาทิฏฐิให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น จากนั้นองค์ประกอบทั้งสองก็สนับสนุนซึ่งกันและกันหมุนเวียนต่อไป

    ๓. สัมมาวาจา คือ การกล่าววาจาถูก หมายถึง การมีคำพูดที่ถูกต้อง เว้นจากวจีทุจริต ๔ คือ มุสาวาท การกล่าวคำเท็จ, ปิสุณาวาจา การส่อเสียดนินทาผู้อื่น, ผรุสวาจา การพูดคำหยาบ และ สัมผัปปลาปะ การพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ตลอดจนการพูดที่ไม่ก่อให้เกิดการปรุงแต่งกามกิเลสขึ้นมาด้วย
องค์ธรรมได้แก่
สัมมาวาจาเจตสิก ที่ในมหากุศลจิต ๘ โลกุตตรกุศลจิต ๘ หรือ ๔๐

สัมมาวาจา หรือคำพูดที่ดีนั้นต้องมีประโยชน์ พูดถูกกาลเทศะ ไม่ทำร้ายจิตใจผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด และพูดในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม

    ๔. สัมมากัมมันตะ คือ การงานถูก หมายถึง การกระทำในด้านร่างกายที่ถูกต้อง ซึ่งในที่นี้หมายถึงการเว้นจากกายทุจริต ๓ คือ ปาณาติปาต การฆ่าสัตว์, อทินนาทาน การขโมย ฉ้อฉลของผู้อื่น หรือทำลายของสาธารณประโยชน์ และ กาเมสุมิจฉาจาร การประพฤติผิดในกาม
องค์ธรรมได้แก่ สัมมากัมมันต
เจตสิก ที่ในมหากุศลจิต ๘ โลกุตตรกุศลจิต ๘ หรือ ๔๐

    ๕. สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพถูก หมายถึง การมีสัมมาอาชีวะหรือการเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง ไม่เบียดเบียนผู้ใดจนทำให้เขาได้รับความเดือดร้อนหรือเสียประโยชน์
องค์ธรรมได้แก่ สัมมาอาชีวเจตสิก ที่ใน
มหากุศลจิต ๘ โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐

การประกอบอาชีพที่ไม่ควรประกอบที่เรียกว่ามิจฉาวณิชชา ๕ มีดังนี้ ๑) ค้าขายอาวุธ
๒) 
ค้าขายมนุษย์
๓) ค้าขายเนื้อสัตว์
๔) ค้าขายน้ำเมา
๕) ค้าขายยาพิษ

    ๖. สัมมาวายามะ คือ ความเพียรถูก หมายถึง ความพยายามในทางที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความเห็นแจ้งชัดในความจริง และจะได้พบกับความสงบเย็นภายในจิตใจอันเป็นเป้าหมายสุดท้ายของชีวิตที่สมบูรณ์ เช่น ความเพียรพยายามในการฝึกฝนอบรมทางกาย วาจา และเพียรอบรมจิตให้ตั้งมั่นแน่วแน่ ไม่หวั่นไหวไปกับความยั่วยวนของกิเลสและความอยาก 
องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑

    ๗. สัมมาสติ คือ การระลึกถูก หมายถึง ความรำลึกประจำใจที่ถูกต้อง คือ มีการตื่นตัวอยู่เสมอ เราต้องรู้ตัวในทุก ๆ อิริยาบถอยู่เสมอ มีความตื่นตัวต่อหน้าที่ พร้อมเสมอที่จะรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่มาเกี่ยวข้อง เมื่อดีใจ เสียใจ หรือเฉย ๆ ก็ให้รู้ตัวว่ากำลังดีใจ เสียใจ หรือเฉย ๆ การระลึกแต่ในเรื่องการทำบุญทำกุศล ระลึกถึงทาน ศีล ภาวนา ที่เคยได้ทำมาแล้วหรือตั้งใจว่าจะทำอีก
องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ 
หรือ ๙๑

สติ นอกจากจะหมายถึง ระลึกได้ จำได้แล้ว ยังหมายถึง ความไม่เผลอ ไม่ประมาทเลินเล่อ ไม่ฟั่นเฟือนเลื่อนลอยด้วย สติจึงเป็นธรรมสำคัญ เพราะเป็นตัวควบคุม เร้า เตือน การปฏิบัติหน้าที่ และคอยป้องกันยับยั้งตนเองที่จะไม่ให้หลงเพลินไปตามความชั่ว หรือไม่ให้ความชั่วเล็ดลอดเข้ามาในจิตใจได้ เตือนตนเองในการทำความดี และไม่เปิดโอกาสแก่ความชั่ว หรือเรียกในทางธรรมว่าเป็น อัปปมาทธรรม

อัปปมาทธรรม เป็นหลักธรรมสำคัญยิ่งสำหรับความก้าวหน้า การเป็นอยู่โดยไม่ขาดสติ ซึ่งขยายความได้ว่า การระมัดระวังอยู่เสมอ ไม่ยอมถลำลงไปในทางเสื่อม และไม่ยอมพลาดโอกาสสำหรับความเจริญก้าวหน้า ตระหนักดีถึงสิ่งที่จะต้องทำ และต้องไม่ทำ ใส่ใจสำนึกอยู่เสมอในหน้าที่ ไม่ปล่อยปละละเลย กระทำการด้วยความจริงจัง และพยายามก้าวรุดหน้าอยู่ตลอดเวลา มีคำเปรียบเทียบว่า สติ เหมือนเสาหลัก เพราะปักแน่นในอารมณ์ หรือเหมือนนายประตู เพราะเฝ้าอายตนะต่าง ๆ ที่เป็นทางรับอารมณ์ ตรวจดูอารมณ์ที่ผ่านเข้ามา เพื่อพิจารณาจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป

    ๘. สัมมาสมาธิ คือ การตั้งมั่นถูก หมายถึง การตั้งมั่นแห่งจิต ภาวะที่จิตแน่วแน่ต่ออารมณ์ หรือสิ่งที่กำหนดซึ่งปราศจากโทษ เพื่อให้จิตได้ยึดไว้
องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑

คำจำกัดความของสมาธิที่พบอยู่เสมอ คือ คำว่า เอกัคคตา ซึ่งแปลว่า ภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ การที่จิตกำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่านหรือส่ายไป

สมาธิแบ่งได้เป็น ๓ ระดับ คือ

๑. ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถนำมาใช้ประโยชน์ ในการปฏิบัติหน้าที่กิจการงาน ในชีวิตประจำวัน ให้ได้ผลดี
๒. อุปจารสมาธิ สมาธิเฉียด ๆ หรือจวนจะแน่วแน่
๓. อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แน่วแน่ แนบสนิท เป็นการเจริญสมาธิในขั้นฌาน (ทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป) ถือว่าเป็นความสำเร็จสูงสุดของการเจริญสมาธิ

ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถเจริญวิปัสสนาได้โดยใช้สมาธิเพียงขั้นต้น ๆ ที่เรียกว่า วิปัสสนาสมาธิ ซึ่งเป็นสมาธิในระดับเดียวกับขณิกสมาธิ และอุปจารสมาธิ

ประโยชน์ของสมาธิ

๑. ทำให้จิตเหมาะแก่การงาน เพื่อเป็นฐานให้ปัญญาปฏิบัติการอย่างได้ผลดีที่สุด สมาธิที่ใช้เพื่อการนี้ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นสูงสุด ในทางตรงข้าม ลำพังสมาธิอย่างเดียว แม้จะเจริญถึงขั้นฌานสูงสุด แต่หากไม่ก้าวไปสู่ขั้นการใช้ปัญญาแล้ว ย่อมไม่สามารถทำให้ถึงจุดหมายของสูงสุด คือบรรลุมรรคผลนิพพานได

๒. ภาวะของการได้ฌาน เป็นการหลุดพ้นเพียงชั่วคราว เพราะกิเลสทั้งหลายไม่ได้ถูกทำลายอย่างราบคาบ เป็นเพียงระงับไว้ได้ด้วยกำลังของฌาน เปรียบเหมือนเอาแผ่นหินทับหญ้า ยกแผ่นหินออกเมื่อใด หญ้าย่อมกลับงอกงามขึ้นได้ใหม่

๓. ประโยชน์ที่แท้ของสมาธิก็คือ การใช้สมาธิเพื่อประโยชน์ทางปัญญา หรือเป็นบาทฐานของวิปัสสนาโดยตรง เพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุด คือความหลุดพ้นสิ้นอาสวะ

สัมมามรรคทั้ง ๘ ประการนี้ ยังสามารถนำมาจัดเป็นระบบได้ ๓ อย่าง เรียกว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา โดยเทียบได้ดังนี้ คือ


🔘 ศีล (อธิศีลสิกขา) คือความปกติ เป็นการตั้งใจรักษาความปกติของตนนั่นเอง ศีลนั้นเป็นหลักแห่งการประพฤติดีที่ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน จำแนกไว้เป็นศีล ๕ ศีล ๘ และศีล ๑๐ เป็นต้น เพื่อความสงบเรียบร้อยปราศจากโทษชั้นต้น ๆ ทางกายและวาจา หรือเกี่ยวกับสิ่งของต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่การเป็นอยู่ของตนและที่เกี่ยวกับ สังคม ศีล จึงจัดอยู่ในระดับศีลธรรมอันเป็นมูลฐานที่จะนำไปสู่ความสงบของจิตใจ

🔘 สมาธิ (อธิจิตตสิกขา) เป็นการฝึกอบรมทางด้านจิตหรือกระบวนการทำสมาธิ จิตที่เกิดจากสัมมาสมาธิจะเป็นจิตที่นำไปสู่ความไม่เศร้าหมอง ไม่ฟุ้งซ่าน และอยู่ในสภาพที่จะปฏิบัติหน้าที่ของมันจนฝึกฝนจิตได้ถึงที่สุด มีผลเกิดขึ้นเป็นความตั้งมั่นของจิตที่เรียกว่า สมาธิ

🔘 ปัญญา (อธิปัญญาสิกขา) เป็นการฝึกฝนอบรมทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องและสมบูรณ์ถึงที่สุดในบรรดาสิ่งทั้งปวงตามที่มันเป็นจริง ปัญญาสิกขานี้มีความเกี่ยวเนื่องกับสมาธิสิกขา เพราะเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วก็มีลักษณะพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ สามารถน้อมจิตไปสู่การพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้ตามที่มันเป็นจริงจนมีความเห็นแจ้ง มีผลให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายสลดสังเวช ถอนตนออกจากสิ่งทั้งปวงที่ตนเคยรักเคยยึดถือ เกิดความบริสุทธิ์สะอาด สว่าง และสงบเย็น ดังนั้นคำว่า ปัญญา ในทางพุทธศาสนาจึงหมายถึง การถอนตนออกมาจากสิ่งทั้งปวงโดยทำลายความยึดมั่น ถือมั่น ให้หมดสิ้นไป อันเป็นการปลดเปลื้องจิตใจให้พ้นจากความเป็นทาสหรือไม่อยู่ใต้อำนาจของสิ่งใด ๆ

๒.) มิจฉามรรค มี ๔ ประการ คือ

    ๙. มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด ซึ่งเป็นความเห็นผิดที่เกี่ยวกับสุขทุกข์และความเป็นไปในชีวิตของมนุษย์
องค์ธรรมได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔
อาจสรุปได้ ๓ ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้ คือ
        ๑.) ปุพเพกเหตุวาท การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงในปัจจุบันเป็นเพราะกรรมเก่าเท่านั้น จะยอมรับเฉพาะการได้รับสุขหรือทุกข์อยู่นี้เพราะเกิดจากวิปาก(คือผลของกรรมในอดีตภพอย่างเดียว) เช่น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโรคไว้ ๘ อย่างเหล่านี้ คืออาพาธมีน้ำดี (กำเริบ) เป็นสมุฏฐาน ๑ อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน ๑ อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน ๑ อาพาธที่เกิดจากโรคดี โรคเสมหะ โรคลม มาประชุมกัน ๑ อาพาธที่เกิดจากเปลี่ยนฤดู ๑ อาพาธที่เกิดจากการบริหาร(ร่างกาย)ไม่ถูกต้อง ๑ อาพาธที่เกิดจากการพยายาม (ทำให้เกิดขึ้น) ๑ อาพาธที่เกิดจากวิบากกรรม ๑ ในสมุฏฐานโรคทั้ง ๘ อย่างนั้น มิจฉาทิฏฐิกบุคคลปฏิเสธโรค ๗ อย่างข้างต้นแล้วยอมรับแต่เฉพาะโรคชนิดที่ ๘ เท่านั้น
        ๒.) อิสสรนิมมานเหตุวาท การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงเป็นเพราะการบันดาลของเทพผู้เป็นใหญ่เท่านั้น เช่นเหตุแห่งการเกิดโรค ๘ อย่างที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้แล้ว บุคคลผู้มีมิจฉาทิฏฐินี้จะปฏิเสธทั้งหมดและเชื่อว่าโรคที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการบันดาลของเทพเจ้าเท่านั้น
        ๓.) อเหตุกปัจจยวาท การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่าง ๒ ข้อข้างต้น แต่สุขทุกข์เกิดขึ้นเอง

    ๑๐. มิจฉาสังกัปปะ คือ ความดำริผิด
องค์ธรรมได้แก่ วิตกเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒
ที่เรียกว่า
มิจฉาสังกัปปะ เพราะมีความดำริไปใน ๓ ประการ คือ

        ๑.) กามสังกัปปะ หรือ กามวิตก คือ ความดำริที่เกี่ยวข้องกับกาม ความนึกคิดในทางที่จะแสวงหาสิ่งเสพ ความคิดอยากได้หรือหมกมุ่นพัวพัน ติดข้องอยู่กับสิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕ หรือสิ่งสนองตัณหา อุปาทานต่าง ๆ ความคิดในทางเห็นแก่ตัวนั้นจึงเป็นความนึกคิดในฝ่ายราคะหรือโลภะ
        ๒.) พยาบาทสังกัปปะ หรือ พยาบาทวิตก คือ ความดำริที่ประกอบด้วยความขัดเคือง ไม่พอใจ เคียดแค้น ชิงชัง คิดเห็นในแง่ร้ายต่าง ๆ ความขาดเมตตา เป็นความนึกคิดในฝ่ายโทสะแง่ถูกกระทบ
        ๓.) วิหิงสาสังกัปปะ หรือ วิหิงสาวิตก คือ ความดำริในทางที่จะเบียดเบียนทำร้าย การคิดที่จะข่มเหงรังแก ต้องการก่อทุกข์ ทำให้คนและสัตว์ทั้งหลายเดือดร้อน ขาดความกรุณา เป็นความนึกคิดในฝ่ายโทสะ

ความโดยละเอียดในแง่ของความดำริผิดได้อธิบายโดยรวมไว้แล้วในหัวข้อสัมมาสังกัปปะ ในที่นี้จึงแสดงให้ทราบถึงหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับมิจฉาสังกัปปะเท่านั้น

        ๑๑. มิจฉาวายามะ คือ ความเพียรผิด เป็นความเพียรในข้อปฏิบัติที่ผิดทาง เช่น เพียรปฏิบัติตนเยี่ยงโค เยี่ยงสุนัข ปฏิบัติแบบไม่นุ่งผ้า นั่งหรือนอนบนของมีคมเพื่อทรมานตน เป็นต้น
องค์ธรรม ได้แก่
วิริยเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒

        ๑๒. มิจฉาสมาธิ คือ ความตั้งมั่นผิด มีความตั้งมั่นในอารมณ์ที่ผิด ซึ่งอารมณ์นั้นไม่นำไปสู่การเจริญทั้งสมถและวิปัสสนา มีนัยตรงกันข้ามกับสัมมาสมาธิดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
องค์ธรรม ได้แก่ เอกัคคตา
เจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๑ (เว้นวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต ๑)


💬อ่านต่อ มิสสกสังคหะ หน้าต่อไป


วันศุกร์

อกุศลกองที่ ๖-๑๐

👉กลับไปที่ อกุศล กองที่ ๑-๕

🔅 อกุศล กองที่ ๖ นีวรณ์

เป็นธรรมที่เป็นเครื่องกั้นความดีเครื่องขัดขวางในการทำความดีมิให้เกิดกุศลต่างๆคือทาน ศีล ภาวนา ฌาน มรรค ผล อภิญญา สมาบัติและทำให้กุศลบางอย่างเช่นฌานที่เกิดอยู่แล้วทำให้เสื่อมสิ้นไปได้ บุคคลทั่วไปพอคิดจะทำกุศลสูงขึ้นก็มักจะถูกนีวรณ์ธรรมที่เรียกว่ากิเลสมารเกิดขึ้นขัดขวางมิให้กุศลธรรมเจริญก้าวหน้า เช่นเกิดความเบื่อหน่ายง่วงซึมไม่อยากจะทำความดีต่อไป 

นีวรณ์ มี๖ประการคือ 
    ๑. กามฉันทนีวรณ์ ขัดขวางไว้เพราะความชอบใจอยากได้ในกามคุณอารมณ์ เมื่อชอบใจและต้องการในกามคุณอารมณ์แล้วก็ย่อมขาดกำลังในอันที่จะทำความดี มีฌานและมัคคผลหรือขาดศรัทธา ขาดสติปัญญา ในการบำเพ็ญทานศีลภาวนาเป็นต้น 
องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิกที่ในโลภมูลจิต ๘ 

    ๒. พยาปาทนีวรณ์ ขัดขวางไว้เพราะความไม่ชอบใจในอารมณ์ เมื่อจิตใจมีแต่ความขุ่นเคืองไม่ชอบใจแล้วก็ย่อมขาดปีติความอิ่มใจในการทำความดี คือการบำเพ็ญทานศีลภาวนา เป็นต้น 
องค์ธรรมได้แก่ โทสเจตสิกที่ในโทสมูลจิต ๒ 

    ๓. ถีนมิทธนีวรณ์ ขัดขวางไว้เพราะความหดหู่ท้อถอยเป็นเหตุให้เกิดความเกียจคร้านไม่อยากที่จะทําความดี เมื่อจิตใจหดหู่ท้อถอยเสียแล้วก็ย่อมขาดวิตก คือไม่มีแก่ใจที่จะนึกคิดให้ติดอยู่ในอารมณ์ที่จะกระทําความดี 
องค์ธรรมได้แก่ ถีนเจตสิก มิทธเจตสิก ที่ในอกุศลสสังขาริกจิต ๕ 

    ๔. อุทธัจจกุกกุจจนีวรณ์ ขัดขวางไว้เพราะคิดฟุ้งซ่านรําคาญใจ อันเนื่องมาจากการสูญเสีย (พยสนะ ๕)คือ 
            ๑. สูญเสียญาติ 
            ๒. ทรัพย์สมบัติ 
            ๓. โรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน 
            ๔. ทําบาป (ทุศีล) 
            ๕. เห็นผิดใฝ่ใจไปในทางที่เป็นบาป 

เมื่อจิตใจเป็นดังนี้ก็ย่อมขาดความสุขในอันที่จะกระทําความดี 
องค์ธรรมได้แก่ อุทธัจจเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒ และ กุกกุจจเจตสิก ในโทสมูล จิต ๒ 

    ๕. วิจิกิจฉานีวรณ์ ขัดขวางเพราะความสงสัย ลังเลใจ เมื่อจิตใจเกิดความลังเลสงสัยแล้ว ย่อมขาดวิจารในอันที่จะพินิจพิจารณาในการกระทําความดี 
องค์ธรรมได้แก่ วิจิกิจฉาเจตสิก ที่ในวิจิกิจฉาสหคตจิต ๑ 

    ๖. อวิชชานีวรณ์ ขัดขวางเพราะความไม่รู้ มีการทําให้หลงลืมขาดสติ เช่น ไม่รู้แจ้งในอารมณ์ของสติปัฏฐานที่ตนกําหนดอยู่ เป็นการกั้นต่อมรรค ผล นิพพาน มิให้เกิดขึ้น 
องค์ธรรมได้แก่ โมหเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒ 

นีวรณ์ ๑ - ๕ (เว้น อวิชชา) ได้ชื่อว่า เป็นเครื่องกั้นฌานในการเจริญสมถภาวนา 
นีวรณ์ที่ ๖ คือ อวิชชานีวรณ์ ได้ชื่อว่า เป็นเครื่องกั้น มรรค ผล นิพพาน 

การประหาณ นีวรณ์ 
วิจิกิจฉานีวรณ์ ถูกประหาณโดย โสดาปัตติมรรค 
กามฉันทนีวรณ์ ถูกประหาณโดย อนาคามิมัคคจิต 
พยาปาทนีวรณ์ 
ถูกประหาณโดย อนาคามิมัคคจิต 
กุกกุจจนีวรณ์ ถูกประหาณโดย อนาคามิมัคคจิต 
ถีนมิทธนีวรณ์ ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
อุทธัจจนีวรรณ์ 
ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
อวิชชานีวรณ์ ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต 


🔅
อกุศล กองที่ ๗ อนุสัย 
เป็นกิเลสอย่างละเอียด ซ่อนเร้นนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของสัตว์ทั้งหลาย เมื่อได้เหตุอันสมควรแล้วก็ปรากฏขึ้นเมื่อนั้น อุปมาเสมือนตะกอนที่นอนก้นภาชนะ เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากระทบกับภาชนะ ตะกอนหรือกิเลสก็จะฟุ้งขึ้นมาทันที ทําให้จิตใจเร่าร้อนเศร้าหมอง 

กิเลส มี ๓ ระดับ คือ 
วีติกกมกิเลส กิเลสอย่างหยาบ ที่ก้าวล่วงออกมาทางกาย ทางวาจา เมื่อมีอารมณ์มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็จะแสดงออกทางกาย ทางวาจา ทันที เหมือนน้ำที่เดือดพล่านย่อมจะดันฝาที่ปิดให้กระเด็นออกมาได้ 
ปริยุฏฐานกิเลส กิเลสอย่างกลาง เป็นกิเลสที่กลุ้มรุมจิตใจ เป็นกิเลสที่เกิดขึ้นภายในใจยังไม่ปรากฏก้าวล่วงให้เห็นออกมาทางกาย ทางวาจา เปรียบเหมือนน้ำที่เริ่มร้อนขึ้น ๆ ยังไม่ถึงจุดเดือด 
อนุสัยกิเลส กิเลสอย่างละเอียด เป็นกิเลสที่ซ่อนเร้นนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของสัตว์ทั้งหลาย 

ธรรมที่ประหาณกิเลสทั้ง ๓ คือ 
ศีลกุศล ประหาณ วีติกกมกิเลส 
สมาธิกุศล ประหาณ ปริยุฏฐานกิเลส 
ปัญญาในมัคคจิต ประหาณ อนุสัยกิเลส 

อนุสัยกิเลส มี ๗ ประการ คือ 
    ๑. กามราคานุสัย คือ ความยินดีติดใจในกามคุณอารมณ์ กามราคานุสัยนี้จะนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน เมื่อมีอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสเรื่องราวต่าง ๆ มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่งเป็นกามคุณอารมณ์แล้ว กามราคานุสัยนี้ก็จะแปรสภาพเป็น ปริยุฏฐานกิเลส คือ กิเลสอย่างกลางคอยกลุ่มรุ่มจิตใจ มูลเหตุแห่งกิเลส ได้แก่ โลภเจตสิกที่ในโลภมูลจิต ๘ 
    ๒. ภวราคานุสัย ความยินดีติดใจใน รูปภพ อรูปภพ หรือ รูปฌาน อรูปฌาน อันนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน เมื่อมีอารมณ์ มากระทบก็จะแปรสภาพเป็นปริยุฏฐานกิเลส มูลเหตุแห่งกิเลสได้แก่ โลภเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ 
    ๓. ปฏิฆานุสัย ความไม่ยินดีไม่พอใจในอารมณ์ อันนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน เมื่อมีอารมณ์มากระทบก็จะแปรสภาพเป็นปริยุฏฐานกิเลส มูลเหตุแห่งกิเลส ได้แก่โทสเจตสิก ที่ในโทสมูลจิต ๒ 
    ๔. มานานุสัย คือความทนงตน โอ้อวด ถือตัว ไม่ยอมลงให้กับใคร ที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน เมื่อมีอารมณ์มากระทบก็จะแปรสภาพเป็นปริยุฏฐานกิเลส มูลเหตุแห่งกิเลสได้แก่ มานเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ 
    ๕. ทิฏฐานุสัย คือความเห็นผิดที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน เมื่อมีอารมณ์มากระทบก็จะแปร สภาพเป็นปริยุฏฐานกิเลส มูลเหตุแห่งกิเลสได้แก่ ทิฏฐิเจตสิกที่ประกอบในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ 
    ๖. วิจิกิจฉานุสัย คือความลังเลสงสัยในสิ่งที่ควรเชื่อที่ยังไม่ปลงใจเชื่อ ที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน เมื่อมีอารมณ์มากระทบก็จะแปรสภาพเป็นปริยุฏฐานกิเลส มูลเหตุแห่งกิเลส ได้แก่ วิจิกิจฉาเจตสิกที่ประกอบในวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต ๑
    ๗. อวิชชานุสัย คือความลุ่มหลงมัวเมา ที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน เป็นความโง่เขลาเบาปัญญา ที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อมีอารมณ์มากระทบก็จะแปรสภาพเป็นปริยุฏฐานกิเลส มูลเหตุแห่งกิเลส ได้แก่ โมหเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒ 

การประหาณอนุสัย
ทิฏฐานุสัย 
ถูกประหาณโดย โสดาปัตติมัคคจิต
วิจิกิจฉานุสัย ถูกประหาณโดย โสดาปัตติมัคคจิต 
กามราคานุสัย ถูกประหาณโดย อนาคามิมัคคจิต
ปฏิฆานุสัย ถูกประหาณโดย อนาคามิมัคคจิต 
มานานุสัย ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
ภวราคานุสัย 
ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
อวิชชานุสัย ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต 


🔅 อกุศล กองที่ ๘ สังโยชน์
ธรรมเหล่าใดย่อมผูกสัตว์ทั้งหลายไว้ ธรรมเหล่านั้นชื่อว่า สังโยชน์ เป็นการผูกเหล่าสัตว์ทั้งหลายให้ติดอยู่ในวัฏฏทุกข์ เหมือนเชือก ๑๐ เส้นที่ล่ามสัตว์ไว้กับหลักไม่ให้หลุดออกไปได้ กามคุณทั้ง ๕ นี้แหละ เป็นเรือนที่สัตว์ถูกผูกไว้ 

สังโยชน์ธรรม ๑๐ ประการ มีโดยสองนัย คือ 
นัยที่ ๑ สังโยชน์ ๑๐ ตามนัยแห่งพระอภิธรรม 
๑. กามราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิก ที่ใน โลภมูลจิต ๘ 
๒. ภวราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ 
๓. ปฏิฆสังโยชน์ ได้แก่ โทสเจตสิก ที่ในโทสมูลจิต ๒ 
๔. มานสังโยชน์ ได้แก่ มานเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ 
๕. ทิฏฐิสังโยชน์ ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ 
๖. สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ 
๗. วิจิกิจฉาสังโยชน์ ได้แก่วิจิกิจฉาเจตสิกที่ในวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต ๑ 
๘. อิสสาสังโยชน์ ได้แก่ อิสสาเจตสิก ที่ในโทสมูลจิต ๒ 
๙. มัจฉริยสังโยชน์ ได้แก่ มัจฉริยเจตสิกที่ในโทสมูลจิต ๒ 
๑๐. อวิชชาสังโยชน์ ได้แก่ โมหเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒ 

นัยที่ ๒ สังโยชน์ ๑๐ ตามนัยแห่งพระสูตร 
๑. กามราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิก ที่ใน โลภมูลจิต ๘ 
๒. รูปราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ 
๓. อรูปราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ 
๔. ปฏิฆสังโยชน์ ได้แก่ โทสเจตสิก ที่ในโทสมูลจิต ๒ 
๕. มานสังโยชน์ ได้แก่ มานเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ 
๖. ทิฏฐิสังโยชน์ ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ 
๗. สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ 
๘. วิจิกิจฉาสังโยชน์ ได้แก่วิจิกิจฉาเจตสิก ที่ในวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต ๑ 
๙. อุทธัจจสังโยชน์ ได้แก่ อุทธัจจเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒ 
๑๐. อวิชชาสังโยชน์ ได้แก่ โมหเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒ 

การประหาณสังโยชน์
โอรัมภาคียสังโยชน์ คือ สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ 
ทิฏฐิสังโยชน์ ถูกประหาณโดย โสดาปัตติมัคคจิต
วิจิกิจฉาสังโยชน์ ถูกประหาณโดย โสดาปัตติมัคคจิต
สีลัพพตปรามาสสังโยชน์  ถูกประหาณโดย โสดาปัตติมัคคจิต 
กามราคะและปฏิฆะอย่างหยาบ ถูกประหาณโดย สกทาคามิมัคคจิต
กามราคะและปฏิฆะอย่างละเอียด ถูกประหาณโดย อนาคามิมัคคจิต 

อุทธัมภาคียสังโยชน์ คือ สังโยชน์เบื้องสูง ๕ 
รูปราคสังโยชน์ ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
อรูปราคสังโยชน์ ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
มานสังโยชน์ ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
อุทธัจจสังโยชน์ ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
อวิชชาสังโยชน์ ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต 

🔅 อกุศล กองที่ ๙ กิเลส เป็นสิ่งที่ชั่วร้ายเกิดขึ้นเมื่อใดก็จะทําให้ผู้นั้นรู้สึกเดือดร้อนรําคาญใจ กิเลสเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง เมื่อประกอบกับจิต จะทําให้จิตนั้นเศร้าหมองเร่าร้อน โดยปกติชีวิตประจําวันของบุคคลตั้งแต่เช้าตื่นขึ้น จนเข้านอนหลับไป กิเลสทั้งหลายก็เข้าครอบงําจิตใจได้เกือบตลอดเวลาอยู่แล้วทั้งเวลาหลับและเวลาตื่น และถ้ากิเลสเกิดขึ้นในเวลาขณะใกล้ตาย ก็เป็นเครื่องบอกได้ว่าผู้นั้นจะไปเกิดในอบายภูมิ ๔ ถ้าบุคคลทั้งหลายระมัดระวังมิให้กิเลสเข้าครอบงําจิตใจได้ จิตใจก็จะสบาย ปลอดโปร่ง หน้าตาผ่องใส เป็นที่สบายตาสบายใจแก่ผู้พบเห็น เมื่อตายลงก็จะไปสู่สุคติภพ 

กิเลส มี ๑๐ อย่าง คือ 
    ๑. โลภกิเลส เป็นความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรา โลภะ คือ ความยินดี ติดใจ ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ แล้วทําบาปอกุศลลงไป เมื่อตายลง จะนําไปเกิดเป็น เปรต อสุรกาย เหตุแห่งกิเลส ได้แก่ โลภเจตสิก ที่ในโลภมูลจิต ๘ 
    ๒. โทสกิเลส เป็นความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรา โทสะ คือความโกรธความ ไม่พอใจในอารมณ์ต่าง ๆ ที่ประสบ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ แล้วทําบาปอกุศลกรรมลงไป เมื่อตายลงจะนําไปเกิดเป็น สัตว์นรก เหตุแห่งกิเลส ได้แก่ โทสเจตสิก ที่ในโทสมูลจิต ๒ 
    ๓. โมหกิเลส เป็นความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรา โมหะ คือ ความโง่ ความ หลง ความมัวเมาใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ แล้วทําบาปอกุศลกรรมลงไป เมื่อตายลงจะนําไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เหตุแห่งกิเลส ได้แก่ โมหเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒ 
    ๔. มานกิเลส เป็นความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรา มานะ คือ ความเย่อหยิ่ง ถือตนว่าดีกว่าเขา ต่ำกว่า หรือ เสมอเขาแล้วทำบาปอกุศลกรรมลงไป เมื่อตายลงจะนําไปเกิดในทุคติภูมิ เหตุแห่งกิเลส ได้แก่ มานเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ 
    ๕. ทิฏฐิกิเลส เป็นความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรา ทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดจากเหตุผลตามความเป็นจริง แล้วทําบาปอกุศลกรรมลงไป เมื่อตายลงจะนําไปเกิดในทุคติภูมิ เหตุแห่งกิเลส ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ 
    ๖. วิจิกิจฉากิเลส เป็นความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรา เพราะความลังเลสงสัยในสิ่งที่ควรเชื่อ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น แล้วทําบาปอกุศลกรรมลงไป เมื่อตายลงจะนําไปเกิดในทุคติภูมิ เหตุแห่งกิเลส ได้แก่ วิจิกิจฉาเจตสิก ที่ในวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต ๑ 
    ๗. ถีนกิเลส เป็นความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรา ถีนะ คือ ความหดหู่ท้อ ถอยจากอารมณ์ ทําให้ไม่มีความเพียรพยายามในการทําความดี แล้วทําบาปอกุศลกรรมลงไป เมื่อตายลงจะนําไปเกิดในทุคติภูมิ เหตุแห่งกิเลส ได้แก่ ถีนเจตสิก ที่ในอกุศลสสังขาริกจิต ๕ 
    ๘. อุทธัจจกิเลส เป็นความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรา อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน ซัดส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ แล้วทําบาปอกุศลกรรมลงไป เมื่อตายลงจะนําไปเกิดใน ทุคติภูมิ เหตุแห่งกิเลส ได้แก่ อุทธัจจเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒ 
    ๙. อหิรีกกิเลส คือความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรา เพราะความไม่ละอายต่อตนเองในการที่จะทําบาป แล้วทําบาปอกุศลกรรมลงไป เมื่อตายลงจะนําไปเกิดใน ทุคติภูมิ เหตุแห่งกิเลส ได้แก่ อหิรีกเจตสิก ที่ให้อกุศลจิต ๑๒ 
    ๑๐. อโนตตัปปกิเลส เป็นความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรา อโนตตัปปะ คือความไม่เกรงกลัวต่อบาปและผลของบาป ไม่เกรงกลัวต่ออาญาแผ่นดินแล้วทําบาปอกุศลกรรมลงไป เมื่อตายลงจะนําไปเกิดในทุคติภูมิ เหตุแห่งกิเลส ได้แก่ อโนตตัปปเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒ 

การประหาณ กิเลส 
ทิฏฐิกิเลส ถูกประหาณโดย โสดาปัตติมัคคจิต
วิจิกิจฉากิเลส ถูกประหาณโดย โสดาปัตติมัคคจิต 
โทสกิเลส ถูกประหาณโดย อนาคามิมัคคจิต 
โลภกิเลส ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
โมหกิเลส 
ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
มานกิเลส 
ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
ถีนกิเลส 
ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
อุทธัจจกิเลส 
ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
อหิริกกิเลส 
ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
อโนตตัปปกิเลส ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต