วันพฤหัสบดี

๓. ประโยชน์ของสมาธิ

ในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนมีความเครียด มีความวิตกกังวลกันมาก มีผู้คนจำนวนไม่น้อยพยายามหาทางคลายความเครียดคลายความวิตกกังวลโดยการเจริญสมาธิ สมาธิมีประโยชน์ทำให้จิตใจสงบนิ่ง ไม่สับสน ไม่กังวล ได้อย่างแท้จริง แต่สมาธิไม่ได้มีประโยชน์เพียงเพื่อคลายความเครียด ความวิตก กังวลเท่านั้น ยังมีประโยชน์อีกมากมายหลายประการ ที่สำคัญที่สุดคือ สมาธิ หรือสัมมาสมาธิเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุมรรคผลนิพพาน สมาธิเป็นองค์หนึ่งในอริยมรรรคมีองค์แปด พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ว่าสมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร (การอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน) สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้ญาณทัสสนะ สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย

สรุปประโยชน์ของสมาธิทั้งทางตรงและทางอ้อม มี ๔ ประการ คือ
ประการที่ ๑  ประโยชน์ที่เป็นจุดหมายทางศาสนา คือ สมาธิเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในการปฏิบัติเพื่อให้หลุด
พ้นจากกิเลสและทุกข์ทั้งปวง
    ๑. ประโยชน์ที่ตรงแท้ของข้อนี้ คือ การเตรียมจิตให้พร้อมที่จะใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นให้รู้แจ้งสภาวธรรมของความเป็นจริง (คือได้รู้ว่าชีวิตและสรรพสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ใต้บังคับบัญชา ไม่ใช่ตัวตน) เรียกว่า สมาธิเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา ซึ่งจะนำไปสู่พระนิพพานได้ในที่สุด
    ๒. ประโยชน์ที่รองลงมา คือ ทำให้จิตหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสชั่วคราว ด้วยการกด การข่มไว้ ด้วยกำลังของฌาน ด้วยอำนาจของพลังจิตที่แน่วแน่ จะสามารถข่มนิวรณ์ ๕ ไว้ได้ตลอดเวลาที่ยังมีสมาธิ เรียกตามศัพท์ว่า “วิกขัมภนวิมุตติ” แต่พึงทราบว่าเมื่อถอนออกจากสมาธิแล้ว กิเลสเหล่านั้น หรือนิวรณ์ ๕ ก็มีเช่นเดิม เพราะไม่ได้ถูกกำจัด เป็นแต่ถูกกดถูกข่มไม่ให้แสดงตัวหรืองอกงามได้ในช่วงที่อยู่ในสมาธิเท่านั้น อุปมาเหมือนหินทับหญ้า ทำให้หญ้าไม่เจริญเติบโตชั่วคราว แต่เมื่อนำหินออก หญ้าได้แดดได้น้ำ ก็จะเจริญเติบโตตามปกติ

ประการที่ ๒ ประโยชน์ในการสร้างความสามารถพิเศษเหนือสามัญวิสัย เป็นผลสำเร็จอย่างสูงทางจิตใจ หรือเรียกว่าประโยชน์ในด้านอภิญญา คือใช้สมาธิระดับฌานสมาบัติเป็นฐาน ทำให้เกิดฤทธิ์และอภิญญาขั้นโลกียะ อภิญญาคือความรู้ยิ่ง หรือความรู้ขั้นสูง มี ๖ อย่าง คือ
    ๑. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่างๆ เช่น เนรมิตคนๆ เดียวให้เป็นหลายคนได้ล่องหนได้ ดำดิน เดินบนน้ำ เดินทะลุกำแพงได้ เป็นต้น
    ๒. ทิพพโสต หรือ หูทิพย์ เช่น สามารถฟังเสียงในที่ไกล ๆ ได้ ได้ยินสิ่งที่ต้องการได้ยินได้
    ๓. เจโตปริยญาณ ทายใจผู้อื่นได้ รู้ว่าผู้อื่นคิดอะไร
    ๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้
    ๕. ทิพพจักขุ ตาทิพย์ ดูเห็นสิ่งต่างๆ ได้ตามใจปรารถนา
    ๖. อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะกิเลสสิ้นไป

อภิญญา ที่เกิดจากสมาธิ จนสำเร็จฌาน เป็นโลกียอภิญญา คืออภิญญาในข้อที่ ๑-๕ ส่วนอาสวักขยญาณ เป็นโลกุตตรอภิญญา

ประการที่ ๓ ประโยชน์ด้านสุขภาพจิตและการพัฒนาบุคลิกภาพ ทำให้เป็นผู้มีจิตใจและบุคลิกลักษณะเข้มแข็งหนักแน่น มั่นคง สงบ เยือกเย็น สุภาพ นิ่มนวล สดชื่น ผ่องใส กระฉับกระเฉง เบิกบาน งามสง่า มีเมตตากรุณา รู้จักตนเองและผู้อื่นตามความเป็นจริง (ตรงข้ามกับลักษณะของคนมีนิวรณ์ เช่น อ่อนไหว ติดใจหลงใหลง่าย หยาบกระด้าง ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด หงุดหงิด วู่วาม วุ่นวาย จุ้นจ้าน สอดแส่ ลุกลี้ลุกลน หรือ หงอยเหงา เศร้าซึม หวาดระแวง ลังเล)

เตรียมจิตให้อยู่ใน
สภาพพร้อมและง่ายแก่การปลูกฝังคุณธรรมต่าง ๆ เสริมสร้างนิสัยที่ดี ทำให้สงบ ผ่อนเบาความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจได้ เรียกอย่างสมัยใหม่ว่า มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีความคุ้มกันทางอารมณ์และมีภูมิคุ้มกันโรคทางจิต

ประการที่ ๔ ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
    ๑. ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลาย หายเครียด เกิดความสงบ หายกระวนกระวาย ยั้งหยุดจากความกลัดกลุ้มวิตกกังวล เป็นเครื่องพักผ่อนกาย ให้ใจสบายและมีความสุข เช่นกำหนดลมหายใจเข้าออก เวลาที่รอคอยอะไร หรือตอนรถติด หรือปฏิบัติเมื่อทำงานใช้ความคิดมากๆ เป็นต้น
    ๒. เป็นเครื่องเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน การเล่าเรียน และการทำกิจทุกอย่าง เพราะจิตที่เป็นสมาธิ แน่วแน่อยู่กับสิ่งที่กำลังกระทำ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก ไม่เลื่อนลอย ย่อมช่วยให้เรียน ให้คิด ให้ทำงานได้ผลดี การงานก็เป็นไปด้วยความรอบคอบ ไม่ผิดพลาด และป้องกันอุบัติเหตุได้ดี เพราะเมื่อมีสมาธิก็ย่อมมีสติกำกับอยู่ด้วย
    ๓. ช่วยเสริมสุขภาพกาย ร่างกายกับจิตใจอาศัยกันและมีอิทธิพลต่อกัน ปุถุชนทั่วไปเมื่อกายไม่สบายจิตใจก็พลอยอ่อนแอเศร้าหมองขุ่นมัว ครั้นเสียใจไม่มีกำลังใจ ก็ยิ่งซ้ำให้โรคทางกายนั้นทรุดหนักลงไปอีก แม้ในเวลาที่ร่างกายเป็นปกติ พอประสบเรื่องราวให้เศร้าเสียใจรุนแรง ก็ล้มป่วยเจ็บไข้ไปได้ ส่วนผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งสมบูรณ์ (โดยเฉพาะท่านที่มีจิตหลุดพ้นแล้ว) เมื่อเจ็บป่วยกายก็ไม่สบายอยู่แค่กายเท่านั้น จิตใจไม่พลอยป่วยไปด้วย ยิ่งกว่านั้นกลับใช้ใจที่สบายมีกำลังจิตเข้มแข็งนั้น หันกลับมาส่งอิทธิพลบรรเทาหรือผ่อนเบาโรคทางกายได้อีกด้วย อาจทำให้โรคหายง่ายและไวขึ้น หรือแม้แต่ใช้กำลังสมาธิระงับทุกขเวทนาทางกายไว้ก็ได้ ในด้านดีผู้มีจิตใจผ่องใสเบิกบาน ย่อมช่วยให้กายเอิบอาบผิวพรรณผ่องใส สุขภาพกายดีเป็นภูมิต้านทานโรคไปในตัว

ปัจจัยเกื้อหนุนและอุปสรรคในการเจริญสมาธิ
ก. ตัดปลิโพธ หรือ ความวิตกกังวลทำให้จิตขัดข้อง มี ๑๐ ประการ
ข. หากัลยาณมิตร หรือ ครูอาจารย์ผู้ที่จะสอนการเจริญสมาธิ
ค. รับกรรมฐานให้ถูกกับจริตของตน
ง. อยู่ในสถานที่ที่เหมาะกับการเจริญสมาธิ
จ. ปฏิบัติตามวิธีเจริญสมาธิ

การอธิบายในเรื่องปัจจัยเกื้อหนุนและอุปสรรคในการเจริญสมาธินี้ กล่าวไว้สำหรับผู้ที่จะเจริญสมาธิทั้งที่เป็นฆราวาส และภิกษุสามเณร ทั้งผู้จะเจริญสมาธิในช่วงสั้น ๆ และผู้ที่มุ่งมั่นสละชีพเพื่อการปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจัง

ก. ปลิโพธ คือ ข้อติดขัดทำให้กังวล มีความค้างคาในใจ เมื่อเกิดกังวลหรือปลิโพธ ก็ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้า ปลิโพธมี ๑๐ ประการ คือ
๑) กังวลเรื่องที่อยู่หรือวัด
๒) เรื่องตระกูล
๓) เรื่องลาภ
๔) เรื่องหมู่คณะ
๕) เรื่องงาน
๖) เรื่องการเดินทาง
๗) เรื่อง ญาติ
๘) เรื่อง อาพาธ
๙) เรื่องคันถะ
๑๐) เรื่องอิทธิ คือฤทธิ์ของปุถุชนกังวลเรื่องรักษาฤทธิ์ แต่กังวลเรื่องนี้เป็นความกังวลของผู้
เจริญวิปัสสนาเท่านั้น เพราะผู้ที่เริ่มบำเพ็ญสมาธิยังไม่มีฤทธิ์ จึงไม่ต้องกังวล

ข. แสวงหาอาจารย์หรือกัลยาณมิตร ผู้ที่จะช่วยเหลือแนะนำสั่งสอนในการปฏิบัติ กัลยาณมิตร คือ ผู้ที่ประกอบไปด้วยกัลยาณมิตรธรรม ๗ ประการ คือ
๑) น่ารัก
๒) น่าเคารพ
๓) น่าเจริญใจ น่านับถือ รู้คุณค่าของการเจริญสมาธิ
เป็นผู้เที่ยงธรรม
๔) สอนได้ดี
๕) ยอมให้ศิษย์แนะนำท้วงติงได้
๖) สอนเรื่องที่ลึกซึ้งได้
๗) ไม่
แนะนำ ไม่ชักชวนในเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควร 

การมีกัลยาณมิตรจะช่วยเป็นขวัญเป็นกำลังใจในเวลาปฏิบัติแล้วประสบอารมณ์ที่น่ากลัว ทำให้ไม่
ดื้อรั้น เพราะมีอาจารย์คอยดูแลควบคุมความประพฤติอยู่ การแสวงหากัลยาณมิตรที่ดีที่สุด แนะนำข้อปฏิบัติทั้งสมถะและวิปัสสนาได้ถูกต้องที่สุด ในปัจจุบันยังหาได้อยู่คือ คำสอนในพระไตรปิฎก และอรรถกถา พระไตรปิฎกเล่มที่ ๖๘-๖๙ ชื่อว่า ปฏิสัมภิทามรรค อรรถกถา ได้แก่ คัมภีร์วิสุทธิมรรค และคัมภีร์วิมุตติมรรค ทั้ง ๓ คัมภีร์นี้จัดได้ว่าเป็นคู่มือสำหรับนักปฏิบัติอย่างดี

ค. รับกรรมฐานให้ถูกกับจริตของตน จริต หรือ จริยา หมายถึง พื้นเพของจิต ลักษณะนิสัยความประพฤติที่หนักไปทางใดทางหนึ่ง คนที่มีจริตแบบใดลักษณะนิสัยจิตใจก็จะเป็นไปในทางนั้น จริตแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ มี ๖ คือ
    ๑. ราคจริต นิสัยหนักไปทางราคะ รักสวย รักงาม ยืน เดินเยื้องย่างละมุนละไม ไม่รีบร้อน รักสะอาด พิถีพิถันเรื่องของใช้เครื่องแต่งตัวเครื่องประดับ ชอบบริโภคอาหารรสกลมกล่อม ประณีตและหวาน ทำการใดๆ ก็ทำอย่างเรียบร้อยมีระเบียบสวยงาม
    ๒. โทสจริต นิสัยหนักไปทางโทสะ ใจร้อนหงุดหงิด อารมณ์รุนแรง ทำการงานสะอาด แต่ไม่เรียบร้อย ตึงตัง โครมคราม ชอบอาหารรสเปรี้ยว รสจัด รับประทานอาหารเร็ว เดินเร็ว ฝีเท้าหนัก ชอบวิวาท
    ๓. โมหจริต นิสัยหนักไปทางโมหะ ค่อนข้างเขลา เชื่อง่ายงมงาย เซื่องซึม ไม่กระปรี้กระเปร่า เหม่อลอย ท้อถอย ไม่เข้มแข็ง ทำงานใดก็ทำอย่างหยาบๆ ไม่สะอาด ไม่เรียบร้อย ชอบเผลอสติ
    ๔. สัทธาจริต นิสัยหนักไปทางศรัทธา น้อมใจเลื่อมใสได้ง่าย ไม่มีมารยาสาไถย เลื่อมใสในพระรัตนตรัย บิดา มารดา ครู อาจารย์
    ๕. วิตกจริต นิสัยหนักไปทางวิตกกังวล ย้ำคิด ฟุ้งซ่าน วาดวิมานในอากาศ กลัวไปล่วงหน้าทั้งที่เหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น
    ๖. พุทธิจริต นิสัยหนักไปทางชอบใช้เหตุผล สติปัญญา ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ชอบศึกษาครุ่นคิด

คนแต่ละคนจะมีจริตอย่างเดียว อาจมีจริตผสมกันได้ เช่น เป็นคนราคจริตและโทสจริตในคนๆเดียวกัน เป็นคนโทสจริตและโมหจริตด้วย เป็นต้น บุคคลที่เกิดมาในโลก มีจริตนิสัยแตกต่างกันไป แม้พี่น้องพ่อแม่เดียวกัน ก็มีอัธยาศัยจิตใจผิดแผกกันไป ทั้งที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูเหมือนๆ กัน พุทธศาสนาได้อธิบายสาเหตุ ของความแตกต่างกันของนิสัยนี้ว่า มาจากกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่บุคคลผู้นั้นได้สั่งสมมาในชาติปางก่อนๆ ไม่ได้เกิดจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมในชาติปัจจุบัน หรือ การอบรมเลี้ยงดูเพียงอย่างเดียว เหตุจากชาติปางก่อนมีส่วนด้วยและการเลี้ยงดูความประพฤติการปฏิบัติตนในชาตินี้ก็มีส่วนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้พุทธศาสนาเห็นว่าคนสามารถพัฒนาตนเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปได้ แก้ไข ปรับปรุงตนเองได้ มิใช่ยินยอม ถูกกระทำหรือยอมรับทุกสิ่ง หรือปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกระแส แต่คนมีศักยภาพ (potential) ที่จะเป็นผู้ฝ่าฟัน ชนะสิ่งไม่ดีไม่งามต่างๆ ในใจของตน และสร้างสรรค์พัฒนาสิ่งที่ดีงามให้งอกงามผลิบานได้ ในจิตใจและชีวิตของตนเอง

จริตนิสัยเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ เช่น คนโมหจริต โง่เขลา ด้อยปัญญา ก็สามารถแก้ไข หรือปรับปรุงตัว โดยหมั่นไต่ถามผู้รู้ ขยันศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ สนทนาธรรม เป็นต้น การแก้ไขจริตนิสัยที่ไม่ดีไม่งามต่างๆ นั้น ถ้าบุคคลผู้นั้นเห็นโทษของมันและมุ่งมั่นจะเปลี่ยนแปลง ก็สามารถบรรเทาหรือทำให้ดีขึ้นได้ เช่น เห็นโทษของโทสะ ก็หาอุบายวิธีระงับ หรือบรรเทาไม่ให้โทสะกำเริบ หรือแสดงออกมาให้เกิดผลเสียทั้งแก่ตนเองและผู้คนรอบข้าง การเจริญเมตตาภาวนาซึ่งเป็นการเจริญสมาธิอย่างหนึ่ง เป็นวิธีที่สามารถช่วยให้จิตใจอ่อนโยนและบรรเทาโทสะลงได้ การเลือกกรรมฐานให้เหมาะกับจริต ต้องพิจารณาว่าอุปนิสัยของเราโน้มเอียงหรือหนักไปทางใด มีหลักพิจารณาดังต่อไปนี้
    ๑. คนราคจริต กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ อสุภะ ๑๐ (พิจารณาซากศพ) และ กายคตาสติ (พิจารณากาย คือ พิจารณาอาการ ๓๒ ของกาย)
    ๒. คนโทสจริต กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ พรหมวิหาร ๔ (อัปปมัญญา ๔) วรรณกสิณ ๔ ได้แก่ กสิณสีแดง กสิณสีขาว กสิณสีเขียว และกสิณสีเหลือง
    ๓. คนโมหจริต กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ อานาปานสติ (การดูลมหายใจเข้าออก)
    ๔. คนสัทธาจริต กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ อนุสสติ ๖ (พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ และเทวตานุสสติ)
    ๕. คนวิตกจริต กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ อานาปานสติ
    ๖. คนพุทธิจริต กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ มรณานุสติ อุปสมานุสติ จตุธาตุววัฏฐานและอาหาเรปฏิกูลสัญญา

ส่วนอรูปฌาน ๔ และมหาภูตกสิณทั้ง ๔ คือ ปฐวีกสิณ (กสิณดิน) อาโปกสิณ (กสิณน้ำ) เตโชกสิณ (กสิณไฟ) และวาโยกสิณ (กสิณลม) เหมาะกับคนทุกจริต เมื่อเจริญสมาธิแบบใดแล้วเห็นว่าเหมาะกับจริตของตนเอง ก็ไม่ควรโลเลเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำวิธีโน้นบ้าง ทำวิธีนี้บ้าง จนท้ายที่สุดสมาธิก็ไม่ตั้งมั่น ไม่เป็นเรื่องเป็นราว เมื่อได้สมาธิที่เหมาะกับจริตก็ควรตั้งใจปฏิบัติไปจนถึงที่สุดแห่งวิธีการหรือสมาธินั้นๆ

ง. อาวาสหรือที่อยู่ หรือวัดที่ไม่เหมาะกับการเจริญสมาธิ ควรหลีกเลี่ยงวัดที่มีลักษณะ ๑๘ ประการนี้ คือ (ในที่นี้จะกล่าวถึงวัด แต่อันที่จริงแล้วจะเป็นสถานที่ใดก็ได้ที่สามารถจัดเป็นที่ปฏิบัติ เช่น บ้าน สำนัก ฯลฯ)
    ๑. วัดใหญ่ เพราะมีพระเณร มีคนมาก ต่างจิตต่างใจเรื่องก็มาก หาความสงบไม่ได้
    ๒. วัดเก่า มีเรื่องที่ต้องดูแลมาก ต้องซ่อมแซมรักษาโบราณวัตถุ
    ๓. วัดใหม่ มีเรื่องต้องก่อสร้าง มีเรื่องต้องทำให้วัดสมบูรณ์
    ๔. วัดใกล้ทางเดินทางสัญจร อาจหมายถึงวัดที่ติดถนนทางสัญจรจะมีคนมาบ่อย ทำให้ไม่สงบ
    ๕. วัดใกล้สระน้ำ ท่าน้ำ คนจะพากันมาใช้น้ำ ทำให้พลุกพล่าน ไม่สงบ
    ๖. วัดที่มีผัก หรือใบไม้ที่บริโภคได้
    ๗. วัดที่มีดอกไม้
    ๘. วัดที่มีไม้ผล หรือผลไม้ต่างๆ
(วัดในข้อ ๖-๘ จะทำให้คนมาเก็บผัก ขอดอกไม้ ขอผลไม้คนจะพากันมาเสมอทำให้ไม่สงบ วัดที่สร้างไว้เพื่อจะให้เป็นวัดสำหรับปฏิบัติสมาธิภาวนาจริงๆ จะไม่ตกแต่งทำสวนดอกไม้ เพราะผู้คนจะพากันมาเก็บดอกไม้ มาเที่ยวอยู่ไม่ขาด)
    ๙. วัดที่ใครๆ อยากไปมา วัดที่มีชื่อเสียงในด้านวัตถุมงคล เป็นต้น
    ๑๐. วัดที่อยู่ใกล้เมือง
    ๑๑. วัดที่อยู่ใกล้ที่ไม้ที่ฟืน หมายถึง วัดที่อยู่ใกล้ป่าที่มีคนมาหาฟืนหาของป่ากันมาก
    ๑๒. วัดอยู่ใกล้นา ชาวนาก็จะนวดข้าว ทำนา เสียงจะอื้ออึง
    ๑๓. วัดที่มีคนไม่ถูกกัน ทะเลาะวิวาทกัน
    ๑๔. วัดติดท่าน้ำ ผู้คนจะใช้สัญจรไปมามาก และมาอาบน้ำตักน้ำกัน
    ๑๕. วัดในถิ่นห่างไกลที่คนไม่นับถือพุทธศาสนา
    ๑๖. วัดติดพรมแดน อยู่ระหว่างประเทศ ระหว่างรัฐ อาจเกิดสงคราม รบพุ่งไม่สงบ เป็นการเสี่ยงภัยและมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องได้
    ๑๗. วัดที่ไม่สัปปายะ อยู่ไม่สบายมีอารมณ์ต่างๆ มารบกวน
    ๑๘. วัดที่ไม่มีกัลยาณมิตร หรือไม่มีอาจารย์คอยแนะนำดูแล

จ. ปฏิบัติตามวิธีเจริญสมาธิ จะกล่าวถึงวิธีการปฏิบัติต่างๆ ๔๐ วิธี ในบทต่อๆ ไป ผู้ปฏิบัติจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามวิธีการต่างๆ เหล่านั้นจึงจะได้ผลแห่งสมาธิวิธีนั้นๆ ยังมีสิ่งที่ควรคำนึงถึงอีกหลายประการ ที่จะช่วยในการปฏิบัติสมาธิให้ก้าวหน้า ช่วยให้กรรรมฐานเจริญ นอกจากปัจจัยทั้ง ๔ ประการที่ได้กล่าวไปแล้ว ก็ยังมีข้อธรรมที่มีผลโดยตรงกับการอบรมจิต อันได้แก่ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ 



ธุดงควัตร ๑๓
ธุดงค์ หมายถึง องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส เป็นชื่อของข้อปฏิบัติประเภทวัตร ที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษ เป็นต้น การปฏิบัติธุดงควัตรไม่ใช่สิ่งที่บังคับ แต่เป็นความสมัครใจ ผู้ใดจะปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ จะปฏิบัติเป็นครั้งคราวหรือตลอดไปก็ได้ จะปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอุกฤษฎ์ก็ได้ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้กล่าวถึงธุดงควัตรว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ช่วยให้กุศลธรรมเจริญ อกุศลธรรมเสื่อม (ความดีเพิ่มพูน ความไม่ดีลดลง)

ธุดงควัตร ๑๓
ข้อ นั้น ได้แก่
๑. ใช้แต่ผ้าบังสุกุล คือผ้าห่อศพ หรือผ้าที่เขาทิ้งแล้วมาตัดเย็บจีวร
๒. ใช้ผ้าเพียง ๓ ผืน ได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ
๓. บิณฑบาตเป็นวัตร (บิณฑบาตเป็นประจำ)
๔. บิณฑบาตตามลำดับเรือน (บ้าน)
๕. ฉันมื้อเดียว
๖. ฉันในบาตร
๗. เมื่อลงมือฉันแล้วไม่รับเพิ่ม (ไม่รับอาหารที่เขาถวายภายหลัง)
๘. อยู่ป่า
๙. อยู่โคนไม้
๑๐. อยู่ป่าช้า
๑๑. อยู่กลางแจ้ง
๑๒. อยู่ในที่แล้วแต่เขาจะจัดให้ (ไม่จู้จี้เลือกที่พักที่ตนพอใจ)
๑๓. ถือนั่งอย่างเดียวไม่นอน

ธุดงควัตรนั้นพระภิกษุ สามเณร สามารถปฏิบัติได้ทุกข้อ ในสมัยพุทธกาลนั้น ภิกษุณีก็มีการปฏิบัติธุดงควัตรเพื่อช่วยให้กรรมฐานเจริญเร็วเช่นกัน แต่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุณีปฏิบัติธุดงควัตรเพียง ๘ ข้อ คือ ใช้แต่ผ้าบังสุกุล ใช้เพียง ๓ ผืน ถือการบิณฑบาต บิณฑบาตไปตามลำดับเรือน ฉันมื้อเดียว ฉันเฉพาะในบาตร ถือนั่งอย่างเดียวไม่นอน และอยู่ในที่แล้วแต่เขาจัดให้ ส่วนธุดงควัตรอีก ๕ ข้อ คือ อยู่ป่า อยู่ป่าช้า อยู่โคนไม้ ไม่รับอาหารที่เขาถวายภายหลัง และอยู่กลางแจ้งนั้น ทรงห้ามเพื่อสวัสดิภาพของภิกษุณีเอง เพราะความเป็นหญิงถึงแม้จะบวชปฏิบัติธรรมแล้ว ก็ต้องระวังเรื่องสวัสดิภาพเป็นสำคัญ แม้แต่พระอุบลวรรณาเถรี พระภิกษุณีผู้บรรลุอรหัตตผล ก็ยังถูกย่ำยีข่มเหงได้ ผู้ปฏิบัติธรรมที่เป็นฆราวาส สามารถปฏิบัติธุดงควัตรที่เหมาะสมกับตนและอยู่ในวิสัยที่ฆราวาสจะปฏิบัติได้ในบางข้อ เช่น รับประทานอาหารมื้อเดียว รับประทานอาหารในภาชนะใบเดียว (เพราะอุบาสก อุบาสิกา ฆราวาสไม่ใช้บาตร) อยู่ในที่แล้วแต่เขาจะจัดให้ ถือการนั่งไม่นอน ดังที่ผู้ปฏิบัติมักจะไม่นอนตลอดคืนวันพระ หรือวันสำคัญทางศาสนา เพื่อเจริญสมาธิ หรือฟังธรรม บูชาพระพุทธองค์ เป็นต้น 




๒. รูปฌาน อรูปฌาน

รูปฌาน
คือ การกำหนดสิ่งที่เป็นรูปธรรมเป็นอารมณ์ เช่น ปถวีกสิณ เป็นต้น ขณะที่ฌานจิตเกิด
นั้นจิตจะต้องเป็นอัปปนาสมาธิ ลักษณะของอัปปนาสมาธิ ก็คือนิ่งอยู่ในอารมณ์เดียว จะไม่ไหวไปรับรู้อารมณ์อื่น จิตมีอารมณ์เป็นบัญญัตินิมิต มีนิมิตเป็นอารมณ์ ก็อยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ไม่สามารถจะคิดนึกไปอย่างอื่น ไม่สามารถไปรับสี รับ เสียง รับกลิ่น รับรส รับสัมผัส อย่างอื่น เรียกว่าดับความรู้สึกทางประสาททั้ง ๕ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่รับรู้เลย แม้ทางใจก็รู้เฉพาะอารมณ์เดียวคือนิมิตกรรมฐานอยู่ตลอดเวลา

ปฐมฌาน 
ผู้ปฏิบัติพึงทำความเพียรในการเจริญสมถกรรมฐานมีปฐวีกสิณเป็นต้นเป็นอารมณ์ ด้วยกำลังแห่งสมาธิที่ตั้งมั่น เป็นกุศล และถูกทาง ประคองจิตให้จดจ่อในปฏิภาคนิมิต จิตมีปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นอารมณ์ สมาธิตั้งมั่นในขั้นอัปปนาสมาธิ จิตบรรลุถึงปฐมฌาน มีองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

องค์ฌาน ๕ เป็นปฏิปักษ์แก่นิวรณ์ ๕ เมื่อเจริญฌานถึงขั้นฌานจิตเกิดขึ้น องค์ฌานจะสามารถระงับนิวรณ์ คือ

  • วิตก ข่ม ถีนะและมิทธนิวรณ์
  • วิจาร ข่ม วิจิกิจฉานิวรณ์
  • ปีติ ข่ม พยาปาทนิวรณ์
  • สุข ข่ม อุทธัจจะและกุกกุจจนิวรณ์
  • เอกัคคตา ข่ม กามฉันทนิวรณ์

ความหมายขององค์ฌาน ๕
    ๑.วิตก หมายถึง การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ความนึกถึงอารมณ์ การกำหนดอารมณ์ ( ในขณะที่ได้ฌานนั้นก็คือ ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ที่เป็นนิมิตอยู่)
    ๒. วิจาร หมายถึง การเคล้าคลึงอารมณ์ วิตกและวิจาร เป็นองค์ฌานที่ต่อเนื่องกัน วิตก คือ เอาจิตจรดกับอารมณ์ที่เป็นนิมิต วิจาร คือ เอาจิตไปผูกหรือไปเคล้ากับอารมณ์นั้น
    ๓. ปีติ หมายถึง อิ่มใจ อิ่มในอารมณ์ ดื่มด่ำ ซาบซ่านไปทั่วกายและใจ
    ๔. สุข หมายถึง ธรรมชาติใดย่อมขุดออกซึ่งความไม่สบายกายความไม่สบายใจ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า สุข สุขและปีติแตกต่างกัน แยกกันได้ยาก ปีติกับสุขนั้นเปรียบเทียบได้ว่า คนผู้หนึ่งเดินทางมาในทะเลทรายเหนื่อยอ่อน แสนจะร้อนและหิวกระหาย ต่อมาเขาเห็นหมู่ไม้และแอ่งน้ำ หลังจากเขาได้เข้าไปพักผ่อนและดื่มน้ำ อาการดีใจ ที่ได้เห็นหมู่ไม้และแอ่งน้้า เรียกว่า “ปีติ” เมื่อได้เข้าไปพักและได้ดื่มน้้าเรียกว่า “สุข”

อุเบกขา หมายถึง ความวางเฉย มีใจเป็นกลางไม่ติดแม้แต่สุขอันประณีตในฌาน และหมายถึงวางทีดูเฉยเมื่อทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี ไม่ต้องขวนขวายกำจัดธรรมที่เป็นข้าศึกในฌานอีก เพราะหมดจดจากธรรมที่เป็นข้าศึกแล้ว (เมื่อเจริญถึงปัญจมฌานแล้ว องค์ฌานก็จะเปลี่ยนจากสุขเป็นอุเบกขา)
    ๕. เอกัคคตา หมายถึง ความตั้งมั่นในอารมณ์ ผู้ที่ได้เข้าถึงปฐมฌานนั้นจะต้องมีองค์ฌาน ๕ เกิดขึ้นในจิต ซึ่งเป็นอาการในจิตเองหรือว่าเป็นเจตสิกต่างๆ ที่ทำหน้าที่รวมกันอยู่ เรียกว่าตั้งมั่นในอารมณ์เดียว จะมีองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ฌานที่ ๒ ก็เหลือเพียงวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ฌานที่ ๓ มีแต่ปีติ สุข เอกัคคตา ฌานที่ ๔ มีแต่สุขกับเอกัคคตา ฌานที่ ๕ ก็มีองค์ฌาน ๒ เหมือนกันแต่เปลี่ยนจากสุขเป็นอุเบกขา คือความวางเฉย ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว สุดยอดของการเจริญรูปฌานได้แค่นั้น ได้แค่อุเบกขา เอกัคคตา ได้แค่ปัญจมฌาน

รูปฌานแบ่งตามระดับปัญญา แบ่งออกเป็น ๒ นัย คือ

รูปฌานแบ่งโดยปัญจกนัย มี ๕ (พระอภิธรรม)
๑. ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา 
๒. ทุติยฌาน มีองค์ ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา 
๓. ตติยฌาน มีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา 
๔. จตุตถฌาน มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา ๔. อุเบกขา เอกัคคตา
๕. ปัญจมฌาน มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

รูปฌานแบ่งโดยจตุกกนัย มี ๔ (พระสูตร)
๑. วิตก วิจาร ปีติสุข เอกัคคตา
๒. ปีติสุข เอกัคคตา
๓. สุข เอกัคคตา
๔. อุเบกขา เอกัคคตา

นั่นก็หมายถึงว่าการปฏิบัติของแต่ละท่านนั้นมีสติปัญญาต่างกัน บางท่านปัญญาน้อยก็จะละองค์ฌานไปทีละอย่าง (โดยปัญจกนัย) ปฐมฌานมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา พอขึ้นฌานที่ ๒ ก็ละวิตกเหลือองค์ฌาน ๔ แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญามาก (โดยจตุตกนัย) จะละทีเดียว ๒ คือเมื่อขึ้นฌานที่ ๒ ก็สามารถละวิตกวิจารได้พร้อมกัน ทำให้ฌานที่ ๒ เหลือองค์ฌานเพียง ปีติ สุข เอกัคคตา ฌานที่ ๓ เหลือองค์ฌาน คือ สุข เอกัคคตา ฌานที่ ๔ ก็มีองค์ฌาน คือ อุเบกขา เอกัคคตา

ฉะนั้นฌานสมาบัติ ๘ นับโดยจตุกกนัย หรือ ฌานสมาบัติ ๙ นับโดยปัญจกนัย นี้คือผลของการเจริญสมถกรรมฐาน ส่วน ผลอย่างอื่นของการเจริญสมถกรรมฐานที่จะเกิดขึ้นได้ คือ อภิญญา

อธิบายองค์ฌาน ๕ เพิ่มเติม วิตกและวิจาร

วิตก คือ การหมายรู้อารมณ์ การคิด ความเป็นผู้ตั้งมั่น การนึกตามและการปรารถนาถูกต้อง ลักษณะของวิตก คือ การตรึก สำหรับผู้เพ่งปฐวีกสิณและใส่ใจในปฐวีนิมิตอย่างดี อย่างสม่ำเสมอ อย่างไม่มีที่สุด เหล่านี้คือลักษณะของวิตกนั่นเอง เปรียบได้กับการท่องจำบทสวดมนต์

วิจาร คือ เมื่อผู้ปฏิบัติใช้วิจาร จิตดำรงอยู่ในความไม่ยินดียินร้ายต่อสิ่งที่วิจารนั้นกำลังใคร่ครวญ สภาวะนี้ เรียกว่า วิจาร ผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐานที่เพ่งปฐวีกสิณ ใส่ใจอาการหลายอย่างที่จิตของเขาหยั่งเห็นในขณะที่เพ่งปฐวีนิมิตนี้เรียกว่า วิจาร ลักษณะของวิจาร คือ การไตร่ตรองหลังการพิจารณา

ความต่างกันของวิตกและวิจาร
จากลักษณะของวิตกและวิจาร จะเห็นว่ามีความใกล้เคียงกันมาก อาจจะทำให้เข้าใจได้ยากว่าลักษณะอย่างไรคือวิตกหรือวิจาร ความต่างกันของวิตกวิจารก็มีอุปมาเปรียบเทียบดังนี้

ปีติ คือ ในขณะที่จิตมีความเอิบอิ่มสบายอย่างเหลือเกินประกอบด้วยความเย็นสนิท ลักษณะของปีติ คือ ความเพียบพร้อมด้วยความเอิบอิ่ม ปีติมีหลายประการโดยนัย ๖ และโดยนัย ๕

ปีติมี ๖ ประการ คือ
๑) ปีติเกิดจากราคะ ความอิ่มใจ เพราะความชอบ หลงใหล และความอิ่มใจที่ประกอบด้วยกิเลส
๒) ปีติเกิดจากศรัทธา ความอิ่มใจ ของบุคคลผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้า
๓) ปีติเกิดจากความไม่ดื้อด้าน ความอิ่มใจ อย่างยิ่งของคนดี มีใจบริสุทธิ์
๔) ปีติเกิดจากวิเวก ความอิ่มใจ ของบุคคลผู้เข้าปฐมฌาน
๕) ปีติเกิดจากสมาธิ ความอิ่มใจ ของบุคคลผู้เข้าทุติยฌาน
๖) ปีติเกิดจากโพชฌงค์ ความอิ่มใจ ที่เกิดจากการดำเนินตามโลกุตตรมรรคในทุติยฌาน

ปีติมี ๕ ประการ คือ
๑) ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อย เปรียบเหมือนการที่ขนตามร่างกายตั้งชันขึ้นเมื่อถูกละอองน้ำฝน
๒) ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ เป็นปีติที่เกิดขึ้นและดับไปทันที เปรียบเหมือนละอองน้ำในเวลากลางคืน
๓) โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอก เป็นปีติที่เกิดขึ้นกระทบกายแล้วหายไป กระทบกายแล้วหายไป เปรียบเหมือนลูกคลื่นกระทบฝั่ง
๔) อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน เป็นปีติที่มีกำลังมาก ทำกายให้ลอยขึ้นได้ ถึงขนาดทำให้ลอยไปบนอากาศก็ได้
๕) ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน เป็นปีติที่แผ่ไปทั่วร่างกาย เหมือนก้อนเมฆหนาทึบที่เต็มไปด้วยเม็ดฝน

ฉะนั้น ขุททกาปีติและขณิกาปีติ สามารถเข้าถึงได้ด้วยศรัทธา โอกกันติกาปีติที่มีมากย่อมทำอุปจารสมาธิให้เกิดขึ้น อุพเพงคาปีติที่ยึดอยู่กับดวงกสิณทำให้ทั้งกุศลและอกุศลเกิดขึ้น และขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญ ผรณาปีติอันบุคคลทำให้เกิดขึ้นในสภาวะแห่งอัปปนาสมาธิ

สุข คือ ลักษณะการประสบสิ่งน่ารักน่าชอบใจ รสของสุขก็เป็นลักษณะของสุข ภาวะที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์อันน่าพอใจนี้เป็นรสอันพึงประสงค์ของสุข สุขมี ๕ ชนิด คือ
๑) สเหตุกสุข คือสุขตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “สุขอันเกิดจากคุณความดี ย่อมยั่งยืน” หมายถึง สุขที่เกิดจากผลของบุญกุศล 
๒) มูลิกสุข คือสุขตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าทำให้เกิดสุขขึ้นในโลก”
๓) วิเวกสุข เป็นพัฒนาการแห่งตัตรมัชฌัตตตา และการขจัดกิเลสของฌาน
๔) นิกกิเลสสุข คือสุขตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ”
๕) สุขวิหาร เป็นความสุขเกิดจากการอยู่ หมายถึง สุขวิหารเป็นสุขที่ควรเสวยความต่างกันของ ปีติ และ สุข


เอกัคคตา 
คือ ความที่จิตมีอารมณ์เลิศเป็นหนึ่ง ตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่านซัดส่าย ความตั้งอยู่แห่งจิต เหมือนการตั้งอยู่แห่งเปลวประทีปทั้งหลายที่ปราศจากลม ฉะนั้น

ความหมายของนิวรณ์ ๕ 
นิวรณ์คือสิ่งที่ขวางกั้นจิตทำให้สมาธิไม่อาจเกิดขึ้นได้ นิวรณ์มี ๕ อย่าง คือ
    ๑. กามฉันทะ คือความยินดี พอใจ เพลิดเพลินในกามคุณอารมณ์ ได้แก่ ความยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สิ่งสัมผัสทางกาย) อันน่ายินดี น่ารักใคร่พอใจ รวมทั้งความคิดอันเกี่ยวเนื่องด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น (คำว่ากามในทางธรรมนั้น ไม่ได้หมายถึงเรื่องเพศเท่านั้น)
    ๒. พยาปาทะ คือ ความโกรธ ความพยาบาท ความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ
    ๓. ถีนมิทธะ แยกเป็นถีนะ คือ ความหดหู่ท้อถอย และ มิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน ถีนะและมิทธะนั้นมีอาการแสดงออกที่คล้ายกันมาก คือทำให้เกิดอาการเซื่องซึมเหมือนกัน แต่มีสาเหตุที่ต่างกันคือ ถีนะเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เกิดจากการปรุงแต่งของจิต ทำให้เกิดความย่อท้อ เบื่อหน่าย ไม่มีกำลังที่จะทำความเพียรต่อไป ส่วนมิทธะนั้นเกิดจากความเมื่อยล้าอ่อนเพลียของร่างกาย หรือจิตใจจริงๆ เนื่องจากตรากตรำมามาก หรือขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ หรือการรับประทานอาหารที่มากเกินไป
    ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ แยกเป็นอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านของจิต และ กุกกุจจะ คือ ความรำคาญใจ อุทธัจจะนั้นคือการที่จิตไม่สามารถยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานาน จึงเกิดอาการฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไปเรื่องนั้นทีเรื่องนี้ที ส่วนกุกกุจจะนั้นเกิดจากความกังวลใจ หรือไม่สบายใจถึงอกุศลที่ได้ทำไปแล้วในอดีต ว่าไม่น่าทำไปอย่างนั้นเลย หรือบุญกุศลต่างๆ ที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ ก็จะคิดกังวลไป
    ๕. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ คือ สงสัยในเรื่องกรรมและผลของกรรม สงสัยว่าบุญบาปมีจริงหรือไม่ นรกสวรรค์มีจริงหรือไม่ ตายแล้วไปไหน ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ ตลอดจนสงสัยในข้อปฏิบัติ ทำให้จิตไม่อาจมุ่งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้อย่างเต็มที่ สมาธิจึงไม่เกิดขึ้น

นิวรณ์ทั้ง ๕ เป็นอุปสรรคสำคัญในการเจริญสมาธิ ถ้านิวรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างเกิดขึ้น สมาธิก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ แต่นิวรณ์เป็นอารมณ์ของการเจริญวิปัสสนาได้ ถ้านิวรณ์เกิดขึ้นกับผู้เจริญวิปัสสนาและผู้นั้นมีสติรู้เท่าทัน สติจะเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาในการรู้เท่าทัน ธรรมชาติของนิวรณ์เหล่านั้น เพราะการเจริญวิปัสสนานั้นเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติของสรรพสิ่ง (ซึ่งนิวรณ์ทั้ง ๕ ก็จัดเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นได้) เพื่อให้เห็นถึงสภาวะความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจของจิต เมื่อทราบธรรมชาติตามความเป็นจริงแล้ว ปัญญาในวิปัสสนาก็เกิดขึ้นได้โดยอาศัยการโยนิโสมนสิการเพื่อให้รู้เท่าทันในสภาวะของนิวรณ์ทั้ง ๕ 

ผู้ที่เจริญสมถกรรมฐานจนสำเร็จฌาน เป็นเพียงการทำความพ้นออก สลัดออกจากกามและอกุศล
ธรรมทั้งปวงให้สงบระงับ ข่มนิวรณ์ธรรมทั้งหลายให้สงบลงได้เท่านั้น แต่ยังไม่สามารถประหาณนิวรณธรรม เพราะไม่ได้ทำลายรากเหง้าของกามและอกุศลธรรมเหล่านั้นลงไปได้ แต่สำหรับผู้ที่เจริญวิปัสสนาจนมรรคจิตเกิดขึ้น มรรคจิตจะทำหน้าที่ตัดขาดรากเหง้าของกิเลสทั้งหลายโดยสิ้นเชิง

วิธีแก้ไขนิวรณ์ ๕
๑. กามฉันทะ แก้ได้หลายวิธีตามลักษณะของกามฉันทะที่เกิดขึ้น ดังนี้
    ๑.๑ พิจารณาถึงความจริงที่ว่ากามคุณทั้งหลายนั้นมีสุขน้อยมีทุกข์มาก คือ ให้ความสุขในช่วงที่ได้มาใหม่ ๆ ซึ่งเป็นเสมือนเหยื่อล่อให้ติด ครั้นเมื่อติดในสิ่งนั้นๆ แล้ว ความทุกข์ทั้งหลายก็จะตามมา ถ้ายิ่งถูกใจมากเท่าใด ก็จะยิ่งนำความทุกข์มาให้มากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นทุกข์จากการแสวงหาเพื่อให้ได้มากยิ่งขึ้น ทุกข์จากการพยายามรักษาสิ่งนั้นเอาไว้ ทุกข์จากความหวงแหน ความกลัวว่าจะต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป และเมื่อต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป ก็จะยิ่งเป็นทุกข์ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเราทั้งหลายล้วนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักที่พอใจ ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
    ๑.๒ พิจารณาว่าสิ่งทั้งหลายมีความแปรปรวนไปตลอดเวลา สิ่งที่ให้ความสุขในวันนี้ก็อาจจะนำความทุกข์มาให้ได้ในวันข้างหน้า เช่น คนที่ทำดีกับเราในวันนี้ ต่อไปถ้าเขาเบื่อ หรือไม่พอใจอะไรเราขึ้นมา เขาก็อาจจะร้ายกับเราอย่างมากก็ได้
    ๑.๓ พิจารณาถึงความเป็นอสุภะ คือ เป็นของไม่สวยไม่งาม เต็มไปด้วยของไม่สะอาด ร่างกายที่เห็นว่าสวยงามในตอนนี้ จะคงสภาพอยู่ได้นานสักเท่าใด พอแก่ตัวขึ้นก็ย่อมจะหย่อนยาน เหี่ยวย่นไม่น่าดู ถึงแม้ในตอนนี้เอง ก็เต็มไปด้วยของสกปรกไปทั้งตัว ตั้งแต่เส้นผมจรดปลายเท้า ถ้าถึงเวลาที่กลายสภาพเป็นซากศพแล้วจะมีสภาพอย่างไร
    ๑.๔ พิจารณาถึงคุณของการออกจากกามหรือประโยชน์ของสมาธิ เช่น เป็นความสุขที่ประณีต ละเอียดอ่อน เบาสบายไม่หนักอึ้งเหมือนกาม คนที่ได้สัมผัสกับความสุขจากสมาธิสักครั้ง ก็จะรู้ได้เองว่าเหนือกว่าความสุขจากกามมากเพียงใดเป็นความสุขที่ไม่ต้องแสวงหาจากภายนอก เพราะเกิดจากความสงบภายใน จึงไม่ต้องมีการแย่งชิง ไม่ต้องยื้อแย่งแข่งขัน ไม่ต้องกลัวถูกลักขโมย เป็นความสุขที่ไม่ต้องมีวัตถุใดๆ มาเป็นเครื่องล่อ จึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

๒. พยาปาทะ แก้ได้หลายวิธีตามลักษณะของพยาปาทะที่เกิดขึ้น ดังนี้
    ๒.๑ พิจารณาถึงคุณของการให้อภัย ว่าอภัยทานนั้นเป็นบุญอันยิ่งใหญ่ เป็นการทำบุญโดยไม่ต้องเสียอะไรเลย มองโลกในแง่ดีให้เห็นว่าคนที่ทำให้เราไม่พอใจนั้นเขาคงไม่ได้ตั้งใจ เขาอาจจะทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเข้าใจผิด หรือถูกเหตุการณ์บังคับ ถ้าเขารู้หรือว่าเขาเลือกได้ เขาคงไม่ทำอย่างนั้น หรือคิดถึงหลักความจริงที่ว่า คนเราเมื่ออยู่ใกล้กัน ก็ย่อมมีโอกาสที่จะทำในสิ่งที่ไม่ถูกใจคนอื่นได้เป็นครั้งคราวอยู่แล้ว เพราะคงไม่มีใครสามารถทำให้ถูกใจคนอื่นได้ตลอดเวลา แม้ตัวเราเองก็ยังเคยทำให้คนอื่นไม่พอใจเช่นกัน เพราะฉะนั้น เมื่อคนอื่นทำไม่ถูกใจเราบ้าง ก็ย่อมจะเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ควรจะถือโทษโกรธกัน หรือ คิดเสียว่าเป็นการฝึกจิตของตัวเราเองให้เข้มแข็งขึ้น โดยการพยายามเอาชนะใจตนเองเอาชนะความโกรธ และขอบคุณผู้ที่ทำให้เราโกรธที่ให้โอกาสในการฝึกจิตแก่เรา ให้เราได้สร้างและเพิ่มพูนขันติบารมี
    ๒.๒ พิจารณาเรื่องกฎแห่งกรรม ว่าสัตว์โลกมีกรรมเป็นของๆ ตน ใครสร้างกรรมอันใดไว้ ย่อมต้องรับผลกรรมนั้นๆ สืบไป การที่เราเจอเหตุการณ์ที่ไม่ดีในครั้งนี้ ก็คงเป็นเพราะกรรมเก่าที่เราได้ทำเอาไว้ สำหรับคนที่ทำไม่ดีกับเราในครั้งนี้นั้น เขาก็จะได้รับผลกรรมนั้นเองในวันข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    ๒.๓ พิจารณาโทษของความโกรธ คนที่โกรธก็เหมือนกับจุดไฟเผาตัวเอง ทำให้ต้องเป็นทุกข์เร่าร้อน หน้าตาก็ไม่น่าดู แถมยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจอีกด้วย เพราะฉะนั้นก็มีแต่คนโง่ กับคนบ้าเท่านั้นที่ผูกโกรธเอาไว้ แผ่เมตตาให้กับคนที่เราโกรธ ถ้าทำได้นอกจากจะดับทุกข์จากความโกรธได้แล้วยังทำให้มีความสุขจากการแผ่เมตตานั้นอีก และยังจะเป็นการพัฒนาจิตให้สูงขึ้นไปด้วย

๓. ถีนมิทธะ
    ๓.๑ ถีนะ คือ ความหดหู่ท้อถอย แก้โดยพิจารณาถึงโทษของกามและคุณของสมาธิ เพื่อทำให้เกิดความเพียร ในการปฏิบัติให้พ้นจากโทษของกามเหล่านั้น คบหากับคนที่มีความเพียร ฝักใฝ่ยินดีในการทำสมาธิ หลีกเว้นจากคนที่ไม่ชอบเจริญสมาธิ หรือคนที่เบื่อหน่ายในสมาธิ
    ๓.๒ มิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน มีวิธีแก้หลายวิธีดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระโมคคัลลานะ สรุปได้เป็นขั้นๆ ดังนี้

  • เพ่งสิ่งนั้นให้มาก หรือให้หนักแน่นขึ้นไปอีกก็จะทำให้หายง่วงได้
  • พิจารณาธรรมที่ได้อ่านหรือได้ฟังโดยนึกในใจ ถ้ายังไม่หายง่วงให้สาธยายธรรมนั้น อาจจะออกเสียงด้วย(ให้พิจารณาถึงความเหมาะสมด้วย ถ้าสถานที่ปฏิบัติใดไม่เหมาะสมที่จะสาธยายโดยการออกเสียงก็ควรงดเสีย)
  • ยอนช่องหูทั้งสองข้าง(เอานิ้วไชเข้าไปในรูหู) เอามือลูบตัว
  • เอาน้ำล้างหน้าล้างตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย
  • ให้ทำในใจถึงอาโลกสัญญา (นึกถึงแสงสว่าง) คิดว่ากลางคืนอย่างไรกลางวันอย่างนั้น ทำความรู้สึกเหมือนกับว่า กลางคืนนั้นสว่างราวกับเป็นกลางวัน
  • เดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่คิดไปในภายนอก (ควรเดินเร็วๆ ให้หายง่วง)
  • ให้สำเร็จสีหไสยาสน์ คือ นอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ โดยบอกกับตัวเองว่าทันทีที่รู้สึกตัวตื่นแล้ว จะรีบลุกขึ้นทันที ด้วยตั้งใจว่าเราจักไม่ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการเคลิ้มหลับ 

ผู้ปฏิบัติควรแก้ไขความง่วงในวิธีการนับตั้งแต่ข้อต้นๆ มาเป็นลำดับก่อน มิใช่ว่าเมื่อง่วงเมื่อไรก็เลือกวิธีแก้ง่วงในข้อสุดท้าย คือ การสำเร็จสีหไสยาสน์ 

๔. อุทธัจจกุกกุจจะ
    ๔.๑ อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่านของจิต แก้ไขโดยทำใจให้สบาย อย่ามุ่งมั่นมากเกินไปจนเครียด จะทำให้ฟุ้งซ่านหนักขึ้น อย่าหวัง อย่ากำหนดกฎเกณฑ์ว่าวันนี้จะต้องได้อย่างนั้นอย่างนี้ ปล่อยวางให้มากที่สุด อย่าคิดบังคับให้สมาธิเกิด ยิ่งบีบแน่นมันจะยิ่งทะลักออกมา ยิ่งฟุ้งไปกันใหญ่
    ๔.๒ กุกกุจจะ คือ ความรำคาญใจ แก้ได้โดยพยายามปล่อยวางในสิ่งนั้นๆ โดยคิดว่าอดีตก็ผ่านไปแล้ว คิดมากไปก็เท่านั้นอนาคตก็ยังมาไม่ถึง ทำปัจจุบันให้ดีที่สุดดีกว่า ขณะนี้เป็นเวลาทำกรรมฐาน เพราะฉะนั้นอย่างอื่นพักไว้ก่อน ยังไม่ถึงเวลาคิดเรื่องเหล่านั้น ถ้าแก้ไม่หายจริงๆก็ไปจัดการเรื่องเหล่านั้นให้เรียบร้อย แล้วถึงกลับมาเจริญกรรมฐานใหม่

๕. วิจิกิจฉา แก้ไขได้โดย
    ๕.๑ พยายามศึกษาหาความรู้ในข้อปฏิบัติที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ให้เข้าใจโดยละเอียด
    ๕.๒ ทดลองปฏิบัติตามที่ได้ศึกษามาอย่างดีอย่างถูกต้อง เพื่อทดสอบว่าข้อปฏิบัติใดเหมาะสมกับจริตของตน

บุคคลผู้เจริญสมถกรรมฐาน เมื่อได้ปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้แล้วนั้น ย่อมข่มนิวรณธรรมได้บรรลุปฐมฌานที่ประกอบด้วยองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีตี สุข เอกัคคตา 

ผลแห่งการบำเพ็ญปฐมฌาน
ย่อมยังให้บุคคลไปเกิดในปฐมฌานภูมิ ๓ คือ
ปฐมฌานอย่างต่ำ 
หลังจากตาย จะบังเกิดในพรหมโลกชั้นปาริสัชชา มีอายุประมาณ ๑/๓ วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
ปฐมฌาน
อย่างกลาง หลังจากตาย จะบังเกิดในพรหมโลกชั้นปุโรหิตา มีอายุประมาณ ๑/๒ วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
ปฐมฌานอย่างสูง หลังจากตายจะบังเกิดในพรหมชั้นมหาพรหมา มีอายุประมาณ ๑ วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป

ทุติยฌาน ผู้ปฏิบัติเมื่อบรรลุปฐมฌานแล้ว วิธีที่จะได้ทุติยฌาน คือ ต้องเห็นโทษของปฐมฌาน และเห็นคุณหรืออานิสงส์ของทุติยฌาน จึงจะเป็นผู้ที่ดำเนินไปสู่ทุติยฌานได้ ถ้าผู้ที่ยังไม่ได้ปฐมฌานเลย แต่ปรารถนาจะบรรลุทุติยฌาน ถึงแม้ว่าเขาจะทราบว่าการละวิตก และวิจารได้ก็จะเป็นผู้บรรลุทุติยฌานและพยายามที่จะละวิตกและวิจาร ผู้ที่ปฏิบัติอย่างนี้ถึงแม้ว่าทำจนตายก็ไม่มีทางสำเร็จ

การเข้าทุติยฌาน ต้องฝึกฝนปฐมฌานอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง อย่างคล่องแคล่ว โดยการเข้าฌาน ออกจากฌาน เมื่อฝึกจนคล่องแคล่วชำนาญ ก็พึงระลึกว่า “ปฐมฌานนี้ ยังหยาบ ทุติยฌานละเอียด ” และพิจารณาเห็นโทษของปฐมฌาน พิจารณาอานิสงส์ของทุติยฌานและโทษของปฐมฌาน ก็คือ นิวรณ์ที่เป็นศัตรูใกล้ชิดกับวิตกและวิจาร วิตกและวิจารนี้เป็นเหตุทำให้ร่างกายเฉื่อยชาและจิตฟุ้งซ่านรำคาญ เพราะเหตุนั้นสมาธิจึงหยาบและไม่สามารถให้ความรู้ขั้นสูงเกิดขึ้นได้ เมื่อเห็นโทษของปฐมฌาน และอานิสงส์ของทุติยฌานอย่างนี้จึงจะก้าวไปสู่ความสำเร็จขั้นทุติยฌานต่อไป เมื่อจิตคิดที่จะพ้นไปจากปฐมฌาน และยึดเอากสิณนิมิตเป็นต้น ไว้เป็นอารมณ์ของทุติยฌาน เพ่งอยู่ในอารมณ์นั้น จิตที่ปราศจากวิตกและวิจาร มีความสบายเพราะปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิย่อมบรรลุทุติยฌาน ถ้าผู้ปฏิบัติพากเพียรให้มาก ก็ย่อมจะละวิตกและวิจารได้อย่างรวดเร็ว จะอยู่สบายในปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ และทำให้จิตอยู่อย่างสงบ

ผลแห่งการบำเพ็ญทุติยฌาน ย่อมยังให้บุคคลไปเกิดในทุติยฌานภูมิ ๓ คือ
ทุติยฌานอย่างต่ำ 
หลังจากตายจะบังเกิดในพรหมโลกชั้นปริตตาภา มีอายุประมาณ ๒ มหากัป
ทุติยฌานอย่างกลาง 
หลังจากตายจะบังเกิดในพรหมโลกชั้นอัปปมาณาภา มีอายุประมาณ ๔ มหากัป
ทุติยฌานอย่างสูง 
หลังจากตายจะบังเกิดในพรหมโลกชั้นอาภัสสรา มีอายุประมาณ ๘ มหากัป

ตติยฌาน ผู้ปฏิบัติเมื่อบรรลุทุติยฌานแล้ว วิธีที่จะได้ตติยฌาน คือ ต้องเห็นโทษของทุติยฌาน และ อานิสงส์ของตติยฌาน จึงจะเป็นผู้ที่ดำเนินไปสู่ตติยฌานได้ ผู้ปฏิบัติต้องฝึกฝนในทุติยฌานอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง อย่างคล่องแคล่ว โดยการเข้าฌาน ออกจากฌาน เมื่อฝึกจนคล่องแคล่ว ชำนาญ ก็พึงระลึกว่า “ทุติยฌานนี้ ยังหยาบ ตติยฌานละเอียด ” พิจารณาเห็นโทษของทุติยฌาน อานิสงส์ของตติยฌานและโทษของทุติยฌาน ก็คือ ฌานนี้มีวิตกและวิจารเป็นเหตุใกล้ เพราะประกอบด้วยปีติจึงเป็นฌานหยาบ จิตยังยินดีในการเป็นเจ้าของปีติ และไม่สามารถทำองค์ฌานอื่น ๆ ให้เกิดขึ้นได้ การยึดติดปีติยังไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดในการเจริญฌาน ผู้ปฏิบัติพึงพิจารณาอย่างนี้เพื่อจะทำให้ฌานจิตเลื่อนขั้น

ผลแห่งการบำเพ็ญตติยฌาน ย่อมยังให้บุคคลไปเกิดในตติยฌานภูมิ ๓ คือ
ตติยฌานอย่างต่ำ 
หลังจากตาย จะบังเกิดในพรหมโลกชั้นปริตตสุภา มีอายุประมาณ ๑๖ มหากัป
ตติยฌานอย่างกลาง 
หลังจากตาย จะบังเกิดในพรหมโลกชั้นอัปปมาณสุภา มีอายุประมาณ ๓๒ มหากัป
ตติยฌานอย่างสูง 
หลังจากตายจะบังเกิดในพรหมโลกชั้นสุภกิณหา มีอายุประมาณ ๖๔ มหากัป

จตุตถฌาน ผู้ปฏิบัติเมื่อบรรลุตติยฌานแล้ว วิธีที่จะได้จตุตถฌาน คือ ต้องเห็นโทษของตติยฌาน และ อานิสงส์ของจตุตถฌาน จึงจะเป็นผู้ที่ดำเนินไปสู่จตุตถฌานได้ ผู้ปฏิบัติต้องฝึกฝนในตติยฌานอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง อย่างคล่องแคล่ว โดยการเข้าฌาน ออกจากฌาน เมื่อฝึกจนคล่องแคล่ว ชำนาญ ก็พึงระลึกว่า “ตติยฌานนี้ ยังหยาบ จตุตถฌานละเอียด ” พิจารณาเห็นโทษของตติยฌาน อานิสงส์ของจตุตถฌานและโทษของตติยฌาน ก็คือ ปีติเป็นศัตรูที่อยู่ใกล้ สัมมาสมาธิพร้อมด้วยสุข ยังเป็นธรรมชาติหยาบ และเพียงตติยฌานนี้ไม่สามารถบรรลุถึง อภิญญาได้ เมื่อรู้ในโทษของตติยฌาน และอานิสงส์ของจตุตถฌานแล้ว ย่อมเจริญกสิณนิมิตและกำจัดสุข หลังจากที่กำจัดสุขแล้ว จิตจึงประกอบด้วยอุเบกขา จิตของเธอผู้บำเพ็ญอย่างนั้น ย่อมบรรลุอัปปนาสมาธิเนื่องด้วยอุเบกขา

ผลแห่งการบำเพ็ญจตุตถฌาน หลังจากตายไปย่อมเกิดในพรหมโลกชั้นเวหัปผลามีอายุประมาณ ๕๐๐ มหากัป (ถ้าจิตของผู้ปฏิบัติไม่ชอบความเพียรก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นอสัญญีสัตว์มีอายุประมาณ ๕๐๐ มหากัป *) ถ้าผู้ปฏิบัติเป็นผู้สำเร็จมรรคในอนาคามีมรรคด้วยแล้วก็จะไปเกิดในสุทธาวาส ๕

เพราะเหตุไร ฌานระดับต่ำ กลาง สูง ในจตุตฌานนี้จึงไม่มี ? เพราะว่า มีความแตกต่างระหว่างฌานที่หยาบและละเอียดอยู่ในฌานตั้งแต่ระดับปฐมฌานถึงตติยฌาน แต่ในจตุตฌานนี้ไม่มีแล้ว

(🔎* ในอสัญญีสัตว์ โดยนัยแห่งคัมภีร์วิมุตติมรรคกล่าวไว้ว่า “........ถ้าจิตของผู้ปฏิบัติไม่ชอบความเพียรก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นอสัญญีสัตว์” โดยนัยแห่งคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคกล่าวไว้ว่า “...จริงอยู่เมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้เสด็จอุบัติขึ้น พวกที่บวชเป็นเดียรถีย์ทำบริกรรมในวาโยกสิณ ยังจตุตถฌานให้เกิดขึ้น ออกจากฌานนั้นแล้วก็เห็นว่าจิตนี้เป็นของน่าติเตียนมาก ความไม่มีจิตเสียเลย เป็นการดี. เพราะทุกข์ มีการฆ่าและจองจำเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยจิต, เมื่อไม่มีจิตทุกข์นั้นก็ย่อมไม่มี เพราะฉะนั้นจึงเกิดความยินดีพอใจ ฌานไม่เสื่อมทำกาละแล้วเกิดในอสัญญีภพ. ผู้ใดตั้งอยู่ในอิริยาบถใดในมนุษย์ ผู้นั้นก็ย่อมเกิดด้วยอิริยาบถนั้นสถิตอยู่ตลอด ๕๐๐ กัป. เป็นเหมือนนอน นั่ง หรือยืน ตลอดกาลยาวนานมีประมาณเพียงนั้น.”)


อรูปฌาน แบ่งเป็น 
๑. อากาสานัญจายตนฌาน ฌานลีภาบุคคลเมื่อได้รับสุขที่ไม่มีที่สิ้นสุดในจตุตถฌาน แล้วปรารถนาที่จะบรรลุฌานที่สูงขึ้นไปอีก คือ อากาสานัญจายตนฌาน ก้าวพ้นวิสัยแห่งรูป และพิจารณาว่า “ รูปฌานยังเป็นธรรมหยาบ อากาสานัญจายตนฌานเป็นธรรมละเอียด ” พึงพิจารณาเห็น โทษของรูปฌาน เห็นอานิสงส์ของอากาสานัญจายตนฌาน และโทษของรูปฌาน เช่น การถูกเข่นฆ่า เบียดเบียน การทะเลาะ การส่อเสียด การพูดเท็จ ความบกพร่องของอวัยวะต่าง ๆ เป็นต้น โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากรูป เห็นอานิสงส์ของอากาสานัญจายตนฌานแล้วข้ามพ้นจากฌานนั้น โดยละปฐวีกสิณปฐวีนิมิต เจริญอากาสานัญจายตนะ คือ การไม่เอารูปอันมีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ แต่กลับไปเอาอากาศที่เพิกออกจากปฏิภาคนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมว่า “ อากาโส อนนฺโต ๆ ” คือ อากาศไม่มีที่สิ้นสุด ๆ จนจิตแนบแน่น อากานัญจายตนฌานจิตจึงเกิดขึ้น

ผลแห่งการเจริญอากาสานัญจายตนฌาน เมื่อตายจะได้ไปเกิดในอากาสานัญจายตนภูมิ มีอายุประมาณ ๒๐,๐๐๐ มหากัป

๒. วิญญาณัญจายตนฌาน ฌานลาภีบุคคลผู้มีความชำนาญในการเจริญอากาสานัญจายตนฌาน แล้วเห็นโทษของอากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นธรรมหยาบ โทษของอากาสานัญจายตนฌาน คือ เป็นฌานที่มีศัตรูคือ รูปฌานอยู่ใกล้ อารมณ์ของอากาสานัญจายตนฌาน เป็นธรรมหยาบ ปฏิฆสัญญาและนานัตตสัญญา ยังไม่แยกจากกันเลยในฌานนี้ เนื่องจากความยึดมั่นถือมั่น ฌานลาภีบุคคลจึงไม่สามารถมีส่วนแห่งคุณวิเสสได้ เมื่อพิจารณาถึงโทษอย่างนี้แล้ว ก็คำนึงถึงอานิสงส์ของวิญญาณัญจายตนะ มองเห็นความละเอียดแห่งวิญญาณัญจายตนฌาน โดยกำหนดไปที่จิตที่พิจารณาอากาศที่เพิกกสิณไปนั้นแหละเป็นอารมณ์ เมื่อพิจารณาถึงคุณและโทษแล้ว ก็พึงพิจารณาวิญญาณัญจายตนะว่า “ สงบ” และใส่ใจถึงความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณที่พิจารณาในอากาศที่ว่างนั้นโดยใส่ใจวิญญาณที่แผ่ไปยังอากาศนั้นบ่อย ๆ พิจารณาอย่างนี้จนจิตมั่นคงอยู่ในวิญญาณัญจายตนะ ไม่นานนักจิตย่อมข้ามพ้นจากอากาสานัญจายตนสัญญาและก้าวเข้าสู่วิญญาณัญจายตนะ

ผลแห่งการเจริญวิญญาณัญจายตนฌาน เมื่อตายจะไปบังเกิดในวิญญาณัญจายตนภูมิ มีอายุประมาณ ๔๐,๐๐๐ มหากัป

๓. อากิญจัญญายตนฌาน 
ฌานลาภีบุคคลผู้มีความชำนาญที่ได้ประพฤติมาแล้วในวิญญานัญจายตนฌาน เห็นโทษของวิญญาณัญจายตนฌานว่าเป็นธรรมหยาบ อากิญจัญญายตนฌานเป็นธรรมละเอียด โทษก็คือ วิญญาณัญจายตนฌานนี้ มีศัตรูคืออากาสานัญจายตนะอยู่ใกล้วิญญาณารมณ์เป็นธรรมหยาบ ในที่นี้

เนื่องจากความยึดมั่นถือมั่น จึงไม่สามารถมีส่วนในคุณวิเสสโดยพิจารณาอนันตสัญญาได้ อานิสงส์ของอากิญจัญญายตนะอยู่ที่การเอาชนะโทษเหล่านี้ เมื่อข้ามพ้นวิญญาณัญจายตนะอย่างสงบ ไม่ดำเนินไปตามวิญญาณนั้นอีก จึงเป็นผู้เห็นความหลุดพ้นของอากิญจัญญายตนะ ปรารถนาที่จะบรรลุอากิญจัญญายตนะจึงข้ามพ้นวิญญาณสัญญาทันที

ผลแห่งการเจริญอากิญจัญญายตนฌาน เมื่อตายจะไปบังเกิดในอากิญจัญญายตนภูมิ มีอายุประมาณ ๖๐,๐๐๐ มหากัป 

๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ ฌานลาภีบุคคลผู้พิจารณาเห็นโทษของอากิญจัญญายตนะว่าเป็นธรรมหยาบ เนวสัญญานาสัญญายตนะเป็นธรรมละเอียด โทษคือฌานนี้มีวิญญาณัญจายตนะอยู่ใกล้ ประกอบด้วยสัญญาที่หยาบเนื่องจากความยึดมั่นถือมั่น สัญญานี้เป็นดุจโรค เป็นดุจฝี เป็นดุจหนาม เนวสัญญานาสัญญายตนะนี้เป็นธรรมชอบ ธรรมละเอียด และประณีต เจริญในกรรมฐานอย่างนั้นแล้ว ก้าวล่วงอากิญจัญญายตนสัญญา ไม่นานนักย่อมบรรลุถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ

ผลแห่งการเจริญเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เมื่อตายจะไปบังเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ มีอายุประมาณ ๘๔,๐๐๐ มหากัป


💦สรุปอรูปฌานแบบย่อ

ผู้เจริญรูปฌานจนสำเร็จขั้นสุดท้ายของรูปฌานแล้ว ถ้าจะทำต่อขึ้นไปก็จะเป็นอรูปฌาน อารมณ์นั้นก็จะเพิกไปจากนิมิต จากกสิณ จากอารมณ์ที่เพ่งอยู่นั้น

อรูปฌานที่ ๑ อากาสานัญจายตนฌาน เพ่งอากาศที่ว่างจากกสิณนั้นเป็นอารมณ์เรียกว่ามีกสิณุ ฆาฏิมากาสบัญญัติเป็นอารมณ์
อรูปฌานที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนฌาน ก็หันมาเอาจิต คือ อากาสานัญจายตนฌานจิตนั้นเป็นอารมณ์ในการเจริญวิญญาณัญจายตนะ
อรูปฌานที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนฌาน เพ่งนัตถิ -ภาวบัญญัติเป็นอารมณ์ คือความไม่มีอะไร ความว่างเปล่าเป็นอารมณ์ความว่างเปล่า หรือ ความไม่มีอะไรนี้เป็นบัญญัติชนิดหนึ่งเหมือนกัน ตรงนี้บางครั้งผู้ที่ปฏิบัติถึงระดับนี้ บางทีหลงไปว่าเป็นพระนิพพานแล้ว เพราะได้ยินได้ฟังว่านิพพานเป็นลักษณะที่ดับที่ว่างจากตัวตน พอรับนัตถิภาวบัญญัติ คือ ความไม่มีอะไรทั้งหมดเป็นอารมณ์ก็เลยนึกว่า นี่คือถึงนิพพานแล้ว แต่ความจริงยังเป็นบัญญัติชนิดหนึ่ง คือ ความไม่มีอะไร
อรูปฌานที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็กลับมาเพ่งอากิญจัญญายตนฌานจิตเป็นอารมณ์ คือ ภาวะที่มีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ผู้เจริญฌานจนสำเร็จก็ได้สุดยอดแค่นี้ เรียกว่าได้ฌานสมาบัติ ๙ นับโดยปัญจกนัย ถ้านับโดยจตุกกนัยก็เรียกว่า ฌานสมาบัติ ๘ จตุกกนัยก็หมายถึงว่านับรูปฌานแค่ ๔ คือคนที่ได้ถึงฌานที่ ๔ ก็จะมีอุเบกขากับเอกัคคตา

การเจริญสมถกรรมฐานที่ได้รับผลโดยตรงก็คือ จิตบรรลุฌานขั้นต่าง ๆ ผู้เจริญสมถกรรมฐานที่ยังไม่บรรลุผลสูงสุดจนได้ฌานแต่การปฏิบัติก็ทำให้สมาธิจิตเกิดขึ้น สัมมาสมาธิที่เกิดขึ้นนั้นมีประโยชน์มากมายถึงแม้ว่าจะยังไม่บรรลุในฌานขั้นต่าง ๆ ก็ตาม





วันพุธ

๑. ความรู้เบื้องต้นของกรรมฐาน

คำว่า กรรมฐาน หมายถึง ที่ตั้งของการกระทำ หรือว่าการกระทำที่เกิดขึ้นทางจิตใจ ซึ่งรวมแล้วมี ๒ อย่าง คือ
๑) สมถกรรมฐาน
๒) วิปัสสนากรรมฐาน

ฉะนั้นคำว่ากรรมฐาน ก็หมายรวมถึง
สมถะและวิปัสสนาได้ทั้ง ๒ อย่าง แต่ถ้าหาก จะเจาะจงลงไปอย่างใดอย่างหนึ่งก็ต้องระบุให้ชัดลงไปว่า “เจริญสมถกรรมฐาน หรือ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน” ถ้าบอกเพียงว่าปฏิบัติกรรมฐาน ความหมายก็จะคลุมทั้งสมถะและวิปัสสนา

การเจริญสมถกรรมฐาน คือ การปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงซึ่งความสงบ
การเจริญวิปัสสนา คือ
การปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงซึ่งปัญญา

ส่วนความสงบที่เกิดจากการเจริญสมถะนั้นไม่ใช่ปัญญา แต่ความสงบก็
เป็นธรรมชาติเป็นของจริงเหมือนกัน ความสงบอันเนื่องจากการเจริญสมถกรรมฐานมีลักษณะที่จิตมีสมาธิเข้าถึงความสงบคือจิตนั้นตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวซึ่งเป็นฝ่ายกุศล นิ่งแนบแน่นอยู่ในอารมณ์เดียวอย่างสม่ำเสมอ และโดยถูกทางด้วย จากคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้แบ่งสมาธิไว้หลายนัย เช่น สมาธิมี
อย่างเดียวคือ มีลักษณะไม่ฟุ้ง สมาธิมีสองอย่าง คือ หมวดที่ ๑ แยกเป็นอุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ  หมวดที่ ๒ แยกเป็นโลกียสมาธิ และ โลกุตตรสมาธิ (ยังมีการแบ่งสมาธิออกเป็น ๓ , ๔ , ๕ อย่างอีก ในที่นี้ขอยกมาอธิบายเพียงบางส่วน)

สมาธิ ๒ อย่าง หมวดที่ ๑ แยกเป็นอุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ

    ๑. อุปจารสมาธิ หมายถึง การพิจารณาอารมณ์กรรมฐานด้วยภาวะที่จิตเป็นเอกัคคตา (เอกัคคตาเป็นเจตสิกในอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง ซึ่งโดยปกติย่อมเข้าประกอบกับจิตทุกดวง แต่มีกำลังอ่อน ในที่นี้มีกำลังแรงกล้าสามารถจะทำให้สัมปยุตตธรรมตั้งอยู่ในอารมณ์อันเดียวได้นาน ๆ ซึ่งจัดเป็นองค์ฌานองค์หนึ่ง) โดยไม่มีความคิดตามความเคยชินอื่นมากีดขวาง ความคิดตามความเคยชินเหล่านั้น ได้แก่ นิวรณ์ ๕

    ๒. อัปปนาสมาธิ หมายถึง ภาวะของจิตที่เกิดขึ้นต่อจากอุปจารสมาธิ สมาธิในขั้นนี้เป็นสมาธิที่เป็นความก้าวหน้าทางใจ อุปจารสมาธิ กับ อัปปนาสมาธิ ต่างกันอย่างไร ? ต่างกันคืออุปจารสมาธิ เป็นสมาธิที่บุคคลเอาชนะนิวรณ์ ๕ ได้ เมื่อบุคคลเอาชนะนิวรณ์ได้ จึงเกิดความแตกฉานในสมาธิ คล่องแคล่วในสมาธิสมาธิที่เจริญมาถึงขั้นนี้เรียกว่า อัปปนาสมาธิ

สมาธิ ๒ อย่าง หมวดที่ ๒ แยกเป็นโลกียสมาธิ และโลกุตตรสมาธิ

    ๑. โลกียสมาธิ หมายถึง เอกัคคตา ที่ประกอบกับกุศลจิต ในภูมิ ๓ คือ กามภูมิ รูปภูมิและอรูปภูมิ

    ๒. โลกุตตรสมาธิ หมายถึง เอกัคคตาที่ประกอบกับอริยมัคคจิต

นิมิต ๓ อย่าง

        ๒.บริกรรมนิมิต เป็นนิมิตขั้นเตรียมการหรือเริ่มต้น หมายถึง สิ่งใดก็ตามที่กำหนดเป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน เช่น ดวงกสิณที่ถูกนำมาใช้กำหนดในการเจริญสมถกรรมฐาน อสุภะหรือซากศพ เป็นต้น สิ่งนั้นเรียกว่าบริกรรมนิมิต
        ๒.๒ อุคคหนิมิต (นิมิตติดตา) คือนิมิตที่ผู้ปฏิบัติเพ่งองค์กสิณที่เรียกว่าบริกรรมนิมิตนั้นด้วยจิตไม่ฟุ้งซ่าน จนเห็นภาพกสิณนั้นอย่างติดตา และมองเห็นดวงกสิณนั้นเหมือนกับลอยอยู่ในอากาศ บางครั้งก็ลอยไกลออกไป บางครั้งอยู่ใกล้ อยู่ทางซ้าย อยู่ทางขวา บางครั้งมีขนาดใหญ่ บางครั้งมีขนาดเล็ก บางครั้งมีลักษณะน่าเกลียด บางครั้งมีลักษณะน่ารัก (ความน่าเกลียดน่ารัก ขึ้นอยู่กับอารมณ์กรรมฐานที่เลือก ถ้าเลือกอสุภะ คือ ซากศพเป็นองค์กสิณ อุคคหนิมิต ก็เป็นภาพน่าเกลียดเช่นเดียวกับศพ ) ผู้ปฏิบัติพึงทำอุคคหนิมิต คือ นิมิตที่ติดตานี้ให้เกิดขึ้นโดยการเพ่งที่คล่องแคล่วโดยไม่ต้องอาศัยองค์กสิณแล้ว
        ๓. ปฏิภาคนิมิต (นิมิตที่เกิดขึ้นทางใจ) เพราะการกำหนดอุคคหนิมิตนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ปฏิภาคนิมิตจึงเกิดขึ้น ปฏิภาคนิมิตนี้เห็นได้ถึงแม้หลับตา จะเห็นเหมือนกับลืมตาดู คือปรากฏในความคิดเท่านั้น คือ นิมิตที่เป็นภาพ คล้ายอุคคหนิมิต แต่เป็นภาพที่บริสุทธิ์ย่อได้ขยายได้ ไม่ด่างพร้อย ใสสะอาด งามกว่าอุคคหนิมิต เช่น การเพ่งซากศพที่พองอืด ในระดับอุคคหนิมิต จะเห็นซากศพนอนพองอืดอยู่ แต่ในระดับปฏิภาคนิมิตแล้วจะปรากฏเป็นภาพคนอ้วนพี สมบูรณ์ นอนนิ่งอยู่เหมือนคนนอนหลับ ไม่น่ากลัว ไม่น่าสะอิดสะเอียนแต่อย่างใด นิมิตนั้นปรากฏพร้อมกับจิต


ภาวนา ๓ อย่าง

๑. บริกรรมภาวนา คือ การเจริญจิตในขั้นแรกเริ่มปฏิบัติ เช่น การเจริญปฐวีกสิณ ต้องเพ่งองค์กสิณ และ ท่องคำบริกรรมว่า ปฐวี ๆ จิตที่เพ่ง และ ท่องคำบริกรรมนั้น คือ บริกรรมภาวนา ( สิ่งที่ถูกเพ่ง คือ บริกรรมนิมิต )
๒. อุปจารภาวนา คือ จิตที่มีความแนบแน่นในอารมณ์ในขั้นใกล้กับอัปปนาฌานแล้ว ในขั้นนี้ เป็นขั้นตอนที่จิตมีนิมิตเกิดขึ้น ๒ อย่าง คือ อุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต
๓. อัปปนาภาวนา คือ ขั้นตอนที่จิตมีองค์ฌานเกิดขึ้นประกอบพร้อมแล้ว กล่าวคือ เมื่อสำเร็จปฐมฌาน ก็จะประกอบด้วยองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา จิตในขั้นนี้คือ อัปปนาภาวนา

การรักษานิมิต
นิมิตเกิดยากแต่เสื่อมง่าย ฉะนั้นผู้ปฏิบัติเมื่อได้นิมิตแล้วต้องรักษาไว้อย่างดีดุจพระมเหสีผู้รักษาพระครรภ์ จากคัมภีร์วิมุตติมรรคได้แสดงวิธีการรักษานิมิตด้วยการกระทำ ๓ อย่าง คือ ด้วยการงดเว้นจากความชั่ว ด้วยการปฏิบัติกุศลธรรม และด้วยการพากเพียรอย่างต่อเนื่อง

การงดเว้นจากความชั่ว งดเว้นจากความยินดีในการงาน งดเว้นจากความยินดีในการพูดโต้แย้งแบบต่าง ๆ งดเว้นจากความยินดีในการหลับ การอยู่กับหมู่คณะ ลักษณะนิสัยที่ผิดศีลธรรม การไม่สำรวมอินทรีย์ ๖ มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ความไม่รู้จักประมาณในอาหาร การไม่บำเพ็ญฌาน การไม่มีสติในกาลต่าง ๆ การปฏิบัติกุศลธรรม การเอาชนะความชั่วทั้งปวงดังที่กล่าวมานั้น ก็คือการปฏิบัติกุศลธรรมให้เกิดขึ้น เป็นการรักษานิมิตให้เกิดขึ้นและตั้งมั่น

ความเพียรอย่างต่อเนื่อง คือ เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดนิมิตได้แล้ว ต้องรักษานิมิตนั้นเสมอ เปรียบประดุจว่านิมิตนั้นเป็นเพชรที่มีค่ามาก เพียรปฏิบัติกรรมฐานอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และปฏิบัติอย่างมาก มีความพอใจในการปฏิบัติ นั่งก็เป็นสุข นอนก็เป็นสุข ทำใจให้ออกห่างจากวิธีการที่ปฏิบัติแบบผิด ๆ การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องอย่างดี จะทำให้ปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้น นั่นก็แสดงว่าผู้ปฏิบัติได้สมาธิถึงขั้นใกล้จะสำเร็จปฐมฌาน


เมื่อสมาธิไม่ก้าวหน้าจะทำอย่างไร
บุคคลที่ปฏิบัติแล้วได้เพียงอุปจารสมาธิไม่ก้าวหน้าถึงอัปปนาสมาธิ จากคัมภีร์วิมุตติมรรคและวิสุทธิมรรคได้แสดงวิธีฝึกให้ก้าวหน้าด้วยวิธีการ ๑๐ อย่าง เรียกว่า อัปปนาโกศล ๑๐ มีด้งนี้
    ๑. โดยเอาใจใส่ทำความสะอาดวัตถุทางกาย การทำวัตถุทั้งหลายทั้งภายในและภายนอกให้มีความสะอาด มีผลต่อการเจริญสมาธิ ในเวลาใดที่ผู้ปฏิบัติมีผม , เล็บ ยาวสกปรก หรือร่างกายมีเหงื่อไคล เวลานั้นคือมีวัตถุภายในที่ไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ ในกาลใดที่ผู้ปฏิบัติมีจีวรเก่า สกปรก และเหม็นสาบ หรือมีเสนาสนะรกรุงรัง กาลนั้น ชื่อว่ามีวัตถุภายนอกไม่สะอาด เมื่อจิตและเจตสิกทั้งหลายเกิดขึ้นในวัตถุภายในและภายนอกที่ไม่สะอาดเช่นนั้น แม้ฌานก็พลอยไม่สะอาดไปด้วย เช่นเดียวกับแสงตะเกียงอันเกิดเพราะอาศัยตะเกียง ไส้ และน้ำมันที่ไม่สะอาด เมื่อผู้ปฏิบัติที่มีวัตถุไม่สะอาดเช่นนี้ย่อมมีอุปสรรค แม้จะเพียรทำกรรมฐานไปก็ไม่สำเร็จ
    ๒. โดยเอาใจใส่เรื่องการปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน ผู้ปฏิบัติควรปรับอินทรีย์ทั้ง ๕ ให้เสมอกัน ทำปัญญากับศรัทธาให้เสมอกัน ทำสมาธิกับวิริยะให้เสมอกัน ส่วนสติยิ่งมากยิ่งดี (ทบทวนเรื่องอินทรีย์ ๕)
    ๓. โดยความเป็นผู้ฉลาดในการกำหนดนิมิต คือ กำหนดนิมิตทางใจไว้ให้ดี ไม่เร่งด่วนเกินไป และไม่ช้าเกินไป
    ๔. โดยการควบคุมจิตในการปฏิบัติให้สม่ำเสมอ มีวิธีการอยู่ ๒ อย่างคือ การเพียรอย่างสม่ำเสมออย่างแรงกล้า และด้วยการใคร่ครวญตรวจสอบอารมณ์ มิฉะนั้นแล้วจิตจะกวัดแกว่งเที่ยวแสวงหาอารมณ์อื่นๆ อันไม่สมควรและเกิดความวุ่นวายใจ ถ้ากระทำทั้ง ๒ วิธีแล้ว จิตยังเที่ยวเตร็ดเตร่ไปหาอารมณ์ไม่เหมาะสม ก็ต้องควบคุมจิตนั้นโดยพิจารณาผลเสียของจิตที่ไม่ตั้งอยู่ในสมาธิ ทำให้จิตไหลไปสู่กามและกิเลส ซึ่งจะส่งผลให้เกิดทุกข์ต่าง ๆ
    ๕. โดยการกำจัดเสียซึ่งความประมาท ความประมาทของจิต หรือความเลินเล่อของจิต เพราะเหตุ ๒ อย่าง คือ เพราะขาดความเชี่ยวชาญในสมาธิ และเพราะความเฉื่อยชาของจิต เมื่อมีความเลินเล่อมาก จิตก็เฉื่อยชาและเซื่องซึม ผู้ปฏิบัติต้องกำจัดอุปสรรคเหล่านี้ ด้วยการพิจารณาคุณความดีของการเจริญสมาธิ และด้วยการปรารภความเพียรในการปฏิบัติอยู่เนือง ๆ
    ๖. โดยพยุงจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง เมื่อผู้ปฏิบัติมีจิตไม่เบิกบานเพราะการขวนขวายน้อย หรือเพราะไม่ได้รับความสงบสุข ก็ควรพิจารณาถึง ชาติ ชรา มรณะ และโทษทุกข์ในอบายภูมิ ทุกข์ในการต้องเวียนตายเวียนเกิด เมื่อพิจารณาถึงทุกข์ โทษ ภัยต่างๆ นี้แล้ว ย่อมทำให้เห็นความสำคัญของการรีบขวนขวายปฏิบัติ
    ๗. โดยเพ่งดูจิตเฉยในสมัยที่ควรเพ่งดูเฉย ในระหว่างที่ปฏิบัติอยู่จิตย่อมมีลักษณะต่าง ๆ เช่น ไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน มีความแช่มชื่นเบิกบาน เป็นไปโดยสม่ำเสมอในอารมณ์ ในเวลานั้นก็ให้พิจารณาสภาพจิตอย่างนั้นๆ อย่างวางเฉย นี่คือการเพ่งดูจิตเฉยในสมัยที่ควรเพ่งดูเฉย ไม่ต้องกังวลว่าทำไมจิตจึงหดหู่ ทำไมจึงฟุ้งซ่าน เพราะเมื่อผู้ปฏิบัติทำอุปาจารสมาธิให้สมบูรณ์ได้แล้ว จิตก็จะแน่วแน่ได้เพราะสามารถกำจัดนิวรณ์ทั้งหลาย ก็ให้พากเพียรกำหนดอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน
    ๘. โดยการหลีกเว้นบุคคลผู้ไม่ฝึกสมาธิ คือ ไม่ควรคบหาบุคคลผู้ไม่ได้บรรลุอัปปนาสมาธิ อุปจารสมาธิ หรือขณิกสมาธิ และบุคคลผู้ไม่ฝึกฝนตัวเองในข้อปฏิบัติเหล่านี้
    ๙. การคบบุคคลที่ฝึกสมาธิ 
คือ ควรคบหาบุคคลผู้ได้บรรลุอัปปนาสมาธิ อุปจารสมาธิ หรือขณิกสมาธิ และบุคคลผู้ฝึกฝนตัวเองในข้อปฏิบัติเหล่านี้
    ๑๐. โดยการน้อมจิตไปในสมาธินั้น คือ การเคารพเอื้อเฟื้อ ชอบใจสมาธิ และปฏิบัติสมาธินั้นมากเป็นประจำ 

การอาศัยการปฏิบัติในอัปปนาโกศล ๑๐ ประการนี้ ก็จะยังความสำเร็จให้ได้ถึงอัปปนาสมาธิ เพื่อ
ไปสู่ความสำเร็จฌานแรก คือ ปฐมฌาน