วันพุธ

๑. ความรู้เบื้องต้นของกรรมฐาน

คำว่า กรรมฐาน หมายถึง ที่ตั้งของการกระทำ หรือว่าการกระทำที่เกิดขึ้นทางจิตใจ ซึ่งรวมแล้วมี ๒ อย่าง คือ
๑) สมถกรรมฐาน
๒) วิปัสสนากรรมฐาน

ฉะนั้นคำว่ากรรมฐาน ก็หมายรวมถึง
สมถะและวิปัสสนาได้ทั้ง ๒ อย่าง แต่ถ้าหาก จะเจาะจงลงไปอย่างใดอย่างหนึ่งก็ต้องระบุให้ชัดลงไปว่า “เจริญสมถกรรมฐาน หรือ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน” ถ้าบอกเพียงว่าปฏิบัติกรรมฐาน ความหมายก็จะคลุมทั้งสมถะและวิปัสสนา

การเจริญสมถกรรมฐาน คือ การปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงซึ่งความสงบ
การเจริญวิปัสสนา คือ
การปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงซึ่งปัญญา

ส่วนความสงบที่เกิดจากการเจริญสมถะนั้นไม่ใช่ปัญญา แต่ความสงบก็
เป็นธรรมชาติเป็นของจริงเหมือนกัน ความสงบอันเนื่องจากการเจริญสมถกรรมฐานมีลักษณะที่จิตมีสมาธิเข้าถึงความสงบคือจิตนั้นตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวซึ่งเป็นฝ่ายกุศล นิ่งแนบแน่นอยู่ในอารมณ์เดียวอย่างสม่ำเสมอ และโดยถูกทางด้วย จากคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้แบ่งสมาธิไว้หลายนัย เช่น สมาธิมี
อย่างเดียวคือ มีลักษณะไม่ฟุ้ง สมาธิมีสองอย่าง คือ หมวดที่ ๑ แยกเป็นอุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ  หมวดที่ ๒ แยกเป็นโลกียสมาธิ และ โลกุตตรสมาธิ (ยังมีการแบ่งสมาธิออกเป็น ๓ , ๔ , ๕ อย่างอีก ในที่นี้ขอยกมาอธิบายเพียงบางส่วน)

สมาธิ ๒ อย่าง หมวดที่ ๑ แยกเป็นอุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ

    ๑. อุปจารสมาธิ หมายถึง การพิจารณาอารมณ์กรรมฐานด้วยภาวะที่จิตเป็นเอกัคคตา (เอกัคคตาเป็นเจตสิกในอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง ซึ่งโดยปกติย่อมเข้าประกอบกับจิตทุกดวง แต่มีกำลังอ่อน ในที่นี้มีกำลังแรงกล้าสามารถจะทำให้สัมปยุตตธรรมตั้งอยู่ในอารมณ์อันเดียวได้นาน ๆ ซึ่งจัดเป็นองค์ฌานองค์หนึ่ง) โดยไม่มีความคิดตามความเคยชินอื่นมากีดขวาง ความคิดตามความเคยชินเหล่านั้น ได้แก่ นิวรณ์ ๕

    ๒. อัปปนาสมาธิ หมายถึง ภาวะของจิตที่เกิดขึ้นต่อจากอุปจารสมาธิ สมาธิในขั้นนี้เป็นสมาธิที่เป็นความก้าวหน้าทางใจ อุปจารสมาธิ กับ อัปปนาสมาธิ ต่างกันอย่างไร ? ต่างกันคืออุปจารสมาธิ เป็นสมาธิที่บุคคลเอาชนะนิวรณ์ ๕ ได้ เมื่อบุคคลเอาชนะนิวรณ์ได้ จึงเกิดความแตกฉานในสมาธิ คล่องแคล่วในสมาธิสมาธิที่เจริญมาถึงขั้นนี้เรียกว่า อัปปนาสมาธิ

สมาธิ ๒ อย่าง หมวดที่ ๒ แยกเป็นโลกียสมาธิ และโลกุตตรสมาธิ

    ๑. โลกียสมาธิ หมายถึง เอกัคคตา ที่ประกอบกับกุศลจิต ในภูมิ ๓ คือ กามภูมิ รูปภูมิและอรูปภูมิ

    ๒. โลกุตตรสมาธิ หมายถึง เอกัคคตาที่ประกอบกับอริยมัคคจิต

นิมิต ๓ อย่าง

        ๒.บริกรรมนิมิต เป็นนิมิตขั้นเตรียมการหรือเริ่มต้น หมายถึง สิ่งใดก็ตามที่กำหนดเป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน เช่น ดวงกสิณที่ถูกนำมาใช้กำหนดในการเจริญสมถกรรมฐาน อสุภะหรือซากศพ เป็นต้น สิ่งนั้นเรียกว่าบริกรรมนิมิต
        ๒.๒ อุคคหนิมิต (นิมิตติดตา) คือนิมิตที่ผู้ปฏิบัติเพ่งองค์กสิณที่เรียกว่าบริกรรมนิมิตนั้นด้วยจิตไม่ฟุ้งซ่าน จนเห็นภาพกสิณนั้นอย่างติดตา และมองเห็นดวงกสิณนั้นเหมือนกับลอยอยู่ในอากาศ บางครั้งก็ลอยไกลออกไป บางครั้งอยู่ใกล้ อยู่ทางซ้าย อยู่ทางขวา บางครั้งมีขนาดใหญ่ บางครั้งมีขนาดเล็ก บางครั้งมีลักษณะน่าเกลียด บางครั้งมีลักษณะน่ารัก (ความน่าเกลียดน่ารัก ขึ้นอยู่กับอารมณ์กรรมฐานที่เลือก ถ้าเลือกอสุภะ คือ ซากศพเป็นองค์กสิณ อุคคหนิมิต ก็เป็นภาพน่าเกลียดเช่นเดียวกับศพ ) ผู้ปฏิบัติพึงทำอุคคหนิมิต คือ นิมิตที่ติดตานี้ให้เกิดขึ้นโดยการเพ่งที่คล่องแคล่วโดยไม่ต้องอาศัยองค์กสิณแล้ว
        ๓. ปฏิภาคนิมิต (นิมิตที่เกิดขึ้นทางใจ) เพราะการกำหนดอุคคหนิมิตนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ปฏิภาคนิมิตจึงเกิดขึ้น ปฏิภาคนิมิตนี้เห็นได้ถึงแม้หลับตา จะเห็นเหมือนกับลืมตาดู คือปรากฏในความคิดเท่านั้น คือ นิมิตที่เป็นภาพ คล้ายอุคคหนิมิต แต่เป็นภาพที่บริสุทธิ์ย่อได้ขยายได้ ไม่ด่างพร้อย ใสสะอาด งามกว่าอุคคหนิมิต เช่น การเพ่งซากศพที่พองอืด ในระดับอุคคหนิมิต จะเห็นซากศพนอนพองอืดอยู่ แต่ในระดับปฏิภาคนิมิตแล้วจะปรากฏเป็นภาพคนอ้วนพี สมบูรณ์ นอนนิ่งอยู่เหมือนคนนอนหลับ ไม่น่ากลัว ไม่น่าสะอิดสะเอียนแต่อย่างใด นิมิตนั้นปรากฏพร้อมกับจิต


ภาวนา ๓ อย่าง

๑. บริกรรมภาวนา คือ การเจริญจิตในขั้นแรกเริ่มปฏิบัติ เช่น การเจริญปฐวีกสิณ ต้องเพ่งองค์กสิณ และ ท่องคำบริกรรมว่า ปฐวี ๆ จิตที่เพ่ง และ ท่องคำบริกรรมนั้น คือ บริกรรมภาวนา ( สิ่งที่ถูกเพ่ง คือ บริกรรมนิมิต )
๒. อุปจารภาวนา คือ จิตที่มีความแนบแน่นในอารมณ์ในขั้นใกล้กับอัปปนาฌานแล้ว ในขั้นนี้ เป็นขั้นตอนที่จิตมีนิมิตเกิดขึ้น ๒ อย่าง คือ อุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต
๓. อัปปนาภาวนา คือ ขั้นตอนที่จิตมีองค์ฌานเกิดขึ้นประกอบพร้อมแล้ว กล่าวคือ เมื่อสำเร็จปฐมฌาน ก็จะประกอบด้วยองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา จิตในขั้นนี้คือ อัปปนาภาวนา

การรักษานิมิต
นิมิตเกิดยากแต่เสื่อมง่าย ฉะนั้นผู้ปฏิบัติเมื่อได้นิมิตแล้วต้องรักษาไว้อย่างดีดุจพระมเหสีผู้รักษาพระครรภ์ จากคัมภีร์วิมุตติมรรคได้แสดงวิธีการรักษานิมิตด้วยการกระทำ ๓ อย่าง คือ ด้วยการงดเว้นจากความชั่ว ด้วยการปฏิบัติกุศลธรรม และด้วยการพากเพียรอย่างต่อเนื่อง

การงดเว้นจากความชั่ว งดเว้นจากความยินดีในการงาน งดเว้นจากความยินดีในการพูดโต้แย้งแบบต่าง ๆ งดเว้นจากความยินดีในการหลับ การอยู่กับหมู่คณะ ลักษณะนิสัยที่ผิดศีลธรรม การไม่สำรวมอินทรีย์ ๖ มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ความไม่รู้จักประมาณในอาหาร การไม่บำเพ็ญฌาน การไม่มีสติในกาลต่าง ๆ การปฏิบัติกุศลธรรม การเอาชนะความชั่วทั้งปวงดังที่กล่าวมานั้น ก็คือการปฏิบัติกุศลธรรมให้เกิดขึ้น เป็นการรักษานิมิตให้เกิดขึ้นและตั้งมั่น

ความเพียรอย่างต่อเนื่อง คือ เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดนิมิตได้แล้ว ต้องรักษานิมิตนั้นเสมอ เปรียบประดุจว่านิมิตนั้นเป็นเพชรที่มีค่ามาก เพียรปฏิบัติกรรมฐานอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และปฏิบัติอย่างมาก มีความพอใจในการปฏิบัติ นั่งก็เป็นสุข นอนก็เป็นสุข ทำใจให้ออกห่างจากวิธีการที่ปฏิบัติแบบผิด ๆ การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องอย่างดี จะทำให้ปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้น นั่นก็แสดงว่าผู้ปฏิบัติได้สมาธิถึงขั้นใกล้จะสำเร็จปฐมฌาน


เมื่อสมาธิไม่ก้าวหน้าจะทำอย่างไร
บุคคลที่ปฏิบัติแล้วได้เพียงอุปจารสมาธิไม่ก้าวหน้าถึงอัปปนาสมาธิ จากคัมภีร์วิมุตติมรรคและวิสุทธิมรรคได้แสดงวิธีฝึกให้ก้าวหน้าด้วยวิธีการ ๑๐ อย่าง เรียกว่า อัปปนาโกศล ๑๐ มีด้งนี้
    ๑. โดยเอาใจใส่ทำความสะอาดวัตถุทางกาย การทำวัตถุทั้งหลายทั้งภายในและภายนอกให้มีความสะอาด มีผลต่อการเจริญสมาธิ ในเวลาใดที่ผู้ปฏิบัติมีผม , เล็บ ยาวสกปรก หรือร่างกายมีเหงื่อไคล เวลานั้นคือมีวัตถุภายในที่ไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ ในกาลใดที่ผู้ปฏิบัติมีจีวรเก่า สกปรก และเหม็นสาบ หรือมีเสนาสนะรกรุงรัง กาลนั้น ชื่อว่ามีวัตถุภายนอกไม่สะอาด เมื่อจิตและเจตสิกทั้งหลายเกิดขึ้นในวัตถุภายในและภายนอกที่ไม่สะอาดเช่นนั้น แม้ฌานก็พลอยไม่สะอาดไปด้วย เช่นเดียวกับแสงตะเกียงอันเกิดเพราะอาศัยตะเกียง ไส้ และน้ำมันที่ไม่สะอาด เมื่อผู้ปฏิบัติที่มีวัตถุไม่สะอาดเช่นนี้ย่อมมีอุปสรรค แม้จะเพียรทำกรรมฐานไปก็ไม่สำเร็จ
    ๒. โดยเอาใจใส่เรื่องการปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน ผู้ปฏิบัติควรปรับอินทรีย์ทั้ง ๕ ให้เสมอกัน ทำปัญญากับศรัทธาให้เสมอกัน ทำสมาธิกับวิริยะให้เสมอกัน ส่วนสติยิ่งมากยิ่งดี (ทบทวนเรื่องอินทรีย์ ๕)
    ๓. โดยความเป็นผู้ฉลาดในการกำหนดนิมิต คือ กำหนดนิมิตทางใจไว้ให้ดี ไม่เร่งด่วนเกินไป และไม่ช้าเกินไป
    ๔. โดยการควบคุมจิตในการปฏิบัติให้สม่ำเสมอ มีวิธีการอยู่ ๒ อย่างคือ การเพียรอย่างสม่ำเสมออย่างแรงกล้า และด้วยการใคร่ครวญตรวจสอบอารมณ์ มิฉะนั้นแล้วจิตจะกวัดแกว่งเที่ยวแสวงหาอารมณ์อื่นๆ อันไม่สมควรและเกิดความวุ่นวายใจ ถ้ากระทำทั้ง ๒ วิธีแล้ว จิตยังเที่ยวเตร็ดเตร่ไปหาอารมณ์ไม่เหมาะสม ก็ต้องควบคุมจิตนั้นโดยพิจารณาผลเสียของจิตที่ไม่ตั้งอยู่ในสมาธิ ทำให้จิตไหลไปสู่กามและกิเลส ซึ่งจะส่งผลให้เกิดทุกข์ต่าง ๆ
    ๕. โดยการกำจัดเสียซึ่งความประมาท ความประมาทของจิต หรือความเลินเล่อของจิต เพราะเหตุ ๒ อย่าง คือ เพราะขาดความเชี่ยวชาญในสมาธิ และเพราะความเฉื่อยชาของจิต เมื่อมีความเลินเล่อมาก จิตก็เฉื่อยชาและเซื่องซึม ผู้ปฏิบัติต้องกำจัดอุปสรรคเหล่านี้ ด้วยการพิจารณาคุณความดีของการเจริญสมาธิ และด้วยการปรารภความเพียรในการปฏิบัติอยู่เนือง ๆ
    ๖. โดยพยุงจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง เมื่อผู้ปฏิบัติมีจิตไม่เบิกบานเพราะการขวนขวายน้อย หรือเพราะไม่ได้รับความสงบสุข ก็ควรพิจารณาถึง ชาติ ชรา มรณะ และโทษทุกข์ในอบายภูมิ ทุกข์ในการต้องเวียนตายเวียนเกิด เมื่อพิจารณาถึงทุกข์ โทษ ภัยต่างๆ นี้แล้ว ย่อมทำให้เห็นความสำคัญของการรีบขวนขวายปฏิบัติ
    ๗. โดยเพ่งดูจิตเฉยในสมัยที่ควรเพ่งดูเฉย ในระหว่างที่ปฏิบัติอยู่จิตย่อมมีลักษณะต่าง ๆ เช่น ไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน มีความแช่มชื่นเบิกบาน เป็นไปโดยสม่ำเสมอในอารมณ์ ในเวลานั้นก็ให้พิจารณาสภาพจิตอย่างนั้นๆ อย่างวางเฉย นี่คือการเพ่งดูจิตเฉยในสมัยที่ควรเพ่งดูเฉย ไม่ต้องกังวลว่าทำไมจิตจึงหดหู่ ทำไมจึงฟุ้งซ่าน เพราะเมื่อผู้ปฏิบัติทำอุปาจารสมาธิให้สมบูรณ์ได้แล้ว จิตก็จะแน่วแน่ได้เพราะสามารถกำจัดนิวรณ์ทั้งหลาย ก็ให้พากเพียรกำหนดอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน
    ๘. โดยการหลีกเว้นบุคคลผู้ไม่ฝึกสมาธิ คือ ไม่ควรคบหาบุคคลผู้ไม่ได้บรรลุอัปปนาสมาธิ อุปจารสมาธิ หรือขณิกสมาธิ และบุคคลผู้ไม่ฝึกฝนตัวเองในข้อปฏิบัติเหล่านี้
    ๙. การคบบุคคลที่ฝึกสมาธิ 
คือ ควรคบหาบุคคลผู้ได้บรรลุอัปปนาสมาธิ อุปจารสมาธิ หรือขณิกสมาธิ และบุคคลผู้ฝึกฝนตัวเองในข้อปฏิบัติเหล่านี้
    ๑๐. โดยการน้อมจิตไปในสมาธินั้น คือ การเคารพเอื้อเฟื้อ ชอบใจสมาธิ และปฏิบัติสมาธินั้นมากเป็นประจำ 

การอาศัยการปฏิบัติในอัปปนาโกศล ๑๐ ประการนี้ ก็จะยังความสำเร็จให้ได้ถึงอัปปนาสมาธิ เพื่อ
ไปสู่ความสำเร็จฌานแรก คือ ปฐมฌาน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น