วันพฤหัสบดี

กูฏทันตสูตร (ย่อ)

พระสูตรเต็ม ศึกษาได้จากที่นี่ 👉 กูฎทันตสูตร 

🔅กูฏทันตสูตร (ย่อ)

เพื่อความเข้าใจ คำว่า "ยัญ, ยญฺญ(ยัน-ยะ)" เดิมทีก่อนพระพุทธองค์จะตั้งศาสนาพุทธ คำๆ นี้หมายถึงการบูชา เซ่นสรวง บนบาน ด้วยการฆ่าสัตว์หรือฆ่าคนเพื่อให้เทพเจ้าของตนพอใจจะได้ดลบันดาลให้ผู้ที่บนบาน เซ่นสรวงสมความปราถนาตามกิเลส ตามความเชื่อ

เมื่อ พระพุทธองค์ทรงเผยแผ่ศาสนาพุทธ จึงวางหลักคำสอนใหม่ ให้นิยามของคำว่า ยัญ ใหม่ เป็นการบูชาที่ไม่ต้องฆ่า แต่มีการให้ การแจกจ่าย การประพฤติปฎิบัติเป็นสิ่งบูชา  เป็นความหมายใหม่ ซึ่ง ยัญ ในความหมายของพระพุทธองค์ก็มีอานิสงค์แตกต่างกัน ไล่ไปตามลำดับ เช่น ทานจากทรัพย์มีอานิสงค์น้อยกว่าการรักษาศีล การรักษาศีลมีอานิสงค์น้อยกว่าการปฎิบัติจนได้ณาน เป็นต้น


ข้าพเจ้า(พระอานนท์)ได้สดับมาอย่างนี้

        สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกา ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับหมู่บ้านขานุมัตต์ สมัยนั้นมีพราหมณ์ชื่อ
กูฏทันตะ เป็นผู้ดูแลหมูบ้านนี้อยู่ ซึ่งหมู่บ้านนี้ก็อยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าพิมพิสาร ผู้คนในหมู่บ้านต่างก็มีความเป็นอยู่อย่างผาสุข อุดมด้วยหญ้าไว้เลี้ยงสัตว์ อุดมด้วยไม้ ด้วยน้ำ สมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร ฯ ก็ในสมัยนั้นศาสนาพราหม์ต่างนิยมการกระทำบูชายัญ ด้วยเชื่อว่าผลของการบูชายัญต่อเทพยาดานั้นจะดลบันดาลให้มีความเป็นอยู่อย่างผาสุข พราหมณ์กูฏทันตะผู้เป็นใหญ่ในหมู่บ้านนี้ จึงได้ตระเตรียมจะกระทำมหาบูชายัญ จึงนำโคตัวผู้ ๗๐๐ ตัว ลูกโคตัวผู้ ๗๐๐ ตัว ลูกโคตัวเมีย ๗๐๐ ตัว แพะ ๗๐๐ ตัว และแกะ ๗๐๐ ตัว ถูกนำเข้าไปผูกไว้ที่หลักเพื่อรอการบูชายัญ 

ขณะเตรียมงานอยู่นั้น พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตต์ก็ได้ข่าวว่า พระสมณโคดม ศากยบุตร ทรงจาริกมาประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกาใกล้ๆกับหมู่บ้าน กิตติศัพท์อันงามของท่านพระสมณโคดม พระองค์นั้นขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า พระองค์เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ  ชาวบ้านต่างก็คิดว่าการเห็นพระอรหันต์จำนวนมากมาจาริกแสวงบุญ ย่อมเป็นการดีแล ดังนี้ ครั้งนั้น ทั้งพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตต์ออกจากบ้านเป็นหมู่ๆ พากันเดินทางไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา

        สมัยนั้น พราหมณ์กูฏทันตะ ขึ้นพักกลางวันในปราสาทชั้นบน ได้เห็นพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตต์ออกจากบ้านขานุมัตต์รวมกันเป็นหมู่ๆ พากันไปสวนอัมพลัฏฐิกาจึงเรียกนักการมาถามว่า "พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้าน ออกเดินทางไปไหนกัน?" นักการ จึงตอบว่า "มีเรื่องอยู่ท่านผู้เจริญ พระสมณโคดม ศากยบุตร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จมาประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกา ชาวบ้านจึงพากันเข้าไปเฝ้าท่านพระโคดมพระองค์นั้น"

        ลำดับนั้น พราหมณ์กูฏทันตะได้เกิดความคิดเช่นนี้ว่า เราก็เคยได้ยินมาว่า พระสมณโคดมทรงทราบยัญสมบัติ ๓ ประการซึ่งมีบริวาร ๑๖ (การบูชายัญที่มีอานิสงส์มาก) แต่เราไม่รู้ และตอนนี้เราก็กำลังเตรียมจะทำบูชามหายัญ ฉะนั้น เราควรเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม และทูลถามเรื่องยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ ให้เกิดความเข้าใจก่อน ลำดับนั้น พราหมณ์กูฏทันตะก็ได้เรียกนักการมาสั่งว่า "ท่านนักการ ท่านจงไปที่ขบวนของชาวบ้านแล้วบอกเขา เราพราหมณ์กูฏทันตะสั่งมาว่า ขอให้ท่านทั้งหลายจงรอก่อน เราก็จักไปเฝ้าพระสมณโคดมด้วย" นักการรับคำและดำเนินการทันที

        สมัยนั้น พราหมณ์หลายร้อยคนที่พักอยู่ในหมู่บ้านขานุมัตต์ ก็มมารออยด้วยหวังว่าเมื่อพราหมณ์กูฏทันตะ ได้กระทำมหาบูชายัญสำเร็จแล้ว พวกเราก็จะได้บริโภคมหายัญของพราหมณ์กูฏทันตะ พอพวกพราหมณ์ที่มาเฝ้ารอ ได้ทราบว่าเจ้าภาพใหญ่พราหมณ์กูฏทันตะจักไปเฝ้าพระสมณโคดม จึงต่างพากันไปหาพราหมณ์กูฏทันตะแล้วถามว่า "ท่านจักไปเฝ้าพระสมณโคดม จริงหรือ?"

กูฏทันตะ : เราคิดว่าจักไปเฝ้าพระสมณโคดม จริง
พวกพราหมณ์ : อย่าเลย ท่านกูฏทันตะ ท่านไม่ควรไปเฝ้าพระสมณโคดม ถ้าท่านไปเฝ้าท่านจักเสียเกียรติยศ เกียรติยศของพระสมณโคดมจักรุ่งเรือง ด้วยเหตุนี้แหละ ท่านจึงไม่ควรไปเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะมาหาท่าน ท่านเป็นผู้ที่เลิศกว่าใครๆ ด้วย

๑. ท่านเป็นอุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนด้วยอ้างถึงชาติได้
๒. ท่านเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก มีทองและเงินมากมาย
๓. ท่านเป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเภท
๔. ท่านมี รูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส กอปรด้วยผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก
๕. ท่านเป็นผู้มีศีล
๖. ท่านเป็นผู้มีวาจาไพเราะ มีสำเนียงไพเราะ
๗. ท่านเป็นอาจารย์และปาจารย์ของชนหมู่มากสอนมนต์มาณพถึง ๓๐๐ พวก
๘. ท่านเป็นผู้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ ส่วนพระสมณโคดมเป็นคนหนุ่ม
๙. ท่านเป็นผู้อันพระเจ้าพิมพิสาร ทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม
๑๐. ท่านเป็นผู้อันพราหมณ์โปกขรสาติสักการะเคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม
๑๑. ท่านเป็นเจ้าปกครองหมู่บ้านขานุมัตต์ อันอุดมสมบูรณ์

เพราะเหตุนี้แหละ ท่านจึงไม่ควรไปเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะมาหาท่าน

กูฏทันตะ : ท่านทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นขอจงฟังข้าพเจ้าบ้าง เรานี้แหละ ควรไปเฝ้าท่านพระสมณโคดม เพราะได้ยินว่า
๑. พระสมณโคดมทรงเป็นอุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนด้วยอ้างถึงชาติได้
๒. พระสมณโคดมทรงละพระญาติหมู่ใหญ่ออกผนวชแล้ว
๓. พระองค์ท่านทรงสละเงินและทองทั้งหมดเพื่อออกผนวช
๔. พระองค์ท่านยังหนุ่มแน่นกลับไม่หลงระเริงกับวัย เสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิตเมื่อตอนหนุ่ม
๕. เเม้พระมารดาและพระบิดาไม่ทรงปรารถนาให้ผนวช ท่านก็มีจิตใจเด็ดเดี่ยว อาจหาญ
๖. พระองค์ท่านมีพระรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส กอปรด้วยพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก
๗. พระองค์ท่านเป็นผู้มีศีล มีศีลประเสริฐ มีศีลเป็นกุศล ประกอบด้วยศีลเป็นกุศล
๘. พระองค์ท่านมีพระวาจาไพเราะ มีพระสำเนียงไพเราะ
๙. พระองค์ท่านเป็นอาจารย์และปาจารย์ของคนหมู่มาก
๑๐. พระองค์ท่านสิ้นกามราคะแล้ว เลิกประดับตกแต่ง
๑๑. พระองค์ท่านเป็นกรรมวาที เป็นกิริยาวาทีไม่ทรงมุ่งร้ายแก่พวกพราหมณ์
๑๒. พระองค์ท่านทรงผนวชจากสกุลสูง คือสกุลกษัตริย์อันไม่เจือปน
๑๓. พระองค์ท่านทรงผนวชจากสกุลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก
๑๔. ชนต่างรัฐต่างชนบทพากันมาทูลถามปัญหาพระองค์ท่าน
๑๕. เทวดาต่างมอบชีวิตถึงพระองค์ท่านเป็นสรณะ
๑๖. กิตติศัพท์อันงามของท่านขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม
๑๗. พระองค์ท่านทรงประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ
๑๘. พระองค์ท่านมีปรกติกล่าวเชื้อเชิญ เจรจาผูกไมตรี ช่างปราศรัย
๑๙. พระองค์ท่านเป็นผู้อันบริษัท ๔ สักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม
๒๐. เทวดาและมนุษย์เป็นอันมากเลื่อมใสพระองค์ท่านยิ่งนัก
๒๑. พระองค์ท่านทรงพำนักอยู่ในบ้านหรือนิคมใด บ้านหรือนิคมนั้น อมนุษย์ไม่เบียดเบียนมนุษย์
๒๒. พระองค์ท่านเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะและเป็นคณาจารย์ ได้รับยกย่องว่าเป็นยอดของเจ้าลัทธิเป็นอันมาก ๒๓. พระเจ้าแผ่นดินพระนามว่าพิมพิสาร พร้อมทั้งพระโอรสและพระมเหสี ทั้งราชบริษัทและอำมาตย์ ทรงมอบชีวิตถึงพระองค์ท่านเป็นสรณะ
๒๔. พระเจ้าปเสนทิโกศลพร้อมทั้งพระโอรสและพระมเหสี ทั้งราชบริษัทและอำมาตย์ ทรงมอบชีวิตถึงพระองค์ท่านเป็นสรณะ
๒๕. พราหมณ์โปกขรสาติ พร้อมทั้งบุตรและภรรยา ทั้งบริษัทและอำมาตย์มอบชีวิตถึงพระองค์ท่านเป็นสรณะ
๒๖. พระองค์ท่านเป็นผู้อันพระเจ้าแผ่นดินมคธ จอมเสนาพระนามว่าพิมพิสาร ทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม
๒๗. พระองค์ท่านเป็นผู้อันพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม
๒๘. พระองค์ท่านเป็นผู้อันพราหมณ์โปกขรสาติสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม

พระองค์ท่านเสด็จประทับอยู่ที่สวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้บ้านขานุมัตต์ ท่านสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่งมาสู่เขตบ้านของเรา ท่านเหล่านั้นจัดว่าเป็นแขกของเรา และเป็นแขกซึ่งเราควรสักการะเคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม เพราะเหตุนี้ เราต่างหากควรไปเฝ้าพระองค์ท่าน ข้าพเจ้าทราบพระคุณของท่านพระโคดมเพียงเท่านี้ แต่ท่านพระโคดมมิใช่มีพระคุณเพียงเท่านี้ ความจริงพระองค์ท่านมีพระคุณหาประมาณมิได้

เมื่อพราหมณ์กูฏทันตะกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกพราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวว่า

พวกพราหมณ์ : ท่านกูฏทันตะกล่าวชมท่านพระสมณโคดมถึงเพียงนี้ ถึงหากพระองค์ท่านจะประทับอยู่ไกลจากที่นี่อีก ๑๐๐ โยชน์ ก็ควรแท้ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาอย่างท่านก็ควรแล้วที่จะไปเข้าเฝ้า

กูฏทันตะ :  ท่านทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เราทั้งหมดจักเข้าไปเฝ้าท่านพระสมณโคดมด้วยกัน

        ลำดับนั้น พราหมณ์กูฏทันตะพร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่สวนอัมพลัฏฐิกา ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฝ่ายพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตต์บางพวกก็ถวายบังคม บางพวกก็ปราศรัย บางพวกก็ประณมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค บางพวกก็ประกาศชื่อและโคตร บางพวกก็นิ่งอยู่ แล้วต่างพากันนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งๆ พราหมณ์กูฏทันตะ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า พระสมณโคดมทรงทราบยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ ส่วนข้าพระองค์ไม่ทราบ แต่ข้าพระองค์ปรารถนาจะกระทำการบูชามหายัญ ขอประทานพระวโรกาส พระโคดมผู้เจริญโปรดแสดงความหมายของยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ แก่ข้าพระองค์ พระเจ้าข้า"

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจักบอก เมื่อพราหมณ์กูฏทันตะทูลรับแล้ว จึงตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว*(เรื่องเคยมีมาแล้ว* หมายถึง เหตุการณ์เคยเกิดขึ้นมาแล้วในโลกอื่น จักรวาลอื่น ไม่ใช่เหตุการณ์ในยุคสมัยของพระพุทธองค์) พระเจ้ามหาวิชิตราช เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก วันหนึ่งเกิดปริวิตกอย่างนี้ว่า "เราได้ครอบครองสมบัติมนุษย์อย่างไพบูลย์แล้ว ได้ปกครองดินแดนมากมาย ถ้ากระไรเราควรกระทำบูชามหายัญ เพื่อจะเป็นได้เป็นบุญกุศลและนำความสุขให้แก่เราตลอดกาลนาน " 

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ เมื่อพระเจ้ามหาวิชิตราชรับสั่งอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า "ชนบทของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนาม ยังมีการเบียดเบียนกัน โจรปล้นบ้านก็ดี ปล้นนิคมก็ดี ปล้นเมืองก็ดี ทำร้ายในหนทางเปลี่ยวก็ดี ยังปรากฏอยู่ พระองค์จะโปรดฟื้นฟูพลีกรรม ในเวลานี้ก็ชื่อว่าทรงกระทำการมิสมควร บางคราวพระองค์จะทรงพระดำริอย่างนี้ว่า เราจักปราบปรามเสี้ยนหนาม คือโจร ด้วยการประหาร ด้วยการจองจำ ด้วยการปรับไหม ด้วยการตำหนิโทษหรือเนรเทศ อันการปราบปรามด้วยวิธีเช่นนี้ ไม่ชื่อว่าเป็นการปราบปรามโดยชอบ เพราะว่าโจรบางพวกที่เหลือจากถูกกำจัดจักยังมีอยู่ ภายหลัง มันก็จักเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ แต่ว่าการปราบปรามเสี้ยนหนามคือโจรนั้น จะชื่อว่าเป็นการปราบปรามโดยชอบ เพราะอาศัยวิธีการดังต่อไปนี้

๑. พลเมืองเหล่าใด ในบ้านเมืองของพระองค์ ขะมักเขม้นในกสิกรรม และโครักขกรรม(คนเลี้ยงวัว)ขอพระองค์จงเพิ่มข้าวปลูกและข้าวกินให้แก่พลเมืองเหล่านั้นในโอกาสอันสมควร
๒. พลเมืองเหล่าใด ในบ้านเมืองของพระองค์ ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม ขอพระองค์จงเพิ่มทุนให้แก่พลเมืองเหล่านั้น ในโอกาสอันสมควร
๓. ข้าราชการเหล่าใด ในบ้านเมืองของพระองค์ขยัน ขอพระองค์จงพระราชทานเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนแก่ข้าราชการเหล่านั้นในโอกาสอันสมควร

พลเมืองเหล่านั้นนั่นแหละ จักเป็นผู้ขวนขวายในการงานของตนๆ จักไม่เบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ อนึ่ง กองพระราชทรัพย์มีจำนวนมาก จักเกิดแก่พระองค์ บ้านเมืองก็จะตั้งมั่นอยู่ในความเกษม หาเสี้ยนหนามมิได้ ไม่มีการเบียดเบียนกัน พลเมืองจักชื่นชมยินดีต่อกัน ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก จักไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงรับคำพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว ก็ได้พระราชทานข้าวปลูกและข้าวกินแก่พลเมืองในบ้านเมืองของพระองค์ ที่ขะมักเขม้นในกสิกรรมและโครักขกรรม พระราชทานทุนแก่พลเมืองในบ้านเมืองของพระองค์ ที่ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม พระราชทานเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนแก่ข้าราชการในบ้านเมืองของพระองค์ที่ขยัน พลเมืองเหล่านั้นนั่นแหละ ได้เป็นผู้ขวนขวายในการงานตามหน้าที่ของตนๆ ไม่ได้เบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ อนึ่ง กองพระราชทรัพย์มีจำนวนมากได้เกิดมีแล้วแก่พระองค์ บ้านเมืองได้ดำรงอยู่ในความเกษม หาเสี้ยนหนามมิได้ ไม่มีการเบียดเบียนกัน พลเมืองชื่นชมยินดีต่อกัน ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก ไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่แล้ว

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ ครั้งนั้นแล พระเจ้ามหาวิชิตราชได้ทรงรับสั่งให้พราหมณ์ปุโรหิตมาเฝ้าแล้วตรัสว่า "ท่านผู้เจริญ โจรที่เป็นเสี้ยนหนามนั้น เราได้ปราบปรามดีแล้ว เพราะอาศัยวิธีการของท่าน และกองพระราชทรัพย์ใหญ่ก็ได้บังเกิดแก่เรา บ้านเมืองก็ได้ดำรงอยู่ในความเกษมหาเสี้ยนหนามมิได้ ไม่มีการเบียดเบียนกัน พลเมืองชื่นชมยินดีต่อกัน ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก ไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่ ดูกรพราหมณ์ เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงชี้แจงวิธีบูชามหายัญที่จะเป็นประโยชน์และความสุขแก่เราตลอดกาลนาน" 

พราหมณปุโรหิตกราบทูลว่า "
ขอเดชะ ถ้าเช่นนั้นท่านต้องเรียกบุคคลเหล่านี้มาปรึกษาและขอความร่วมมือว่าท่านจะกระทำบูชามหายัญ คือกระทำมหาทานเพื่อสร้างกุศลผลบุญอันยิ่งใหญ่ บุคคลที่ท่านต้องเชื้อเชิญมีดังนี้
๑. อนุยนตกษัตริย์เหล่าใด ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์ 
๒. อำมาตย์ราชบริษัทเหล่าใด ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์
๓. พราหมณ์มหาศาลเหล่าใด ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์
๔. คฤหบดีผู้มั่งคั่งเหล่าใด ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์"

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงรับคำพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว ทรงเรียกอนุยนตกษัตริย์ อำมาตย์ราชบริษัท พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีผู้มั่งคั่ง มาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเราเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน คฤหบดีผู้มั่งคั่งเหล่านั้นกราบทูลว่า ขอพระองค์ จงทรงบูชายัญเถิด ขอเดชะ

บัดนี้ เป็นการสมควรที่จะกระทำบูชายัญ ชนผู้เห็นชอบตามพระราชดำริ ๔ เหล่านี้ จัดเป็นบริวารของยัญนั้น ดังนี้แล

พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ
๑. ทรงเป็นอุภโตสุชาต (เกิดในตระกูลดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ)
๒. ทรงมีพระรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส 
๓. ทรงมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก 
๔. ทรงมีกำลัง ทรงสมบูรณ์ด้วยเสนา (มีอำนาจทางการทหาร อำนาจการปกครอง)
๕. ทรงพระราชศรัทธา เป็นทายก เป็นทานบดี (เป็นผู้มีใจโอบอ้อมอารี)
๖. ได้ทรงศึกษาทรงสดับเรื่องนั้นๆ มาก
๗. ทรงทราบอรรถแห่งข้อที่ทรงศึกษาและภาษิต
๘. ทรงเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม ทรงพระปรีชาสามารถ

พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการดังกล่าวนี้ องค์ ๘ ประการแม้เหล่านี้ จัดเป็นบริวารแห่งยัญนั้นโดยแท้ ด้วยประการดังนี้

พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ
๑. ทรงเป็นอุภโตสุชาต (เกิดในตระกูลดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ)
๒. เป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท 
๓. เป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน
๔. เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา

พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยองค์ ๔ ดังแสดงมานี้ องค์ ๔ ประการ แม้เหล่านี้ จัดเป็นบริวารแห่งยัญนั้นโดยแท้ ด้วยประการดังนี้.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า :  ดูกรพราหมณ์ ลำดับนั้นแล พราหมณ์ปุโรหิตได้แสดงยัญวิธี ๓ ประการ (อุบายกำจัดวิปฎิสาร)ถวายพระเจ้ามหาวิชิตราชก่อนทรงบูชายัญว่า

๑. เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญอยู่ ไม่ควรมีความคิดว่ากองโภคสมบัติของเราจักหมดเปลือง
๒. เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญอยู่ ไม่ควรมีความคิดว่ากองโภคสมบัติของเรากำลังหมดเปลือง
๓. เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญอยู่ ไม่ควรมีความคิดว่ากองโภคสมบัติของเราได้หมดเปลืองไปแล้ว

ดูกรพราหมณ์ พราหมณ์ปุโรหิตได้แสดงยัญวิธี ๓ ประการ ดังแสดงมานี้ถวายพระเจ้ามหาวิชิตราชก่อนทรงบูชายัญนั้นเทียว

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ ลำดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิตได้กำจัดความวิปฏิสาร (ความเดือดร้อนใจเนื่องจากเสียดายข้าวของโภคทรัพย์) ของพระเจ้ามหาวิชิตราชไปแล้ว จากนั้นจึงให้อุบายในการกำจัดวิปฎิสารจากพวกปฏิคาหก (ผู้รับทาน) โดยอาการ ๑๐ ประการก่อนจะทรงทำการบูชายัญ โดยมีวิธีพิจารณาดังนี้

พวกปฎิคายกที่มารับทานนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดีปนเปกัน ขอให้พระเจ้ามหาวิชิตราช พึงปรารถที่จะให้ทานเฉพาะกับบุคคลเหล่านี้
๑. เฉพาะพวกที่งดเว้นจากปาณาติบาตเท่านั้น 
๒. พวกที่งดเว้นจากการลักทรัพย์
๓. พวกที่งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำเท็จ
๕. พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำส่อเสียด
๖. พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำหยาบ
๗. พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำเพ้อเจ้อ
๘. พวกที่ไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่น
๙. พวกที่มีจิตไม่พยาบาท
๑๐. พวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิ

ดูกรพราหมณ์ พราหมณ์ปุโรหิตได้กำจัดความวิปฏิสารของพระเจ้ามหาวิชิตราช เพราะพวกปฏิคาหก โดยอาการ ๑๐ ประการ ดังแสดงมานี้แล ก่อนทรงบูชายัญนั่นเทียว

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ ลำดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิต ได้ยังพระหฤทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราช ซึ่งทรงบูชามหายัญอยู่ ห้ทรงเห็นแจ้ง ให้ทรงสมาทาน ให้ทรงอาจหาญให้ทรงร่าเริง โดยอาการ ๑๖ ประการ คือ

๑. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ทรงกระทำบูชามหายัญ แต่มิได้ชักชวนเหล่าอนุยนตกษัตริย์ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพระองค์ก็ได้ทรงชักชวนเหล่าอนุยนตกษัตริย์มาร่วมงานด้วย
๒. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ทรงกระทำบูชามหายัญ แต่มิได้ชักชวนเหล่าอำมาตย์ราชบริษัท ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพระองค์ก็ได้ทรงเรียกเหล่าอำมาตย์ราชบริษัทมาร่วมงานด้วย
๓. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ทรงกระทำบูชามหายัญ แต่มิได้ชักชวนเหล่าพราหมณ์มหาศาล ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพระองค์ได้ทรงเรียกเหล่าพราหมณ์มหาศาลมาร่วมงานด้วย
๔. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ทรงกระทำบูชามหายัญ แต่มิได้ชักชวนเหล่าคฤหบดีผู้มั่งคั่ง ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพระองค์ได้ทรงเรียกเหล่าคฤหบดีผู้มั่งคั่งมาร่วมงานด้วย
๕. หากมีใครคัดค้านติเตียนด้วยอ้างถึงพระชาติ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสเพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้อุภโตสุชาตทั้งฝ่ายพระมารดาและพระบิดาทรงถือปฏิสนธิหมดจดดี ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ
๖. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์ทรงมีพระรูปไม่งาม ไม่น่าดู ไม่น่าเลื่อมใส ไม่น่าดู ไม่น่าชมเสียเลย แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสเพราะพระองค์ทรงมีพระรูปงาม ทรงกอปรด้วยพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ทรงมีพระพรรณคล้ายพรหม น่าดู น่าชมมิใช่น้อย แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด
๗. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์มิได้ทรงเป็นกษัตริย์ที่มั่งคั่งพอที่จะทรงกระทำบูชามหายัญ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มั่งคั่ง มีพระราชทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก
๘. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์มิได้ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีกำลัง มิได้ทรงสมบูรณ์ด้วยเสนา แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสเพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีกำลัง ทรงสมบูรณ์ด้วยเสนามีองค์ ๔ ซึ่งอยู่ในวินัยคอยปฏิบัติตามพระราชบัญชา ทรงมีพระบรมเดชานุภาพดังว่าจะเผาผลาญราชศัตรูได้ด้วยพระราชอิสริยยศ แม้ด้วยประการเช่นนี้
๙.หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์มิได้ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระราชศรัทธา มิได้ทรงเป็นทายก มิได้ทรงเป็นทานบดี แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระราชศรัทธา ทรงเป็นทายก เป็นทานบดี เป็นดุจบ่อน้ำที่ลงดื่มของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก ยาจก แม้ด้วยประการเช่นนี้
๑๐. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่มิได้ทรงศึกษา มิได้ทรงสดับเรื่องนั้นๆ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีที่ได้ทรงศึกษา ทรงสดับเรื่องนั้นๆ มาก
๑๑. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่มิได้ทรงทราบอรรถแห่งข้อที่ทรงศึกษาและภาษิตนั้นๆ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงทราบอรรถแห่งข้อที่ทรงศึกษาและภาษิตนั้นๆ ว่า นี้อรรถแห่งภาษิตนี้ นี้อรรถแห่งภาษิตนี้
๑๒. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่มิได้เป็นบัณฑิต มิได้ทรงเฉียบแหลม มิได้ทรงมีพระปรีชา แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพระองค์ทรงเป็นบัณฑิต ทรงเฉียบแหลม ทรงมีพระปรีชา
๑๓. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์แต่พราหมณ์ปุโรหิต
(ที่ปรึกษา) ของพระองค์มิได้เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ
๑๔. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์มิได้เป็นผู้เล่าเรียน มิได้ทรงจำมนต์ มิได้รู้จบไตรเพท ฯ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ เป็นผู้เล่าเรียนทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท ฯ
๑๕. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์มิได้เป็นผู้มีศีล มิได้มีศีลยั่งยืน มิได้ประกอบศีลยั่งยืน แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน
๑๖. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์มิได้เป็นบัณฑิต มิได้เป็นผู้เฉียบแหลม มิได้มีปัญญา แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา เป็นที่ ๑ หรือที่ ๒ ในพวกปฏิคาหกผู้รับบูชาด้วยกัน 

ดูกรพราหมณ์ พราหมณ์ปุโรหิต ได้ยังพระหฤทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชผู้ทรงบูชามหายัญอยู่ ให้ทรงเห็นแจ้ง ให้ทรงสมาทาน ให้ทรงอาจหาญ ให้ทรงร่าเริง โดยอาการ ๑๖ ประการ ดังแสดงมานี้แล

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ ในยัญนั้น ไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์ นานาชนิด ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำเป็นหลักยัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคามาเพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น บูชามหายัญนั้นได้สำเร็จแล้วด้วยลำพังเพียงเนยใส น้ำมัน เนยข้น เปรียง น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เท่านั้น ดูกรพราหมณ์ ลำดับนั้นแล พวกอนุยนตกษัตริย์ พวกพราหมณ์มหาศาล พวกคฤหบดีผู้มั่งคั่ง ต่างก็พากันนำทรัพย์มากมาย เข้าไปเฝ้าพระเจ้ามหาวิชิตราชกราบทูลว่า "ขอเดชะ พวกข้าพระพุทธเจ้าได้นำทรัพย์มากมายนี้มาเฉพาะพระองค์ ขอพระองค์จงทรงรับเถิด" พระเจ้ามหาวิชิตราชตรัสว่า อย่าเลยพ่อ แม้ทรัพย์เป็นอันมากนี้ของข้าพเจ้าก็ได้รวบรวมมาแล้วจากภาษีอากรที่เป็นธรรม ทรัพย์ที่ท่านนำมานั้นจงเป็นของพวกท่านเถิด ก็และท่านจงนำทรัพย์จากที่นี้เพิ่มไปอีก

อนุยนตกษัตริย์ พราหมณ์มหาศาล และพวกคฤหบดีผู้มั่งคั่งเหล่านั้นถูกพระราชาปฏิเสธ ต่างพากันหลีกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง คิดร่วมกันอย่างนี้ว่า การที่พวกเราจะรับทรัพย์เหล่านี้คืนไปบ้านเรือนของตนๆ อีกนั้นไม่เป็นการสมควรแก่พวกเราเลย พระเจ้ามหาวิชิตราชกำลังทรงบูชามหายัญอยู่ เอาเถอะ พวกเรามาบูชายัญตามเสด็จพระองค์บ้าง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า :  ดูกรพราหมณ์ ลำดับนั้น พวกอนุยนตกษัตริย์ พราหมณ์มหาศาล และพวกคฤหบดีผู้มั่งคั่ง ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท ได้เริ่มบำเพ็ญทานโดย ไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์นานาชนิด ยัญนั้นได้สำเร็จแล้วด้วยลำพังเพียงเนยใส น้ำมัน เนยข้น เปรียง น้ำผึ้งน้ำอ้อย เท่านั้น
๑. ชนผู้เห็นชอบตามพระราชดำริทั้ง ๔ จำพวก (อนุยนตกษัตริย์, อำมาตย์ราชบริษัท, พราหมณ์มหาศาล, คฤหบดีผู้มั่งคั่ง) ๒. พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ๓. พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ ดังกล่าวมานี้ รวมเรียกว่ายัญญสัมปทา ๓ ใน ๓ อย่างนี้ประกอบด้วยบริวาร ๑๖  นี้คือความหมายของยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์เหล่านั้นส่งเสียงอื้ออึงเกรียวกราวว่า โอ ยัญ โอ ยัญสมบัติ ส่วนพราหมณ์กูฏทันตะ นั่งนิ่งอยู่ ต่อนั้น พราหมณ์เหล่านั้นได้ถามว่า "เพราะเหตุไรเล่า ท่านกูฏทันตะจึงไม่ชื่นชมคำสุภาษิตของพระสมณโคดม" พราหมณ์กูฏทันตะกล่าวว่า "ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้คิดอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม ได้ตรัสอย่างนี้ว่า เหตุอย่างนี้ได้มีแล้วในกาลนั้น เรื่องเช่นนี้ได้มีแล้วในกาลนั้น ดังนี้ทีเดียว ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้คิดอย่างนี้ว่า สมัยนั้น พระสมณโคดมคงจะทรงเป็นพระเจ้ามหาวิชิตราชผู้เป็นเจ้าแห่งยัญ หรือทรงเป็นพราหมณ์ปุโรหิตผู้อำนวยการบูชายัญของพระเจ้ามหาวิชิตราชนั้นแน่นอน" ดังนี้ แล้วจึงได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

กูฏทันตะ : พระโคดมผู้เจริญทรงทราบโดยแจ้งชัดหรือว่า ผู้บูชายัญและผู้อำนวยกาบูชายัญตามที่บอกนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า :  ดูกรพราหมณ์ เราย่อมทราบโดยแจ้งชัดว่า ผู้บูชายัญและผู้อำนวยการบูชายัญตามที่บอกนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดูกรพราหมณ์ สมัยนั้น เราได้เป็นพราหมณ์ปุโรหิต ผู้อำนวยการบูชายัญของพระเจ้ามหาวิชิตราชนั้น


🙏ว่าด้วยทาน 🙏

อานิสงค์มากกว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖

กูฏทันตะ : 
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ มีอยู่หรือ?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ มีอยู่ ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้
กูฏทันตะ : ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ เป็นไฉน?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ นิตยทาน (การให้ทานสม่ำเสมอ ให้เป็นนิต ให้ประจำ) อันเป็นอนุกูลยัญอย่างใดอย่างหนึ่งที่บุคคลถวายเจาะจงพวกบรรพชิตผู้มีศีล ก็ยัญนี้แลเป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้
กูฏทันตะ : ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยให้นิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญนั้น ซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ พระอรหันต์ก็ดี ท่านที่บรรลุอรหัตมัคก็ดี ย่อมไม่รับยัญ (ทาน) ที่มาจากการประหาร เข่นฆ่าชีวิต ส่วนนิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญ (เนยใส น้ำมัน เนยข้น เปรียง น้ำผึ้ง น้ำอ้อย) อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่บุคคลถวายเจาะจงพวกบรรพชิตผู้มีศีล พระอรหันต์ก็ดี ท่านที่บรรลุอรหัตมัคก็ดี ย่อมยอมรับการบูชาด้วยยัญเช่นนั้น เพราะเหตุไร เหตุเพราะในยัญนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการประหาร เข่นฆ่าชีวิต นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้นิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญนั้น ซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้

อานิสงค์มากกว่านิตยทาน

กูฏทันตะ : ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า นิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญนี้ ยังมีอยู่หรือ?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่านิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญนี้ มีอยู่
กูฏทันตะ : ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญนั้นเป็นไฉน?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ ยัญของบุคคลที่สร้างวิหารอุทิศพระสงฆ์ผู้มาแต่ทิศทั้ง ๔ (สร้างวิหารเสนาสนะแด่ภิกษุสงฆ์ โดยไม่เจาะจง) นี้แหละเป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่านิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญนี้

อานิสงค์มากกว่าสร้างวิหารอุทิศพระสงฆ์

กูฏทันตะ :  ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่าสร้างวิหารทานนี้ยังมีอยู่หรือ?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : มีอยู่ พราหมณ์
กูฏทันตะ : ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญนั้นเป็นไฉน?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ ทานของบุคคลที่มีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ ดูกรพราหมณ์ นี้แหละเป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่าและมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่าวิหารทานนี้

อานิสงค์มากกว่าบุคคลที่ศรัทธาไตรสรณะคม

กูฏทันตะ : ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่าสรณคมน์เหล่านี้ยังมีอยู่หรือ?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : มีอยู่ พราหมณ์
กูฏทันตะ :ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญนั้นเป็นไฉน?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ การที่บุคคลเป็นผู้มีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบททั้งหลาย คือ งดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจากอทินนาทาน งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากมุสาวาท งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาท ดูกรพราหมณ์ นี้แหละเป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่าและมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ามีจิตศรัทธาไตรสรณคมน์นี้

อานิสงค์มากกว่าสมาทานศีล ๕

กูฏทันตะ : ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่าสิกขาบทเหล่านี้ยังมีอยู่หรือ?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : มีอยู่ พราหมณ์
กูฏทันตะ :ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญนั้นเป็นไฉน?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ได้ฟังธรรมแล้วศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่าฆราวาสคับแคบเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัดไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรมวจีกรรมที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ

🙏ว่าด้วยด้วยศีล🙏

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล?
พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึง จุลศีล มัชฌิมศีล และ มหาศีล เป็นการแบ่งลำดับของศีล ในระดับของความหยาบและละเอียดหากถิกษุพึงรักษาทั้ง จุลศีล มัชฌิมศีล และ มหาศีล ได้ครบถ้วนจึงได้ชื่อว่าภิกษุผู้นั้นถึงพร้อมด้วยศีล มีทั้งหมด ๔๓ สิกขาบท ศึกษาได้จาก 🔎พรหมชาลสูตร

🙏ว่าด้วยด้วยณาน🙏

ภิกษุบรรลุปฐมฌานอยู่ นี้แหละเป็นทานซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่าทานก่อนๆ
ภิกษุบรรลุทุติยฌานอยู่ มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ายัญก่อนๆ
ภิกษุบรรลุตติยฌานอยู่ มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญก่อนๆ
ภิกษุบรรลุจตุตถฌานอยู่ มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญก่อนๆ

 🙏ว่าด้วยวิชชา ๘ วิปัสสนาญาณ🙏

ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ ๑. วิปัสสนาญาณ (ญาณที่เกิดจากวิปัสสนา เช่นเห็นการเกิดดับ) มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากยัญก่อนๆ
๒. มโนมยิทธิญาณ (ฤทธิ์ทางใจ) มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ายัญก่อนๆ
๓. อิทธิวิธญาณ (มีฤทธิ์ การแสดงฤิทธิ์) มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ายัญก่อนๆ
๔. ทิพยโสตญาณ (หูทิพย์ ได้ยินเสียงมนุษย์และเทวดา) มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ายัญก่อนๆ
๕. เจโตปริยญาณ (รู้ใจคนอื่น รู้ความคิด) มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ายัญก่อนๆ
๖. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ระลึกชาติในอดีตได้หลายชาติ) มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ายัญก่อนๆ
๗. จุตูปปาตญาณ (ตาทิพย์ รู้เหตุการเกิด การตายของสัตว์) มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ายัญก่อนๆ
๘. อาสวักขยญาณ (ญาณที่ทำให้จิตหลุดพ้น) มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ายัญก่อนๆ

(ศึกษาความหมายของวิชชา ๘ ได้ใน 🔎สามัญญผลสูตร เรื่องพระเจ้าอชาตศัตรู ย่อหน้าที่ ๑๓๑-๑๓๘)

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ก็ยัญสมบัติอื่นๆ ที่จะดียิ่งกว่า ประณีตยิ่งกว่ายัญสมบัตินี้ (อาสวักขยญาณ) ไม่มีอีกแล้ว

กูฏทันตะ : ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพเจ้านี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญจงทรงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้านี้ได้ปล่อยโคผู้ ๗๐๐ ลูกโคผู้ ๗๐๐ ลูกโคเมีย ๗๐๐ แพะ ๗๐๐ แกะ ๗๐๐ได้ให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น ขอสัตว์เหล่านั้นจงได้กินหญ้าเขียวสด จงได้ดื่มน้ำเย็น ขอลมที่เย็นจงพัดถูกสัตว์เหล่านั้นให้มีความสุขกายสบายใจเถิด

กูฏทันตพราหมณ์ได้บรรลุโสดาปัตติผลในวันนั้นทันที


วันพุธ

เลิกบูชายัญ เพียงเป็นฐาน สู่ความงอกงามในธรรม

ย้อนกลับไปถามว่า การเลิกบูชายัญหรือไม่บูชายัญ เป็นหลักการปกครองบ้านเมืองได้อย่างไร เมื่อการบูชายัญเป็นหลักการยิ่งใหญ่ยอดสำคัญของสังคมพราหมณ์ ทางพระพุทธศาสนาก็จึงยกการเลิกบูชายัญหรือไม่บูชายัญขึ้นมาเป็นหลักการสำคัญของสังคมแทน โดยมีความหมายที่จะต้องทำความเข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ในการบำเพ็ญพุทธกิจ มีหลายครั้งหลายคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปพบกับพราหมณ์ที่กำลังเตรียมการบูชายัญบ้าง กำลังประกอบบูชายัญบ้าง และมีทั้งพิธีบูชายัญขนาดย่อมส่วนบุคคล และพิธีระดับผู้ปกครองบ้านเมือง ถ้าเป็นพิธีใหญ่ จะมีการฆ่าสัตว์บูชายัญจำนวนมาก และทาสกรรมกรทั้งหลายมักเดือดร้อนมาก เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปพบและสนทนากับเจ้าพิธี ในที่สุดเรื่องก็จะจบลงโดยที่เขาเองให้ปล่อยสัตว์ล้มเลิกพิธี พร้อมทั้งรับหลักการและวิธีปฏิบัติอย่างใหม่ที่พระองค์สอนไปดำเนินการ 

สาระสำคัญของหลักการที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน โดยทั่วไปจะให้
ประกอบยัญกรรมในความหมายใหม่ (หรือเป็นการฟื้นความหมายดั้งเดิมก่อนที่พวกพราหมณ์จะทำให้เพี้ยนไป) ซึ่งเน้นที่ทาน และต้องไม่มีการเบียดเบียนชีวิต ถ้าเป็นยัญพิธีใหญ่มากของผู้ปกครองบ้านเมือง คำสอนในเรื่องยัญของพระพุทธเจ้า จะรวมถึงการจัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยและให้ราษฎรเป็นอยู่ผาสุกก่อน แล้วจึงทำยัญพิธี และบำเพ็ญทาน ดังเช่น ใน🔎กูฏทันตสูตร (ที่สี่ ๙/๑๙๙-๒๓๘) ที่ตรัสกับกูฎทันตพราหมณ์ ผู้ปกครองพราหมณคาม ชื่อว่าชานุมัตต์ ซึ่งได้ให้เอาโค ๗๐๐ ลูกโค ๗๐๐ ลูกโคเมีย ๗๐๐ และ ๗๐๐ และแกะ ๗๐๐ ผูกไว้ที่หลัก เตรียมพร้อมที่จะบูชามหายัญ พราหมณ์นั้นได้สนทนาสอบถามพระพุทธเจ้าถึงวิธีบูชายัญใหญ่ให้ได้ผลมาก พระพุทธเจ้าทรงยกเรื่องตัวอย่างในอดีตมาให้เป็นแบบ

สาระสำคัญ คือ ให้จัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยและให้ราษฎรเป็นอยู่ผาสุก ถ้าบ้านเมืองยังมีโจรผู้ร้ายเป็นต้น ไม่ให้เอาแต่ใช้วิธีปราบปรามรุนแรง แต่ให้ราษฎรที่ประกอบเกษตรกรรม พาณิชยกรรมและข้าราชการ ผู้ที่ตั้งใจหมั่นขยัน จึงได้รับการส่งเสริมให้ตรงจุด จนบ้านเมืองมั่งคั่ง ราษฎรชื่นชมยินดี อยู่ปลอดภัย “บ้านเรือนไม่ต้องลงกลอน ให้ลูกฟ้อนบนอก (หลักการนี้ คือธรรมชุดที่ในคัมภีร์บางแห่งเรียกว่าราชสังคหวัตถุ ๔ ได้แก่ ๑. สัสสเมธะ (ฉลาดบำรุงธัญญาหาร) ๒. ปุริสมเมธะ (ฉลาดบำรุงข้าราชการ) ๓. สัมมาปาสะ (ผสานใจประชาด้วยอาชีพ) 4. วาจาเปยยะ (มีวาจาดูดดื่มใจ) (๕) เกิดผล คือ นิรัคคฬะ (เกษมสุข) บ้านเรือนไม่ต้องลงกลอน  หลักนี้เป็นนัยพุทธ จาก มหายัญ ๕ ของพราหมณ์ คือ ๑. อัสสเมธะ (อัศวเมธ/ ฆ่าม้าบูชายัญ ๒. ปุริสเมธะ (ฆ่าคนบูชายัญ) ๓. สัมมาปาสะ (ยัญลอดบ่วง) ๔. วาชเปยยะ (ยัญดื่มเพื่อชัย) ๕. นิรัคคฬะ หรือ สรรพเมธะ (ยัญฆ่าครบทุกอย่าง)

เมื่อบ้านเมืองดีแล้ว ผู้ปกครองนั้นก็เรียกพบปรึกษาคนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน ทั้งอำมาตย์จนถึงชาวนิคมชนบท ขอความร่วมมือในการที่จะบูชายัญ ซึ่งไม่มีการฆ่าสัตว์และไม่ทำให้คนใดๆ เดือดร้อน มีแต่การมอบให้ของง่ายๆ เล็กๆ น้อยๆ และราษฎรก็พากันร่วมทำตามด้วย แล้วต่อจากนั้นก็มีการบำเพ็ญทานแก่บรรพชิตผู้มีศีล การสร้างสรรค์ประโยชน์ และพัฒนาชีวิตสูงขึ้นไปจนลุจุดหมายแห่งชีวิตที่ดี 

ผลของการฟังวิธีบูชายัญแบบนี้ คือ กูฏทันพราหมณ์ประกาศตนเป็นอุบาสก พร้อมทั้งได้กราบทูลว่าข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอปล่อยโค ๗๐๐ ลูกโค ๗๐๐ ลูกโคเมีย ๗๐๐ แพะ ๗๐๐ แกะ ๗๐๐ ข้าพเจ้าให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น ขอให้สัตว์เหล่านั้นได้กินหญ้าเขียวสด จงดื่มน้ำเย็น จงรับลมสดชื่นที่พัดโชยมาให้สบายเถิด 

เห็นได้ชัดว่า การห้ามหรือให้เลิกบูชายัญ และการเผื่อแผ่แบ่ง
ปันช่วยเหลือกันคือทานนี้ เป็นหลักการใหญ่ที่เน้นของพระเจ้าอโศกจนเรียกได้ว่าเป็นบรรยากาศแห่งศิลาจารึกของพระองค์ ยิ่งกว่านั้น พระเจ้าอโศกยังทรงก้าวต่อขึ้นไปอีก สู่งานในขั้นที่เป็นเป้าหมายแท้ของพระองค์ คือการสอนธรรมเพื่อให้ประชาชนประพฤติธรรม เหมือนกับว่าทานนั้นเป็นฐาน เพื่อเตรียมวัตถุและสังคมให้เอื้อแก่คนที่จะพัฒนาสูงขึ้นไป และตรงนี้เองจึงทรงเน้นธรรมทาน ขอยกคำในจารึกศิลา ฉบับที่ ๙ ต่อด้วย ฉบับที่ ๑๑ มาอีกว่า ฉบับที่ ๙ : ...การให้ทานเป็นความดี ก็แต่ว่าทาน หรือการอนุเคราะห์ที่เสมอด้วยธรรมทาน หรือธรรมานุเคราะห์ ย่อมไม่มี ฉบับที่ ๑๑: ไม่มีทานใดเสมอด้วยธรรมทาน ธรรมสังวิภาค (การแจกจ่ายธรรม) และธรรมสัมพันธ์ อาศัยธรรม (ธรรมทานเป็นต้น) นี้ ย่อมบังเกิดมีสิ่งต่อไปนี้ คือ
- การปฏิบัติชอบต่อคนรับใช้และคนงาน
-การเชื่อฟังมารดาบิดา
- การเผื่อแผ่แบ่งปันแก่มิตร คนคุ้นเคย ญาติ และแก่สมณพราหมณ์
- การไม่ฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ
นี่คือหลักการใหญ่ที่เป็นแกนกลางแห่งแนวคิดภาคปฏิบัติของพระเจ้าอโศก การทำศิลาจารึกสั่งสอนธรรมก็ตั้งบนฐานของหลักการนี้ หลักการไม่บูชายัญ แต่หันมาสู่ทาน และให้คนทุกหมู่เหล่าเกื้อกูลปฏิบัติชอบต่อกัน มารวมศูนย์ที่นี่

พร้อมนั้น จุดนี้ก็เป็นศูนย์รวมที่อโศกธรรมมาบรรจบกับแหล่ง
เดิมของหลักธรรมเดียวกันนั้น ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ขอให้ดูพุทธพจน์ในพระสูตรตอนต่อไปนี้ ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ ผู้ควรแก่การขอ เมืออันล้างแล้ว (พร้อมที่จะประกอบยัญพิธีแบบใหม่แห่งการบริจาคธรรม) ทุกเวลา ...ภิกษุทั้งหลาย ทานมี ๒ อย่างนี้ คือ อามิสทาน ๑ ธรรมทาน ๑ บรรดาทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ ภิกษุทั้งหลาย การแจกจ่ายมี ๒ อย่างนี้ คือ การแจกจ่ายอามิส ๑ การแจกจ่ายธรรม ๑ บรรดาการแจกจ่าย ๒อย่างนี้ การแจกจ่ายธรรม (ธรรมสังวิภาค) เป็นเลิศ ภิกษุทั้งหลาย การอนุเคราะห์มี ๒ อย่างนี้ คือ การอนุเคราะห์ด้วยอามิส การอนุเคราะห์ด้วยธรรม ๑ บรรดาการอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ การอนุเคราะห์ด้วยธรรม (ธรรมานุเคราะห์) เป็นเลิศ ภิกษุทั้งหลาย อัญบูชา (ยาคะ) มี ๒ อย่างนี้ คือ ธัญบูชาด้วยอามิส ๑ ธัญบูชาด้วยธรรม ๑ บรรดายัญบูชา ๒ อย่างนี้ ยัญบูชาด้วยธรรม (ธรรมยาคะ) เป็นเลิศ ๆ (อิติ ๒๕/๒๘๐)



เรื่องนี้ ว่าจะพูดพอเห็นแนว แต่กลายเป็นยาว ควรจบเสียที ขอตั้งข้อสังเกตไว้อีกอย่างเดียว งานทางธรรมที่พระเจ้าอโศกทรงเอาพระทัยใส่จริงจังมาก และโดยชอบ แต่ไม่ใช่แค่คน ทรงเอาพระทัยใส่ต่อสัตว์อื่นทั่วไปหมดอยู่เสมอ คือการที่จะให้คนผู้ร่วมสังคม เอาใจใส่กันและปฏิบัติต่อกันนอกจากห้ามฆ่าสัตว์บูชายัญ และให้สำรวมตนต่อสัตว์ทั้งหลายคือทั้งไม่เบียดเบียนและเอื้ออาทรต่อสัตว์ทุกชนิดแล้ว ยังถึงกับตั้งโรงพยาบาลสัตว์ และให้ปลูกสมุนไพรที่เป็นยาสำหรับสัตว์ เช่นเดียวกับที่ได้จัดไว้สำหรับคน แล้วยิ่งกว่านั้นยังมีประกาศเกี่ยวกับอภัยทานและการสงวนพันธุ์สัตว์อีกด้วย การที่พระเจ้าอโศกทรงปฏิบัติในเรื่องนี้ถึงขนาดนี้ นอกจากเพราะจุดเน้นในการหันมาสู่ธรรมของพระองค์ ได้แก่การมีอวิหิงสา เมตตาการุณย์ต่อสัตว์อย่างที่กล่าวแล้ว บางทีจะเป็นด้วยทรงพยายามปฏิบัติให้ครบตามหลักจักรวรรดิวัตร ในจักกวัตติสูตร ซึ่งกำหนดให้พระเจ้าจักรพรรดิจัดการคุ้มครองอันชอบธรรม แก่มนุษย์สัตว์ทุกหมู่เหล่า โดยแยกไว้เป็น ๘ กลุ่ม อันมีมิคปักษี (เนื้อและนก คือทั้งสัตว์บกและสัตว์บินที่ไม่มีภัย) เป็นกลุ่มสุดท้าย

ขอให้ดูบางตอนในจารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๒ ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ข้าฯ ได้กระทำการอนุเคราะห์แล้วด้วยประการต่างๆ แก่เหล่าสัตว์ทวิบาท สัตว์จตุบาท ปักษิณชาติ และสัตว์น้ำทั้งหลาย ตลอดถึงการให้ชีวิตทาน ...ต่อด้วยอีกบางตอนในจารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๕ ดังนี้ ข้าฯ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๒๖ พรรษา ได้ออกประกาศ ให้สัตว์ทั้งหลายต่อไปนี้ ปลอดภัยจากการถูกฆ่า กล่าวคือ นกแก้ว นกสาลิกา นกจากพราก หงส์ ... เต่า และกบ กระรอก กวางเร็ว ... แรด นก พิราบขาว นกพิราบบ้าน และบรรดาสัตว์สี่เท้าทั้งปวงที่มิใช่สัตว์สำหรับปฏิโภค (ใช้หนังใช้กระดูก ฯลฯ) และมิใช่สัตว์สำหรับบริโภค แม่แพะ แม่แกะ และแม่หมู ที่กำลังมีท้องก็ดี กำลังให้นมอยู่ก็ดี ย่อมเป็นสัตว์ที่ไม่พึงฆ่า และแม้ลูกอ่อนของสัตว์เหล่านั้นที่อายุยังไม่ถึง ๖ เดือน ก็ไม่พึงถูกฆ่าเช่นกัน ไม่พึงทำการตอนไก่ไม่พึงเผาแกลบที่มีสัตว์มีชีวิตอาศัยอยู่ ไม่พึงเผาป่าเพื่อการอันหาประโยชน์มิได้ หรือเพื่อการทำลายสัตว์ ไม่พึงเลี้ยงชีวิตด้วยชีวิต ไม่พึงฆ่าและขายปลา ในวันเพ็ญที่คำรบจาตุรมาสทั้ง และในวันเพ็ญแห่งเดือนดิษยะ คราวละ ๓ วัน คือ ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ และทุกวันอุโบสถ เป็นการเสมอไป อนึ่ง ในวันดังกล่าวมานี้ ไม่พึงฆ่าแม้เหล่าสัตว์ชนิดอื่นๆ ในป่าช้างและในเขตสงวนปลาของชาวประมง ตราบถึงบัดนี้ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๒๖ พรรษา ข้าฯ ได้สั่งให้มีการพระราชทานอภัยโทษแล้วรวม ๒๕ ครั้ง 

ในการจบเรื่องนี้ ก็มาดูกันว่า จากการบำเพ็ญธรรมทานของพระ
องค์ พระเจ้าอโศกได้ทรงประสบผลานิสงส์อย่างไร ซึ่งคงสรุปได้จากพระดำรัสในจารึกศิลา ฉบับที่ ๔ ดังนี้ กาลยาวนานล่วงแล้ว ตลอดเวลาหลายร้อยปี การฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ การเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย การไม่ปฏิบัติชอบต่อหมู่ญาติ การไม่ปฏิบัติชอบต่อสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ได้พอกพูนขึ้นถ่ายเดียว แต่มาในบัดนี้ ด้วยการดำเนินงานทางธรรม (ธรรมจรณะ) ของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เสียงกลองรบ (เกรีโฆษ) ได้กลายเป็นเสียงประกาศธรรม (ธรรมโฆษ) แต่ทั้งการแสดงแก่ประชาชน ซึ่งวิมานทรรศน์ หัสดิทรรศน์ อัคนีขันธ์และทิพยรูปอื่นๆ ก็ได้มีขึ้นด้วย
- การไม่ฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ
- การไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย
- การปฏิบัติชอบต่อหมู่ญาติ
- การปฏิบัติชอบต่อสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
- การเชื่อฟังมารดาบิดา
- การเชื่อฟังท่านผู้เฒ่าผู้ใหญ่
ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตลอดเวลาหลายร้อยปี ได้เจริญงอกงามขึ้นแล้วในบัดนี้ เพราะการสั่งสอนธรรมของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ความดีงามนี้ และการปฏิบัติธรรมอย่างอื่นๆ อีกหลายประการ ได้เจริญงอกงามขึ้นแล้ว พระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ จักทำให้การปฏิบัติธรรมนี้เจริญยิ่งขึ้นไปอีกและพระราชโอรส พระราชนัดดา พระราชปนัดดาของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ก็จักส่งเสริมการปฏิบัติธรรมนี้ ให้เจริญยิ่งขึ้นต่อไปจนตลอดกัลป์ ทั้งจักสั่งสอนธรรม ด้วยการตั้งมั่นอยู่ในธรรมและในศีลด้วยตนเอง เพราะว่าการสั่งสอนธรรมนี้แล เป็นการกระทำอันประเสริฐสุด และการประพฤติธรรมย่อมไม่มีแก่ผู้ไร้ศีล ก็แลความเจริญงอกงาม และความไม่เสื่อมถอยในการปฏิบัติธรรมนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีเพื่อประโยชน์นี้ จึงได้จารึกธรรมโองการนี้ขึ้นไว้ ขอชนทั้งหลายจงช่วยกันประกอบกิจ เพื่อความเจริญงอกงามแห่งประโยชน์นี้ และจงอย่าได้มีวันกล่าวถึงความเสื่อมเลย ธรรมโองการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ โปรดให้จารึกไว้แล้ว เมื่ออภิเษกได้ ๑๒ พรรษา

เราได้มาถึงเมืองปัตนะ หรือปาตลีบุตร ศูนย์กลางแห่งมหาอาณาจักรของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งชมพูทวีป (H.G. Wells ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก) และพุทธศาสนูปถัมภกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนาเมื่อได้ทำความรู้จักกับพระเจ้าอโศกมหาราชมาอย่างนี้แล้ว ก็ขอยุติไว้แค่ที่พอสมควร เพียงเท่านี้

วันอังคาร

อธิบายหัวข้อเบ็ดเตล็ด

อันนักศึกษาเมื่อได้ศึกษาเข้าใจถึงกสิณ ๑๐ ประการ อันเป็นเหตุให้ได้ฌาน ๔ และฌาน ๔ ในรูปาวจรภูมิ ที่สมเด็จพระทศพลพุทธเจ้าผู้ทรงเห็นแจ้งธรรมทั้งปวงได้ทรงแสดงไว้แล้วด้วยประการฉะนี้ และเข้าใจถึงนัยแห่งการภาวนาซึ่งกสิณ ๑๐ เหล่านั้นอย่างนี้แล้ว จึงศึกษาถึงหัวข้อเบ็ดเตล็ดในกสิณทั้ง ๑๐ ประการนั้น ให้เข้าใจดียิ่งขึ้นไปอีกสักเล็กน้อยดังต่อไปนี้

๑. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจปฐวีกสิณ

ในบรรดากสิณ ๑๐ ประการนั้น ฤทธิ์ย่อมสำเร็จขึ้นด้วยอำนาจปฐวีกสิณ มีอาทิดังนี้คือ คนเดียวเนรมิตให้เป็นหลายคนได้เป็นต้น เนรมิตแผ่นดินขึ้นในอากาศหรือในน้ำแล้วเดินไปด้วยเท้าได้สำเร็จอิริยาบถยืนและนั่งเป็นต้นในอากาศหรือในน้ำได้ได้อภิภายตนะ* โดยนัยมีอารมณ์นิดหน่อยและมีอารมณ์หาประมาณมิได้ (คำว่า ได้อภิภายตนะ คือ สามารถข่มปฏิปักขธรรมได้ และสามารถข่มอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งอิฏฐารมณ์และ
อนิฏฐารมณ์ ไม่ให้เกิดในใจได้)

๒. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจอาโปกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจอาโปกสิณ มีอาทิดังนี้คือ ดำลงไปในพื้นแผ่นดิน และผุดโผล่พื้นแผ่นดินขึ้นมาได้ บันดาลให้ฝนตกได้ บันดาลให้เกิดเป็นแม่น้ำและเป็นมหาสมุทรเป็นต้นได้บันดาลแผ่นดิน ภูเขา และปราสาทเป็นต้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือนได้

๓. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจเตโชกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจเตโชกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ บังหวนควันได้ บันดาลให้ไฟลุกโพลงขึ้นได้ บันดาลให้ฝนถ่านเพลิงตกได้ บันดาลไฟที่เกิดขึ้นด้วยฤทธิ์ของผู้อื่นให้ดับลงด้วยไฟที่เกิดขึ้นด้วยฤทธิ์ของตนได้ มีความสามารถที่จะเผาผลาญสิ่งที่ตนประสงค์ให้พินาศลงได้ บันดาลให้เกิดแสงสว่างเพื่อเห็นรูปด้วยจักษุอันเป็นทิพย์ได้ เผาสรีระศพตนเองได้ด้วยเตโชธาตุในเวลาปรินิพพาน

๔. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจวาโยกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจวาโยกสิณมีอาทิดังนี้ คือ เหาะไปได้เร็วเหมือนอย่างลมพัด บันดาลฝนพายุให้ตกได้

๕. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจนีลกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจนีลกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นสีเขียวได้ บันดาลความมืดมนอนธการให้เกิดขึ้นได้ ได้อภิภายตนะโดยนัยมีผิวพรรณงามและมีผิวพรรณน่าเกลียด การบรรลุสุภวิโมกข์คือบรรลุมรรคผลและนิพพานโดยง่ายสะดวกสบาย

๖. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจปีตกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจปีตกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นสีเหลืองได้ เสกเหล็ก ทองเหลือง ทองแดงเป็นต้นให้เป็นทองคำได้ ได้อภิภายตนะโดยนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั่นแล และการบรรลุสุภวิโมกข์

๗. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจโลหิตกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จด้วยอำนาจโลหิตกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งของต่าง ๆ ให้เป็นสีแดงได้ ได้อภิภายตนะโดยนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั่นแล และการบรรลุสุภวิโมกข์

๘. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจโอทาตกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจโอทาตกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งของต่าง ๆ ให้เป็นสีขาวได้ บันดาลให้สร่างหายจากความง่วงเหงาหาวนอนได้ บันดาลความมืดมนอันธการให้หายไปได้ บันดาลให้เกิดแสงสว่างเพื่อเห็นรูปด้วยจักษุทิพย์ได้

๙. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจอาโลกกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจอาโลกกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งของต่าง ๆ ให้บันดาลความมีแสงสว่างได้ บันดาลให้สร่างหายจากความง่วงเหงาหาวนอนได้ บันดาลความมืดมนอันธการให้หายไปได้ บันดาลให้เกิดแสงสว่างเพื่อเห็นรูปด้วยจักษุอันเป็นทิพย์ได้

๑๐. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจอากาสกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจอากาสกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ บันดาลสิ่งที่ปกปิดกำบังไว้ให้ปรากฏเห็นได้เนรมิตช่องว่างขึ้นในแผ่นดินและภูเขาเป็นต้น แล้วไปสำเร็จอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอนได้ ทะลุออกไปภายนอกฝาหรือกำแพงได้ ไม่มีอะไรกีดกั้นได้


🙏ความต่างกันของกสิณ ๑๐

กสิณหมดทั้ง ประการนั้น ย่อมได้ความต่างกันด้วยสามารถแห่งการขยายดังนี้คือ ขยายขึ้นข้างบน ขยายลงข้างล่าง ขยายไปรอบ ๆ ตัว ไม่ขยายคราวละ ๒ กสิณปะปนกัน ขยายอย่างไม่มีกำหนดประมาณ ข้อนี้สมด้วยพระบาลีที่ทรงแสดงไว้มีอาทิว่า ฌานลาภีบุคคลบางคน ย่อมขยายปฐวีกสิณขึ้นไปข้างบน บางคนขยายลงข้างล่าง บางคนขยายไปรอบ ๆ ตัว บางคนขยายอย่างไม่ปะปนกันคราวละ ๒ กสิณ บางคนขยายอย่างไม่มีกำหนดประมาณ

อรรถาธิบายพระบาลี
บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ขยายขึ้นข้างบน คือขยายให้บ่ายหน้าขึ้นสู่ท้องฟ้าข้างบน คำว่า ขยายลงข้างล่าง คือขยายให้บ่ายหน้าลงสู่พื้นดินข้างล่าง คำว่า ขยายไปรอบ ๆ ตัว คือขยายไปอย่างกำหนดเอาโดยรอบด้าน เหมือนอย่างขอบเขตที่เป็นวงกลม จริงอยู่ ฌานลาภีบุคคลบางคน ย่อมขยายกสิณขึ้นไปข้างบนอย่างเดียว บางคนขยายลงข้างล่าง บางคนขยายไปโดยรอบ อีกอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุนั้น ๆ ฌานลาบุคคลจึงขยายอย่างนี้ ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ขยายขึ้นข้างบน ลงข้างล่าง ไปโดยรอบ ดังนี้ แหละคำว่า ไม่ปะปนกันคราวละ ๒ กสิณ นี้ ตรัสไว้เพื่อทรงแสดงว่ากสิณอันหนึ่ง ๆ ไม่เข้าไปปะปนกับกสิณอีกอันหนึ่ง เหมือนกับน้ำย่อมปรากฏเป็นน้ำนั่นเอง อยู่ในทั่วทุกทิศแก่บุคคลผู้เข้าไปดู ไม่เป็นอย่างอื่นไปได้ ฉันใด ปฐวีกสิณย่อมปรากฏ เป็นปฐวีกสิณอยู่นั่นเอง ความปะปนกับกสิณอย่างอื่นมีอาโปกสิณเป็นต้นย่อมไม่มีแก่ ปฐวีกสิณนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน ในกสิณอื่น ๆ ทุกกสิณก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้ คําว่า ไม่มีกําหนดประมาณ นี้ ตรัสไว้ด้วยอำนาจที่ไม่มีประมาณแห่งการขยายซึ่งปฐวีกสิณนั้น จริงอยู่ ฌานลาภีบุคคลเมื่อจะขยายปฐวีกสิณนั้นไปด้วยใจ ย่อมขยายไปอย่างสิ้นเชิงทีเดียว หาได้ถือเอากําหนดประมาณว่า นี้เป็นเบื้องต้น นี้เป็นท่ามกลางของปฐวีกสิณนั้น ดังนี้ไม่ ด้วยประการฉะนี้

ผู้บำเพ็ญภาวนาไม่สำเร็จโดยธรรมนิยาม
ก็แหละ สัตว์เหล่าใดซึ่งเป็นผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรมก็ดี เป็นผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกิเลสก็ดี ทั้งเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะในการปฏิบัติธรรม เป็นผู้มีปัญญาทึบ ที่พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็น อภัพพสัตว์ไม่สมควรที่จะหยั่งลงสู่ธรรมนิยามและภาวะที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย การภาวนาย่อมไม่สำเร็จผลแก่สัตว์เหล่านั้นสักคนเดียว แม้ในกสิณภาวนาข้อเดียว

อรรถาธิบายพระบาลี
บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า สัตว์ผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรม นั้น หมายเอาสัตว์ผู้ทำ🔎อนันตริยกรรม ๔ ประการข้อใดข้อหนึ่ง คำว่า สัตว์ผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกิเลส นั้น หมายเอาสัตว์จําพวกที่เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ (คืออเหตุกทิฏฐิ อกิริยทิฏฐิ และนัตถิกทิฏฐิ) ๑ จําพวกที่เป็นอุภโตพยัญชนกะ (คน ๒ เพศ) ๑ และจําพวกที่เป็นบัณเฑาะก์ (กะเทย) ๑ คำว่า สัตว์ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือวิบาก นั้น หมายเอาสัตว์จำพวกที่เป็นอเหตุกปฏิสนธิและที่เป็นทวิเหตุกปฏิสนธิ ( อเหตุกปฏิสนธิ แยกเป็น ๒ คือ อุเบกขาสันตีรณจิตฝ่ายอกุศล ๑ อุเบกขาสันตีรณจิตฝ่ายกุศล ๑ ฝ่ายอกุศลนั้นให้ปฏิสนธิในอบายภูมิเป็นทุคติบุคคล ฝ่ายกุศลให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ แต่เป็นคนบ้าใบ้บอดหนวกมาแต่กำเนิดเรียกว่าสุคติบุคคล ส่วนทวิเหตุกปฏิสนธินั้นได้แก่มหาวิบากจิตญาณวิปปยุต ๔ ดวง ให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ เป็นเหตุกบุคคลซึ่งมีปัญญาทึบ) คำว่า เป็นผู้ไม่มีศรัทธา หมายความว่า เป็นผู้เว้นแล้วจากความเชื่อในพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น คําว่า เป็นผู้ไม่มีฉันทะในการปฏิบัติธรรม หมายความว่า เป็นผู้เว้นแล้วจากกัตตุก้มยตาฉันทะในข้อปฏิบัติอันไม่เป็นข้าศึกคือในข้อปฏิบัติอันสมควรแก่มรรคได้แก่ในวิปัสสนาอันสมควรแก่อริยสัจ คำว่า เป็นผู้มีปัญญาทึบ หมายความว่าเป็นผู้เว้นแล้วจากโลกิยสัมมาทิฏฐิและโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ คำว่า เป็นอภัพพสัตว์ ไม่ควรเพื่อจะหยั่งลงสู่ธรรมนิยาม และภาวะที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย หมายความว่า เป็นผู้ไม่สมควรเพื่อที่จะหยั่งลงสู่อริยมรรคกล่าวคือธรรมนิยามและภาวะที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย ความจริงการที่ภาวนาไม่สําเร็จผลแก่สัตว์ผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรมเป็นต้นแม้แต่สักคนเดียวนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะในกสิณกัมมัฏฐานนี้อย่างเดียว แม้ในกัมมัฏฐานทั้งหลายอย่างอื่น ໆ ด้วย


🙏คําตักเตือนกุลบุตร
เพราะฉะนั้น กุลบุตรพุทธศาสนิกผู้ปราศจากเครื่องกั้นคือวิบากแล้ว พึงหลีกเว้นเครื่องกั้นคือกรรมและเครื่องกั้นคือกิเลสให้ห่างไกล แล้วจึงเพิ่มพูนศรัทธาฉันทะและปัญญาด้วยการตั้งใจฟังธรรมโดยเคารพ และด้วยการคบหาสมาคมกับสัตบุรุษคือผู้ประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจเป็นต้น แล้วจึงลงมือบำเพ็ญเพียรในอันประกอบพระกัมมัฏฐานนั้นเถิด ฉะนี้แล  (คำว่า ปราศจากเครื่องกั้นคือวิบากแล้ว ได้แก่กุลบุตรผู้พ้นจากอเหตุกปฏิสนธิ และทวิเหตุกปฏิสนธิแล้วคือเกิดมาด้วยเหตุกปฏิสนธิมีปัญญาเปรื่องปราดสามารถที่จะบรรลุฌานหรือมรรคผลได้อยู่เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วอย่าได้ทำอนันตริกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง และอย่าเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ จงทำการคบค้าสมาคมกับบัณฑิตและเชื่อฟังคำสั่งสอนของท่าน แล้วลงมือบำเพ็ญพระกัมมัฏฐานด้วยอุตสาหะวิริยภาพต่อไป)

จบ ปริจเฉทที่ ๕ ชื่อว่า เสสกสิณนิเทศ ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค อันข้าพเจ้ารจนาขึ้นไว้ เพื่อความปราโมชแห่งสาธุชน ดังนี้


วันศุกร์

๑๐. ปริจฉินนากาสกสิณภาวนา

แม้ในปริจฉินนากาสกสิญภาวนานี้ เพราะมีคำพระบาลีในโบราณอรรถกถาว่า เมื่อโยคีบุคคลจะถือเอาซึ่งอากาสกสิณโดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอาซึ่งนิมิตในที่ว่าง ๆ คือที่รูฝาบ้าง ที่รูลูกดานบ้าง ที่ช่องหน้าต่างบ้าง ดังนี้ ฉะนั้นสำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอมรมมาแล้วแต่ในชาติปางก่อน เพียงแต่ที่ได้เห็นรูฝาเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นในทันที


วิธีภาวนาอากาสกสิณ
สำหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการเช่นนั้น ต้องเจาะที่หลังคาปะซึ่งมุงอย่างสนิท หรือเจาะช่องที่ผืนหนังและที่เสื่อลำแพนเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เป็นช่องกว้างประมาณ ๑ คืบ ๔ นิ้ว แล้วจึงลงมือภาวนาซึ่งช่องนั้นนั่นแหละ หรือช่องชนิดอื่นอันต่างด้วยช่องฝาเป็นต้น ด้วยบทภาวนาว่า อากาโส-อากาโส หรือว่า ที่ว่าง ที่ว่าง ดังนี้เรื่อย ๆ ไป ในอากาสกสิณภาวนานี้ อุคคหนิมิตย่อมปรากฏ เป็นเหมือนช่องที่กำหนดด้วยที่สุดรอบของฝา และอุคคหนิมิตแม้จะขยายก็ขยายไม่ได้เพราะภาวนายังมีกำลังน้อยอยู่ ส่วนปฏิภาคนิมิตย่อมปรากฏเป็นสภาพคล้ายดวงกลมของช่องว่างนั้น และเมื่อขยายก็ขยายได้ คำที่เหลือนักศึกษาพึงทราบโดยนัยที่ได้พรรณนาไว้ใน🔎ปฐวีกสิณนั้นทุกประการ


จบปริจฉินนากาสกสิณ




วันพุธ

๙. อาโลกกสิณภาวนา

ก็แหละ ในอาโลกกสิณภาวนานี้ เพราะมีคำพระบาลีในโบราณอรรถกถาว่า เมื่อโยคีบุคคลจะถือเอาอาโลกกสิณโดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในแสงสว่าง คือ ที่ฝาบ้าง ที่รูลูกดานบ้าง ที่ช่องหน้าต่างบ้าง ฉะนี้ ดังนั้นสำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแต่ในชาติปางก่อนนั้น เพียงแต่ได้เห็นดวงกลม ໆ ที่แสงพระอาทิตย์หรือแสงพระจันทร์ส่องฉายเข้าไปตามรูฝาเป็นต้นแล้วปรากฏติดอยู่กับฝาหรือที่พื้นนั้น ๆ หรือดวงกลม ๆ ที่แสงพระอาทิตย์หรือแสงพระจันทร์ส่องทะลุออกมาตามหว่างกิ่งไม้ที่มีใบหนาทึบหรือตามหว่างปะรำที่มุงด้วยกิ่งไม้อย่างหนาทึบ แล้วมาปรากฏติดอยู่กับพื้นนั้นนั่นแหละ อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นได้ในทันที

วิธีภาวนาอาโลกกสิณ
ฝ่ายโยบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการเช่นนั้น ต้องลงมือภาวนาซึ่งดวงกลมของแสงสว่างซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วนั้น ด้วยคำภาวนาว่า โอภาโส-โอภาโส หรือว่า แสงสว่าง - แสงสว่าง ดังนี้ก็ได้ หรือว่า อาโลโก-อาโลโก ความสว่าง - ความสว่าง ดังนี้ก็ได้ ภาวนาเรื่อย ๆ ไป จนกว่าอุคคหนิมิตจะเกิดขึ้น แต่เมื่อโยคีบุคคลไม่สามารถจะทำให้อุคคหนิมิตเกิดขึ้นด้วยวิธีภาวนาซึ่งดวงกลมแห่งแสงสว่างเช่นนั้น พึงจุดตะเกียงใส่ไว้ในหม้อแล้วปิดปากหม้อเสีย เจาะรูที่ข้างหม้อแล้วเอาไปตั้งหันหน้ารูนั้นเข้าใส่ฝา แสงสว่างของตะเกียงก็จะส่องออกจากรูหม้อนั้นไปติดเป็นรูปวงกลมอยู่ที่ฝา โยคีบุคคลพึงภาวนาซึ่งดวงกลมนั้นนั่นแลว่า อาโลโก อาโลโก หรือว่า ความสว่างความสว่าง ดังนี้เรื่อย ๆ ไป ดวงกลมของแสงตะเกียงนี้ย่อมตั้งอยู่ได้นาน มากกว่าดวงกลมของแสงพระอาทิตย์หรือแสงพระจันทร์นั้น ในอาโลกกสิณภาวนานี้ อุคคหนิมิตย่อมปรากฏเป็นสภาพเหมือนกับดวงกลมซึ่งติดอยู่ที่ฝาหรือที่พื้นนั่นแล ส่วนปฏิภาคนิมิตย่อมปรากฏเป็นสภาพที่ใหญ่โตและสดใสมาก คล้าย ๆ กับก้อนแห่งแสงสว่าง คำที่เหลือเป็นเช่นเดียวกับที่ได้พรรณนามาแล้วใน🔎นีลกสิณแล

คำแนะนำเพิ่มเติม
คำภีร์วิสุทธิมรรคนี้พระพุทธโฆสเถระ ท่านรจนาขึ้นก่อนที่โลกนี้จะมีไฟฟ้าใช้ราว ๑,๐๐๐ ปี ดังนั้นในยุคปัจปัจจุบันนี้ ท่านโยคาวจรทั้งหลายจะพึงใช้แสงจากไฟฉาย หรือใช้กระป๋องน้ำเจาะรูนำมาครอบหลอดไฟ, โคมไฟ เพื่อใช้แสงกำหนดกรรมฐานแทนก็ได้ 

จบอาโลกกสิณ



๘. โอทาตกสิณภาวนา

แม้ในโอทาตกสิณภาวนานี้ เพราะคำพระบาลีในโบราณอรรถกถาว่าเมื่อโยคีบุคคลจะถือเอาโอทาตกสิณโดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในวัตถุ ที่มีสีขาว คือ ในดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุที่เป็นสีโดยธรรมชาติบ้าง ดังนี้ สําหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแต่ชาติปางก่อนนั้น เพียงแต่ได้เห็นพุ่มไม้ดอกซึ่งกำลังมีดอกบานสะพรั่งอยู่เห็นปานนั้น หรือเห็นเครื่องตกแต่งด้วยดอกไม้ เช่น ดอกมะลิ เป็นต้น หรือเห็นกองแห่งดอกบัวขาว หรือเห็นผ้าขาว และสีขาวธรรมชาติ อย่างใดอย่างหนึ่ง อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้น แม้ในแผ่นกลมแห่งดีบุก แผ่นกลมแห่งเงินและในดวงจันทร์อุคคหนิมิตก็เกิดขึ้นได้เหมือนกันนั่นเทียว

วิธีภาวนาโอทาตกสิณ
สําหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการนั้น ต้องสร้างกสิณขึ้นเอง คือ เอาดอกไม้สีขาวซึ่งมีประการดังกล่าวมาแล้ว เอาผ้าขาว หรือเอาสีขาวธรรมชาติ มาทำให้เป็นดวงกสิณตามนัยดังที่ได้พรรณนามาแล้วในนีลกสิญภาวนานั่นแล ครั้นทำกสิณเสร็จแล้วจึงลงมือภาวนา คือ ยังมนสิการให้เป็นไปว่า โอทาตํ - โอทาตํ หรือว่า สีขาว -สีขาว ดังนี้เรื่อย ๆ ไปร้อยครั้ง หรือพันครั้ง หรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ จนกว่าอุคคหนิมิตจะเกิดขึ้นนั่นเทียว คำที่เหลือเช่นเดียวกับที่ได้พรรณนามาแล้วในนี้ลูกสิณทุกประการ

คำแนะนำเพิ่มเติม
ในบรรดากสิณสีทั้ง ๔ กองนี้ มี 🔎นีลกสิณ (กสิณสีเขียว) 🔎ปีตกสิณ (กสิณสีเหลือง) 🔎โลหิตกสิณ (กสิณสีแดง) โอทาตกสิณ (กสิณสีขาว) พระพุทธองค์ทรงยกย่องโอทาตกสิณ กสิณสีขาวนี้ว่าเลิศกว่ากสิณสีอื่นๆ เพราะทำให้จิตใจของผู้ที่เจริญกสิณนั้นผ่องใส ไม่เซื่องซึมง่วงเหงา ทั้งยังทำให้ผู้เจริญกสิณนี้ทราบเหตุการณ์ต่างๆคล้ายผู้ทรงอภิญญาทั้งที่ยังไม่ได้อุคคหนิมิต

จบโอทาตกสิณ

วันศุกร์

๗. โลหิตกสิณภาวนา

แม้ในโลหิตกสิณภาวนาก็มีนัยเช่นเดียวกันนั่นแล เพราะเหตุที่ท่านโบราณอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า เมื่อโยคีบุคคลจะถือเอาโลหิตกสิณโดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในวัตถุที่มีสีแดง คือ ในดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุที่เป็นสีโดยธรรมชาติบ้าง ดังนี้ ฉะนั้น แม้ในโลหิตกสิณภาวนานี้ สำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแต่ในชาติปางก่อนนั้น เพียงแต่ได้เห็นกอไม้ดอกซึ่งกำลังออกดอกบานสะพรั่ง เช่น ดอกชบาเป็นต้นเห็นปานนั้น หรือเห็นเครื่องตกแต่งดอกไม้ในที่บูชาหรือเห็นสีธรรมชาติ คือ ผ้าและแก้วสีแดง อย่างใดอย่างหนึ่ง อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้น

วิธีภาวนาโลหิตกสิณ
สําหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการนั้นต้องสร้างกสิณขึ้นเอง คือ เอาดอกไม้เช่นดอกชัยพฤกษ์ ดอกชบา และดอกไม้ที่มีสีแดง หรือเอาผ้าแดง หรือเอาสีธรรมชาติ เช่น ดินสอแดงหรือสีแดงชาดมาทำเป็นดวงกสิณ โดยนัยดังที่ได้แสดงไว้ใน🔎นีลกสิณภาวนานั่นแล ครั้นทำกสิณเสร็จแล้ว แต่นั้นจึงลงมือภาวนา คือ ยังมนสิการให้เป็นไปว่า โลหิตกํ โลหิตกํ หรือว่า สีแดง สีแดง ดังนี้เรื่อย ๆ ไป จนกว่าอุคคหนิมิตจะเกิดขึ้น คำที่เหลือเป็นเช่นเดียวกับที่ได้พรรณนามาแล้วใน🔎ปฐวีกสิณทุกประการนั่นแล

จบโลหิตกสิณ

๖. ปีตกสิณภาวนา

แม้ในปีตกสิณภาวนาก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้ เพราะเหตุที่ท่านโบราณอรรถกถาจารย์แสดงไว้ว่า โยคีบุคคลเมื่อจะถือเอาปิตกสิณ โดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้นย่อมถือเอานิมิตในวัตถุมีสีเหลือง คือในดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุที่เป็นสีธรรมชาติบ้าง ฉะนั้น แม้ในปีตกสิณภาวนานี้ สำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการ อันได้สร้างสมอบรมมาแต่ชาติปางก่อนนั้น เพียงแต่ได้เห็นกอไม้ดอกซึ่งมีดอกบานสะพรั่งเห็นปานนั้น หรือเห็นที่ตกแต่งดอกไม้ในที่บูชา หรือเห็นผ้าหรือธาตุสีเหลือง อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้น เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นแก่ท่านจิตตคุตตเถระ ได้ยินว่า เมื่อท่านจิตตคุตตเถระนั้นเห็นอาสนะบูชาที่ทำด้วยดอกจันทน์เหลืองในวัดจิตดลบรรพตวิหาร อุคคนิมิตประมาณเท่ากับอาสนะบูชาได้เกิดขึ้นแล้วแก่ท่านพร้อมกับการที่ได้เห็นนั่นเที่ยว

วิธีทำปีตกสิณ
สําหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการนั้น จึงสร้างดวงกสิณขึ้นด้วยดอกกรรณิการ์หรือด้วยผ้าสีเหลืองหรือด้วยธาตุสีธรรมชาติ โดยนัยดังที่ได้แสดงมาแล้วใน🔎นีลกสิณภาวนา นั่นแล แต่นั้นจึงลงมือภาวนา คือ ยังมนสิการให้เป็นไปว่า ปีตกํ ปีตกํ หรือว่า สีเหลือง สีเหลือง ฉะนี้ คำที่เหลือเป็นเช่นเดียวกับที่ได้พรรณนามาแล้วใน🔎ปฐวีกสิณทุกประการนั่นแล

จบปีตกสิณ