วันเสาร์

๔. เจตสิกกลุ่มที่ ๓

เจตสิกกลุ่มที่ ๓ เรียกว่า โสภณเจตสิก เจตสิกฝุายดี แบ่งเป็น ๔ กลุ่ม คือ
ก. โสภณสาธารณเจตสิก มี ๑๙ ดวง
ข. วิรตีเจตสิก มี ๓ ดวง
ค. อัปปมัญญาเจตสิก มี ๒ ดวง
ง. ปัญญินทรียเจตสิก มี ๑ ดวง

โสภณเจตสิก มี ๒๕ ดวง เป็นเจตสิกฝ๋ายดีงามจะเข้าประกอบจิตปรุงแต่งจิตเฉพาะจิตที่เป็นกุศลเท่านั้นหรือเกิดขึ้นในขณะที่จิตใจของคนที่ทำดี พูดดี คิดดี มีการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาเป็นต้น มีรายละเอียดดังนี้

ก. โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวงโสภณสาธารณเจตสิกทั้ง ๑๙ ดวงนี้ จะเข้าประกอบกับจิตที่เป็นกุศลเช่น ให้ทาน รักษาศีล เจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน โสภณสาธารณเจตสิกจะเกิดประกอบกับโสภณจิต โสภณจิตได้แก่ มหากุศลจิต๘ มหาวิปากจิต๘ มหากิริยาจิต๘ รูปาวจรจิต๑๕ อรูปาวจรจิต ๑๒ และโลกุตตรจิต๘ หรือ ๔๐ ดวง

โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
๑. ศรัทธา เป็นธรรมชาติที่มีความเชื่อ มีความเลื่อมใส เมื่อศรัทธา เกิดขึ้นแล้วย่อมเสมือนเป็นหัวหน้านำไปสามารถให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาได้ ทำให้จิตใจผ่องใสไม่ขุ่นมัว ศรัทธาเป็นธรรมชาติที่เป็นฝ่ายกุศลธรรมฝ่ายเดียวเท่านั้น
๒. สติ เป็นธรรมชาติที่มีความระลึกได้ สติจะระลึกและใคร่ครวญธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์เกื้อกูล (กุศลธรรม) สิ่งใดเป็นธรรมที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล (อกุศลธรรม) แล้วสามารถเลือกสิ่งที่เป็นกุศลธรรม ละทิ้งอกุศลธรรมได้ สติที่เป็นสัมมาสติเป็นส่วนหนึ่งแห่งองค์มรรคด้วย ดังนั้นสัมมาสติคือความระลึกชอบจะสามารถนำให้ออกไปจากทุกข์ได้ สติเปรียบเหมือนเสาเขื่อนเพราะตั้งมั่นในอารมณ์ และเหมือนนายประตูเพราะคอยรักษาจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ เป็นต้นไว้ได้ กล่าวคือเมื่อสติเกิดขึ้นได้ขณะดู ฟัง เป็นต้น ก็จะไม่ทำให้อกุศลธรรมทั้งปวงเกิดขึ้นเพราะมีการเห็น การได้ยินนั้นเองเป็นเหตุเพราะมีสตินั้นเองเป็นผู้รักษาเหมือนนายประตูที่คอยตรวจตราผู้ที่จะผ่านไปมา
๓. หิริ เป็นธรรมชาติที่มีความละอายต่อการประพฤติทุจริต อันเป็นสิ่งที่น่าละอาย ละอายต่อการประกอบอกุศลกรรมทั้งปวง ละอายต่อการทำความชั่วทั้งทางกาย วาจา ใจ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
๔. โอตตัปปะ เป็นธรรมชาติที่มีความเกรงกลัวต่อการประพฤติทุจริต อันเป็นสิ่งที่น่าเกรงกลัว สะดุ้งกลัว หวั่นเกรงต่อบาป เมื่อคิดจะกระทำความชั่วไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือมาก เมื่อเกิดความเกรงกลัวต่อผลของบาปนั้น ก็จะหยุดการทำชั่ว หิริ และ โอตตัปปะ มีสภาพที่คล้ายกัน จะเปรียบเทียบธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ ดังนี้

๕. อโลภะ เป็นธรรมชาติที่ไม่โลภ ไม่ติดใจในกามคุณอารมณ์ ไม่กำหนัดยินดีในอารมณ์ ไม่หวงแหนในทรัพย์และคุณความดี สภาพของอโลภะที่มีความไม่ติดอยู่ในอารมณ์นั้น เปรียบเหมือนหยาดน้ำที่ไม่ติดอยู่บนใบบัว
๖. อโทสะ เป็นธรรมชาติที่ไม่มีความดุร้าย ไม่แค้นเคือง ไม่อาฆาต มีความอดทนต่อเหตุที่ทำให้เจ็บใจ มีความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข
๗. ตัตตรมัชฌัตตตา (อ่านว่า ตัด-ตระ-ระ-มัด-ชัด-ตะ-ตา) เป็นธรรมชาติที่เป็นกลางที่ทำให้จิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกันในขณะนั้น ทำกิจของตนๆโดยสม่ำเสมอ เหมือนสารถีผู้วางเฉยต่อม้าอาชาไนยที่วิ่งเรียบไปฉะนั้น
๘.-๙. กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ (อ่านว่า กา-ยะ-ปัด-สัด-ธิ, จดิ-ตะ-ปัด-สัด-ธิ) กายปัสสัทธิ เป็นธรรมชาติที่ทำความสงบให้เจตสิกขันธ์ ๓ (เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์) เช่น ขณะที่ใส่บาตรความทุกข์ใจที่เคยมีมาก่อนก็ สงบไป การปรุงแต่งจิตใจในขณะนั้นก็ไปเป็นในการงานกุศล สงบจากความเร่าร้อน จิตตปัสสัทธิ เป็นธรรมชาติที่ทำความสงบให้จิต (วิญญาณขันธ์) ในการงานอันเป็นกุศล เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้มีลักษณะ คือเมื่อเกิดขึ้นประกอบกับจิตแล้วทำให้จิตและเจตสิกสงบจากความเร่าร้อน คือมีหน้าที่กำจัดความเร่าร้อนออกไป เสีย
๑๐.-๑๑. กายลหุตา จิตตลหุตา กายลหุตา เป็นธรรมชาติที่ทำความ เบาให้เจตสิกขันธ์ ๓ ในการงานอันเป็นกุศล จิตตลหุตา เป็นธรรมชาติที่ทำความเบาให้จิตในการงานอันเป็นกุศล เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ มีลักษณะ คือ การทำให้จิตและเจตสิกนี้บรรเทาจากความหนัก เมื่อเจตสิกนี้เกิดขึ้นมีหน้าที่กำจัดความหนักของจิตและเจตสิก ฉะนั้น กายลหุตาและจิตตลหุตาเจตสิกนี้ จึงหมายถึงอาการแห่งภาวะที่เบา ความเบานี้มีความหมายว่า ธรรมเหล่านี้เปลี่ยนไปได้เร็ว คือ สามารถเปลี่ยน โดยฉับพลันจากภาวะที่จิตยังหนักอยู่ด้วยเพราะมีกิเลส ไปเป็นสภาพจิตที่เป็น กุศลได้ทันที เช่น ในขณะที่จิตมีถีนมิทธะ (หดหู่ท้อถอย) เข้าครอบงำ เมื่อกายลหุตาจิตตลหุตาเข้าประกอบกับจิตที่เป็นมหากุศลแล้ว ก็สามารถขับไล่ความหดหู่ความง่วงนอนนั้นให้หมดไปได้ในขณะนั้น
๑๒.-๑๓. กายมุทุตา จิตตมุทุตา กายมุทุตา เป็นธรรมชาติที่ทำความ อ่อนให้เจตสิกขันธ์ ๓ ในการงานอันเป็นกุศล จิตตมุทุตา คือ ธรรมชาติที่ทำความอ่อนให้จิตในการงานอันเป็นกุศล ทำให้จิตอ่อนโยนรับอารมณ์อันเป็นกุศลได้ง่าย เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ มีลักษณะคือ ทำให้จิตและเจตสิกสงบจากความกระด้าง มีหน้าที่ยับยั้งทำให้ความกระด้างของจิตและเจตสิกไม่ให้ เกิดขึ้น
๑๔.-๑๕. กายกัมมัญญตา จิตตกัมมัญญตา (อ่านว่า กา-ยะ-กัม-มัน-ยะ ตา) กายกัมมัญญตา เป็นธรรมชาติที่ทำความเหมาะควรแก่การงานทำให้ เจตสิกขันธ์ ๓ ในการงานอันเป็นกุศล จิตตกัมมัญญตา เป็นธรรมชาติที่ทำความเหมาะควรแก่การงานอันเป็นกุศลให้จิต เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ มีลักษณะ คือ มีการทำให้จิตและเจตสิกเข้าสู่สภาวะที่สงบจากความที่ไม่ควรแก่การงาน มีหน้าที่คือกำจัดความไม่ควรแก่การงานของจิตและเจตสิก
๑๖.-๑๗. กายปาคุญญตา จิตตปาคุญญตา (อ่านว่า กา-ยะ-ปา-คุน-ยะ-ตา) กายปาคุญญตา เป็นธรรมชาติที่ทำให้เจตสิกขันธ์ ๓ คล่องแคล่วต่อการงานอันเป็นกุศล จิตตปาคุณญตา เป็นธรรมชาติที่ทำให้จิตคล่องแคล่วในการงานอันเป็นกุศล เจตสิก ทั้ง ๒ ดวงนี้ มีสภาพทำให้จิตเข้าถึงสภาวะที่คล่องแคล่ว มีหน้าที่คือ กำจัดความไม่คล่องแคล่วต่อการงานอันเป็นกุศล ๑๘.-๑๙. กายุชุกตา จิตตุชุกตา (อ่านว่า กา-ยุ-ชุ-กะ-ตา) กายุชุกตา เป็นธรรมชาติที่ทำให้เจตสิกขันธ์ ๓ มีความชื่อตรงในการงานอันเป็นกุศล จิตตุชุกตา เป็นธรรมชาติที่ทำให้จิต มีความซื่อตรงในการงานอันเป็นกุศล เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ มีลักษณะคือ มีความซื่อตรงของจิตและเจตสิก มีหน้าที่กำจัดความไม่ซื่อตรงของจิตและเจตสิก

สรุป โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวงนี้เป็นเจตสิกที่ประกอบกับจิต กลุ่มที่เป็นโสภณจิต คือประกอบกับจิตที่ดีงาม ซึ่งเป็นจิตฝ่ายดีที่ควรอบรมสั่งสมให้เกิดมีขึ้นในตนเองหรือในจิตใจอย่างสม่ำเสมอ

ข. วิรตีเจตสิก วิรตีเจตสิก คือธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตให้งดเว้นจากการทำบาปอกุศลทั้งหลาย
การงดเว้นมี ๓ ลักษณะ คือ
๑. เว้นจากการทำบาป โดยอัธยาศัยเพราะมีจิตเมตตาต่อสัตว์ทั้งหลาย
๒. เว้นจากการทำบาป ตามกำหนดเวลาเช่น การสมาทานศีล ๕ หรือ ศีล ๘ ในวันพระจึงงดเว้น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น
๓. เว้นจากการทำบาปโดยเด็ดขาด ได้แก่ จิตของพระอริยบุคคล

วิรตีเจตสิกมี ๓ ดวง คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมัตตะ สัมมาอาชีวะ มีรายละเอียดดังนี้
๑. สัมมาวาจา คือธรรมชาติที่ทำให้เกิดการงดเว้น การเลิกละ จาก การทำอกุศลทางวาจา คืองดเว้นจากการพูดเท็จ ส่อเสียด คำหยาบ เพ้อเจ้อ เป็นการงดเว้นจากวจีทุจริตทั้ง ๔ ที่ไม่เกี่ยวกับการงานที่เป็นอาชีพ เช่น ในชีวิตประจำวันทั่วไปก็ไม่พูดโกหก หรือส่อเสียดใครๆ ไม่พูดคำหยาบ ไม่กล่าวคำเพ้อเจ้อ
๒. สัมมากัมมันตะ คือธรรมชาติที่ทำให้เกิดการงดเว้น การเลิกละ จากการทำอกุศลทางกาย คืองดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นการงดเว้นจากกายทุจริตทั้ง ๓ ที่ไม่เกี่ยวกับการงานที่เป็นอาชีพ เช่น ไม่พักผ่อนหย่อนใจด้วยการตกปลา เพราะเป็นการเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น
๓. สัมมาอาชีวะ คือธรรมชาติที่ทำให้เกิดการงดเว้นจากกายทุจริต ๓ และวจีทุจริต ๔ ที่เกี่ยวกับการงานที่เป็นอาชีพ เป็นการงดเว้นการทำบาปทางกาย ทางวาจา ในการประกอบอาชีพ เช่น ไม่ประกอบ อาชีพฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ค้ากาม ทำการงานอาชีพอย่างสุจริตไม่โกหก หลอกลวง เป็นต้น สรุป วิรตีเจตสิกจะเข้าปรุงแต่งจิตที่เป็นกามาวจรกุศล ในกุศลทั่วไป นั้นวิรตีเจตสิกทั้ง ๓ จะเข้าประกอบกับจิตได้ครั้งละดวงเท่านั้น ไม่สามารถเข้าประกอบกับจิตได้พร้อมกันทีเดียว ๓ ดวง กล่าวคือขณะที่งดเว้นการพูดปดที่ไม่เกี่ยวกับการงานที่เป็นอาชีพ ในขณะนั้นจะมีสัมมาวาจาเจตสิกเข้า ประกอบกับกามาวจรกุศลจิต แต่จะไม่มีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เข้าประกอบเป็นต้น วิรตีเจตสิกที่ประกอบในจิตของปุถุชน จะเกิดได้ทีละดวงเท่านั้นและไม่แน่นอน แต่ถ้าประกอบกับจิตของพระอริยบุคคล จะเกิดประกอบกับจิต พร้อมกันทั้ง ๓ ดวงและแน่นอนด้วย เพราะวิรตี ๓ เป็นองค์มรรคด้วย
ค. อัปปมัญญาเจตสิก มี ๒ คือ กรุณาเจตสิก มุทิตาเจตสิก
๑. กรุณา คือธรรมชาติที่เป็นความสงสาร เป็นธรรมชาติที่ทำให้เกิดความสงสารในสัตว์โลกทั้งหลาย หวั่นไหว นิ่งอยู่ไม่ได้เมื่อเห็นบุคคลอื่นได้รับความทุกข์จากภัยต่างๆ หรือได้รับทุกข์จากการสูญเสียทรัพย์สมบัติ ทนไม่ได้กับความทุกข์ที่ผู้อื่นกำลังได้รับ หรือจะได้รับความทุกข์ในกาล ข้างหน้า มีความต้องการให้เขาพ้นไปจากความทุกข์
๒. มุทิตา คือธรรมชาติที่เป็นความยินดีเมื่อเห็นบุคคลอื่นกำลังได้รับความสุข ปรารถนาให้เขาเหล่านั้นมีความสุขยิ่งขึ้น อย่าได้พลัดพรากจากความสุขนั้นในชีวิตประจำวันถ้าเห็นคนยากจนหรือคนขอทานกำลังได้รับความทุกข์หรือได้รับความอดอยาก ถ้าใจเกิดความกรุณา ก็อาจจะสละทรัพย์ หรือ สิ่งของเพื่อทำให้เขาบรรเทาจากทุกข์นั้น ขณะนั้นกุศลจิตมี กรุณาเจตสิก เกิดประกอบ หรือในชีวิตประจำวันถ้าได้พบบุคคลที่ประสบกับความสุขความสมหวัง ถ้าใจเกิดมุทิตาก็จะพลอยยินดีในความสุขสมหวังนั้น ปรารถนาให้เขาได้รับความสุขยิ่งขึ้น อย่าได้พลัดพรากจากความสุขนั้น ขณะนั้นกุศลจิต มีมุทิตาเจตสิกเกิดประกอบ บุคคลทั้งหลายถ้าทำให้กรุณาและมุทิตาเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้เจริญพรหมวิหารธรรม จิตใจจะมีความอ่อนโยนเป็นสมาธิ ผู้เจริญอยู่ในพรหมวิหารธรรม จะทำให้มีความสุขปราศจากทุกข์และศัตรู มีความสุขทั้ง หลับและตื่น มีเทวดารักษา เป็นที่รักของมนุษย์และอมนุษย์ ไฟ ยาพิษ และอาวุธไม่กล้ำกรายมาถึง ทำให้สีหน้าผ่องใสเมื่อใกล้ตายก็มีจิตผ่องใส เข้าถึงสุคติภพ

ง. ปัญญาเจตสิก มี ๑ ดวง คือ ปัญญาเจตสิก
๑. ปัญญาเจตสิก คือธรรมชาติที่รู้ชัด รู้แจ่มแจ้ง ใคร่ครวญ ปัญญานี้จัดเป็นอินทรีย์ด้วย จัดเป็นพละด้วย มีบทเปรียบเทียบปัญญาไว้หลายประการ คือ ปัญญาเหมือนอาวุธ เหมือนแสงสว่าง เหมือนแผ่นดิน เหมือนดวงแก้ว เป็นต้น

จำแนกปัญญาปัญญา ๒ มี ๒ประเภท
๑. โลกียปัญญา ปัญญาที่ยังข้องอยู่ในโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก รูปโลก และอรูปโลก
๒. โลกุตตรปัญญา ปัญญาที่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ ๔

ปัญญา ๓ มี ๒ภาค ก,ข
ปัญญา ๓ (ก)
๑. สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย หรือพระไตรปิฎก
๒. จินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการนำเอาสิ่งที่ศึกษามาแล้ว มาคิดพิจารณาเหตุผลตามความเป็นจริง
๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
ปัญญา ๓ (ข) ๑. กัมมัสสกตาปัญญา ปัญญาที่รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนเอง รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นกำเนิดบุคคลทั้งหลายทำกรรมดีหรือชั่วก็ตาม ย่อมได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอนทั้งนั้น เช่น บุคคลใดลักขโมยทำลายทรัพย์เขา ผลของอกุศลนั้นย่อมทำให้ทรัพย์ของเขาพินาศไป ถ้าเข้าใจเรื่องกรรมก็จะเข้าใจความเป็นไปของชีวิตตนและบุคคลทั้งหลายได้
๒. วิปัสสนาปัญญา ปัญญาที่รู้ว่ารูปนามขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน จะเกิดกับผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ จะมีความเข้าใจชัดในรูปนาม ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ สัจจะ ปฏิจจสมุปบาท เข้าใจว่ามีลักษณะ เปลี่ยนแปลงไม่มั่นคง และบังคับบัญชาไม่ได้ ตกอยู่ในกฎของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
๓. โลกุตตรปัญญา ปัญญารู้ในอริยสัจ ๔ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้รู้ แจ้งแทงตลอดในความเป็นจริงในอริยสัจ ๔ ได้แก่
๓.๑ ทุกขสัจ รู้แจ้งว่ารูปนามเป็นทุกข์มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่สามารถจะทนอยู่ ในสภาพเดิมได้ การเกิดนั้นเป็นทุกข์ การแก่เจ็บตายก็เป็นทุกข์ เป็นต้น
๓.๒ สมุทัยสัจ รู้แจ้งในเหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัวโลภเจตสิก หรือ ตัณหาคือความยินดีพอใจ ติดอยู่ในกามคุณอารมณ์ทำให้ต้องเวียนเกิดเวียนตายอีกหาที่สิ้นสุดไม่ได้
๓.๓ นิโรธสัจ ปัญญาที่เข้าถึงซึ่งความดับทุกข์ คือนิพพาน เป็นการดับสนิทของตัณหาอันเป็นเหตุทำให้เกิดทุกข์และการเวียนเกิดเวียนตาย
๓.๔ มรรคสัจ การรู้แจ้งทางให้ถึงซึ่งนิพพาน ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น

ปัญญานั้นมีการส่องสว่างเป็นลักษณะ เหมือนกับการตามประทีปไว้ในที่มืด ความมืดย่อมหายไป ความสว่างย่อมปรากฏธรรมดา แสงสว่างที่เสมอด้วยแสงสว่างแห่งปัญญาเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้ทั่วซึ่งธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ทั้งที่ควรทำและไม่ควรทำ ทั้งเลวและ ประณีต ทั้งดำและขาว ทั้งที่เข้ากันได้และเข้ากันไม่ได้ เช่นเดียวกับหมอผู้ ฉลาดย่อมรู้จักเภสัชอันเป็นที่สบายและไม่สบายแห่งคนไข้ทั้งหลายฉะนั้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น