วันจันทร์

๒. กามาวจรจิต​ ๕๔ดวง

คำว่า กามาวจรจิต” มาจาก กาม+อวจร+จิต 
กาม หมายถึง อารมณ์อันเป็นที่ต้องการ หรือเป็นที่ปรารถนาของกิเลส ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ และธัมมารมณ์อันเป็นที่น่ายินดีน่าพอใจ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากามคุณอารมณ์ หรือ กามารมณ์
อวจร หมายถึง อาศัยอยู่หรือท่องเที่ยวไป
จิต หมายถึง ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ฉะนั้น คำว่า กามาวจรจิต จึงมีความหมาย ๒ ประการ คือ
๑. เป็นจิตที่รับหรือเกี่ยวข้องกับกามคุณอารมณ์
๒. เป็นจิตที่เกิดอยู่เป็นประจำในกามภูมิ ๑๑ ได้แก่ มนุษยภูมิ ๑ เทวภูมิ ๖ อบายภูมิ ๔ กามาวจรจิตนี้เป็นจิตที่เป็นกุศลก็มี เป็นจิตที่เป็นอกุศลก็มี และเป็นจิตที่เป็นผลของบุญ เป็นผลของบาปก็มี การแสดงออกทางกาย วาจา ทั้งที่เป็นบุญ และบาป สำเร็จได้ก็เพราะกามาวจรจิตเป็นผู้สั่งการทั้งสิ้น

กามาวจรจิตมีทั้งหมด ๕๔ ดวง แบ่งออกเป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง และกามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง (ดูรูปประกอบ)



อกุศลจิต​ ๑๒​ดวง​ คือ​ จิตฝ่ายบาปที่เกิดด้วยอำนาจของความโลภ (โลภเหตุ) บ้าง ความโกรธ (โทสเหตุ) บ้าง โดยมีความหลง (โมหเหตุ) เป็น ผู้สนับสนุน
จิตประเภทนี้จะให้ผลเป็นความทุกข์ เพราะเป็นตัวการให้ กระทำบาปทางกาย ทางวาจา และทางใจ ดังต่อไปนี้
– การฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์ให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน
– ลักทรัพย์ขโมย ปล้น จี้ ชิงทรัพย์
– ประพฤติผิดในกาม
– พูดโกหกหลอกลวงผู้อื่น
– พูดยุยงส่อเสียดให้ผู้อื่นผิดใจกัน
– กล่าวคำหยาบคายด่าทอผู้อื่น
– พูดเพ้อเจ้อไร้สาระปราศจากประโยชน์
– มีความต้องการอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น
– มีความโกรธ อาฆาต พยาบาท คิดประทุษร้าย หรืออิจฉาริษยาผู้อื่น
– มีความเห็นผิด เช่น ไม่เชื่อกฎแห่งกรรม ไม่เชื่อเรื่องผลของ บุญผลของบาป ไม่เชื่อว่าชาติหน้ามีจริง ไม่เชื่อว่านรกสวรรค์มีจริง
อกุศลจิตมีทั้งหมด ๑๒ ดวง แบ่งออกเป็น
๑.โลภมลูจิต ๘ ดวง (อ่านว่า โล-ภะ-มูล-ละ-จิต)
๒.โทสมลูจิต ๒ ดวง (อ่านว่า โท-สะ-มูล-ละ-จิต)
๓.โมหมลูจิต ๒ ดวง (อ่านว่า โม-หะ-มูล-ละ-จิต)
โลภมูลจิต ๘ โลภมูลจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นโดยมีโลภะเป็นมูลเหตุ โลภะเป็นเจตสิกที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดความยินดี พอใจและยึดติดในรูปที่สวย เสียงที่ไพเราะ กลิ่นที่หอม รสที่อร่อย การสัมผัสถูกต้องทางกายที่น่าอภิรมย์ ตลอดจนความยินดีพอใจและยึดติดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข โลภมูลจิตเป็นจิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยโสมนัสคือความดีใจก็ได้ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาคือรู้สึกเฉยๆก็ได้ ประกอบด้วยความเห็นผิดก็ได้ ปราศจากความเห็นผิดก็ได้ เกิดขึ้นเองก็ได้ หรือเกิดจากการชักชวนก็ได้ เมื่อจำแนกตามลักษณะต่างๆ ที่แตกต่างกันแล้ว โลภมูลจิตจะมีอยู่ ๘ ดวง แต่ละดวงมีลักษณะเฉพาะดังนี้
โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นเอง
โลภมูลจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดจากการชักชวน
โลภมูลจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วยความดีใจ *ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นเอง
โลภมูลจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วยความดีใจ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดจากการชักชวน
โลภมูลจิตดวงที่ ๕ เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นเอง
โลภมูลจิตดวงที่ ๖ เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดจากการชักชวน
โลภมูลจิตดวงที่ ๗ เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นเอง
โลภมูลจิตดวงที่ ๘ เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดจากการชักชวน
ที่กล่าวว่า *ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด คือ เชื่อเรื่องกรรม เชื่อเรื่องผลของกรรม เชื่อว่านรกสวรรค์มีจริง เชื่อว่าโลกนี้มี โลกหน้าก็มี เชื่อว่าเมื่อตายแล้วต้องเกิดใหม่ในภพใดภพหนึ่งแล้วแต่กรรมจะจัดสรร สัตว์อายุสั้นก็เพราะกรรม อายุยืนก็เพราะกรรม เกิดมาในตระกูลที่ร่ำรวยก็เพราะกรรม มีปัญญาดีหรือโง่เขลาก็เพราะกรรม เป็นต้น แต่ที่ทำบาปลงไปก็เพราะกำลังของโลภมูลจิตมีมากกว่าจึงทำให้ขาดสติสัมปชัญญะไปบ้างในบางครั้ง ซึ่ง ต่างจากผู้ที่มีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ที่คิดว่าชาติหน้าไม่มี บุญบาปไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี กรรมและผลของกรรมก็ไม่มี ดังนั้นจึงกระทำบาปอกุศล ด้วยความประมาทอยู่เป็นประจำ
ตัวอย่างที่ ๑ นายดำเป็นผู้ที่มีความเห็นผิดว่ากฎแห่งกรรมเป็นเรื่องไร้สาระ วันหนึ่งมีเพื่อนมาชวนไปขโมยเงินในตู้รับบริจาคที่วัดแห่งหนึ่ง นายดำเห็นดีด้วยจึงไปงัดตู้รับบริจาคกับเพื่อนด้วยความดีใจเพราะมีเงินอยู่ในตู้เป็นจำนวนมาก ขณะนั้นโลภมูลจิตดวงที่ ๒ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อกระทำกรรมดังกล่าว เพราะโลภมูลจิตดวงที่ ๒ เป็นจิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยความเห็นผิดและเกิดโดยมีการชักชวน โลภมูลจิตนี้ เป็นต้นเหตุสำคัญในการสร้างภพสร้างชาติให้แก่บรรดาสัตว์ทั้งหลาย เพราะบาปอกุศลทั้งหลายมีโลภะอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น แม้กระทั่งโทสมูลจิตที่จะกล่าวถึงต่อไป จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะความไม่สมหวังของโลภะ เมื่อใดที่หมดความทะยานอยาก หมดความใคร่ หมดความปรารถนาในอารมณ์ที่น่ายินดีพอใจแล้ว ความโกรธ ความเสียใจ ซึ่งเป็นอาการของความไม่สมหวังหรือความผิดหวังก็จะไม่มีอีกต่อไป
โลภมูลจิตเกิดได้กับปุถุชนครบทั้ง ๘ ดวง แต่เกิดกับพระเสกขบุคคล หมายถึงพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีเกิดได้เฉพาะโลภมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ๔ ดวงเท่านั้น(หมายถึงดวงที่ ๓,๔,๗,๘ โลภมูลจิตทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นแก่พระอรหันต์ผู้สิ้นอาสวกิเลส อาการปรากฏของโลภมูลจิต ที่เกิดแก่บุคคลในภูมิต่างๆ มีดังนี้
๑. โลภมูลจิตของสัตว์เดรัจฉาน ย่อมอยากกิน อยากนอน และอยากสืบพันธุ์ เป็นต้น
๒. โลภมูลจิตของมนุษย์ ย่อมอยากเห็นสิ่งที่สวยๆงามๆ อยากได้ฟังเสียงที่ไพเราะ อยากได้ กลิ่นหอมๆ อยากได้ลิ้มรสที่อร่อยๆ อยากได้สัมผัสอันประณีต อยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุขต่างๆ ตลอดจนความเป็นผู้มีสุขภาพดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและมีอายุยืนยาว
๓. โลภมูลจิตของเทวดา ย่อมอยากได้ทิพยสมบัติยิ่งๆขึ้นไป และยินดีพอใจอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอันประณีต
๔. โลภมูลจิตของพรหม ย่อมยินดีพอใจอยู่ในรูปกรรมฐาน ย่อมเสวยรสของปีติและสุขเป็นอาหาร หรือยินดีพอใจอยู่ในอรูปกรรมฐานดำรงมั่นอยู่ในอุเบกขาและเอกัคคตา
๕. โลภมูลจิตของพระโสดาบันและพระสกทาคามี ยังมีความยินดีพอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่น่าใคร่น่าปรารถนา แต่น้อยกว่าปุถุชนทั่วไป เพราะมีโลภะ โทสะ โมหะ ที่เบาบางแล้ว และไม่เป็นไปด้วยความเห็นผิดอีกด้วย 
๖. โลภมูลจิตของพระอนาคามี ยังมีความยินดีพอใจในสุขอันเกิดจากการทำฌาน แต่ไม่มีความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสอีกต่อไป

โทสมูลจิต โทสมูลจิต คือจิตที่เกิดขึ้นโดยมีโทสะเป็นมูลเหตุ โทสะเป็นเจตสิกธรรมที่เป็นประธานในการปรุงแต่งจิตให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความกลุ้มใจ ความเสียใจ ความอิจฉาริษยา ความตระหนี่หวงแหน (มัจฉริยะ) ความรำคาญใจ (กุกกุจจะ) ความอาฆาต พยาบาท จองเวร จนถึงขั้นประทุษร้าย ฯลฯโทสมูลจิตนี้ เกิดขึ้นพร้อมด้วยความไม่พอใจเสมอ เพราะเกิดจากการรับอารมณ์ไม่น่ายินดีและไม่น่าพอใจ เกิดขึ้นเองบ้าง ถูกผู้อื่นหรือสิ่งอื่นชักชวนให้เกิดบ้าง ฉะนั้นโทสมูลจิตจึงมี ๒ ดวง คือ
โทสมูลจิตดวงที่ ๑ เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความไม่พอใจ
โทสมูลจิตดวงที่ ๒ เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความไม่พอใจ
โทสมูลจิตจะเกิดขึ้นได้เอง เช่น ในขณะที่คิดพยาบาท อาฆาต มุ่งร้าย ปองร้ายผู้อื่น โทสมูลจิตดวงที่ ๑ ย่อมเกิดขึ้น เมื่อรู้ข่าวการจากไปของคนใกล้ชิดก็จะร้องไห้เสียใจ หรือเมื่อได้ยินเสียงรถจักรยานยนต์ดังหนวกหูก็เกิดความรำคาญใจและด่าออกไป ก็ด้วยโทสมูลจิตดวงที่ ๒ โทสะนี้เป็นอนุสัยกิเลส คือเป็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานมาตั้งแต่อดีตชาติแล้ว สัตว์ในอบายภูมิมีเดรัจฉานเป็นต้น ก็มีโทสะ มาเป็นมนุษย์ก็ยังมีโทสะ แม้ไปเป็นเทวดาก็ยังมีโทสะ ถึงแม้เป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบันและพระสกทาคามีก็ยังมีโทสะเพียงแต่เบาบางลงเท่านั้น สำหรับผู้ที่ไปเกิดเป็นพรหมโทสะจะถูกข่มเอาไว้ด้วยอำนาจของฌาน ส่วนพระอนาคามีและพระอรหันต์จะไม่มีโทสะหลงเหลืออยู่เลย เพราะโทสะได้ถูกทำลายเป็นการถาวรแล้ว (สมุจเฉทปหาน)

โมหมูลจิต โมหมูลจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นโดยมีโมหะเป็นมูลเหตุ โมหะเป็นเจตสิกธรรมที่ปรุงแต่งให้เกิดความหลงผิดในวิสุทธิมรรคกล่าวว่า โมหะนี้เป็นรากเหง้าแห่งบาปอกุศลทั้งปวง โมหมูลจิตมี ๒ ดวง คือ
โมหมูลจิตดวงที่ ๑ เกิดขึ้นพร้อมด้วยความเฉยๆ ประกอบด้วยความ*สงสัย (วิจิกิจฉา)
โมหมูลจิตดวงที่ ๒ เกิดขึ้นพร้อมด้วยความเฉยๆ ประกอบด้วยความ*ฟุูงซ่าน (อุทธัจจะ)
คำว่า“สงสัย” ในที่นี้หมายถึงความสงสัยในเรื่องกรรมและผลของกรรม สงสัยว่าบุญบาปมีจริงหรือไม่ นรกสวรรค์มีจริงหรือไม่ ตายแล้วไปไหน ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับความสงสัยในวิชาการหรือเรื่องราวต่างๆทางโลกทั้งสิ้น
คำว่า “ฟุูงซ่าน” ในที่นี้หมายถึง คิดเลื่อนลอยไปในอารมณ์ต่างๆ ไม่มีความสงบ ไม่มีความตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว และที่คิดมากมายหลายอย่างนั้นก็คิดไปเฉยๆ คิดไปเรื่อยๆ ไม่ได้มุ่งมั่นจริงจังในสิ่งที่คิดนั้น
สรุปอกุศลจิต ๑๒ 
อกุศลจิต ๑๒ ซึ่งประกอบด้วย โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ และโมหมูลจิต ๒ นี้ เป็นจิตฝุายบาปให้ผลเป็นความทุกข์ เกิดได้ง่ายในบุคคลและสัตว์ทั้งหลาย โดยอาศัยเหตุ ๕ ประการ คือ
๑ . ไม่ได้สร้างสมบุญไว้แต่ปางก่อน เป็นอดีตกรรม
๒ . อยู่ในประเทศที่ไม่มีสัปปุรุษ
๓ . ไม่คบหาสมาคมกับสัปปุรุษ
๔ . ไม่ได้ฟังธรรมของสัปปุรุษ
๕ . ตั้งตนไว้ผิด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น