วันอาทิตย์

ประวัติพระอภิธรรม ๒

พระวินัยปิฎก หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระวินัย เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับศีลหรือสิกขาบท (บทบัญญัติ) ตลอดจนพิธีกรรมและธรรมเนียมของสงฆ์ อันเป็นกฎระเบียบที่พระภิกษุสงฆ์และพระภิกษุณีสงฆ์จะต้องปฏิบัติ รวมถึงพุทธประวัติบางตอนและประวัติการทำสังคายนา มีทั้งสิ้น ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๕ คัมภีร์ เรียกโดยย่อว่า อา. ปา. มะ. จุ. ปะ. (หัวใจพระวินัย) ได้แก่

๑. คัมภีร์อาทิกัมมิกะ ว่าด้วยอาบัติปาราชิก สังฆาทิเสส อนิยต และต้น บัญญัติในสิกขาบทต่างๆ
๒. คัมภีร์ปาจิตตีย์ ว่าด้วยอาบัติปาจิตตีย์ ซึ่งเป็นอาบัติอย่างเบา
๓. คัมภีร์มหาวรรค ว่าด้วยพุทธประวัติตอนปฐมโพธิกาล และพิธีกรรมทางพระวินัย
๔. คัมภีร์จุลวรรค ว่าด้วยพิธีกรรมทางพระวินัยต่อจากมหาวรรค ตลอดจนความเป็นมาของภิกษุณี และประวัติการทำสังคายนา
๕. คัมภีร์ปริวาร ว่าด้วยข้อเบ็ดเตล็ดทางพระวินัย


พระสุตตันตปิฎก หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระสูตร เป็นหมวดที่ประมวล พระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรม และเรื่องเล่าต่างๆ อันยักเยื้องตามบุคคลและโอกาส เป็นธรรมที่แสดงโดยใช้สมมุติโวหาร คือยกสัตว์ บุคคล กษัตริย์ เทวดา เป็นต้น มาแสดง มีคำสอนทั้งสิ้น ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๕ นิกาย เรียกโดยย่อว่า ที. มะ. สัง. อัง. ขุ. (หัวใจพระสูตร) ได้แก่

๑. ทีฆนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรขนาดยาว จำนวน ๓๔ สูตร
๒. มัชฌิมนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรขนาดปานกลางจำนวน ๑๕๒ สูตร
๓. สังยุตตนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรที่จัดเป็นหมวดหมู่ เรียกว่า สังยุตต์ มีชื่อตามเนื้อหา เช่น เกี่ยวกับแคว้นโกสล เรียกว่า โกสลสังยุตต์ เกี่ยวกับมรรคเรียกว่า มรรคสังยุตต์ มีจำนวน ๗,๗๖๒ สูตร
๔. อังคุตตรนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรที่จัดหมวดหมู่ตามจำนวนข้อของหลักธรรม เรียกว่า นิบาต เช่น เอกนิบาต ว่าด้วยหลักธรรมที่มี หัวข้อเดียว จนถึงหลักธรรมที่มี ๑๑ หัวข้อที่เรียกว่า เอกาทสกนิบาต ในนิกายนี้มีจำนวนพระสูตร ๙,๕๕๗ สูตร
๕. ขุททกนิกาย ประกอบด้วยภาษิตเบ็ดเตล็ด ประวัติและนิทานต่างๆ นอกเหนือจากที่จัดไว้ในนิกายทั้ง ๔ ข้างต้น แบ่งออกเป็นหมวดได้ ๑๕ หมวดคือ
>>๕.๑) ขุททกปาฐะ แสดงบทสวดเล็กๆ น้อยๆ โดยมากเป็นบทสวดสั้นๆ
>>๕.๒) ธรรมบท แสดงคาถาพุทธภาษิต ประมาณ ๓๐๐ คาถา
>>๕.๓) อุทาน แสดงพระพุทธดำรัสที่เปล่งอุทานเป็นภาษิตโดยมีเนื้อเรื่อง ประกอบตามสมควร
>>๕.๔) อิติวุตตก แสดงคำอ้างอิงว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้นอย่างนี้
>>๕.๕) สุตตนิบาต เป็นหมวดที่รวบรวมพระสูตรเบ็ดเตล็ดไว้ด้วยกัน
>>๕.๖) วิมานวัตถุ แสดงเรื่องราวของผู้ได้วิมานและแสดงเหตุที่ทำให้ได้ วิมานไว้ด้วย
>>๕.๗) เปตวัตถุ แสดงเรื่องราวของเปรตที่ได้ทำบาปกรรมไว้
>>๕.๘) เถรคาถา แสดงภาษิตต่างๆ ของพระอรหันตสาวก
>>๕.๙) เถรีคาถา แสดงภาษิตต่างๆ ของพระอรหันตสาวิกา
>>๕.๑๐)ชาดก เป็นหมวดที่ประมวลคาถาธรรมภาษิตเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธองค์
>>๕.๑๑) นิทเทส เป็นหมวดที่ว่าด้วยเรื่องของนิทเทส (การชี้แจง, การแสดง, การจำแนก) แบ่งเป็นมหานิทเทส และจุลนิทเทส
>>๕.๑๒) ปฏิสัมภิทามรรค กล่าวถึงการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความมีปัญญาอันประเสริฐ
>>๕.๑๓) อปทาน หมวดนี้จะกล่าวถึงอัตตชีวประวัติของพระพุทธองค์และ พระอรหันตสาวกและอรหันตสาวิกา
>>๕.๑๔) พุทธวงศ์ แสดงประวัติของอดีตพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์
>>๕.๑๕) จริยาปิฎก แสดงเรื่องราวการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า
พระอภิธรรมปิฎก หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระอภิธรรม เป็นหมวดที่ ประมวลพุทธพจน์อันเกี่ยวกับหลักธรรมที่เป็นวิชาการว่าด้วยเรื่องของปรมัตถธรรมล้วนๆ ยกตัวอย่างเช่นเมื่อกล่าวถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทางพระอภิธรรมถือว่าบุคคลนั้นไม่มี มีแต่สิ่งซึ่งเป็นที่ประชุมรวมกันของ จิต เจตสิก รูป เท่านั้น ดังนั้น ธรรมะในหมวดนี้จึงไม่มีเรื่องราวของบุคคล เหตุการณ์ หรือสถานที่ซึ่งเป็นสิ่งสมมุติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเลย พระอภิธรรมปิฎกมีอยู่ทั้งสิ้น ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๗ คัมภีร์ เรียกโดยย่อว่า สัง. วิ. ธา. ปุ. กะ. ยะ. ปะ. (หัวใจพระอภิธรรม) ได้แก่

๑. คัมภีร์ธัมมสังคณี ว่าด้วยธรรมะที่ประมวลไว้เป็นหมวดเป็นกลุ่ม เรียกว่า กัณฑ์ มีทั้งหมด ๔ กัณฑ์ คือ
>>๑.๑) จิตตวิภัตติกัณฑ์ แสดงการจำแนกจิตและเจตสิก เป็นต้น
>>๑.๒) รูปวิภัตติกัณฑ์ แสดงการจำแนกรูป เป็นต้น
>>๑.๓) นิกเขปราสิกัณฑ์ แสดงธรรมที่เป็นแม่บท (มาติกา) ของ ปรมัตถธรรม
>>๑.๔) อัตถุทธารกัณฑ์ แสดงการจำแนกเนื้อความตามแม่บทของ ปรมัตถธรรม
๒. คัมภีร์วิภังค์ ว่าด้วยการจำแนกมาติกาในคัมภีร์ธัมมสังคณี ทั้งติกมาติกา ๒๒ หมวด และทุกมาติกา ๑๐๐ หมวด โดยแบ่งเป็น ๑๘ วิภังค์ เช่น ขันธวิภังค์ จำแนกขันธ์ อายตนวิภังค์ จำแนกอายตนะ, ธาตุวิภังค์ จำแนกธาตุ, สัจจวิภังค์ จำแนกสัจจะ, อินทริยวิภังค์ จำแนกอินทรีย์, ปฏิจจสมุปบาทวิภังค์ จำแนกปฏิจจสมุปบาท, สติปัฏฐานวิภังค์ จำแนก สติปัฏฐาน เป็นต้น
๓. คัมภีร์ธาตุกถา ว่าด้วยคำอธิบายเรื่องขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ โดยนำมาติกาของคัมภีร์นี้จำนวน ๑๐๕ บท และมาติกาจากคัมภีร์ธัมมสังคณีจำนวน ๒๖๖ บท (ติกมาติกา ๖๖ บท ใน ๒๒ หมวด และทุกมาติกา ๒๐๐ บท ใน ๑๐๐ หมวด) มาแสดงด้วยนัยต่างๆ (จานวน ๑๔ นัย) เพื่อหาคำตอบว่าสภาวธรรมบทนั้นๆ สงเคราะห์เข้าได้กับขันธ์เท่าไร เข้าได้กับอายตนะเท่าไร และเข้าได้กับธาตุเท่าไร เข้าไม่ได้กับขันธ์เท่าไร เข้าไม่ได้กับอายตนะเท่าไร และเข้าไม่ได้กับธาตุเท่าไร
๔. คัมภีร์ปุคคลบัญญัติ ว่าด้วยการบัญญัติ (การประกาศ แสดง หรือชี้แจง) ในเรื่อง ๖ เรื่อง คือ
>>๔.๑) ขันธบัญญัติ การบัญญัติเรื่องขันธ์
>>๔.๒) อายตน บัญญัติ การบัญญัติเรื่องอายตนะ
>>๔.๓) ธาตุบัญญัติ การบัญญัติเรื่องธาตุ
>>๔.๔) สัจจบัญญัติ การบัญญัติเรื่องสัจจะ
>>๔.๕) อินทริยบัญญัติ การบัญญัติ เรื่องอินทรีย์
>>๔.๖) ปุคคลบัญญัติ การบัญญัติเรื่องบุคคล
๕. คัมภีร์กถาวัตถุ ว่าด้วยการโต้วาทะเพื่อชี้แจงแสดงเหตุผลให้เห็นว่าวาทกถา (ความเห็น) ของฝ่ายปรวาที (พวกภิกษุในนิกายที่แตกไปจากเถรวาทในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช) จำนวน ๒๒๖ กถา ล้วนผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากพระพุทธพจน์ดั้งเดิมที่ภิกษุฝ่ายเถรวาทยึดถือปฏิบัติอยู่ วิธีการโต้วาทะใช้หลักตรรกศาสตร์ที่น่าสนใจมาก นับเป็น พุทธตรรกศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดซึ่งมีในคัมภีร์นี้เท่านั้น
๖. คัมภีร์ยมก ว่าด้วยการปุจฉา-วิสัชนา สภาวธรรม ๑๐ หมวด ด้วยวิธีการยมก คือการถาม-ตอบ เป็นคู่ๆ ซึ่งเป็นวิธีการเฉพาะของคัมภีร์ยมกสภาวธรรม ๑๐ หมวด ได้แก่
(๑) หมวดมูล (สภาวธรรมที่เป็นเหตุ)
(๒) หมวดขันธ์
(๓) หมวดอายตนะ
(๔) หมวดธาตุ
(๕) หมวดสัจจะ
(๖) หมวดสังขาร
(๗) หมวดอนุสัย
(๘) หมวดจิต
(๙) หมวดสภาวธรรมในกุสลติกะ เรียกสั้นๆ ว่า หมวดธรรม
(๑๐) หมวดอินทรีย์

สภาวธรรม ๑๐ หมวดนี้ทำให้แบ่งเนื้อหาของคัมภีร์ยมกออกเป็น ๑๐ ยมก เรียกชื่อตามหมวดสภาวธรรมที่เป็นเนื้อหา คือ
(๑) มูลยมก
(๒) ขันธยมก
(๓) อายตนยมก
(๔) ธาตุยมก
(๕) สัจจยมก
(๖) สังขารยมก
(๗) อนุสยยมก
(๘) จิตตยมก
(๙) ธัมมยมก
(๑๐) อินทริยยมก

๗. คัมภีร์ปัฏฐาน ว่าด้วยการจำแนกสภาวธรรมแม่บท หรือ มาติกา ทั้ง ๒๖๖ บท (๑๒๒ หมวด) ในคัมภีร์ธัมมสังคณี โดยอำนาจปัจจัย ๒๔ ประการ มี เหตุปัจจัย เป็นต้น เพื่อให้เห็นว่าสภาวธรรมทั้งหลายปรากฏเกิดขึ้น ตามเหตุ ตามปัจจัยทั้งสิ้น มิได้เกิดจากการบงการของผู้ใด แต่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ที่เรียกว่า จิตตนิยาม กรรมนิยาม และธรรมนิยาม

สรุปแล้ว พระอภิธรรมก็คือธรรมะหมวดที่ ๓ ในพระไตรปิฎกที่สอนให้รู้จักธรรมชาติอันแท้จริงที่มีอยู่ในตัวเราและสัตว์ทั้งหลายอันได้แก่ จิต เจตสิก รูป และรู้จักพระนิพพานซึ่งเป็นจุดหมายอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา ธรรมชาติทั้ง ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพานนี้รวมเรียกว่า ปรมัตถธรรม หากแปลตามศัพท์ คำว่า อภิธัมม หรือ อภิธรรม แปลว่าธรรมอัน ประเสริฐ, ธรรมอันยิ่ง, ธรรมที่มีอยู่แท้จริงปราศจากสมมุติ เนื้อความในพระอภิธรรมเกือบทั้งหมด จะกล่าวถึงปรมัตถธรรม ล้วนๆ โดยไม่มี บัญญัติธรรม (สมมุติโวหาร) เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงควร ทำความเข้าใจไว้ในเบื้องต้นก่อนว่า ปรมัตถธรรม และ บัญญัติธรรม นั้น ต่างกันอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น