วันพฤหัสบดี

๐๖. ตรัสรู้

พระพุทธองค์ทรงค้นคว้าหาทางตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยวิธีการต่างๆ โดยบำเพ็ญเพียรทาง ทุกรกิริยา ทรมานกายให้ลำบากอย่างยิ่ง เริ่มแต่ทรงขบฟันด้วยฟัน อัดเพดานปากด้วยลิ้น ผ่อนลมหายใจเข้าออกให้เหลือน้อยๆ แล้วกลั้นลมหายใจนานๆ จนตัวร้อนเป็นไฟเหงื่อไหลย้อย หัวใจสวิงสวาย ทรงเสวยพระกระยาหารแต่น้อยจนถึงไม่เสวยเลย ในที่สุดพระวรกายก็ซูบผอมได้รับความลำบากอย่างยิ่ง จวนเจียนพระชนม์จะแตกสลาย นับว่าเป็นความเพียรอย่างยิ่ง ยากที่นักพรตใดๆ จะทำได้ แต่ก็หาสำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณไม่ เพราะทุกกรกิริยาไม่ใช่ทางแห่งการตรัสรู้

จึงมาทรงดำริเห็นว่า อันความเพียรนั้น ถ้าย่อหย่อนก็เสียผลทีหลัง ถ้าตึงเครียดนักก็มักพลาด ต่อเมื่อเดินทางสายกลางพอดีๆ ทั้งกายและใจจึงจะเกิดผล ดุจพิณสามสาย ถ้าหย่อนนักมักไม่ดัง ถ้าตึงนักก็ขาด แต่พอดีๆ จึงจะมีเสียงนิ่มนวลพอฟังได้ (ตำราประวัติพระพุทธเจ้าบางเล่มก็กล่าวว่า ช่วงที่พระองค์กำลังทรมานพระวรกายอยู่จนถึงที่สุดนั้น มีเทวดาเสด็จลงมาทรงพิณสามสาย ซึ่งได้ตั้งสายพิณไว้ ๓ ระดับ คือตึงเกินไป เล่นได้สักครู่สายพิณก็ขาด ตั้งสายพิณหย่อนเกินไป เสียงเพลงก็ไม่ไพเราะ และสุดท้ายตั้งสายพิณปานกลาง ปรากฏว่ามีความไพเราะจับใจ)


พระองค์ทรงเห็นแล้วขณะนี้ว่า ได้เคยเสวยสุขในทางกามคุณมาก็มากปฏิบัติทางทุกกรกิริยาก็มาเต็มที่แล้ว ทั้งสองนี้ จะไม่ทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุจุดหมายปลายทางได้เลย ทางที่ถูกต้องเป็นทางสายกลาง (หรือที่รู้จักกันในการเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา) ตั้งมั่นลงในศีล สมาธิ ปัญญา รู้แจ้งในอริยสัจจธรรม เกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด จึงจะเข้าถึงญาณแห่งความหลุดพ้น (วิมุตติอริยมัคคญาณ)ได้ในที่สุด พระองค์จึงเปลี่ยนความตั้งใจเดิม เลิกทุกรกิริยาทรมานตนเอง กลับใจเสวยพระกระยาหารเพื่อบำรุงพระวรกายอย่างแต่ก่อน ปัญจวัคคีย์ทั้งห้าเสียใจ พากันหลีกไป ทรงตรัสเล่าภายหลังว่า "ครั้นตถาคตกลืนกินอาหารหยาบ คือ ข้าวสุกและขนมสดแล้วปัญจวัคคีย์ทั้งห้ารูป พากันหน่ายในเรา พากันหลีกไปด้วยคิดว่า พระสมณโคดมเป็นคนมักมาก คลายความเพียรเสียแล้ว"

พระองค์ทรงปริวิตกว่า อะไรหนอคือหนทางที่จะทำให้หลุดพ้นออกจากความทุกข์ อันมี ชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ (โสกะ แปลว่า ความโศก ปริเทวะ แปลว่า ความคร่ำครวญ ความรำพัน) เป็นต้น เสียได้ ทรงพิจารณาสืบสาวไปหาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้พบว่า เพราะชาตินี่เองมีอยู่ ความแก่ ความตาย เป็นต้น จึงได้มีตามมา คือถ้าคนไม่เกิดเสียอย่างเดียว ความทุกข์ทั้งหลายก็ไม่มี ทรงค้นหาสาเหตุเรื่อยไปๆ จนพบลูกโซ่คือ เหตุปัจจัยต่างๆ กันว่า เพราะชาติมีอยู่ ชรา มรณะ จึงมี เพราะภพมีอยู่ จึงทำให้มีชาติและต่อๆ ไป คือ อุปาทาน (ความยึดมั่น)-ตัณหา-เวทนา-ผัสสะฯลฯ จนถึงอวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร

ทรงพิจารณากลับอีกทีหนึ่ง ก็เห็นว่าเมื่ออวิชชายังมีอยู่ สังขารจึงมี เมื่อสังขารมีอยู่ วิญญาณจึงมี ฯลฯ จนถึง ชาติ ชรา มรณะ คือ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงเหล่านี้ ย่อมมีขึ้นอย่างนี้เอง ทรงกล่าวว่า "ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักษุญาณ ปัญญา วิชชา ได้บังเกิดขึ้นแก่เรา ในธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ทั้งหมดเป็นฝ่ายข้างเกิด คือทำให้ ชาติ ชรา มรณะ เกิดขึ้น" แล้วตรัสถึงฝ่ายข้างดับต่อไปเป็นลำดับ สรุปลงในที่สุดว่า "จักษุญาณ ปัญญา วิชชา ได้บังเกิดแก่เราในธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่า นี้เป็นฝ่ายข้างดับ คือ การเกิดขึ้นจะไม่มีอีกแล้วดังนี้" พุทธภาษิตนี้แสดงว่า ที่พระองค์ได้ตรัสรู้อภิสัมโพธิญาณในเวลาต่อมา ก็เพราะพิจารณาจนเห็นแจ้งแทงตลอดทั้งฝ่ายทำให้เกิด และฝ่ายทำให้ดับนี้เอง ได้ทรงค้นคว้าเหตุปัจจัยของความทุกข์ ครั้นเมื่อพบเหตุปัจจัยนั้นเข้าด้วยอำนาจแห่งพระปัญญาความตรัสรู้จึงเกิดขึ้น

พระองค์จึงตัดสินใจจะเสด็จลงจากเชิงเขาดงคสิริ มายังหมู่บ้านนางสุชาดา คืนนั้นทรงฝันสำคัญเรียกว่า มหาสุบิน ๕ ประการ คือ
๑. ฝันว่า ทรงบรรทมเหนือโลก มีเขาหิมพานต์ (ภูเขาหิมาลัย) เป็นหมอนหนุน
๒. ฝันว่า หญ้าแพรกเส้นหนึ่งงอกจากพระนาภี (สะดือ) ยาวขึ้นไปจดท้องฟ้า
๓. ฝันว่า หนอนหัวดำตัวขาวไต่ขึ้นมา แต่ปลายพระบาทจนถึงพระชาณุ (เข่า)
๔. ฝันว่ามีนาค ๔ จำพวก สีเหลือง สีเขียว สีแดง สีดำ เลื้อยเข้ามาฟุบลงแทบพระบาท แล้วกลายเป็นสีขาวไปทั้งหมด
๕. ฝันว่า พระองค์เสด็จขึ้นไปจงกรมอยู่บนยอดเขา อันเต็มไปด้วยมูตคูถ แต่ของสกปรกเหล่านี้ จะได้ติดต้องพระบาท แม้แต่นิดเดียว ก็หามิได้

คำทำนายของพระสุบินนิมิตนี้มีว่า
๑. บรรทมเหนือพื้นภูมิภาค นั้นเป็นบุพนิมิตจะได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแน่นอน
๒. หญ้าแพรกงอกขึ้นจากพระนาภีสูงไปจดอากาศนั้น เป็นบุพนิมิตที่จะได้ตรัสเทศนาพระอริยมรรค มีองค์ ๘ แก่มนุษย์และเทพดาทั้งปวง
๓. หนอนไต่ขึ้นมานั้น คือคฤหัสถ์ทั้งหลายจะเข้ามาสู่สำนักของพระองค์ และจะเข้าถึงพระไตรสรณคมน์
๔. สกุณชาติทั้งหลายสี่สีบินมาจากทิศต่างๆ ถึงพระบาทแล้วกลับกลายเป็นสีขาวไปสิ้น หมายถึง สกุลทั้ง ๔ มี ขัตติยะสกุล เป็นต้น จะออกจากฆราวาสมาบรรพชา และตรัสรู้ซึ่งวิมุตติธรรมอัน ประเสริฐ
๕. เสด็จขึ้นไปจงกรมบนยอดเขาที่เต็มไปด้วยมูตคูถ เป็นต้น แสดงว่าจะได้จตุปัจจัย ๔ มากมาย แต่มิได้ทรงห่วงกังวลกับของเหล่านี้เลย

เช้าวันรุ่งขึ้น พระองค์เสร็จมายังใต้ร่มไทรต้นหนึ่งในหมู่บ้าน เผอิญไทรต้นนี้นางสุชาดาลูกสาวคหบดีผู้มั่งคั่งในละแวกนั้น ได้เคยมาบนบานศาลกล่าวไว้ว่า ขอให้ได้ลูกชาย (ลูกชายคนนี้คือพระยสะ ซึ่งภายหลังย้ายไปอยู่เมืองพาราณสี เกิดเบื่อหน่ายทางกามคุณ ได้พบและฟังธรรมพระพุทธเจ้าจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์) เมื่อได้บุตรชายสมปรารถนาแล้ว ก็ตั้งใจจะมาแก้บนกันเสียที เพราะทิ้งเอาไว้นานหลายปีแล้ว นางได้จัดทำข้าวปายาสหุงต้นด้วยน้ำนมโคสดอย่างดีไว้และให้สาวใช้ล่วงหน้ามาปัดกวาด ทำความสะอาดสถานที่เตรียมการบูชารุกขเทวดาที่ต้นไทร สาวใช้ได้มาเห็นพระพุทธองค์ประทับผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก มีรัศมีดังสีทองแผ่สร้านออกไปทั่วปริมณฑล ก็คิดในใจว่า เป็นเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรนี้มาปรากฏกายให้เห็น เพื่อคอยรับเครื่องพลีกรรม นางดีใจรีบวิ่งกลับไปรายงานให้นายสาวทราบ นางสุชาดาปลื้มใจมาก จึงจัดข้าวปายาสใส่ถาดทองคำมายังต้นไทร


พอได้มาเห็นพระพุทธองค์สมจริงดังคำบอกเล่าของสาวใช้ก็ยิ่งเกิดความปิติยินดีมากขึ้น คิดว่าเป็นรุกขเทวดาแน่แล้ว จึงเข้าไปกราบถวายข้าวปายาส พร้อมทั้งถาดทองราคาแสนกหาปณะ โดยมิได้มีความเสียดายแม้แต่น้อย พระพุทธองค์รับข้าวปายาสจากนางสุชาดาแล้ว ทรงเดินปทักษิณาวรรตต้นไทรสามรอบและตรงไปยังท่าสุปปติฏฐิตะ สรงน้ำชำระกาย แล้วเสด็จกลับมาที่ต้นไทร ปั้นข้าวปายาสเป็นก้อนใหญ่พอประมาณได้ ๔๙ ก้อน แล้วเสวยจนหมด พระกระยาหารมื้อนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นอาหารที่ทำให้พระองค์อิ่มอยู่ได้ถึง ๔๙ วัน โดยมิต้องกังวลต่อความหิวใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อเสวยแล้ว ทรงนำถาดทองไปลอยน้ำ อธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า หากจะได้ตรัสรู้อนุตตรธรรมแล้วไซร้ ก็ขอให้ถาดลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป ถ้าจะไม่ได้ตรัสรู้ ก็ขอให้ถาดลอยตามน้ำไปเถิด ปรากฏว่าถาดได้ลอยทวนน้ำขึ้นไปด้วยแรงอธิษฐานแล้วจมลงสู่นาคพิภพ รวมกับถาดสามใบของอดีตพระพุทธเจ้า คือ พระกกุสันโธ พระโคนาคม และพระกัสสป เมื่อลอยถาดทองแล้ว เวลาใกล้เที่ยง จึงเสด็จกลับมาพักที่ดงต้นสาละเพื่อหลบแดดตอนเที่ยง จวบจนบ่ายตะวันคล้อยจึงเสด็จข้ามแม่น้ำเนรัญชรามายังอีกฝากหนึ่งคือตรงมายังต้นศรีมหาโพธิ์ น้ำในแม่น้ำขณะนั้นคงจะไม่ลึกนัก และแห้งเป็นบางแห่งเพราะหน้าร้อน


ระหว่างทางก่อนถึงต้นโพธิ์ ได้พบคนตัดหญ้า ชื่อโสตถิยะ (หรือสวัสดิกะ) เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระองค์ถวายฟ่อนหญ้ากุสะ (คล้ายๆ หญ้าคา) ๘ ฟ่อนเล็กๆ เมื่อทรงรับฟ่อนหญ้าคาแล้ว ก็เอามาปูลาดเป็นสันถัดประทับนั่งบำเพ็ญเพียรที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เพราะที่นี่เป็นทำเลสงบดีกว่าที่อื่นๆ ทรงหันพระพักตร์ไปทางตะวันออก คือแม่น้ำเนรัญชรา ซึ่งในสมัยนั้นไม่ค่อยมีบ้านช่อง จึงมองเห็นแม่น้ำได้อย่างถนัด แสงเดือนในคืนวันเพ็ญสาดลงสู่สายน้ำเป็นประกายแวววับ ทำให้เกิดปิติสุขได้อย่างดี ขณะนั้นพญาวสวัตตีมาร เห็นพระมหาบุรุษจะพ้นจากอำนาจของตน จึงยกทัพมารบกวนรังแกมิให้ทรงตั้งจิตมั่นเป็นสมาธิได้ พระองค์ได้น้อมพระหฤทัยถึงบารมีธรรม ๑๐ ทัศ ซึ่งทรงบำเพ็ญมาแล้วในอดีต มิได้สะดุ้งตกพระทัยแต่อย่างใด พญามารได้ใช้อาวุธร้ายแรงขว้างไปเพื่อหวังสังหารพระองค์ แต่อาวุธทั้งหลายเหล่านั้นกลับกลายเป็นดอกไม้ และฉัตรกั้นกางอยู่เหนือพระเศียรอย่างน่าอัศจรรย์ พญามารไม่รู้จะทำอย่างไรก็ได้แต่ร้องตู่ว่ารัตนบัลลังก์นี้ เป็นสมบัติของตน พระองค์จึงทรงอธิษฐาน โดยเอามือขวาจับพื้นดินขอให้แม่ปฐพีเป็นสักขีพยาน (ภาพพระพุทธรูปปางมารวิชัย) ทรงเสี่ยงพระบารมีขันติธรรมเข้าช่วยผจญมาร แม่พระธรณีเทพยดาผู้รักษาพื้นแผ่นดินบริเวณนั้น จึงแปลงเพศเป็นหญิงสาวขึ้นมาบีบมวยผม เกิดน้ำไหลท่วมกองทัพพญามารให้พ่ายแพ้ไปหมดสิ้นก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดิน ทำให้พระองค์ตั้งจิตมั่นเป็นสมาธิได้ลึกและแน่วแน่นับแต่บัดนั้น เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะเป็นการเบิกทางไปสู่การตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธะในราตรีนั้น ตรงกับวันวิสาขปุรณมี ดิถึเพ็ญเดือน ๖ แห่งปีก่อนพุทธศก ๔๕ (และชาวพุทธเรายึดถือเอาวันนี้เป็นวันวิสาขบูชา เพื่อเป็นที่ระลึกนึกถึงวันคล้ายวันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในทางศาสนาพิธี) ทรงพระชนมายุได้ ๓๕ ชรรษา





ศากยวงศ์, • พระโพธิสัตว์จุติ, • ประสูติ, • คำทำนายโหราจารย์,  • เสด็จออกบรรพชา, • ตรัสรู้, • เสวยวิมุติสุข, • ปฐมเทศนา, • ๔๕ พรรษา, • ปรินิพพาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น