วันอังคาร

เถรวาท-มหายาน ต่างกันอย่างไร

 คำถามที่คนจำนวนมากมักถามกัน: พุทธมหายานกับเถรวาทต่างกันอย่างไร ? หากต้องการเห็นสิ่งต่าง ๆ ใน ๒ นิกาย เราต้องย้อนกลับไปที่ประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาและพิจารณาการเกิดขึ้นและการพัฒนาของนิกายทั้ง ๒ นี้

หลังจากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์มีพระชันษา ๓๕ ชันษาจนถึงพระมหาปรินิพพานเมื่อชันษา ๘๐ ท่านใช้ชีวิตในการเทศนาสั่งสอนด้วยความทุ่มเททั้งกลางวันและกลางคืน พระพุทธองค์จะใช้เวลาในการนอนเพียงแค่วันละ ๒ ชั่วโมง การนอนของพุทธองค์ก็เพียงเพื่อให้กายดำรงอยู่ได้โดยปกติเท่านั้น ไม่ใช่การนอนเพราะความอยากนอน

พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนธรรมะกับคนทุกประเภท กษัตริย์, เจ้าชาย, พราหมณ์, ชาวนา, ขอทาน ฯ โดยพระพุทธเจ้าจะเป็นผู้ตรวจสอบว่าจะใช้วิธีการใด คุณลักษณะใดในการสอน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นลีลาในการสอนของพุทธองค์




คำสอนของพุทธองค์ทั้งหมดเรียกว่าพุทธวจนะ มี ๒ ส่วนคือ
ส่วนแรก คือการวางกฏระเบียบต่างๆเรียกว่าพระวินัย
ส่วนสอง คือคำเทศนาหรือวาทกรรมต่างๆเรียกว่าพระธรรม

การประชุมสงฆ์หรือการสังคายนาครั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจให้ตรงกันเกี่ยวกับหลักคำสอนและมีแนวทางปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

การสังคายนาครั้งที่ ๑

สามเดือนหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ได้มีการประชุมคณะสงฆ์เพื่อทำการสังคายนาที่กรุงราชคฤห์ โดยมีพระมหากัสสปะซึ่งเป็นที่เคารพสูงสุดและเป็นประธานในการประชุม โดยคัดเลือกพระอรหันต์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านที่แตกต่างกันคือด้านของพระธรรมและด้านของพระวินัย ตัวอย่างท่านหนึ่งคือพระอานนท์ซึ่งเป็นพระสหายและอัครสาวกของพระพุทธเจ้าที่อยู่รับใช้ใกล้ชิดพุทธองค์ที่สุดเป็นเวลานานถึง ๒๕ ปี พระอานนท์สามารถท่องสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสได้ด้วยความทรงจำได้ทั้งหมด อีกท่านหนึ่งคือพระอุบาลี อัครสาวกที่ทรงจำพระวินัยได้ทั้งหมด ในการสังคายนาครั้งแรกมีเพียงธรรมสองส่วนนี้เท่านั้นคือ พระธรรมและพระวินัย ยังไม่ไม่มีการจัดหมวดหมู่พระอภิธรรมร่วมอยู่ด้วย ในการสังคายนาครั้งที่ ๑ มีการอภิปรายเกี่ยวกับพระวินัยกฎ โดยก่อนที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พุทธองค์ได้กล่าวกับพระอานนท์ว่า ในกาลต่อไปหากหมู่คณะสงฆ์ต้องการแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนธรรมวินัยที่พุทธองค์บัญญัติกฏข้อเล็กน้อยก็สามารถทำได้ แต่ในครั้งนั้นพระอานนท์ท่านก็ยังไม่บรรลุอรหันต์ จิตใจยังมีแต่ความเศร้าโศกเพราะพระพุทธเจ้ากำลังจะปรินิพพานจึงไม่ได้คิดถามพระพุทธเจ้าว่ากฎวินัยเล็กน้อยคืออะไร 

ในขณะที่หมู่สงฆ์ในการสังคายนานั้นก็ไม่สามารถตกลงกันได้ว่าการกำหนดหรือจะเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เล็กน้อย จะเปลี่ยนอะไรหรืออย่างไรได้บ้าง ในที่สุดพระมหากัสสปะจึงวินิจฉัยว่าไม่ควรเปลี่ยนแปลงกฎวินัยที่พระพุทธเจ้าวางไว้และไม่ควรเพิ่มกฎขึ้นมาใหม่ ให้ดำรงค์ไว้ตามเดิมทั้งหมดที่พุทธองค์ได้บัญญัติไว้ดีแล้ว ในการสังคายนาครั้งนี้พระธรรมถูกแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆและแต่ละส่วนได้รับมอบหมายให้ภิกษุผู้อาวุโสเป็นผู้ถ่ายทอดให้แก่ลูกศิษย์ของตนด้วยการท่องจำ และเมื่อมีการตรวจสอบความถูกต้องก็จะมาสวดสาธยายธรรมหรือต่อคำกัน ซึ่งหากท่องจำได้ครบถ้วนถูกต้องก็จะสวดหรือสาธยายออกมาได้เหมือนกัน หากพบความไม่เหมือนกันก็จะทำการแก้ไขตรวจสอบว่าของใครถูก ของใครไม่ถูก (นี้จึงเป็นเหตุที่ต้องมีบทสวดมนต์)

การสังคายนาครั้งที่ ๒

เกิดขึ้นหลังจากการสังคายนาครั้งที่ ๑ ราวหนึ่งร้อยปี การสังคายนาครั้งนี้นี้จัดขึ้นเพื่อหารือเกี่ยวกับพระวินัยบางข้อ โดยถือว่าการสังคายนาครั้งที่ ๑ หลังมหาปรินิพพานของพระพุทธเจ้า สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ทางสังคมยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ในช่วง ๑๐๐ ปีต่อมา มีการเปลี่ยนแปลงไปมากจึงสมควรเปลี่ยนแปลงกฏวินัยเล็กๆน้อยได้ แต่ก็มีภิกษุอีกจำนวนหนึ่งเห็นว่าพระวินัยที่พุทธองค์บัญญัติไว้ดีแล้ว ไม่สมควรมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ ในขณะที่ภิกษุอีกกลุ่มก็ยืนยันที่จะเปลี่ยนกฏในพระวินัยบางข้อ ในที่สุดภิกษุกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ขอแยกตัวออกมาตั้งคณะสงฆ์ใหม่เป็น มหาสังฆิกะ โดยแยกตัวออกไปทำสังคายนาต่างหาก ในระยะแรกนิกายนี้ไม่ได้รุ่งเรืองอะไรมาก เนื่องจากมีความขัดแย้งกับฝ่ายเถรวาทอย่างรุนแรง แต่ต่อมากลับมีการแพร่หลายมีผู้นับถือมากขึ้นที่เมืองปาฏลีบุตร เวสาลี แคว้นมคธ ไปจนถึงอินเดียใต้ และยังมีนิกายที่แยกแตกตัวออกไปอีก ๕ นิกาย คือ นิกายโคกุลิกวาท นิกายเอกัพโยหาริกวาท นิกายปัญญตติกวาท นิกายพหุสสุติกวาท และนิกายเจติยวาท และถือเป็นต้นกำเนิดของมหายานในปัจจุบัน

การสังคายนาครั้งที่ ๓ 

หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไป ๒๓๔ ปี ในช่วงเวลาของจักรพรรดิอโศก การสังคายนาครั้งที่สามถูกจัดขึ้นเพื่อหารือเกี่ยวกับความแตกต่างของความคิดเห็นในหมู่ภิกษุสงฆ์ของนิกายที่แตกต่างกัน ความแตกต่างนี้ไม่ได้ต่างกันในเฉพาะพระวินัยแต่ยังรวมถึงความแตกต่างในพระธรรมด้วย ในตอนท้ายของสภานี้พระโมคคัลลีบุตรติสสะ ประธานสังคายนาได้รวบรวมหนังสือชื่อกถาวัตถุเพื่อหักล้างมุมมองและทฤษฎีที่ผิด ๆ ที่เป็นเท็จซึ่งมีอยู่ในบางนิกาย (พระอภิธรรมปิฎกรวมอยู่ในกถาวัตถุของสภานี้)

หลังจากการสังคายนาครั้งที่ ๓ ลูกชายของพระเจ้าอโศกที่บวชเป็นภิกษุนามว่าพระมหินทะได้นำ พระธรรมที่ถูกรวบรวมไปยังศรีลังกาพร้อมกับข้อคิดที่อ่านจากการสังคายนาครั้งที่ ๓ นี้ไปเก็บรักษาไว้ที่ลังกาจนถึงทุกวันนี้โดยสมบูรณ์ครบถ้วนทุกหน้า ด้วยภาษาบาลีซึ่งมีพื้นฐานมาจากภาษามคธที่พระพุทธเจ้าตรัส

ที่มาของมหายาน

ประมาณ พ.ศ. ๕๐๐-๖๐๐ นิกายมหายานและหินยานทั้งสองนิกายปรากฏอยู่ใน สัทธรรมปุณฑริกสูตร เป็นพระสูตรที่สำคัญในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนิกชนมหายานโดยเฉพาะในประเทศเอเชียตะวันออก พระสูตรนี้มีสาระสำคัญกล่าวถึงยาน ๓ อย่าง อันจะพาสรรพสัตว์ข้ามพ้นห้วงวัฏสงสารได้ ประกอบด้วย
๑. สาวกยาน (ศฺราวกยาน)
๒. ปัจเจกพุทธยาน (ปฺรตฺเยกพุทฺธยาน)
๓. โพธิสัตวยาน (โพธิสตฺตฺวยาน)

ยานทั้งสามนี้มิใช่หนทาง ๓ สายที่แตกต่างกัน อันจะนำไปสู่เป้าหมาย ๓ อย่างต่างกันแต่ทว่าทั้ง ๓ ยานนี้เป็นหนทางหนึ่งเดียวที่จะนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

ประมาณ พ.ศ. ๖๐๐-๗๐๐ มหายานได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนในนาคารชุนะ เป็นตำราปรัชญาของมหายานเกี่ยวกับปรัชญาศูนยตวาท ที่กล่าวถึงทางสายกลางของทั้งสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่ามีอยู่อย่างเที่ยงแท้) และอุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่าขาดสูญ) และปรัชญานี้พิสูจน์ถึงทุกสิ่งเป็นโมฆะ เป็นสูญยตา

ประมาณ พ.ศ. ๘๐๐-๙๐๐ มีนิกายโยคาจาร หรือนิกายวิชญานวาท นำโดยพระอสังคะและพระวสุพันธุ ภิกษุทั้ง ๒ เป็นผู้เผยแผ่คำสอนแนวอภิธรรม มีจารึกจากบันทึกของพระถังซำจั๋ง ระบุว่า แรกเริ่มนั้น ท่านอสังคะเป็นพระในนิกายมหีศาสกะ ต่อมาเกิดความซาบซึ้งในคำสอนของฝ่ายมหายาน ขณะที่น้องชายต่างบิดาของท่านคือ ท่านวสุพันธุ แรกเริ่มนั้นเป็นพระในสังกัดนิกายวรวาทสตวาท แต่ต่อมาท่านแปลงเป็นฝ่ายมหายาน หลังได้พบกับ พระอสังคะพี่ชายของท่าน

พุทธศาสนานิกายเถรวาทเข้าสู่ศรีลังกาในช่วงประมาณ พ.ศ. ๗๐๐-๘๐๐ นิกายหินยานยังถูกเผยแผ่ในอินเดียและมีการดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระ โดยปราศจากรูปแบบของพุทธศาสนาดั้งเดิมที่มีอยู่ในศรีลังกา (ปัจจุบันนิกายหินยานได้สูญหายไปจากโลกนี้แล้ว) ดังนั้นในปีพ.ศ ๒๔๙๓ สมาคมโลกของชาวพุทธเปิดตัวในโคลัมโบตัดสินใจเป็นเอกฉันท์ว่านิกายหินยานควรถูกยกเลิกไป นี่คือประวัติโดยย่อของเถรวาทมหายานและหินยาน

มหายานและเถรวาท

ทีนี้มหายานกับเถรวาทต่างกันอย่างไร?
จากการศึกษาพบว่าเถรวาทกับมหายานแทบจะไม่แตกต่างกันเลยในเรื่องของคำสอนพื้นฐาน

- ทั้งสองยอมรับพระโคดมพุทธเจ้าเป็นบรมครู
- อริยสัจสี่เหมือนกันทุกประการในทั้งสองนิกาย
- ทางสายกลาง มรรคมีองค์ ๘ เหมือนกันทุกประการ
- ปฎิจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา เหมือนกันทั้งสองนิกาย
- ทั้งสองปฏิเสธความเชื่อว่าเอกภพนี้มีพระผู้สร้าง
- ทั้งสองยอมรับกฏไตรลักษณ์ 
- ทั้งสองยอมรับศีล สมาธิ ปัญญา เป็นทางสู่นิพพาน

นี่คือคำสอนที่สำคัญที่สุดของพระพุทธเจ้าและเป็นที่ยอมรับของทั้งสองโนิกายโดยไม่มีการขัดแย้งกัน

มีเฉพาะบางจุดที่แตกต่างกัน สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ อุดมคติของพระโพธิสัตว์ หลายคนกล่าวว่ามหายาน มีไว้เพื่อความเป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งนำไปสู่ความเป็นพุทธะในขณะที่เถรวาทนั้นมีไว้สำหรับสาวกผู้ต้องการการหลุดพ้นจากวัฎสงสารเฉพาะตัวเอง

เถรวาทพิจารณาพระโพธิสัตว์ในฐานะมนุษย์ แต่มหายานให้ความสำคัญและยกย่องกับการบำเพ็ญเยี่ยงพระโพธิสัตว์ การอุทิศทั้งชีวิตเพื่อสร้างสมบารมีให้เต็ม เพื่ออุบัติเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่เพื่อนำความผาสุกมาสู่โลกอีกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น