๑๑. อายุของสัตว์ในภูมิทั้ง ๓๑

อายุของสัตว์ในภูมิ ๓๑ ต่อไปจะได้พรรณนาถึงอายุของเทวดาพรหมทั้งหลาย จะได้เห็นว่าการได้ไปเสวยสุขที่โลกสวรรค์นั้นมีอายุเท่าไรบ้าง และอายุของสัตว์นรกว่ามี อายุเสวยผลอกุศลกรรมเท่าไรบ้าง ทำบุญแล้วอธิษฐานให้เกิดในสวรรค์ ในอรรถกถาธรรมบทกล่าวเรื่องเวลาของสวรรค์เทียบกับมนุษย์ไว้ ดังนี้

ในดาวดึงส์เทวโลกเทวบุตรองค์หนึ่งชื่อว่า มาลาภารี ไปเที่ยวชมอุทยานพร้อมกับหมู่เทพอัปสร เทพธิดาองค์หนึ่งจุติ(ตาย)ในขณะที่กำลังนั่งอยู่บนกิ่งต้นไม้ให้ดอกไม้หล่นจากต้น สรีระของนางดับหายไปเหมือนอย่างเปลวประทีปดับ นางถือปฏิสนธิในตระกูลหนึ่งในกรุงสาวัตถีและระลึกชาติได้ว่า เป็นภรรยาของมาลาภารีเทวบุตร นางตั้งความปรารถนาจะไปเกิดในสำนักของเทพสามีอีก ขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี นางมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทำการบูชาพระรัตนตรัย ทำบุญกุศลต่างๆ และตั้งความปรารถนาอย่างเดียวนั้นตั้งแต่ยังเยาว์วัย จนถึงได้นามว่า ปติปูชิกา แปลว่า บูชาเพื่อสามี เมื่อเจริญวัยก็มีสามี คนทั้งหลายก็เข้าใจว่าเป็นที่สมปรารถนาแล้ว นางมีบุตรหลายคนโดยลำดับ ได้ตั้งหน้าทำบุญกุศลต่างๆอยู่เป็นนิตย์ ในวันสุดท้ายของชีวิต เมื่อฟังธรรมรักษาสิกขาบทแล้ว ได้ถึงแก่กรรมด้วย โรคปัจจุบัน บังเกิดในสำนักเทพสามีในสวนสวรรค์นั้นแหละ ขณะนั้น มาลาภารีเทวบุตรก็กำลังอยู่ในอุทยานหมู่เทพอัปสรกำลังเก็บร้อยดอกไม้กันอยู่ เทวบุตรได้ทักถามว่านางหายไปไหนแต่เช้า นางได้ตอบว่าจุติแล้วไปเกิดในมนุษย์ ได้เล่าเรื่องของนางในมนุษย์โดยตลอดและได้เล่าถึงความตั้งใจของนางเพื่อที่จะมาเกิดอีกในสำนักของเทพสามี บัดนี้ก็ได้มาเกิดสมปรารถนาด้วยอำนาจบุญกุศลและความตั้งใจ เทวบุตรถามถึงกำหนดอายุมนุษย์ เมื่อได้รับตอบว่าประมาณร้อยปีเกินไปมีน้อย ได้ถามต่อไปว่าหมู่มนุษย์มีอายุเพียงเท่านี้ พากันประมาทเหมือนอย่างหลับ หรือพากันทำบุญกุศลต่างๆ เทพธิดาตอบว่า พวกมนุษย์โดยมากพากันประมาทเหมือนอย่างมีอายุตั้งอสงไขย เหมือนอย่างไม่แก่ ไม่ตาย เทวบุตรได้เกิดความสังเวชใจ ความจากพระธรรมบท มุ่งเตือนใจให้ไม่ประมาท เพราะทุกๆ คนจะต้องตาย ขณะที่ยังไม่อิ่มยังเพลิดเพลินอยู่ในกาม เหมือนอย่างนางเทพธิดาเพลินเก็บดอกไม้ต้องจุติ(ตาย)ทันทีในสวนสวรรค์นั้น 
 

ใน ติกนิบาต แสดงอายุสวรรค์เทียบอายุมนุษย์ไว้ว่า
ห้าสิบปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ๓๐ คืนวัน เป็นหนึ่งเดือนสวรรค์นั้น ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปีสวรรค์ ห้าร้อยปีทิพย์เป็นประมาณอายุของเทพชั้นจาตุมหาราชิกา เท่ากับเก้าล้านปีมนุษย์

หนึ่งร้อยปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นับเดือนปี เช่นเดียวกัน พันปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นดาวดึงส์ เท่ากับสามโกฏิหกล้านปีมนุษย์ (๓๖,๐๐๐,๐๐๐ ปี) 

สองร้อยปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันสวรรค์ชั้นยามา นับเดือนปี เช่นเดียวกัน สองพันปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นยามา เท่ากับสิบสี่โกฏิสี่ล้านปีมนุษย์ (๑๔๔,๐๐๐,๐๐๐ ปี) 

สี่ร้อยปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันสวรรค์ชั้นดุสิต นับเดือนปีเช่นเดียวกัน สี่พันปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นดุสิต เท่ากับห้าสิบเจ็ดโกฏิหกล้านปีมนุษย์ (๕๗๖,๐๐๐,๐๐๐ ปี) 

แปดร้อยปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันสวรรค์ชั้นนิมมานรตี นับเดือนปีเช่นเดียวกัน แปดพันปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นนิมมานรตี เท่ากับสองร้อยสามสิบโกฏิกับสี่ล้านปีของมนุษย์ (๒,๓๐๔,๐๐๐,๐๐๐ ปี)

หนึ่งพันหกร้อยปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี นับเดือนปีเช่นเดียวกัน หนึ่งหมื่นหกพันปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพ ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี เท่ากับเก้าร้อยยี่สิบเอ็ดโกฏิกับหกล้านปีมนุษย์ (๙,๒๑๖,๐๐๐,๐๐๐ปี)

ส่วนเทพชั้นพรหมโลกยิ่งมีอายุมากขึ้นไปอีก ดังต่อไปนี้
๑. พรหมปาริสัชชา มีอายุเท่าส่วนที่สามของกัป คือหนึ่งในสามของ กัป
๒. พรหมปุโรหิต มีอายุกึ่งกัป
๓. มหาพรหม มีอายุหนึ่งกัป
๔. ปริตตาภาพรหม มีอายุสองกัป
๕. อัปปมาณาภาพรหม มีอายุสี่กัป
๖. อาภัสสราพรหม มีอายุแปดกัป
๗. ปริตตสุภาพรหม มีอายุสิบหกกัป
๘. อัปปมาณสุภาพรหม มีอายุสามสิบสองกัป
๙. สุภกิณหาพรหม มีอายุหกสิบสี่กัป
๑๐. เวหัปผลาพรหม และ อสัญญสัตพรหม มีอายุห้าร้อยกัป
๑๑. อวิหาพรหม มีอายุพันกัป
๑๒. อตัปปาพรหม มีอายุสองพันกัป
๑๓. สุทัสสาพรหม มีอายุสี่พันกัป
๑๔. สุทัสสีพรหม มีอายุแปดพันกัป
๑๕. อกนิฏฐาพรหม มีอายุหนึ่งหมื่นหกพันกัป 

ส่วนอรูปพรหมอีก ๔ ชั้นยิ่งมีอายุมากขึ้นไปอีก

อรูปที่หนึ่ง มีอายุสองหมื่นกัป
อรูปที่สอง มีอายุสี่หมื่นกัป
อรูปที่สาม มีอายุหกหมื่นกัป
อรูปที่สี่ มีอายุแปดหมื่นสี่พันกัป

อายุของสัตว์ในนรก
อนึ่ง มีแสดงถึงอายุสัตว์ในนรกเทียบกับอายุในสวรรค์ไว้ว่า


ห้าร้อยปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นคืนวันหนึ่งใน สัญชีวนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุห้าร้อยปีนรกนั้น

พันปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นคืนวันหนึ่งใน กาฬสุตตนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุหนึ่งพันปีนรกนั้น
สองพันปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นยามา เป็นคืนวันหนึ่งใน สังฆาตนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุสองพันปีนรกนั้น

สี่พันปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นคืนวันหนึ่งใน โรรุวนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุสี่พันปีนรกนั้น

แปดพันปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี เป็นคืนวันหนึ่งใน มหาโรรุวนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุแปดพันปีนรกนั้น

หนึ่งหมื่นหกพันปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี เป็นคืนวันหนึ่งใน ตาปนนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุหนึ่งหมื่นหกพันปีนรกนั้น

มหาตาปนนรก มีอายุกึ่งอันตรากัป
อเวจีนรก มีอายุหนึ่งอันตรกัป
 
การนับจำนวนเรื่องกาลเวลาจากคัมภีร์ต่างๆ สรุปได้เป็น ๒ วิธี คือ
๑. นับด้วยจำนวนสังขยา คือ นับจำนวนด้วยตัวเลข เช่น ๑,๒,๓,..... เป็นต้น
๒. กำหนดด้วยอุปมา คือ กำหนดด้วยเครื่องกำหนดอย่างใดอย่างหนึ่ง ในเมื่อมากเกินไปที่จะนับด้วยจำนวนตัวเลข การกำหนดในวิธีที่ ๒ นี้ เป็นที่มาของคำว่า กัป
 
กัปมี ๔ อย่าง คือ
๑. อายุกัป
๒. อันตรกัป
๓. อสงไขยกัป
๔. มหากัป

๑. อายุกัป หมายถึง กาลเวลาแห่งอายุขัยตามยุคตามสมัย เช่น อายุขัยของคนในยุคปัจจุบัน มีอายุขัยประมาณ ๗๕ ปี หรืออย่างเช่น ในคราวที่พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขารว่าอีกสามเดือนจะเสด็จปรินิพพาน หลังจากที่พระอานนท์ทราบแล้วจึงกราบทูลอาราธนาขอให้เสด็จอยู่กัปหนึ่ง เพราะได้เคยสดับพระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ที่เจริญอิทธิบาท ๔ ประการ ถ้าตั้งใจจะดำรงรูปกายอยู่ก็จะอยู่ได้กัปหนึ่ง หรือเหลือกว่ากัปหนึ่งในช่วงนั้นมนุษย์ก็มีอายุขัยประมาณร้อยปี 
๒. อันตรกัป การนับอายุ คือ ในสมัยต้นกัปมนุษย์มีอายุขัยยืนยาวมาก ถึงอสงไขยปี (มากจนนับจำนวนปีไม่ได้) ต่อมาอายุขัยของมนุษย์ค่อยๆ ลดลงตามลำดับจนเหลือแค่ ๑๐ ปี เมื่อลดลงถึงสิบปีแล้วก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปอีก จนถึงอสงไขยปีอย่างเก่าอีก เป็นอย่างนี้เท่ากับ ๑ รอบ เรียกว่า อันตรกัป
๓. อสงไขยกัป จำนวนอันตรกัปดังที่กล่าวไว้ในข้อที่ ๒ เป็นอย่างนั้น ไปอีกจนครบ ๖๔ อันตรกัป เท่ากับ ๑ อสงไขยกัป (การนับจำนวนอสงไขย กัป มีการกล่าวไว้หลายนัย บ้างก็กล่าวว่า ๒๐ อันตรกัป เป็น ๑ อสงไขยกัป บ้างก็ว่า ๘๐ อันตรกัป เป็น ๑ อสงไขยกัป)
๔. มหากัป มีวิธีนับคือ ๔ อสงไขยกัป = ๑ มหากัป มหากัปหนึ่งๆ มีเวลายาวนานมาก จนไม่สามารถประมาณได้ว่าเป็นเวลานานสักเท่าใด มี อุปมาว่า มีภูเขาหินใหญ่ยาวโยชน์หนึ่งกว้างโยชน์หนึ่ง (๑ โยชน์ = ๑๖ กิโลเมตร) ไมมีช่องไม่มีโพรง เป็นก้อนหินแท่งทึบ ถึงร้อยปีหนหนึ่งมีบุรุษใช้ ผ้าทอที่แคว้นกาสี (ผ้าเนื้อดี) ร้อยปีมาลูบครึ่งหนึ่ง ภูเขาหินนั้นก็จะพึงราบเรียบไปก่อน แต่กัปยังไม่สิ้น อีกอุปมาหนึ่งว่า มีพื้นที่กว้างและยาวร้อยโยชน์ มีกำแพงสูงร้อยโยชน์ ภายในเต็มไปด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาดแน่นขนัด มี บุรุษมาหยิบพันธุ์ผักกาดไปเมล็ดหนึ่งทุกๆ ร้อยปี กองเมล็ดพันธุ์ผักกาดนั้นก็จะหมดไปก่อน ส่วนกัปยังไม่สิ้น กัปที่ยาวมากดั่งนี้ เรียกว่า มหากัป

อธิบายคำว่ากัปเสื่อม หมายความว่าระยะเวลาที่ โลกวินาศ คือสลาย หรือดับ ความวินาศของโลกมี ๓ อย่างคือ วินาศเพราะไฟ วินาศเพราะน้ำ วินาศเพราะลม

โลกวินาศเพราะไฟ จะเกิด มหาเมฆกัปวินาศ คือเกิดฝนตกใหญ่ทั่วโลกก่อน ครั้นฝนนั้นหยุดแล้วจะไม่มีฝนตกอีก จะเกิดความแห้งแล้งไปโดยลำดับ จะมีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๒ ปรากฏขึ้น จนถึงดวงที่ ๗ จึงจะเกิดไฟประลัยกัลป์ไหม้โลกจนหมดสิ้น อากาศเบื้องบนจะเป็นอันเดียวกับอากาศเบื้องล่างหมายความว่าเหลือ แต่อากาศว่างเปล่า มีความมืดมิดทั่วไปครั้นแล้ว มหาเมฆกัป สมบัติ (ก่อเกิดกัป) จะตั้งขึ้น ฝนจะตกทั่วบริเวณที่ถูกไฟไหม้ ลม จะประคองรวมน้ำฝนให้รวมกันเป็นก้อนกลมเหมือนหยาดน้ำบน ใบบัว แล้วก็แห้งขอดลงไป เป็นไปเช่นนั้นจนปรากฏโลกขึ้นใหม่ จึงถึงวาระที่เรียกว่ากัปเจริญ สัตว์ที่บังเกิดขึ้นเป็นพวกแรก นั้น เป็นพวกพรหมในพรหมโลกชั้นที่ไฟไหม้ขึ้นไปไม่ถึง ลงมาเกิดเป็นพวก โอปปาติกะ เกิดขึ้นทันทีโดยไม่ต้องอาศัยครรภ์มารดา เกิดโตปรากฏขึ้นทีเดียว แล้วพากันบริโภคง้วนดิน (ปฐวิ รส คือเมื่อน้ำแห้งขอด ก็เกิดเป็นแผ่นฝ้าขึ้นในเบื้องบน มีสีงาม มีรสหอมหวาน) สะเก็ดดิน (ปฐวีปัปปฏก) เครือดิน (ปทาลตา) หมดไปโดยลำดับ จากนั้นจึงบริโภคธัญชาติ เช่น ข้าวสาลีสืบต่อมา สัตว์โลกจำพวกแรกเหล่านั้นจึงมีร่างกายหยาบขึ้นโดยลำดับ จนปรากฏเป็นบุรุษสตรีสร้างบ้านเรือนสืบพันธุ์กันมา ในตอนต้นมีอายุยืนยาวเป็นอสงไขย (นับปีไม่ถ้วน) ต่อมาพากันประพฤติอกุศลกรรมด้วยอำนาจของราคะ โลภะ โทสะ โมหะ มากขึ้น อายุก็ลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุด มีอายุขัย ๑๐ ปี ก็จะถึงความพินาศเป็นส่วนมาก เพราะภัย ๓ อย่าง คือ ศัสตราวุธ โรค ทุพภิกขภัย คือความขาดแคลนอาหาร หรือเรียกว่าถึง สมัย มิคสัญญี แปลว่า มีความสำคัญในกันและกันว่าเหมือนอย่างเนื้อ คือ เห็นกันฆ่ากันเหมือนอย่างเนื้อถึก แต่ก็ยังไม่พินาศกันหมดทั้งโลก ยังมีสัตว์ที่เหลือตายหลบหลีกไป และกลับได้ความสังเวชสลดจิต พากันประพฤติกุศลกรรมมากขึ้น ก็พากันเจริญอายุมากขึ้นด้วยอำนาจกุศลโดยลำดับจนถึงอสงไขย แล้วกลับอายุถอยลงมาด้วยอำนาจอกุศลกรรมจนถึงอายุขัย ๑๐ ปี แล้วก็กลับเจริญอายุขึ้นใหม่อีก วนขึ้นวนลงอยู่อย่างนี้ จนกว่า จะถึงคราวโลกวินาศอีกครั้งหนึ่ง ระยะเวลาทั้งหมดนี้จัดเป็นกัป ย่อยทั้ง ๔ ดังนี้ คือ 

๑. สังวัฏฏอสงไขยกัป แปลว่า กัปเสื่อม ตั้งแต่เกิดมหาเมฆกัปวินาศ ฝนตกใหญ่จนถึง ไฟประลัยกัลป์ไหม้โลกจนหมดสิ้น ดับลงแล้ว
๒. สังวัฏฏฐายีอสงไขยกัป แปลว่า กัปถึงความพินาศแล้ว และ ความพินาศนั้นยังอยู่ ตั้งแต่ไฟไหม้โลกดับ จนถึงมหาเมฆกัปสมบัติ ฝนตกใหญ่ เริ่มก่อกำเนิดโลกขึ้นใหม่
๓. วิวัฏฏอสงไขยกัป แปลว่า กัปเจริญ คือ กัปที่กำลังเจริญขึ้นไปตามลำดับ ตั้งแต่มหาเมฆกัปสมบัติ จนถึงปรากฏดวงจันทร์ดวงอาทิตย์
๔. วิวัฎฏฐายีอสงไขยกัป แปลว่า กัปที่เจริญแล้ว และความเจริญนั้นยังอยู่ ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงมหาเมฆกัปวินาศบังเกิดขึ้นอีก

โลกวินาศด้วยน้ำ เกิดมหาเมฆกัปวินาศขึ้นเช่นเดียวกันก่อน แล้วจึงเกิดมหาเมฆ ทำให้ฝนตก ฝนนั้นเป็นน้ำด่างตกลงมาเป็นน้ำประลัยกัลป์ ย่อยโลกให้วินาศไปเช่นเดียวกับไฟไหม้โลก

โลกวินาศด้วยลม เกิดมหาเมฆกัปวินาศขึ้นก่อนแล้วเกิดลมกัป วินาศเป็นลมประลัยกัลป์ พัดผันโลกให้ย่อยยับเป็นจุณวิจุณไป เช่นเดียวกับไฟไหม้โลก ความวินาศของโลก จะวินาศด้วยไฟ ๗ ครั้ง แล้ววินาศด้วยน้ำ ๑ ครั้ง เป็นไปอย่างนี้ ๗ รอบ พอถึงรอบที่ ๘ ก็จะถูกทำลายด้วยลม
 

ที่กล่าวมาในเรื่องของเวลาแห่งชีวิตของสัตว์บุคคลทั้งหลายใน ๓๑ ภูมิ ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ มีอายุขัยแตกต่างกันไปตามภูมิ บางภูมิมีอายุขัยนานมากนับเป็น ๘๔,๐๐๐ กัป ยังมีพระพุทธภาษิตที่แสดงเรื่องกาลเวลาไว้ว่า

กาลคือเวลาย่อมกิน สรรพสัตว์พร้อมทั้งตัวเอง ฉะนั้นจะเกิดเป็นเทพชั้นไหนก็ต้องถูกเวลากลืนกิน คือต้องดับ ไม่มีที่จะสถิตอยู่เป็นนิรันดร แต่อาจจะมีอายุนานนักหนาได้โดยเทียบกับเวลาของมนุษย์นี้ ซึ่งความจริงหาใช่เร็วหรือช้าไม่ เป็นเวลาที่พอเหมาะตามกำหนดสำหรับชั้นนั้นๆ พระพุทธศาสนาได้แสดงถึงที่ซึ่งไม่มีกาลเวลาไว้ด้วยว่า คือ ที่ซึ่งไม่มี ตัณหา(ความดิ้นรนทะยานอยาก) เปรียบไว้เหมือนลูกศรที่เสียบจิตใจ “ใครก็ตามอยู่ในโลกหรือภูมิไหนก็ตาม เมื่อถอนลูกศรที่เสียบใจนี้ออกเสียได้ ก็ย่อมบรรลุถึงที่ซึ่งไม่มีกาลเวลา ที่ซึ่งจะพึงบรรลุด้วยจิตใจเท่านั้น ส่วนร่างกายเป็นของโลกต้องตกอยู่ในอำนาจของเวลา” การระงับได้ซึ่งตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก จิตใจที่ไม่ดิ้นรน ย่อมไม่เกี่ยวกับเวลาแต่อย่างใดเลย คือไม่เกี่ยวกับอดีต ปัจจุบัน อนาคต อะไรทั้งสิ้น จิตที่อบรมแล้วย่อมพ้นจากอำนาจของเวลา จิตที่อบรมจนข้ามพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้แล้วขณะนั้นย่อมไม่มีกาลไม่มีเวลา เป็นอกาลิโก ทั้งหมดคือเรื่องราวของสังสารวัฏ หรือ ภูมิทั้ง ๓๑ ที่เวียนว่ายตายเกิดไม่มีสิ้นสุด บางภูมิก็มีแต่ทุกข์แสนสาหัส บางภูมิก็เสวยสุขอย่างเหลือล้น แต่ก็ไม่สามารถทำให้เราพ้นจากทุกข์ไปได้

หนทางเดียวที่จะพ้นไปจากทุกข์ได้ ต้องทำให้พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด ด้วยการเจริญวิปัสสนาขจัดขัดเกลากิเลสให้หมดโดยสิ้นเชิงเพื่อเข้าสู่สภาวะ นิพพาน