วันพุธ

จิตกับตัณหา

ลำดับนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า ดูกรอานนท์ เราตถาคตจะแสดงในข้ออันเป็นที่สุดแต่โดยย่อ ๆ พอให้เข้าใจง่ายที่สุดนั้นก็คือ จิตกับตัณหา

จิตนั้นจำแนกออกไปเรียกว่ากองกุศลคือกองสุข ตัณหานั้นจำแนกออกไปเรียกว่ากองอกุศลคือกองทุกข์

ต้นเหง้าเค้ามูลแห่งทุกข์นั้น ก็คือจิตและตัณหานี้เอง จิตเป็นผู้คิดให้ได้ดีมีสุขขึ้น ส่วนตัณหานั้นก็ให้เกิดเห็นตาม จิตมีความสุขมากขึ้นเท่าใด ตัณหาก็ให้เกิดทุกข์ตามมากขึ้นไปเท่านั้น ดูกรอานนท์ แต่เบื้องต้น เมื่อเราตถาคต ยังไม่รู้แจ้งว่าสุขและทุกข์อยู่ติดด้วยกัน เราก็ถือเอากุศลจิตอันเดียวหมายจักให้เป็นสุขอยู่ทุกเมื่อ ส่วนทุกข์จะไม่ให้มา ก็ตั้งหน้าบำเพ็ญกุศลจิตเรื่อยไป เมื่อได้สุขเท่าใด ทุกข์ก็พลอยเกิดมีเท่านั้น ครั้นภายหลัง เราพิจารณาด้วยญาณจักษุปัญญา และเห็นแจ้งชัดว่าสุขและทุกข์ติดอยู่ด้วยกัน ครั้นรู้แจ้งแล้วก็ตรึกตรองหาอุบายที่จะกำจัดสุขและทุกข์ให้พรากออกจากกันมันแสนยากแสนลำบากเหลือกำลัง จนสิ้นปัญญาหาทางไปทางมาไม่ได้เราตถาคตจึงวางเสียซึ่งสุขคืนให้แก่ทุกข์ คือวางใจให้แก่ตัณหา ครั้นเราวางใจไว้ให้แก่ตัณหาแล้ว ความสุขในพระนิพพานก็เลยเข้ามารับเราให้ถึงนิพพานดิบในขณะนั้นพร้อมกับวางใจไว้ให้แก่ตัณหา

  
ดูกรอานนท์ เมื่อวางใจได้ จึงเป็นอัพยากฤต จึงเรียกชื่อว่าถือเอาอัพยากฤตเป็นอารมณ์ เป็นองค์พระอรหันต์ คือได้เข้าตั้งอยู่ในพระนิพพานด้วยอาการดังนี้.  ลำดับนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ สืบต่อไปอีกว่า ดูกรอานนท์ อันว่าอรหันต์นั้น จะได้มีจำเพาะแต่เราตถาคตพระองค์เดียวก็หามิได้ ย่อมมีเป็นของสำหรับโลก สำหรับไว้โปรดสัตว์โลกทั่วไป ไม่ใช่ของเราตถาคตและของผู้หนึ่งผู้ใดเลย ดูกรอานนท์ เราตถาคตเป็นผู้ไกลจากกิเลสแล้ว จึงได้มาซึ่งพระอรหันต์ บุคคลผู้ใดปราศจากกิเลสแล้ว บุคคลผู้นั้นก็เป็นผู้ได้พระอรหันต์เสมอกันทุกคน บุคคลผู้ใดที่ยังไม่ปราศจากกิเลส ถึงแม้จะอ้อนวอนเราตถาคตว่า อรหันต์ อรหันต์ ดังนี้ จนถึงวันตาย ก็ไม่อาจได้ซึ่งพระอรหันต์เลย เป็นแต่กล่าวด้วยปากเปล่า ๆ เท่านั้น และมาเข้าใจว่าการละกิเลสได้ หรือไม่ได้นั้นไม่เป็นประมาณ เมื่อได้อ้อนวอนหาซึ่งองค์พระอรหันต์เจ้าด้วยปากด้วยใจแล้ว พระอรหันต์เจ้าก็จะนำเราให้เข้าสู่พระนิพพาน เข้าใจเสียอย่างนี้ได้ชื่อว่าเป็น คนหลงแท้ แม้เมื่อตนยังไม่พ้นลามกมลทินแห่งกิเลสแล้วไปอ้อนวอนพระอรหันต์ที่หมดมลทินกิเลสให้มาตั้งอยู่ในตัวตนอันแปดเปื้อนด้วยลามกมลทินแห่งกิเลส จะมีทางได้ มาแต่ไหน เปรียบเหมือนดังมีสระอยู่สระหนึ่ง เต็มไปด้วยของเน่าของเหม็นสารพัดทั้งปวง เป็นสระมีน้ำเน่าเหม็นสาบ เหม็นคาวน่าเกลียดยิ่งนัก และมีบุรุษคนหนึ่งตกอยู่ในสระนั้น หากว่าบุรุษคนนั้นร้องเรียกให้อานนท์ลงไปอยู่ในสระน้ำเน่ากับเขาด้วย อานนท์จะไปอยู่ด้วยกับเขาหรือ ดูกรอานนท์ เราจะบอกให้สิ้นเชิง ถ้าอานนท์ลงไปอยู่ในสระกับบุรุษผู้แปดเปื้อนด้วยน้ำเน่าได้ ดังนั้นองค์พระอรหันตเจ้าก็อาจไปตั้งอยู่กับบุคคลผู้แปดเปื้อนด้วยกิเลสได้เหมือนกัน ถ้าอานนท์ลงไปอยู่ด้วยกับบุรุษแปดเปื้อนไม่ได้ องค์พระอรหันตเจ้าก็ไม่อาจตั้งอยู่กับบุคคลผู้แปดเปื้อนด้วยกิเลสได้เหมือนกันเช่นนั้น
ดูกรอานนท์ท่านจะลงไปอยู่ด้วยกับบุรุษแปดเปื้อนได้หรือไม่ มีพุทธฎีกาตรัสถาม ฉะนี้ ข้าฯ อานนท์จึงกราบทูลว่าลงไปอยู่ด้วยไม่ได้ ถ้าท่านไม่ลงไป บุรุษผู้นั้นก็กล่าววิงวอนท่านอยู่ร่ำไปจะสำเร็จหรือไม่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์ไม่ลงไปบุรุษผู้นั้นก็ทำอะไรแก่ข้าพระองค์ไม่ได้ ความปรารถนาก็ไม่สำเร็จ เป็นแต่วิงวอนอยู่เปล่า ๆ เท่านั้นเอง

ดูกรอานนท์ข้ออุปมานี้ฉันใด บุรุษผู้จมอยู่ในน้ำนั้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้ไม่ปราศจากมลทินลามกแห่งกิเลส พระอรหันต์นั้นเปรียบเหมือนตัวของอานนท์ อานนท์ไม่ลงไปอยู่ด้วยกับบุรุษแปดเปื้อนฉันใด พระอรหันต์ท่านก็ไม่ไปอยู่กับบุคคลผู้แปดเปื้อนด้วยกิเลสฉันนั้น แม้จะวิงวอนด้วยปากด้วยใจสักเท่าไรก็ไม่สำเร็จ พระอรหันต์ท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็น ผู้พ้นทุกข์แล้ว ท่านไม่น้อมเข้าไปหาบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเลย ครั้นบุคคลผู้ใดปรารถนาความสุขแล้ว จงน้อมตัวเข้าไปหาท่าน ท่านก็โปรดให้ได้ความสุข ทุกคนจะเข้าใจว่า พระอรหันต์ท่านเลือกหน้าเลือกบุคคล จะติเตียนอย่างนั้น ไม่ควร ถ้าผู้ใดพ้นจากกิเลสกามและพัสดุกามได้แล้ว ชื่อว่าน้อมตัวเข้าไปหาท่านๆ ก็โปรดนำเข้าสู่พระนิพพาน เสวย สุขอยู่ด้วยท่าน ไม่เลือกหน้าบุคคลเลย แต่ผู้จมอยู่ด้วย กิเลสกาม ละกิเลสไม่ได้ ชื่อว่าไม่น้อมตัวเข้าไปหาท่านเอง ดูกรอานนท์ ถึงตัวเราตถาคต ก็ต้องน้อมตัวเข้าไปหาท่าน ท่านจึงโปรดให้ตถาคตนี้ ได้เป็นครูแก่โลก ดังนี้

เพราะว่าพระอรหันต์ท่านเป็นผู้ดี และจักให้ท่านเข้าไปคบหาคนชั่วนั้นเป็นไปไม่ได้ และผิดธรรมเนียมด้วย สมควรแต่ผู้เลวทรามต่ำช้าจะเข้าไปหาท่านผู้ดี ผู้สูงศักดิ์โดยส่วนเดียว ข้าแต่พระมหากัสสปะผู้มีอายุ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาแก่ ข้าฯอานนท์ ดังนี้แล. ตทนนฺตรํ ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนา สืบไปอีกว่า ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ใดปรารถนาซึ่งพระอรหันต์ ก็พึงยกตัวและห้ามใจให้ห่างไกลจากกองกิเลส เพราะพระอรหันต์ท่านเป็นผู้ไกลจากกิเลส จะบริกรรมแต่ด้วยปากด้วยใจว่าอรหันต์ๆแล้วเข้าใจว่าตนได้พระอรหันต์ เห็นว่าเป็นบุญเป็นกุศลจะได้ความสุข ในมนุษย์และสวรรค์และพระนิพพาน จะทำความเข้าใจอย่างนี้ไม่สมควรพระนามชื่อว่าพระอรหันต์นี้ เราบอกไว้ให้รู้ว่าผู้ไกลจากกิเลสจะถือเอาแต่พระนามว่าอรหันต์ๆ แล้วเข้าใจว่าตนได้สำเร็จเช่นนี้ไม่ควร เพราะคำที่ว่าอรหันต์ใครๆ ก็กล่าวได้ จะมิเป็นพระอรหันต์ก็คือเราตถาคตนี้เอง เหตุที่เราปราศจากกิเลสละกิเลสสิ้นแล้ว เราจึงได้ถึงที่สุดแห่งพระ อรหันต์ องค์อรหันต์กับเราตถาคตก็หากเป็นอันเดียวกัน จะร้องเรียกพระอรหันต์ว่าเป็นตถาคตก็ไม่ผิด หรือจะร้องเรียกเราตถาคตเป็นพระอรหันต์ก็ไม่ผิด ผู้ใดละกิเลสได้สิ้นเชิงแล้ว ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าถึงที่สุดแห่งพระอรหันต์สิ้นด้วยกัน จะถือพระอรหันต์เป็นเราตถาคตองค์เดียวหามิได้ จงเข้าใจองค์แห่งพระอรหันต์ ดังเราตถาคตแสดงมานี้เถิด ข้าแต่ พระมหากัสสปะผู้มีอายุ พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ ดังนี้แล.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น